fbpx

กิจการต่างประเทศของไทยกับเวลาที่หายไปหลังรัฐประหาร 2014

ภาพปกจาก AFP PHOTO / POOL / NOEL CELIS

มีเรื่อง 3 เรื่องอันเกี่ยวเนื่องกับการต่างประเทศที่เกิดขึ้นในวาระสุดท้ายของการเป็นนายกรัฐมนตรีของพลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา แล้วเขาคุยโวว่าเกิดความสำเร็จอย่างงดงามในยุคสมัยของเขา เรื่องแรกคือการคืนสู่ความสัมพันธ์แบบปกติกับซาอุดีอาระเบียหลังจากที่บาดหมางกันมานาน 32 ปี เรื่องที่สองคือการประชุมสุดยอดความร่วมมือเศรษฐกิจภูมิภาคเอเชียแปซิฟิกหรือเอเปก ซึ่งประเทศไทยเวียนมาเป็นเจ้าภาพอีกครั้งในรอบ 32 ปีอีกเช่นกัน และเรื่องที่สามคือ การเยือนประเทศไทยของประธานาธิบดี เอ็มมานูเอล มาครง แห่งฝรั่งเศส

นักการเมืองมักจะกล่าวอ้างว่าสิ่งที่เกิดในยุคสมัยของตัวเป็นความสำเร็จเสมอ แต่กิจการต่างประเทศนั้นเป็นกระบวนการที่ยืดยาวเกินกว่าจะบอกได้โดยง่ายว่าความสำเร็จหรือล้มเหลวนั้นเกิดขึ้นโดยฝีมือของใครหรือยุคสมัยใดโดยลำพัง อีกทั้งการวัดผลนั้นก็ต้องอาศัยเกณฑ์และมาตรวัดต่างๆ มากมาย เพื่อให้ทราบว่าความสำเร็จหรือล้มเหลวดังกล่าวนั้นก่อให้เกิดผลกระทบต่อ ‘ผลประโยชน์แห่งชาติ’ ซึ่งก็คือผลประโยชน์ของประชาชนในวงกว้างมากน้อยเพียงใด

รัฐบาลภายใต้การนำของประยุทธ์นับแต่เขานำกองทัพแห่งชาติก่อรัฐประหารโค่นล้มรัฐบาลพลเรือนที่มาจากการเลือกตั้งในปี 2014 ได้รับการวิพากษ์วิจารณ์อย่างหนักหน่วงมาโดยตลอดว่า ไร้วิสัยทัศน์และอ่อนด้อยทางด้านต่างประเทศเป็นอย่างยิ่ง ด้วยความที่รัฐบาลนี้มีที่มาไม่สู้จะชอบธรรมนัก ถึงแม้ว่าจะใช้การเลือกตั้งในปี 2019 ฟอกตัวจากรัฐบาลแบบลูกผสมเผด็จการไปสู่ความเป็นประชาธิปไตยแบบบกพร่องแล้ว แต่ก็ยังมีจุดอ่อนเรื่องสิทธิมนุษยชนที่ทำให้ตกเป็นเป้าการวิพากษ์วิจารณ์จากนานาชาติอยู่เนืองๆ

โดยทั่วไปแล้วรัฐบาลไทยภายใต้ประยุทธ์ไม่ว่าจะก่อนหรือหลังการเลือกตั้งมักจะพยายามตีตัวออกห่างประเทศในกลุ่มตะวันตก เช่นสหรัฐฯ ยุโรป และออสเตรเลีย ที่ชอบวิพากษ์วิจารณ์และตั้งเงื่อนไขในการสร้างสัมพันธ์กับประเทศไทย แต่จะมีความสะดวกใจมากกว่ากับประเทศที่มีลักษณะการเมืองที่มีความโน้มเอียงไปในทางเผด็จการอำนาจนิยมอัตตาธิปไตย เช่น จีน รัสเซีย และพม่า

ด้วยลักษณะดังกล่าว บทความนี้ต้องการนำเสนอว่า บุคลิกของผู้นำและลักษณะพื้นฐานของรัฐบาล เป็นปัจจัยสำคัญที่ทำให้มีการกำหนดนโยบายต่างประเทศที่ไม่เหมาะสม ส่งผลให้ประเทศไทยสูญเสียสถานะนำในเวทีระหว่างประเทศ และถูกผลักให้เข้าไปอยู่ในกลุ่มรัฐเผด็จการอำนาจนิยมเสมอ

ความสัมพันธ์อันกระอักกระอ่วน

การรัฐประหารโค่นล้มรัฐบาลพลเรือนที่มาจากการเลือกตั้งในปี 2014 เรียกเสียงวิพากษ์วิจารณ์จากสหรัฐฯ และสภาพยุโรปอย่างหนักหน่วง เพราะไม่เพียงเป็นการทำลายพื้นฐานของความเป็นประชาธิปไตยในประเทศไทยเท่านั้น หากแต่รัฐบาลทหารในเวลานั้นยังทำการละเมิดสิทธิมนุษยชนอย่างกว้างขวางด้วยการจับกุมและคุกคามผู้ที่ไม่เห็นด้วยกับการยึดอำนาจ รัฐบาลสหรัฐฯ ซึ่งตอนนั้นอยู่ภายใต้การนำของบารัค โอบามา ประกาศระงับความช่วยเหลือทางทหาร 4.7 ล้านดอลลาร์สหรัฐแก่กองทัพไทย การซ้อมรบร่วมในชื่อ คอบราโกลด์ CARAT และ RIMPAC ต้องลดขนาดลงในปี 2014 ทูตสหรัฐฯประจำประเทศไทยที่มาจากรัฐบาลโอบามาคือคริสตี้ เคนนี่ และกลิน เดวีย์ แสดงความแข็งกร้าวต่อรัฐบาลไทยทุกครั้งที่ปรากฏว่ามีการคุกคามฝ่ายต่อต้าน

อย่างไรก็ตามมีเรื่องที่ควรบันทึกเอาไว้ด้วยว่า ความสัมพันธ์ระหว่างไทยและสหรัฐฯ นั้นค่อนข้างซับซ้อน ท่าทีของกระทรวงการต่างประเทศสหรัฐฯ และเพนตากอนมีความแตกต่างกันอยู่บ้างในแง่ที่ว่า ฝ่ายหลังเกรงว่าการกดดันมากไปจะเป็นการผลักให้กองทัพไทยเข้าไปใกล้ชิดกับจีนมากขึ้น ดังนั้นการซ้อมรบต่างๆ ไม่ว่าจะเป็น CARAT, RIMPAC และ COBRA GOLD จึงค่อยๆ คืนอยู่สถานะเดิมในปี 2015, 2016 และ 2017 ตามลำดับ

