fbpx

กฎหมายยาเสพติดใหม่: 8 เดือนของการบังคับใช้ในภาวะที่ยังไร้กฎหมายลูก กับ ภูวิชชชญา เหลืองธีรกุล

9 ธันวาคม 2564 นับเป็นหมุดหมายสำคัญของการเปลี่ยนแปลงแนวทางการป้องกันและปราบปรามยาเสพติดของประเทศไทย เมื่อประมวลกฎหมายยาเสพติด พ.ศ. 2564 เริ่มมีผลบังคับใช้ หลังจากที่กฎหมายรูปแบบเดิมที่ใช้มายาวนาน แม้จะมีความรุนแรงเด็ดขาด แต่ก็ไม่ได้ช่วยแก้ปัญหายาเสพติดได้อย่างเห็นผลนัก ซ้ำยังนำปัญหาอื่นตามมา เช่น จำนวนผู้ต้องขังที่ล้นเรือนจำ

นี่จึงนำมาสู่การออกกฎหมายยาเสพติดฉบับใหม่ ซึ่งเป็นการยกเครื่องแนวทางปฏิบัติและการปรับแนวคิดเปลี่ยนมุมมองที่มีต่อประเด็นปัญหายาเสพติดจากเดิมไปอย่างสิ้นเชิง ทั้งการมองผู้เสพเป็นผู้ป่วยมากกว่าเป็นอาชญากร การเน้นแก้ปัญหาผู้ติดยาเสพติดด้วยการบำบัดรักษามากกว่าการลงโทษทางอาญา การปรับเปลี่ยนแนวทางการลงโทษผู้กระทำผิดให้สมเหตุสมผลกับลักษณะการกระทำมากขึ้น และการเปิดช่องการนำยาเสพติดไปใช้ประโยชน์ โดยไม่ได้มองยาเสพติดในด้านมืดเพียงด้านเดียว ด้วยความหวังว่าแนวทางเหล่านี้จะช่วยแก้ปัญหายาเสพติดที่เรื้อรังในสังคมไทยมายาวนานได้อย่างเห็นประสิทธิภาพจริง

อย่างไรก็ดี การจะแก้ไขปัญหายาเสพติดได้ดีขึ้นหรือไม่นั้น ไม่ได้ขึ้นอยู่กับหลักการที่ถูกเขียนไว้ในตัวบทกฎหมายเพียงอย่างเดียว หากแต่สิ่งสำคัญกว่านั้นคือว่าการนำข้อกฎหมายมาใช้ในทางปฏิบัติได้อย่างมีประสิทธิภาพและตอบโจทย์เจตนารมณ์ของกฎหมาย

หลังจากที่กฎหมายยาเสพติดใหม่ได้ถูกบังคับใช้มาแล้วราว 8 เดือน 101 จึงสำรวจติดตามความคืบหน้าของการใช้กฎหมายยาเสพติดฉบับนี้ ผ่านการสนทนากับ ภูวิชชชญา เหลืองธีรกุล อัยการจังหวัดประจำสำนักงานอัยการสูงสุด เจาะลึกตลอดระยะเวลาของการบังคับใช้กฎหมายดังกล่าวว่าได้เห็นการเปลี่ยนแปลงอะไร เห็นประโยชน์ใดที่เป็นรูปธรรมแล้วบ้าง และอะไรคือช่องโหว่หรือปัญหาที่พบในการใช้กฎหมายระยะเริ่มแรก โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อแนวปฏิบัติตามกฎหมายในหลายประเด็นยังไม่ได้มีการออกกฎหมายลูกมารองรับ

ภูวิชชชญา เหลืองธีรกุล อัยการจังหวัดประจำสำนักงานอัยการสูงสุด

 

ตั้งแต่ประกาศใช้กฎหมายยาเสพติดฉบับใหม่เมื่อเดือนธันวาคม 2021 ในภาพรวมได้เห็นการเปลี่ยนแปลงอะไรบ้าง

หลักๆ คือมันให้สิทธิและคุ้มครองสิทธิมนุษยชนของผู้ต้องขังและผู้กระทำผิดมากขึ้น ทำให้เจ้าหน้าที่ตำรวจจะต้องพิสูจน์การกระทำผิดต่างๆ ให้ชัดเจนยิ่งขึ้น ขณะที่ศาลก็สามารถใช้ดุลยพินิจในการตัดสิน และอัยการก็ต้องใช้ดุลยพินิจในการเลือกฟ้องคดีให้ถูกต้องสมเหตุสมผลกับการกระทำความผิดมากกว่าเดิม ในภาพรวมคือทำให้ผู้บังคับใช้กฎหมายต้องมีความระมัดระวังมากขึ้น ต่างจากก่อนหน้านี้ที่ผู้ต้องหาอาจรู้สึกว่าโดนกฎหมายปิดปาก แม้บางกรณีจะไม่ได้รู้เห็นในการกระทำผิดด้วยเลยก็ตาม ขณะที่นักโทษที่ต้องขังอยู่ในเรือนจำจากคดียาเสพติดเดิมก็เรียกว่าดีใจลิงโลดกันเลย เพราะกฎหมายใหม่มีโทษน้อยลง จึงมีคนขอให้กำหนดโทษใหม่จำนวนมาก หลายคนก็ได้รับการปล่อยตัวเร็วขึ้น

แต่ด้วยความที่กฎหมายยังใหม่มาก ตอนนี้เลยยังเกิดช่องว่างและความสับสนอยู่พอสมควร เพราะหลักเกณฑ์หลายอย่างเป็นเรื่องใหม่ที่ผู้บังคับใช้กฎหมายอาจจะไม่คุ้นชิน มันอาจเป็นปัญหาส่วนหนึ่งที่การประชาสัมพันธ์กฎหมาย หรือการให้ความรู้กับผู้บังคับใช้กฎหมายที่ยังไม่เพียงพอ และที่สำคัญคือการออกกฎหมายใหม่นี้ยังไม่ได้มีกฎหมายลูกเพื่อออกมารองรับระเบียบหรือแนวทางปฏิบัติในเรื่องต่างๆ เลยเกิดความสับสนในหมู่คนบังคับใช้กฎหมายว่าควรจะดำเนินการบางเรื่องต่อไปอย่างไรกันแน่ ซึ่งจริงๆ ตรงนี้ไม่ใช่ว่าเป็นข้อเสียของกฎหมาย แต่เป็นแค่ความสับสนที่เกิดขึ้นในช่วงเปลี่ยนผ่าน ถึงอย่างไรกฎหมายนี้ก็ให้ประโยชน์มากกว่า

