fbpx
ส่องสนามเลือกตั้งประธานาธิบดีเกาหลีใต้ 2022

ส่องสนามเลือกตั้งประธานาธิบดีเกาหลีใต้ 2022

ปทิตตา วาสนาส่งชูสกุล, info.nec.go.kr, gnews.gg.go.kr ภาพประกอบ

ค.ศ. 2022 มีกำหนดการเลือกตั้งประธานาธิบดีในประเทศต่างๆ เกือบทุกภูมิภาคทั่วโลก ไม่ว่าจะเป็นเติร์กเมนิสถาน โคลอมเบีย ฟิลิปปินส์ ฝรั่งเศส โซมาลีแลนด์ ฯลฯ ในจำนวนนี้ เกาหลีใต้ถือเป็นประเทศแรกที่จะมีการเลือกตั้งผู้นำคนใหม่ในวันพุธที่ 9 มีนาคมนี้ โดยประธานาธิบดีที่ได้รับเลือกตั้งมีกำหนดเข้าพิธีสาบานตนรับตำแหน่งอย่างเป็นทางการในเดือนพฤษภาคม ด้วยระยะเวลาการดำรงตำแหน่ง 5 ปี และอยู่ได้ไม่เกินหนึ่งวาระ

การเลือกตั้งประธานาธิบดีของเกาหลีใช้รูปแบบ First-past-the-post หมายถึง ผู้สมัครที่ได้รับคะแนนสูงสุดในบรรดาผู้สมัครทั้งหมดจะได้เป็นประธานาธิบดี โดยไม่มีข้อจำกัดเรื่องจำนวนคะแนนเสียงขั้นต่ำ

เว็บไซต์ของสำนักงานคณะกรรมการการเลือกตั้งเกาหลีใต้ระบุว่า เกาหลีใต้ได้จัดการเลือกตั้งสำหรับผู้มีสิทธิที่พำนักอยู่นอกสาธารณรัฐเมื่อวันที่ 23-28 กุมภาพันธ์ เวลา 8.00-17.00 น. ตามหน่วยเลือกตั้งของสถานเอกอัครราชทูต สถานกงสุลใหญ่ และสำนักงานต่างๆ จำนวน 219 แห่งใน 115 ประเทศทั่วโลก โดยมีจำนวนผู้ใช้สิทธิคิดเป็นร้อยละ 71.8 ของผู้มีสิทธิทั้งหมดที่อาศัยอยู่ในต่างประเทศ นอกจากนี้ยังกำหนดให้วันที่ 4 และ 5 มีนาคมเป็นวันเลือกตั้งล่วงหน้า โดยจากการสำรวจความคิดเห็นในกลุ่มผู้มีสิทธิเลือกตั้งของสำนักงานฯ พบว่าประชาชนเกาหลีใต้สนใจการเลือกตั้งครั้งนี้ถึงร้อยละ 89.9 และมีรายงานว่า จำนวนผู้มาใช้สิทธิเลือกตั้งล่วงหน้าตั้งแต่วันแรกมากที่สุดในประวัติศาสตร์การเลือกตั้งล่วงหน้าของประเทศ

การเลือกตั้งประธานาธิบดีครั้งนี้ยังมีการขยายระยะเวลาการหย่อนบัตรเลือกตั้งสำหรับผู้ติดเชื้อโควิด-19 และผู้ที่อยู่ระหว่างการกักตัวให้สามารถใช้สิทธิได้ในหน่วยเลือกตั้งที่กำหนดภายในเวลา 18.00 น. ของวันที่ 5 มีนาคม หรือใช้สิทธิแยกต่างหากที่หน่วยเลือกตั้งของตนในวันเลือกตั้งจริง 9 มีนาคม เวลา 18.00-19.30 น. แสดงให้เห็นว่า เกาหลีใต้ให้ความสำคัญแก่การรักษาสิทธิทางการเมืองของพลเมือง แม้จะมีโรคระบาดไม่อาจหยุดยั้งได้ เช่นเดียวกับมาตรการช่วงสอบเข้ามหาวิทยาลัยที่ให้โอกาสผู้ติดเชื้อสามารถสอบแยกห้องโดยมีการควบคุมอย่างเข้มงวดได้

ใครคือผู้เล่นหลักในสนาม

ผู้สมัครประธานาธิบดีของเกาหลีใต้มาจากการเสนอชื่อของพรรคการเมืองตามระบบ Primary โดยคัดเลือกจากผู้ที่ได้รับคะแนนสูงสุดจากการเลือกตั้งของสมาชิกพรรค

ในการเลือกตั้งประธานาธิบดีครั้งนี้ มีผู้สมัครจากพรรคหลักที่ลงชิงชัยตั้งแต่แรกจำนวน 14 คน โดยคนที่เป็นดาวเด่นจากการสำรวจความคิดเห็นของประชาชน (poll) มี 4 คนคือ อี แช-มย็อง จาก Democratic Party ซึ่งเป็นพรรครัฐบาลปัจจุบันและเป็นฝ่ายก้าวหน้า (progressive) ในการเมืองเกาหลีใต้ ยุน ซ็อก-ย็อล จาก People Power Party ซึ่งเป็นพรรคฝ่ายค้านและเป็นฝ่ายอนุรักษนิยม (conservative) อัน ชอล-ซู จาก People Party ซึ่งถอนตัวเมื่อวันที่ 3 มีนาคม และประกาศสนับสนุนผู้สมัครยุนจากพรรคฝ่ายค้าน เช่นเดียวกับคิม ทง-ย็อน ผู้สมัครจากพรรค New Wave ที่ถอนตัวและประกาศสนับสนุนผู้สมัครอีจากพรรครัฐบาล และคนสุดท้ายคือ ผู้สมัครหญิง ชิม ซัง-จ็อง จาก Justice Party โดยชิมเป็นผู้สมัครที่ได้รับความนิยมรองลงมาจากผู้สมัครยุนและอี

