fbpx

แกะโครงสร้าง กรุงเทพฯ-พัทยา ท้องถิ่นพิเศษที่ไม่พิเศษ

การเลือกตั้งกรุงเทพฯ กำลังเข้มข้นทุกขณะ ผู้สมัครทุกคนต่างงัดนโยบายมาหาเสียงกันอย่างเปี่ยมสีสัน ขณะที่การเลือกตั้งผู้ว่าฯ พัทยา แม้จะเงียบกว่าโดยธรรมชาติ แต่ก็คึกคักและน่าสนใจเมื่อเทียบกับการเลือกตั้งท้องถิ่นอื่นๆ

ทำไมกรุงเทพฯ และพัทยาจึงดูพิเศษกว่าที่อื่น

อะไรที่ซ่อนอยู่เบื้องหลังความพิเศษที่ว่านี้

101 ชวน ดร.ณัฐกร วิทิตานนท์ ภาควิชารัฐประศาสนศาสตร์ คณะมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยราชภัฏเชียงใหม่วิเคราะห์การเลือกตั้งกรุงเทพฯ พัทยา และวิเคราะห์นัยสำคัญของการเลือกตั้งท้องถิ่นทั้งสองแห่งนี้ต่อโครงสร้างอำนาจภาพใหญ่ของประเทศ

แกะโครงสร้างท้องถิ่นพิเศษ กรุงเทพฯ – พัทยา

กรุงเทพฯ เกิดจากการรวมกันของสองจังหวัดแล้วเกิดเป็นมหานครใหญ่อย่างทุกวันนี้ในช่วง จอมพล ถนอม กิตติขจร (อดีตนายกรัฐมนตรีไทย) ปี 2515 แต่กรุงเทพฯ ที่มีลักษณะเป็นท้องถิ่นถูกเปลี่ยนในสมัยของรัฐบาล สัญญา ธรรมศักดิ์ ซึ่งเป็นผลผลิตของการเคลื่อนไหวเรียกร้องประชาธิปไตยในวันที่ 14 ตุลาคม 2516 จึงทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงของรัฐธรรมนูญเรียกว่า ‘รัฐธรรมนูญสภาสนามม้า’

รัฐธรรมนูญตัวนี้เองที่เป็นกำหนดโครงสร้างท้องถิ่นว่าต้องมีที่มาจากการเลือกตั้งเท่านั้น โดยเริ่มการทดลองที่กรุงเทพฯ ก่อน ขณะที่เทศบาลในร่วมสมัยเดียวกันยังเป็นระบบการเลือกตั้งโดยอ้อม หมายถึงว่าเราไม่ได้ไปเลือกผู้บริหารท้องถิ่นด้วยตัวเอง เราเลือกได้แค่สมาชิกแล้วสมาชิกคือผู้ที่ยกมือโหวตนายกเทศมนตรี แต่กรุงเทพมหานครในตอนนั้นใช้ระบบการเลือกตั้งโดยตรง คือคนกรุงเทพฯ จะได้เลือกตั้งผู้ว่าฯ ได้ด้วยตัวเองซึ่งรูปแบบนี้ได้รับอิทธิพลมาจากอเมริกา นั่นคือความพิเศษ ณ ตอนนั้น

แต่เมืองพัทยาเกิดขึ้นหลัง 6 ตุลาฯ คือในยุคของรัฐบาล เกรียงศักดิ์ ชมะนันท์ โดยเดิมทีนั้นเมืองพัทยารับใช้อเมริกามาตลอด สมัยก่อนเมืองพัทยาเดิมคือ นาเกลือ แต่เมื่อฝรั่งมารบตามอู่ตะเภา เขาอยากผ่อนคลายจึงทำให้เมืองพัทยาขยายตัว กองทัพต่างๆ ก็มาพัทยาเพื่อพักผ่อนหย่อนใจ แม้กระทั่งหลังสงครามเย็นสิ้นสุดนักท่องเที่ยวกลุ่มแรกๆ ก็ยังเป็นกลุ่มคนอเมริกัน เมืองพัทยาใช้ระบบที่ไม่เคยมีในประเทศไทยมาก่อนคือระบบ ‘ผู้จัดการเมือง’ หมายถึงคนที่จะบริหารเมืองคือปลัดเมืองพัทยา เป็นคนที่ถูกว่าจ้างให้มาบริหารเมืองตามระยะเวลาในสัญญาประมาณสี่ปี ความพิเศษในอดีตของพัทยาคือ สามารถเสนองบประมาณตรงกับสำนักงบประมาณซึ่งท้องถิ่นอื่นไม่สามารถทำแบบนั้นได้ซึ่งพัทยาก็ใช้ระบบนี้มานาน

