fbpx

‘Memoria’ เงี่ยสดับรับสัมผัส ย้อนสังสารวัฏ แห่งห้วงความทรงจำ

ปฐมลิขิต : บทความนี้มีการเปิดเผยเนื้อหาสำคัญบางส่วนของภาพยนตร์เรื่อง Memoria

ในยุคที่วงการภาพยนตร์แบบ streaming กำลังเติบโตและมีพัฒนาการแบบก้าวกระโดดมากมาย ทั้งจากการแพร่ระบาดของไวรัสร้ายทำให้ผู้คนจำต้องเลือกเสพความบันเทิงเหล่านี้จากที่บ้าน และการส่งเสริมสนับสนุนการสร้างงานในเชิงศิลปะของค่ายหนังและซีรีส์ละครชุดแบบ streaming เอง จนผลงานประสบความสำเร็จแม้แต่ในเทศกาลภาพยนตร์นานาชาติที่เน้นการฉายภาพยนตร์ในโรงเป็นหลัก หรือการแข่งขันกันในเวทีใหญ่อย่างรางวัลออสการ์ก็ตามที แต่ก็ยังมีความพยายามอีกกระแสที่เรียกร้องวัฒนธรรมการชมภาพยนตร์ในโรงคืนกลับมา ด้วยเหตุผลง่ายๆ ว่า ประสบการณ์การชมภาพยนตร์เป็นหมู่คณะในโรงใหญ่นั้น มันไม่อาจทดแทนได้ด้วยการชมผ่าน platform แบบ streaming เลยจริงๆ และหากสถานการณ์การแพร่ระบาดเริ่มคลี่คลาย หรือสามารถมีมาตรการความปลอดภัยที่พอจะอนุญาตให้ผู้ชมสามารถกลับไปชมภาพยนตร์ในโรงด้วยกันได้ การเสพงานด้วยวิถีเดิมนี้ก็ควรได้รับการพิทักษ์รักษาให้ยังเป็น ‘วัฒนธรรม’ สืบไป เพราะสุดท้ายก็ยังเชื่อว่าการชมภาพยนตร์ในโรงจักยังแข็งแกร่งและยั่งยืนคงทนเสมอต้นเสมอปลาย เหมือนอย่างตอนที่สื่อโทรทัศน์ วีดิโอ ดีวีดี หรือแม้กระทั่งบูลเรย์ที่คมชัดสมจริงขนาดไหน ก็จอเล็กเกินไปจนไม่สามารถเขย่าสะเทือนธรรมเนียมการดูหนังด้วยจอมหึมาในโรงภาพยนตร์ได้อยู่ดี

ภาพยนตร์เรื่องล่าสุดของอภิชาติพงศ์ วีระเศรษฐกุล ‘memoria’ เป็นตัวอย่างของแคมเปญการหวนคืนสู่โรงภาพยนตร์ท่ามกลางการแพร่ระบาดของโควิด-19 อย่างเห็นได้ชัด หนังรอท่าทีในช่วงปี ค.ศ. 2020 ที่โควิด-19 กำลังระบาดหนักอย่างใจเย็น ก่อนที่จะได้รับคัดเลือกให้ร่วมประกวดชิงรางวัลปาล์มทองคำในเทศกาลภาพยนตร์เมืองคานส์ครั้งที่ 74 ประจำปี 2021 และสามารถคว้ารางวัล Jury Prize ขวัญใจคณะกรรมการจากเทศกาลมาได้ในที่สุด หลังจากนั้น ‘memoria’ ก็เริ่มเดินสายไปฉายในเทศกาลต่างๆ อย่างต่อเนื่องและคับคั่ง ซึ่งแม้ว่าเทศกาลหนังหลายๆ แห่งจะต้องจัดงานลักษณะ hybrid คือฉายทั้งในโรงภาพยนตร์และในรูปแบบออนไลน์ควบคู่กันไป แต่ ‘memoria’ เป็นภาพยนตร์เพียงไม่กี่เรื่องที่จำกัดการฉายเฉพาะในโรงภาพยนตร์เท่านั้น ไม่เคยร่วมฉายในรูปแบบ virtual online screening กับเทศกาลแห่งใดเลย

MEMORIA_STILL_1_ ©Kick the Machine Films, Burning, Anna Sanders Films, Match Factory Productions, ZDF-Arte and Piano, 2021

ทำไมหนังอย่าง ‘memoria’ จึงเป็นงานที่จะต้องชมในโรงภาพยนตร์เท่านั้น คำตอบง่ายๆ ก็คือผู้กำกับอภิชาติพงศ์ วีระเศรษฐกุล เป็นศิลปินที่ให้ความสำคัญกับประสบการณ์ในการเสพงานและใส่ใจกับ ‘สิ่งแวดล้อม’ ขณะรับชมงานของผู้ชมของเขาอย่างจริงจังมาตั้งแต่เมื่อครั้งทำหนังสั้นทดลองตั้งแต่ช่วงกลางยุค 1990s จนถึงภาพยนตร์ขนาดยาวทุกๆ เรื่องกระทั่งถึง ‘memoria’ อภิชาติพงศ์กล่าวเสมอว่าอยากให้ผู้ชมได้ชมภาพยนตร์ของเขาในโรงจริงๆ ราวกับว่าเราจะยังไม่สามารถตัดสินงานภาพยนตร์ของเขาได้เลย หากยังไม่มีโอกาสได้ชมในโรงตามที่เขาตั้งใจออกแบบมา

