fbpx

ในพระปรมาภิไธยพระมหากษัตริย์: ว่าด้วยพระราชอำนาจในทางตุลาการ

ในบทความสองชิ้นก่อนหน้า ผู้เขียนได้กล่าวถึงแนวคิดเกี่ยวกับพระราชอำนาจของพระมหากษัตริย์ผ่านหลักการ ‘ทวิกายาของพระมหากษัตริย์’ (The King’s Two Bodies) และเรื่อง ‘ความล่วงละเมิดมิได้ของพระมหากษัตริย์’ (Inviolability of the King) ซึ่งต่างก็เป็นแนวคิดรากฐานสำคัญของสถาบันกษัตริย์อังกฤษ

สำหรับในบทความชิ้นนี้ผู้เขียนตั้งใจจะสำรวจแนวคิดที่ถือว่าการตัดสินคดีความต่างๆ นั้นกระทำไป ‘ในพระปรมาภิไธยของพระมหากษัตริย์’ โดยผู้เขียนจะแสดงให้เห็นว่า แท้ที่จริงแล้วแนวคิดนี้เป็นเพียงมรดกตกทอดจากระบอบเก่ามาสู่ระบอบกษัตริย์ใต้รัฐธรรมนูญ และมีความหมายเพียงว่าองคาพยพของรัฐล้วนกระทำไปในนามของพระมหากษัตริย์ซึ่งเป็นแหล่งของอำนาจทางการเมืองในระบอบกษัตริย์เท่านั้น นอกจากนี้ผู้เขียนยังจะอภิปรายถึงแหล่งที่มาของพระราชอำนาจในทางตุลาการของพระมหากษัตริย์ทั้งในระบอบกษัตริย์และในระบอบกษัตริย์ใต้รัฐธรรมนูญ ท้ายที่สุด ผู้เขียนจะนำเสนอแนวทางปฏิรูปสถาบันกษัตริย์เรื่องที่เกี่ยวข้องกับพระราชอำนาจทางตุลาการเพื่อให้สอดคล้องกับหลักการของระบอบกษัตริย์ใต้รัฐธรรมนูญ


(1)

ในพระปรมาภิไธยพระมหากษัตริย์


“…ผู้พิพากษาต้องตัดสินภายใต้พระปรมาภิไธยพระมหากษัตริย์ คำนี้มีความหมายมาก
พูดง่ายๆ ว่า เป็นสายตรงของพระมหากษัตริย์ ต้องอยู่ในพระเนตรพระกรรณตลอดเวลา
ตัดสินคดีถูกต้องหรือไม่ เป็นที่พึ่งของประชาชนได้หรือไม่…”

– วิชา มหาคุณ, ประชาชาติ, 4 ตุลาคม พ.ศ. 2560[1]

ไม่ใช่เพียงแค่ในคำพิพากษาของศาลไทยที่ขึ้นต้นด้วยข้อความว่า ‘ในพระปรมาภิไธยพระมหากษัตริย์’ เท่านั้น เรามักได้ยินและได้เห็นผู้พิพากษาบางคนกล่าวอ้างถึงความพิเศษของอำนาจตุลาการทำนองว่าพวกเขานั้นทำงานเป็น ‘ข้ารับใช้’ หรือเป็น‘สายตรงของพระมหากษัตริย์’ เนื่องจากพวกเขาเป็นเพียงคนกลุ่มเดียวที่สามารถใช้อำนาจในนามของพระมหากษัตริย์โดยไม่ต้องรอให้พระมหากษัตริย์ลงพระปรมาภิไธยรับรองเสียก่อน[2]

ผู้เขียนไม่ทราบว่า ‘ความเชื่อ’ ที่ถือว่าอำนาจตุลาการเป็น ‘สายตรงของพระมหากษัตริย์’ นี้มีจุดเริ่มต้นมาอย่างไร แต่นี่เป็นความเข้าใจที่ผิด หากพิจารณาถึงระบอบกษัตริย์ของไทยก่อนมีการเปลี่ยนแปลงการปกครอง อำนาจทางการเมือง (อย่างน้อยก็ในทางทฤษฎี) ล้วนสถิตอยู่ในพระมหากษัตริย์  การใช้อำนาจโดยองคาพยพทั้งหลายของรัฐ (ซึ่งไม่จำกัดเฉพาะแค่อำนาจตุลาการ) ย่อมต้องกระทำไปในนามของพระมหากษัตริย์ทั้งสิ้น ทั้งนี้ก็เพื่อให้เหล่ามุขอำมาตย์ราชมนตรีสามารถใช้อำนาจทางการเมืองในการปกครองพระราชอาณาจักร โดยไม่จำเป็นต้องขอพระบรมราชานุญาตจากพระมหากษัตริย์อยู่ตลอดเวลา ข้อเท็จจริงนี้เห็นได้จากการที่แม้ว่าระบอบกษัตริย์ในสังคมศักดินาจะมีคติว่าพระมหากษัตริย์เป็นเจ้าแห่งศักดินาทั้งมวล[3] แต่ในการแจ้งจดโฉนดหรือซื้อขายที่ดินระหว่างกัน ราษฎรเพียงต้องแจ้งแก่เจ้าหน้าที่รัฐในระดับท้องถิ่นเท่านั้น พระมหากษัตริย์ไม่ได้ต้องมามีส่วนรับรู้ด้วยพระองค์เองเลย[4] และก็เช่นเดียวกันกับการไต่สวนคดีความ แม้ในสมัยโบราณจะถือคติว่าพระมหากษัตริย์เป็นผู้พิพากษาสูงสุด (Chief Justice) แต่ในความเป็นจริงแล้วคดีความต่างๆ จะได้รับการไต่สวนโดยเจ้าเมืองหรืออาจจะมียกกระบัตรซึ่งเป็นข้าราชการจากกระทรวงวังที่ถูกส่งมาประจำอยู่ตามหัวเมืองคอยร่วมพิจารณาคดีด้วยเท่านั้น[5]

แม้หลังการเปลี่ยนแปลงการปกครองในวันที่ 24 มิถุนายน พ.ศ. 2475 อำนาจทางการเมืองที่เคยสถิตอยู่ในพระมหากษัตริย์จะหวนกลับคืนสู่เจ้าของอำนาจอธิปไตยที่แท้จริงคือ ‘ราษฎรทั้งหลาย’[6] เป็นที่เรียบร้อยแล้ว แต่ด้วยเหตุที่ระบอบกษัตริย์ใต้รัฐธรรมนูญ (constitutional monarchy) นั้นเป็นผลผลิตแห่งความประนีประนอมระหว่าง ‘พระมหากษัตริย์’ และ ‘ราษฎรทั้งหลาย’ โดยแท้ มรดกบางอย่างของระบอบกษัตริย์จึงหลงเหลือและตกทอดมาในระบอบใหม่ รัฐธรรมนูญฉบับวันที่ 10 ธันวาคม พ.ศ. 2475 ซึ่งเป็นผลมาจากการประนีประนอมนี้กำหนดให้ปวงชนชาวไทยใช้อำนาจอธิปไตยผ่านพระมหากษัตริย์ และนั่นทำให้พระราชอำนาจที่เดิมเคยสถิตอยู่ในพระมหากษัตริย์ถูกแบ่งออกเป็น 3 ส่วน คือ

