fbpx

โตมากับจอ ตอนที่ 2

ต่อจากตอนที่แล้ว เรามาดูคลิปชุดโตมากับจอ ตอนที่ 4-1 ต่อ

ตอนที่ 4 ออนไลน์คลาสแรก…หัวใจก็แตกสลาย

ตอนนี้เปิดด้วยรายการข่าวทีวีความว่าเด็กฆ่าตัวตายเพราะเรียนออนไลน์ นี่เป็นการสรุปที่ผิด

มิใช่คลิปโตมากับจอที่สรุป เป็นข่าวทีวีที่ยกมาสรุป ที่ควรทราบคือการฆ่าตัวตายเกิดจากสามปัจจัยเสมอคือ พันธุกรรม จิตใจ และสังคม สังคมทำได้อย่างมากคือเป็นตัวกระตุ้น แต่ไม่ถึงกับเป็นสาเหตุโดยตรง (ยกเว้นการปลิดชีพเพื่อคุณค่าบางประการ) การพิสูจน์ว่าเหตุการณ์ใดเหตุการณ์เดียวทำให้คนคนหนึ่งฆ่าตัวตายเป็นเรื่องทำได้ยาก

เหตุที่ยากเพราะเราไปสัมภาษณ์ผู้ตายมิได้

คลิปนี้ให้โอกาสเด็กๆ ได้แสดงตน และพูดว่าการเรียนออนไลน์ทำร้ายพวกเขาอย่างไร ซึ่งเป็นเรื่องที่ทุกบ้านทราบกันดี 

มีเรื่องครูบอกลานักเรียนไปจ่ายตลาด เรื่องนี้มิได้เกี่ยวข้องกับออนไลน์หรือไม่ออนไลน์ เราได้ยินเป็นระยะๆ เรื่องครูไปประชุมทั้งโรงเรียนปล่อยเด็กเล็กๆ อยู่กันเองกับนักการภารโรงที่โรงเรียนตั้งแต่ไหนแต่ไร ครั้งหนึ่งครูฝึกสอนชาวอังกฤษบอกแก่ผมเองว่า “โอ้ มายก้อด ฮาวแคนเดดูแด้ด”

นักเรียนคนหนึ่งในคลิปพูดว่า เรียนออนไลน์ตั้งแต่แปดโมงเช้าถึงบ่ายสามครึ่งไม่รู้เรื่องเลย พอไปเรียนพิเศษจึงรู้เรื่อง นี่ก็มิใช่เรื่องออนไลน์อีก เรารู้เห็นปรากฏการณ์แบบนี้มานานมากแล้ว

เนื้อหาสำคัญตอนนี้เป็นของนักจิตวิทยาในคลิปที่บอกว่า เด็กๆ ไปโรงเรียนเพื่อไปให้คนอื่นบอกเขาว่าเขาคือใคร ต่างจากที่บ้าน ที่พ่อแม่มองเขาเป็นเด็กอยู่เสมอ และบอกเขาอยู่เรื่องเดียวคือเขาต้องเป็นเด็กดีและตั้งใจเรียน ด้วยเหตุผลนี้การเรียนออนไลน์เป็นเวลานานจึงขัดขวางพัฒนาการบุคลิกภาพด้วย – ตรงนี้ดี

นอกจากนี้บ้านส่วนใหญ่คับแคบ เด็กๆ จำเป็นต้องเรียนออนไลน์บนพื้นที่ที่ใครต่อใครในบ้านเดินผ่านไปมา หรือแม้กระทั่งมานั่งกินข้าวร่วมกัน นั่นเท่ากับ ‘เอาพื้นที่ปลอดภัย’ ของพวกเขาไป  ตรงนี้เป็นประเด็น

ตอนที่ 3 ถอดวิชาไร้กระบวนท่า ครูจะบ้าแล้วโว้ย!

คลิปนี้เริ่มด้วยการพาเราไปพบครูหลายคนที่ดิ้นรนสุดฤทธิ์ที่จะทำให้คลาสออนไลน์ของตนดึงดูด ทั้งร้องรำทำเพลง แต่งคอสเพลย์ หรือทำสไลด์มัลติวิชันอย่างแพง แม้ว่าครูหลายคนนี้จะเหนื่อยยาก ลงทุนด้วยตนเอง และสมควรได้รับคำชมเชย แต่เรื่องจะเป็นไปตามที่อาจารย์ในคลิปท่านหนึ่งว่า นั่นคือเราจะสรรหาของเล่นมาเล่นกันไปเรื่อยๆ เช่นนี้มิได้