ภาพยนตร์เรื่อง ‘memoria’ นับเป็นงานสุดประหลาดที่แม้องค์ประกอบหลายๆ ส่วนจะดูแปลกใหม่และพลิกโฉมไปจากงานภาพยนตร์เรื่องก่อนๆ หน้า ทว่ามันกลับแสดงอัตลักษณ์ลายเซ็น และการ reference ย้อนทวนผลงานเก่าๆ ของอภิชาติพงศ์ จนกลายเป็นความสดใหม่ที่แสนคุ้นเคย 

ภาพยนตร์เรื่องนี้เป็นภาพยนตร์ขนาดยาวเรื่องแรกที่อภิชาติพงศ์ไม่ได้ถ่ายทำที่ประเทศไทย แต่ย้ายกองไปไกลถึงประเทศโคลอมเบีย ทวีปอเมริกาใต้ นักแสดงนำล้วนเป็นนักแสดงมืออาชีพ ไม่ว่าจะเป็น ทิลดา สวินตัน (Tilda Swinton), ฌีนน์ บาลิบาร์ (Jeanne Balibar), แอ็กเนส เบรกเกอ (Agnes Brekke), แดเนียล กีเมเนซ กาโช (Daniel Giménez Cacho), ฆวน ปาโบล อูร์เรโก (Juan Pablo Urrego) หรือ เอลกิน ดีอาซ (Elkin Díaz) และที่สำคัญคือภาษาที่ใช้เป็นภาษาอังกฤษและสเปน และไม่มีส่วนใดของเนื้อหาที่เกี่ยวข้องกับประเทศไทยเลย

แต่ถึงแม้ว่าหน้าตาและรูปลักษณ์ภายนอกของหนังจะเหมือนยกเครื่อง makeover ใหม่กันอย่างไร แต่จิตวิญญาณการทำหนังในแบบอภิชาติพงศ์ ก็ยังคงเจิดจรัสเปล่งประกายชนิดที่ดูแล้วไม่น่าจะเป็นงานของใครอื่นไหนได้นอกจาก The One and Only อภิชาติพงศ์ วีระเศรษฐกุลคนนี้  โดยเฉพาะสายเลือดการเป็น ‘นักทำหนังทดลอง’ ซึ่งใน ‘memoria’ ก็มีการ ‘เล่นแร่แปรธาตุ’ เล่นล้อกับบทบาทของ ‘เสียง’ และ ‘ความทรงจำของเสียง’ ใน ‘ภาพยนตร์’ อย่างเห็นได้ชัด สร้างนวัตกรรมแปลกใหม่ในเชิงภาพยนตร์ในรูปแบบที่ไม่มีใครเคยทำ ในขณะที่ผู้กำกับร่วมรุ่นรายอื่นๆ ยังคงหมกมุ่นกังวลกับประเด็นสีผิว ผู้ลี้ภัย ความเลื่อนไหล LGBTQ อะไรเหล่านี้กันอยู่

แน่นอนว่าเมื่อเป็นหนังที่ต้องการทดลองเรื่องบทบาทและความทรงจำของเสียงในภาพยนตร์ องค์ประกอบของการเป็น ‘เรื่องเล่า’ หรือ narrative ของหนังจึงยังต้องมีอยู่ โดยใน ‘memoria’ ก็ได้มอบบทบาทให้ เจสสิกา (แสดงโดย ทิลดา สวินตัน) สุภาพสตรีเจ้าของฟาร์มกล้วยไม้ชาวสก็อตแลนด์จากเมืองเมเดยิน ประเทศโคลอมเบีย เป็นตัวละครหลัก เธอเดินทางมาเยี่ยมน้องสาว คาเรน (แสดงโดย แอ็กเนส เบรกเกอ) ซึ่งป่วยและรักษาตัวอยู่ในโรงพยาบาลที่มหานครโบโกตา โดยเจสสิกากลับเริ่มมีอาการได้ยินเสียง ‘ปัง’ เป็นเสียงในหัวอันสนั่นรุนแรงช่วงฟ้าสาง และยังได้ยินอีกหลายครั้งในเวลาต่อมาทำให้ไม่สามารถนอนหลับได้เป็นปกติ เธอปรึกษาฆวน สามีของน้องสาว (แสดงโดย แดเนียล กีเมเนซ กาโช) ซึ่งแนะนำให้เธอไปพบกับ sound engineer หนุ่มชื่อ แอร์นัน (แสดงโดย ฆวน ปาโบล อูร์เรโก) ให้ช่วยเจสสิกาค้นหาและดัดแปลงเสียง sound effect ประกอบภาพยนตร์ให้ตรงกับเสียงที่เธอได้ยินในหัว จากนั้น เจสสิกาและแอร์นันก็ได้พากันไปเลือกซื้อตู้เย็นสำหรับแช่ดอกไม้ส่งไปที่ฟาร์มที่เมเดยิน ในเวลาไล่เลี่ยกันกับช่วงที่เจสสิกาได้พบกับนักโบราณคดี แอ็กเนส (แสดงโดย ฌีนน์ บาลิบาร์) ซึ่งกำลังศึกษาซากโครงกระดูกมนุษย์อายุกว่า 6,000 ปี ที่เพิ่งถูกค้นพบจากการขุดอุโมงค์ใหญ่ใกล้ๆ กรุงโบโกตา และได้ชวนเจสสิกาไปดูสถานที่จริงด้วยกัน แต่ระหว่างที่เจสสิกาขับรถเดินทางไปเพียงลำพัง เธอได้แวะหลงมายังกระท่อมริมลำธาร ซึ่งมีชายหนุ่มปริศนานักขอดเกล็ดปลา รอสนทนากับเธออยู่ริมน้ำ ผู้มีนามกรแสนคุ้นว่า แอร์นัน (แสดงโดย เอลกิน ดีอาซ)

