fbpx

ข้อเสนอที่ไม่อาจปฏิเสธ The Godfather

หนังเรื่อง The Godfather ของฟรานซิส ฟอร์ด คอปโปลา เพิ่งกลับมาเข้าฉายในโรงอีกครั้งเป็นเวลาหนึ่งสัปดาห์ (ตอนนี้ออกจากโปรแกรมไปเรียบร้อยแล้วนะครับ) เพื่อเฉลิมฉลองวาระครบรอบ 50 ปี มีการบูรณะภาพและเสียง จนกระทั่งคมชัด ใหม่เอี่ยม ใกล้เคียงกับเมื่อแรกออกฉาย

จนถึงปัจจุบัน The Godfather ขึ้นหิ้งเป็นหนังคลาสสิกอย่างไร้ข้อกังขาใดๆ ทั้งสิ้น เป็นหนึ่งในหนังอเมริกันที่ดีที่สุดตลอดกาล, เป็นหนังอาชญากรรมที่ยกระดับและสร้างมาตรฐานสูงลิ่วให้กับหนังตระกูลนี้, เป็นแรงบันดาลใจทางศิลปะให้แก่หนังรุ่นหลังจำนวนมาก, เป็นหนังที่เข้าใกล้คำว่า ‘สมบูรณ์แบบ’

รวมถึงอีกแง่มุมหนึ่งซึ่งไม่ค่อยมีใครกล่าวถึงมากนักก็คือ เป็นหนึ่งในจำนวนน้อยนิดของหนังที่ดัดแปลงจากนิยาย แล้วทำออกมาได้ดีกว่าต้นเรื่องเดิมอย่างจะแจ้งเด่นชัด

นิยายเรื่อง The Godfather ของมาริโอ พูโซ เป็นงานเขียนประเภทเบสต์เซลเลอร์ ซึ่งมีสถานะและคุณภาพก้ำกึ่งครึ่งๆ กลางๆ

ถ้าเทียบกับนิยายขายดีทั่วไป งานเขียนชิ้นนี้ก็มีหลายสิ่งหลายอย่างแปลกใหม่ เป็นตัวของตัวเอง และมีคุณภาพเหนือกว่า ไม่ว่าจะเป็นการสาธยายถึงโลกของมาเฟียอย่างละเอียดถี่ถ้วน (ผมเดาเอาว่าน่าจะเป็นนิยายอเมริกันเรื่องแรกๆ ที่ทำให้ผู้อ่าน รู้จักศัพท์แสงวงการนักเลงอย่าง consigliere, caporegime, Cosa Nostra และ omertà) การเขียนฉากเปิดเรื่อง (หรือตอนแรกสุดของนิยาย กินความยาวประมาณร้อยกว่าหน้า) ออกมาได้ยอดเยี่ยมมากๆ, บทสนทนาอันคมคายเข้าขั้นวรรคทองเยอะแยะมากมาย, การทำให้เรื่องราวในแวดวงอาชญากรรมมีกลิ่นอายโรแมนติก ผ่านคุณธรรมนักเลงของดอน วีโต คอร์เลโอเน (จนเป็นเหตุให้ทั้งนิยายและหนังถูกมองอย่างผิวเผินคลาดเคลื่อนไปไกลจากความเป็นจริงว่ามีเจตนาเชิดชูมาเฟีย)

แต่ในด้านที่เป็นข้อด้อย นิยาย The Godther ก็ฉีกหนีตัวเองไม่พ้นจากสูตรสำเร็จของนิยายขายดีระดับล่าง มีหลายช่วงหลายตอนที่เขียน ‘เอาใจตลาด’ และล้นเกินออกมา เน้นเซ็กซ์และเรื่องราวประโลมโลกย์หวือหวาโลดโผน ในท่วงทีลีลาที่ชวนให้นึกถึงงานเขียนของฮาโรลด์ ร็อบบินส์ หรือซิดนีย์ เชลดอน โดยไม่เกี่ยวข้องและไม่จำเป็นต่อกับเนื้อหาหลักสักเท่าไร

