fbpx

การเมืองการเลือกตั้ง: พื้นที่แห่ง ‘ความไม่แน่นอน’ ของเผด็จการและชนชั้นนำไทย

หรือการเลือกตั้งจะไม่เคยเปลี่ยนการเมืองไทยได้?

แม้การเมืองไทยตลอดช่วงทศวรรษที่ 2540 – 2560 จะมีความเปลี่ยนแปลงและพัฒนาการที่เปิดให้ประชาชนกลุ่มต่างๆ สามารถเข้ามามีส่วนร่วมทางการเมืองผ่านระบบตัวแทน แต่ก็ไม่สามารถกำหนดทิศทางการเมืองได้อย่างแท้จริง การเมืองไทยกลับยังคงสัมพันธ์กับกลุ่มชนชั้นนำเพียงไม่กี่กลุ่มที่หมุนเวียนเปลี่ยนหน้าเข้ามาในโครงสร้างอำนาจ

หลังเหตุการณ์พฤษภาคม 2535 และวิกฤตเศรษฐกิจ 2540 เป็นต้นมา เกิดความไม่แน่นอนทางการเมืองถึง 3 ครั้งด้วยกัน ได้แก่ (1) เหตุการณ์การชุมนุมของกลุ่มพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย (พธม.) จนนำไปสู่การต่อต้านรัฐบาลทักษิณ ชินวัตรในปี 2549 (2) การชุมนุมของกลุ่มแนวร่วมประชาธิปไตยต่อต้านเผด็จการแห่งชาติ (นปช.) ในปี 2553 และ (3) การชุมนุมใหญ่ของคณะกรรมการประชาชนเพื่อการเปลี่ยนแปลงปฏิรูปประเทศไทยให้เป็นประชาธิปไตยที่สมบูรณ์แบบอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข (กปปส.) ระหว่างปี 2556 – 2557 เหตุการณ์ทางการเมืองดังกล่าวได้นำไปสู่การปฏิวัติรัฐประหารถึง 2 ครั้ง คือรัฐประหารกันยายน 2549 และรัฐประหารพฤษภาคม 2557[1] การเมืองไทยตกอยู่ในวังวนการเลือกตั้ง-การรัฐประหารอย่างไม่มีทางออก

แม้ว่าจะมีความพยายามอธิบายสภาวการณ์แห่งความไม่แน่นอนดังกล่าวผ่านแนวคิด ‘เครือข่ายสถาบันกษัตริย์’ (Network Monarchy)[2] และ ‘รัฐพันลึก’ (Deep State)[3] แต่นับจากการรัฐประหารปี 2549 และ 2557 เป็นต้นมา เครือข่ายชนชั้นนำร่วมสมัยและฐานรากด้านสถาบันของพวกเขาปรับแปรไปและมีความซับซ้อนมากยิ่งขึ้น ภายในรัฐพันลึกต่างแก่งแย่งชิงอำนาจกันเอง[4]

รัฐประหารถือว่าเป็นเครื่องมือที่ชนชั้นปกครองไทยใช้ในการจัดระเบียบทางการเมือง ควบคุมภาวะความไม่แน่นอนจากการเคลื่อนไหวทางการเมืองของฝ่ายประชาธิปไตยเพื่อธำรงอำนาจของตน กล่าวได้ว่า รัฐประหารสะท้อนการแสดงอำนาจของทั้งเครือข่ายสถาบันกษัตริย์และรัฐพันลึกในห้วงยามที่ไม่สามารถควบคุมดุลอำนาจทางการเมืองได้

สถานการณ์หลังการเลือกตั้งปี 2562 ยิ่งทำให้สภาพการเมืองเต็มไปด้วยความปั่นป่วนและความไม่แน่นอนยิ่งขึ้น แนวคิดเครือข่ายสถาบันกษัตริย์และรัฐพันลึกอาจไม่เพียงพอต่อการวิเคราะห์ความเปลี่ยนแปลงและสภาวะความไม่แน่นอนทางการเมืองที่เปลี่ยนไปได้อย่างรอบด้านนัก อย่างหนึ่งที่ทั้งสองแนวคิดไม่ได้อธิบายคือ ‘การเลือกตั้ง’ ได้กลายมาเป็นช่องว่างสำคัญที่ควบคุมไม่ได้และสร้างความไม่แน่นอน การเลือกตั้งจึงเป็นเสมือนปริมณฑลการคัดง้างที่แหลมคมที่ทั้งฝ่ายเผด็จการและฝ่ายประชาธิปไตยวางเดิมพันเพื่อจัดการกับความไม่แน่นอนทางการเมืองที่เกิดขึ้นในช่วง 3 ทศวรรษที่ผ่านมา

