fbpx

THE RESCUE – ‘ภารกิจกู้ภัย’ ปาฏิหาริย์บีบหัวใจ เหนือวิสัยผู้เชี่ยวชาญ

อีกหนึ่งเซอร์ไพรส์ในการประกาศผู้เข้าชิงรางวัลออสการ์ครั้งที่ 94 เมื่อวันที่ 8 กุมภาพันธ์ ที่ผ่านมา คือสารคดีเรื่อง The Rescue (2021) ที่ย้อนบันทึกเรื่องราวบีบหัวใจของ ‘ภารกิจกู้ภัย’ เหตุการณ์ทีมนักฟุตบอลเยาวชน ‘หมูป่า’ จากเชียงราย ติดอยู่ในถ้ำหลวงหลังน้ำท่วมขัง ระหว่างวันที่ 23 มิถุนายน – 10 กรกฎาคม พ.ศ. 2561 รวมเวลากว่า 16 วัน จะไม่ติดโผการเสนอชื่อในสายสารคดีขนาดยาวอย่างน่าประหลาดใจ ทั้งๆ ที่ตอนได้ฉายที่เทศกาลภาพยนตร์เมืองโตรอนโต หนังก็เป็นที่ชื่นชอบของผู้ชมกระทั่งสามารถคว้ารางวัล People’s Choice Award และได้กลายเป็นตัวเก็งรางวัลออสการ์ในสาขานี้ด้วยซ้ำ

สารคดีเรื่องนี้อำนวยการผลิตโดย National Geographic และได้คู่ผู้กำกับ จิมมี ชิน (Jimmy Chin) กับ อลิซาเบธ ไช วาซาร์เฮลยี (Elizabeth Chai Vasarhelyi) ซึ่งเคยคว้ารางวัลออสการ์สาขาสารคดีขนาดยาวยอดเยี่ยม จากสารคดีนักไต่ผาด้วยมือเปล่าอันแสนจะน่าหวาดเสียวเรื่อง Free Solo (2018) มาทำหน้าที่เป็นผู้เล่า จนทำให้ The Rescue กลายเป็นสารคดีสุดระทึกชวนให้ต้องติดตามความเป็นไปต่างๆ ทุกนาที ด้วยทักษะฝีมือการเล่าที่สามารถร้อยเรียงภาพข่าวและฟุตเตจจากแหล่งต่างๆ อันหลากหลาย ประกอบกับส่วนที่ถ่ายทำจำลองขึ้นมาใหม่ ได้เป็นงานสารคดีที่เปี่ยมไปด้วยพลังชวนให้นึกย้อนไปถึงวันคืนอันน่าใจหายและต้องร่วมลุ้นอย่างทุรนทุรายกินเวลายาวนานหลายสัปดาห์

สำหรับผู้ชมที่คิดว่า เคยติดตามข่าวและสถานการณ์เหล่านี้จากสื่อต่างๆ มาอย่างใกล้ชิดจนไม่น่าจะมีอะไรใหม่ให้ดูอีกแล้ว ก็คงจะต้องรู้สึกประหลาดใจเมื่อได้เห็นว่าสารคดี The Rescue ยังมีเนื้อหาส่วนที่ไม่เคยได้รับการเผยแพร่ในวงกว้างผ่านทางสื่อต่างๆ อยู่อีกมากมาย โดยเฉพาะในรายละเอียดด้านการทำงานที่ต้องรอบคอบและระมัดระวังทุกฝีเก้าและทุกการเคลื่อนไหว ในขณะที่พายุฝนก็ยังกระหน่ำลงมาอย่างไม่กริ่งเกรงใจเพิ่มพูนระดับน้ำให้เวลาในการปฏิบัติภารกิจสุดหินนี้เหลือน้อยลงทุกทีๆ

