fbpx

โตเกียวเสียขวัญ เมื่อเสียงปืนสนั่นฟ้ายูเครน

ไม่นานหลังรัสเซียเดินทัพเข้ายูเครน อดีตผู้นำญี่ปุ่น ชินโซ อาเบะ ออกมาแสดงความเห็นว่า ถึงเวลาแล้วหรือยังที่ญี่ปุ่นจะต้องคิดอย่างจริงจังเกี่ยวกับหนทางมี ‘นิวเคลียร์’ ไว้ป้องกันประเทศ ความเคลื่อนไหวนี้เป็นสิ่งสะท้อนอย่างดีว่า ปัญหารัสเซีย-ยูเครนอีกฟากฝั่งทวีปหาใช่วิกฤตอื่นไกลที่ญี่ปุ่นจะดูอยู่เฉยได้ นั่นใช่ว่าเพราะญี่ปุ่นเป็นหนึ่งในกลุ่มชาติชั้นนำ (G7) ที่ต้องแสดงท่าทีให้เหมาะสมสถานะ แต่วิฤตนี้ยังมีนัยยะโดยตรงต่อความมั่นคงของประเทศด้วย

แม้ดูเหมือนสงครามอยู่ห่างจากญี่ปุ่นในทางภูมิศาสตร์ แต่ที่วิกฤตนี้เชื่อมถึงโตเกียวและเกี่ยวพันกับประเด็นความมั่นคง เป็นเพราะความสัมพันธ์เป็นอันหนึ่งอันเดียวกันเชิง ‘ตรรกะ’ และ ‘จิตวิทยา’ เมื่อเข้าใจจุดเชื่อมโยงนี้ ไม่ว่าใครก็คงไม่แปลกใจว่าเหตุใดญี่ปุ่นจึง ‘เสียขวัญ’ และหวั่นไหวต่อวิกฤตยูเครนถึงขนาดมีเสียงร้องเรียกให้ทบทวนแนวทางป้องกันประเทศ รวมถึงหลักการ ‘ไม่เอาอาวุธนิวเคลียร์’ ที่มีสถานะศักดิ์สิทธิ์ในชาติเหยื่อปรมาณูหนึ่งเดียวของโลก

ปัจจัยเชิงตรรกะและจิตวิทยานี้ไม่เพียงผูกความมั่นคงและความอยู่รอดของญี่ปุ่นกับวิกฤตยูเครน แต่จริงๆ แล้วชาติอื่นๆ ในโลก โดยเฉพาะชาติขนาดกลางถึงขนาดย่อมในเอเชียแถบนี้อาจตกอยู่ในสภาพเดียวกันและควร ‘เสียขวัญ’ ไม่ต่างจากญี่ปุ่น เพียงแต่อาจ ‘ยังไม่รู้ตัว’ ที่พูดเช่นนี้ใช่ว่าจะชี้ถึงผลกระทบทางเศรษฐกิจที่กระจายไปทั่วโลก อย่างราคาพลังงานที่กระทบถึงไทยให้เดือดร้อนกันไปแล้ว

แต่อีกเรื่องที่แฝงในวิกฤตนี้คือ ผลกระทบระดับโลก ‘ด้านยุทธศาสตร์และความมั่นคง’ ทั้งที่เกิดจากตัวสงครามและจากปฏิกิริยาของนานาชาติหลังสงครามบังเกิด อาจยังไม่เห็นชัดว่าปัญหานี้จะส่งผลต่อชาติต่างๆ และระเบียบโลกอย่างไรบ้าง ณ ตอนนี้ แต่จะมีผลแน่ในภายหน้า ญี่ปุ่นซึ่งรู้ตัวดีและมองเห็นตรรกะที่เชื่อมโยงกับการป้องกันประเทศจากภัยใกล้บ้านอย่างจีนและเกาหลีเหนือ (จากนี้คงมีรัสเซียเพิ่มขึ้นมา) ตลอดจนการธำรงเสถียรภาพของระเบียบภูมิภาคที่ตนมีผลประโยชน์ผูกพันอยู่ จึงรู้สึกกังวลใจและไม่อาจมองชะตากรรมยูเครนเป็นเรื่องไกลตัวได้

ข้อเขียนนี้ตั้งใจเสนอปัจจัยเชิงตรรกะและจิตวิทยาดังที่เกริ่นมาว่า ส่งผลให้ความขัดแย้งเฉพาะที่ในยูเครนกลายเป็นปัญหาต่อญี่ปุ่นอย่างไร? โดยมองกรณีญี่ปุ่นเป็นตัวอย่างที่ชี้ให้เห็นว่า ชาติอื่นๆ ในเอเชียก็อาจเผชิญความเสี่ยงเช่นเดียวกันนี้ได้ เนื่องจากร่วมอยู่ในระเบียบภูมิภาคเดียวกัน

ตรรกะและจิตวิทยาที่สานความมั่นคงของชาติต่างๆ เข้าด้วยกันนี้ มีหัวใจสำคัญอยู่ที่ยุทธศาสตร์ ‘ป้องปราม’ ทั้งเพื่อความปลอดภัยของชาติและธำรงเสถียรภาพของระเบียบเอเชีย ยุทธศาสตร์นี้ยังเกี่ยวเนื่องกับการทำงานของระบบพันธมิตรไม่ว่าแบบทวิภาคีกับสหรัฐฯ แบบพหุภาคี และระบบ ‘ความมั่นคงร่วมกัน’ ในกรอบองค์การสหประชาชาติ