MEMORIA_STILL_2_ ©Kick the Machine Films, Burning, Anna Sanders Films, Match Factory Productions, ZDF-Arte and Piano, 2021

จากโครงเรื่องราวคร่าว ๆ นี้ อภิชาติพงศ์ใช้เป็นสนามพื้นที่ทดลองเชิงภาพยนตร์โดยเฉพาะเรื่องของ ‘เสียง’ ในฐานะของปรากฏการณ์ และการใช้ ‘เสียง’ ในฐานะเครื่องมือเพื่อสื่อสารห้วงอารมณ์และความรู้สึกต่างๆ ตั้งแต่เสียง ‘ปัง’ ที่ผู้ชมจะได้ยินร่วมกับเจสสิกาตลอดเวลา แต่ไม่สามารถสืบหาที่มา ไปจนถึงความทรงจำที่มาในรูปของ ‘เสียง’ ซึ่งสามารถแจ่มชัดได้ราวเรากำลังเห็นเหตุการณ์อันน่าตกใจบางอย่าง

โดยหากจะมองจากหลักทฤษฎีวิชาการทางภาพยนตร์ การวิเคราะห์ในเรื่องของ ‘เสียง’ ก็มิได้มีปัจจัยอะไรให้เล่นได้เท่ากับงานภาพ จุดใหญ่ๆ ก็เห็นจะมีเพียงเรื่องของการแยกแยะอิทธิพลของ diegetic sound หรือเสียงที่เกิดขึ้นจริงๆ ในฉากตามเรื่องราว เช่น บทสนทนาของตัวละคร เสียงเรียกโทรศัพท์ หรือเสียงการบรรเลงของนักดนตรีที่อยู่ในฉาก กับ non-diegetic sound หรือเสียงประกอบอื่นๆ ที่ไม่ได้มีที่มาจากฉากในเรื่องราวนั้นๆ เช่น ดนตรีประกอบเร่งเร้าอารมณ์ที่เติมเข้ามา เสียง effect ประกอบที่ไม่เกี่ยวข้องกับเหตุการณ์ หรือ เสียงช่วยตบมุกในฉากตลก

ในส่วนของ diegetic sound ก็จะมีทั้งเสียงที่ผู้ชมเห็นที่มาอยู่ในเฟรม (onscreen sound) หรือเสียงที่ที่มาอยู่นอกเฟรม (offscreen sound) และเสียงที่ตัวละครทุกรายได้ยิน (external sound) และเสียงที่ตัวละครบางรายเท่านั้นได้ยินอยู่ภายใน (internal sound) ซึ่งในภาพยนตร์เรื่อง ‘memoria’ ที่ดูเผินๆ แล้วเหมือนจะเลือกใช้ diegetic sound ทั้งหมด เพราะเสียงส่วนใหญ่สามารถพอสรุปที่มาจากเหตุการณ์ในฉาก (หรือข้ามฉาก) ได้ แต่อภิชาติพงศ์ก็ยังเล่นล้อกับความเป็น diegetic sound กับ non-diegetic sound ในหลายๆ ช่วงอยู่ดี จนดูเหมือนจะกลายเป็นเรื่องเปล่าดายไม่มีความหมายอีกต่อไปในการจะต้องมานั่งคัดแยกแบ่งข้างว่าเสียงนี้คือ diegetic sound เสียงนี้คือ non-diegetic sound

อันที่จริง ประเด็นนี้ก็เป็นที่พูดถึงกันมานานแล้ว เพราะปัจจุบันเทคโนโลยีการเล่น effect เสียงภาพยนตร์พัฒนาไปมาก จนหลายๆ ครั้งก็ไม่จำเป็นต้องใช้เสียงจริงอีกต่อไป เสียงยิงปืนที่เราได้ยิน แทบจะไม่ใช่เสียงปืนที่ลั่นกระสุนจริงๆ แต่เป็นเสียงประกอบจากวิธีอื่นๆ ที่ฟังดูแล้วเหมือนการยิงปืนจริงๆ ในขณะที่ผู้ชมก็ย่อมรับรู้เสียงนี้ในฐานะของ diegetic sound ในฉากที่เห็นการยิงปืน  อภิชาติพงศ์เล่นกับความเป็น diegetic sound ของหนัง ตั้งแต่เสียง ‘ปัง’ ที่เจสสิกาได้ยิน ซึ่งบางปังก็อาจจะเป็น internal diegetic sound จากอาการทางสัมผัสประสาทภายในของเธอเองซึ่งจะมีเพียงเจสสิกาและผู้ชมเท่านั้นที่ได้ยิน กับบางปังที่ทุกคนต่างได้ยิน แต่ส่งผลกระทบต่อแต่ละคนในระดับที่แตกต่างกัน เช่น เสียงปังตรงสี่แยกกลางท้องถนนที่เจสสิกาและทุกๆ คนในฉากได้ยิน โดยมีชายผู้หนึ่งแสดงปฏิกิริยาประหลาดออกมาอย่างมีปริศนาเลิ่กลั่ก ก่อนจะเฉลยว่าแท้แล้วก็เป็น offscreen diegetic sound จากเสียงยางล้อรถบัสแตก

