fbpx

ความทุกข์ตรมของชาว ‘Content Creators’  ในโลกที่อัลกอริธึมพร้อมจะทอดทิ้งคุณตลอดเวลา

ลองนึกภาพว่าคุณกำลังสนใจประเด็นใดประเด็นหนึ่งที่เฉพาะทางมากๆ หมกมุ่นค้นคว้า ใช้เวลากับมันนานหลายสัปดาห์ บางทีอาจเป็นเดือน ก่อนจะปล่อยผลงานออกมาและพบว่า แพลตฟอร์มใดก็ตามที่คุณใช้งานอยู่บอกว่าสิ่งที่คุณทำนั้น ‘ไม่ตรง’ กับที่อัลกอริธึมตั้งค่าไว้ และยังผลให้มันกลายเป็นงานในซอกหลืบที่มีผู้อ่าน-ผู้ชม-ผู้ฟัง แค่เพียงนับนิ้วมือเดียว

การเผชิญสถานการณ์นี้ติดกันหลักเดือน หลักปี ใครบ้างอดทนไม่โบยตีตัวเองไหว

แต่นี่คือสภาพจริงที่คนทำคอนเทนต์หรือ content creators ต้องเผชิญ โดยเฉพาะเมื่อโลกการเสพสื่อย้ายมาอยู่บนออนไลน์ ไม่ว่าคอนเทนต์ดังกล่าวจะเป็นงานเขียน งานภาพ งานวิดีโอหรืองานเพลง ไม่มากก็น้อยล้วนแล้วแต่ถูกประเมินค่าด้วยยอดเอนเกจเมนต์ (engagement) หรือยอดคนที่เข้าถึงคอนเทนต์ดังกล่าวผ่านทางยอดไลก์ ยอดแชร์ รวมทั้งยอดคอมเมนต์ และเพื่อจะให้ผลงานตัวเองเข้าตาระบบ คนทำงานจึงต้องหาหนทาง ‘เล่นเกม’ ทั้งเขียนงานในประเด็นที่ตัวเองไม่ได้สนใจนักแต่เป็นประเด็นที่กัลกอริธึมบอกว่า ‘มันน่าจะไป’ หรือทำคลิปวิดีโอในความยาวเท่าที่อัลกอริธึมบอกว่าดี แม้นั่นหมายความว่าอาจต้องหั่นหลายสิ่งหลายอย่างทิ้งเพื่อให้จบภายในครึ่งนาที

เรายังไม่พูดถึงว่า อัลกอริธึมเหล่านี้ก็เอาแน่เอานอนไม่ได้และแทบจะเปลี่ยนแปลงรายวัน การต้องใช้ชีวิตทำงานอยู่บนความไม่มั่นคงเช่นนี้ยิ่งผลักให้คนในแวดวงต้องวิ่งไล่ตามสิ่งที่ไม่อาจวางใจได้ หลายต่อหลายครั้งมันนำพาไปสู่จุดของการทำงานเพื่อเอายอดผู้เข้าถึงอย่างเดียว และสำหรับหลายคน นั่นอาจเป็นหมุดหมายของการสูญเสียตัวตนในที่สุด

และหากคุณดื้อดึงไม่ทำตาม ผลิตงานที่คุณสนใจแต่อัลกอริธึมไม่สน ก็เป็นไปได้ว่าแพลตฟอร์มจะไม่มีวันฉายแสงมายังงานชิ้นนั้นของคุณ ไปให้ไกลขึ้นอีก รู้ตัวอีกทีคุณก็พบว่าระบบเช่นนี้พร้อมจะทอดทิ้งคุณอยู่ตลอดเวลา

เราจะอยู่กับมันอย่างไร ตรงไหนคือที่ทางของการทำงานที่เลี้ยงชีพได้ และการถนอมหัวใจกับจิตวิญญาณของตัวเองไม่ให้ถูกอัลกอริธึมบดขยี้

ในโลกที่อัลกอริธึมอาจจะ ‘กลืนกิน’ ตัวตน

ไล่เรียงเว็บไซต์และเพจคอนเทนต์ออนไลน์ ไม่มากก็น้อยคุณย่อมเคยผ่านตาชื่อของ คาลิล พิศสุวรรณ ในฐานะนักเขียนฟรีแลนซ์ที่คร่ำหวอดอยู่ในวงการนี้ และหากว่าถอยย้อนหลังกลับไปไม่กี่ปี เขาคือหนึ่งในกองบรรณาธิการของนิตยสาร a day ทั้งในแบบรูปเล่มและออนไลน์ น้ำหนักของการเขียนงานลงกระดาษเพื่อตีพิมพ์กับการเขียนงานลงแพลตฟอร์มออนไลน์ที่มีตัวเลขจากอัลกอรึธึมขีดเส้นกำหนดค่าความนิยมอย่างเข้มงวด จึงเป็นสิ่งที่ไม่ไกลจากความเคยชินของเขานัก

หากแต่คาลิลก็ยังรู้สึกว่าตัวเองโชคดี ในแง่ที่ว่าตลอดระยะเวลาการทำงาน เรื่องของยอดเอนเกจเมนต์นั้นไม่ใช่ปัจจัยสำคัญที่กำหนดทิศทางงานเขียนของเขานัก “เราเข้าไปทำงานที่อะเดย์ด้วยความรู้สึกที่ว่า คนในทีมต่างก็รู้ว่าคอนเทนต์ของเราจะไม่ถูกขับเคลื่อนด้วยวิธีคิดแบบมุ่งเอายอดเอนเกจเมนต์เป็นหลัก” เขาบอก “เอนเกจเมนต์เข้ามาเกี่ยวข้องในการทำคอนเทนต์อย่างช่วยไม่ได้ เพียงแต่ว่าคนที่เราทำงานด้วยนั้นเขาก็ตระหนักประเด็นนี้ประมาณหนึ่ง และมีวิธีในการทำให้บทความที่ไม่ได้เน้นยอดเอนเกจเมนต์เป็นหลักมีวิธีไปของมันได้”