ทั้งเมืองพัทยาและกรุงเทพฯ ณ ตอนนั้นมันเคยพิเศษ พอปัจจุบันความพิเศษตรงนั้นก็หายไปเนื่องจากพอมีรัฐธรรมนูญปี 2540 ตัวของรัฐธรรมนูญพยายามไปปรับรูปแบบโครงสร้างภายในให้เหมือนกันทั้งประเทศจึงทำให้ความพิเศษหายไป แต่ว่าหลายอย่างที่ไม่พิเศษ คือ กรุงเทพ-พัทยา ยังหนีไม่พ้นปัญหาภาพรวม

พื้นที่ทับซ้อน – อำนาจซ้อนทับ ความอิหลักอิเหลื่อของท้องถิ่นพิเศษ

หลายคนคงจะคุ้นกับข่าว บิลล์ เกตส์ (นักธุรกิจชาวอเมริกัน) ที่เคยมาพัทยาเมื่อช่วงหลายปีก่อนแล้วโพสต์รูปสายไฟพันกันอีรุงตุงนัง และล่าสุด รัสเซลล์ โคร์ว (นักแสดงชาวนิวซีแลนด์) ก็โพสต์รูปสายไฟเหมือนกัน ซึ่งปัญหานี้ไม่ได้เกิดแค่สองพื้นที่นี้เท่านั้น แต่มันเกิดทั่วประเทศ ผมเรียกว่าปัญหาลักษณะของพื้นที่ทับซ้อน – อำนาจซ้อนทับ เราเห็นได้ชัดว่าปัญหาในพื้นที่เดียวกันแต่หน่วยงานที่รับผิดชอบมีเยอะแยะมากมายทั้งระดับส่วนภูมิภาค ระดับส่วนกลางที่ตั้งอยู่ในพื้นที่ซึ่งตรงนี้มันสะท้อนให้เห็นว่า พัทยา – กรุงเทพฯ ไม่ได้มีอำนาจเต็มในการบริหารพื้นที่เมืองของตัวเอง หลายครั้งมีการสร้างสะพายลอยแล้วมีสายไฟฟ้าพาด มีคนตั้งคำถามว่าทำไมไม่ไปคุยกันคือมันคุยกันไม่ได้ สะพานลอยอาจเป็นของกรมทางหลวงขณะเดียวกันสายไฟอาจจะเป็นของโทรคมนาคมเอกชน นี่แค่ตัวอย่างเล็กๆ จากสารพัดปัญหาที่สะท้อนถึงอำนาจที่จำกัดของกรุงเทพมหานคร อันนี้คือปัญหาเรื่องอำนาจ

ส่วนปัญหาเรื่องพื้นที่เราจะเห็นได้ชัดว่าพื้นที่กรุงเทพฯ เองเป็นพื้นที่ท้องถิ่นเต็มพื้นที่ไม่เหมือนต่างจังหวัดที่มีผู้ใหญ่บ้าน กำนัน นายอำเภอ อันนี้เป็นความพิเศษอีกอย่างหนึ่งของกรุงเทพฯ แต่ปัญหาก็คือเมื่อกรุงเทพฯ ไม่มีส่วนภูมิภาคแล้วอำนาจของกรุงเทพฯ กลับไปยกให้ส่วนกลางเป็นส่วนมาก