บทความชิ้นนี้ปรับประยุกต์ใช้ความคิดว่าด้วยความไม่แน่นอนทางการเมืองในระบอบอำนาจนิยมการเลือกตั้ง (Electoral Authoritarianism) ของ Andreas Schedler[5] จากหนังสือ The Politics of Uncertainty: Sustaining and Subverting Electoral Authoritarianism โดย Schedler เสนอว่า การเลือกตั้งนั้นไม่ได้เป็นเพียงเครื่องมือของผู้ปกครองในการสืบทอดอำนาจและเปลี่ยนผ่านระบอบการปกครองเท่านั้น หากแต่ยังเป็นพื้นที่ที่มีคุณลักษณะกำกวม เปิดโอกาสให้กับการท้าทายอำนาจจากฝ่ายตรงข้ามผู้ปกครอง กลายเป็นพื้นที่แห่งความไม่แน่นอนที่ฝ่ายครองอำนาจไม่สามารถควบคุมได้อย่างเต็มเม็ดเต็มหน่วย แม้จะตกอยู่ในภาวะความสัมพันธ์ทางอำนาจที่ไม่เท่าเทียม ไม่เป็นอิสระ และขาดความยุติธรรมก็ตาม

วงจรเลือกตั้ง-รัฐประหาร: การจัดการ ‘พื้นที่แห่งความไม่แน่นอน’ กลางสองทศวรรษที่สูญหายของการเมืองไทย

หากมองภูมิทัศน์การเมืองไทย การเลือกตั้งถือเป็นปริมณฑลที่เครือข่ายชนชั้นนำไทยยังไม่สามารถควบคุมได้อย่างเบ็ดเสร็จ การเลือกตั้งจึงเป็นสิ่งที่ไม่แน่นอนในทางการเมืองของของเครือข่ายรัฐพันลึก

แม้ว่าการทำรัฐประหารจะเป็นไปเพื่อสร้างความแน่นอนทางการเมืองให้กับชนชั้นนำหลายครั้ง แต่ภายใต้ระบอบประชาธิปไตยการเลือกตั้งเป็น ‘พิธีกรรมหนึ่ง’ ที่ไม่อาจหลีกเลี่ยงได้ ดังเช่นการเลือกตั้งในปี 2549, 2550, 2554 และ 2562 ที่ผลการเลือกตั้งไม่อยู่ในการควบคุมของชนชั้นนำ[6] จนนำมาสู่การรัฐประหารในปี 2549 และ 2557

การเลือกตั้งสำคัญครั้งหนึ่งที่เปลี่ยนภูมิทัศน์ทางการเมืองไทยและนำพาความไม่แน่นอนมาสู่ชนชั้นนำในช่วงก่อนปี 2562 ได้แก่ การเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรไทยเป็นการทั่วไปในวันที่ 6 มกราคม 2544 การเลือกตั้งครั้งดังกล่าวถือว่าเป็นการเลือกตั้ง ส.ส.ครั้งแรกในระบบใหม่ตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ. 2540 ซึ่งแบ่งเป็นระบบบัญชีรายชื่อ 100 คน และแบบแบ่งเขตเลือกตั้งอีก 400 คน เมื่อผลการเลือกตั้งประกาศออกมาอย่างเป็นทางการ ผลปรากฏว่าพรรคไทยรักไทย ซึ่งเป็นพรรคการเมืองพรรคแรกที่ก่อตั้งขึ้นภายใต้รัฐธรรมนูญฉบับใหม่ได้รับคะแนนเสียงอย่างท่วมท้น จนได้ที่นั่งในสภาผู้แทนราษฎรไปทั้งหมด 247 ที่นั่ง จากจำนวนทั้งหมด 500 ที่นั่ง สามารถรวมตัวเป็นแกนนำในการจัดตั้งรัฐบาลผสม 337 ที่นั่ง[7] เป็นผลให้พรรคฝ่ายค้านมีจำนวนที่นั่งในสภาเหลือเพียง 163 ที่นั่ง นำโดยพรรคประชาธิปัตย์[8]

ต่อมาคือการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรไทยเป็นการทั่วไปในปี 2550 ซึ่งเป็นการเลือกตั้งทั่วไปครั้งแรกภายใต้รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ. 2550 ภายหลังการรัฐประหารยึดอำนาจรัฐบาลทักษิณ ชินวัตรเมื่อวันที่ 19 กันยายน 2549 ในการเลือกตั้งครั้งนั้น พรรคพลังประชาชนที่เปลี่ยนมาจากพรรคไทยรักไทยก็ชนะการเลือกตั้ง โดยมีนายสมัคร สุนทรเวชและนายสมชาย วงศ์สวัสดิ์ เครือข่ายภายใต้การสนับสนุนของทักษิณ ชินวัตรดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีต่อมาตามลำดับ ต่อมาเมื่อถูกยุบพรรค นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ จึงได้เป็นนายกรัฐมนตรีจากพรรคประชาธิปัตย์