แต่ฉากที่แสดงการเล่นล้อระหว่าง diegetic และ non-diegetic sound ได้ชัดเจนที่สุดก็คือ ฉากที่เจสสิกาพบกับแอร์นัน วิศวกรเสียง เป็นครั้งแรกในห้อง mix เสียง ในขณะที่แอร์นันกำลังทำงานกับดนตรีประกอบแสนโหยหวนอ่อนโยนของเชลโลและเปียโน ซึ่งหากเป็นหนังเรื่องอื่นๆ มันควรจะเป็น non-diegetic sound ที่แสดงการหวนกลับมาพบกันของสองดวงวิญญาณที่ตามหากันมานานในฉากที่พระเอกกับนางเอกได้พบกันครั้งแรก แต่พอมาอยู่ใน ‘memoria’ มันกลับกลายเป็น diegetic sound ตรงๆ ง่ายๆ เพราะแอร์นันทำงานเป็นวิศวกรเสียงนั่นเอง และในฉากเดียวกันนี้ เราจะได้เห็นเบื้องหลังการใช้ sound effect ต่างๆ ในหนัง ซึ่งเอาเข้าจริงๆ แทบจะไม่มี ‘เสียงแท้’ หากเป็นแค่การประดิษฐ์จากการฟาดกระทบด้วยวัสดุต่างๆ คล้ายการพากย์หนังในสมัยก่อน เช่น เสียง ‘ปัง’ ที่เจสสิกาต้องการ แท้แล้วก็อาจจะเริ่มต้นมาจากเสียงของการใช้ไม้เบสบอลหวดทุบไปบนผ้านวม และได้เห็นกระทั่ง visual หรือภาพคลื่นของเสียงต่างๆ ซึ่งวิศวกรเสียงสามารถขยายอัดตัดแต่งตามอำเภอใจได้ จนได้เสียงที่ตรงกับโจทย์มากที่สุด สะท้อนความเป็นมายาของการสร้างภาพยนตร์ที่บางครั้งความสมจริงก็อาจจะมาจากความคลับคล้ายที่ไม่ได้จริงเลยตั้งแต่แรก

MEMORIA_STILL_3_ ©Kick the Machine Films, Burning, Anna Sanders Films, Match Factory Productions, ZDF-Arte and Piano, 2021

ระหว่างทางของการเล่าเรื่องราว อภิชาติพงศ์ยังได้สำรวจการใช้เสียงในศิลปะแขนงต่างๆ เพื่อสื่อสารอารมณ์ความคิดของศิลปิน เริ่มตั้งแต่ส่วนของคีตศิลป์ในฉากที่เจสสิกาเดินผ่าน conservatoire นักดนตรี ตั้งแต่ ห้องซ้อมที่ซอยย่อยเล็กๆ ต่างคนต่างซ้อมท่วงทำนองตามเครื่องดนตรีของตนเองจนเสียงตีกันเกิดเป็นสำเนียงโทนผสมแบบ polytony ซึ่งจะ contrast กับฉากต่อมา เมื่อเจสสิกาและกลุ่มผู้ฟังในหนัง พร้อมทั้งผู้ชมภาพยนตร์ จะได้สดับฟังการบรรเลงสอดประสานอันไพเราะและคึกคักของวงดนตรี quartet กีตาร์-เปียโน-คอนทราเบส-กลองชุด ด้วยท่วงทำนองและจังหวะจะโคนที่ให้กลิ่นอายของดนตรีลาตินอเมริการ่วมสมัย ทำให้เราต้องร่วมแสดงสีหน้าอิ่มเอิบสุนทรีย์ ตรงกับที่เจสสิกาและเหล่าตัวละครประกอบแสดงอยู่บนจอ glorify สุ้มสำเนียงแห่งการบรรเลงดนตรีที่ควรมีโอกาสได้เป็นพระเอกโดดเด่น และไม่จำเป็นต้องเป็นเพียงบรรยากาศคลอประกอบเหมือน non-diegetic sound ที่เราคุ้นชินกันทั่วไป

ศาสตร์ศิลป์อีกแขนงที่อภิชาติพงศ์ตั้งใจนำมาใส่ไว้ในเรื่องนี้ก็คืองานวรรณกรรมที่อาศัยความโดดเด่นของการอ่านออกเสียง นั่นคือ บทกวีนิพนธ์ ซึ่งก็มีตั้งแต่บทกวีลีลาวิทยาศาสตร์ประกาศห้วงความคิดของเชื้อบักเตรี ที่ฆวนอ่านให้เจสสิกาฟัง และบทกวี free verse เกี่ยวกับราตรีไร้การหลับใหลสองบรรทัดจบที่เจสสิกาแต่งและท่องให้แอ็กเนสฟัง ซึ่งยังไม่ทันจะได้ใจความก็ข้ามมาถึงคำสุดท้ายเสียแล้ว จนทำให้แอ็กเนสงุนงง แต่คงเป็นสิ่งดาลใจให้อภิชาติพงศ์นำเสนอไว้ในหนังเรื่องนี้ว่า ‘เสียง’ สำคัญต่อบทกวีนิพนธ์มากเพียงไหน ชนิดที่การอ่านแบบเงียบๆ ในใจอาจกลายเป็นสิ่งไม่พึงกระทำเลยในการเสพงานกวี!

แถมในส่วนช่วงท้ายๆ อภิชาติพงศ์ ก็ยังย้อนกลับไปไกลถึง aesthetic ในแบบละครวิทยุ อาศัยการแสดงที่มีองค์ประกอบเพียงการใช้เสียง แต่กลับทำให้เห็นภาพได้อย่างกระจ่าง และเสียงคลื่นเสียงรบกวนของสัญญาณวิทยุโบราณ สะท้อนถึงช่องความถี่การส่งรับ อันจะมีผลให้สัญญาณเสียงในช่วงหนึ่งๆ สามารถส่งไปถึงผู้รับในเพียงภาวะและเพียงบางคนที่มีเสารับสัญญาณที่ตรงกันเท่านั้น อันเป็นรายละเอียดอีกส่วนที่สำคัญในเรื่องราวทั้งหมดของหนัง

