fbpx

จาก ‘ปราบปราม’ สู่ ‘บำบัด’ : แก้ปัญหายาเสพติด ผ่านประมวลกฎหมายยาเสพติดฉบับใหม่ กับ ศ.ดร.สุรศักดิ์ ลิขสิทธิ์วัฒนกุล

ยาเสพติด

ยาเสพติดยาเสพติด

ผ่านมากว่าสามเดือนแล้ว ภายหลังมีการบังคับใช้ประมวลกฎหมายยาเสพติด พ.ศ. 2564 และพระราชบัญญัติวิธีพิจารณาคดียาเสพติด (ฉบับที่ 2) พ.ศ. 2564 ที่มีการประกาศใช้ไปเมื่อธันวาคม 2564 หนึ่งในสาระสำคัญของประมวลกฎหมายยาเสพติดฉบับใหม่นี้คือ การมุ่ง ‘ปรับเปลี่ยน’ ผู้เสพยามากกว่าจะ ‘ปราบปราม’ ซึ่งไม่เพียงเป็นหนึ่งในสาเหตุให้ผู้ต้องขังล้นเรือนจำ หากแต่ยังตอกย้ำบาดแผลความเหลื่อมล้ำในสังคมมาอย่างยาวนาน

จากสถิติในปีที่ผ่านมา พบว่าสัดส่วนของนักโทษคดียาเสพติดในไทยคิดเป็น 66 เปอร์เซ็นต์เมื่อเทียบกับจำนวนนักโทษคดีอื่นๆ ทั่วประเทศ ยังไม่นับผู้ต้องขังระหว่างถูกดำเนินคดีอีก 15 เปอร์เซ็นต์ เมื่อนับจำนวนรวมทั้งหมดนี้ ราชทัณฑ์ไทยจึงมีผู้ต้องขังที่เกี่ยวข้องกับคดียาเสพติดโดยตรง 81 เปอร์เซ็นต์ หรือคิดเป็นจำนวน 230,000 ราย

ในขณะเดียวกัน ไม่ใช่ทั้งหมดที่มีโอกาสเข้ากระบวนการบำบัด ฟื้นฟูให้กลับเข้าสู่สังคมและไม่หวนกลับไปข้องแวะกับยาเสพติดอีก หลายต่อหลายคนนอกจากไม่ได้รับโอกาสในการฟื้นฟูอันเนื่องมาจากเงื่อนไขเรื่องจำนวนคนและความแน่นหนาในเรือนจำ เมื่อพ้นโทษ ยังอาจถูกสังคมบีบให้หวนกลับไปใช้ยาเสพติดอีกครั้ง

ถ้าอย่างนั้นแล้ว อะไรคือ ‘ช่องว่าง’ ของกฎหมายยาเสพติดไทยที่ใช้มาตลอดหลายปี เหตุใดจำนวนผู้ติดยาจึงยังไม่ลด ยิ่งไปกว่านั้น หากวัดกันจากหน้าข่าวหนังสือพิมพ์ที่มีการจับกุมผู้เสพยารายวัน เหตุใดจำนวนยาเสพติดในไทยจึงไม่ลดลงไปตามความเข้มงวดและความรุนแรงของกฎหมาย

ใช่หรือไม่ว่าการ ‘ปราบปราม’ อย่างรุนแรงนั้นอาจไม่ใช่ทางออกทางเดียวเสมอไป ศ.ดร.สุรศักดิ์ ลิขสิทธิ์วัฒนกุล ผู้อำนวยการศูนย์กฎหมายอาญาและอาชญาวิทยา สาขากฎหมายอาญา คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ และประธานกรรมการสถาบันเพื่อการยุติธรรมแห่งประเทศไทย (TIJ) ชวนค้นหาคำตอบและทางออกอื่นในประมวลกฎหมายยาเสพติดฉบับใหม่ ที่ขยับไปจากการ ‘ปราบปราม’ สู่การ ‘ปรับเปลี่ยน’ และบำบัดผู้ติดยา ทั้งยังเป็นกฎหมายที่เชื่อมั่นในความเป็นมนุษย์ -สิ่งซึ่งดูจะถูกมองข้ามไปในกลุ่มผู้เสพยามาเนิ่นนาน- อย่างเต็มเปี่ยมอีกด้วย