แน่นอนว่ายอดเอนเกจเมนต์ ตัวเลขการเข้าถึงต่างๆ ยังสลักสำคัญ ยังผลให้คนทำงานหาทางวิเคราะห์ สรุปว่าคอนเทนต์รูปแบบไหนที่เข้าตาอัลกอริธึม “แต่ละสัปดาห์ก็มีมานั่งคุยกันว่า คอนเทนต์นี้ไป คอนเทนต์นี้ไม่ไป เพียงแต่เรารู้สึกว่ามันจะไม่เป็นการ ‘ถอดบทเรียน’ แล้วเอาสิ่งนั้นมากลืนกินคอนเทนต์ที่เราอยากให้มีไปเสียหมด” เขาบอก

‘กลืนกิน’ เป็นศัพท์ที่คาลิลเลือกใช้ ซึ่งน่าสนใจโดยเฉพาะหากเรามองในแง่ของคนทำงานที่หลายครั้งก็พร้อมแลกทุกอย่างเพื่อให้งานในมือนั้นประสบความสำเร็จในเชิงการเข้าถึง และมากต่อมาก ใครบ้างที่เคยแลกแล้วไม่รู้สึกโหวงว่างในใจ ยังผลให้ต้องกลับมาทบทวนตัวเองซ้ำแล้วซ้ำเล่าถึงคุณค่าของงานที่ทำ ซึ่งอาจห่างไกลจากสิ่งที่อยากเขียนหรืออยากเล่าไปไกลลิบ โดยเฉพาะเมื่อสิ่งนั้นเป็นสิ่งที่อัลกอริธึมมองว่าไม่น่าประสบความสำเร็จ

“เราก็เคยมีความรู้สึกอยากเขียนบทความบางอย่างเพื่อเติมเต็มตัวเองเหมือนกันนะ ซึ่งเราคิดว่าสิ่งนี้จะเกิดตอนที่เราไม่ได้ทำงานประจำแล้ว” เขาหัวเราะ “เวลาเราทำงานประจำ ที่ทำงานเขาก็เคารพเราประมาณหนึ่งนะ ค่อนข้างเชื่อมือว่าคอนเทนต์ที่เราเขียน ประเด็นที่เราเลือกและให้พื้นที่นั้นแก่เรา แต่พอมันถูกขับเคลื่อนไปด้วยการที่ทุกสัปดาห์ต้องมีบทความที่ถูกปล่อยออกมา ไอ้ความกระหายอยากเขียนบทความบางอย่างก็หายไป แต่พอมาเป็นฟรีแลนซ์ มันไม่ค่อยมีตารางเวลาแบบนี้ ไอ้ความรู้สึกว่ากูอยากเขียนสิ่งนี้ออกไป รู้สึกได้เติมเต็มตัวเองก็กลับมา”

อย่างไรก็ตาม คาลิลตั้งข้อสังเกตว่าภาวะ ‘เขียนงานเพื่อเติมเต็มตัวเอง’ ก็อาจเป็นสิ่งที่เกิดขึ้นมาทีหลัง หรือกล่าวให้ชัด สำหรับเขาแล้วนี่เป็นผลลัพธ์ด้านกลับของการที่โลกคอนเทนต์ถูกครอบงำด้วยระบบอัลกอริธึมและการวัดค่าด้วยยอดเอนเกจเมนต์ “เราไม่แน่ใจเหมือนกัน เหมือนพอมันมีก้อนที่ ‘เราต้องทำคอนเทนต์เพื่อให้ได้เอนเกจเมนต์’ สิ่งนี้เลยเป็นก้อนที่เหมือนว่าเราเพิ่งมามองเห็นมัน และเหมือนว่าเราได้ไปสร้างนิยามใหม่ขึ้นมาว่า สิ่งนี้เป็นสิ่งที่กูจะทำขึ้นมาโดยที่กูจะไม่เอาเรื่องยอดเอนเกจเมนต์มาคิดเลย กูจะทำเพื่อเติมเต็มตัวเอง”

“การมาถึงของอัลกอริธึมเหล่านี้ทำให้เราสร้างก้อนความรู้สึกอยากทำอะไรเพื่อเติมเต็มตัวเอง เพื่ออธิบายบางอย่างหรือ negotiate กับการทำคอนเทนต์ของตัวเอง ว่าฉันกำลังทำสิ่งนี้อยู่ ไม่ใช่เพื่อที่จะยอมอยู่ภายใต้อัลกอริธึมของ มาร์ก ซักเคอร์เบิร์ก” เขาอธิบายและขยายความว่า สำหรับโลกที่คอนเทนต์หลายชิ้นถูกตีค่าด้วยยอดคนเข้าถึง มันอาจหมายถึงการลดทอนคุณค่าในมิติอื่นๆ ของตัวงานด้วย “สมมติว่ามีคอนเทนต์หนึ่ง ต่อให้คอนเทนต์นั้นเหี้ยแค่ไหน แต่ถ้ามันได้เอนเกจเมนต์ดี ก็ไม่มีใครมาตั้งคำถามไง เพราะได้คำตอบแล้วว่าคอนเทนต์นี้ทำขึ้นมาเพื่ออะไร คำตอบคือก็เพื่อได้ยอดเอนเกจเมนต์ไง จบ”

เขาออกตัวว่าตัวเขาไม่ใช่คนที่หมกมุ่นกับยอดเอนเกจเมนต์นัก ปัจจัยสำคัญมาจากการที่เขามีกลุ่มเป้าหมายที่อยากให้บทความตัวเอง ‘ไปให้ถึง’ อยู่ในใจแล้ว แม้ว่ากลุ่มคนอ่านที่เขาเห็นนั้นอาจไม่ได้ใหญ่โตมากก็ตาม “เราไม่ได้มองคนอ่านในสเกลกว้างมาก ไม่ได้คิดว่าสิ่งที่เราเขียนต้องไปถึงคนเป็นแสนคน เราแค่รู้สึกว่าเรามีภาพคนอ่านประมาณหนึ่งในหัว เป็นกลุ่มคนที่เราอยากให้บทความที่เราเขียนไปถึงเขา เป็นกลุ่มเป้าหมายที่เราคิดว่าเขาน่าจะสนใจประเด็นเหล่านี้ และเราก็เขียนมันออกไปเท่านั้นเอง”