เรื่องราวของจอห์นนี ฟอนเทนในช่วงท้ายๆ และเหตุการณ์บอกเล่าถึงความเป็นไปในชีวิตของลูซี แมนชินี (เพื่อนเจ้าสาวซึ่งลักลอบมีความสัมพันธ์กับซันนี) คือตัวอย่างเด่นชัดของความล้นเกินที่กล่าวมา

พูดง่ายๆ คือ The Godfather เป็นงานเขียนที่อยู่ในเกณฑ์ดี แต่ขณะเดียวกันก็มีความไม่ลงตัว มีความขาดๆ เกินๆ ปรากฎอยู่เยอะพอสมควร และฟรานซิส ฟอร์ด คอปโปลา คือผู้ที่เข้ามาแก้ไขขัดเกลา จนกระทั่งทุกอย่างกลายเป็นความพอเหมาะพอดี

สิ่งหนึ่งที่สะท้อนถึงสายตาอันแหลมคมของคอปโปลา (ซึ่งแรกเริ่มเดิมทีปฏิเสธที่จะกำกับหนังเรื่องนี้เมื่อได้รับการติดต่อทาบทาม เนื่องจากไม่ชอบนิยาย แต่ท้ายสุดก็จำต้องยอมรับงาน ด้วยเหตุผลง่ายๆ ตรงไปตรงมา คือกำลังร้อนเงิน) ได้แก่ การจับสังเกตเห็นประเด็นสำคัญของเรื่อง ว่าด้วยการสืบทอดอำนาจ และเชื่อมโยงไปถึงบทละครอมตะของเชกสเปียร์เรื่อง King Lear ว่าด้วยกษัตริย์ชรากับทายาทคือลูกสาวสามคน ซึ่งนำไปสู่แง่มุมว่าด้วยความผิดหวังและการทรยศหักหลัง

นอกเหนือจากการแก้ไขปรับปรุงเรื่องราวจนลงตัวดีขึ้นกว่าเดิม และการจับประเด็นแก่นเรื่องได้อยู่มือแล้วถ่ายทอดออกมาอย่างหนักแน่นเข้มข้น คอปโปลายังทำให้ The Godfather กลายเป็นผลงานของเขาเต็มตัว ด้วยการใช้ศิลปะทางภาพยนตร์ สร้างสรรค์ปรุงแต่งทุกฉากทุกตอนได้อย่างชวนตื่นตาน่าประทับใจ

ความโดดเด่นของหนังนั้นถึงขั้นทำให้ผมย้อนกลับไปอ่านนิยายเรื่องนี้อีกหลายครั้ง โดยไม่อาจลบภาพจำจากหนังออกไปได้เลย มันแผ่อิทธิพลปกคลุมอยู่หนาแน่นตลอดการอ่านทุกคราว

โดยปกติทั่วไป โครงสร้างของหนังหรือนิยายอาชญากรรม มักเล่าถึง ‘ขาขึ้น’ และ ‘ขาลง’ ของตัวละครในโลกมิจฉาชีพ ควบคู่กับการสะท้อนแง่มุมว่าด้วยความใฝ่ฝันแบบอเมริกันในทางลบ

หัวใจสำคัญตามขนบของหนังอาชญากรรมดังที่กล่าวมา ยังคงมีอยู่ครบถ้วนใน The Godfather แต่ที่พิเศษแตกต่างออกไปคือโครงสร้างการดำเนินเรื่อง ซึ่งเล่าทั้ง ‘ขาขึ้น’ และ ‘ขาลง’ ไปพร้อมๆ กันในเวลาเดียว และเล่าผ่าน 2 ตัวละครหลัก แทนที่จะเป็นตัวละครเดียว

ขยายความก็คือ ด้านหนึ่งเป็นเรื่องของดอน วีโต คอร์เลโอเนในวัยชรา ซึ่งกำลังโรยราและเริ่มคิดอ่านถึงการถอนตัววางมือจากตำแหน่งหัวหน้าครอบครัว (หรืออีกนัยหนึ่งคือผู้นำองค์กรอาชญากรรม) มองหาทายาทสืบทอด