ดูเหมือนการไม่มีกฎหมายลูกจะเป็นปัญหาใหญ่ของการบังคับใช้กฎหมายตอนนี้ การไม่มีกฎหมายลูกสร้างความสับสนให้กับคนทำงานอย่างไร และปัญหาอะไรที่ทำให้กฎหมายยาเสพติดฉบับใหม่นี้ยังไม่มีกฎหมายลูกออกมารองรับเหมือนกฎหมายอื่นทั่วไป

ตามปกติแล้วการที่กฎหมายใหม่ถูกบังคับใช้ออกมา ต้องมีกฎหมายลูกออกมารองรับหลักเกณฑ์การปฏิบัติด้วยในทันที เราก็จะรู้ได้ว่าในมาตรานี้ เราต้องปฏิบัติตามประกาศฉบับนี้อย่างไรบ้าง แต่ด้วยความที่กฎหมายยาเสพติดฉบับใหม่นี้ผ่านสภามาแบบที่เราไม่คิดว่าจะผ่านมาเร็วขนาดนี้ เพราะปกติแล้วขั้นตอนของการผ่านกฎหมายค่อนข้างจะช้า ดังนั้นในเมื่อยังไม่มีกฎหมายลูก แต่มีเพียงการเขียนกว้างๆ ไว้ในตัวประมวลกฎหมายว่าจะมีหลักเกณฑ์ออกมาบังคับใช้ตามในภายหลัง มันเลยทำให้เกิดความสับสนอยู่ในตอนนี้ ไม่ว่าจะในประเด็นการส่งผู้เสพไปบำบัดรักษาที่สถานพยาบาล การตั้งสมมติฐานความผิด[1] หรือการริบทรัพย์สินของกลางที่เกี่ยวข้องกับการกระทำความผิดร้ายแรงเกี่ยวกับยาเสพติด เป็นต้น

เนื่องจากกฎหมายฉบับนี้ให้ความสำคัญมากกับการมองผู้เสพเป็นผู้ป่วย เน้นให้ผู้ทำผิดเข้าสู่กระบวนการบำบัดรักษาเป็นทางเลือกแทนการลงโทษ แต่คุณบอกว่าแนวปฏิบัติเรื่องนี้ยังไม่ชัดเจน เพราะยังไม่มีกฎหมายลูก ถ้าอย่างนั้นตลอดเวลาของการบังคับใช้กฎหมายที่ผ่านมา เจตนารมณ์นี้ได้รับการตอบโจทย์หรือเปล่า หรือพูดอีกอย่างคือการนำผู้เสพไปบำบัดรักษาเกิดขึ้นจริงในทางปฏิบัติไหม

มันมีอยู่ 2 กรณี กรณีแรกคือผู้เสพเดินเข้าไปสารภาพกับตำรวจ ซึ่งต้องใช้มาตรา 113 ของประมวลกฎหมายยาเสพติด ในกรณีนี้ตำรวจต้องส่งบำบัดรักษาอย่างเดียว ไม่สามารถใช้ดุลยพินิจพิจารณาแนวทางอื่นอย่างการดำเนินคดี แต่ปัญหาคือตอนนี้ยังไม่มีศูนย์ในการบำบัดรักษาหรือสถานพยาบาลมารองรับ เมื่อเป็นเช่นนี้ คำถามคือแล้วตำรวจจะส่งตัวคนติดยาไปบำบัดที่ไหน เพราะฉะนั้นสิ่งที่ตำรวจทำตอนนี้จึงเป็นการต้องไปขอความร่วมมือจากสถานพยาบาลให้ทำการบำบัดรักษาให้ ไม่ว่าจะเป็นโรงพยาบาล โรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบล (รพ.สต.) หรือใช้ศูนย์ฟื้นฟูเก่าที่มีอยู่เดิม หรืออาจเป็นสถาบันบำบัดฯ เช่น ธัญญารักษ์ ให้รับไปดูแล

แต่ถ้าเป็นอีกกรณีคือมาตรา 114 ตำรวจเป็นผู้จับได้เองว่าคนๆ นี้เป็นผู้เสพยาเสพติด เช่น จากการตรวจปัสสาวะ พอตรวจเจอก็เท่ากับว่ามีความผิดข้อหาเสพ ตำรวจก็ต้องถามต่อว่าผู้เสพสมัครใจบำบัดไหม ถ้าสมัครใจ ก็จะถูกส่งไปบำบัด ซึ่งก็ย้อนกลับไปเหมือนมาตรา 113 แต่ถ้าไม่สมัครใจบำบัดหรือไม่เข้าเงื่อนไขที่จะบำบัดได้ เช่น กำลังเป็นผู้ต้องขังหรือต้องรับโทษในคดีอื่นอยู่ หรืออาจมีพฤติการณ์ที่ไม่สมควรจะได้เข้าสู่การบำบัดรักษา ตำรวจก็จะใช้ดุลยพินิจในการฟ้องศาล แล้วพอเรื่องไปสู่ศาล ศาลก็จะมีสิทธิใช้ดุลยพินิจถามผู้ทำผิดว่าจะสมัครใจบำบัดไหม ถ้าไม่ ก็จะถูกส่งไปดำเนินคดี แต่ถ้าสมัครใจ ศาลก็จะมีคำสั่งให้ไปบำบัด ซึ่งต้องบอกว่าการมีคำสั่งจากศาลให้บำบัด ทำให้ศูนย์หรือโรงพยาบาลต่างๆ รับผู้ทำผิดไปบำบัดง่ายกว่าการที่ตำรวจร้องขอ

