fbpx

ถอดรหัสวิกฤตรัสเซีย-ยูเครนผ่านเอเชียตะวันออกและอาเซียน

…ชีวิตจะชนะความตาย และแสงสว่างจะชนะความมืดมิด ขอความรุ่งโรจน์จงบังเกิดแก่ยูเครน”

วลาดิเมียร์ เซเลนสกี ประธานาธิบดียูเครน [1]

เป็นเวลาราวกว่าหนึ่งสัปดาห์ นับตั้งแต่ประธานาธิบดีรัสเซีย วลาดิเมียร์ ปูติน เปิดฉาก ‘ปฏิบัติการทางทหารพิเศษ’ เพื่อบุกโจมตีประเทศยูเครน มุ่งหมายปักธงชัยชนะที่เมืองหลวงอย่างกรุงคีฟ ทำให้ภาพของสถานที่ปรักหักพัง ผู้คนจำนวนมากที่ต้องอพยพออกจากมาตุภูมิ และชาวยูเครนจำนวนมากที่ลุกขึ้นมาถืออาวุธปกป้องบ้านเกิดของตนเอง กลายเป็นภาพที่ถูกฉายไปทั่วโลก สะท้อนถึงความน่าหวาดหวั่นของสงครามที่เปลี่ยนชีวิตของคนนับล้านได้ในพริบตา และคล้ายจะนำพาให้โลกกลับเข้าสู่ภาวะทางสองแพร่ง ‘สงครามหรือสันติภาพ’ อีกครั้ง นับตั้งแต่สิ้นสุดยุคสงครามเย็น

ท่ามกลางฝุ่นควันและกระแสความผันผวนของสงครามมาพร้อมกับคำถามและประเด็นมากมายที่เกิดขึ้น – การที่รัสเซียตัดสินใจบุกโจมตียูเครนมาจากความต้องการเถลิงอำนาจเพียงอย่างเดียว หรือจริงๆ แล้วยังมีเหตุผลอื่นใดประกอบอีก ตัวแสดงในการเมืองระหว่างประเทศที่เกี่ยวข้องมีปฏิกิริยาอย่างไร และที่สำคัญที่สุด แนวโน้มต่อไปของสงครามจะเป็นอย่างไร สงครามครั้งนี้จะยืดเยื้อยาวนานเหมือนครั้งที่ม่านเหล็กแผ่ปกคลุมโลก หรือโลกจะช่วยกันหาทางออกจากความมืดมิดครั้งนี้ได้ในเร็ววัน?

101 ชวนมองวิกฤตรัสเซีย-ยูเครน ไล่เรียงตั้งแต่ที่มาที่ไป โดยเฉพาะในมุมมองของรัสเซีย ท่าทีของรัฐในเอเชียตะวันออกและเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ไปจนถึงการคาดการณ์แนวโน้มในอนาคตที่อาจเกิดขึ้นได้สำหรับสงครามครั้งนี้

แน่นอนว่าสงครามไม่เคยให้อะไรกับใคร หรือถ้าพูดให้ถึงที่สุด สงครามไม่ก่อให้เกิดผลดีแม้กระทั่งกับผู้ที่เริ่มก่อสงครามขึ้นมา แต่ท่ามกลางความมืดมิดที่แผ่ปกคลุมทั่วยุโรป ณ ขณะนี้ เรายังพอเห็นภาพความสวยงามของมนุษยธรรม เห็นน้ำใจที่มนุษย์หยิบยื่นให้เพื่อนร่วมโลกโดยไม่ถูกกีดกั้นด้วยเส้นแบ่งพรมแดนรัฐชาติ เป็นเหมือนแสงแห่งความหวังและการภาวนาว่าสันติภาพจะกลับมาสู่โลกในเร็ววัน

ดังที่ประธานาธิบดีเซเลนสกีได้กล่าวไว้ “ขอความรุ่งโรจน์จงบังเกิดแก่ยูเครน” และขอให้ความรุ่งโรจน์บังเกิดแก่โลกที่ปราศจากความรุนแรงและความตายเช่นกัน

มองวิกฤตรัสเซีย-ยูเครนผ่านมุมรัสเซีย – กัณฐัศศา พงษ์หิรัญ

สำหรับผู้เชี่ยวชาญด้านรัสเซียอย่าง อาจารย์ ดร.กัณฐัศศา พงษ์หิรัญ รักษาการผู้อำนวยการโครงการรัสเซียศึกษา คณะศิลปศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ การทำความเข้าใจเหตุการณ์ความขัดแย้งที่เกิดขึ้นอย่างถ่องแท้และชัดเจน ต้องเริ่มจากการพิจารณามุมมองของฝั่งรัสเซียและฝั่งตะวันตกที่มีความแตกต่างกัน ตั้งแต่เรื่องการให้คุณค่า บรรทัดฐาน หลักคิดและกระบวนการทางความคิดต่างๆ

ถ้าขยายความให้ชัดขึ้น รัสเซียจะยึดติดกับคุณค่าทางประวัติศาสตร์และเรื่องราวในอดีต เพราะหลักของรัสเซียยึดโยงกับแนวคิดชาตินิยมแบบแยกออกจากกันไม่ได้ และเครื่องมือสำคัญประการหนึ่งที่ทำให้ชาตินิยมมีความเข้มแข็งก็คือหลักคิดทางประวัติศาสตร์ ซึ่งถ้าเราติดตามข่าวสารจะเห็นว่าประธานาธิบดีรัสเซีย วลาดิเมียร์ ปูติน เอ่ยถึงความสำคัญของประวัติศาสตร์ว่า เป็นปัจจัยสำคัญในการโยงให้เห็นถึงเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นในปัจจุบัน

ขณะเดียวกัน ฝั่งตะวันตกจะไม่ยึดติดกับอดีต โดยเฉพาะหลักทางประวัติศาสตร์ แต่จะมองเรื่องที่เกิดขึ้นในปัจจุบันและจะเกิดขึ้นในอนาคต ผ่านคุณค่าและมาตรฐานความคิดปัจจุบัน โดยเฉพาะหลักเสรีนิยมประชาธิปไตย

