fbpx

ทางทฤษฎี

คุณที่นับถือ


ผมเขียนจดหมายฉบับนี้มาเพราะมีเรื่องอยากขยายให้คุณฟัง และจะตอบคำถามที่คุณเขียนถามมาในจดหมายคราวก่อนด้วยเกี่ยวกับเรื่องทฤษฎีของตะวันตกในการศึกษาความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ และกระแสที่นิยมกันอยู่ในเวลานี้ คือ การหาทางขยายการศึกษาความสัมพันธ์ระหว่างประเทศออกจากสหรัฐอเมริกาและอังกฤษที่เป็นศูนย์กลางมายาวนานไปสู่แนวทางที่คุณเรียกว่าเป็น Global IR

ผมเห็นด้วยกับที่คุณเขียนมาเหมือนกัน และเคยบันทึกไว้บนเฟซบุ๊กว่าการเรียนความสัมพันธ์และความมั่นคงระหว่างประเทศที่เลบานอนหรือที่คิวบาหรือปานามาน่าจะมีโฟกัสของปัญหาที่ศึกษาไม่เหมือนกับที่เรียนกันอยู่ในประเทศไทย หรือ realism สำหรับมหาอำนาจในงานของ Mearsheimer เมื่อมาพิจารณาจากการดำเนินนโยบายของประเทศอำนาจจำกัดอย่างไทยแล้ว ข้อเสนอเกี่ยวกับการถ่วงดุลอำนาจแบบรุกอย่างที่ Mearsheimer สนับสนุนก็ไม่ได้เป็นทางคิดที่มีประโยชน์อะไรมากนักสำหรับการพิจารณาทางเลือกยุทธศาสตร์จัดดุลความสัมพันธ์ที่ไทยจะดำเนินกับมหาอำนาจใหญ่ที่กำลังขัดแย้งแข่งขันกันอยู่ในเวลานี้ offensive realism ของ Mearsheimer อาจใช้เป็นทางทำความเข้าใจการตอบโต้กันระหว่างมหาอำนาจในเวลานี้ได้ดีอยู่ แต่เมื่อมาถึงการตัดสินใจของไทยหรือของประเทศอาเซียนอื่น ต่อการเปลี่ยนแปลงในสภาพแวดล้อมระหว่างประเทศดังกล่าว เราต้องการ realism อีกแบบหนึ่ง ซึ่งหาพบได้ยากในงานของทฤษฎีฝ่ายอเมริกันที่สนใจมหาอำนาจ และการสร้างความรู้สำหรับการดำเนินยุทธศาสตร์โลกของสหรัฐอเมริกาเป็นส่วนใหญ่   

การขยายการศึกษาความสัมพันธ์ระหว่างประเทศเป็น Global IR เพื่อให้ทุกส่วนในโลกมีโอกาสรับฟังกัน และเสนอความรู้จากตำแหน่งแห่งที่ของตนเองเกี่ยวกับความสัมพันธ์ระหว่างประเทศที่ส่งผลกระทบถึงกันหมดจึงเป็นเรื่องน่าสนับสนุน อย่างไรก็ดี เมื่อผ่านสมัยใหม่มาจนเข้าศตวรรษที่ 21 แล้ว ผมไม่สู้จะแน่ใจที่จะบอกว่าทฤษฎีจากตะวันตกมีปัญหาในการทำความเข้าใจพื้นที่อื่นที่ไม่ถูกนับว่าเป็นตะวันตก และจีน อินโดนีเซีย อินเดียหรือบังคลาเทศไปจนถึงปาปัวนิวกินีจะต้องมีทฤษฎีแบบตะวันออกเพื่อสร้างความรู้เป็นของตัวเองอีกแบบหนึ่ง แน่นอนว่าในโลกที่เชื่อมหากันและส่งผลลัพธ์ผลกระทบถึงกันได้หมดนี้ รูปการณ์ในการรับผลกระทบในพื้นที่เหล่านั้นมีแตกต่างกันไป และสังคมแต่ละแห่งก็มีขีดความสามารถแตกต่างกันในการจัดการกับผลกระทบที่ส่งต่อถึงกัน แต่ความแตกต่างที่ว่ามิได้จำกัดอยู่แต่เฉพาะในความเป็นตะวันตกกับความอยู่นอกตะวันตกเท่านั้น ถ้าหากเห็นว่าความรู้จากฐานความเป็นตะวันตกมีข้อจำกัด ไม่ว่าตะวันตกนั้นจะหมายถึงอะไรก็ตาม ฐานความรู้ที่สร้างขึ้นมาโดยตั้งใจผละจากตะวันตก หรือมองตะวันตกเป็นฝ่ายตรงข้าม ก็คงมีข้อจำกัดอยู่ในตัวไม่น้อยไปกว่ากัน การที่เราอยากจะผละ-ผลักไสอะไรออกไปเพื่อสร้างสิ่งที่เป็นตรงข้ามมาต้าน ผมเห็นว่าสิ่งนั้นกลับจะเข้ามามีอิทธิพลต่อความคิดของเราได้มาก นอกจากนั้น ความหมกมุ่นที่จะปฏิเสธสิ่งหนึ่งออกไป มันยังจะกั้นเราไว้จากการเห็นความเป็นไปได้มากหลายในการมองความเป็นจริงที่อยู่ตรงหน้าในแบบอื่น ๆ

