fbpx

20 ผลงานใหม่ ยอดอ่านสูงสุดของ The101.World เดือนมีนาคม 2565

Spotlight ประจำเดือนมีนาคม 2565

แกะห่อ ‘ยาเสพติด’ พิษร้าย(?)ของสังคมไทย

ปัญหายาเสพติดขึ้นชื่อว่าเป็นหนึ่งใน ‘พิษร้าย’ ของสังคมไทยที่ทั้งเรื้อรังและรุนแรงมาโดยตลอด แม้ที่ผ่านมาเราจะใช้กฎหมายและมาตรการปราบปรามผู้เสพ-ผู้ค้าอย่างรุนแรง แต่ผลลัพธ์กลับไม่เป็นไปดั่งที่ทุกฝ่ายคาดหวัง มิหนำซ้ำ ยังเกิดปัญหา (ที่ไม่ตั้งใจ) ตามมาอีกมากมาย ทั้งนักโทษล้นเรือนจำ การตีตราอดีตผู้ต้องขังคดียาเสพติด ระบบการบำบัดฟื้นฟูผู้เสพที่ยังคงต้องการการพัฒนา

ปรากฏการณ์เหล่านี้กระตุกเตือนให้สังคมไทยต้องกลับมาทบทวนว่า การแก้ปัญหายาเสพติดด้วยมาตรการเด็ดขาดรุนแรงคือคำตอบของสังคมไทยจริงหรือ นี่อาจถึงเวลาที่สังคมไทยต้องปรับเปลี่ยนความคิด เปลี่ยนมองมุมใหม่เรื่องยาเสพติด กฎหมาย และลบล้างมายาคติที่เคยมี

101 ร่วมกับ สถาบันเพื่อการยุติธรรมแห่งประเทศไทย (TIJ) ชวนคุณแกะห่อยาเสพติดที่ถูกแปะป้ายว่าเป็น ‘พิษร้าย’ ในสายตาสังคมไทย พินิจพิเคราะห์ ทำความเข้าใจหลักการทางกฎหมาย กรอบนโยบายยาเสพติดที่มีประสิทธิภาพ สัมผัสชีวิตและเรื่องราวอดีตผู้ต้องขัง เพื่อร่วมกันสร้างทางออกที่แท้จริงและยั่งยืน

101PUB – 101 Public Policy Think Tank ศูนย์ความรู้นโยบายสาธารณะ

101 เปิดตัว “101 PUB” – 101 Public Policy Think Tank
ศูนย์ความรู้นโยบายสาธารณะเพื่อการเปลี่ยนแปลง

“101 PUB” มุ่งทำงานวิจัยและสื่อสารความรู้ด้านนโยบายสาธารณะของไทยในบริบทโลกใหม่ บนฐานวิชาการ ฐานการพัฒนา และฐานประชาธิปไตย เพื่อตอบโจทย์สำคัญคือการเพิ่มพลังของประชาชนด้วยข้อมูลและชุดความรู้ที่มีคุณภาพ ให้ประชาชนสามารถนำไปใช้ประกอบตัดสินใจอย่างดีที่สุดเท่าที่เป็นไปได้ ในเรื่องสำคัญที่มีความหมายต่อชีวิตส่วนตัว ครอบครัว และสังคม

“101 PUB” โฟกัสการทำงานใน 4 ประเด็นใหญ่ ได้แก่ 1. การสร้างประชาธิปไตย ทั้งในเชิงสถาบันและวัฒนธรรม 2. การพัฒนาที่นับรวมทุกคน โดยเฉพาะการสร้างความเป็นธรรมทางเศรษฐกิจ และความยั่งยืน 3. การฟื้นฟูหลักนิติธรรมในสังคมไทย เช่น การปฏิรูประบบยุติธรรม การปฏิรูปกฎหมายบนวิถีประชาธิปไตย และ 4. การพัฒนาเด็กและระบบนิเวศการเรียนรู้ เพราะการพัฒนาเด็กคือการสร้างอนาคตใหม่ของสังคม โดยเป้าหมายสุดท้ายของการพัฒนาเด็กคือการทำให้เด็กสามารถเติบโตอย่างเต็มศักยภาพสูงสุดตามเส้นทางที่แต่ละคนได้เลือกเอง และสร้างอนาคตที่ดีที่สุดให้กับตัวเองได้

อ่านผลงาน 101 PUB Policy ได้ที่ https://www.the101.world/category/10pub/

20 ผลงานใหม่ ยอดอ่านสูงสุดของ The101.World เดือนมีนาคม 2565 

ส่องสนามเลือกตั้งประธานาธิบดีเกาหลีใต้ 2022

ส่องสนามเลือกตั้งประธานาธิบดีเกาหลีใต้ 2022

โดย เสกสรร อานันทศิริเกียรติ 

“แม้ผู้สมัครทั้งสองจะมีนโยบายเป็นเครื่องมือสำคัญในการเล่นเกม แต่ทั้งสองฝ่ายกลับเลือก ‘โคลน’ มาใช้สาดสู้กันในช่วงสองเดือนก่อนการเลือกตั้ง มีการขุดบรรดาเรื่องอื้อฉาวเลวร้ายของทั้งสองฝ่ายมาแชร์และแฉกันอย่างเต็มที่ รองศาสตราจารย์ ดร. คิม ฮย็อง-อา มหาวิทยาลัยแห่งชาติออสเตรเลียตั้งคำถามว่าการเลือกตั้งครั้งนี้อาจเป็นการเลือก ‘คนที่มีความเป็นปีศาจน้อยกว่า’ (lesser evil)”

เสกสรร อานันทศิริเกียรติ พามองสนามเลือกตั้งประธานาธิบดีเกาหลีใต้ 2022 เปรียบเทียบพื้นเพ ภาพลักษณ์ และวิสัยทัศน์ของผู้สมัครเด่นๆ โดยเฉพาะ อี แช-มย็อง จากพรรครัฐบาล Democratic Party สายก้าวหน้า และยุน ซ็อก-ย็อล จากพรรคฝ่ายค้าน People Power Party สายอนุรักษนิยม พร้อมฟังความคิดเห็นของประชาชนผู้มีสิทธิเลือกตั้งชาวเกาหลีใต้

ปูติน ‘รีเซ็ต’ ระเบียบโลก แต่ดันเข้าทางสหรัฐฯ

โดย อาร์ม ตั้งนิรันดร 

อาร์ม ตั้งนิรันดร เขียนถึง ความเปลี่ยนแปลงในระเบียบโลกที่ถูกสั่นคลอนโดยสงครามรัสเซีย-ยูเครน ซึ่งย้อนศรความตั้งใจของรัสเซียที่จะ ‘รีเซ็ต’ ระเบียบโลกให้เข้าทางรัสเซีย-จีน นำไปสู่ความได้เปรียบของสหรัฐฯ และโลกสองขั้วที่แยกห่างออกจากกันยิ่งขึ้น

“หนึ่ง สงครามยูเครนผลักให้พันธมิตรตะวันตกและนาโตรวมพลังกันเป็นหนึ่งเดียวและเหนี่ยวแน่นที่สุด เพราะภัยสงครามมาจ่อที่หน้าประตูแล้ว”

“สอง แม้หลายคนจะมองว่ายูเครนจะเป็นตัวเบี่ยงเบนความสนใจของสหรัฐฯ จากการต่อสู้กับจีน แต่ก็อาจไม่เป็นเช่นนั้น เพราะสหรัฐฯ ประกาศชัดเจนว่าจะไม่มาร่วมรบในยูเครน จึงไม่ต้องมาพัวพันกับความวุ่นวายในยุโรปอย่างเต็มตัว ในขณะเดียวกัน สหรัฐฯ กลับสามารถปลุกพันธมิตรในยุโรปและในเอเชียให้มองจีนและรัสเซียเป็นภัยคุกคามคล้ายๆ กัน”

“สาม สงครามยูเครนยังส่งผลให้สถานะของดอลลาร์สหรัฐฯ แข็งแกร่งขึ้น”

THE RESCUE – ‘ภารกิจกู้ภัย’ ปาฏิหาริย์บีบหัวใจ เหนือวิสัยผู้เชี่ยวชาญ

โดย กัลปพฤกษ์ 

‘กัลปพฤกษ์’ เขียนถึงสารคดี The Rescue (2021) ที่จับจ้องไปยังภารกิจกู้ภัยจากเหตุการณ์ทีมนักฟุตบอลเยาวชน ‘หมูป่า’ จากเชียงราย ติดอยู่ในถ้ำหลวง จังหวัดเชียงราย โดยนับเป็นหนึ่งในสารคดีที่สำรวจภารกิจนี้ได้มีมิติความเป็นมนุษย์อย่างที่สุด