และท่ามกลางกระแสเชี่ยวกรากของคอนเทนต์จำนวนมหาศาลที่ไหลทะลักผ่านหูผ่านตาผู้คนหลากหลายช่องทาง คาลิลจับตามองดูความรวดเร็วและภาวะทะลักทลายเหล่านี้อย่างใกล้ชิด เพราะสำหรับเขาแล้ว นี่เป็นอีกหนึ่งผลพวงของการที่ปล่อยให้ยอดเอนเกจเมนต์ขับเคลื่อนทุกสิ่ง “เราคิดว่าปัญหาของวิธีการแบบนี้ นอกจากมันจะขับเคลื่อนด้วยเอนเกจเมนต์เป็นหลักแล้ว อีกสิ่งหนึ่งที่มันทำลายไปก็คือ เหมือนว่ามันทำให้ทุกสิ่งทุกอย่างต้องออกมาทันที ไม่ว่าจะเป็นภาพ คำพูดหรือโควตต่างๆ มันเร็วไปหมด แล้วเมื่อมันเร็วมากขนาดนั้นก็ทำให้อะไรหลายๆ อย่างหายไป”

“สมมติวันนั้นนายกฯ พูดอะไรที่โง่มากออกมา แล้วก็มีคนเอาไปโควต ใส่มาโครมๆ คำถามคือแล้วสิ่งที่เราได้จากโควตคำพูดนี้คืออะไร คำตอบคือก็ได้ความหน้าโง่ของคนพูด สิ่งแรกที่เราจะเห็นทันทีจากโควตนี้คือประโยคดังกล่าวของนายกฯ เราเลยรู้สึกว่าหากเป็นเช่นนี้ต่อไปเรื่อยๆ สิ่งที่ไปถึงคนอ่านก็เป็นสิ่งที่คนอ่านอยากเห็น เป็นสิ่งที่ตอกย้ำในสิ่งที่เราก็รู้อยู่แล้ว ตระหนักถึงมันอยู่แล้วว่า อ๋อนายกฯ มันโง่! วันนี้กูอยากเห็นจังว่านายกฯ จะแสดงความโง่อะไรอีก จะพูดเรื่องอะไรอีก แล้วสื่อก็นำเสนอแต่สิ่งนี้มาเรื่อยๆ เราก็จะเห็นแค่ว่า โอ้! นี่ไงล่ะ มันโง่จริงๆ ซึ่งถามว่าโง่จริงไหม ก็โง่จริง แต่เรารู้สึกว่าการรับสารแบบนี้ตลอดเวลามันไม่ดีต่อคนอ่านเลย เราจะไม่ไปนั่งย่อย ตกตะกอนประเด็นใดประเด็นหนึ่งอีกแล้วมากกว่า เราแค่อยากเห็นว่าวันนี้นายกฯ พูดอะไรโง่ๆ บ้าง

“ท้ายที่สุดสิ่งเหล่านี้ก็ได้ยอดเอนเกจเมนต์ ซึ่งมันกลายเป็นว่ายอดเอนเกจเมนต์คือมาตรฐานของการทำสื่อในเวลานี้ คนอยากเห็นอะไร คนอยากเห็นสิ่งที่ทำให้เขาสาแก่ใจ พอใจ” เขาอธิบาย “เพียงแต่เมื่อมันเป็นเช่นนี้ไปเสียหมด ก็ประหลาดดีที่สื่อก็เล่นกับการเสพข้อมูลอะไรก็ตามที่บริบทมันหายไป”

ประเด็นที่คาลิลสนใจและคิดว่าน่าจับตาอย่างยิ่งคือ ภายใต้ความรวดเร็วและการหมกมุ่นจะเอายอดเอนเกจเมนต์ให้ได้มากๆ นั้น นับเป็นความเร็วที่อันตรายอยู่ไม่น้อย “เพราะเมื่อคุณทำคอนเทนต์แข่งกันโดยเอาเรื่องความเร็วเป็นหลัก สิ่งที่จะหายไปคือเราไม่ได้มานั่งตรวจสอบมันอีกแล้วว่าอะไรคือความจริง อะไรคือข้อมูลทั้งหมด ทุกสิ่งถูกถ่ายทอดออกไปอย่างถูกต้องหรือเปล่า เพราะตราบเท่าที่คอนเทนต์นั้นไปถึงคนอ่าน คนฟัง คนดูได้เร็วที่สุดและได้ยอดเอนเกจเมนต์ แค่นั้นก็จบแล้ว” เขาปิดท้าย

แค่เขียนงานดีอาจจะไม่พอแล้วที่จะอยู่รอดในสนามนี้

ตัวเลขที่อัลกอริธึมคายออกมาในความหมายของ ‘ผลลัพธ์’ แต่ละคอนเทนต์ว่าประสบความสำเร็จมากน้อยแค่ไหน ไม่เพียงแต่บีบลูกกระเดือกคนทำงานที่ต้องคอยหาลู่ทาง กลยุทธ์ต่างๆ เพื่อต่อสู้กับระบบที่ไม่อาจวางใจอะไรได้ ตัวบรรณาธิการออนไลน์เองก็ต้องแบกรับความกดดันนี้ไม่แพ้กัน ยิ่งกับ ฉัตรรวี เสนธนิสศักดิ์ Senior Writer จากเพจ Mirror Thailand ที่กลายเป็นหนึ่งในหัวเรือหลักในการหาทาง ‘ทันเกม’ ของอัลกอริธึมให้งานแทบทุกชิ้น

แล้วอย่างนี้ มันจะไม่กัดกินใจอย่างไรไหว

“เราว่าทุกคนต้องเคยเผชิญสภาพ ‘คอนเทนต์มันไม่ไปว่ะ’ มาไม่รู้กี่ครั้งต่อกี่ครั้งในชีวิต เจ็บกันมาแล้วไม่รู้กี่ครั้ง” ฉัตรรวีบอกอย่างตรงไปตรงมา ก่อนขยายความว่าเอาเข้าจริง คำว่า ‘ไป’ ก็อาจไม่ได้เป็นตัวบ่งชี้คุณภาพของงานหรือแม้แต่คุณค่าของนักเขียนสักกี่มากน้อย แต่สำหรับคนทำงาน ใครที่จะใจแกร่งพอจะเลี่ยงไม่โบยตีตัวเองด้วยคำถามว่า ‘ทำไมวะ’ และทดท้อไปในที่สุด “คิดว่างานคอนเทนต์ออนไลน์ตอนนี้ ส่วนที่ยากที่สุดไม่ใช่การลงมือเขียนหรอก แต่น่าจะเป็นการทำงานกับจิตใจของเรานี่เอง”

