fbpx

ชีวิตฟ้าหลังฝนริมทะเลอ่าวนาง สนทนาหลากชีวิตในวันกระบี่เดียวดาย

1

แดดทะเลไม่เคยทำให้หงุดหงิด ยิ่งเป็นแดดสุดท้ายของวัน ยิ่งทำให้คลื่นลมใจดี

อ่าวนางช่วงก่อนพระอาทิตย์ตกดินเงียบสงบ – ในที่นี้หมายถึงผู้คนที่นั่งนอนอยู่ริมหาดไม่ได้พูดคุยกันเสียงดังมากนัก บางคู่รักนอนอ่านหนังสือข้างกัน บางหนุ่มผมบลอนด์นั่งดื่มเบียร์ขวดเล็กเพียงลำพัง เสียงคลื่นซัดฝั่งเป็นตัวควบคุมบรรยากาศของที่นี่อย่างเบ็ดเสร็จเด็ดขาด แต่ถึงอย่างนั้นก็ยังมีเสียงเพลงแว่วมาจากบาร์ริมหาดที่เริ่มเปิดทำการ – ที่นี่ไม่มีใครรีบไปทำธุระ

ถ้าจะมีอะไรสักอย่างที่เป็นธุระ ก็คงเป็นการหามื้อค่ำและเบียร์เย็นๆ มาดื่มแกล้มทะเล

ประเมินจากจำนวนร้านอาหารกับจำนวนนักท่องเที่ยวที่เดินอยู่บริเวณอ่าวนางแล้วไม่ค่อยสัมพันธ์กันมากนัก ร้านรวงและผับบาร์มีอยู่หลายร้อยร้าน เต็มที่ก็รับนักท่องเที่ยวได้หลายพันคนจนถึงหลักหมื่น แต่เท่าที่ดูด้วยสายตา มีนักท่องเที่ยวอยู่แค่หลักร้อยเท่านั้น ซึ่งไม่แปลก เพราะกระบี่เพิ่งเปิดรับนักท่องเที่ยวเมื่อไม่นานนี้ หลังจากต้องปิดไปนานจากภาวะโรคระบาด หรืออาจเป็นไปได้ว่ามนุษย์ค้างคาวยังไม่ตื่นจากการหลับใหล และสุราที่สั่งสมจากเมื่อคืนยังไม่หมดฤทธิ์

ถ้าจะใช้อะไรตัดสินใจเลือกเข้าสักบาร์ ก็คงเป็นเสียงเพลง แสงในร้าน และเครื่องดื่มในตู้ที่ถูกจริต บังเอิญที่บาร์ตรงหัวโค้งอ่าวนางมีทุกอย่างที่ว่ามา

Puff, the magic dragon

Lived by the sea

And frolicked in the autumn mist

In a land called Honalee

ท่อนร้องจากเพลง Puff, The Magic Dragon ของ Peter, Paul & Mary แว่วออกมาจากในร้าน โต๊ะกลมและเก้าอี้หวายยังว่างอยู่ทุกโต๊ะ หน้าร้านเปิดรับทะเล โถงปูนเปลือยเปิดโล่งไร้กำแพง หลังบาร์เปิดไฟสีส้มส่งสัญญาณว่าพร้อมให้บริการ บาร์เทนเดอร์ผมทรงสกินเฮดกำลังง่วนอยู่กับการเช็ดแก้ว เขาสวมเสื้อขาวล้วนทับด้วยเชิ้ตลายสก็อตสีฟ้า บุคลิกของเขาทำให้ความเร่งรีบกลายเป็นเรื่องหยาบคาย

เบียร์ขวดแรกมาเสิร์ฟที่โต๊ะก่อนพระอาทิตย์ลับขอบฟ้าไม่กี่นาที

เพลงในร้านไม่มีเพลงไหนไม่เพราะ ยิ่งเปิดยิ่งดี และถ้าจะมีอะไรสักอย่างกระตุ้นการสั่งเบียร์ขวดที่สอง สิ่งนั้นย่อมเป็นฝีมือของอีริก แคลปตันและเดอะอีเกิลส์อย่างไม่ต้องสงสัย

ไม่นาน หญิงต่างชาติสองคนมานั่งในร้าน พวกเธอยิ้มมาแต่ไกล เข้ามาสั่งค็อกเทลคนละแก้วอย่างคล่องแคล่ว – ไม่ต้องเดาให้ยากว่าไม่ใช่ครั้งแรกที่มาที่นี่ สำเนียงภาษาอังกฤษแบบไม่ออกเสียงตัวทีของพวกเธอทำให้กระบี่กลายเป็นลอนดอน

ได้ยินเสียงแว่วๆ ว่าพวกเธอเรียกบาร์เทนเดอร์ว่า “Guy.” แต่พอฟังครั้งที่สอง ดูเหมือนว่าพวกเธอพยายามจะออกเสียงวรรณยุกต์ในภาษาไทย แต่ลิ้นไม่ไปตามใจคิด

“เขาอยากเรียกผมว่าไก่” บาร์เทนเดอร์หันมาตอบคำถามโดยไม่จำเป็นต้องเอ่ยปากถาม “ผมชื่อไก่” เขาขยายความ ว่าแล้วก็วางเมนูอาหารลงบนโต๊ะให้

สำเนียงทองแดงของเขาเป็นกันเอง หลังจากที่คุยกับลูกค้าต่างชาติเป็นภาษาอังกฤษอย่างคล่องแคล่ว จากบาร์เทนเดอร์หน้าเข้มก็กลายเป็น ‘พี่ไก่’ ที่มีรอยยิ้มพรายในตอนนั้นเอง

“เขาคือสุดยอดบาร์เทนเดอร์ในกระบี่” คือประโยคแรกๆ ที่หญิงวัยกว่า 50 ปีสองคนพูดกับฉัน หลังจากเราแนะนำชื่อและบ้านเกิดกันเรียบร้อยแล้ว – แน่นอน นั่นหลังจากที่เราชนแก้วไปสองสามครั้ง

เดาไม่ผิด เคเรนและเอลลีนมาจากลอนดอน พวกเธอหยุดงานกว่าหนึ่งเดือนเพื่อมาเที่ยวไทย ใช้เวลาที่อ่าวนางมาแล้วประมาณ 5 วัน “แต่ยังตื่นเต้นกับพระอาทิตย์ตกที่นี่อยู่เลย” เคเรนพูดด้วยเสียงสดใส และย้ำอีกครั้งด้วยประกายแววตา

พี่ไก่ยืนยันการเป็นสุดยอดบาร์เทนเดอร์ในกระบี่ด้วยการเสิร์ฟอาหารเครื่องดื่มอย่างถูกจังหวะเวลา และขยับแก้วเทียนให้ได้องศาที่ลมพัดไม่ถึง – กับที่อื่นไม่รู้เป็นอย่างไร แต่ที่นี่พี่ไก่รับผิดชอบจังหวะของตัวเองได้ดีเยี่ยม

ไม่แน่ใจว่าจรวดนาซ่าหรือค่ำคืนที่เมามาย อะไรผ่านไปรวดเร็วกว่ากัน แต่ที่แน่ๆ ค่ำคืนนี้ข้ามจากเบียร์ไปเป็นเหล้าช็อตอย่างไม่ทันรู้เนื้อรู้ตัว ในตอนที่ร้านใกล้ปิด เคเรนและเอลลีนขอตัวกลับไปนอน ทิ้งท้ายไว้ว่า “เจอกันพรุ่งนี้” ซึ่งพวกเธอหมายความตามนั้นจริงๆ