การเลือกตั้งครั้งนี้มีจุดเด่นอยู่ตรงที่ว่า ผู้สมัครที่มีคะแนนนำจากการสำรวจความนิยมไม่เคยลงสมัครรับเลือกตั้งประธานาธิบดีมาก่อนทั้ง 2 คน จึงถือเป็น ‘คนนอกสนาม’ อยู่พอสมควร อย่างไรก็ดี ผู้สมัครทั้งสองไม่ใช่คนหน้าใหม่สำหรับชาวเกาหลีใต้เสียทีเดียว ผู้สมัครอีนั้นมีประสบการณ์ในการเลือกตั้งระดับท้องถิ่นมาอย่างยาวนาน เคยดำรงตำแหน่งอดีตนายกเทศมนตรีเมืองซ็องนัมถึง 2 สมัย (ค.ศ. 2010-2018) และได้รับเลือกตั้งเป็นผู้ว่าราชการจังหวัดคย็องกีที่มีประชากรอาศัยอยู่หนาแน่นที่สุดของประเทศ ใน ค.ศ. 2018-2021 จากประสบการณ์ของผู้เขียนที่เคยสัมภาษณ์นักวิชาการและนักการเมืองเกาหลีใต้พบว่า ผู้สมัครอีถือเป็นตัวเลือกท้ายๆ ของพรรครัฐบาล เนื่องจากมีความคิดที่สังคมเกาหลีใต้อาจเรียกว่า ‘ซ้ายจัด’ ในด้านเศรษฐกิจกล่าวคือ เน้นบทบาทของรัฐในการจัดสรรสวัสดิการและเงินอุดหนุนรูปแบบต่างๆ

นิตยสาร Times นำเสนอข้อมูลเกี่ยวกับช่วงชีวิตที่อาจมีผลต่อความคิดและการตัดสินใจทางนโยบายต่างๆ (formative years) ของผู้สมัครอีโดยเปรียบเทียบกับช่วงชีวิตของประเทศเกาหลีใต้ที่เริ่มจากคนไม่มีอะไรจนกลายมาเป็นคนที่มีบทบาทสำคัญและเป็นที่รู้จัก เขามาจาก “บริเวณที่ล้าหลังที่สุดของเกาหลีใต้ในศตวรรษที่ 20” เป็นลูกคนที่ 5 ใน 7 คนของครอบครัวที่ยากจน ต้องเดินเท้าไป-กลับโรงเรียนประถมเป็นระยะทางประมาณ 16 กิโลเมตรทุกวัน ไม่มีแม้แต่กระดาษหรือสีเทียนที่ใช้เรียนหนังสือ มีครั้งหนึ่งผู้สมัครอีต้องไปล้างห้องน้ำโรงเรียนเพื่อหาเงินประทังชีวิตขณะที่เพื่อนของเขาเข้าร่วมการประกวดศิลปะ เขายังต้องออกจากโรงเรียนตั้งแต่ยังเป็นวัยรุ่น ถูกนายจ้างกดขี่ค่าแรง พ่อติดพนัน สารพัดปัญหารุมเร้าจนเขาเกือบคิดฆ่าตัวตาย แต่สุดท้ายสอบเข้าคณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยชุงอังได้แม้จะไม่จบมัธยม เขาให้สัมภาษณ์ว่า เคยคิดว่าเรื่องเหล่านี้เป็นปัญหาส่วนตัวของเขา แต่เมื่อโตขึ้นจึงรู้ว่านี่คือปัญหาของโครงสร้างสังคม

ก่อนหน้านี้ พรรครัฐบาลมีตัวเลือกที่ภาษาสื่ออาจจะเรียกว่า ‘นอนมา’ หรือถ้าลงเลือกตั้งก็คงได้รับเลือกตั้งแน่นอนอยู่ 2 คน คือ นายอัน ฮี-จ็อง อดีตผู้ว่าราชการจังหวัดชุงช็องใต้ ผู้ได้รับฉายาว่า ‘โอบามาแห่งเกาหลีใต้’ และนายปัก ว็อน-ซุน อดีตนายกเทศมนตรีกรุงโซลผู้ล่วงลับ แต่ผู้ว่าฯ อันต้องลาออกจากตำแหน่งเนื่องจากกรณีล่วงละเมิดทางเพศเลขานุการ เช่นเดียวกับนายกฯ ปักที่ถูกกล่าวหาในลักษณะเดียวกัน คดีของท่านนายกเทศมนตรีสิ้นสุดลงเนื่องจากท่านเลือกจบชีวิตตัวเอง ด้วยตัวเลือกที่มีอยู่จำกัดและฐานเสียงที่มีอยู่ในพรรครัฐบาล ผู้สมัครอีจึงได้รับเลือกให้เป็นตัวแทนของพรรคในที่สุด ชนะนายอี นัก-ย็อน อดีตนายกรัฐมนตรีที่ดำรงตำแหน่งยาวนานที่สุดในเกาหลีใต้หลังการประกาศใช้รัฐธรรมนูญ ค.ศ. 1987 (2 ปี 7 เดือน) และมีประวัติชนะทุกการเลือกตั้งตั้งแต่เข้าสู่วงการการเมือง

ส่วนผู้สมัครยุนนั้นเคยดำรงตำแหน่งอัยการสูงสุดใน ค.ศ. 2019-2021 เป็นอัยการที่เคยตรวจสอบกรณีการประพฤติมิชอบของนางสาวปัก คึน-ฮเย อดีตประธานาธิบดีที่เปิดโอกาสให้เพื่อนสนิทเข้ามาใช้ตำแหน่งแสวงหาผลประโยชน์จนถูกถอดถอนออกจากตำแหน่ง ความน่าสนใจของผู้สมัครยุนซึ่งเป็นผู้สมัครจากพรรคฝ่ายค้านคือ เขาได้รับแต่งตั้งโดยประธานาธิบดีท่านปัจจุบัน ซึ่งพรรคฝ่ายรัฐบาลต่างสนับสนุน กลับกลายเป็นพรรคฝ่ายค้านที่เขาสังกัดอยู่และพรรคของอดีตผู้สมัครอัน ชอล-ซูเสียอีกที่คัดค้านการดำรงตำแหน่ง ที่สำคัญ ประธานาธิบดียังให้อาณัติแก่อดีตอัยการยุนในการรักษาความเป็นกลางและตรวจสอบทุกกรณีทุจริตหรือประพฤติมิชอบอย่างเข้มงวดแม้จะมีความเกี่ยวข้องกับรัฐบาลก็ตาม