เพราะฉะนั้นถ้าให้สรุป ปัญหาที่เกิดขึ้นคือ แม้กฎหมายในเรื่องการบำบัดรักษาผู้ติดยาจะมีแล้วก็จริง แต่ยังไม่มีการออกระเบียบรองรับ และยังไม่มีสถานบำบัดรักษา รวมทั้งยังไม่มีศูนย์คัดกรองด้วย โดยในเรื่องศูนย์คัดกรอง ตอนนี้เขาให้ใช้ศูนย์ฟื้นฟูที่มีอยู่เก่าทดแทนไปก่อน แต่ก็ยังมีความติดขัดอยู่ ซึ่งข้อจำกัดงบประมาณก็เป็นอีกปัญหาหนึ่ง  

นอกจากเรื่องการบำบัดรักษา อีกประเด็นที่สำคัญคือแนวทางการฟ้องและดำเนินคดีกับผู้ทำผิด ซึ่งกฎหมายใหม่เปลี่ยนแปลงไปพอสมควร เช่น ประเด็นการตั้งข้อสันนิษฐานความผิด หรือการกำหนดโทษให้ได้สัดส่วนกับความหนักเบาของความผิดมากขึ้น ตลอด 8 เดือนที่ผ่านมา การบังคับใช้กฎหมายในส่วนนี้เป็นอย่างไร ตอบเจตนารมณ์กฎหมายไหม

ในเรื่องบทสันนิษฐานของตัวบทกฎหมายเดิม มันเหมือนว่าเราดูจากปริมาณสารบริสุทธิ์เป็นหลัก ไม่ว่าจะดูจากหน่วยการใช้หรือน้ำหนักสุทธิที่ผู้ต้องหามีในครอบครอง หากเกินเกณฑ์ก็จะถูกสันนิษฐานว่าครอบครองเพื่อจำหน่าย ซึ่งอย่างนี้จะง่ายต่อตำรวจ คือเมื่อตำรวจตรวจเจอแล้ววัดปริมาณเสร็จก็สามารถจับกุมและตั้งข้อหาได้เลย

แต่ในกฎหมายยาเสพติดใหม่ไม่มีข้อสันนิษฐานครอบครองเพื่อจำหน่ายอีกต่อไปแล้ว ดังนั้นถ้าตำรวจจะทราบว่าผู้ครอบครองยาครอบครองเพื่อจำหน่ายหรือเปล่า ตำรวจก็ต้องหาพยานหลักฐานมาพิสูจน์ ซึ่งมันก็ยากขึ้นสำหรับตำรวจ เพราะในฝั่งผู้ต้องหาก็คงยากที่จะสารภาพตรงๆ ว่าตนเป็นคนค้ายา แล้วหลักฐานก็พิสูจน์ได้ยาก เช่น เขาอาจใช้ซิมการ์ดเถื่อนที่ไม่ได้จดทะเบียนเป็นชื่อตัวเอง หรือบัญชีธนาคารที่ใช้ก็อาจเป็นบัญชีม้า (การใช้บัญชีของคนอื่นเป็นช่องทางในการรับเงิน เพื่อไม่ให้มีหลักฐานเชื่อมโยงมาถึงตัว) ดังนั้นเมื่อพยานหลักฐานเป็นที่พิสูจน์ได้ยากมากและบทสันนิษฐานครอบครองเพื่อจำหน่ายก็ถูกยกเลิกไปแล้ว ผู้ต้องหาก็จะรับโทษแค่ระดับหนึ่ง เช่น ถ้าครอบครองยาเสพติดให้โทษประเภทที่ 1 ก็จะรับโทษตามมาตรา 145 วรรค 1 คือจำคุกไม่เกิน 15 ปี และปรับไม่เกิน 1,500,000 บาท แต่ถ้ามีพยานหลักฐานพิสูจน์ได้ว่าครอบครองยาเสพติดอันเป็นการกระทำเพื่อการค้าหรือเหตุฉกรรจ์อื่นๆ ก็จะต้องใช้วรรค 2 ของมาตรา 145 คือจำคุกตั้งแต่ 2-20 ปี

เพราะฉะนั้นถ้ามองในมุมตำรวจ กฎหมายใหม่ทำให้ตำรวจต้องทำงานรอบคอบมากขึ้นในการแสวงหาพยานหลักฐานเพื่อพิสูจน์การกระทำความผิดของผู้ต้องหา แต่ถ้ามองในมุมผู้ต้องหา มันยุติธรรมต่อเขามากขึ้น เพราะก่อนหน้านี้มันอาจดูเหมือนว่าตำรวจไม่ต้องทำอะไร สามารถตั้งข้อหาครอบครองเพื่อจำหน่ายได้เลย บางคนอาจจะไม่ได้รู้อิโหน่อิเหน่อะไร แต่มีคนเอาของมาฝากไว้โดยไม่รู้ว่าข้างในคือยาเสพติด แล้วพอโดนจับก็โดนข้อหาครอบครองเพื่อจำหน่ายเลย โดยไม่ได้รับการพิสูจน์ใดๆ เหมือนโดนใช้ข้อสันนิษฐานมาปิดปาก มันจึงไม่แฟร์กับเขา

ส่วนในมุมอัยการ ถ้าเป็นกฎหมายเดิม สมมติว่ากรณีที่คนครอบครองยาบ้า 100,000 เม็ด เราสามารถสั่งฟ้องคนครอบครองยาเสพติดได้เลยโดยตั้งสมมติฐานว่าครอบครองเพื่อจำหน่าย แต่พอเป็นกฎหมายใหม่ มันต้องมาพิสูจน์ว่าคนครอบครองนี้ทำผิดเข้าเหตุฉกรรจ์หรือเปล่า ซึ่งถ้าตำรวจสั่งฟ้องมาทางอัยการโดยไม่มีพยานหลักฐานอื่นประกอบ อัยการก็สืบไม่ได้ เพราะฉะนั้นศาลจะใช้ได้แค่วรรค 1 ของมาตรา 145 ในการลงโทษอย่างเดียว เนื่องจากศาลสามารถใช้ดุลยพินิจลงโทษได้แค่เฉพาะเท่าที่อัยการสามารถสืบถึงเท่านั้น กล่าวได้ว่าอัยการกับศาลก็มีหน้าที่ต้องพิสูจน์พยานหลักฐานเพื่อให้เข้ากับเหตุฉกรรจ์ที่กำหนดไว้ในตัวบทมาตรามากขึ้น ต่างจากเดิมที่ใช้ประโยชน์จากข้อสันนิษฐานของกฎหมาย

