fbpx

อภินิหารทางกฎหมาย

เมื่อปี 2560 นายวิษณุ เครืองาม กล่าวถึงกรณีที่รัฐเรียกเก็บภาษีนายทักษิณ ชินวัตรจากการขายหุ้นชินคอร์ปมูลค่า 19,000 บาท ว่าเป็น “อภินิหารทางกฎหมาย” (miracle of law) เพราะเจอช่องทางที่ทำให้เรื่องที่ดูเหมือนจะเป็นไปไม่ได้ในทางกฎหมาย (ความรับผิดทางภาษีของนายทักษิณ) กลายเป็นเรื่องที่เป็นไปได้ ไม่ว่านายวิษณุจะกล่าวด้วยความมั่นใจและภูมิใจในความสามารถอันเอกอุในการตีความกฎหมายหรืออำนาจในการควบคุมกระบวนการยุติธรรมเพื่อให้ได้ผลที่ต้องการ คำว่า ‘อภินิหารทางกฎหมาย’ กลายเป็นคำที่คนไทยได้ยินบ่อยขึ้นๆ นับตั้งแต่นั้น และกลายเป็นเรื่องธรรมดาของการใช้การตีความในระบบกฎหมายและกระบวนการยุติธรรมของไทย

อภินิหารทางกฎหมายในระบอบเผด็จการอำพรางกฎหมาย

ถ้ายึดตามคำอธิบายของนายวิษณุ เครืองาม ‘อภินิหารทางกฎหมาย’ คือ การใช้และตีความกฎหมายให้ได้ผลทางกฎหมายที่ปกติแล้วเป็นไปไม่ได้ภายใต้หลักการกฎหมายและการตีความกฎหมายที่ถูกต้อง อภินิหารทางกฎหมายไม่ใช่เรื่องของความเห็นที่แตกต่างกันในการใช้หรือการตีความกฎหมาย แต่เป็นการใช้และตีความกฎหมายตามอำเภอใจที่ไม่มีฐานทางทฤษฎีใดๆ มารองรับ ถึงขนาดที่นักกฎหมายทั่วไปไม่คาดคิดว่าจะเป็นไปได้

อภินิหารทางกฎหมายมักจะเกิดขึ้นในสังคมที่ใช้กฎหมายอำพรางระบอบปกครองเผด็จการ ซึ่งหากเรียกว่า ‘ระบอบเผด็จการอำพรางกฎหมาย’ ก็คงไม่ผิดนัก เผด็จการที่ใช้กฎหมายเป็นเกราะกำบังน่ากลัวกว่าสังคมเผด็จการที่ปกครองโดยใช้กำลังและไม่ใช้กฎหมาย ระบอบเผด็จการอำพรางกฎหมาย ใช้กฎหมายบังหน้าเพื่อสร้างความชอบธรรม หลอกล่อผู้คนให้หลงเชื่อในนิติรัฐ แต่กลับสร้างระบบกฎหมายที่มีกลไกที่ซับซ้อนและแนบเนียนเพื่อให้เผด็จการสามารถใช้อำนาจได้อย่างเบ็ดเสร็จและรักษาอำนาจไว้ให้ได้ยาวนานที่สุด  แล้วยังใช้อภินิหารทางกฎหมายควบคุมการบังคับใช้และตีความกฎหมายและควบคุมกระบวนการยุติธรรม เพื่อให้รักษาอำนาจและปิดปากผู้ที่เห็นต่าง

อภินิหารทางรัฐธรรมนูญ

รัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2560 เป็นหนึ่งในอภินิหารทางกฎหมายที่เกิดขึ้นและเป็นจุดเริ่มต้นของอภินิหารทางรัฐธรรมนูญที่เกิดขึ้นอีกจำนวนมากในเวลาต่อมา รัฐธรรมนูญฉบับนี้เป็นกลไกทางกฎหมายรัฐธรรมนูญที่ซับซ้อนที่สุดเท่าที่เราเคยเห็นมาในก่อตั้งและสืบทอดอำนาจเผด็จการโดยกฎหมาย ความไม่สมเหตุสมผลในทางนิติศาสตร์และภายใต้ระบอบประชาธิปไตยจำนวนมากถูกยัดใส่ในรัฐธรรมนูญฉบับนี้ ตั้งแต่การมีสมาชิกวุฒิสภาแต่งตั้งที่มีอำนาจเลือกนายกรัฐมนตรี ไปจนถึงการมีแผนยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี เป็นต้น

