fbpx

อ่านปรากฏการณ์ชัชชาติผ่านสถิติ ตัวตน และยุทธศาสตร์การเมือง

ชัยชนะของชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ผู้ว่าฯ กทม.คนที่ 8 ที่มาจากการเลือกตั้งโดยตรงของประชาชน ไม่ได้อยู่เหนือความคาดหมายเลย โดยเฉพาะเมื่อดูจากผลโพลที่ทำโดยสถาบันวิชาการต่างๆ เรียกว่านำมาแบบม้วนเดียวจบ (แตกต่างจากผลโพลของสื่อมวลชนที่เป็น ‘echo chamber’ สูง และอาจมีเจตนาแฝงเร้น) ทว่าคะแนนที่ได้รับต่างหากคือความมหัศจรรย์

สถิติมีไว้ทำลาย

ชัชชาติสร้างสถิติใหม่หลายต่อหลายเรื่อง ทั้งที่ถือเป็นการลงสนามเลือกตั้งครั้งแรกในชีวิต เพราะการเป็นรัฐมนตรีคมนาคมในสมัยรัฐบาลยิ่งลักษณ์ และแคนดิเดตนายกรัฐมนตรีของพรรคเพื่อไทยก็ไม่เคยต้องผ่านการเลือกตั้งมาก่อน

หนึ่ง กำลังจะเป็นผู้ว่าฯ ที่ได้รับเสียงข้างมากโดยเด็ดขาด (absolute majority) จากประชาชน นั่นคือได้คะแนนเสียงเกินกว่าร้อยละ 50 ชัชชาติได้คะแนน 1,386,215 คะแนนของจำนวนผู้ออกไปใช้สิทธิเลือกตั้ง 2,673,696 คน คิดเป็น 51.84% ท่ามกลางผู้สมัครที่มากเป็นประวัติการณ์ 31 คน นับเป็นคนที่ 2 ถัดจากพลตรีจำลอง ศรีเมือง ที่เคยทำได้ในการเลือกตั้งตั้งแต่เมื่อปี 2533 ครั้งนั้นพลตรีจำลองได้ 703,671 คะแนน จากคะแนนเสียงที่ให้ผู้เลือกตั้งทั้งหมด 1,147,576 คะแนน คิดเป็น 61.31% โดยมีผู้สมัครรับเลือกตั้งเพียง 16 คน

สอง ถือเป็นการเอาชนะได้ครบทุกเขตทั้ง 50 เขต ขณะที่การเลือกตั้งหนหลังสุด ม.ร.ว.สุขุมพันธุ์ บริพัตรชนะ 39 เขต

สาม ได้คะแนนมากที่สุด มากกว่าที่ ม.ร.ว.สุขุมพันธุ์เคยทำไว้ 1,256,349 คะแนนเมื่อ 9 ปีก่อน จากสัดส่วนของผู้มาใช้สิทธิเลือกตั้งซึ่งลดลงไป (จาก 63.98% เหลือ 60.73%)

สี่ เป็นช่องว่างที่ห่างที่สุดเกินกว่า 1 ล้านคะแนน ทำลายสถิติของสมัคร สุนทรเวชที่เอาชนะสุดารัตน์ เกยุราพันธุ์ 494,912 คะแนนในปี 2543 ซึ่งคราวนี้ชัชชาติทำคะแนนทิ้งขาดสุชัชวีร์ สุวรรณสวัสดิ์ที่มาเป็นอันดับ 2 ที่ได้ไป 254,647 คะแนนมากถึง 1,131,568 คะแนน