แล้วในเมื่อกฎหมายลูกที่รองรับประเด็นนี้ยังไม่ได้ถูกบังคับใช้ มันเกิดปัญหาในการนำกฎหมายตรงนี้ไปบังคับใช้จริงหรือไม่

มันมีปัญหาในเรื่องข้อสันนิษฐานการครอบครองเพื่อเสพ เนื่องจากตอนนี้กฎกระทรวงเกี่ยวกับเรื่องนี้ยังไม่บังคับใช้ ยังคงเป็นแค่ร่างอยู่ ในเมื่อกฎกระทรวงที่เป็นกฎหมายลูกยังไม่บังคับใช้ ดังนั้นกฎหมายใหม่คือมาตรา 107 วรรค 2 ของกฎหมายยาเสพติดฉบับใหม่ที่ว่าด้วยข้อสันนิษฐานการครอบครองเพื่อเสพ จึงยังไม่สามารถนำไปใช้ได้

ข้อสันนิษฐานครอบครองเพื่อเสพจะกลับกันกับครอบครองเพื่อจำหน่าย ถ้าเป็นครอบครองเพื่อจำหน่ายตามกฎหมายเดิม คือการกำหนดเพดานขั้นต่ำว่าถ้าคุณครอบครองยาเสพติดเกินปริมาณที่กำหนดไว้ ก็สันนิษฐานว่าครอบครองเพื่อจำหน่าย แต่พอเป็นครอบครองเพื่อเสพคือการกำหนดเพดานขั้นสูง คือถ้าครอบครองไม่เกินปริมาณที่กำหนดไว้ ก็สันนิษฐานว่าครอบครองเพื่อเสพ แต่ในเมื่อร่างกฎกระทรวงเรื่องนี้ยังไม่ออกมาบังคับใช้ จึงเกิดความลักลั่น

สมมติร่างกฎกระทรวงเบื้องต้นบอกว่าการครอบครองแอมเฟตามีน (ยาบ้า) ไม่เกิน 15 หน่วยการใช้ ให้สันนิษฐานว่าครอบครองเพื่อเสพ ดังนั้นถ้าตำรวจไปจับคนที่มียาบ้า 10 เม็ดแล้วฟ้องว่าครอบครองเพื่อเสพเลย ก็ยังทำไม่ได้ ถ้าผู้ครอบครองยาไม่ได้มีพฤติการณ์อื่นประกอบ พฤติการณ์ที่ว่านั้นก็อย่างเช่นการมีใบรับรองแพทย์ว่าเป็นผู้ติดยาเรื้อรัง หรือการถูกตรวจพบว่าปัสสาวะมีสีม่วง ถ้าพบอย่างนั้นถึงจะบอกได้ว่าครอบครองเพื่อเสพ พูดอีกอย่างคือการสันนิษฐานว่าครอบครองเพื่อเสพในตอนนี้ที่ยังไม่มีกฎหมายลูก ต้องมีพฤติการณ์ที่เป็นข้อเท็จจริงประกอบด้วยเสมอ ถ้าไม่มี ก็บอกเช่นนั้นไม่ได้ มันต้องถือว่าเป็นการครอบครองโดยไม่ได้รับอนุญาต ซึ่งมีโทษต่างกัน คือครอบครองเพื่อเสพมีโทษจำคุกไม่เกิน 2 ปี แต่ครอบครองโดยไม่ได้รับอนุญาตมีโทษจำคุกไม่เกิน 15 ปี จะเห็นได้เลยว่าประเด็นนี้ยังเป็นปัญหาอยู่ ด้วยว่ากฎกระทรวงยังไม่ออกมา

ภูวิชชชญา เหลืองธีรกุล อัยการจังหวัดประจำสำนักงานอัยการสูงสุด

แล้วสำหรับคนที่ทำผิดแบบฉกรรจ์ อย่างคนที่เป็นหัวหน้าหรือผู้สั่งการในเครือข่ายการค้ายาเสพติด กฎหมายนี้ตอบเจตนารมณ์ที่ต้องการมุ่งเน้นจัดการคนกลุ่มนี้หรือเปล่า

กฎหมายยาเสพติดใหม่เน้นหนักในการจัดการกลุ่มเครือข่ายที่กระทำผิดในระดับสั่งการหรือในระดับที่เป็นหัวหน้า ซึ่งที่จริงประเทศไทยเองอาจจะหาตัวคนกลุ่มนี้ยาก เพราะส่วนมากยาเสพติดมาจากต่างประเทศ ส่วนใหญ่การดำเนินคดีที่พบคือจะดำเนินคดีไปถึงคนระดับสั่งการหรือคนที่เป็นหัวหน้าคุมงานขนส่งยาเสพติดได้ แล้วเราต้องเข้าใจอย่างหนึ่งว่าคนระดับสั่งการไม่ครอบครองยาเสพติดด้วยตนเอง ดังนั้นเราจะไม่มีทางเจอเขาพร้อมกับของกลางที่เป็นยาเสพติด กฎหมายยาเสพติดใหม่จึงมีเครื่องมือที่จะขยายผลไปสู่เครือข่ายกลุ่มใหญ่ คือบทบัญญัติเรื่องความผิดฐานให้การสนับสนุนและฐานการสมคบ ตามมาตรา 125 และ 127 ซึ่งทำให้คนทำผิดในระดับหัวหน้าหรือสั่งการได้รับโทษเช่นเดียวกับคนทำผิดที่เราจับได้พร้อมของกลาง ต่อให้จะอยู่นอกราชอาณาจักร เราก็เอามาลงโทษในความผิดนี้ได้

