fbpx

นักเขียนฟรีแลนซ์ไทย กับ 20 ปีที่ค่าแรงไม่เคยขยับ

‘ของแพง-ค่าแรงเท่าเดิม’ คือวลีที่อธิบายสถานการณ์ประเทศไทยในช่วงต้นปีได้ชัดอย่างชัดเจน

ขณะที่ประเทศไทยกำลังเผชิญภัยภาวะเงินเฟ้อหนักสุดในรอบ 13 ปี ค่าแรงขั้นต่ำของไทยกลับขยับขึ้นมาอย่างเชื่องช้า โดยนับตั้งแต่ที่รัฐบาลยิ่งลักษณ์ ชินวัตร ประกาศปรับค่าแรงขั้นต่ำต่อวันขึ้นมาอยู่ 300 บาทต่อวันทั่วประเทศ ในช่วงปี 2555-2556 แต่ ณ ปัจจุบัน ผ่านมา 10 ปี ค่าแรงขั้นต่ำขึ้นมาอยู่ที่ 310-330 บาทต่อวันเท่านั้น ซึ่งดูเหมือนว่าจะเพิ่มขึ้นไม่ทันกับค่าครองชีพที่สูงขึ้นอย่างรวดเร็ว

หนึ่งในอาชีพที่กำลังเจอภาวะ ‘ของแพง-ค่าแรงเท่าเดิม’ คืออาชีพนักเขียนฟรีแลนซ์ในสื่อนิตยสารและสื่อออนไลน์ไทย ที่ยังได้รับค่าตอบแทนคงอยู่ในอัตราเดิมมานับ 20 ปี ที่สำคัญ ภูมิทัศน์สื่อทุกวันนี้ได้เปลี่ยนจากหน้ากระดาษสู่โลกออนไลน์ที่โครงสร้างต้นทุนและโมเดลธุรกิจต่างจากสื่อในอดีตอย่างสิ้นเชิง คำถามจึงเกิดขึ้นว่า “ในยุคที่ใครก็เป็นสื่อได้ ทำไมค่าต้นฉบับนักเขียนฟรีแลนซ์ถึงคงราคาเท่าเดิมอยู่?”

101 ชวนสำรวจความเป็นไปในแวดวงสื่อนิตยสารและสื่อออนไลน์ ใครเป็นคนกำหนดค่าต้นฉบับนักเขียนฟรีแลนซ์ หลักเกณฑ์อะไรที่อยู่เบื้องหลังค่าแรง ปัจจัยอะไรบ้างที่ทำให้ตัวเลขเงินยังคงอยู่เท่าเดิม และคนในวงการคิดเห็นอย่างไร

นักเขียนไทยเจออะไรบ้าง?

คำว่า ‘นักเขียน’ ในบทความนี้ คือนักเขียนฟรีแลนซ์ที่รับเขียนงานให้กับสื่อนิตยสารหรือสื่อออนไลน์ต่างๆ โดยเป็นงานเขียนเชิงสารคดี บทสัมภาษณ์ และบทความ นำเสนอเนื้อหาหลากหลายประเด็นและรูปแบบ ตั้งแต่ข่าวอัปเดต บทความ บทสัมภาษณ์ บทวิเคราะห์ต่างๆ รวมถึงงานคอนเทนต์สำหรับองค์กรที่ว่าจ้างผ่านทางสื่อ (advertorial) โดยส่วนมาก เมื่อนักเขียนจะค้นคว้าข้อมูลเพื่อผลิตงานเขียนขึ้นมาชิ้นหนึ่ง ก็มักจะทำด้วยการสัมภาษณ์บุคคล การลงพื้นที่ภาคสนาม ไปจนถึงการสืบค้นแหล่งข้อมูลอย่างอินเทอร์เน็ต หนังสือ เอกสาร ฯลฯ

อนิรุทร์ เอื้อวิทยา นักเขียนฟรีแลนซ์ที่ทำงานให้กับสื่อหลายสำนักในช่วง 5 ปีที่ผ่านมา เล่าว่า ตามลักษณะการทำงานข้างต้น เงินตอบแทนที่ได้ตกที่ชิ้นละ 2,500 บาท

“ตอนแรกเราทำงานประจำในกองบรรณาธิการอยู่ที่หนึ่งก่อน 3 ปี แล้วพอตัดสินใจกลับบ้านมาเป็นฟรีแลนซ์ที่เชียงใหม่ ช่วงแรกสื่ออื่นๆ เขาจะมีประเด็นมาให้ว่าอยากให้นำเสนอเรื่องนี้นะ ซึ่งเนื้อหาส่วนใหญ่ก็จะเป็นเรื่อง ‘คาเฟ่เปิดใหม่’ ‘ร้านอาหารน่าสนใจ’ หรือเป็นเรื่องไลฟ์สไตล์ทั่วไป บางทีก็มีการนำเสนอแบบรวม 10 สถานที่ เราต้องเดินทางไปสัมภาษณ์เจ้าของร้านตามที่ต่างๆ ทำทั้งหมดได้เงินเท่าเดิม”  

เมื่อทำงานได้สักพัก อนิรุทร์เห็นความเคลื่อนไหวกลุ่มประชาชนที่ขับเคลื่อนในประเด็นการพัฒนาเมืองเชียงใหม่ และด้วยความหวังที่อยากใช้งานเขียนนำเสนอในประเด็นเดียวกันนี้ เขาจึงปรับการทำงานให้มีเนื้อหาเชิงลึกมากขึ้น