บางคนถึงกับเรียกชัยชนะครั้งนี้ของชัชชาติว่ายิ่งกว่า landslide แต่เป็น super-landslide ซึ่งมีพลังมากพอที่จะก่อให้เกิดความเปลี่ยนแปลงหลายมิติ สิ่งที่เห็นเลยทันที (แม้นในช่วงที่ยังรอทาง กกต. ประกาศรับรองผลการเลือกตั้ง) อย่างเช่นการทำงานร่วมกันข้ามขั้วการเมือง ปรับบทบาทของ ส.ก.ในสภา กทม.ให้ทำหน้าที่สะท้อนปัญหาของพี่น้องประชาชนแต่ละเขต ไม่แบ่งแยกผู้บริหารกับฝ่ายค้าน ส่วนฝ่ายราชการประจำตอบรับที่จะนำเอานโยบาย 200+ ไปสู่การปฏิบัติให้เห็นผลจริง สะท้อนภาวะการเมืองนำการบริหาร ฯลฯ

เฝ้ารอคำตอบจากการศึกษาวิจัย

เชื่อว่าผลเลือกตั้งเช่นนี้น่าจะทำให้เกิดความตื่นตัวในแวดวงวิชาการเกี่ยวกับพฤติกรรมการตัดสินใจเลือกของประชาชนกับกลยุทธ์การหาเสียงของผู้สมัคร ซึ่งที่ผ่านมาในไทยยังมีค่อนข้างจำกัด หวังว่าจะมีงานศึกษาวิจัยมากมายในเชิงลึกหลากหลายแง่มุมออกมา เช่นการเลือกตั้งเมื่อปี 2543 ที่คุณสมัครเอาชนะได้อย่างถล่มทลาย[1] เพื่อหาคำอธิบายที่เป็นวิทยาศาสตร์ เพื่อให้เห็นความแตกต่างระหว่างกลุ่มประชากร เข้าใจชุดคุณค่าซึ่งคนแต่ละกลุ่มใช้พิจารณา

ปัจจัยแห่งความสำเร็จ

บทความตอนนี้เป็นเพียงการประเมินผ่านสายตาผู้เขียน และตั้งข้อสังเกตเบื้องต้น จากการไล่อ่านความเห็นและบทวิเคราะห์จำนวนมากที่พบเจอในสื่อสังคมออนไลน์ เพื่อสรุปถึงเหตุปัจจัยอะไรที่ก่อให้เกิด ‘ปรากฏการณ์ชัชชาติ’ ขึ้น

เรียนรู้บทเรียนในอดีต

ในการเลือกตั้งเมื่อปี 2535 พิจิตต รัตตกุลเคยลงผู้ว่าฯ กทม.ในนามพรรคประชาธิปัตย์ แต่ต้องพ่ายแพ้ให้แก่กฤษฎา อรุณวงษ์ ณ อยุธยา จากพรรคพลังธรรม การเลือกตั้งครั้งนี้เกิดขึ้นก่อนเหตุการณ์พฤษภาทมิฬซึ่งกระแสความนิยมพรรคพลังธรรมในกรุงเทพฯ พุ่งสูงสุด ครองที่นั่ง ส.ส. เกือบยกทั้งกรุงเทพมหานคร พอปี 2539 พิจิตตจึงตัดสินใจลงอิสระใช้ชื่อกลุ่มมดงาน และได้รับเลือกตั้งเป็นผู้ว่าฯ โดยที่พรรคประชาธิปัตย์ไม่ส่งผู้สมัครลงแข่ง ขณะที่พลตรีจำลองในนามพรรคพลังธรรมต้องตัดคะแนนกันเองกับกฤษฎาที่รอบนี้ลงแบบอิสระ