(1) ส่วนที่ยังสถิตอยู่ในองค์พระมหากษัตริย์และอยู่ในบทบัญญัติตามรัฐธรรมนูญ เช่น สถานะอันล่วงละเมิดมิได้ของพระมหากษัตริย์ (inviolability of the King)

(2) ส่วนที่พระมหากษัตริย์ทรงใช้ภายใต้คำแนะนำและความเห็นชอบของคณะรัฐมนตรีหรือรัฐสภา เช่น การประกาศใช้กฎหมาย การประกาศสงคราม และการพระราชทานอภัยโทษ

และ (3) ส่วนที่องค์กรต่างๆ กระทำไปในนามของพระมหากษัตริย์โดยมิต้องมีการลงพระปรมาภิไธย เช่น การใช้อำนาจทางการทูตของรัฐบาล การเคลื่อนกำลังพลทางทหาร และการตัดสินคดีความของผู้พิพากษา

ความสับสนเกี่ยวกับพระราชอำนาจในส่วนที่สามนี่เองที่ทำให้บุคคลบางกลุ่มแยกแยะไม่ออกว่าอะไรคือพระราชอำนาจตามที่บัญญัติไว้ในกฎหมาย และอะไรคือ ‘นิติสมมติ’ (legal fiction) ที่เป็นถ้อยคำซึ่งมีความหมายเพียงเฉพาะในบริบทของกฎหมาย[7] หากบุคคลดังกล่าวเข้าใจความหมายของพระราชอำนาจตามระบอบกษัตริย์ใต้รัฐธรรมนูญดีแล้ว พวกเขาย่อมทราบว่า การมีข้อความว่า ‘ในปรมาภิไธยพระมหากษัตริย์’ อยู่ในคำพิพากษานั้นไม่ได้ทำให้ตุลาการมีสถานะพิเศษมากไปกว่าข้าราชการอื่นเลย นั่นคือไม่ได้มีสถานะพิเศษกว่าทหารที่มีผู้บังคับบัญชาคือ ‘จอมทัพ’ เป็นพระมหากษัตริย์ และก็ไม่ได้มากไปกว่าตัวแทนของอำนาจบริหารอย่างรัฐบาลและอำนาจนิติบัญญัติอย่างสภาผู้แทนราษฎรที่ต่างก็ใช้พระราชอำนาจที่เคยสถิตอยู่ในพระมหากษัตริย์

สำหรับความสับสนว่าอะไรคือข้อเท็จจริง และอะไรคือ ‘นิติสมมติ’ (legal fiction) ผู้เขียนเห็นว่าส่วนหนึ่งเป็นผลมาจากการที่ในรัชกาลของกษัตริย์ภูมิพลนั้น พระองค์ทรงมีสถานะทางการเมืองและวัฒนธรรมที่สูงเสียจนทำให้เส้นแบ่งระหว่างข้อเท็จจริงและนิติสมมติต้องพร่าเลือนไป เมื่อพระราชอำนาจบางอย่างของพระมหากษัตริย์ที่ควรจะเป็นแค่ในเชิงสัญลักษณ์กลับกลายเป็นสิ่งที่มีผลในทางปฏิบัติขึ้นมา การกระทำในนามของพระมหากษัตริย์จึงกลายเป็นสถานะที่ทำให้บุคคลผู้นั้นรู้สึกว่าตนสูงส่งเป็นพิเศษตามไปด้วย[8]

เมื่อมาถึงจุดนี้ ผู้เขียนยังเห็นอีกว่า หากเราลองพิจารณาเปรียบเทียบกับแนวคิดทางกฎหมายของอังกฤษซึ่งเป็นต้นแบบที่สำคัญของระบอบกษัตริย์ใต้รัฐธรรมนูญแล้ว ย่อมเห็นได้ชัดเจนยิ่งขึ้นไปอีกว่า ‘การกระทำในนามของพระมหากษัตริย์’ หรือ ‘ในพระปรมาภิไธยพระมหากษัตริย์’ นั้น มีความหมายที่แท้จริงเป็นเช่นไร

อันที่จริงแล้ว แนวคิดตามรัฐธรรมนูญของอังกฤษที่องคาพยพทั้งหลายของรัฐล้วนกระทำไปในนามของพระมหากษัตริย์นั้นเป็นสิ่งที่มีมาช้านาน เพราะ ‘รัฐ’ ถือว่าเป็น ‘กายาทางการเมือง’ (body politics) ของพระมหากษัตริย์ตามหลัก ‘ทวิกายาของพระมหากษัตริย์’ แม้ในปัจจุบัน หลักการที่ถือว่า ‘รัฐ’ (the Government) และ ‘พระมหากษัตริย์’ (the Crown) เป็น ‘ส่วนหนึ่งของกันและกัน’ ก็ยังมีความสำคัญในระบบกฎหมายของอังกฤษอยู่

สำหรับประเทศในราชอาณาจักรแห่งเครือจักรภพ (Commonwealth realms) ซึ่งรวมสหราชอาณาจักรและประเทศที่ยังถือว่าพระมหากษัตริย์อังกฤษเป็นประมุขของรัฐอยู่ (เช่น แคนาดา ออสเตรเลีย และนิวซีแลนด์ ฯลฯ) หากมีข้อพิพาทระหว่างเอกชนและรัฐ คู่ความในทางกฎหมายของเอกชนนั้นก็จะเป็น ‘พระมหากษัตริย์’ (the Crown) โดยอาจจะระบุในเอกสารว่าเป็น ‘พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว/สมเด็จพระราชินีนาถ’ (His/Her Majesty the King/Queen) ก็ได้ นอกจากนี้ในกรณีของคดีอาญาซึ่งถือว่าเป็นการกระทำผิดต่อความสงบเรียบร้อยของรัฐ คู่ความของจำเลยก็จะเป็น ‘พระมหากษัตริย์’ ด้วยเช่นกัน[9]