ขณะที่อีกด้านหนึ่งเล่าถึงไมเคิล คอร์เลโอเน ลูกชายคนที่สาม ผู้วางแผนตั้งเป้าชีวิตให้ตนเองว่าจะวางตัวเป็น ‘คนนอก’ ไม่ข้องเกี่ยวกับธุรกิจมืดของครอบครัว หมายใจเลือกเส้นทางตามครรลองถูกกฎหมาย เป็นชาวอเมริกันที่ดี แต่แล้วก็เกิดเหตุร้าย ดอน วีโตถูกลอบสังหารโดยแก๊งคู่อริ ผูกมัดฉุดรั้งให้ไมเคิลต้องเข้ามาข้องเกี่ยวพัวพัน และบานปลายกลายเป็นการถลำลึกเข้าสู่ด้านมืด จนไม่อาจหวนกลับไปเป็นคนเดิมอีกต่อไป

พูดอีกแบบ (โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อคำนึงถึงหนังภาคสองและภาคสาม ซึ่งสร้างขึ้นในเวลาต่อมา) ตัวละครศูนย์กลางที่แท้จริงใน The Godfather คือ ไมเคิล คอร์เลโอเน และเรื่องราวทั้งหมดก็คือโศกนาฏกรรมเกี่ยวกับการก้าวย่างเข้าสู่วิถีคนบาป รวมถึงการสูญเสียความสงบสุขในชีวิตของเขา

ความเสียหายที่หนักหนาสาหัสสุดคือ ความเป็นครอบครัว (ในส่วนที่หมายถึงครอบครัวจริงๆ อันหมายถึงความสัมพันธ์ทางสายเลือด ระหว่างพ่อ แม่ พี่น้อง สามี ภรรยา และลูก) ซึ่งถึงแก่ความพินาศย่อยยับในเวลาต่อมา

โดยคุณสมบัติกว้างๆ ระหว่างพ่อกับลูก คือ ดอน วีโตและไมเคิล ทั้งสองดูใกล้เคียงกัน เฉลียวฉลาด มีความเป็นผู้นำสูง ตัดสินใจเด็ดเดี่ยวเฉียบขาด ช่ำชองชำนาญในการแผ่บารมีด้วยการใช้ทั้งพระเดชพระคุณควบคู่กัน และโหดเหี้ยมเลือดเย็นเมื่อถึงคราวจำเป็น

แต่ข้อแตกต่างที่เด่นชัดคือ ดอน วีโตทำธุรกิจ เพื่อผดุงไว้ซึ่งความเป็นครอบครัว หรืออย่างน้อยที่สุดก็ให้น้ำหนักความสำคัญเท่าๆ กัน ต่างจากไมเคิลซึ่งเลือกความอยู่รอดทางธุรกิจก่อนครอบครัว กรณีที่เด่นชัด คือวิธีที่เขาปฏิบัติต่อคาร์โลผู้เป็นน้องเขย (และกระทำต่อเฟรโดผู้เป็นพี่ชายในภาค 2)

ประเด็นเกี่ยวกับคุณค่าความเป็นครอบครัวนี้ เป็นปัจจัยสำคัญอีกอย่างที่ทำให้ The Godfather มีความเป็น mafia romantic นะครับ

พ้นจากแง่มุมว่าด้วยการก้าวล่วงเข้าสู่ด้านมืด ซึ่งเป็น 1 ใน 7 ของพล็อตเรื่องพื้นฐานของหนังและวรรณกรรม เรียกกันว่า overcoming the monster แล้ว หัวใจสำคัญอีกอย่างใน The Godfather ที่ได้รับการขับเน้นมากพอๆ กันก็คือ การสะท้อนให้เห็นความล้มเหลวของวิถีทางแบบอเมริกันตามอุดมคติ อันหมายถึงการเคารพต่อตัวบทกฎหมาย เชื่อมั่นในระบบและสถาบันทางการเมือง ใช้ชีวิตเยี่ยงสุจริตชน ทำงานหนัก เพื่อสร้างฐานะให้มั่นคงเป็นปึกแผ่น