นี่อาจเป็นฉากทัศน์ที่ชัชชาติคิดไว้แล้ว

พูดง่ายๆ ว่าถ้ามีพรรคใดครองความนิยมเด็ดขาดในพื้นที่กรุงเทพฯ การลงในนามพรรคนั้นย่อมสร้างความได้เปรียบ ตรงกันข้ามกับการลงอิสระที่ย่อมส่งผลด้านกลับ เป็นกลยุทธ์ที่ใช้ไม่ได้กับสถานการณ์อันก้ำกึ่ง นั่นคือ ไม่มีพรรคไหนยึดกุมเมืองหลวงได้เบ็ดเสร็จเช่นเวลานี้ จากผลการเลือกตั้งทั่วไปปี 2562 ก็มีถึง 3 พรรคการเมืองที่แบ่งที่นั่ง ส.ส. กทม.ในสัดส่วนที่ไล่เลี่ยกันอย่างยิ่ง ซึ่งคราวนั้นเป็นพลังประชารัฐ พรรคแกนนำรัฐบาลที่ได้ที่นั่งไปมากที่สุด อย่างไรก็ตาม การเลือกตั้งผู้ว่าฯ 4 หนหลังที่พรรคประชาธิปัตย์สามารถชนะได้อย่างต่อเนื่องนั้น เกิดขึ้นบนสถานการณ์ที่พรรคประชาธิปัตย์ครองที่นั่ง ส.ส. ส่วนใหญ่ของ กทม. อยู่ในเวลานั้นด้วย เป็นห้วงที่มีความขัดแย้งระหว่างสีเสื้อแบ่งแยกขั้วอุดมการณ์ชัดเจน

อีกทั้งต้องไม่ลืมว่าพรรคเพื่อไทย หมายความรวมถึงพรรคเดียวกันนี้ในชื่ออื่นก็ไม่เคยประสบความสำเร็จในการเลือกตั้งผู้ว่าฯ กทม. แม้แต่ครั้งเดียว การลงสมัครในนามพรรคเพื่อไทยจึงกลายเป็นผลเสีย

การประกาศตัวลงเลือกตั้งโดยไม่อิงพรรคการเมืองย่อมทำให้ชัชชาติเข้าถึงฐานคะแนนที่กว้างขวางกว่าแค่ฐานเสียงของพรรคเพื่อไทย เพราะถึงอย่างไรเสีย คนที่เลือกเพื่อไทยก็คงต้องเทคะแนนให้อยู่แล้ว (เพราะพรรคเพื่อไทยไม่ส่งผู้สมัครรับเลือกตั้งในตำแหน่งผู้ว่าฯ) และสามารถดึงเอาคะแนนของผู้ที่เลือกพรรคอื่นมาได้อีกเป็นกอบเป็นกำ โดยเฉพาะจากปีกอนุรักษนิยม (ที่เกลียดกลัวทักษิณ) รวมไปถึงพวก swing voters (ซึ่งไม่ได้มีความผูกพันกับพรรคใด) จากความชื่นชอบเชิงตัวบุคคลที่มีต่อเขาเป็นพิเศษ

ดูได้จากคะแนน ส.ก. เทียบกับคะแนนผู้ว่าฯ ที่พรรคนั้นๆ ได้ไป อย่างพรรคประชาธิปัตย์ คะแนน ส.ก. รวมกันทุกเขตได้ 3.4 แสนคะแนน แต่สุชัชวีร์ได้ 2.5 แสนคะแนน ส่วนพรรคก้าวไกล คะแนน ส.ก. ได้ 4.8 แสนคะแนน ขณะที่คะแนนของวิโรจน์ ลักขณาอดิศรอยู่ที่เพียง 2.5 แสนคะแนน เป็นไปได้สูงว่าส่วนที่หายไปเหล่านี้กว่า 3.2 แสนคะแนนไหลไปรวมกันให้ชัชชาตินั่นเอง

ประสบการณ์ชีวิตหลากหลาย

ชัชชาติเป็นคนที่พื้นฐานครอบครัวดี มีประวัติการศึกษาที่ยอดเยี่ยม ผ่านการร่ำเรียนในมหาวิทยาลัยชั้นนำของโลกอย่าง MIT และจบการศึกษาระดับปริญญาเอก

มีประสบการณ์ทำงานทั้งสายปฏิบัติในฐานะวิศวกรของบริษัทเอกชน และสายวิชาการด้วยบทบาทอาจารย์ ในมหาวิทยาลัยของรัฐ ได้รับโอกาสให้ทำงานบริหาร ร่วมเป็นบอร์ดรัฐวิสาหกิจหลายแห่ง ก่อนตัดสินใจพาตัวเองหันเหเข้าสู่เส้นทางการเมือง กระทั่งเกิดรัฐประหารจึงต้องเว้นวรรค รับตำแหน่ง CEO เครือธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ยักษ์ใหญ่ของไทย