“สำหรับผู้ชมที่คิดว่า เคยติดตามข่าวและสถานการณ์เหล่านี้จากสื่อต่างๆ มาอย่างใกล้ชิดจนไม่น่าจะมีอะไรใหม่ให้ดูอีกแล้ว ก็คงจะต้องรู้สึกประหลาดใจเมื่อได้เห็นว่าสารคดี The Rescue ยังมีเนื้อหาส่วนที่ไม่เคยได้รับการเผยแพร่ในวงกว้างผ่านทางสื่อต่างๆ อยู่อีกมากมาย”

“สิ่งที่วิเศษมากๆ ในสารคดีเรื่องนี้ก็คือ ผู้กำกับทั้งสองเลือกที่จะเล่าโดยจับเนื้อหาเรื่องราวหลักไปที่อาสาสมัครนักดำน้ำในถ้ำจากประเทศอังกฤษสองราย ผู้ค้นพบทีมหมูป่า ณ เนินนมสาวเป็นคนแรก และมีส่วนสำคัญในการลำเลียงพวกเขาออกมาสู่ปากถ้ำยาวหลายกิโลเมตรทีละคนละคน”

“The Rescue จึงเป็นสารคดีที่มีความเป็นมนุษย์อันน่าชื่นชม แสดงพลังศักยภาพของมนุษย์ที่สามารถเอาชนะสิ่งที่แทบจะหาความเป็นไปไม่ได้ และกลายเป็นความสำเร็จอันน่าปีติยินดีในที่สุด”

โตมากับจอ ตอนที่ 2

โดย ประเสริฐ ผลิตผลการพิมพ์ 

นพ.ประเสริฐ ผลิตผลการพิมพ์ สะท้อนปัญหาการศึกษาช่วงโควิด-19 และการศึกษาไทย ผ่านมุมสุขภาพจิต ครู นักเรียนที่หลุดนอกระบอบ และบ้านที่กลายเป็นโรงเรียน ผ่านสารคดี ‘โตมากับจอ’

“ผมขยายความว่าการศึกษาวันนี้ยังคงพยายามมีอำนาจเหนือคนทุกคน กดดันให้ครูและเด็กๆ สอนและเรียนหนังสือให้ได้ ทั้งที่ทำมิได้ หมายถึงครูสอนมิได้ นักเรียนเรียนมิได้ และการศึกษานั้นเองที่ไม่มีปัญญาจะกดดันอะไรได้”

“ครูรู้วิธีส่งผลงานปลอม และพ่อแม่รู้วิธีทำการบ้านให้ลูกกันหมดแล้ว ที่การศึกษาไม่ยอมทำคือลดตัวลง ปรับตัวเอง ไปจนถึงเปลี่ยนแปลงตัวเองขนานใหญ่เพื่อช้อนรับการเรียนรู้ของเด็กๆ ทุกคนในประเทศไทย”

“ไม่แน่ใจว่าเขียนเท่านี้ผู้บริหารระดับสูงจะเข้าใจไหม ไม่นับว่าไม่เข้าใจจริงๆ หรือแกล้งไม่เข้าใจ”

นักเขียนฟรีแลนซ์ไทย กับ 20 ปีที่ค่าแรงไม่เคยขยับ 

โดย สุดารัตน์ พรมสีใหม่ 

หนึ่งในอาชีพที่กำลังเจอภาวะ ‘ของแพง-ค่าแรงเท่าเดิม’ คืออาชีพนักเขียนฟรีแลนซ์ในสื่อนิตยสารและสื่อออนไลน์ไทย ที่ยังได้รับค่าตอบแทนคงอยู่ในอัตราเดิมมานับ 20 ปี ที่สำคัญ ภูมิทัศน์สื่อทุกวันนี้ได้เปลี่ยนจากหน้ากระดาษสู่โลกออนไลน์ที่โครงสร้างต้นทุนและโมเดลธุรกิจต่างจากสื่อในอดีตอย่างสิ้นเชิง คำถามจึงเกิดขึ้นว่า “ในยุคที่ใครก็เป็นสื่อได้ ทำไมค่าต้นฉบับนักเขียนฟรีแลนซ์ถึงคงราคาเท่าเดิมอยู่?”

“เรื่องความยาว ความยาก และซับซ้อนของเนื้อหาเป็นประเด็นที่เราอาจจะต้องปรับกันเลยนะ บางทีคนจ้างคิดว่าอันนี้หนึ่งหน้า A4 เอง ทำงานสบายๆ เอาไป 500 แต่ความจริงแล้วเวลานักเขียนจะเขียนอะไร มันต้องสั่งสมความรู้ความเข้าใจในประเด็นนั้นๆ การที่เราจะเขียนได้ครึ่งหน้ากระดาษ A4 เราต้องอ่านเปเปอร์มาตั้งกี่ชิ้น เราสั่งสมเรียนรู้ประเด็นนี้ ตามข่าว ตามเรียนรู้มันมานานกี่ปี มันมีต้นทุนเรื่องการสั่งสมความรู้ตรงนี้อยู่”

“ทั้งหมดที่กล่าวไปยังไม่ได้พูดเรื่องค่าน้ำ ค่าไฟ ค่าอินเทอร์เน็ตที่ใช้ในการอ่านสิ่งเหล่านั้น มันมีต้นทุนแฝงที่มองไม่เห็น เขามองแค่ความยาว มองแค่ว่าพิมพ์ปุ๊บๆ เสร็จ ซึ่งตรงนี้ไม่ได้ ต้องปรับทัศนคติตรงนี้กันใหม่มากๆ เลย เราวัดแค่ความยาวไม่ได้ ต้องวัดความซับซ้อน ความเฉพาะทาง ความนิช (niche) ของหัวข้อที่คุณต้องการด้วย”

“ในความคิดของเราคือ ไม่ได้มองแค่เรื่องค่าเรื่องขั้นต่ำที่ต้องเพิ่มขึ้นนะ เรามองมันเป็นการให้คุณค่าต่องานนั้น คุณไม่ต้องให้เท่ากันเป๊ะๆ ก็ได้ แต่ถ้ารู้สึกว่างานนี้มีคุณค่าจริงๆ ก็เพิ่มค่าเรื่องขึ้นไหม เพื่อให้นักเขียนอยากพัฒนาให้งานดีขึ้นเรื่อยๆ เพื่อได้รับค่าเรื่องที่เพิ่มขึ้น”

ก้าวต่อไปของสงครามรัสเซีย-ยูเครน: โลกบนเส้นบางๆ ระหว่าง ‘สงคราม’ และ ‘สันติภาพ’

โดย ณรจญา ตัญจพัฒน์กุล 

“การคิดแบบสภาพจริงนิยมก็ ‘เตือน’ มหาอำนาจ [รัสเซีย] ว่า การขยายอำนาจที่ล้นเกินจะนำมาซึ่งความอหังการ (hubris) ที่นำพาหายนะมายังมหาอำนาจเอง … หากปราศจากการยับยั้งการใช้อำนาจก็จะนำมาซึ่งความหายนะ”

เมื่อประธานาธิบดีรัสเซีย วลาดิเมียร์ ปูติน ประกาศ ‘ปฏิบัติการทางการทหารพิเศษ’ บุกโจมตียูเครนในรุ่งเช้าวันที่ 24 กุมภาพันธ์ 2022 สงครามและโศกนาฏกรรมครั้งใหญ่ก็เริ่มเปิดฉากขึ้นใจกลางยุโรป

ทำไมการหาทางออกที่สันติร่วมกันระหว่างโลกตะวันตก รัสเซีย และยูเครนดูเหมือนจะเผชิญความไม่ลงรอยอย่างมาก? อะไรคือ ‘ที่มา’ ของสงครามและความขัดแย้งครั้งนี้? อะไรคือฉากทัศน์ในอนาคตของสงครามครั้งนี้? สงครามระยะสั้น? สงครามยืดเยื้อ? การเจรจาสันติภาพยังคงพอเป็นทางออกหรือไม่? หรือจะลุกลามไปสู่สงครามโลกครั้งที่สามและสงครามเย็นครั้งที่สอง? สงครามครั้งนี้เขย่าระเบียบความมั่นคงและระเบียบโลกขนาดไหน? และอะไรคือท่าทีของไทยในเวทีโลก?