ผมชอบใจที่คุณว่าทฤษฎีมิได้มีไว้สำหรับเพียงแค่อธิบายสหสัมพันธ์ระหว่างตัวแปร หรือ regularities ที่พบในปรากฏการณ์ทางสังคม แต่ยังมีไว้เพื่อการก่อกวน เมื่อสาขาวิชาความสัมพันธ์ระหว่างประเทศยึดตะวันตก ยึดมหาอำนาจ ยึดรัฐเป็นศูนย์กลาง ก็ควรมีทฤษฎีที่จะมาก่อกวนฐานคิดแบบนี้ให้ปั่นป่วน หรือฉีกความเป็นปกติออกมาให้เห็นถึงความมือถือสากปากถือศีลหรือความวิปริตที่ซ่อนอยู่หลังฉากว่าเบื้องหลังความมั่งคั่งมหาศาลของประเทศเจ้าจักรวรรดิเคยมีอาชญากรรมอะไรบ้าง งานของฝ่ายแอฟริกาหรือจากฐานประสบการณ์ของตะวันออกกลางที่คุณยกตัวอย่างมานั้นเป็นงานวิพากษ์ที่น่าชมทีเดียว แต่ถ้าจะให้ผมยืมทางใช้ทฤษฎีของคุณมาเป็นเครื่องมือเพื่อการก่อกวนบ้าง ผมก็จะต้องบอกว่า การวิพากษ์ตะวันตกจากสายตาของแอฟริกาทำให้ผมต้องถามต่อไปว่า แล้วแอฟริกาและความเป็นแอฟริกาคืออะไรกันล่ะ ในความกว้างขวางมโหฬารของแอฟริกา เราจะมองหาแก่นแกนของแอฟริกาพบได้ที่ไหน ประสบการณ์ของแอฟริกาเมื่อวางลงในบริบทของการวิพากษ์ตะวันตกจะได้ความเข้าใจแอฟริกาแบบหนึ่งออกมาแตกต่างจากการมองโลกแบบ Eurocentric ของประเทศเจ้าจักรวรรดิแน่นอน แต่ถ้าเราพึ่งมัคคุเทศก์อย่าง Ayaan Hirsi Ali เจ้าของผลงาน Infidel หรือ Zanelle Muholi ผู้นำเสนอ Black queer และ trans resistance ผ่านภาพถ่ายที่ทรงพลัง เราก็จะพบกับความเป็นอยู่คือของประสบการณ์แอฟริกาและปัญหาของแอฟริกาอีกแบบหนึ่ง ที่ต่างออกไปอย่างมากจากการฉายแอฟริกาออกไปส่องมองตะวันตก

