fbpx

จากสู้บนถนน สู่คนในสภา: 4 ปีชีวิตนักการเมืองของอมรัตน์ โชคปมิตต์กุล

ท่ามกลางการเคลื่อนไหวนอกสภาฯ ปฏิเสธไม่ได้ว่าพรรคก้าวไกลคือกลุ่มการเมืองที่มีบทบาทโดดเด่นในการพยายามผลักดันให้มีการพูดคุยประเด็นแหลมคมในสภาฯ อย่างการปฏิรูปสถาบันพระมหากษัตริย์ การวิจารณ์กระบวนการยุติธรรมและสถาบันตุลาการ

ด้วยบุคลิกเฉพาะตัวแบบ ‘ดุกันไม่เกรงใจใคร’ ทำให้ ‘ส.ส.เจี๊ยบ’ อมรัตน์ โชคปมิตต์กุล คือหนึ่งในคนที่ออกมาอยู่แถวหน้าในการผลักดัน พูดคุย และถกเถียงในประเด็นเหล่านี้ 

101 ชวนอมรัตน์สนทนาว่าด้วยข้อเรียกร้องจากนอกสภาฯ ถึงการถกเถียงในสภาฯ คอขวดของการพัฒนาสังคมไทย โจทย์การเมืองของก้าวไกลในการเลือกตั้งครั้งหน้า บทเรียนในการทำงานการเมืองกว่าสี่ปี และบทบาทในอนาคตทางการเมืองของเธอ

หมายเหตุ – เรียบเรียงเนื้อหาจากรายการ 101 One-on-One Ep.289 ฟังเสียงจากถนน-อ่านคนในสภาฯ’ กับ อมรัตน์ โชคปมิตต์กุล

YouTube video

การอดอาหารของตะวัน-แบมที่กำลังเป็นประเด็นร้อนในตอนนี้ หลายคนเห็นตรงกันว่าการตัดสินของกระบวนการยุติธรรมมีปัญหา ส่วนตัวมองประเด็นนี้อย่างไรบ้าง

เห็นได้ชัดว่าประเด็นนี้ถูกพูดถึงอย่างกว้างขวาง ถึงขนาดว่าองค์กรต่างๆ หรือนักกฎหมายก็ออกมาขานรับ ส่วนตัวคิดว่าการเคลื่อนไหวที่สำคัญที่สุดที่เกิดขึ้นคือสภารับให้มีการอภิปรายญัตติด่วนเรื่องสิทธิการประกันตัว หลายพรรคในสภา หรือแม้กระทั่ง ส.ส. ของพรรคต่างๆ ก็ได้ลุกขึ้นมาอภิปรายสนับสนุนเรื่องนี้ด้วย

ในทางหลักการ สภาควรจะเป็นพื้นที่สำหรับผลักดันแก้ไขกฎหมายต่างๆ ได้ ในฐานะที่เป็นผู้ยื่นญัตติเรื่องสิทธิการประกันตัวในสภา มีความเห็นอย่างไรกับประเด็นนี้

มีคำถามสำคัญที่ถามไปในสภาว่ากฎหมายมาตรา 112 สุดท้ายแล้วเรียกว่าเป็นกฎหมายได้จริงหรือเปล่า เพราะถ้าเป็นกฎหมาย สภาที่ถือเป็นพื้นที่ออกกฎหมาย แก้กฎหมาย และยกเลิกกฎหมาย ก็ควรจะพูดเรื่องนี้ได้

คำถามคือทั้งเรื่องตะวัน-แบม เรื่องสิทธิทางการเมืองและสิทธิการประกันตัว ประเด็นเหล่านี้เป็นเรื่องของกระบวนการยุติธรรมหรือเปล่า หรือแท้จริงแล้วเป็นเรื่องของการแสดงอำนาจ ถ้าเป็นเรื่องการแสดงอำนาจ ก็เห็นได้ชัดว่าผิดหลักการสากลในการสันนิษฐานไว้ก่อนว่าผู้ที่ถูกกล่าวหาเป็นผู้บริสุทธิ์จนกว่าจะมีคำตัดสินจากศาล ซึ่งถือเป็นหลักกฎหมายสากลและบรรทัดฐานในการให้ประกันตัว

เราจะเห็นว่าเมื่อไม่นานมานี้ศาลไม่ได้คัดค้านการประกันตัวภรรยาของตู้ห่าว ทั้งๆ ที่เป็นคดีอาชญากรรม คดีร้ายแรง เป็นเรื่องกลุ่มทุนจีนสีเทา มีการร้องไปที่ศาลถึงความกังวลว่าจำเลยจะมีพฤติการณ์ไปข่มขู่พยาน จึงขอถอนประกันตัวภรรยาตู้ห่าว แต่ศาลบอกว่าไม่เป็นไร ให้เขาออกไปได้ และไม่ถอนประกัน ตรงกันข้ามกับคดี ม.112 อย่างตะวัน-แบมไปทำโพลเรื่อง “คุณเดือดร้อนไหมจากขบวนเสด็จ” นี่คือการตั้งคำถาม หลักฐานมีแค่ฟิวเจอร์บอร์ดแผ่นเดียวแล้วให้คนเอาสติกเกอร์ไปติดว่าเห็นด้วยไหม ไม่ได้มีพฤติกรรมที่จะไปทำลายหลักฐานใดๆ ทั้งสิ้น แล้วเขาจะออกไปทำลายหลักฐานอะไร มันขัดแย้งกับความรู้สึกของคนในสังคม หรือบางทีเป็นคดีอาวุธ บอกว่ามีการครอบครองอาวุธร้ายแรง แต่จริงๆ เป็นแค่พลุกับระเบิดปิงปอง ถามว่าร้ายแรงอย่างไร เหล่านี้คือคดีที่น้องๆ หลายคนโดน

มีประโยคหนึ่งที่คุณพูดกับประธานสภาว่า “ถ้ามีการเปิดพื้นที่ในสภา คนก็คงไม่ต้องไปลงถนน” คำถามคือจริงๆ แล้วพื้นที่ในสภาเปิดให้เราผลักดันเรื่องนี้มากน้อยแค่ไหน ทั้งเรื่องมาตรา 112 และคดีการเมืองของคนรุ่นใหม่

ญัตติด่วนล่าสุดที่เรียกร้องสิทธิการประกันตัวตะวัน-แบม (1 ก.พ. 2566) ถือเป็นจุดเริ่มต้นที่มีพื้นที่มากที่สุดแล้วในสภา ต้องขอบคุณพรรคฝั่งรัฐบาลด้วยที่เปิดโอกาส แต่ถึงจะเริ่มมีพื้นที่แต่ก็ยังไม่ได้มากเท่าที่ควร ถ้ามีพื้นที่ให้แลกเปลี่ยนถกเถียงกันทั้งฝ่ายที่เห็นด้วยและไม่เห็นด้วยก็จะช่วยลดอุณหภูมิลง เหมือนกาต้มน้ำเดือดๆ ที่ถูกเปิดฝา ถึงแม้จะมีการลงถนนก็อาจจะไม่ได้รุนแรงเท่านี้ ถ้าไม่ได้มีการปราบปรามผู้ชุมนุมแบบรุนแรงเกินกว่าเหตุ ก็จะไม่มีปฏิกิริยาที่รุนแรง

บางเรื่องแทบไม่เคยได้พูดเลยในสภา เพราะมักมีการตีความว่าการพูดถึงหมายถึงการล้มล้างหรือการก้าวล่วง แต่เราแค่พูดถึง ยังไม่ทันจะได้ก้าวซ้ายหรือก้าวขวาก็ตีความว่าก้าวล่วงไว้ก่อนแล้ว ความจริงแล้วมีระเบียบข้อบังคับของการประชุมสภาข้อหนึ่งที่บอกว่าอย่าพูดถึงบุคคลภายนอกโดยไม่จำเป็น และอย่าอ้างถึงสถาบันกษัตริย์โดยไม่จำเป็น

แต่คุณมองว่าจำเป็นที่จะต้องพูดถึง?