ช่องสัญญาณคลื่นที่สื่อถึงกันผ่านย่านความถี่อันนี้เองที่น่าจะเป็นมูลเหตุของฉากการเบิกแสงร้องคำรามตามๆ กันของหมู่รถยนต์จากสัญญาณกันขโมย ณ ลานจอดรถยามค่ำคล้อย แม้ว่าจะไม่ได้มีร่องรอยผู้ใดย่างกรายไปแถวนั้น กลายเป็นฉากมหัศจรรย์ที่อภิชาตพงศ์สามารถใช้เสียงแตรและแสงไฟ ให้ ‘ชีวิต’ กับยวดยานไร้วิญญาณเหล่านี้ได้อย่างน่าทึ่งตั้งแต่ฉากแรกๆ จากคลื่นสัญญาณทางไกลที่ตรงกับเซ็นเซอร์การรับรู้ของรถยนต์เหล่านี้พอดี

MEMORIA_STILL_4_ ©Kick the Machine Films, Burning, Anna Sanders Films, Match Factory Productions, ZDF-Arte and Piano, 2021

แต่ส่วนที่อภิชาติพงศ์ตั้งคำถามต่อมิติของเสียงในหนังมากที่สุด ก็เห็นจะเป็นในช่วงท้ายที่เจสสิกามีโอกาสได้ไปเยี่ยมนิวาสถานกลางดงป่าของแอร์นันนักขอดเกล็ดปลา เมื่อแอร์นันมีความสามารถพิเศษในการจดจำสิ่งต่างๆ ผ่านการสัมผัสวัตถุเก็บความทรงจำ ซึ่งหลายๆ ส่วนก็เป็นความทรงจำที่ถูกเหนี่ยวนำด้วย ‘เสียง’ ทำให้คนดูได้ยิน ‘เสียง’ ต่างๆ มากมายในช่วงที่เจสสิกาและแอร์นันจับมือกัน โดยไม่เห็นภาพอื่นนอกจากตัวละครทั้งคู่ ซึ่งยากจะระบุได้ว่ามันคือ diegetic sound ประเภทไหน หรือจริงๆ แล้วมันคือ diegetic sound หรือไม่ สะท้อนความไร้ประโยชน์ของการแยกประเภทเสียงด้วยกฎเกณฑ์พ้นสมัยที่ไม่เท่าทันกับความมหัศจรรย์ด้านโสตญาณมนุษย์ กระทั่งชื่อตัวละครแอร์นันซึ่งอภิชาติพงศ์ ได้เย้ยกฎเหล็กต้องห้ามของการตั้งชื่อตัวละครสองรายให้เหมือนกันเพื่อสร้างความเชื่อมโยงที่คลุมเครือระหว่างตัวละครชายทั้งสองที่อาจจะเป็นหรือไม่ได้เป็นคนเดียวกัน เพราะเสียงอ่านของชื่อ ‘แอ-ระ-นัน’ ในหนัง ควรจะอิงโยงไปถึงบุคคลเพียงคนเดียว เมื่อมี ‘แอ-ระ-นัน’ โผล่มาถึงสองราย มันจึงกลายเป็นความพิศวงที่คงต้องประเมินดูเอาเองว่า มันจะเป็นความบังเอิ๊ญบังเอิญที่แท้แล้วก็สามารถเกิดขึ้นได้จะตื่นเต้นไปทำไม หรือเป็นความจงใจในบทบาทคู่ขนานของชายหนุ่มต่างวัยทั้งสองกันแน่

นอกจากนี้อภิชาติพงศ์ ได้แสดงความย้อนแย้งอีกอย่างของการใช้ ‘ความเงียบ’ เนื่องจาก ‘ความเงียบ’ โดยปกติในหนัง มันคือการได้ยินเฉพาะเสียงบรรยากาศ ambience โดยปราศจากเสียงอื่นๆ ซึ่งก็ไม่ใช่ silence อย่างแท้จริง ทว่าเมื่อช่วงหนึ่งในหนัง อภิชาติพงศ์ตัดแม้กระทั่งเสียง ambience sound ออกไปจนได้เป็น absolute silence มันกลับกลายเป็นความประหลาดหลอนจนชวนให้สงสัยว่าเกิดอะไร ความเงียบโดยสมบูรณ์ไร้ซึ่งเสียงใดๆ จึงมิใช่วิสัยของการได้ยินของมนุษย์ในชีวิตประจำวันที่ไม่ว่าจะอยู่ในห้องปิดที่เงียบเชียบขนาดไหน เราก็จะได้ยินอะไรสักอย่างรอบๆ ตัวเราอยู่นั่นเอง

ด้วยเนื้อหาหลักที่เล่าถึงการสืบหาที่มาของเสียง ‘ปัง’ ประหลาดในหัวของเจสสิกาผ่านวิธีการในแบบอภิชาติพงศ์นี้เอง ที่ทำให้เส้นแบ่งระหว่าง diegetic และ non-diegetic sound ใน ‘memoria’ เกิดความพร่าเลือน และเป็นจุดบ่งฟ้องได้อย่างดีว่า อภิชาติพงศ์จะต้องละเอียดประณีตกับการออกแบบงานเสียงในระดับยิ่งยวดขนาดไหนกับการเล่าเรื่องราวที่อาศัย ‘เสียง’ ในการถ่ายทอดเช่นนี้ มิติของการใช้เสียงเท่าที่เทคโนโลยีปัจจุบันจะเอื้อให้ทำได้จึงถูกหยิบใช้อย่างบรรจง ซึ่งทางเดียวที่จะโสตสัมผัสประสบการณ์เหล่านี้ได้โดยตรงก็คือการชมในโรงภาพยนตร์เท่านั้น ไม่อาจจะพึ่งพานการดูเพียงลำพังที่บ้านถึงจะลงทุนสร้างวางระบบเสียง home theatre ในสนนราคาเป็นแสนเป็นล้านก็ตามที

