fbpx

การคุกคามใต้ความสงบเงียบ : ชีวิตที่ไม่ปลอดภัย เมื่อรัฐไทยไม่ปล่อยให้เยาวชนส่งเสียง

คุกคามนักกิจกรรมเยาวชน

คุกคามนักกิจกรรมเยาวชนนึกคิดย้อนความกันโดยคร่าว — คงเป็นราวปี 2563 ที่นักกิจกรรมเยาวชนเริ่มออกมามีบทบาทต่อสังคม เริ่มต้นจากปรากฏการณ์ ‘เยาวชนปลดแอก’ ก่อนกระจายออกเป็นหลายกลุ่มก้อน ร่วมกันเป็นหัวหอกในการขับเคลื่อนประเด็นสำคัญ ตั้งคำถามอันแหลมคม และดันเพดานที่เคยกดทับสิทธิเสรีภาพของประชาชนจนนำไปสู่ข้อถกเถียงใหม่ๆ

แม้เยาวชนจำนวนมากที่ออกมาเคลื่อนไหวจะถูกตั้งแง่ว่าทำตามกระแส มีผู้ชักจูงชักใย แต่จำนวนคลื่นลูกใหม่ระลอกแล้วระลอกเล่าได้พิสูจน์ให้เห็นว่า ผู้ที่ชักนำให้พวกเขาต้องส่งเสียงคือสังคมนี้ คือประเทศที่พวกเขาต้องใช้ชีวิตไปอีกหลายสิบปี ไม่มีใครต้องการให้ปัญหาเรื้อรัง ความอยุติธรรม และระบอบการเมืองที่ผิดประหลาดตั้งแต่อดีตถูกส่งต่อไปยังอนาคต พวกเขาจึงต่อสู้ ต่อต้าน วิพากษ์วิจารณ์ ตามที่กำลังของตนจะพึงมี ในหนทางที่ตนพอจะกระทำได้

หลายคนถูกผู้มีอำนาจโต้กลับอย่างรุนแรงด้วยการใช้กฎหมาย – ประชาชนเห็นเป็นประจักษ์

แต่ขณะเดียวกัน สิ่งที่เราท่านอาจไม่ทันได้ตระหนักคือการคุกคามนอกกฎหมาย ซึ่งยังคงดำเนินอย่างเงียบเชียบถึงทุกวันนี้

‘ดื้อไปเราก็ทำอะไรไม่ได้’ – แรงคุกคามที่มาพร้อมความห่วงใย(?)  

เธอเพิ่งจะอายุ 14 ปีตอนที่เผชิญหน้ากับเจ้าหน้าที่รัฐครั้งแรก

บางคนก็ว่า เด็กอายุเพียงเท่านี้จะริอ่านไปจัดการชุมนุมทำไม นั่นไม่ใช่เรื่องของเด็ก แต่สำหรับ ‘จิ๋วจิ๋ว’ (นามสมมติ) เธอคิดว่าตัวเองก็เหมือนเพื่อนรุ่นราวคราวเดียวกันคนอื่นๆ เติบโตมากับการเมืองแบบแบ่งแยกสีเสื้อ และถูกผู้ใหญ่กล่อมเกลาว่าโลกการเมืองของพวกเขาเป็นแบบไหน ดังนั้นการเมืองจะไม่ใช่เรื่องของพวกเธอได้อย่างไร

“เราเริ่มสนใจการเมืองมาตั้งแต่ช่วงประถมแล้ว เพราะเราโตมาในช่วงที่มีม็อบ กปปส. บ้านเราเป็นเสื้อแดง เปิดดูแต่ช่องเสื้อแดง เวลามีชุมนุมก็บอกว่าเราว่าเสื้อแดงดีอย่างนั้นอย่างนี้ จนเราถึงขั้นฉีกไปสืบเรื่องเสื้อเหลืองเองเลย แล้วหลังจากนั้นก็มีรัฐประหารเกิดขึ้น นายกฯ ยิ่งลักษณ์ (ชินวัตร) หนีออกนอกประเทศไป มีนายกฯ คนใหม่เข้ามา”