คุณสมบัติแบบนี้ยากที่จะมีในนักการเมืองอาชีพ เป็นแบบแผนของผู้จัดการเมืองในอุดมคติ ซึ่งมีความรอบรู้รอบด้าน/เข้าใจหลากมิติ ทั้งภาคราชการ ธุรกิจ วิชาการ และประชาสังคม ชัชชาติจึงเปรียบเป็น ‘ข้อต่อ’ ที่น่าจะทำงานเข้ากันกับภาคส่วนต่างๆ ได้

ทว่าชีวิตที่ดูสมบรูณ์แบบของอาจารย์ชัชชาติกลับมีเรื่องราวไม่คาดฝันเกิดขึ้นกับลูกชายเพียงคนเดียวของเขา เมื่อได้รู้ว่าลูกชายมีความพิการทางการได้ยินตั้งแต่ยังเล็ก นี่เองเหตุการณ์ที่เปลี่ยนวิธีคิดในการดำเนินชีวิตของเขา สุขภาพเป็นเรื่องสำคัญ เป็นหินก้อนใหญ่ที่ต้องใส่เข้าไปในแต่ละวันก่อน เหตุผลไม่ซับซ้อนอะไร เพื่อจะได้มีสุขภาพแข็งแรง ดูแลลูกชายไปได้ตลอด

ไลฟ์สไตล์ผูกพันกับเส้นเลือดฝอย

ยามเช้าตรู่ ชัชชาติออกวิ่งเป็นประจำ วันละประมาณ 10 กิโลฯ ทั้งวิ่งในสวนและวิ่งในเมือง ก่อนจะไปทำงานตลอดทั้งวัน

ช่วงที่ชัชชาติเป็นรัฐมนตรีในกระทรวงคมนาคม ภาพที่คุ้นตาคือเขามักใช้บริการรถสาธารณะ ไม่ว่ารถไฟหรือรถโดยสาร เพื่อออกไปตรวจราชการต่างจังหวัด แม้ว่าบางแห่งจะมีเครื่องบินไปถึงก็ตาม หรือใช้การสัญจรในเมือง เช่น นั่งรถสองแถว ตุ๊กตุ๊ก ซ้อนมอเตอร์ไซค์รับจ้าง

ในวันเลือกตั้งก็ยังปั่นจักรยานพับได้ไปลงคะแนน

ความที่ชอบลงพื้นที่ต่างๆ ไปไหนมาไหนคนเดียว เขาเลยกลายเป็นคนเข้าถึงง่าย เราได้เห็นว่ามีเพื่อนมากหน้าหลายตาเคยถ่ายรูปคู่กับชัชชาติมาแล้วเต็มหน้าฟีดทางโซเชียลมีเดีย

ชีวิตติดดินเช่นนี้ช่วยให้เขาเห็นปัญหา เข้าอกเข้าใจคนตัวเล็กตัวน้อยที่ได้พบเจอ ธีมนโยบายที่ออกมาจึงให้ความใส่ใจกับ ‘เส้นเลือดฝอย’ ไม่ใช่เส้นเลือดใหญ่ หรือโครงการเมกะโปรเจ็กต์แบบที่ผ่านมา เพราะเอาเข้าจริง ความต้องการของชาวบ้านในชุมชนต่างๆ ไม่พ้นปัญหาเล็กๆ ใกล้ตัว อย่างรถติด ฟุตบาทไม่เรียบ ขยะตกค้าง น้ำท่วมขัง ท่อตัน สายไฟพันกันรุงรังนี่แหละ ก่อนข้ามไปมองเรื่องใหญ่ที่ขยับห่างออกไป เช่น ระบบขนส่งมวลชน สวนสาธารณะขนาดใหญ่ เรื่อยไปจนมีแนวคิดกำหนด ‘นโยบายรายเขต’ สอดคล้องกับวิสัยทัศน์ที่อยากจะทำให้กรุงเทพฯ เป็นเมืองที่น่าอยู่สำหรับ ‘ทุกคน’