แง่มุมนี้ปรากฏทั่วแทบจะตลอดทั้งเรื่อง ไม่ว่าจะเป็นตำรวจเลว (ตลอดทั้งเรื่อง ไม่มีตำรวจดีเลยนะครับ และตำรวจเลวที่ผู้ชมพบเห็น ก็มีพฤติกรรมน่ารังเกียจน่าขยะแขยงมากยิ่งกว่าบรรดามิจฉาชีพเป็นไหนๆ), นักการเมืองกินสินบาทคาดสินบน, นักธุรกิจที่พัวพันข้องเกี่ยวกับผู้มีอิทธิพลทั้งในฟากสว่างและมืดมิด (เช่น ผู้บริหารสตูดิโอในฮอลลีวูด ซึ่งมีเส้นสายใกล้ชิดสนิทสนมกับเจ. เอ็ดการ์ ฮูเวอร์ ผู้อำนวยการเอฟบีไอ), และที่หนักหนาสาหัสสุดคือ กระบวนการยุติธรรมและช่องว่างของกฎหมาย ซึ่งเอื้อประโยชน์ให้ผิดกลายเป็นถูก ผู้เสียหายตกเป็นเหยื่อไร้ทางสู้และไม่ได้รับความยุติธรรม ขณะผู้กระทำผิด กลับลอยนวล ไม่ได้รับโทษทัณฑ์ใดๆ

กล่าวโดยรวม ระบบอันฉ้อฉลผิดเพี้ยนนั้น มีส่วนเอื้ออำนวยส่งเสริมทำให้ธุรกิจของแก๊งตระกูลต่างๆ เจริญเติบโตรุ่งเรือง พร้อมๆ กันนั้นก็ผลักไสให้คนบริสุทธิ์จำนวนมาก ยินดีหันไปพึ่งพาไหว้วานขอความช่วยเหลือจากเจ้าพ่อผู้มีอิทธิพล ซึ่งมีประสิทธิภาพ (และคุณธรรม) มากกว่า เป็นที่เคารพเลื่อมใสศรัทธาและสามารถพึ่งพาอาศัย ฝากผีฝากไข้ได้มากกว่า

อย่างไรก็ตาม เนื้อความสำคัญในหลายๆ ย่อหน้าข้างต้น ก็บอกเล่าอย่างเด่นชัดและทรงพลังมากๆ ในฉากเปิดเรื่อง (จนทำให้ตัวหนังที่เหลือ เป็นแค่การขยายความตอกย้ำเท่านั้น) เมื่อตัวละครชื่ออเมริโก โบนาเซรา เข้าพบเพื่อขอความช่วยเหลือจากดอน วีโต คอร์เลโอเน พร้อมทั้งเริ่มต้นด้วยการเอ่ยข้อความอมตะ ว่า “I believe in America…” ตามมาด้วยการสรรเสริญคุณงามความดีต่างๆ นานาของวิถีทางแบบอเมริกัน ก่อนจะกลับตาลปัตรกลายเป็นว่า ศรัทธาท่วมท้นที่มีต่อความเป็นอเมริกันนำมาซึ่งความเจ็บช้ำน้ำใจอย่างถึงที่สุด เมื่อลูกสาวของเขาถูกเด็กหนุ่มอเมริกัน 2 คนลวนลามและพยายามต่อสู้ขัดขืน ท้ายสุดก็โดนรุมซ้อมอาการหนักหน่วงปางตาย เรื่องถึงขั้นขึ้นโรงขึ้นศาล แต่ด้วยเส้นสายที่พ่อแม่ของจำเลยมีอยู่ ผู้พิพากษาก็ตัดสินแบบเอนเอียง ลงโทษสถานเบา และให้รอลงอาญา จนโบนาเซรา ผู้พยายามหลีกเลี่ยงและปฏิเสธมิตรภาพจากดอน วีโต คอร์เลโอเนมาตลอด เพราะไม่อยากนำตัวเองไปพัวพันข้องเกี่ยว ไม่อยากเป็นหนี้บุญคุณพวกแก๊งอาชญากร เนื่องจากกลัวว่าตัวเองจะเดือดร้อนในภายหลัง (นี่ยังไม่นับรวมว่า มันขัดต่อการเป็นคนอเมริกันที่ดี) ไม่หลงเหลือทางเลือกอื่นใดอีก นอกจากการสยบยอมต่ออำนาจมืด