อดีตอัยการยุนตอบสนองนโยบายของผู้บังคับบัญชาด้วยการตรวจสอบภรรยาของศาสตราจารย์ ดร. โช กุก อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรมในคดีปลอมแปลงเอกสาร ซึ่งอัยการได้ออกหมายจับและพบว่ามีความผิดจริง ศาลพิพากษาจำคุก 4 ปี และปรับเป็นจำนวนเงิน 500 ล้านวอน (ประมาณ 13 ล้านบาท) อาจารย์โชจึงต้องลาออกจากตำแหน่ง นางชู มี-แอ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรมคนต่อมาออกคำสั่งให้โยกย้ายอัยการจำนวน 32 คน คอลัมนิสต์หนังสือพิมพ์ JoongAng Ilbo มีข้อสังเกตว่า อัยการที่ช่วยยุนทำคดีถูกลดขั้นให้ออกไปประจำอยู่นอกกรุงโซล ในขณะที่อัยการที่มีความใกล้ชิดกับรัฐบาลหรือประธานาธิบดีได้ปรับตำแหน่งสูงขึ้น เช่น นายอี ซอง-ยุน หัวหน้าสำนักงานอัยการประจำกระทรวงยุติธรรมซึ่งเป็นศิษย์เก่ามหาวิทยาลัยคย็องฮี สถาบันเดียวกันกับประธานาธิบดีมุน แช-อิน และเป็นอัยการตรวจสอบกรณีเรือเซวอลล่ม ได้เลื่อนเป็นหัวหน้าสำนักงานอัยการประจำกรุงโซล เป็นต้น

ในเดือนเมษายน 2020 อดีตอัยการยุนมุ่งมั่นตรวจสอบการกระทำผิดกฎหมายเลือกตั้งของทั้งพรรครัฐบาลและพรรคฝ่ายค้านอย่างแข็งขัน รัฐมนตรีชูจึงออกคำสั่งพักงานอดีตอัยการยุนและตรวจสอบเครือญาติและผู้เกี่ยวข้องทั้งหมด เขาขอบารมีศาลเป็นที่พึ่งซึ่งศาลมีคำวินิจฉัยระงับคำสั่ง กระทรวงยุติธรรมจึงออกคำสั่งพักงานยุนเป็นเวลา 2 เดือนโดยประธานาธิบดีเป็นผู้อนุมัติ ยุนจึงขอพึ่งบารมีศาลอีกครั้ง และศาลได้ระงับคำสั่งดังกล่าว ในที่สุด ยุนจึงลาออกจากตำแหน่งอัยการสูงสุดในวันที่ 4 มีนาคม 2021 และเข้าร่วมกับพรรคฝ่ายค้านจนได้รับเลือกให้เป็นผู้แทนพรรคในการลงเลือกตั้งประธานาธิบดี เนื่องจากฝ่ายอนุรักษนิยมไม่มีตัวเลือกที่เป็นที่รู้จักมากพอ โดยสามารถเอาชนะนายฮง ชุน-พโย อดีตผู้สมัครรับเลือกตั้งประธานาธิบดีที่มีคะแนนเป็นอันดับสอง (ร้อยละ 24) รองจากประธานาธิบดีมุน แช-อินในการเลือกตั้ง 2017

เมื่อเปรียบเทียบกับผู้สมัครอีแล้ว ยุนนับว่ามีประวัติที่ราบรื่นกว่ามาก พ่อของเขาเป็นอดีตอาจารย์มหาวิทยาลัยย็อนเซและฮิโตะสึบาชิที่ประเทศญี่ปุ่น เป็นผู้ก่อตั้งสมาคมสถิติแห่งประเทศเกาหลีใต้ (The Korean Statistical Society) และเป็นภาคีสมาชิกรัฐบัณฑิตยสถาน ส่วนแม่เป็นอดีตอาจารย์มหาวิทยาลัยสตรีอีฮวา ยุนสำเร็จการศึกษาปริญญาตรีนิติศาสตร์ที่มหาวิทยาลัยแห่งชาติโซล หลังเหตุการณ์สังหารหมู่ที่นครควังจูในเดือนพฤษภาคม 1980 ยุนกับเพื่อนๆ ก็ร่วมกันจัดศาลจำลองโดยเขาเล่นบทบาทเป็นอัยการที่เสนอให้ศาลพิจารณาโทษประหารให้แก่อดีตประธานาธิบดีช็อน ดู-ฮวาน จนถูกเจ้าหน้าที่รัฐหมายหัว จึงต้องย้ายไปอยู่จังหวัดคังว็อน และส่งผลต่อเนื่องมาถึงการสอบเนติบัณฑิตในรอบที่สองที่เขาพยายามถึง 9 ครั้งจนสอบผ่านใน ค.ศ. 1991 ยุนไม่เคยมีประสบการณ์เกณฑ์ทหารเช่นเดียวกับชายชาวเกาหลีใต้อื่นๆ เนื่องจากเขาป่วยเป็นโรคตาสองข้างสั้นยาวไม่เท่ากัน (Anisometropia) และนั่นก็ทำให้เขาไม่สามารถมีใบขับขี่ได้

จุดปะทะในนโยบายหลัก

เว็บไซต์คณะกรรมการการเลือกตั้งของเกาหลีใต้มีประกาศนโยบายของพรรคการเมือง (정당정책) และปฏิญญาของผู้สมัครประธานาธิบดีแต่ละคน (후보자공약) ที่ทุกคนสามารถเข้าถึงได้ ในการเลือกตั้งประธานาธิบดีเกาหลีใต้นั้น นโยบายที่มักมีอิทธิพลต่อการตัดสินใจของผู้สมัครได้แก่ นโยบายเศรษฐกิจและนโยบายต่างประเทศและการป้องกันประเทศ ในภาพรวม สาระสำคัญในแนวนโยบายของผู้สมัครอีไม่แตกต่างจากการดำเนินงานของรัฐบาลประธานาธิบดีมุน แช-อินมากนัก ขณะที่แนวนโยบายของผู้สมัครยุนคือการทำในสิ่งที่ตรงกันข้ามกับการดำเนินงานของรัฐบาลปัจจุบัน

ในด้านนโยบายเศรษฐกิจ ทั้งสองฝ่ายมีจุดยืนที่แตกต่างในเรื่องบทบาทนำในการขับเคลื่อนการพัฒนาเศรษฐกิจของเกาหลีใต้ ผู้สมัครอีเห็นว่า รัฐบาลควรมีบทบาทนำในการพัฒนาวิทยาศาสตร์ อุตสาหกรรม การศึกษา อสังหาริมทรัพย์ การพัฒนาที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม และการสร้างงานสำหรับบุคลากรในสายงานนวัตกรรม โดยให้คำมั่นว่าจะทุ่มเงินจำนวน 135 ล้านล้านวอน (ประมาณ 3.62 ล้านล้านบาท) เพื่อสร้างตำแหน่งงานจำนวน 2 ล้านตำแหน่ง และอุดหนุนวิสาหกิจในการปรับตัวสู่ดิจิทัล สร้าง ‘ยูนิคอร์น’ ให้ได้ถึง 100 แห่ง และเน้นการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจที่กระจายความเจริญก้าวหน้าออกไปสู่ภูมิภาค ผู้สมัครอียังตั้งเป้าหมายที่ค่อนข้างทะเยอทะยานไปกว่านั้นว่าจะทำให้เกาหลีใต้เป็นประเทศที่มีอำนาจทางเศรษฐกิจเป็นอันดับ 5 ของโลก ผลักดันดัชนีหุ้น KOSPI ให้ไต่ระดับไปถึง 5,000 จุด และเพิ่มรายได้ประชาชาติต่อหัว (GDP per capita) ให้ได้ถึง 50,000 ดอลลาร์สหรัฐ