สิ่งที่วิเศษมากๆ ในสารคดีเรื่องนี้ก็คือ ผู้กำกับทั้งสองเลือกที่จะเล่าโดยจับเนื้อหาเรื่องราวหลักไปที่อาสาสมัครนักดำน้ำในถ้ำจากประเทศอังกฤษสองราย ผู้ค้นพบทีมหมูป่า ณ เนินนมสาวเป็นคนแรก และมีส่วนสำคัญในการลำเลียงพวกเขาออกมาสู่ปากถ้ำยาวหลายกิโลเมตรทีละคนละคน ซึ่งวีรบุรุษทั้งสองนี้ก็คือคุณ ริค สแตนตัน (Rick Stanton) และ จอห์น โวแลนเธน (John Volanthen) ผู้เดินทางมาถึงเชียงรายสถานที่เกิดเหตุด้วยชุดเสื้อยืดกางเกงขาสั้นรองเท้าแตะดูไม่ต่างจากนักท่องเที่ยวฝรั่งขี้นกปราศจากมาดหรือบารมีแห่งความเป็นฮีโร่ใดๆ สิ่งที่พวกเขามีติดตัวมาคือทักษะอันจัดเจนในการมุดดำไปตามช่องหลืบของโถงถ้ำใต้น้ำ ที่ไม่ว่าช่องทางจะยากลำบากปราบเซียนอย่างไร พวกเขาก็สามารถทะลุผ่านไปได้โดยไม่ต้องกริ่งเกรงอันตราย ตลอดความยาวของสารคดีเราจึงได้เห็นวิธีคิดวิธีการทำงานของวีรบุรุษไร้มาดสองท่านนี้ที่ต้องร่วมวางแผนปฏิบัติงานกับหน่วยงานอื่นๆ อย่างรัดกุม ผ่านฉากจำลองของการดำน้ำในถ้ำ การสัมภาษณ์ในลักษณะพูดหน้ากล้อง (talking heads) และการเล่าประวัติความเป็นมาเป็นไปของพวกเขาและเพื่อนร่วมทีมว่า จากเด็กนักเรียนหลังห้อง ไม่เข้าสังคม และอ่อนด้อยด้านการเล่นกีฬาเป็นทีม พวกเขากลับกลายมาเป็นนักดำน้ำในถ้ำมือหนึ่งอันดับต้นของโลกได้อย่างไร จนทำให้พวกเขาได้กลายเป็นบุคคลที่สำคัญมากที่สุดในปฏิบัติการที่แทบจะหาหนทางความสำเร็จไม่ได้ครั้งนี้

เมื่อผู้กำกับจับประเด็นและมุมมองการเล่าเอาไว้อย่างชัดเจน แล้วค่อยๆ ขยับขยายไปถ่ายทอดเรื่องราวที่มีความเกี่ยวข้องส่วนอื่นๆ ไม่ว่าจะเป็น ภาพพ่อแม่ที่ร้องตะโกนเรียกลูกๆ อย่างหัวใจสลาย การระดมความช่วยเหลือจากทุกทิศทางของเจ้าหน้าที่อาสาสมัครและเจ้าหน้าที่ฝ่ายไทย การทำพิธีสวดมนต์ภาวนาหันหน้าพึ่งไสยศาสตร์ ความกระตือรือร้นของสื่อจากทั่วโลกที่รวบรวมกำลังใจจากมนุษยชาติราวผู้เคราะห์ร้ายเหล่านี้เป็นลูกเป็นหลาน รวมถึงความสูญเสียอันน่าเศร้าใจของ ‘จ่าแซม’ หรือ นาวาตรีสมาน กุนัน ก็ยิ่งทำให้ The Rescue เป็นสารคดีที่มีทิศทางหลักในการเชิดชูวีระบุรุษติดดินในโลกแห่งความเป็นจริง ที่มาพร้อมรายละเอียดหลากหลายซึ่งจะคอยเสริมว่าการเผชิญความท้าทายอันสุดหินจนสำเร็จลุล่วงในครั้งนี้มีปาฏิหาริย์อันน่าเหลือเชื่อมากมายเพียงไหน กลายเป็นตำนานที่ต่อให้มือเขียนบทชั้นยอดขนาดไหนก็คงไม่สามารถคิดสร้างสรรค์ออกมาได้ จากสิ่งละอันพันละน้อยที่ล้วนแต่ยังอยู่ในกรอบของโลกความเป็นจริง

จุดที่น่าสะท้อนใจมากที่สุดในหนังก็คือ จากปากคำของวีรบุรุษทั้งหลายที่เคยเสี่ยงตายเข้าไปช่วยทีมหมูป่าออกมาจากภัยพิบัติสุดวิสัยครั้งนี้ หากจะพิจารณาในมุมของความเป็นมืออาชีพแล้ว ทุกอย่างล้วนเป็นสิ่งที่ไม่ควรกระทำเลยตั้งแต่ต้น แม้แต่การบุกเข้าไปในถ้ำขณะน้ำฝนยังโปรยลงมาจากห่ามรสุมจนพร้อมจะปิดทุกทางเข้าออกได้ทุกเมื่อ ความเป็นไปได้ที่พวกเขาจะรอดชีวิตหลังต้องขาดอาหารเป็นเวลาหนึ่งสัปดาห์ หรือแม้แต่หลังการพบตัวพวกเขาแล้ว การจะลำเลียงผู้เคราะห์ร้ายด้วยการให้ยาสลบแล้วพาดำน้ำมา ก็ถือได้ว่าเป็นเรื่องสิ้นคิดในทางการแพทย์ เนื่องจากเด็กอาจอยู่ในท่าทางบิดหัวบิดลำคอปิดทางเดินหายใจตัวเอง หรือมีน้ำลายสะสมออกมาจนสำลักหายใจไม่ได้ และเสียชีวิตไประหว่างถูกลำเลียงด้วยโอกาสสูง  ทว่าเมื่อพวกเขาอยู่ ณ พื้นที่นั้นจริงๆ และได้เห็นพ่อแม่ผู้ปกครองต้องเป็นลมเป็นแล้งไม่เป็นอันทำอะไร สำนึกความปลอดภัยในเชิงวิชาชีพทั้งหลายก็ไม่ได้สำคัญเท่าการเดินหน้า เพราะพวกเขารู้อยู่แก่ใจว่า ถ้าไม่ลงมือก็เท่ากับปิดโอกาสไปตั้งแต่แรก สุดท้ายแล้วพวกเขาก็ไม่ได้ทางเลือกอื่นใด และต้องตัดสินใจทำในสิ่งที่อันตรายมากที่สุดด้วยความหวังอันริบหรี่ชวนถอดใจ จนสุดท้ายปาฏิหาริย์ก็ต้องหันมาเข้าข้างอย่างที่ได้เห็น