MEMORIA_STILL_5_ ©Kick the Machine Films, Burning, Anna Sanders Films, Match Factory Productions, ZDF-Arte and Piano, 2021

ในส่วนบรรยากาศของเรื่องราว อภิชาติพงศ์สามารถนำพาผู้ชมบินลัดฟ้าร่วมทัศนาจรสำรวจดูภูมิทัศน์ทั้งในส่วนของเมืองโบโกตาและชนบทริมแนวป่าอย่างพิคเฮา ราวกับเราได้ร่วมเดินทางไปเห็นกับตาและได้ยินกับหูทั้งสองข้างกันเลยจริงๆ ไม่ว่าจะเป็นสถาปัตยกรรมของตึกอาคารทั้งภายในภายนอกที่อภิชาติพงศ์เลือกถ่ายมาอย่างตั้งใจ บรรยากาศธรรมชาติและแมกไม้ที่มีทั้งส่วนที่เหมือนและต่างจากป่าร้อนชื้นบ้านเรา สภาพดินฟ้าอากาศในแต่ละวัน รวมถึงย่านธุรกิจห้างร้านนานากิจการที่จะมาส่องสะท้อนเศรษฐกิจระดับจุลภาคให้คนนอกได้เห็น เปิดโลกใหม่ให้กับผู้ที่ไม่เคยเดินทางไป โดยอาศัยมายาแห่งภาพยนตร์ในการเก็บซับดูดซึมไว้ครบทุกๆ บรรยากาศ

อย่างไรก็ดี อภิชาติพงศ์ ก็ยังสามารถผสานกลิ่นอายจากพื้นที่แปลกใหม่นี้ ให้เข้ากับลีลาภาษาภาพยนตร์ที่เป็น motif ประจำตัว ซึ่งแฟนหนังเดนตายของเขาน่าจะรู้สึกคุ้นๆ ในหลายๆ ส่วน ตั้งแต่การแบ่งเนื้อหาของหนังออกเป็นสองท่อนส่วนตามพื้นที่ โดยมีฉากที่เจสสิกาเดินเข้ามายังริมลำธารครั้งแรกเป็นฉากธรณีประตูคล้ายกับใน ‘สุดเสน่หา’ อาการนอนไม่หลับของเจสสิกาที่น่าจะเล่นล้อกับการหลับตลอดเวลาของทหารใน ‘รักที่ขอนแก่น’ ภาพกล้วยไม้และฉากในโรงพยาบาลที่ชวนให้นึกถึง ‘แสงศตวรรษ’ หรือฉากที่เจสสิกาไปพบแพทย์เพื่อสอบถามอาการ และแอบขอยา Xanax จากหมอ ที่คลับคล้ายกับใน ‘สุดเสน่หา’ เช่นกัน ยิ่งเนื้อหาเรื่องราวในช่วง climax ซึ่งเกี่ยวข้องกับสังสารวัฏแห่งความทรงจำ การได้ยิน การสัมผัส ตำนานที่หลับใหล ก็ล้วนเป็นรายละเอียดที่อภิชาติพงศ์สนใจและมักจะอ้างถึงไว้ในผลงานชิ้นก่อนหน้าหลายๆ เรื่องของเขา การได้ชม ‘memoria’ จึงเหมือนเป็นการย้อนทวนความทรงจำที่มีต่องานภาพยนตร์ในอดีตของอภิชาติพงศ์แบบกลายๆ ขับเน้นความต่างคล้ายระหว่างประเทศโคลอมเบียและไทยชวนให้พินิจเทียบเคียงในฉากส่องสะท้อนเหล่านี้

แต่สิ่งหนึ่งที่เปลี่ยนไปอย่างชัดเจนเลยก็คือการร่วมงานกับนักแสดงมืออาชีพทั้งหมดใน ‘memoria’ ซึ่งดูจะต่างขั้วจากการใช้นักแสดงมือสมัครเล่น non-professional หรือนักแสดงประจำของอภิชาติพงศ์ในผลงานหนังไทยเรื่องเก่าๆ ของเขาในระดับผิดหูผิดตา จากความประดักประเดิด เก้ๆ กังๆ กระดากขวยที่ดูไม่ค่อยจะเป็นธรรมชาติ (ซึ่งก็อาจเป็นความประดิษฐ์สังเคราะห์ที่จงใจ) พออภิชาติพงศ์ได้นักแสดงที่รู้งานและมีประสบการณ์ ทุกคนก็สามารถปรับการแสดงให้เข้ากับน้ำเสียงและวิถีการเล่าในแบบของอภิชาติพงศ์ ราวกับเคยร่วมงานกันมาแล้วหลายครั้ง ฉากที่เจสสิกาขอยา Xanax จากหมอ ซึ งคลับคล้ายเหลือเกินกับฉากเดียวกันใน ‘สุดเสน่หา’ ทิลดา สวินตันทำให้ความขำขันน่ารักของฉากนี้ดูมีธรรมชาติเอามากๆ  ในขณะที่ฉากการนอนหลับสนิทโดยไม่ฝันของแอร์นัน นักขอดเกล็ดปลา ที่ดูเหมือนว่าจะเล่นง่าย แต่ถ้าเป็นนักแสดงที่ไม่มีประสบการณ์จริงๆ ก็อาจไม่สามารถ่ายทอดความแน่นิ่งที่ยังมีชีวิตสุดอัศจรรย์แบบนี้ได้ อย่างที่เอลกิน ดีอาซแสดงไว้โดยอาศัยทักษะทางการแสดงของเขา ซึ่งก็นับเป็นจุดเปลี่ยนในงานภาพยนตร์ของอภิชาติพงศ์ที่น่ายินดี ยังผลให้ลีลาการเล่าทั้งหมดของหนังมีความ breezy เป็นธรรมชาติและดูเข้าใจอะไรๆ ได้ง่ายขึ้นจากความประจักษ์ชัดทางการแสดง แม้ว่าลีลาของเรื่องเล่าในแบบสัจนิยมมหัศจรรย์ หรือ magical-realism ที่อาจได้รับอิทธิพลจากงานเขียนของ กาเบรียล การ์เซีย มาร์เกซ แห่งโคลอมเบีย ซึ่งจะต้องมีทั้งส่วนที่ดิบแบบสมจริงและส่วนมหัศจรรย์เหนือจริงคลุกเคล้ากัน จะทำให้ตัวละครเหมือนจะลอยเข้ามาแล้วลอยผ่านไป โดยไม่มี back story หรือ motive agenda ที่ชัดเจนอะไรก็ตามที