อีกครั้งหนึ่งคือการเลือกตั้งในปี 2554 พรรคเพื่อไทยภายใต้การนำของยิ่งลักษณ์ ชินวัตร ผ่านการสนับสนุนของทักษิณ ชินวัตร สามารถชนะการเลือกตั้งไปได้อีกครั้ง โดยประชาชนลงคะแนนเสียงให้พรรคจนได้รับที่นั่งในรัฐสภาเกินครึ่ง โดยได้ไป 265 ที่นั่งจากทั้งหมด 500 ที่นั่ง ในขณะที่พรรคประชาธิปัตย์ภายใต้การนำของอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ อดีตนายกรัฐมนตรีได้รับเลือกตั้งเพียง 159 ที่นั่ง แสดงให้เห็นว่าแม้ว่าจะมีความพยายามทำลายทักษิณและเครือข่าย ‘ระบอบทักษิณ’ แต่ชนชั้นนำก็ไม่สามารถทำลายความนิยมที่ประชาชนมีต่อนโยบายที่ดำเนินการโดยพรรคฯ ได้

ความล้มเหลวในการกำจัด ‘ระบอบทักษิณ’ ตลอดทศวรรษที่ 2550 นำมาสู่การรัฐประหารอีกครั้งในวันที่ 22 พฤษภาคม 2557 ซึ่งก่อให้เกิดความไม่ปกติของสถานการณ์ทางการเมืองและระบบเลือกตั้งของกลุ่มอำนาจนำและคสช. อย่างต่อเนื่อง

รัฐประหาร 57 เลือกตั้ง 62: การกระชับอำนาจที่แน่บแน่นกว่าเดิมกับความไม่แน่นอนใหม่ในภูมิทัศน์การเมืองไทย

แม้หัวหน้าคณะรัฐประหารประกาศว่าจะจัดให้มีการเลือกตั้งทั่วไปหลังดำเนินการปฏิรูปและร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ แต่ในความเป็นจริงการเลือกตั้งกลับถูกเลื่อนออกไปหลายครั้ง เช่น การที่พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา ได้กล่าวว่าการเลือกตั้งน่าจะจัด ‘ภายในสิ้นปี 2558’ ทว่าเมื่อสิ้นปี 2557 เจ้าหน้าที่ของรัฐหลายคนกล่าวต่อสาธารณะว่าจะไม่จัดการเลือกตั้งในเดือนพฤษภาคม 2558 หรือการออกมาให้ความหวังต่อประชาชนของรองนายกรัฐมนตรี วิษณุ เครืองามเกี่ยวกับการเลือกตั้งว่า น่าจะเกิดขึ้น “ประมาณเดือนสิงหาคมหรือเดือนกันยายน 2559” หลังรัฐบาลประกาศเจตนาว่าจะจัดการลงประชามติรับร่างรัฐธรรมนูญในช่วงต้นปี 2559 แต่ในเดือนมิถุนายน 2558 พลเอกประยุทธ์กลับกล่าวต่างออกไปว่า เขาเต็มใจที่จะรั้งตำแหน่งอีกสองปีหาก “ประชาชนต้องการ” หลังสภาปฏิรูปแห่งชาติผลักดันเรื่องการจัดการลงคะแนนว่าการปฏิรูปของรัฐบาลควรเสร็จสิ้นก่อนจัดการเลือกตั้งหรือไม่ นั่นหมายความว่า อาจไม่มีการจัดให้มีการเลือกตั้งทั่วไปจนต้นปี 2561 จนกว่ากระบวนการปฏิรูปจะเสร็จสิ้นลง

อีกครั้งหนึ่งคือในเดือนตุลาคม 2560 พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา ได้ออกมาให้คำมั่นว่าจะจัดการเลือกตั้งทั่วไปประมาณเดือนพฤศจิกายน 2561 แต่การเลือกวันเลือกตั้งทำให้เกิดข่าวลือว่า เขาพยายามรั้งอำนาจหลังการเลือกตั้งครั้งถัดไปผ่านพรรคการเมืองที่มีกองทัพหนุนหลัง ต่อมาในเดือนมกราคม 2561 สภานิติบัญญัติแห่งชาติลงมติเลื่อนการใช้บังคับกฎหมายการเลือกตั้งใหม่อีก 90 วัน เป็นการเลื่อนวันเลือกตั้งออกไปอีกครั้ง[9]

ภาพการเมืองไทยที่ไร้การเลือกตั้งเป็นระยะเวลายาวนานและการเลื่อนกำหนดการเลือกตั้งหลายคราท่ามกลางการจัดวางเครือข่ายอำนาจของชนชั้นนำสะท้อนและตอกย้ำข้อเท็จจริงที่ว่า การเลือกตั้งเป็นปริมณฑลที่ชนชั้นนำไม่สามารถควบคุมได้อย่างเบ็ดเสร็จเด็ดขาด ดังทัศนะของสมาชิกสภาผู้แทนท่านหนึ่ง:  