นอกจากนี้ กัณฐัศศายังชี้ให้เห็นถึงความสัมพันธ์ระหว่างรัสเซียและยูเครนว่า เป็นความผูกพันที่มากกว่าการมีดินแดนติดกันและเป็นเพื่อนบ้านกัน แต่เป็นความผูกพันของผู้ที่มีความเกี่ยวโยงกันทางชาติพันธุ์ ประวัติศาสตร์ และความเป็นมา เพราะแต่เดิม อาณาจักรรัสเซียมีพื้นเพความเป็นมาจากอาณาจักรรุสเคียฟ (กรุงคีฟ เมืองหลวงของยูเครนในปัจจุบัน) และพัฒนาจนกลายเป็นจักรวรรดิรัสเซียที่เข้มแข็ง

อย่างไรก็ดี ความน่าสนใจประการหนึ่งของรัสเซียคือ ไทม์ไลน์ประวัติศาสตร์รัสเซียไม่สามารถแมตช์กับทางยุโรปตะวันตกได้ เพราะรัสเซียถูกมองโกลปกครองในช่วงราวศตวรรษ 13-15 จนทำให้รัสเซียกลายเป็นเหมือนเมืองครอบแก้ว โดนแช่แข็งทางวัฒนธรรม ทำให้เมื่อระบบฟิวดัลหรือทาสติดที่ดินในยุโรปสิ้นสุดลงประมาณศตวรรษที่ 15 รัสเซียยังคงมีระบบดังกล่าวจนถึงประมาณศตวรรษที่ 19

“เมื่อเข้าสู่ช่วงต้นศตวรรษที่ 19 ซึ่งเป็นยุคสมัยของซาร์นิโคลัสที่ 1 เริ่มเกิดความผันผวนด้านการเมืองจากฝั่งยุโรปตะวันตก เนื่องจากเกิดการปฏิวัติฝรั่งเศส ทำให้แนวคิดของนักคิดต่างๆ เริ่มเข้ามาในรัสเซีย สังคมเริ่มระส่ำระส่าย ระบบอัตตาธิปไตยเริ่มสั่นคลอนและเกิดขบวนการต่างๆ ขึ้น ซาร์นิโคลัสที่ 1 จึงวางโครงสร้างการปกครองขึ้นมา 3 ประการ คืออัตตาธิปไตย ออร์ธอดอกซ์ (Orthodox) และชาตินิยม ผนวกรวมกันเป็นตัวสร้างความมั่นคง ทำให้โครงสร้างทางสังคมของรัสเซียเข้มแข็งและเป็นหนึ่งเดียว”

นอกจากนี้ จักรวรรดิรัสเซียยังได้นำแนวความคิด ‘การทำให้เป็นรัสเซีย’ (Russification) เข้ามาใช้กับบรรดาดินแดนชายขอบที่ถูกผนวกเข้ามา โดยเฉพาะกับยูเครน เบลารุส โปแลนด์ และรัฐแถบบอลติก สร้างแรงกดทับทางวัฒนธรรม บังคับให้ใช้ภาษารัสเซียเป็นภาษาราชการ บังคับให้ต้องพูด อ่าน เขียน ภาษารัสเซีย และพยายามลบล้างประวัติศาสตร์หรือตำนานพื้นเมืองของอีกฝ่าย ทำให้เกิดทั้งกลุ่มคนที่จงรักภักดีและกลุ่มคนที่เกลียดชังจักรวรรดิรัสเซีย

ต่อมา เมื่อเกิดการปฏิบัติรัสเซียขึ้นในปี 1917 สหภาพโซเวียตได้นำแนวคิดเดิมเข้ามาใช้ในรูปแบบการทำให้เป็นโซเวียต (Sovietisation) กล่าวคือทุกดินแดนที่ถูกผนวกเข้ามายังคงถูกกดทับและเรียกว่าเป็นชาวโซเวียตทั้งหมด ทั้งหมดนี้ยิ่งสร้างความกดทับและความต้องการรื้อฟื้นรากเหง้าของตนเองในภูมิภาคยุโรปตะวันออก ยุโรปกลาง และรัฐบอลติก

สำหรับยูเครน กัณฐัศศาชี้ให้เห็นว่า ยูเครนไม่ได้เป็นปึกแผ่นอย่างที่หลายคนคิด แต่เป็นเหมือนประเทศที่ถูกหลายส่วนๆ มาแปะรวมกัน มีทั้งกลุ่มคนที่อยากจะออกจากรัสเซียและคนที่อยากอยู่กับรัสเซีย อีกทั้งยังมีความหลากหลายทางชาติพันธุ์ จึงเป็นสาเหตุหนึ่งที่ทำให้นโยบายไม่สามารถกลมกลืนเนียนไปในทางเดียวกันได้

เมื่อเข้าใจพื้นฐานทางประวัติศาสตร์ของรัสเซียและยูเครนแล้ว จึงนำมาสู่คำถามสำคัญและเป็นหัวข้อหลักในช่วงนี้คือ ทำไมรัสเซียจึง ‘มอง’ ว่ายูเครนเป็นสาเหตุทำให้ตนเองไม่มั่นคงจนกลายเป็นสงครามอย่างในปัจจุบัน

“เหตุผลประการแรก ต้องย้อนกลับไปตั้งแต่ช่วงปลายของสงครามเย็น ในปี 1989 เป็นช่วงที่กำแพงเบอร์ลินล่มสลาย และมีการตกลงกันแบบไม่เป็นลายลักษณ์อักษรระหว่างมิคาอิล กอร์บาชอฟ กับประธานาธิบดีจอร์จ บุช ผู้พ่อ ที่คุยกันว่าจะสนับสนุนการรวมเยอรมนีตะวันออกและตะวันตกเข้าด้วยกัน แต่ขณะเดียวกัน องค์การสนธิสัญญาแอตแลนติกเหนือ (NATO) ต้องให้ความเชื่อมั่นกับรัสเซียด้วยว่าจะไม่ขยับหรือรุกคืบเข้ามาในดินแดนที่เป็นอิทธิพลของโซเวียต จนกระทั่งโซเวียตถึงคราวล่มสลายในปี 1991”