ในขณะที่ผู้สมัครยุนไม่ปฏิเสธบทบาทของรัฐบาล แต่เห็นว่าบทบาทนำควรเป็นของภาคเอกชน ส่วนรัฐบาลควรเป็นเพียงผู้สนับสนุนและอำนวยความสะดวกเท่านั้น โดยเฉพาะการผ่อนคลายกฎระเบียบ การให้เงินอุดหนุน การพัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน การลดภาษีกำไรจากการขายหลักทรัพย์ (capital gain tax) และการยกเว้นภาษีสำหรับวิสาหกิจต่างชาติที่เข้ามาลงทุนในเกาหลีใต้ เพื่อสร้างบริบทสำหรับการเติบโตของวิสาหกิจใหม่ๆ และนโยบายของรัฐบาลปัจจุบันที่ผู้สมัครยุนโจมตีอย่างมากก็คือการกำหนดชั่วโมงการทำงานไว้ที่ 52 สัปดาห์ ซึ่งเขาเห็นว่าไม่สะท้อนความเป็นจริงของการทำงานในสังคมเกาหลีใต้ และควรให้เป็นการตกลงกันระหว่างนายจ้างกับลูกจ้างเป็นหลัก

อีกประเด็นหนึ่งที่ทั้งสองอาจมีมุมมองเห็นพ้องกันแต่เห็นต่างกันในรายละเอียดคือการเป็นเจ้าของที่อยู่อาศัย ผู้สมัครยุนให้คำมั่นเมื่อเดือนสิงหาคม 2021 ว่าจะสร้างที่พักอาศัยใหม่จำนวน 2.5 ยูนิตหลังทั่วประเทศเพื่อแก้ไขปัญหาราคาที่อยู่อาศัยที่เพิ่มสูงขึ้น และจะสร้างที่พักขนาดเล็กจำนวน 300,000 ยูนิตสำหรับชาวเกาหลีใต้ในช่วงอายุ 20 และ 30 ปี โดยเรียกนโยบายนี้ว่าเป็น ‘นโยบายความสุข’

เช่นเดียวกัน ผู้สมัครอีให้คำมั่นว่าจะสร้างที่พักอาศัยจำนวน 3.11 ล้านยูนิตและพัฒนาระบบขนส่งมวลชนให้เข้าถึงที่พักเหล่านี้ด้วย พร้อมกับขออภัยแทนรัฐบาลปัจจุบันที่ทำให้ราคาอสังหาริมทรัพย์ต่างๆ เพิ่มสูงขึ้น แต่นโยบายเศรษฐกิจที่ถือเป็นแบบฉบับของผู้สมัครอีคือหลักประกันรายได้พื้นฐาน (universal basic income) สำหรับพลเมืองเกาหลีใต้ จำนวน 1 ล้านวอน (ประมาณ 30,000 บาท) ต่อปี โดยเยาวชนอายุต่ำกว่า 29 ปี จะได้รับเงินปีละ 1.2 ล้านวอน (ประมาณ 36,000 บาท) หรือมากกว่านั้น และให้สิทธิดังกล่าวสำหรับพลเมืองที่มีอายุ 60-64 ปีบางรายเท่านั้น แต่จะเพิ่มเบี้ยยังชีพผู้สูงอายุเป็น 400,000 วอน (ประมาณ 12,000 บาท) โดยรัฐบาลจะจัดสรรเงินอุดหนุนเหล่านี้ผ่านหน่วยการปกครองส่วนท้องถิ่นในรูปของเงินสดหรือคูปอง แหล่งที่มาของเงินจำนวนมากนี้จะมาจากภาษีคาร์บอนแบบใหม่และการเก็บเงินปันผลจากบรรดาเจ้าที่ดิน

เนื่องจากผู้สมัครทั้งสองไม่เคยมีประสบการณ์ในการบริหารนโยบายเศรษฐกิจมหภาค จึงต่างมีนักวิชาการที่ปรึกษาเข้ามาบทบาทสำคัญในการนำเสนอความคิดทางเศรษฐกิจให้ผู้สมัครทั้งสอง ผู้สมัครยุนมี ดร. คิม โซ-ย็อง ศาสตราจารย์ด้านเศรษฐศาสตร์การเงินจากมหาวิทยาลัยแห่งชาติโซลเป็นหัวหน้าทีมที่ปรึกษา เขาสำเร็จการศึกษาจากมหาวิทยาลัยเยล สหรัฐอเมริกา เคยได้รับรางวัลงานวิจัยและยกย่องเป็นนักวิชาการเศรษฐศาสตร์รุ่นอายุ 30 และ 40 ปีที่ทรงอิทธิพลที่สุดและเป็น 1 ใน 100 ผู้มีความสามารถของเกาหลีใต้จากสื่อฝ่ายอนุรักษนิยม ส่วนผู้สมัครอีมีนักวิชาการที่เป็นที่ปรึกษาด้านเศรษฐกิจถึง 3 คน ได้แก่ ดร. ฮา ชุน-กย็อง ผู้เสนอแนวความคิดการเติบโตทางเศรษฐกิจที่เป็นธรรมแนวปฏิรูป (전환적 공정성장) ให้ผู้สมัครอีใช้ในปฏิญญาและผู้เขียนบทความที่ฮือฮาในสื่อออนไลน์ของเกาหลีใต้โดยมีประโยคว่า “การขาดดุลของรัฐบาลคือกำไรของมหาชน และหนี้ของประเทศคือทรัพย์สินปวงชน” (정부 적자는 민간의 흑자고 나랏빚은 민간 자산) ดร. คัง นัม-ฮุน ศาสตราจารย์มหาวิทยาลัยฮันชินผู้เสนอกรอบนโยบายหลักประกันรายได้พื้นฐานสำหรับเยาวชน และ ดร. อี ซัง-กย็อง เป็นผู้ดูแลกรอบนโยบายที่พักอาศัย