สำหรับกฎหมายและสังคมไทย เรามองยาเสพติดเป็นอย่างไร โดยตัวมันเองแล้วเป็นความผิดแบบไหน

ในทางอาญามีความผิดสองประเภท คือความผิดในตัวเอง (mala in se) เช่น ฆ่าคน ที่ถึงไม่มีกฎหมายบอกก็ควรจะผิด กับอีกประเภทคือผิดเพราะกฎหมายเขียนว่าผิด (mala prohibita) เช่น เมื่อเห็นสัญญาณไฟจราจรเป็นสีแดงให้หยุดรถ ไฟเขียวให้ไป หรือว่าเมื่อขับรถต้องคาดเข็มขัดนิรภัย มันไม่ได้ผิดในตัวเอง แต่อาจมีเหตุผลอื่นประกอบ คืออาจไปสร้างความเดือดร้อนให้คนอื่นได้

ยาเสพติดเองก็เช่นกัน โดยหลักแล้วมันไม่ได้ผิดในตัวเอง มนุษยชาติก็รู้จักหาพืชพันธุ์ต่างๆ มาตลอด เทียบกันอย่างน้ำตาล ผมเคยเห็นคนขายกาแฟตักน้ำตาลใส่สามช้อน ไม่พอยังเติมนมข้นเข้าไปด้วย หวานมัน และนี่นับเป็นต้นทุนที่สูงมากในการรักษาโรคเบาหวาน ทำไมเราไม่ลดปริมาณเรื่องนี้ หรือตอนนี้มีภาษีความเค็มที่ถูกพิจารณาว่าทำให้ไตเสียหาย แล้วพวกนี้ก็เป็นอันตรายโดยที่เราไม่รู้ตัว

คุณเองที่ตอนนี้ก็ดื่มกาแฟอยู่ ถามว่าคุณดื่มกาแฟวันละกี่แก้ว ผมเองก็พยายามหยุดกาแฟนะ นี่ก็เป็นอาการติดอย่างหนึ่ง

หรือกัญชาเอง ถ้าใส่อาหารแล้วรสดีขึ้นมาบ้างจะยอมไหม ทำไมเรายอมให้มีผงชูรสล่ะ นั่นก็ทำให้เสพติดได้นะ เพราะถ้ากินอาหารที่ใส่ผงชูรสตลอดแล้วไปกินอย่างอื่น คุณจะรู้สึกว่าอาหารที่ไม่ใส่ผงชูรสไม่อร่อยเลย แล้วถามว่ามันทำลายร่างกายไหม ก็อาจทำลายแต่เห็นไม่ชัดเท่ายาเสพติดซึ่งให้ผลเร็วกว่า แต่แน่นอนว่าเอายาเสพติดไปเทียบกับสิ่งเหล่านี้ก็ไม่ได้หรอก เพราะอันนี้มันตั้งใจเพื่อให้เสพติดและหวังผลกำไร กฎหมายที่ออกมาก็เพื่อสกัดสิ่งเหล่านี้

ดังนั้น เรื่องยาเสพติด สิ่งที่เราต้องทำให้ได้คือการจับผู้ค้ารายใหญ่ ไม่ใช่ผู้เสพรายเล็กรายน้อยเท่านั้น

สิ่งสำคัญที่ประมวลกฎหมายยาเสพติด พ.ศ. 2564 นี้ต่างจากกฎหมายฉบับก่อนที่เคยใช้กันคืออะไร

รูปแบบของประมวลกฎหมายยาเสพติดที่ประกาศใช้ใหม่นั้น ข้อดีอย่างหนึ่งคือเราไปรวบรวมกฎหมายที่กระจัดกระจายเต็มไปหมดมาไว้ด้วยกัน เพราะในประมวลกฎหมายยาเสพติดใหม่นี้มีเรื่องยาเสพติดกับวัตถุออกฤทธิ์ด้วย ซึ่งเมื่อก่อนประเด็นยาเสพติดกับวัตถุออกฤทธิ์มี พ.ร.บ. ต่างๆ ใช้ดูแลควบคุมถึง 6 พ.ร.บ. ด้วยกัน เวลาใช้งานจึงปนเปกันไปหมด ยังไม่นับประกาศของคณะรัฐประหารทั้งหลายที่ยังบังคับใช้อยู่ ดังนั้นหากมองในเชิงรูปแบบของกฎหมาย จะทำให้คนใช้กฎหมายกับคนที่ถูกบังคับใช้เข้าใจตรงกันได้ง่ายที่สุด