สิ่งที่สั่นคลอนความมั่นคงและก่อความเสี่ยงระยะยาวไม่ได้มาจากการกระทำของรัสเซียผู้รุกรานเท่านั้น แต่ที่ส่งผลเสียหายยิ่งกว่าคือ ‘การตอบสนอง’ ต่อวิกฤตนี้ที่ทำให้เห็นว่า ท้ายที่สุดแล้วชาติผู้ตกที่นั่งลำบากอย่างยูเครนจำต้อง ‘ช่วยเหลือตัวเอง’ ในการต่อสู้กับศัตรูใหญ่ ขณะที่ไม่มีมหาอำนาจอื่นใดในโลกเข้าร่วมรบ ทั้งสหรัฐฯ และยุโรปไม่ลุกขึ้นสู้และดูมีท่าทีขยาดสงคราม โดยทำได้แค่ใช้มาตรการลงโทษที่อาจมีผลเมื่อประเทศและประชาชนยูเครนย่อยยับไปแล้ว

ความมั่นคงของญี่ปุ่นบนกลไกป้องปราม

เหตุใดอาเบะจึงลุกขึ้นมากระตุ้นให้สังคมญี่ปุ่นตื่นตัวเรื่องการมีอาวุธนิวเคลียร์ ใช่ว่าที่ผ่านมาญี่ปุ่นปลอดภัยและอุ่นใจใต้ ‘ร่มนิวเคลียร์’ ของสหรัฐฯ อยู่แล้วหรอกหรือ อาจมองว่าตราบใดที่กรอบพันธมิตรญี่ปุ่น-สหรัฐฯ ยังคงอยู่ ญี่ปุ่นก็น่าจะพึ่งพาร่มนิวเคลียร์ที่แผ่เงาคุ้มภัยให้ญี่ปุ่นนับแต่สมัยสงครามเย็นได้ ซึ่งก็ทำให้ญี่ปุ่นยังสามารถยึดมั่นในหลักการ ‘ไม่มี ไม่สร้าง ไม่ให้นำเข้า’ อาวุธนิวเคลียร์ รวมถึงหลักสันตินิยม (pacifism) ที่ยอมให้คงไว้แค่กำลัง ‘เชิงรับ’ (defensive force) สำหรับป้องกันประเทศ โดยไม่ถือว่าขัด ‘ข้อบัญญัติละเลิกสงคราม’ ในกฎหมายรัฐธรรมนูญ (ม. 9)

เมื่อฟังสิ่งที่อาเบะขยายความทั้งเรื่องที่เขามองว่ายูเครนคงไม่ถูกรุกรานหากมีอาวุธนิวเคลียร์ช่วยป้องปราม หรือเรื่องที่ว่าสหรัฐฯ ควรยุติ ‘ยุทธศาสตร์วางตัวคลุมเครือ’ (strategic ambiguity) และแสดงความชัดเจนว่าจะมาช่วยพันธมิตรในเอเชียอย่างญี่ปุ่นและไต้หวันยามที่ถูกโจมตี จะเห็นได้ว่าอาเบะกำลังตั้งข้อสงสัยต่อสหรัฐฯ ว่ามีความแน่วแน่แค่ไหนที่จะใช้ร่มนิวเคลียร์ป้องกันภัยให้พันธมิตร หรือพูดอีกอย่างให้กว้างขึ้นคือเขากำลังตั้งคำถามต่อ ‘กลไกป้องปราม’ (deterrent) ซึ่งอิงอยู่กับพละกำลังและคำมั่นของสหรัฐฯ ที่จะปกป้องญี่ปุ่น

นับวันสิ่งที่เห็นในวิกฤตยูเครนจะเป็นสัญญาณที่กัดกร่อนความเชื่อถือของคนญี่ปุ่นต่อกลไกป้องปรามบนฐานพันธมิตรกับสหรัฐฯ แล้ว ‘การป้องปราม’ คืออะไร? การป้องปรามคือความพยายามยับยั้งศัตรูไม่ให้ ‘กล้าเปิดฉากทำร้ายเราแต่ต้น’ หรือ ‘ทำในสิ่งไม่พึงประสงค์’ อย่างการละเมิดกฎเกณฑ์หรือเปลี่ยนแปลงระเบียบที่เป็นอยู่โดยใช้กำลัง พูดอีกอย่างคือ ‘การขู่ไม่ให้คิดกระทำ’ โดยใช้จิตวิทยาให้เชื่อว่าเราเข้มแข็งพอจะต่อสู้และต้านทานการรุกรานและการกระทำบุ่มบ่ามของคุณได้ ถึงยังไง ‘คุณจะไม่มีวันชนะ’ ‘จะสูญเสียมากกว่าที่จะได้’ แถมยัง ‘อาจถูกโจมตีโต้กลับจนยับเยิน’ อีกด้วย

การทำให้จิตวิทยานี้ทำงานครบต้องอาศัยทั้งการแสดง ‘ศักยภาพ’ พร้อมไปกับการแสดงความขึงขัง ‘เอาจริงเอาจัง’ ในการต่อต้าน ในแง่ศักยภาพ การปรามอีกฝ่ายให้ไม่กล้าก่อการขึ้นอยู่กับกำลัง ‘ป้องกัน’ ที่เตรียมไว้ทัดทานการรุกรานหรือการละเมิดกฎเกณฑ์ ที่ผ่านมาญี่ปุ่นมีอุปสรรคในจุดนี้จากหลักอุดมการณ์และกฎหมายที่ ‘จำกัดการทหาร’ ซึ่งเกิดขึ้นหลังสงครามโลกครั้งที่สอง

แต่การคลายจุดยืนใฝ่สันติให้ยืดหยุ่นเรื่อยมา ทำให้ญี่ปุ่นมีกำลังป้องกัน ‘แบบตั้งรับ’ กอปรกับความได้เปรียบด้านเทคโนโลยีและงบประมาณทำให้การทหารของญี่ปุ่นแข็งแกร่งไม่น้อยหน้าใคร ถึงกระนั้น แม้มีโล่กำบัง แต่ญี่ปุ่นก็ยังมีจุดอ่อนในการป้องปรามจากการขาดอาวุธ ‘โจมตีกลับ’ ซึ่งสามารถเพิ่มระดับการข่มขู่เพื่อยับยั้งศัตรูได้มากขึ้นไปอีก