จิ๋วจิ๋วออกตัวว่าตอนนั้นเธอยังเด็กจึงไม่รู้เรื่องอะไรมาก แต่ธรรมชาติของเด็กมักจะชอบตั้งคำถาม เมื่อเห็นปรากฏการณ์คนสวมชุดดำและบรรยากาศโศกเศร้าทั้งแผ่นดินในช่วงปี 2559 หลังรัชกาลที่ 9 เสด็จสวรรคต เธอจึงตั้งคำถาม

“เราไม่เข้าใจว่าทำไมถึงเสียใจกัน” ความสงสัยเรียบง่ายแค่นั้นนำเธอไปค้นหาข้อมูลเกี่ยวกับสถาบันกษัตริย์ที่โรงเรียนไม่มีสอน อ่านงานของ สมศักดิ์ เจียมธีรสกุล, สุพจน์ ด่านตระกูล รวมถึงติดตามเหตุบ้านการเมืองอย่างจริงจังมากขึ้น แน่นอนว่าความพิลึกพิลั่นในสภาฯ และการบริหารประเทศของรัฐบาลพลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา ย่อมสร้างคำถามอีกมากมายให้จิ๋วจิ๋ว จนนำมาสู่การจัดชุมนุมครั้งแรกเมื่อเธออายุ 14 ปี

“ช่วงที่เราทำม็อบครั้งแรกคือตอน ม.2 ตอนนั้นปี 2563 ม็อบที่กรุงเทพฯ กำลังบูม เราเลยมาจัดที่พะเยาบ้าง ในหัวข้อ #พะเยาบ่าเอาแป้ง พูดถึงเรื่องป่ารอยต่อ การจัดซื้ออาวุธของกองทัพ มีคุณลุงแกนนำเสื้อแดงมาพูดถึงเรื่องเศรษฐกิจ โรคระบาด เราก็อยู่ตั้งแต่วางแผน คุยงาน เริ่มจัดงาน ไปจนถึงส่งมวลชนกลับบ้านจนหมด”

ใครๆ ก็รู้ว่าพะเยาเป็นพื้นที่ทรงอิทธิพลของร้อยเอก ธรรมนัส พรหมเผ่า เจ้าของวาทะ ‘มันคือแป้ง’ มาอย่างยาวนาน การที่นักเรียนมัธยมต้นคนหนึ่งออกมาจัดกิจกรรมวิพากษ์วิจารณ์ตัวรัฐมนตรีและรัฐบาลอย่างตรงไปตรงมา จึงถือว่ากล้าหาญและได้รับคำชื่นชมเป็นอันมาก

โพสต์ข้อความชื่นชมของพริษฐ์ ชิวารักษ์ที่มีต่อการชุมนุม #พะเยาบ่าเอาแป้ง

แต่ใช่ว่าจะไม่มีราคาที่ต้องจ่ายเลย – จิ๋วจิ๋วเล่าว่าในการชุมนุมคราวนั้น เธอต้องเผชิญหน้าทั้งตำรวจนอกเครื่องแบบและทหารเข้ามาพูดคุย ถามรายละเอียดของงาน เมื่อกลับมาถึงบ้านก็มีปากเสียงกับครอบครัวอย่างหนักเพราะความคิดเห็นไม่ตรงกัน

“ที่บ้านไม่อยากให้ทำอีก เขาถึงกับกักบริเวณเรา ไม่ให้เราออกไปข้างนอก ถ้าจะไปไหนก็ต้องไปกับที่บ้าน ห้ามไปคนเดียว กลายเป็นว่าหลังม็อบจัดเสร็จใหม่ๆ เราจิตตกไปเลย เรานอนในห้องได้เป็นเดือนๆ โดยที่ไม่ทำอะไร เพราะมันไม่ไหว ทำอะไรไม่ได้เลยสักอย่าง

“คนรอบตัวแม่อย่างแม่ค้าที่รู้จักกันในตลาดเขาก็ถามแม่ว่าไม่กลัวลูกโดนคดี ติดคุกบ้างเหรอ ช่วงนั้นที่บ้านเลยพยายามกดดันเรา ถามเราว่าจะทำอีกไหม เราก็ตอบได้แค่ว่า ‘ไม่รู้สิ’”

