fbpx

ย้อนความทรงจำ เบื้องหลังความคิดและการถ่ายทำภาพยนตร์ ‘memoria’ สัมภาษณ์พิเศษกับ อภิชาติพงศ์ วีระเศรษฐกุล

ในช่วงวันการจัดงาน Acting, Being, Shape-shifting : Masterclass with Tilda ณ หอภาพยนตร์ (องค์การมหาชน) ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของงานเปิดตัวภาพยนตร์เรื่อง ‘memoria’ เมื่อวันที่ 25 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2565 ที่ผ่านมา อภิชาติพงศ์ วีระเศรษฐกุล ผู้กำกับภาพยนตร์เรื่อง ‘memoria’ ได้จัดสรรเวลาปลีกตัวมาร่วมพูดคุยกับ The101.world โดยมี ‘กัลปพฤกษ์’ เป็นผู้สัมภาษณ์ เล่าถึงความทรงจำ เบื้องหลังความคิดและการถ่ายทำภาพยนตร์เรื่อง ‘memoria’ รวมถึงโครงการผลงานใหม่ๆ

แม้จะมีเวลาสัมภาษณ์เพียงไม่นาน แต่คุณอภิชาติพงศ์ก็ได้ร่วมแลกเปลี่ยนประสบการณ์ต่างๆ อย่างเป็นกันเอง บอกเล่าเรื่องราวเบื้องหลังที่บางครั้งก็แสดงให้เห็นว่า เขาเป็นผู้กำกับที่ถ่ายทอดความคิด ความประทับใจ และความทรงจำฝังใจต่างๆ ลงในภาพยนตร์ด้วยวิธีการที่ตรงไปตรงมา ไม่ได้พยายามปรุงแต่งให้เนื้อหายุ่งยากซับซ้อน ดังนั้น การสัมผัสภาพยนตร์ของเขาอาจควรเสพด้วยจิตใจที่ปล่อยสบาย ใช้หัวใจรู้สึกมากกว่าจะใช้สมองครุ่นคิด ซึ่งก็จะน่าทำให้อีกหลายๆ คน สามารถสนุกกับการเสพงานภาพยนตร์ของอภิชาติพงศ์ วีระเศรษฐกุลอย่างใกล้ชิดขึ้นไม่มากก็น้อย

ขอถามตั้งแต่จุดเริ่มต้นของภาพยนตร์เรื่อง ‘memoria’ ว่ามีที่มาอย่างไร และองค์ประกอบแปลกใหม่ของหนัง ทั้งประเทศโคลอมเบีย เสียง ‘ปัง’ ในหัว รวมถึงนักแสดงหลักอย่าง ทิลดา สวินตัน (Tilda Swinton) และ ฌีนน์ บาลิบาร์ (Jeanne Balibar) ซึ่งเข้าใจว่าคุณอภิชาติพงศ์ได้พบและรู้จักจากเทศกาลภาพยนตร์เมืองคานส์[1] มารวมกันเป็น ‘memoria’ ได้อย่างไร

อภิชาติพงศ์: ก่อนหน้านี้มันมีช่วงที่ผมรู้สึกว่ามีอะไรบางอย่างขาดไปจากชีวิต เกิดคำถามขึ้นมาว่าการทำหนังของเรานั้นทำไปทำไม แล้วก็อยากจะเริ่ม chapter ใหม่ที่ให้หนังมันกลืนกับการใช้ชีวิตมากขึ้น กับมุมมองของชีวิตของโลก แต่ก็รู้สึกว่า ต้องไม่ใช่เมืองไทย ต้องเป็นพื้นที่ที่ทำให้เราเป็นเด็กอีกครั้งในแง่ของการมอง ไม่มีเงื่อนไขประสบการณ์มาครอบ ไม่มีการตีความแบบสัญลักษณ์ เป็นพื้นที่ใหม่

ตอนแรกก็คิดไว้แล้วว่าจะเป็นลาตินอเมริกา ตอนนั้นผมได้ไปเทศกาลภาพยนตร์การ์ตาเฮนา (Cartagena Film Festival) ที่โคลอมเบีย แล้วได้ร่วมโครงการศิลปินพำนัก (residency)[2] ที่ Más Arte Más Acción[3] ก็วางแผนไว้กับที่นั่นว่าน่าจะเป็นที่โคลอมเบีย ซึ่งก็ไปพร้อมกับเสียงระเบิดในหัวนี่แหละ แต่จริงๆ เราได้ยินเสียงระเบิดมาก่อนหน้านั้นแล้ว และมันก็ไม่ได้รุนแรงเหมือนในหนังนะ คือมันแรงอยู่แหละ แต่พอมันอยู่ในหัวแล้วก็ไม่ได้สะดุ้งอะไร แค่ได้ยิน ก็เลยประสานความรู้สึกพวกนี้ระหว่างการเดินทางเข้ามาในหนัง

ส่วนทิลดา สวินตันนี่ตั้งใจตั้งแต่ตอนเขียนบทอยู่แล้ว ยืนพื้นมาก่อนเลย ส่วนฌีนน์ บาลิบาร์นั้นเข้ามาทีหลัง

ตอนที่เดินทางไปประเทศโคลอมเบีย คุณอภิชาติพงศ์ประทับใจอะไรบ้าง โดยเฉพาะด้านสถาปัตยกรรม ตึก อาคารต่างๆ และสภาพธรรมชาติ ที่นำมาใส่ไว้ในหนังอยู่ตลอดเวลา

อภิชาติพงศ์: ผมชอบตรงความกลมกลืนระหว่างธรรมชาติกับสถาปัตยกรรมนี่แหละ โดยเฉพาะความพยายามดึงแสงเข้ามาในอาคาร จะมีเรื่องสกายไลต์ (skylight)[4] อาคารของเขาไม่ได้แต่งเยอะ แต่เป็นเรขาคณิตแบบปึงปัง ถ้าเป็นภาษาแบบสถาปัตยกรรมจะเป็นประเภทบรูทัลลิสต์ (Brutalist)[5] บางส่วนในยุคหนึ่งของโคลอมเบียเป็นบรูทัลลิสต์ เน้นความเชื่อมโยงกับธรรมชาติ โชว์วัสดุจำพวกคอนกรีต ซึ่งไม่ได้ทาสีอะไร ปล่อยให้เป็นธรรมชาติ ไม่ได้ประดับ

มีภาพนิ่งจากหนังภาพหนึ่งที่ใช้กันแพร่หลายมาก คือภาพทิลดา สวินตันถือแจ็คเก็ตเดินผ่านห้องกระจกที่เปิดหลังคารับแสง แล้วตรงพื้นก็มีดินมีหญ้าด้วยซ้ำ อันนี้คือสกายไลต์ที่คุณอภิชาติพงศ์หมายถึงด้วยใช่ไหม