“ตอนหลังเราเริ่มขวนขวายเรื่องประวัติศาสตร์มากขึ้น ไปทำความรู้จักคนที่ทำเรื่องท้องถิ่น พัฒนาสังคม พัฒนาพื้นที่ต่างๆ ทีนี้ประเด็นพวกนี้ ถ้าสื่อสารไม่ดีมันก็อ่อนไหว เราเลยต้องใช้เวลาค้นคว้านาน กว่าจะลงตัว การเขียนมันกินเวลาเยอะอยู่ ต้องใช้เวลาค้นคว้าวิจัยเป็นเดือน บางเรื่องเป็นปีก็มี เพื่อให้ข้อมูลถูกต้อง และเพื่อประโยชน์ของคนหรือจังหวัดด้วย บางครั้งเราได้ข้อมูลเชิงประวัติศาสตร์เหล่านี้มาเขียนเพิ่มเติมให้บทความที่เราแนะนำสถานที่นั้นๆ ให้มีมิติเพิ่มเติมขึ้น หรือแตกต่างจากคนอื่นด้วย”

อนิรุทร์ย้ำว่า ด้วยระยะการทำงานที่ยาวนาน และคุณภาพงานที่พยายามปรับปรุงอยู่เรื่อยๆ ช่วงหลังเขาพยายามสื่อสารกับสื่อต่างๆ ขอขึ้นราคาค่าต้นฉบับเพื่อให้สอดคล้องกับการทำงาน โดยฟีดแบ็กที่ได้กลับมาจากทุกสื่อคือพยายามจะปรับค่าจ้างให้ แต่ที่สุด เขาก็ยังไม่ได้เห็นการเปลี่ยนแปลงมากนัก

“ในความคิดของเราคือ ไม่ได้มองแค่เรื่องค่าเรื่องขั้นต่ำที่ต้องเพิ่มขึ้นนะ เรามองมันเป็นการให้คุณค่าต่องานนั้น คุณไม่ต้องให้เท่ากันเป๊ะๆ ก็ได้ แต่ถ้ารู้สึกว่างานนี้มีคุณค่าจริงๆ ก็เพิ่มค่าเรื่องขึ้นไหม เพื่อให้นักเขียนอยากพัฒนาให้งานดีขึ้นเรื่อยๆ เพื่อได้รับค่าเรื่องที่เพิ่มขึ้น” 

ขณะเดียวกัน นักเขียนรุ่นใหม่ที่เพิ่งจบการศึกษาได้ 2-3 ปีและตัดสินใจออกมาเป็นนักเขียนฟรีแลนซ์ เล่าว่า ช่วงก่อนหน้านั้นที่เธอทำงานประจำ เธอเคยเช่าห้องอยู่กับเพื่อน แต่เมื่อลาออกมาเป็นนักเขียนฟรีแลนซ์แล้ว เธอตัดสินใจย้ายกลับไปอยู่บ้านที่สมุทรปราการ เพราะเงินค่าจ้างนักเขียนฟรีแลนซ์อาจไม่เพียงพอต่อค่าใช้จ่าย แต่ขณะเดียวกัน ถ้าหากต้องออกมาทำงานในกรุงเทพฯ ก็จะทำให้ค่าจ้างที่ได้รับไม่คุ้มค่ากับการทำงาน

“ยกตัวอย่างว่าถ้าค่าจ้างงาน 2,500 บาท เราต้องออกไปทำงานสัมภาษณ์ในย่านทองหล่อ ค่าเดินทางจากบ้านที่อยู่สมุทรปราการไป-กลับ คือ ค่ารถตู้ 60 บาท ค่าบีทีเอส 82 บาท ถ้านัดสัมภาษณ์ในคาเฟ่ ต้องจ่ายค่าน้ำประมาณ 120 บาท” 

“ส่วนเรื่องเวลาทำงาน สมมติว่า สัมภาษณ์เสร็จแล้ว เรากลับมาเขียนก็ใช้เวลา 3-4 วัน คือถอดเทป แล้วก็เขียน เสร็จแล้วต้องปล่อยทิ้งไว้สัก 1 วัน เพื่อกลับมาอ่านทวนอีกครั้ง แล้วถึงจะเสร็จ ถ้าเทียบการทำงานกับค่าต้นฉบับแล้ว ก็อาจจะไม่ได้คุ้มกับค่าแรงมาก แต่เราก็มีเงินพอใช้” 

อย่างไรก็ตาม ประเด็นค่าแรงไม่ใช่ปัญหาเดียวที่นักเขียนฟรีแลนซ์ต้องเผชิญ นักเขียนคนนี้อธิบายว่า เธอต้องทำธุรกิจที่บ้านไปด้วย ถึงจะเพียงพอสำหรับค่าใช้จ่าย เนื่องจากบางครั้งงานที่เข้ามาจะเป็นโปรเจกต์ระยะยาวที่จะได้เงินหลังโปรเจกต์จบบ้าง ซึ่งใช้เวลาหลายเดือน

กันต์กนิษฐ์ มิตรภักดี อดีตผู้ช่วยบรรณาธิการ ปัจจุบันเป็นนักเขียนฟรีแลนซ์ให้สื่อต่างๆ เป็นอีกคนที่พบปัญหาค่าต้นฉบับ เธอบอกว่า กระบวนการทำงานเขียนและค่าตอบแทนไม่ได้อยู่ในทิศทางที่ตอบโจทย์กับค่าครองชีพมากนัก นักเขียนฟรีแลนซ์จึงตัดสินใจคิดเรตราคาขึ้นใหม่และเผยแพร่ลงเฟซบุ๊กส่วนตัว 

“เราเคยอยู่ในตำแหน่งที่เป็นคนให้เงินมาก่อน ยอมรับนะว่าเราก็เพิ่งมาตาสว่างหลังจากออกจากงานประจำที่ไม่ใช่บริษัทสื่อเพื่อมาเป็นฟรีแลนซ์ เราต้องเขียนบทความมือหงิก 20 ชิ้นถึงจะได้เท่ากับเงินเดือนงานประจำที่นั่น แล้วมานั่งนึกได้ว่าสมัยตอนเรียนจบใหม่ได้ 1-2 ปี ตอนนั้นเราก็เป็นฟรีแลนซ์ แล้วก็เห็นว่าค่าต้นฉบับมันก็เท่าเดิม ไม่เคยขึ้นเลย จนเห็นสเตตัสพี่เบิ้ม (กรมัยพล สิริมงคลรุจิกุล หรือ Wrongdesign) พูดเรื่องเรตการทำงานของกราฟิกดีไซเนอร์ ก็เลยลองคิดเรตของนักเขียนดูบ้าง”