ฉันและช่างภาพย้ายไปนั่งตรงเก้าอี้สูงหน้าบาร์ ตรงนั้นเหลือเพียงคริส ชายอเมริกันจากดีซีที่เมามายและจะฝึกพูดคำว่า “ยินดีที่ได้รู้จัก” เป็นภาษาไทยให้ได้

ระหว่างกำลังเก็บร้าน พี่ไก่ดูผ่อนคลายมากขึ้น แน่ละ นี่คนกำลังเลิกงาน จะมีอะไรรื่นเริงใจไปกว่านี้

“ผมเป็นคนกระบี่ เกิดอ่าวลึก ทำงานที่นี่มา 14 ปีแล้ว” พี่ไก่เล่าพลางเก็บแก้ว คำว่า ‘ที่นี่’ หมายถึงเขายืนอยู่หลังเคาน์เตอร์บาร์นี้มาเกินทศวรรษ ถ้าไม่กลัวว่าแก้วจะแตก ก็คงหลับตาทำงานได้แล้ว

พี่ไก่ทำงานมาหลายที่ ทั้งเกาะพีพี ภูเก็ต ป่าตอง พังงา ฯลฯ เริ่มต้นทำงานร้านอาหารตั้งแต่อายุ 16-17 หลังออกจากการเรียน ปวช. กลางคัน จากภาษาอังกฤษไม่กระดิก กลายเป็นพูดคล่องและฟังลูกค้าได้ทุกสำเนียง เมื่อสั่งสมประสบการณ์ได้ที่ ค่อยมาเริ่มทำงานที่บาร์อ่าวนางตอนอายุ 22 ปี

“ตอนแรกไม่ชอบภาษาอังกฤษเลย แต่เราอยู่ร้านทุกวัน ได้ภาษามาเอง บางทีไปนั่งกินเหล้าคุยกับลูกค้าก็ซึมซับมา ใครบอกกินเหล้าไม่ดี ดีหลายอย่างนะ” พี่ไก่พูดจบแล้วส่งยิ้ม ท่อนจบนี้เรียกเสียงฮาได้พอควร

“อยู่ที่เดิมมาตั้งนาน ไม่เบื่อบ้างหรือ” ฉันโยนคำถามจากหลังแก้ว

“ผมตื่นเต้นหมดน่ะ ที่นี่ไม่เหมือนกันทุกวันนะ” พี่ไก่ย้ำเสียงจากหลังบาร์ “ทุกอย่างเปลี่ยนหมดแหละ เมื่อก่อนดวงอาทิตย์อยู่หลังเขา พอมาอีกปีมันขยับมาใกล้ขึ้น ดวงอาทิตย์เลื่อนทุกปี”

กลัวไม่เชื่อ เขาเปิดโทรศัพท์ให้ดูรูปพระอาทิตย์ตกของแต่ละปี “ผมถ่ายเวลาเดียวกันของวันเดียวกันทุกปี มันเลื่อนจริงๆ”

จริงอย่างว่า จากพระอาทิตย์หลังเขาใน 2 ปีที่แล้ว กลายเป็นขยับมาใกล้ขึ้นในปีที่แล้ว นาฬิกาบอกตรงกันที่ 18.22 น.

“น่าอิจฉา ได้มองพระอาทิตย์ตกริมทะเลทุกวัน” ฉันว่า พี่ไก่ยิ้มตอบ ในมุมปากนั้นมีท่าทีผู้ชนะ

“อีกอย่างนะ นักท่องเที่ยววนมาที่นี่เยอะ ลูกค้าเขากลับบ้านไป บอกว่าเดี๋ยวเจอกันอีกนะปีหน้า แต่ถ้าเราไม่อยู่ เขาจะเจอเราอย่างไร ต้องคิดถึงใจลูกค้าด้วย บางคนกลับประเทศไปทำงานหนักมาก แล้วกลับมาเที่ยวไทยเป็นเดือน เขากลับมาหาเราจริงๆ ความรู้สึกนี้สุดยอดนะ หาไม่ได้แล้ว” พี่ไก่เล่า

ระหว่างพูดคุย คริสที่ยังนั่งอยู่ใกล้ๆ ยังสั่งเบียร์ต่อเนื่อง เขาถอดใจกับคำว่า “ยินดีที่ได้รู้จัก” ไปแล้ว แต่พูด “ขอบคุณครับ” เป็นภาษาไทยทุกครั้งที่พี่ไก่ยื่นเบียร์ให้ ในช่วงพักการคุยเรื่องชีวิต คริสคุยเรื่องเหล้ากับพี่ไก่ไปเรื่อยเปื่อย

“ผมชอบคุยกับไก่” เขาบอก พี่ไก่ยิ้ม เดาว่าคงได้ยินคำพูดประมาณนี้มาจนชิน

ยิ่งนานยิ่งผ่าน เสียงคลื่นดังแข่งกับเสียงเพลง ไม่มีใครคว่ำกันลง

“อ่าวนางตอนนี้ถือว่ากลับมาปกติหรือยัง” ฉันถาม หลังจากบทสนทนาเงียบไป

“ยังเงียบอยู่เยอะ คนมาเที่ยวไม่เหมือนแต่ก่อนนะ เมื่อก่อนคนมาสนุกสนาน เที่ยวกินไม่คิดมาก แต่ตอนนี้เที่ยวแล้วคิดถึงเงิน จะกินอะไรคิดแล้วคิดอีก ฝรั่งประหยัดกว่าคนไทยอีก บางทีสั่งเบียร์ขวดเดียวกินสองคนก็มีนะ แต่เราก็เข้าใจ เพราะเขาก็ต้องคิดเรื่องค่าใช้จ่ายช่วงเศรษฐกิจไม่ดี” พี่ไก่เล่ายาว พร้อมรินเหล้าให้อีกช็อต

ช่วงโควิด ทุกร้านปิดเงียบเพราะล็อกดาวน์ ในช่วงเวลาแบบนั้น พี่ไก่ต้องกลับบ้านที่อ่าวลึกไปทำสวน แบกปาล์ม และตัดหญ้า ในขณะที่ร้านรวงตรงบริเวณอ่าวนางกลายเป็นคนแปลกหน้าไปช่วงหนึ่ง

“ตอนโควิดมา อ่าวนางเงียบมาก ผีหลอกเลย ช่วง 3-4 ทุ่ม ไม่มีรถวิ่งสักคัน มีแต่แสงจากรถตำรวจวิ่งตรวจ มืดไปหมด บาร์ปิดเงียบ เหมือนอยู่ในป่าช้า” พี่ไก่เล่าจริงจัง

ช่วงกลับไปทำสวน เขาได้รายประมาณวันละ 400-600 บาท และได้เงินเยียวยาจากประกันสังคมประมาณเดือนละหมื่นบาท ทำให้ยังพอพยุงชีวิตตัวเองและครอบครัวไปได้