ใช่ ใครจะพูดถ้าไม่จำเป็น แต่เขายังไม่ทันฟังด้วยซ้ำว่าสรุปที่พูดนั้นจำเป็นหรือไม่จำเป็น เราแค่เอ่ยขึ้นมาในบางประเด็น แต่พอจะเริ่มพูดก็โดนปิดไมค์แล้ว

คุณทำงานการเมืองมากว่าสี่ปี มีโอกาสอภิปรายประเด็นสำคัญหลายเรื่องในสภาและส่วนใหญ่เป็นประเด็นแหลมคม คำถามคือนอกจากประเด็นเรื่องกฎหมาย 112 แล้ว ตอนนี้มีพื้นที่ให้เราพูดประเด็นที่ไม่ค่อยได้พูดแค่ไหนในสภา

ตอนนี้เริ่มมีพื้นที่แล้ว เราพูดเรื่ององค์กรอิสระได้เยอะขึ้น ปีแรกได้พูดเรื่องขอตัดงบศาลยุติธรรมในเรื่องหลักสูตรที่สร้างคอนเน็กชันต่างๆ ปกติแล้วพอขึ้นคำว่า ‘ศาล’ ไม่มีนักการเมืองกล้าพูดในสภาเลย แต่เราได้พูดแตะไปถึงเรื่องงบประมาณของศาลในส่วนที่ไม่จำเป็น มีการตรวจสอบงบประมาณขององค์กรอิสระที่ไม่สมเหตุสมผล เช่น กกต. ถือว่าได้เปิดพื้นที่นี้หลังจากมีพรรคอนาคตใหม่และพรรคก้าวไกล

ส่วนตัวมองประเด็นการแก้ไขกฎหมายมาตรา 112 อย่างไร

เรื่องการแก้กฎหมายมาตรา 112 ตอนนี้สังคมอาจกำลังมองเป็นประเด็นเล็กๆ เป็นแค่เรื่องของคนรุ่นใหม่หัวรุนแรง แต่ในความเป็นจริงประเด็นกฎหมายมาตรา 112 ใหญ่กว่านั้นมาก เหมือนเอาคนมาชกกัน แต่ฝ่ายหนึ่งถูกมัดมือมัดขาไว้ หรือการที่มีคนมาถกเถียงกัน แต่มีคนหนึ่งถูกปิดปากอยู่ เขาไม่สามารถพูดได้ แล้วจะถกเถียงกับคนอื่นได้อย่างไร

มาตรา 112 ยังมีประเด็นเรื่องงบประมาณ เพราะสถาบันกษัตริย์ถือเป็นหน่วยรับงบประมาณจากภาษีอากร เป็นสถาบันทางการเมืองที่จะต้องตรวจสอบได้ และมีคำถามว่ามีการแทรกแซงทางการเมืองและกระบวนการยุติธรรมโดยสถาบันกษัตริย์หรือไม่ ยังมีหลายเรื่องที่ใหญ่กว่าประเด็นที่เด็กรุ่นใหม่พูดถึงเรื่องขบวนเสด็จ ถ้าไม่มีมาตรานี้ก็ทำให้เกิดโอกาสในการยกเหตุผลขึ้นมาอภิปรายกันอย่างกว้างขวางและได้รับคำตอบ ถ้ามีคำตอบ เหตุการณ์ก็จะไม่บานปลาย เราต้องยอมรับเหตุผลซึ่งกันและกัน ถ้าข้อกล่าวหาผิด ก็ต้องมาพูดคุยหาข้อสรุปกัน ถึงจะลงเอยด้วยความเข้าใจ แต่นี่คุณไม่พูดและไม่แก้ ซ้ำยังไม่ยอมรับว่าไม่มีความเป็นสากล

ที่ผิดหวังคือการที่มีคนบอกว่ามาตรา 112 มีปัญหาแค่การบังคับใช้ ตัวกฎหมายไม่มีปัญหา ถ้าเปลี่ยนขั้วรัฐบาลเป็นฝั่งประชาธิปไตยก็จะไม่มีปัญหานี้ ซึ่งความจริงแล้วไม่ใช่ ถ้าคนนี้เป็นรัฐบาล กฎหมายนี้ไม่มีปัญหา ถ้าอีกฝั่งเป็นรัฐบาล กฎหมายนี้จะมีปัญหา แบบนี้จะเรียกว่าเป็นกฎหมายได้อย่างไร ถ้ากฎหมายมีปัญหาก็แปลว่าต้องมีปัญหากับทุกรัฐบาล

ชัดเจนมากว่ากฎหมายมาตรา 112 ไม่ได้มีปัญหาเฉพาะการบังคับใช้ แต่มีปัญหาเรื่องตัวบท เช่น โทษที่สูงเกินไปและไม่มีโทษขั้นต่ำ ใครจะไปฟ้องร้องใครก็ได้ และถูกนำมาใช้เป็นเครื่องมือในการกลั่นแกล้งทางการเมือง จริงๆ มาตรานี้เคยถูกแก้มาแล้วสองครั้ง แสดงให้เห็นว่า 112 ไม่ใช่กฎหมายที่แตะต้องไม่ได้

การแก้กฎหมายมาตรา 112 เป็นเรื่องที่คนจับตามองว่าพรรคไหนจะพูดเรื่องนี้บ้าง คิดว่าโจทย์การแก้ 112 หรือแม้แต่การปฏิรูปสถาบันกษัตริย์ในการเลือกตั้งครั้งหน้า โจทย์นี้จะสำคัญแค่ไหน และประชาชนจะเอาด้วยมากน้อยแค่ไหน เพราะบางทีหลายคนอาจมองว่าเราควรให้ความสำคัญกับเรื่องปากท้องมากกว่า

คำถามคือเราจะรู้ได้อย่างไรว่าประเด็น 112 ควรอยู่ในระดับนโยบายหรือควรจะแตะแค่ผิวๆ ในเมื่อมีกฎหมายนี้ปิดปากอยู่ แล้วเราจะได้ยินเสียงจากประชาชนอย่างกว้างขวางได้อย่างไร พรรคการเมืองจะทราบได้อย่างไรว่าประชาชนกลุ่มที่อยากให้มีการผลักดันเรื่องนี้อย่างจริงจังมีมากน้อยแค่ไหน ในเมื่อคุณให้พื้นที่แค่ฝั่งที่บอกว่าไม่ให้แก้ ไม่ให้แตะ แต่ฝั่งตรงกันข้ามไม่มีพื้นที่ให้พูด มันเป็นปัญหาตั้งแต่ตรงนี้

แต่ตอนนี้พรรคที่แสดงอย่างชัดเจนในระดับนโยบายก็คือพรรคก้าวไกล จุดยืนของพรรคคือให้มีการแก้ตัวบทที่มีปัญหา เราเชื่อว่าความเคลื่อนไหวต่อๆ ไป ถ้ากระแสสังคมเอาด้วยหรือถ้าคนทราบถึงโทษมากขึ้น ถ้าเรามีสิทธิอภิปรายโทษของกฎหมายนี้อย่างกว้างขวาง คิดว่าจะมีคนที่หันมาสนับสนุนและเห็นด้วยเป็นจำนวนมากพอ แต่ตอนนี้เราพูดอะไรไม่ได้มาก เพราะไม่มีพื้นที่ให้พูด

นโยบายแก้กฎหมายมาตรา 112 ของพรรคก้าวไกลจะแก้ไขอย่างไรบ้าง

ข้อหนึ่ง ลดโทษให้ขั้นต่ำเหลือ 0 โทษสูงสุดไม่เกิน 1 ปีสำหรับกษัตริย์ และ 0-6 เดือน สำหรับพระราชินี รัชทายาทและผู้สำเร็จราชการ

ข้อสอง ให้สำนักพระราชวังเป็นตัวแทนผู้เสียหายในการไปฟ้องร้องกล่าวโทษ หรือถ้าไม่ใช่สำนักพระราชวังก็อาจจะตั้งคณะกรรมการขึ้นมาชุดหนึ่ง คือไม่ใช่ใครก็ได้ เพื่อจะได้มีการกลั่นกรอง

ถ้าแก้สองข้อนี้ได้ ปัญหาก็จะบรรเทาเบาบางจนเกือบหมดแล้ว แทบจะไม่ต้องยกเลิกเลยด้วยซ้ำ

หลายพรรคการเมืองชูปากท้องเป็นเรื่องสำคัญในการเลือกตั้งครั้งหน้า แต่ก็ยังมีหลายคนกังวลว่าถ้าเรามุ่งไปทางปากท้องจะทำให้ประเด็นเรื่องปฏิรูปสถาบันฯ ประเด็น 112 ที่คนรุ่นใหม่จุดไฟจนติดขึ้นมาแล้วจะมอดดับไปหรือเปล่า