อภิชาติพงศ์: ใช่ครับ มันเป็นสกายไลต์อีกจุดหนึ่งของมหาวิทยาลัยที่ไปถ่าย ที่เขาซ้อมดนตรีกัน

MEMORIA_STILL_1_-©Kick-the-Machine-Films-Burning-Anna-Sanders-Films-Match-Factory-Productions-ZDF-Arte-and-Piano-2021-1-scaled.jpg

หรือฉากในโรงพยาบาล ที่มองนอกหน้าต่างออกไปก็จะเห็นพันธุ์ไม้สีเขียว เหมือนในหนังเรื่องก่อนๆ

อภิชาติพงศ์ : ใช่ๆ มู้ดอะไรแบบนี้แหละที่ผมอยากจะนำมาใส่ไว้ในหนัง

จริงๆ ในเรื่องนี้ ‘เสียง’ ค่อนข้างโดดเด่นมาก แต่ขอถามเรื่องภาพก่อน ‘memoria’ ถ่ายด้วยฟิล์ม 35 มม. ซึ่งคุณอภิชาติพงศ์ ทำหนังมาเกินกว่ายี่สิบปี ผ่านพัฒนาการด้านเทคโนโลยีดิจิทัลในการถ่ายทำภาพยนตร์ซึ่งตอนนี้ก็ไปไกลระดับ HD 6K ภาพละเอียดยิบ แต่คุณอภิชาติพงศ์ก็ยังเลือกถ่ายฟิล์มอยู่ อันนี้มีเกณฑ์ในการเลือกเทคโนโลยีอย่างไรบ้างครับ

อภิชาติพงศ์: ผมจะเลือกฟิล์มตลอด เพราะฉะนั้นงบแรกที่ตั้งไว้เป็นฟิล์ม จริงๆ หลายคนก็เริ่มพูดกันเยอะ เรื่องการกลับไปใช้ฟิล์ม ซึ่งผมก็เห็นด้วยนะ ฟิล์มมันมีความออร์แกนิกจริงๆ อย่างการรับแสง เช่นบางช่วงที่ overexposed[6] ถ้าเป็นดิจิทัลมันจะขาวแบบ blown[7] ไปเลย แต่ถ้าเป็นฟิล์ม ถึงจะ blown ก็จะมีความนุ่มในแบบที่รับได้ แล้วก็เกรนของมันก็ดีกว่า คุยกับคนทำสีก็เห็นด้วยว่ามันเทียบกันไม่ได้เลย เวลาถ่ายฟิล์มมาโดยเฉพาะกับ สอง-สยมภู มุกดีพร้อม (ผู้กำกับภาพ ‘memoria’) ไม่ค่อยต้องมาแก้อะไรเยอะ ถ้าเป็นดิจิทัลจะต้องมาแก้ ใส่เงา ปรับโน่น ปรับนี่ แต่ฟิล์มมันมาของมันอย่างนั้นเลย มันใกล้ตาเห็นมาก

การถ่ายหนังยาวคุณอภิชาติพงศ์ ใช้ฟิล์ม 35 มม. มาทุกเรื่องเลยหรือเปล่า

อภิชาติพงศ์ : ยกเว้น ‘รักที่ขอนแก่น’ (2015) เรื่องนั้นถ่ายดิจิทัลด้วยอเล็กซ่า (Alexa) กับ ‘ลุงบุญมีระลึกชาติ’ (2010) ที่ถ่ายด้วย super-16 ไม่ใช่ 35 มม. แต่ก็ยังเป็นฟิล์มอยู่

ทำไม ‘รักที่ขอนแก่น’ ถึงเลือกถ่ายแบบดิจิทัล

อภิชาติพงศ์: งบไม่พอ (หัวเราะ) แค่นั้นเลย ถ้าเลือกได้ก็จะถ่ายเป็นฟิล์มเหมือนกัน แต่ที่สำคัญกว่าสำหรับผมอีกอย่างก็คือเรื่อง workflow การทำงาน การถ่ายด้วยฟิล์มมันมีความเงียบบนกองที่มีค่า มีลักษณะของพิธีกรรมที่ว่าพอสั่ง ‘แอ็คชั่น!’ แล้วเราก็จะได้ยินแค่เสียงกล้องฟิล์มหมุนอยู่เบาๆ ทุกคนจะมีสมาธิในการทำงาน มันเป็นโมเมนต์ที่มีค่า ต่างจากกองดิจิทัลเลย และ ณ ตรงนั้นเราเล่น playback ได้แต่ความละเอียดมันจะต่ำมาก ก็จะไม่เห็นว่าถ่ายอะไรไปนะ

‘memoria’ นี่ต้องส่งฟิล์มไปที่เม็กซิโก เพราะห้องแล็บที่โคลอมเบียปิดหมดแล้ว 2-3 วันทีหิ้วขึ้นเครื่อง กว่าจะได้ดูก็สัปดาห์สองสัปดาห์ถึงจะได้ดู แต่ก็ดูไปอย่างนั้น เพราะรู้ว่าถ้ามันเสีย มันคงไม่มีเวลาจะถ่ายซ่อม ทุกอย่างมันต้องเซ็ต แต่โชคดีที่ตากล้อง สอง-สยมภู เขาทำงานเป๊ะมากๆ เลยไม่ต้องซ่อมอะไร

ในการทำงาน หลังจากที่คุณอภิชาติพงศ์เขียนบทหนังเสร็จแล้ว มีการปรับการ improvise[8] ภายหลังเยอะไหม ทั้งในช่วงของการถ่ายทำในกองถ่าย (on set)[9] หรือช่วงตัดต่อ

อภิชาติพงศ์: โอ้ ช่วงตัดต่อนี่เยอะมากเลย แต่ในกองถ่ายไม่ค่อย แต่ก็จะมีการลองกันก่อนหน้าที่จะถ่าย พอทิลดามา นักแสดงคนอื่นมา ก็จะลองซ้อมกันดูก่อน ถ้าทิลดาบอกว่า “ฉันว่าฉันพูดประโยคนี้แล้วไม่ค่อยเป็นธรรมชาติ” เราก็จะเปลี่ยนตอนซ้อมเลย

