fbpx

เปิดตัว ‘คิด for คิดส์’ ตั้งหลักใหม่นโยบายเด็กและครอบครัวสู่อนาคต

สสส. ร่วมกับ 101 เปิดตัว ศูนย์ความรู้นโยบายเด็กและครอบครัว (คิด for คิดส์) ด้วยการแถลงรายงานสถานการณ์เด็กและครอบครัว ประจำปี 2565 ชวนร่วมคิดตั้งหลักใหม่นโยบายเด็กและครอบครัวไทยรับมือความท้าทายจากสามวิกฤต – โควิด ความเหลื่อมล้ำ และสังคมการเมือง

เมื่อวันที่ 22 สิงหาคมที่ผ่านมา สำนักสนับสนุนสุขภาวะเด็ก เยาวชน และครอบครัว สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) ร่วมกับศูนย์ความรู้นโยบายสาธารณะเพื่อการเปลี่ยนแปลง (101 Public Policy Think Tank หรือ 101 PUB) จัดงานเสวนาสาธารณะ ‘เด็กและครอบครัวไทยในสามวิกฤต: รายงานสถานการณ์เด็กและครอบครัว ประจำปี 2565‘ เพื่อเปิดตัว ศูนย์ความรู้นโยบายเด็กและครอบครัว หรือ ‘คิด for คิดส์’

นพ.สุรเชษฐ์ สถิตนิรามัย รองประธานกรรมการกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ คนที่ 2 กล่าวเปิดงานเสวนาช่วงหนึ่งว่า “มนุษย์เป็นทรัพยากรที่สำคัญที่สุดของชาติ แต่ว่าสังคมไทยกลับเลี้ยงเด็กไม่ค่อยเป็น ตัวอย่างรูปธรรมคือ ปัญหาความเหลื่อมล้ำทางการศึกษาที่รุนแรงมาก หรือช่องว่างระหว่างคนต่างรุ่นที่รุนแรงมากขึ้นจนปิดโอกาสในการสร้างสรรค์อะไรใหม่ๆ ร่วมกัน ซึ่งการจะแก้ไขปัญหานี้ได้ต้องใช้ความรู้จากงานวิจัยที่มองปัญหาไปข้างหน้า  สสส. หวังว่า ‘คิด for คิดส์’ จะช่วยเข้ามาเติมช่องตรงนี้ได้”

นพ.สุรเชษฐ์ สถิตนิรามัย รองประธานกรรมการกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ คนที่ 2

นางสาวณัฐยา บุญภักดี ผู้อำนวยการสำนักสนับสนุนสุขภาวะเด็ก เยาวชน และครอบครัว สสส. กล่าวถึงที่มาว่า “วัยเด็กเป็นต้นทางชีวิตแห่งการสร้างฐานทุนสุขภาพ จึงเป็นภารกิจของ สสส. ที่จะร่วมมือกับภาคส่วนต่างๆ ในการสร้างสังคมที่เด็กรุ่นใหม่มีโอกาสเติบโตอย่างมีคุณภาพ มีสุขภาวะ และใช้ศักยภาพในการขับเคลื่อนสังคมได้อย่างเต็มเปี่ยม การจัดตั้ง ‘คิด for คิดส์’ เป็นหมุดหมายสำคัญในการขับเคลื่อนงานเด็ก เยาวชน และครอบครัวสู่อนาคต บนฐานของความรู้ที่มีคุณภาพ ไม่แปลกแยกจากโลกใหม่ เน้นการทำงานและสื่อสารกับสังคม เราต้อนรับคนรุ่นใหม่ทุกกลุ่มและภาคีเครือข่ายของ สสส. ให้เข้ามาช่วยกันส่งเสียง ตั้งโจทย์ และทำงานร่วมกัน”

ณัฐยา บุญภักดี ผู้อำนวยการสำนักสนับสนุนสุขภาวะเด็ก เยาวชน และครอบครัว สสส.

ผู้ช่วยศาสตราจารย์ปกป้อง จันวิทย์ ประธานกรรมการบริหาร บริษัท ดิ วันโอวัน เปอร์เซนต์ จำกัด และหัวหน้าโครงการ พร้อมด้วย นายฉัตร คำแสง ผู้อำนวยการ 101 PUB ได้ร่วมกันกล่าวแนะนำ ‘คิด for คิดส์’ ว่า “หน้าที่หลักของเราคือการทำงานวิชาการเกี่ยวกับนโยบายสาธารณะด้านเด็ก เยาวชน ครอบครัว และการเรียนรู้ ตั้งแต่การวิเคราะห์-ติดตาม-วิจัย-ออกแบบนโยบายสาธารณะ รวมถึงการรวบรวมและจัดทำข้อมูลที่จำเป็น เช่น การสำรวจเยาวชนไทย (Youth Survey) ที่ ‘คิด for คิดส์’ ได้สำรวจเรื่องชีวิตความเป็นอยู่ การเรียนและการทำงาน ความสัมพันธ์กับคนรอบตัว ตลอดจนคุณค่าและทัศนคติทางสังคมของเยาวชนอายุ 15-25 ปี ประมาณสองหมื่นคนทั่วประเทศ และเปิดฐานข้อมูลให้ทุกคนเข้าถึงและใช้ประโยชน์ต่อได้ทางเว็บไซต์ kidforkids.org”