ในช่วงเวลาที่อุณหภูมิความตึงเครียดระหว่างยูเครนและรัสเซียยังคงไม่มีท่าทีที่จะเย็นลง ควบคู่ไปกับความพยายามในการเปิดประตูการเจรจาอีกครั้ง 101 ชวนถอดรหัส ‘สงครามรัสเซีย-ยูเครน’ ท่ามกลางสภาวะฝุ่นตลบ ผ่านมุมมองแบบความสัมพันธ์ระหว่างประเทศจาก จิตติภัทร พูนขำ อาจารย์ประจำสาขาการระหว่างประเทศ คณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์

ชีวิตฟ้าหลังฝนริมทะเลอ่าวนาง สนทนาหลากชีวิตในวันกระบี่เดียวดาย

โดย ปาณิส โพธิ์ศรีวังชัย 

“ประเมินจากจำนวนร้านอาหารกับจำนวนนักท่องเที่ยวที่เดินอยู่บริเวณอ่าวนางแล้วไม่ค่อยสัมพันธ์กันมากนัก ร้านรวงและผับบาร์มีอยู่หลายร้อยร้าน เต็มที่ก็รับนักท่องเที่ยวได้หลายพันคนจนถึงหลักหมื่น แต่เท่าที่ดูด้วยสายตา มีนักท่องเที่ยวอยู่แค่หลักร้อยเท่านั้น ซึ่งไม่แปลก เพราะกระบี่เพิ่งเปิดรับนักท่องเที่ยวเมื่อไม่นานนี้ หลังจากต้องปิดไปนานจากภาวะโรคระบาด หรืออาจเป็นไปได้ว่ามนุษย์ค้างคาวยังไม่ตื่นจากการหลับใหล และสุราที่สั่งสมจากเมื่อคืนยังไม่หมดฤทธิ์”

“ถ้าจะใช้อะไรตัดสินใจเลือกเข้าสักบาร์ ก็คงเป็นเสียงเพลง แสงในร้าน และเครื่องดื่มในตู้ที่ถูกจริต บังเอิญที่บาร์ตรงหัวโค้งอ่าวนางมีทุกอย่างที่ว่ามา”

“Puff, the magic dragon
Lived by the sea
And frolicked in the autumn mist
In a land called Honalee”

“ท่อนร้องจากเพลง Puff, The Magic Dragon ของ Peter, Paul & Mary แว่วออกมาจากในร้าน โต๊ะกลมและเก้าอี้หวายยังว่างอยู่ทุกโต๊ะ หน้าร้านเปิดรับทะเล โถงปูนเปลือยเปิดโล่งไร้กำแพง หลังบาร์เปิดไฟสีส้มส่งสัญญาณว่าพร้อมให้บริการ บาร์เทนเดอร์ผมทรงสกินเฮดกำลังง่วนอยู่กับการเช็ดแก้ว เขาสวมเสื้อขาวล้วนทับด้วยเชิ้ตลายสก็อตสีฟ้า บุคลิกของเขาทำให้ความเร่งรีบกลายเป็นเรื่องหยาบคาย”

อ่านการต่อสู้และชีวิตหลังการล็อกดาวน์ของบาร์เทนเดอร์ นักดนตรี เจ้าของโรงแรม และคนเลี้ยงช้าง ในสารคดีว่าด้วยชีวิตของผู้คนในธุรกิจท่องเที่ยวที่อ่าวนาง จ.กระบี่

เมื่อ 112 ไม่อนุญาตให้คุณมีทั้งงานและความสัมพันธ์:
6 ปีแห่งการสูญเสียโอกาสของ หฤษฎ์ มหาทน

โดย พิมพ์ชนก พุกสุข

“เราพูดในมุมคนที่โดนคดีแล้วประกันตัวออกมาแล้วนะ ชีวิตมันไม่แน่นอนเลย ไม่ใช่ว่าเราออกมาได้แล้วโล่งสบาย กลับไปทำงาน กลับไปมีความสัมพันธ์ใดๆ ได้ มันเหมือนเป็นความหลอนตลอดเวลาเพราะไม่รู้ได้เลยว่าศาลจะตัดสินเมื่อไหร่ แล้วถ้าศาลตัดสินว่าเราต้องกลับไปอยู่ในเรือนจำ เราก็อาจต้องกลับไป ดังนั้นมันจึงเป็นไปไม่ได้เลยที่จะวางแผนโปรเจ็กต์ระยะยาว”

“สิ่งที่คนโดนคดีเหล่านี้เจอนี่มันไม่ใช่ความเศร้านะครับ มันเป็นความโกรธ บางคืนเราก็นอนไม่หลับเพราะโกรธ รู้สึกว่าสิ่งที่เกิดขึ้นกับเรามันไม่ยุติธรรมเลย สิ่งที่ทำได้คือเอาไบเบิลมาอ่านบทสดุดีไปเรื่อยๆ ให้เรารู้สึกว่ามันดีขึ้น”

“ผมยังเชื่อในคุณค่าของหลายสิ่งหลายอย่าง และไม่รู้สึกว่าความเป็นไทยทั้งก้อนมันมีปัญหา หรือไม่ได้รู้สึกว่าระบบเดิมที่เคยมีมาจากแต่ก่อนควรพังทลายทั้งหมด แต่ประเด็นคือคนมันทำให้ระบบแย่ลงด้วยตัวเอง ตอนแรกระบบเคยดีของมันอยู่แล้ว จนคนไปโหนมันแล้วเอามาใช้เป็นเครื่องมือ”

“ที่จริงผมว่าคนที่วิพากษ์วิจารณ์ประเทศไทยเกิดมาจากความรักชาตินะ เซนส์หนึ่งที่รู้คือยังรู้สึกว่าฉันเป็นคนไทย ฉันอยากให้ประเทศเราดีกว่าประเทศรอบๆ อยากเห็นความรุ่งโรจน์ของไทย เราก็ต้องการความ glory to Thailand ไม่ได้อยากรู้สึกถูกประเทศอื่นๆ แซง ได้ยินแล้วรู้สึกยอมไม่ได้ มันคือเซนส์ของ nationalism การรู้สึกว่าฉันเป็นคนไทยแล้วฉันก็ไม่ยอมแพ้คนชาติอื่นๆ หรอก”

101 สนทนากับ หฤษฎ์ มหาทน นักเขียนไลต์โนเวลและเจ้าของร้านราเมงที่โดนดำเนินคดี 112 ในปี 2016 แม้ล่าสุดศาลเพิ่งวินิจฉัยยกฟ้องกรณีดังกล่าว หากแต่ความดำมืดของหกปีที่โดนคดี และการโดนขังฟรี 70 วัน ดูจะยังทิ้งบาดแผลไว้ตรงไหนสักแห่ง

‘Memoria’ เงี่ยสดับรับสัมผัส ย้อนสังสารวัฏ แห่งห้วงความทรงจำ 

โดย กัลปพฤกษ์ 

‘กัลปพฤกษ์’ เขียนถึง ‘Memoria’ (2021) หนังลำดับล่าสุดของ อภิชาติพงศ์ วีระเศรษฐกุล ที่คว้ารางวัล Jury Prize จากเทศกาลหนังเมืองคานส์ปีล่าสุดมาได้ โดยชี้ว่า นี่คือหนังที่สดใหม่หากแต่ชวนคุ้นเคยในฐานะความเป็นนักทำหนังทดลองของอภิชาติพงศ์เป็นอย่างยิ่ง

“ทำไมหนังอย่าง ‘memoria’ จึงเป็นงานที่จะต้องชมในโรงภาพยนตร์เท่านั้น คำตอบง่ายๆ ก็คือผู้กำกับอภิชาติพงศ์ วีระเศรษฐกุล เป็นศิลปินที่ให้ความสำคัญกับประสบการณ์ในการเสพงานและใส่ใจกับ ‘สิ่งแวดล้อม’ ขณะรับชมงานของผู้ชมของเขาอย่างจริงจังมาตั้งแต่เมื่อครั้งทำหนังสั้นทดลองตั้งแต่ช่วงกลางยุค 1990s จนถึงภาพยนตร์ขนาดยาวทุกๆ เรื่อง”

“อภิชาติพงศ์ใช้เป็นสนามพื้นที่ทดลองเชิงภาพยนตร์โดยเฉพาะเรื่องของ ‘เสียง’ ในฐานะของปรากฏการณ์ และการใช้ ‘เสียง’ ในฐานะเครื่องมือเพื่อสื่อสารห้วงอารมณ์และความรู้สึกต่างๆ ตั้งแต่เสียง ‘ปัง’ ที่ผู้ชมจะได้ยินร่วมกับเจสสิกาตลอดเวลา แต่ไม่สามารถสืบหาที่มา ไปจนถึงความทรงจำที่มาในรูปของ ‘เสียง’”

“โดยหากจะมองจากหลักทฤษฎีวิชาการทางภาพยนตร์ การวิเคราะห์ในเรื่องของ ‘เสียง’ ก็มิได้มีปัจจัยอะไรให้เล่นได้เท่ากับงานภาพ จุดใหญ่ๆ ก็เห็นจะมีเพียงเรื่องของการแยกแยะอิทธิพลของ diegetic sound หรือเสียงที่เกิดขึ้นจริงๆ ในฉากตามเรื่องราว”

“ศาสตร์ศิลป์อีกแขนงที่อภิชาติพงศ์ตั้งใจนำมาใส่ไว้ในเรื่องนี้ก็คืองานวรรณกรรมที่อาศัยความโดดเด่นของการอ่านออกเสียง นั่นคือ บทกวีนิพนธ์ ซึ่งก็มีตั้งแต่บทกวีลีลาวิทยาศาสตร์ประกาศห้วงความคิดของเชื้อบักเตรี ที่ฆวนอ่านให้เจสสิกาฟัง และบทกวี free verse เกี่ยวกับราตรีไร้การหลับใหลสองบรรทัดจบ”