แต่ความสัมพันธ์โดยรวมระหว่างไทยและสหรัฐฯ ได้รับการปรับปรุงขึ้นในสมัยรัฐบาลโดนัลด์ ทรัมป์ ระหว่างปี 2017-2021 ซึ่งไม่ได้ให้ความสนใจกับความเป็นประชาธิปไตยและสิทธิมนุษยชนมากเท่ากับผลประโยชน์ทางเศรษฐกิจและการกีดกันจีน ประยุทธ์จึงได้รับเชิญให้ไปเยือนทำเนียบขาวเป็นครั้งแรกเมื่อต้นเดือนตุลาคม 2017 ทูตสหรัฐฯ คนก่อนคือไมเคิล เดอซอมเบรอ ซึ่งแต่งตั้งโดยรัฐบาลทรัมป์จึงเน้นสร้างความสัมพันธ์ทางเศรษฐกิจและความมั่นคงทางทหารเป็นสำคัญ

นโยบายของทรัมป์สอดคล้องกับประยุทธ์อย่างมาก ในฐานะรัฐมนตรีกลาโหมเขาได้ร่วมลงนามในวิสัยทัศน์ร่วมไทย-สหรัฐฯ 2020 กับมาร์ค เอสเปอร์ รัฐมนตรีกลาโหมสหรัฐฯ เมื่อเดือนพฤศจิกายน 2019 เพื่อกระชับความร่วมมือทางทหารและความมั่นคงระหว่างกันให้แน่นแฟ้นยิ่งขึ้น ไทยสั่งซื้อยุทโธปกรณ์จากสหรัฐฯ เพิ่มขึ้น รวมทั้งรถหุ้มเกราะสไตรเกอร์ 60 คัน มูลค่า 175 ล้านดอลลาร์สหรัฐ เฮลิคอปเตอร์โจมตีขนาดเบา 6 ลำ มูลค่า 400 ล้านดอลลาร์สหรัฐ อันที่จริงแม้ว่าจะมึนตึงกันบ้างช่วงหลังการรัฐประหารใหม่ๆ แต่การซื้อขายอาวุธระหว่างไทยและสหรัฐฯ ไม่ได้หยุดลงแต่อย่างใด เพียงแต่ล่าช้าเล็กน้อยเท่านั้น ในช่วงระยะเวลา 10 ปีที่ผ่านมาสหรัฐฯ ขายอาวุธให้กองทัพไทยคิดเป็นมูลค่ามากกว่า 1,700 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ซึ่งรายการสำคัญๆ ได้แก่ เฮลิคอปเตอร์ แบล็กฮอว์ก ขีปนาวุธจากอากาศสู่อากาศและตอปิโด รวมตลอดถึงการปรับปรุงเครื่องบินรบเอฟ 16 ให้กองทัพอากาศ

ความสัมพันธ์ระหว่างไทยและสหรัฐฯ เริ่มออกอาการเย็นชาอีกครั้งหนึ่งเมื่อรัฐบาลโจ ไบเดนให้ความสำคัญกับไทยน้อยมากถ้าเปรียบเทียบกับประเทศอื่นในภูมิภาคเดียวกันอย่างเวียดนาม สิงคโปร์ และอินโดนีเซีย ไบเดนไม่ยอมมาร่วมประชุมเอเปกในกรุงเทพฯ ด้วยตนเองทั้งๆ ที่เขาเดินทางมาร่วมประชุมสุดยอดอาเซียนในกัมพูชาและ G20 ในอินโดนีเซียในช่วงเวลาที่ใกล้เคียงกันเมื่อเดือนพฤศจิกายน 2022 นอกจากนี้เจ้าหน้าที่ระดับสูงของสหรัฐฯ หลายคน ไม่ว่าจะเป็นรองประธานาธิบดี คามารา แฮร์ริส รัฐมนตรีกลาโหม ลอยด์ ออสติน หรือแม้แต่รัฐมนตรีต่างประเทศ แอนโทนี บลิงเคน ไม่ได้กำหนดให้กรุงเทพฯ เป็นที่ซึ่งพวกเขาสมควรจะเดินทางมาเยือนเมื่อมีการทัวร์เอเชียครั้งแรกๆ หลังจากรับตำแหน่ง

สหภาพยุโรปดูจะมีความคงเส้นคงวาในการดำเนินนโยบายต่อประเทศไทยมากกว่าสหรัฐฯ หลังการรัฐประหารสหภาพยุโรปได้ระงับการเยือนของเจ้าหน้าที่ระดับสูง ยุติการลงนามในสัญญาหุ้นส่วนและความร่วมมือระหว่างไทยและสหภาพยุโรป (Partnership and Cooperation Agreement) รวมตลอดถึงการชะลอการเจรจาความตกลงการค้าเสรีระหว่างไทยและสหภาพยุโรปที่เริ่มต้นกันมาตั้งแต่ปี 2013 เอาไว้จนกระทั่งไทยมีการเลือกตั้งในปี 2019 ทั้งสองฝ่ายเพิ่งจะบรรลุความตกลงในสัญญาหุ้นส่วนและความร่วมมือกันเมื่อต้นเดือนกันยายน 2022 ที่ผ่านมานี่เอง[1] ซึ่งถือว่าเป็นบันใดขั้นสำคัญที่จะนำไปสู่ความตกลงการค้าเสรีระหว่างกัน แต่ก็อาจจะต้องใช้เวลาในการเจรจาอีกนานพอสมควรกว่าจะบรรลุข้อตกลงกันได้ และกรณีนี้เป็นตัวอย่างที่ดีที่จะชี้ให้เห็นว่าการรัฐประหารทำให้ประเทศไทยเสียเวลาไปถึง 5 ปีเต็มกว่าจะหวนคืนกลับมาทำความตกลงกับยุโรปได้

อย่างไรก็ตาม ก่อนหน้าที่จะมีการเลือกตั้งทั่วไปเล็กน้อย นักการทูตของไทยประสบความสำเร็จในการกล่อมให้อังกฤษและฝรั่งเศสยอมรับการเยือนของประยุทธ์ในเดือนมิถุนายน 2018 โดยเน้นภารกิจทางด้านเศรษฐกิจเป็นสำคัญ ท่ามกลางการประท้วงของคนไทยที่ลี้ภัยอยู่ในยุโรปซึ่งทำให้การเดินทางไปต่างประเทศของนายกรัฐมนตรีจากการรัฐประหารดูไม่เงียบเหงาจนเกินไปนัก สิ่งที่จัดได้ว่าเป็นความสำเร็จของการเยือนในคราวนั้นคือบริษัทแอร์บัส ผู้ผลิตอากาศยานรายใหญ่ของโลกตกลงเซ็นสัญญากับการบินไทยเพื่อพัฒนาศูนย์ซ่อมบำรุงเครื่องบิน (Maintenance Repair and Overhaul – MRO) มูลค่า 314 ล้านยูโร ที่อู่ตะเภา