“การทำงานภายใต้อัลกอริธึมเหล่านี้มันกำหนดทิศทางการทำงานเราอย่างถึงที่สุด เริ่มตั้งแต่การคิดประเด็น พาดหัว สิ่งที่จะสื่อ สิ่งที่บทความนั้นจะเสนอหรือไม่เสนอไปจนถึงน้ำเสียง มันล้วนมาพร้อมกับการคิดคำนวณว่า ‘คนจะแชร์ไหมวะ’ ไม่ว่าเราจะมาพร้อมกับอุดมการณ์ในการทำงานแบบไหน แต่หลายครั้งเราถูกบีบให้ต้องแบ่งน้ำหนักในใจให้กับยอดไลก์ยอดแชร์ไปโดยปริยาย” เธอบอก “เราต้องพยายามปรับตัวอยู่แทบจะตลอดเวลา ว่ากลเม็ดแบบนี้ได้ผลไหม ต้องมีส่วนเสริมหรือลูกเล่นอะไรอีก”

“ทุกวันนี้เราพูดได้เลยว่าแค่เขียนงานดีอาจจะไม่พอแล้วล่ะที่จะอยู่รอดในสนามนี้ บางทีงานเขียนที่ดีก็ไม่สามารถเป็นเกราะให้เราได้ขนาดนั้นแล้ว คือมันอาจจะเป็นได้สำหรับคนอ่านกลุ่มหนึ่งหรือสำหรับบางพื้นที่ แต่เราคงปฏิเสธไม่ได้ว่าคนอ่านเหล่านั้นยังเป็นเพียงกลุ่มเล็กๆ ในสังคม”

สำหรับตัวฉัตรรวี เธอเคยผ่านห้วงเวลาทั้งการทำงานเป็นกองบรรณาธิการ ออกหนังสือเล่ม จนเป็นบรรณาธิการสื่อออนไลน์หัวต่างๆ เธอจึงมีทั้งประสบการณ์ที่ต้องเขียนงานเพื่อทำให้บรรณาธิการยอมรับ รับรองไปจนได้รับการตีพิมพ์ และประสบการณ์ของการทำงานด้วยหมุดหมายที่ว่า ‘คนอ่านบนโลกออนไลน์อยากอ่านอะไร’ แน่นอนว่านี่ถือเป็นความแตกต่างมหาศาล 

กับเรื่องนี้ เธอมองเห็นทั้งแง่บวกและแง่ลบ “แง่หนึ่งมันคือการได้ท้าทายตัวเองแหละว่าจะทำได้ไหม ทำได้หรือเปล่า บางทีก็เป็นการลับฝีมือได้เหมือนกัน แต่อีกแง่หนึ่งมันคือภาระที่นักเขียนต้องแบกเอาไว้เองว่าจะปล่อยงานแบบไหนออกไป และเลือกเองว่าจะแคร์มากน้อยแค่ไหนกับผลตอบรับที่ได้มาจากมวลมหาประชาชน”

“แต่ในที่นี้เราที่ทำงานบรรณาธิการด้วยก็ต้องบอกว่าเราร่วมแบกกับนักเขียนด้วยเหมือนกัน ว่าเราที่ตัดสินใจปล่อยงานชิ้นนี้ออกไป ในรูปแบบดังนี้ๆ มีหน้าตา มีพาดหัวแบบนี้ๆ หาทางประนีประนอมกับนักเขียนประมาณนี้ มันโอเคพอหรือเปล่า”

“เราคิดว่าถ้าระบบบรรณาธิการแข็งแรงพอ นักเขียนเองก็พอจะได้รับการแบ่งเบาภาระในใจไปด้วยส่วนหนึ่งเช่นกัน” ฉัตรรวีบอก “คือนอกจากเรื่องเงินแล้ว เรื่องของจิตใจก็เป็นส่วนที่คนทำคอนเทนต์ถูกกระทบมากๆ เราเขียนอะไรออกไปเราย่อมต้องอยากให้คนได้อ่านและได้รับการตอบรับที่ดีอยู่แล้ว แต่สิ่งที่เกิดขึ้นกับเราตอนนี้คือการแขวนความรู้สึกของตัวเองไว้กับอัลกอริธึมที่พร้อมจะเปลี่ยนได้ตลอดเวลาและชาวเน็ตที่เป็นใครบ้างก็ไม่รู้ แถมจะไม่ง้อก็ไม่ได้ โคตรเสียสุขภาพ เพราะงั้นทำไปทำมาเราอาจเป็นพวกไร้หัวใจไปเลย ไม่อย่างนั้นก็ไม่รอด”

‘ภาระในใจ’ นั้นเลี่ยงไม่ได้ที่จะเกี่ยวโยงกับค่าดัชนีชี้วัดความสำเร็จของงานหรือ KPI -อันหมายความว่ามันย่อมจะส่งผลต่อโบนัสและเงินเดือนในปีถัดๆ ไปของคนทำงาน- ซึ่งกลายเป็นเงื่อนไขสำคัญที่บีบให้ทั้งคนเขียนและบรรณาธิการต้องรีดศักยภาพแทบทุกส่วนออกมาเพื่อหาทางต่อรองกับตัวเลขเหล่านี้ จึงแทบเป็นไปไม่ได้เลยที่บรรณาธิการและคนทำงานจะไม่แยแสต่อผลลัพธ์ที่ปรากฏตรงหน้า ไม่ว่าจะในเชิงที่ทำให้หัวใจพองโตเมื่อบทความกลายเป็นไวรัล ขยับขยายพื้นที่การเข้าถึงไปสู่กลุ่มคนอ่านใหม่ๆ และในทางกลับกัน เมื่อยอดเอนเกจเมนต์นิ่งสนิท อาจต้องควานหาหนทางปลอบประโลมหัวใจตัวเองกันระดับวันต่อวัน