การมีคู่ความตามกฎหมายเป็น ‘พระมหากษัตริย์’ ก็เป็นนิติสมมติตามหลัก ‘ทวิกายาของพระมหากษัตริย์’ และผู้เขียนเชื่อว่าย่อมไม่มีบุคคลที่มีสติสัมปชัญญะสมบูรณ์ผู้ใดคิดว่า การที่ใครสักคนถูกรถยนต์ของหน่วยงานรัฐแห่งหนึ่งในแคนาดาชนจนได้รับบาดเจ็บนั้นจะเป็นฝีมือของสมเด็จพระราชินีนาถอลิซาเบธที่ 2 เนื่องจากภารกิจต่างๆ ของหน่วยงานรัฐในประเทศราชอาณาจักรเครือจักรภพล้วนกระทำไปในนามของพระมหากษัตริย์

นอกจากในกรณีที่ยกตัวอย่างมาแล้ว เรายังจะพบด้วยว่าชื่อของหน่วยงานรัฐต่างๆ (รวมทั้งบางหน่วยงานที่เคยเป็นของรัฐ) ในสหราชอาณาจักรนั้นล้วนแต่มีคำสร้อยว่า ‘ราช’ (royal)[10] อีกทั้งรัฐบาลรวมทั้งฝ่ายค้านก็มีชื่อเรียกอย่างกึ่งทางการว่าเป็น ‘รัฐบาลของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว/สมเด็จพระราชินีนาถ’ (His/Her Majesty’s Government) และ ‘ฝ่ายค้านของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว/สมเด็จพระราชินีนาถ’ (His/Her Majesty’s Opposition) ตามลำดับ ตัวอย่างเช่นนี้มีอยู่มากมายนับไม่ถ้วน แต่ก็ไม่มีใครในสหราชอาณาจักรคิดถือว่าพวกตนเป็น ‘สายตรงของพระมหากษัตริย์’ เช่นดังในกรณีของตุลาการไทยเลย[11] ทั้งนี้ก็เป็นดังที่ผู้เขียนได้อภิปรายไว้ข้างต้นแล้วว่า เรื่องนี้มีสาเหตุมาจาก (1) ความไม่เข้าใจในเรื่องพระราชอำนาจตามระบอบกษัตริย์ใต้รัฐธรรมนูญ และ (2) ความสับสนระหว่างพระราชอำนาจตามที่บัญญัติไว้ในกฎหมายและสิ่งที่เป็นนิติสมมติ

แน่นอนว่ายังมีบุคคลอีกประเภทหนึ่งที่ไม่สนใจในเรื่องพระราชอำนาจตามระบอบกษัตริย์ใต้รัฐธรรมนูญ ก็คือฝ่ายที่ต้องการส่งเสริมให้พระมหากษัตริย์มีพระราชอำนาจมากหรือต้องการตอบโต้อุดมการณ์ของการเปลี่ยนแปลงการปกครอง พ.ศ. 2475 แม้บุคคลกลุ่มนี้อาจมองว่าการกระทำของพวกตนเป็นการแสดงความจงรักภักดีและเป็นการเชิดชูพระเกียรติยศของพระมหากษัตริย์ให้สูงสมพระราชฐานะอย่างหนึ่ง แต่ผู้เขียนกลับมองว่านี่จะเป็นการนำเอาพระมหากษัตริย์มาเผชิญหน้าโดยตรงกับความขัดแย้งทางการเมือง เพราะหากประชาชนส่วนใหญ่เริ่มรู้สึกว่าตุลาการที่มักพร่ำสอนอยู่เสมอว่าพวกเขาเป็น ‘สายตรงของพระมหากษัตริย์’ นั้นไม่สามารถตัดสินคดีความได้อย่างเที่ยงธรรม โดยเฉพาะอย่างยิ่งในคดีการเมืองที่เกี่ยวข้องกับพระมหากษัตริย์ เช่น คดีหมิ่นพระบรมเดชานุภาพ แล้ว ประชาชนย่อมไม่เพียงตั้งคำถามต่อความน่าเชื่อถือของระบบยุติธรรมเท่านั้น แต่พวกเขาอาจตั้งคำถามไปถึงสถานะของสถาบันกษัตริย์อีกด้วย[12]


(2)

แหล่งกำเนิดของความยุติธรรมและพระราชอำนาจในทางตุลาการ


“…อีกสถานะหนึ่งซึ่งถือว่าเป็นของพระมหากษัตริย์ในเรื่องกิจการภายในก็คือสถานะที่ทรงเป็น ‘น้ำพุแห่งความยุติธรรม’ (the fountain of justice) … คำว่า ‘น้ำพุแห่งความยุติธรรม’ นั้น ไม่ได้หมายความว่าพระองค์เป็นผู้ให้กำเนิดหรือเป็นแหล่งกำเนิด (author or original) ของกฎหมาย หากเป็นเพียงแต่ผู้แจกจ่าย (the distributor) และความยุติธรรมนั้นก็ไม่ได้สืบเนื่องมาจากพระมหากษัตริย์ดังเช่นเป็นของขวัญที่พระองค์ได้พระราชทานมาให้ แต่พระองค์ทรงเป็นผู้รับใช้ของสาธารณะ (the steward of the public) พระมหากษัตริย์ไม่ใช่ต้นธาร แต่เป็นแหล่งกักเก็บน้ำที่ถ่ายเทสิทธิและความเป็นธรรมตามกฎหมายไปยังปัจเจกบุคคลผ่านลำคลองที่มีอยู่นับพัน ตามหลักการพื้นฐานของสังคมแล้ว แหล่งกำเนิดแห่งอำนาจตุลาการนั้นสถิตอยู่ในสังคมวงกว้าง…

– วิลเลียม แบล็คสโตน, อรรถาธิบายว่าด้วยกฎหมายของอังกฤษ[13]

มีภาษิตทางกฎหมายที่เก่าแก่อันหนึ่งของอังกฤษกล่าวไว้ว่า ‘The King is the Fountain of Justice’ ซึ่งมีความหมายว่าพระมหากษัตริย์เป็นแหล่งของความยุติธรรม แต่ก็ดังที่เฮ็นรี เดอ แบรคตัน (Henry de Bracton) นักทฤษฎีกฎหมายคนสำคัญของอังกฤษในศตวรรษที่ 13 ได้อธิบายไว้ว่า “…ความยุติธรรมนั้นสืบเนื่องมาจากพระผู้เป็นเจ้า เพราะถือว่าในองค์พระผู้สร้างสถิตไว้ซึ่งความยุติธรรม…”[14] ด้วยเหตุนี้ พระมหากษัตริย์จึงไม่ใช่ ‘แหล่งกำเนิดที่แท้จริง’ ของความยุติธรรม แต่คือพระผู้เป็นเจ้าต่างหาก ขณะที่วิลเลียม แบล็คสโตน นักทฤษฎีกฎหมายคนสำคัญของอังกฤษอีกคนหนึ่งที่มีชีวิตอยู่ในศตวรรษที่ 18 ได้อธิบายเพิ่มเติมว่า ‘Fountain’ ในที่นี้ไม่ได้มีความหมายว่า ‘แหล่งกำเนิดน้ำ’ หรือ ‘ต้นธาร’ แต่แปลว่า ‘น้ำพุ’ ดังนั้นพระมหากษัตริย์จึงไม่ใช่แหล่งกำเนิดของความยุติธรรม พระองค์เพียงทำหน้าที่แจกจ่ายความยุติธรรมตามที่ได้รับมอบหมายมาจากสาธารณะอันเป็นแหล่งกำเนิดของอำนาจทางตุลาการที่แท้จริง