น่าขำมากเลยนะ ถ้าจะทำราวกับว่าเราทำหลายอย่างพร้อมกันไม่ได้ นึกภาพระหว่างที่เราตั้งไฟ ตั้งกระทะตอนที่น้ำมันยังไม่ร้อน เราก็อาจจะไปสับกระเทียม หั่นพริก ซอยหัวหอม คือทำพร้อมกันได้ และที่น่าขำที่สุดคือเรื่องปากท้องถือเป็นเรื่องหลักอยู่แล้ว เพราะนโยบายฝ่ายบริหารหรือรัฐบาลต้องเก็บภาษีมาบริหารจัดการประเทศ มีอีกตั้ง 20 กระทรวงที่ทำงานพร้อมกันไม่ว่าจะด้านอะไรก็ตาม และเรื่องปากท้องเป็นเรื่องสามัญธรรมดาที่สุดที่ฝ่ายที่จะเป็นรัฐบาลต้องทำอยู่แล้ว ไม่ว่าใครมาเป็นรัฐบาลก็ต้องทำ

แต่ชีวิตคนเราจะมีแค่ปัจจัยสี่หรือ เราจะไม่มีเรื่องของศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ จิตวิญญาณ ความเท่าเทียม ความเสมอภาค หรือลดความเหลื่อมล้ำเลยหรือ ทั้งการปฏิรูปศาล การปฏิรูปตำรวจก็ทำไปพร้อมกันได้ ถ้าคุณมีศักยภาพทำเรื่องปากท้องได้เรื่องเดียว เรื่องอื่นขอพักไว้ก่อน จะทำแบบนั้นได้อย่างไร ถ้าทำเรื่องอื่นพร้อมกันไม่ได้ก็ไม่ต้องเป็นรัฐบาลหรอก

สำหรับคนที่ไม่เห็นด้วยก็อาจตั้งคำถามว่าทำไมพรรคก้าวไกลต้องมาจดจ่ออยู่แค่กับการแก้มาตรา 112

ไม่จริง ก้าวไกลก็พูดเรื่องปากท้อง แต่อาจจะถูกได้ยินน้อยกว่า ทำให้ดูเหมือนว่าเราสนใจเรื่องใดเรื่องหนึ่งมากเป็นพิเศษ เพราะเรื่องนั้นไม่มีคนอื่นพูด มีเราพูดคนเดียว เลยกลายเป็นที่จดจำเพราะไม่มีใครพูดแข่ง แต่ความจริงเราก็อยากให้มีคนมาแข่งเหมือนกันนะ

เรื่องปากท้องเราก็พูดเยอะ อย่าง พ.ร.บ.สุราก้าวหน้า นี่เรื่องปากท้องโดยตรงเลย เป็นเรื่องอาชีพ คือการเอาผลิตภัณฑ์สินค้าทางการเกษตรมาแปรรูปใส่ขวดเพื่อเพิ่มมูลค่า ทลายทุนผูกขาด แทนที่จะบริโภคแต่เหล้าเบียร์ที่ผูกขาดไว้ก็มาบริโภคของพื้นบ้าน ยกระดับอาชีพและเพิ่มรายได้ นโยบายหวย SME ก็เป็นเรื่องเศรษฐกิจโดยตรง ถ้าเราจะไปซื้อสินค้าร้านโชห่วยก็จะสามารถเอาใบเสร็จไปตรวจหวยได้ เรื่องค่าไฟแพง ประเด็นการควบรวมของทรูกับดีแทคที่จะทำให้เราต้องเสียค่าโทรศัพท์รายเดือนเพิ่มขึ้นเพราะมีการควบรวมระหว่างทุนใหญ่ เราผลักดันเรื่องเศรษฐกิจมาตลอด เพียงแต่ประเด็นพวกนี้อาจได้รับการจดจำน้อยกว่า

ถือว่าเป็นปัญหาไหม ในพรรคได้หารือกันไหมว่าทำไมคนถึงไม่จำภาพเราในเรื่องของเศรษฐกิจ

มีคุยกันบ้าง เราก็ยอมรับความจริง ปัญหาไม่ใช่เพราะเราทำน้อย แต่ปัญหาคือเราไม่ถูกจำมากเท่าที่ควร ในกลุ่มที่ติดตามสภาจริงๆ อาจจะทราบว่าเราทำ แต่ในคนหมู่มากเราอาจจะส่งเสียงไปไม่ถึง ตรงนี้ก็เป็นโจทย์สำคัญ อาจจะแปลว่าเรายังทุ่มเทไม่มากพอ คงต้องทำงานหนักและทุ่มเทมากกว่านี้

มีคนวิพากษ์วิจารณ์ว่าการสื่อสารนโยบายของพรรคก้าวไกลซับซ้อน เข้าใจยาก ค่อนข้างมีความเป็นวิชาการ ส่วนตัวมองเรื่องนี้อย่างไร

ก็เห็นด้วยนะคะ (หัวเราะ) เห็นด้วยและยอมรับ เวลาทำงานเราก็ต้องวิจารณ์ตัวเองด้วย ที่ผ่านมาอาจจะตั้งใจเกินไป ตอนนี้กำลังปรับปรุงให้เข้าใจง่ายขึ้น

เลือกตั้งคราวที่แล้วพรรคอนาคตใหม่ถูกวิจารณ์ประเด็นผู้สมัครหลายเรื่อง เช่น เรื่องการคัดเลือกผู้สมัคร ส.ส. บางพื้นที่ไม่เหมาะสม เรื่อง ส.ส. งูเห่า ฯลฯ พอมาถึงการเลือกตั้งที่จะถึงนี้ พรรคก้าวไกลมีการสรุปบทเรียนอย่างไร

รอบที่แล้วยอมรับว่ามีความผิดพลาด เราใช้เวลาเร็วมากในการเลือกผู้สมัคร รอบนี้เราถอดบทเรียนคือจะต้องไม่โง่ซ้ำซาก ผิดพลาดแล้วต้องไม่ผิดพลาดซ้ำ ต้องกลั่นกรองอย่างดี นอกจากจะมีการสัมภาษณ์ ดูประวัติอย่างละเอียดแล้ว เราต้องทำงานร่วมกัน คัดผู้สมัครโดยทดลองทำงานด้วยกันก่อนเป็นปี และมีทีมงานจังหวัดกรองมาก่อนอีกชั้นหนึ่ง มีกระบวนการรอบคอบขึ้น

รอบนี้เรามั่นใจมากขึ้น เพราะครั้งนี้พรรคก้าวไกลมีเวลาคัดกรองมากกว่าตอนพรรคอนาคตใหม่มาก และเรามีบทเรียนแล้ว ที่สำคัญคือต้องขอโทษทุกคนด้วย ในฐานะที่ตัวเองก็เป็นคนหนึ่งที่เลือก ส.ส. รอบที่แล้วซึ่งไปเป็นงูเห่าเสียเยอะ แต่เอาจริงๆ ต้องยอมรับว่าเราก็ไม่สามารถรับรองได้ 100% ว่าจะไม่มีงูเห่า เพราะใจของมนุษย์ไม่แน่นอน แต่ก็จะพยายามให้เกิดน้อยที่สุดหรือไม่มีเลย

หากไม่นับคุณทิม พิธา ลิ้มเจริญรัตน์ คิดว่าใครมีคุณสมบัติที่ดีจะเป็นนายกฯ ได้บ้าง

ถ้ามองในพรรคก็มีอีกหลายคนที่มีคุณสมบัติเป็นนายกรัฐมนตรีได้ เช่น รองหัวหน้าพรรคทั้งสี่คน แต่ตอนนี้คิดว่าคุณทิมเป็นตัวเลือกที่ดีที่สุด โดดเด่นที่สุด ยิ่งรู้จักยิ่งรักคุณทิม ตอนปีแรกไม่ได้ทำงานด้วยกันมาก รู้แต่ว่าเขาเป็นคนเก่ง แต่พอทำงานร่วมกัน ใกล้ชิดกันมากขึ้น บางทีไปลงพื้นที่ด้วยกันที่ต่างจังหวัดก็ยิ่งเห็นว่าเขาเป็นคนเข้าใจผู้อื่น สื่อสารเก่ง ถ้าได้เป็นนายกฯ รับรองว่าจะเป็นหน้าเป็นตาให้ประเทศไทยได้ จะเป็นนายกรัฐมนตรีที่สง่างามของประเทศได้