นี่เป็นปัญหาที่กรุงเทพฯ – พัทยาไม่ได้พิเศษเพราะถ้าพิเศษจริงอำนาจเหล่านี้ต้องไปอยู่ภายใต้ผู้บริหารกรุงเทพฯ หรือนายกเมืองพัทยา 

4 ข้อสังเกต – จับตาเลือกตั้งกรุงเทพฯ ในรอบ 9 ปี

ข้อแรก – ระยะเวลาเก้าปีถือว่านานมาก และระหว่างเก้าปี ก็ไม่ใช่ว่าคนที่เราเลือกตั้งครั้งสุดท้ายจะได้เป็น และปรากฏว่าคนที่เราเลือกครั้งสุดท้ายคือ หม่อมราชวงศ์สุขุมพันธุ์ บริพัตร ก็ถูก คสช. ใช้มาตรา44 ให้ออกจากตำแหน่ง คนที่มาดำรงตำแหน่งแทนก็คือ รองผู้ว่าฯ ที่ไม่ได้มาจากการเลือกตั้งซึ่งในรอบนี้ผู้ว่าฯ ที่มาจากการแต่งตั้งก็ลงสมัครแข่งขันด้วย ดังนั้นการลงคะแนนเสียงรอบนี้จึงอาจจะตีความได้ว่า ถ้าท่านได้คะแนนน้อยมาก ๆ ก็สะท้อนความคิดได้ว่าคนกรุงเทพฯ อาจรู้สึกอัดอั้นและไม่พึงพอใจนักกับผู้ว่าฯ ที่เขาไม่ได้เลือกแต่มาบริหารกรุงเทพฯ ได้ตั้งหลายปี

ข้อสอง – กรณีผู้สมัครอิสระก็เป็นเรื่องน่าสนใจเพราะจากประวัติศาสตร์พบว่าผู้ลงสมัครในนามอิสระแล้วชนะมีแค่สองครั้งนั่นคือ พลตรีจำลอง ศรีเมือง และ คุณพิจิตต รัตนกุล ซึ่งแปลกที่รอบนี้มีผู้สมัครอิสระหลายท่าน ทั้งที่เราสามารถประเมินได้ว่าการสังกัดพรรคการเมืองจะมีภาษีดีกว่า นี่เป็นอีกประเด็นที่จะชวนให้ติดตาม

ข้อสาม – มีคนตั้งข้อสังเกตว่าที่ผ่านมาโดยส่วนใหญ่ภาพรวมการเลือกตั้งผู้ว่าฯ กรุงเทพฯ คนกรุงเทพฯ มักเลือกสวนกับรัฐบาลเสมอ เช่น ตอนนี้รัฐบาลคือพรรคพลังประชารัฐ ในการเลือกตั้งท้องถิ่น คนกรุงเทพฯ จะเลือกขั้วอื่น ต้องติดตามว่าจะเป็นแบบนั้นอีกไหมซึ่งหากเป็นแบบนั้นคนที่เป็นอีกฝั่งจะได้รับการเลือกตั้ง

ข้อสี่ – เรื่องการทำลายสถิติซึ่งตอนนี้มีหลายตัวเลขที่น่าสนใจ เช่น ในการเลือกตั้งที่ผ่านมามีแค่สองคนที่เคยทำคะแนนได้เกินหนึ่งล้านเสียง คือ คุณสมัคร สุนทรเวช และหม่อมราชวงศ์สุขุมพันธ์ ครั้งนี้ต้องจับตาดูว่าจะมีหนึ่งล้านเสียงคนที่ 3 หรือไม่ หรืออีกสถิติคือพรรคประชาธิปัตย์ชนะสี่ครั้งรวด ตั้งแต่สมัยคุณอภิรักษ์จนถึงหม่อมราชวงศ์สุขุมพันธ์ ดูว่าครั้งนี้จะชนะหรือไม่

ผู้สมัครที่เป็นพรรค VS ผู้สมัครอิสระ อิทธิพลการเมืองระดับชาติ กับ การเลือกตั้งท้องถิ่นกรุงเทพฯ

