การทำให้กัญชาถูกกฎหมายหรือการเปิดเสรีกัญชาเป็นประเด็นนโยบายที่ถูกถกเถียงในสังคมไทยอย่างมาก มีทั้งเสียงสนับสนุนและคัดค้าน ซึ่งในแต่ละฝ่ายยังมองระดับการเปิดเสรีที่เหมาะสมไว้ต่างกัน
ที่ผ่านมา การใช้กัญชาในประเทศไทยก็มีทิศทางเปิดเสรีมากขึ้นอย่างต่อเนื่อง ตั้งแต่การอนุญาตให้ใช้กัญชาเพื่อประโยชน์ทางการแพทย์และการวิจัยในปี 2019 จนมาถึงการขับเคลื่อนนโยบายกัญชาเสรีโดยกลุ่มประชาชนผู้ใช้งานและพรรคการเมืองในช่วง 2-3 ปีที่ผ่านมา
จุดเปลี่ยนสำคัญคือ การปลดล็อกกัญชาทุกส่วนออกจากรายชื่อยาเสพติดให้โทษ (หากมีสาร THC ไม่เกิน 0.2%) เมื่อวันที่ 9 มิถุนายน 2022 ที่ผ่านมา อย่างไรก็ตาม การปลดล็อกนี้เกิดขึ้นโดยที่ไม่มีกฎหมายหรือมาตรการใดมาควบคุมการใช้งานอย่างเพียงพอ เกิดเป็นสภาวะ ‘สุญญากาศ’ ที่ส่งผลให้การปลูก จำหน่าย บริโภคและใช้กัญชาในสังคมไทยเป็นไปอย่างไร้กฎเกณฑ์ ขาดการควบคุมความปลอดภัย
ที่สำคัญคือ กระทบต่อความปลอดภัยของเด็กและเยาวชน ซึ่งเป็นกลุ่มที่ควรได้รับการคุ้มครองจากการดำเนินนโยบายนี้มากที่สุด
ศูนย์ความรู้นโยบายเด็กและครอบครัว (คิด for คิดส์) โดย 101 PUB และ สสส. ชวนผู้อ่านสำรวจผลกระทบของกัญชาต่อเด็กและเยาวชนในด้านต่างๆ ชี้ช่องโหว่และจุดเสี่ยงของการเปิดเสรีกัญชา ทั้งในสภาวะสุญญากาศในปัจจุบัน และจากร่าง พ.ร.บ. กัญชาฯ ฉบับล่าสุด รวมถึงข้อเสนอแนะในการออกแบบนโยบายกัญชาเสรีที่ลดผลกระทบต่อกลุ่มเสี่ยงอย่างเด็กและเยาวชน
สมดุลของเสรีภาพและความปลอดภัย: หัวใจสำคัญของนโยบายกัญชา
นโยบายกัญชาเสรีส่งผลกระทบสำคัญต่อคนหลายกลุ่ม การออกแบบนโยบายจึงควรคำนึงถึงผลกระทบต่อคนกลุ่มต่างๆ อย่างรอบด้าน โดยมีหัวใจสำคัญคือ การสร้างสมดุลระหว่าง 2 หลักการ ได้แก่ ‘เสรีภาพของประชาชน’ และ ‘ความปลอดภัยของเด็ก เยาวชน และสังคม’
เสรีภาพของประชาชน หมายรวมทั้งผู้ใช้งาน-บริโภคที่บรรลุนิติภาวะ ซึ่งต้องการใช้กัญชา/กัญชงเพื่อดูแลรักษาสุขภาพตนเองหรือใช้เพื่อนันทนาการ ตลอดจนเสรีภาพของเกษตรกร ผู้ผลิตสินค้า และผู้ประกอบการที่ประสงค์จะใช้กัญชา/กัญชงในการสร้างรายได้
ในแง่หนึ่ง การเปิดให้ประชาชนสามารถใช้กัญชา/กัญชงในฐานะพืชสมุนไพรเพื่อประโยชน์ทางการแพทย์นั้น ช่วยลดต้นทุนค่ารักษาสุขภาพ และยังสร้างทางเลือกในการดูแลรักษาสุขภาพแก่กลุ่มที่มีความจำเป็นต้องใช้อีกด้วย
แต่หาก ‘เสรีภาพ’ ของการใช้กัญชา/กัญชงครอบคลุมไปถึงการใช้เพื่อนันทนาการ การออกแบบนโยบายและมาตรการกำกับก็ย่อมมีประเด็นให้พิจารณามากขึ้น ผู้กำหนดนโยบายควรจัดวางระยะของเสรีภาพนี้อย่างเหมาะสม โดยคำนึงถึงบริบทของสังคมไทยและศักยภาพของหน่วยงานกำกับดูแลในปัจจุบัน
อีกหลักการหนึ่งที่ต้องพิจารณาควบคู่กันไปคือ ความปลอดภัยของเด็ก เยาวชน และกลุ่มเสี่ยงอื่นๆ เช่น สตรีมีครรภ์และสตรีที่กำลังให้นมบุตร ซึ่งเสี่ยงได้รับผลกระทบทางสุขภาพที่รุนแรงกว่าคนกลุ่มอื่นจากการบริโภคกัญชาและสารสกัด จึงควรได้รับการคุ้มครองและจำกัดการเข้าถึงกัญชาให้มากที่สุด