ช่วงถ่ายจริงๆ ก็มีอยู่บ้างนะ ถ้าถ่ายจริงแล้วมีอะไรที่ไม่เข้ากับความรู้สึกก็จะเปลี่ยน แต่ส่วนใหญ่จะเป็นสภาพอากาศมากกว่า ที่นั่นมันเซนซิทีฟมาก พออากาศไม่ดีก็อาจต้องเปลี่ยน เช่น ให้เธอเดินมาทางนี้ดีกว่า วันนี้อากาศมันเป็นแบบนี้

สภาพอากาศสร้างปัญหาเยอะไหมในการถ่ายทำ เพราะเห็นคุณอภิชาติพงศ์ก็ใส่ฉากฝนตก ท้องฟ้ามืดครึ้มลงมาในหนังด้วย

อภิชาติพงศ์ : โน! ผมชอบมากเลย มันคือการได้ดีลกับธรรมชาติ ผมชอบทำงานที่โบโกตาเพราะอารมณ์ของลมฟ้าอากาศมันรุนแรงมาก วันหนึ่งจะมีหมด ทั้งแดดออก ฝนตก ลมแรง ถ้าดูดีๆ เจสสิกา (รับบทโดยสวินตัน) จะหอบของเยอะมาก ทั้งแจ็กเก็ต ร่ม ข้าวของอะไรต่ออะไร เหมือนกับคนโคลอมเบียที่นั่น เพราะต้องเตรียมพร้อมทุกสภาพอากาศ

ผมชอบถ่ายเอาต์ดอร์ (outdoor) มาตั้งแต่แรกแต่ไหนแต่ไรแล้ว เคยคุยกับเป็นเอก (เป็นเอก รัตนเรือง)[10] อยู่เหมือนกันว่าทำไมชอบถ่ายเอาต์ดอร์ แต่ผมกับเขาก็คนละมู้ดแหละ ของผมจะชอบแบบเละๆ มันกระตุ้นให้สมองเราทำงาน

กลับมาที่เรื่องเสียงซึ่งน่าจะเป็นพระเอกของหนังเรื่องนี้ ขอเริ่มด้วยคำถามคล้ายๆ กับเรื่องภาพว่าคุณอภิชาติพงศ์ทำงานภาพยนตร์มานาน พัฒนาการเรื่องการบันทึกเสียงตั้งแต่ยุคแอนะล็อกจนถึงเทคโนโลยีปัจจุบันเปลี่ยนแปลงอย่างไรบ้าง แล้วทำไมในเรื่องการบันทึกเสียงไม่ค่อยจะมีใครโหยหากลับใช้เทคโนโลยีแอนะล็อกเหมือนงานภาพกันเท่าไหร่เลย

อภิชาติพงศ์ : ใช่ๆ ตั้งแต่แรกๆ ที่ผมอัดเสียงด้วยเครื่องโซนีกับ เคี้ยง-ไพสิฐ พันธุ์พฤกษชาติ (คนทำหนังสั้นและคนทำเสียง) มันมีความรู้สึกว่ามันแอนะล็อกจริงๆ เพราะเรารู้สึกเลยว่าเสียงกับภาพมันแยกกันชัดเจน ซึ่งผมก็เปลี่ยนมานานแล้วล่ะ มาใช้การบันทึกแบบดิจิทัลเข้าไปในฟิล์มระดับหนึ่ง แต่ก็ต้องมาซิงโครไนซ์ (synchronise)[11] กันอยู่ดี ซึ่งผมก็ไม่ได้ติดขัดอะไร ผมไม่ได้เซนซิทีฟขนาดนั้น -เมื่อเทียบกับภาพนะ- สำหรับผม มันยังเป็นศาสตร์ลึกลับที่ผมต้องพึ่ง ริศ-อัคริศเฉลิม กัลยาณมิตร คนออกแบบเสียงอยู่

เคยได้ยินมาว่าในการถ่ายหนัง ส่วนที่ต้องให้ความสำคัญมากที่สุดส่วนหนึ่งคือเรื่องการบันทึกเสียง เพราะถ้าพลาดขึ้นมาแล้วจะแก้ไขได้ยากมาก แล้วคุณอภิชาติพงศ์ก็เลือกที่จะถ่ายทำหนังท่ามกลางสภาพธรรมชาติซึ่งน่าจะคุมเรื่องเสียงได้ยากมากๆ โดยเฉพาะฉากลำธาร ซึ่งที่ปรากฏในหนังเป็นเสียงที่ไพเราะน่าฟังมากๆ แต่ก็จะมีเสียงพูดเสียงอื่นๆ ร่วมอยู่ด้วย คุณอภิชาติพงศ์จัดการกับการบันทึกเสียงในฉากเหล่านี้อย่างไร โดยเฉพาะเมื่อยังต้องการความดิบที่เป็นธรรมชาติอยู่

อภิชาติพงศ์: เสียงแก้ไขได้ยากมากจริงๆ ต้องมาปรับทีหลังเยอะมาก

คือจริงๆ ผมก็ชอบความดิบนะ แต่ถ้าอยากจะดิบ อัดเสียงมาให้ชัดให้สะอาดก่อน แล้วมาทำให้ดิบดีกว่า จะปลอดภัยกว่า จะเติม จะยกขึ้นลงอะไรได้ง่ายกว่า แม่น้ำลำธารนี่ไม่ใช่ที่ที่ดีในการถ่ายหนังเลย คือสุดท้ายก็ใช้เสียงจริงนะ แต่ก็ต้องมีพากย์ทีหลังเยอะมาก ต้อง ADR[12] กับทิลดาเยอะมาก คือจริงๆ มันก็พอจะได้แหละ แต่เสียงมันจะรกไป ให้ทิลดาพากย์ใหม่ดีกว่า

มาที่ไอเดียเรื่องการใช้เสียงใน ‘memoria’ บ้าง เหมือนเรื่องนี้จะมีการเล่นกับมิติของเสียง ความทรงจำ การได้ยิน เสียง diegetic sound[13] ทั้งเสียงภายใน (internal) และเสียงภายนอก (external) ของตัวละครเจสสิกา ชวนให้คิดไปถึงหนังทดลองเรื่องแรกๆ ของคุณอภิชาติพงศ์ ที่เล่นกับความไม่ไปด้วยกันของภาพและเสียงอยู่ตลอด ใน ‘memoria’ คุณอภิชาติพงศ์ ตั้งใจจะทดลองหาคำตอบใหม่ๆ เกี่ยวกับเสียงในภาพยนตร์ด้วยหรือไม่

