fbpx

“ทางสายกลางคือคำตอบ” มองลับลวงพรางในนโยบายกัญชาเสรีกับ นพ.บัณฑิต ศรไพศาล

ไม่กี่ปีที่ผ่านมานี้การใช้ประโยชน์กัญชาทางการแพทย์เป็นที่ยอมรับกว้างขวางมากขึ้นในสังคมไทยที่มีความพยายามปลดล็อกกฎหมายเพื่อให้สามารถใช้ประโยชน์จากกัญชาได้

หัวเลี้ยวหัวต่อสำคัญสำหรับผู้ที่ติดตามนโยบายกัญชาคือวันที่ 9 มิถุนายน 2565 ซึ่งประกาศกระทรวงสาธารณสุขเรื่องปลดกัญชาออกจากยาเสพติดประเภทที่ 5 จะมีผลบังคับใช้ อันจะทำให้ทุกส่วนของกัญชาและกัญชงไม่เป็นยาเสพติด ยกเว้นสารสกัดที่มี THC มากกว่า 0.2%

นโยบายกัญชาเสรีถือเป็นนโยบายหลักของพรรคภูมิใจไทยที่หาเสียงไว้ จนเมื่อเข้าร่วมรัฐบาลก็มีความพยายามปลดล็อกกฎหมายต่างๆ อย่างต่อเนื่อง ท่ามกลางขั้นตอนทางกฎหมายที่ดำเนินอย่างฉับไวและแต่ละหน่วยงานรับลูกกันอย่างไวว่องนี้ มีข้อสังเกตใหญ่ว่าขณะที่กัญชากำลังจะถูกถอดออกจากรายชื่อยาเสพติด แต่ภาครัฐยังไม่ออกมาตรการต่างๆ ในการควบคุมให้เหมาะสม โดยฝ่ายผู้ผลักดันนโยบายฝากความหวังไว้ที่ร่าง พ.ร.บ.กัญชา กัญชง ของพรรคภูมิใจไทย ซึ่งยังอยู่ระหว่างรอคิวพิจารณา ซึ่งจะทำให้เกิดช่วงสุญญากาศที่ไม่มีการควบคุม

ส่วนมาตรการควบคุมในร่างกฎหมายของภูมิใจไทยนั้นก็สมควรที่สังคมจะร่วมกันพิจารณาอย่างถี่ถ้วน เมื่อมาตรการหลายอย่างอาจทำให้การใช้กัญชาในไทยเปิดกว้างกว่าประเทศอื่นที่อนุญาตให้ใช้กัญชาเพื่อนันทนาการได้เสียอีก

กระบวนการผลักดันกัญชาอย่างเร่งรีบและไม่รอบคอบที่เกิดขึ้นนี้จึงสมควรเป็นบทสนทนาในสังคมว่า นอกเหนือจากประโยชน์ทางการแพทย์แล้ว สุดท้ายการผลักดันกัญชาเชิงเศรษฐกิจนั้นผู้ที่ได้ประโยชน์คือใคร

101 จึงพูดคุยกับ ดร.นพ.บัณฑิต ศรไพศาล นักวิทยาศาสตร์ Centre for Addiction and Mental Health แคนาดา ถึงข้อสังเกตในนโยบายกัญชาและมาตรการควบคุมที่ยังไม่ถี่ถ้วน

ที่ผ่านมา นพ.บัณฑิตและเครือข่ายในนาม เครือข่ายนักวิชาการและภาคประชาชนต้านภัยยาเสพติดแสดงความกังวลต่อการออกกฎหมายโดยไม่มีมาตรการควบคุมที่ดีพอ โดยอธิบายเหตุผลอย่างละเอียดไว้ในเอกสาร เหตุผล ความจำเป็น ที่จะต้องมีมาตรการควบคุมการใช้กัญชาในทางที่ผิดที่เพียงพอ ควบคู่ไปกับมาตรการสนับสนุนการใช้ประโยชน์จากกัญชา

นพ.บัณฑิตยืนยันว่าเขามองเห็นประโยชน์จากการใช้กัญชาทางการแพทย์ แต่นโยบายที่เกิดขึ้นควรพิจารณาอย่างรัดกุม ไม่เปิดช่องให้การใช้ไม่ตรงตามวัตถุประสงค์ ซึ่งหากไม่มีมาตรการที่ดีพอมารองรับจนใครๆ ก็สามารถเข้าถึงกัญชาได้โดยง่าย จะเกิดผลกระทบตามมา โดยเฉพาะกับเยาวชน

ภาพจาก สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.)

ส่วนตัวมีมุมมองเรื่องการใช้ประโยชน์จากกัญชาอย่างไรบ้าง เราควรมีนโยบายที่ใช้ส่วนของกัญชาได้ถึงระดับไหน

ผมเป็นแพทย์แผนปัจจุบันก็จริง แต่ส่วนตัวแล้วผมศรัทธาในธรรมชาติ มองว่าการรักษาตัวเองตามธรรมชาติดีที่สุด รวมไปถึงการกินอาหารที่ดีและการออกกำลังกายด้วย สมุนไพรที่ปลูกใช้แล้วไม่มีผลเสีย ไม่มีการเสพติด คุณก็ใช้ไป แต่มันควรจะเหมือนการทานเป็นอาหาร เป็นสิ่งที่มีอยู่ในชีวิตประจำวัน ไม่ใช่ไปสกัดเอามากิน วิธีนี้ไม่ใช่ธรรมชาติ พอไม่ใช่ธรรมชาติก็มีข้อเสีย เพราะทุกๆ อย่างต้องมีการใช้อย่างสมดุล

กัญชาเป็นพืชตัวหนึ่งที่หากใช้ตามธรรมชาติผมถือว่าปกติ แต่กัญชามีฤทธิ์เสพติดเยอะ เช่น คุณใส่กัญชาในอาหารเพื่อให้อร่อยขึ้น เหมือนใส่ผงชูรส แล้วคุณสามารถทำอาหารให้อร่อยโดยไม่ต้องใส่กัญชา ไม่ต้องใส่ผงชูรสได้ไหมล่ะ ผมมองว่าถ้าใช้กัญชาในทางการแพทย์ก็ไม่มีปัญหาอะไร แต่ต้องใช้อย่างถูกต้อง คือใช้ CBD ได้ แต่ใช้ THC ต้องใช้น้อย