จิ๋วจิ๋วเล่าเพิ่มเติมว่าภายหลังวันจัดม็อบ #พะเยาบ่าเอาแป้ง ไม่นาน ยังมีตำรวจนอกเครื่องแบบและทหารบุกมาถึงบ้านเพื่อคุยกับครอบครัว แม้เธอจะไม่ทราบแน่ชัดว่าทั้งสองฝ่ายคุยอะไรกันเนื่องจากยังถูกผู้ปกครองกักตัวอยู่ในห้อง แต่นับจากนั้นเป็นต้นมา เธอสังเกตได้ว่าตัวเองถูกตำรวจและทหารจับตามอง รวมถึงติดตามตัวเป็นระยะ

“เรารู้สึกไม่ปลอดภัยและไม่โอเคมากๆ ที่เขาทำแบบนี้” จิ๋วจิ๋วย้ำคำ ในช่วงแรกเธอรู้สึกกลัวการถูกตาม เพราะไม่รู้ว่าตำรวจต้องการอะไร และด้วยความที่มีญาติเป็นตำรวจเหมือนกัน การแสดงออกทางการเมืองของเธอบางอย่างอาจจะถูกนำไปรายงานพ่อแม่แล้วกระทบกระทั่งกันได้ ยิ่งไปกว่านั้น เธอยังถูกนายทหารที่รู้จักกันทักแชทเฟซบุ๊กมาเป็นประจำเพื่อถามข้อมูลส่วนตัว

“ปกติที่เราโดนคือมีพี่ทหารทักมาถามว่าอยู่ไหน ถามข้อมูลของเรา ทักมาบ่อยจนเรานับรอบไม่ได้แล้ว ซึ่งบางทีเราก็ไม่ได้ตอบตรงๆ เพราะเราห่วงเรื่องความเป็นส่วนตัวของตัวเอง” จิ๋วจิ๋วกล่าว “สังเกตว่าช่วงที่มีงานสำคัญๆ เกี่ยวกับราชวงศ์ เขาก็จะทักมาบ่อย เริ่มมาติดตามเรา”

เหตุการณ์ที่ยืนยันคำพูดของเธอเพิ่งเกิดขึ้นเมื่อปีที่แล้วนี้เอง หยินเล่าว่าปี 2564 วันที่คนในราชวงศ์เสด็จฯ มาพะเยา เธอถูกญาติผู้เป็นตำรวจเข้ามาคุมตัวไว้ อ้างกับพ่อแม่ว่าจะพาไปกินข้าว แต่เพราะการ ‘ชวนไปกินข้าว’ แบบดังกล่าวไม่ใช่เรื่องที่เกิดขึ้นบ่อย จิ๋วจิ๋วจึงรู้ได้ทันทีว่านี่เป็นการควบคุมตัวในฐานะเจ้าหน้าที่รัฐ แค่ละมุนละม่อมมากขึ้นและไม่เป็นทางการมากนักเพราะเป็นคนรู้จักกัน

“เรารู้ว่าดื้อไปก็ทำอะไรไม่ได้ เลยยอมเขาไปซะ”

จิ๋วจิ๋วเสริมว่าตอนแรกฝ่ายญาติไม่ยอมบอกเหตุผลว่าคุมตัวเธอทำไม ทั้งๆ ที่ในตอนนั้นเธอเองก็ไม่ได้วางแผนจัดกิจกรรมทางการเมืองหรือเข้าร่วมงานใดเป็นพิเศษ ภายหลังก็ได้รับอธิบายแค่สั้นๆ ว่าเพราะมีข่าวคนในราชวงศ์จะเสด็จฯ มาเท่านั้น

แม้ปีนี้การคุกคามที่เธอเจอจะเบาบางลง แต่ไม่มีใครรู้ว่าจะมีข้อความจากเจ้าหน้าที่รัฐส่งมาอีกตอนไหน และคนใกล้ตัวจับตามองท่าทีเธอหรือไม่ — อย่างไรก็ตาม จิ๋วจิ๋วในวัย 16 ปียังคงดื้อแพ่งด้วยการเข้าร่วมกิจกรรมทางการเมืองเป็นครั้งคราวเท่าที่จะทำได้ และ “จะสู้ต่อไปจนกว่าจะได้ประชาธิปไตยมา”