เราคงปฏิเสธไม่ได้ว่าการเมืองท้องถิ่นสัมพันธ์กับการเมืองระดับชาติและสภาวการณ์ทางเมืองไทยที่ยังมีการเมืองสีเสื้ออยู่ อันเป็นผลพวงตั้งแต่รัฐประหารปี 2549 ซึ่งภาวะแบบนี้ถูกเอามาตัดสินในการเลือกตั้งท้องถิ่นด้วย ดังนั้นถ้าผู้สมัครประกาศชัดเจนว่าอยู่พรรคไหน โอกาสเสียคะแนนจากฝั่งตรงข้ามก็มี แต่ถ้าประกาศว่าอิสระก็ค่อนข้างไว้วางใจได้ว่าอาจจะได้คะแนนในฝั่งตรงข้ามด้วย ทั้งนี้ แน่นอนว่าอีกด้านก็อาจเสียคะแนนกับฐานคะแนนที่หากประกาศชัดเจนเขาคงลงให้อย่างแน่นอน นี่คือผลของการประกาศลงสมัครอิสระ

และในงานวิจัยที่มีคนเคยศึกษาไว้บอกว่าปัจจัยสำคัญกับคะแนนของผู้ว่าฯ คือ สภากรุงเทพมหานคร (สก.) ซึ่งจากการที่ไม่ได้เลือกตั้งมานานก็บอกได้ยากว่าคนยังมั่นใจกับ สก. ที่เป็นเจ้าของพื้นที่เดิมหรือไม่เพราะเขาคือตัวแปรสำคัญ รวมถึงจากพฤติกรรมการเลือกของคนมักจะเลือกไปทิศทางเดียวกัน หมายถึง ในอดีตถ้าลงเป็นพรรค ถ้าประชาชนเลือก สก. ของพรรคนี้เขาจะเลือกผู้ว่าฯ จากพรรคนี้ด้วย แต่ตอนนี้คะเนยากมากเพราะ สก. ถูก คสช. ปลดตั้งแต่รัฐประหาร ปี 2557 ดังนั้นช่วงวลาที่หายไปเราจึงไม่รู้ว่าเจ้าถิ่นเดิมยังมีบทบาทโน้มน้าวผู้มีสิทธิ์เลือกตั้งได้หรือไม่

“คนต่างจังหวัดก็อยากเลือกผู้ว่าฯ ของตัวเอง” ความเป็นไปได้ในข้อเรียกร้องกับการกระจายอำนาจระดับประเทศ

ในเชียงใหม่มีกลุ่มองค์กรหลายสิบองค์กรที่ทำเรื่องสิ่งแวดล้อมเขาก็มารวมตัวกันเพราะเขามองว่าปัญหาใหญ่ของการที่ไม่ได้เลือกผู้ว่าฯ คือ ผู้ว่าฯ ที่ถูกส่งมาไม่ใช่คนพื้นที่ ไม่เข้าใจสภาพปัญหา บวกกับความรู้สึกเจ็บแค้นเพราะหลายจังหวัดกลายเป็นบ้านพักคนชรา ผู้ว่าฯ หลายจังหวัดอยู่ปีเดียวก็เกษียณจึงไม่ได้คิดทำอะไรในระยะยายาวหรือแก้ปัญหาที่มันเป็นปัญหาจริงๆ หรือปัญหาเรื้อรังและหลายจังหวัดเจอประสบการณ์เดียวกัน แต่ผมบอกได้เลยว่าต่อให้เป็นผู้ว่าฯ ที่มาจากการเลือกตั้งก็แก้ปัญหานี้ไม่ได้ถ้าเรายังอยู่ภายใต้โครงสร้างอำนาจแบบที่เป็นอยู่หรืออีกทางอาจไม่ต้องเลือกตั้งก็ได้ถ้ากระทรวงมหาดไทยมีการกำหนดคุณสมบัติอย่างชัดเจน เช่น การจะเป็นผู้ว่าต้องมีอายุราชการเหลือเท่าไหร่ และให้เขาอยู่นานหน่อย 2-3 ปี มีวาระการดำรงตำแหน่งอย่างชัดเจนเพื่อให้เขาวางแผนได้และสัญญาต่อสังคมได้ว่าในเวลาที่เขาอยู่เขาจะทำอะไร

