fbpx

คำวินิจฉัยที่ทำให้พระมหากษัตริย์เดือดร้อน

พระราชดำรัสตอนหนึ่งของรัชกาลที่ 9 เกี่ยวกับการบังคับใช้มาตรา 112 แห่งประมวลกฎหมายอาญา พระราชทานเมื่อวันที่ 4 ธันวาคม 2548 ความว่า “…นักกฎหมายชอบให้ฟ้อง ให้จับเข้าคุก…” และ “…ใครบอกให้ลงโทษ อย่าให้ลงโทษเขา ลงโทษไม่ดี…” หากสรุปและแปลความจากพระราชดำรัสส่วนนี้ทั้งหมด คือ ทรงเห็นว่าการบังคับใช้มาตรา 112 ไม่ได้ช่วยปกป้องพระมหากษัตริย์ แต่กลับทำให้พระมหากษัตริย์เดือดร้อน ในรัชสมัยของรัชกาลที่ 9 มีการดำเนินคดีตามมาตรา 112 เพียงไม่กี่คดียังทำให้พระมหากษัตริย์รู้สึกเดือดร้อนได้ขนาดนั้น ปัจจุบันการดำเนินคดีตามมาตรานี้ที่เพิ่มขึ้นเป็นทวีคูณจะระคายเคืองต่อสถาบันพระมหากษัตริย์ขนาดไหน?

นับตั้งแต่ พ.ศ. 2548 จนถึงปัจจุบัน สังคมไทยเปลี่ยนแปลงไปมากในทุกๆ ด้าน คนไทยยอมรับและพยายามปรับตัวให้ทันการเปลี่ยนแปลงทางด้านเทคโนโลยีและเศรษฐกิจ แต่เมื่อเป็นเรื่องทางการเมือง หลายคนไม่ยอมรับการเปลี่ยนแปลง ความกลัวที่จะสูญเสียสถานะ ผลประโยชน์ทางเศรษฐกิจและอภิสิทธิ์ต่างๆ และความคุ้นเคยและอุ่นใจกับการได้รับการปกป้องและปกครองภายใต้อำนาจนิยม ทำให้ดิ้นรนฝืนกระแสธารแห่งการเปลี่ยนแปลง และต่อต้านสภาวะที่ทุกคนมีอิสระเสรีภาพในการกำหนดชะตาชีวิตของตัวเองอย่างเท่าเทียม ซึ่งนับเป็นเรื่องแปลกสำหรับสังคมไทย ที่อ้างกันว่าเป็นสังคมพุทธ แต่คนพุทธหลายคนกลับไม่เข้าใจและยอมรับสัจธรรมของพุทธ

การดิ้นรนต่อต้านการเปลี่ยนแปลง ความพยายามหลอกตัวเองว่าทุกอย่างยังปกติและพยายามควบคุมและกดทับการเปลี่ยนแปลง รวมถึงความเชื่อที่ว่าอำนาจสามารถควบคุมทุกสรรพสิ่ง ทำให้คนที่ไม่ยอมรับการเปลี่ยนแปลงเชื่อว่า ในทางการเมือง การปกครองโดยทหารหรือเผด็จการจะช่วยควบคุมการเปลี่ยนแปลงทางการเมืองได้ ในทางกฎหมาย การควบคุมกระบวนการยุติธรรม จะช่วยหยุดความเคลื่อนไหวต่างๆ ได้และทำให้คนที่เรียกร้องสิทธิเสรีภาพค่อยๆ เงียบเสียงไปในที่สุด