ในส่วนความผิดฐานสมคบ อีกประเด็นสำคัญก็คือการริบทรัพย์สิน ถ้าการกระทำความผิดเป็นความผิดร้ายแรงเกี่ยวกับยาเสพติด ซึ่งในกฎหมายเดิมมีการริบทรัพย์แบบเดียวหรือเป็นกรณีการริบทรัพย์สินแบบเฉพาะเจาะจง เช่น คนทำผิดมีรถคันหนึ่งที่ได้มาจากการค้ายา ตำรวจก็สามารถริบรถคันนี้ได้ ซึ่งการริบทรัพย์นี้จะผูกกับผลของคำพิพากษาในคดีอาญา สมมติตำรวจพิสูจน์ไม่ได้ว่าเราค้ายาจริงหรือเปล่า แต่พิสูจน์ได้แค่ว่ารถคันนี้ได้มาจากการค้ายา เมื่อคดีถูกศาลยกฟ้อง ก็เท่ากับว่าต้องปล่อยรถคันนี้ไปเลย แต่กฎหมายยาเสพติดใหม่ขยายเรื่องการริบทรัพย์มากขึ้น คือเราไม่ต้องสนใจผลของคดี แค่พิสูจน์ได้ว่าทรัพย์นั้นเป็นทรัพย์ที่ได้มาจากการกระทำความผิดร้ายแรงเกี่ยวกับยาเสพติด หรือโอนกันไปกี่ทอดก็ตาม ก็สามารถตามกลับมาได้หมด เพื่อให้พนักงานอัยการยื่นคำร้องขอริบทรัพย์

และอีกอย่างหนึ่งคือกฎหมายใหม่มีรูปแบบของการริบทรัพย์มากกว่าการริบทรัพย์เฉพาะเจาะจง คือมีการริบทรัพย์ทดแทนและริบทรัพย์ตามมูลค่า ยกตัวอย่างง่ายๆ สมมติคนเอาเงินที่ได้จากการค้ายาไปซื้อรถมาในราคา 1,300,000 บาท แต่ตอนถูกจับแล้วถูกริบรถมา รถคันนี้ขายทอดตลาดได้แค่ 500,000 บาท ซึ่งเจ้าหน้าที่ก็สามารถริบได้แค่นั้น โดยที่มูลค่าหายไป 800,000 บาท คือเราไม่สามารถไปยุ่งกับเงินอื่นๆ ที่เขาได้มาโดยสุจริตไม่ได้เลย ริบได้เฉพาะสิ่งที่มาจากการค้ายาอย่างเดียว แต่พอเป็นกฎหมายใหม่ เจ้าหน้าที่สามารถริบทรัพย์สินอื่นๆ ของคนทำผิดเพื่อทดแทนมูลค่า 800,000 บาทที่หายไปได้ ไม่ว่าจะเป็นทรัพย์สินที่ได้มาจากเงินเดือนจากการทำงานโดยสุจริต ได้จากมรดก ได้จากการถูกหวย หรืออะไรก็ตาม

เจตนารมณ์ของกฎหมายฉบับนี้คือการตัดวงจรทางการเงินของคนค้ายาเสพติด เพราะเขามองว่าคนค้ายาเสพติดไม่กลัวเรื่องการถูกจำคุก พอลูกน้องโดนจับไป ก็เปลี่ยนเอาลูกน้องกลุ่มใหม่มาทำแทน ส่วนตัวคนสั่งการไม่โดนอะไรแล้วยังได้เงินอยู่เรื่อยๆ ในมูลค่าที่มหาศาล กฎหมายจึงมีเจตนาในการเพิ่มมาตรการริบทรัพย์เพื่อปราบปรามผู้กระทำผิดเกี่ยวกับยาเสพติดได้มากขึ้น

ที่ผ่านมาเจอปัญหาในการบังคับใช้กฎหมายใหม่กับผู้ทำผิดในกลุ่มนี้บ้างหรือเปล่า โดยเฉพาะในประเด็นการริบทรัพย์บางอย่างที่คุณเกริ่นไว้ว่ายังไม่มีกฎหมายลูกรองรับ

ณ ตอนนี้ยังไม่มี คือในการริบทรัพย์ ทาง ป.ป.ส. (คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามยาเสพติด) ต้องทำการประเมินราคาทรัพย์สินที่ยึดมา ว่ายึดอะไรมาบ้าง มีมูลค่าเท่าไหร่ ทดแทนเท่าไหร่ จากนั้นก็ทำสำนวนส่งให้อัยการฟ้องริบทรัพย์ แต่ตอนนี้ยังไม่มีการดำเนินคดียึดทรัพย์ในรูปแบบตามกฎหมายใหม่เลย คิดว่าเป็นเพราะยังอยู่ในช่วงรอยต่อในการปฏิบัติใช้กฎหมายใหม่ โดยคดีเก่าๆ ก่อนหน้านี้มีคำสั่งตรวจสอบทรัพย์สินตามกฎหมายเก่าไปหมดแล้ว

แต่ส่วนที่มีความสับสนคือการริบทรัพย์ของกลางอย่างพวกยาเสพติด หรือทรัพย์ที่ใช้ในการกระทำความผิด ซึ่งตามกฎหมายเดิมให้ริบทรัพย์ส่วนนี้เข้ากองทุน ป.ป.ส. ได้ แต่กฎหมายใหม่ยกเลิกไปแล้ว กลายเป็นว่าต้องยึดเข้าหลวงหมด แล้วปัญหาที่เกิดขึ้นตอนนี้ก็คือจะทำอย่างไรกับของกลางในคดีที่ค้างอยู่เก่า เพราะพระราชบัญญัติให้ใช้ประมวลกฎหมายยาเสพติด พ.ศ. 2564 ไม่ได้บัญญัติเกี่ยวกับเรื่องการรับของกลางตามกฎหมายเก่าที่จะใช้เป็นแนวทางได้