“งานทำสวนทำปาล์มก็ดีนะ โอเคอยู่ แต่ผมไม่ชอบ ผมอยากเจอคนมากกว่า” พี่ไก่ว่า

ไม่ใช่แค่พี่ไก่หรืออาชีพบาร์เทนเดอร์เท่านั้นที่ต้องกลับบ้านในช่วงการระบาด แต่อาชีพอื่นๆ ที่อยู่ในอุตสาหกรรมท่องเที่ยวก็ต้องกลับบ้านตัวเองเช่นกัน ทั้งหมอนวด คนขับสามล้อ คนขับเรือ พ่อครัว แม่บ้านโรงแรม ไม่เว้นแม้แต่คนเลี้ยงช้าง หลายคนยังไม่ได้กลับมา และอาจไม่กลับมาอีกเลย แม้ว่าธุรกิจท่องเที่ยวจะเริ่มกลับมาเปิดอีกครั้งก็ตาม

“หลายคนที่ผมรู้จักไม่ได้กลับมา ธุรกิจท่องเที่ยวต้องฟื้นตัวจริงๆ ก่อน เขาถึงกลับมาได้ เพราะกลับมาตอนนี้ก็ทำได้ไม่เต็มที่ เขาต้องสแตนด์บายอยู่ที่ร้าน แต่ทั้งวันไม่มีลูกค้า จะให้เขามานั่งทำอะไร กลับบ้านไปทำไร่ทำสวนดีกว่า” พี่ไก่ว่า เพราะแม้แต่บาร์ที่พี่ไก่ดูแลอยู่ก็ยังไม่ถือว่ากลับมาคึกคักเท่าที่ควรจะเป็น

“เมื่อก่อนโต๊ะใกล้กันกว่านี้ ดึกๆ มา นักท่องเที่ยวรวมโต๊ะกัน ร้องเพลง ชนแก้ว คนละบรรยากาศกับตอนนี้เลย” พี่ไก่เล่า

บทสนทนาเคลื่อนตัวไวและไหลลื่น จนคริสอยากเข้าร่วมบทสนทนาด้วย เราคุยกันตั้งแต่เรื่องการกระดกลิ้นพูด ร.เรือ การสั่งแต่เบียร์ช้างของคนต่างชาติ ไปจนถึงการผูกขาดเบียร์ในประเทศไทย – ดูเหมือนคริสจะรู้ดีกว่าเรา

หลังจากความเมามายทำท่าจะเกินอัตราและความหิวเดินทางมาเยือน พี่ไก่ก็เอ่ยปากชวนไปร้านอาหารอีสานใกล้ๆ ส่วนคริสขอแยกตัวไปนอน

“ผมจะพูดคำว่า ‘ยินดีที่ได้รู้จัก’ ร้อยครั้งหน้ากระจก แล้วกลับมาเจอกันพรุ่งนี้” คริสทิ้งท้ายอย่างแน่วแน่ เราทุกคนหัวเราะอย่างพึงใจ

ห่างกันไม่ไกล จากบาร์ริมหาดสู่ซุ้มร้านอาหารอีสาน – คอหมูย่าง ส้มตำ เสือร้องไห้ ทยอยวางลงบนโต๊ะไม้ไผ่ ที่นั่นไม่มีนักท่องเที่ยวต่างชาติ ดูเหมือนจะเป็นร้านประจำของคนในพื้นที่ พี่ไก่คุ้นเคยกับเจ้าของร้านเป็นอย่างดี ซื้อบรั่นดีมาหนึ่งขวด รินผสมโซดา ดื่มรวดเดียวหมดแก้ว และเดินไปเปิดเพลง

เราคุยเล่นกันว่า ที่บาร์พี่ไก่เปิดอีเกิลส์ แต่ที่นี่เขาเปิดอีเกิ้ง – เพลงกอดเสาเถียงดังสนั่นทั่วร้าน และไม่ว่าบ้านเกิดเขาจะอยู่ที่กระบี่ แต่ท่อนฮุกที่ร้องว่า “น้ำตาตกลงโจก จักโบกมันจังสิพอ พอสิฆ่าคนจั่งมึงให้ตายไปจากใจ” ฉันสาบานว่า สำเนียงอีสานของพี่ไก่ชัดกว่าฉันที่เป็นคนขอนแก่นเสียอีก

“หลังเลิกงาน พี่ไก่ชอบมานั่งที่นี่ บางทีสั่งเบียร์มากินคนเดียวสองขวดแล้วค่อยกลับบ้าน” เจ้าของร้านสาวเล่าให้ฟัง

อยู่ที่ร้านส้มตำ พี่ไก่กลายเป็นหนุ่มใต้อารมณ์ดีเต็มตัว มีอยู่หนึ่งช็อตที่เขาจุดใบจากขึ้นสูบ หลังจากนั้นก็ไม่พูดไม่จากับใคร ฉันถามว่า ใบจากสรรพคุณเป็นอย่างไร ช่วยให้กระชุ่มกระชวยหรือมึนเมา พี่ไก่ยังเงียบและตั้งใจสูบต่อไป คนในโต๊ะรอฟัง เมื่อฉันถามซ้ำอีกรอบ พี่ไก่กำลังจะเอ่ยปากตอบ ไฟปลายมวนก็ดับลงทันที

“นี่เห็นไหม เลยไม่อยากพูดไง ใบจากเขาไม่ให้พูดสรรพคุณ”

“เพราะมันศักดิ์สิทธิ์มาก?”

“เพราะไฟจะดับนี่แหละ ปัดโธ่”

ฯลฯ

เวลาล่วงเลยมาจนนาฬิกาไม่สำคัญ และดูเหมือนบทสนทนาจะไม่มีวันจบลง แต่ด้วยการงานพื้นฐานอาชีพที่รออยู่วันพรุ่งนี้ เราจึงตัดสินใจร่ำลากันชั่วคราว

“พรุ่งนี้ไปที่บาร์อีกสิ มีดนตรีสด นักร้องหญิงเล่นโฟลกซอง น่าฟังนะ” พี่ไก่ชวนทิ้งท้าย

ไม่มีเหตุผลที่จะไม่ไป

2

พี่ไก่มาเปิดร้านตอนเที่ยงตรง สวมเสื้อเชิ้ตสีฟ้าลายสก็อตตัวเดิม เข้าใจว่านี่คงเป็นเครื่องแบบที่เขาตั้งใจเอง ฉันและช่างภาพสั่งกาแฟที่บาร์เพื่อความกระชุ่มกระชวย และตั้งใจจะล่องเรือเที่ยวเกาะในช่วงบ่าย

“ไปหาดไร่เลย์สิ แล้วก็ไปถ้ำพระนาง มาถึงอ่าวนางต้องไปถ้ำพระนาง อย่าลืมไปดูปลัดขิกด้วย” พี่ไก่ว่า

หลังกาแฟหมดแก้วและน้ำเปล่าหนึ่งขวด เราลุกไปซื้อตั๋วเรือเพื่อไปหาดไร่เลย์ เรือรับรอบละ 8 คน ครบเมื่อไหร่เรือออกทันที เราเป็นสองคนสุดท้ายพอดี บนเรือเป็นนักท่องเที่ยวต่างชาติล้วน และเราทั้งหมดล้วนเป็นคนหนุ่มสาว