ตามแบบแผนที่เป็นมาญี่ปุ่นอุดจุดอ่อนนี้ด้วยการพึ่งพา ‘ศักยภาพจู่โจม’ ของสหรัฐฯ กลไกป้องปรามจึงครบกระบวนท่า โดยเสริมกำลังตั้งรับด้วยการ ‘ขู่ว่าพันธมิตรจะร่วมกันโจมตีโต้กลับหากทำการฝ่าฝืน’ การมีสนธิสัญญาพันธมิตรทำให้สหรัฐฯ รับบทเป็นผู้คุ้มกัน โดยใช้ทั้งแสนยานุภาพนิวเคลียร์และกองกำลังทั่วไปมาเสริมทัพศักยภาพในการป้องปรามแบบจำกัดที่ญี่ปุ่นมี เราเรียกแนวทางช่วยป้องปรามให้แก่พันธมิตรเช่นนี้ว่า ‘การป้องปรามแบบขยาย’ (extended deterrent)

อีกส่วนสำคัญในจิตวิทยาการป้องปรามคือการส่งสัญญาณ ‘ความเอาจริง’ ว่าเราจะระดมสรรพกำลังมาถล่มคุณแน่หากละเมิดผลประโยชน์สำคัญของเราหรือของมิตรประเทศ ซึ่งหมายถึงการสื่อสารให้เห็นความห้าวหาญเด็ดเดี่ยว ‘ตัดไม้ข่มนาม’ ให้อีกฝ่ายกริ่งเกรง การขีดเส้นยาแดง (red line) ไม่ให้ศัตรูฝ่าข้ามโดยชี้ว่าเป็นประเด็นความเป็นความตายคือหนึ่งในแนวทางป้องปราม แต่การจะขู่ศัตรูให้ได้ผลคำขู่นั้นต้องมีคุณสมบัติ ‘น่าเชื่อถือ’ (credibility) ประกอบด้วย

ความน่าเชื่อถือเป็นสิ่งยากแก่การได้มาและรักษาให้คงอยู่ ต้องอาศัยการสั่งสม การแสดงพฤติกรรมที่สอดคล้องและการพิสูจน์ให้เห็นผ่านกรณีต่างๆ การดีแต่ใช้วาทะข่มขู่แต่ไม่ลงมือตอบโต้ในยามที่เส้นยาแดงถูกละเมิด หรือใช้แนวทางปวกเปียกผ่อนปรนรับมือกับการฝ่าฝืนครั้งแล้วครั้งเล่า ก็ทำให้ความน่าเชื่อถือในคำขู่ของชาตินั้นถูกบ่นเซาะทำลาย และอาจทำให้ถูกมองว่า ‘มีนิสัย’ ขู่เก่งแต่ไร้เขี้ยวเล็บในการบังคับให้คู่กรณีปฏิบัติตาม

ความไม่น่าเชื่อถือเป็นปัญหาใหญ่ในการป้องปรามศัตรู ดังนั้นเมื่อชาติใหญ่ผู้ดูแลระเบียบอย่างสหรัฐฯ แสดงความโลเลออกมาสักกรณีย่อมส่งผลเสียหาย ยิ่งเมื่อเกิดขึ้นหลายกรณีต่างที่ต่างวาระ ก็จะยิ่งตอกย้ำท่าทีไม่เอาไหนที่จะปกป้องผลประโยชน์และหลักคุณค่าที่ตนป่าวประกาศ เมื่อเป็นเช่นนี้ศัตรูย่อมเหิมเกริมไม่แยแสต่อคำขู่อีกต่อไป ขณะที่พันธมิตรที่ต้องพึ่งพาอาศัย ‘การป้องปรามแบบขยาย’ จากสหรัฐฯ ก็จะพากันตั้งข้อสงสัยและไม่มั่นใจในความเป็นผู้นำและผู้พิทักษ์ปกป้อง

การที่กลไกป้องปรามของญี่ปุ่นขึ้นอยู่อย่างมากกับสหรัฐฯ ทำให้เกิดความคาดหวังต่อสหรัฐฯ 2 ตลบ ตลบแรกคือการอยากเห็นสหรัฐฯ ย้ำอย่างสม่ำเสมอถึงความเหนียวแน่นและความสำคัญของระบบพันธมิตรกับญี่ปุ่น และแสดงให้เห็นว่าทั้งสองจะไม่ทอดทิ้งกัน พร้อมกันนั้น ญี่ปุ่นก็หวังว่าสหรัฐฯ จะทำตัวสอดคล้องในการรักษาผลประโยชน์ของพันธมิตรกรอบอื่นๆ ในที่ต่างๆ ของโลก ทั้งในแบบทวิและพหุภาคี เพื่อให้เห็นว่าสหรัฐฯ จะยืนหยัดเคียงข้างพันธมิตรอยู่เสมอไม่ว่ากรณีใด รวมถึงญี่ปุ่นด้วย