หลอมรวมพลังความคิดสร้างสรรค์

กิมมิกในการหาเสียงของเขาหลายอันก็ไม่ใช่ของใหม่ เช่น การเอาป้ายไวนิลหาเสียงมารีไซเคิลทำกระเป๋า ก็เคยมีผู้สมัครนายกเทศมนตรีนครเชียงใหม่ท่านหนึ่งทำมาก่อน การสร้างคาแร็กเตอร์ตัวการ์ตูนแทนตัวเอง ยิ่งลักษณ์ก็เคยใช้มาแล้ว แต่ชัชชาติสามารถนำมาใช้ได้อย่างกลมกลืนเข้ากับนโยบายและตัวตนของเขาเป็นอย่างดี

หลายเรื่องต้องยอมรับว่าชัชชาติเป็นผู้สร้างความแตกต่าง ไม่ว่าจะเป็นป้ายหาเสียงไซซ์เล็ก แผ่นพับกระดาษหนังสือพิมพ์เอาไปใช้ซ้ำได้ ใบปลิวแบบหนังสือพิมพ์นำไปใช้ต่อได้ รถแห่พลังงานไฟฟ้า (EV) ไม่จัดเวทีปราศรัยใหญ่ (ทั้งที่เป็นสูตรสำเร็จก็ว่าได้) แต่เลือกที่จะยืนพูดอยู่บนลังไม้กระจายไปหลายจุดชุมชน

ส่วนตัวผมชื่นชอบงานคลิปมาก ชิ้นแรกที่เปิดตัวก็ไปเอาซีรีส์สควิดเกมที่ถือเป็นป็อปคัลเจอร์มาปรับใช้ เพื่อบอกเล่าปัญหาสารพัดของ กทม. เปรียบกับเกม (ลุ้นตาย) ที่คนกรุงเทพฯ ต้องเล่นอยู่ทุกวัน, การให้แร็ปเปอร์แร็ป 200 นโยบายของเขาใน 2 นาที ซึ่งไม่ทัน เพราะมีนโยบายเยอะมาก, แอนิเมชันที่ได้แรงบันดาลใจมาจากการ์ตูนเรื่องโดเรมอนพูดถึงความคิดฝันในอนาคต เป็นการสื่อสารทางการเมืองที่มีชั้นเชิง ครอบคลุมกลุ่มเป้าหมายหลายช่วงวัย ทำให้กลายเป็นไวรัลได้ไม่ยากจากฐานผู้ติดตามที่มี เช่นในเฟซบุ๊กที่มีมากเป็นหลักล้าน ผ่านเลือกตั้งท้องถิ่นมาแล้ว 3 สนามใหญ่ ขอสารภาพว่าก็ยังไม่เคยได้เห็นอะไรลักษณะนี้เหมือนกัน

ทั้งหมดเขาคิดเองคนเดียวไม่ได้แน่ แสดงให้เห็นถึงฝีมือของทีมงานสร้างสรรค์ที่อยู่เบื้องหลัง ยังไม่พูดถึงความเป็นมีม (meme) ที่เกิดขึ้นบ่อยๆ มาแต่ไหนแต่ไร เริ่มตั้งแต่รูปเดินเท้าเปล่าถือถุงข้าว มาจนถึงเสื้อดำตัวหนังสือสีเขียว 3 คำ ‘ทำงาน ทำงาน ทำงาน’ ก็ถูกเอาไปเล่นมุขขำขัน และทำออกมาขายหลายสิบแบบ ทั้งลุยงาน, แก้งาน, อู้งาน, ไม่ทำงาน, โดดงาน, เทงาน ไปกระทั่งกินเหล้าๆๆ, ซ้อมวิ่งๆๆ, มาวิ่งๆ มาราธอน