ในแง่เนื้อหา หลายอย่างก็ดีขึ้น เช่น บทสันนิษฐานซึ่งเมื่อก่อนเด็ดขาดมาก แก้ตัวไม่ได้เลย จนมาระยะหลังค่อยดีขึ้นหน่อย คือบอกว่า ‘ให้สันนิษฐานว่า’ แปลว่าเป็นบทสันนิษฐานไม่เด็ดขาด เน้นพิจารณาข้อเท็จจริงอื่นๆ ด้วย เช่น พฤติการณ์ หรือดูว่ามีความร้ายแรงต่างๆ ไหม

ถ้าเราดูสถิติของผู้ต้องขัง จะพบว่าประมาณ 81 เปอร์เซ็นต์ ส่วนใหญ่เป็นกลุ่มคดียาเสพติด และเป็นผู้เสพที่มีปริมาณหรือหน่วยการใช้มากกว่าที่กฎหมายกำหนดนิดหนึ่ง เช่น สมมติกฎหมายกำหนดไว้ว่า 15 เม็ด ถ้ามี 16 เม็ดนี่สันนิษฐานว่าครอบครองเพื่อจำหน่ายไปเลย ซึ่งบทลงโทษก็แรงขึ้นอีก

อีกประการที่เปลี่ยนไปคือเรื่องระวางโทษที่รุนแรงน้อยลง ก่อนหน้านั้นสัก 6-7 ปีก่อน ช่วงก่อนที่จะมีการแก้ไขกฎหมายยาเสพติดครั้งนี้ ก็มีกฎหมายจำพวกนำยาเสพติดเข้ามาในราชอาณาจักร มีระวางโทษสถานเดียวเลยคือจำคุกตลอดชีวิต ส่วนวรรคสองที่ระบุว่านำมาเพื่อจำหน่ายก็มีโทษสถานเดียวคือประหารชีวิต ซึ่งอันนี้ผมขอยกตัวอย่างกรณีหนึ่ง เป็นผู้ชายถูกจับตรงชายแดนแถวหนองคาย มียาบ้าเม็ดครึ่ง กฎหมายถือว่าเป็นการนำเข้าเลยนะครับ โดยผู้ต้องหาบอกว่าจะเอายาบ้านั้นมาแบ่งแฟน ตำรวจก็บอกว่าอันนี้ถือว่าเป็นการนำมาเพื่อจำหน่ายแล้ว

ทั้งนี้ หลังประมวลกฎหมายยาเสพติดฉบับนี้เริ่มมีผลใช้บังคับเมื่อวันที่ 9 ธันวาคมที่ผ่านมา คดีที่อยู่ระหว่างพิจารณาก็จะใช้กฎหมายใหม่ ส่วนคดีที่ตัดสินไปแล้วก็ได้ผลประโยชน์ด้วย คือถือว่ากำลังบังคับโทษอยู่ ศาลต้องมาทำคำพิพากษาใหม่ ระหว่างนั้นก็อาจจะลดโทษลง หรือบางคนก็พ้นโทษออกมาเลยเนื่องจากศาลใช้ดุลยพินิจใหม่ นับว่าเป็นคุณกว่ามาก

ดูเหมือนว่าหัวใจสำคัญอีกอย่างคือกระบวนการฟื้นฟูผู้เสพยาในประมวลกฎหมายยาเสพติดฉบับใหม่