อภิชาติพงศ์: ไม่เชิงนะ เพราะถ้าได้ดูหนังเก่าๆ มันก็จะเป็นแบบนี้แหละ เพียงแค่ว่าในเรื่องนี้คนดูจะได้ซิงโครไนซ์กับตัวละครเจสสิกา คนดูคือเจสสิกาว่าอย่างนั้นเถอะ คือคนดูจะรู้สึก activate ตั้งแต่ฉากที่อยู่ในร้านอาหารว่า เธอได้ยินพร้อมกับคนดู เหมือนคนดูเป็นส่วนหนึ่งของชีวิตเธอ คนดูจะเริ่มเงี่ยหูฟัง ตั้งใจฟังมากกว่าหนังเรื่องอื่นๆ แต่ถ้าลบเรื่องโมตีฟ (motif)[14] เนื้อหาออกแล้ว หนังเรื่องก่อนๆ ของผมก็ใช้เสียงในทำนองนี้แหละ

ในเรื่องความทรงจำที่มาในรูปของเสียง ผ่านการตามหาที่มาของเสียง ‘ปัง’ ในหัวของเจสสิกา คุณอภิชาติพงศ์เล่นกับมิติรายละเอียดเสียงอันหลากหลาย มีช่วงที่เล่าคล้ายละครวิทยุด้วยแอ็กชั่นที่มาแต่เสียงแต่ไม่มีภาพ มีเสียงนอยซ์ (noise) แบบการจูนคลื่น มีการใช้ความเงียบกริบแบบ complete silence หลากหลายมากมาย ในส่วนนี้มีแนวคิดยังไงบ้าง

อภิชาติพงศ์: ไอเดียแรกจริงๆ เป็นเรื่องภาพก่อนนะ ตอนที่ผมได้ยินเสียงระเบิดในหัว ช่วงหลังๆ จะมีภาพตามมาด้วย เป็นพวกรูปสี่เหลี่ยม สามเหลี่ยม รูปเรขาคณิต จะขาวบ้าง เป็นสีบ้าง ผมก็เลยจินตนาการหนังออกมาเป็นภาพ แต่พอเขียนไปๆ ก็คิดว่า ‘ฮื้ม! เสียงมันน่าจะง่ายกว่านะ’ มันไม่ต้องใช้เอ็ฟเฟ็กต์สอะไร มันเป็นฐานอยู่แล้ว และคิดว่าเราใช้วิธี activate ความทรงจำของคนดูดีกว่าที่จะต้องมาบอกเป็นภาพ เพราะไอเดียหลักคือความเปิดกว้างของภาพยนตร์ แต่ละคนจะเข้าถึงได้ต่างกัน เรื่องนี้ก็เลยอยากให้มันเข้าไปขุดความนิ่ง ความโดดเดี่ยวของเราที่ซิงโครไนซ์กับเจสสิกาได้มากกว่า ซึ่งความโดดเดี่ยวก็ไม่ใช่เรื่องไม่ดีนะ มันก็สวยงามของมันได้เหมือนกัน พอคิดแบบนี้ก็เลยไปเน้นเรื่องการปั้นเสียงขึ้นมาจากความทรงจำ

ฉากเด่นอีกฉากที่พูดถึงเรื่องเสียงอย่างชัดเจนคือช่วงที่ เจสสิกาไปพบ แอร์นัน (รับบทโดย ฆวน ปาโบล อูร์เรโก) ที่เป็นวิศวกรเสียง (sound engineer) เพื่อสร้างเสียงให้ตรงกับเสียงในหัวของเจสสิกา แล้วต้องใช้คำพูดบรรยายว่าลักษณะของเสียงเป็นอย่างไร อันนี้คือเหมือนกับการทำงานของคุณอภิชาติพงศ์กับผู้ออกแบบเสียงเลยไหม โดยเฉพาะในการสื่อสารเสียงออกมาเป็นคำพูด

อภิชาติพงศ์: ใช่ๆ มันจำลองการทำงานของผมกับริศ-อัคริศเฉลิม ผมก็พยายามอธิบายให้เขาฟังว่ามันเป็นยังไง แล้วก็เอามาจากวีดิโอที่ถ่ายตอนที่ผมกับริศทำงานด้วยกันไว้ ซึ่งบทจริงๆ จะค่อนข้างเทคนิคมาก เพราะนักแสดงจะไม่รู้ว่าต้องกดปุ่มไหน ยังไง เขาไม่ใช่วิศวกรเสียงตัวจริงและต้องเรียนรู้ใหม่หมดเลย ที่สำคัญต้องให้เขาตามขั้นตอนของเราเป๊ะๆ เพราะผมจะให้ความสำคัญมากเรื่องการคุมเวลาในแต่ละซีน ผมจะเขียนกำกับไว้หมดเลยว่าแต่ละซีนจะยาวกี่นาที สี่นาทีครึ่ง หนึ่งนาที สามนาที มันต้องตามนั้นเลย

เป็นการทำงานที่ละเอียดมาก แสดงว่าภาพของเสียงที่เห็นบนจอก็คือกราฟจริงๆ ของเสียงใช่ไหม

อภิชาติพงศ์ : ใช่ครับ ของจริง ตัดแต่งจริงๆ แต่ก็มันมีหลอกบ้าง เพราะว่าเวลาจริงๆ ที่จะใช้กว่าจะได้เสียงออกมาไม่น่าต่ำกว่าสองชั่วโมง จะไม่เร็วเหมือนที่เห็นในหนัง

ดนตรีที่ใช้ในหนังเรื่องนี้ก็โดดเด่นติดหูและมีชีวิตชีวามาก โดยเฉพาะในฉากซ้อมดนตรีของวงควอเต็ต (Quartet)[15] ซึ่งเหมือนกับว่าคุณอภิชาติพงศ์ให้ผู้แต่งเพลงมาช่วยแต่งให้ใหม่เลยใช่ไหม

อภิชาติพงศ์: ใช่ครับ อันนี้ก็เรื่องยาวเลย คือผมไปที่มหาวิทยาลัยแห่งนี้ เหมือนกับทุกๆ ที่ที่ผมไปสำรวจแหละ แล้วก็เจอวงดนตรีที่กำลังซ้อมกันอยู่ ก็เลยถ่ายไว้ แต่ตอนนั้นยังไม่ได้คิดอะไร ถ่ายไว้แค่สามสิบวินาที พอเขียนบทก็เอากลับมาดูก็รู้สึกว่าน่าสนใจดีนะ อยากให้มีวงนี้กลับมาเล่น เลยพยายามตามหานักดนตรี แต่ก็ไม่เจอ คนนี้ไปอเมริกา คนโน้นไปโน่นนี่ ผมเลยต้องทำงานกับนักดนตรีขึ้นมาใหม่เลย โดยใช้วีดิโอนี้เป็นตัวอ้างอิง แต่นักดนตรีเขาก็พัฒนาขึ้นมาจนดีกว่าเดิมเยอะมากๆ เราก็คุยกันว่ามันต้องไม่อาร์ตเกินไป มีความป๊อป ความแจ๊ส และมีกลิ่นอายลาตินอยู่ด้วย หานักดนตรีมาแจม ตอนกำลังจะถ่ายเขาก็ยังซ้อมกันอยู่ สุดท้ายเขาก็เล่นให้ดู แล้วก็รู้สึก โอ้โห! ประทับใจ