ใช้เวลาแล่นเรือไม่นาน หาดไร่เลย์ก็ปรากฏในครรลองสายตา ผู้คนหลายสิบชีวิตนอนบนหาดทรายและเล่นน้ำอย่างสบายอกสบายใจ หาดทรายสีขาวนวลละเอียดทำหน้าที่เป็นเบาะเอนหลังสมบูรณ์แบบ นักท่องเที่ยวหลายคนนั่งกินเบียร์ตั้งแต่หัววันในบาร์มุงจาก – ถ้าใครสักคนอยากสร้างสวรรค์ สิ่งแรกที่เขาควรทำคือมาดูงานที่หาดไร่เลย์

หลังเดินสำรวจที่หาดจนทั่ว พวกเราก็มาเจอซุ้มนวดที่มีคุณป้าหมอนวดอยู่ 4-5 ชีวิต มีชายต่างชาตินอนให้นวดขาอยู่หนึ่งคน

“นวดมั้ยลูก ชั่วโมงละ 300” คุณป้าทักทายพวกเรา ฉันยิ้มและบอกว่าขอเดินไปดูถ้ำพระนางก่อนแล้วจะกลับมา

“เดินครึ่งชั่วโมงเลยนะนั่น” คุณป้าว่า

“พอดีแหละ เดินเมื่อยแล้วกลับมานวดอีกรอบ” ฉันว่า ก่อนมุ่งหน้าสู่ถ้ำพระนาง ถัดเข้าไปหลังหาด เต็มไปด้วยร้านรวงผับบาร์ตลอดสองข้างทาง แม้จะมีนักท่องเที่ยวอยู่เยอะ แต่เมื่อมองด้วยสายตา ร้านค้าก็ยังมีปริมาณมากกว่าคนที่อยู่ที่นั่นอยู่ดี จินตนาการภาพได้ไม่ยากว่า ในช่วงพีกๆ ผู้คนจะท่วมท้นล้นหลามขนาดไหน

“นาฬิกาผมเตือนว่าพายุจะมา” ช่างภาพหนุ่มเอ่ยปากระหว่างกำลังเดิน พร้อมโชว์นาฬิกาให้ดู ฉันเงยหน้ามองฟ้า ตอนนั้นฟ้ายังกระจ่างใส เราเดินไปจนถึงถ้ำพระนางที่มีปลัดขิกวางอยู่ทั่วบริเวณ นักท่องเที่ยวต่างชาติหลายคนนั่งเล่นอยู่แถวนั้น

เราง่วนอยู่ตรงนั้นไม่นานก็ตัดสินใจเดินกลับมาหน้าหาด ระหว่างขากลับนั้นเองที่ฟ้าร้องสนั่น ก่อนที่ฝนจะเทลงมาไม่ลืมหูลืมตา จากที่ทุกคนเดินเล่นเหมือนวันเวลาไม่มีวันหมดก็กลายเป็นวิ่งหาที่หลบฝนกันจ้าละหวั่น พวกเรามาเจอร้านอาหารตรงหัวมุมพอดีและวิ่งเข้าร้านพร้อมๆ กับหนุ่มสก็อตแลนด์และสาวฝรั่งเศส

“ดื่มไหม!” หนุ่มสก็อตแลนด์พูดเสียงดังฟังชัดกับสองสาว หลังจากนั่งลงบนโต๊ะ โดยไม่ได้วางแผนมา พวกเขาสั่งเบียร์ขวดเล็กกันคนละขวด และพยายามสอนภาษาให้กันและกัน – เช่นเดียวกับที่ฉันและช่างภาพไม่มีทางเลือกอื่น นอกจากสั่งเครื่องดื่มเย็นๆ แกล้มฝน ประโยคแรกที่ฉันถามช่างภาพคือ “ซื้อนาฬิกาที่ไหน”

เวลาล่วงเลยพอสมควร ฝนยังตกปรอยๆ อยู่ เราตัดสินใจตากฝนเดินกลับมาขึ้นเรือ ร้านนวดของคุณป้าที่เราตั้งใจจะกลับมาก็ต้องเก็บเพื่อหลบฝน คำสัญญาที่ว่าจะกลับมานวดหายไปพร้อมพายุ เราขึ้นเรือกลับอ่าวนางทั้งที่ฟ้ายังเป็นสีเข้ม ฝนตกเบาลงเรื่อยๆ จนหายไปหมดฟ้าตอนที่เราถึงชายหาดอ่าวนาง

ร้านค้ายังเปิดไม่เต็มที่ตอนที่เราไปถึง บรรยากาศฟ้าหลังฝนที่อ่าวนางเหงาและเย็น เรามุ่งหน้าไปที่บาร์พี่ไก่ด้วยความหิวโหย สั่งข้าวมาคนละจาน และดื่มรอดนตรีสดที่จะมาถึงตอนหัวค่ำ

ไม่นานเกินรอ นักดนตรีสาวในชุดเดรสสีขาวก็มาถึงพร้อมกีตาร์หนึ่งตัว เธอเทสต์ไมค์และลำโพง แว่วเสียงพูดใต้กับพี่ไก่ ก่อนหายตัวไปก่อนดนตรีจะเริ่มแสดง ทั้งร้านมีลูกค้าแค่หนึ่งโต๊ะ คือฉันและช่างภาพ

ไม่นานเกินรอเช่นกัน เคเรนและเอลลีนก็มาตามนัด พวกเธอเพิ่งกลับมาจากหาดไร่เลย์ ผิวหน้าเป็นสีแดงเพราะเจอแดด และสั่งค็อกเทลคนละแก้วเหมือนเคย

หนึ่งทุ่มตรง กีตาร์จากปลายนิ้วของนักดนตรีก็ดังขึ้น เสียงทักทายนักท่องเที่ยวในร้านและคนที่เดินผ่านไปมาทำให้บรรยากาศเหนอะฝนนั้นสดชื่นขึ้นทันตา ลูกค้าทยอยเข้าร้านมาเรื่อยๆ จนที่นั่งเกือบเต็ม บรรยากาศแตกต่างจากเมื่อวานเห็นได้ชัด

จังหวะที่เพลง Don’t Look Back In Anger ของโอเอซิสดังขึ้นนั่นแหละ ที่เคเรนและเอลลีนร้องตามอย่างมีความสุข เราชนแก้วกันซ้ำๆ เพื่อแสดงออกถึงความพออกพอใจ ในจังหวะที่ความสุขกำลังบ่มตัวเองได้ที่ ก็มีหนุ่มสาวเดินผ่านมาและเต้นรำกันตรงนั้น

“หาซื้อที่ไหนได้ ภาพแบบนี้” ช่างภาพที่ปกติเป็นคนพูดน้อยถึงกับออกปาก ฉันเห็นด้วยอย่างที่ไม่รู้จะเห็นด้วยกว่านี้ได้อย่างไร

“นี่ถือว่าคึกคักใกล้เคียงภาพเมื่อก่อนนะ แต่ก็ยังไม่ถึง” พี่ไก่ว่า

บาร์กลายเป็นคอนเสิร์ตย่อมๆ เห็นคนแอบซื้อเบียร์ขวดมานั่งกินริมฟุตบาธ แต่ไม่ได้เข้ามานั่งในร้าน เราโยกหัวไปกับเพลงเดียวกัน และตะโกนท่อนฮุกไปพร้อมๆ กัน ไม่ต้องการอะไรมากไปกว่านี้

จบรอบเล่นดนตรี นักดนตรีลงมานั่งกับพวกเรา จากนักดนตรีสาวโฉบเฉี่ยว กลายเป็นคนเฮฮาและน่ารักเมื่อได้พูดคุยกัน เธอแนะนำตัวเองว่าชื่อ ‘ฟลุ๊ค’