แต่ทว่าความสำเร็จเช่นว่านั้นมีอายุไม่ยืนยาวพอจะที่จะทำให้โครงการนี้เป็นรูปเป็นร่าง บริษัทแอร์บัสประกาศถอนตัวจากโครงการนี้ในเดือนเมษายน 2020[2] เหตุผลเบื้องหน้าคือ สถานการณ์การระบาดของโควิดทำให้ธุรกิจการบินประสบกับวิกฤตการณ์ครั้งใหญ่ รวมทั้งการบินไทยเองก็ประสบกับปัญหาจนต้องเข้าแผนฟื้นฟูกิจการ แต่แหล่งข่าวในวงการที่เกี่ยวข้องกับเรื่องนี้ตั้งแต่ต้นบอกว่า แอร์บัสไม่พอใจแนวทางในการดำเนินธุรกิจของการบินไทยซึ่งไม่สู้จะมีความโปร่งใสเท่าใดนัก แม้ว่าบริษัทการบินแห่งชาติรายนี้จะพ้นสภาพความเป็นรัฐวิสาหกิจมานานแล้ว แต่ธรรมเนียมในการดำเนินธุรกิจก็ยังไม่แตกต่างจากเดิมมากนักคือตกอยู่ใต้อาณัติของกองทัพและรัฐบาลมากจนเกินไป

ประธานาธิบดีเอ็มมานูเอล มาครง แห่งฝรั่งเศสมีโอกาสเดินทางมาเยือนประเทศไทยเป็นการตอบแทนเมื่อเดือนพฤศจิกายน (ความจริงก็เชิญเอาไว้ตั้งแต่เมื่อครั้งไทยเป็นประธานอาเซียนเมื่อปี 2019 โน่นแล้ว) เมื่อเขาเดินทางกลับจากการประชุม G20 ที่เกาะบาหลี ไม่กี่วันก่อนหน้านั้น การเยือนจึงดูเหมือนเป็นการแวะพักผ่อนระหว่างทางมากกว่าจะเป็นการเยือนที่ต้องการเนื้อหาสาระทางด้านการทูตและความสัมพันธ์ ในการหารือกับประยุทธ์เมื่อวันที่ 17 พฤศจิกายนนั้นนายกรัฐมนตรีของไทยสนับสนุนให้ฝรั่งเศสซึ่งเป็นคู่ค้าใหญ่อันดับ 3 และนักลงทุนรายใหญ่อันดับ 9 ในไทยให้เพิ่มการค้าและการลงทุนให้มากขึ้นเฉพาะอย่างยิ่งในแนวทางเศรษฐกิจชีวภาพ เศรษฐกิจหมุนเวียน และเศรษฐกิจสีเขียวในพื้นที่ระเบียงเศรษฐกิจภาคตะวันออก เช่นโครงการผลิตรถไฟฟ้า (electric vehicle) นอกจากนี้ก็ขอการสนับสนุนจากฝรั่งเศสให้ช่วยผลักดันการเจรจาความตกลงการค้าเสรีระหว่างไทยและสหภาพยุโรปที่ค้างคามาเกือบทศวรรษให้ได้ข้อสรุปเสียที[3]

ไม่มีรายงานข่าวว่าประธานาธิบดีฝรั่งเศสรับปากในเรื่องที่ประยุทธ์ร้องขอ แต่ดูเหมือนเขาจะจริงจังเรื่องการเยี่ยมชมสถานที่ท่องเที่ยวในกรุงเทพฯ ไม่ว่าจะเป็น พิพิธภัณฑ จิม ทอมป์สัน วัดโพธิ์ เวทีมวยราชดำเนิน และกินอาหารที่ร้านฮั่วเซ่งฮงในย่านเยาวราช ที่กลายเป็นเรื่องที่ครองพื้นที่ข่าวในสื่อมวลชนทั้งกระแสหลักและสื่อสังคมออนไลน์ได้มากกว่าเนื้อหาสาระการมาเยือน

มองในเชิงยุทธศาสตร์แล้วประธานาธิบดีฝรั่งเศสคงไม่ต้องการทำตัวเป็นทูตการท่องเที่ยวให้กับประเทศไทยเหมือนดังที่สื่อมวลชนของไทยพยายามจะตีความ หากแต่เขาต้องการทำให้การปรากฏตัวของเขาทั้งที่บาหลีและกรุงเทพฯ มีความหมายในเชิงยุทธศาสตร์ของภูมิภาคอินโด-แปซิฟิก ในสถานการณ์การที่การแข่งขันทางด้านภูมิรัฐศาสตร์ระหว่างสหรัฐฯ และจีนกำลังดำเนินไปอย่างเข้มข้น อีกทั้งฝรั่งเศสเองก็เพิ่งจะสูญเสียดีลสำคัญเรื่องเรือดำน้ำหลักจากออสเตรเลียเข้าร่วมพันธมิตร AUKUS (ออสเตรเลีย อังกฤษ สหรัฐฯ)[4] แต่มองจากมุมของไทยคงไม่ได้อะไรจากการเยือนของมาครงมากไปกว่าการคุยโวว่ามีผู้นำระดับโลกเดินทางมาเยือนประเทศไทยและได้จับมือถ่ายรูปกับนายกรัฐมนตรีของไทย

พันธมิตรอัตตาธิปไตย

ประยุทธ์สบายใจมากกว่าในการสร้างสัมพันธ์กับประเทศในกลุ่มอำนาจนิยมหรือพวกอัตตาธิปไตย เริ่มจากจีนซึ่งความสัมพันธ์ใกล้ชิดแนบแน่นมากขึ้นหลังการรัฐประหารในปี 2014 ส่วนหนึ่งเป็นผลมาจากความพยายามที่จะหาที่หลบซ่อนจากการวิพากษ์วิจารณ์ของประเทศทางตะวันตก แต่อีกด้านหนึ่งต้องการที่จะเกาะติดความเติบโตทางเศรษฐกิจของจีน เฉพาะอย่างยิ่งโครงการหนึ่งแถบหนึ่งเส้นทางที่มุ่งพัฒนาความเชื่อมโยงของเครือข่ายโครงสร้างพื้นฐานระหว่างจีนแผ่นดินใหญ่กับทั่วโลกรวมทั้งเอเชียตะวันออกเฉียงใต้