ความเป็นลาตินอเมริกาที่ชัดเจนมากที่สุดอย่างหนึ่งในหนังก็คือภาษาสเปน คุณอภิชาติพงศ์รู้สึกอย่างไรกับ ‘เสียงภาษาสเปน’ บ้าง เมื่อเทียบกับ ‘เสียงภาษาอังกฤษ’

อภิชาติพงศ์: แน่นอน ผมคุ้นเคยกับภาษาอังกฤษมากกว่าอยู่แล้ว และทีมงานก็พูดภาษาอังกฤษ แต่ว่าภาษาสเปน ผมเข้าใจภาษานะ แต่พูดไม่ได้ และไม่สามารถเข้าใจเรื่องอารมณ์ได้ เรื่อง nuance[16] ของการพูดของคนในชีวิตประจำวัน กับอย่างในละคร ในสื่อต่าง ๆ มันไม่เหมือนกัน แต่ผมยังแยกไม่ได้

เหมือนถ้ามีคนต่างชาติมาอยู่ไทย เขาก็อาจจะไม่เข้าใจความแตกต่างระหว่างการพูดของคนไทยในชีวิตจริงกับในละคร เพราะละครไทยเวลาพูดมันจะไม่เหมือนจริง ผมเลยต้องพึ่งโค้ชด้านภาษา (language coach) มาก และไม่ใช่เฉพาะทิลดาคนเดียว แม้แต่คนที่พูดสเปนเองและอยู่ที่โบโกตาอยู่แล้ว ก็ต้องพึ่ง โค้ชด้านภาษาเพราะต้องคุมให้ได้โทนที่ต้องการ ต้องเข้าใจตรงกันว่าไม่ใช่ละครทีวีที่ต้องพูดอีกแบบนะ เลยต้องโค้ชทุกคน แล้วก็พยายามให้พวกเขาดูหนังเก่าๆ ของผม จะได้เข้าใจว่าอยากได้การแสดงแบบไหน คนที่ช่วยได้มากที่สุดคือ โปรดิวเซอร์ ดีอานา บุสตามานเต เขาจะเข้าใจว่าสิ่งที่เราต้องการคืออะไร

ในเรื่องนี้จะมีความแปลกใหม่อีกอย่าง ก็คือการทำงานกับนักแสดงมืออาชีพอย่างจริงจัง ทั้งทิลดา สวินตัน,ฌีนน์ บาลิบาร์และนักแสดงจากฝั่งลาตินอเมริกาเอง วิธีการแสดงของนักแสดงเหล่านี้มีความต่างเหมือนอะไรกันตรงไหนบ้างไหม หรือสุดท้ายมันก็เป็นเรื่องของส่วนบุคคลของนักแสดงแต่ละคน

อภิชาติพงศ์: อันนี้เป็นประเด็นที่ดีเลย อย่างทิลดาจะเหมือนน้ำไหลที่โฟล์วได้ตลอด อยากได้แบบไหนก็ทำให้ได้ ซึ่งมันดีมาก เพราะเราไม่รู้ว่าเจสสิกาคืออะไร เพราะทิลดาก็ไม่ใช่เจสสิกา เวลาทิลดาอยู่คนเดียว ฉากเดี่ยวๆ การเดินอะไรต่างๆ จะสำคัญมาก เพราะทิลดาเดินเหมือนผู้ชาย (หัวเราะ) ยังเคยบอกว่า “เธอเดินเหมือนผู้ชายเลยนะ” แต่จะบอกให้เดินเป็นผู้หญิงก็ไม่ได้อีก ก็จะดู sexist[17] อีก ก็เลยมีคีย์เวิร์ดว่า ‘underwater’ เหมือนเดินอยู่ใต้น้ำ ทุกอย่างให้ช้าลงหมดเลย แล้วเขาก็จะเข้าใจเอง แต่อย่างไรก็ตามทุกเทคจะไม่เหมือนกันนะ เพื่อให้เราได้เลือก เหมือนชื่อเวิร์คช็อปจริงๆ  Shapeshifting แบบนั้นเลย

แต่ฌีนน์ บาลิบาร์จะ Shapeshift ไม่ได้ เขาจะเป็นตัวเขาเอง เล่นอะไรก็เป็นตัวเขา เป็นฌีนน์ บาลิบาร์ที่ไม่ใช่คนฝรั่งเศสธรรมดาด้วยนะ เป็นคนฝรั่งเศสที่อยู่ปารีส พอไปพูดกับหลายๆ คนก็จะตกใจกันมากที่ผมเลือกฌีนน์ บาลิบาร์ โปรดิวเซอร์ก็เตือนว่ารู้ใช่ไหมว่าฌีนน์ บาลิบาร์ก็คือฌีนน์ บาลิบาร์ ช่วงแรกๆ ก็เลยมีปัญหามาก จะไม่เข้ากับทิลดาเพราะทิลดาจะปั้นได้ แต่ฌีนน์คือไม่ได้เลย จนต้องยอมรับว่าเป็นสไตล์เขา แต่พอเล่นไปเรื่อยๆ สุดท้ายผมก็แฮปปี้นะ ด้วยความหลากหลายของนักแสดง

แสดงว่าคุณอภิชาติพงศ์ ต้องปรับตัวละครแอ็กเนสให้เข้ากับฌีนน์ บาลิบาร์ด้วยหรือเปล่า

อภิชาติพงศ์: ใช่ครับ ต้องปรับ ซึ่งมันก็เป็นความท้าทายว่าเราจะให้ฌีนน์มาอยู่ในโลกนี้ได้อย่างไร

แล้วนักแสดงลาตินอย่างฆวน ปาโบล อูร์เรโกกับ เอลกิน ดีอาซที่ รับบทเป็นแอร์นัน ทั้งสองเป็นอย่างไรบ้าง