ความไม่สมเหตุสมผลในทางนิติศาสตร์เหล่านี้ได้รับความชอบธรรมในทางกฎหมายด้วยผลประชามติของประชาชนที่ถูกบังคับให้ต้องตัดสินใจภายใต้สภาวะความกดดัน ประชาชนไม่มีทางเลือกอื่นนอกจากการเลือกระหว่างรัฐธรรมนูญที่มีกลไกและกับดักซับซ้อนที่ไม่สามารถมองเห็นได้ชัดเจนในเวลานั้น หรือความวุ่นวายทางการเมืองที่ต้องใช้อำนาจเผด็จการทางทหารควบคุมต่อไป

ถ้าความชอบธรรมของรัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2560 คือประชามติของประชาชน ประชามตินั้นก็ไม่สมบูรณ์ในทางกฎหมายเพราะประชาชนถูกกลฉ้อฉล (fraud) และตกอยู่ภายใต้อิทธิพลที่ไม่เป็นธรรม (undue influence) ในกระบวนการตัดสินใจเพื่อออกเสียงลงประชามติ

รัฐธรรมนูญที่เกิดขึ้นในช่วงวิกฤตการเมืองและเพื่อแก้ปัญหาการเมืองควรเป็นรัฐธรรมนูญชั่วคราวที่มีวัตถุประสงค์หลักเพื่อปรับสภาพทางสังคมและการเมืองให้กลับคืนสู่สภาพที่เป็นปกติให้มากที่สุด ก่อนที่จะเริ่มกระบวนการจัดทำรัฐธรรมนูญฉบับถาวร ซึ่งประชาชนจะสามารถตัดสินใจรับรองรัฐธรรมนูญเพื่อกำหนดชะตาชีวิตของตนและของบ้านเมืองได้อย่างเป็นอิสระ รอบคอบ และไม่ตกอยู่ภายใต้ความกดดันทางการเมืองใดๆ รัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2560 กลับเป็นตัวอย่างที่ตรงกันข้าม คือเกิดขึ้นในช่วงเวลาที่สภาพจิตใจของคนไทยอ่อนแอไม่สามารถที่จะตัดสินใจได้อย่างอิสระจากอิทธิพลและความกดดันใดๆ

ศาลรัฐธรรมนูญผู้สร้างอภินิหารทางกฎหมาย

นับตั้งแต่รัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2560 มีผลใช้บังคับ คำวินิจฉัยส่วนใหญ่ของศาลรัฐธรรมนูญถูกวิพากษ์วิจารณ์อย่างกว้างขวางในหมู่นักกฎหมายและประชาชนทั่วไป การที่คำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญก่อให้เกิดความคิดเห็นที่ไม่ลงรอยกันในสังคมไม่ใช่เรื่องผิดปกติในตัวมันเอง แต่การที่ศาลไม่สามารถให้คำอธิบายในทางทฤษฎีที่หนักแน่นเพื่อประกอบวินิจฉัย และศาลไม่ได้ดำเนินกระบวนพิจารณาที่เปิดโอกาสให้ผู้ที่ถูกกล่าวหาว่ากระทำการเป็นปฏิปักษ์กับรัฐได้พิสูจน์ความบริสุทธิ์ของตนอย่างเต็มที่และเป็นธรรม ย่อมทำให้ผู้คนสงสัยว่าศาลรัฐธรรมนูญต้องการจะสร้างอภินิหารทางกฎหมายในการตัดสินคดีต่างๆ หรือไม่ ยิ่งศาลรัฐธรรมนูญมีที่มาจากรัฐธรรมนูญที่มีความชอบธรรมในทางนิติศาสตร์น้อย ความเชื่อมั่นของประชาชนที่มีต่อการทำหน้าที่อย่างอิสระของศาลย่อมมีน้อยตามไปด้วย ตุลาการศาลรัฐธรรมนูญต้องพิสูจน์ตัวเองว่า สามารถปฏิบัติหน้าที่ได้อย่างอิสระเพื่อพิทักษ์หลักการรัฐธรรมนูญภายใต้ระบอบประชาธิปไตย และป้องกันผลกระทบที่เกิดจากกลไกและกับดักอันซับซ้อนของรัฐธรรมนูญซึ่งขัดต่อหลักนิติศาสตร์และประชาธิปไตย