เช่นนี้แล้วเราจึงอาจกล่าวได้ว่า ตามแนวคิดทางกฎหมายของอังกฤษ พระมหากษัตริย์หาได้เป็นองค์กระทำที่อิสระและสัมบูรณ์ในพระองค์เองไม่ แต่พระองค์เป็นตัวแทน (agent) นั่นคือถ้าไม่ใช่ของพระผู้เป็นเจ้าบนโลกมนุษย์ ก็ในฐานะตัวแทนที่ได้รับมอบหมายมาจากสาธารณะหรือสังคมวงกว้าง[15]

อันที่จริงแล้ว แนวคิดที่ถือว่าพระมหากษัตริย์เป็นตัวแทนที่ได้รับมอบหมายจากสาธารณะให้ดูแลความสงบสุขและตัดสินข้อพิพาทในสังคมนั้นมิใช่สิ่งที่แปลกปลอมจากความคิดเรื่องพระมหากษัตริย์ของไทยแต่ดั้งเดิมเลย ใน ‘อัคคัญญสูตร’ ที่กล่าวถึงการกำเนิดพระมหากษัตริย์ตามแนวคิดของพระพุทธศาสนาก็ได้เล่าถึงเหตุการณ์ในยุคบุพกาลที่เหล่าสัตว์ตกลงกันตั้งให้สัตว์ผู้หนึ่งซึ่ง ‘สวยงามกว่า น่าดูน่าชมกว่า น่าเลื่อมใสกว่า และน่าเกรงขามมากกว่าสัตว์ทุกคน’ มาทำหน้าที่เป็น ‘ผู้ว่ากล่าวผู้ที่ควรว่ากล่าวได้โดยชอบ ให้เป็นผู้ติเตียนผู้ที่ควรติเตียนได้โดยชอบ ให้เป็นผู้ขับไล่ผู้ที่ควรขับไล่ได้โดยชอบ’ โดยสัตว์ที่ได้รับเลือกให้มาเป็นพระมหากษัตริย์นี้จะได้รับผลตอบแทนเป็นส่วยคือข้าวสาลี[16] อัคคัญญสูตรยังเรียกสัตว์ที่ได้รับเลือกนี้ว่า ‘มหาชนสมมติ’ (The Great Elected) ซึ่งมีความหมายว่า ‘เลือกโดยชนหมู่มาก’

ถึงแม้แนวคิดเรื่องการกำเนิดพระมหากษัตริย์ของไทยจะถือว่าพระมหากษัตริย์เป็นตัวแทนที่ได้รับมอบหมายมาจากชนหมู่มากให้รักษาความยุติธรรมเช่นเดียวกันกับแนวคิดเรื่องพระมหากษัตริย์ของอังกฤษ แต่ก็เป็นที่น่าสนใจว่าในกรณีของอังกฤษนั้น คณะตุลาการต่างก็พยายามสถาปนาระบบยุติธรรมเป็นอิสระแยกออกจากพระมหากษัตริย์โดยมีเป้าหมายเพื่อถ่วงดุลพระราชอำนาจอยู่เสมอมา ในขณะที่คณะตุลาการของไทยกลับพยายามจะแสดงตนว่าเป็นข้ารับใช้ของพระมหากษัตริย์ หรือ ‘สายตรงของพระมหากษัตริย์’ แม้กระทั่งในปัจจุบัน

ความแตกต่างในแง่นี้เห็นได้จากการที่แม้ว่าพระมหากษัตริย์ทั้งของไทยและอังกฤษในยุคโบราณจะถือว่าเป็นองค์ตุลาการสูงสุด (Chief Justice) แต่พระมหากษัตริย์อังกฤษนับตั้งแต่ศตวรรษที่ 17 เป็นต้นมาไม่สามารถใช้พระราชอำนาจในการสถาปนากฎหมายขึ้นใหม่ผ่านพระบรมราชโองการได้ แต่ต้องกระทำผ่านรัฐสภาเท่านั้น (Case of Proclamations)[17] และพระองค์ยังไม่สามารถจับกุมผู้ใดหรือตัดสินคดีความใดด้วยพระองค์เอง แต่ต้องกระทำผ่านองค์คณะตุลาการเท่านั้นอีกด้วย (Case of Prohibitions)[18] ขณะที่กรณีของประเทศไทย ต้องรอจนถึงเมื่อมีการเปลี่ยนแปลงการปกครองในศตวรรษที่ 20 พระมหากษัตริย์ถึงไม่มีพระราชอำนาจในการออกกฎหมายและตัดสินคดีความด้วยพระองค์เองอีกต่อไป[19]

แนวทางตามรัฐธรรมนูญของอังกฤษที่กล่าวถึงข้างต้นเกิดจากคำตัดสินของเซอร์เอ็ดเวิร์ด โค้ก (Sir Edward Coke) หัวหน้าผู้พิพากษาศาลสูงสุดที่ยึดถือหลักการว่าพระมหากษัตริย์จะต้องปกครองด้วยกฎหมาย พระองค์จึงไม่สามารถสร้างกฎหมายขึ้นใหม่ได้ตามอำเภอใจ รวมทั้งหลักการที่ว่าพระมหากษัตริย์ไม่สามารถทำผิดได้ (The King Can Do No Wrong) และไม่สามารถถูกฟ้องร้องได้ (Inviolability of the King) ซึ่งจะทำให้การตัดสินคดีความของพระมหากษัตริย์ผิดพลาดไม่ได้ แต่เนื่องจากในความเป็นจริงแล้ว การตัดสินผิดพลาดสามารถเกิดขึ้นได้ ผลก็คือผู้ที่ได้รับผลกระทบจากคำตัดสินที่ผิดพลาดนั้นก็จะไม่สามารถฟ้องร้องให้แก้ไขหรือร้องขอการเยียวยาได้ไปด้วย