แต่ที่ผ่านมาท่าทีของสหรัฐฯ กลับสั่นคลอนกลไกป้องปรามของญี่ปุ่น แม้ว่าระบบพันธมิตรจะดูเหนียวแน่น อีกทั้งรัฐบาลอาเบะก็หันมาใช้ ‘นโยบายเชิงรุก’ (pro-active) เพิ่มบทบาทความมั่นคงร่วมกับสหรัฐฯ เพื่อถ่วงดุลและป้องปรามภัยจีนและเกาหลีเหนือ แต่สหรัฐฯ กลับมีทีท่าลังเลใจในการใช้กำลังจัดการวิฤตต่างๆ ในโลกไม่ว่าในซีเรีย (2013) ไครเมีย (2014) ทั้งที่โอบามาได้ขีดเส้นยาแดงไว้ ตามมาด้วยการขึ้นเป็นผู้นำของทรัมป์ผู้กังขาต่อการรักษาพันธมิตร แม้ในยุคไบเดนที่สหรัฐฯ กลับลำมาให้คุณค่าพันธมิตรอีกครั้ง แต่กรณีอัฟกานิสถานกับยูเครนก็กำลังเป็นจุดด่างพร้อยใน ‘ความน่าเชื่อถือ’ ของการเป็นพันธมิตรและผู้นำระเบียบโลกของสหรัฐฯ

วิกฤตยูเครนกับภูมิรัฐศาสตร์เอเชียตะวันออก

ตรรกะและจิตวิทยาอย่างไรที่ทำให้สงครามยูเครนไม่อาจมองแยกจากภูมิรัฐศาสตร์เอเชียได้ ? ประเด็นที่ตั้งใจจะวิเคราะห์ในที่นี้ไม่ได้คาดหมายกรณี (scenario) การเกิดสงครามโลกหรือสงครามนิวเคลียร์ ซึ่งหากเป็นเช่นนั้นผลกระทบย่อมใหญ่หลวงแน่ แต่แค่ย้อนมองดูเหตุการณ์ช่วง 2 สัปดาห์ที่ผ่านมาหลังการบุกยูเครน ก็จะเห็นปัญหาไม่น้อยต่อยุทธศาสตร์ป้องปรามของชาติพันธมิตรสหรัฐฯ ในเอเชีย เรามาลองวิเคราะห์ดูว่ากรณียูเครนเสนอตรรกะและส่งผลทางจิตวิทยาอย่างไรที่กระทบต่อเอเชีย

การเปิดฉากบุกยูเครนของรัสเซียคือ ‘ความล้มเหลวของการป้องปราม’ ในยุโรป การขีดเส้นยาแดงและขู่คว่ำบาตรจากชาตินาโตและสหรัฐฯ ไม่ได้ช่วยยับยั้งรัสเซีย ปูตินอาจอ้างว่าการขยายอำนาจของตะวันตกเข้าใกล้เขตแดนรัสเซีย คือต้นเหตุของความเกรี้ยวกราด แต่ที่จริงเขาอาจสัมผัสได้ถึงความปวกเปียก ไร้ภาวะผู้นำและความเป็นเอกภาพ รวมถึงความไม่กล้าเสี่ยงทำสงครามของอีกฝ่าย จึงได้เดินหน้าทำตามอำเภอใจ

ตะวันตกเพลี่ยงพล้ำครั้งก่อนตอนรัสเซียผนวกไครเมีย การตอบโต้ครั้งนั้นเบาจนเท่ากับการยอมหมอบราบ (appease) ให้รัสเซีย จึงไม่น่าแปลกเมื่อไม่มีใครเอาจริงในครั้งนั้น คำขู่ครั้งนี้และสัญญาณต่างๆ ที่ส่งมาว่าจะคว่ำบาตรรุนแรงจึงไม่น่าเชื่อถือ ไม่น่ากลัว ซ้ำร้ายเมื่อการรุกรานเกิดขึ้นจริง สิ่งที่ชาติต่างๆ ทำก็เรียกไม่ได้ว่าช่วยป้องกันยูเครน การส่งยุทธภัณฑ์ให้พร้อมไปกับลงโทษรัสเซีย ขณะที่อ้างเหตุผลและข้อกฎเกณฑ์ต่างๆ ทำให้ไม่สามารถช่วยรบได้ ไม่อาจปกปิดความโลเลที่จะต่อกรกับรัสเซีย หากตะวันตกคิดจะรุกก็มีข้ออ้างและหาช่องทางทำได้มากมาย ไม่ต่างจากที่รัสเซียอ้างความชอบธรรมต่างๆ ให้แก่การกระทำก้าวร้าวของตน

การรีรอไม่ส่งกำลังช่วยยูเครนขณะที่ปูตินข่มขู่จะขยายความขัดแย้งให้มากขึ้นต่อชาติใดก็ตามที่ยื่นมือมายุ่ง ยิ่งทำให้สหรัฐฯ และพันธมิตรดูไร้น้ำยา เหตุผลที่ว่าต้องการเลี่ยง ‘สงครามโลก’ อาจหนีไม่พ้นทำให้สงครามโลกเกิดขึ้นอยู่ดีในสเกลที่อาจใหญ่กว่าและรัสเซียได้เปรียบกว่าเมื่อยึดยูเครนไปได้แล้ว ไม่ต่างจากนาซีเยอรมนีก่อนสงครามโลกครั้งที่ 2 การตอบสนองที่ ‘น้อยและช้า’ กรณียูเครนเมื่อการป้องปรามล้มเหลวส่งผลสะเทือนสะท้อนถึงเอเชีย

ญี่ปุ่นคงประสบภาวะทางสองแพร่ง (dilemma) ในนาทีนี้ โดยขณะที่ไม่อยากเห็นสงครามโลกเกิด การเห็นยูเครนรบ ‘อย่างโดดเดี่ยว’ ทำให้ต้องห่วงกังวลกับระบบป้องปรามของตนที่ต้องพึ่ง ‘คำมั่นสัญญา’ ของพันธมิตรว่าจะมาช่วยปกป้อง ในกรณียูเครนญี่ปุ่นเองก็ทำได้เพียงร่วมมือคว่ำบาตรรัสเซีย เนื่องด้วยข้อจำกัดทางทหารจึงต้องรอชาติอื่นแสดงบทบาทนำในวิกฤตนี้ เมื่อสหรัฐฯ ไม่แสดงภาวะผู้นำชัดเจน ญี่ปุ่นมองว่าเอเชียจะเผชิญผลกระทบและประสบภาวะไม่ต่างกับวิกฤตยูเครนในภายภาคหน้า