แต่สำหรับเรื่องการเรียกร้องการเลือกตั้งมันยากมากเพราะไม่ใช่เพิ่งจะมีการเรียกร้อง ส่วนตัวคิดว่ามันไม่มีทางเกิดขึ้นจากการเรียกร้องในแบบเดิม ผมคิดว่ามันต้องผลักดันโดยอาศัยพลังทางการเมืองอย่างสูงซึ่งมันจะเกิดขึ้นได้ต้องเป็นนโยบายของพรรคการเมืองในการหาเสียงเลือกตั้ง และหลายครั้งก็มีการเสนอนโยบายเช่นนั้น แต่พอเป็นประเด็นที่ไปกระทบกับกระทรวงมหาดไทยสุดท้ายนโยบายนี้ก็ต้องพับเก็บไปก่อน ที่สำคัญมันไม่ใช่นโยบายเศรษฐกิจปากท้องที่ขายได้กับประชาชนโดยทั่วไป แต่เป็นนโยบายที่ต้องใช้เวลาในการอธิบายกับประชาชนว่าเรื่องนี้มันเกี่ยวข้องกับเขาอย่างไร มันช่วยส่งเสริมเศรษฐกิจท้องถิ่นอย่างไร ซึ่งผมมองว่าเป็นไปได้ยากมากที่จะเกิดขึ้นในเร็ววันนี้

เปิดความจริงเบื้องหลังวาทกรรมการเมืองท้องถิ่น สร้างความรุนแรง – ซื้อสิทธิ์ขายเสียง – ทุจริตคอร์รัปชั่น

อาจมีคนบอกว่าจะให้มีการเลือกตั้งผู้ว่าฯ ในต่างจังหวัดได้อย่างไร เมื่อการเลือกตั้งท้องถิ่นมีแต่การซื้อเสียง ความรุนแรงและการทุจริตคอร์รัปชั่น แต่เคยมีบทความชิ้นหนึ่งที่ศึกษาคดีในคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) และอีกหลายหน่วยงานของรัฐแล้วนำมาจำแนก พบว่ามูลค่าความเสียหายที่เกิดจากการทุจริตคอร์รัปชั่นของท้องถิ่นน้อยกว่าส่วนกลางเยอะมาก แต่เวลามันถูกคิดเป็นจำนวนเรื่องมันเยอะเพราะท้องถิ่นมี 7,000 กว่าแห่ง ขณะที่หน่วยงานระดับกรมมันมีเพียงร้อยกว่าแห่ง ดังนั้นถ้าเอาจำนวนเรื่องเยอะก็จะดูเหมือนท้องถิ่นทุจริตกันแต่หากดูที่มูลค่าความเสียหายมันน้อยมากเมื่อเทียบหน่วยงานใหญ่ ๆ

อีกกรณีเทียบเคียงจากงานที่ผมทำอยู่ คือเรื่องการลอบสังหารนักการเมืองท้องถิ่น เพราะตอนที่เขาไม่กระจายอำนาจนั้นมีการให้เหตุผลว่าเพราะการเมืองท้องถิ่นทำให้คนขัดแย้งกันและนำไปสู่ความรุนแรง ผมจึงเก็บสถิติมาดูว่า มีการยิงนักการเมืองท้องถิ่นตายมากน้อยแค่ไหน พบว่าในรอบสิบปี ตายประมาณ 500 ราย และผมลองทำในระยะสิบปีให้หลังมานี้มันลดไปเยอะมาก จาก 500 เหลือแค่ 100 กว่ารายซึ่งจำนวน 500 รายเหมือนจะเยอะ แต่ถ้าเทียบกับสถิติคดีฆาตกรรมของไทยแต่ละปีมีราว 5,000 คดีมันก็เป็นจำนวนที่ไม่เยอะขนาดนั้น แต่แน่นอนว่ามันไม่ควรเกิด