เรื่องการฟื้นฟูผู้เสพยานี่ชัดเจนมาก ถ้าเราดูในประมวลกฎหมายยาเสพติดฉบับนี้ มีมาตรา 113 ระบุเรื่องการฟื้นฟูว่ากฎหมายเปิดโอกาสให้ตัวผู้เสพยาเดินเข้าหาเจ้าหน้าที่เอง ถ้าเขาไปแสดงตนว่าเสพยาและอยากหาย ก่อนที่เจ้าหน้าที่จะเป็นผู้ตรวจพบ แล้วไปทำตามกระบวนการบำบัดฟื้นฟู ก็จะกลายเป็นไม่มีความผิดเลย ไม่มีการดำเนินคดี เป็นเหตุยกเว้นความผิด และในมาตรา 114 ถ้าเจ้าหน้าที่ตรวจจับได้ ก็ยังเปิดโอกาสโดยมีเงื่อนไขว่าเขาต้องไม่เป็นผู้ต้องหาอยู่ระหว่างคดีอื่นที่มีความผิดซึ่งเป็นโทษจำคุก อันนี้จะมีเงื่อนไขเยอะขึ้นนิดหนึ่ง แต่ผลก็เหมือนกัน นั่นคือถ้าเขาสมัครใจ ในที่สุดก็จะได้รับการยกเว้นความผิด เมื่อก่อนแค่ไม่ดำเนินคดี แต่อันนี้ยกเว้นความผิด แปลว่าไม่เป็นความผิดเลยซึ่งจะส่งผลดีในแง่ทะเบียนประวัติ

ที่สำคัญ กฎหมายต่างๆ ที่ออกมา มีเรื่องระวางโทษที่เหมาะสมขึ้น จากเมื่อก่อนที่หนักกว่านี้เพราะเราต้องการปราบปราม แต่ในที่สุดแล้ว ผู้ที่ถูกกวาดเข้าไปอยู่ในเรือนจำก็เป็นรายเล็กรายน้อย ออกมาก็ทำความผิดอีก ดังนั้นหากดูสถิติในศาล คดียาเสพติด 81 เปอร์เซ็นต์ มีจำนวนมากกว่าทุกประเภทคดี

ในอดีต ความเข้มงวดกับความรุนแรงมันใช้ได้ผลแค่ไหน ทำไมจึงต้องเปลี่ยน

ผมมองว่าที่ผ่านมาเรามีสายเหยี่ยวเยอะมาก เน้นการป้องกัน ปราบปราม ออกความผิดรุนแรง แต่ไม่เห็นจะได้ผลเลย ฉะนั้น มาตรการที่น่าจะใช้ได้ดีมากคือมาตรการบำบัดฟื้นฟูที่ทั้งสมัครใจและถูกจับได้ เราให้สิทธิประโยชน์โดยการไม่เป็นความผิด น่าจะเป็นข้อดีมากกว่า

เวลาเราเอาคนเข้าไปในเรือนจำ เราไม่สามารถไปบำบัด แก้ไขฟื้นฟูพฤติกรรมเขาได้เพราะข้างในนั้นคนเยอะ คำถามคือจะทำอย่างไรให้เขาหลุดพ้นจากกระบวนการใช้ยาเสพติด อันนี้น่าจะดีกว่าและผมคิดว่าเป็นวัตถุประสงค์ใหญ่ด้วย

ถามแบบนี้ดีกว่า คุณคิดว่าคนเสพยาเสพติดประเภทไหนที่เข้าไปในเรือนจำเยอะที่สุด เท่าที่ผมทราบสมัยไปร่วมงานเสวนาแล้วไปที่เรือนจำนครพนมเมื่อสัก 7-8 ปีก่อน ได้เห็นปัญหาใหญ่มาก เพราะเรายกระดับเอาเมตแอมเฟตามีน (methamphetamine) มาเป็นยาเสพติดประเภทที่หนึ่ง นั่นคือถือว่าร้ายแรงที่สุด แล้วถ้าดูในประมวลยาเสพติดนี้ ตัวอย่างเดียวของยาเสพติดประเภทร้ายแรงคือเฮโรอีน ซึ่งแน่นอนว่าร้ายแรงมากเพราะมันทำลายระบบประสาท แต่เมตแอมเฟตามีนมันก็ไม่ได้ทำลายระบบประสาท มันเข้าไปในกล้ามเนื้อ ถ้ามีการออกกำลังกายหรือทำให้เหงื่อออกเหมือนอย่างที่วัดถ้ำกระบอกทำ มันก็ออกไปจากร่างกาย