ตรรกะที่เอเชียเผชิญคล้ายกันนี้ คือการต้องรับมือกับชาติใหญ่ที่มีแนวโน้มต้องการโค่นระเบียบ (revisionist powers) และใช้กำลังทำตามอำเภอใจ รัสเซียเคลมยูเครนในฝั่งนั้นเทียบได้กับจีนที่เคลมเขตอิทธิพล ‘แนวเกาะเส้นที่หนึ่ง’ รวมถึงไต้หวันในฝั่งเอเชีย การป้องปรามที่ไม่ได้ผลในฝั่งนั้นและการปล่อยให้ยูเครนต้องรบด้วยตนเอง เป็นตัวแบบที่ชาติเอเชียที่มีอำนาจจำกัดในการต่อกรกับจีนต้องนำมาคิดเป็น scenario ในการพิจารณายุทธศาสตร์นับจากนี้ โดยคำนึงว่าสหรัฐฯ อาจไม่นำกำลังมาช่วยตนเมื่อภัยใกล้เข้ามา

ตรรกะและจิตวิทยาที่โยงระเบียบโลกเข้าหากัน

ยูเครนตอกย้ำตรรกะที่ J. Mearsheimer เสนอไว้เมื่อปี 2014 ในงาน ‘Say Goodbye to Taiwan‘ ซึ่งชี้ว่าสหรัฐฯ เผชิญภาวะ ‘ย้อนแย้ง’ (schizophrenia) ในกรณีไต้หวัน นั่นคือแม้ตระหนักดีว่าการรักษา ‘ความน่าเชื่อถือ’ ในฐานะคู่พันธมิตรกับชาติต่างๆ และฐานะผู้นำโลกขึ้นอยู่กับการปกป้องไต้หวัน แต่เมื่อคำนวนว่า คงชนะสงครามกับจีนได้ยากหรือจะเสียหายมาก สหรัฐฯ น่าจะเลือกไม่ร่วมในสมรภูมิไต้หวัน เขายังแนะว่าทางรอดของไต้หวันอย่างที่ไม่ต้องหวังพึ่งใครคือ ‘การมีนิวเคลียร์’ ไม่เช่นนั้นแล้วอีกทางเลือกที่เป็นไปได้คือการหาทางต่อรองเงื่อนไขให้จีนผนวกเข้าไปโดยยังให้อิสระระดับหนึ่ง (one country, two systems) เพื่ออย่างน้อยไต้หวันก็ยังสามารถรักษาหลักคุณค่าที่หวงแหนไว้ได้

บางคนอาจเถียงว่าการเอากรณียูเครนมาปะปนกับสถานการณ์ในเอเชียไม่น่าจะถูกต้องเท่าไหร่ เพราะอย่างน้อยสหรัฐฯ ก็มีกฎหมายกำหนดหน้าที่ให้ต้องปกป้องไต้หวันและญี่ปุ่น ถึงกระนั้นก็อย่าลืมว่าที่ผ่านมาสหรัฐฯ ได้แต่ ‘วางตัวคลุมเครือ’ แม้ล่าสุดนี้ไบเดนจะเน้นการสร้าง ‘แนวร่วม’ (united front) กับหลายชาติเพื่อรับประกัน ‘สันติภาพบริเวณช่องแคบไต้หวัน’ อีกทั้งไม่นานนี้ อาเบะก็ออกมาย้ำว่าถ้าจีนเผด็จศึก ระบบพันธมิตรญี่ปุ่น-สหรัฐฯ จะทำงานเพื่อป้องกันไต้หวันอย่างแน่นอน และสงครามที่ตามมาจะเท่ากับว่าจีนทำ ‘อัตวินิบาตกรรม’ ทางเศรษฐกิจตัวเอง

ความเคลื่อนไหวเหล่านี้อยู่บนตรรกะที่ว่า ระเบียบและ ‘สภาวการณ์ที่เป็นอยู่’ (status quo) ในเอเชียจะคงอยู่ต่อไปได้ด้วย ‘การป้องปราม’ ชาติที่จ้องใช้กำลังทำลายระเบียบ แต่เมื่อสงครามยูเครนแสดงให้เห็นว่าฝันร้ายของ ‘การถูกพันธมิตรทอดทิ้ง’ (abandoned) เป็นจริงขึ้นมาได้ ทำให้ชาติเอเชียที่พยายามรับประกันเสถียรภาพต้องหาหนทางอื่นเพื่อรับประกันความปลอดภัยของตนเองและระเบียบภูมิภาคแบบไม่พึ่งสหรัฐฯ ทั้งหมด

ความน่าเชื่อถือที่สูญไปแลกกับการไม่เสี่ยงรบซึ่งหน้ากับรัสเซีย จะทำให้สหรัฐฯ ไม่เพียงเผชิญแนวรบฝั่งยุโรปเท่านั้น นับวันปัญหาความมั่นคงฝั่งเอเชียจะยิ่งระอุขึ้น นั่นเป็นเพราะจิตวิทยาที่หล่อเลี้ยงระบบป้องปรามกำลังพังทลาย ทั้งมิตรและอริในเอเชียต่างดึงบทเรียนจากท่าทีที่ตะวันตกและพันธมิตรพหุภาคีตอบสนองต่อกรณียูเครน