แล้วข้อเสียล่ะ มีบ้างไหม

เอาจริงๆ ยังไม่เจอข้อเสียนะ นอกจากเวลาไปไหนจะพกกระเป๋าเดินทางใบใหญ่เกินไป เพราะเขาติดหมอนใหญ่ๆ ใบหนึ่ง บางทีไปต่างจังหวัดแค่ 2-3 วันแต่พกกระเป๋าเดินทางเหมือนจะไปยุโรป 15 วัน (หัวเราะ)

ขอลองถามใหม่ คุณคิดว่าคนที่มีคุณสมบัติแบบไหนถึงเหมาะจะเป็นนายกรัฐมนตรีของประเทศไทย

ถ้าเทียบกับนายกฯ คนปัจจุบันแล้วใครก็เป็นได้ แต่ถ้าเป็นเรื่องคุณสมบัติ ข้อแรกเลยคือต้องมีความศรัทธาอย่างลึกซึ้งต่อระบอบประชาธิปไตยสากล เชื่อในหลักการคนเท่ากัน หลักการประชาธิปไตย และพอเชื่อแล้วก็ต้องมีความรู้ความสามารถด้วย เพราะเชื่อเฉยๆ แต่ไม่มีความรู้ความสามารถก็บริหารงานไม่ได้ ต้องมีบุคลิกภาพที่ดี มีการสื่อสารการเมืองที่ดี แหลมคม มีความแข็งแรงทั้งร่างกายและจิตใจ และเป็นหน้าเป็นตาให้กับประเทศได้ ทำให้คนเชื่อถือได้

ก่อนหน้านี้คุณเคยร่วมลงถนนในช่วงการประท้วงของคนเสื้อแดง จนมาถึงวันนี้ที่เข้ามาทำงานในสภา ในฐานะคนที่ผ่านการต่อสู้มาทั้งสองแบบ มองว่าสองโจทย์ทางการเมืองนี้เหมือนหรือแตกต่างกันอย่างไรบ้าง

แตกต่างกันมาก อย่างข้อเรียกร้องบนถนนในกลุ่มต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นเรื่องแรงงาน เรื่อง 112 หรือเรื่องอะไรก็ตาม บนท้องถนนจะเป็นกลุ่มเฉพาะที่เรียกร้องประเด็นที่ตัวเองเกี่ยวข้องและสนใจ เพราะฉะนั้นคุณจะยื่นข้อเรียกร้องให้สุดโต่งหรือแหลมคมอย่างไรก็ได้ หรืออาจเป็นการเรียกร้องเพื่อการต่อรอง เช่น เรียกร้องไป 10 ข้อพอมาคุยกันอาจจะได้แค่ 5-6 ข้อ กลุ่มกิจกรรมทางการเมืองในปี 2563-2564 ก็เช่นกัน เรื่องการปฏิรูปสถาบัน ปฏิรูปศาล ปฏิรูปกองทัพ ก็สามารถเสนอข้อเรียกร้องที่แหลมคมได้อย่างอิสระเสรี ไม่มีกรอบ ตราบใดที่เป็นการชุมนุมโดยสันติ ไม่มีอาวุธ ไม่ผิดกฎหมาย ถือเป็นการใช้สิทธิเสรีภาพในระบอบประชาธิปไตย

แต่พอมาอยู่ในสภา ยอมรับว่าตัวเองเข้ามาแบบจับพลัดจับผลู เพราะไม่เคยนึกภาพตัวเองเป็นนักการเมืองมาก่อน แต่พอเข้ามาในสภาเราต้องแบกความเป็นพรรค เพราะฉะนั้นเราต้องมีกรอบ และต้องจัดที่จัดตัวเองให้อยู่ในที่ทางที่พอดี สุดโต่งไม่ได้ และต้องยอมรับมติของเพื่อนร่วมพรรค กว่าจะออกมาเป็นข้อเรียกร้อง ญัตติ หรือการเสนอ พ.ร.บ. ใดๆ ก็ตาม ทุกอย่างผลักดันในนามพรรค เมื่อเรามาอยู่ในพรรคแล้วก็ต้องอยู่ในกรอบที่เหมาะสม

ถ้าดูการอภิปรายสภา จะเห็นว่าคุณมักจะพูดตรงไปตรงมาในประเด็นที่แหลมคมและพุ่งตรงไปที่ใจกลางของปัญหาเลย นี่คือความตั้งใจตั้งแต่แรกไหมก่อนจะมาทำงานการเมือง

ใช่ เพราะเราสนใจประเด็นเหล่านี้ตั้งแต่ยังไม่ได้เป็นนักการเมือง เราสนใจประเด็นเชิงโครงสร้าง ประเด็นความไม่เป็นธรรมและความเหลื่อมล้ำในสังคม รวมถึงเรื่องการรัฐประหารที่เรารับไม่ได้มากๆ ไม่อยากเชื่อด้วยซ้ำว่าจะมีรัฐประหารเกิดขึ้นในปี 2557 เป็นจุดที่ทำให้ต้องกระโดดเข้ามาในสายการเมือง พอเข้ามาแล้วก็อาจจะเป็นเพราะคาแรกเตอร์ส่วนตัว เราเป็นคนแบบนี้อยู่แล้ว คือไม่ชอบคนที่อ้อมไปอ้อมมา เราว่ามันน่ารำคาญ การประชุมในสภาที่มีแต่น้ำ ไม่พูดมาตรงๆ ไม่ก็อวยตัวเองบ้าง อวยเพื่อนร่วมพรรคบ้าง อวยประธานบ้าง เสียเวลา พูดเข้าเป้าเข้าประเด็นเลยดีกว่าว่าจะพูดเรื่องอะไร

คุณเคยบอกว่าไม่อยากให้คนจำภาพตัวเองว่าเป็น ส.ส. ที่เข้ามาเพื่อด่าประยุทธ์ในสภาแบบตรงไปตรงมาอย่างเดียว ถ้าอย่างนั้นคุณอยากให้คนสนใจด้านไหนของคุณมากกว่า

อยากให้สนใจเนื้อหาที่เราพยายามเตรียมมา เวลาที่เราประชุมสภา ถ้าเป็นญัตติสำคัญบางทีประชุมตั้งแต่เช้าถึงเที่ยงคืน อย่างการอภิปรายไม่ไว้วางใจที่ประชุมกันสามวันสามคืน เลิกตีหนึ่งตีสอง แล้วต้องพูดทั้งวัน ซึ่งถ้าอยากให้ประเด็นที่เราพูดมีคนสนใจก็ต้องมีมีม มีโควท มีกิมมิกมาประกอบการเพื่อให้การอภิปรายมีลูกเล่น น่าสนใจ น่าติดตาม หนึ่งวันมี ส.ส. พูดกันเป็นร้อยคน บางคนต่อให้เนื้อหาดีอย่างไร แต่ถ้าพูดเหมือนปาฐกถาในมหาวิทยาลัย สักพักก็ถูกลืม พูดแล้วเนื้อหาจมหมด อีกคนมาพูดก็กลบเข้าไปอีก และประเด็นนั้นก็จะไม่ได้ถูกขุดขึ้นมาอีกเลย จึงจำเป็นต้องทำให้การอภิปรายมีความน่าสนใจ

พอทำแบบนี้ ปรากฏว่ามีทั้งข้อดีและข้อเสีย คือคนจะไปจำแต่กิมมิกระหว่างการอภิปรายเหล่านั้น บางทีเราก็เสียใจเวลาไปหาเสียงลงพื้นที่แล้วประชาชนจำได้แค่ว่าเราเป็น ‘ส.ส.เจี๊ยบที่ด่าประยุทธ์เก่งๆ’ เราฟังแล้วเสียใจนะ เพราะเรารู้สึกว่าเขาไม่มีคุณค่าพอที่เราจะไปเชื่อมโยงตัวเองด้วย เราไม่ได้อยากเป็นคู่ชกหรือคู่เปรียบกับเขา ไม่อยากไปเกี่ยวข้องใดๆ ทั้งสิ้น แต่แค่ด้วยหน้าที่จึงจำเป็นต้องพูดถึง และทำไมคนถึงจำแต่ว่าเราพูดถึงเขาแบบไหน กลับกันแล้วคนจำได้หรือเปล่าว่าเขาก็ด่าคนอื่น ชี้หน้าคนนั้นคนนี้ ใช้วาจาที่ไม่สุภาพ หยาบคายกับนักข่าว เขาเป็นคนที่ทำก่อน แต่ไม่มีใครตอบโต้ แล้วพอมีคนลุกขึ้นมาตอบโต้ คนก็จำได้แค่ว่าเราไปตอบโต้เขา ไปด่าเขา จริงๆ แล้วเขานั่นแหละที่ทำก่อนทุกครั้ง