ส่วนที่ธุรกิจอื่นๆ ผมสนับสนุนการใช้เส้นใยกัญชง ซึ่งไม่ใช่กัญชา กัญชงโดยธรรมชาติมี THC ต่ำ เอาเส้นใยมาใช้ในสิ่งทอได้ เราต้องหลีกเลี่ยง THC ฉะนั้นการเอากัญชามาทำเป็นอาหาร เครื่องดื่ม เครื่องสำอาง ผมคิดว่าไม่จำเป็น และจะมีการโฆษณาชวนเชื่อมากกว่าคุณสมบัติจริงของมันแน่นอน เพราะตอนนี้ก็มีการบอกว่ากัญชาบำรุงได้สารพัดอย่าง รักษาได้ทุกอย่าง แต่กลับไม่มีการพิสูจน์ประสิทธิภาพ

ช่วง 2 ปีกว่าที่ผ่านมามีแต่การพูดเรื่องประโยชน์ทางการแพทย์ของกัญชา ทำให้คนหลงเข้าใจว่ากัญชามีแต่ประโยชน์ ผมไม่ได้ขัดเรื่องการใช้ประโยชน์ เมื่อก่อนกัญชายังไม่มีเทคโนโลยีในการสกัด จึงถูกใช้ไปในทางที่เสียหายมากกว่า แต่ตำรับยาแผนไทยใช้กัญชาในทางที่เป็นประโยชน์มาก่อนแล้ว คนโบราณเอาใบ เอาดอกของกัญชามาหั่นปรุงผสมกับสมุนไพรตัวอื่น จึงเจือจาง แล้วเอามาเสพ ได้ประโยชน์ แต่ไม่อร่อย จึงไม่เสพติด ภูมิปัญญาไทยโบราณมีความฉลาดในการป้องกันการใช้ในทางที่ผิด

ปัจจุบันเทคโนโลยีแพทย์แผนปัจจุบันสามารถสกัดโมเลกุลเล็กๆ ได้ แล้วไปพบ CBD ซึ่งเอามาลดอาการอักเสบได้ เอาไปใช้ประโยชน์ได้เยอะแยะและไม่เสพติด จริงๆ THC ก็มีประโยชน์ ถ้าใช้ในปริมาณน้อย ทำให้หลับได้ ทำให้ทานอาหารได้ กัญชาจึงโด่งดังเพราะสามารถใช้ประโยชน์จาก CBD และ THC ในปริมาณต่ำได้ แต่กัญชาที่ไม่ได้สกัดมีฤทธิ์เสพติด โดยเฉพาะการสูบช่อดอกกัญชา เพราะ THC เยอะถึง 10-20% ถ้าเราไม่มีมาตรการควบคุมใดๆ แล้วมีคนใช้เยอะจนกลายเป็นปกติของสังคมก็จะดึงกลับไปยากแล้ว จะเต็มไปด้วยคนเสพติดกัญชา ซึ่งสามารถนำไปสู่การเสพติดตัวอื่นที่ร้ายแรงกว่าได้

ถ้าเป็นการใช้เพื่อความเพลิดเพลินในผู้ใหญ่เอาจริงแล้วมีผลร้ายอย่างไร คนที่สูบก็บอกว่าเป็นเรื่องส่วนบุคคล สูบแล้วไม่ได้ไปทำร้ายใคร

คำว่าไม่ทำร้ายใครเป็นคำพูดที่ถูกต้องแค่บางส่วนเท่านั้น เราจะเห็นว่าเมากัญชาไม่เหมือนเมาสุรากับเมายาบ้า การเมาสุรากับเมายาบ้ามีความก้าวร้าวและรุนแรงสูงกว่า แต่กัญชาก็ทำให้เกิดอาการวิกลจริตได้ เมื่อวิกลจริตแล้ว ต่อให้กระทำความรุนแรงก็จะไม่รู้เรื่อง แม้จะอ้างว่าตัวเราใช้กัญชาของเรา ไม่ได้เดือดร้อนใคร แต่ในความเป็นจริงการสร้างความเดือดร้อนให้คนอื่นมีหลายมิติ หลายระดับ เมื่อกฎหมายปลดล็อกจนกัญชากลายเป็นปกติของสังคม เปลี่ยนจากยาเสพติดให้กลายเป็นไม่ใช่ยาเสพติด ความเสียหายก็มากขึ้นเรื่อยๆ เช่น ถ้าเมากัญชาแล้วขับรถ อุบัติเหตุรถชนก็จะยิ่งเพิ่มมากขึ้น คนเสพติดกัญชาจะขี้เกียจ ไม่ทำงาน ไม่หาเงินเลี้ยงครอบครัว ใช้เงินของครอบครัวไปกับการเสพกัญชา ไม่ดูแลรับผิดชอบครอบครัว นี่คือการทำร้ายคนอื่นที่ไม่ได้ออกมาในรูปของความรุนแรง

ถ้าเทียบกับเหล้าและบุหรี่ จริงๆ แล้วผลกระทบแง่ลบของกัญชารุนแรงมากกว่าหรือน้อยกว่า และมาตรการควบคุมควรเป็นอย่างไรให้สมเหตุสมผล

บุหรี่ไม่ได้เปลี่ยนสติสัมปชัญญะของคน การสูบบุหรี่ไม่ได้ทำให้ไปขับรถชนคนตาย บุหรี่แค่ทำให้อยากสูบอีกเรื่อยๆ ไม่สูบแล้วจะหงุดหงิด แต่เหล้ากับกัญชาเปลี่ยนสติสัมปชัญญะของคน ส่งผลให้เกิดการเมาแล้วขับทั้งคู่ ส่งผลให้หลับ ส่วนความก้าวร้าว กัญชาอาจไม่ได้ชัดเท่าเหล้า

กรณีเมากัญชาแล้วไปขับรถ ที่ต่างประเทศเมื่อปลดล็อกกัญชาแล้วพบว่ามีคนเมาด้วยกัญชาแล้วขับเยอะขึ้นทั้งอเมริกาและแคนาดา คนมักอ้างว่าถ้าปลดล็อกกัญชาแล้วจะทำให้การเมาจากเหล้าลดลง ซึ่งบางที่เป็นเช่นนั้นจริงก็เพราะคนหันไปใช้กัญชาแทน แต่มันไม่สมเหตุสมผลที่ต้องการจะลดยาพิษตัวหนึ่งโดยไปเพิ่มยาพิษอีกตัวหนึ่ง ส่วนระยะยาวก็คือพวกโรคเรื้อรังทั้งหลาย เช่น มะเร็งปอด อาการเสพติด ทำให้ความสามารถในการทำงานลดลง ดูแลครอบครัวน้อยลง เกิดปัญหาเศรษฐกิจของครอบครัว