กันต์กนิษฐ์วางราคาค่าเรื่องใหม่ ด้วยการแบ่งประเภทงานเขียนออกเป็น 5 รูปแบบ คือ

ประเภทงานค่าต้นฉบับ (บาท)
บทความออนไลน์แบบค้นคว้าอย่างเดียว2,500
บทความออนไลน์แบบสัมภาษณ์ 3,000
บทสัมภาษณ์ใหญ่ (มี 4-5 ประเด็น)5,000
โพสต์ขนาดสั้นในโซเชียลมีเดีย1,000-1,500
บทความสำหรับลูกค้า (Advertorial)จะบวกราคาเพิ่มจากลักษณะงานข้างต้นในราคา 2,000-3,000 

“เบื้องหลังการคิดเรตเหล่านี้เราคิดแบบมีเรฟอ้างอิงเดิมว่าปกติทำงานประเภทนี้ เราได้เงินประมาณเท่าไหร่ แล้วสมัยก่อน เวลาเราจ้างงานใคร เราให้ประมาณเท่าไหร่ ซึ่งสิ่งเหล่านี้วัดมาจากความยาวของเนื้อหาและความยาก ความซับซ้อนของประเด็น แล้วก็บวกเพิ่มเข้าไป 1,000-2,000 บาทในเรตของประเภทงานที่เรารู้สึกว่าจริงๆ มันควรขึ้นได้แล้ว”

“เรื่องความยาว ความยาก และซับซ้อนของเนื้อหาเป็นประเด็นที่เราอาจจะต้องปรับกันเลยนะ บางทีคนจ้างคิดว่าอันนี้หนึ่งหน้า A4 เอง ทำงานสบายๆ เอาไป 500 แต่ความจริงแล้วเวลานักเขียนจะเขียนอะไร มันต้องสั่งสมความรู้ความเข้าใจในประเด็นนั้นๆ การที่เราจะเขียนได้ครึ่งหน้ากระดาษ A4 เราต้องอ่านเปเปอร์มาตั้งกี่ชิ้น เราสั่งสมเรียนรู้ประเด็นนี้ ตามข่าว ตามเรียนรู้มันมานานกี่ปี มันมีต้นทุนเรื่องการสั่งสมความรู้ตรงนี้อยู่” 

“ทั้งหมดที่กล่าวไปยังไม่ได้พูดเรื่องค่าน้ำ ค่าไฟ ค่าอินเทอร์เน็ตที่ใช้ในการอ่านสิ่งเหล่านั้น มันมีต้นทุนแฝงที่มองไม่เห็น เขามองแค่ความยาว มองแค่ว่าพิมพ์ปุ๊บๆ เสร็จ ซึ่งตรงนี้ไม่ได้ ต้องปรับทัศนคติตรงนี้กันใหม่มากๆ เลย เราวัดแค่ความยาวไม่ได้ ต้องวัดความซับซ้อน ความเฉพาะทาง ความนิช (niche) ของหัวข้อที่คุณต้องการด้วย ถ้าเปรียบคงเหมือนการหาหมอ ถ้าหาหมอทั่วไปก็เหมือนให้คนเขียนบทความทั่วไป แต่ถ้าคุณกำลังจะหาหมอเฉพาะทางโรคไต เพื่อให้เขารักษา ก็เหมือนให้นักเขียนที่ทำบทสัมภาษณ์ดีมากๆ มาทำงานให้ ดังนั้นต้องมีสกิลเฉพาะทางบวกเพิ่มเข้าไป แต่ทั้งนี้ ในความเห็นเราก็คิดว่ามันแล้วแต่วิจารณญาณอีกว่าควรบวกไป 2,000-3,000 บาทหรือเท่าไหร่ดี”

แม้กันต์กนิษฐ์จะตั้งเรตราคาเพิ่มขึ้นแล้ว แต่เธอยังคงหมายเหตุเอาไว้ว่า เข้าใจสภาวะของวงการสื่อที่อยู่ในช่วงขาลง ทำให้ไม่มีเงินหมุนเวียนมากพอในการส่งต่อราคา แต่การที่ต้นฉบับยังคงแช่แข็งอยู่แบบนี้ก็ไม่ควรเกิดขึ้นเช่นกัน 

ย้อนดูค่าแรงนักเขียนในยุคนิตยสารเฟื่องฟู

การว่าจ้างนักเขียนฟรีแลนซ์ไม่ได้มีขึ้นในยุคสื่อกระดาษผันตัวไปเป็นสื่อออนไลน์เท่านั้น การตีพิมพ์นิตยสารหรือหนังสือพิมพ์แต่ละฉบับก็มีการดึงนักเขียนที่ไม่ใช่กองบรรณาธิการประจำมาทำงานเพื่อให้มีเนื้อหาออกมาสู่ผู้อ่านได้ทันช่วงเวลา โดยระบบการคิดค่าต้นฉบับจะขึ้นอยู่กับโครงสร้างขององค์กรนั้นๆ ซึ่งส่วนใหญ่ตำแหน่งบรรณาธิการบริหาร จะเป็นผู้ดูแลจัดสรรงบประมาณให้กับนักเขียนฟรีแลนซ์ ในขณะที่เจ้าของหรือ ‘นายทุน’ จะไม่เข้ามายุ่งกับการบริหารจัดการมากนัก ตราบเท่าที่นิตยสารยังคงมีกำไร