“…ทุกอย่างที่ผูกขาดกลัวการเลือกตั้งอยู่แล้ว เพราะคนมีอำนาจหน้าตาเปลี่ยนไป เขารู้อยู่แล้วถ้าพรรคก้าวไกลขึ้นมากฎหมายหลายอย่างจะโดนเปลี่ยนแปลงและทำให้พวกเขาต้องแข่งใหม่ ซึ่งพวกเขาไม่ได้แข่งมานานไปแล้ว นายพลนายทุนก็ไม่ต้องแข่ง นายทุนพลังงาน โทรคมนาคม รถไฟฟ้าจะหมดสัญญาอีก 5 ปีก็ต่อสัญญา 30 ปี ผมว่าเขาไม่ได้กลัวการแข่ง เพียงแต่เขาเหนื่อย เขาไม่ได้มากับเทคโนโลยีใหม่ที่ชอบการแข่ง หรือแม้แต่บิทคลับซ์ ต่อให้ไม่มีการแข่งเขาก็แข่งกับโลกไม่ได้  อยู่แค่ไทย ผมเลยมองว่าการเลือกตั้งทุกครั้งมันสั่นคลอนแน่ๆ เพราะมันต้องปรับตัวกับคนมีอำนาจที่ขึ้นมา สัมปทานต้องเปลี่ยนแน่ๆ…การเลือกตั้งเป็นจุดชี้ขาดของประชาชนทุกครั้งว่าเขาจะมีโอกาสต่อรองใหม่…”[10]

การเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรไทยเป็นการทั่วไปปี 2562 ในวันอาทิตย์ที่ 24 มีนาคม 2562 นับเป็นการเลือกตั้งทั่วไปภายใต้รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2560 ครั้งแรกหลังการรัฐประหารปี 2557 จากการศึกษาของ Cleve Arguelles (2562) จาก The Asian Network for Free Elections (ANFREL) พบว่าการเลือกตั้งครั้งนี้ตั้งอยู่ในความไม่ปกติหลายประการ เช่น ระบบการเลือกตั้งเป็นแบบจัดสรรปันส่วนผสม โดยสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร 500 คนมาจากระบบแบ่งเขตคะแนนสูงสุด 350 เขต เขตละคนและอีก 150 คนมาจากที่นั่งปรับระดับ (leveling seat) หรือการกำหนดให้ผู้ที่มิใช่สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรสามารถได้รับเสนอชื่อเป็นนายกรัฐมนตรีได้ หลายพรรคเสนอชื่อพลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา หัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติและนายกรัฐมนตรีก่อนการเลือกตั้งกลับมาดำรงตำแหน่ง สภาวะการเมืองการเลือกตั้งเช่นนี้นำไปสู่การแบ่งพรรคการเมืองออกเป็นสามฝ่ายหลัก คือ ฝ่ายสนับสนุนพลเอกประยุทธ์ ฝ่ายคัดค้าน และฝ่ายที่ไม่ประกาศจุดยืนชัดเจน[11]

รูปที่ 1 การหาเสียงเลือกตั้งของพรรคอนาคตใหม่ในการเลือกตั้ง 2562 ณ จังหวัดเชียงใหม่ | ภาพถ่ายโดย ชัยพงษ์ สำเนียง

รูปที่ 2 การหาเสียงเลือกตั้งของพรรคเพื่อไทยในการเลือกตั้ง 2562 ณ จังหวัดเชียงใหม่ | ภาพถ่ายโดย ชัยพงษ์ สำเนียง

ผลการเลือกตั้งปรากฏว่า พรรคเพื่อไทยและพรรคประชาธิปัตย์ซึ่งเคยเป็นพรรคการเมืองใหญ่สองพรรคที่ครองที่นั่งมากที่สุดในสภาผู้แทนราษฎรเสียที่นั่งมากที่สุดในการเลือกตั้งครั้งนี้ ส่วนพรรคพลังประชารัฐและพรรคอนาคตใหม่ซึ่งเป็นพรรคใหม่ได้ที่นั่งเพิ่มมากที่สุด ส่วนพรรคเพื่อไทยได้ที่นั่งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร (ส.ส.) แบบแบ่งเขตมากที่สุด