“เล่นดนตรีมาสิบปี วันนี้รู้สึกเหมือนเพิ่งทำงานวันแรก” ฟลุ๊คว่า

เธอเกิดที่พังงา แต่ไปอยู่กรุงเทพฯ ตั้งแต่เด็ก เติบโต เรียนหนังสือ และประกอบอาชีพนักดนตรีที่เมืองหลวงมาตลอด ก่อนที่จุดเปลี่ยนในชีวิตจะมาถึง เมื่อแม่เพิ่งเสียชีวิต และเธออยากจะลองหาเส้นทางใหม่ๆ ให้ชีวิตตัวเอง หลังจากเล่นดนตรีตามร้านและงานเลี้ยงส่วนตัวมาตลอด – หลายคนอาจมองเป็นเรื่องเล็ก แต่ก้าวใหม่ในชีวิตเธอคืออยากเล่นกีตาร์และร้องเพลงด้วยตัวคนเดียว แน่นอน เธออยากร้องเพลงสากล และเพลงที่ไม่ใช่เพลงฮิตติดตลาด จนตัดสินใจกลับมาที่กระบี่และวนหาร้านเพื่อสมัครร้องเพลง คืนนี้เป็นคืนแรกในก้าวใหม่ของเธอ

“วันนี้ช่วงเบรกแรกเราเกร็งอยู่นะ เพราะไม่ได้เล่นคนเดียวมานานมาก แล้วต้องเล่นคนเดียวสามเบรก ที่ยากคือต้องเล่นเพลงสากลและพูดภาษาอังกฤษ เครียดมากจนต้องโทรหาพ่อ พ่อพูดมาคำหนึ่งว่าอย่าเพิ่งคิดเรื่องข้างหน้า คิดแค่ว่าเราทำแล้วมีความสุข ทำไปเลย ตอนนั้นเหลือเวลาอีก 10 นาทีต้องขึ้นเล่นแล้ว จำความรู้สึกได้เลย

“คนอื่นคงมองว่าเรื่องเล็กมากเลย มาเล่นที่นี่ได้เงินเท่าไหร่ ไม่ได้หวือหวา ไม่ได้เป็นคอนเสิร์ตด้วยซ้ำ แต่เรารู้สึกว่า 10 ปีที่เล่นดนตรีมาวันนี้โคตรมีความสุขเลย ยิ่งใหญ่มาก พึ่งตัวเองร้อยเปอร์เซ็นต์ วันแมนโชว์” นี่นับเป็นเรื่องเล่าที่ไม่มีอะไรจริงใจไปกว่านี้

“สำหรับเรา ดนตรียิ่งใหญ่มาก ดนตรีเชื่อมให้คนไม่สนิทกันมารักกัน ทำให้คนที่ไม่รู้จักกันตกหลุมรักกันก็ได้” ฟลุ๊คเน้นคำ

“เรารู้สึกว่าเราเกิดมาเพื่อเล่นดนตรี เคยจะทิ้งหลายรอบก็ทิ้งไม่ได้ ร้องเพลงตั้งแต่เด็ก ชอบไปเอง นึกไม่ออกว่าตัวเองอยากทำอะไรถ้าไม่เล่นดนตรี เคยลองทำอย่างอื่นแล้ว แต่สุดท้ายเรามีแพสชันกับสิ่งนี้ เราเริ่มต้นมาจากร้องคาราโอเกะที่ร้านลาบ ร้อง 2 ชั่วโมงได้เงิน 300 บาท วันหนึ่งเราได้เงิน 600 บาท หักค่ารถกลับบ้านเหลือ 300 บาท อยู่บ้านกับแม่สองคนที่กรุงเทพฯ เคยได้ทิป 6,000 บาท เอามาแบ่งแม่ ดีใจมากสำหรับนักร้องร้านลาบ ต้องขอบคุณร้านลาบเพราะทำให้เราได้เพลงเยอะมาก”

จากนักร้องร้านลาบ ฟลุ๊คค่อยๆ เข้ามาสู่เส้นทางนักดนตรีอาชีพตอนเรียนมหาวิทยาลัย ค่อยๆ มีสังคมนักดนตรี และขยับการเล่นไปเรื่อยๆ จนสามารถดำรงอาชีพด้วยการเป็นนักดนตรีได้จริง เมื่อปีที่แล้วเธอได้ไปร่วมร้องเพลงกับวงอีสานฟิวชันในเพลง ฮักเด้อ และเรียกเสียงฮือฮาจากคนฟังได้จำนวนมาก

ชีวิตนักดนตรีที่กำลังเดินหน้า ต้องเผชิญภาวะยากลำบาก เมื่อก่อนหน้านี้ช่วงที่รัฐบาลประกาศล็อกดาวน์ สั่งปิดผับบาร์ นักดนตรีกลายเป็นอาชีพแรกที่ได้รับผลกระทบ และดูเหมือนว่าจะได้รับผลกระทบยาวนานกว่าใครเพื่อน เพิ่งจะลืมหูลืมตาได้เมื่อไม่นานมานี้ โชคดีหน่อยที่ฟลุ๊คยังมีเงินเก็บจากงานร้องเพลงมากว่าสิบปี แต่ถึงอย่างนั้นในช่วงที่ไม่มีงาน ฟลุ๊คต้องไปขายของออนไลน์เหมือนเพื่อนนักดนตรีคนอื่น

“เรามีเพื่อนที่เล่นผับเยอะมาก พอรัฐสั่งปิดเราก็ไม่มีหนทางทำอะไรได้เลย แล้วเบื่อมากที่คนภายนอกบอกว่าทำไมไม่หาอย่างอื่นทำนอกจากเล่นดนตรี ก็เราบอร์นทูบี เราเรียนจบมาเพื่อเป็นสิ่งนี้ ซึ่งพอมาขายของออนไลน์ ก็ต้องไปแข่งการตลาดกับคนที่เป็นแม่ค้า ซึ่งก็ทำได้เท่าที่ทำ รัฐบาลควรช่วยเราบ้าง ภาษีเอาไปเท่าไหร่ เอาไปทำสิ่งที่ไม่จำเป็น ซึ่งเราช่วยตัวเองมาสองปีแล้ว เงินค่าตรวจโควิดและค่าอื่นๆ เราพึ่งตัวเองทั้งนั้น ในขณะที่ค่าครองชีพสูงมาก แต่ค่าแรงรายวันเราต่ำมาก” ฟลุ๊คเล่าชีวิตนักดนตรีในช่วงที่ไม่มีงานให้ฟังอย่างเข้มข้น

ในวันนี้ที่ธุรกิจท่องเที่ยวเริ่มกลับมาแล้ว แต่หลายที่ก็ยังไม่ให้เล่นดนตรีสด เพราะกังวลว่าอาจเป็นจุดเริ่มต้นของการระบาดอีกครั้ง แต่เมื่อดูจากตัวเลขก็เห็นว่า แม้จะปิดผับบาร์และงดดนตรีสดไปแล้ว ตัวเลขการระบาดก็ไม่ได้มีทีท่าจะลดลง