อภิชาติพงศ์: เอลกิน ดิอาซที่เล่นเป็นแอร์นันคนที่สองจะปรับเยอะ เพราะเขาจะติดการโอเวอร์แอ็กติ้งจากละครทีวีที่เขาเล่นใหญ่มาตลอด เขาได้เล่นเป็นมือปืน บทใหญ่ๆ มา เป็นคนที่ผมจะต้องบอกให้เขาลดลงจากหนึ่งร้อยให้เหลือแค่สิบอะไรแบบนี้ แต่เขาดังอยู่นะ เวลาไปเมืองเล็กๆ บางคนไม่รู้จักทิลดา แต่จะกรูมาหาคนนี้ มาขอลายเซ็นคนนี้แทน (หัวเราะ)

ส่วนฆวน ปาโบล อูร์เรโกนี่เหมือนสวรรค์ส่งมา เพราะตอนแรกคิดว่าอยากได้คนที่ดูลาตินหน่อย และดูมีเสน่ห์เพราะเป็นความฝัน ซึ่งมันก็อาจจะสเตอริโอไทป์ (stereotype)[18] ไปหน่อย ตอนแรกรู้สึกแปลกๆ เพราะเขาหล่อและอาจจะดู artificial[19] ได้ แต่สุดท้ายแล้วมันมีความเหงาอยู่ในหน้าเขา และการแสดงของเขามันละเอียดมาก ในเทปที่ซ้อมตอนคัดเลือกนักแสดงกัน ผมก็เลยโอเค เลือกคนนี้ แล้วสุดท้ายเขาก็พิสูจน์ฝีมือได้จริงๆ เพราะเขาเป็นน้ำเหมือนทิลดา คนแบบนี้หายาก ผมอยากทำงานกับเขาด้วยอีก

แล้วหันมามองเทียบกับนักแสดงที่ไทย มีความต่างอะไรบ้างไหม

อภิชาติพงศ์: ที่ต่างและที่ผมเป็นห่วงจริงๆ อยู่ที่นักแสดงประกอบเอ็กซ์ตร้าต่างๆ มากกว่า แต่ก็ไม่ใช่หน้าที่ผมแล้ว เพราะมีทีมที่ดูแลอยู่ ที่ห่วงมาก่อนเพราะนักแสดงเอ็กซ์ตร้าในไทยหาดีๆ ยาก เดินแข็งกันทุกคนเลย  แต่ที่นั่นจริงๆ ก็คนธรรมดานะ ถูกเกณฑ์มาแสดงคล้ายๆ บ้านเรา แต่ดันเล่นดี เล่นดีกันหมดเลย เลยหมดห่วง

คุณอภิชาติพงศ์ หลังๆ รู้สึกว่าจะเริ่มหันมาสนใจกวีนิพนธ์ เห็นได้ชัดว่าในหนังจะมีอยู่ถึงสองช่วง และในงานนิทรรศการ A Minor History ที่มูลนิธิ 100 ต้นสน ก็ได้ร่วมงานกับกวี ‘เมฆครึ่งฟ้า’ นำกวีนิพนธ์มาแสดงไว้ด้วย คุณอภิชาติพงศ์มองกวีนิพนธ์ ซึ่งเป็นศิลปะแห่งการออกเสียงอย่างไรบ้าง

อภิชาติพงศ์: ก็ไม่เชิงนะ ผมเป็นคนที่ไม่เข้าใจกวีเหมือนกัน เลยอยากทำงานกับเขาไง เหมือนไม่เข้าใจประเทศโคลอมเบีย ก็ต้องเดินทางไป แต่มันก็เป็นการแสดงออกคนละรูปแบบ ในหนังจะมีบทกวีที่ผมแต่งเองซึ่งเป็นกวีที่แย่มาก ทิลดายังบอกเลยว่า “อะไรของเธอเนี่ย มันแย่มาก” (หัวเราะ) แต่นั่นแหละคือประเด็น เพราะเจสสิกาฝันอยากเป็นกวี แต่ว่าเป็นกวีที่ห่วย แต่ถ้าถามจริงๆ ผมไม่ค่อยเข้าใจกวีเท่าไหร่นะ

หลังจากที่ ‘memoria’ ได้ออกฉายตั้งแต่ที่เทศกาลภาพยนตร์เมืองคานส์ และตระเวนไปตามเทศกาลต่างๆ คุณอภิชาติพงศ์ ได้ติดตามอ่านบทวิจารณ์ บทรีวิว อะไรต่างๆ บ้างหรือเปล่า และคุณอภิชาติพงศ์ ได้อะไร หรือประทับใจ หรือสะกิดใจจากงานเขียนเหล่านี้บ้างไหม หรือแม้แต่จากผลตอบรับของคนดูแต่ละที่ ทั้งในยุโรป อเมริกา หรือลาตินอเมริกาก็ดี

อภิชาติพงศ์: ผมค่อนข้างงงที่หลายสื่อบอกว่ามันเป็นหนังที่ช้า แต่สำหรับผมแล้วรู้สึกว่ามันไม่ช้าเลยนะ ‘กัลปพฤกษ์’ คิดว่าช้าไหม

ไม่รู้สึกว่าช้าเลยนะ เพราะมันมีอะไรเกิดขึ้นให้ติดตามอยู่ตลอดเวลา แต่ที่เห็นคำวิจารณ์ส่วนใหญ่ ถึงจะบอกว่าช้า แต่ก็เป็นความช้าในทางบวกอยู่

อภิชาติพงศ์: ใช่ จริงๆ หนังเร็วนะ แต่เขาก็บอกว่ามันช้ามากๆ และต้องใช้ความพยายามมากถึงจะได้อะไรจากหนัง ตรงนี้คือไม่เข้าใจ มันหมายความว่ายังไง แล้วอีกจุดหนึ่งที่เซอร์ไพรส์เหมือนกันคือ ผลตอบรับโดยรวมมันบวกเยอะมาก เพราะจริงๆ แล้วมันก็เป็นหนังส่วนตัว เป็นหนังเล็กๆ ที่ไม่ใช่เรื่องของบทด้วยซ้ำ แต่เป็นเรื่องการหายใจอะไรแบบนี้ เลยไม่คิดว่าสื่อเขาจะซิงโครไนซ์กับตรงนี้ได้ขนาดนี้

แต่ถ้าที่สะเทือนใจที่สุดก็คงเป็นผลตอบรับของคนดู เพราะหนังได้เปิดตัวออกฉายโรงที่โคลอมเบียประเทศแรกในโลกหลังจากคานส์ ก็มีการจัดงาน ทิลดาก็ไป เหมือนที่จัดที่ไทยนี้เลย มีถุง มีโปสเตอร์ เหมือนกันเปี๊ยบเลย คนก็ไปดูหนังกัน แล้วพวกเขาชอบมาก ดูหนังจบแล้วซึม ร้องไห้ คือเขาไม่เข้าใจว่ามันคืออะไร แต่เขารู้สึกว่ามันคือเรื่องของเขา แล้วพอหนังได้เป็นตัวแทนออสการ์ มันไม่มีการต่อต้านอะไรเลยนะ ทุกคนยินดี