“พอใช้คำว่ายอดเอนเกจเมนต์ บางครั้งมันก็หมายถึงเราคิดงานได้เจ๋งพอจนสามารถจุดบทสนทนาได้ หรือบางครั้งมันก็อาจหมายถึงการโดนทัวร์ลงได้ด้วยเหมือนกัน ถ้าใจเราแข็งพอและเชื่อว่าสิ่งที่สื่อออกไปมันไม่ได้ผิดอะไร ซึ่งก็ต้องมาพร้อมกับการทบทวนตัวเองอย่างหนักและทำการบ้านมาอย่างดี ถ้าเรามั่นใจพอแล้วเราก็อาจมีความสามารถในการช่างแม่ง และยิ้มรับยอดสวยๆ ของงานชิ้นนี้โดยไม่ต้องหัวฟัดหัวเหวี่ยงกับสารพัดคอมเมนต์ที่หลายครั้งก็โคตรจะอีหยังวะ” พร้อมกันนี้ เธอก็มองเห็นอีกด้านของ ‘คมดาบ’ อันแสนแหลมคมนี้ “หรือถ้าใจมันได้ เราอาจตั้งใจเขียนให้เรียกแขกไปเลย ซึ่งพอถึงจุดนั้นแล้วเราคงรู้ตัวแล้วแหละว่าไอ้ยอดเอนเกจเมนต์มันส่งผลกับเราแค่ไหน และทีนี้เราจะรับตัวเองได้รึเปล่าก็อีกเรื่องนึง แต่ส่วนตัวเราพบว่ายังไปไม่ถึงขั้นนั้น”

ยังไม่นับรวมการต่อสู้ต่อรองในโลกของทุน ตัวฉัตรรวีที่อยู่ในสังเวียนคนเขียนคอนเทนต์เองก็รู้ดีว่า คนทำงานล้วนมีเงื่อนไขมากมายทั้งในเชิงจิตใจซึ่งส่วนหนึ่งก็เป็นผลจากค่าตัวเลขที่อัลกอริธึมโยนให้ และในเชิงค่าตอบแทน “ยังไม่รวมว่าเราต้องชั่งน้ำหนักดูว่าแรงที่ทุ่มลงไปมันคุ้มเงินมั้ยด้วยนะ อย่างที่รู้ว่าตอนนี้ตลาดคอนเทนต์มันไม่ได้เงินเยอะ หลายคนที่เขียนเก่งมากๆ เรายกนิ้วให้มากๆ เราคิดว่าเขาควรได้เงินเยอะมากๆ จากสิ่งที่เขาทุ่มเทลงไป แต่มุมมองของนายทุนส่วนใหญ่ในประเทศนี้เขาไม่ได้ให้ค่ากับตรงนั้น เขาให้ค่ากับยอดที่เขาเห็น นี่เลยเป็นเรื่องน่าเศร้าที่ยังคิดไม่ออกเลยว่าควรต้องขับเคลื่อนยังไงดี” เธอบอก ปิดท้ายประโยคด้วยถ้อยคำสั้นกระชับว่า “หดหู่”

แต่นั่นก็ยังห่างไกลจากคำว่ายอมพ่ายให้แก่ตัวเลขเอนเกจเมนต์และอัลกอริธึมอันแสนวางใจไม่ได้ “ถ้าอยากอยู่กับงานนี้ต่อในโลกทุนนิยมใบนี้ เราอาจต้องจัดการตัวเองให้ได้ ยอมวางอีโก้ลงบ้าง ในกรณีที่คิดว่ามันคุ้มค่ากับสิ่งที่ได้มาน่ะนะ ไม่ว่าจะเป็นเม็ดเงินหรือสุขภาพจิต คือไม่เศร้ามากถ้ายอด ‘ไม่ไป’ แล้วขยับไปปั้นงานชิ้นหน้า ไปจนถึงการยอมพาดหัวหรือการใช้น้ำเสียงแบบที่เราอาจจะไม่ได้ชอบมาก ยอมเขียนให้สั้นลงบ้าง แน่นอนว่างานที่ออกมามันอาจไม่ได้น่าภูมิใจจนต้องแชร์มันมาหน้าไทม์ไลน์เฟซบุ๊กของตัวเองนัก” เธอบอกอย่างคนที่รู้และเข้าใจนิสัยของคนทำคอนเทนต์ “แต่ถ้าพอจะมองเห็นว่ามันจะไปและได้ยอดก็อาจต้องเลือกทำ ที่สำคัญที่สุดคือยอมรับให้ได้ว่าบางทีอาจเป็นเราเองนี่แหละที่ไม่ได้เจ๋งขนาดนั้น แล้วลองใหม่ เผื่อชิ้นหน้าเราจะเจ๋งได้กว่าเดิม เป็นงานที่เราทั้งภูมิใจและมันก็ไปด้วย”

“เพราะงั้นก็อย่างที่บอก คือสุดท้ายแล้วส่วนที่ยากที่สุดคือการทำงานกับจิตใจตัวเองนี่แหละ” เธอว่า ก่อนจะทิ้งท้าย “แต่ลึกๆ แล้ว เอาแบบโลกสวยๆ เลยเราก็เชื่อว่าเราสามารถทำคอนเทนต์ที่ทั้งเรียกแขกได้และมีคุณภาพและสร้างมูฟเมนต์บางอย่างในสังคมได้นะ”

อัลกอริธึมมันต้องการอะไรจากเราวะ

กวิน ศิริ เปิดเพจ ‘นวล’ ทางเฟซบุ๊กในปี 2016 แจ้งเกิดการ์ตูนหมาอ้วนสีขาวจอมเถื่อนสวนทางกับหน้าตาจิ้มลิ้ม เล่าเรื่องความวายป่วงของคนเลี้ยงหมาด้วยภาพนิ่ง ก่อนที่ต่อมา ‘นวล’ จะค่อยๆ ขยับมาเล่าเรื่องที่กว้างขวางและใหญ่โตขึ้นทั้งในประเด็นสังคมและการเมือง เรื่อยมาจนการผลัดเปลี่ยนรูปแบบจากภาพนิ่งมาสู่วิดีโอ รวมทั้งเคลื่อนตัวจากเฟซบุ๊กเข้าสู่ยูทูบในอีกสองปีให้หลังจากนั้น