กัณฐัศศาอธิบายต่อว่า เมื่อสหพันธรัฐรัสเซียเกิดขึ้น ประธานาธิบดีคนแรกอย่างบอริส เยลซิน มีนโยบายหันเข้าหาตะวันตกและมองว่ารัสเซียเป็นส่วนหนึ่งของตะวันตก แต่ฝั่งตะวันตกรวมถึงสหรัฐฯ กลับมองว่านี่คือช่วงเวลาที่ตนเองสามารถเอาคืนการกระทำของรัสเซียในช่วงที่ผ่านมา ตลอดทศวรรษ 1990 จึงเป็นช่วงที่รัสเซียตกต่ำมากในแง่การมีบทบาทบนเวทีการเมืองระหว่างประเทศ ทั้งยังมีการขยายสมาชิกภาพ NATO ยุโรปตะวันออกและสามรัฐบอลติกต่างสมัครเข้าร่วมนาโต โดยเฉพาะในวิกฤตการณ์โคโซโวในช่วงปลายทศวรรษที่ 1990 ที่ยิ่งทำให้รัสเซียรู้สึกว่าตนเองถูกลดบทบาทและถูกเมินเฉย

“เมื่อเยลซินลาออกก่อนกำหนดและปูตินขึ้นมาเป็นประธานาธิบดีแทน เขาก็ใช้นโยบายหันเข้าหาตะวันออกมากขึ้นทันที เมื่อรัสเซียเริ่มเข้มแข็งมากขึ้น เขาก็หันมามองดินแดนรอบๆ ที่เคยอยู่ใต้อิทธิพลของตนเอง เป็นดินแดนที่เรียกว่าดินแดนประชิดบ้าน (near abroad) ซึ่งดินแดนที่ยังอยู่รอดปลอดภัยและ NATO ยังไม่เข้ามาคือยูเครน จอร์เจีย และเบลารุส ซึ่งถือว่าเป็นรัฐที่สำคัญในแง่ภูมิรัฐศาสตร์มาก โดยเฉพาะยูเครนที่อยู่แถบดินแดนทะเลดำ เป็นเขตอิทธิพลเดิมของรัสเซีย ถ้ามีอะไรเกิดขึ้นกับดินแดนแถบนี้จะทำให้รัสเซียรู้สึกถูกคุกคามอย่างหนัก เพราะเป็นทั้งเขตเศรษฐกิจ เขตอิทธิพลทางการทหาร มีกองทัพเรือ และยังสามารถเดินทางจากแถบทะเลดำไปยังเมอดิเตอเรเนียนได้ด้วย”

“ปัจจัยทั้งหมดทำให้รัสเซียหวั่นใจ เพราะรัสเซียเห็นแล้วว่าตั้งแต่ช่วงทศวรรษ 2000 เป็นต้นมา ยูเครนมีความมุ่งมั่นชัดเจนที่จะเป็นส่วนหนึ่งของยุโรปและ NATO แต่ขณะเดียวกัน ประธานาธิบดียูเครนก็สลับกันทั้งฝ่ายโปรรัสเซียและฝ่ายที่โปรตะวันตกมาโดยตลอด จนกระทั่งปี 2014 เกิดการรัฐประหารล้มล้างอดีตประธานาธิบดีวิกเตอร์ ยานูโควิช ซึ่งเป็นฝ่ายโปรรัสเซีย ประกอบกับความขัดแย้งภายในจนทำให้เกิดความผันผวนในยูเครน จนกลายเป็นช่องทางให้รัสเซียเข้ามามีอิทธิพลในวิกฤตการณ์ไครเมีย

กัณฐัศศาอธิบายเพิ่มเติมว่า แม้รัสเซียจะผนวกรวมไครเมียได้สำเร็จ แต่เหตุการณ์ดังกล่าวกลับส่งผลเป็นเหมือนทฤษฎีโดมิโน ทำให้บรรดากกลุ่มแบ่งแยกดินแดนบริเวณภูมิภาคดอนบาส ซึ่งโน้มเอียงไปทางรัสเซียเริ่มต้องการสิทธิในการประกาศเอกราชและปกครองตนเอง ทั้งยังรู้สึกถึงความไม่เป็นธรรมและไม่เท่าเทียมในการปฏิบัติ โดยเฉพาะการถูกคุกคามโดยรัฐบาลยูเครน จึงเป็นโอกาสให้รัสเซียใช้ข้ออ้างเช่นนี้เข้ามามีอิทธิพล

“ในมุมมองของรัสเซีย การบุกยูเครนมีจุดประสงค์ชัดเจนคือ การตอบโต้ที่ NATO ผิดสัญญา ยิ่งถ้า NATO รับยูเครนเป็นสมาชิก ก็เท่ากับว่ากองทัพของ NATO เข้ามาจ่อคอหอยประชิดรัสเซีย และแน่นอน รัสเซียมองว่าการรุกคืบคงจะไม่หยุดเท่านี้ แต่อาจจะค่อยๆ รุกคืบเพิ่มเข้าไปในดินแดนประชิดบ้าน โดยเฉพาะในแถบคอเคซัสและเอเชียกลางที่รัสเซียหวงแหนมาก”

กัณฐัศศาไล่เรียงให้เห็นว่า ตั้งแต่ช่วงกลางปีที่ผ่านมา NATO แสดงท่าทีชัดเจน ทั้งการส่งกองเรือลาดตระเวนแถบทะเลดำ มีการซ้อมรบ อีกทั้งนโยบายของประธานาธิบดีสหรัฐฯ โจ ไบเดน ก็แสดงให้เห็นชัดเจนถึงการฟื้นฟูบทบาทของ NATO และสหภาพยุโรป (EU) ขึ้นมา สะท้อนถึงความต้องการรีเซตระเบียบโลกใหม่โดยการแยกจีนออกจากรัสเซีย เพราะสองประเทศนี้เคยสร้างระเบียบโลกใหม่สำเร็จมาแล้ว