การคิดค่าต้นฉบับแตกต่างกันไปแต่ละสำนักสื่อ บางที่ใช้วิธีคำนวณผ่าน ‘จำนวนหน้ากระดาษ’ บางแห่งคำนวณจาก ‘จำนวนคำ’ โดยกำหนดจำนวนคำขั้นต่ำในเนื้อหา เพื่อให้เหมาะสมพอดีกับเลย์เอาต์ (layout – การจัดหน้ากระดาษ) ที่ฝ่ายศิลป์จัดวางเอาไว้ด้วย

นิภา เผ่าศรีเจริญ อดีตบรรณาธิการนิตยสาร IMAGE ในช่วงปี 2543-2559 เล่าว่า ในช่วงแรกของการเริ่มต้นทำหน้าที่บรรณาธิการ สิ่งแรกที่ต้องพิจารณาในการคิดค่าต้นฉบับนักเขียน คือแนวทางของเนื้อหา, คอลัมนิสต์ประจำ, ทิศทางของนิตยสารจากที่บรรณาธิการคนก่อนหน้าวางนโยบายไว้ ก่อนจะมีการปรับเปลี่ยนให้ลงตัวตามที่ตัวเองคิดว่าควรเป็น ซึ่งข้อมูลเหล่านี้จะนำมาสู่การพิจารณาค่าเรื่องของนักเขียนแต่ละคน 

“นักเขียนประจำใหม่ๆ ที่เราเชิญเขามาเขียน ก็ขึ้นอยู่กับ ‘ชื่อ-ชั้น’ และเราก็ต้องพิจารณาจากลักษณะชิ้นงานของคอลัมน์, ความยาวของต้นฉบับ ซึ่งต้องบอกตามตรงว่าไม่ได้มีหลักการอะไรซับซ้อน แต่ใช้คอมมอนเซนส์ (common sense) ว่าค่าเรื่องเท่านี้น่าจะเหมาะสม ประกอบกับใช้ข้อมูลจากที่ตัวเองเคยเป็นนักเขียนแบบฟรีแลนซ์มาตั้งแต่เรียนมหาวิทยาลัยที่ได้รับค่าเขียนหลักร้อย ไม่ว่าจะเป็นงานแปลบทกวี แปล-เขียนบทความ/เรื่องสั้น สารคดี บทสัมภาษณ์ ฯลฯ และก็พิจารณาจากช่วงที่ทำเอเจนซี่เมื่อ 4-5 ปีก่อนหน้าจะรับตำแหน่งบรรณาธิการของ IMAGE และเป็นนักเขียนรับเชิญประปราย ค่าเรื่องก็ขยับมาเป็นหลักพัน ตรงนี้ก็เป็นเกณฑ์ในใจสำหรับการพิจารณาค่าเรื่อง”

อดีตบรรณาธิการนิตยสาร IMAGE ยกตัวอย่างการจ่ายค่าต้นฉบับนักเขียนฟรีแลนซ์ ดังนี้

ประเภทงานความยาวของเนื้อหา (หน้า A4)ค่าต้นฉบับ (บาท)
Essay1-1.5 1,500-2,000 
งานแปลบทความไม่เกิน 1 1,000-1,500
22,000-2,500
เรื่องสั้นหรือเรื่องสั้นแปล3-5 2,500-5,000
บทความพิเศษ (แล้วแต่ธีมที่จัดขึ้นในแต่ละปี เช่น S.E.A.write Areaเชิญนักเขียนซีไรต์มาเขียนงานชิ้นพิเศษ / หรือ IMAGE FORUM เชิญบุคคลมีชื่อเสียงทุกสาขาอาชีพมานำเสนอประเด็นที่น่าสนใจ2.5-3.53,000-6,000
คอลัมนิสต์ประจำ2-3 2,500-5,000
บทสัมภาษณ์1-1.5 (ขนาดเล็ก)2,000-3,000
4-6  (ขนาดกลาง)4,000-6,000
5-10 (ขนาดใหญ่)6,000-10,000
หมายเหตุ: เฉพาะค่าต้นฉบับของนิตยสาร IMAGE ระหว่างปี 2543-2559 

“ขอยกตัวอย่างเพิ่มเติมว่างานมอบหมายอื่นๆ อย่างภาพประกอบทั้ง illustration และภาพถ่าย ตั้งแต่ยังไม่มีกล้องดิจิทัล เราก็คิดจากหลักเกณฑ์เดียวกัน คือใช้คอมมอนเซนส์ว่าแค่ไหนถึงจะเหมาะสม เช่น การทำสารคดี หรืองานที่ต้องลงพื้นที่ ก็อาจจะต้องจ่ายค่าพาหนะ/ค่าที่พักแยกต่างหากจากค่าเรื่อง หรือให้สิ่งเล็กๆ น้อยๆ ที่องค์กรจะช่วยนักเขียนหรือช่างภาพได้ เช่น กรณีช่างภาพ เราก็อาจจะรับเอาฟิล์มสไลด์หรือขาวดำมาล้างเอง ซึ่งช่วยให้ช่างภาพลดค่าใช้จ่ายลงได้ บอกได้เลยว่า ค่าเรื่องและค่าภาพของ IMAGE ตั้งแต่ปี 2543 ไม่เคยมีชิ้นใดต่ำกว่า 1,000 บาท” นิภากล่าว

นิภาอธิบายต่อไปว่า การให้เงินด้วยอัตราเหล่านี้อยู่ภายใต้การการวางงบประมาณแต่ละส่วนเอาไว้ล่วงหน้า โดยบรรณาธิการมีหน้าที่วางแผนไว้ว่าจะต้องของบกับฝ่ายผู้บริหารเท่าไหร่ถึงจะจัดสรรค่าเรื่อง-ค่าภาพให้ได้ตามที่วางแผน และไม่เกินงบประมาณ และส่วนใหญ่อดีตบรรณาธิการนิตยสาร IMAGE จะขอเผื่อไว้ประมาณ 20% ทำให้การให้เงินค่าต้นฉบับนักเขียนฟรีแลนซ์แต่ละครั้งไม่เคยเกินงบประมาณที่ตั้งไว้