การเปลี่ยนแปลงของกัลกอริธึมก็ดี ความเอาแน่เอานอนไม่ได้ของแพลตฟอร์มต่างๆ ก็ดี ไปจนถึงภาวะเฆี่ยนตีตัวเองในฐานะคนทำคอนเทนต์ กวินเคยผ่านและกำซาบมันมาแล้วอย่างถึงลูกถึงคน

“ไม่มีใครตอบได้เต็มปากหรอกว่าอัลกอริธึมต้องการอะไรจากคุณ ถ้ามันตอบได้ชัดๆ ขนาดนั้น ใครก็ทำของไวรัลกันได้หมด” เป็นสิ่งที่เขากล่าวอยู่บ่อยครั้ง 

“ผมว่าความรู้สึกแย่ตอนที่ไม่มีคนมาดูคอนเทนต์ของเรามันมีกันทุกคนน่ะ เวลาเราอินกับเรื่องอะไรสักเรื่องและใช้เวลาทำงานกับมันมากๆ แต่พอปล่อยงานออกมาแล้ว ไม่มีคนสนใจ เราก็สงสัยว่าทำไมคนไม่ดูวะ ไปดูอะไรไม่รู้ ฉันทำของดีนะ ทำไมแพลตฟอร์มไม่สนับสนุนคอนเทนต์ดีๆ ล่ะ” เป็นคำแซวตัวเองกลั้วเสียงหัวเราะ “การมีเป้าหมายก็เป็นเรื่องดี ถ้าเราตั้งเป้าหมายไว้แบบที่มีโอกาสสูงที่จะทำให้เราเสียใจ มันจะทำให้เราทำคอนเทนต์ได้ไม่ยืนยาวนัก เพราะเราจะหมดไฟไปเอง”

ในฐานะคนทำคอนเทนต์ กวินต้องสู้รบปรบมือกับระบบอัลกอริธึมหลากรูปแบบ และสิ่งหนึ่งที่เป็นหัวใจสำคัญของการขับเคลื่อนคอนเทนต์คือเงิน อันหมายถึงแพลตฟอร์มที่แม้จะเอาแน่เอานอนไม่ได้แค่ไหน ถึงที่สุดก็อาจเป็นสิ่งที่หลีกเลี่ยงไม่ได้สำหรับคนทำงานด้านนี้ “แพลตฟอร์มมันถูกขับเคลื่อนด้วยเงิน ถ้าเราเชื่อสุดหัวใจว่างานเราคุณภาพดี เลยไปคาดหวังว่าคุณภาพจะเอาชนะทุกสิ่ง แล้วพอเพอร์ฟอร์มานซ์ออกมาน่าผิดหวัง ก็เลยมานั่งโทษแพลตฟอร์มว่าให้แสงแต่คอนเทนต์ที่ ‘คุณภาพแย่’ มันก็เป็นการคิดแบบเลียแผลตัวเอง ซึ่งก็ไม่ได้ผิดอะไรนะ คิดแบบนี้ก็ได้ เพียงแต่ว่าถ้าเราคิดแบบนี้แล้ว ทำให้มีกำลังใจในการทำคลิปที่เรามองว่า ‘ดี’ น้อยลง คนที่ขาดทุนคือคุณคนเดียวเลย แพลตฟอร์มไม่แคร์คุณอยู่แล้ว”

“เวลาผมมีโอกาสไปพูดตามงานเสวนา ผมจะไม่พูดว่าควรเรียนรู้ที่จะทำคอนเทนต์อย่างมีความสุข แต่จะพูดว่าควรทำคอนเทนต์แบบที่คุณไม่เสียสติก็พอ” เขาหัวเราะ “เพราะการทำงานกับความผันผวนของแพลตฟอร์ม มันมีพลานุภาพทำลายสุขภาพจิตสูงส่งจริงๆ ยิ่งถ้าเราพยายามจะไปวัดความสำเร็จของงานด้วย parameter ต่างๆ เป็นตัวเลขที่แพลตฟอร์มมอบให้ มันจะกลายเป็นว่าเราทำงานค้นคว้าแทบตาย แต่ดันแพ้คนที่ทำอะไรแผลงๆ ประสาทๆ ดูถูกสติปัญญาคนดูเนี่ยนะ” เขาบอกยิ้มๆ “ถ้าเผลอติดกับดักความคิดนี้ เอามาวัด มาเปรียบเทียบกันตลอด มันก็ไม่เหลือเหตุผลที่คุณจะต้องทนทำคอนเทนต์อีกต่อไปแล้ว เพราะถ้าสุดท้ายยิ่งทำงานออกมาแล้วยิ่งทำให้เกลียดแพลตฟอร์ม เกลียดคอนเทนต์ เกลียดตัวเองมากขึ้นเรื่อยๆ เราก็คงทนทำต่อไปไม่ไหว เรื่องที่เราสนใจก็จะมีคนตั้งใจพูดถึงมันน้อยลงไปคนนึง ผู้ชมก็ขาดทุน ผมว่ามันน่าเสียดายสำหรับทุกๆ ฝ่าย”

“แต่อย่าเข้าใจผิดคิดว่าผมก็ไปตัดสินใครนะ ใครอยากทำอะไรก็ทำเลย ตราบใดที่คุณเล่นตามกติกาของแพลตฟอร์มทุกอย่าง คำถามคือมันเป็นสิ่งที่คุณอยากทำจริงๆ หรือเปล่าเท่านั้นเอง ทุกคนต้องทำมาหากินน่ะ การทำคอนเทนต์เพื่อเอายอดมันไม่ได้เป็นเรื่องผิดบาป แต่สุดท้ายทุกคนต้องตอบตัวเองให้ได้ว่า นี่คือสิ่งที่คุณจะมอบให้คนดูใช่ไหม ไม่ต้องพูดถึงมาตรฐานจรรยาบรรณสื่ออะไรที่มันซับซ้อน เอาแค่เรื่องสามัญสำนึกก็พอ คือเราไม่ได้ทำให้คนดูเสื่อมทรามลงใช่ไหม แค่นั้นเอง”