พูดถึงกรณีการบังคับใช้กฎหมายโดยตำรวจกับอัยการไปพอสมควรแล้ว แล้วในฝั่งศาล ซึ่งกฎหมายใหม่เปิดให้ใช้ดุลยพินิจในการพิจารณาคดีได้กว้างขวางขึ้น ในทางปฏิบัติจะทำให้เราได้เห็นการพิจารณาความผิดของผู้ทำผิดแต่ละคนอย่างสมเหตุสมผลตามการกระทำมากขึ้นจริงหรือไม่

ถ้าว่าตามจริง การใช้ดุลยพินิจของศาลในการกำหนดพฤติการณ์ในการกระทำความผิดหรือความร้ายแรงในการกระทำความผิดตามมาตรา 152 วรรค 2 ถือเป็นเรื่องที่ดี เพราะให้อำนาจศาลในการใช้ดุลยพินิจในการกำหนดโทษได้

ตามมาตรา 152 ของกฎหมายใหม่ที่ศาลก็สามารถใช้ดุลยพินิจกำหนดความร้ายแรงของการกระทำความผิดแต่ละกรณี โดยพิจารณาจากฐานะทางเศรษฐกิจและพฤติการณ์ที่เกี่ยวข้องเฉพาะรายได้ นอกจากนี้ในมาตรา 145 วรรค 3 เองก็บอกว่า ถ้าคนที่กระทำความผิดอยู่ในลักษณะที่เป็นหัวหน้าหรือผู้สั่งการ ก็ต้องรับโทษหนักกว่าคนที่เป็นลูกน้อง คือถ้าเป็นหัวหน้ามีโทษสูงสุดถึงประหารชีวิต แต่ถ้าเป็นลูกน้อง ก็จะถือว่ากระทำความผิดตามวรรค 2 ของมาตรา 145 รับโทษสูงสุดคือจำคุก 20 ปี ดังนั้นอัยการก็จะพิจารณาได้ว่าจะเลือกฟ้องผู้ทำผิดในฐานะหัวหน้าหรือลูกน้อง คือสามารถเลือกฟ้องเฉพาะในส่วนที่ตัวเขาเองเข้าร่วมทำผิด แล้วศาลก็จะใช้ดุลยพินิจกำหนดโทษของแต่ละคนที่ไม่เท่ากัน ดังนั้นถ้ามองมุมนี้ก็ถือว่าเหมาะสม ในแง่ที่ว่าใครทำผิดมากน้อยแค่ไหน ก็ควรต้องรับโทษเท่านั้น

ในช่วงการบังคับใช้กฎหมายใหม่ๆ เคยมีผู้เชี่ยวชาญตั้งข้อสังเกตว่าการเปิดให้ศาลใช้ดุลยพินิจได้กว้างขึ้น อีกด้านหนึ่งอาจเกิดปัญหาเรื่องมาตรฐานในการตัดสินที่ไม่เหมือนกันในผู้พิพากษาแต่ละคน ที่ผ่านมาได้เจอปัญหาตรงนี้หรือไม่

เท่าที่ทราบคือศาลมีคู่มือตุลาการในการกำหนดมาตรฐานขั้นต่ำในการพิพากษา เหมือนเขามีการอบรมกันว่าถ้าข้อเท็จจริงเป็นแบบนี้ ควรจะตัดสินเป็นแบบไหน ในศาลอาญาแผนกคดียาเสพติด เขาจะมีประเภทของคดีที่จะต้องปรึกษาหัวหน้าแผนกคดียาเสพติดก่อนที่จะพิพากษา ดังนั้นในกรณีที่มีการใช้ดุลยพินิจแบบนี้ มันค่อนข้างมีมาตรฐานพอสมควร 

   

ทราบว่าการออกกฎหมายใหม่นี้มีความตั้งใจอยู่อีกอย่างหนึ่งคือการลดจำนวนผู้ต้องขังในเรือนจำ ด้วยการใช้มาตรการอย่างการบำบัดรักษาหรือมาตรการทางเลือกอื่นแทนการคุมขังมากขึ้น เพราะที่ผ่านมาประเทศไทยมีปัญหาเรื่องเรือนจำแออัดจากผู้ต้องขังคดียาเสพติดที่มีสูง คุณมองว่าตั้งแต่การบังคับใช้กฎหมายใหม่นี้มา มันช่วยลดจำนวนผู้ต้องขังได้อย่างเห็นผลแล้วหรือยัง

มันลดได้ด้วย 2 เหตุผล อย่างแรกคือมันลดได้ตรงที่มีบทสันนิษฐานครอบครองเพื่อเสพ เพราะสามารถให้ผู้ทำผิดสมัครใจไปบำบัดรักษาได้ และอีกเหตุผลคือมันมีการปล่อยผู้ต้องหาจากคดีเดิมที่ได้ทำผิดตามกฎหมายเก่า เพราะพอกฎหมายใหม่กำหนดโทษน้อยลง นักโทษก็สามารถยื่นขอพิจารณากำหนดโทษใหม่ ซึ่งที่ผ่านมามีนักโทษจำนวนมากที่ยื่นขอเรื่องนี้ ทำให้ได้รับการปล่อยตัวเร็วขึ้น หรืออย่างตอนที่กัญชาถูกปลดล็อกออกจากการเป็นยาเสพติด ตอนนั้นก็มีนักโทษได้รับการปล่อยตัวออกมาจำนวนมาก

แปลว่าในแง่การระบายผู้ต้องขังออกจากเรือนจำถือว่าประสบความสำเร็จ?