“ถ้าพูดให้ถึงที่สุด ไบเดนต้องการโดดเดี่ยวรัสเซีย ซึ่งก็ทำได้หลายประการ ทั้งการสร้างภาพให้รัสเซียเป็นผู้ร้ายผ่านสงครามข่าวสารหรือโฆษณาชวนเชื่อ (propaganda) ต่างๆ”

กัณฐัศศากล่าวสรุปว่า ทั้งหมดนี้คือเป็นที่มาที่ไปและแสดงให้เห็นว่า การบุกยูเครนของรัสเซียไม่ใช่เพื่อผนวกยูเครนทั้งหมด แต่มีสาเหตุหลักมาจากการที่รัสเซียรู้สึกถูกคุกคามจากอิทธิพลของ NATO และยังรู้สึกถึงการถูกเพิกเฉยต่อสัญญาเดิมจนสร้างความหวาดหวั่นต่อรัสเซีย

“มีอีกคำถามหนึ่งที่หลายฝ่ายสนใจคือ ในเมื่อองค์การสนธิสัญญาวอร์ซอว์ (Warsaw Pact) สูญสลายไปพร้อมกับสงครามเย็น แต่ทำไม NATO ยังคงอยู่และมุ่งเป้าไปที่รัสเซียว่าเป็นภัยคุกคามหลัก นี่จึงเป็นเหตุผลที่เราควรทราบที่มาที่ไปด้วย เพราะสื่อหลายเจ้าที่เราเสพมาจากทางตะวันตกและมีเรื่องของโฆษณาชวนเชื่อสูงมาก”

สำหรับแนวโน้มต่อไปของสงครามครั้งนี้ กัณฐัศศามองว่าเป็นไปได้หลายทาง ทั้งการที่สงครามจะสงบลงในเร็ววันและใช้กลไกการเจรจาทางการทูตแทน หรือกลายเป็นสงครามยืดเยื้อ แต่ทั้งนี้ทั้งนั้น ไม่ว่าจะเป็นไปในทางใดก็ย่อมส่งผลกระทบกับรัสเซียอย่างมาก เนื่องจากมาตรการคว่ำบาตรหรืออาจลุกลามกลายเป็นวิกฤตการณ์พลังงาน

“เราอาจจะต้องมองหาตัวกลางในการเจรจามากขึ้น มีการจัดเวทีประชุมให้เกิดการเจรจาอย่างชัดเจน และอาจจะต้องถอยกันคนละครึ่งก้าวพร้อมทั้งแสดงจุดยืนว่ารัสเซียและยูเครนต้องการอะไร แต่การจุดแสดงยืนนี้ก็ควรจะอยู่ในรูปแบบของสนธิสัญญาเพื่อให้มีการปฏิบัติอย่างจริงจัง เพื่อให้สงครามสิ้นสุดลงได้” กัณฐัศศากล่าวสรุป

ถอดรหัสเอเชียตะวันออกในวิกฤตการณ์รัสเซีย-ยูเครน – สิทธิพล เครือรัฐติกาล

หนึ่งในประเทศที่โดนจับตามองเป็นอย่างยิ่งในความขัดแย้งครั้งนี้คือ จีน ทั้งด้วยตำแหน่งแห่งที่ของจีนในเวทีระหว่างประเทศ ไปจนถึงความสัมพันธ์ระหว่างจีน-รัสเซีย รวมถึงแนวคิดและการให้คุณค่าหลายๆ อย่าง จนทำให้หลายคนคาดการณ์ว่าจีนมีโอกาสสูงที่จะโน้มเอียงหรือแสดงท่าทีสนับสนุนรัสเซีย

“ท่าทีของจีนในสงครามครั้งนี้เป็นความต่อเนื่องมาตั้งแต่วิกฤตการณ์ไครเมียในปี 2014” รศ.ดร. สิทธิพล เครือรัฐติกาล ที่ปรึกษาสถาบันเอเชียตะวันออกศึกษา และอาจารย์ประจำวิทยาลัยสหวิทยาการ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ กล่าวนำ พร้อมทั้งอธิบายเพิ่มเติมว่า ในตอนที่รัสเซียผนวกไครเมียเข้าเป็นส่วนหนึ่งของตนเอง จีนพูดแต่เพียงว่าเรื่องนี้ “มีความซับซ้อนทางประวัติศาสตร์” และไม่ได้แสดงท่าทีอะไรไปมากกว่านั้น

“มีการวิเคราะห์กันว่า การที่จีนไม่แสดงอะไรท่าทีมากในกรณีไครเมียเพราะจีนต้องการเซฟตัวเอง มิเช่นนั้นจะกลายเป็นว่าจีนเห็นชอบกับหลักการกำหนดอนาคตตนเอง (self-determination) ซึ่งอาจจะกลับมาทิ่มแทงจีนในกรณีฮ่องกง ไต้หวัน ทิเบต หรือซินเจียงอุยกูร์ได้ และจีนย่อมไม่อยากให้เรื่องนี้เกิดขึ้นแน่ๆ เพราะนั่นจะเป็นการทำลายบูรณภาพทางดินแดนของจีน”

เมื่อมาถึงกรณีรัสเซียบุกยูเครน สิทธิพลชี้ให้เห็นว่า ในตอนแรก ท่าทีของจีนก็ยังเหมือนกับในกรณีไครเมีย อีกทั้งจีนยังพูดอย่างชัดเจนว่า รากฐานของปัญหามาจากการขยายตัวของ NATO เข้าไปทางทิศตะวันออกจนทำให้รัสเซียรู้สึกไม่มั่นคงปลอดภัย ถ้ากล่าวให้ชัดขึ้น จีนไม่ได้มองว่ารัสเซียอยากขยายอำนาจ แต่รัสเซียโดนกระทำก่อนจึงต้องปกป้องตนเอง