“ประเด็นนี้ต้องยกเครดิตให้พี่บูลย์ – ไพบูลย์ ดำรงชัยธรรม เจ้าของ GMM Grammy และพี่แอ – คำรณ ปราโมช ณ อยุธยา ผู้ก่อตั้ง IMAGE และเป็นนายโดยตรง ที่ให้ความไว้วางใจในการจัดการบริหารงานตามความรับผิดชอบอย่างมีอิสระเต็มที่มาตลอดเวลาประมาณ 17 ปี และส่วนหนึ่งต้องเป็นเครดิตทางการเงินและระบบจ่ายของ GMM Grammy ด้วย ที่มีสภาพคล่องสูงมาก ไม่เคยประสบปัญหาจ่ายค่าเรื่องล่าช้าหรือติดค้างแม้แต่ครั้งเดียว” นิภากล่าว

หลังจากนิภาทำหน้าที่บรรณาธิการบริหารได้ 3 ปี ยังมีการปรับราคาค่าต้นฉบับให้กับนักเขียนที่ ‘ผูกปิ่นโต’ กับ IMAGE มานาน รวมถึงนักเขียนบางคนที่ส่งงานให้นิตยสารแห่งนี้เพียงหัวเดียว แม้ว่าจะเป็นการปรับค่าเรื่องให้เพียงเล็กน้อย แต่นิภาบอกว่าการทำเช่นนี้คือการสื่อสารว่าบรรณาธิการเห็นคุณค่าของผลงานสร้างสรรค์เหล่านั้น

ทิศทางการทำงานของนิภาคล้ายกันกับอารีย์ พีรพรวิพุธ อาจารย์ประจำคณะเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร มหาวิทยาศิลปากร อดีตบรรณาธิการนิตยสารหัวต่างประเทศอย่าง ELLE, Marie Claire, และบรรณาธิการ WHO อย่างไรก็ตาม อารีย์บอกว่าค่าแรงนักเขียนในหัวสื่อไทยและสื่อต่างประเทศอาจจะแตกต่างกันไปในแต่ละองค์กร 

“สื่อโลคัล (local media) ในไทยอาจจะมีเรื่องงบประมาณที่จำกัด แต่ถ้าเป็นหัวต่างประเทศ จะมีงบลงทุนที่สูงกว่า จึงทำให้สามารถจ่ายได้มากกว่า ยกตัวอย่างคอลัมน์ท่องเที่ยวที่จ่ายค่าต้นฉบับให้นักเขียน 12,000-15,000 บาท สำหรับสถานที่ท่องเที่ยวในแบบที่เราต้องการ มีความอันซีน (unseen) และตีพิมพ์กับเราเป็นที่แรก หรือสารคดีที่เราซื้อจากนักเขียนและช่างภาพต่างประเทศโดยตรง เรายอมจ่ายต่อเรื่อง 70,000 บาทขึ้นไปจนถึงแสนกว่าเพื่อให้ได้เรื่องที่ดีและมีคุณภาพ” อารีย์กล่าว

“ส่วนใหญ่เวลาจะทำหนังสือ เรามีคอลัมน์ที่ชัดเจนวางไว้อยู่แล้ว เรตการจ่ายค่าเรื่องส่วนใหญ่ดูที่ความเข้มข้นของเนื้อหางาน ระยะเวลาในการทำงานแต่ละชิ้น การรีเสิร์ชข้อมูล ความยากง่ายของการลงพื้นที่และการสัมภาษณ์ ถ้าเราต้องการงานที่ดีและมีคุณภาพ แน่นอนว่าเราต้องยอมจ่ายให้ฟรีแลนซ์สมน้ำสมเนื้อด้วย นั่นจึงทำให้เรามีสัมพันธ์ที่ดีกับฟรีแลนซ์ และเขาอยากทำงานร่วมกับเรา”

“ในฐานะ บ.ก. (บรรณาธิการ) เราต้องการงานที่ดี เพราะฉะนั้น เราจะคุยกับเจ้าของทุนด้วยเหตุผลว่างานที่ดี มันมีราคาที่ต้องจ่ายสมเหตุสมผล (sensible price) ในอีกทางหนึ่งเราก็ต้องเข้าใจว่าเป็นเรื่องปกติที่นายทุนเขาจะอยากเซฟเงินให้ได้มากที่สุด แต่หน้าที่เราคือต้องอธิบายให้เขาเข้าใจว่าทำไมเราต้องจ่ายและวางงบประมาณไว้เท่านี้ ถ้าเราอธิบายได้ส่วนใหญ่เข้าใจ และเราก็จะหาทางออกร่วมกัน”

อารีย์ย้ำว่าถ้าหากสถานการณ์ทางการเงินขององค์กรอยู่ในจุดวิกฤต ขอความร่วมมือให้ทุกแผนกต้องรัดเข็มขัด บรรณาธิการจำเป็นต้องพิจารณาค่าต้นฉบับใหม่ และพูดคุยกับนักเขียนโดยตรง สิ่งสำคัญคือการสื่อสารให้นักเขียนหรือคอลัมนิสต์เห็นว่าบรรณาธิการเห็นคุณค่าของงานนักเขียนอยู่ แต่ถ้าหากมีการลดค่าต้นฉบับก็ต้องสื่อสารให้ชัดเจน

ทำไมค่าต้นฉบับของนักเขียนในสื่อยุคใหม่ถึงขยับตัวช้า?