นอกจากนี้ ประชาชนทั่วไปก็ควรได้รับความเสี่ยงจากการบริโภคหรือใช้กัญชาของกลุ่มผู้ใช้งานให้น้อยที่สุด เช่น ความเสี่ยงจากการได้รับควันมือสอง และการบริโภคอาหารหรือเครื่องดื่มที่มีส่วนประกอบของกัญชาโดยที่ไม่ได้รับการแจ้งเตือน เป็นต้น รวมทั้งควรคำนึงถึงการควบคุมความปลอดภัยบนท้องถนน ที่อาจมีกรณีอุบัติเหตุจากการใช้กัญชาเพิ่มมากขึ้นเมื่อมีการเปิดเสรี
ทั้งสองหลักการนี้เป็นประเด็นสำคัญที่ผู้กำหนดนโยบายต้องพิจารณาและชั่งน้ำหนักอย่างรอบคอบ เพื่อออกแบบนโยบายและมาตรการควบคุมที่เหมาะสม นั่นคือ รัดกุมมากพอที่จะคุ้มครองกลุ่มเสี่ยงได้ โดยเฉพาะเด็กและเยาวชน ในขณะเดียวกันก็ไม่เข้มงวดมากเกินไปจนปิดกั้นเสรีภาพของประชาชนกลุ่มอื่นๆ
ผลกระทบของกัญชาต่อเด็กและเยาวชนในสภาวะสุญญากาศ
การถอดกัญชา/กัญชงออกจากยาเสพติดอย่างเร่งรีบ โดยขาดมาตรการควบคุมที่รัดกุมและครอบคลุม ทำให้สังคมไทยตกอยู่ใน ‘สภาวะสุญญากาศทางกฎหมาย’
กัญชากลายเป็นสินค้าที่เข้าถึงได้ง่าย โดยเฉพาะการใช้เพื่อนันทนาการที่เกิดขึ้นอย่างแพร่หลาย ส่งผลให้เด็กและเยาวชนไทยที่ควรได้รับการคุ้มครองกลับเข้าถึงกัญชาได้มากขึ้น โดยมีทั้งกลุ่มที่บริโภคกัญชาโดยไม่ได้ตั้งใจ และกลุ่มที่ทดลองใช้ด้วยตนเอง
ราชวิทยาลัยกุมารแพทย์แห่งประเทศไทยรายงานข้อมูลว่า ในช่วงวันที่ 21 มิถุนายน ถึง 1 สิงหาคม 2022 มีเด็กและเยาวชนที่มีอาการป่วยจากกัญชาจำนวน 18 ราย แบ่งเป็นกลุ่มที่ได้รับกัญชาโดยตั้งใจด้วยตนเอง 13 ราย ที่ได้รับกัญชามาจากเพื่อนและซื้อด้วยตนเอง และอีกกลุ่มได้รับโดยไม่ตั้งใจหรือไม่รู้ตัวอีก 5 ราย ซึ่งเกิดจากการบริโภคอาหารและเครื่องดื่มที่มีกัญชาเป็นส่วนประกอบโดยไม่ตั้งใจ เนื่องจากสมาชิกครอบครัวเป็นผู้ใช้ผลิตภัณฑ์เหล่านั้นและเก็บไว้ในที่ที่เด็กสามารถเข้าถึงได้ไม่ยาก ในจำนวนนี้เป็นเด็กเล็กอายุไม่เกิน 5 ปี ทั้งหมด 2 ราย[1]
สารออกฤทธิ์ที่สำคัญในกัญชาและกัญชงมี 2 ชนิด คือ Cannabidiol (CBD) และ Tetrahydrocannabinol (THC) แม้สารทั้งสองชนิดจะมีลักษณะคล้ายคลึงกันมาก แต่ให้ผลลัพธ์ที่ต่างกัน
CBD เป็นสารที่ไม่ออกฤทธิ์ต่อระบบประสาท ไม่ทำให้มึนเมา จึงไม่ถูกจัดเป็นยาเสพติด ในขณะที่ THC มีฤทธิ์ต่อจิตประสาท ทำให้เกิดการเสพติดได้ เนื่องจากกัญชาประกอบด้วย THC ถึง 12% และมี CBD เพียง 0.3% การสูบและบริโภคโดยตรงจึงมีโอกาสรับสาร THC ในปริมาณมากเกินไป[2] โดยเฉพาะการใช้กัญชาในช่วงวัยที่ยังไม่เหมาะสม ที่สร้างผลเสียสำคัญ 2 ด้านคือ สุขภาพร่างกาย และการเรียนรู้
ในด้านสุขภาพ งานศึกษาจำนวนมากให้ข้อสรุปไปในทางเดียวกันว่า กัญชามีผลทำให้พัฒนาการทางสมองของเด็กและเยาวชนผิดปกติ เนื่องจากสมองในช่วงอายุนี้ยังอยู่ระหว่างการพัฒนา หากใช้กัญชาในปริมาณมากและต่อเนื่อง ฤทธิ์ของกัญชาจะรบกวนการทำงานของเซลล์สมองจนส่งผลให้ความสามารถในการรู้คิด ตัดสินใจ และการจดจำย่ำแย่ลง[3]
หากเริ่มใช้กัญชาตั้งแต่เป็นวัยรุ่น โดยใช้อย่างน้อย 4 วันต่อสัปดาห์ และใช้ต่อเนื่องจนเป็นผู้ใหญ่ มีแนวโน้มที่ระดับเชาวน์ปัญญา (ไอคิว) จะลดลง 8 จุด[4] ซึ่งระดับไอคิวเฉลี่ยของประชากรไทยอยู่ที่ 88.9[5] หมายความว่าการใช้กัญชาอาจส่งผลให้ระดับไอคิวลดลงราว 7.1%
ส่วนผลกระทบต่อสุขภาพจิตก็พบว่า หากใช้กัญชา โดยเฉพาะที่มีสาร THC ในปริมาณมาก จะเพิ่มความเสี่ยงต่อการเกิดอาการและโรคทางจิตเวชได้ เช่น หลงผิด หูแว่ว วิตกกังวล อารมณ์แปรปรวน และซึมเศร้า[6]