แต่ส่วนที่ว่าทางใช้ทฤษฎีเพื่อก่อกวนความคิดที่เป็นพื้นฐานการมองโลกแบบหนึ่งเพื่อให้เห็นปัญหาที่มีอยู่ในนั้น หรือเพื่อรื้อคิดการรักษาระเบียบทางสังคม-ระเบียบโลกอย่างที่เป็นอยู่ จะพาไปสู่ emancipation ได้อย่างที่ผู้เป็นเจ้าของทฤษฎีในกระแสนั้นหลายคนตั้งใจไว้หรือไม่ ผมอยู่ข้างที่ยังมองเห็นข้อจำกัดของมนุษย์ที่ไม่มีทางแก้หาย ในแง่นี้ ถ้าพิจารณาจากข้อโต้แย้งเก่าแก่ทางเทววิทยาระหว่าง Pelagius กับ Augustine เกี่ยวกับธรรมชาติและเจตจำนงของมนุษย์ในการแก้ข้อจำกัดของตัวเอง ผมสบายใจในการเห็นข้อบกพร่องในตัวมนุษย์ที่จะได้รับการไถ่และการอภัยถ้าหากมีศรัทธาของ Augustine มากกว่าการมุ่งสู่ความสมบูรณ์แบบที่เชื่อว่าเป็นไปได้และเราต้องรับผิดชอบตัวเราเองในเรื่องนี้ของ Pelagius แต่ในโลกเวลานี้ที่ศรัทธาถูกตั้งคำถามจากทุกหนแห่ง ผมจึงเคารพความหวังต่อมนุษย์ในแบบของคุณที่มาช่วยทำให้การตกอยู่ในสภาวะถูกจำกัดไว้โดยพันธนาการหรือโดยอำนาจที่เหนือกว่าตัวเราเป็นสิ่งที่พอจะอดทนยืนหยัดต่อไปได้จากความหวังถึงเป้าหมาย emancipation ในทางโลกที่มองเห็นได้แต่ไกลๆ อยู่เสมอ เพราะถึงเราไม่ตั้งเป้าหมายปลายทางที่จะปลดปล่อยตัวเราออกจากสภาวะไม่น่าพึงใจที่มนุษย์สร้างให้แก่กันและกัน คนอื่นก็จะเอาเป้าหมายมาตั้งให้เราและต้อนเราเข้าไปสู่เป้าหมายของเขาอยู่ดี  ผมเพียงแต่สงสัยในความสำเร็จเท่านั้นว่าจริงๆ แล้ว จะเป็นไปได้แค่ไหนในการจะพ้นไปจากข้อจำกัดที่เป็นปัญหาที่มนุษย์สร้างให้แก่กันในชีวิตทางสังคม ผมคิดว่าความสงสัยแบบนี้เป็นความสงสัยที่มีประโยชน์เหมือนกันต่อการตั้งคำถามเอากับเป้าหมายแบบ emancipation ที่ไม่ว่าเราจะเป็นคนตั้งมันขึ้นมาเอง หรือมีคนที่เป็นเจ้าของความคิดแบบนั้นบรรจุเป้าหมายนั้นเข้ามาในวิธีคิดของเราก็ตาม E. H. Carr เป็นคนบอกว่า ความคิดเกี่ยวกับการเมืองโลกแบบมีวุฒิภาวะเต็มที่จะไม่ทิ้ง realism ไปหา utopianism ขณะเดียวกันก็จะไม่ทิ้ง utopianism ไปหา realism แต่ควรรักษาทั้งคู่ไว้เป็นปฏิพากย์สำหรับสร้างอรรถวิภาษที่ยืน-แย้ง-ยันหรือผสานกันขึ้นไปทำความเข้าใจความจริงที่อยู่เหนือขึ้นไป ผมจึงเห็นว่าการเคารพเป้าหมาย emancipation ของทฤษฎีฝ่ายก่อกวนพร้อมไปกับการทัดวิจิกิจฉาต่อเป้าหมายแบบนั้นเพื่อตรวจสอบมันและตั้งคำถามและมีความเคลือบแคลงต่อมันพร้อมกันไปด้วย เป็นทางทฤษฎีที่ผมเห็นว่าน่าพอใจ