มันประสบความสำเร็จในแง่การลดความหนาแน่นในเรือนจำ แต่อีกด้านคนทำความผิดใหม่ก็เยอะนะ เพราะพอโทษเบาลง คนก็กลัวความผิดน้อยลง ดังนั้นคนจึงสามารถกลับเข้าไปสู่การกระทำความผิดเกี่ยวกับยาเสพติดได้ง่ายขึ้น ถ้าถามว่ากฎหมายใหม่จะช่วยลดจำนวนนักโทษได้จริงไหม ส่วนตัวคิดว่ามันอาจได้ในช่วงแรกที่ผู้ต้องขังเดิมได้รับการปล่อยตัวออกมาจากการกำหนดโทษใหม่ แต่ในระยะยาวมันอาจมีคนกระทำความผิดมากขึ้นได้

ภูวิชชชญา เหลืองธีรกุล อัยการจังหวัดประจำสำนักงานอัยการสูงสุด

กฎหมายใหม่มีการเปิดช่องในการนำสารเสพติดไปใช้ประโยชน์ ไม่ว่าจะในทางการแพทย์ ทางการศึกษาวิจัย หรือทางเศรษฐกิจ มากขึ้นด้วย ประเด็นนี้ถือว่าประสบความสำเร็จหรือว่ามีข้อสังเกตอะไรไหม

มันยังมีประเด็นในเรื่องที่ว่าชาวบ้านอาจจะมีความรู้ความเข้าใจไม่ถูกต้องในเรื่องการนำสารเสพติดไปใช้ เช่น เรื่องกัญชาที่เป็นที่เข้าใจโดยทั่วไปว่าไม่ผิดแล้ว แต่เมื่อ 16 มิถุนายน 2565 มีประกาศกระทรวงสาธารณสุขออกมากำหนดว่ากัญชาเป็นพืชสมุนไพรควบคุม โดยให้ใช้กัญชาเฉพาะทางการแพทย์ กำหนดข้อห้ามไว้ว่า ห้ามสูบในที่สาธารณะ ห้ามใช้ในสตรีมีครรภ์หรือสตรีที่ให้นมบุตร และห้ามขายให้ผู้มีอายุต่ำกว่า 20 ปี รวมถึงห้ามขายให้สตรีมีครรภ์หรือสตรีที่ให้นมบุตร ซึ่งเรื่องเหล่านี้ชาวบ้านอาจไม่รู้

ประเด็นก็คือประกาศฉบับนี้ไม่ได้เป็นการใช้ตามประมวลกฎหมายยาเสพติด แต่ใช้ตาม พ.ร.บ. คุ้มครองและส่งเสริมภูมิปัญญาการแพทย์แผนไทย พ.ศ. 2542 ดังนั้นเมื่อประมวลกฎหมายหลักบอกว่ากัญชาไม่ผิด แล้วมีการประกาศออกไปกว้างขวางว่ากัญชาเสรีแล้ว แต่ประกาศที่ใช้ตามกฎหมายอีกตัวหนึ่งมีการกำหนดข้อห้ามออกมา ดังนั้นถ้าไม่ได้อยู่ในแวดวงของกฎหมาย ก็คงมีน้อยคนที่จะรู้ว่ามีประกาศฉบับนี้อยู่ ซึ่งก็เสี่ยงมากที่ชาวบ้านจะทำผิดโดยไม่รู้ตัว คือไม่ผิดในกฎหมายยาเสพติดก็จริงอยู่ แต่กลับไปผิดใน พ.ร.บ. อีกตัวหนึ่ง ตามจริงแล้วถ้าอยากออกข้อห้ามหรือข้อจำกัด ส่วนตัวคิดว่าควรจะใช้ประมวลกฎหมายยาเสพติดเลยมากกว่า

นอกจากกัญชาแล้ว สารเสพติดตัวอื่นมีปัญหาลักษณะนี้ไหม

สารเสพติดตัวอื่นยังไม่มีปัญหา เพราะว่าตอนนี้ประมวลกฎหมายยาเสพติดให้ใช้ประกาศตัวเก่าของกฎหมายฉบับเก่าในเรื่องสารเสพติดทั้งหมด ซึ่งมีแค่ตัวเดียวที่เพิ่งประกาศยกเลิกออกมาก็คือกัญชา เรามี พ.ร.บ. ให้ใช้ประมวลกฎหมายยาเสพติดมาตรา 8 เป็นตัวเชื่อมให้เราสามารถเอาข้อกฎหมายเก่าไปใช้ได้ก่อน ดังนั้นแนวปฏิบัติเดิมก็ยังคงใช้เหมือนเดิมอยู่

ในการบังคับใช้กฎหมายยาเสพติดใหม่ สิ่งหนึ่งที่คนกังวลกันไม่น้อยคือทัศนคติของผู้บังคับใช้กฎหมายจะปรับตัวสอดรับกับแนวปฏิบัติของกฎหมายใหม่ที่เปลี่ยนแปลงไปจากเดิมได้หรือไม่ และต้องยอมรับว่าทัศนคติของผู้บังคับใช้กฎหมายถือว่าเป็นกุญแจสำคัญมาก ที่ผ่านมาได้เกิดปัญหาในเรื่องนี้บ้างไหม

เจ้าหน้าที่ผู้บังคับใช้กฎหมายไม่มีทางหลีกเลี่ยงการใช้กฎหมายฉบับใหม่ได้ แต่แค่ว่าเขาอาจจะยังเกิดความไม่เข้าใจหรือเคยชินในการใช้กฎหมายเก่าอยู่ แต่พอถึงเวลาในความเป็นจริง มันจะมีระบบกลั่นกรองให้เขาต้องทำตามไปในที่สุดเอง อย่างที่ผ่านมาก็เคยมีกรณีที่ว่าแจ้งข้อหาตามกฎหมายเก่ามาให้เราอยู่ เราก็ถามกลับไปว่าทำไมถึงแจ้งข้อหาเก่ามา เขาก็บอกว่าผมยังไม่รู้ว่าจะแจ้งข้อหาอะไร เราก็ต้องช่วยอธิบายเขากลับไป

ส่วนตัวคุณเอง ในฐานะที่เป็นอัยการ คุณว่าแนวทางการทำงานของอัยการในคดียาเสพติดเปลี่ยนไปมากขนาดไหนจากการใช้กฎหมายฉบับใหม่