ฉากดังกล่าว นอกจากจะเผยใจความสำคัญทางเนื้อหาออกมาได้อย่าง คมชัด กระชับรัดกุม และโยงใยต่อมาถึงการสนองตอบของดอน คอร์เลโอเน ซึ่งเล่าแสดงคุณธรรมหลักการของโลกนักเลงออกมาได้อย่างขรึมขลัง ศักดิ์สิทธิ์ และเท่เหลือหลายจนกลายเป็นหนึ่งในฉากจำที่น่าประทับใจแล้ว ยังเป็นฉากที่ฟรานซิส ฟอร์ด คอปโปลา แสดงความคิดสร้างสรรค์ในการเล่าเรื่องด้วยศิลปะทางภาพยนตร์ออกมาอย่างเต็มเปี่ยม

เริ่มตั้งแต่การกำกับภาพของกอร์ดอน วิลลิส ซึ่งออกแบบกำหนดสไตล์ของภาพ ด้วยการใช้โทนแสง low key เน้นเงามืดในหลายๆ ฉาก เป็นการสร้าง ‘โลกของดอน วีโต คอร์เลโอเน’ ให้มีบรรยากาศเฉพาะและหลากความรู้สึก ทั้งลึกลับ น่าสะพรึงกลัว เป็นดินแดนศักดิ์สิทธิ์ที่คนภายนอกต้องระย่นย่อยำเกรงและรู้สึกสำรวม เหนืออื่นใด มันซ่อนอำพรางความอัปลักษณ์และความโหดร้ายรุนแรงไว้อย่างมิดชิด

ถัดมาคือในฉากดังกล่าว หนังเริ่มต้นด้วยภาพจอหนังมืดมิดดำสนิท ได้ยินเพียงเสียงดนตรีประกอบอยู่หลายอึดใจ จากนั้นภาพก็ค่อยๆ ปรากฏ เป็นโคลสอัพระยะใกล้ เห็นใบหน้าของอเมริโก โบนาเซราเต็มจอ พูดจาร่ายยาวเล่าเหตุการณ์ พร้อมๆ กับที่กล้องขยับเคลื่อนถอยห่างทีละน้อยอย่างแช่มช้า จนผู้ชมแทบไม่ทันได้ตระหนักสังเกตถึงการเปลี่ยนขนาดและระยะของภาพ มารู้สึกได้ต่อเมื่อปรากฏภาพของตัวละครดอน วีโต คอร์เลโอเน นั่งหันหลังเป็นโฟร์กราวนด์เบลอๆ ที่มุมซ้ายของเฟรม

ความยอดเยี่ยมของการจัดภาพและเคลื่อนกล้องในฉากนี้ก็คือ มันทำหน้าที่สำคัญ 2 ประการ อย่างแรกเป็นการขับเน้น และดึงความสนใจของผู้ชมไปยังบทสนทนาของตัวละคร จนกระทั่งกลายเป็นเนื้อความที่โดดเด่น

หน้าที่ต่อมาคือ เป็นการเปิดตัวดอน วีโต คอร์เลโอเนที่คลาสสิกมาก ด้วยตำแหน่งและการจัดองค์ประกอบภาพ แสงเงา การเคลื่อนกล้อง ทั้งหมดนี้ทำให้ผู้ชมสัมผัสได้ทันทีถึงอำนาจ บารมี และความยิ่งใหญ่ของตัวละคร ตั้งแต่ยังเป็นแค่ภาพเลือนลาง และยังไม่ทันได้เห็นหน้าชัดๆ

มีฉากที่โดดเด่นด้วยกลวิธีทางศิลปะสารพัดสารพันเต็มไปหมดในหนังเรื่อง The Godfather จนยกย่องนับถือได้ว่าสามารถใช้เป็นตำราการทำหนังเล่มสำคัญเลยทีเดียว และทำให้งานชิ้นนี้สามารถหยิบมาดูซ้ำได้ไม่รู้เบื่อ ยิ่งดูบ่อยครั้งมากเท่าไร ก็ยิ่งจับสังเกตได้ถึงวิธีการและความยอดเยี่ยมที่มีอยู่มากขึ้นเท่านั้น