ในฐานะคนที่ทำงานในวงการนิตยสารมายาวนาน นิภาเล่าว่าจากการพูดคุยกับคนในวงการสื่อ หลายคนเห็นตรงกันว่าค่าต้นฉบับมีแนวโน้มลดน้อยลงจากเดิมมาก บางคนที่เคยเขียนให้กับนิตยสาร IMAGE ไม่ว่าจะเป็นคอลัมนิสต์หรือนักเขียนฟรีแลนซ์ก็ได้ค่าต้นฉบับลดลง 50% ทำให้อดีตบรรณาธิการพยายามวิเคราะห์ว่าสาเหตุเหล่านี้น่าจะเกิดจากอะไรได้บ้าง 

“ทำไมเงินค่าเรื่องมันจึงผกผันมาก ทั้งๆ ที่ยุคก่อน การผลิตสื่อมีค่าใช้จ่ายสูงมาก ทั้งค่ากระดาษ ค่าเพลท ค่าพิมพ์ และการโดนหักเปอร์เซ็นต์จากการจัดจำหน่าย ฯลฯ แต่ปัจจุบันคอนเทนต์ลอยอยู่ในอากาศ [ค่าใช้จ่าย] ก็อาจจะเป็นการจ่ายให้โปรแกรม โดเมน เทคนิคต่างๆ ในการนำเสนอ ฯลฯ” นิภากล่าว

“แต่ขณะเดียวกัน ก็มีความถี่ในการนำเสนอมากขึ้นด้วย นิตยสารยุคก่อนคือรายสัปดาห์ รายปักษ์ รายเดือน รายสองเดือน แต่สื่อดิจิทัลยุคนี้คือรายวัน หรืออาจจะเรียกว่ารายชั่วโมงก็ว่าได้ เพราะการรับรู้ข่าวสารมีสารพัดช่องทางและเกิดข่าวใหม่ทั่วโลกแทบจะเรียกได้ว่ารายวินาที และการแข่งขันกันก็สูงมากที่จะได้ทั้ง eye ball หรือ brand loyalty แต่ไม่ได้เงิน เพราะเรายังไปกันไม่ถึงระบบการสมัครสมาชิก (subscription)  สรุปคือเดี๋ยวนี้ สื่อไม่ว่าอดีตหรือปัจจุบันยังต้องพึ่งรายได้จากสปอนเซอร์ หรือยอดขายโฆษณาจากลูกค้าอยู่”

“การแจกแจงความคิดออกมาอย่างที่เล่าไปเพื่อเป็นการมองสองมุม คือทั้งมุมของผู้ลงทุนและผู้สร้างสรรค์งานว่า ต่างก็ได้รับผลพวงจากดิสรัปชัน (disruption) นี้ไม่ต่างกัน ไม่อยากให้มองสำเร็จรูปแบบนายทุนคือผู้ร้าย เพราะมันไม่จริงเสมอไป”

นิภายังเสริมว่าเมื่อสื่อถูกดิสรัปต์จากเทคโนโลยี ทำให้อาชีพนักเขียนเริ่มอยู่ยากขึ้นเรื่อยๆ และมีแนวโน้มที่จะดำรงชีพด้วยการเป็นนักเขียนเพียงอย่างเดียวไม่ได้ ทั้งยังจำเป็นต้องปรับบทบาทตัวเองในยุคที่ใครๆ ก็ผลิตเนื้อหาเองได้

“ยกตัวอย่างง่ายที่สุด ต้นฉบับไม่ได้เป็นแค่สินค้าประเภทหนึ่ง แต่นักเขียนฟรีแลนซ์และนักเขียนชื่อดังก็ต้องทำตัวเป็นสินค้า หรือแบรนด์ที่จะฝ่าวงล้อมออกไปให้คนเสพได้รับรู้ด้วย ดังนั้น นอกจากนักเขียนจะต้องสร้างงานแล้ว ยังต้องลุกขึ้นมาขายของหรือผลงานของตัวเอง เพื่อให้ได้รับการมองเห็นและการอุดหนุน จะด้วยรูปแบบใดก็ตามแต่ แต่ไม่ใช่ทุกคนจะทำแบบนี้ได้ เพราะธรรมชาติของแต่ละคนก็ต่างกัน” นิภากล่าว

ในความคิดเห็นของกันต์กนิษฐ์ ซึ่งเคยทำงานในฐานะผู้ช่วยบรรณาธิการและวางแผนการจ่ายเงินนักเขียนฟรีแลนซ์มาก่อน เธอมองว่าปัญหาหนึ่งที่ทำให้ค่าต้นฉบับไม่ขยับตัว อาจเพราะสื่ออยู่ในช่วงขาลง ถ้าหากสื่อไหนไม่มีลูกค้าติดต่อเข้ามามาก ก็ย่อมส่งผลต่อการกำหนดงบประมาณองค์กร

“แม้วงการสื่อจะเหมือนอยู่ในช่วงขาลง แต่สื่อหลายๆ เจ้าก็ยังปรับตัวและเติบโตได้ ดังนั้นขึ้นอยู่กับสื่อแต่ละเจ้าว่าจะปรับโมเดลธุรกิจตัวเองยังไง จะปรับเป็นคอนเทนต์เอเจนซีเต็มตัว หรือจะเปลี่ยนไปทำอีคอมเมิร์ซ ทำแพลตฟอร์ม หรือทำแอปฯ หรือจะเป็นอะไร” กันต์กนิษฐ์กล่าว

“อีกเรื่องคือ ทัศนคติของคนให้เงินก็จะต้องมองว่า มันต้องมีการปรับค่าแรงนะ เพราะค่าแรงให้มาเท่านี้ตลอด มันไม่ได้แล้ว แล้วเอามาประกอบกับอีกฝั่งคือ ทำยังไงให้ธุรกิจสื่อไปต่อได้ มันมีเงินมากพอจะมาหล่อเลี้ยงทั้งบริษัท และดูแลคนทำงานอย่างดี มันก็อาจจะไปด้วยกันได้”

วงการสื่อแบบไทยๆ 

อารีย์เห็นสอดคล้องกันว่าความเฟื่องฟูของธุรกิจสื่อลดลงย่อมส่งผลต่อเม็ดเงินที่จะส่งต่อไปถึงการเพิ่มค่าต้นฉบับให้นักเขียนด้วย แต่ก็อาจจะไม่ใช่คำตอบทั้งหมดของปัญหาการแช่แข็งค่าต้นฉบับนักเขียนฟรีแลนซ์ไว้