ผลเสียสำคัญอีกด้านหนึ่งคือ ศักยภาพการเรียนรู้ถดถอยลง ซึ่งก็เป็นผลจากการที่สมองถูกรบกวนด้วยฤทธิ์ของกัญชา จึงไม่สามารถรับข้อมูลและประมวลผลได้อย่างเต็มที่ มากไปกว่านั้น ยังมีความเสี่ยงที่จะหลุดจากระบบการศึกษาได้ง่ายกว่า
งานศึกษาในประเทศนิวซีแลนด์ โดย Fergusson DM, et al. (2003) ซึ่งติดตามนักเรียนจำนวน 1,265 คน เป็นเวลา 10 ปี พบว่า นักเรียนที่เริ่มใช้กัญชาตั้งแต่อายุ 15 ปี มีแนวโน้มหลุดจากระบบการศึกษามากกว่ากลุ่มที่ไม่ใช้ โดยมีโอกาสจบการศึกษาระดับมัธยมศึกษาตอนปลายน้อยกว่า 3.6 เท่า และระดับอุดมศึกษาน้อยกว่า 3.7 เท่า[7]
ยิ่งไปกว่านั้น การทดลองใช้กัญชาตั้งแต่วัยเด็กยังเพิ่มความเสี่ยงที่จะเสพติดกัญชาในระยะยาวได้มากกว่า เมื่อเทียบกับการเริ่มใช้ในวัยผู้ใหญ่ จากการเก็บข้อมูลในประเทศสหรัฐอเมริกาโดย National Household on Drug Abuse (2001) พบว่า การเสพกัญชาตั้งแต่อายุ 11-13 ปี เพิ่มความเสี่ยงสัมพัทธ์ (relative risk) ของการเสพติดกัญชาเป็น 10.8 เท่า และหากเริ่มเสพเมื่ออายุ 14-15 ปี ความเสี่ยงสัมพัทธ์จะเพิ่มขึ้นเป็น 12.0 เท่า[8] อีกทั้งการเริ่มใช้กัญชาเร็วก็เป็นปัจจัยหนึ่งที่อาจนำไปสู่การทดลองใช้สารเสพติดอื่นๆ ซึ่งอาจมีความรุนแรงมากกว่ากัญชาอีกด้วย[9]
ร่าง พ.ร.บ. กัญชา กัญชงฯ ยังคุ้มครองเด็กและเยาวชนได้ไม่มากพอ
ในวันที่กัญชากัญชงถูกปลดล็อกออกจากการเป็นยาเสพติดอย่างเป็นทางการ เป็นช่วงเวลาเดียวกันที่ร่าง พ.ร.บ. กัญชา กัญชง เสนอโดยพรรคภูมิใจไทย และร่าง พ.ร.บ. ส่งเสริมการใช้ประโยชน์กัญชา กัญชง เสนอโดยพรรคพลังประชารัฐ ผ่านมติสภาผู้แทนราษฎรอย่างเป็นเอกฉันท์ในวาระแรก จากนั้นจึงมีการตั้งคณะกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาร่าง พ.ร.บ.ฯ (กมธ. วิสามัญ) เพื่อปรับปรุงร่างกฎหมาย
หลังจากใช้เวลาร่วม 3 เดือน กมธ. วิสามัญฯ ก็พิจารณาแก้ไขร่าง พ.รบ. กัญชาจนเสร็จสิ้นในวันที่ 7 กันยายน 2022 แม้จะมีความพยายามอุดรอยรั่วที่เกิดขึ้นในสภาวะสุญญากาศ โดยกำหนดมาตรการหลายข้อที่ครอบคลุมมากขึ้นในร่างฉบับนี้ แต่ก็ยังมีประเด็นสำคัญที่เกี่ยวข้องกับการคุ้มครองเด็กและเยาวชนอีกจำนวนมากที่ไม่ได้ถูกพูดถึง หรือไม่ได้กำหนดไว้อย่างชัดเจนมากพอ
ภายใต้ร่างกฎหมายนี้ ห่วงโซ่การผลิตและการจำหน่ายกัญชาจึงยังมีช่องโหว่ในทุกขั้นตอน ตั้งแต่การปลูก จำหน่าย โฆษณา จนถึงการครอบครองและใช้งานกัญชา เสี่ยงที่เด็กและเยาวชนจะไม่ได้รับการคุ้มครองอย่างเหมาะสมและอาจเข้าถึงกัญชาได้ง่าย
ล่าสุดเมื่อวันที่ 14 กันยายน 2022 สภาผู้แทนราษฎรก็ได้มีมติถอนร่างกฎหมายฉบับนี้ ทำให้ร่างกฎหมายถูกตีกลับไปให้ กมธ. วิสามัญดำเนินการแก้ไข เพื่อรอพิจารณาในวาระถัดไปในสมัยประชุมหน้า ซึ่งจะยิ่งยืดระยะเวลาของภาวะสุญญากาศให้ยาวนานขึ้นอีก
ให้ปลูกที่บ้านได้หลายต้น เด็กเสี่ยงเข้าถึงกัญชาได้ตั้งแต่ในบ้าน