“ถ้าเราอยากให้ธุรกิจท่องเที่ยวฟื้น เราต้องมาดูก่อนว่าธุรกิจท่องเที่ยวพ่วงกับดนตรีอยู่แล้ว ถามว่าคนมาเที่ยวเขามานั่งทำอะไร นั่งเหงาๆ จิบกาแฟหรือ ไม่มีทาง หรือถึงมาจิบเบียร์ แต่ให้คุณเอาลำโพงรอบทิศมาเปิดเพลงเลย สุดท้ายคนก็โหยหาดนตรีสด ทุกคนชอบความเรียล อยากได้ยินเสียงที่ออกมาจากคน

“ถามว่าถ้าอยากให้มีการเปลี่ยนโครงสร้างของนักดนตรี ก็อยากให้ภาครัฐและภาคเอกชนหันมาสนใจความสำคัญของนักดนตรีว่าเรามีคุณค่าได้มากกว่านี้” ฟลุ๊คเล่ายาว ก่อนพักรินเบียร์ใส่แก้ว

“นี่เราคุยกันซีเรียสไปไหม” ฟลุ๊คเปลี่ยนน้ำเสียง เราทุกคนหัวเราะ

หลังบทสนทนาอันเข้มข้น เราเริ่มเปิดวงดนตรีอีกครั้ง คราวนี้อันปลั๊กกีตาร์ ช่างภาพของเราเปลี่ยนหน้าที่เป็นมือกีตาร์ ส่วนฟลุ๊ควอร์มคอรอร้องเพลง ไม่แน่ใจว่าใครขอเพลงนี้ – ฉัน หรือพี่ไก่ แต่เพลง สาวรามฯ ยามเย็น ก็บรรเลงขึ้นอย่างนุ่มนวลริมทะเลอ่าวนาง

เป็นสำเนียงใต้ที่เพราะที่สุดครั้งหนึ่งที่เคยได้ยินจากหู

3

อ่าวนางช่วงกลางวันเงียบงัน ทั้งที่ถ้าเป็นช่วงก่อนโควิด เดือนพฤศจิกายน-มีนาคมถือเป็นช่วงไฮซีซัน คนที่อยู่กับธุรกิจท่องเที่ยวกระบี่พูดเป็นเสียงเดียวกันว่าคนเยอะจนหาร้านนั่งไม่ได้ และโรงแรมเต็มไปจนถึงในเมือง

หลังผ่านค่ำคืนแห่งเสียงดนตรี ร่างของเราใกล้แหลกสลาย จนต้องเติมแรงด้วยก๋วยเตี๋ยวเนื้อชามใหญ่เป็นมื้อแรกของวัน ก่อนออกมาตระเวนทำความรู้จักกับอ่าวนางตอนกลางวัน ตลอดเส้นทางขับรถ โรงแรมหลายแห่งถอดป้ายลง ประตูบานเฟี้ยมปิดไปกว่าครึ่ง และป้ายให้เช่าติดอยู่ตรงห้องแถวแทบจะสลับห้องต่อห้อง

นับตั้งแต่มีนาคม 2563 เป็นต้นมา มาถึงตอนนี้ก็เกือบ 2 ปีแล้วที่อ่าวนางและกระบี่ยังไม่กลับมาเป็นคนเดิม จากแต่ก่อนคลาคล่ำด้วยแบ็กแพ็กเกอร์จากยุโรป และเป็นที่ท่องเที่ยวยอดฮิตของคนจีนในช่วงหนึ่ง ตอนนี้ถึงแม้จะมีนักท่องเที่ยวกลับมาบ้าง แต่ก็เทียบไม่ได้เลยกับยุครุ่งเรือง

“ตอนนี้ผมให้การท่องเที่ยวกลับมาแค่ 30% จาก 100%” เมฆ เจ้าของโรงแรมแห่งหนึ่งที่อ่าวนางบอกเรา

โรงแรมของเขาเป็นหนึ่งในโรงแรมที่ปิดบานเฟี้ยมสนิท ข้างหน้าเป็นตู้แลกเงินที่พนักงานนอนหลับแทบทั้งวัน เพราะไม่มีลูกค้ามาแลกเงินเลย เมฆปิดโรงแรมมากว่า 2 ปี เคยวางแผนจะกลับมาเปิด แต่เมื่อเจอระลอกเดลตาก็ปิดมาถึงทุกวันนี้

แม้จะอยู่ไกลหาดพอสมควร แต่เขายืนยันกับเราว่า ก่อนหน้านี้ลูกค้าเต็มตลอด “นอนล็อบบี้เขาก็ยอม” เมฆว่า

โรงแรมของเขามี 4 ชั้น แบ่งเป็น 21 ห้องพัก ช่วงโลว์ซีซันราคาอยู่ที่ 600-700 บาท ส่วนไฮซีซันจะขึ้นไปที่ 1,200-1,500 บาท นับว่าเป็นโรงแรม 2 ดาวราคาไม่แพง ที่มีกลุ่มลูกค้าเป็นคนมาเลเซียและยุโรป

“คนจีนกับคนไทยจะไม่ค่อยนอนโรงแรม 2 ดาว เพราะคนจีนเขาเน้นเรื่องใกล้หาด มีลิฟต์ และสระว่ายน้ำ ส่วนคนไทยตั๋วเครื่องบินถูก เลยมาทุ่มกับค่าที่พักแทน กลุ่มเป้าหมายของเราเลยเป็นคนมาเลเซียและยุโรป เขานอนอย่างไรก็ได้ แต่ไปเน้นเที่ยวและกินดื่ม”

เพราะกลุ่มเป้าหมายเป็นคนต่างชาติ ทำให้ช่วงปิดประเทศ โรงแรมของเมฆได้รับผลกระทบหนัก เขาตัดสินใจปิดโรงแรมตั้งแต่ช่วงการระบาดแรกๆ ก่อนที่รัฐบาลจะประกาศมาตรการออกมา เพื่อป้องกันปัญหาใหญ่ที่จะตามมา

“ตอนนั้นผมสั่งปิดให้พนักงานไม่ต้องมาทำงาน แต่ยังจ่ายเงินเดือนทุกคน ซึ่งเขาก็ตกใจ เพราะทุกคนทำงานมา 12 ปีตั้งแต่โรงแรมเปิด ไม่เคยปิดเลย จู่ๆ เรามาประกาศหยุด ตอนแรกผมกะจะปิดชั่วคราว แต่พอสถานการณ์เริ่มร้ายแรงขึ้น ผมเลยตัดสินใจปิดต่อ ผมจ่ายเงินเดือนให้ 4 เดือน ยอมขาดทุน แต่หลังจากนั้นไม่ไหวแล้ว คำนวณจากจำนวนพนักงานและเงินเดือนรวมกันเกือบครึ่งล้าน หลังจากนั้นผมเลยต้องให้ทุกคนออกจริงๆ”

ในฐานะผู้ประกอบการ เมฆเล่าถึงภาระที่เขาต้องรับแรงกระแทก และความรับผิดชอบต่อพนักงานอีกกว่าสิบชีวิต ยังดีว่าหลังจากให้พนักงานออก ยังมีประกันสังคมเข้ามาช่วยจ่ายอีก 6 เดือน เดือนละประมาณ 7,000 บาท ซึ่งหลักจากหมดเงินประกันสังคม ทุกคนต้องหางานใหม่