ทว่าเมื่อการรุกรานดำเนินมาราวหนึ่งสัปดาห์กว่าๆ ท่าทีของจีนเปลี่ยนแปลงไปเล็กน้อย กล่าวคือแม้จีนจะยังไม่ประณามปูตินเหมือนในหลายๆ ประเทศ ทว่าจีนก็ไม่ได้เอ่ยอ้างถึงความซับซ้อนทางประวัติศาสตร์แล้วเช่นกัน แต่เริ่มหันไปหาหลักการที่รัฐทุกรัฐต้องเคารพอธิปไตยของกันและกัน และการที่รัฐเอกราชหนึ่งใช้กำลังรุกรานอีกรัฐเอกราชหนึ่งเป็นสิ่งที่ไม่ชอบธรรม

เมื่อถามว่าทำไมท่าทีของจีนจึงได้เปลี่ยนไป สิทธิพลชี้ว่ามาจากเหตุผล 2 ข้อ ประการแรก จีนค่อนข้างให้ความสนใจกับภาพลักษณ์ของตนเองในเวทีโลก และยึดหลักว่าตนเองจะเป็นพละกำลังหลักของโลกในการต่อต้านลัทธิความเป็นใหญ่มาตั้งแต่ยุคประธานเหมา เจ๋อตง กล่าวคือจะเคารพบูรณภาพทางดินแดนและไม่รุกรานดินแดนอื่นๆ ซึ่งขัดกับสิ่งที่รัสเซียกระทำอยู่ในตอนนี้ และ ประการที่สอง ซึ่งจับต้องได้มากกว่าข้อแรกคือ ตอนนี้พลเมืองจีนอยู่ในยูเครนเกือบหมื่นคน ดังนั้น จีนจำเป็นต้องคำนึงถึงสวัสดิภาพความปลอดภัยของพลเมืองตนเองด้วย

“จากการประชุมสมัชชาใหญ่แห่งสหประชาชาติ (UNGA) และคณะมนตรีความมั่นคงแห่งสหประชาชาติ (UNSC) ที่ผ่านมาซึ่งมีการพูดถึงเรื่องนี้ จีนก็ไม่ได้ใช้สิทธิ Veto แต่ใช้สิทธิงดออกเสียง (abstain) เป็นการกระทำแบบบัวไม่ให้ช้ำน้ำไม่ขุ่น ไม่ถึงขั้น offend รัสเซีย แต่ก็ไม่ได้หันหลังให้ตะวันตก แสดงว่าจีนเริ่มเอียงเข้าหารัสเซียน้อยกว่าแต่ก่อนแล้ว”

ในระยะยาว สิทธิพลมองว่าจีนอยากให้ปัญหาดังกล่าวจบลงโดยไว เพราะการกระทำของปูตินส่งผลเสียต่อจีนในสองเรื่องใหญ่ เรื่องแรก คือโครงการ BRI โดยเฉพาะทางบกที่จะเชื่อมเอเชียเข้าด้วยกันผ่านตะวันออกกลาง ผ่านรัสเซีย ไปที่ยุโรปและแอฟริกา แต่การที่สินค้าของจีนจะเข้ายุโรป ต้องผ่านยูเครนกับเบลารุสอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ ซึ่งแน่นอนว่าถ้าสองประเทศนี้อยู่ในสภาวะสงครามย่อมไม่ส่งผลดีต่อโครงการ BRI ของจีนอย่างแน่นอน

เรื่องที่สอง และเป็นปัญหาใหญ่กว่าเรื่องแรกคือ สิ่งที่ปูตินทำอาจกลายเป็นบรรทัดฐานแรกในการสร้างความยิ่งใหญ่ให้รัสเซีย สิทธิพลชี้ว่า แม้จีนกับรัสเซียจะมีความสัมพันธ์ที่ดีต่อกันหลังโซเวียตล่มสลาย ทว่าความสัมพันธ์ที่ดีนั้นมาจากการที่ปูตินมีจุดยืนที่แข็งกร้าวต่อโลกตะวันตกเหมือนกัน ซึ่งจีนคงไม่ชอบใจแน่นอน หากรัสเซียอยากเป็นมหาอำนาจที่ทะเยอทะยานอยากเป็นจักรวรรดิยิ่งใหญ่เหนือรัฐบอลติกหรือแถบคอเคซัส

“ตั้งแต่ช่วงศตวรรษที่ 17 เป็นต้นมา ภาคตะวันออกไกลหรือโซนไซบีเรียเป็นปัญหาความมั่นคงสำหรับจีนมาโดยตลอด และเป็นจุดที่จีนรู้สึกกังวลกับรัสเซียเช่นกัน และถ้าปูตินไม่หยุดการกระทำของตนเอง จีนก็อาจจะต้องกังวลกับการขยายบทบาทของรัสเซียในระยะยาวหรือไม่”

อีกหนึ่งประเด็นที่หลายคนพูดถึงคือการเทียบเคียงกรณีรัสเซีย-ยูเครน กับจีน-ไต้หวัน ซึ่งสิทธิพลมองว่า จีนคงไม่ได้ใช้โอกาสนี้บุกไต้หวันอย่างที่หลายคนกลัว ที่สำคัญคือ หากพิจารณาผ่านกรอบกฎหมายระหว่างประเทศ ไต้หวันไม่ได้มีสถานะเป็นประเทศเอกราชแบบเดียวกับยูเครน และจีนยังมีหนทางอื่นในการบีบไต้หวันอยู่ อีกทั้งจีนจะมีการประชุมสมัชชาพรรคคอมมิวนิสต์ครั้งที่ 20 ในช่วงปลายปี ดังนั้น ผู้นำจึงอาจจะพยายามทำให้บ้านเมืองเรียบร้อยและไม่เกิดเหตุการณ์อะไรขึ้น