เนื้อหาตอนนี้เป็นของอาจารย์ที่บอกกล่าวแก่เราว่า เด็กประถมต้องไปโรงเรียน ซึ่งเป็นไปตามจิตวิทยาพัฒนาการที่ถูกต้อง ประเทศที่พัฒนาแล้ว ยกตัวอย่าง สิงคโปร์ การไปโรงเรียนของเด็กประถมเป็นเรื่องสำคัญสูงสุด ไปได้ต้องไป และรัฐอำนวยความสะดวกรวมทั้งให้เครื่องไม้เครื่องมือแก่ครูเพื่อการสอนออนไลน์ที่มีประสิทธิภาพ

ของบ้านเราไม่เพียงครูต้องหาทางเอง หลายที่ครูต้องคอยแคปหน้าจอเพื่อส่งผลงานผู้อำนวยการโรงเรียนและหน่วยเหนือขึ้นไปด้วยว่าได้สอนออนไลน์ตามหลักสูตรเรียบร้อยแล้ว

เนื้อหาสำคัญกว่าอยู่ที่ตอนท้ายอีกเช่นกัน อาจารย์ท่านเดิมพูดต่อไปว่าหากเปรียบโควิดเป็นแผ่นดินไหว ไม่แน่เสมอไปว่าเมื่อแผ่นดินไหวสงบ ครูสมัยใหม่หลายคนที่ถูกเขย่าและพัฒนาวิธีการเรียนการสอนสมัยใหม่ได้แล้วจะดำรงอยู่ได้ ทุกอย่างอาจจะกลับไปเป็นแบบเดิมก่อนโควิด เหตุเพราะแผ่นดินไหวไหวกระทรวงฯ มิได้

ผมรับรองได้ว่าอาจารย์ทายถูก  และจะดีใจมากถ้าเราผิด

ตอนที่ 2 Left Behind Dream ‘ฝากฝันไว้ข้างฝา’

ในขณะที่คลิปอื่นๆ ยาวครึ่งชั่วโมง คลิปที่สองนี้ยาว 45 นาที เล่าเรื่องเด็กสามคนที่ยากลำบาก

คนแรกเป็นเด็กหญิงจากดอยสูงที่ต้องเดินทางไกลบนภูเขาหลายกิโลเมตรเพื่อค้นหาสัญญาณโทรศัพท์ คลิปฉายให้เห็นความทุลักทุเลของชีวิตเมื่อฝนตกหรือมีพายุฝนฟ้าคะนอง ซึ่งอาจตายได้ ผมดูถึงตอนนี้แล้วจึงสรุปว่าการเรียนออนไลน์ทำให้เด็กบางคนตายได้จริง

คนที่สองเราน่าจะคุ้นหน้าจากหนัง School Town King เป็นเด็กหญิงจากสลัมคลองเตยที่รักการเรียนและใฝ่ฝันที่จะเรียนอย่างมาก เธอเรียนดีมาตั้งแต่เล็กทั้งที่บ้านยากจนมาก เธอตั้งใจเรียนอย่างคลาสสิก นั่นคือนั่งเรียน ท่องหนังสือและไปติว เธอเล่าว่าเด็กจากชุมชนแออัดส่วนใหญ่จะเรียนสายสามัญถึงแค่มัธยม 3 แล้วออกไปทำงานหรือเรียนสายอาชีพ แต่เธอมุ่งมั่นจะเรียนมัธยมปลายแล้วเธอก็ทำได้จริงๆ

ที่น่าชื่นชมมากขึ้นไปอีกคือเธอเข้ามหาวิทยาลัยได้ ราชภัฏด้วย เธอจะได้เป็นครู จะน่าดีใจเพียงใดหากชาติจะได้ครูที่มีพื้นเพเช่นนี้มาเพิ่มอีกคนหนึ่ง แต่วิมานลอยไปจนได้ เมื่อเธอไม่มีทุนทรัพย์จะส่งตัวเองเรียนต่อ ความขาดแคลนของเธอส่อแววมาตั้งแต่เมื่อเริ่มเรียนออนไลน์เพราะโควิดแล้ว เธอแจกแจง ‘ค่าใช้จ่ายของการเรียนออนไลน์’ ที่คุณแม่ต้องรับภาระ เธอทำงานเพื่อช่วยหารายได้อีกทางหนึ่ง แต่ทั้งหมดนั้นไม่พอ