“ถึงมันจะดูยาก และฟังดูเป็นเรื่องเพ้อเจ้อไปหน่อย” เธอว่า “แต่เราก็จะยืนยันในสิ่งที่เราทำเหมือนเดิม”

‘มันเปลี่ยนชีวิตเราไปเลย’ – กว่า 2 ปีที่ถูกตำรวจจับตามอง

เขาเพิ่งจะอายุ 15 ตอนที่รู้ตัวว่าถูกตำรวจจับตามอง

ก่อนหน้านั้น ‘กันต์’ กันตพัฒน์ มาตรบรรเทา บอกว่าเขาไม่เคยทำกิจกรรมทางการเมืองใดๆ อย่างมากก็แค่ไปร่วมฟังบรรยายของพรรคอนาคตใหม่ที่ทำให้เขาเริ่มหันมาสนใจศึกษาปัญหาเชิงโครงสร้างของสังคม เช่นการบังคับเกณฑ์ทหารและการใช้ความรุนแรงลงโทษในโรงเรียนเท่านั้น แต่หลังจากที่แชร์โพสต์กิจกรรม ‘วิ่งไล่ลุง’ ที่บุรีรัมย์ลงเฟซบุ๊กส่วนตัวไปในช่วงปี 2563 ไม่นาน ปฏิบัติการคุกคามก็มาถึงตัว

“เขา (ตำรวจ) ไปที่โรงเรียนก่อน มีคำสั่งประสานงานกับครูว่าให้ควบคุมนักเรียนให้อยู่ ไม่ให้ไปร่วมกิจกรรม พอโรงเรียนรู้ก็เริ่มทำตามขั้นตอน บุกเข้ามาหาผมถึงห้องสอบ ถามว่าเธอจะไปร่วมกิจกรรมเหรอ ช่วงนั้นเราอยู่ ม.3 นั่งอยู่ในห้องสอบกลางภาค เราก็ไม่ค่อยมีสมาธิเลย ครูที่ปรึกษาถึงขั้นกักบริเวณเราช่วงเสาร์อาทิตย์เพื่อไม่ให้ไปร่วมกิจกรรม”

กันต์เพิ่งมารู้ทีหลังว่าสันติบาลติดตามตัวเขามานานพอสมควรในฐานะเยาวชนที่มีแนวโน้มออกไปทำกิจกรรมการเมือง แต่หารู้ไม่ว่าสิ่งที่จุดชนวนให้เขาเริ่มหันมาทำกิจกรรมจริงๆ คือเหตุการณ์ช่วง ม.3 นั่นเอง

“เราตั้งคำถามว่าแค่จะไปร่วมกิจกรรมหรือแชร์ข่าวการเมืองเป็นเรื่องร้ายแรงถึงขั้นต้องคุกคามกันขนาดนี้เลยเหรอ มันจุดชนวนให้เราหันมาสนใจทำกิจกรรมเรื่อยมา

“เราเริ่มทำครั้งแรกหลังพรรคอนาคตใหม่ถูกยุบ เป็นแฟลชม็อบ (เมืองภูเขาไฟไม่รับใช้เผด็จการ) ที่บุรีรัมย์ ช่วงเดือนสิงหาคม 2563 เราเป็นหนึ่งในผู้จัดเอง ตอนนั้นยังอยู่กลุ่มเยาวชนบุรีรัมย์ปลดแอกอยู่ ไปปราศรัยตั้งคำถามกับการทำหน้าที่ของเจ้าหน้าที่ตำรวจ พอจบกิจกรรมเลยเจอการคุกคามอย่างเป็นทางการในฐานะนักกิจกรรม หลังปราศรัยจบ 2-3 วันต่อมา มีสจ. ตำรวจ ปลัดอำเภอ มาที่บ้านประมาณ 20 กว่าคน มาพูดคุยว่าให้เราเลิกทำกิจกรรมทางการเมืองได้ไหม”