และที่ส่งผลมากๆ ช่วงก่อนถึงเลือกตั้งไม่กี่วันคือโค้ดที่ว่า “..โลกขาดเราได้ อย่าคิดว่าตัวเองสำคัญมาก..” ซึ่งถูกแชร์ต่อไปในโลกออนไลน์อย่างรวดเร็ว ก็มาจากคำตอบหลังถูกนักข่าวถามถึงอนาคตทางการเมืองของเขาหากไม่ได้เป็นผู้ว่าฯ กทม. เรียกคะแนนความเห็นอกเห็นใจได้ไม่น้อย

การวางตัวและท่าทีประนีประนอม

ในการดีเบต ให้สัมภาษณ์สื่อ หรือปราศรัยหาเสียงก็ดี ชัชชาติพยายามพูดอย่างสงวนท่าที ไม่ตอบโต้แม้ถูกโจมตี สุขุม แสดงบุคลิกแบบประนีประนอม เช่น การตอบถึงแนวทางการแก้ไขปัญหาขยะบนเวทีตามหาผู้ว่าฯ เลือกตั้งของช่อง 3 หรือล่าสุดกับคำตอบเรื่องการยกเลิกมาตรา 112 ในงานตลาด (นัด) ราษฎร

ต่างกับผู้สมัครที่อยู่ข้างอุดมการณ์เดียวกันอย่างวิโรจน์อย่างเห็นได้ชัดที่แสดงออกในเรื่องต่างๆ อย่างตรงไปตรงมา เช่นเรื่องฟุตบอล แม้ชัชชาติบอกกับแฟนบอลลิเวอร์พูลที่มาขอถ่ายรูปด้วยว่า “เชียร์ลิเวอร์พูล” แต่เมื่อแอดมินเพจที่ทำหน้าที่ไลฟ์แซวว่าแล้วแฟนแมนยูล่ะ เขาตอบทันทีว่า “เชียร์ทั้งสองทีม”[2] วิโรจน์กลับเลือกที่จะใส่เสื้อแข่งลิเวอร์พูลไปเลือกตั้ง ซึ่งก็ย่อมส่งผลต่อการตัดสินใจของคนเลือกที่เป็นแฟนฟุตบอลทีมอื่นไม่มากก็น้อย ดูเหมือนเป็นเรื่องเล็ก แต่ชัชชาติก็ใส่ใจรายละเอียดพวกนี้

การเมืองของความหวัง

การเลือกตั้งกรุงเทพฯ เมื่อวันที่ 22 พฤษภาคม 2565 นับเป็นครั้งที่สองที่ กทม. ต้องเว้นว่างห่างหายจากการเลือกตั้งท้องถิ่นไปนานถึง 9 ปี (2556-2565) และไร้ซึ่งผู้บริหารเมืองที่มาจากการเลือกตั้งโดยประชาชนกว่า 6 ปี (2559-2565) เป็นสถานการณ์เดียวกันกับที่เคยเกิดขึ้นหลังรัฐประหาร 6 ตุลาคม 2519 ซึ่งครั้งนั้นกินเวลานานกว่าคือ 10 ปี (2518-2528) กับ 8 ปี (2520-2528) ตามลำดับ

ไม่รู้เป็นความจงใจหรือเรื่องบังเอิญที่ กกต. กำหนดวันเลือกตั้งให้ตรงกับวันครบรอบการรัฐประหารเมื่อ 8 ปีก่อนพอดิบพอดี ผู้ที่ซึ่งสามารถเอาชนะได้ในวันนี้ก็คือผู้ถูกกระทำเมื่อ 8 ปีที่แล้ว