นอกจากนี้ ผมว่าวิธีปฏิบัติตามกฎหมายเดิมเองก็มีปัญหา สมมติเข้าไปในห้องเช่าแล้วจับได้ยาเสพติด พบว่าผู้ชายอยู่กับผู้หญิงโดยที่ผู้ชายเป็นคนเสพ กรณีนี้ผู้หญิงโดนรวบด้วยนะ หรือบางทีเข้าไปในบ้านที่มีพ่อแม่แก่ๆ กับเด็ก ก็โดนรวบหมด ทั้งที่คนเหล่านี้อาจไม่รู้อะไรเลยก็ได้ ถ้าไปสัมภาษณ์คนที่ติดคุกคดีนี้ในเรือนจำมักมีลักษณะนี้ คือไม่รู้ว่าลูกตัวเองค้ายา แต่ติดร่างแหไปด้วย ผมว่านี่เป็นเหตุผลใหญ่ที่ทำให้ปริมาณนักโทษในเรือนจำเพิ่มมากขึ้น แล้วเวลาโดนข้อสันนิษฐานพวกนี้ ชาวบ้านเขาจะไปสู้อะไรได้

นึกย้อนไปถึงช่วงสิบกว่าปีก่อนที่เรามีการฆ่าตัดตอน มีการใช้ความรุนแรงเพื่อแก้ปัญหา มันส่งผลยังไงบ้าง

อันที่จริงถ้าพิจารณาดูจะพบว่ามันเป็นปัญหาทั่วโลกเหมือนกัน กรณีของฟิลิปปินส์ ประธานาธิบดี โรดรีโก ดูแตร์เต ก็ประกาศว่าจะใช้วิธีการเช่นนี้ คือการใช้การข่มขู่ไม่ให้ทำผิด

แต่อย่าลืมว่าคนที่เสพยาเสพติดมีปัจจัยเยอะมาก เช่น การใช้ชีวิตอยู่ในชุมชนที่เสพยา ผมว่ามันเป็นปัญหาสังคมมากกว่า จึงต้องเรียกร้องว่าทั้งครอบครัว โรงเรียนและสังคมต้องช่วยกันดู เพราะถ้าเราโชคร้ายไปอยู่ในสังคมที่มีคนค้ายา เราจะทำอย่างไรให้มีอาชีพ คนเหล่านั้นก็คงไม่อยากมาค้ายาเสพติดที่สุ่มเสี่ยงหรอก สมัยก่อนชุมชนหลัง สน. ทุ่งมหาเมฆ มีชื่อเรื่องยาเสพติด แต่พอมีการจัดการ มีการพยายามเปลี่ยนสภาพชุมชน ก็พบว่าหลายอย่างมันดีขึ้น ผมเชื่อนักอาชญาวิทยานะ ว่าถ้าทำให้สภาพแวดล้อมดีขึ้น ยาเสพติดก็จะหายไปบ้าง แน่นอนว่าไม่หมด 100 เปอร์เซ็นต์หรอก แต่ประเด็นคือทำอย่างไรให้คนเหล่านี้มีทางเลือกน่ะ เพราะถ้าดูตามสถิติ คนเหล่านี้หลายคนไม่มีอาชีพ ไม่มีโอกาส TIJ เคยจัดงาน ‘ความงามของโอกาส’ มีคนที่ติดยามาตั้งแต่เป็นวัยรุ่นหรือติดนานเป็นสิบปี พอเลิกยาได้ก็ไปทำสตูดิโอวาดภาพ ทำงานต่างๆ ซึ่งก็ไปได้ดี ดังนั้นมันเป็นเรื่องของการสร้างโอกาสด้วย