ชีวิตในการทำงานการเมืองตลอดสี่ปี มองว่าอะไรคืออุปสรรคสำคัญที่ทำให้เราไปไม่ถึงข้อเรียกร้องที่ต้องการเสียที

ย้อนไปตอนที่มีโอกาสเป็นสมาชิกผู้แทนราษฎรปีแรก ตอนนั้นเสียงระหว่างฝ่ายค้านกับรัฐบาลปริ่มน้ำ ต่างกันนิดเดียว เพราะมีการซื้อตัว ส.ส. ตลอดเวลา เราก็คิดว่าการเป็น ส.ส. คงเป็นได้ไม่กี่เดือนหรอก เพราะไม่มีใครคาดว่าสภาจะอยู่ได้นาน คิดว่าอาจจะอยู่ได้ 6 เดือน – 1 ปี พอคิดว่าสภาจะอยู่ได้ไม่นานก็เลยทุ่มหมดตัว เหมือนดูดวิญญาณเลย เพราะเวลามีค่า และเราไม่ได้เรียนกฎหมายมา จึงพยายามเรียนรู้ บางเรื่องยากสำหรับเรา แต่สรุปสภาอยู่มาสี่ปี ความรู้สึกเหมือนเราวิ่งด้วยความเร็วร้อยเมตรในระยะมาราธอน

ยอมรับว่าในสภามีเพดานเยอะ และเนื่องจากเราอายุเยอะแล้ว เลยไม่ได้ฝันสวยงามว่าฉันจะเข้ามาเปลี่ยนสภา จึงไม่ได้รู้สึกผิดหวังเหมือนตกจากที่สูง แต่ที่ผิดหวังมากที่สุดคือผิดหวังเรื่องคน เช่น ความสัมพันธ์กับ ส.ส.งูเห่า ที่เคยอยู่พรรคเดียวกัน บางคนก็ยังคุยกันอยู่ บางทีเขาก็บอกว่าเห็นด้วยกับญัตติต่างๆ ทั้งสุราก้าวหน้าและสมรสเท่าเทียมของเรา แต่โหวตให้ไม่ได้ บางคนเราไปอธิบายข้อดีของ พ.ร.บ. ต่างๆ ให้ฟัง ต่อหน้าเขาบอกว่าเห็นด้วย แต่ตอนลงคะแนนเสียงเขาไม่โหวตให้ สุดท้ายญัตติต่างๆ ก็แพ้คะแนนเสียงไปอย่างน่าเสียดาย เราเสียใจมากนะ อยากจะร้องไห้ เพราะมันเกี่ยวข้องกับชีวิตคนทั้งประเทศ อย่าง พ.ร.บ.สุราก้าวหน้าฯ สามารถสร้างงาน สร้างอาชีพ กระจายรายได้ ทลายทุนผูกขาดได้จริงๆ ก้าวไกลเป็นฝ่ายค้านที่ผลักดันกฎหมายได้จนเกือบจะถึงเส้นชัย แล้วถ้าเราเป็นรัฐบาลเราจะทำได้มากขนาดไหน

ที่พูดมาคือความรู้สึกผิดหวังในมนุษย์ แต่ในเรื่องหลักการ ความเป็นไปของสภา เรารู้อยู่แล้วว่าการแก้ไขระบบพวกนี้ต้องใช้เวลา รู้อยู่แล้วว่าไม่สามารถเปลี่ยนแปลงภายในชั่วข้ามคืนได้

ที่ผิดหวังที่สุดคือการทำหน้าที่ของประธานสภา ผู้ควบคุมการประชุม ที่ญัตติดีๆ หรือแม้แต่ญัตติด่วนเรื่องขบวนเสด็จของพรรคก้าวไกล ซึ่งเสนอขึ้นมาเพื่อจะคลี่คลายสถานการณ์ เราบรรจุเป็นญัตติด่วนเรื่องที่ 1 แล้วก็มีรายการอื่นยาวเป็นหางว่าวเลย แต่จนตอนนี้ถูกดองมาเกือบจะ 2 ปีแล้ว ญัตติด่วนเรื่องแรกไม่ถูกหยิบมาอภิปราย แต่ไปดึงรายงานธรรมดาอื่นๆ ขึ้นมาพูดแทนจนถึงทุกวันนี้ เรื่องนี้สำหรับเราน่าผิดหวังที่สุด

กลายเป็นว่าพอเข้าไปอยู่ในสภา จากที่คิดว่าเราน่าจะมีอำนาจในการแก้ไขเรื่องต่างๆ ได้มากกว่านี้ กลายเป็นว่าไม่สามารถเปลี่ยนแปลงอะไรได้มากขนาดนั้น

จริงๆ การเป็น ส.ส. คนหนึ่งไม่ได้ถูกคาดหวังว่าจะไปเปลี่ยนอะไรได้อยู่แล้ว แต่เรื่องหนึ่งที่ไม่เคยผิดหวังเลย คือดีใจที่มีพรรคการเมืองฝ่ายค้านแบบพรรคอนาคตใหม่มาจนถึงพรรคก้าวไกล ที่เห็นได้ชัดคือมีการเปลี่ยนแปลงอย่างเป็นรูปธรรมในสภามากขึ้น ตรงนี้ถือว่าประสบความสำเร็จ

อย่างที่ทุกคนรู้ว่าสมัยหน้า คุณจะไม่ลงเล่นการเมืองแล้ว อนาคตหลังจากนี้จะทำอะไรต่อไป

ออกไปเลี้ยงไก่ (หัวเราะ) ก็จะยังทำงานให้พรรคก้าวไกลตลอดไป แต่คนละบทบาท ตอนนี้เรามีบทบาทเป็นกรรมการบริหารพรรค การเป็นกรรมการบริหารพรรคก็มีส่วนกำหนดทิศทางหรือแนวทางของนโยบายให้พรรคได้

ไปอยู่เป็นเบื้องหลังแทน?

ใช่ คงไม่จำเป็นว่าเราจะต้องอยู่หน้าสุด เป็นโบกี้แรกสุดตลอด เราพูดตลอดว่าพรรคการเมืองอย่างพรรคก้าวไกลเหมือนรถไฟขบวนยาวที่มีหลายโบกี้ เราจะสลับกันนั่งโบกี้ไหนก็ได้ มีพื้นที่ให้คนที่มีความรู้ความสามารถ วัยที่มีพลังมีพื้นที่มาปล่อยของในสภา และมั่นใจว่าทางพรรคมีคนที่มีศักยภาพเยอะมาก ไม่ได้ห่วงตรงนี้ เราอาจจะใช้เวลาที่มีมากขึ้นไปช่วยตรงอื่น

เท่าที่คุยกันมา คุณมีแพสชันกับเรื่องการเมืองมาก ส่วนตัวเริ่มสนใจการเมืองมาตั้งแต่เมื่อไหร่

สนใจการเมืองตั้งแต่เด็ก ติดตามมาตลอด เพราะเป็นคนรุ่นหลังคนเดือนตุลาประมาณ 6 ปี ตอนเกิดเหตุการณ์ 6 ตุลาเราอยู่ประถมปลาย นครปฐมบ้านเกิดก็เป็นจุดเริ่มต้นของเหตุการณ์ 6 ตุลาที่มีการแขวนคอช่างไฟฟ้าตรงประตูแดงที่ไปแจกใบปลิวเรื่องการกลับมาของจอมพลถนอม กิตติขจรและจอมพลประภาส จารุเสถียร คุณพ่อก็พาไปดู แล้วก็มีพวกพี่ๆ นักศึกษาถูกจับจากลานโพธิ์ธรรมศาสตร์ไปไว้ที่ตำรวจภูธรภาค 7 ซึ่งใกล้บ้านเรา มีนักศึกษาถูกจับถอดเสื้อ นั่งตากแดดกันอยู่ที่สนาม เราก็ตั้งคำถามว่านี่คืออะไร ติดตามข่าวสารการเมืองตลอดตั้งแต่เด็ก อ่านหนังสือกับหนังสือพิมพ์ตลอด แต่ทำในฐานะผู้ติดตาม ตอนนั้นไม่เคยมีแพสชันจะเป็นนักการเมืองมาก่อน