นอกจากจีน อีกหนึ่งประเทศในเอเชียตะวันออกที่มีท่าทีต่อรัสเซียคล้ายคลึงกันคือเกาหลีเหนือ ซึ่งแม้เกาหลีเหนือจะไม่ได้ประณามรัสเซียและมองว่าต้นตอปัญหาคือสหรัฐฯ และ NATO แต่สิทธิพลชี้ว่า เรื่องที่เกิดขึ้นจะทำให้เกาหลีเหนือปวดหัวมากขึ้นแน่นอน เพราะสิ่งที่เกาหลีเหนือต้องการมาตลอดคือการเจรจาระหว่างผู้นำสหรัฐฯ-เกาหลีเหนือ เหมือนในช่วงอดีตประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ ทว่าไบเดนได้แสดงออกชัดเจนตั้งแต่ช่วงหาเสียงว่า จะไม่เจรจาใดๆ หากเกาหลีเหนือไม่ยอมถอยก่อนหนึ่งก้าว ประกอบกับเกิดปัญหาในยูเครนขึ้น ย่อมทำให้สหรัฐฯ หันเหความสนใจไปทางอื่นมากกว่าเดิม

และหากเราสันนิษฐานว่าสถานการณ์ในยูเครนดับฝันเกาหลีเหนือในการเจรจากับสหรัฐฯ เรื่องทำนองเดียวกันก็เกิดขึ้นในเกาหลีใต้เช่นกัน สิทธิพลชี้ว่า สงครามดังกล่าวดับฝันประธานาธิบดีมุน แจอิน ที่จะหมดวาระในช่วงเดือนพฤษภาคมนี้ เพราะความฝันของประธานาธิบดีมุนคือ การทำให้เกิดสนธิสัญญาสันติภาพบนคาบสมุทรเกาหลี แต่ตอนนี้สถานการณ์ในยูเครนกำลังคุกกรุ่น ทำให้สนธิสัญญาดังกล่าวมีแนวโน้มเกิดขึ้นได้ยากเช่นกัน

และประเทศสุดท้ายในเอเชียตะวันออกคือญี่ปุ่น ซึ่งมีมติประณามและคว่ำบาตรรัสเซีย สิทธิพลอธิบายว่า ญี่ปุ่นมีข้อพิพาทด้านดินแดนกับรัสเซียบริเวณเหนือเกาะฮอกไกโดขึ้นไป ซึ่งมีเกาะ 4 เกาะใหญ่ๆ ซึ่งรัสเซียเรียกว่าหมู่เกาะคูริลใต้ แต่ญี่ปุ่นเรียกว่าเป็นอาณาเขตทางเหนือ (northern territories) ซึ่งบริเวณดังกล่าวโดนรัสเซียยึดครองตั้งแต่ช่วงปี 1945 ที่ญี่ปุ่นแพ้สงครามโลกครั้งที่สอง

“เมื่อรัสเซียใช้กำลังกับยูเครน ก็มีความเป็นไปได้สูงที่ญี่ปุ่นจะกังวลว่า รัสเซียจะใช้กำลังแก้ไขข้อพิพาทระหว่างประเทศเสมอ สิ่งหนึ่งที่เราคงพอคาดการณ์ต่อไปได้ก็คือ อาจจะเกิดความเคลื่อนไหวในสังคมญี่ปุ่นให้ขยายกำลังทางทหารเพื่อปกป้องภัยคุกคาม โดยแก้ไขรัฐธรรมนูญมาตรา 9 เพราะตั้งแต่ทศวรรษ 1990 เป็นต้นมา คนญี่ปุ่นรุ่นใหม่ที่ไม่ทันช่วงสงครามโลกครั้งที่ 2 จะตั้งคำถามอยู่เสมอว่าทำไมตนเองต้องมาแบกรับภาระของคนรุ่นก่อน อีกทั้งความพยายามเพื่อแก้ไขรัฐธรรมนูญมาตรา 9 ก็มีอยู่เสมอ แต่ถามว่าจะแก้ได้สำเร็จหรือไม่ ก็ต้องดูท่าทีของจีนกับเกาหลีใต้ ซึ่งเป็นประเทศที่มีประสบการณ์ทางลบกับญี่ปุ่นด้วยเช่นกัน”

ในตอนท้าย สิทธิพลแสดงความคิดเห็นไว้ได้อย่างน่าสนใจว่า การถอนทหารของรัสเซียอาจจะไม่ใช่จุดสิ้นสุดของเรื่องนี้ โดยเฉพาะถ้าเรื่องการเข้า NATO ของยูเครนยังไม่ได้ข้อสรุป ดังนั้น ทางแก้ปัญหาในระยะยาวจึงอาจจะเป็นการมีสนธิสัญญาที่ให้หลักประกันความมั่นคงที่ทั้งรัสเซียและ NATO ยอมรับ ขณะที่ยูเครนก็ต้องวางตัวเป็นรัฐที่เป็นกลาง ที่ทั้งรัสเซียและ NATO จะไม่เคลื่อนกำลังเข้ามา คล้ายกับเป็นสวิตเซอร์แลนด์แห่งยุโรปตะวันออก

อ่าน 3 เกมของรัฐมหาอำนาจในความขัดแย้ง – ดุลยภาค ปรีชารัชช

“ถ้าเราเข้าใจรากประวัติศาสตร์ที่ยาวนานของรัสเซีย จะเห็นว่านับตั้งแต่การเถลิงอำนาจของราชวงศ์โรมานอฟ จักรวรรดิรัสเซียมีการขยายตัว ยึด และผนวกดินแดนตามที่ต่างๆ อย่างต่อเนื่อง เฉลี่ยหนึ่งปีขยายได้สองหมื่นตารางไมล์ และแม้ราชวงศ์โรมานอฟจะล่มสลายไปแล้วในปี 1917 ทว่าจิตวิญญาณการขยายตัวเชิงอำนาจยังได้รับการส่งต่อมาอยู่เสมอ”