“ด้วยเนื้อหาหลักที่เล่าถึงการสืบหาที่มาของเสียง ‘ปัง’ ประหลาดในหัวของเจสสิกาผ่านวิธีการในแบบอภิชาติพงศ์นี้เอง ที่ทำให้เส้นแบ่งระหว่าง diegetic และ non-diegetic sound ใน ‘memoria’ เกิดความพร่าเลือน และเป็นจุดบ่งฟ้องได้อย่างดีว่า อภิชาติพงศ์จะต้องละเอียดประณีตกับการออกแบบงานเสียงในระดับยิ่งยวดขนาดไหนกับการเล่าเรื่องราวที่อาศัย ‘เสียง’ ในการถ่ายทอดเช่นนี้”

ผลกระทบและแนวทางการรับมือของไทยจากสถานการณ์สงครามในยูเครน

ผลกระทบและแนวทางการรับมือของไทยจากสถานการณ์สงครามในยูเครน 

โดย ปิติ ศรีแสงนาม 

ปิติ ศรีแสงนาม ชวนมองผลกระทบของสงครามรัสเซีย-ยูเครน ที่มีต่อประเทศไทย ทั้งในแง่เศรษฐกิจและการเมืองระหว่างประเทศ พร้อมเสนอแนะแนวทางการรับมือ

“ประเทศไทยนำเข้าปุ๋ย รวมทั้งธัญพืช (ข้าวสาลีและผลิตภัณฑ์) จำนวนมากจากรัสเซียและยูเครน โดยรัสเซียและยูเครนถือเป็นผู้ผลิตวัตถุดิบชนิดนี้รายหลักของโลก (ส่วนแบ่งตลาดรวมกันประมาณ 30% ของตลาดโลก) ดังนั้นหากไม่มีมาตรการใดๆ ออกมารองรับ จะทำให้ผู้ประกอบการไทยในกลุ่มผู้ผลิตอาหารสัตว์ซึ่งใช้วัตถุดิบเหล่านี้เป็นสินค้าตั้งต้น ต้องเผชิญกับโครงสร้างต้นทุนที่ปรับตัวสูงขึ้น ซึ่งจะทำให้ราคาอาหารสัตว์สูงขึ้น อย่างราคาไข่ไก่ เนื้อหมู เนื้อไก่ ก็จะปรับตัวสูงขึ้น (พวกเราคงยังจำกันได้ว่า เมื่อ 1-2 เดือนที่ผ่านมา ขณะที่ราคาเนื้อหมูแพงขึ้น ประชาชนเดือดร้อนอย่างไร)”

“ราคาที่สูงขึ้นนั้นจะกดดันภาวะเงินเฟ้อ ซึ่งปัจจุบันน่าจะกำลังขึ้นจนใกล้ทะลุเป้าหมายเงินเฟ้อ (Inflation Targeting) ของธนาคารแห่งประเทศไทยแล้ว แม้ว่าราคาอาหารจะไม่ได้ถูกบรรจุอยู่ในรายการ Core Inflation Rate ที่เป็นเป้าหมายการกำหนดนโยบายการเงินของธนาคารกลาง แต่ก็สร้างแรงกดดันทางจิตวิทยาให้กับประชาชนที่รู้สึกตนเองกำลังจนลง อำนาจซื้อลดลง และในเหตุการณ์ที่เลวร้าย แรงกดดันเหล่านี้จะเปลี่ยนภาระทางเศรษฐกิจเป็นสถานการณ์กดดันทางการเมืองในประเทศ”

ข้อเสนอที่ไม่อาจปฏิเสธ The Godfather 

โดย นรา  

ในวาระครบรอบ 50 ปี ‘นรา’ เขียนถึงหนึ่งในตำนานหนังมาเฟีย ‘The Godfather’ ผลงานกำกับโดยฟรานซิส ฟอร์ด คอปโปลา

“จนถึงปัจจุบัน The Godfather ขึ้นหิ้งเป็นหนังคลาสสิกอย่างไร้ข้อกังขาใดๆ ทั้งสิ้น เป็นหนึ่งในหนังอเมริกันที่ดีที่สุดตลอดกาล, เป็นหนังอาชญากรรมที่ยกระดับและสร้างมาตรฐานสูงลิ่วให้กับหนังตระกูลนี้, เป็นแรงบันดาลใจทางศิลปะให้แก่หนังรุ่นหลังจำนวนมาก, เป็นหนังที่เข้าใกล้คำว่า ‘สมบูรณ์แบบ’”

ในพระปรมาภิไธยพระมหากษัตริย์: ว่าด้วยพระราชอำนาจในทางตุลาการ

โดย อติเทพ ไชยสิทธิ์ 

อติเทพ ไชยสิทธิ์ ชวนสำรวจแนวคิดเรื่องการตัดสินคดีความในพระปรมาภิไธยของพระมหากษัตริย์ และปัญหาที่เกิดขึ้นจากความเข้าใจผิดของตุลาการไทย

“ไม่ใช่เพียงแค่ในคำพิพากษาของศาลไทยที่ขึ้นต้นด้วยข้อความว่า ‘ในพระปรมาภิไธยพระมหากษัตริย์’ เท่านั้น เรามักได้ยินและได้เห็นผู้พิพากษาบางคนกล่าวอ้างถึงความพิเศษของอำนาจตุลาการทำนองว่าพวกเขานั้นทำงานเป็น ‘ข้ารับใช้’ หรือเป็น‘สายตรงของพระมหากษัตริย์’ เนื่องจากพวกเขาเป็นเพียงคนกลุ่มเดียวที่สามารถใช้อำนาจในนามของพระมหากษัตริย์โดยไม่ต้องรอให้พระมหากษัตริย์ลงพระปรมาภิไธยรับรองเสียก่อน”

“ผู้เขียนไม่ทราบว่า ‘ความเชื่อ’ ที่ถือว่าอำนาจตุลาการเป็น ‘สายตรงของพระมหากษัตริย์’ นี้มีจุดเริ่มต้นมาอย่างไร แต่นี่เป็นความเข้าใจที่ผิด”

อาชญากรรมรุกราน (crime of aggression) 

โดย ปกป้อง ศรีสนิท

ปกป้อง ศรีสนิท เขียนถึงอาชญากรรมรุกราน (crime of aggression) กรณีข้อพิพาทระหว่างรัสเซียกับยูเครนซึ่งทำท่าจะลุกลามบานปลายว่าผิดกฎหมายและสนธิสัญญาระหว่างประเทศอย่างไรบ้าง

“ประเทศที่ได้ชื่อว่าเป็นผู้รุกรานจะมีความรับผิดภายใต้กรอบกฎหมายระหว่างประเทศ และผู้นำของประเทศที่สั่งให้มีการรุกรานอาจมีความรับผิดทางอาญาข้อหา ‘อาชญากรรมรุกราน’ (crime of aggression) เป็นการเฉพาะตัว”

“ศาลอาญาระหว่างประเทศ (International Criminal Court) ได้กำหนดให้อาชญากรรมรุกราน (crime of aggression) เป็นหนึ่งในสี่ฐานความผิดอาญาร้ายแรงสูงสุด”

“สำหรับความผิดสามข้อหา คือ ความผิดล้างเผ่าพันธุ์มนุษย์ อาชญากรรมต่อมวลมนุษยชาติ และอาชญากรรมสงคราม ศาลอาญาระหว่างประเทศสามารถดำเนินคดีผู้กระทำความผิดดังกล่าวได้ หากการกระทำได้เกิดขึ้นในดินแดนรัฐภาคีธรรมนูญกรุงโรม หรือกระทำโดยคนสัญชาติของรัฐภาคีธรรมนูญกรุงโรม”

‘ชุมชนจินตกรรม’ ของวลาดิเมียร์ ปูติน 

โดย ธเนศ อาภรณ์สุวรรณ 

“นักปรัชญารัสเซียที่ปูตินนับถือและยกย่องให้เป็น ‘นักปรัชญาแห่งราชสำนักเครมลิน’ ของเขาคือไอแวน อิลยิน…

“เขา (อิลยิน) ต่อต้านรัฐบาลสหภาพโซเวียตและอุดมการณ์คอมมิวนิสต์ งานของเขาจึงไม่เป็นที่รู้จักและพูดถึงเลยในสหภาพโซเวียต จนกระทั่งหลังจากสหภาพโซเวียตสลายตัวไปและเกิดสหพันธรัฐรัสเซียขึ้นมาแทน นั่นแหละที่ความคิดการเมืองของไอแวน อิลยินกลับมาชูแสงสว่างนำทางให้แก่รัสเซียที่แตกแยกและไม่รู้ว่าอนาคตจะไปทางไหนด้วยอุดมการณ์อะไร”