ที่น่าสนใจคือจากรอบหลังที่มีจำนวนน้อยนั้น เกิดจากการยิงกันตายที่เดียวเท่านั้นคือที่จังหวัดนครนายก ปรากฎว่าหลังเกิดเรื่องนี้โทรทัศน์ช่องหนึ่งติดต่อผมให้ออกรายการ ผมก็บอกว่าจากที่เก็บสถิติมาแทบไม่มีเหตุการณ์ยิงกันตายเลย อันที่จริงเป็นการยิงข่มขู่ด้วยซ้ำ เช่น ยิงยางรถ ยิงวัว ยิงบ้าน มีที่หวังผลจริง ๆ เพียงนับนิ้วได้แค่มือเดียว แต่สื่อกลับยังสนใจ ดังนั้นสื่อเองก็ผลิตซ้ำเรื่องการทุจริตคอร์รัปชั่น เรื่องความรุนแรง ซึ่งถ้าทำข้อมูลภาพรวมจะเห็นว่ามันเป็นเพียงส่วนหนึ่งของปัญหาเท่านั้น แต่มันถูกหยิบจับขึ้นมาเสนอ และแน่นอนว่ามันเป็นภาพที่เรารับไม่ได้

กรณีเรื่องการซื้อเสียงเมื่อนักการเมืองการอยากชนะ แต่ไม่มั่นใจในความสามารถก็ต้องมีการใช้เงิน ผมคงพูดในภาพใหญ่ไม่ได้ แต่เท่าที่พูดได้คือ หลังการเลือกตั้งเทศบาลในปีที่ผ่านมา ผมมีโอกาสได้ไปร่วมวงที่มีการเชิญทั้งคนที่ชนะและแพ้ในการลงเลือกตั้งมาพูดคุย สิ่งที่ทุกคนพูดตรงกันคือ การซื้อเสียงมีอยู่จริง แต่สิ่งที่ต่างจากการรับรู้ของสื่อคือ ไม่ใช่ทุกคนที่ใช้เงินแล้วจะประสบความสำเร็จ มีคนหลายคนในวงวันนั้นที่ไม่ใช่เงินเลยแล้วชนะ ซึ่งกลยุทธ์ที่เขาใช้คือการดึง New Voter กลับบ้าน ซึ่งพื้นที่ของเขาเป็นพื้นที่ชาติพันธุ์ เขารู้ว่าคนชาติพันธุ์ออกไปจากพื้นที่เยอะ เขาจึงพยายามต่อสายเพื่อดึงคนเหล่านี้กลับบ้านมาเลือกตั้ง พอกลับมาเยอะๆ ฝั่งที่ซื้อเสียงไว้ก็น้อยกว่าฝั่งที่เป็นตัวแปรซึ่งกำหนดการชี้ขาดการเลือกตั้ง ดังนั้นมันต้องมีกลยุทธ์ที่ใช้ต่อสู้เช่นกัน

MOST READ

Thai Politics

3 May 2023

แดง เหลือง ส้ม ฟ้า ชมพู: ว่าด้วยสีในงานออกแบบของพรรคการเมืองไทย  

คอลัมน์ ‘สารกันเบื่อ’ เดือนนี้ เอกศาสตร์ สรรพช่าง เขียนถึง การหยิบ ‘สี’ เข้ามาใช้สื่อสาร (หรืออาจจะไม่สื่อสาร?) ของพรรคการเมืองต่างๆ ในสนามการเมือง

เอกศาสตร์ สรรพช่าง

3 May 2023

Politics

23 Feb 2023

จากสู้บนถนน สู่คนในสภา: 4 ปีชีวิตนักการเมืองของอมรัตน์ โชคปมิตต์กุล

101 ชวนอมรัตน์สนทนาว่าด้วยข้อเรียกร้องจากนอกสภาฯ ถึงการถกเถียงในสภาฯ โจทย์การเมืองของก้าวไกลในการเลือกตั้ง บทเรียนในการทำงานการเมืองกว่า 4 ปี คอขวดของการพัฒนาสังคมไทย และบทบาทในอนาคตของเธอในการเมืองไทย

ภัคจิรา มาตาพิทักษ์

23 Feb 2023

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • Always Active

Save