ในขั้นการปลูก ประเด็นสำคัญที่สุดที่จะกระทบต่อเด็กและเยาวชนคือ การอนุญาตให้ปลูกกัญชากัญชงที่บ้านได้ ในสภาวะปัจจุบันที่ไม่มีกฎหมายควบคุมกัญชา ครัวเรือนสามารถปลูกได้ไม่จำกัดจำนวนต้น รวมถึงไม่มีข้อบังคับว่าครัวเรือนที่มีเด็กและเยาวชนจะต้องปลูกและจัดเก็บให้พ้นจากเด็กและเยาวชนอย่างไร ในร่างกฎหมายฉบับ กมธ. วิสามัญ ได้เพิ่มข้อกำหนดเรื่องจำนวนต้นกัญชาที่สามารถปลูกในบ้าน โดยให้อยู่ที่ 15 ต้น และระบุหน้าที่ของผู้ปลูกในครัวเรือนว่า ต้องจัดให้มีสถานที่เพาะปลูกที่มีมาตรการป้องกันไม่ให้เด็กและเยาวชนเข้าถึงกัญชากัญชงที่ปลูกไว้ได้ และต้องป้องกันไม่ให้มีการนำกัญชาไปใช้ในทางที่ผิด (มาตรา 20/6)
อย่างไรก็ตาม การอนุญาตให้ปลูกที่บ้านได้ 15 ต้นนั้น ก็ยังถือว่าเป็นจำนวนที่ค่อนข้างมาก เมื่อเทียบกับหลายประเทศที่มีนโยบายกัญชาเสรีและอนุญาตให้ปลูกที่บ้านได้ ซึ่งส่วนใหญ่จำกัดจำนวนไว้ที่ราว 4-6 ต้นเท่านั้น เช่น ประเทศแคนาดาอนุญาตให้ปลูกไม่เกิน 4 ต้น พร้อมกับกำหนดมาตรการให้ผู้ปลูกในครัวเรือนต้องปฏิบัติตามอย่างค่อนข้างเคร่งครัด โดยเฉพาะการควบคุมความปลอดภัยของเด็กและเยาวชนในครัวเรือน[10]
ส่วนประเทศเนเธอร์แลนด์ ในทางกฎหมายยังถือว่ากัญชาเป็นยาเสพติดประเภทไม่รุนแรง (soft drug) รัฐบาลจึงใช้นโยบายผ่อนปรน (toleration policy) คือ ครัวเรือนสามารถปลูกเพื่อใช้ส่วนตัวได้ไม่เกิน 5 ต้น โดยจะไม่ถูกดำเนินคดี เพื่อจำกัดการใช้งานกัญชาในครัวเรือน[11]
การอนุญาตให้ปลูกที่บ้านได้หลายต้นจะยิ่งเพิ่มความเสี่ยงที่เด็กและเยาวชนจะเข้าถึงและบริโภคกัญชาโดยไม่ได้ตั้งใจ ดังที่ปรากฏให้เห็นเป็นจำนวนไม่น้อยในช่วงที่ผ่านมา นอกจากนี้ การอนุญาตให้ปลูกโดยจำกัดจำนวนต้นและกำหนดให้มีมาตรการป้องกันการเข้าถึง ยังมีปัญหาในการบังคับใช้กฎหมาย ที่ต้องตรวจสอบไปทุกบ้านเรือน ยากต่อการปฏิบัติจริงของเจ้าหน้าที่
ยังขาดการมาตรการควบคุมบรรจุภัณฑ์
สำหรับขั้นตอนการจำหน่าย เดิมทีกระทรวงสาธารณสุขใช้วิธีประกาศให้กัญชาเป็นสมุนไพรควบคุม และระบุในประกาศว่าห้ามจำหน่ายให้แก่บุคคลอายุต่ำกว่า 20 ปี เพื่อควบคุมสถานการณ์ชั่วคราวในช่วงสุญญากาศ
ต่อมาในร่าง พ.ร.บ. แก้ไขฉบับ กมธ. ได้เพิ่มโทษแก่ผู้ที่ฝ่าฝืนจำหน่ายให้แก่เด็กและเยาวชน คือ จำคุกไม่เกิน 3 ปี หรือปรับไม่เกินสามแสนบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ (มาตรา 40) รวมถึงกำหนดรูปแบบและสถานที่ที่ห้ามจำหน่ายกัญชากัญชงส่วนต่างๆ ได้แก่ ศาสนสถาน สถานศึกษา (ระบุห้ามจำหน่ายอาหารที่มีกัญชา กัญชง หรือสารสกัดเป็นวัตถุดิบหรือส่วนประกอบในสถานศึกษาด้วย) หอพัก สวนสาธารณะ สวนสัตว์ สวนสนุก และสถานที่อื่นๆ ที่รัฐมนตรีอาจกำหนดเพิ่มเติมในอนาคต รวมถึงห้ามจำหน่ายผ่านเครื่องจำหน่ายอัตโนมัติ และทางอิเล็กทรอนิกส์ (มาตรา 37/1 และ 37/2)
อย่างไรก็ดี ยังไม่มีการกำหนดเขตพื้นที่จำหน่ายกัญชา (zoning) หรือระยะห่างที่เหมาะสมระหว่างจุดจำหน่ายกับสถานที่ที่เกี่ยวข้องกับเด็กและเยาวชนไว้อย่างชัดเจน ซึ่งจะมีส่วนสำคัญต่อการลดการเข้าถึงกัญชาในเด็กและเยาวชนได้มาก