แล้วอย่าลืมว่าผู้กระทำความผิดยาเสพติดมีทั้งผู้เสพ ผู้ค้า ผู้ผลิต ผู้จัดจำหน่าย กฎหมายฉบับใหม่มุ่งไปเอาผิดที่ผู้ผลิตซึ่งเป็นอันตรายร้ายแรงมาก เพราะเป็นคนที่กระจายสินค้า เนื่องจากที่ผ่านมาเวลามีการจับกุม ก็มักจับกุมได้แต่ผู้เสพรายย่อยๆ ที่มีปริมาณหน่วยการเสพเกินปริมาณที่กำหนดไว้ แต่เรายังไม่สามารถสาวไปยังต้นตอของคนที่ผลิตได้

ทั้งนี้ ผมไม่เคยเชื่อเลยว่ากฎหมายออกมาแล้วมันจะมีประสิทธิภาพ 100 เปอร์เซ็นต์ เพราะปัจจัยในการบังคับใช้มันอยู่ที่เจ้าหน้าที่ด้วย เราเห็นเจ้าหน้าที่นอกลู่นอกทางก็มี ถ้ายังจำกันได้ก็เคยมีข่าวครูฝึกปราบปรามยาเสพติดเป็นผู้ขนยาเสียเองแล้วไปถูกจับที่เชียงราย

กรณีการนำมาบำบัดจะช่วยลดงบประมาณในการดูแลผู้ต้องขังลงไหม เพราะตามสถิติ งบประมาณที่ใช้เพื่อจัดการดูแลอยู่ที่กรมราชทัณฑ์มากกว่าสำนักงาน ป.ป.ส. เสียอีก

ใช่ กรมราชทัณฑ์เหมือนกระโถนท้องพระโรงน่ะ ผมเคยฟังท่าน ณรัชต์ เศวตนันทน์ อดีตอธิบดีกรมราชทัณฑ์บอกว่า เรือนจำไม่มีทางเลือก มีหมายจับหมายค้นมากี่โมงกี่ยามก็ต้องเปิดประตูรับ แน่นใช่ไหม จับยัดเข้าไปสิ อันนี้คือปัญหา

ผมว่าตอนนี้ เมื่อเรือนจำแน่นแล้ว เราก็ไม่สามารถไปจัดการผู้ต้องขังได้ คือจะไปฟื้นฟูเขาได้อย่างไรในเมื่อผู้ต้องขังเต็มหมด เจ้าหน้าที่ก็ไม่ได้เยอะพอ สมัยที่มีคนในเรือนจำมากถึง 380,000 คนในเรือนจำที่จุได้แค่ 120,000 คน นับเป็นสองเท่าตัวเกือบสามเท่า ผมเคยคิดเรื่องงบประมาณตรงนี้ ปีหนึ่งๆ สำนักงบประมาณจะคิดค่าอาหารให้ 54 บาทต่อวัน สามมื้อ คูณจำนวณ 380,000 คน ปีหนึ่งจึงตกประมาณ 7,000 ล้านบาท ยังไม่รวมเจ้าหน้าที่หรือระบบการป้องกันต่างๆ เลย

และในกฎหมายยาเสพติดฉบับใหม่นี้ก็มีข้อดีอีกอย่าง นั่นคือการพยายามตัดแข้งตัดขาคนที่เป็นคนส่งยา ไม่ใช่เสพ สมมติคุณได้เงินจากการค้ายามา 100 ล้านบาทและเอาออกไปให้พ้นตัวหมดแล้ว ติดตามไม่ได้ว่าเอาเงินนั้นไปใช้อะไรบ้าง แต่กฎหมายนี้จะบังคับว่า หากพบว่าคุณมีความผิดฐานค้ายาจริง คุณต้องหาอะไรก็ได้ที่มีมูลค่าเป็นเงิน 100 ล้านมา เช่น เอารถยนต์ขนยา ได้เงินเสร็จก็ขายรถยนต์ทิ้ง แม้จะติดตามไม่ได้ว่าขายรถคันนั้นไปให้ใคร แต่กฎหมายฉบับนี้ก็จะยึดตามมูลค่ารถ คือหาอะไรก็ได้ที่มีมูลค่าเท่ารถยนต์คันนั้นมา อันนี้เป็นข้อดีของกฎหมายใหม่ที่มุ่งตัดแขนตัดขาไม่ให้กระบวนการจำหน่ายยาเสพติดขยายตัวไปได้ เพราะผลประโยชน์ต่างๆ ของผู้ค้ายาเสพติดจะถูกริบ โดยที่วิธีเช่นนี้จะไปตัดแขนตัดขาผู้ค้า ผู้ส่ง ไม่ให้ได้ประโยชน์จากเงิน เขาทำมาเท่าไหร่หากถูกจับได้ก็จะโดนริบไปหมด