นอกจากนี้ ในบทความชิ้นก่อนหน้านี้ที่ได้อภิปรายถึงหลัก ‘ทวิกายาของพระมหากษัตริย์’ ผู้เขียนเคยยกข้อความหนึ่งที่ฝ่ายรัฐสภาประกาศตอบโต้กับกษัตริย์ชาร์ลส์ที่ 1 ของอังกฤษในสมัยสงครามกลางเมืองซึ่งมีเนื้อหาว่า

“…เป็นที่ยอมรับกันว่าพระมหากษัตริย์เป็นแหล่งของความยุติธรรมและความคุ้มครอง แต่การกระทำแห่งความยุติธรรมและความคุ้มครองนั้นมิได้เกิดขึ้นโดยตัวพระองค์เองหรือขึ้นกับพระราชอัธยาศัยไม่ หากแต่กระทำไปโดยองค์คณะศาลและเหล่าเสนาบดีผู้จำเป็นต้องกระทำหน้าที่ของพวกเขาถึงแม้ว่าองค์พระมหากษัตริย์จะขัดขวางก็ตาม และด้วยเหตุนี้เอง ที่คำตัดสินใดของพวกเขา แม้จะเป็นปฏิปักษ์ต่อพระราชประสงค์และโองการส่วนพระองค์ ย่อมถือเป็นคำตัดสินของพระมหากษัตริย์อยู่นั่นเอง…”[20]

ข้อความนี้เองที่สะท้อนให้เห็นถึงความสำคัญของหลัก ‘ทวิกายาของพระมหากษัตริย์’ ต่อการสถาปนาระบบยุติธรรมที่เป็นอิสระจากพระมหากษัตริย์ในอังกฤษ นั่นเพราะสิ่งที่เหล่า ‘องค์คณะศาลและเหล่าเสนาบดี’ พยายามแยกเป็นอิสระนั้นก็คือ ‘องค์พระมหากษัตริย์’ ที่เป็นกายาธรรมชาติซึ่งมีความบกพร่องของมนุษย์ ไม่ใช่ ‘พระมหากษัตริย์’ ที่เป็นกายาทางการเมือง และเป็นแหล่งของความยุติธรรมและอำนาจทางการเมือง และเราไม่ควรลืมด้วยว่าในทางปฏิบัติ พระมหากษัตริย์อังกฤษในยุคโบราณ รวมทั้งพระมหากษัตริย์ของไทยในยุคก่อนการเปลี่ยนแปลงการปกครองที่แท้แล้วก็คืออำนาจบริหาร เช่นเดียวกันกับรัฐบาลหรือคณะรัฐมนตรีในยุคปัจจุบัน การวางตนเป็นอิสระจากพระมหากษัตริย์ของระบบยุติธรรมอังกฤษก็เป็นการถ่วงดุลอำนาจบริหารอย่างหนึ่งนั่นเอง

และก็ดังที่ผู้เขียนเคยอภิปรายไว้ก่อนหน้านี้ การที่สังคมไทยไม่มีวิวัฒนาการเรื่อง ‘ทวิกายาของพระมหากษัตริย์’ ทำให้ไม่มีการแยกกายาทางการเมืองและกายาธรรมชาติออกจากกัน พระราชประสงค์ขององค์พระมหากษัตริย์จึงสามารถกลายเป็นกฎหมายไปโดยปริยาย[21] ถึงแม้จะมีการเปลี่ยนแปลงการปกครองเกิดขึ้นในประเทศไทยแล้ว แต่อำนาจตุลาการก็เป็นสิ่งที่คณะราษฎรเข้ามาแตะต้องน้อยที่สุด เมื่ออุดมการณ์กษัตริย์นิยม-อนุรักษนิยมกลับมามีกระแสสูงอีกครั้ง อำนาจตุลาการที่ไม่ได้รับการปฏิรูปและมีลักษณะปฏิกิริยานี้จึงกลายเป็นเครื่องมือของอุดมการณ์ที่กำลังครอบงำนั้นได้ง่ายกว่าอำนาจอธิปไตยส่วนอื่น แนวคิดเรื่องความอิสระของอำนาจตุลาการแท้จริงแล้วก็เป็นเพียงภาพลวงตาที่พวกคณะตุลาการของไทยสร้างขึ้นมาเอง เพราะพวกเขาไม่เคยเป็นอิสระ อย่างน้อยก็ไม่เคยเป็นอิสระจากกายาธรรมชาติของพระมหากษัตริย์ที่มีเลือดเนื้อและมีความบกพร่องของมนุษย์

ในห้วงเวลาปัจจุบันที่ประชาชนผู้เรียกร้องการปฏิรูปสถาบันกษัตริย์ถูกดำเนินคดีด้วยกฎหมายอาญามาตรา 112 หรือที่รู้จักกันว่า ‘กฎหมายหมิ่นพระบรมเดชานุภาพ’ สถานการณ์เช่นนี้ยิ่งกลายเป็นบททดสอบสำคัญต่ออำนาจตุลาการว่าพวกเขาสามารถรักษาความอิสระได้เพียงไหน ในระหว่างที่พวกเขาพิจารณาคดีเกี่ยวกับพระมหากษัตริย์ พวกเขามองตนเองเป็นผู้รักษาความยุติธรรม เป็นผู้ใช้อำนาจทางตุลาการที่ประชาชนมอบหมายผ่าน ‘พระมหากษัตริย์’ มายังพวกเขา หรือพวกเขามองว่าตนเองเป็นผู้รักษาความมั่นคงของ ‘องค์พระมหากษัตริย์’? และถ้าเป็นอย่างหลังแล้ว ผู้พิพากษาเหล่านี้จะต่างอะไรกับกองกำลังส่วนพระองค์ที่ยึดถือเอาอำนาจสาธารณะไปเป็นของส่วนตัวหรือ?


(3)

ข้อเสนอปฏิรูปสถาบันกษัตริย์: เราจะจัดวางพระราชอำนาจทางตุลาการอย่างไร


ประเด็นปัญหาหนึ่งที่ผู้เขียนต้องการเน้นย้ำอีกครั้งในบทความชิ้นนี้ คือการที่ประเทศไทยเรามักนำเอาแนวคิดทางรัฐธรรมนูญของอังกฤษหลายอย่างมาใช้โดยไม่ได้คำนึงว่าแนวคิดเหล่านั้นมีบริบททางประวัติศาสตร์ที่เก่าแก่หลายร้อยปี ดังนั้นการหยิบเอาแนวคิดอย่าง ‘พระมหากษัตริย์ไม่สามารถทำผิดได้’ หรือ ‘ความล่วงละเมิดมิได้ของพระมหากษัตริย์’ มาใช้ในประเทศไทยจึงมิใช่อาหารสำเร็จรูปที่พร้อมใช้ได้ในทันที แต่ต้องการการลงหลักปักฐานของความคิดต่างๆ ที่จะช่วยส่งเสริมให้แนวคิดนามธรรมเหล่านี้มีลักษณะเป็นคุณกับประชาธิปไตยดังเช่นที่เกิดขึ้นในอังกฤษ หรือไม่อย่างนั้นก็ควรหลีกเลี่ยงการใช้ถ้อยคำที่ฟังดูไพเราะลึกซึ้งเหล่านี้ แล้วหันมาบัญญัติกฎหมายเกี่ยวกับพระราชอำนาจด้วยด้วยถ้อยคำที่เรียบง่ายตรงไปตรงมาแต่มีผลตามเป้าประสงค์ของแนวคิดเหล่านี้จะดีกว่า