ข้างต้นคือคำกล่าวนำจาก ผศ.ดร. ดุลยภาค ปรีชารัชช รองผู้อำนวยการสถาบันเอเชียตะวันออกศึกษา และอาจารย์ประจำคณะศิลปศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ซึ่งชี้ให้เห็นความคิดแบบรัฐจักรวรรดิของรัสเซียที่ฝังตัวอยู่ในความคิดของผู้นำแบบเหนียวแน่น โดยเฉพาะในยุคของปูติน ที่ดุลยภาคมองว่าต้องการฟื้นคืนชีพจักรวรรดิรัสเซียที่เกรียงไกรขึ้นมา

เพื่อให้เห็นภาพชัดขึ้น ดุลยภาคชี้ให้เห็นโมเดลพฤติกรรมของรัฐมหาอำนาจในการเล่นเกมยุทธศาสตร์กับรัฐที่มีขนาดเล็กกว่า 3 ประการ ประการแรก คือการแบ่งค่ายและขีดเขียนแผนที่ในทางภูมิรัฐศาสตร์ ดุลยภาคอธิบายว่ารัฐใหญ่ๆ มักจะเพ่งเล็งไปที่แผนที่เพื่อดูว่าจะแบ่งโลกเป็นส่วนๆ ได้อย่างไร เช่น ในช่วงสงครามเย็นที่โซเวียตพยายามขยายอำนาจบริเวณดินแดนหัวใจ (heartland) ด้วยแสนยานุภาพทางบก ขณะที่สหรัฐฯ ใช้กองทัพเรือแก้เกม ขยายอำนาจบริเวณดินแดนริมขอบ ติดพื้นทวีป ชนกับฝั่งทะเล หรือในกรณีม่านเหล็กที่มีการขีดเส้นอิทธิพลของประเทศต่างๆ

ประการที่สอง คือสิ่งที่ดุลยภาคเรียกว่า ‘เกมจ่อคอหอย’ ด้วยการเข้าไปคุกคามจุดยุทธศาสตร์ที่เปราะบางของรัฐคู่ปฏิปักษ์ เช่น วิกฤตการณ์ขีปนาวุธคิวบาสมัยสงครามเย็น

“ในปัจจุบัน ทั้งสหรัฐฯ และ NATO กำลังเพิ่มฐานยิงขีปนาวุธในโปแลนด์ และจะเพิ่มในยูเครนด้วย ซึ่งระยะทางจากกรุงคีฟถึงกรุงมอสโกไม่ไกลเลย จะเรียกว่าใกล้กันมากก็ได้ เรื่องนี้เลยกลายเป็นภัยคุกคามของรัสเซียไปโดยอัตโนมัติ และปฏิกิริยาของรัสเซียที่มีต่อยูเครนก็เป็นเพราะเรื่องนี้ด้วย”

และ ประการสุดท้าย คือ การปั่นป่วนการเมืองภายในด้วยการทำให้กลุ่มชาติพันธุ์ทะเลาะกัน ดุลยภาคชี้ให้เห็นว่า ยูเครนเป็นประเทศที่มีเส้นรอยเลื่อนหรือมีจุดแบ่งทางประวัติศาสตร์ชาติพันธุ์เยอะ มีทั้งคนโปรรัสเซียและโปรตะวันตก การที่รัสเซียบุกยูเครนจึงเป็นเหมือนการปั่นป่วนการเมืองภายใน ทำให้ประธานาธิบดีวลาดิเมียร์ เซเลนสกี ลำบากมากขึ้น

“เมื่อมองย้อนกลับมาที่ภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ผมคิดว่าเรารับอิทธิพลจากโซเวียตเยอะมากในแง่ของการตีเส้นแบ่งทางการเมืองและแบ่งค่าย ดังจะเห็นว่าจุดยืนของประเทศอาเซียนก็แตกต่างกัน เช่น สิงคโปร์ประณามรัสเซียอย่างชัดเจน ซึ่งก็พอเข้าใจได้เมื่อดูในแง่ความใกล้ชิดกับสหรัฐฯ”

“ทว่าก็ยังมีบางรัฐที่มีความสัมพันธ์สลับซับซ้อนในเชิงเห็นอกเห็นใจรัสเซีย คือเวียดนาม ลาว และพม่า เพราะอย่าลืมว่าตอนโซเวียตล่มสลาย รัฐที่รับอิทธิพลมาจากมาร์กซิสต์และเลนินนิสต์ และใช้เศรษฐกิจสังคมนิยมวางแผนจากส่วนกลางคือลาวและเวียดนาม ชนชั้นนำก็มีความเกี่ยวดองกับรัสเซียอยู่ อีกทั้งอาวุธยุทโธปกรณ์หลายอย่างก็ได้รับการสนับสนุนจากรัสเซียด้วย”

สำหรับพม่า ดุลยภาคกล่าวถึง ‘พรรค’ ซึ่งเป็นหนึ่งในองค์ประกอบของระบบเผด็จการสามขา (กองทัพ พรรค อำนาจบารมีของนายพลและพวกพ้อง) ของนายพลเนวิน ว่าเป็นโมเดลที่พม่าได้รับมาจากโซเวียตในยุคโจเซฟ สตาลิน หรือแม้กระทั่งในปัจจุบัน คณะรัฐประหารในกรุงเนปิดอว์ก็ใกล้ชิดกับกองทัพรัสเซียมาก ดังที่ในวันสวนสนามของกองทัพพม่าที่ผ่านมาก็มีตัวแทนระดับสูงของกองทัพรัสเซียเข้าร่วมด้วย

“จริงๆ ต้องบอกว่า กรณียูเครนส่งผลทางบวกกับทหารพม่าด้วย เพราะสหประชาชาติกับสหรัฐฯ หันไปสนใจกรณียูเครนมากกว่า การแบ่งกำลังมาสนใจการต่อสู้ในพม่าก็ลดลงอย่างเห็นได้ชัด จึงน่าจับตามองมากทีเดียวว่าสถานการณ์ต่อไปจะเป็นอย่างไร”