ร้อยทั้งร้อย ใครก็ตามที่ทำคอนเทนต์น่าจะคาดหวังความสำเร็จของมันจากยอดคลิก ยอดแชร์ ยอดคนเข้าถึง และแม้วันหนึ่งเราจะไปแตะจุดที่คิดว่า ‘สำเร็จ’ ได้แล้ว แต่จุดนั้นจะยิ่งขยับไกลออกไปเรื่อยๆ ไม่ว่าเราจะรู้ตัวหรือไม่ก็ตาม “คือมันจะมีสักวันแหละที่คุณทำได้หนึ่งแสนวิว วันนั้นคุณจะฟิน แต่ครั้งถัดไปที่คุณได้หนึ่งแสนวิวอีกครั้ง ความฟินมันก็จะไม่โดนเส้นแล้ว คุณจะหาเป้าหมายที่สูงขึ้นไปเรื่อยๆ” กวินบอกเรียบๆ และถึงที่สุด นี่อาจหมายถึงการหาสมดุลระหว่างการอยู่ร่วมกันกับแพลตฟอร์มที่กวินเอ่ยปากว่า ‘เลือดเย็น’ กับการหาน้ำหล่อเลี้ยงหัวใจให้ตัวเองในฐานะคนทำงาน และนั่นหมายถึงการยังคงมีความคาดหวังในเนื้องานของตัวเองได้ โดยไม่จำเป็นต้องตั้งอยู่บนความคาดหวังที่แพลตฟอร์มนิยม -ในนามของความเป็นมืออาชีพ “ผมไม่ได้บอกว่าอย่าไปคาดหวังอะไรเลยแบบนั้นนะ เพราะถ้าไม่คาดหวังเลยก็คงเป็นคนทำคอนเทนต์ที่ดีไม่ได้ มันต้องมีความถือยึดถือมั่นในงานตัวเองประมาณหนึ่ง ซึ่งเป็นเรื่องดี แต่ว่าในความคาดหวังนั้น ผมคิดว่าการรับมือกับสิ่งที่ไม่เป็นไปตามที่คิด ก็เป็นทักษะของมืออาชีพเหมือนกัน”

“วันนี้ช่อง ‘นวล’ มีผู้ติดตามทุกแพลตฟอร์มรวมกันหลักล้าน แต่ผมสามารถนึกภาพออกได้เลยว่าภายใน 2-3 ปี ตัวเลขทั้งหมดนี้อาจไม่มีความหมายอะไรเลย เพราะแพลตฟอร์มใหม่ๆอาจจะเกิดขึ้น จนแพลตฟอร์มเก่าไม่มีคนอยู่อีกต่อไปแล้ว แล้วความพยายามของเราในการเก็บเกี่ยวผู้ติดตามเยอะแยะมาแรมปีมันจะยังมีความหมายอยู่อีกไหม The world makes no sense. มากเลยเนอะ” เขาบอก ปิดประโยคด้วยเสียงหัวเราะ

“แต่สุดท้ายแล้ว การทำความเข้าใจกับความเปลี่ยนแปลงเป็นเรื่องสำคัญนะ เช่น โอเค มาร์ก ซักเคอร์เบิร์ก คุณเปลี่ยนอัลกอริธึมนะ อ๋อเพราะอยากไปแข่งกับ TikTok ใช่ไหม ยูสเซอร์ผู้ใช้งานทุกคนมี 24 ชั่วโมงเท่าเดิม แปลว่าถ้าเขาโปรโมตคอนเทนต์ประเภทใหม่ คอนเทนต์ประเภทเก่าย่อมมียอดเข้าชมน้อยลง ผมว่าเราช่วยกันนินทามาร์กได้น่ะ (หัวเราะ) อย่างน้อยจะได้สร้างความเข้าใจว่าความเปลี่ยนแปลงน่าจะทำให้เกิดอะไรตามมา แล้วเมื่อไหร่ก็ตามที่เรามีความเห็นตรงกันว่าสิ่งที่มาร์กทำมันสมเหตุสมผลแค่จากมุมมองทางการตลาด ไม่ใช่จากความต้องการของผู้บริโภคอย่างแท้จริง เมื่อคอนเทนต์เรามันไม่ไปบนความไม่มีเหตุผลทั้งหมดนี้ เราจะไม่โทษตัวเอง แต่เราแค่ต้องทำมาหากินบนแพลตฟอร์มของเขาเท่านั้นเอง ความรู้ความเข้าใจช่วยเราจัดการความรู้สึกได้ เพราะสุดท้ายเราก็จะฮึบแล้วไปนั่งเขียนอะไรสักอย่างต่ออยู่ดี”

กวินอธิบายปรากฏการณ์ความหดหู่มวลรวมของชาวคนทำคอนเทนต์ไว้ได้เห็นภาพว่า เพราะนับจากก้าวแรกของการผลิตคอนเทนต์นั้นมีหมุดหมายเพื่อทำให้คนดูหรืออ่าน แต่ก้าวต่อมาเราจะค่อยๆ ถูกแพลตฟอร์มบังคับให้ทำงานเพื่อ feed แพลตฟอร์มที่คอยส่งเสียงกระซิบ (หรือบางทีก็ตะโกน) บอกเราว่าทำแบบนั้น คิดแบบนี้ แล้วงานที่ออกมานั้นจะ ‘เพอร์ฟอร์มานซ์’ ดี ทั้งหมดทั้งมวลนี้เพื่อจะพบว่าปลายทางนั้น สิ่งที่คนอยากดูกับสิ่งที่อัลกอริธึมอยากดู นั้นอาจไม่ได้เป็นสิ่งเดียวกันเสมอไป

“เราไม่ต้องตั้งท่ารับมือกับแพลตฟอร์มขนาดนั้นหรอก เราเป็นมนุษย์ ยังไงก็ตามความผันผวนของเครื่องจักรไม่ทัน รับมือกับความคาดหวังของตัวเองยังจะทำได้จริงมากกว่า” กวินอธิบาย -แม้เราต่างรู้กันอยู่แก่ใจว่าการรับมือกับความคาดหวังของตัวเองนี้อาจจะยากเย็นเสียยิ่งกว่าการทำความเข้าใจกับอัลกอริธึม หากแต่นี่ก็เป็นหนทางที่ทำให้เราไม่ต้องคอยหาคำอธิบายให้กับอัลกอริธึมที่เปลี่ยนแปลงอยู่ทุกวินาที จากนี้ไปจนโลกแตก 