“อิลยินกล่าวว่ารัสเซียเป็นอารยธรรมที่บริสุทธิ์หรือไร้มลทิน ด้วยลักษณะอย่างธรรมชาติของอารยธรรมนี้ของรัสเซีย ทำให้รัสเซียในอดีตเป็นผู้สร้างและส่งออกความสมานฉันท์ไปทั่วโลก รัฐจึงไม่ใช่แค่พื้นที่และรัฐบาลในนั้น แต่ที่สำคัญกว่าคือการมีจิตวิญญาณของอารยธรรม”

“รัฐหรือจักรวรรดิเกิดมาจากการสร้างของพระเจ้า หลังจากนั้นมนุษย์ไม่สามารถบรรลุพระประสงค์ของพระเจ้า เพราะมนุษย์และโลกมีบาป จึงไม่สามารถสร้างชุมชนที่สมบูรณ์ของพวกเขาขึ้นมาได้ นอกจากต้องอาศัยผู้นำที่มีบุญญาบารมีหรือคุณธรรมสูงส่งมานำทางและพาพวกเขาไปสู่ความสมบูรณ์ในโลกนี้ได้”

“สำหรับอิลยิน อนาคตของรัฐจึงอยู่ที่ผู้นำคุณธรรมหรือ ‘พระมหาไถ่’ เมื่อพูดถึงการเมืองการปกครอง เขาบอกว่ามันคือ ‘ศิลปะของการกำหนดว่าใครคือศัตรูและทำให้มันไม่สามารถทำอะไรได้’”

ธเนศ อาภรณ์สุวรรณ เขียนถึงเหตุผลการบุกยูเครนของรัสเซียผ่านรากความเชื่อทางประวัติศาสตร์ ซึ่งเป็นแก่นคิดของปูตินที่ใช้ในการปกครองเสมอมา

ถอดรหัสวิกฤตรัสเซีย-ยูเครนผ่านเอเชียตะวันออกและอาเซียน 

โดย กานต์ธีรา ภูริวิกรัย

101 ชวนมองวิกฤตรัสเซีย-ยูเครน ไล่เรียงตั้งแต่ที่มาที่ไป จากมุมของรัสเซีย ท่าทีของรัฐในเอเชียตะวันออกและเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ไปจนถึงการคาดการณ์แนวโน้มในอนาคตที่อาจเกิดขึ้นได้สำหรับสงครามครั้งนี้

“เราอาจจะต้องมองหาตัวกลางในการเจรจามากขึ้น มีการจัดเวทีประชุมให้เกิดการเจรจาอย่างชัดเจน และอาจจะต้องถอยกันคนละครึ่งก้าวพร้อมทั้งแสดงจุดยืนว่ารัสเซียและยูเครนต้องการอะไร แต่การจุดแสดงยืนนี้ก็ควรจะอยู่ในรูปแบบของสนธิสัญญาเพื่อให้มีการปฏิบัติอย่างจริงจัง เพื่อให้สงครามสิ้นสุดลงได้” – กัณฐัศศา พงษ์หิรัญ รักษาการผู้อำนวยการโครงการรัสเซียศึกษา คณะศิลปศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์

“จีนอยากให้ปัญหาดังกล่าวจบลงโดยไว เพราะการกระทำของปูตินส่งผลเสียต่อจีนในสองเรื่องใหญ่ เรื่องแรก คือโครงการ BRI โดยเฉพาะทางบกที่จะเชื่อมเอเชียเข้าด้วยกันผ่านตะวันออกกลาง ผ่านรัสเซีย ไปที่ยุโรปและแอฟริกา แต่การที่สินค้าของจีนจะเข้ายุโรป ต้องผ่านยูเครนกับเบลารุสอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ ซึ่งแน่นอนว่าถ้าสองประเทศนี้อยู่ในสภาวะสงครามย่อมไม่ส่งผลดีต่อโครงการ BRI ของจีนอย่างแน่นอน

“เรื่องที่สอง และเป็นปัญหาใหญ่กว่าเรื่องแรกคือ สิ่งที่ปูตินทำอาจกลายเป็นบรรทัดฐานแรกในการสร้างความยิ่งใหญ่ให้รัสเซีย สิทธิพลชี้ว่า แม้จีนกับรัสเซียจะมีความสัมพันธ์ที่ดีต่อกันหลังโซเวียตล่มสลาย ทว่าความสัมพันธ์ที่ดีนั้นมาจากการที่ปูตินมีจุดยืนที่แข็งกร้าวต่อโลกตะวันตกเหมือนกัน ซึ่งจีนคงไม่ชอบใจแน่นอน หากรัสเซียอยากเป็นมหาอำนาจที่ทะเยอทะยานอยากเป็นจักรวรรดิยิ่งใหญ่เหนือรัฐบอลติกหรือแถบคอเคซัส” – สิทธิพล เครือรัฐติกาล ที่ปรึกษาสถาบันเอเชียตะวันออกศึกษา และอาจารย์ประจำวิทยาลัยสหวิทยาการ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ 

ย้อนความทรงจำ เบื้องหลังความคิดและการถ่ายทำภาพยนตร์ ‘memoria’
สัมภาษณ์พิเศษกับ อภิชาติพงศ์ วีระเศรษฐกุล

โดย กัลปพฤกษ์

‘กัลปพฤกษ์’ สนทนากับ อภิชาติพงศ์ วีระเศรษฐกุล ถึงหนังลำดับล่าสุด Memoria (2021) ที่คว้ารางวัล Jury Prize จากเทศกาลหนังเมืองคานส์ปีล่าสุด ถึงกระบวนการถ่ายทำที่โคลอมเบีย, การทำงานที่ออกจากความเคยชิน, งานเสียงซึ่งเป็นเสมือนหัวใจสำคัญของเรื่อง ตลอดจนโปรเจ็กต์หนังเรื่องต่อไป

“คิดว่าเราใช้วิธี activate ความทรงจำของคนดูดีกว่าที่จะต้องมาบอกเป็นภาพ เพราะไอเดียหลักคือความเปิดกว้างของภาพยนตร์ แต่ละคนจะเข้าถึงได้ต่างกัน เรื่องนี้ก็เลยอยากให้มันเข้าไปขุดความนิ่ง ความโดดเดี่ยวของเราที่ซิงโครไนซ์กับเจสสิกาได้มากกว่า ซึ่งความโดดเดี่ยวก็ไม่ใช่เรื่องไม่ดีนะ มันก็สวยงามของมันได้เหมือนกัน พอคิดแบบนี้ก็เลยไปเน้นเรื่องการปั้นเสียงขึ้นมาจากความทรงจำ”

“ที่สะเทือนใจที่สุดก็คงเป็นผลตอบรับของคนดู เพราะหนังได้เปิดตัวออกฉายโรงที่โคลอมเบียประเทศแรกในโลกหลังจากคานส์ ก็มีการจัดงาน ทิลดาก็ไป เหมือนที่จัดที่ไทยนี้เลย มีถุง มีโปสเตอร์ เหมือนกันเปี๊ยบเลย คนก็ไปดูหนังกัน แล้วพวกเขาชอบมาก ดูหนังจบแล้วซึม ร้องไห้ คือเขาไม่เข้าใจว่ามันคืออะไร แต่เขารู้สึกว่ามันคือเรื่องของเขา”

จาก ‘ปราบปราม’ สู่ ‘บำบัด’ : แก้ปัญหายาเสพติด ผ่านประมวลกฎหมายยาเสพติดฉบับใหม่
กับ ศ.ดร.สุรศักดิ์ ลิขสิทธิ์วัฒนกุล 

โดย พิมพ์ชนก พุกสุข 

101 ชวน ศ.ดร.สุรศักดิ์ ลิขสิทธิ์วัฒนกุล ค้นหาทางออกของปัญหายาเสพติด ผ่านประมวลกฎหมายยาเสพติดฉบับใหม่ ที่ขยับไปจากการ ‘ปราบปราม’ สู่การ ‘ปรับเปลี่ยน’ และบำบัดผู้ติดยา

“ถ้าเราดูสถิติของผู้ต้องขัง จะพบว่าประมาณ 81 เปอร์เซ็นต์ ส่วนใหญ่เป็นกลุ่มคดียาเสพติด และเป็นผู้เสพที่มีปริมาณหรือหน่วยการใช้มากกว่าที่กฎหมายกำหนดนิดหนึ่ง เช่น สมมติกฎหมายกำหนดไว้ว่า 15 เม็ด ถ้ามี 16 เม็ดนี่สันนิษฐานว่าครอบครองเพื่อจำหน่ายไปเลย ซึ่งบทลงโทษก็แรงขึ้นอีก”