จริงๆ แล้วที่ผ่านมาญี่ปุ่นกับไต้หวันได้พยายาม ‘เพิ่มความหลากหลาย’ ในวิธีถ่วงดุลอำนาจกับจีน โดยไม่พึ่งพิงอยู่เพียงแค่สหรัฐฯ ทั้งสองพยายามผูกสัมพันธ์แบบทวิภาคี พหุภาคี กับอีกหลายชาติในเอเชียและยุโรป ถือเป็นการเสริมระบบป้องปรามที่มี ‘นานาชาติ’ เข้ามาสอดส่องตรวจตราพฤติกรรมของจีน ทั้งญี่ปุ่นและไต้หวันประกาศตนเป็น ‘ชาติร่วมอุดมการณ์’ (like-minded nations) กับรัฐเสรีประชาธิปไตยทั้งหลายในโลก โดยหวังให้มิตรประเทศเข้ามาคุ้นกันตนตลอดจนระเบียบของเอเชีย

ในอีกทางหนึ่ง การที่ญี่ปุ่นลั่นวาจาว่าจะแบ่งพลังงาน (LNG) ให้ยุโรปเมื่อถึงคราวต้องคว่ำบาตรรัสเซียและพร้อมจะลงโทษร่วมกับนานาชาติหากเกิดสงครามขึ้น ก็ถือเป็นการพิสูจน์ความแน่วแน่ที่จะช่วย ‘พันธมิตรร่วมอุดมการณ์’ กดดันทางจิตวิทยาเพื่อป้องปรามรัสเซีย โดยมองว่าเป็นตรรกะหนึ่งเดียวที่เชื่อมโยงกับการป้องปรามภัยคุกคามในเอเชียด้วย ดังนั้นการไม่อาจยับยั้งรัสเซียไว้ได้ แถมยังเห็นว่าสหรัฐฯ สหภาพยุโรปและ UN ได้แต่ตอบโต้เชิงสัญลักษณ์ ในยามที่บ้านเมืองและผู้คนยูเครนถูกอาวุธกระหน่ำ ย่อมส่งผลให้ญี่ปุ่นกังขาต่อแผนการสร้างพันธมิตรหลายฝ่ายว่าจะช่วยตนได้ในยามคับขันจริงหรือ

พันธมิตรย่อมเสียขวัญ เมื่อสิ่งที่ตนหวังพึ่งกลายเป็นความไม่แน่นอน การเสื่อมความน่าเชื่อถือของระบบป้องปรามยังส่งผลให้ศัตรูอย่างจีนและเกาหลีเหนือกระหยิ่มยิ้มย่อง ด้วยเห็นว่าพันธมิตรที่ดูทีท่าว่าแข็งแกร่งแท้จริงแล้ว ‘เก่งแต่ขู่’ จึงเป็นไปได้สูงที่ชาติเหล่านี้ที่มีความทะเยอทะยานด้านดินแดนและแสนยานุภาพอยู่แล้วจะเพิ่มระดับการกดดันและทำตามอำเภอใจ เมื่อขาดจิตวิทยาที่ทำให้เชื่อว่าพันธมิตรโลกเสรีพร้อมจะระดมกำลังมาสกัดยับยั้ง จีนอาจอยากลองข้ามเส้นที่ขีดห้ามและเดิมพันตามที่รัสเซียทำเป็น ‘แบบอย่าง’ ในยูเครน

เมื่อเหตุการณ์ดำเนินมาถึงขั้นนี้ คงต้องขึ้นอยู่กับว่าการคว่ำบาตรต่อรัสเซียอย่างขนานใหญ่จะก่อผลสาหัสขนาดไหนแก่รัสเซีย จะทำให้ปูตินยอมถอยหรือไม่ หรือจากนี้ไปท่าทีตะวันตกจะยกระดับขึ้นมากกว่านี้แค่ไหนเพื่อยับยั้งรัสเซีย ประเด็นเหล่านี้จะมีส่วนเปลี่ยนแปลงการรับรู้และการคิดคำนวนผลได้-ผลเสียของชาติที่อาจกำลังจ้องจะเจริญรอยตามรัสเซียในวันหน้า รัสเซียที่ใช้กำลังบรรลุเป้าหมายได้ตามที่ตั้งใจ แม้อาจสะบักสะบอมแต่ประสบผลสำเร็จจะส่งผลทางจิตวิทยาที่ทำให้การป้องปรามพฤติกรรมบุ่มบ่ามของชาติในเอเชียเสื่อมลงไปด้วย

ท่าทีของจีนตอนนี้ที่วางตัวเป็นกลางนอกการเผชิญหน้าอาจบ่งบอกถึงการตระหนักรู้ว่าตนจะได้ประโยชน์จากการที่รัสเซียกับตะวันตกขัดแย้งทิ่มแทงกัน วิกฤตนี้ทำให้จีน ‘มั่นใจขึ้น’ ว่าพันธมิตรที่ปิดล้อมจีนในเอเชียช่างปวกเปียก ไม่แน่วแน่ นี่อาจยิ่งตอกย้ำแนวคิดและวาทกรรมที่ว่า ‘ระบอบเสรีประชาธิปไตย’ กำลังเสื่อม หรือไม่อาจเทียบประสิทธิภาพกับระบอบเผด็จการอำนาจนิยม เห็นได้จากปัญหาไม่ว่าการเลือกผู้นำอย่างทรัมป์มาบริหารประเทศ การแก้ไขปัญหาโควิด มาจนถึงการรวมพลังต่อต้านรัสเซีย รัฐประชาธิปไตยช่างดูอ่อนแอ ขี้ขลาด ปราศจากเอกภาพในหมู่สมาชิกร่วมอุดมการณ์ ใยเล่าจะทัดทานจีนได้หากคิดจะเอาจริงในการเคลมเขตอิทธิพลแถบนี้

Worst Case Scenario: สงครามใหญ่ยังไงก็เกิดอยู่ดี ?