ดังนั้นจึงพบว่ารัฐบาลหลังการรัฐประหารสมาทานทุกอย่างที่มาจากจีน ประยุทธ์เองเคยแนะนำให้ประชาชนไทยอ่านหนังสือเกี่ยวกับแนวความคิดและแนวทางการพัฒนาของประธานาธิบดี สี จิ้นผิง ไทยยอมรับนโยบายจีนเดียวอย่างไร้เงื่อนไข ส่งกลับผู้ลี้ภัยชาวอุยกูร์กลับไปจีนโดยไม่ฟังเสียงทัดทานจากผู้ใด กระตือรือร้นที่จะเข้าร่วมกรอบความร่วมมือลานซ้าง-แม่โขง ที่จีนริเริ่ม เดินหน้าความร่วมมือในการก่อสร้างทางรถไฟความเร็วสูงร่วมกับจีนถึงแม้ว่าโครงการเดียวกันนี้ที่ดำเนินการโดยรัฐบาลพลเรือนก่อนหน้าจะได้รับการวิพากษ์วิจารณ์จากชนชั้นสูงอย่างมากมายก็ตาม รัฐบาลไทยหลังการรัฐประหารกระชับความสัมพันธ์ทางด้านความมั่นคงและการทหารกับจีนอย่างมาก มีกิจกรรมซ้อมรบร่วมและอื่นๆ รวมตลอดไปจนถึงซื้ออาวุธยุทโธปกรณ์จากจีนอย่างขนานใหญ่ ไม่ว่าจะเป็นเรือดำน้ำไปจนถึงรถถัง โดยไม่ได้คำนึงความจำเป็นทางยุทธศาสตร์ยุทธวิธีเกี่ยวกับความมั่นคงและฐานะทางเศรษฐกิจของประเทศเลย

จีนกลายเป็นประเทศคู่ค้าอันดับหนึ่งของไทยนับแต่ปี 2013 เป็นต้นมา ไม่เว้นแม้แต่ระยะเวลาที่เกิดวิกฤตโรคระบาดโควิด-19 การค้าทวิภาคีระหว่างสองประเทศเพิ่มขึ้นจาก 64,960 ล้านดอลลาร์สหรัฐในปี 2013 เป็น 103,750 ล้านดอลลาร์ในปี 2021 และช่วง 9 เดือนแรกของปีนี้มูลค่าการค้าระหว่างไทย-จีนก็สูงถึง 80,952 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ในทำนองเดียวกันจีนลงทุนในไทยมากเป็นอันดับต้นๆ บางปีเช่น 2018, 2019 เคยขึ้นเป็นอันดับหนึ่ง และมีการลงทุนไปในหลายสาขา ลักษณะของทุนจีนก็มีที่มาหลากหลาย ตั้งแต่รัฐวิสาหกิจ ทุนเอกชน ไปจนถึงทุนสีเทาและทุนมาเฟีย ต่างหลั่งไหลเข้าสู่ประเทศไทยอย่างไม่ขาดสาย ทำให้ประเทศไทยกลายเป็นรองรับการลงทุนของจีนในทุกๆ ด้าน ไม่ต่างจากประเทศเพื่อนบ้านลุ่มน้ำโขงอื่นๆ อย่างพม่า ลาว และกัมพูชา  

การเชื่อมโยงเศรษฐกิจเข้ากับจีนอย่างมากมายเช่นนี้อาจจะเกิดผลเสียได้เช่นกัน เมื่อจีนเกิดปัญหาหรือพยายามมองหาทางเลือกทางเศรษฐกิจมากขึ้น เช่น จำนวนนักท่องเที่ยวชาวจีนซึ่งเคยมากถึงประมาณ 1 ใน 3 ของนักท่องเที่ยวต่างชาติทั้งหมดในไทยหายไปเมื่อเกิดโรคระบาดทำให้ภาคท่องเที่ยวของไทยทรุดตัวลงอย่างมาก สินค้าเกษตรบางรายการเช่น ยางพารา ทุเรียน และลำใย มีราคาตกลงอย่างมากเมื่อไม่สามารถส่งออกไปจีนได้มากเท่าเดิม โดยที่รัฐบาลไทยไม่สามารถใช้ความสัมพันธ์อันดีมาต่อรองอะไรกับจีนได้เลย

ความพยายามที่จะเข้าใกล้ชิดและเอาอกเอาใจประธานาธิบดี วาดิมีร์ ปูติน ผู้นำรัสเซียด้วยความมุ่งหวังที่จะให้เขาเดินทางประชุมสุดยอดเอเปกในกรุงเทพฯ ด้วยตนเอง ทำให้รัฐบาลไทยถูกวิพากษ์วิจารณ์อย่างมากว่าไม่มีความคงเส้นคงวาและไร้หลักการในการดำเนินนโยบายต่างประเทศ เพราะผู้แทนของไทยในสหประชาชาติงดออกเสียงในการลงมติปฏิเสธการที่รัสเซียผนวกดินแดน 4 แคว้นด้านตะวันออกของยูเครนเมื่อเดือนตุลาคม 2022 ทั้งๆ ที่ก่อนหน้านี้ไทยเคยลงมติในเดือนมีนาคมประณามการรุกรานยูเครน กระทรวงการต่างประเทศไม่สามารถให้คำอธิบายที่มีน้ำหนักสมเหตุผลว่าทำไมประเทศไทยจึงเปลี่ยนแปลงจุดยืนกลับไปกลับมาในการลงมติเพื่อยืนยันอำนาจอธิปไตยของรัฐเอกราชอย่างยูเครน ในขณะที่ประเทศสมาชิกอื่นของอาเซียนซึ่งก็ทำหน้าที่เป็นเจ้าภาพการประชุมสำคัญที่มีการเชิญผู้นำรัสเซียเข้าร่วมด้วยเช่นการประชุมสุดยอดอาเซียนที่กัมพูชาและกลุ่ม 20 ที่อินโดนีเซีย สามารถลงมติยืนยันหลักการเดียวกันนี้ได้อย่างคงเส้นคงวา และในที่สุดเมื่อประธานาธิบดีปูตินปฏิเสธที่จะเข้าร่วมการประชุมสำคัญทั้ง 3 เวทีในช่วงเดือนพฤศจิกายน ก็ทำให้ประเทศไทยกลายเป็นประเทศเดียวที่สูญเสียความน่าเชื่อถือระหว่างประเทศไปเพราะแสดงการง้องอนปูตินเกินสมควรจนเสียหลักการ

อย่างไรก็ตาม หากมองให้ลึกไปกว่านี้จะพบว่า รัฐบาลประยุทธ์ยอมสละความน่าเชื่อถือระหว่างประเทศไปเพื่อแลกกับผลประโยชน์ทางเศรษฐกิจกับรัสเซีย ไทยเป็นประเทศที่มีการค้าขายกับรัสเซียมากที่สุดเมื่อเปรียบเทียบกับประเทศในกลุ่มอาเซียนอื่นๆ (ยกเว้นเวียดนามซึ่งการค้าส่วนใหญ่อยู่ในกลุ่มอาวุธยุทโธปกรณ์) ปีที่แล้วไทยมีการค้าทวิภาคีกับรัสเซียมากถึง 2,700 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ในขณะที่ประเทศอาเซียนอื่นอย่างอินโดนีเซียและกัมพูชามีการค้ากับรัสเซียเพียง 415 และ 94 ล้านดอลลาร์สหรัฐตามลำดับ