มีหลักฐานข้อมูลทางวิชาการว่าผลกระทบของกัญชาน้อยกว่าบุหรี่กับเหล้า เพราะว่ากัญชายังเป็นยาเสพติด ทำให้เห็นผลกระทบน้อย เพราะคนยังใช้กัญชาน้อย ดังนั้นยังไม่สามารถเอามาเทียบกันได้ ไม่รู้ว่าในอนาคต ผลกระทบจากการใช้กัญชาจะเยอะกว่าจากเหล้าบุหรี่หรือเปล่า ต้องติดตามดู

เมื่อถามถึงมาตรการควบคุมที่สมเหตุสมผล ในระดับโลกต้องใช้มุมมองทางด้านสาธารณสุข (public health) คือสุขภาพของมวลชน ไม่ใช่สุขภาพของผู้ป่วยคนใดคนหนึ่ง การใช้กัญชาทางการแพทย์อย่างพอดีก็จะมีประโยชน์ทางสุขภาพรายบุคคลและลดภาระค่าใช้จ่ายของรัฐสำหรับยาในโรคที่ใช้กัญชาทดแทนยาแผนปัจจุบันได้ แต่ข้อเสียคือเมาแล้วไปขับรถชนคนอื่น เกิดโรคหัวใจตาย ไม่ทำงาน เกิดวิกลจริต หรือคนเข้าโรงพยาบาลรักษาตัวกันมากขึ้นเพราะใช้กัญชา ฉะนั้นจึงต้องมีมาตรการในมุมมองสาธารณสุข ซึ่งมีมาตรการที่ถูกใช้และมีการพิสูจน์ว่าได้ผลดีในการควบคุมบุหรี่และเหล้าอยู่แล้ว นั่นคือการคุมฝั่ง supply เช่น มีมาตรการภาษี พอของแพงคนก็ใช้น้อยลง ต้องคุมโฆษณา คุมการจำหน่าย คุมไม่ให้เด็กเห็น ไม่ให้เด็กเข้าไปใช้ การตลาดทั้งหมดต้องมีการควบคุม ซึ่งล้วนเป็นมาตรการที่สมเหตุสมผลและพิสูจน์แล้วว่าได้ผลกับบุหรี่เหล้า และระดับโลกยอมรับ

ในแคนาดาและอุรุกวัยก็ใช้กรอบแนวคิดนี้ ไม่ใช่กรอบแนวคิดเศรษฐกิจ ซึ่งที่จริงแล้วการโปรโมตกัญชาเพื่อเศรษฐกิจต้องทำจากกระทรวงพาณิชย์และกระทรวงอุตสาหกรรม โดยให้กระทรวงสาธารณสุขคอยท้วงติงว่าระมัดระวังผลเสียทางด้านสาธารณสุขด้วย แต่สิ่งที่เกิดขึ้นตอนนี้คือเราไปเอาการส่งเสริมการค้ามาอยู่ในกระทรวงสาธารณสุข มันไม่ถูกต้อง ที่จริงมีหมอในกระทรวงสาธารณสุขที่พูดไม่ออกกับเรื่องนี้เยอะมาก

หลังจากทางเครือข่ายฯ เผยแพร่จดหมายเปิดผนึกไปแล้ว มองเห็นปฏิกิริยาอย่างไรบ้าง

จากเดือนมกราคม 2565 ที่คณะกรรมการควบคุมยาเสพติดให้โทษมีมติปลดล็อกกัญชาจากบัญชียาเสพติดประเภท 5 หลังจากนั้นทางกระทรวงสาธารณสุขและพรรคภูมิใจไทยก็พยายามบอกว่า 9 มิถุนายน 2565 เป็นต้นไป กัญชาจะเสรีหมด ขายไก่ย่างกัญชาได้ ชวนให้คนเตรียมปลูกและขายกัญชา ฝ่ายที่ห่วงใย เช่น ศูนย์ศึกษาปัญหาการพนันก็พยายามจัดเสวนาเป็นระยะ ผมเองก็เขียนบทความถึงผลกระทบบ้าง ที่ผ่านมาสังคมยังเงียบๆ แต่ช่วงหลังมานี้ เริ่มมีการพูดถึงเรื่องนี้มากขึ้นทั้งสองด้าน ทั้งด้านสนับสนุนและด้านคัดค้านกัญชาเสรี อาจเป็นเพราะว่าใกล้เดดไลน์ที่จะปลดล็อกกัญชาแล้วแต่กลับไม่มีการควบคุมอะไรเลย จึงทำให้คนเริ่มหันมาสนใจ

ตอนนี้ถ้าไม่มีมาตรการควบคุมเพิ่มเติมจะมีแค่สารสกัดกัญชาเข้มข้นสูงเท่านั้นที่จัดว่าเป็นยาเสพติด พืชกัญชา ดอกกัญชาที่ใช้สูบให้เมา จะไม่เป็นยาเสพติด การสกัดมันยุ่งยากอยู่แล้วคนก็จะใช้แบบไม่สกัด คือเอาดอกกัญชามาเสพเลย ที่ซ้ำร้ายกว่านั้น ไม่เฉพาะแค่การปลูกในครัวเรือนที่ปลูกเท่าไหร่ก็ได้ไม่จำกัดจำนวน แต่ในเชิงพาณิชย์ก็ไม่มีการคุมอะไรเลย ปลูกเท่าไหร่ก็ได้ ไม่ต้องขออนุญาต

หากใช้ พ.ร.บ.กัญชา กัญชง จะสามารถมาช่วยควบคุมได้แค่ไหน

ร่าง พ.ร.บ.กัญชา กัญชง ฉบับพรรคภูมิใจไทย ถ้าอ่านอย่างละเอียด เรียกได้ว่าแทบไม่ได้ควบคุมอะไรเลย มีการควบคุมในกรณีการทำธุรกิจ ได้แก่ การปลูก ผลิต แปรรูป นำเข้า ส่งออกหรือจำหน่ายต้องขออนุญาต แต่ยังไม่ได้กำหนดรายละเอียดและยังเปิดให้รัฐมนตรีสาธารณสุขสามารถประกาศยกเว้นการควบคุมการจำหน่ายและการโฆษณาของชิ้นส่วนของกัญชา กัญชง และสารสกัดหรือกากจากการสกัดได้ในภายหลัง หมายความว่าให้ควบคุมน้อยลงได้ในอนาคต เพราะฉะนั้นแม้จะอ้างว่าจะต้องออก พ.ร.บ. มาควบคุมในเร็วๆ นี้ ก็ไม่ใช่ว่า พ.ร.บ. จะช่วยคุมอะไรได้