คือตัวเราเกิดมาในประเทศนี้ ประเทศชาตินิยม เลยรู้สึกว่า ถ้ามีฝรั่งหรือใครอื่นมาทำหนังบ้านเรา แล้วได้ไปชิงออสการ์ มันจะเกิดการตั้งแง่ ว่าทำไมไม่เอาหนังไทยจริงๆ ไป แต่ที่นั่นเขาโอบรับดีมากๆ ที่นิวยอร์คก็ดีมากๆ แต่ที่สวยมากๆ ก็คือที่ฝรั่งเศส ซึ่งคำวิจารณ์ดีมากๆ

คุณอภิชาติพงศ์เคยกล่าวไว้ว่า “Long Live Cinema! ภาพยนตร์จงเจริญ!” อันนี้หมายถึงภาพยนตร์ฉายโรงเพียงอย่างเดียวหรือเปล่า คุณอภิชาติพงศ์ได้ดูหนังสตรีมมิงอย่างเน็ตฟลิกซ์ (Netflix) บ้างไหม ซึ่งก็ปฏิเสธไม่ได้ว่าช่วงหลังๆ นี้ ค่ายหนังสตรีมมิงต่างๆ สนับสนุนให้ทุนคนทำหนังศิลปะอย่างเต็มที่มาก ทำให้หนังประสบความสำเร็จในเวทีประกวดต่างๆ ทั้งออสการ์ก็ดี ที่เทศกาลหนังเวนิสก็ดี คุณอภิชาติพงศ์มีมุมมองอย่างไรกับแพล็ตฟอร์มนี้บ้าง ยกตัวอย่างถ้าทางเน็ตฟลิกซ์มาเชิญให้คุณอภิชาติพงศ์ไปทำหนังให้ แต่เป็นแพล็ตฟอร์มแบบสตรีมมิง คุณอภิชาติพงศ์จะตอบรับไหม

อภิชาติพงศ์: ชัวร์ ตอบรับแน่นอน ผมก็ดูหนังเน็ตฟลิกซ์นะ แต่อาจไม่ได้ดูมากเท่าไหร่ ผมไม่ได้แอนตี้หรือต่อต้านอะไรเลย แต่ที่ตอบรับนี่คือถ้าเขาเข้าใจเรานะ ซึ่งผมก็คิดว่ายาก เพราะว่าเราเปิด แต่เขาอาจจะไม่เปิด (หัวเราะ) แต่ก็พูดยากเพราะเราเปิดในเงื่อนไขที่เขาจะต้องเข้าใจหนังในแบบของเรา มันต้องให้อิสระเรา ซึ่งมันยาก

หนังของคุณอภิชาติพงศ์แบบไหนที่จะเหมาะกับแพล็ตฟอร์มแบบนี้ มันไม่ได้เป็น ‘cinema’ แล้วนะ แต่จะเป็นการ ‘streaming’ ดูจากที่บ้าน

อภิชาติพงศ์: จริงๆ ผมทำอยู่เรื่องนึง แต่ไม่ใช่เน็ตฟลิกซ์หรอกนะ เป็นของเจ้าอื่น แต่ยังเล่ารายละเอียดอะไรไม่ได้ กำลังคุยกับโปรดิวเซอร์ที่อเมริกาอยู่ แล้วก็จะเป็นหนังแบบผมนี่แหละ ใช้คอนเซ็ปต์ของสตรีมมิง . . . มันคือ ‘แอนตี้สตรีมมิง’ (หัวเราะ) พูดอะไรมากกว่านี้ไม่ได้แล้ว

โอ้โห! ฟังแล้วยิ่งอยากดูเลย คำถามสุดท้ายแล้ว หลังจากโคลอมเบียแล้ว ยังอยากทำหนังในประเทศอื่นๆ อีกไหม เพราะอะไร

อภิชาติพงศ์: อินเดีย ศรีลังกา และเม็กซิโก สามที่เลย

ของอินเดีย ผมชอบปรัชญาที่เกิดจาก กฤษณมูรติ[20] นะ เขาเกิดที่อินเดีย แต่ก็ไปชุบตัวที่อังกฤษ ฝรั่งเศส อเมริกา แต่อินเดียคือรากของเขา มีความเชื่อ มีวัฒนธรรมที่ผมหลงใหล คือประเทศอย่างนี้ ทำไมถึงบ่มเพาะคนอย่างกฤษณมูรติมาได้

อินเดียตรงภูมิภาคไหน เพราะแต่ละส่วนก็แตกต่างกัน

อภิชาติพงศ์: อินเดียตะวันออกเฉียงใต้ เพราะ กฤษณมูรติ เกิดที่นั่น ก็เลยเชื่อมไปถึงศรีลังกาที่อยู่ใกล้ๆ กัน ส่วนเม็กซิโก ผมมีแกลเลอรีอยู่ที่นั่นด้วย เคยไปบ่อยอยู่ มันมีความรุนแรง มีความวุ่นวายในแบบที่ผมชอบ เลยอยากไปอีก


ขอขอบคุณ คุณแก้วตา เกษบึงกาฬ, คุณเวลา อมตะธรรมชาติ, หอภาพยนตร์แห่งชาติ (องค์การมหาชน), Common Move และ Kick-the-Machine สำหรับการประสานงานและอำนวยความสะดวกในการสัมภาษณ์ และขอขอบคุณ ห้องสมุดและโสตทัศนสถาน เชิด ทรงศรี หอภาพยนตร์ (องค์การมหาชน) สำหรับสถานที่สัมภาษณ์

ภาพถ่ายโดย นันทณัฐ ดวงธิสาร, Filmmaker (Beast, The Serpents Song, The Stain), Educator, PhD Student


เชิงอรรถ

[1] ทิลดา สวินตัน เป็นกรรมการตัดสินรางวัลเทศกาลภาพยนตร์เมืองคานส์ ประจำปี 2004 ที่ ‘สัตว์ประหลาด!’ ของอภิชาติพงศ์ได้เข้าประกวด และชื่นชอบหนังมาก ได้ติดต่อและติดตามผลงานของอภิชาติพงศ์มาโดยตลอด ส่วนฌีนน์ บาลิบาร์ร่วมเป็นกรรมการตัดสินรางวัลเทศกาลภาพยนตร์เมืองคานส์ ประจำปี 2008 คณะเดียวกับอภิชาติพงศ์ วีระเศรษฐกุล