การใช้ดุลพินิจของเจ้าหน้าที่ในกระบวนการยุติธรรมโดยเฉพาะอย่างยิ่งคำวินิจฉัยของศาลแสดงถึงทัศนคติที่มีต่อการเปลี่ยนแปลงได้อย่างชัดเจน เราเริ่มเห็นการเปลี่ยนแปลงของกระบวนการยุติธรรมที่เกี่ยวข้องกับมาตรา 112 การที่ศาลอนุญาตให้มีการประกันตัวผู้ต้องหา ความพยายามในการตีความองค์ประกอบของมาตรา 112 ให้สอดคล้องกับหลักทฤษฎีกฎหมาย หรือคำพิพากษายกฟ้องในข้อหาตามมาตรา 112 พัฒนาการเหล่านี้เป็นสิ่งที่สังคมไม่เคยเห็นมาก่อน (unprecedented) หากมองย้อนกลับไปสิบปีก่อนหน้า พัฒนาการทางกฎหมายเหล่านี้ไม่เพียงแต่แสดงให้เห็นถึงความกล้าหาญ (courage) และความซื่อตรงต่อหลักการกฎหมาย (integrity) แต่ยังแสดงให้เห็นถึงความเข้าใจใน ‘เทศกาลบ้านเมือง’ ของผู้พิพากษาและเจ้าหน้าที่ในกระบวนการยุติธรรมที่เกี่ยวข้อง

แม้จะมีการเปลี่ยนแปลงในแนวทางการตีความและการบังคับใช้มาตรา 112 ที่แต่เดิมผู้ที่ถูกกล่าวหาตามมาตรานี้ถูกปฏิบัติยิ่งกว่าผู้ถูกกล่าวหาว่าฆ่าคนตาย แต่ในอีกหลายคดี คำวินิจฉัยของศาลก็ยังแสดงให้เห็นชัดเจนว่าผู้ตัดสินคดีไม่เข้าใจหรือไม่ใส่ใจใน ‘เทศกาลบ้านเมือง’ ซึ่งก็คือการเปลี่ยนแปลงที่กำลังขึ้นในสังคมไทย ความไม่เข้าใจที่ว่านี้ไม่ได้แสดงออกโดยตัวคำสั่งไม่ให้ประกันตัวหรือคำพิพากษาให้จำคุกในคดีมาตรา 112 เอง แต่แสดงออกโดยเหตุผลประกอบคำวินิจฉัย (legal reasoning) ในคำสั่งหรือคำพิพากษานั้นๆ การให้เหตุผลในลักษณะเหมารวมว่า ‘คนไทยทุกคน’ คิดเหมือนกันและปฏิบัติเหมือนกัน อยู่บนฐานของทัศนคติที่ว่า พระมหากษัตริย์จะถูกล่วงละเมิดมิได้ เพราะพระมหากษัตริย์เป็นที่เคารพสักการะของคนไทย ‘ทุกคน’ เมื่อเหตุผลของคำวินิจฉัยตั้งอยู่บนสมมติฐานที่ว่า พระมหากษัตริย์เป็นที่เคารพสักการะของคนไทย ‘ทุกคน’ ผู้ที่ทำคำวินิจฉัยก็มีแนวโน้มที่จะเขียนคำวินิจฉัยในลักษณะที่เหมารวมว่า ‘ทุกคน’ มีความเชื่อและต้องเชื่อแบบเดียวกัน และมีแนวโน้มที่จะลงโทษผู้ที่แตกแถวจากความเชื่อดังกล่าวอย่างรุนแรง

ผู้ที่เข้าใจและสนใจความเป็นไปของโลกและเข้าใจใน ‘เทศกาลบ้านเมือง’ ของสังคมไทย ตระหนักเป็นอย่างดีว่า สถาบันพระมหากษัตริย์ในประเทศประชาธิปไตยส่วนใหญ่สามารถดำรงอยู่ได้อย่างมั่นคง แม้จะไม่ได้เป็นที่เคารพสักการะของประชาชน ‘ทุกคน’ ระบอบประชาธิปไตยที่มีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุขจะรุ่งเรืองสถาพรเมื่อสถาบันพระมหากษัตริย์ตั้งอยู่อย่างมั่นคงท่ามกลางความแตกต่างหลากหลายของการใช้สิทธิเสรีภาพอันเป็นธรรมชาติของระบอบประชาธิปไตย ด้วยเหตุนี้การให้เหตุผลของคำวินิจฉัยในลักษณะเหมารวม ไม่เพียงเป็นการฝ่าฝืนต่อความจริง ยังเป็นการแสดงให้เห็นถึงความไม่ใส่ใจต่อการเปลี่ยนแปลงของสังคม และยังเป็นการแสดงออกถึงทัศนคติอำนาจนิยมซึ่งเชื่อว่าอำนาจสามารถหยุดทุกความเปลี่ยนแปลงได้