ที่สำคัญคือ ในร่างกฎหมายฉบับนี้ยังไม่มีมาตรการควบคุมเรื่องหีบห่อบรรจุภัณฑ์และฉลากคำเตือนบนสินค้ากัญชา/กัญชงทุกประเภท โดยมีเพียงข้อกำหนดเรื่องหน้าที่ของผู้จำหน่าย ให้ปิดประกาศหรือแจ้ง ณ สถานที่ขายเกี่ยวกับการห้ามขายแก่เด็กและเยาวชนเท่านั้น (มาตรา 37) ขาดแนวทางการควบคุมรูปแบบบรรจุภัณฑ์ไม่ให้ดึงดูดความสนใจเด็กและเยาวชน รวมถึงไม่มีข้อกำหนดให้ผู้ผลิตต้องระบุปริมาณสาร THC และ CBD ที่ชัดเจน พร้อมติดฉลากคำเตือนผลกระทบต่อสุขภาพและอายุที่เหมาะสมของผู้ใช้งาน ซึ่งเป็นมาตรการที่จำเป็นอย่างมากสำหรับการจำหน่ายผลิตภัณฑ์ที่อันตรายต่อสุขภาพ เช่นเดียวกับที่บังคับใช้ในผลิตภัณฑ์เหล้าและบุหรี่
ไม่มีมาตรการควบคุมโฆษณาเพื่อคุ้มครองเด็กและเยาวชนโดยเฉพาะ
การโฆษณาเป็นอีกขั้นตอนสำคัญที่หากควบคุมได้อย่างเหมาะสมก็มีศักยภาพที่จะช่วยลดการเข้าถึงกัญชาในเด็กและเยาวชนได้
ที่ผ่านมา ยังไม่มีกฎหมายใดควบคุมการโฆษณาผลิตภัณฑ์กัญชาโดยเฉพาะ มีเพียงคำเตือนและข้อแนะนำโดยสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) ว่า การโฆษณายาจากสมุนไพร ผลิตภัณฑ์สมุนไพรที่มีส่วนประกอบของกัญชากัญชง จะต้องขออนุญาตจาก อย. ก่อน และให้แสดงคำเตือนในสื่อโฆษณาว่า เด็กและสตรีมีครรภ์ไม่ควรบริโภค เป็นต้น
แต่ร่างกฎหมายที่ผ่านการแก้ไขโดย กมธ. แล้ว กลับไม่มีมาตรการควบคุมโฆษณาเพื่อจำกัดการเข้าถึงในเด็กและเยาวชนโดยเฉพาะแต่อย่างใด มีเพียงข้อห้ามไม่ให้โฆษณาหรือทำการสื่อสารการตลอดเกี่ยวกับช่อดอกหรือยางของกัญชา สารสกัด หรือเครื่องมือและอุปกรณ์ที่เกี่ยวข้องกับการสูบกัญชา รวมถึงไม่ให้มีการโฆษณาที่เกินความจริง โอ้อวดสรรพคุณของกัญชา และสนับสนุนให้มีการกระทำผิดกฎหมายหรือศีลธรรม (มาตรา 30 และ 30/1) ซึ่งยังคงเปิดช่องโหว่ให้ผู้จำหน่ายสามารถทำการตลาดเพื่อจูงใจเด็กและเยาวชนได้
ไม่กำหนดปริมาณการครอบครองในที่สาธารณะ
ประเด็นสุดท้ายคือ การครอบครองและใช้งานกัญชา/กัญชง ในร่างกฎหมายฉบับ กมธ. ได้กำหนดมาตรการห้ามสูบกัญชาในที่สาธารณะและสถานที่ต่างๆ ที่เกี่ยวข้องกับเด็กและเยาวชนอย่างสถานศึกษา สวนสาธารณะ ฯลฯ เช่นเดียวกับข้อกำหนดสถานที่ห้ามจำหน่าย (มาตรา 37/4) รวมถึงระบุห้ามขับขี่ยานพาหนะในขณะมึนเมากัญชา กัญชง สารสกัด หรืออาหารที่มีกัญชา หากฝ่าฝืนมีโทษจำคุกไม่เกินหนึ่งปี หรือปรับไม่เกินหนึ่งแสนบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ (มาตรา 37/7 และ มาตรา 40/6)
อย่างไรก็ดี ในร่างกฎหมายนี้ยังไม่มีการจำกัดปริมาณการครอบครองกัญชา/กัญชงอย่างเป็นระบบ โดยเฉพาะที่เป็นการครอบครองในที่สาธารณะ ซึ่งอาจส่งผลให้เกิดการจำหน่าย ครอบครอง และบริโภคในปริมาณที่ไม่เหมาะสม จนส่งผลกระทบต่อสวัสดิภาพของบุคคลอื่น ตั้งแต่เด็ก เยาวชน กลุ่มเสี่ยงอื่นๆ ที่ไม่ควรบริโภคกัญชา/กัญชง และส่วนรวม รวมถึงอาจมีความเสี่ยงเกิดอุบัติเหตุบนท้องถนนมากขึ้น
ออกแบบนโยบายกัญชาโดยคำนึงถึงเด็กและเยาวชนมากขึ้น
เมื่อพิจารณาเนื้อหาในร่าง พ.ร.บ. กัญชา กัญชง ฉบับ กมธ. วิสามัญฯ จะเห็นว่าทิศทางการเปิดเสรีกัญชาในประเทศไทยค่อนข้างชัดเจนแล้วว่าจะครอบคลุมการใช้งานหลายวัตถุประสงค์ ทั้งเพื่อการรักษาทางการแพทย์และการดูแลสุขภาพ เพื่อความบันเทิงหรือนันทนาการส่วนบุคคล ตลอดจนเพื่อสร้างรายได้ในเชิงพาณิชย์และอุตสาหกรรม