ตอนนั้นอ่านหนังสือของใคร มีนักเขียนหรือคนนำทิศทางทางการเมืองไหม

เราอ่านหลากหลายนะ ชอบอ่านอัตชีวประวัติ แนวทางทางการเมือง แต่ก็รู้เหมือนเป็ด คือรู้หลากหลายแต่อาจจะไม่ได้รู้ลึกมาก

ณ ตอนนั้นคิดว่าตัวเองมองทะลุในเรื่องของการเมืองหรือยัง

พอสมควรนะ ถ้าเทียบกับในตอนนั้นรู้สึกว่าตัวเองตาสว่างเร็ว เราเป็นคนชอบตั้งคำถาม ขี้สงสัย และรู้สึกว่าอะไรที่เกินจริง เหนือจริง เราจะไม่เชื่อ ไม่ใช่คนเชื่อง่าย และไม่ซาบซึ้งในอะไรง่ายๆ

ถ้าลองให้คะแนนตัวเองในทำงานด้านการเมือง เต็ม 10 จะให้คะแนนตัวเองเท่าไหร่

ถ้าในส่วนที่เป็นตัวแทนของคนกลุ่มเรา หมายถึงเราที่เป็นตัวแทนคนที่เรียกร้องบนถนน เรามีเพื่อนเป็นผู้ลี้ภัยไปประเทศเพื่อนบ้าน เสียชีวิตไป 9 คน คือลี้ภัยแล้วยังถูกตามไปฆ่า เพื่อนเราตายในเหตุการณ์ปี 2553 ในฐานะที่ได้พูดแทน ได้ส่งเสียงแทนเสียงที่ไม่มีใครได้ยินเหล่านั้น ตรงนี้เราขอให้คะแนนตัวเองเยอะ เพราะรู้สึกว่าได้พูดแทนเขาเยอะ แต่ในประเด็นอื่นๆ อาจยังทำได้ไม่ดีเท่าที่ควร

ส่วนที่พอใจที่สุดคืองานที่ฝากไว้ที่กรรมาธิการพัฒนาการเมือง การสื่อสารมวลชนและการมีส่วนร่วมของประชาชน เป็นคนที่เสนอให้มีอนุกรรมาธิการศึกษาผลกระทบของกฎหมายมาตรา 112 ที่มีต่อสื่อมวลชนและต่อประชาชน ซึ่งถือเป็นเรื่องที่ไม่เคยมีมาก่อน และตอนนี้ก็ทำเสร็จแล้ว มีการผลักดันให้เชิญทั้งศาล อัยการ นักวิชาการ ผู้มีความรู้ความสามารถมานั่งระดมสมองกัน อย่างตะวัน-แบม หรือคนรุ่นใหม่หลายๆ คนเราก็ได้สร้างพื้นที่ให้พวกเขาได้ไปพูดในกรรมาธิการหลายครั้งแล้ว เรื่องการสลายการชุมนุมที่ผิดหลักการสากลเราก็มีพื้นที่ให้ตำรวจและผู้เสียหายเข้าไปนั่งคุยกันในกรรมาธิการ ถ้าเป็นบทบาทพวกนี้ถือว่าเราได้พูดแทนแล้ว

และล่าสุดที่ได้ปลดปล่อยที่สุดคือญัตติเข้าสภาและมีโอกาสพูดถึงปัญหาของเรื่องนี้ เราได้เปล่งเสียงตรงนี้ออกมา ที่ดีใจคือเรื่องนี้ถูกพูดถึงในเวทีสภาแล้ว

จริงๆ แล้วแพสชันทางการเมืองของคุณคืออะไร อะไรคือสิ่งที่ทำให้ตัดสินใจมาลงเล่นการเมือง

เพราะพรรคการเมืองหรือนักการเมืองที่เราเคยหวังพึ่งเขาไม่ได้ทำ และบังเอิญว่ามีพรรคการเมืองใหม่เกิดขึ้นมาคือพรรคอนาคตใหม่ เราก็ถามตัวเองว่าถ้าหวังพึ่งคนอื่นไม่ได้ก็ลองทำดูไหม ลองเข้าไปดูว่ายากแค่ไหนกัน แต่เราไม่ได้มีแพสชันเรื่อง career path หรือความก้าวหน้าทางการเมืองว่าอยากจะเป็นรัฐมนตรี ไม่มีเรื่องเหล่านี้เลย

ใช้คำว่าเข้ามาเพราะอยากเปลี่ยนสังคมได้ไหม

บางทีก็ไม่กล้าพูดนะ มันดูยิ่งใหญ่ แต่เราเป็นคนที่รักความเป็นธรรม ไม่ชอบเห็นคนถูกรังแก อยากปกป้องเขา อยากให้คนที่เป็นรัฐบาลปกป้องคุ้มครองคนที่ใช้สิทธิเสรีภาพ เป็นคนที่ทนกับประชาธิปไตยไม่ตรงปกไม่ได้ มันคือการหลอกลวง

เคยพูดไปแล้วว่าถ้าบอกว่าประเทศไทยไม่ได้มีการปกครองแบบประชาธิปไตย เราจะมีความสุขกว่านี้มากเลย คือจะยอมรับมันแล้วจะอยู่บ้านแบบสบายใจ ใช้เงินเที่ยว ไปหาลูกที่ต่างประเทศ ทำงานอดิเรกของเรา แต่นี่คือเราไม่ชอบถูกหลอกว่าเราเป็นประชาธิปไตยที่มีเงื่อนไขต่างๆ เราไม่ชอบอะไรปลอมๆ อยากให้เป็นประชาธิปไตยสากล และเป็นคนที่อึดอัดกับเรื่องการไม่มีสิทธิเสรีภาพ เรื่องเหล่านี้เรื่องพื้นฐานมาก แต่ต้องเดิมพันด้วยชีวิตเลยนะ กับแค่จะขอเสรีภาพขั้นพื้นฐาน

อย่างที่ตะวัน-แบมทำอยู่คือเรื่องพื้นฐานมากเลยกับหลักการประกันตัวมาสู้คดี ไม่ใช่ว่าตอนนี้คดีสิ้นสุดแล้วด้วยนะ คดียังอยู่ระหว่างการพิจารณา ถึงได้ตั้งคำถามว่ามีการแทรกแซงศาลและกระบวนการยุติธรรมไหม อย่างเหตุการณ์ที่ผู้พิพากษาคณากร เพียรชนะ จบชีวิตตัวเองไปเมื่อปี 2563 จึงเกิดคำถามเรื่องความเป็นอิสระของศาล การถูกแทรกแซงด้วยระเบียบราชการของกระทรวงยุติธรรมที่ให้ผู้บริหารศาล เช่น อธิบดีศาลอาญาเข้ามาตรวจสอบสำนวน หรือคดีความทางการเมืองจะต้องถูกส่งไปตรวจสอบ และจริงๆ แล้วมีระเบียบที่อนุญาตให้ผู้บริหารศาลสามารถย้ายชั่วคราวผู้พิพากษาได้ เป็นระเบียบของการบริหารราชการกระทรวงยุติธรรมในปี 2562 เพราะฉะนั้นผู้พิพากษาอาจจะถูกกดดันว่าจะถูกย้ายชั่วคราวก็ได้ถ้าตัวเองไม่เขียนสำนวนให้ตรงใจผู้บริหาร เรื่องพวกนี้ก็เป็นเรื่องที่ต้องจัดการแก้ไข

เราเป็นคนที่รักความเป็นธรรม ไม่ชอบเห็นคนถูกรังแก อยากปกป้องเขา อยากให้คนที่เป็นรัฐบาลปกป้องคุ้มครองคนที่ใช้สิทธิเสรีภาพ เป็นคนที่ทนกับประชาธิปไตยไม่ตรงปกไม่ได้ มันคือการหลอกลวง

ถ้าตอนนี้สิ่งที่เป็นอยู่คือประชาธิปไตยไม่ตรงปก แล้วขั้นต่ำที่สุดที่เราจะบอกได้ว่าเป็นประชาธิปไตยคืออะไร