“ถ้าเราดูในประมวลกฎหมายยาเสพติดฉบับนี้ มีมาตรา 113 ระบุเรื่องการฟื้นฟูว่ากฎหมายเปิดโอกาสให้ตัวผู้เสพยาเดินเข้าหาเจ้าหน้าที่เอง ถ้าเขาไปแสดงตนว่าเสพยาและอยากหาย ก่อนที่เจ้าหน้าที่จะเป็นผู้ตรวจพบ แล้วไปทำตามกระบวนการบำบัดฟื้นฟู ก็จะกลายเป็นไม่มีความผิดเลย ไม่มีการดำเนินคดี เป็นเหตุยกเว้นความผิด”

“กฎหมายต่างๆ ที่ออกมา มีเรื่องระวางโทษที่เหมาะสมขึ้น จากเมื่อก่อนที่หนักกว่านี้เพราะเราต้องการปราบปราม แต่ในที่สุดแล้ว ผู้ที่ถูกกวาดเข้าไปอยู่ในเรือนจำก็เป็นรายเล็กรายน้อย ออกมาก็ทำความผิดอีก ดังนั้นหากดูสถิติในศาล คดียาเสพติด 81 เปอร์เซ็นต์ มีจำนวนมากกว่าทุกประเภทคดี”

“ผมมองว่าที่ผ่านมาเรามีสายเหยี่ยวเยอะมาก เน้นการป้องกัน ปราบปราม ออกความผิดรุนแรง แต่ไม่เห็นจะได้ผลเลย ฉะนั้น มาตรการที่น่าจะใช้ได้ดีมากคือมาตรการบำบัดฟื้นฟูที่ทั้งสมัครใจและถูกจับได้ เราให้สิทธิประโยชน์โดยการไม่เป็นความผิด น่าจะเป็นข้อดีมากกว่า”

ทำไมตำรวจไทยทำตาม ‘ผู้ใหญ่’ สั่ง แต่ไม่กล้าทำตามหน้าที่ 

โดย เอกศาสตร์ สรรพช่าง 

“คดีของคุณแตงโม นิดา ที่เป็นที่สนใจของประชาชนอยู่ ณ เวลานี้ สะท้อนให้เห็นปัญหาอย่างหนึ่งของสังคมไทยที่ฝังรากลึกมานาน และเป็นปัญหาที่เจ้าตัวเองก็พยายามแก้มาหลายต่อหลายครั้ง แต่ก็ยังทำไม่สำเร็จ นั่นคือเรื่องความเชื่อมั่นในการทำงานของตำรวจ”

“พันตำรวจเอกวิรุตม์ ศิริสวัสดิบุตร อดีตจเรตำรวจที่ไปออกรายการโหนกระแสเมื่อวันที่ 3 มีนาคม 2565 ก็วิพากษ์วิจารณ์การทำงานของตำรวจในคดีอย่างตรงไปตรงมาว่า มีจุดอ่อนหลายจุดทำให้สังคมตั้งคำถามกับการทำงานของตำรวจว่า จริงจังเอาใจใส่และ ‘โปร่งใส’ มากแค่ไหน จนเกิดคำถามขึ้นมาว่า ตกลงตำรวจกำลังทำงานให้กับใคร ประชาชนหรือ ‘นาย’ ที่คนอย่างเรามองไม่เห็น”

จากคำถามของสังคมต่อการทำหน้าที่อย่างโปร่งใสและตรงไปตรงมาของตำรวจในคดี ‘แตงโม’ คอลัมน์ สารกันเบื่อ เดือนนี้ เอกศาสตร์ สรรพช่าง เขียนถึง ที่มาของปัญหา ‘นายสั่งมา’ ของวงการตำรวจ ที่ทำให้ตำรวจไทยหันเหออกจากความซื่อตรงต่อกฎหมาย

โตเกียวเสียขวัญ เมื่อเสียงปืนสนั่นฟ้ายูเครน

โดย ธีวินท์ สุพุทธิกุล

เมื่อสงครามรัสเซีย-ยูเครน สร้างแรงสั่นสะเทือนต่อทั่วโลก ธีวินท์ สุพุทธิกุล เขียนถึง ระเบียบความมั่นคงบนกลไกการป้องปรามที่สั่นคลอนในเอเชียตะวันออก ซึ่งก่อให้เกิดความไม่แน่นอนและไม่ไว้เนื้อเชื่อใจในระบบพันธมิตรระหว่างญี่ปุ่น-สหรัฐฯ อันเป็นผลจากการรับประกันความมั่นคงและการตอบสนองที่ล้มเหลวของชาติพันธมิตรยุโรปและสหรัฐฯ ในวิกฤตยูเครน

“… เรื่องที่แฝงในวิกฤตนี้คือ ผลกระทบระดับโลก ‘ด้านยุทธศาสตร์และความมั่นคง’ ทั้งที่เกิดจากตัวสงครามและจากปฏิกิริยาของนานาชาติหลังสงครามบังเกิด อาจยังไม่เห็นชัดว่าปัญหานี้จะส่งผลต่อชาติต่างๆ และระเบียบโลกอย่างไรบ้าง ณ ตอนนี้ แต่จะมีผลแน่ในภายหน้า ญี่ปุ่นซึ่งรู้ตัวดีและมองเห็นตรรกะที่เชื่อมโยงกับการป้องกันประเทศจากภัยใกล้บ้านอย่างจีนและเกาหลีเหนือ (จากนี้คงมีรัสเซียเพิ่มขึ้นมา) ตลอดจนการธำรงเสถียรภาพของระเบียบภูมิภาคที่ตนมีผลประโยชน์ผูกพันอยู่ จึงรู้สึกกังวลใจและไม่อาจมองชะตากรรมยูเครนเป็นเรื่องไกลตัวได้”

“การที่กลไกป้องปรามของญี่ปุ่นขึ้นอยู่อย่างมากกับสหรัฐฯ ทำให้เกิดความคาดหวังต่อสหรัฐฯ 2 ตลบ ตลบแรกคือการอยากเห็นสหรัฐฯ ย้ำอย่างสม่ำเสมอถึงความเหนียวแน่นและความสำคัญของระบบพันธมิตรกับญี่ปุ่น และแสดงให้เห็นว่าทั้งสองจะไม่ทอดทิ้งกัน พร้อมกันนั้น ญี่ปุ่นก็หวังว่าสหรัฐฯ จะทำตัวสอดคล้องในการรักษาผลประโยชน์ของพันธมิตรกรอบอื่นๆ ในที่ต่างๆ ของโลก ทั้งในแบบทวิและพหุภาคี เพื่อให้เห็นว่าสหรัฐฯ จะยืนหยัดเคียงข้างพันธมิตรอยู่เสมอไม่ว่ากรณีใด รวมถึงญี่ปุ่นด้วย”

 

Crisis beyond Ukraine: มองวิกฤตมนุษยธรรม-กฎหมายระหว่างประเทศ-ความมั่นคง
ผ่านสงครามรัสเซีย-ยูเครน

โดย ณรจญา ตัญจพัฒน์กุล

ล่วงผ่านมากว่า 1 เดือน สงครามรัสเซีย-ยูเครนไร้สัญญาณที่จะสิ้นสุดลง ภาพซากปรักหักพังของอาคารบ้านเรือนจากการระดมบุกโจมตีของรัสเซียในหลายเมืองสำคัญอย่างกรุงคีฟ คาร์คีฟ เชอร์นิฮิฟ หรือมาริอูโปล ภาพการต่อกรต่อกองทัพรัสเซียผู้รุกรานของกองทัพและประชาชนยูเครน ภาพการอพยพลี้ภัยหนีตายจากสงครามไปยังประเทศเพื่อนบ้าน ภาพการปะทะกันระหว่างวิวาทะของมหาอำนาจโลก และภาพการเจรจาซ้ำแล้วซ้ำเล่าที่ไร้ความคืบหน้า คือภาพที่ปรากฏออกมาสู่สายตาประชาคมโลกตลอดช่วง 1 เดือนที่ผ่านมา

แต่ภาพเหล่านี้สะท้อนให้เราเห็นวิกฤตโลกอะไรที่ซ่อนอยู่บ้าง ทำไมกลไกกฎหมายระหว่างประเทศที่ควรจะรักษาสันติภาพโลกเอาไว้จึงล้มเหลว? การเมืองมหาอำนาจจะเดินหน้าไปทางไหนต่อ? และที่สำคัญที่สุดยิ่งกว่าสิ่งอื่นใด ‘มนุษย์’ อยู่ตรงไหนในสมการความขัดแย้งครั้งนี้?