จะแน่ใจได้อย่างไรว่าผู้นำรัสเซียที่ฮุบหรือหั่นดินแดนยูเครนไปได้โดยไม่ต้องต่อสู้สงครามใหญ่ในยุโรปจะยั้งใจยุติการขยายดินแดนไว้แค่นั้น ก่อนหน้านี้รัสเซียก็ผนวกไครเมียมาก่อนแล้ว ในครั้งนี้ปูตินอ้างความชอบธรรมในการปกป้องเขตอิทธิพลดั้งเดิมของบรรพบุรุษรัสเซียเพื่อเคลมดินแดนยูเครน แต่อย่าลืมว่ารัสเซียในอดีตเคยผูกความมั่นคงของตนกับความสามารถคุม ‘2 ช่องแคบ’ (บอสฟอรัสและดาร์ดะเนลส์) ในตุรกีอันเป็นเส้นทางเดินเรือเข้าออกทะเลดำอีกด้วย

อดีตยังฟ้องว่าโซเวียตเคยตกลงกับนาซีเยอรมนีแบ่งโปแลนด์คนละครึ่งเพื่อสร้างพื้นที่กันชนขยายออกไปจากแนวพรมแดนดั้งเดิมของตน ซึ่งก็เป็นฟางเส้นสุดท้ายทำให้สงครามโลกครั้งที่ 2 ปะทุขึ้นในยุโรป ยังไม่นับเรื่องที่ว่าเขตอิทธิพลของโซเวียตในช่วงสงครามเย็นแผ่คลุมยุโรปด้วยม่านเหล็กที่กางกั้นถึงเยอรมนี ประวัติศาสตร์สงครามโลกครั้งที่ 2 ยังบอกเราอีกว่า ‘การยอมอ่อนข้อ’ (appease) ต่อการกระทำละเมิดมักเป็นการเชื้อเชิญให้การรุกล้ำกระทำฝ่าฝืนหนักข้อขึ้น

นั่นหมายความว่า ‘สงครามยุโรป’ ที่ยังไม่เกิดตอนนี้ในกรณียูเครน ‘อาจเกิดขึ้นอยู่ดี’ เมื่อรัสเซียขยายความทะเยอทะยานจากคืบไปเป็นศอก ใครจะรู้นี่อาจเป็นแผนที่วางไว้อยู่แล้วหรือเป็นความฮึกเหิมใหม่ของปูตินจากที่เห็นว่าไม่มีชาติใหญ่ใดๆ ลุกขึ้นมาต่อสู้กับตน คราวนี้ยุโรปอาจอยู่เฉยต่อไปไม่ไหวและต้องจำใจทำสงคราม เหมือนอย่างที่ครั้งหนึ่งเคยรีรอจนอดอล์ฟ ฮิตเลอร์ฮุบดินแดนหลายประเทศไปได้และไม่ยอมหยุดง่ายๆ

เมื่อจิตวิทยาการป้องปรามและความน่าเชื่อถือของระบบพันธมิตรดั้งเดิมที่มีสหรัฐฯ เป็นศูนย์กลางถูกสั่นคลอน เสถียรภาพของระเบียบไม่เฉพาะแค่ในยุโรปแต่รวมถึงเอเชียที่อยู่ร่วมตรรกะและเกมจิตวิทยาเดียวกันนี้จะตกอยู่ในความระส่ำระสายไม่มั่นคงไปด้วย เมื่อนั้น ‘สงครามโลก’ ที่แผ่ไปทั้งโซนยุโรปและเอเชียจะมีโอกาสเกิดขึ้นได้มาก

ญี่ปุ่นและไทยในกลไกป้องปรามเดียวกัน

เมื่อมองเห็นเช่นนี้แล้วจึงไม่น่าแปลกใจว่าเหตุใดญี่ปุ่นจึงตื่นตัวเรื่องการหาอาวุธจู่โจม กระทั่งอาวุธนิวเคลียร์มาครอบครองเผื่อเอาไว้ นั่นก็เพื่อเสริมอำนาจป้องปรามที่ไม่ต้องพึ่งระบบพันธมิตรที่เสื่อมความน่าเชื่อถือจากกรณียูเครน แต่นั่นอาจทำให้ญี่ปุ่นอุ่นใจในระดับชาติ แต่การรักษาระเบียบระดับภูมิภาคจากการถูกเปลี่ยนแปลงโดยใช้กำลังอาจยังต้องขึ้นกับ ‘การกอบกู้’ ความแข็งแกร่งและความน่าเชื่อถือของสถาบันพันธมิตรในพื้นที่นี้กลับคืนมา

สำหรับประเทศไทย การตระหนักถึงความเชื่อมโยงระหว่างวิกฤตยูเครนกับระเบียบความมั่นคงในเอเชียควรเป็นส่วนสำคัญในการกำหนดท่าทีต่อวิกฤต และคงไม่อาจมองเป็นเรื่อง ‘ไกลตัว’ โดยมัวแต่สนใจเพียงผลกระทบทางเศรษฐกิจอย่างเดียวได้ เมื่อเสถียรภาพของระเบียบและการเลี่ยงสงครามไม่ให้เกิดในเอเชียขึ้นอยู่กับกลไกป้องปรามที่กำลังถูกสั่นคลอนทางจิตวิทยาจากแนวการรับมือปัญหายูเครน การที่บางประเทศแสดงทีท่าเมินเฉย เป็นกลางหรืออ่อนข้อยินยอมแก่รัฐที่ละเมิด ย่อมส่งผลต่อความเป็นเอกภาพและความแข็งแกร่งของแนวร่วมที่จะทัดทานชาติหรือพฤติกรรมก้าวร้าวในอนาคต