รัฐมนตรีพาณิชย์ จุรินทร์ ลักษณวิศิษฎ์ ร่วมประชุมกับแม๊กซิม เรเชนิคอฟ รัฐมนตรีพาณิชย์ของรัสเซียระหว่างที่มีการประชุมเอเปกเมื่อเดือนพฤษภาคม ได้ร่วมกันตั้งเป้าหมายเอาไว้ว่าจะทำให้การค้าทวิภาคีให้ถึง 10,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐในปีหน้า นอกจากนี้ธนาคารพาณิชย์ของไทยแสดงความสนใจที่จะเข้าร่วมระบบการชำระเงิน Mir ของรัสเซียเพื่ออำนวยความสะดวกแก่นักท่องเที่ยวและการค้าหลังจากที่รัสเซียโดนประเทศตะวันตกห้ามใช้ระบบ SWIFT ไทยซื้ออาวุธจากรัสเซียบ้างเล็กน้อยนับตั้งแต่ปี 2008 เป็นต้นมา โดยซื้อขีปนาวุธประทับบ่าและรายการอื่นๆ มีมูลค่ารวมเพียง 70 ล้านดอลลาร์สหรัฐ 

เรื่องที่ประยุทธ์คุยว่าประสบความสำเร็จสูงสุดในยุคสมัยของเขาคือ การคืนความสัมพันธ์ในระดับปกติกับซาอุดีอาระเบียซึ่งบาดหมางกันมาตั้งแต่ปี 1989 หลังจากเกรียงไกร มงคลสุภาพ (นามสกุลเดิม เตชะโม่ง) คนงานไทยขโมยเพชรและอัญมณีล้ำค่าอื่นๆ จากวังซาอุฯ และคดีฆาตกรรมนักการทูตซาอุดีอาระเบียในกรุงเทพฯ ระหว่างปี 1989-1990 และเฉพาะอย่างยิ่งการหายตัวไปของ โมฮัมหมัด อัล รูไวลี นักธุรกิจชาวซาอุฯ ที่มีความสัมพันธ์ใกล้ชิดกับราชวงศ์ซาอุฯ

ความจริงประยุทธ์ไม่สามารถอ้างเครดิตอะไรได้ เพราะความพยายามที่จะปรับปรุงความสัมพันธ์กับซาอุดีอาระเบียเกิดมาทุกยุคทุกสมัย แต่ล้มเหลวมาโดยตลอดเพราะไม่มีความคืบหน้าในคดีความที่จะสร้างความพอใจให้กับฝ่ายซาอุฯ เลย ในยุคสมัยของประยุทธ์ก็ล้มเหลวเช่นกันเมื่อศาลฎีกาได้ยกฟ้องสมคิด บุญถนอม พร้อมพวกรวม 5 คนในข้อหาลักพาตัว อัล รูไวลี เนื่องจากไม่มีพยานหลักฐานเพียงพอที่จะลงโทษพวกเขาได้

ปัจจัยสำคัญที่ทำให้การฟื้นฟูความสัมพันธ์ระหว่างกันเป็นไปได้อยู่ที่อำนาจนำในกรุงริยาดมากกว่ากรุงเทพฯ เฉพาะอย่างยิ่งการขึ้นสู่อำนาจของผู้นำรุ่นใหม่อย่างมกุฎราชกุมาร โมฮัมหมัด บิน ซัลมาล ซึ่งภายหลังได้รับตำแหน่งนายกรัฐมนตรีของซาอุดีอาระเบียอีกด้วย มกุฎราชกุมารผู้ฉาวโฉ่จากการมีส่วนเกี่ยวข้องกับการสังหารนักข่าวจามาล ซ๊อคคาดี ในปี 2018 การถูกวิพากษ์วิจารณ์จากประเทศตะวันตกอย่างรุนแรงทำให้เขามีความจำเป็นต้องแสวงหามิตรจากประเทศต่างๆ ที่เคยบาดหมางกันทั้งที่อยู่ใกล้กันอย่างกาตาร์และที่อยู่ไกลกันอย่างประเทศไทย

ประยุทธ์ไม่เพียงแต่ไม่ได้มีส่วนอะไรมากมายในการปรับความสัมพันธ์กับซาอุฯ เท่านั้น หากแต่รัฐบาลของเขายังให้ภาพผิดๆ เกี่ยวกับการปรับปรุงความสัมพันธ์ว่าตลาดแรงงานขนาดใหญ่ที่เคยรับคนงานไทยไปทำงาน 200,000-300,000 คนเมื่อ 32 ปีก่อน จะทำให้ตำนาน ‘ไปเสียนา มาเสียเมีย’ หวนกลับคืนมาอีกครั้ง กระทรวงแรงงานของไทยลงนามในบันทึกความเข้าใจกับฝ่ายซาอุฯ เมื่อเดือนมีนาคมเพื่อจัดส่งแรงงานไทยไปทำงาน แต่ปรากฏว่าจนถึงเดือนมิถุนายน สุชาติ ชมกลิ่น รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงานบอกกับสื่อมวลชนว่า มีตำแหน่งงาน 309 ตำแหน่งในซาอุดีอาระเบีย สำหรับแรงงานมีฝีมือและพยาบาล อีก 1 เดือนต่อมากรมการจัดหางานประกาศว่ามีตำแหน่งว่างอีก 2,000 ตำแหน่งสำหรับแม่บ้านและพยาบาล ทว่าไม่มีคนสมัครไปทำงานที่ซาอุดีอาระเบียล้นหลามเหมือนที่คาดหวัง เพราะค่าตอบแทนและสวัสดิการไม่จูงใจ เมื่อเปรียบเทียบกับที่อื่น

ดูเหมือนประยุทธ์และรัฐมนตรีในรัฐบาลของเขาไม่ค่อยเข้าใจสถานการณ์แรงงานในประเทศซาอุดีอาระเบียและประเทศของตัวเองดีพอ ซาอุดีอาระเบียไม่ได้ต้องการแรงงานมากมายนัก เพราะได้พัฒนาโครงสร้างพื้นฐานและอื่นๆ เอาไว้อย่างเพียงพอแล้วในระยะ 30 กว่าปีที่ผ่านมา อีกทั้งช่วงระยะเวลาที่แรงงานไทยหายหน้าหายตาไปนั้น แรงงานประเทศอื่นๆ เช่น ฟิลิปปินส์ก็เข้าไปทดแทนแล้ว อีกประการหนึ่งกำลังแรงงานไทยรุ่นใหม่ก็มีโอกาสที่จะไปทำงานในประเทศอื่นๆ ได้ทั่วโลก ไม่จำเป็นต้องรอไปซาอุดีอาระเบียหรือประเทศอื่นๆ ในตะวันออกกลางซึ่งมีความแตกต่างทั้งศาสนา ภาษา และวัฒนธรรม