บททดสอบครั้งสำคัญของศาลรัฐธรรมนูญในอนาคตอันใกล้นี้ คือการวินิจฉัยว่าพลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา พ้นจากตำแหน่งนายกรัฐมนตรีเพราะดำรงตำแหน่งครบ 8 ปี ในวันที่ 24 สิงหาคม 2565 นี้แล้วหรือไม่ การจำกัดวาระของนายกรัฐมนตรีอันแปลกประหลาดนี้ไม่ว่าจะขึ้นด้วยความปรารถนาดีต่อสังคมไทยหรือเพื่อช่วงชิงความได้เปรียบทางเมือง ก็ได้แสดงออกถึงเจตนารมณ์อย่างชัดเจน ทั้งจากตัวบทบัญญัติของรัฐธรรมนูญเอง บันทึกความมุ่งหมายของกฎหมาย และความคิดเห็นที่ปรากฏอย่างชัดเจนในรายงานการประชุมของคณะกรรมการร่างว่าวาระ 8 ปีของนายกรัฐมนตรีต้องนับรวมเวลาที่ดำรงตำแหน่งอยู่ก่อนรัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2560 มีผลใช้บังคับ เพื่อป้องกันการผูกขาดอำนาจ ความพยายามในการตีความเจตนารมณ์ของรัฐธรรมนูญใหม่ให้แตกต่างจากนี้เป็นเพียงความพยายามในการสร้างอภินิหารทางกฎหมาย ซึ่งศาลรัฐธรรมนูญจะต้องหยุดยั้ง ไม่ใช่เป็นส่วนหนึ่งของความพยายามดังกล่าว

อภินิหารทางกฎหมายในกระบวนการยุติธรรม

อภินิหารทางกฎหมายในกระบวนการยุติธรรมส่วนหนึ่งเกิดขึ้นจากความพยายามในการปกป้องสถาบันพระมหากษัตริย์โดยองค์กรในกระบวนการยุติธรรม เพราะความเชื่ออย่างผิดๆ ว่าการธำรงรักษาการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข มีแค่เพียงการห้ามแตะต้องหรือวิพากษ์วิจารณ์สถาบันพระมหากษัตริย์เท่านั้น ความเชื่อเช่นนี้ได้รับการพิสูจน์แล้วว่าไม่ถูกต้อง และไม่ใช่แนวทางที่ใช้กันในรัฐประชาธิปไตยที่มีพระมหากษัตริย์เป็นประมุข รัฐเหล่านั้นประสบความสำเร็จในการธำรงรักษาสถาบันพระมหากษัตริย์ได้อย่างมั่นคงภายใต้รัฐธรรมนูญโดยไม่ต้องใช้มาตรการทางกฎหมายหรือกระบวนการยุติธรรมในการสร้างความหวาดกลัวและหลาบจำ ความเชื่อและแนวทางที่ผิดมีแนวโน้มที่จะทำให้การใช้และตีความกฎหมายผิดพลาดไปด้วย