ส่วนเรื่องการปลูกในบ้านโดยไม่จำกัดจำนวน ทั้งที่ถ้าเทียบกับประเทศที่อนุญาตให้ปลูกกัญชาได้นั้น ในประเทศอุรุกวัยก็ห้ามปลูกเกิน 6 ต้น ในแคนาดาห้ามปลูกเกิน 4 ต้น และยังกำหนดว่าห้ามปลูกให้สาธารณะมองเห็นจากข้างนอก แต่นโยบายของประเทศไทยคือปลูกเท่าไรก็ได้ ปลูกอย่างไรก็ได้ ส่วนที่น่ากังวลคือ พ.ร.บ. ฉบับนี้ไม่ได้มีการควบคุมการใช้ช่อดอกที่เพียงพอ ทั้งๆ ที่ช่อดอกมีสาร THC สูง เป็นสารเมา และช่อดอกคือส่วนที่คนจะสูบเพื่อความบันเทิง

มาตรการเดียวที่ชัดเจนใน พ.ร.บ.นี้คือห้ามจำหน่ายแก่เด็กอายุต่ำกว่า 20 ปี สตรีมีครรภ์และสตรีให้นมบุตร แต่ถ้าเด็กได้มาฟรีหรือไปเด็ดดอกมาจากหลังบ้านหรือไปขโมยมาล่ะ ก็คุมไม่ได้ ดังนั้นมาตรการเพียงเท่านี้จึงไม่ต่างจากการไม่มีมาตรการควบคุมเลย

แล้วร่าง พ.ร.บ.การใช้ประโยชน์จากกัญชากัญชง ของพรรคพลังประชารัฐล่ะ

ร่างของพลังประชารัฐแม้ว่าการควบคุมจะเข้มข้นกว่าของพรรคภูมิใจไทย แต่การควบคุมก็ยังไม่เท่าอุรุกวัยกับแคนาดาซึ่งเป็นประเทศที่อนุญาตให้ใช้เพื่อความบันเทิงได้โดยไม่ผิดกฎหมาย นโยบายของไทย ท่านรัฐมนตรีอนุทิน (ชาญวีรกุล) พูดตลอดเวลาว่า ไม่สนับสนุนกัญชาเพื่อนันทนาการ แต่มาตรการของเรากลับอ่อนกว่าประเทศที่อนุญาตให้ใช้ในเชิงนันทนาการได้เสียอีก

ร่างของพลังประชารัฐบอกว่า การปลูกในครัวเรือนทำได้แต่ห้ามใช้ช่อดอก คือเอาใบไปใช้เป็นสมุนไพรหรือเพื่อทานอาหารให้อร่อยได้ แต่การปลูกในครัวเรือนจะใช้ช่อดอกไม่ได้ ซึ่งในภาคปฏิบัติก็ต้องดูว่าจะทำลายช่อดอกอย่างไร

ร่างของพลังประชารัฐคือกัญชาทางการแพทย์จริงๆ เขาเป็นห่วงว่าคนจะเอาช่อดอกไปสูบ ให้ใช้ได้เฉพาะผู้ป่วยและเพื่อการวิจัย แต่ร่างของภูมิใจไทยคือกัญชาเสรี ใครเอาช่อดอกไปสูบก็ได้

ก่อนหน้านี้กฎหมายยาเสพติดฉบับเก่าอนุญาตให้เฉพาะกัญชาทางการแพทย์ ยังไม่อนุญาตกัญชาเพื่อพาณิชย์ ร่างของพรรคพลังประชารัฐ นอกจากเรื่องกัญชาทางการแพทย์แล้ว ก็มีการเปิดให้ใช้กัญชาในบ้านได้ แต่มีการควบคุม ไม่ใช่เสรี และให้ใช้ทำธุรกิจได้โดยมีการควบคุม แต่ร่างของพรรคภูมิไทยคือเปลี่ยนกัญชาทางการแพทย์เป็นกัญชาเสรี ไม่ได้ห้ามการสูบช่อดอก

ประกาศกระทรวงสาธารณสุขฉบับปลดกัญชาจากการเป็นยาเสพติดจะมีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 9 มิ.ย. 2565 มองว่าจะมีความน่ากังวลอย่างไรบ้าง

ในกรณีที่ไม่ใช่สารสกัด ทุกส่วนของกัญชาจะไม่ใช่ยาเสพติด เพราะประกาศกระทรวงกำหนดว่า เฉพาะสารสกัดกัญชาที่มี THC มากกว่า 0.2% โดยน้ำหนักจะถือเป็นยาเสพติด ถ้าสกัดแล้ว THC ต่ำกว่านั้นไม่เป็นไร แต่ตัวช่อดอกกัญชาซึ่งมี THC 10-20% กลับไม่ควบคุม

เปรียบเทียบว่ากัญชามี 3 ขนาด คือ ใหญ่ กลาง เล็ก ตัวใหญ่คือพืชกัญชา ตัวกลางคือสารสกัดเข้มข้นสูง และตัวเล็กคือสารสกัดเข้มข้นต่ำ

สำหรับนโยบายกัญชาเพื่อประโยชน์ทางการแพทย์จะต้องปลดตัวเล็กหรือสารสกัดกัญชาเข้มข้นต่ำ แล้วคุมตัวใหญ่กับตัวกลาง แต่นโยบายของกระทรวงสาธารณสุขออกแบบประหลาด คือคุมเฉพาะตัวกลาง แต่ปล่อยตัวใหญ่กับตัวเล็กให้ไม่เป็นยาเสพติด มันไม่สมเหตุสมผลและไม่มีประโยชน์ เพราะคนที่สูบเพื่อนันทนาการเขาสูบช่อดอกเป็นหลัก มันอร่อยที่สุดเพราะมี THC เข้มข้นสูง

สิ่งที่เรากำลังทำคือการปล่อยให้ขายช่อดอกกันได้เสรีและราคาถูก เอื้อธุรกิจ แต่มาคุมสารกัดเข้มข้นสูง ซึ่งนโยบายนี้ไม่ได้มีความสามารถในการควบคุมการเสพในทางที่ผิด