นอกจากสหราชอาณาจักรแล้ว ประเทศไทยเป็นเพียงไม่กี่ประเทศที่มีบทบัญญัติในรัฐธรรมนูญว่าการพิจารณาพิพากษาอรรถคดีกระทำไปในพระปรมาภิไธยพระมหากษัตริย์ (อย่างน้อยในญี่ปุ่นและทวีปยุโรปรวมถึงสแกนดิเนเวีย มีเพียงเบลเยียมและลุกซ็องม์บูร์ก (Luxembourg) ที่ระบุเช่นนั้น) บทบัญญัติลักษณะนี้เคยปรากฏในรัฐธรรมนูญเมจิของญี่ปุ่น (บทที่ 5 อำนาจตุลาการ มาตราที่ 57 “…ศาลเป็นผู้ใช้อำนาจตุลาการตามกฎหมายและในนามแห่งองค์พระจักรพรรดิ…”) ในขณะที่ประเทศอื่นๆ เช่น สเปนและฝรั่งเศสในระบอบกษัตริย์ ถ้าไม่ระบุว่าอำนาจตุลาการเป็นของประชาชน หรือของชาติ ก็จะไม่มีการกล่าวถึงเลยเช่นในกรณีของเนเธอแลนด์  นอร์เวย์ และสวีเดน

ด้วยเหตุนี้ ผู้เขียนจึงมีข้อเสนอให้แก้ไขและเพิ่มเติมบทบัญญัติในรัฐธรรมนูญให้มีความเรียบง่ายและสอดคล้องกับหลักการอำนาจอธิปไตยเป็นของปวงชน (อำนาจอธิปไตยเป็นของปวงชนชาวไทย ใช้ผ่านตัวแทนคือ พระมหากษัตริย์ รัฐสภา คณะรัฐมนตรี และศาล) โดยผู้เขียนเสนอให้

  • ตัดข้อความ ‘ในพระปรมาภิไธยพระมหากษัตริย์’ ออกจากรัฐธรรมนูญ นั่นคือยกเลิกข้อความ ‘การพิจารณาพิพากษาอรรถคดีเป็นอำนาจของศาล ซึ่งจะต้องดำเนินการให้เป็นไปตามกฎหมาย และในพระปรมาภิไธยพระมหากษัตริย์…’ เหลือเพียง ‘การพิจารณาพิพากษาอรรถคดีเป็นอำนาจของศาล ซึ่งจะต้องดำเนินการให้เป็นไปตามกฎหมายและรัฐธรรมนูญ…’ และ
  • ยกเลิกการที่ผู้พิพากษาจะต้องปฏิญาณตนต่อพระมหากษัตริย์ก่อนเข้ารับหน้าที่

ข้อเสนอข้างต้นมีเพื่อยืนยันหลักการอำนาจอธิปไตยเป็นของปวงชน แก้ไขความเข้าใจผิดในเรื่องแหล่งที่มาของอำนาจตุลาการที่แท้จริง และลดความคลุมเครือที่อาจเกิดจากการตีความผิดบริบท แต่แน่นอนว่าการแก้ไขข้อความในกระดาษย่อมไม่มีผลบังคับจริงในทางปฏิบัติหากแนวคิดเรื่องการปฏิรูปสถาบันกษัตริย์ยังไม่กลายเป็นฉันทมติของสังคม นอกจากนี้หากบุคคลในกระบวนการยุติธรรมเอง เช่น ผู้พิพากษา ยังมองไม่เห็นอันตรายของการวางตัวเป็น ‘ข้ารับใช้’ หรือ ‘สายตรงของพระมหากษัตริย์’ ในสภาวะที่พระราชอำนาจล้นเกินเช่นดังในปัจจุบันแล้ว ข้อเสนอปฏิรูปสถาบันกษัตริย์เหล่านี้ก็คงเป็นเพียง ‘ความฝันละเมอ’ เท่านั้นเอง

แต่การจะเปลี่ยน ‘ความฝันละเมอ’ นี้ให้กลายเป็นความจริงได้อย่างไรนั้น ก็คงจะขึ้นอยู่กับพวกเราทุกๆ คน ที่จะช่วยทำให้การถกเถียงเรื่องสถาบันกษัตริย์กลายเป็นส่วนหนึ่งของชีวิตประจำวัน ไม่ใช่เรื่องต้องห้ามที่ต้องคุยกันในที่ลับอีกต่อไป ผลักดันให้แวดวงของการถกเถียงเรื่องสถาบันกษัตริย์นี้ขยายตัวออกไป จากในบ้าน สู่ที่ทำงาน สู่โรงเรียน มหาวิทยาลัย และสู่สังคมวงกว้าง แสวงหาแนวร่วมของคนที่คิดเหมือนกันโดยไม่จำเป็นต้องละทิ้งจุดยืนของเรา ขยายคนที่ตื่นรู้ออกไปให้กว้างขึ้น กว้างขึ้น และกว้างขึ้น เมื่อนั้น ‘ความฝันละเมอ’ ก็คงจะใกล้กับความเป็นจริงขึ้นมา



[1] ดูความเห็นของวิชา มหาคุณ ในบทสัมภาษณ์ของประชาชาติธุรกิจ เรื่อง “ต้นธารแห่งความยุติธรรม “วิชา มหาคุณ” เทิดไท้องค์ราชัน ร.9” (4 ตุลาคม พ.ศ. 2560)

[2] ดู ภชฤทธิ์ นิลสนิท. “ในพระปรมาภิไธยพระมหากษัตริย์”, ดุลพาห, 58(1) (มกราคม-เมษายน 2554).

[3] ที่ในแว่นแคว้นกรุงเทพพระมหานครศรีอยุทธยามหาดิลกภพนพรัตนราชธานีบุรีรมยเปนที่แห่งพระเจ้าอยู่หัวหากให้ราษฎรทังหลาย ผู้เปนข้าแผ่นดินอยู่ จะได้เปนที่ราษฎรหามิได้ – พระอายการเบดเสรจ มาตรา 52 ในกฎหมายตราสามดวง

[4] ดูมาตราที่ 36, 62, และ 63 ของพระอายการเบดเสรจในกฎหมายตราสามดวง

[5] ดู Baker, C. and Phongpaichit, P. “Thammasat, Custom, and Royal Authority in Siam’s Legal History”. ใน Thai Legal History: From Traditional to Modern Law. Edited by Harding, A. and Pongsapan, M. Cambridge. 2021. หน้า 32.