รายการและคลิปวิดีโอยอดนิยม เดือนมีนาคม 2565

กรรมกรก่อนฟ้าสาง แรงงานรายวันแห่งซอยกีบหมู

โดย กองบรรณาธิการ

ช่วงเวลาตั้งแต่ตี 4 เป็นต้นไปในซอยกีบหมู ถนนสุเหร่าคลองหนึ่ง คลาคล่ำไปด้วยแรงงานมากหน้าหลายตา พวกเขาคือกลุ่มคนที่ตื่นแต่เช้าเพื่อมา ‘เดิมพัน’ รอรับงานในแต่ละวันว่าจะมีนายจ้างมอบหมายงานให้หรือไม่ อาจจะเป็นทั้งงานกรรมกร งานช่างเชื่อม งานฉาบปูน หรืออาจจะงานขนของเล็กๆ น้อยๆ ที่ทำให้พอได้ค่าแรงรายวัน หรือหากวันนั้นไม่มีอะไรเป็นใจ เดิมพันพ่ายแพ้ พวกเขาก็ไม่ได้งานและไม่มีเงิน

การรับงานรายวันที่ปราศจากเงื่อนไขสัญญาระบุแน่ชัดว่าวันนี้จะมีงานหรือไม่ ก็นับว่าชวนเสียวสันหลังแล้ว ยังไม่นับว่ามันยังเป็นอาชีพที่ปราศจากตาข่ายรองรับเพื่อพลัดตกลงมาบาดเจ็บ ไม่มีสวัสดิการหรือประกันใดๆ คอยประคองหลังพวกเขาไว้เมื่อประสบอุบัติเหตุหรือถึงเวลาจวนตัว

ยิ่งกับช่วงโควิด-19 ระบาด ภาวะไร้ผนังรองรับเหล่านี้ยิ่งเด่นชัด เมื่อแรงงานรายวันต้องเผชิญหน้ากับทุกความเสี่ยง -ไม่ว่าอันตรายจากการงานหรือจากโรคภัย- ด้วยตัวเอง เป็นความตัวเปล่าเล่าเปลือยที่รัฐมองข้ามหรืออาจไม่เคยเห็นมาตั้งแต่ต้น

101 ชวนรับฟังเสียงจากแรงงานในซอยกีบหมู ในวันที่รุ่งอรุณยังไม่ทาบทับลงในพื้นที่ชีวิตของพวกเขา

Exclusive Interview “ทุกเช้าที่ตื่นขึ้นมา เราประกาศต่อโลกว่ายังไม่แพ้ และจะไม่ยอมให้เป็นเช่นนั้น” – ‘คีรา รูดิก’ ส.ส. ยูเครนที่ตัดสินใจจับปืนเพื่อประเทศ

โดย ณรจญา ตัญจพัฒน์กุล 

“ในฐานะ ส.ส. และหัวหน้าพรรคโฮโลส ฉันจะอยู่ที่คีฟ จับอาวุธ และรวบรวมคนที่สามารถถืออาวุธได้เข้ากลุ่มร่วมต่อต้าน”

“ทุกๆ ค่ำคืน โลกและพันธมิตรจะบอกว่า นี่อาจเป็นคืนสุดท้ายของคีฟแล้ว แต่ทุกเช้าที่เราตื่นขึ้นมา เราประกาศต่อโลกว่า เรายังไม่แพ้ คีฟยังไม่ถูกยึด บอกตามตรง เราวางแผนว่าจะไม่ยอมให้เป็นเช่นนั้น เราจะต่อต้านและสู้รัสเซียกลับ ไม่ใช่แค่ให้ถอยร่นจากยูเครนเท่านั้น แต่ให้ถอยกลับไปยังรัสเซียเลย”

รุ่งเช้าวันที่ 24 กุมภาพันธ์ 2022 เมื่อประธานาธิบดีรัสเซีย วลาดิเมียร์ ปูติน ประกาศ ‘ปฏิบัติการทางการทหารพิเศษ’ บุกโจมตียูเครน นั่นคือสัญญาณว่าความตึงเครียดระหว่างรัสเซียและยูเครนยกระดับไปสู่สงครามเต็มขั้นแล้ว

ขณะที่รัสเซียมุ่งรุกเปิดฉากโจมตียูเครนจนปรากฏเป็นโศกนาฏกรรมอันเลวร้ายครั้งใหญ่ที่สุดครั้งหนึ่ง ณ ใจกลางยูเรเชีย ในบรรดาประชาชนร่วมหลายหมื่นที่ตัดสินใจละทิ้งชีวิตสามัญธรรมดาและร่วมจับปืนต่อต้านการใช้กำลังทางทหารที่ก้าวร้าวและไร้ความชอบธรรมของรัสเซีย ‘คีรา รูดิก’ ส.ส. หญิงยูเครน หัวหน้าพรรคโฮโลส คือหนึ่งในนั้น

ในช่วงเวลาที่ทั่วโลกจับตามองสงครามระหว่างยูเครนและรัสเซีย 101 มีโอกาสต่อสายตรงไปยังกรุงคีฟเพื่อคุยกับคีราว่า อะไรที่ทำให้นักการเมืองอย่างเธอที่ไม่เคยคิดฝันจะจับอาวุธตัดสินใจเข้าร่วมกลุ่มต่อต้านและรับการฝึก พร้อมชวนคุยถึงความคิดความอ่านของเธอในห้วงเวลาสำคัญที่จะนำสันติภาพกลับมาสู่ยูเครน

101 POSTSCRIPT คุยข่าวนอกสคริปต์ กับ วิสุทธิ์ คมวัชรพงศ์ EP.23 : วิกฤตยูเครน การเมืองโลก การเมืองไทย

แม้จะห่างกันในทางภูมิศาสตร์ การตัดสินใจบุกยูเครนของรัสเซียเป็นวิกฤตใหญ่ของโลก อะไรคือนัยของความขัดแย้งครั้งนี้ต่อการเมืองไทย และสถานะประเทศไทยในระดับโลก

คุยเบื้องลึกเบื้องหลังและจับกระแสการเมืองไทยไปพร้อมกันกับวิสุทธิ์ คมวัชรพงษ์ และกองบรรณาธิการ The101.world

101 POSTSCRIPT คุยข่าวนอกสคริปต์ กับ วิสุทธิ์ คมวัชรพงศ์ EP.24 :
สงครามยืดเยื้อ  – การเมืองยืดยาด

จับตาความขัดแย้งยูเครนและรัสเซียต่อเนื่อง อ่านเกมการเมืองเมื่อสนามเลือกตั้ง กทม. เริ่มเปิด และหาความหมายของดินเนอร์ของพี่น้อง 2 ป.

คุยเบื้องลึกเบื้องหลังและจับกระแสการเมืองไทยไปพร้อมกันกับวิสุทธิ์ คมวัชรพงษ์ และกองบรรณาธิการ The101.world

101 POSTSCRIPT คุยข่าวนอกสคริปต์ กับ วิสุทธิ์ คมวัชรพงศ์ EP.25 :
การเมืองพรรคเล็ก – พักน้อย

การแข่งเอาใจพรรคการเมืองเล็กของรัฐบาลและร้อยเอกธรรมนัส พรหมเผ่า สะท้อนดุลการเมืองในช่วงปลายรัฐบาลอย่างน่าสนใจ ทำไมพรรคเล็กจึงกลายเป็นตัวละครสำคัญ และนัยของเรื่องนี้ต่อการเมืองไทยคืออะไร

คุยเบื้องลึกเบื้องหลังและจับกระแสการเมืองไทยไปพร้อมกันกับวิสุทธิ์ คมวัชรพงษ์ และกองบรรณาธิการ The101.world

101 POSTSCRIPT คุยข่าวนอกสคริปต์ กับ วิสุทธิ์ คมวัชรพงศ์ EP.26 :
เมื่อครอบครัวใหญ่เขย่าการเมือง

งานเปิดตัวโครงการ ‘ครอบครัวเพื่อไทย’ ท่ีจังหวัดอุดรธานี สร้างความคึกคักทางการเมืองขึ้นมาอีกครา และทุกสายตาต่างจับจ้องไปที่ ‘แพทองธาร ชินวัตร’ หัวหน้าครอบครัวเพื่อไทย ซึ่งมีนัยว่าเธออาจเป็นแคนดิเดตนายกรัฐมนตรี

มูฟการเมืองนี้ของเพื่อไทยเป็นอย่างไร หวังผลแค่ไหน สัมฤทธิ์หรือไม่ คุยเบื้องลึกเบื้องหลังและจับกระแสการเมืองไทยไปพร้อมกันกับวิสุทธิ์ คมวัชรพงษ์ และกองบรรณาธิการ The101.world

101 POSTSCRIPT คุยข่าวนอกสคริปต์ กับ วิสุทธิ์ คมวัชรพงศ์ EP.27 : ออสการ์การเมือง 2022

จับตาข่าวแย่งซีนทางการเมืองในช่วงสัปดาห์ที่ผ่านมา ทั้งการลาออกของ ผอ.ช่อง 5 กระแสการยุบพรรคก้าวไกล และการไล่จับหวยแพง อะไรคือเบื้องหลังและความหมายของของซีนการเมืองเหล่านี้