เมื่อเทียบกับผลการเลือกตั้งปีใน 2554 กับปี 2562 พรรคเพื่อไทยได้จำนวน ส.ส.เขตสูงสุดทั้งสองครั้ง โดยในการเลือกตั้งในปี 2554 มี ส.ส.เขต 375 ที่นั่ง และ ส.ส.ปาร์ตี้ลิสต์ 125 ที่นั่ง พรรคเพื่อไทยได้ ส.ส.เขต 204 ที่นั่ง ส่วนส.ส.ปาร์ตี้ลิสต์ได้ไป 61 ที่นั่ง รวม 265 ที่นั่ง อันเป็นเสียงมากสุดที่ได้จัดตั้งรัฐบาลและยิ่งลักษณ์ ชินวัตร ได้ขึ้นเป็นนายกรัฐมนตรี ส่วนในการเลือกตั้งปี 2562 พรรคเพื่อไทยได้คะแนน ส.ส.เขตสูงสุดจำนวน 137 ที่นั่งจากทั้งหมด 350 เขต โดยมีพรรคพลังประชารัฐที่เพิ่งจัดตั้งขึ้นในการเลือกตั้งครั้งนี้ได้ที่นั่งไปเป็นอันดับ 2 ส่วนพรรคการเมืองอื่นๆ ในการเลือกตั้งทั้งในปี 2554 และปี 2562 ผลในเชิงเปรียบเทียบ ได้แก่ พรรคประชาธิปัตย์ ซึ่งในปี 2554 ได้ ส.ส. เขต 115 ที่นั่ง แต่ลดเหลือ 33 ที่นั่ง ในปี 2562 พรรคภูมิใจไทย จาก 39 ที่นั่ง ลดลงเหลือ 29 ที่นั่ง ส่วนพรรคชาติไทยพัฒนาเพิ่มจาก 6 ที่นั่ง เป็น 15 ที่นั่ง[12]

จะเห็นว่าพรรคเพื่อไทยแม้จะชนะเลือกตั้งได้จำนวน ส.ส.มากที่สุด แต่ก็มีจำนวน ส.ส.ลดลงเกินกว่า 100 คน จึงไม่สามารถตั้งรัฐบาลได้ อาจถือเป็นความพ่ายแพ้จากการออกแบบระบบเลือกตั้งที่สกัดไม่ให้พรรคการเมืองเข้มแข็ง ดังที่สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรพรรคภาคเหนือจากเพื่อไทยได้ให้สัมภาษณ์ไว้ว่า:

ระบบการเลือกตั้งที่กีดกันพรรคการเมืองใหญ่ โดยใช้บัตรใบเดียวเลือกทั้ง ส.ส.เขต และ ส.ส.ปาร์ตี้ลิสต์ ซึ่งทำให้พรรคการเมืองที่ได้จำนวน ส.ส.เขตมากแบบพรรคเพื่อไทย ไม่ได้ ส.ส.ระบบปาร์ตี้ลิสต์เลย อีกประการหนึ่ง คสช. ได้วางฐานอำนาจไว้ยาวนานกว่าการรัฐประหารครั้งก่อนๆ ทำให้ข้าราชการและองคาพยพของรัฐสนับสนุน จึงทำให้คะแนนจำนวนมากเป็นคะแนนจัดตั้ง…ที่สำคัญแม้พรรคจะหากลยุทธ์ไว้แล้วในการตั้งพรรคการเมืองต่าง ๆ แต่พอพรรคไทรักษาชาติถูกยุบก็เหมือนตัดมือตัดขาเพื่อไทย การซื้อหนึ่งแถมหนึ่งทำไม่ได้…ทำให้เสียงของพรรคเพื่อไทยหายไปจำนวนมาก และปฏิเสธไม่ได้ว่ามีพรรคทางเลือกใหม่ๆ ด้วย [อนาคตใหม่-ผู้เขียน] ที่เข้ามาอยู่บนฐานเสียงเดียวกัน[13]

อีกทั้งการเลือกตั้งภายใต้ระบบเลือกตั้งดังกล่าวยังนำมาสู่การเมืองแบบกลุ่มมุ้งและอิทธิพลท้องถิ่นที่สนับสนุนพรรคพลังประชารัฐ ทั้งที่ก่อนหน้านี้พรรคการเมืองจะแข่งขันกันในเชิงนโยบาย กล่าวได้ว่า การเลือกตั้งปี 2562 ได้ทำให้เกิดการเมือง 2 ระบบ คือ การเมืองของการใช้อำนาจ อิทธิพล และยึดโยงตัวบุคคลแบบเก่าที่สะท้อนผ่านพรรคพลังประชารัฐ และการเมืองออนไลน์ที่เคลื่อนไหวบนฐานอุดมการณ์ของคนรุ่นใหม่ผ่านพรรคอนาคตใหม่ที่ ส.ส.ได้รับเลือกตั้งกว่า 80 คน ซึ่งไม่อยู่ในความคาดหมายของกลุ่มคนที่กุมอำนาจรัฐ แม้ภายหลังจะถูกยุบพรรคก็ตาม

จำนวนที่นั่งที่พรรคอนาคตใหม่ได้รับสะท้อนให้เห็นว่า ฐานความคิดของพรรคอนาคตใหม่ได้รับการตอบรับในวงกว้าง[14] และเมื่อประสานกับความเคลื่อนไหวของคนรุ่นใหม่ ก็ได้สร้างความไม่แน่นอนต่อการครองอำนาจนำของเครือข่ายชนชั้นนำเดิม[15] กลางภูมิทัศน์การเมืองที่อยู่ภายใต้เงื่อนไขกฎกติกาตามรัฐธรรมนูญ 2560 และการครองอำนาจอย่างยาวนานของคณะรัฐประหาร