สิ่งที่ผมห่วงใยประการแรก ช่อดอกที่เข้มข้นสูงจะไม่ใช่สารเสพติดและจะมีคนนำไปใช้ในทางที่ผิด คือสูบเพื่อความบันเทิง ทั้งเด็กและทั้งผู้ใหญ่ ยิ่งปลูกในครัวเรือนแบบไม่จำกัดจำนวน เหมือนให้มีเครื่องผลิตยาบ้าที่บ้าน แล้วบอกว่าให้ใช้เฉพาะเพื่อทำให้ขยันทำงานนะ อย่าไปใช้แบบบันเทิงนะ มันเป็นไปไม่ได้ เขาจะใช้เพื่อความบันเทิงแน่นอน ที่น่ากังวลอย่างยิ่งคือเด็กสามารถไปแอบเด็ดจากหลังบ้านตัวเองหรือบ้านเพื่อนได้ เด็กบางคนไปดูยูทูบวิธีใช้ขวดน้ำอัดลมมาเจาะทำเป็นบ้องกัญชา เด็กพอดูยูทูบเสร็จก็ทำได้เลย ทำเสร็จแล้วก็โพสต์ในโซเชียลมีเดียของเขา นี่คือตัวอย่างที่สะท้อนว่าในอนาคตจะมีเด็กมาสูบช่อดอกกัญชาอย่างแพร่หลาย

ถัดมาคือจะมีการเอากัญชาไปใส่อาหารและเครื่องดื่มขายโดยไม่บอก แม่ค้าพ่อค้าจะปลูกโดยบอกว่าใช้เพื่อสุขภาพของตนเองภายในบ้าน แต่ก็จะแอบเอาช่อดอกมาโรยใส่ในอาหาร เพื่อให้ขายดีขึ้น พอช่อดอกไม่ใช่ยาเสพติด แอบเอามาใส่อาหารก็ไม่ผิดกฎหมายอะไร รัฐมนตรีอนุทินให้สัมภาษณ์ว่า ถ้าชาวบ้านขายไก่ย่างกัญชา ไม่ได้ทำเป็นอุตสาหกรรม ไม่ได้มียี่ห้อ ไม่มีบรรจุภัณฑ์ ก็ไม่ต้องขอ อย. แปลว่าจะมีการผลิตอาหารที่ใส่กัญชาขายตามตลาดทั่วประเทศได้ โดยไม่มีการตรวจสอบเลย และจะมีการโฆษณาเพื่อเพิ่มราคาเต็มไปหมด จะมีคนรับประทาน THC ทั้งที่รู้ตัวและไม่รู้ตัวเยอะแยะไปหมด โดยจะไม่มีหน่วยงานใดสามารถตรวจว่าผลิตภัณฑ์อาหารและเครื่องดื่มในท้องตลาดมี THC เกิน 0.2% หรือไม่ เพราะการตรวจต้องใช้เครื่องมือพิเศษ ไม่มีในท้องตลาด และต้องใช้ผู้เชี่ยวชาญในการตรวจ คงไม่มีทางที่จะตรวจส้มตำทั่วประเทศได้ จึงจะมีการใช้กัญชาปนในอาหารและเครื่องดื่มเต็มไปหมด

ถัดมาคือเราจะผิดอนุสัญญาระหว่างประเทศ ในอดีตเคยมีสงครามของพืชสามตัว ได้แก่ ฝิ่นที่เอามาทำเฮโรอีน ต้นโคคาที่มาทำโคเคน และกัญชา มีอนุสัญญาเกิดขึ้นตั้งแต่ช่วงสงครามโลกครั้งที่ 1 เพื่อคุมพืชแต่ละตัว แต่ที่เราได้ยินกันบ่อยๆ คืออนุสัญญาเดี่ยวว่าด้วยการควบคุมยาเสพติดให้โทษ ค.ศ. 1961 (1961 Single Convention on Narcotic Drugs) คือการเอาอนุสัญญา 3 ฉบับมารวมกันเป็นอนุสัญญาเดี่ยว เพราะก่อนหน้านั้นเกิดการทำสงครามแย่งชิงพืชเหล่านี้ เพราะเมื่อมีคนใช้เยอะ มันก็มีค่า ซึ่งหากประเทศใดมีการผิดอนุสัญญา ก็จะมีหน่วยงานระหว่างประเทศที่เรียกว่า INCB (International Narcotics Control Board) ซึ่งดูแลควบคุมเรื่องยาเสพติดระหว่างประเทศเรียกไปเตือน เรียกไปให้ข้อมูล และเรียกให้แก้ไข สุดท้ายอาจถึงขั้นมีการลงโทษห้ามนำเข้ายาบางอย่าง ซึ่งมีบางประเทศโดนแล้ว ทำให้เขาขาดแคลนยาตัวนั้น ประชาชนเกิดความเดือดร้อน แต่หน่วยงาน INCB โดยมารยาทจะไม่ฉีกหน้าประเทศอื่น จึงไม่ประกาศบอกว่าประเทศไหนที่ฝ่าฝืนและโดนอะไรบ้าง แต่ว่ามันเกิดขึ้นแล้ว หากเกิดความเสียหายในลักษณะเดียวกันนี้ในประเทศไทยแล้วใครจะรับผิดชอบ

ตอนนี้เหมือนประโยชน์จะเกิดขึ้นกับธุรกิจและการเมือง แต่ผลเสียจะเกิดขึ้นกับประชาชนและประเทศโดยรวม

คนที่สนับสนุนกัญชามักบอกว่า สังคมมองกัญชาในแง่ร้ายเกินไป คุณมีความคิดเห็นอย่างไร

คำว่า ‘ทางสายกลาง’ คือคำตอบ สมมติแบ่งเป็นไฟแดงกับไฟเขียว ถ้าจัดให้กัญชาเป็นยาเสพติดทั้งหมด ไม่อนุญาตให้ใช้ประโยชน์เลย ก็คือไฟแดง นั่นคือสุดโต่งเกินไป แต่ตอนนี้เรากำลังจะกลายเป็นสีเขียวคือให้ปล่อยเสรีทั้งหมด ซึ่งก็คือสุดโต่งอีกข้างหนึ่ง ซึ่งหนักกว่าต่างประเทศอีก ทำไมเราไม่เอาสีเหลืองล่ะ ให้มันอยู่ตรงกลางระหว่างไฟแดงกับไฟเขียว คือให้ใช้ประโยชน์ทางการแพทย์ได้ ให้ใช้ทางเศรษฐกิจที่สมเหตุสมผลได้ แต่ไม่เปิดโอกาสให้ใช้ในทางที่ผิด จึงไม่ควรจะปล่อยเสรี