อย่างไรก็ดี มาตรการควบคุมที่กำหนดไว้ยังไม่รัดกุมและครอบคลุมมากพอที่จะจำกัดผลกระทบต่อเด็กและเยาวชน ผู้ที่ไม่ต้องการใช้-บริโภคกัญชา/กัญชง รวมถึงความปลอดภัยของสังคมส่วนร่วมได้ นโยบายกัญชาเสรีจึงยังไม่ได้สมดุลระหว่างเสรีภาพและความปลอดภัย ซึ่งต้องเพิ่มการคุ้มครองเด็ก เยาวชน และกลุ่มเสี่ยงให้มากขึ้นในทุกขั้นตอน
ลดจำนวนการปลูกที่บ้านหรือให้ปลูกเฉพาะกัญชง
เพื่อให้ประชาชนที่ต้องการใช้กัญชา/กัญชงเพื่อรักษาสุขภาพยังมีทางเลือกในการดูแลสุขภาพด้วยตนเองได้ที่บ้าน พร้อมทั้งลดความเสี่ยงที่เด็กและเยาวชนจะได้รับกัญชาโดยไม่ตั้งใจ รัฐควรพิจารณาลดจำนวนต้นกัญชา/กัญชงที่อนุญาตให้ปลูกที่บ้านได้เหลือ 4-6 ต้น ซึ่งเป็นจำนวนที่หลายประเทศที่ดำเนินนโยบายกัญชาเสรีกำหนดไว้ เช่น ประเทศแคนาดาและเนเธอร์แลนด์
นอกจากนี้ รัฐอาจพิจารณาอนุญาตให้ครัวเรือนปลูกเฉพาะกัญชงก่อน เนื่องจากกัญชงมีสาร THC ที่ก่อให้เกิดฤทธิ์เมาน้อยกว่ากัญชาค่อนข้างมาก (ไม่เกิน 0.3%) แต่มีสาร CBD มากกว่ากัญชา ซึ่งมีสรรพคุณบรรเทาอาการปวดได้ใกล้เคียงกัน ตลอดจนกำหนดมาตรการควบคุมความปลอดภัยและให้ความรู้แก่ผู้ปลูกในครัวเรือน
จำกัดจุดจำหน่าย ใช้ทำอาหารต้องแจ้งให้ชัด คุมบรรจุภัณฑ์อย่างเคร่งครัด
รัฐควรกำหนดเขตพื้นที่จำหน่ายสินค้ากัญชา/กัญชงให้ชัดเจน โดยเฉพาะการกำหนดระยะห่างระหว่างร้านค้ากับสถานที่ที่เด็กและเยาวชนทำกิจกรรม เช่น ห้ามจำหน่ายกัญชา/กัญชงในรัศมี 500 เมตร จากสถานศึกษา เป็นต้น
รวมถึงควรเพิ่มความเข้มงวดในการอนุญาตจำหน่าย โดยควรให้จำหน่ายในร้านที่จำหน่ายสินค้ากัญชาโดยเฉพาะ ไม่ควรอนุญาตให้ร้านอาหาร ร้านสะดวกซื้อ หรือห้างสรรพสินค้าทั่วไปสามารถวางจำหน่ายสินค้ากัญชา/กัญชงได้ เพื่อจำกัดการเข้าถึงในเด็กและเยาวชน สำหรับร้านอาหารทั่วไปที่ใช้กัญชาเป็นวัตถุดิบหรือส่วนประกอบในอาหาร ก็ต้องจัดทำป้ายประกาศแจ้งผู้บริโภคให้ชัดเจน ทั้งส่วนประกอบและปริมาณของกัญชาที่ใช้ ข้อแนะนำความเสี่ยงต่อสุขภาพ ตลอดจนมีคำเตือนไม่ให้ผู้ที่อายุต่ำกว่า 20 ปีบริโภค
ที่สำคัญ ควรเพิ่มมาตรการควบคุมหีบห่อผลิตภัณฑ์กัญชา/กัญชง ซึ่งยังเป็นช่องโหว่สำคัญของร่างกฎหมายควบคุมกัญชาฉบับนี้ โดยควรกำหนดรูปแบบบรรจุภัณฑ์ที่ผู้ผลิตต้องปฏิบัติตามอย่างเคร่งครัด เช่น ต้องให้ข้อมูลโดยละเอียดว่าเป็นผลิตภัณฑ์กัญชา กัญชง สารสกัด หรือมีกัญชา/กัญชงเป็นส่วนประกอบในปริมาณเท่าใด มีคำเตือนห้ามเด็กและเยาวชนใช้งานอย่างชัดเจน นอกจากนี้ ควรกำหนดให้ผู้ผลิตต้องออกแบบบรรจุภัณฑ์ที่เด็กสามารถเปิดได้ยาก (childproof packaging) เช่น มีปุ่มล็อก หรือต้องใช้แรงในการเปิดมากขึ้น[12] เพื่อลดโอกาสที่เด็กและเยาวชนจะเผลอบริโภคหรือใช้โดยไม่รู้
ห้ามโฆษณาให้เด็กและเยาวชนเห็น
เช่นเดียวกับมาตรการควบคุมบรรจุภัณฑ์ การโฆษณาผลิตภัณฑ์กัญชา/กัญชงก็ควรเป็นไปอย่างจำกัด ในบางประเทศที่เปิดเสรีกัญชาใช้วิธีห้ามโฆษณาส่งเสริมการจำหน่ายกัญชาในทุกรูปแบบ เช่น ประเทศอุรุกวัย เพื่อลดการเข้าถึงในเด็กและเยาวชนให้มากที่สุด[13]
ที่สำคัญคือ ควรมีมาตรการควบคุมไม่ให้เด็กและเยาวชนเห็นโฆษณาเหล่านี้ รวมถึงห้ามผู้จำหน่ายใช้รูปแบบการสื่อสารการตลาดที่จูงใจเด็กและเยาวชนด้วย ไม่ว่าจะเป็นการใช้บุคคลจริงหรือบุคคลในนวนิยาย การ์ตูน สัตว์ หรือข้อความที่เชื่อมโยงกัญชากับความสำเร็จ ความตื่นเต้น ความท้าทาย การพักผ่อน หรือความกล้าหาญ เพื่อกระตุ้นความสนใจจากเด็กและเยาวชน