จริงๆ มองว่าไม่ได้เปลี่ยนมาก แค่ว่าเรามีหน้าที่ในการปรับบทกฎหมายให้ตรงกับข้อมูลหรือคำฟ้องที่เราจะฟ้องต่อศาล โดยที่เราอาจต้องมีการตรวจสอบพยานหลักฐานในชั้นสอบสวนมากขึ้นว่ามันตรงและเข้าเหตุฉกรรจ์เรื่องไหน เข้าวรรคไหนหรือมาตราไหนของประมวลกฎหมายยาเสพติดบ้าง แต่เราไม่ได้มีปัญหาถึงขั้นร่างฟ้องไม่ได้ เพียงแต่เราอาจต้องมีหน้าที่การบรรยายข้อเท็จจริงหรือพฤติการณ์ในการกระทำความผิดลงไปในคำฟ้องมากขึ้น ต่างจากกฎหมายเดิมที่ใช้แค่ข้อสันนิษฐานอย่างเดียว

อีกเรื่องหนึ่งก็คือเรื่องอำนาจการแจ้งข้อหาในส่วนที่เป็นความผิดฐานสมคบกับสนับสนุน คือก่อนหน้านี้เป็นอำนาจของเลขาธิการ ป.ป.ส. เพียงอย่างเดียว แต่ตอนนี้มันมีการเพิ่มอำนาจของอัยการขึ้นมาว่า ภายหลังจากที่อัยการรับสำนวนแล้ว อัยการมีสิทธิอนุมัติในการแจ้งข้อหาได้เอง ดังนั้นมันก็จะมีปัญหาในช่วงแรกเกี่ยวกับแนวปฏิบัติการอนุมัติแจ้งข้อหาโดยอำนาจของพนักงานอัยการ

โดยเฉพาะสำหรับอัยการบางท่านที่อาจจะไม่ได้รับผิดชอบหรือคุ้นชินกับการทำคดีในแผนกยาเสพติดมาต่อเนื่อง อาจมีความงุนงงว่าต้องใช้ดุลยพินิจได้มากน้อยแค่ไหนในการอนุมัติแจ้งข้อหา เพราะอัยการไม่เคยมีอำนาจส่วนนี้มาก่อน

นับจากนี้ คุณคาดหวังจะได้เห็นอะไรในการใช้กฎหมายยาเสพติดฉบับใหม่นี้

ณ ตอนนี้หวังแค่อยากให้กฎหมายลูกออกมา มันจะได้เกิดความชัดเจนในการปฏิบัติงานของทุกภาคส่วน ส่วนประเด็นเรื่องการลดโทษหรืออะไรต่างๆ มันไม่ใช่ไม่ดีนะ เราว่ามันดีอย่างที่บอกไป แต่ตอนนี้ในเมื่อกฎหมายยังใหม่ จากที่เราใช้กฎหมายฉบับเดิมมาถึง 40 ปี เราก็ควรเร่งออกกฎหมายลูกเพื่อให้มีแนวปฏิบัติชัดเจนยิ่งขึ้น พวกเราในฐานะผู้บังคับใช้กฎหมายพร้อมที่จะปฏิบัติตามอยู่แล้ว แต่แค่ต้องมีแนวทางให้เราชัดเจน เราจะได้ปฏิบัติได้อย่างถูกต้อง เพราะตอนนี้มันเหมือนมีช่องว่างของกฎหมายที่อาจก่อให้เกิดปัญหาในทางปฏิบัติสำหรับผู้บังคับใช้กฎหมาย



[1] เมื่อวันที่ 9 สิงหาคม 2565 คณะรัฐมนตรีมีมติเห็นชอบในหลักการร่างกฎกระทรวงว่าด้วยการกำหนดปริมาณยาเสพติดให้โทษในประเภท 1 ประเภท 2 หรือประเภท 5 หรือวัตถุออกฤทธิ์ในประเภท 1 หรือประเภท 2 ที่ให้สันนิษฐานไว้ก่อนว่ามีไว้ในครอบครองเพื่อเสพ พ.ศ. …. ซึ่งยังเป็นเพียงขั้นตอนหนึ่งในกระบวนการการออกกฎกระทรวงเท่านั้น โดยยังต้องรอการลงมติเห็นชอบร่างกฎกระทรวงจากคณะรัฐมนตรี ก่อนจะประกาศลงในราชกิจจานุเบกษา อันยืนยันถึงการมีผลบังคับใช้ต่อไป


ผลงานชิ้นนี้เป็นความร่วมมือระหว่างสถาบันเพื่อการยุติธรรมแห่งประเทศไทย (องค์การมหาชน) (TIJ) และ The101.world

MOST READ

Social Issues

9 Oct 2023

เด็กจุฬาฯ รวยกว่าคนทั้งประเทศจริงไหม?

ร่วมหาคำตอบจากคำพูดที่ว่า “เด็กจุฬาฯ เป็นเด็กบ้านรวย” ผ่านแบบสำรวจฐานะทางเศรษฐกิจ สังคม และความเหลื่อมล้ำ ในนิสิตจุฬาฯ ปี 1 ปีการศึกษา 2566

เนติวิทย์ โชติภัทร์ไพศาล

9 Oct 2023

Social Issues

5 Jan 2023

คู่มือ ‘ขายวิญญาณ’ เพื่อตำแหน่งวิชาการในมหาวิทยาลัย

สมชาย ปรีชาศิลปกุล เขียนถึง 4 ประเด็นที่พึงตระหนักของผู้ขอตำแหน่งวิชาการ จากประสบการณ์มากกว่าทศวรรษในกระบวนการขอตำแหน่งทางวิชาการในสถาบันการศึกษา

สมชาย ปรีชาศิลปกุล

5 Jan 2023

Social Issues

27 Aug 2018

เส้นทางที่เลือกไม่ได้ ของ ‘ผู้ชายขายตัว’

วรุตม์ พงศ์พิพัฒน์ พาไปสำรวจโลกของ ‘ผู้ชายขายบริการ’ ในย่านสีลมและพื้นที่ใกล้เคียง เปิดปูมหลังชีวิตของพนักงานบริการในร้านนวด ร้านคาราโอเกะ ไปจนถึงบาร์อะโกโก้ พร้อมตีแผ่แง่มุมลับๆ ที่ยากจะเข้าถึง

กองบรรณาธิการ

27 Aug 2018

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • Always Active

Save