หากเทียบกับประเทศที่ให้ใช้กัญชาเพื่อนันทนาการได้ นโยบายกัญชาของไทยเป็นอย่างไร

อย่างในสหรัฐอเมริกายังไม่ได้ปล่อยกัญชาเสรีทั้งประเทศ เขาเริ่มจากกัญชาทางการแพทย์ก่อน แล้วค่อยมาเป็นกัญชานันทนาการ รัฐที่อนุญาตให้ใช้กัญชาทางการแพทย์หรือแบบนันทนาการได้จะเป็นรัฐที่มีคนเสพมากกว่ารัฐอื่น แปลว่าสภาพสังคมที่มีคนเสพกัญชามากจะบีบให้รัฐต้องปล่อยให้ใช้กัญชาได้อย่างเสรี

มีงานวิจัยในสหรัฐฯ แสดงให้เห็นชัดเจนว่า ในรัฐที่มีความชุกหรืออัตราที่มีคนใช้กัญชาในกลุ่มเยาวชนเกิน 8% นั้น เมื่อปลดล็อกกัญชาในกฎหมายแล้วเด็กและเยาวชนอายุ 12-18 ปีจะมีการใช้กัญชาลดลง แต่รัฐที่มีความชุกของการใช้น้อยกว่า 8% หลังปลดล็อกแล้วจะมีคนใช้เพิ่มขึ้น ตอนนี้ประเทศไทยมีคนใช้กัญชาแค่ 0.2% ของประชากรอายุ 15 ปีขึ้นไป (สำรวจผู้ที่ใช้ใน 30 วัน) และนับจากปี 2562 ถึง 2564 มีคนใช้กัญชาเพิ่มขึ้นถึงสองเท่า (สำรวจผู้ที่ใช้ในหนึ่งปี) ทั้งสองครั้งของการสำรวจเป็นช่วงที่ประเทศไทยยังไม่ปล่อยให้เป็นกัญชาเสรี ยังมีคนใช้กัญชาเพิ่มขึ้นถึงสองเท่า เพราะฉะนั้นอนาคตที่มีการใช้กัญชาได้อย่างเสรีในประเทศไทย จะต้องมีคนใช้กัญชาในทางที่ผิดเพิ่มขึ้นแน่นอน

กัญชาทางการแพทย์มีประโยชน์ ตรงนี้ไม่มีใครขัดขวาง แต่ที่ทำให้คนสับสนคือ ฝ่ายนโยบายจะอ้างเรื่องประโยชน์ทางการแพทย์ตลอด แต่พอนโยบายออกมาจริงๆ กลับเป็นนโยบายกัญชาเสรี คล้ายว่าขึ้นต้นอย่างหนึ่งแต่ลงท้ายเป็นอีกอย่างหนึ่ง

สำหรับการใช้ประโยชน์ในเชิงเศรษฐกิจ ในช่วงนี้ที่เศรษฐกิจไม่ดี ทุกคนก็อยากมีความหวังที่จะเพิ่มรายได้ แต่ปัญหาคือเราสนับสนุนกัญชาโดยบอกแต่ว่าจะขายได้อย่างเดียว ไม่ได้บอกว่าใครซื้อและซื้อไปทำอะไร ถ้าซื้อไปทำยาที่ดีมันก็โอเค แต่ถ้าซื้อไปเสพเพื่อให้เอร็ดอร่อยจะมีปัญหา โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อตอนนี้นโยบายไม่ควบคุมเรื่องการเสพเพื่อความบันเทิง ตอนนี้ธุรกิจจะได้ประโยชน์ การเมืองจะได้คะแนนเสียง แล้วพอคนใช้เยอะ เยาวชนใช้เยอะต้องรักษาพยาบาล แล้วใครจะรับผิดชอบ

มองนโยบายกัญชาโดยรวมตอนนี้ เราสามารถพูดได้ไหมว่าสิ่งที่กำลังทำอยู่คือนโยบายกัญชาเพื่อความบันเทิง

ตรรกะภาษาแม้จะดูเป็นเรื่องเล็ก แต่ที่จริงเป็นเรื่องใหญ่ ตอนนี้มีการทำให้เข้าใจผิดสองชั้น คือ มีการตั้งใจใช้คำว่า ‘กัญชาเสรีทางการแพทย์’ ตั้งแต่ต้น ใส่คำว่า ‘เสรี’ เข้ามา ทำให้คนสับสนว่าหมายถึงอะไร ตอนแรกผมก็งง แต่เข้าใจว่าอาจจะหมายถึงให้ปลูกในบ้านได้ จะได้ไม่ต้องรอแพทย์สั่ง ไม่ต้องไปรอซื้อร้านขายยา ให้ใช้เป็นสมุนไพรสำหรับในครัวเรือนได้ แต่ไม่ให้จำหน่าย ซึ่งผมโอเคในความหมายนี้ คล้ายในร่างของพรรคพลังประชารัฐคือกัญชาเสรีเพื่อการแพทย์ หมายความว่า คุณปลูกในบ้านได้ เอาใบมาหั่นทำเป็นยาได้ แต่ห้ามใช้ช่อดอก

ความเข้าใจผิดชั้นที่หนึ่งคือมีคำว่า ‘เสรี’ เข้ามา แต่ยังกำกับด้วยการแพทย์ ทั้งที่จริงๆ มันเลยกรอบการแพทย์ไปหน่อยแล้ว ยาใดก็ตามถ้ามีผลเสียต้องมีการควบคุม แต่นี่กัญชากำลังจะกลายเป็นสมุนไพรหลังบ้านไปแล้ว คือแทบจะไม่มีการควบคุมเลย ผมยืนยันว่าถ้าประชาชนไม่ได้ใช้ในทางที่ผิดมันก็โอเค เพราะประชาชนได้ประโยชน์ แต่ในความเป็นจริงต้องมีการควบคุมการใช้ช่อดอกเพื่อป้องกันการใช้ในทางที่ผิด

ความเข้าใจผิดชั้นที่สองคือ ตอนแรกพูดว่าเสรีทางการแพทย์ แต่กลายเป็นว่าตอนหลังนี้นโยบายที่ออกมาเป็นกัญชาเสรีทุกอย่าง เป็นตรรกะภาษาที่คนตามไม่ทัน มีการพูดปาวๆ ว่าไม่สนับสนุนการใช้เชิงนันทนาการ แต่กลับไม่ยอมออกมาตรการควบคุมการใช้เพื่อนันทนาการ ผมจึงมองว่าสิ่งที่ทำอยู่คือกัญชาเพื่อความบันเทิง

หากมองตัวอย่างประเทศที่อนุญาตให้ใช้กัญชาเพื่อความบันเทิงได้ นโยบายของเราที่จะเกิดขึ้นมีการควบคุมหละหลวมกว่าประเทศเหล่านั้นไหม