กำหนดปริมาณครอบครอง พิจารณาโมเดลสถานที่สูบกัญชานอกบ้าน
รัฐควรกำหนดปริมาณที่ประชาชนสามารถครอบครองกัญชา/กัญชงในที่สาธารณะได้อย่างถูกกฎหมาย เพื่อไม่ให้การครอบครอง บริโภค และใช้กัญชา โดยเฉพาะการใช้ในเชิงนันทนาการเป็นไปอย่างกว้างขวางจนเกินไป โดยอาจกำหนดปริมาณครอบครองที่เหมาะสมสำหรับสินค้ากัญชาแต่ละรูปแบบโดยละเอียด ตัวอย่างในรัฐออนแทรีโอ ประเทศแคนาดา กำหนดปริมาณครอบครองไว้ดังนี้ แบบแห้งไม่เกิน 30 กรัม แบบใบสดไม่เกิน 150 กรัม อาหารและเครื่องดื่มที่มีส่วนประกอบของกัญชา ไม่เกิน 450 กรัม และ 2,100 กรัมตามลำดับ และสารสกัดไม่เกิน 5 กรัม เป็นต้น[14] ซึ่งปริมาณครอบครองนี้ควรสอดคล้องกับปริมาณที่ร้านค้าสามารถจำหน่ายให้ผู้ใช้กัญชาด้วย
นอกจากนี้ เพื่อลดการใช้กัญชาในครัวเรือน โดยเฉพาะครัวเรือนที่มีเด็กและเยาวชน รัฐอาจพิจารณาศึกษาแนวทางการเปิดสถานที่สำหรับสูบและบริโภคกัญชานอกบ้าน เช่นรูปแบบร้านจำหน่ายและเสพกัญชาในประเทศเนเธอร์แลนด์ที่เรียกว่า Coffee Shop[15]
ทั้งนี้ รัฐต้องมีมาตรการจำกัดปริมาณการจำหน่ายและเสพในสถานที่เหล่านี้อย่างเคร่งครัด ไม่อนุญาตให้จำหน่ายบุหรี่และเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ในร้าน รวมถึงเข้มงวดกับการห้ามขับขี่ยานพาหนะหลังจากใช้กัญชามากขึ้น เนื่องจากมีความเสี่ยงที่จะเกิดอุบัติเหตุบนท้องถนนมากขึ้นหากอนุญาตให้มีการใช้กัญชานอกบ้าน
พิจารณาใช้มาตรการภาษีเพื่อลดปริมาณการบริโภค
แนวทางสุดท้ายคือ รัฐอาจพิจารณาจัดเก็บภาษีกับสินค้ากัญชา/กัญชง เพื่อควบคุมไม่ให้ราคาสินค้าถูกเกินไปจนเด็กและเยาวชนสามารถเข้าถึงได้ง่าย งานศึกษาในประเทศสหรัฐอเมริกาพบว่า ราคาของสินค้าบุหรี่เป็นปัจจัยสำคัญที่มีผลต่อการตัดสินใจซื้อสินค้าสำหรับเยาวชน หากสินค้าเหล่านี้มีราคาสูงขึ้น ก็มีแนวโน้มที่พวกเขาจะลดการซื้อมากกว่าเมื่อเทียบกับผู้ใหญ่[16] รวมถึงรัฐอาจนำรายได้จากภาษีกัญชามาใช้ทำนโยบายให้ความรู้และป้องกันเยาวชนจากกัญชา หรือทำการวิจัยและประเมินผลกระทบทางลบจากการดำเนินนโยบายกัญชาเสรีร่วมด้วย
เร่งออกกฎหมายควบคุมการใช้กัญชา ปิดสภาวะสุญญากาศ
ท้ายที่สุด การออกแบบนโยบายกัญชาเสรีต้องกลับมาตั้งต้นที่การสร้างสมดุลระหว่าง 2 หลักการที่ได้กล่าวไป คือ เสรีภาพของประชาชนที่บรรลุนิติภาวะ ซึ่งต้องการใช้กัญชา/กัญชงเพื่อวัตถุประสงค์ต่างๆ และ ความปลอดภัยของประชาชนกลุ่มเสี่ยงอื่นๆ ที่ไม่ควรหรือไม่ต้องการบริโภค-ใช้กัญชา โดยเฉพาะเมื่อการเปิดเสรีครอบคลุมไปถึงการใช้เพื่อนันทนาการ ก็ย่อมต้องกำหนดมาตรการควบคุมการใช้กัญชาที่รัดกุมมากพอ
ที่ผ่านมา การเปิดเสรีกัญชาโดยที่ยังขาดมาตรการกำกับที่เหมาะสม ส่งผลให้เด็กและเยาวชนจำนวนไม่น้อยได้รับความเสี่ยงในด้านต่างๆ อีกทั้งการถอนร่าง พ.ร.บ. กัญชา ออกจากสภาครั้งล่าสุดก็ยิ่งทำให้สภาวะสุญญากาศทางกฎหมายกินเวลายาวนานขึ้น ภารกิจเร่งด่วนที่สุดขณะนี้คือ การทบทวนร่างกฎหมาย เพิ่มเติมมาตรการคุ้มครองเด็กและเยาวชนอย่างครอบคลุม และเร่งออกกฎหมายให้เร็วที่สุดเพื่อปิดสภาวะสุญญากาศ