แล้วยิ่งถ้าหากเชื่อว่าการย้อนพินิจทบทวนความเชื่อของตัวเองมีผลดีต่อการเติบโตในทางพุทธิปัญญา ข้อดีของทางทฤษฎีแบบก่อกวนสำหรับผมแล้วก็คือการช่วยให้เรามองเห็นและรับรู้ขอบเขตข้อจำกัดที่ความรู้แต่ละฐานมีอยู่ในตัวของมันว่าอยู่ที่ไหน และน่าจะช่วยเราให้พ้นจากการถูกความรู้ชุดหนึ่งยึดกุมเอาไว้ได้ดีกว่าการแบ่งเขาแบ่งเรา แล้ววิพากษ์ว่าของเขาจำกัด ส่วนของเราสิแน่กว่าเหนือกว่า เพราะข้ามพ้นข้อจำกัดเหล่านั้นมาได้ อันนั้นเป็นเกมในงานเขียนสำหรับส่งไปลงวารสารวิชาการ ที่มีการตั้งป้อมค่ายตามสำนักทฤษฎีที่เป็นที่นิยมรับรองและแข่งขันกันอยู่ในการสร้างความรู้แต่ละยุคมากกว่า ดังจะเห็นว่าในช่วงเวลาหนึ่ง บางสำนักมีไว้เพื่อให้คนอ้างเอามาเหยียบสำหรับดีดตัวเองขึ้นไปอยู่เหนือกว่า อ้างกันจัง แต่อาจจะไม่ได้อ่านกันจริง เพราะสองสามประโยคที่สรุปความคิดของสำนักที่พากันเหยียบขึ้นไปนั้นบางทีก็เห็นชัดว่าเข้าใจได้ผิวเผินเหลือเกิน หรือไม่ก็เขียนแบบตั้งหุ่นฟางขึ้นมาเพื่อให้โจมตีได้ง่าย จะได้ลอยตัวขึ้นไปได้อย่างรวดเร็ว แต่จะลอยไปถึงไหนไม่รู้ได้

แต่เพื่อจะตอบคำถามที่คุณถามมาในจดหมาย ผมขอใช้เทคนิคของคุณเตช บุนนาค นักการทูตผู้เป็นที่เคารพ เวลาคุณเตชพบคำถามที่ตอบได้ไม่ถนัด ท่านจะบอกทำนองว่า ในเรื่องนี้ผมอยากจะตั้งประเด็นหรือตั้งคำถามอีกแบบหนึ่ง เช่นเดียวกัน ผมจะขอเปลี่ยนคำถามของคุณไปเล็กน้อย โดยเปลี่ยนมาถามว่า ในทฤษฎีความสัมพันธ์ระหว่างประเทศของฝ่ายตะวันตกโดยเฉพาะของพวกสังคมศาสตร์อเมริกันที่ผมคุ้นเคยมากกว่าเพื่อนนั้น มีส่วนไหนที่ผมเห็นว่าไม่สู้จะน่าพอใจในการนำมาใช้ทำความเข้าใจปัญหาความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ ไม่ว่าที่ไหน

แต่ก่อนที่จะพูดถึงส่วนที่ผมไม่ชอบใจ ผมอยากขยายถึงส่วนที่ผมเห็นว่าน่าพอใจด้วย คงไม่ถึงกับทำให้คุณเบื่อ คุณทราบดีอยู่แล้วว่า ในวิชาการสังคมศาสตร์สาขานี้ การวิพากษ์ภายในสำนักทฤษฎีหนึ่ง ๆ และการวิพากษ์ลงมาที่แนวทางสร้างความรู้และแนวทางการจัดโลกส่วนที่เห็นสำคัญออกมาศึกษาของทฤษฎีสำนักหนึ่ง ๆ ได้ดำเนินโต้ตอบกันมาแล้วหลายระลอก ทั้งเล็กและใหญ่ นอกจากความเหนื่อยอ่อนของผู้เรียนที่ต้องวิ่งไล่กวดข้ออภิปรายทั้งภายในและระหว่างทฤษฎี และข้อวิพากษ์ที่อยู่เหนือทฤษฎีในแต่ละรอบแล้ว ผมเห็นว่าแม้จะเหนื่อยเพราะความหนักหน่วงในการติดตามอยู่บ้าง แต่ข้อถกเถียงเหล่านี้มีประโยชน์มาก เพราะไม่เพียงแต่จะพาให้เห็นการทำงานของเครื่องมือที่เรานำมาใช้ประกอบสร้างความรู้ขึ้นมาได้อย่างแจ่มแจ้งขึ้น แต่ยังรู้ด้วยว่า ในการที่มันทำอย่างหนึ่งได้ดี มันดีได้แค่ไหน พาให้เรารู้อะไรได้บ้าง และข้อจำกัดของมันอยู่ตรงไหน