“ถ้าเราดูในระบบ ธุรกิจไหน อาชีพไหนเบ่งบาน อยู่ในเทรนด์ และขาดแคลนแรงงาน อาชีพนั้นรายได้ก็จะสูง ซึ่งเป็นเรื่องเข้าใจ เพราะฉะนั้น ย้อนกลับไปในช่วงที่ธุรกิจสื่อเฟื่องฟู อุตสาหกรรมสื่อขาดแคลนแรงงาน มหาวิทยาลัยผลิตบัณฑิตไม่ทันกับความต้องการของธุรกิจ มีนิตยสารใหม่ๆ เกิดขึ้นราวดอกเห็ด เศรษฐกิจไทยเติบโต ประเทศไทยมีปัจจัยความพร้อมดึงดูดนักลงทุนต่างชาติ นิตยสารหัวต่างประเทศทยอยเข้ามาลงทุนในบ้านเรา เกิดการเรียนรู้การทำนิตยสารในระบบสากล เกิดการแข่งขัน บรรยากาศแบบนี้เอื้อต่อการเติบโตและพัฒนา” อารีย์กล่าว

“แต่กลับมาดูตอนนี้สื่อไม่ได้มีพาวเวอร์สูงเหมือนเมื่อก่อน ตอนนี้ทุกคนเป็นสื่อได้ และทุกคนสามารถเข้าถึงคอนเทนต์ได้ฟรี อันนี้เป็นส่วนสำคัญ บางคนบอกว่าหรือจะลองวิธีสมัครสมาชิก เราก็ต้องลองดูว่าจ่ายสตางค์กับดูฟรี คนจะเลือกอะไรด้วยภาวะเศรษฐกิจแบบนี้ ดังนั้น ส่วนหนึ่งองค์กรสื่อก็จะต้องปรับตัวหรือพยายามหาแนวทางทำงานต่อไปด้วย”

นอกจากนี้ ในมุมของอารีย์คิดว่าต้องดูในเชิงวัฒนธรรมของสังคมด้วย เพราะถ้าย้อนไปแล้วสังคมไทยไม่ได้มี ‘วัฒนธรรมการอ่าน’ ที่แข็งแรง ซึ่งอาจมีผลต่อการมองเห็นมูลค่าและความสำคัญของงานเขียน และส่งผลไปถึง ‘ราคาค่าต้นฉบับ’ ก็เป็นได้ 

“ต้องเข้าใจว่าไทยไม่ได้มีวัฒนธรรมการอ่านมาตั้งแต่แรก สังคมไทยเป็นสังคมวัฒนธรรมแบบมุขปาฐะ การบอกเล่าต่อๆ กันมา การบันทึกเป็นลายลักษณ์อักษรน้อย ช่วงหลังเพิ่งมาบันทึกตามตะวันตกเท่านั้นเอง แต่นั่นยังไม่สำคัญเท่ากับความจริงที่ว่าในสังคมที่มีตัวหนังสือใช้มานานหลายศตวรรษอย่างสังคมไทย วัฒนธรรมการอ่านของเราก็ยังคงไม่แข็งแรง”

“สังคมไทยจึงไม่ใช่สังคมนักอ่าน เพราะการอ่านมันใช้เวลา ใช้ทักษะ อ่านไปด้วยก็ต้องอาศัยกระบวนการคิดวิเคราะห์ ยิ่งปัจจุบันมีช่องทางมากมายในการเสพสื่อ การอ่านหนังสือจึงเป็นตัวเลือกท้ายๆ ไม่เหมือนดูหนัง ฟังเพลง หรือดูซีรีส์ ประกอบกับสังคมไทยเหลื่อมล้ำสูง การอ่านก็เข้าถึงคนหลากหลายกลุ่มได้ยาก เพราะต้องยอมรับว่าหนังสือบ้านเราราคาไม่ถูก” 

“มีครั้งหนึ่ง ผู้บริหารนิตยสารหัวหนึ่งจากฝรั่งเศสมาประชุมที่ไทย เรากำลังจะตั้งราคานิตยสารกัน เราเอานิตยสารทุกเล่มในเมืองไทยมาวางในห้องประชุม แล้ววิเคราะห์จุดเด่น-จุดด้อยของแต่ละหัว รวมถึงเรื่องราคาว่าเราจะตั้งนิตยสารของเราที่ราคาเท่าไหร่ แล้วเราจะวางราคานิตยสารของเราในเซกเมนต์ (segment) ไหน ตอนนั้นราคานิตยสารไทยอยู่ที่ 80-120 บาท เขาถามว่าราคานี้เท่ากับค่าข้าวประมาณกี่มื้อ ตอนนั้นข้าวไทยราคา 30-45 บาท นั่นคือได้ 3-4 มื้อ บางเล่ม 5 มื้อ เขาบอกว่าทำไมหนังสือประเทศยูแพงมาก เพราะของเขาคือข้าวมื้อเดียว หรือไม่ถึงมื้อก็ซื้อนิตยสารได้”

ประเด็นสุดท้ายที่นิภาและกันต์กนิษฐ์เห็นตรงกัน คือปัญหาการต่อรองและเจรจาราคาระหว่างผู้ว่าจ้างและนักเขียนฟรีแลนซ์เอง โดยเฉพาะเมื่อมีประเด็นวงการสื่อรู้จักกันโดยทั่วไปอยู่แล้ว ทำให้เกรงใจที่จะพูดเรื่องเงินกันอย่างตรงไปตรงมา ประกอบกับชุดความคิดและลักษณะของ ‘งานเขียน’ 