“ผมเองก็อยากทำคลิปเรื่องสุขภาพจิต เรื่องการนับคะแนนเลือกตั้ง เรื่องความเหลื่อมล้ำเยอะๆ เหมือนกัน เพียงแต่ของแบบนั้นมันใช้ใจ ใช้ทุนทรัพย์ ใช้เวลา สปอนเซอร์ก็หาไม่ง่าย ถ้าเราดื้อจะเอาแค่นี้ แพลตฟอร์มอาจไม่รอเราแล้ว สักวันไม่ว่าเราจะทำดีแค่ไหน ก็จะไม่มีใครเห็นงานของเราอีก นี่คือกติกาที่โหดร้าย ถ้าเราไม่มีงานตลาดๆ กระแสหลักจ๋าๆ สลับลงบ้าง เราจะช้ำในตายไปเอง”

ไม่ว่าจะความคาดหวังต่อตัวเอง ความอัดอั้นต่อความบีบคั้นของระบบอัลกอริธึม ไปจนถึงภาวะโบยตีตัวเองของคนทำงาน กวินให้ภาพเป็นการสำรวจภูเขาน้ำแข็งก้อนยักษ์ที่มวลอารมณ์ผิดหวังและเครียดเขม็งของเราเป็นปลายยอด หากว่าขุดลึกไปจนถึงฐานล่าง พบว่างานที่เราทำนั้นถูกควบคุม manipulate ด้วยตัวแพลตฟอร์ม -ไม่ว่าจะเลือกสนับสนุนคอนเทนต์บางรูปแบบ เช่น คลิปสั้นๆ หรือเลือกเมินเฉยต่อคอนเทนต์ขนาดยาวหรือมีแนวโน้มจะไม่เป็นที่นิยม- เราก็อาจโกรธเคืองตัวเองน้อยลง “คือเราก็เซ็งเหมือนเดิมนั่นแหละ แต่เราจะยังมีแรงไปทำคอนเทนต์ถัดไป” กวินบอก “อาจจะมองอย่างโรแมนติกหน่อย แต่ผมว่าคนที่ทำคอนเทนต์แล้วประสบความสำเร็จ ไม่ใช่คนที่มียอดคนกดติดตามหนึ่งล้านคน ไม่ใช่คนที่เรียกยอดคนดูได้เยอะแยะตลอดกาล แต่คือคนที่ได้เล่าสิ่งที่ตัวเองอยากเล่าแล้วไม่เลิกเล่าต่างหาก”

“ท้ายที่สุด เราอาจจะไม่ได้อยากให้มาร์กมารักเราขนาดนั้น สิ่งที่เรายังทำอยู่มันมีคุณค่าในตัวเอง เราต้องทันเกมของมาร์กก็พอ รู้ว่าระบบต่างๆ ของมาร์กหรือของแพลตฟอร์มไหนก็ตามมีที่มาที่ไปอย่างไร ในบางมุมมันไม่เมกเซนส์เลย แต่เรามักจะสามารถหาคำอธิบายได้จากอีกมุมหนึ่งเสมอ ยังไงเราก็ยังต้องทำมาหากิน เราแค่ต้องรู้ว่าสิ่งที่เราทำมีคุณค่า และยังมีคนมองเห็นมันอยู่เสมอ ผมเชื่อในอิทธิพลของคอนเทนต์เสมอมา ฉะนั้นแล้ว เราต้องไม่เอาตัวเลขที่ผ่านการปั้นแต่งด้วยการเปิดปิดการมองเห็นแบบไม่รู้ว่าเท่าไร หรือความไร้เหตุผลต่างๆ มาด้อยค่าความปรารถนาดีที่เรามีต่อผู้ชม นี่อาจจะเป็นความเป็นมืออาชีพที่สุดแล้ว หากคุณเป็นคนหนึ่งที่ต้องทำงานในอุตสาหกรรมที่ผันผวนขนาดนี้”

MOST READ

Life & Culture

14 Jul 2022

“ความตายคือการเดินทางของทั้งคนตายและคนที่ยังอยู่” นิติ ภวัครพันธุ์

คุยกับนิติ ภวัครพันธุ์ ว่าด้วยเรื่องพิธีกรรมการส่งคนตายในมุมนักมานุษยวิทยา พิธีกรรมของความตายมีความหมายแค่ไหน คุณค่าของการตายและการมีชีวิตอยู่ต่างกันอย่างไร

ปาณิส โพธิ์ศรีวังชัย

14 Jul 2022

Life & Culture

27 Jul 2023

วิตเทเกอร์ ครอบครัวที่ ‘เลือดชิด’ ที่สุดในอเมริกา

เสียงเห่าขรม เพิงเล็กๆ ริมถนนคดเคี้ยว และคนในครอบครัวที่ถูกเรียกว่า ‘เลือดชิด’ ที่สุดในสหรัฐอเมริกา

เรื่องราวของบ้านวิตเทเกอร์ถูกเผยแพร่ครั้งแรกทางยูทูบเมื่อปี 2020 โดยช่างภาพที่ไปพบพวกเขาโดยบังเอิญระหว่างเดินทาง ซึ่งด้านหนึ่งนำสายตาจากคนทั้งเมืองมาสู่ครอบครัวเล็กๆ ครอบครัวนี้

พิมพ์ชนก พุกสุข

27 Jul 2023

Life & Culture

22 Feb 2022

คราฟต์เบียร์และความเหลื่อมล้ำ

วันชัย ตันติวิทยาพิทักษ์ เขียนถึงอุตสาหกรรมเบียร์ไทย ที่ผู้ประกอบการคราฟต์เบียร์รายเล็กไม่อาจเติบโตได้ เพราะติดล็อกข้อกฎหมาย และกลุ่มทุนที่ผูกขาด ทั้งที่มีศักยภาพ

วันชัย ตันติวิทยาพิทักษ์

22 Feb 2022

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • Always Active

Save