คำตอบของกันต์ คือการกลับไปทำกิจกรรมอีกหลายต่อหลายครั้ง “เพราะเราไม่เห็นด้วยกับสิ่งที่เราและคนรอบข้างถูกกระทำ” เขาจึงจัดกิจกรรมในบุรีรัมย์ร่วมกับคนอื่นๆ เกือบทุกเดือน นั่นทำให้เจ้าหน้าที่ตำรวจมาตามหาตัวเขาถึงบ้านแทบทุกเดือนเช่นกัน

ภาพถ่ายโดย กันตพัฒน์ มาตรบรรเทา

“ส่วนใหญ่ผมเจอต่อหน้าเลยครับ วันไหนอยู่บ้านพร้อมหน้ากับครอบครัว เขาก็เดินเข้ามาเลย ไม่ได้มีหมายเรียกหรือหมายค้นอะไรเลย จำนวนคนแล้วแต่ระดับการเคลื่อนไหวของเรา บางทีก็มา 5-6 คน บางทีก็มา 2-3 คน 20 คนก็เคยเจอ เขาพยายามกดดันให้เราหยุดทำกิจกรรม ห้ามไม่ให้เราแชร์ ไม่ให้แสดงความคิดเห็นเรื่องการเมือง”

กันต์เสริมว่าบางครั้งตำรวจก็ตามไปถึงคนข้างๆ บ้าน ไปถามว่าเขาจะกลับบ้านไหม มีใครมาบ้านเขาบ้าง “ไปถามทำไม เพราะไม่มีใครรู้ดีเรื่องของเราเท่าคนข้างบ้านเหรอ” เขาหัวเราะกึ่งปลดปลง และคงไม่แปลกใจถ้าใครต่อใครอาจจะมองว่าเขาเป็นเด็กที่สร้างความปั่นป่วน ในเมื่อตำรวจให้เหตุผลการติดตามแก่คนรอบตัวเขาเช่นนั้น และยิ่งตอกย้ำด้วยการส่งหมายเรียกคดีฝ่าฝืน พ.ร.ก.ฉุกเฉินแก่เขาในปี 2564

“สาเหตุคือไปเข้าร่วมคาร์ม็อบโคราช ช่วงสิงหาคม 2564 ครับ พอหมายเรียกมาส่งถึงบ้าน เราก็ต้องคุยกับครอบครัว เดิมทีที่บ้านคิดเห็นเรื่องการเมืองไม่ตรงกันกับเราอยู่แล้วด้วย พอตำรวจมาบอกว่าลูกของคุณไปทำความผิด ทำให้บ้านเมืองปั่นป่วนเสียหาย เขาก็เข้าใจผิดตามนั้น ทั้งที่เราไปไล่รัฐบาลเฉยๆ

“ผมคิดว่ามันคือการกลั่นแกล้งนะ” กันต์กล่าว เพราะหลังจากที่เขาไปรับฟังข้อกล่าวหาตามหมายเรียก ตำรวจตักเตือนจนพอใจก็ถอนฟ้องคดี เขาจึงมองว่าหมายเรียกคราวนี้มีไว้เพื่อให้ครอบครัวช่วยกดดันนักกิจกรรมเสียมากกว่า

แต่ในสายตาของกันต์ ไม่มีการคุกคามครั้งไหนแย่ไปกว่าช่วงที่มีข่าวว่าบุคคลในราชวงศ์จะเสด็จฯ มาในพื้นที่บุรีรัมย์ ซึ่งเขาเจอมากับตัวถึงสองครั้ง

“ตอนเราอยู่ ม.5 เทอม 2 มีขบวนเสด็จฯ ผ่านบุรีรัมย์ ตำรวจเลยขับรถตามเรา เรียกเราไปเซ็นเอกสารว่าจะไม่ทำกิจกรรมในช่วงนั้น บังคับให้เรารับข้อตกลงโดยที่ยังไม่ได้ทำอะไรผิด