ขั้นต่ำที่สุดคือมีหลักการคานอำนาจระหว่างสามอำนาจอธิปไตยที่เป็นของประชาชน เราเปลี่ยนจากสมบูรณาญาสิทธิราชย์ที่กษัตริย์ครองอำนาจสูงสุดมาเป็นอำนาจสูงสุดเป็นของปวงชนชาวไทย และมีการคานกันระหว่างสามอำนาจคือ นิติบัญญัติ บริหาร และตุลาการ มีการตรวจสอบซึ่งกันและกัน นี่คือหัวใจสำคัญ และที่สำคัญคืออย่าแทรกแซงกระบวนการยุติธรรม

การตรวจสอบกัน เช่น ฝ่ายนิติบัญญัติต้องตรวจสอบงบประมาณของศาลและกระทรวงต่างๆ ได้ ถ้าศาลทำผิดก็ต้องมีการจัดการ ต้องแก้รัฐธรรมนูญให้มีการตรวจสอบศาลได้ ให้คานอำนาจกันได้อย่างสมบูรณ์ สภาจะต้องตรวจสอบศาลได้จึงจะถือว่าเป็นขั้นต่ำของระบอบประชาธิปไตย และจะต้องไม่มีการแทรกแซงการเมืองจากมือที่มองไม่เห็น ที่สำคัญคือประชาธิปไตยคือการที่ฝ่ายบริหารต้องตอบคำถาม การมีม็อบออกมาเรียกร้อง คุณประยุทธ์ จันทร์โอชา ในฐานะที่เป็นฝ่ายบริหารต้องรับฟัง อย่างม็อบพี่น้องชาวจะนะไปถึงประตูหน้าทำเนียบรัฐบาลแล้วกลับให้ คฝ. ไปสลายการชุมนุม คือไม่ยอมออกมาพบ ไม่ยอมออกมาพูดคุย

และที่สำคัญที่สุดเลยคือต้องเอาทหารและกองทัพออกจากการเมืองให้ได้ ถึงจะเรียกได้ว่าเป็นประชาธิปไตย ทุกวันนี้การเมืองถูกแทรกแซงโดยกองทัพ ด้วยรัฐซ้อนรัฐผ่านเครื่องมือของทหาร จะต้องลดขนาดกองทัพให้เล็กลงและมีประสิทธิภาพมากขึ้น กองทัพจะต้องเลิกยุ่งกับการเมืองเสียที ต้องไม่มีพรรคทหารจำแลง

ประชาธิปไตยของเรามีปัญหาเพราะทหารขยายบทบาทอำนาจของตัวเองออกไปอย่างกว้างขวาง ไม่ยอมลดบทบาทตัวเองให้เหมาะสมกับความเป็นไปของโลก และเข้ามาขัดจังหวะพัฒนาการของประชาธิปไตยด้วยการรัฐประหาร 13 ครั้ง สิ่งที่เลวร้ายที่สุดคือทหารเข้ามาแทรกแซงการเมืองและขัดขวางไม่ให้ประชาธิปไตยของเราได้เติบโต และสร้างเงื่อนไขขึ้นมาเองเพื่อที่จะยึดอำนาจ

โจทย์การเปลี่ยนแปลงนี้ยากแค่ไหน

ยอมรับว่าด้วยเรื่ององคาพยพทั้งหมดนี้ยาก และเรื่องนี้ก็เกี่ยวพันกับ 112 แต่เราคิดว่าเขาก็สู้กับความเปลี่ยนแปลงของโลกไม่ได้หรอก คนที่จะถอยโลกกลับสู้แรงต้านทานของโลกที่กำลังหมุนไม่ได้หรอก ส่วนจะเปลี่ยนเร็วหรือช้าขึ้นอยู่กับการตื่นรู้ของประชาชนด้วย

ถ้าขยับโจทย์ใหญ่ให้ใกล้ขึ้น คุณมองบทบาท ส.ว. ในการเลือกตั้งครั้งต่อไปอย่างไร มีโอกาสแค่ไหนที่จะเคารพเสียงประชาชนในการเลือกตั้งนายกรัฐมนตรี

จริงๆ เขาต้องเคารพหลักการประชาธิปไตย ต้องเคารพ ส.ส. ที่มาจากการเลือกตั้ง สมมติว่ามี ส.ส. ที่มาจากการเลือกตั้งเกินครึ่งสภา เกิน 250 คน โหวตเลือกใครเป็นนายกฯ คุณก็ต้องเอาตามนั้น แต่ในความเป็นจริง วัวของใครก็เข้าคอกของคนนั้น

สิ่งที่เราพูดคือสิ่งที่เราอยากให้เขาเปลี่ยน คุณจะต้องรู้ร้อนรู้หนาวต่อสถานการณ์ ซึ่งบทบาทนอกสภาก็สำคัญนะ เห็นได้ชัดเลยว่าการเมืองนอกสภามีผลผลักดันพรรคการเมือง แต่อาจจะมีผลผลักดัน ส.ว. น้อย เอาจริงๆ พูดถึง ส.ว. แล้วจิตใจห่อเหี่ยว ถึงจะมี ส.ว. ที่มีจิตสำนึกแต่ก็น้อยมาก

คิดว่าพลังจากมวลชนพอจะเปลี่ยนแปลงได้ไหม เสียงจากถนนจะส่งไปถึงคนสภาได้บ้างหรือเปล่า

มีผลเยอะ เพราะพอเราเป็น ส.ส. เรารู้เลยว่าบทบาทนอกสภาสำคัญ เห็นได้ชัดจากเรื่อง 112 ที่ผลักดันได้ และมีหลายเรื่องที่ถ้าประชาชนนอกสภาไม่เอาด้วย รัฐบาลก็ถอย

เรื่อง 112 พูดในสภาได้ลำบากมาก คิดว่าจะมีวันแก้กฎหมายนี้ในสภาได้ไหม อะไรจะเป็นปัจจัยทำให้สำเร็จได้

ที่บอกว่าพูดในสภาได้ลำบากมาก ถึงวันนี้ นาทีนี้ มันลำบากน้อยลงนะ สถานการณ์ดีขึ้นเยอะกว่าเมื่อหลายปีก่อน และเราคิดว่าแก้ได้สำเร็จแน่ๆ แต่จะเร็วจะช้าก็ขึ้นอยู่กับการขับเคลื่อนของคนนอกสภาด้วย ไม่แน่ว่าถ้าบทจะเร็วก็เร็วเลย อะไรที่เราคิดว่าเป็นไปไม่ได้ก็เป็นไปได้มาหลายเรื่องแล้ว เมื่อก่อนเวลาเราจะคุยเรื่องประเด็น 112 ถึงกับต้องปิดหน้าต่างปิดประตูให้หมดถึงจะมาพูดได้ แต่ตอนนี้ใครจะคิดว่าจะนำเรื่องนี้มาพูดในสภาได้ ถึงจะพูดได้แค่ในระดับหนึ่ง แต่ก็ถือว่าได้รับการพูดถึงแล้ว คิดว่ากฎหมายที่ผิดหลักการต้องแก้ได้สำเร็จ ตอนนี้ภาคประชาสังคม องค์กรต่างๆ นิสิตนักศึกษาก็ออกมาขานรับกันอย่างกว้างขวางแล้ว

ณ ตอนนี้ วันนี้ คิดว่าอุดมการณ์ตัวเองจะมีวันเปลี่ยนไหม จนวันนี้คิดว่าอุดมการณ์ในตอนนี้คือสิ่งที่เราจะยึดถือยึดมั่นไปตลอดไหม และอุดมการณ์นั้นคืออะไร

ต้องคิดแบบนี้ไปจนวันสุดท้ายแหละ คือเชื่อเรื่องคนเท่ากัน สั้นๆ ง่ายๆ คนเกิดมาสูงต่ำดำขาวไม่เท่ากัน รวยจนไม่เท่ากัน แต่ควรจะมีโอกาสทางสังคมที่เท่ากัน ต้นทุนอาจจะไม่เท่ากัน แต่ต้องเข้าถึงการศึกษาที่ดีได้เท่ากัน ควรต้องมีโรงเรียนดีๆ ในทุกจังหวัด ไม่ใช่ว่าทุกคนจะต้องมาแข่งกันเข้าโรงเรียนเตรียมอุดม หรือเข้าเฉพาะจุฬาฯ ธรรมศาสตร์ โอกาสทางการเมืองต้องเท่ากัน สิทธิทางการเมือง โอกาสเข้าถึงการศึกษา โอกาสเข้าถึงสาธารณูปโภคและขนส่งสาธารณะที่เท่ากัน เพราะสังคมเราเหลื่อมล้ำมาก เราต่อสู้เพื่อสิ่งนั้น และเป็นแนวคิดพื้นฐานของการปกครองแบบประชาธิปไตย