The Rescue จึงเป็นสารคดีที่มีความเป็นมนุษย์อันน่าชื่นชม แสดงพลังศักยภาพของมนุษย์ที่สามารถเอาชนะสิ่งที่แทบจะหาความเป็นไปไม่ได้ และกลายเป็นความสำเร็จอันน่าปีติยินดีในที่สุด

นอกเหนือจากชั้นเชิงอันละเอียดประณีตในเชิงการเล่าแล้ว สารคดีเรื่องนี้ยังมีองค์ประกอบอีกหลายส่วนที่เสริมสร้างความน่าดูได้มากขึ้น ไม่ว่าจะเป็นดนตรีประกอบที่เร่งเร้าอารมณ์ในช่วงต่างๆ อย่างกำลังดีมีรสนิยมไม่มากไม่น้อยจนเกินไป จนชวนให้ร่วมลุ้นตามได้ การสร้างแอนิเมชั่นจำลองภาพวาดบนผนังถ้ำแบบไทยๆ สะท้อนความคิดความเชื่อในทางศาสนาที่แตกต่างออกไปได้อย่างหมดจดงดงาม ตามมาด้วยเพลงประกอบชื่อ Believe ขับร้องโดย อโล บลักก์ (Aloe Blacc) ที่ชวนให้พวกเรายังเชื่อให้พลังแห่งความศรัทธาว่าสองมือเล็กๆ ของเราสามารถสร้างสิ่งที่ยิ่งใหญ่ได้ คือไม่ว่าจะมองในมุมใดหนังก็คู่ควรกับการได้เข้าชิงรางวัลออสการ์ในสาขานี้เสียเหลือเกิน แต่เมื่อถึงเวลาจริงๆ แล้วหนังกลับถูกเมิน จึงนับเป็นสิ่งที่เข้าใจได้ยาก เพราะจากคุณภาพของตัวงานนี่คือสารคดีชั้นดีอีกเรื่องที่ไม่ควรจะมองข้ามเลย

MOST READ

Life & Culture

14 Jul 2022

“ความตายคือการเดินทางของทั้งคนตายและคนที่ยังอยู่” นิติ ภวัครพันธุ์

คุยกับนิติ ภวัครพันธุ์ ว่าด้วยเรื่องพิธีกรรมการส่งคนตายในมุมนักมานุษยวิทยา พิธีกรรมของความตายมีความหมายแค่ไหน คุณค่าของการตายและการมีชีวิตอยู่ต่างกันอย่างไร

ปาณิส โพธิ์ศรีวังชัย

14 Jul 2022

Life & Culture

27 Jul 2023

วิตเทเกอร์ ครอบครัวที่ ‘เลือดชิด’ ที่สุดในอเมริกา

เสียงเห่าขรม เพิงเล็กๆ ริมถนนคดเคี้ยว และคนในครอบครัวที่ถูกเรียกว่า ‘เลือดชิด’ ที่สุดในสหรัฐอเมริกา

เรื่องราวของบ้านวิตเทเกอร์ถูกเผยแพร่ครั้งแรกทางยูทูบเมื่อปี 2020 โดยช่างภาพที่ไปพบพวกเขาโดยบังเอิญระหว่างเดินทาง ซึ่งด้านหนึ่งนำสายตาจากคนทั้งเมืองมาสู่ครอบครัวเล็กๆ ครอบครัวนี้

พิมพ์ชนก พุกสุข

27 Jul 2023

Life & Culture

22 Feb 2022

คราฟต์เบียร์และความเหลื่อมล้ำ

วันชัย ตันติวิทยาพิทักษ์ เขียนถึงอุตสาหกรรมเบียร์ไทย ที่ผู้ประกอบการคราฟต์เบียร์รายเล็กไม่อาจเติบโตได้ เพราะติดล็อกข้อกฎหมาย และกลุ่มทุนที่ผูกขาด ทั้งที่มีศักยภาพ

วันชัย ตันติวิทยาพิทักษ์

22 Feb 2022

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • Always Active

Save