อีกนโยบายที่มีการถกเถียงกันอย่างต่อเนื่องจริงจังคือนโยบายต่างประเทศและการป้องกันประเทศ การเลือกตั้งครั้งนี้ถือเป็นครั้งแรกในประวัติศาสตร์ที่ผู้สมัครประธานาธิบดีที่มีคะแนนนำทั้งสองเขียนบทความภาษาอังกฤษลงวารสาร Foreign Affairs ในชื่อของตัวเอง (ซึ่งทีมงานเป็นผู้ช่วยเตรียมให้ เพราะทั้งผู้สมัครยุนและอีไม่ถนัดการสื่อสารภาษาอังกฤษมากนัก) บทความของผู้สมัครยุนมีชื่อว่า South Korea Needs to Step Up เผยแพร่ในวันที่ 8 กุมภาพันธ์ ตามมาด้วยบทความเรื่อง A Practical Vision for South Korea ของผู้สมัครอีซึ่งเผยแพร่ในวันที่ 23 กุมภาพันธ์ บทความทั้งสองสะท้อนฐานความคิดทางด้านการต่างประเทศที่แตกต่างกันระหว่างฝ่ายอนุรักษนิยมกับฝ่ายก้าวหน้าในการเมืองเกาหลีใต้ได้เป็นอย่างดี

ประเด็นแรกคือความสัมพันธ์กับเกาหลีเหนือ ซึ่งเป็นทั้งเพื่อนบ้านและเป็นทั้งภัยคุกคามต่อความมั่นคงหมายเลขหนึ่งของเกาหลีใต้จากการครอบครองและพยายามพัฒนาขีดความสามารถของอาวุธนิวเคลียร์ ผู้สมัครยุนมองว่า เป้าหมายการดำเนินนโยบายเกาหลีเหนือควรมุ่งสู่การปลดอาวุธนิวเคลียร์แบบ “สมบูรณ์ ตรวจสอบได้ และไม่กลับไปสู่สภาพเดิมอีก (Complete, Verifiable, Irreversible Denuclearization – CVID)” แต่รัฐบาลปัจจุบันกลับเอาแต่ร่วมมือหรือยอมเกาหลีเหนือเพื่อให้เกิดการประชุมสุดยอดระหว่างผู้นำเกาหลีเหนือกับผู้นำเกาหลีใต้และสหรัฐอเมริกาเพื่อให้มีผลงาน ผู้สมัครยุนเสนอว่า เกาหลีใต้จะต้องใช้ ‘นโยบายป้องปราม’ (deterrence) เสริมสร้างขีดความสามารถทางการทหารเพื่อเป็นอำนาจต่อรองไม่ให้เกาหลีเหนือคิดโจมตีโดยการเพิ่มระดับการเป็นพันธมิตรทางทหารกับสหรัฐอเมริกาให้แน่นแฟ้นยิ่งขึ้น เกาหลีใต้ควรเข้าร่วมภาคี 4 ฝ่ายเพื่อความมั่นคงหรือ Quad โดยสมัครใจ

ผู้สมัครอีโต้แย้งความคิดนี้โดยเสนอว่า ความเป็นพันธมิตรระหว่างโซลกับวอชิงตันนั้นอยู่ในระดับที่เหมาะสมแล้ว และจังหวัดคย็องกีซึ่งอยู่ติดกับชายแดนเกาหลีเหนือที่เขาเป็นอดีตผู้ว่าราชการนั้นได้รับผลกระทบก่อนใครหากเกาหลีเหนือมีการทดลองยิงขีปนาวุธ เขาต้องการสื่อเป็นนัยว่า ข้อเสนอของผู้สมัครยุนอาจเป็นการ “ยั่วยุ” หรือกระตุ้นให้เกาหลีเหนือมีท่าทีตอบโต้อย่างแข็งกร้าวมากขึ้น แทนที่จะเป็นการแก้ปัญหาอย่างแท้จริง

ประเด็นที่สองคือความสัมพันธ์กับเพื่อนบ้านอย่างจีนและญี่ปุ่นในบริบทที่การแข่งขันทางยุทธศาสตร์มีความต่อเนื่องและเข้มข้นมากขึ้น ผู้สมัครยุนมองว่า รัฐบาลปัจจุบันมีท่าทีพินอบพิเทารัฐบาลจีนและห่างเหินกับสหรัฐอเมริกามากเกินไป โดยยกตัวอย่างปฏิกิริยาของรัฐบาลปัจจุบันต่อการติดตั้งระบบต่อต้านขีปนาวุธพิกัดตำแหน่งสูงหรือ THAAD ที่แก้ปัญหาด้วยการทำความตกลง ‘3 ไม่’ คือ ‘ไม่ติดตั้ง THAAD เพิ่ม’ ‘ไม่เข้าร่วมเครือข่ายป้องกันขีปนาวุธของสหรัฐอเมริกา’ และ ‘ไม่สร้างพันธมิตรทางทหารสามฝ่ายกับสหรัฐอเมริกาและญี่ปุ่นเพื่อปิดล้อมจีน’ ซึ่งฝ่ายอนุรักษนิยมรวมทั้งบุคลากรในกองทัพบางท่านเห็นว่าเป็นการบั่นทอนขีดความสามารถในการป้องกันประเทศและไม่ปฏิบัติตามรัฐธรรมนูญที่กำหนดให้รัฐบาลมีหน้าที่รักษาผลประโยชน์ของประชาชนเกาหลีใต้

ในขณะที่ผู้สมัครอีเห็นความสำคัญของการรักษาความเป็นหุ้นส่วนกับจีนเป็นหลักเนื่องจากจีนเป็นคู่ค้าที่สำคัญที่สุดของเกาหลีใต้ และเกาหลีใต้เองเป็นตลาดของสินค้าจีนเช่นกัน เขาย้ำว่า ท่าทีเช่นนี้ไม่ใช่การสยบยอมต่อจีนทุกเรื่อง แต่ควรดำเนินความสัมพันธ์ด้วยความระมัดระวัง แม้จะมองผลประโยชน์ต่างกัน สำหรับญี่ปุ่น ผู้สมัครทั้งสองเห็นพ้องกันว่า แถลงการณ์ร่วมระหว่างอดีตประธานาธิบดีคิม แด-จุงกับนายกรัฐมนตรีโอบุชิ เคโซใน ค.ศ. 1998 (Japan-South Korea Joint Declaration of 1998) ควรเป็นหลักคิดชี้นำในการดำเนินความสัมพันธ์ระหว่างเกาหลีใต้กับญี่ปุ่น แต่ให้น้ำหนักแก่ประเด็นในแถลงการณ์ดังกล่าวแตกต่างกันไป ผู้สมัครอีเน้นหลักการว่าญี่ปุ่นต้องแสดงท่าทีเสียใจและยอมรับความผิดพลาดของตนในอดีต ส่วนผู้สมัครยุนเน้นการแสวงหาแนวทางรักษาความสัมพันธ์แบบรอบด้าน เสนอให้ฟื้นฟูการเจรจาระดับผู้นำและเสริมสร้างการแลกเปลี่ยนระหว่างประชาชนให้มากขึ้น