[6] “…มาตรา ๑ อำนาจสูงสุดของประเทศนั้นเป็นของราษฎรทั้งหลาย…” ปฐมรัฐธรรมนูญ วันที่ 27 มิถุนายน พ.ศ. 2475

[7] นิติสมมติ (legal fiction) คือ ข้อสมมติที่ใช้ในบริบทของกฎหมาย เช่น การถือว่าหน่วยงาน หรือสมาคมมีลักษณะเป็นบุคคลตามกฎหมาย (นิติบุคคล) หรือการถือว่ารัฐ (the Government) เป็นกายาทางการเมืองของพระมหากษัตริย์ (the Crown) ซึ่งย่อมไม่ใครที่มีสติสัมปชัญญะสมบูรณ์คิดว่าพระมหากษัตริย์สามารถจำแลงกายให้กลายเป็นรัฐ

[8] และนั่นก็ทำให้เกิดคนที่ต่างฝ่ายต่างก็อยากจะทำงาน ‘สนองเบื้องพระยุคลบาท’ กันเต็มไปหมด แม้กระทั่งข้าราชการทั่วๆ ไปก็พากันติดสติกเกอร์ประกาศว่าพวกตนเป็น ‘ข้าราชการในพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว’ กันเต็มท้ายรถยนต์ไปหมด

[9] ในกรณีที่สองนี้ วิลเลียม แบล็คสโตนได้อภิปรายว่า การก่อคดีอาญาเป็นเสมือนการทำลายคำปฏิญาณตนขณะขึ้นครองราชย์ของพระมหากษัตริย์ที่จะรักษาความสงบสุขของสาธารณะ ดังนั้นผู้ก่อคดีอาญาจึงมีคู่กรณีเป็นพระมหากษัตริย์ และด้วยเหตุนี้เองพระมหากษัตริย์จึงมีพระราชอำนาจในการให้อภัยโทษ เพราะพระองค์เป็นผู้เสียหายจากการก่ออาชญากรรมนั้น – ดู Blackstone, W. and Lemmings, D. (2016). Commentaries on the Laws of England. Oxford University Press. เล่ม 1. หน้า 171. (บท 7.3.259)

[10] เท่าที่ผู้เขียนได้เห็นมา ยังไม่ปรากฏว่ามีผู้ใดที่ทำงานให้บริษัทไปรษณีย์อังกฤษ (Royal Mail) ติดสติกเกอร์ ‘ข้าราชการในสมเด็จพระราชินีนาถ’ ไว้ที่ท้ายรถยนต์ของพวกเขา

[11] มีอีกประเด็นหนึ่งที่ผู้พิพากษาและคนในวงการกฎหมายไทยชอบยกขึ้นมา คือการที่ในศาลของสหราชอาณาจักรมีการประดับตราสัญลักษณ์ของพระมหากษัตริย์เอาไว้เหนือบัลลังก์ของศาล (ในขณะที่ของไทยนิยมใช้ ‘รูปขององค์พระมหากษัตริย์’ หรือ พระบรมฉายาลักษณ์แทน) ดังที่ผู้เขียนได้อธิบายแล้วว่าตามแนวคิดทางรัฐธรรมนูญของอังกฤษ องคาพยพของรัฐจะกระทำในนามของพระมหากษัตริย์ ไม่ใช่แค่ศาลเท่านั้น แต่ในรัฐสภาหรือรัฐบาลก็มีการแสดงความเชื่อมโยงกับพระมหากษัตริย์ในหลายรูปแบบ

[12] วอลเตอร์ เบกเชิต (Walter Bagehot) นักเขียนความเรียงทางการเมืองคนสำคัญในยุควิคตอเรียนซึ่ง(เคย)เป็นที่นิยมชมชอบของฝ่ายอนุรักษนิยมไทยเคยกล่าวว่า “…เราต้องไม่นำสมเด็จพระราชินีเข้ามาสู่การรบพุ่งทางการเมือง, ไม่อย่างนั้นแล้วพระองค์ก็จะสูญเสียซึ่งความเคารพเทิดทูนจากผู้ที่กำลังรบพุ่งกันอยู่; พระองค์จะกลายเป็นหนึ่งในผู้ที่กำลังรบพุ่งกันอยู่มากมายนั้น…” – “…We must not bring the Queen into the combat of politics, or she will cease to be reverenced by all combatants; she will become one combatant among many…” – ดู Bagehot, W. (1894). The English Constitution. 7th Edition. Kegan Paul, Trench, Trubner & Co., Ltd.: London. หน้า 57.

[13] “…Another capacity, in which the king is considered in domestic affairs, is as the fountain of justice… By the fountain of justice, the law does not mean the author or original, but only the distributor. Justice is not derived from the king, as from his free gift; but he is the steward of the public, to dispense it to whom it is due. He is not the spring, but the reservoir; from whence right and equity are conducted, by a thousand channels, to every individual. The original power of judicature, by the fundamental principles of society, is lodged in the society at large…” – ดู Blackstone, W. and Lemmings, D. (2016). Commentaries on the Laws of England. Oxford University Press. เล่ม 1. หน้า 171. (บท 7.3.257)

[14] de Bracton, Henry. “On the Laws and Customs of England”.Vol. 2. Chapter: What law is and what custom.

[15] การที่พระมหากษัตริย์ไม่ได้เป็นองค์กระทำที่สัมบูรณ์ในพระองค์เองย่อมหมายความว่าพระองค์จะต้องใช้พระราชอำนาจที่ได้รับมอบมานั้นด้วยความระมัดระวัง พระมหากษัตริย์ในอุดมคติของเดอ แบรคตัน คือพระมหากษัตริย์ที่ปกครองโลกมนุษย์ตามแบบอย่างของพระผู้เป็นเจ้าที่ปกครองสรรพสิ่ง เพราะ ‘แม้ว่าพระมหากษัตริย์จะไม่ทรงอยู่ใต้มนุษย์คนใด แต่พระองค์ย่อมอยู่ใต้พระเจ้าและกฎหมาย’ (The King is under no man, yet under the God and the law) – ดู de Bracton, Henry. “On the Laws and Customs of England”.Vol. 3. Chapter: The king has no equal (Rex non habet parem). เฮ็นรี เดอ แบรคตันได้อธิบายแนวคิดที่พระมหากษัตริย์ไม่ทรงอยู่เหนือกฎหมายว่าแม้แต่พระผู้เป็นเจ้าเองก็ไม่ได้วางพระองค์อยู่เหนือกฎเกณฑ์ที่ทรงสร้างขึ้นมา โดยยกตัวอย่างว่าแม้พระผู้เป็นเจ้าจะสามารถใช้พลังอำนาจของพระองค์ในการไถ่บาปมนุษยชาติได้โดยง่าย แต่พระองค์กลับเลือกรับสภาพมนุษย์มาเกิดเป็นพระเยซูคริสต์ รับความทรมานเฉกเช่นมนุษย์ และถูกตรึงกางเขนจนสิ้นพระชนม์ในที่สุด เพื่อโน้มน้าวด้วยเหตุผลว่าคนที่รับพระเยซูคริสต์จะได้รับการไถ่บาป