“นโยบายเด็กและครอบครัว คืออนาคตของเด็กทั้งชีวิต คืออนาคตของสังคม จุดหมายปลายทางคือ การพัฒนาเด็กและเยาวชนให้เติบโตอย่างเต็มศักยภาพสูงสุดตามเส้นทางที่แต่ละคนได้เลือกเอง เราจะบรรลุจุดหมายนี้ได้ การเมืองต้องดี เป็นประชาธิปไตย เคารพสิทธิเสรีภาพและความหลากหลาย เศรษฐกิจต้องดี ไม่เหลื่อมล้ำ ระบบการศึกษาต้องดี กระบวนการนโยบายต้องดี เด็กและเยาวชนมีส่วนร่วมตลอดทาง ใช้ความรู้เป็นฐานสร้างการเปลี่ยนแปลง” ผู้ช่วยศาสตราจารย์ปกป้องกล่าวทิ้งท้าย

ผู้ช่วยศาสตราจารย์ปกป้อง จันวิทย์ ประธานกรรมการบริหาร บริษัท ดิ วันโอวัน เปอร์เซนต์ จำกัด และหัวหน้าโครงการ

ต่อมาได้มีการนำเสนอรายงานสถานการณ์เด็กและครอบครัว ประจำปี 2565 ของ ‘คิด for คิดส์’ จัดทำโดย นายฉัตร คำแสง นายวรดร เลิศรัตน์ และนางสาวเจณิตตา จันทวงษา ทีมนักวิจัยจาก 101 PUB  

นายฉัตรกล่าวนำว่า “เดิมทีการพัฒนาเด็กไทยท่ามกลางโลกที่ผันผวนและเปลี่ยนแปลงเร็วก็เป็นงานที่ท้าทายอยู่แล้ว แต่เมื่อเด็กและครอบครัวไทยเผชิญกับ ‘สามวิกฤต’ ได้แก่ วิกฤตโควิด-19 วิกฤตความเหลื่อมล้ำและการพัฒนา และวิกฤตสังคมการเมือง ซ้ำเข้าไป ปัญหาก็ยิ่งหนักหน่วงและซับซ้อนขึ้นอีก โดยเฉพาะในกลุ่มเด็กและเยาวชนที่เปราะบางเป็นทุนเดิม วิกฤตเหล่านี้สร้างทั้ง ‘แผลสด’ ที่ส่งผลกระทบเฉพาะหน้า และรุนแรงมากจนกลายเป็น ‘แผลเป็น’ ที่ส่งผลกระทบระยะยาวไปตลอดชีวิตได้ หากไม่ได้รับการจัดการอย่างถูกต้อง”

ฉัตร คำแสง ผู้อำนวยการ 101 PUB

นายวรดรและนางสาวเจณิตตานำเสนอ 7 แนวโน้มสำคัญของสถานการณ์เด็ก เยาวชน และครอบครัวในปี 2565 ซึ่งประกอบด้วย (1) เด็กและเยาวชนเผชิญภาวะการเรียนรู้ถดถอย พัฒนาการหยุดชะงัก (2) เด็กและครอบครัวเข้าถึงบริการของรัฐได้ยากขึ้นในช่วงการแพร่ระบาดของโควิด (3) เด็กและเยาวชนถูกผลักเข้าสู่โลกออนไลน์โดยขาดฐานที่จำเป็น (4) เด็กและเยาวชนเครียดและมีปัญหาสุขภาพจิตสูงขึ้น (5) เด็กและเยาวชนมีส่วนร่วมทางการเมืองแต่ภาครัฐสกัดกั้นด้วยความรุนแรงมากขึ้น (6) โครงสร้างประชากรเข้าสู่สังคมสูงวัยสมบูรณ์ ครอบครัวมีขนาดเล็กและเปราะบางยิ่งขึ้น และ (7) ความไม่ลงรอยระหว่างรุนแรงขึ้น บั่นทอนความสัมพันธ์ภายในครอบครัว