สำหรับผมแล้ว ครึ่งชั่วโมงแรกของ The Godfather หรือซีเควนซ์งานแต่งงานลูกสาวของดอน วีโต คอร์เลโอเน คือการเล่าเรื่องที่น่าอัศจรรย์ เป็นครึ่งชั่วโมงที่พล็อตไม่ขยับ หรือจะพูดว่าหนังยังไม่ได้เริ่มเล่าเรื่องก็ว่าได้นะครับ แต่ในครึ่งชั่วโมงนี้ หนังปูพื้นเกริ่นนำและให้ข้อมูลสำคัญเยอะแยะมากมาย ไม่ว่าจะเป็นการแนะนำตัวละครหลักๆ ทั้งหมดอย่างครบถ้วน(และไม่ได้แนะนำเพียงแค่ว่าใครเป็นใครเท่านั้น แต่ยังแจกแจงบุคลิกนิสัยออกมาได้อย่างละเอียดแจ่มชัด), สถานการณ์ทางธุรกิจในปัจจุบันของตระกูลคอร์เลโอเน, กฎ กติกา มารยาทในแวดวงนักเลง, ระดับความสัมพันธ์และความผูกพันที่ตัวละครต่างๆ มีต่อกัน รวมถึงความเป็นปึกแผ่นเหนียวแน่น ความจงรักภักดีของสมาชิกครอบครัว และการขับเน้นถึงความสำคัญของ ‘พิธีกรรม’ (ในที่นี้คืองานแต่งงาน) ซึ่งจะใช้เป็นองค์ประกอบสำคัญในเวลาต่อมา (รวมถึงในบทสรุปของหนังทุกภาค)

พูดง่ายๆ คือ เป็นการปูพื้นและเล่ารายละเอียดเยอะแยะมากมายได้อย่างกระชับสั้น และจัดระเบียบเรียงลำดับก่อนหลังได้วิเศษไร้ที่ติ  นอกจากจะไม่ทำให้ผู้ชมสับสนงุนงงว่าใครเป็นใคร อะไรเป็นอะไร แล้ว ทั้งหมดยังบอกเล่าออกมาได้เพลิดเพลิน ชวนติดตามเอามากๆ

นี่ยังไม่นับรวมถึงว่า มันเป็นช่วงเวลาเดียวในหนัง ซึ่งผู้ชมจะรู้สึกรื่นรมย์ หรรษา และผ่อนคลาย ถัดจากนั้นเมื่อหนังเริ่มเรื่องดำเนินเหตุการณ์ โทนและทิศทางก็ค่อยๆ เปลี่ยนไปเป็นจริงจัง เข้มข้น รุนแรง ถึงเลือดถึงเนื้อ และแฝงเคลือบด้วยอารมณ์หม่นเศร้า

บทหนัง The Godfather นั้น ดำเนินเรื่องเรียบง่าย ตรงไปตรงมา แต่ชาญฉลาด ลำดับเหตุการณ์ต่างๆ ร้อยเรียงกันอย่างเหมาะเจาะ สละสลวย และเมื่อเหตุการณ์แตกแขนงแยกย่อยเป็นหลายส่วน ก็ใช้วิธีตัดสลับได้อย่างแยบยล จนกระทั่งพัฒนาถึงขีดขั้นสูงสุดในฉากไคลแมกซ์ ซึ่งตัดสลับระหว่างพิธีกรรมทางศาสนารับศีลทารกแรกเกิด และการลงมือเช็คบิลพร้อมๆ กันหลายๆ แห่ง (เป็นอีกช่วงตอนหนึ่งที่หนังทำได้ดีและเปี่ยมด้วยชั้นเชิงทางศิลปะเหนือกว่านิยายอยู่หลายขุม)