[16] “…บาปธรรมเหล่านั้นเกิดปรากฏแล้วในสัตว์ทั้งหลาย อย่ากระนั้นเลย พวกเราจักสมมติสัตว์ผู้หนึ่งให้เป็นผู้ว่ากล่าวผู้ที่ควรว่ากล่าวได้โดยชอบ ให้เป็นผู้ติเตียนผู้ที่ควรติเตียนได้โดยชอบ ให้เป็นผู้ขับไล่ผู้ที่ควรขับไล่ได้โดยชอบ ส่วนพวกเราจักแบ่งส่วนข้าวสาลีให้แก่ผู้นั้น ดังนี้ดูกรวาเสฏฐะและภารทวาชะ ครั้นแล้ว สัตว์เหล่านั้น พากันเข้าไปหาสัตว์ที่สวยงามกว่า น่าดูน่าชมกว่า น่าเลื่อมใสกว่า และน่าเกรงขามมากกว่าสัตว์ทุกคนแล้ว จึงแจ้งเรื่องนี้ว่า ข้าแต่สัตว์ผู้เจริญ มาเถิดพ่อ ขอพ่อจงว่ากล่าวผู้ที่ควรว่ากล่าวได้โดยชอบ จงติเตียนผู้ที่ควรติเตียนได้โดยชอบ จงขับไล่ผู้ที่ควรขับไล่ได้โดยชอบเถิด ส่วนพวกข้าพเจ้าจักแบ่งส่วนข้าวสาลีให้แก่พ่อ…” – ดู อัคคัญญสูตร (พระสุตตันตปิฎก เล่มที่ ๓ ทีฆนิกาย ปาฏิกวรรค)

[17] [1610] EWHC J22 (KB)

[18] [1607] EWHC J23 (KB)

[19] อันที่จริงมีข้อยกเว้นสำคัญ นั่นคือการแก้ไขรัฐธรรมนูญที่ผ่านการลงมติแล้วของกษัตริย์วชิราลงกรณ์ – การแก้ไขรัฐธรรมนูญที่ผ่านการลงประชามติไปแล้วโดยไม่ได้มีบทบัญญัติทางรัฐธรรมนูญอนุญาตให้ทำได้ ถือว่าเป็นการใช้พระราชอำนาจสถาปนารัฐธรรมนูญขึ้นมาใหม่หรือไม่? หากใช่ นี่ไม่เพียงขัดรัฐธรรมนูญเท่านั้น แต่ยังเป็นการกระทำที่ไม่ถูกต้องตามประเพณีการปกครองของระบอบกษัตริย์ใต้รัฐธรรมนูญอีกด้วย

[20] “…It is acknowledged that the King is the Fountain of Justice and Protection, but the Acts of Justice and Protection are not exercised in his own Person, nor depend upon his pleasure, but by his Courts and his Ministers who must do their duty therein, though the King in his own Person should forbid them: and therefore if Judgment should be given by them against the King’s Will and Personal command, yet are they the King’s Judgments…” คำว่า ‘his Courts and his Ministers’ ในทีนี้หมายถึง ‘รัฐสภา’ (both houses of Parliament) เนื่องจากรัฐสภามีทั้งอำนาจนิติบัญญัติและอำนาจตุลาการ – ดู ‘A declaration of the Lords and Commons in Parliament, concerning His Majesties proclamation, given at his court at York, the 27 of May, 1642’. เข้าถึงทาง https://quod.lib.umich.edu/e/eebo/A82644.0001.001/1:2?rgn=div1;view=fulltext

[21] ดู Baker, C. and Phongpaichit, P. “Thammasat, Custom, and Royal Authority in Siam’s Legal History”. ใน Thai Legal History: From Traditional to Modern Law. Edited by Harding, A. and Pongsapan, M. Cambridge. 2021. หน้า 30. สำหรับแนวคิดเรื่องการกำเนิดกฎหมายในยุคโบราณของไทย และอาจรวมถึงการแก้ไขรัฐธรรมนูญฉบับที่ผ่านประชามติของกษัตริย์วชิราลงกรณ์ดังที่ได้อภิปรายมาก่อนหน้านี้แล้ว

MOST READ

Social Issues

9 Oct 2023

เด็กจุฬาฯ รวยกว่าคนทั้งประเทศจริงไหม?

ร่วมหาคำตอบจากคำพูดที่ว่า “เด็กจุฬาฯ เป็นเด็กบ้านรวย” ผ่านแบบสำรวจฐานะทางเศรษฐกิจ สังคม และความเหลื่อมล้ำ ในนิสิตจุฬาฯ ปี 1 ปีการศึกษา 2566

เนติวิทย์ โชติภัทร์ไพศาล

9 Oct 2023

Social Issues

5 Jan 2023

คู่มือ ‘ขายวิญญาณ’ เพื่อตำแหน่งวิชาการในมหาวิทยาลัย

สมชาย ปรีชาศิลปกุล เขียนถึง 4 ประเด็นที่พึงตระหนักของผู้ขอตำแหน่งวิชาการ จากประสบการณ์มากกว่าทศวรรษในกระบวนการขอตำแหน่งทางวิชาการในสถาบันการศึกษา

สมชาย ปรีชาศิลปกุล

5 Jan 2023

Thai Politics

3 May 2023

แดง เหลือง ส้ม ฟ้า ชมพู: ว่าด้วยสีในงานออกแบบของพรรคการเมืองไทย  

คอลัมน์ ‘สารกันเบื่อ’ เดือนนี้ เอกศาสตร์ สรรพช่าง เขียนถึง การหยิบ ‘สี’ เข้ามาใช้สื่อสาร (หรืออาจจะไม่สื่อสาร?) ของพรรคการเมืองต่างๆ ในสนามการเมือง

เอกศาสตร์ สรรพช่าง

3 May 2023

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • Always Active

Save