วรดร เลิศรัตน์ และ เจณิตตา จันทวงษา นักวิจัย 101 PUB

“แม้เด็กจะไม่ใช่กลุ่มที่เสี่ยงที่สุดจากการติดเชื้อโควิด-19 แต่ก็ได้รับผลกระทบอย่างรุนแรงจากมาตรการรับมือโรคระบาดในหลายด้าน เช่น ภาวะการเรียนรู้ถดถอยโดยเฉพาะในเด็กปฐมวัยจากการปิดสถานศึกษาที่กินเวลา 69 สัปดาห์ การหลุดออกจากระบบการศึกษา การสูญเสียบุคคลในครอบครัวจนกลายเป็นเด็กกำพร้า เป็นต้น ในขณะที่การทุ่มเททรัพยากรไปจัดการโควิดก็ทำให้แม่และเด็กจำนวนมากเข้าไม่ถึงบริการสุขภาพ ซึ่งสะท้อนผ่านอัตราการฝากครรภ์และอัตราได้รับการดูแลสุขภาพก่อนคลอดที่ลดลงอย่างชัดเจนในช่วงโควิด” นางสาวเจณิตตา กล่าว

นายวรดร นำเสนอเพิ่มเติมว่า“การปิดโรงเรียนผลักให้เด็กและเยาวชนเข้าสู่โลกออนไลน์ โดยขาดฐานและทักษะที่จำเป็น ซึ่งผู้ปกครองและครูช่วยเหลือได้จำกัดเพราะผลสำรวจชี้ว่ามีทักษะต่ำกว่าอีก นอกจากนั้น กว่าร้อยละ 78 ของครัวเรือนที่มีเยาวชน ไม่มีคอมพิวเตอร์ที่เชื่อมต่ออินเทอร์เน็ตได้ หลายบ้านต้องเรียนออนไลน์ผ่านโทรศัพท์มือถือเครื่องเดียว ส่วนในด้านการมีส่วนร่วมทางการเมือง ผลสำรวจชี้ว่า เยาวชนร้อยละ 70 สนใจติดตามการเมืองค่อนข้างมากถึงมากที่สุด เกือบทั้งหมดยังเห็นว่าสิทธิเสรีภาพทางการเมือง ทั้งการแสดงออกทางความคิดและการชุมนุมเป็นเรื่องสำคัญ ที่ผ่านมารัฐบาลยังเปิดพื้นที่การมีส่วนร่วมของเด็กและเยาวชนในกระบวนการนโยบายไม่มากพอ ทั้งกลไกของสภาเด็กและเยาวชนที่ขาดอิสระ ไม่ได้มาจากการเลือกตั้ง และงบประมาณไม่เพียงพอ ตลอดจนยังมีการใช้อาวุธและเครื่องมือทางกฎหมายตอบโต้เด็กและเยาวชน จนเพิ่มความขัดแย้งในสังคม”

………………………………………………………………………..

เอกสารและฐานข้อมูล

ดาวน์โหลด ‘รายงานสถานการณ์เด็ก เยาวชน และครอบครัว ประจำปี 2022’ ได้ ที่นี่

ดาวน์โหลด ‘ชุดข้อมูลจากผลสำรวจเยาวชนไทย (Youth Survey 2022)’ ได้ ที่นี่

ดาวน์โหลดเอกสารประกอบการนำเสนอได้ ที่นี่

ดาวน์โหลดเอกสารประกอบการเสวนาทั้งหมดและผลงานวิเคราะห์นโยบาย 4 เรื่องได้ ที่นี่

MOST READ

Social Issues

9 Oct 2023

เด็กจุฬาฯ รวยกว่าคนทั้งประเทศจริงไหม?

ร่วมหาคำตอบจากคำพูดที่ว่า “เด็กจุฬาฯ เป็นเด็กบ้านรวย” ผ่านแบบสำรวจฐานะทางเศรษฐกิจ สังคม และความเหลื่อมล้ำ ในนิสิตจุฬาฯ ปี 1 ปีการศึกษา 2566

เนติวิทย์ โชติภัทร์ไพศาล

9 Oct 2023

Education

20 Jul 2023

คณะอักษรศาสตร์ จุฬาฯ ในวิกฤต (?)

ข่าวการปรับหลักสูตรของอักษรศาสตร์ จุฬาฯ ชวนให้คิดถึงอนาคตของการเรียนการสอนสายมนุษยศาสตร์ เมื่อตลาดแรงงานเรียกร้องทักษะสำหรับการทำงานจริง จนมีการลดความสำคัญวิชาพื้นฐานอันเป็นการฝึกฝนการวิเคราะห์วิพากษ์เพื่อทำความเข้าใจโลกอันซับซ้อน

เสียงเล็กๆ จากประชาคมอักษร

20 Jul 2023

Social Issues

5 Jan 2023

คู่มือ ‘ขายวิญญาณ’ เพื่อตำแหน่งวิชาการในมหาวิทยาลัย

สมชาย ปรีชาศิลปกุล เขียนถึง 4 ประเด็นที่พึงตระหนักของผู้ขอตำแหน่งวิชาการ จากประสบการณ์มากกว่าทศวรรษในกระบวนการขอตำแหน่งทางวิชาการในสถาบันการศึกษา

สมชาย ปรีชาศิลปกุล

5 Jan 2023

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • Always Active

Save