“เขาจับเราไปนั่งตรงลงบันทึกประจำวัน ให้ร้อยเวรเขียนใส่สำนวนว่าเจ้าหน้าที่ได้เรียกผมมาให้ปากคำ ได้ขอความร่วมมือให้ไม่ทำกิจกรรม และจะติดตามผมช่วงหนึ่ง จะขับรถตาม โทรศัพท์หา ผมต้องแจ้งว่าอยู่ที่ไหน ทำอะไร รายละเอียดประมาณนี้ แล้วตบท้ายให้เลยว่าผมยินยอมให้ความร่วมมือ เราก็แค่เซ็น” ถึงจะรู้ว่ามีสิทธิ์ปฏิเสธไม่เซ็นรับทราบตามกฎหมาย แต่กันต์กล่าวว่า ณ ตอนนั้นเขาถูกกดดันอย่างหนัก ทั้งเจ้าหน้าที่ขับรถตามหลายวัน สกัดกั้นไม่ให้เข้าโรงเรียนได้ตามปกติ เขาเลยรู้สึกว่าตนไม่มีทางเลือกมากนัก

อีกอย่าง.. “การที่เราไปเซ็นคือการยืนยันความบริสุทธิ์ใจด้วยว่าเราไม่ได้คิดร้ายอะไร เราเป็นแค่ผู้แสดงความคิดเห็นสถานการณ์ในสังคมเท่านั้น”

ล่าสุด เหตุการณ์ทำนองเดียวกันเกิดขึ้นอีกครั้งราวเดือนกุมภาพันธ์ 2565 โรงเรียนของกันต์คือสถานที่รับเสด็จ เขาจึงถูกเจ้าหน้าที่คุมเข้มตั้งแต่ออกจากบ้านถึงโรงเรียน ถามคนใกล้ตัวถึงตำแหน่งที่อยู่ของเขา โดยให้เหตุผลว่าเขาอาจจะถือโอกาสสร้างความปั่นป่วน มันเป็นช่วงเวลาที่กันต์รู้สึกอันตราย เขาต้องระวังตัวตอนเดินทางคนเดียวและการใช้โทรศัพท์ทุกครั้ง เพราะไม่อยากให้ครอบครัวหรือคนรู้จักพลอยรับเคราะห์ไปด้วย

จากปี 2563 เป็นต้นมา กันต์ไม่อาจนับจำนวนได้ว่าถูกคุกคามจากเจ้าหน้าที่รัฐกี่ครั้ง เขาจำได้แค่มันส่งผลกระทบทุกแง่มุมของชีวิตอย่างใหญ่หลวง ไม่ว่าจะเป็นชีวิตในโลกโซเชียลที่มี ‘ไอโอ’ (Information Operation – IO) ส่งข้อความด่าทอมาทางเฟซบุ๊กเป็นประจำ ชีวิตในโรงเรียนที่ถูกเรียกพบผู้ปกครอง และถูกเรียกไปคุยกับครู ผู้บริหารเป็นการส่วนตัวเกี่ยวกับการแสดงออกทางการเมืองบ่อยครั้ง ไหนจะยังมีปัญหาความสัมพันธ์ในครอบครัวที่กันต์ออกปากว่าคลี่คลายไม่ตก

“จากเดิมเราเคยเป็นที่รักของครอบครัวมากๆ แต่พอความคิดเห็นไม่ตรงกันเรื่องการเมือง มันเปลี่ยนชีวิตผมไปเลย เขาไม่ชอบในความเป็นเรา ยิ่งเจอการปลุกปั่นจากเจ้าหน้าที่รัฐให้มองเราในแง่ลบ ก็กลายเป็นปัญหาที่เราไม่รู้จะทำยังไง”

กันต์สารภาพว่าตนเคยคิดถึงขั้นฆ่าตัวตายเพราะการถูกคุกคาม สถานการณ์บีบคั้นและปัญหาประดังประเดเหล่านี้ “แต่ก็ผ่านมันไปได้ด้วยกำลังใจจากผู้คน จากประชาชนที่ทำให้เรายังเดินหน้าส่งเสียงอยู่” เขากล่าว “เราพยายามมีความหวังว่าจะเกิดการเปลี่ยนแปลงแน่ๆ ในสักวันหนึ่ง และพอหันกลับมามอง เราจะเป็นบทเรียนให้คนอื่นๆ ว่าสิ่งที่เกิดขึ้นกับเรา เป็นเพราะสังคมที่มีปัญหา”