[2] Residency คือ โครงการศิลปินพำนัก ที่เทศกาลภาพยนตร์ หรือหน่วยงานต่างๆ เชิญให้ศิลปินที่ประสบความสำเร็จ ไปพำนักยังพื้นที่นั้นๆ ในระยะยาว เพื่อเป็นแรงบันดาลใจในการสร้างสรรค์และพัฒนางานใหม่ๆ

[3] Más Arte Más Acción เป็นมูลนิธิด้านศิลปะวัฒนธรรมที่ประเทศโคลอมเบีย ส่งเสริมให้ศิลปินถ่ายทอดงานเกี่ยวกับความสัมพันธ์ระหว่างมนุษย์และธรรมชาติ โดยอภิชาติพงษ์ได้ร่วมเป็นศิลปินพำนักในโครงการ Space to Reflect เมื่อปี 2017 เป็นเวลาสองเดือน จากการสนับสนุนร่วมของสถาบันเกอเธ่ โคลอมเบีย ติดตามอ่านเรื่องสั้นเชิงบันทึกของอภิชาติพงศ์ วีระเศรษฐกุลที่ต่อมาได้กลายมาเป็นส่วนหนึ่งของบทภาพยนตร์ ชมสารคดีขนาดสั้นที่บันทึกช่วงเวลาขณะเป็นศิลปินพำนักของอภิชาติพงศ์ โดยผู้กำกับ คอเนอร์ เจสซัป ได้ที่ A.W. A Portrait of Apichatpong Weerasethakul

[4] Skylight ช่องแสงในอาคารเพื่อรับแสงสว่างจากดวงอาทิตย์ผ่านหลังคา

[5] สถาปัตยกรรมบรูทัลลิสต์ (Brutalist) เป็นสถาปัตยกรรมที่มุ่งแสดงสัจจะและความตรงไปตรงมาในการออกแบบ โดยนิยมใช้คอนกรีตเปลือยเพื่อแสดงเนื้อแท้ของวัสดุที่ใช้

[6] มาจากคำว่า overexposure คือการถ่ายภาพแล้วปริมาณแสงในภาพมากเกินไป ทำให้เห็นเป็นแสงสว่างจ้าจนรายละเอียดของภาพเลือนลางไป

[7] Blown ภาพขาวโพลนจนไม่สามารถเห็นรายละเอียดภาพ

[8] Improvise การด้นสดโดยไม่มีบทเตรียมมาก่อน มีแต่แนวทางไว้คร่าวๆ

[9] On set ในกองถ่าย

[10] เป็นเอก รัตนเรือง ผู้กำกับภาพยนตร์

[11] synchronise ทำให้เวลาตรงกัน เช่น ให้ภาพและเสียงของภาพยนตร์ตรงกัน หรือรู้สึกตรงกัน

[12] ADR ย่อมาจาก Automated Dialogue Replacement เป็นการให้นักแสดงพากย์เสียงพูดใหม่ในห้องบันทึกเสียง เพื่อนำไปใส่ภาพยนตร์ส่วนที่บันทึกเสียงจริงมาแล้วไม่ชัดเจน หรือไม่สามารถใช้ได้

[13] Diegetic sound คือ เสียงในภาพยนตร์ที่เกิดขึ้นจริงๆ ในฉากหนึ่ง เช่น เสียงพูดของตัวละคร เสียงเรียกโทรศัพท์ โดยอาจจะเกิดขึ้นในเฟรมภาพ หรือนอกเฟรมภาพ และเป็นเสียงภายใน (internal) หรือเสียงภายนอก (external) ของตัวละครก็ได้

[14] Motif องค์ประกอบที่ปรากฏอยู่ซ้ำๆ ในเนื้อเรื่อง

[15] Quartet วงดนตรีที่ใช้เครื่องดนตรีสี่ชิ้น ในภาพยนตร์เรื่องนี้ เป็นวงดนตรีที่ประกอบด้วย กีตาร์ เปียโน คอนทราเบส และกลองชุด

[16] Nuance ความแตกต่างในระดับละเอียดของสำเนียงและเสียงภาษา

[17] Sexist การมีอคติระหว่างเพศที่เกิดจากลักษณะเหมารวมของแต่ละเพศ

[18] Stereotype แบบแผนเหมารวม

[19] Artificial ประดิษฐ์ ปลอม สังเคราะห์

[20] ชิททู กฤษณมูรติ  นักปราชญ์ และนักคิดชาวอินเดีย (ค.ศ. 1895-1986)

MOST READ

Life & Culture

14 Jul 2022

“ความตายคือการเดินทางของทั้งคนตายและคนที่ยังอยู่” นิติ ภวัครพันธุ์

คุยกับนิติ ภวัครพันธุ์ ว่าด้วยเรื่องพิธีกรรมการส่งคนตายในมุมนักมานุษยวิทยา พิธีกรรมของความตายมีความหมายแค่ไหน คุณค่าของการตายและการมีชีวิตอยู่ต่างกันอย่างไร

ปาณิส โพธิ์ศรีวังชัย

14 Jul 2022

Life & Culture

27 Jul 2023

วิตเทเกอร์ ครอบครัวที่ ‘เลือดชิด’ ที่สุดในอเมริกา

เสียงเห่าขรม เพิงเล็กๆ ริมถนนคดเคี้ยว และคนในครอบครัวที่ถูกเรียกว่า ‘เลือดชิด’ ที่สุดในสหรัฐอเมริกา

เรื่องราวของบ้านวิตเทเกอร์ถูกเผยแพร่ครั้งแรกทางยูทูบเมื่อปี 2020 โดยช่างภาพที่ไปพบพวกเขาโดยบังเอิญระหว่างเดินทาง ซึ่งด้านหนึ่งนำสายตาจากคนทั้งเมืองมาสู่ครอบครัวเล็กๆ ครอบครัวนี้

พิมพ์ชนก พุกสุข

27 Jul 2023

Life & Culture

22 Feb 2022

คราฟต์เบียร์และความเหลื่อมล้ำ

วันชัย ตันติวิทยาพิทักษ์ เขียนถึงอุตสาหกรรมเบียร์ไทย ที่ผู้ประกอบการคราฟต์เบียร์รายเล็กไม่อาจเติบโตได้ เพราะติดล็อกข้อกฎหมาย และกลุ่มทุนที่ผูกขาด ทั้งที่มีศักยภาพ

วันชัย ตันติวิทยาพิทักษ์

22 Feb 2022

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • Always Active

Save