ประเด็นสุดท้ายคือบทบาทของเกาหลีใต้ในโลกปัจจุบัน แม้ผู้สมัครทั้งสองจะมีมุมมองที่แตกต่างกันอย่างชัดเจนในเรื่องความสัมพันธ์กับมหาอำนาจและเพื่อนบ้าน แต่ทั้งสองต่างมองว่า เกาหลีใต้เป็นประเทศที่เปลี่ยนแปลงไปมากจากการเป็นเถ้าถ่านในช่วงสงครามมาสู่การเป็นประเทศผู้เล่นที่มีบทบาทและเป็นที่รู้จักในระดับระหว่างประเทศ และควรรักษาบทบาทนี้ต่อไป ประเด็นแนวโน้มหลักของโลกที่ผู้สมัครทั้งสองเห็นความสำคัญร่วมกันคือ เทคโนโลยีและความมั่นคงทางไซเบอร์ การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ และบทบาทของเกาหลีใต้ในสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ผู้สมัครยุนมองว่า เกาหลีใต้ควรมีบทบาทในสองประเด็นนี้ “มากกว่านี้” เนื่องจากเป็นที่ตั้งของสำนักงานกองทุนภูมิอากาศสีเขียว (Green Climate Fund: GCF) และสถาบันวัคซีนนานาชาติ (International Vaccine Institute: IVI) ในประเด็นการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ผู้สมัครอีถึงกับระบุว่า จะผลักดันให้มีการจัดตั้งกระทรวงการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศและพลังงาน (Ministry of Climate Change and Energy) ขึ้นมาโดยเฉพาะ

บทความของผู้สมัครอียังกล่าวถึง ‘นโยบายมุ่งใต้ใหม่’ (New Southern Policy) ที่รัฐบาลปัจจุบันประกาศยกระดับความสัมพันธ์ระหว่างเกาหลีใต้กับอาเซียนและอินเดียด้วย โดยยกเป็นตัวอย่างของความพยายามของเกาหลีใต้ในการขยายบทบาทและความสัมพันธ์ในระดับภูมิภาคและเสนอว่า เกาหลีใต้ควรขยายความร่วมมือกับสองผู้เล่นนี้ในบริบทของอินโด-แปซิฟิก เน้นส่งเสริมการค้าเสรีและการแลกเปลี่ยนทรัพยากรมนุษย์ มีรายงานว่า ในเดือนมิถุนายน 2019 คณะผู้แทนวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมของจังหวัดคย็องกีที่ผู้สมัครอีเคยเป็นผู้ว่าราชการเดินทางมาเยือนไทยและเมียนมาเพื่อแสวงหาโอกาสในการทำตลาดและจับคู่ธุรกิจ นอกจากนี้ นายอิม ซอง-นัม อดีตเอกอัครราชทูตผู้แทนถาวรเกาหลีใต้ประจำอาเซียนยังลาออกจากตำแหน่งเพื่อมาเป็นที่ปรึกษาพิเศษด้านนโยบายต่างประเทศให้ผู้สมัครอีอีกด้วย

เช่นเดียวกับผู้สมัครยุนที่กล่าวถึงความสำคัญของอาเซียนในฐานะ ‘หุ้นส่วนทางยุทธศาสตร์และเศรษฐกิจ’ แต่พิจารณาในบริบทของยุทธศาสตร์เกาหลีใต้ที่มีต่อโลกมากกว่าเจาะจงภูมิภาค มีแนวโน้มว่า หากผู้สมัครยุนได้รับเลือกตั้ง จะสร้างแนวทางเกี่ยวกับอาเซียนใหม่ที่แตกต่างจากรัฐบาลปัจจุบัน เห็นได้ว่า ประเด็นอาเซียนไม่ได้หายไปจากสนามเลือกตั้งประธานาธิบดีครั้งนี้ดังที่นักวิชาการไทยบางท่านเข้าใจผิด

ผู้สมัครทั้งสองยังมีหัวหน้าทีมที่ปรึกษาด้านการต่างประเทศที่เรียกได้ว่าสมน้ำสมเนื้อ เนื่องจากเป็นอดีตปลัดกระทรวงการต่างประเทศด้วยกันทั้งคู่ ผู้สมัครยุนมี ดร. คิม ซอง-ฮัน ศาสตราจารย์ประจำบัณฑิตวิทยาลัยการระหว่างประเทศศึกษา (GSIS) และภาควิชาความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ มหาวิทยาลัยโคเรีย เป็นผู้แทนเกาหลีใต้ที่มีบทบาทประธานในหลายเวที อาทิ Global Agenda Council of Weapon of Mass Destruction (2013-2014) และ Council on Security Cooperation in the Asia Pacific (CSCAP) ในระดับชาติ ดร. คิม เคยทำงานในคณะกรรมการระดับประธานาธิบดีว่าด้วยการทบทวนประเด็นความมั่นคงแห่งชาติและการปฏิรูปการป้องกันประเทศ ส่วนผู้สมัครอีมี ‘นักปฏิบัติ’ อย่าง อดีตเอกอัครราชทูตวี ซอง-นัก ซึ่งเป็นนักการทูตอาชีพมา 35 ปี เคยดำรงตำแหน่งอธิบดีกรมอเมริกาเหนือ หัวหน้าคณะผู้แทนเกาหลีใต้ในการเจรจาหกฝ่าย และผู้แทนพิเศษในกิจการความมั่นคงและสันติภาพบนคาบสมุทรเกาหลีช่วยให้คำแนะนำด้านการต่างประเทศ และ ดร. อี ชง-ซ็อก อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงรวมชาติและนักวิจัยอาวุโสสถาบันเซจงช่วยให้คำแนะนำด้านการป้องกันประเทศ

ใครคือผู้ได้เปรียบในเกมนี้

แม้ผู้สมัครทั้งสองจะมีนโยบายเป็นเครื่องมือสำคัญในการเล่นเกม แต่ทั้งสองฝ่ายกลับเลือก ‘โคลน’ มาใช้สาดสู้กันในช่วงสองเดือนก่อนการเลือกตั้ง มีการขุดบรรดาเรื่องอื้อฉาวเลวร้ายของทั้งสองฝ่ายมาแชร์และแฉกันอย่างเต็มที่ รองศาสตราจารย์ ดร. คิม ฮย็อง-อา มหาวิทยาลัยแห่งชาติออสเตรเลียตั้งคำถามว่าการเลือกตั้งครั้งนี้อาจเป็นการเลือก “คนที่มีความเป็นปีศาจน้อยกว่า” (lesser evil)

ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร. นิธิ เนื่องจำนงค์ ผู้เชี่ยวชาญด้านการเมืองเกาหลีใต้แห่งคณะสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยนเรศวร ได้กรุณารวบรวมตัวอย่างกรณีที่เกี่ยวข้องกับผู้สมัครทั้งสองไว้บางส่วนดังนี้

อี แช-มย็องยุน ซ็อก-ย็อล
– การรายงานทรัพย์สิน รายจ่าย การใช้เงินของบริษัทเอกชนและกองทุนรัฐบาลที่ใช้ในการต่อสู้คดีความ (ที่เคยถูกกล่าวหา) เป็นเท็จ

– ผู้เกี่ยวข้องในโครงการอสังหาริมทรัพย์ในจังหวัดคย็องกีฆ่าตัวตายกะทันหันหลังจากสื่อเกาหลีใต้พบข้อสงสัยในโครงการ

– ทำร้ายภรรยา และมีความสัมพันธ์กับอดีตเลขานุการ

– ภรรยาเคยใช้เจ้าหน้าที่รัฐในสังกัดจังหวัดคย็องกีไปทำเรื่องส่วนตัว (ทำความสะอาดบ้านและซื้ออาหาร)
– ใช้อำนาจอัยการสูงสุดเกินขอบเขต

– มีความเชื่อเรื่องมูเตลูจนได้ฉายาว่าเป็น “Shaman President” เนื่องจากเขียนตัวอักษรภาษาจีนคำว่า “กษัตริย์ (王)” ไว้ในฝ่ามือขณะออกรายการโทรทัศน์เพื่อหวังจะชนะคู่แข่ง

– ลักลอกวิทยานิพนธ์ปริญญาโทเกินร้อยละ 30 และมีข้อสงสัยเรื่องตราประทับและลายเซ็นของกรรมการวิทยานิพนธ์ในระดับปริญญาเอก

– แม่ถูกกล่าวหาว่าปลอมแปลงเอกสารที่เกี่ยวข้องกับการประกันสุขภาพภรรยาแทรกแซงการทำงานของทีมหาเสียง หลอกลวงประวัติการทำงานของตนเอง และซุกหุ้น

อย่างไรก็ดี ในการหยั่งเสียงสำรวจความคิดเห็นของประชาชนของหลายสำนัก ผู้สมัครยุนมีคะแนนนำผู้สมัครอีอย่างต่อเนื่องจนถึงวันที่ 3 มีนาคม ซึ่งเป็นวันสุดท้ายที่จะมีการเผยแพร่ผลโพลได้เพื่อหลีกเลี่ยงการชักจูงชี้นำ ผู้เขียนมีโอกาสสัมภาษณ์ชาวเกาหลีใต้ 3 คนที่มีมุมมองทางการเมืองแตกต่างกัน พบข้อสังเกตที่น่าสนใจดังนี้

ผู้ให้สัมภาษณ์คนแรกที่เคยเลือกผู้สมัครจากพรรครัฐบาลในคราวที่แล้วแต่เปลี่ยนใจมาเลือกพรรคฝ่ายค้านเล่าว่า การเมืองเกาหลีใต้เป็นการเมืองของการบริหารความคาดหวังของประชาชนซึ่งมีอยู่สูงมาก เมื่อมีความนิยมชมชอบก็จะแสดงออกและสนับสนุนอย่างเต็มที่ แต่เมื่อผู้ที่ชื่นชอบไม่สามารถพิสูจน์ตนเองได้ว่าทำตามที่พูด ความนิยมจึงลดน้อยถอยลงอย่างต่อเนื่องและรุนแรง อย่างประธานาธิบดีมุน แช-อินก็ขึ้นสู่ตำแหน่งด้วยคะแนนเสียงมากกว่าผู้สมัครอีกสองคนที่เหลือ (ฮง ชุน-พโยกับอัน ชอล-ซู) ถึงสองเท่า และเป็นช่วงเวลาที่สังคมเกาหลีใต้มีฉันทมติมากที่สุดช่วงหนึ่งในประวัติศาสตร์ดังที่ปรากฏในกรณีถอดถอนอดีตประธานาธิบดี แต่เมื่อเวลาผ่านไป นโยบายต่างๆ ที่ประธานาธิบดีหาเสียงไว้กลับไม่ประสบความสำเร็จเท่าที่ควร การปฏิรูปต่างๆ ไม่มีความคืบหน้าและมีความเป็นการเมืองอย่างมาก จึงไม่อาจสนับสนุนได้ต่อไป

ผู้ให้สัมภาษณ์คนที่สองมีแนวคิดไปทางฝ่ายอนุรักษนิยมชัดเจนระบุว่า 3 เหตุผลที่ไม่มีทางเลือกพรรครัฐบาลฝ่ายก้าวหน้าได้คือ ข้อแรก รัฐบาลนี้มีท่าทีอ่อนน้อมต่อเกาหลีเหนือมากเกินไป ผู้ให้ข้อมูลคนนี้คิดว่า เกาหลีเหนือเป็นศัตรู เชื่อถือหรือไว้ใจไม่ได้ ไม่เคยเปลี่ยนแปลงพฤติกรรม จึงต้องใช้แนวทางสร้างเงื่อนไขเชิงกดดันเท่านั้น ข้อที่สอง รัฐบาลไม่รับฟังมุมมองที่แตกต่างในประเด็นเกี่ยวกับสตรีนิยม รัฐบาลทำได้ดีในการพยายามป้องกันการคุกคามและล่วงละเมิดทางเพศ แต่พยายามเข้ามาจำกัดสิทธิในการบริโภคเนื้อหาออนไลน์บางประเภท ‘มากเกินไป’ และไม่ได้ตระหนักว่าในบางกรณี ฝ่ายที่ถูกกระทำคือเพศชาย ข้อที่สามคือ รัฐบาลนี้ไม่ได้แตกต่างจากรัฐบาลก่อนหน้าแม้แต่น้อย มีการใช้อำนาจในทางมิชอบ เกื้อกูลพวกพ้อง ที่สำคัญ บรรดาแฟนคลับของท่านประธานาธิบดีชอบทำตัวเหมือน ‘Red Guard’ ปกป้องประธานาธิบดีและคณะอย่างสุดลิ่มทิ่มประตู และไม่รับฟังความเห็นหรือมุมมองที่แตกต่างดังที่ได้หาเสียงไว้ ยิ่งรัฐบาลมีที่นั่งทั้งในสภาและในการปกครองส่วนท้องถิ่นได้มาก ก็ยิ่งมีความเสี่ยงจะเป็น ‘เผด็จการ’ มากขึ้น นอกจากนี้ผู้ให้สัมภาษณ์คนนี้ยังพูดถึงอีกข้อหนึ่งคือ ราคาที่พักอาศัยในรัฐบาลนี้แพงขึ้นมาก และจัดการสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ในปี 2021 ได้ไม่ดีเท่าที่ควร