แต่ปัญหาคือจะจับเขาได้ไหม ที่ผ่านมานโยบายของเราได้พวกเสพเป็นส่วนใหญ่ พวกส่งยาหรือคนที่บงการนั้นยังจับไม่ได้ หรือได้ก็ได้น้อยมาก ที่ไปจับได้ส่วนใหญ่เป็นรายเล็กรายน้อย และส่วนใหญ่คนเหล่านี้ก็ไม่รู้ด้วยว่าใครเป็นคนส่ง ใครเป็นคนติดต่อ

มองจากภาพรวม จำเป็นต้องปรับเปลี่ยนวิธีคิดของรัฐที่มีต่อยาเสพติดด้วยไหม

เรามองยาเสพติดว่าทำลายทั้งสุขภาพและเศรษฐกิจอย่างแน่นอนอยู่แล้ว คือทำให้ร่างกายทรุดโทรมลง อาจจะไปก่ออาชญากรรม กลายเป็นประเด็นสังคมไปอีก แทนที่เด็กจะเรียนหนังสือได้ดีก็ไปติดยาแทน มันอันตรายอย่างแน่นอนล่ะ แต่ถามว่าเราใช้ไม้ฟาดอย่างเดียวนี่จะช่วยไหม

ผมคิดว่ากฎหมายยาเสพติดฉบับใหม่นี้ก็ถอยมาพอสมควร คือถ้าคุณแค่เสพแล้วรู้สึกว่าไม่ได้ละ ไม่ใช่แล้ว ก็ทำให้กลับมาด้วยการเข้าไปติดต่อเจ้าหน้าที่เพื่อเข้ากระบวนการบำบัด ฟื้นฟู กฎหมายเองก็ไม่เอาผิดคุณด้วย มันคือการคัดกรองคนเสพยาเป็นครั้งคราวให้ไปบำบัด ไม่ใช่ไปติดคุก

แต่ทั้งหมดนี้ก็ขอให้ทำได้เถอะ เพราะงานเหล่านี้มันเป็นงานบูรณาการ เราต้องตั้งคำถามต่อไปว่าจะทำอย่างไรให้มันบูรณาการต่อได้ แล้วกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (พม.) จะมาช่วยได้ไหม เพราะบางคนกลับไปสู่สิ่งแวดล้อมเดิมๆ ก็มีแนวโน้มทำผิดอีก ผมคิดว่าคนที่ทำผิดนั้นเขาไม่มีทางเลือก ไม่มีโอกาส เราจึงต้องไปสร้างโอกาส คือชีวิตคนเรามันไม่เท่ากันเลย

แต่ก็จริงที่ว่าการบูรณาการเหล่านี้มันออกดอกออกผลช้ากว่าการจับกุม ปราบปราม

เรื่องเวลาก็อาจเป็นอีกปัจจัยหนึ่ง เพราะเมื่อเป็นการบูรณาการ หรือการฟื้นฟู มันย่อมใช้เวลานานกว่าการปราบปราม มองว่าต้องใช้เวลานานเท่าไหร่ สังคมเรารอกันไหวไหม

ผมไม่เชื่อว่ากฎหมายจะบังคับได้หมด ส่วนตัวผมมองว่าครอบครัวมีส่วนมากในการกำกับ ยับยั้ง ชั่งใจ พ่อแม่ต้องดูแลลูก แต่ก็แน่นอนแหละว่ามีบางครอบครัวต้องตื่นมาทำงานตั้งแต่ตีห้า แล้วจะทำอย่างไรต่อ โรงเรียนช่วยได้ไหม สังคมช่วยได้ไหม