“ตอนนี้ผมก็ยังติดต่อทางไลน์กันอยู่ คุยกันบ้าง แม่บ้าน พนักงาน เขาก็ไปหาปลา ทำปลาตากแห้ง หรือไปหาอาหารทะเลส่งโรงแช่ เอาอาหารทะเลไปส่งภาคเหนือ อีสาน ส่วนใหญ่ไปทำประมง ปลูกผัก เลี้ยงสัตว์ เพราะที่กระบี่ก็ไม่รู้จะทำอะไร ธุรกิจหลักของกระบี่คือท่องเที่ยว มีบางคนที่ไม่ไหว หางานทำยากช่วงนั้น เราก็ไม่รู้จะช่วยอย่างไร”

เมื่อจำใจต้องปล่อยให้แพแตก สิ่งที่เขาต้องดูแลต่อจากนั้นคือค่าดูแลสถานที่และจ่ายภาษีโรงแรม ทั้งยังมีการโอนเงินให้พนักงานประมาณเดือนละ 500 บาทต่อคน เพื่อให้พวกเขาไปต่อประกันสังคมมาตรา 39 เพื่อให้เงินก้อนในตอนเกษียณไม่หายไปไหน

ช่วงที่ไม่มีรายรับจากโรงแรม เมฆมีรายได้จากการขายของออนไลน์ และเก็บค่าเช่าบ้านและตึกแถว โชคดีที่เขาไม่มีหนี้ จึงยังพอพยุงธุรกิจให้เดินไปได้

โรงแรมของเขาอยู่ในสภาพไร้คนใช้งาน โต๊ะวางกองกันหน้าเคาน์เตอร์ ฉาบไปด้วยฝุ่น ชั้นหนังสือที่มีหนังสือจากทั่วมุมโลกตั้งไว้อย่างเงียบเชียบที่มุมห้อง

“นักท่องเที่ยวอ่านจบแล้วก็ชอบมาทิ้งไว้ ใครมาใครไปก็เวียนหนังสือเรื่อยๆ” เมฆเล่า

เขาพาเดินไปดูห้องพักแม่บ้าน ที่มีผ้าห่มและผ้าเช็ดตัวหลายร้อยผืนวางบนชั้น ไม่มีคนใช้งานมานานแล้ว ภาพถ่ายแม่บ้านนั่งกินเลี้ยงบนโต๊ะอาหารติดอยู่ตรงผนัง – วันนี้พวกเขาต้องแยกย้ายกันชั่วคราว และไม่แน่ใจว่าจะได้กลับมาเจอกันอีกไหม

“ผ้าพวกนี้ต้องซื้อใหม่หมด รวมราคาก็เป็นแสน” เมฆเล่าถึงค่าใช้จ่ายที่เขาต้องใช้หากจะกลับมาเปิดอีกครั้ง

ไม่ใช่แค่ผ้าห่มหรือผ้าเช็ดตัว แต่อาคารที่ไร้คนอาศัยย่อมหมายถึงการผุพังทรุดโทรม หากจะกลับมาเปิดโรงแรม เขาก็ต้องลงทุนบูรณะครั้งใหญ่ ซึ่งนั่นหมายถึงเงินหลักล้าน

“ผมคิดว่าตุลาคมปีนี้น่าจะกลับมาเปิดได้แล้ว ตอนนี้รอมาเลย์เปิดประเทศ แต่ก็ต้องดูว่าเขาจะยังมาเที่ยวไหม กำลังซื้อเขาเยอะแค่ไหน ซึ่งส่งผลต่อการตัดสินใจเริ่มปรับปรุงโรงแรมด้วย ส่วนพนักงาน ผมคิดว่าจะเรียกเซ็ตเดิมกลับมาก่อน ใครไม่กลับไม่เป็นไร ค่อยหาใหม่”

จากภาวะยากลำบากที่ทุกคนต้องเผชิญร่วมกัน เมฆเองก็หวังว่ามาตรการจากรัฐอาจช่วยเหลือโรงแรมรายเล็กอย่างพวกเขาได้บ้าง

“คนที่ควรจะเข้ามาช่วยคือรัฐบาล แต่รัฐบาลไม่แยแสรายเล็ก ผมยกตัวอย่างการออกมาตรการ ‘เราเที่ยวด้วยกัน’ โดยไม่ได้คำนึงถึงรูปแบบการเที่ยวของคนไทย คนไทยค่าเครื่องถูก เขาก็เอาเงินไปลงที่พักกับอาหาร เพราะฉะนั้นคนไทยชอบโรงแรมที่อยู่ใกล้หาด มีลิฟต์ มีสระว่ายน้ำ ดังนั้นโรงแรมที่คนไทยชอบไปพักคือ 4-5 ดาว พอเราเป็น 2 ดาว มาตรการนี้ก็ไม่ตอบโจทย์ คุณไปถามได้เลย โรงแรมเล็กบอกเป็นเสียงเดียวกันหมด”

เมฆเสนอว่า อาจลองแบ่งงบจากเราเที่ยวด้วยกันมาช่วยโรงแรมขนาดเล็กให้มีส่วนลดมากขึ้น เพราะตอนนี้กลไกคือรัฐช่วยจ่าย 40% นั่นหมายความว่า ยิ่งโรงแรมราคาแพงเท่าไหร่ ยิ่งลดมากขึ้น ซึ่งควรกลับด้านกันคือ ยิ่งโรงแรมแพงยิ่งควรลดให้ต่ำลง และยิ่งโรงแรมถูกก็ควรลดมากขึ้น จนอาจได้พักฟรี

“อย่างน้อยข้าราชการมาสัมมนา หรือใครมาทำงาน แทนที่จะไปพักโรงแรมหรูๆ เขาก็มาพักโรงแรม 400-500 บาท ก็จะกระตุ้นให้รายเล็กมากกว่า” เมฆว่า

เขาทิ้งท้ายว่า “แต่ถามว่าเจ็บแล้วต้องทำต่อไหม ก็ต้องทำต่อ” เสียงพูดนั้นดังก้องในโรงแรมที่ข้าวของยังวางไม่เป็นระเบียบ

4

ผู้คนในวงจรธุรกิจที่อ่าวนางยังอยู่ตรงนั้น รอคอยให้นักท่องเที่ยวแวะมาและจากไป

หลังจากคุยกับเมฆ เย็นวันนั้นเป็นวันเกิดของเคเรน เธอฉลองวันเกิดที่บาร์พี่ไก่ ตั้งอกตั้งใจอย่างยิ่งที่จะจัดปาร์ตี้วัย 51 ที่นี่

“ปีที่แล้วไม่ได้ฉลองเพราะที่อังกฤษล็อกดาวน์ ปีนี้ฉันตั้งใจมาจัดงานวันเกิดที่ไทย” เคเรนเล่าให้ฟังตั้งแต่คืนก่อน “คุณก็มาด้วยสิ” เธอว่า

ค่ำปาร์ตี้วันเกิดของเคเรน พี่ไก่เป็นคนถือเค้กออกมาจากหลังบาร์ให้เคเรนเป่าเทียนวันเกิด วันนั้นคริสไปด้วย สำเนียงอเมริกันกับคอกนีย์ปนเปกันทำให้ที่ร้านสนุกสนานขึ้นกว่าเดิม

ทันทีที่คริสเจอหน้าฉัน เขาพูดประโยคแรกว่า “โทษที ผมไม่ได้ทำการบ้านมา” คริสหมายถึงการพูด ‘ยินที่ได้รู้จัก’ เป็นภาษาไทยให้ได้ ฉันหัวเราะแล้วบอกไม่เป็นไร ชีวิตยังมีอะไรให้ทำอีกเยอะ