คุยเบื้องลึกเบื้องหลังและจับกระแสการเมืองไทยไปพร้อมกันกับ วิสุทธิ์ คมวัชรพงษ์ และกองบรรณาธิการ The101.world

101 Policy Forum #16 อนาคตคริปโตฯ อนาคตเศรษฐกิจการเงินไทย

101 Policy Forum เปิดเวทีถกเถียงเรื่องนโยบายสาธารณะที่มีความหมายกับชีวิตของผู้คนและสังคม

เพราะเราเชื่อว่า นโยบายสาธารณะเป็นเรื่องของพลเมืองทุกคน และนโยบายที่ดีมาจากการแลกเปลี่ยนถกเถียงอย่างมีคุณภาพ ผ่านการมีส่วนร่วมของสังคม ไม่ใช่เฉพาะช่วงเลือกตั้ง และไม่ใช่แค่ในสภา

สำหรับเดือนนี้ ถก-คิด-ถาม-ตอบกันเรื่อง “อนาคตคริปโตฯ อนาคตเศรษฐกิจการเงินไทย”

พบกับ

เอกลาภ ยิ้มวิไล – ผู้ร่วมก่อตั้ง และประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท ซิปเม็กซ์ (ประเทศไทย) จำกัด

สฤณี อาชวานันทกุล – กรรมการผู้จัดการด้านการพัฒนาความรู้ บริษัท ป่าสาละ จำกัด

ณัฐ เหลืองนฤมิตชัย – นักวิชาการอิสระ

อธิป กีรติพิชญ์ – นักลงทุนและเจ้าของเพจ นิ้วโป้ง Fundamental VI

ดำเนินรายการโดย จิรัฐิติ ขันติพะโล

101 Policy Forum #17 แกะห่อยาเสพติด พลิกนโยบายใหม่

101 Policy Forum เปิดเวทีถกเถียงเรื่องนโยบายสาธารณะที่มีความหมายกับชีวิตของผู้คนและสังคม

เพราะเราเชื่อว่า นโยบายสาธารณะเป็นเรื่องของพลเมืองทุกคน และนโยบายที่ดีมาจากการแลกเปลี่ยนถกเถียงอย่างมีคุณภาพ ผ่านการมีส่วนร่วมของสังคม ไม่ใช่เฉพาะช่วงเลือกตั้ง และไม่ใช่แค่ในสภา

สำหรับเดือนนี้ ถก-คิด-ถาม-ตอบกันเรื่อง ‘แกะห่อยาเสพติด พลิกนโยบายใหม่’

พบกับ

อำนาจ เหล่ากอที ผู้อำนวยการ กองกฎหมาย สำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามยาเสพติด

นัทธี จิตสว่าง อดีตอธิบดีกรมราชทัณฑ์ และที่ปรึกษาพิเศษ สถาบันเพื่อการยุติธรรมแห่งประเทศไทย(TIJ)

สุพิศาล ภักดีนฤนาถ พรรคก้าวไกล

วิชัย สังข์ประไพ พรรคประชาธิปัตย์

ดำเนินรายการโดย วงศ์พันธ์ อมรินทร์เทวา

101 One-on-One Ep.258 “2 ปีโควิด-19 รัฐเรียนรู้อะไรบ้าง” กับ บวรศม ลีระพันธ์

กว่า 2 ปีที่ต้องเผชิญหน้าและรับมือกับโควิด-19 แม้จะรับมือได้ดีในช่วงแรก แต่การแก้ปัญหาในภาพใหญ่ก็ไม่ไกลเกินไปจากคำว่าผิดพลาดและน่าผิดหวัง

การปฏิรูปภาครัฐและนโยบายสาธารณะ กำลังกลายเป็นฉันทมติใหม่ของสังคมไทย ทว่าคำถามใหญ่ที่ยังรอคำตอบคือ ‘อย่างไร’

101 ชวน รศ.นพ.บวรศม ลีระพันธ์ คณะแพทยศาสตร์ โรงพยาบาลรามาธิบดี มหาวิทยาลัยมหิดล เปิดงานวิจัยใหม่ล่าสุดว่าด้วย การถอดบทเรียนการทำนโยบายสาธารณะในยุคการควบคุมโควิด-19 โดยใช้ข้อมูลจริงและวิธีคิดเชิงระบบ

ร่วมหาคำตอบว่า จากเชื้อธรรมดา สู่เดลตา และโอมิครอน สถานการณ์ประเทศไทยอยู่ตรงไหน รัฐไทยเรียนรู้อะไรบ้าง

101 One-on-One Ep.259 กรุงเทพฯ ดีกว่านี้ได้ (ยังไง?) กับ สกลธี ภัททิยกุล

‘กรุงเทพฯ ดีกว่านี้ได้’ คือแคมเปญที่ สกลธี ภัททิยกุล ยกขึ้นมาเพื่อลงสู้ศึกเลือกตั้งผู้ว่าฯ กทม. ที่เขาเลือกลงในนามอิสระ

เกือบ 4 ปีในตำแหน่งรองผู้ว่าฯ กทม. ทำให้เขาตัดสินใจลงสนามเลือกตั้งครั้งนี้ ซึ่งเชื่อกันว่าน่าจะเป็นการแข่งขันที่ดุเดือด หลังกรุงเทพฯ ว่างเว้นจากการเลือกตั้งผู้ว่าฯ มานาน

จากประสบการณ์ที่ผ่านมา เขามองเห็นว่ากรุงเทพฯ จะดีกว่านี้ได้อย่างไร อะไรคือแก่นปัญหาเรื่องเมือง นโยบายแบบไหนที่เขาจะเลือกใช้เพื่อแก้ปัญหา และเขามีมุมมองทางการเมืองภาพใหญ่อย่างไร

101 ชวน สกลธี ภัททิยกุล ว่าที่ผู้สมัครผู้ว่าฯ กทม. คุยถึงแนวคิดการพัฒนากรุงเทพมหานคร สิ่งที่ยังไม่ได้ทำในตำแหน่งรองผู้ว่าฯ และภาพเมืองในอนาคตที่เขาฝันอยากเห็น

101 One-on-One Ep.260 ไทยสร้างไทยในสนาม กทม. กับ ศิธา ทิวารี

แม้พรรคไทยสร้างไทยจะเพิ่งก่อตั้ง แต่ประสบการณ์ทางการเมืองของคนในพรรคล้วนเข้มข้น-ยาวนาน

มิใช่เรื่องแปลกที่เมื่อ ‘ไทยสร้างไทย’ ตัดสินใจลงสนาม กทม. หลายสื่อหลายสำนักต่างก็จับตาหนึ่งในตัวละครสำคัญที่ส่งผลต่อการชิงชัยในสนามเมืองหลวง

101 ชวน น.ต.ศิธา ทิวารี แคนดิเดตผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร พรรคไทยสร้างไทย พูดคุยว่าด้วยความคิด ความหวัง และความฝันใหม่ทางการเมืองของตัวเขาและพรรค ทั้งในสนามกรุงเทพฯ และการเมืองภาพใหญ่

MOST READ

Spotlights

14 Aug 2018

เปิดตา ‘ตีหม้อ’ – สำรวจตลาดโสเภณีคลองหลอด

ปาณิส โพธิ์ศรีวังชัย พาไปสำรวจ ‘คลองหลอด’ แหล่งค้าประเวณีใจกลางย่านเมืองเก่า เปิดปูมหลังชีวิตหญิงค้าบริการ พร้อมตีแผ่แง่มุมเทาๆ ของอาชีพนี้ที่ถูกซุกไว้ใต้พรมมาเนิ่นนาน

ปาณิส โพธิ์ศรีวังชัย

14 Aug 2018

Spotlights

4 Nov 2020

101 Policy Forum : ประเทศไทยในฝันของคนรุ่นใหม่

101 เปิดวงสนทนาพูดคุยกับตัวแทนวัยรุ่น 4 คน ณัฐนนท์ ดวงสูงเนิน , สิรินทร์ มุ่งเจริญ, ภาณุพงศ์ สุวรรณหงษ์, อัครสร โอปิลันธน์ ว่าด้วยสังคม การเมือง เศรษฐกิจไทยในฝัน ต้นตอที่รั้งประเทศไทยจากการพัฒนา ข้อเสนอเพื่อพาประเทศสู่อนาคต และแนวทางการพัฒนาและสนับสนุนคนรุ่นใหม่

กองบรรณาธิการ

4 Nov 2020

Spotlights

30 Jun 2020

“ไม่มี Theory of Everything ในโลกของ IR” จิตติภัทร พูนขำ

101 สนทนากับ จิตติภัทร พูนขำ เกี่ยวกับองค์ความรู้และโลกของ IR ไปจนถึงการเรียนการสอน และการปรับตัวของ IR ในยุคที่โลกผันผวนและเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว

กานต์ธีรา ภูริวิกรัย

30 Jun 2020

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • Always Active

Save