อุรุกวัยเป็นประเทศแรกที่อนุญาตให้ใช้เพื่อความบันเทิง เขามีการผูกขาดการค้าส่งกัญชา มีหน่วยงานที่รัฐจัดตั้งเป็นผู้รับซื้อทั้งหมดแล้วขายให้แก่ผู้ขายรายย่อย เพื่อควบคุมคุณภาพ ควบคุมตลาด ผู้ขายรายย่อยก็ต้องได้รับอนุญาตและมีการควบคุมอย่างเข้มงวด ไม่ใช่เสรี การพูดว่ากัญชาเสรีก็ผิดแล้ว เพราะทุกอย่างต้องมีการควบคุม เขาห้ามโฆษณาโดยสิ้นเชิง ห้ามส่งเสริมการขายโดยสิ้นเชิง ส่วนของประเทศเราไปเขียนว่าสามารถยกเว้นการห้ามโฆษณาได้

แคนาดาเป็นประเทศที่สองที่ให้ใช้เพื่อความบันเทิง ซึ่งมีการผูกขาดการขายส่งกัญชาเช่นกัน แต่ละรัฐมีการควบคุมของตัวเอง เขาไม่ได้ห้ามการโฆษณาโดยสิ้นเชิงแบบอุรุกวัย แต่ห้ามการโฆษณาที่มุ่งเยาวชน และในกฎหมายหลักมีข้อที่สำคัญมากที่เขียนว่า ห้ามแสดงผลิตภัณฑ์กัญชาให้เยาวชนเห็นเด็ดขาด ไม่ว่าจะเป็นตัวผลิตภัณฑ์ บรรจุภัณฑ์หรือฉลาก ร้านขายของกัญชาก็ห้ามเด็กเข้า มีการตรวจบัตร ไม่ได้ขายโจ่งแจ้งในตลาดหรือตั้งตรงไหนก็ได้ การขายกัญชาต้องไปอยู่ในพื้นที่เฉพาะทั้งหมดและให้ปลูกได้ไม่เกิน 4 ต้น ห้ามปลูกให้เห็นจากข้างนอก อุรุกวัยให้ปลูกได้ไม่เกิน 6 ต้น ต้องใช้ส่วนตัว ห้ามให้คนอื่นเห็น และพ่อแม่ต้องปลูกในพื้นที่ที่ลูกเข้าไม่ได้ คือลูกห้ามใช้

ร่างกฎหมายของพรรคภูมิใจไทยให้ปลูกได้ไม่จำกัดจำนวน มีการควบคุมการทำธุรกิจไม่ว่าจะเป็นนำเข้าหรือส่งออกและการโฆษณา แต่เขียนว่าให้ยกเว้นได้ภายหลังหากรัฐมนตรีเห็นว่าควรยกเว้น หมายความว่าถ้าทำไปแล้วธุรกิจเดินไม่ได้ เขาก็สามารถยกเว้นได้ ตอนนี้จึงเหมือนเป็นนโยบายกัญชาเสรีที่รวมไปถึงเพื่อความบันเทิง มีแค่ข้ออ้างว่าควบคุมสารสกัดกัญชาความเข้มข้นสูง ซึ่งพอปล่อยให้ใช้ช่อดอกได้ ก็จะไม่มีใครไปใช้สารสกัดเข้มข้นสูงมากนัก

สรุปคือร่างของพรรคภูมิใจไทยคือ ‘กัญชาเสรี (เพื่อความบันเทิง)’ ส่วนร่างของพรรคพลังประชารัฐ ผมมองว่าเป็นกัญชาเพื่อการแพทย์ เพราะเขาให้เสพเฉพาะเพื่อการแพทย์และการวิจัย และเปิดเพิ่มให้ว่าใช้ในครัวเรือนได้ แต่ห้ามใช้ช่อดอก ถือว่าเป็นการป้องกันการใช้เพื่อความบันเทิงและเปิดให้ใช้ทางธุรกิจได้โดยมีการควบคุม

ในประเทศไทยเราจะเห็นการขายกาแฟในตู้อัตโนมัติที่มีส่วนผสมของกัญชาแล้ว แต่ในประเทศแคนาดาห้ามขายแบบตู้อัตโนมัติ ต้องขายแบบปิดมิดชิด และยังมีการกำหนดรูปแบบบรรจุภัณฑ์ของผลิตภัณฑ์กัญชา ต้องระบุส่วนผสมว่ามี THC เท่าไร ต้องมีคำเตือน และห้ามขายกัญชาผสมบุหรี่ เหล้า และกาแฟด้วย แต่ของบ้านเราไม่ควบคุมอะไรเลย คิดดูว่ามาตรการเราหลวมขนาดไหน

มาตรการควบคุมที่ขาดหายไปและน่ากังวลที่สุดคือการป้องกันการใช้ในเยาวชนใช่ไหม

ที่น่าเป็นห่วงที่สุดคือเยาวชน ผู้ใหญ่ยังรับผิดชอบตัวเองได้ ตอนนี้เด็กหลายคนก็เริ่มลองสูบกัญชาแล้ว ของแคนาดาเขียนข้อแรกเลยว่าต้องปกป้องเยาวชน เหตุจูงใจที่อุรุกวัยและแคนาดาปลดกัญชาเสรีเพื่อนันทนาการ เป็นเพราะประเทศเขามีคนใช้เยอะอยู่แล้วตั้งแต่ตอนที่กัญชายังผิดกฎหมาย มีธุรกิจที่เป็นอาชญากรรมเยอะ เอาไม่อยู่ก็เลยปลดล็อก ประเทศเราไม่ได้มีคนใช้กัญชาเยอะมาแต่แรก แต่ตอนนี้ประเทศไทยเรากำลังไปส่งเสริมให้ใช้ คนที่อยากเริ่มลองใช้กัญชาก่อนเพื่อนก็คือกลุ่มเยาวชน

การใช้กัญชามีผลต่อพัฒนาการทางสมองของเด็ก คือ สมองของเด็กจะมีการสร้างเซลล์ประสาท พูดให้เข้าใจง่าย เปรียบสมองเหมือนพีซีของคอมพิวเตอร์ และมีเส้นประสาทเป็นเหมือนสายแลนเชื่อมโยงพีซี ตอนเด็กสมองจะสร้างเซลล์เกี่ยวกับความจำ พอโตมาจะสร้างสายแลนที่ดึงและเชื่อมโยงข้อมูลทั้งหมดมาใช้ ซึ่งสำคัญมาก ตัวเส้นประสาทนี้จะมีการสร้างเยอะตอนวัยรุ่น สารกัญชาจะไปยับยั้งการสร้างเซลล์ตัวเส้น นอกจากนี้ สมองจะมีกระบวนการตัดแต่ง ถ้าสร้างเซลล์เยอะเกินก็ต้องตัดให้เหลือแต่เซลล์ที่ใช้ประโยชน์จริง ไม่อย่างนั้นจะทำงานช้า สารกัญชาจะทำให้สมองของเด็กสร้างสิ่งนี้ได้ไม่เท่าคนที่ไม่ได้เสพกัญชา ซึ่งมีผลการวิจัยรับรองว่าเด็กที่ใช้กัญชาจะเรียนหนังสือได้ไม่ค่อยดี หรือถ้าไปเอ็กซเรย์สมองจะพบว่ามีความผิดปกติ