อีกส่วนที่เหมือนจะขาดไปไม่ได้เลยในงานภาพยนตร์ของอภิชาติพงศ์ ก็คือองค์ประกอบของงานแนวไซ-ไฟที่กลายเป็นสีสันอันเป็นลายเซ็นประจำตัวของเขาไปเสียแล้ว แต่รายละเอียดแบบไซ-ไฟส่วนใหญ่ก็จะมาในลักษณะการอ้างอิงที่ไม่ได้ลงลึกไปถึงหลักการทางวิทยาศาสตร์อะไรมากนัก เหมือนอภิชาติพงศ์จะรักในบรรยากาศของงานสยองขวัญไซ-ไฟเก่าๆ เชยๆ และอยากจะนำมาใส่ไว้ในงานของเขามากกว่าจะชวนถกประเด็น ซึ่งรายละเอียดแปลกล้ำเหล่านี้ก็จะเห็นมาตั้งแต่ ฉากการรับสัญญาณกันขโมยรถยนต์ตามคลื่นที่ส่งมา ‘สวนศาสตร์’ หรือ ‘acoustic’ แห่งเครื่องดนตรี การแสดงภาพคลื่นเสียงที่สุดท้ายก็ปรับแต่งแปรสภาพได้ พยาธิวิทยาของพันธุ์กล้วยไม้ การใช้ความรู้ทางวิทยาศาสตร์ในการศึกษาโบราณคดี เภสัชศาสตร์แห่งยา ฉากเหินเวหา ไปจนถึงการหน่วงอัตราเร็วเสียงที่ปกติจะอยู่ที่ 346 เมตรต่อวินาที ที่อุณหภูมิ 25°C ให้สามารถล่าช้าได้ถึงเป็นพันเป็นหมื่นปีกว่าที่จะเดินทางมาถึงกระดูกหูค้อนทั่งโกลนของผู้ที่มีเสาอากาศรับ ความลับที่มาของเสียง ‘ปัง’ ในหัวของเจสสิกาจึงเป็นไปได้หลายแหล่งจากหลายช่วงเวลา อาจจะเป็นเพียงการปล่อยระบายไอเสีย หรือเป็นเสียงเสียดตอกกะโหลกไล่วิญญาณร้าย ซึ่งผู้ชมจะต้องเป็นฝ่ายถอดความหมายพินิจพิเคราะห์กันเอาเอง หากจะมุ่งมั่นคาดคั้นว่าหนังจะต้องมอบคำตอบ

MEMORIA_STILL_6_Photo_Credit_Sandro Kopp©Kick the Machine Films, Burning, Anna Sanders Films, Match Factory Productions, ZDF-Arte and Piano, 2021

เห็นการทดลองโดยเฉพาะเรื่อง ‘เสียง’ ใน ‘memoria’ เรื่องนี้แล้ว ก็ชวนให้รู้สึกดีใจที่วิญญาณของการเป็น ‘นักทำหนังทดลอง’ ของ อภิชาติพงศ์ วีระเศรษฐกุล ซึ่งปรากฏชัดมาตั้งแต่ผลงานหนังสั้นเรื่องแรกๆ อย่าง 0016643225059, Like the Relentless Fury of the Pounding Waves, Thirdworld, Windows, Malee and the Boy ที่ล้วนเล่นกับ ‘ความไปด้วยกัน’ และ ‘ความไม่ไปด้วยกัน’ ระหว่างภาพและเสียงอย่างหนักหน่วง จะหวนกลับมา top form อีกครั้งในภาพยนตร์ทดลองขนาดยาวเรื่องนี้ โดยเฉพาะในองค์ประกอบด้าน ‘เสียง’ ที่ไม่ใคร่จะมีใครทดลองเล่นสักเท่าไหร่ ซึ่งใน ‘memoria’ อภิชาติพงศ์ก็ดูจะมีประเด็นทดลองที่ไปได้ไกลและมีความเป็น ‘นวัตกรรม’ ด้านภาพยนตร์ที่ล้ำเสียยิ่งกว่าการเล่นกับเสียง noise กลบบทสนทนาอย่างใน The Discreet Charm of the Bourgeoisie (1972) ของ หลุยส์ บุนเญล การล้วงความจริงจากเสียงบันทึกใน The Conversation (1974) ของ ฟรานซิส ฟอร์ด คอปโปลา และ Blow-out (1981) ของ ไบรอัน เดอ พัลมา และการประกาศศักดาของการใช้เสียงโดยไร้ภาพในหนังอย่าง L’homme atlantique (1981) ของ มาร์เกอริต ดูราส, Blue (1993) ของ ดีเร็ค จาร์แมน และ Snow White (2000) ของ ฆวน ซีซาร์ มอนเตโร ซึ่งก็ทำให้รู้สึกว่า ‘หนังทดลอง’ ไม่ว่าจะสั้นจะยาวเพียงไหน ที่ทางในการฉายไม่ควรจำกัดเพียง ห้องฉาย ห้องประชุม หรือห้องใต้ดิน เล็กๆ แคบๆ แต่ควรจะได้ฉายในโรงภาพยนตร์จอใหญ่ขนาดมาตรฐานทั่วไปด้วยระบบเสียงระดับจัดเต็มครบครัน เพื่อสำแดงศักยภาพในการตั้งคำถามและค้นหาคำตอบของหนังตระกูลนี้ได้อย่างเต็มพิกัดอย่างที่ควรจะเป็น 