รูปที่ 3 การชุมนุมประท้วงของคนหนุ่มสาว ในวันที่ 21 ตุลาคม 2563 ณ กรุงเทพฯ เป็นการชุมนุมเพื่อให้เกิดการปฏิรูปทางการเมืองและต่อต้านรัฐบาลพลเอกประยุทธ์ ที่นำมาสู่การตั้งคำถามต่ออำนาจนำเดิมในสังคม | ภาพถ่ายโดย ชัยพงษ์ สำเนียง

การเลือกตั้งในปี 2562 ได้นำมาสู่ความเปลี่ยนแปลงในภูมิทัศน์ทางการเมือง ทั้งในแง่การคัดง้างกับอำนาจนำเดิมและการสะท้อนให้เห็นเสียงของคนรุ่นใหม่ คำให้สัมภาษณ์ของสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรพรรคก้าวไกล (อนาคตใหม่) สะท้อนให้เห็นความเปลี่ยนแปลงในสังคมที่ส่งผลต่อการเมือง:

“…กลุ่มคนอยากเลือกตั้ง คนรุ่นใหม่เลยโดนกดไว้ด้วยหม้อน้ำที่ต้มไว้ตลอด รูระบายของพวกเขาคือการเลือกตั้ง 62 ที่ถล่มทลายและมีอุดมการณ์ของซ้ายกลางแต่เรื่องนี้มันไม่ได้เกิดขึ้นโดดๆ แต่เกิดขึ้นทั่วโลก โดยเฉพาะที่สำคัญคือฮ่องกง และจุดที่ทำให้เกิดม็อบคือการยุบพรรคอนาคตใหม่ในปี 63 ผมว่าน่าสนใจคือเรื่องเนื้อหาที่ไม่ใช่การโค่นล้มรัฐบาลแบบม็อบเก่าๆ หรือเรียกร้องรัฐบาลแบบม็อบชาวนา กรรมกร เป็นข้อเรียกร้องในการปฏิรูปโครงสร้างประเทศ ซึ่งแหลมคมขึ้นเรื่อยๆ หลังจากยุบพรรคจุดชี้ขาดคือ อานนท์กับข้อเรียกร้องปฏิรูปสถาบันกษัตริย์ และการหายไปของวันเฉลิม ทำให้เนื้อหาเปลี่ยนไปไกลมาก ต่อมาคือมันรื้อประวัติศาสตร์ใหม่ พวกเขาชำระประวัติศาสตร์คนเสื้อแดงที่เป็นตัวร้ายของพ่อแม่ ให้กลายเป็นฮีโร่ของเขาแล้วผสานม็อบได้ ร้องเพลงเดียวกันของไฟเย็น ถอดประวัติศาสตร์ของ 6 ตุลาคม ใหม่ ถ้าเป็นรุ่นผม 14 ตุลาจะเป็นความโรแมนติก 6 ตุลาเป็นเรื่องสั้น เขาเปลี่ยนใหม่ 6 ตุลาเด่นกว่า 14 ตุลามาก ผมไปซื้อหนังสือของอาจารย์ธงชัย ถามเจ้าของร้านว่าลูกค้าใครมาซื้อบ้าง เขาบอกหัวเกรียนๆ นักเรียนมัธยม ขณะที่ช่วงของ คสช. พยายามชำระประวัติศาสตร์ใหม่ เอาหมุดคณะราษฎร์ อนุสาวรีย์ออกแล้วยัดค่านิยม 12 ประการ แต่กลับไม่สำเร็จเลย สุดท้ายผมก็เห็นด้วยกับอาจารย์ประจักษ์ อาจารย์กนกรัตน์ ที่เสนอว่าตัวละครปลุกพลังคนรุ่นใหม่ไม่ใช่ธนาธร แต่เป็นการกดขี่ของชนชั้นนำ….”[16]

การออกแบบระบบเลือกตั้งใหม่แม้จะเป็นคุณแก่บางพรรค แต่การเลือกตั้งก็เปิดพื้นที่ให้การต่อสู้เชิงอุดมการณ์อย่างเข้มข้นระหว่าง ‘เอาเผด็จการกับต่อต้านเผด็จการ‘ เกิดขึ้น วาทกรรมดังกล่าวกลายเป็นวาทกรรมหลักในการเลือกตั้ง พรรคฝ่ายอนุรักษ์นิยมสามารถสร้าง ‘วาระทางการเมืองเรื่องการปกป้องสถาบัน’ เพื่อจูงใจให้สามารถชนะเลือกตั้งได้ ส่วนการต่อสู้แบบอื่น เช่นการแข่งขันกันบนฐานนโยบายที่เคยเป็นพื้นที่หลักในการแข่งขันระหว่างพรรคถูกลดความสำคัญลง กล่าวได้ว่า การเลือกตั้งครั้งนี้เป็นการเลือกในเชิงอุดมการณ์อย่างชัดเจน