ภาพถ่ายโดย กันตพัฒน์ มาตรบรรเทา

ตอนนี้กันต์อายุ 18 ปีแล้ว เป็นนักเรียนชั้น ม.6 ที่ยังคงต้องระแวดระวังตัวเองจากการถูกตำรวจติดตาม แวะเวียนไปที่บ้านอยู่เป็นระลอก พร้อมๆ กับพยายามไล่ตามความฝันในการสอบเข้าคณะนิติศาสตร์ แม้จะกังวลอยู่บ้างว่าการคุกคามของเจ้าหน้าที่รัฐอาจลามเลยไปเป็นอุปสรรคต่อเส้นทางในอนาคต

“ส่วนตัวเราสนใจเรื่องกฎหมาย กระบวนการยุติธรรม จึงอยากทำให้เกิดความยุติธรรมขึ้นในสังคม” โดยเฉพาะอย่างยิ่ง คดีความของนักกิจกรรมเยาวชนหลายคนที่ยังแลดูเหมือนไม่ยุติธรรมสำหรับกันต์

“เราเห็นว่าหลายคดี เวลาเยาวชนไปขึ้นศาลต้องพาผู้ปกครองไปด้วย ซึ่งคนฟ้องคือเจ้าหน้าที่ เขามีโอกาสโน้มน้าวผู้ปกครอง ทำให้เชื่อในสิ่งที่เขารังแกเด็กได้ เด็กมีโอกาสน้อยมากในการแก้ต่างข้อกล่าวหา เพราะฉะนั้นเด็กเสียเปรียบมาก และผลกระทบที่เกิดขึ้นคือเด็กต้องทะเลาะกับครอบครัวเพราะการคุกคามของรัฐ ถูกสกัดกั้นไม่ให้เข้าร่วมงานกิจกรรมต่างๆ เพราะถูกรัฐเพ่งเล็ง บางคนถูกกระทำ ถูกสังคมกดดันจนกลายเป็นโรคซึมเศร้าก็มี คิดจะฆ่าตัวตายก็มี

“หลายเรื่องที่เกิดขึ้นเป็นเพราะเยาวชนแสดงความคิดเห็นทางการเมืองเท่านั้น ไม่ได้สร้างความเดือดร้อนให้สังคม แค่พูดถึงอำนาจรัฐที่คุกคามเราอยู่ กลับทำให้ชีวิตของเขาต้องเจอปัญหาหลายอย่างจากเจ้าหน้าที่รัฐ” กันต์ทิ้งท้าย

“ทั้งหมดเป็นฝ่ายเจ้าหน้าที่รัฐต่างหากที่กระทำอย่างไม่สมควร ต่อเยาวชนและประชาชน”

ในประเทศที่เป็นประชาธิปไตย…

สถิติจากศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชนเปิดเผยว่า ในช่วงปี 2564 มีจำนวนเยาวชนที่ถูกคุกคามจากเจ้าหน้าที่รัฐอย่างน้อย 19 คน ขณะที่ปี 2565 ข้อมูลวันที่ 1 มกราคม – 15 กันยายน พบว่ามีเยาวชนถูกคุกคามอย่างน้อย 35 คน โดยเยาวชนอายุน้อยที่สุดมีอายุเพียง 13 ปีเท่านั้น

แน่นอน คำว่า ‘อย่างน้อย’ หมายถึงตัวเลขผู้ถูกคุกคามอาจมีมากกว่านี้ นี่เป็นเพียงกรณีที่ศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชนพอจะติดตามและรวบรวมมาได้