‘memoria’ จึงเป็นผลงานสุด avant-garde ล้ำหน้า ท้าทายการทำหนังเล่นประเด็นสังคมของผู้กำกับรายอื่นๆ กันแบบ ‘ไปต่อไม่รอแล้วนะ!’ เพราะศิลปะภาพยนตร์ยังต้องการน้ำเสียงและแนวทางเชิงทดลองใหม่ๆ อีกมากมาย ไม่ให้เกิดความซ้ำซากย่ำวนจนไม่อาจพัฒนาสู่ความเป็นไปได้อื่นๆ  ที่ยังคงรอการค้นพบจากนักทดลองหนังพันธุ์แท้อย่างผู้กำกับ อภิชาติพงศ์ วีระเศรษฐกุล

ฉะนั้นแล้ว หลังจากที่ความรุนแรงของการแพร่ระบาดไวรัสโคโรนาสายพันธุ์เก่าใหม่เริ่มทุเลาเบาคลาย และหลังจากได้ผ่านพ้นห้วงเวลาไว้อาลัยต่อผู้ที่ล้มหายตายจากเราไป ก็น่าจะถึงเวลากลับมา ‘เฉลิมฉลอง’ ชีวิตกันใหม่ ด้วยการหวนกลับไปชมภาพยนตร์ในโรงตามมาตรการเฝ้าระวังความปลอดภัย ซึ่ง ‘memoria’ ก็น่าจะเป็นอีกทางเลือกที่จะทำให้เราหันกลับมาศรัทธาต่อ ‘ชีวิต’ ได้อีกครั้ง ผ่านการเดินทางไปยังดินแดนใหม่ๆ หวนกลับไปสู่ธรรมชาติเพื่อชุบชโลมหัวใจ เงี่ยหูฟังสุ้มเสียงสำเนียงแปลกๆ ใหม่ๆ พร้อมค้นหาความหมาย และที่สำคัญคือการระลึกถึงห้วงเหตุการณ์ที่เคยผ่านพ้นไป หากอาจฝังลึกเป็นความทรงจำภายใน รอวันที่จะได้หวนกลับมากระทบสัมผัสประสาทของเรากันอีกครั้งเมื่อถึงเวลา

และหากมีโอกาสได้ชมก็อย่าลืมนั่งรอฟังทุกสรรพเสียงแม้ในช่วง end credit ภาษาสเปนที่หลายๆ คนอาจอ่านไม่เข้าใจ และเมื่อหนังจบผู้ชมท่านใดที่ออกจากโรงหนังแล้วพบว่า ‘อ้าว! ข้างนอกฝนตกนี่นา’ ท่านก็จะกลายเป็นผู้โชคดีที่ได้รับประสบการณ์สุดมหัศจรรย์ เป็นของขวัญแสนพิเศษจากตัวหนังที่อีกหลายๆ คนก็อาจไม่ได้รับเหมือนตัวคุณ!

MOST READ

Life & Culture

14 Jul 2022

“ความตายคือการเดินทางของทั้งคนตายและคนที่ยังอยู่” นิติ ภวัครพันธุ์

คุยกับนิติ ภวัครพันธุ์ ว่าด้วยเรื่องพิธีกรรมการส่งคนตายในมุมนักมานุษยวิทยา พิธีกรรมของความตายมีความหมายแค่ไหน คุณค่าของการตายและการมีชีวิตอยู่ต่างกันอย่างไร

ปาณิส โพธิ์ศรีวังชัย

14 Jul 2022

Life & Culture

27 Jul 2023

วิตเทเกอร์ ครอบครัวที่ ‘เลือดชิด’ ที่สุดในอเมริกา

เสียงเห่าขรม เพิงเล็กๆ ริมถนนคดเคี้ยว และคนในครอบครัวที่ถูกเรียกว่า ‘เลือดชิด’ ที่สุดในสหรัฐอเมริกา

เรื่องราวของบ้านวิตเทเกอร์ถูกเผยแพร่ครั้งแรกทางยูทูบเมื่อปี 2020 โดยช่างภาพที่ไปพบพวกเขาโดยบังเอิญระหว่างเดินทาง ซึ่งด้านหนึ่งนำสายตาจากคนทั้งเมืองมาสู่ครอบครัวเล็กๆ ครอบครัวนี้

พิมพ์ชนก พุกสุข

27 Jul 2023

Life & Culture

4 Aug 2020

การสืบราชสันตติวงศ์โดยราชสกุล “มหิดล”

กษิดิศ อนันทนาธร เขียนถึงเรื่องราวการขึ้นครองราชสมบัติของกษัตริย์ราชสกุล “มหิดล” ซึ่งมีบทบาทในฐานะผู้สืบราชสันตติวงศ์ หลังการเปลี่ยนแปลงการปกครองโดยคณะราษฎร 2475

กษิดิศ อนันทนาธร

4 Aug 2020

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • Always Active

Save