ฉากไคลแมกซ์นี้ เป็นการประดิษฐ์สร้างสรรค์วิธีการทางศิลปะขึ้นมาใหม่ของคอปโปลา (ผมพูดโอเวอร์ไปหน่อยนะครับ อันที่จริงคอปโปลานำเอาหลักการตัดต่อลำดับภาพแบบ soviet montage มาพัฒนาสานต่อได้อย่างมีประสิทธิภาพ น่าจะตรงกับความจริงมากกว่า) จนกลายเป็นแบบอย่างวิธีการให้หนังรุ่นหลังจำนวนมากรับอิทธิพลแรงบันดาลใจไปใช้ต่อ นอกจากจะเข้มข้นเร้าอารมณ์แล้ว ผลลัพธ์ที่สำคัญสุดในการตัดสลับดังกล่าวยังสร้างภาพขัดแย้งตรงข้ามกัน ระหว่างความบริสุทธิ์ ดีงาม (หรือความเชื่อศรัทธาต่อศาสนา) กับการเข่นฆ่ากันอย่างโหดร้ายทารุณ ซึ่งทิ้งแง่มุมให้ผู้ชมตีความต่อกันไปได้ต่างๆ นานา

อีกอย่างหนึ่งที่ผมประทับใจมากใน The Godfather คือการใช้ภาษาภาพ เพื่อเล่าอธิบายโดยปราศจากบทพูด

ภาพทิ้งท้ายของหนัง เคย์ยืนมองไมเคิลผู้เป็นสามีอยู่อีกห้อง และเห็นประตูค่อยๆ ปิดลงจนบดบังตัวเธอ เป็นตัวอย่างการใช้ภาษาภาพที่ยอดเยี่ยมมาก

มันไม่ได้บอกกับผู้ชมเพียงแค่ว่าความสัมพันธ์ในเวลาต่อมาของสามีภรรยาคู่นี้จะเป็นไปในรูปใดเท่านั้น แต่ยังเล่าอีกแง่มุมที่ซับซ้อนกว่า

ก่อนหน้าเพียงไม่กี่นาที เคย์คาดคั้นถามไมเคิลในเรื่องสำคัญมากจนได้รับคำตอบ แต่ภาพจบของหนังก็อธิบายกับคนดูว่า ในชั่วขณะนั้นเอง เคย์ก็รู้ว่าไมเคิลโกหก

MOST READ

Life & Culture

14 Jul 2022

“ความตายคือการเดินทางของทั้งคนตายและคนที่ยังอยู่” นิติ ภวัครพันธุ์

คุยกับนิติ ภวัครพันธุ์ ว่าด้วยเรื่องพิธีกรรมการส่งคนตายในมุมนักมานุษยวิทยา พิธีกรรมของความตายมีความหมายแค่ไหน คุณค่าของการตายและการมีชีวิตอยู่ต่างกันอย่างไร

ปาณิส โพธิ์ศรีวังชัย

14 Jul 2022

Life & Culture

27 Jul 2023

วิตเทเกอร์ ครอบครัวที่ ‘เลือดชิด’ ที่สุดในอเมริกา

เสียงเห่าขรม เพิงเล็กๆ ริมถนนคดเคี้ยว และคนในครอบครัวที่ถูกเรียกว่า ‘เลือดชิด’ ที่สุดในสหรัฐอเมริกา

เรื่องราวของบ้านวิตเทเกอร์ถูกเผยแพร่ครั้งแรกทางยูทูบเมื่อปี 2020 โดยช่างภาพที่ไปพบพวกเขาโดยบังเอิญระหว่างเดินทาง ซึ่งด้านหนึ่งนำสายตาจากคนทั้งเมืองมาสู่ครอบครัวเล็กๆ ครอบครัวนี้

พิมพ์ชนก พุกสุข

27 Jul 2023

Life & Culture

4 Aug 2020

การสืบราชสันตติวงศ์โดยราชสกุล “มหิดล”

กษิดิศ อนันทนาธร เขียนถึงเรื่องราวการขึ้นครองราชสมบัติของกษัตริย์ราชสกุล “มหิดล” ซึ่งมีบทบาทในฐานะผู้สืบราชสันตติวงศ์ หลังการเปลี่ยนแปลงการปกครองโดยคณะราษฎร 2475

กษิดิศ อนันทนาธร

4 Aug 2020

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • Always Active

Save