รัฐบาลประยุทธ์เพิ่งจะจับประเด็นได้ในระยะหลัง เมื่อมกุฎราชกุมาร โมฮัมหมัด บิน ซาลมาน พาขณะเดินทางมาแวะเยือนประเทศไทยระหว่างทางกลับจากการประชุม G20 ที่บาหลี ถึงตอนนั้นจึงได้มีการลงนามในเอกสาร 5 ฉบับเพื่อส่งเสริมการค้าและการลงทุนระหว่างกัน มีการจัดเวทีการลงทุนไทย-ซาอุฯ ในเดือนพฤศจิกายนเพื่อส่งเสริมการค้าและการลงทุน รัฐบาลไทยหวังจะเชื่อมโยงแนวทางเศรษฐกิจชีวภาพ เศรษฐกิจหมุนเวียน และเศรษฐกิจสีเขียวกับวิสัยทัศน์ 2030 ของซาอุดีอาระเบียและดึงการลงทุนที่เน้นนวัตกรรม พลังงานหมุนเวียนและเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมเข้าไปในระเบียงเศรษฐกิจภาคตะวันออกของไทย รัฐบาลไทยคาดหวังว่าจะมีเม็ดเงินจากการลงทุนของนักลงทุนซาอุฯ มากถึง 300,000 ล้านบาทเข้าสู่ระบบเศรษฐกิจของไทยในปีหน้า

แต่ระหว่างที่ความคาดหวังยังไม่ปรากฏเป็นจริง การค้าทวิภาคีระหว่างไทยและซาอุฯ ก็เพิ่มมากขึ้นเป็นประวัติการณ์ ช่วง 9 เดือนแรกของปีนี้มากถึง 265,290 ล้านบาท แต่ในจำนวนนี้เป็นส่งออกของไทยไปซาอุฯ เพียง 49,190 ล้านบาท ที่เหลือเป็นการนำเข้าน้ำมันดิบ น้ำมันสำเร็จรูป ปุ๋ย และเคมีภัณฑ์ จากซาอุ ฯเสียเป็นส่วนใหญ่ ผู้ที่ได้ประโยชน์จากการค้าระหว่างสองประเทศเป็นบริษัทธุรกิจขนาดใหญ่ เช่น ซีพี ซึ่งส่งออกเนื้อไก่แช่เย็นและแช่แข็ง ไปแล้ว 6,000 ตันในปีนี้ คาดว่าจะสามารถทำได้ถึง 60,000 ตันภายในเวลา 5 ปีข้างหน้า นอกจากนั้นก็เป็น ปตท. ซึ่งได้รับอนุญาตให้เปิดปั๊มน้ำมันและกาแฟอเมซอนในกรุงริยาด และคาดว่าจะสามารถขยายได้ถึง 150 แห่งทั่วประเทศภายในเวลา 10 ปี รวมความแล้วผลประโยชน์ของการฟื้นฟูความสัมพันธ์ระหว่างไทยและซาอุฯ จะอยู่กับธุรกิจขนาดใหญ่มากกว่าภาคแรงงานหรือผู้ประกอบการรายย่อย

นโยบายของรัฐบาลไทยต่อวิกฤตพม่าเป็นสิ่งที่ได้รับวิพากษ์วิจารณ์อย่างมาก เพราะไม่เพียงแต่ไม่ช่วยสถานการณ์คลี่คลายไปในทางที่ดีเท่านั้น หากแต่ยังมีส่วน ‘ให้ท้าย’ แก่รัฐบาลทหารพม่าในการซ้ำเติมสถานการณ์ให้ประชาชนชาวพม่าตกอยู่ในความยากลำบากอย่างแสนสาหัส หลังจากที่ มิน อ่อง หล่าย ผู้บัญชาการทหารสูงสุดของกองทัพพม่าหรือตัดมาดอว์ ทำการยึดอำนาจรัฐบาลพลเรือนจากการเลือกตั้งภายใต้การนำของอองซา นซูจี เมื่อวันที่ 1 กุมภาพันธ์ 2021 แล้วรัฐบาลไทยเพียงออกแถลงการณ์แสดงความห่วงกังวลเพียงเล็กน้อย แสดงความกระตือรือร้นในระยะแรกด้วยการเชิญวันนะหม่อง ลวิน รัฐมนตรีต่างประเทศของรัฐบาลทหารพม่ามากรุงเทพฯ เพื่อพบเรตโน มาร์ซูดี รัฐมนตรีต่างประเทศอินโดนีเซียผู้ซึ่งเอาจริงเอาจังและแข็งกร้าวต่อการรัฐประหารตั้งแต่วันแรก แต่การเคลื่อนไหวของไทยในตอนนั้นไม่ได้ทำให้รัฐบาลไทยมีภาพลักษณ์ที่ดี ตรงกันข้ามกับถูกพม่าใช้เพื่อสร้างความชอบธรรมให้กับการรัฐประหาร เพราะสื่อมวลชนกระบอกเสียงรัฐบาลทหารเอาภาพการเข้าพบประยุทธ์ของวันนะหม่องลวินไปเผยแพร่อ้างว่ารัฐบาลไทยเชิญให้เขามาเยือนกรุงเทพฯ[5]

นอกจากนี้ประยุทธ์ยังได้แสดงความเห็นอกเห็นใจมิน อ่อง หล่าย ด้วยการไม่ไปร่วมประชุมสุดยอดสมัยพิเศษเมื่อเดือนเมษายน 2021 นัยว่าไม่ต้องการที่จะร่วมกับกลุ่มอาเซียนอื่นๆ วิพากษ์วิจารณ์ผู้นำทหารพม่า เพราะรัฐบาลไทยเองก็มีที่มาไม่แตกต่างจากรัฐบาลทหารพม่าสักเท่าใดนัก จากนั้นก็มีรายงานข่าวตามสื่อมวลชนเสมอๆ ว่า ประยุทธ์ให้การติดต่อสื่อสารกับมิน อ่อง หล่าย เป็นประจำ พยายามจะทำให้ทุกอย่างเดินไปตามปกติเสมือนหนึ่งไม่รับรู้เลยว่าการรัฐประหารในพม่าเกิดขึ้นและสร้างผลเสียแก่พัฒนาการทางการเมืองของพม่าอย่างมาก เนื่องจากมีการไล่ล่าผู้ต่อต้านอย่างกว้างขวาง