ในสถานการณ์ตอนนี้ที่กำลังนับถอยหลังปลดล็อกกัญชาจากยาเสพติด ขณะที่มาตรการต่างๆ ยังหละหลวมอยู่ ภาครัฐจะสามารถทำอะไรได้บ้าง

ถ้าภาครัฐจะทำก็ทำได้เลยและเป็นเรื่องที่ภาครัฐต้องทำ ในที่ประชุม ป.ป.ส. เมื่อ 25 ม.ค. 2565 ที่รองนายกฯ วิษณุ เครืองาม เป็นประธานบอร์ดพิจารณาร่างประกาศกระทรวงสาธารณสุขให้กัญชาพ้นจากยาเสพติดประเภท 5 มีบันทึกการประชุมว่า กระทรวงการต่างประเทศท้วงว่าผิดอนุสัญญา ทำไม่ได้ ถ้าทำจะถูกลงโทษ มีการพูดกันว่าต้องควบคุม ไม่ใช่ปล่อยเสรี แม้แต่รัฐมนตรีสาธารณสุขก็พูดในที่ประชุมว่าไม่ได้สนับสนุนการใช้เพื่อความบันเทิง จะมี พ.ร.บ.กัญชากัญชงเข้ามาควบคุม ตอนแรกกระทรวงสาธารณสุขเสนอว่าให้มีผลทันที แต่ต่อรองกันไปมาจนเป็นให้รอ 120 วัน โดยพูดกันว่าถ้าเครื่องมือควบคุมยังไม่ออกก็ให้เลื่อนการบังคับใช้ออกไปได้ นี่คือความจริง แต่ไม่มีใครกล้าพูด

ฉะนั้นถ้าถามว่ารัฐทำอะไรได้บ้าง คำตอบคือไม่ว่าจะเป็นรัฐบาล กระทรวงสาธารณสุข หรือ ป.ป.ส. ล้วนสามารถบอกให้ชะลอได้ เพราะเงื่อนไขของการออกประกาศคือต้องมีการควบคุม

ส่วนถ้าถามว่าควรไปออก พ.ร.บ.กัญชากัญชง ฉบับภูมิใจไทยเลยไหม ก็ต้องบอกว่าไม่ควร ควรจะชะลอไปก่อน แล้วเดินหน้าพิจารณามาตรการให้เหมาะสมโดยเอาฉบับพรรคพลังประชารัฐตั้ง ไม่ว่าอย่างไรกัญชาทางการแพทย์ก็ยังใช้ได้เหมือนเดิม ไม่มีการห้าม เพียงแค่ว่าให้รอเรื่องการปลูกเสรีใช้เองอีกหน่อย ไม่ใช่ว่าจะห้ามเด็ดขาด

มองอย่างไรเรื่องกัญชาเพื่อเศรษฐกิจที่บอกว่าจะสร้างรายได้มากๆ ให้ประชาชน

ถ้าปลูกกัญชากันเยอะๆ ราคาก็ตกอยู่ดี ถ้าปลูกกันครบทุกบ้าน ก็จะไม่มีใครซื้อ เพราะทุกคนจะมีกัญชาของตัวเอง คนปลูกก็จะขายไม่ได้อยู่ดี ถ้าจะไปขายให้ต่างประเทศก็จะมีการตรวจโลหะหนัก สุดท้ายคนที่ทำกัญชาได้อย่างมีคุณภาพก็จะเป็นพวกธุรกิจขนาดใหญ่และเขาจะได้ประโยชน์ในที่สุด คนเสียประโยชน์ที่สุดคือคนที่มีลูกหลานซึ่งมีจำนวนมหาศาล ผลเสียจะเกิดในอีก 10-20 ปีข้างหน้า คนยังมองไม่เห็นเลยไม่ได้ออกมาส่งเสียงไม่เห็นด้วย แต่หากผลด้านลบจะเกิดในอนาคตจริงๆ ใครจะเป็นผู้รับผิดชอบ

MOST READ

Life & Culture

14 Jul 2022

“ความตายคือการเดินทางของทั้งคนตายและคนที่ยังอยู่” นิติ ภวัครพันธุ์

คุยกับนิติ ภวัครพันธุ์ ว่าด้วยเรื่องพิธีกรรมการส่งคนตายในมุมนักมานุษยวิทยา พิธีกรรมของความตายมีความหมายแค่ไหน คุณค่าของการตายและการมีชีวิตอยู่ต่างกันอย่างไร

ปาณิส โพธิ์ศรีวังชัย

14 Jul 2022

Life & Culture

27 Jul 2023

วิตเทเกอร์ ครอบครัวที่ ‘เลือดชิด’ ที่สุดในอเมริกา

เสียงเห่าขรม เพิงเล็กๆ ริมถนนคดเคี้ยว และคนในครอบครัวที่ถูกเรียกว่า ‘เลือดชิด’ ที่สุดในสหรัฐอเมริกา

เรื่องราวของบ้านวิตเทเกอร์ถูกเผยแพร่ครั้งแรกทางยูทูบเมื่อปี 2020 โดยช่างภาพที่ไปพบพวกเขาโดยบังเอิญระหว่างเดินทาง ซึ่งด้านหนึ่งนำสายตาจากคนทั้งเมืองมาสู่ครอบครัวเล็กๆ ครอบครัวนี้

พิมพ์ชนก พุกสุข

27 Jul 2023

Life & Culture

4 Aug 2020

การสืบราชสันตติวงศ์โดยราชสกุล “มหิดล”

กษิดิศ อนันทนาธร เขียนถึงเรื่องราวการขึ้นครองราชสมบัติของกษัตริย์ราชสกุล “มหิดล” ซึ่งมีบทบาทในฐานะผู้สืบราชสันตติวงศ์ หลังการเปลี่ยนแปลงการปกครองโดยคณะราษฎร 2475

กษิดิศ อนันทนาธร

4 Aug 2020

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • Always Active

Save