อ่านรายงานวิจัยฉบับเต็มได้ ที่นี่
↑1 | รายงานผู้ป่วยเด็กที่มีอาการป่วยจากกัญชา (ข้อมูลวันที่ 11 กรกฎาคม – 1 สิงหาคม 2565) โดย คณะกรรมการจัดทำข้อแนะนำเรื่องผลกระทบของกัญชาต่อเด็ก ราชวิทยาลัยกุมารแพทย์แห่งประเทศไทยและสมาคมกุมารแพทย์แห่งประเทศไทย |
---|---|
↑2 | โดยส่วนมากต้นกัญชงจะมีสาร CBD มากกว่า ในขณะที่สาร THC จะพบมากในต้นกัญชา สารทั้งสองสามารถนำมาใช้ประโยชน์ทางการแพทย์ได้ โดยเฉพาะกัญชงที่มี CBD เป็นส่วนประกอบหลัก ในขณะที่กัญชาซึ่งมี THC ในปริมาณมาก ควรนำเข้าสู่กระบวนการแปรรูปหรือสกัด CBD ออกมาก่อนใช้ประโยชน์ เพื่อเลี่ยงอันตรายจากฤทธิ์ THC ดูเพิ่มเติมที่ CBD และ THC ในพืชกัญชาคืออะไร?? โดย กรมสุขภาพจิต |
↑3 | Lubman DI, Chetham A, Yücel M, “Cannabis and adolescent brain development,” Pharmacology & Therapeutics, 2015; 148: 1-16. |
↑4 | Meier MH, Caspi A, Ambler A, et al, “Persistent cannabis users show neuropsychological decline from childhood to midlife,” Proc Natl Acad Sci USA, 2012; 109(40). |
↑5 | ข้อมูลจาก World Population Review (2022) |
↑6 | Kristie Ladegard, MD, Christian Thurstone, MD, Melanie Rylander, MD, “Marijuana Legalization and Youth,” Pediatrics 145, May 2020. และ ราชวิทยาลัยจิตแพทย์แห่งประเทศไทย, “การใช้สารสกัดกัญชาสำหรับผู้ป่วยที่มีปัญหาสุขภาพจิต,” 14 ตุลาคม 2562. |
↑7 | Fergusson DM, Horwood LJ, SwainCampbell NR, “Cannabis dependence and psychotic symptoms in young people,” Psychol Med, 2003;33(1):15–21. |
↑8 | Chen CY, O’Brien MS, Anthony JC, “Who becomes cannabis dependent soon after onset of use? Epidemiological evidence from the United States: 2000-2001,” Drug Alcohol Depend, 2005 July;79(1):11-22. |
↑9 | Ontario Agency for Health Protection and Promotion (Public Health Ontario), Le ece P, Paul N. Q & A: Is cannabis a “gateway drug”?, Toronto, ON: Queens’s Printer for Ontario; 2019. |
↑10 | Government of Canada, “Growing Cannabis at Home Safely,” 11 May, 2022. |
↑11 | Government of the Netherlands, “Toleration policy regarding soft drugs and coffee shops.” |
↑12 | ดูแนวทางข้อกำหนดเรื่อง Childproof packaging และวิธีการออกแบบบรรจุภัณฑ์เพิ่มเติมที่ Department of Cannabis Control (California, USA), “Checklist Child-resistant Packaging (CRP),” และ “What is child-resistant packaging?,” GPAGlobal. |
↑13 | John Walsh and Geoff Ramsey, “Uruguay’s Drug Policy: Major Innovations, Major Challenges,” Brookings, 2016. |
↑14 | “How much cannabis can you legally possess?,” Legal Line Canada. |
↑15 | Government of the Netherlands, “Toleration policy regarding soft drugs and coffee shops.” |
↑16 | “Keeping Legalized Marijuana Out of Hands of Kids,” John Hopkins Bloomberg School of Public Health, last modified 4 May, 2015. |