ผมว่าองค์ประกอบในการบังคับใช้กฎหมายนั้น ทุกภาคส่วนต้องช่วยกันปราบปรามต้นตอ รวมถึงฝั่งเจ้าหน้าที่ด้วย ดังนั้นการลงโทษเจ้าหน้าที่ที่ทำผิดก็ยังจำเป็นอยู่

ต่อปัญหาเจ้าหน้าที่ทุจริตหรือมีส่วนเกี่ยวข้องในการซื้อขายยาเสพติด พ.ร.บ. นี้มีวิธีควบคุมการทำงานของเจ้าหน้าที่ไหม

จริงๆ มีกฎหมายอื่นๆ ที่ระบุว่าถ้าเจ้าหน้าที่ทำผิดก็มีบทลงโทษรุนแรง เช่น กฎหมาย ปปช. อันเป็นกฎหมายที่เรียกได้ว่าครอบจักรวาล ถ้าคุณเป็นเจ้าหน้าที่รัฐแล้วประพฤติมิชอบ ทุจริตในการทำงานก็โดนโทษสองสามเท่า คำถามคือจะทำยังไงให้เขารู้สึกว่าไม่อยากเข้าไปในวงการนี้ ไม่อยากทำผิดอาญา

มองจากภาพรวม นี่อาจต้องบูรณาการกันทั้งองคาพยพในสังคมเลย

แน่นอน สภาพสังคมที่ยุ่งเหยิงมากๆ ยาเสพติดส่วนใหญ่ก็ระบาดในสังคมเมือง แล้วยาเสพติดเองก็มีหลายกลุ่ม มียาไฮโซหน่อยอย่างยาไอซ์ที่ราคาแพง คนที่เสพก็อีกกลุ่มหนึ่ง แต่คนที่เงินไม่ถึงล่ะ

อย่างล่าสุดที่มีการอนุญาตให้ใช้ใบกระท่อมได้ ถ้าเขาจะกินกระท่อมเพื่อผ่อนคลายกล้ามเนื้อหรือคลายความเหน็ดเหนื่อย ก็ยอมบ้าง ผมว่านี่แหละมาถูกทางแล้ว


ผลงานชิ้นนี้เป็นความร่วมมือระหว่างสถาบันเพื่อการยุติธรรมแห่งประเทศไทย (องค์การมหาชน) (TIJ) และ The101.world

MOST READ

Spotlights

14 Aug 2018

เปิดตา ‘ตีหม้อ’ – สำรวจตลาดโสเภณีคลองหลอด

ปาณิส โพธิ์ศรีวังชัย พาไปสำรวจ ‘คลองหลอด’ แหล่งค้าประเวณีใจกลางย่านเมืองเก่า เปิดปูมหลังชีวิตหญิงค้าบริการ พร้อมตีแผ่แง่มุมเทาๆ ของอาชีพนี้ที่ถูกซุกไว้ใต้พรมมาเนิ่นนาน

ปาณิส โพธิ์ศรีวังชัย

14 Aug 2018

แกะห่อ 'ยาเสพติด' พิษร้าย(?)ของสังคมไทย

18 Mar 2022

พลิกหน้ากฎหมายยาเสพติดใหม่ เปิดมิติใหม่แห่งการแก้ปัญหายาเสพติดไทย

101 ชวนพลิกหน้ากฎหมายยาเสพติดฉบับใหม่ ไล่เรียงประเด็นสำคัญ พร้อมวิเคราะห์ประโยชน์ มองความท้าทายข้างหน้าในการนำกฎหมายใหม่ไปปฏิบัติ เพื่อแก้ปัญหายาเสพติดในมิติใหม่

วงศ์พันธ์ อมรินทร์เทวา

18 Mar 2022

Social Issues

9 Oct 2023

เด็กจุฬาฯ รวยกว่าคนทั้งประเทศจริงไหม?

ร่วมหาคำตอบจากคำพูดที่ว่า “เด็กจุฬาฯ เป็นเด็กบ้านรวย” ผ่านแบบสำรวจฐานะทางเศรษฐกิจ สังคม และความเหลื่อมล้ำ ในนิสิตจุฬาฯ ปี 1 ปีการศึกษา 2566

เนติวิทย์ โชติภัทร์ไพศาล

9 Oct 2023

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • Always Active

Save