สำหรับแนวโน้มในระยะต่อไป ดุลยภาคมองว่า อาจจะยังเร็วเกินไป หากจะบอกว่าจะมีการยกธงขาวและให้รัสเซียกับยูเครนมาเจรจากัน เพราะยูเครนเป็นประเทศใหญ่และไม่ได้สิ้นไร้ไม้ตอกแต่อย่างใด จึงอาจมองได้ว่ารัสเซียจะมุ่งระดมสรรพกำลังของตนเองอย่างเต็มที่และบุกเข้าไปในกรุงคีฟให้ได้

“ถ้าย้อนไปดูช่วงสหรัฐฯ บุกอิรักหรืออัฟกานิสถานก็ไม่ได้ใช้เวลาแค่ 4-5 วัน แต่ต้องใช้ปฏิบัติการทางการทหารในระยะยาว แต่กรณีสหรัฐฯ หรือพันธมิตรคือได้รับแนวร่วมจากกบฏภายในประเทศนั้นๆ ด้วย ส่วนในกรณียูเครน อย่างที่ผมบอกไปแล้วว่ายูเครนยังพอยันกับกองทัพรัสเซียได้อยู่ ขณะที่มหาอำนาจตะวันตก สหรัฐฯ และ NATO ก็เริ่มส่งความช่วยเหลือทางทหารเข้ามา และเหมือนจะแทรกแซงกิจการครองความเป็นเจ้าของรัสเซียด้วย”

“เพราะฉะนั้น ถ้าทางตะวันตกตึงมากขึ้นเรื่อยๆ ก็อาจจะต้องพิจารณาการจัดแบ่งเขตอิทธิพลภูมิศาสตร์ทางทหารหรือภูมิรัฐศาสตร์ในยูเครนใหม่ด้วย ซึ่งก็เป็นเรื่องที่ต้องใช้เวลาพิจารณาความได้เปรียบเสียเปรียบกันต่อไป” ดุลยภาคทิ้งท้าย


หมายเหตุ: เก็บความบางส่วนจากการเสวนาทางวิชาการในหัวข้อ “มองวิกฤตรัสเซีย-ยูเครนผ่านเอเชียตะวันออกและอาเซียน” จัดขึ้นโดยสถาบันเอเชียตะวันออกศึกษา ร่วมกับคณะศิลปศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ในวันพฤหัสบดีที่ 3 มีนาคม 2565

[1] แปลความบางส่วนจากสุนทรพจน์ของประธานาธิบดียูเครน วลาดิเมียร์ เซเลนสกี กล่าวต่อที่ประชุมรัฐสภายุโรปผ่านช่องทางออนไลน์ ในวันที่ 1 มีนาคม 2565 อ่านสุนทรพจน์ฉบับเต็ม (ภาษาอังกฤษ) ได้ ที่นี่

MOST READ

World

1 Oct 2018

แหวกม่านวัฒนธรรม ส่องสถานภาพสตรีในสังคมอินเดีย

ศุภวิชญ์ แก้วคูนอก สำรวจที่มาที่ไปของ ‘สังคมชายเป็นใหญ่’ ในอินเดีย ที่ได้รับอิทธิพลสำคัญมาจากมหากาพย์อันเลื่องชื่อ พร้อมฉายภาพปัจจุบันที่ภาวะดังกล่าวเริ่มสั่นคลอน โดยมีหมุดหมายสำคัญจากการที่ อินทิรา คานธี ได้รับเลือกให้เป็นนายกรัฐมนตรีหญิงคนแรกในประวัติศาสตร์

ศุภวิชญ์ แก้วคูนอก

1 Oct 2018

World

16 Oct 2023

ฉากทัศน์ต่อไปของอิสราเอล-ปาเลสไตน์ ความขัดแย้งที่สั่นสะเทือนระเบียบโลกใหม่: ศราวุฒิ อารีย์

7 ตุลาคม กลุ่มฮามาสเปิดฉากขีปนาวุธกว่า 5,000 ลูกใส่อิสราเอล จุดชนวนความขัดแย้งซึ่งเดิมทีก็ไม่เคยดับหายไปอยู่แล้วให้ปะทุกว่าที่เคย จนอาจนับได้ว่านี่เป็นการต่อสู้ระหว่างอิสราเอลกับปาเลสไตน์ที่รุนแรงที่สุดในรอบทศวรรษ

จนถึงนาทีนี้ การสู้รบระหว่างอิสราเอลกับปาเลสไตน์ยังดำเนินต่อไปโดยปราศจากทีท่าของความสงบหรือยุติลง 101 สนทนากับ ดร.ศราวุฒิ อารีย์ ผู้อำนวยการศูนย์มุสลิมศึกษา สถาบันเอเชียศึกษา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ถึงเงื่อนไขและตัวแปรของความขัดแย้งที่เกิดขึ้น, ความสัมพันธ์ระหว่างอิสราเอลและรัฐอาหรับ, อนาคตของปาเลสไตน์ ตลอดจนระเบียบโลกใหม่ที่ก่อตัวขึ้นมาหลังยุคสงครามเย็น

พิมพ์ชนก พุกสุข

16 Oct 2023

World

9 Sep 2022

46 ปีแห่งการจากไปของเหมาเจ๋อตง: ทำไมเหมาเจ๋อตง(โหด)ร้ายแค่ไหน คนจีนก็ยังรัก

ภัคจิรา มาตาพิทักษ์ เขียนถึงการสร้าง ‘เหมาเจ๋อตง’ ให้เป็นวีรบุรุษของจีนมาจนถึงปัจจุบัน แม้ว่าเขาจะอยู่เบื้องหลังการทำร้ายผู้คนจำนวนมหาศาลในช่วงปฏิวัติวัฒนธรรม

ภัคจิรา มาตาพิทักษ์

9 Sep 2022

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • Always Active

Save