ผู้สันทัดการต่างประเทศไทยอาจมองว่าการ ‘ให้คนอื่นออกหน้า’ ขณะที่เรา ‘แอบสงวนทีท่าอยู่ข้างหลัง’ น่าจะเป็นวิธีรักษาผลประโยชน์และยังสอดคล้องกับแบบแผนการทูตของเรา จึงไม่ควรตัดสินเลือกข้างและดำรงความเป็นกลางโดยไม่เดือดร้อนใคร อย่างที่ญี่ปุ่นแต่ก่อนเคยทำและมักถูกประณามว่าวางตนไม่สมเป็นชาติผู้นำในเอเชีย ญี่ปุ่นอาจเลี่ยงการแสดงจุดยืนที่ชัดเจนได้ยากแต่ชาติเล็กแบบไทยอาจรู้สึกว่าไม่ใช่หน้าที่ แต่นั่นก็ไม่ได้หมายความว่าจะไม่ก่อให้เกิดผลเสียอะไร

เพราะเมื่อเราเข้าใจตรรกะการป้องปรามที่ตั้งอยู่บนความเป็นเอกภาพของพันธมิตรและประชาคมโลกในการส่งสัญญาณร่วมกันเพื่อยับยั้งการใช้กำลังผิดกฎหมายหรือกระทำตามอำเภอใจ การหลบเลี่ยงของบางชาติอาจกร่อนเซาะความเป็นเอกภาพและความเข้มแข็งทางจิตวิทยาของกลไกการป้องปรามลงได้

วิกฤตยูเครน ‘เป็นเรื่องห่างไทย’ มีคนมากมายมองเช่นนี้ นั่นอาจไม่ผิดเมื่อพิจารณาผิวเผินในแง่ระยะทาง แต่ความคิดนี้ต่างจากญี่ปุ่นที่อ่อนไหวในเรื่องการป้องกันประเทศมากกว่า ด้วยเพราะภูมิศาสตร์ที่ใกล้ชิดกับจีนและมองจีนเป็นภัยต่อทั้งอธิปไตยและระเบียบภูมิภาค จึงมีความอ่อนไหวต่อการรักษาและส่งเสริมกลไกป้องปราม โดยตระหนักว่าการแสดงท่าทีจริงจังแน่วแน่ในการรักษาระเบียบไม่ว่าส่วนไหนในโลก จะยุโรป ตะวันออกกลางหรือรอบบ้านในเอเชีย ล้วนเป็นหนึ่งเดียวกันในตรรกะและส่งผลทางจิตวิทยาเชื่อมถึงกัน นั่นตอบคำถามที่ว่าเหตุใดโตเกียวจึงเสียขวัญเมื่อเห็นชะตากรรมที่คนยูเครนต้องเผชิญ

MOST READ

World

1 Oct 2018

แหวกม่านวัฒนธรรม ส่องสถานภาพสตรีในสังคมอินเดีย

ศุภวิชญ์ แก้วคูนอก สำรวจที่มาที่ไปของ ‘สังคมชายเป็นใหญ่’ ในอินเดีย ที่ได้รับอิทธิพลสำคัญมาจากมหากาพย์อันเลื่องชื่อ พร้อมฉายภาพปัจจุบันที่ภาวะดังกล่าวเริ่มสั่นคลอน โดยมีหมุดหมายสำคัญจากการที่ อินทิรา คานธี ได้รับเลือกให้เป็นนายกรัฐมนตรีหญิงคนแรกในประวัติศาสตร์

ศุภวิชญ์ แก้วคูนอก

1 Oct 2018

World

16 Oct 2023

ฉากทัศน์ต่อไปของอิสราเอล-ปาเลสไตน์ ความขัดแย้งที่สั่นสะเทือนระเบียบโลกใหม่: ศราวุฒิ อารีย์

7 ตุลาคม กลุ่มฮามาสเปิดฉากขีปนาวุธกว่า 5,000 ลูกใส่อิสราเอล จุดชนวนความขัดแย้งซึ่งเดิมทีก็ไม่เคยดับหายไปอยู่แล้วให้ปะทุกว่าที่เคย จนอาจนับได้ว่านี่เป็นการต่อสู้ระหว่างอิสราเอลกับปาเลสไตน์ที่รุนแรงที่สุดในรอบทศวรรษ

จนถึงนาทีนี้ การสู้รบระหว่างอิสราเอลกับปาเลสไตน์ยังดำเนินต่อไปโดยปราศจากทีท่าของความสงบหรือยุติลง 101 สนทนากับ ดร.ศราวุฒิ อารีย์ ผู้อำนวยการศูนย์มุสลิมศึกษา สถาบันเอเชียศึกษา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ถึงเงื่อนไขและตัวแปรของความขัดแย้งที่เกิดขึ้น, ความสัมพันธ์ระหว่างอิสราเอลและรัฐอาหรับ, อนาคตของปาเลสไตน์ ตลอดจนระเบียบโลกใหม่ที่ก่อตัวขึ้นมาหลังยุคสงครามเย็น

พิมพ์ชนก พุกสุข

16 Oct 2023

World

9 Sep 2022

46 ปีแห่งการจากไปของเหมาเจ๋อตง: ทำไมเหมาเจ๋อตง(โหด)ร้ายแค่ไหน คนจีนก็ยังรัก

ภัคจิรา มาตาพิทักษ์ เขียนถึงการสร้าง ‘เหมาเจ๋อตง’ ให้เป็นวีรบุรุษของจีนมาจนถึงปัจจุบัน แม้ว่าเขาจะอยู่เบื้องหลังการทำร้ายผู้คนจำนวนมหาศาลในช่วงปฏิวัติวัฒนธรรม

ภัคจิรา มาตาพิทักษ์

9 Sep 2022

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • Always Active

Save