เราคิดว่านี่เป็นเรื่องสากลที่สุด ไม่มีโอกาสจะเปลี่ยนใจ

จากปัญหาและอุปสรรคต่างๆ มากมาย ยังมีความหวังกับการเปลี่ยนแปลงทางการเมืองไทยอยู่ขนาดไหน ภาพฝันของเราหลายคนจะเป็นจริงได้ไหม ประชาธิปไตยที่แท้จริงจะมีให้เราเห็นเมื่อไหร่

ยอมรับว่าตลอดเวลายาวนานเกือบ 20 ปีที่ผ่านมาในเส้นทางนี้ มีล้มลุกคลุกคลาน มีทั้งเรื่องเสียใจผิดหวังและท้อแท้ แต่ทุกครั้งก็ไม่เคยหมดหวังอย่างถาวร เรามีความหวังอยู่เสมอ เหมือนประโยคที่ว่า ‘จุดเทียนในสายลม’ จุดเทียนแล้วมีลมพัดมาก็ดับ จุดแล้วดับไม่รู้กี่ครั้งต่อกี่ครั้ง แต่วันหนึ่งจะเจอสภาพแวดล้อมที่เหมาะสมแล้วไฟก็จะติดขึ้นมา แต่ละคนก็ต้องเยียวยาตัวเองกับความเคว้งคว้าง ความรู้สึกพ่ายแพ้ครั้งแล้วครั้งเล่า แต่อย่างที่บอกไปคือเวลาจะอยู่ข้างคนที่ทำอะไรไปตามธรรมชาติ

สุดท้ายแล้วเราเชื่อว่าจะเปลี่ยนได้ เราต้องหล่อเลี้ยงความหวังไว้เสมอและไม่หยุดส่งไม้ต่อไปเรื่อยๆ อย่าให้ขาดช่วง เพราะถ้าขาดช่วง คนรุ่นใหม่ก็จะต้องนับหนึ่งใหม่ เราต้องเคลื่อนไหวไปเรื่อยๆ และให้เตือนใจตัวเองว่าอย่างน้อยถึงจะไม่เห็นดอกผลเป็นรูปธรรมจนถึงที่สุด ถึงจะยังไม่ได้ประชาธิปไตยที่ต้องการในสมัยของเรา อย่างน้อยที่สุดเราก็ไม่ได้จากไปอย่างโง่ๆ อย่างน้อยคนรุ่นเราที่ออกมาต่อสู้ไม่ว่าจะในบทบาทไหนก็ถือว่าได้ช่วยต่อสู้แล้วในทางของตัวเอง อย่างน้อยที่สุดคนที่ออกมาเคลื่อนไหวถ้าไม่ทันเห็นความเปลี่ยนแปลงในช่วงชีวิตนี้ เราก็ตาสว่างก่อนตาย ไม่ได้ตายไปทั้งที่ตายังมืดบอดอยู่ และชีวิตที่มีค่าคือชีวิตที่ทำประโยชน์กับคนอื่น ชีวิตที่มองอะไรเกินชายคาบ้านตัวเอง จงอย่าหมดหวัง

เรามีความหวังอยู่เสมอ เหมือนประโยคที่ว่า ‘จุดเทียนในสายลม’ จุดเทียนแล้วมีลมพัดมาก็ดับ จุดแล้วดับไม่รู้กี่ครั้งต่อกี่ครั้ง แต่วันหนึ่งจะเจอสภาพแวดล้อมที่เหมาะสมแล้วไฟก็จะติดขึ้นมา

ถ้าบอกอะไรกับคนรุ่นใหม่ที่กำลังต่อสู้อยู่ได้ จะบอกอะไรพวกเขา

อยากขอโทษที่ทำให้เด็กๆ ต้องมารับภาระพวกนี้ เพราะคนรุ่นเก่าทิ้งปัญหาจนหมักหมมพอกพูน ด้วยความกลัวและความไม่กล้า และขอคารวะทุกคน เราคิดไม่ถึงว่าจะมีคนรุ่นนี้ที่ตื่นรู้และมีความกล้าหาญกว่าคนรุ่นผ่านๆ มา วัยของคนที่จะเปลี่ยนแปลงโลกและเปลี่ยนแปลงสังคมก็คือวัยนี้แหละ เพราะพวกเขายังไม่มีครอบครัว ยังไม่มีหน้าที่การงาน เป็นวัยแห่งความเปลี่ยนแปลงจริงๆ มีความห้าวหาญในจิตใจ อยากให้กำลังใจเขา และอยากให้ผู้ใหญ่ในบ้านเมืองลดความเห็นแก่ตัว อย่ากอดอำนาจไว้ มาฟังพวกเขาและเรียนรู้จากบทเรียน

มีเรื่องหนึ่งที่อยากฝากไว้ คือปรากฏการณ์สมองไหลที่ไต้หวันเมื่อ 30-40 ปีที่แล้ว ตอนนั้นไต้หวันมีสถานการณ์แบบเราเลย คือมีการปราบปรามเยาวชนและนิสิตนักศึกษาที่ออกมาเรียกร้องความเปลี่ยนแปลงในประเทศ ทำให้ คนที่ไปเรียนต่างประเทศไม่กลับมาทำงานที่บ้านเกิด ปัญญาชนไม่อยู่ในไต้หวัน กลายเป็นภาวะสมองไหล สุดท้ายไต้หวันจึงต้องออกกฎหมายนิรโทษกรรมให้กับเยาวชนเพื่อดึงคนเก่งๆ กลับมา

เพราะฉะนั้นถ้าจะบอกว่าปัญหา 112 เป็นปัญหาทางการเมืองที่ไม่เกี่ยวกับปากท้อง ไม่ใช่เลย เพราะมันเกี่ยวกับการปลดปล่อยศักยภาพของประเทศ เป็นกฎหมายที่คอยปิดความคิดสร้างสรรค์ และเกี่ยวข้องกับศักยภาพในการพัฒนาเศรษฐกิจด้วย เหมือนเหรียญสองด้าน ทั้งเรื่องโครงสร้างและปากท้องต้องไปด้วยกัน หยุดพูดเสียทีว่าเราสนใจแค่เรื่องเดียวได้ เพราะจริงๆ ต้องเอื้อซึ่งกันและกัน

MOST READ

Spotlights

14 Aug 2018

เปิดตา ‘ตีหม้อ’ – สำรวจตลาดโสเภณีคลองหลอด

ปาณิส โพธิ์ศรีวังชัย พาไปสำรวจ ‘คลองหลอด’ แหล่งค้าประเวณีใจกลางย่านเมืองเก่า เปิดปูมหลังชีวิตหญิงค้าบริการ พร้อมตีแผ่แง่มุมเทาๆ ของอาชีพนี้ที่ถูกซุกไว้ใต้พรมมาเนิ่นนาน

ปาณิส โพธิ์ศรีวังชัย

14 Aug 2018

Thai Politics

3 May 2023

แดง เหลือง ส้ม ฟ้า ชมพู: ว่าด้วยสีในงานออกแบบของพรรคการเมืองไทย  

คอลัมน์ ‘สารกันเบื่อ’ เดือนนี้ เอกศาสตร์ สรรพช่าง เขียนถึง การหยิบ ‘สี’ เข้ามาใช้สื่อสาร (หรืออาจจะไม่สื่อสาร?) ของพรรคการเมืองต่างๆ ในสนามการเมือง

เอกศาสตร์ สรรพช่าง

3 May 2023

Politics

23 Feb 2023

จากสู้บนถนน สู่คนในสภา: 4 ปีชีวิตนักการเมืองของอมรัตน์ โชคปมิตต์กุล

101 ชวนอมรัตน์สนทนาว่าด้วยข้อเรียกร้องจากนอกสภาฯ ถึงการถกเถียงในสภาฯ โจทย์การเมืองของก้าวไกลในการเลือกตั้ง บทเรียนในการทำงานการเมืองกว่า 4 ปี คอขวดของการพัฒนาสังคมไทย และบทบาทในอนาคตของเธอในการเมืองไทย

ภัคจิรา มาตาพิทักษ์

23 Feb 2023

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • Always Active

Save