รัฐบาลไทยแต่งตั้งผู้แทนพิเศษในด้านพม่าเมื่อเดือนเมษายนปีนี้ แต่จวบจนกระทั่งจะสิ้นอายุรัฐบาลประยุทธ์ ยังไม่ปรากฏว่าผู้แทนพิเศษของไทยได้ดำเนินการอะไรในการแก้ไขวิกฤตการณ์ในพม่าเลย นอกเสียจากพยายามจะรณรงค์ไม่ให้นานาชาติคว่ำบาตรรัฐบาลทหารพม่า[6] ผู้นำไทยแสดงความยืดหยุ่นอย่างมากเมื่อเครื่องบินรบ MiG 29 ของพม่าล่วงล้ำน่านฟ้าเข้ามาเขตแดนไทยทางด้านจังหวัดตากเมื่อตอนสิ้นเดือนมิถุนายน เสมือนเป็นการให้ท้ายตัดมาดอว์ในการเปิดฉากถล่มโจมตีกองกำลังกลุ่มชาติพันธ์และฝ่ายต่อต้านที่อยู่ตามตะเข็บชายแดนไทย มิหนำซ้ำยังแสดงความไม่เต็มใจที่จะอำนวยความสะดวกให้มีการส่งความช่วยเหลือทางด้านมนุษยธรรมผ่านชายแดนไทยอีกด้วย

ในขณะที่รัฐบาลประยุทธ์อ้างว่าไม่ต้องการแทรกแซงกิจการภายในของประเทศเพื่อนบ้านและชอบที่จะใช้แนวทางการทูตแบบเงียบๆ ในการดำเนินการแก้ไขปัญหา แต่กลับไม่ปรากฏว่า กระทรวงการต่างประเทศ นักการทูต และผู้แทนพิเศษของไทยได้ดำเนินการอะไร ไม่เคยช่วยพูดให้มิน  อ่อง หล่าย ซึ่งนับถือผู้นำทางทหารไทยเป็นการส่วนตัวยุติความรุนแรงต่อประชาชนพม่าและกลุ่มชาติพันธุ์เลยสักครั้งเดียว

รัฐบาลไทยในยุคปัจจุบันพยายามจะทำให้นานาชาติเห็นว่า การรัฐประหารยึดอำนาจจากรัฐบาลเลือกตั้งเป็นเรื่องปกติวิสัยของการเมืองในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ที่กองทัพจะใช้กำลังเข้าควบคุมอำนาจทางการเมืองและทำการบริหารประเทศเสียเองเมื่อไรก็ได้

มงคล วิศิษฎ์สตัมภ์ เอกอัครราชทูตคนใหม่ของไทยประจำพม่า เพิ่งเข้ายื่นสารตราตั้งกับมิน  อ่อง หล่าย ผู้นำสูงสุดของพม่าเมื่อวันที่ 7 ธันวาคมที่ผ่านมาและหารือเรื่องความสัมพันธ์ตามปกติ[7] โดยไม่ได้กล่าวถึงวิกฤตการณ์และปัญหาการส่งมอบความช่วยเหลือทางด้านมนุษยธรรมให้แก่ชาวพม่าและกลุ่มชาติพันธุ์ตามแนวชายแดน ทูตของไทยได้เข้าพบโซ วิน ผู้นำหมายเลข 2 ของพม่าในวันเดียวกันและได้หารือเกี่ยวกับการดำเนินโครงการท่าเรือน้ำลึกทวาย [8] ที่ฝ่ายไทยได้ลงทุนและดำเนินการมาตั้งแต่สมัยรัฐบาลก่อนๆ แต่ไม่มีความคืบหน้ามานานนับ 10 ปีเพราะสถานการณ์การยึดอำนาจในไทยและในพม่าเอง ซึ่งนี่ก็เป็นตัวอย่างที่ดีอีกเช่นกันว่าการรัฐประหารเป็นปัจจัยที่ฉุดรั้งการพัฒนาในความสัมพันธ์ระหว่างประเทศเสมอ

บทสรุปของผู้นำที่ไร้ผู้ตาม

ตลอดระยะเวลา 8 ปีภายใต้รัฐบาลประยุทธ์ ประเทศไทยเคยทำหน้าที่เจ้าภาพและประธานในที่ประชุมกรอบความร่วมมือระดับภูมิภาค 3 รายการใหญ่คือ ยุทธศาสตร์ความร่วมมือทางเศรษฐกิจ อิรวะดี เจ้าพระยา แม่โขง (Ayeyawady-Chao Phraya-Mekong Economic Cooperation—ACMECS)  เมื่อปี 2018 เป็นประธานอาเซียน 2019 และเอเปก 2022 ทั้งหมดนั้นเป็นกรอบความร่วมมือที่มีอยู่แต่เดิม การเวียนบรรจบครบรอบมาเป็นประธานอีกครั้งในสมัยที่ประยุทธ์เป็นนายกรัฐมนตรีก็ไม่ได้มีอะไรเป็นพิเศษ นอกเสียจากว่าถึงเวลาจะต้องจัดการประชุมให้ผ่านไปด้วยดี

กรอบความร่วม ACMECS นั้นริเริ่มโดยรัฐบาลไทยสมัยทักษิณ ชินวัตร เมื่อปี 2003 เพื่อสร้างฐานะนำของไทยในเวทีระหว่างประเทศระดับภูมิภาค โดยเน้นการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน การค้า การลงทุน การท่องเที่ยวเพื่อสร้างความเชื่อมโยงระหว่าง ไทย พม่า ลาว กัมพูชา และเวียดนาม ในยุคแรกๆ ไทยเล่นบทนำในการแจกจ่ายเงินทุนเพื่อทำโครงการต่างๆในประเทศเพื่อนบ้าน ซึ่งได้รับการตอบรับเป็นอย่างดีบรรดาประเทศสมาชิกต่างเขียนโครงการขอรับการสนับสนุนทางด้านเงินทุนจากประเทศไทยเป็นทิวแถว รัฐบาลในสมัยนั้นเชื่อว่าถ้าประเทศเพื่อนบ้านพัฒนามากขึ้นเศรษฐกิจไทยก็จะเจริญก้าวหน้าไปด้วย ไทยถึงกับประกาศให้สิทธิพิเศษทางการค้าแก่สินค้าเกษตรจากเพื่อนบ้านบางรายการ เช่น ข้าวโพดและถั่วเหลือง