อย่าลืมว่าหลายบ้านจ่ายค่าซิมและไวไฟด้วยการหักบัญชีอัตโนมัติโดยไม่รู้สึกอะไรเลย

คนที่สามเป็นเด็กชายมาจากบ้านกาญจนาฯ เล่าเรื่องความเป็น nobody ของตนเอง เมื่อเรียนไม่เก่ง ถูกมองข้ามตั้งแต่แรก นำไปสู่การตัดสินใจผิดพลาดเพียงเพื่อจะเอา ‘ตนเอง’ คืนมา

เป็นเรื่องเล่าสามเรื่องที่น่าจะดีต่อคนที่ยังนึกว่า สังคมบ้านเราเท่าเทียมกันดีและชนชั้นไม่มีจริง แล้วถ้าดูจบแล้วยังคิดว่าคนเราควรพอใจในสิ่งที่ตนเองมี คือเด็กหญิงคนแรก หรือความพยายามอยู่ที่ไหนความสำเร็จอยู่ที่นั่น คือเด็กหญิงคนที่สอง หรือคนรุ่นพ่อลำบากกว่านี้ยังทนกันได้ทำไมใจเสาะนัก คือเด็กชายคนที่สาม

ไม่ใครก็ใครต้องบ้าแน่ๆ

ตอนที่ 1 Home x School ‘เมื่อบ้านกลายเป็นห้องเรียน พ่อแม่ต้องทำเซียนมาเป็นครู’

ไฮไลต์ของตอนนี้ไม่ยากและตรงประเด็นคือ คำบอกเล่าของแม่ที่ทำโฮมสคูลและพยายามขับเคลื่อนการศึกษาด้วยคนหนึ่ง เธอถามว่าถึงวันนี้แล้ว เรายังจะบังคับเด็กเรียนหนังสือกันอยู่อีกหรือ ที่จริงแล้วเราควรเรียนหนังสือหรือเรียนชีวิตกันแน่

ผมขยายความว่าการศึกษาวันนี้ยังคงพยายามมีอำนาจเหนือคนทุกคน กดดันให้ครูและเด็กๆ สอนและเรียนหนังสือให้ได้ ทั้งที่ทำมิได้ หมายถึงครูสอนมิได้ นักเรียนเรียนมิได้ และการศึกษานั้นเองที่ไม่มีปัญญาจะกดดันอะไรได้

ครูรู้วิธีส่งผลงานปลอม และพ่อแม่รู้วิธีทำการบ้านให้ลูกกันหมดแล้ว ที่การศึกษาไม่ยอมทำคือลดตัวลง ปรับตัวเอง ไปจนถึงเปลี่ยนแปลงตัวเองขนานใหญ่เพื่อช้อนรับการเรียนรู้ของเด็กๆ ทุกคนในประเทศไทย

ไม่แน่ใจว่าเขียนเท่านี้ผู้บริหารระดับสูงจะเข้าใจไหม ไม่นับว่าไม่เข้าใจจริงๆ หรือแกล้งไม่เข้าใจ

MOST READ

Social Issues

9 Oct 2023

เด็กจุฬาฯ รวยกว่าคนทั้งประเทศจริงไหม?

ร่วมหาคำตอบจากคำพูดที่ว่า “เด็กจุฬาฯ เป็นเด็กบ้านรวย” ผ่านแบบสำรวจฐานะทางเศรษฐกิจ สังคม และความเหลื่อมล้ำ ในนิสิตจุฬาฯ ปี 1 ปีการศึกษา 2566

เนติวิทย์ โชติภัทร์ไพศาล

9 Oct 2023

Education

20 Jul 2023

คณะอักษรศาสตร์ จุฬาฯ ในวิกฤต (?)

ข่าวการปรับหลักสูตรของอักษรศาสตร์ จุฬาฯ ชวนให้คิดถึงอนาคตของการเรียนการสอนสายมนุษยศาสตร์ เมื่อตลาดแรงงานเรียกร้องทักษะสำหรับการทำงานจริง จนมีการลดความสำคัญวิชาพื้นฐานอันเป็นการฝึกฝนการวิเคราะห์วิพากษ์เพื่อทำความเข้าใจโลกอันซับซ้อน

เสียงเล็กๆ จากประชาคมอักษร

20 Jul 2023

Social Issues

5 Jan 2023

คู่มือ ‘ขายวิญญาณ’ เพื่อตำแหน่งวิชาการในมหาวิทยาลัย

สมชาย ปรีชาศิลปกุล เขียนถึง 4 ประเด็นที่พึงตระหนักของผู้ขอตำแหน่งวิชาการ จากประสบการณ์มากกว่าทศวรรษในกระบวนการขอตำแหน่งทางวิชาการในสถาบันการศึกษา

สมชาย ปรีชาศิลปกุล

5 Jan 2023

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • Always Active

Save