ในขณะที่ผู้ให้สัมภาษณ์คนสุดท้ายแสดงตัวเป็นฝ่ายก้าวหน้าที่สนับสนุนรัฐบาลและประธานาธิบดีอย่างชัดเจนแสดงท่าทีกระอักกระอ่วน เล่าว่าไม่ชอบผู้สมัครทั้งสองฝ่าย ผู้สมัครอีก็ไม่ได้เป็นตัวเลือกที่พึงปรารถนามากนัก แต่หากการเลือกตั้งครั้งนี้จะต้องเลือก ‘lesser evil’ ดังที่อาจารย์จากมหาวิทยาลัยแห่งชาติออสเตรเลียกล่าว ผู้สมัครอีถือว่าเข้านิยามดังกล่าว เพราะสังคมเกาหลีใต้บอบช้ำจากความเหลื่อมล้ำไม่เท่าเทียมมามากแล้ว การให้ภาคเอกชนมีบทบาทนำอาจซ้ำเติมสถานการณ์ให้เลวร้ายลงไปอีก ที่สำคัญ ผู้สมัครยุนเป็นคน “ปากไม่ดี” และไม่มีความจริงใจ จึงมีโอกาสที่จะสร้างปัญหาในความสัมพันธ์ระหว่างประเทศและการสื่อสารกับประชาชนได้ง่าย และนโยบายเพิ่มเงินเดือนให้ทหารเกณฑ์เพื่อเอาใจกลุ่มผู้เลือกตั้งเพศชายช่วงอายุ 20 (이대남) จะทำให้ภาวะแบ่งแยกระหว่างเพศในสังคมเกาหลีใต้แหลมคมยิ่งขึ้น

นี่เป็นเพียงความเห็นของผู้ให้สัมภาษณ์เท่านั้น ไม่อาจเป็นภาพแทนของผู้ลงคะแนนเสียงเลือกตั้งในสังคมเกาหลีใต้ได้ อย่างไรก็ดี ความเห็นเหล่านี้อาจช่วยอธิบายสนามเลือกตั้งประธานาธิบดีเกาหลีใต้ใน ค.ศ. 2022 ได้บ้าง หากผู้สมัครอีได้รับเลือกตั้ง ก็อาจไม่มีความแตกต่างด้านแนวนโยบายกับรัฐบาลนี้มากนัก ยกเว้นโครงการที่เป็น ‘ลายเซ็น’ ของผู้สมัครอย่างการประกันรายได้พื้นฐาน แต่หากผู้สมัครยุนได้รับเลือกตั้งก็อาจเผชิญข้อจำกัดในการผลักดันร่างกฎหมายจากการที่พรรครัฐบาลปัจจุบันครองเสียงข้างมากในสภา (172 จาก 300 ที่นั่ง) และอาจเป็น ‘เป็ดง่อย’ (lame duck) เสียตั้งแต่สองเดือนแรกที่เข้าทำงานก็เป็นได้

MOST READ

World

1 Oct 2018

แหวกม่านวัฒนธรรม ส่องสถานภาพสตรีในสังคมอินเดีย

ศุภวิชญ์ แก้วคูนอก สำรวจที่มาที่ไปของ ‘สังคมชายเป็นใหญ่’ ในอินเดีย ที่ได้รับอิทธิพลสำคัญมาจากมหากาพย์อันเลื่องชื่อ พร้อมฉายภาพปัจจุบันที่ภาวะดังกล่าวเริ่มสั่นคลอน โดยมีหมุดหมายสำคัญจากการที่ อินทิรา คานธี ได้รับเลือกให้เป็นนายกรัฐมนตรีหญิงคนแรกในประวัติศาสตร์

ศุภวิชญ์ แก้วคูนอก

1 Oct 2018

World

16 Oct 2023

ฉากทัศน์ต่อไปของอิสราเอล-ปาเลสไตน์ ความขัดแย้งที่สั่นสะเทือนระเบียบโลกใหม่: ศราวุฒิ อารีย์

7 ตุลาคม กลุ่มฮามาสเปิดฉากขีปนาวุธกว่า 5,000 ลูกใส่อิสราเอล จุดชนวนความขัดแย้งซึ่งเดิมทีก็ไม่เคยดับหายไปอยู่แล้วให้ปะทุกว่าที่เคย จนอาจนับได้ว่านี่เป็นการต่อสู้ระหว่างอิสราเอลกับปาเลสไตน์ที่รุนแรงที่สุดในรอบทศวรรษ

จนถึงนาทีนี้ การสู้รบระหว่างอิสราเอลกับปาเลสไตน์ยังดำเนินต่อไปโดยปราศจากทีท่าของความสงบหรือยุติลง 101 สนทนากับ ดร.ศราวุฒิ อารีย์ ผู้อำนวยการศูนย์มุสลิมศึกษา สถาบันเอเชียศึกษา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ถึงเงื่อนไขและตัวแปรของความขัดแย้งที่เกิดขึ้น, ความสัมพันธ์ระหว่างอิสราเอลและรัฐอาหรับ, อนาคตของปาเลสไตน์ ตลอดจนระเบียบโลกใหม่ที่ก่อตัวขึ้นมาหลังยุคสงครามเย็น

พิมพ์ชนก พุกสุข

16 Oct 2023

World

9 Sep 2022

46 ปีแห่งการจากไปของเหมาเจ๋อตง: ทำไมเหมาเจ๋อตง(โหด)ร้ายแค่ไหน คนจีนก็ยังรัก

ภัคจิรา มาตาพิทักษ์ เขียนถึงการสร้าง ‘เหมาเจ๋อตง’ ให้เป็นวีรบุรุษของจีนมาจนถึงปัจจุบัน แม้ว่าเขาจะอยู่เบื้องหลังการทำร้ายผู้คนจำนวนมหาศาลในช่วงปฏิวัติวัฒนธรรม

ภัคจิรา มาตาพิทักษ์

9 Sep 2022

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • Always Active

Save