นักกฎหมายที่เข้าใจ ‘เทศกาลบ้านเมือง’ ย่อมทราบดีว่า สังคมไทยกำลังเผชิญกับความท้าทายมากที่สุดช่วงเวลาหนึ่ง และกระบวนการบังคับใช้กฎหมายมาตรา 112 ในช่วงเวลานี้มีความละเอียดอ่อนกว่าเมื่อปี 2548 มาก การบังคับใช้มาตรา 112 ไม่ควรเป็นเรื่องการบังคับใช้กฎหมายเคร่งครัดตามตัวอักษรเหมือนกับการบังคับใช้ความผิดอาญาฐานอื่นๆ แต่ต้องบังคับทั้ง ‘หลักการ’ และ ‘นโยบาย’ ไปพร้อมๆ กัน

การบังคับตามหลักการคือ การตีความต้องสอดคล้องกับหลักการของกฎหมายอาญาและหลักการสิทธิมนุษยชน ในขณะที่การบังคับตามนโยบายคือ การเลือกใช้วิธีการตีความที่เหมาะสมกับเทศกาลบ้านเมืองและการเปลี่ยนแปลงที่กำลังเกิดขึ้นโดยมีวัตถุประสงค์เพื่อธำรงระบอบประชาธิปไตยที่มีพระมหากษัตริย์เป็นประมุข เพราะฉะนั้นการตีความมาตรา 112 แบบขยายความรับผิด การปฏิบัติต่อผู้ถูกกล่าวหายิ่งกว่าความผิดอาญาร้ายแรงอื่นๆ การให้เหตุผลของคำวินิจฉัยแบบเหมารวม ไม่ใช่การบังคับใช้มาตรา 112 ตามหลักการและนโยบายที่ถูกต้องสอดคล้องกับเทศกาลบ้านเมือง

การตัดสินคดีมาตรา 112 โดยคำนึงถึงหลักการกฎหมายและนโยบายที่เหมาะสมสอดคล้องกับเทศกาลบ้านเมืองและวางอยู่บนทัศนคติที่ว่าสถาบันพระมหากษัตริย์สามารถดำรงอยู่เคียงคู่กับระบอบประชาธิปไตยได้อย่างมั่นคงแม้จะไม่ทรงเป็นที่เคารพสักการะของคนไทยทุกคน และการให้เหตุผลของคำวินิจฉัยที่วางอยู่บนฐานของความเป็นจริงและมีความสมเหตุสมผล และการเลิกทัศนคติที่ว่าคำพิพากษาคืออำนาจในตัวเอง จะทำให้คำวินิจฉัยที่ออกมาทำให้พระมหากษัตริย์ทรงเดือดร้อนน้อยลง และจะช่วยธำรงรักษาระบอบประชาธิปไตยที่มีพระมหากษัตริย์เป็นประมุขในสังคมไทยไว้ได้อย่างมั่นคง

MOST READ

Law

25 Aug 2022

กฎหมายยาเสพติดใหม่: 8 เดือนของการบังคับใช้ในภาวะที่ยังไร้กฎหมายลูก กับ ภูวิชชชญา เหลืองธีรกุล

101 คุยกับอัยการ ภูวิชชชญา เหลืองธีรกุล ถึงประโยชน์และช่องว่างที่พบในการบังคับใช้กฎหมายยาเสพติดฉบับใหม่ตลอด 8 เดือนที่ผ่านมา

วงศ์พันธ์ อมรินทร์เทวา

25 Aug 2022

Politics

23 Feb 2023

จากสู้บนถนน สู่คนในสภา: 4 ปีชีวิตนักการเมืองของอมรัตน์ โชคปมิตต์กุล

101 ชวนอมรัตน์สนทนาว่าด้วยข้อเรียกร้องจากนอกสภาฯ ถึงการถกเถียงในสภาฯ โจทย์การเมืองของก้าวไกลในการเลือกตั้ง บทเรียนในการทำงานการเมืองกว่า 4 ปี คอขวดของการพัฒนาสังคมไทย และบทบาทในอนาคตของเธอในการเมืองไทย

ภัคจิรา มาตาพิทักษ์

23 Feb 2023

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • Always Active

Save