อภินิหารทางกฎหมาย: ตราบาปของนิติศาสตร์ไทย

อภินิหารทางกฎหมายที่เกิดขึ้นบ่อยจนกลายเป็นเรื่องธรรมดาในระบบกฎหมายไทย สะท้อนให้เห็นถึงความล้มเหลวของวิชานิติศาสตร์ไทยซึ่งถูกสถาปนาขึ้นตามแบบตะวันตก ตั้งแต่เมื่อปี พ.ศ. 2440 การศึกษากฎหมายตามแบบตะวันตก ไม่ได้เปลี่ยนวัฒนธรรมทางกฎหมายของไทยเป็นวัฒนธรรมแห่งการเคารพเสรีภาพและศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ แต่ยังคงเป็นวัฒนธรรมทางกฎหมายภายใต้อิทธิพลของอำนาจนิยม เมื่ออยู่ที่โรงเรียนกฎหมาย นักศึกษากฎหมายสามารถทำหน้าที่เป็นผู้พิพากษา อัยการ และทนายความสมมติได้อย่างอิสระและเป็นธรรม แต่เมื่อเข้าสู่วิชาชีพ หลายคนกลับลืมความเป็นอิสระ ความเสมอภาค และความธรรมที่ตนเคยฝันใฝ่เมื่อครั้งยังเป็นนักศึกษากฎหมาย บางคนขายวิญญาณให้เผด็จการพร้อมที่จะใช้อำนาจหน้าที่สร้างอภินิหารทางกฎหมายเพื่อรับใช้

ทุกอภินิหารทางกฎหมาย คือตราบาปที่เกิดขึ้นกับนิติศาสตร์ไทย นักกฎหมายไทยควรรู้สึกเจ็บปวดกับการที่หลักทฤษฎีที่ได้ร่ำเรียนกันมาอย่างยาวนานถูกบิดเบือนอย่างง่ายดายจนดูเหมือนเป็นสิ่งที่ไร้ค่าไร้ความหมาย นักกฎหมายไทยควรรู้สึกกลัวกับการที่กฎหมายไม่อาจสร้างความแน่นอนให้กับสิทธิและหน้าที่ของประชาชนและการทำหน้าที่ของตน แต่กลับแปรเปลี่ยนไปตามอำเภอใจของผู้มีอำนาจ

สังคมที่เต็มไปด้วยอภินิหารทางกฎหมาย การศึกษากฎหมายและวิชาชีพของนักกฎหมายมีความสำคัญแค่ในเชิงรูปแบบ คือ เรียนเพื่อให้ได้ชื่อว่าเรียนและจบได้รับปริญญาและได้รับใบรับรองการประกอบวิชาชีพ แต่ไม่มีความสำคัญในเชิงเนื้อหา เพราะในที่สุดแล้วหลักทฤษฎีที่ร่ำเรียนมาก็ถูกละเลยหรือบิดเบือนให้เกิดผลที่ไม่ชอบธรรมได้อยู่เสมอ

อภินิหารทางกฎหมายเพราะความนิ่งเฉย

การนิ่งเฉยของนักกฎหมายและคนในสังคมที่คิดว่าตนเองไม่ได้รับความเดือดร้อนเสียหายโดยตรงจากอภินิหารทางกฎหมายทั้งหลาย ช่วยส่งเสริมโดยอ้อมให้อภินิหารทางกฎหมายกลายเป็นเรื่องปกติธรรมดาในสังคมไทย จนกลายเป็นส่วนหนึ่งของ ‘นิติศาสตร์แบบไทยๆ’ ทุกคนในสังคมมีโอกาสตกเป็นเหยื่อและได้รับผลกระทบจากการบิดเบือนกฎหมายได้ทุกเมื่อ อย่างน้อยที่สุดคนส่วนใหญ่ในสังคมได้รับรู้ถึงผลกระทบที่เจ็บปวดซึ่งเกิดจากอภินิหารทางรัฐธรรมนูญ ที่พรากโอกาสที่ประชาชนแต่ละคนมีสิทธิมีเสียงอย่างเต็มที่ในการตัดสินใจเลือกผู้นำฝ่ายบริหารและเลือกทิศทางการพัฒนาของสังคมไทยในทิศทางที่ตนเองต้องการ สังคมไทยมีนายกรัฐมนตรีที่ดำรงตำแหน่งต่อเนื่องยาวนานมากกว่า 8 ปี ยังคงมีความต้องการที่จะเป็นต่อไปอีก และอาจมีโอกาสได้กลับมาบริหารประเทศต่อไปอีกภายหลังการเลือกตั้งครั้งต่อไป ด้วยเสียงสนับสนุนของสมาชิกวุฒิสภา ที่ไม่ได้เกิดจากเจตจำนงอิสระของประชาชน แต่เป็นผลผลิตของอภินิหารทางรัฐธรรมนูญ