มิติของการต่อสู้ระหว่าง ‘รุ่น’ มีนัยสำคัญทางการเมืองหลังยุคคสช. เช่นกัน ในการเลือกตั้งครั้งนี้ได้เปิดพื้นที่คนรุ่นใหม่ได้แสดงบทบาทเป็นผู้กระทำการทางเมือง ซึ่งสร้างความไม่แน่นอนให้เครือข่ายชนชั้นนำตามไปด้วย[17] ในแง่หนึ่ง ความเปลี่ยนแปลงในภูมิทัศน์ทางการเมืองสะท้อนว่า พรรคการเมืองก็อาจไม่ใช่คำตอบสุดท้ายในตัวเองเสมอไป แต่เป็นเครื่องมือที่สั่นคลอนอำนาจนำเดิม และประชาชนคือคนที่มีสิทธิที่จะเลือกมากขึ้น:

 “…คนรุ่นใหม่ที่เข้าอนาคตใหม่ในช่วงต้น พวกเขาอยากมีพื้นที่ในการเคลื่อนไหวทางการเมือง พอเขาได้ทดลองแล้วบางอย่างตรง บางอย่างก็ไม่ตรงตามอุดมคติ ฉะนั้นพรรคอนาคตใหม่ไม่ใช่ที่เดียวของเขา หรืออย่างผมชนะการเลือกตั้งในเขต 1 ก็ไม่ใช่คนรุ่นใหม่ทั้งหมด บางคนก็ไปเศรษฐกิจใหม่ ประชาธิปัตย์ บางครั้งคนรุ่นเก่าก็เลือกผม เลยยากเกินไปที่จะเหมารวม แล้วความภักดีของคนรุ่นใหม่ต่อพรรคอนาคตใหม่ก็เป็นคำถาม ถ้าวันหนึ่งทำให้เขาผิดหวังก็จบอนาคตของพรรคเหมือนกัน หรือบางคนบอกว่าพรรคอนาคตใหม่อนุรักษ์นิยมเกินไป พรรคก้าวไกลขวาเกินสำหรับพวกเขาหรือเขาไม่พอใจความเร็วของเรา ข้อเรียกร้องนอกสภากับในสภามันเร็วไม่เท่ากัน เป็นพรรคเองที่ต้องทำงานให้ทันการเคลื่อนไหวข้างนอก ขณะเดียวกันคนรุ่นใหม่ก็ต้องท้าทายว่าพรรคจะเป็นที่พึ่งให้เขาไปได้อีกนานหรือไกลแค่ไหน…”[18]

เชิงอรรถ


[1] คริส เบเคอร์ และผาสุก พงษ์ไพจิตร.  (2562).  ประวัติศาสตร์ไทยร่วมสมัย : ฉบับปรับปรุงเป็นภาษาไทย จาก “A History of Thailand”.  กรุงเทพฯ : มติชน.

[2] McCargo, Duncan.  (2005) ‘Network Monarchy and legitimacy crises in Thailand’ Pacific Review 18, 4:499-519.

[3] Mérieau, Eugénie. (2016) Thailand’s Deep State, Royal Power and the Constitutional Court (1997–2015), Journal of Contemporary Asia, 46, 3:445-466.

[4] เรื่องเดียวกัน

[5] Schedler. A., (2013). The Uncertainty: Sustaining and Subverting Electoral Authoritarianism. Oxford: Oxford University Press.

[6] ดูการเมืองระยะยาวจากงานของ, บัณฑิต จันทร์โรจนกิจ.  (2560).  การเมืองไทยร่วมสมัย.  กรุงเทพฯ : สถาบันพระปกเกล้า.

[7] ร่วมกับพรรคชาติไทยที่มีคะแนนเสียง 40 ที่นั่ง พรรคความหวังใหม่ 36 ที่นั่ง และพรรคเสรีธรรม 14 ที่นั่ง

[8] พรรคประชาธิปัตย์จำนวน 128 ที่นั่ง พรรคชาติพัฒนา 31 ที่นั่ง พรรคราษฎร 2 ที่นั่ง พรรคถิ่นไทย 1 ที่นั่ง และพรรคกิจสังคม 1 ที่นั่งท่านั้น

[9] วันที่ 9 กุมภาพันธ์ 2561 ตัวแทนกลุ่มการเมืองเข้าร่วมประชุมกับ กกต. เพื่อรับทราบข้อมูลในการยื่นคำขอจดทะเบียนจัดตั้งพรรคการเมืองใหม่ ตามพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยพรรคการเมือง พ.ศ. 2560 ภายหลังจากการประชุมหารือ 4 ฝ่ายประกอบไปด้วย ครม. กรธ. กกต. และพรรคการเมืองที่สโมสรทหารบกเมื่อวันจันทร์ที่ 25 มิถุนายน พ.ศ. 2561 วิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรีด้านกฎหมายได้ออกมาให้สัมภาษณ์กับสื่อมวลชนว่าได้กำหนดวันเลือกตั้งอย่างไม่เป็นทางการครั้งแรก โดยมีตัวเลือกได้แก่ 24 กุมภาพันธ์, 31 มีนาคม, 28 เมษายน หรือ 5 พฤษภาคม พ.ศ. 2562 วิษณุแจ้งกับพรรคการเมืองที่เข้าร่วมประชุมว่า พระราชพิธีบรมราชาภิเษกในสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวมหาวชิราลงกรณ บดินทรเทพยวรางกูร และพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรเป็นปัจจัยสำคัญในการกำหนดวันเลือกตั้ง