คืนนั้นเป็นคืนสุดท้ายที่อ่าวนาง หลังปิดบาร์ พี่ไก่ ฉัน ช่างภาพ และฟลุ๊ค ไปฟังดนตรีสดที่บาร์ใกล้ๆ วงดนตรีเล่นเพลงร็อก ที่มือกลองสูบบุหรี่ตลอดเวลา ส่วนนักร้องก็เท่เสียจนน่าหมั่นไส้ – แบ่งให้คนอื่นบ้างก็ได้

นักท่องเที่ยวจากต่างมุมโลก ร้องและเต้นอย่างเต็มที่ตรงลานหน้าวงดนตรี พวกเขาตะโกน หัวเราะ และสะบัดแขนขาโดยไม่สนใจว่าตื่นเช้ามาต้องกินยาคลายกล้ามเนื้อไหม

เราปิดท้ายคืนที่อ่าวนางด้วยเบียร์ริมหาด กับฟลุ๊คที่พยายามจะขอให้ชาวประมงออกเรือไดหมึกให้ได้ – ดีใจที่เขาไม่พาไป

5

เช้าวันรุ่งขึ้น เรามุ่งหน้าสู่ลานเลี้ยงช้างที่ห่างจากอ่าวนางไป 20 กิโลเมตร ได้ยินมาว่าธุรกิจพาช้างเดินเล่นต้องหยุดเวลาเอาไว้กว่า 2 ปี โดยคนเลี้ยงช้างไม่ได้ทำอะไรเลยนอกจากให้อาหาร เพื่อรอวันที่นักท่องเที่ยวจะกลับมาอีกครั้ง

ก่อนหน้านี้ที่กระบี่ มีธุรกิจให้นักท่องเที่ยวขี่ช้าง แต่หลังจากการณรงค์อย่างหนักเรื่องการทารุณกรรมสัตว์ และกลุ่มลูกค้าจากยุโรปที่ต่อต้านจริงจัง ทำให้ธุรกิจขี่ช้างกลายเป็นแค่การพาช้างเดินเล่นในคลองเท่านั้น

สำหรับคนไทย ช้างอาจไม่ใช่เรื่องน่าตื่นเต้นอะไร แต่สำหรับชาวยุโรปไม่ใช่

หลังขับรถเลาะหาพักใหญ่ เราก็พบลานเลี้ยงช้าง มีช้างยืนกินใบสับปะรดอยู่สามตัว คนเลี้ยงช้างเดินออกมาจากกระท่อม คนหนึ่งเป็นคนกระบี่ ส่วนอีกคนมาจากสุรินทร์ พวกเขาอยู่เลี้ยงช้างกว่า 2 ปี โดยที่ไม่มีนักท่องเที่ยวเลย

“ไม่ค่อยมีลูกค้าครับช่วงนี้ เพิ่งกลับมาเปิดจากโควิด” คนเลี้ยงช้างเล่าให้ฟัง “แต่เมื่อเช้าก็เพิ่งมากรุ๊ปหนึ่ง โรงแรมพามา” เขาเล่าต่อ

“เดี๋ยวนี้เปิดให้เดินเล่นอย่างเดียว ขอสับช้างก็ห้ามใช้นะ ต้องเอาไปซ่อนไว้ ฝรั่งเขาไม่เอาเลย หาว่าเราทารุณกรรมสัตว์ ตอนนี้ก็ลงคลอง ถ่ายรูป มากันเป็นกลุ่ม เดินทีละชั่วโมง”

คนเลี้ยงช้างเล่าว่า ธุรกิจพาช้างเดินเล่นเป็นสิ่งแรกๆ ที่ต้องปิดไปหลังจากปิดประเทศ พวกเขาต้องอยู่ดูแลไปเรื่อยๆ ก่อน ขณะที่เจ้าของบริษัท หรือที่พวกเขาเรียกว่า ‘นายหัว’ ก็ยังให้เงินเดือนและจ่ายค่าอาหารช้างอยู่ ซึ่งส่วนมากนายหัวจะมีธุรกิจอื่นๆ เช่น โรงแรม ร้านอาหาร ฯลฯ

แม้ตอนนี้นักท่องเที่ยวจะเริ่มกลับมาแล้ว แต่ก็เทียบอะไรไม่ได้เลยกับช่วงที่การท่องเที่ยวกระบี่เฟื่องฟู ซึ่งไม่รู้จะใช้เวลานานเท่าไหร่ถึงจะกลับมาเหมือนเดิม

ก่อนเรากลับ ช้างหนึ่งตัวหันมามองและถ่ายท้องไปหนึ่งที เป็นการลาจากที่งดงามที่สุดครั้งหนึ่ง

6

ระหว่างขับรถกลับ ฉันนึกถึงคืนสุดท้ายที่อ่าวนาง พี่ไก่และฟลุ๊คบอกว่า “แล้วกลับมาอีกนะ” เคเรนและเอลลีนบอกว่า “แล้วเจอกันที่ลอนดอน” ส่วนคริสพูดสั้นๆ ว่า “ทำงานของคุณไปให้ดี”

คืนนั้น กระบี่ไม่เดียวดาย และหวังว่าฟ้าหลังฝนที่อ่าวนางจะสวยงามเหมือนที่เคยเห็น

MOST READ

Life & Culture

14 Jul 2022

“ความตายคือการเดินทางของทั้งคนตายและคนที่ยังอยู่” นิติ ภวัครพันธุ์

คุยกับนิติ ภวัครพันธุ์ ว่าด้วยเรื่องพิธีกรรมการส่งคนตายในมุมนักมานุษยวิทยา พิธีกรรมของความตายมีความหมายแค่ไหน คุณค่าของการตายและการมีชีวิตอยู่ต่างกันอย่างไร

ปาณิส โพธิ์ศรีวังชัย

14 Jul 2022

Life & Culture

27 Jul 2023

วิตเทเกอร์ ครอบครัวที่ ‘เลือดชิด’ ที่สุดในอเมริกา

เสียงเห่าขรม เพิงเล็กๆ ริมถนนคดเคี้ยว และคนในครอบครัวที่ถูกเรียกว่า ‘เลือดชิด’ ที่สุดในสหรัฐอเมริกา

เรื่องราวของบ้านวิตเทเกอร์ถูกเผยแพร่ครั้งแรกทางยูทูบเมื่อปี 2020 โดยช่างภาพที่ไปพบพวกเขาโดยบังเอิญระหว่างเดินทาง ซึ่งด้านหนึ่งนำสายตาจากคนทั้งเมืองมาสู่ครอบครัวเล็กๆ ครอบครัวนี้

พิมพ์ชนก พุกสุข

27 Jul 2023

Life & Culture

4 Aug 2020

การสืบราชสันตติวงศ์โดยราชสกุล “มหิดล”

กษิดิศ อนันทนาธร เขียนถึงเรื่องราวการขึ้นครองราชสมบัติของกษัตริย์ราชสกุล “มหิดล” ซึ่งมีบทบาทในฐานะผู้สืบราชสันตติวงศ์ หลังการเปลี่ยนแปลงการปกครองโดยคณะราษฎร 2475

กษิดิศ อนันทนาธร

4 Aug 2020

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • Always Active

Save