แต่สถานการณ์ทางการเมืองหลังการยึดอำนาจในปี 2006-2014 ทำให้รัฐบาลไทยหลายชุดในช่วงนั้นหมกหมุ่นอยู่กับปัญหาทางการเมืองภายในของตัวเองและในบางช่วงเช่นในปี 2008-2010 ถึงกับมีปัญหาชายแดนกับกัมพูชาในกรณีปราสาทพระวิหารทำให้สถานะนำของไทยถูกตั้งคำถาม รัฐบาลประยุทธ์โดยความริเริ่มของสมคิด จาตุศรีทักษ์ รองนายกรัฐมนตรีในตอนนั้น พยายามจะแสดงตัวเป็นผู้นำอีกครั้งด้วยการวางยุทธศาสตร์ LCMVT (ลาว กัมพูชา พม่า เวียดนามและไทย) และรื้อฟื้น ACMECS โดยการประชุมสุดยอดเมื่อเดือนมิถุนายน 2018 ได้อนุมัติการจัดทำแผนแม่บทของการพัฒนาระหว่างปี 2019-2023 เพื่อบูรณาการพัฒนาเศรษฐกิจในลุ่มแม่น้ำโขง มีการจัดตั้งกองทุนเพื่อสนับสนุนแผนการดังกล่าวและไทยได้ใส่เม็ดเงินเริ่มต้น 200 ล้านดอลลาร์สหรัฐเพื่อสนับสนุนแผนการดังกล่าว แต่จนกระทั่งถึงปัจจุบันแผนดังกล่าวกำลังจะหมดอายุในปีหน้า ยังไม่ปรากฏว่ามีโครงการใดภายใต้กรอบความร่วมมือ ACMECS ออกมาให้เห็นเป็นรูปธรรม ไม่มีใครในรัฐบาลนี้พูดถึงมันอีกเลยนับแต่สมคิดและคณะลาจากรัฐบาลของประยุทธ์ไปเมื่อหลายปีก่อน

การเป็นประธานอาเซียนของไทยในปี 2019 ไม่มีความโดดเด่นอะไรทั้งๆ ที่มีปัญหาโรฮิงญาเป็นปัญหาท้าทายสำคัญ แต่ไทยก็ไม่สามารถผลักดันการแก้ไขปัญหาผู้อพยพโรฮิงญาให้ประสบความสำเร็จได้ ยังมีผู้อพยพอีกนับล้านคนในค่ายพักพิงชายแดนบังคลาเทศที่ไม่รู้ชะตากรรมว่าจะไปทางใด อีกทั้งการประชุมอาเซียนในประเทศไทยก็ไม่สามารถจัดการพบปะระหว่างผู้แทนภาคประชาชนกับผู้นำอาเซียนได้

อย่างไรก็ตามระหว่างที่ไทยเป็นประธานนั้น อาเซียนประสบความสำเร็จในสรุปการเจรจาความตกลงหุ้นส่วนทางเศรษฐกิจระดับภูมิภาค (Regional Comprehensive Economic Partnership—RCEP) และออกเอกสารเกี่ยวกับยุทธศาสตร์อินโดแปซิฟิก แต่นั่นเป็นความพยายามของอาเซียนโดยรวมมากกว่าจะเป็นความสามารถเฉพาะของประธาน

สุดท้ายรัฐบาลไทยประสบความสำเร็จในการออกเอกสารเป้าหมายกรุงเทพ (Bangkok Goal 2022) เพื่อสนับสนุนเศรษฐกิจชีวภาพ เศรษฐกิจหมุนเวียน และเศรษฐกิจสีเขียวในที่ประชุมเอเปกตามที่ต้องการ แต่การประชุมในกรุงเทพมหานครเมื่อเดือนพฤศจิกายนก็เปิดประเด็นปัญหาใหม่ให้โลกได้รับรู้ เมื่อกองกำลังควบคุมฝูงชนปะทะกับผู้ประท้วงจนมีผู้ได้รับบาดเจ็บมากถึง 30 คนและบางรายอาการสาหัสถึงขั้นสูญเสียดวงตา ทั้งๆ ที่กลุ่มผู้ประท้วงเพียงต้องการแสดงความคิดเห็นว่า แนวทางเศรษฐกิจที่รัฐบาลไทยพยายามนำเสนอในที่ประชุมเอเปกนั้นจะเอื้อประโยชน์ต่อกลุ่มธุรกิจขนาดใหญ่มากกว่าจะเป็นแนวทางที่จะสร้างเศรษฐกิจแบบสมดุล เสมอภาค และเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมดังที่กล่าวอ้าง  


[1] David Hutt. “EU and Thailand cap turbulence decade by boosting tie” DW September 5, 2022 (https://www.dw.com/en/eu-and-thailand-cap-turbulent-decade-with-a-partnership-agreement/a-63019958)

[2] MRO: Airbus cancels its center project in Thailand. Air&Cosmos International April 28,2020 (https://www.aircosmosinternational.com/article/mro-airbus-cancels-its-center-project-in-thailand-2858)

[3] Foreign Ministry’s press statement November 17, 2022 (https://www.mfa.go.th/en/content/fr-apec2022-2?cate=5d5bcb4e15e39c306000683e)

[4] Tita Sanglee “A New Era of Thailand-France Relations? The Diplomat November 18,2022 (https://thediplomat.com/2022/11/a-new-era-of-thailand-france-relations/)

[5] “Union Minister of Foreign Affairs pays a visit to Thailand at the invitation of Thai Prime Minister” Global New Light of Myanmar February 25, 2021 (https://www.gnlm.com.mm/union-minister-for-foreign-affairs-pays-a-visit-to-thailand-at-the-invitation-of-the-thai-prime-minister/)

[6] Tim Newton “Thai special envoy to Myanmar warns not to cancel Burmese military” Thaiger June 12, 2022 (https://thethaiger.com/news/regional/myanmar/thai-special-envoy-to-myanmar-warns-not-to-cancel-burmese-military)

[7] “SAC Chairman Prime Minister Senior General Min Aung Hlaing accepts credentials of Thai ambassador to Myanmar” Global New Light of Myanmar December 8, 2022 p. 1

[8] “Discussing the Dawai deep sea port project with the Thai ambassador to Myanmar” Popular News Journal December 8, 2022 (https://www.popularmyanmar.com/?p=94380)

MOST READ

Thai Politics

3 May 2023

แดง เหลือง ส้ม ฟ้า ชมพู: ว่าด้วยสีในงานออกแบบของพรรคการเมืองไทย  

คอลัมน์ ‘สารกันเบื่อ’ เดือนนี้ เอกศาสตร์ สรรพช่าง เขียนถึง การหยิบ ‘สี’ เข้ามาใช้สื่อสาร (หรืออาจจะไม่สื่อสาร?) ของพรรคการเมืองต่างๆ ในสนามการเมือง

เอกศาสตร์ สรรพช่าง

3 May 2023

Politics

23 Feb 2023

จากสู้บนถนน สู่คนในสภา: 4 ปีชีวิตนักการเมืองของอมรัตน์ โชคปมิตต์กุล

101 ชวนอมรัตน์สนทนาว่าด้วยข้อเรียกร้องจากนอกสภาฯ ถึงการถกเถียงในสภาฯ โจทย์การเมืองของก้าวไกลในการเลือกตั้ง บทเรียนในการทำงานการเมืองกว่า 4 ปี คอขวดของการพัฒนาสังคมไทย และบทบาทในอนาคตของเธอในการเมืองไทย

ภัคจิรา มาตาพิทักษ์

23 Feb 2023

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • Always Active

Save