[10] สัมภาษณ์สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรพรรคก้าวไกล (อนาคตใหม่) วันที่ 5 มีนาคม 2565

[11] สิริพรรณ นกสวน สวัสดี. (2561).  ระบบเลือกตั้งเปรียบเทียบ.  กรุงเทพฯ: สยามปริทัศน์.

[12] ไทยรัฐ. (2562).  เปรียบเทียบผลเลือกตั้งส.ส.เขตปี 2554 vs 2562. (25 มี.ค. 2562) https://www.thairath.co.th/infographic/2725

[13] สัมภาษณ์การสัมภาษณ์สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรภาคเหนือคนหนึ่งของพรรคเพื่อไทย วันที่ 17 ตุลาคม 2564

[14] McCargo, Duncan, and  Anyarat Chattharakul. (2020).  Future Forward : the rise and fall of a Thai political party.  Copenhagen, Denmark : NIAS Press.

[15]  ในส่วนของบทความนี้ยังไม่ดูการเคลื่อนไหวของคนรุ่นใหม่ที่ออกมาเคลื่อนไหวในปี 2562-2564 จะทำต่อไปในช่วงเวลาถัดไป ซึ่งมีงานจำนวนหนึ่งที่ศึกษาความเปลี่ยนแปลงในช่วงเวลานี้ เช่น Saowanee Alexander (2021) Kanokrat Lertchoosakul (2021) 

[16] สัมภาษณ์สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรพรรคก้าวไกล (อนาคตใหม่) วันที่ 5 มีนาคม 2565

[17] McCargo, Duncan, and  Anyarat Chattharakul. (2020).  Future Forward : the rise and fall of a Thai political party.  Copenhagen, Denmark : NIAS Press. Saowanee Alexander.  (2021).  “Sticky Rice in the Blood: Isan People’s Involvement in Thailand’s 2020 anti-government Protests,” Critical Asian Studies. DOI: 10.1080/14672715.2021.1882867 และ Kanokrat Lertchoosakul.  (2021).  “The White Ribbon Movement: High School Children in the 2020 Thai Youth Protests,” Critical Asian Studies. DOI: 10.1080/14672715.2021.1883452

[18] สัมภาษณ์สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรพรรคก้าวไกล (อนาคตใหม่) วันที่ 5 มีนาคม 2565


บทความชิ้นนี้เป็นส่วนหนึ่งของงานวิจัยเรื่อง “สภาวะของความไม่เสถียร ไม่มั่นคง ไม่แน่นอน และไม่มีประสิทธิภาพ : ของการเมืองไทยในระบอบรัฐประหารทศวรรษ 2540 – 2560” ภายใต้โครงการวิจัยเรื่อง “ฝ่าภาวะความไม่แน่นอน: การดำรงอยู่ในห้วงเปลี่ยนผ่านของสังคมไทย” โดยได้รับการสนับสนุนจากสำนักงานการวิจัยแห่งชาติ(วช.) ประเภททุนส่งเสริมกลุ่มวิจัย (เมธีวิจัยอาวุโส) โดยมี รศ.ดร.ปิ่นแก้ว เหลืองอร่ามศรี เป็นหัวหน้าโครงการ

MOST READ

Politics

23 Feb 2023

จากสู้บนถนน สู่คนในสภา: 4 ปีชีวิตนักการเมืองของอมรัตน์ โชคปมิตต์กุล

101 ชวนอมรัตน์สนทนาว่าด้วยข้อเรียกร้องจากนอกสภาฯ ถึงการถกเถียงในสภาฯ โจทย์การเมืองของก้าวไกลในการเลือกตั้ง บทเรียนในการทำงานการเมืองกว่า 4 ปี คอขวดของการพัฒนาสังคมไทย และบทบาทในอนาคตของเธอในการเมืองไทย

ภัคจิรา มาตาพิทักษ์

23 Feb 2023

Politics

16 Dec 2021

สิทธิที่จะพบศาลภายหลังถูกจับและถูกควบคุมตัว (ตอนที่ 1) : เหตุใดจึงต้องพบศาล และต้องพบศาลเมื่อใด

ปกป้อง ศรีสนิท อธิบายถึงวิธีคิดของสิทธิที่จะพบศาลภายหลังถูกจับกุมและควบคุมตัว และบทบาทของศาลในการพิทักษ์เสรีภาพปัจเจกชน

ปกป้อง ศรีสนิท

16 Dec 2021

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • Always Active

Save