อภินิหารทางกฎหมาย: ระเบิดเวลาสำหรับสังคมไทย

สังคมประชาธิปไตยที่ปกครองภายใต้กฎหมายจะไม่อดทนต่อการสร้างอภินิหารทางกฎหมายใดๆ เพราะอภินิหารทางกฎหมายจะกัดกินนิติรัฐ ความแน่นอนในนิติฐานะ และความเสมอภาคภายใต้กฎหมายจนอ่อนแอ ทำให้ผู้คนหันหน้าเข้าหาอำนาจและเงินตราเพื่อให้ได้มาซึ่งความยุติธรรม อภินิหารทางกฎหมายจะกดทับสิทธิเสรีภาพของประชาชนเพราะถูกใช้เป็นเครื่องมือของเผด็จการเพื่อปิดปากผู้ท้าทาย มันจะหยุดยั้งการพัฒนาประเทศและการจัดสรรทรัพยากรให้กับประชาชนอย่างเป็นธรรม และจะปิดกั้นโอกาสของประชาชนที่จะมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้นทั้งในทางเศรษฐกิจและสังคมเพื่อให้ทรัพยากรถูกผูกขาดโดยเผด็จการและอภิสิทธิ์ชน

การถอดสลักระเบิดเวลาในสังคมไทย คือการต่อต้านและกำจัดอำนาจเผด็จการในทางการเมือง การปฏิเสธอภินิหารทางกกฎหมายในทุกรูปแบบ การเปลี่ยนแปลงวิถีชีวิตแบบอำนาจนิยม และความเคารพในสิทธิเสรีภาพและศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ของผู้อื่น ในเวลานี้ประชาชนคนไทยไม่ต้องการอภินิหารทางกฎหมายใดๆ แต่ละคนต้องการเพียง 1 เสียงสำหรับการกำหนดชะตาชีวิตตนเองและทิศทางการพัฒนาของสังคมได้อย่างเต็มที่และเป็นอิสระผ่านกระบวนการเลือกตั้ง และสำหรับการสถาปนารัฐธรรมนูญฉบับใหม่ที่เชื่อมั่นในพลังและเจตจำนงอิสระของประชาชน

MOST READ

Social Issues

9 Oct 2023

เด็กจุฬาฯ รวยกว่าคนทั้งประเทศจริงไหม?

ร่วมหาคำตอบจากคำพูดที่ว่า “เด็กจุฬาฯ เป็นเด็กบ้านรวย” ผ่านแบบสำรวจฐานะทางเศรษฐกิจ สังคม และความเหลื่อมล้ำ ในนิสิตจุฬาฯ ปี 1 ปีการศึกษา 2566

เนติวิทย์ โชติภัทร์ไพศาล

9 Oct 2023

Social Issues

5 Jan 2023

คู่มือ ‘ขายวิญญาณ’ เพื่อตำแหน่งวิชาการในมหาวิทยาลัย

สมชาย ปรีชาศิลปกุล เขียนถึง 4 ประเด็นที่พึงตระหนักของผู้ขอตำแหน่งวิชาการ จากประสบการณ์มากกว่าทศวรรษในกระบวนการขอตำแหน่งทางวิชาการในสถาบันการศึกษา

สมชาย ปรีชาศิลปกุล

5 Jan 2023

Social Issues

27 Aug 2018

เส้นทางที่เลือกไม่ได้ ของ ‘ผู้ชายขายตัว’

วรุตม์ พงศ์พิพัฒน์ พาไปสำรวจโลกของ ‘ผู้ชายขายบริการ’ ในย่านสีลมและพื้นที่ใกล้เคียง เปิดปูมหลังชีวิตของพนักงานบริการในร้านนวด ร้านคาราโอเกะ ไปจนถึงบาร์อะโกโก้ พร้อมตีแผ่แง่มุมลับๆ ที่ยากจะเข้าถึง

กองบรรณาธิการ

27 Aug 2018

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • Always Active

Save