ไม่เพียงแต่แนวโน้มตัวเลขที่มากขึ้น เจ้าหน้าที่รัฐยังมีแนวโน้มคุกคามเยาวชนคนเดิมซ้ำๆ อย่างต่อเนื่อง รูปแบบที่พบมากที่สุดคือการเดินทางไปที่บ้าน ที่ทำงาน หรือสถานศึกษาของเป้าหมาย พร้อมๆ กับใช้วิธีการอื่น ได้แก่ การติดตามตัว ถ่ายภาพ ติดต่อขอทราบพิกัดที่อยู่ จับตาการเคลื่อนไหวในโซเชียลมีเดีย บางครั้งมีการข่มขู่ต่อเยาวชนที่ตกเป็นเป้าหมาย ญาติพี่น้อง คนใกล้ชิด ไปถึงขั้นควบคุมตัว บังคับกดดันให้เซ็นเอกสารข้อตกลงบางประการ

ช่วงต้นปี 2565 ที่ผ่านมาน่าสังเกตว่าช่วงเวลาที่บุคคลสำคัญ ทั้งที่เป็นคนในราชวงศ์ และผู้นำรัฐบาลเดินทางลงพื้นที่ เจ้าหน้าที่รัฐจะเข้ามาติดตาม คุกคาม ควบคุมการแสดงออกของเยาวชนเข้มข้นเป็นพิเศษ อย่างไรก็ตาม มีการคุกคามอีกหลายครั้งที่เรายังไม่ทราบสาเหตุ เช่นเดียวกับที่เราไม่ทราบว่ามันจะจบลงเมื่อไหร่

และไม่ทราบว่าใครจะเป็นรายต่อไป

ในประเทศที่เป็นประชาธิปไตย การคุกคามของเจ้าหน้าที่รัฐที่กระทำต่อประชาชน โดยเฉพาะเยาวชนผู้ออกมาทำกิจกรรม แสดงความเห็นทางการเมืองตามสิทธิเสรีภาพของตน คงถือเป็นการใช้อำนาจนอกกฎหมาย ถูกประณามและถูกตรวจสอบการทำหน้าที่

แต่ในประเทศที่ให้ความสำคัญแก่ ‘ความมั่นคง’ ‘ความสงบเรียบร้อย’ และ ‘ศีลธรรมอันดี’ มากกว่าเสรีภาพ เรื่องราวเหล่านี้อาจมีมากเสียจนไม่อาจปรากฏให้เห็นบนหน้าข่าวถ้วนทั่วทุกกรณี มิหนำซ้ำอาจจะมีได้ทุกวันโดยที่เราไม่รู้ตัว

ประเทศเช่นนี้ล่ะ ที่ความสงบเงียบไม่เคยน่าไว้วางใจ

ประเทศเช่นนี้ล่ะ ที่ทำให้เยาวชนต้องก้าวออกมาส่งเสียงถามหาความเปลี่ยนแปลง

คุกคามนักกิจกรรมเยาวชน

คุกคามนักกิจกรรมเยาวชน

คุกคามนักกิจกรรมเยาวชน

MOST READ

Politics

23 Feb 2023

จากสู้บนถนน สู่คนในสภา: 4 ปีชีวิตนักการเมืองของอมรัตน์ โชคปมิตต์กุล

101 ชวนอมรัตน์สนทนาว่าด้วยข้อเรียกร้องจากนอกสภาฯ ถึงการถกเถียงในสภาฯ โจทย์การเมืองของก้าวไกลในการเลือกตั้ง บทเรียนในการทำงานการเมืองกว่า 4 ปี คอขวดของการพัฒนาสังคมไทย และบทบาทในอนาคตของเธอในการเมืองไทย

ภัคจิรา มาตาพิทักษ์

23 Feb 2023

Politics

16 Dec 2021

สิทธิที่จะพบศาลภายหลังถูกจับและถูกควบคุมตัว (ตอนที่ 1) : เหตุใดจึงต้องพบศาล และต้องพบศาลเมื่อใด

ปกป้อง ศรีสนิท อธิบายถึงวิธีคิดของสิทธิที่จะพบศาลภายหลังถูกจับกุมและควบคุมตัว และบทบาทของศาลในการพิทักษ์เสรีภาพปัจเจกชน

ปกป้อง ศรีสนิท

16 Dec 2021

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • Always Active

Save