“ด้วยความที่วงการแคบ เรารู้จักกันอยู่แล้ว มันเลยเป็นความปากหนักบางอย่าง เขาให้เท่าไหร่ก็เอา หรือบางครั้งตอบตกลงรับทำงานแล้ว ไม่ถามค่าแรงก่อนว่าจะได้เท่าไหร่ ไม่คุยกันให้ชัดๆ เพราะมีความเป็นพี่เป็นน้องอยู่สูง เกรงใจกัน ไม่เคยพูดเลยว่า พี่ อันนี้ไม่ไหวจริงๆ ขอขึ้นอีก 1,000-2,000 บาทได้ไหม เพราะเรารู้สึกว่าวงการมีแค่นี้ เราต้องรักษาความสัมพันธ์ไปเรื่อยๆ เพราะเราก็ไม่ใช่นักเขียนมีชื่อเสียงที่จะเรียกร้องได้” กันต์กนิษฐ์อธิบาย ก่อนเธอจะตั้งข้อสังเกตว่า 

“บางครั้งก็รู้สึกว่าเราย้อนแย้งเหมือนกันนะ เป็นนักเขียนที่เรียกร้องสิทธิอะไรหลายๆ อย่างให้คนอื่น แต่ทำไมพอเป็นเรื่องตัวเอง ต้องกลายเป็นว่าเราต้องคิดก่อนว่ามันพูดได้ไหม” 

นิภามองว่าอีกส่วนคือมายาคติบางอย่างที่ไม่เคยหายไปจากการรับรู้ของสังคมไทย และแม้กระทั่งการรับรู้ของตัวนักเขียนเอง เช่นวลีที่ว่า ‘นักเขียนไส้แห้ง’ หรือ ‘ศิลปินไส้แห้ง’ นักเขียนบางคนอาจจะต่อสู้ดิ้นรนให้พ้นจากมายาคตินี้ แต่บางคนยังคงกอดเอาไว้ แล้วผูกกับศักดิ์ศรีความเป็นศิลปินจะต้องปลอดพ้นเรื่องเงินทอง ทำให้ปากหนักไม่ถาม หรือบ้างก็อยากพอใจแค่ผลงานได้เผยแพร่ ทำให้บางครั้งอาจจะเสียประโยชน์หรือผลตอบแทนที่ควรได้ไป 

“แต่อยากบอกว่า หากใครติดกับดักตรงนี้ ก็จงก้าวให้พ้น นักเขียนคืออาชีพหนึ่ง เหมือนทุกอาชีพที่มีศักดิ์ศรี จงเรียกร้องในสิ่งที่คุณสมควรจะได้รับ แต่ที่สำคัญ งานที่คุณทำ ต้องทำจริง ดีจริง สมกับคำว่า ‘มืออาชีพ’ และหากไม่ได้ประเมินตัวเองสูงไปหรือต่ำไป คุณก็ย่อมมีสิทธิ์เจรจา ต่อรอง แบบตรงไปตรงมา และเปิดใจกว้างที่จะรับฟัง แลกเปลี่ยนเรื่องเงินๆ ทองๆ ที่เราพึงได้จากการสร้างผลงาน” นิภากล่าว

“สำหรับการมองจากมุมมองของผู้ลงทุน อันนี้คิดเอง แบบที่ไม่เคยเป็นเจ้าของสื่อใดๆ ส่วนหนึ่งมันน่าจะขึ้นอยู่กับว่า แต่ละคนให้คุณค่าและแปรงานเขียนเป็นราคาแบบใด แต่แน่นอนละ ทุกอย่างคือเงิน ทุนต้องมีกรอบงบประมาณของมัน ตัวอย่างดีๆ ของผู้ลงทุนอย่างที่เล่าไปแล้วก็มีอยู่ แต่ก็เชื่อว่าคงมีเช่นกันที่อาจจะฉวยประโยชน์จากความเป็นศิลปินของคนทำงาน พร้อมกดขี่ค่าแรงไปโดยปริยาย อยากฝากให้คิดกันต่อเองลึกๆ ถึงโครงสร้างค่าตอบแทนของแรงงานไทยทุกประเภทในบ้านเรา”  

MOST READ

Social Issues

9 Oct 2023

เด็กจุฬาฯ รวยกว่าคนทั้งประเทศจริงไหม?

ร่วมหาคำตอบจากคำพูดที่ว่า “เด็กจุฬาฯ เป็นเด็กบ้านรวย” ผ่านแบบสำรวจฐานะทางเศรษฐกิจ สังคม และความเหลื่อมล้ำ ในนิสิตจุฬาฯ ปี 1 ปีการศึกษา 2566

เนติวิทย์ โชติภัทร์ไพศาล

9 Oct 2023

Life & Culture

14 Jul 2022

“ความตายคือการเดินทางของทั้งคนตายและคนที่ยังอยู่” นิติ ภวัครพันธุ์

คุยกับนิติ ภวัครพันธุ์ ว่าด้วยเรื่องพิธีกรรมการส่งคนตายในมุมนักมานุษยวิทยา พิธีกรรมของความตายมีความหมายแค่ไหน คุณค่าของการตายและการมีชีวิตอยู่ต่างกันอย่างไร

ปาณิส โพธิ์ศรีวังชัย

14 Jul 2022

Life & Culture

27 Jul 2023

วิตเทเกอร์ ครอบครัวที่ ‘เลือดชิด’ ที่สุดในอเมริกา

เสียงเห่าขรม เพิงเล็กๆ ริมถนนคดเคี้ยว และคนในครอบครัวที่ถูกเรียกว่า ‘เลือดชิด’ ที่สุดในสหรัฐอเมริกา

เรื่องราวของบ้านวิตเทเกอร์ถูกเผยแพร่ครั้งแรกทางยูทูบเมื่อปี 2020 โดยช่างภาพที่ไปพบพวกเขาโดยบังเอิญระหว่างเดินทาง ซึ่งด้านหนึ่งนำสายตาจากคนทั้งเมืองมาสู่ครอบครัวเล็กๆ ครอบครัวนี้

พิมพ์ชนก พุกสุข

27 Jul 2023

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • Always Active

Save