ความสำเร็จของชัชชาติจึงอาจตีความได้ว่าผู้มีสิทธิเลือกตั้งส่วนใหญ่กำลังส่งเสียงปฏิเสธรัฐประหารอยู่ในที เมื่อดูประกอบกับคะแนนของผู้สมัครฟากฝ่ายที่สนับสนุนรัฐประหารครั้งนั้นด้วยแล้วยิ่งสะท้อนชัด คะแนนของผู้สมัครในกลุ่มนี้ 4 คน รวมกันแล้วยังตามห่างชัชชาติอยู่เกือบครึ่งหนึ่ง ไม่มีรายใดที่เด่นพอจะขึ้นมาสู้ได้ แถมหนึ่งในนั้นคือ อดีตผู้ว่าฯ ที่ คสช. ปั้นมาเองกับมือยังมีคะแนนตามหลังอยู่ถึงอันดับที่ 5

ท่ามกลางโพสต์ที่ไหลผ่านตามากมายหลังรู้ผลการเลือกตั้ง ข้อความหนึ่งที่สะดุดใจทำนองว่าเราอาจได้เห็นผู้ว่าฯ แบบชัชชาติเพียงครั้งเดียวชั่วชีวิตนี้ ซึ่งอาจจริงก็ได้ หากคนพูดผ่านร้อนผ่านหนาวมาเยอะ แต่สำหรับคนรุ่นราวคราวเดียวกับผม หรือคนรุ่นใหม่คงรู้สึกนึกค้านอยู่ในใจ ถ้าบ้านเมืองดำเนินไปภายใต้ระบบการเมืองปกติ ปราศจากรัฐประหาร ไม่มีอำนาจนอกระบบเข้าแทรกแซง ปล่อยให้ครรลองประชาธิปไตยได้ทำหน้าที่ เราคงมีโอกาสได้เห็นผู้นำที่ไม่แพ้ชัชชาติอยู่อีกเรื่อยๆ ไม่ใช่เฉพาะ กทม. แต่หมายถึงทั้งประเทศนี้


References
1 อ่านข้อค้นพบของงานศึกษาวิจัยเกี่ยวกับการเลือกตั้งผู้ว่าฯ กทม.ในอดีตได้จาก ณัฐกร วิทิตานนท์, “ย้อนอ่าน คน Krung Thep Maha Nakhon เลือกผู้ว่าฯ กันอย่างไร?,” the101.world (22 กุมภาพันธ์ 2565), จาก https://www.the101.world/krung-thep-maha-nakhon-governor-election/
2 ดู “‘ชัชชาติ’ ย่องเงียบมาท่าพระซ้ำสอง บอกคืนนี้เชียร์หงส์ เจอแซวเดี๋ยวโดนอันฟอลโลว์,” มติชนออนไลน์ (28 พฤษภาคม 2565), จาก https://www.matichon.co.th/politics/news_3370278

MOST READ

Thai Politics

3 May 2023

แดง เหลือง ส้ม ฟ้า ชมพู: ว่าด้วยสีในงานออกแบบของพรรคการเมืองไทย  

คอลัมน์ ‘สารกันเบื่อ’ เดือนนี้ เอกศาสตร์ สรรพช่าง เขียนถึง การหยิบ ‘สี’ เข้ามาใช้สื่อสาร (หรืออาจจะไม่สื่อสาร?) ของพรรคการเมืองต่างๆ ในสนามการเมือง

เอกศาสตร์ สรรพช่าง

3 May 2023

Politics

23 Feb 2023

จากสู้บนถนน สู่คนในสภา: 4 ปีชีวิตนักการเมืองของอมรัตน์ โชคปมิตต์กุล

101 ชวนอมรัตน์สนทนาว่าด้วยข้อเรียกร้องจากนอกสภาฯ ถึงการถกเถียงในสภาฯ โจทย์การเมืองของก้าวไกลในการเลือกตั้ง บทเรียนในการทำงานการเมืองกว่า 4 ปี คอขวดของการพัฒนาสังคมไทย และบทบาทในอนาคตของเธอในการเมืองไทย

ภัคจิรา มาตาพิทักษ์

23 Feb 2023

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • Always Active

Save