จากที่ผมได้ประมวลความเข้าใจเกี่ยวกับทฤษฎีทั้งส่วนที่ชอบใจและเห็นว่าไม่น่าพอใจออกมาจากการติดตามการโต้แย้งอภิปรายหลายระลอกในสาขาวิชาความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ มีที่ผมอยากขยายให้คุณพิจารณาอยู่บางข้อ  

ประการแรก ความพยายามในการจัดทฤษฎีเข้ากล่องแยกกันไปตาม -ism นั้นโน้นนี้ อาจทำให้ง่ายแก่การจัดระบบสำหรับถ่ายทอดความรู้แก่ผู้แรกเรียน หรือสำหรับชั้นเรียนที่ถูกบังคับไว้ด้วยเวลาอันจำกัด แต่เมื่อเราลงไปสู่การทำความเข้าใจทฤษฎีจากงานของนักทฤษฎีแต่ละคนแล้ว เราจะพบอิทธิพลความคิดจากหลากหลายกระแสที่นำมาผสมปรุงขึ้นมาเป็นทฤษฎี รวมทั้งวิธีที่พวกเขาเข้าหาสนามประวัติศาสตร์เพื่อเก็บดอกผลต้นใบในนั้นมาใช้ในงานทฤษฎีของแต่ละคน ทั้งเพื่อแสดงความต่อเนื่อง ความเปลี่ยนแปลง บอกหมุดหมายที่เป็นจุดกำเนิด จุดเปลี่ยนหรือจุดสิ้นสุด การมองหาเหตุที่พาย้อนกลับคืนหรือทำให้เปลี่ยนไปได้ไม่ตลอด และสิ่งที่เกิดขึ้นและพบได้เป็นประจำจนเป็นแบบแผน ผมจึงเห็นว่าการอ่านงานนักทฤษฎีแต่ละคนที่เราสนใจเพื่อติดตามที่มาของความคิดที่เขานำมาใช้โต้เติมแต่งต่อจนได้ทฤษฎีนั้นออกมาอ่านสนุกและได้รับประโยชน์ดีกว่าการจัดทฤษฎีออกมานำเสนอแบบรวบยอดเป็น -ism มาก  

หรือกล่าวอีกแบบหนึ่ง ผมเรียนจากความแตกต่างที่พบในงานของ Waltz ของ Gilpin ของ Mearsheimer ได้มากกว่าที่ได้จากการอ่านการนำเสนอ realism อย่างเป็นสำนักที่เหมือนว่ามีเอกภาพ งานของนักทฤษฎีคนอื่นๆ ที่ถูกจัดไว้ใน -ism อื่นๆ ก็เช่นเดียวกัน

ความแตกต่างระหว่างนักทฤษฎีที่ให้การเรียนรู้ได้มากกว่าที่พบในการอ่านทฤษฎีที่รวบขึ้นเป็นสำนักแบบ -ism ถ้าจะยกตัวอย่างจากงานของพวก realism ก็จะเห็นได้ชัดเจนดี ความแตกต่างในการเสนอทางคิดสำหรับพิจารณาการเปลี่ยนแปลงในระบบระหว่างประเทศที่อยู่ในงานของ Waltz, Gilpin และ Mearsheimer ทำให้ผมได้ความเข้าใจกลไกก่อเกิดผลหลายรูปแบบที่ทำงานอยู่ในโครงสร้างอำนาจแบบอนาธิปไตยของการเมืองระหว่างประเทศ เช่น กลไก socialization และ emulation ในทฤษฎีของ Waltz กลไก law of uneven growth ในทฤษฎีของ Gilpin และสถานะพิเศษของ regional hegemon ในการกำหนดพลวัตในโครงสร้างอำนาจในทฤษฎีของ Mearsheimer กลไกที่ได้จากงานเหล่านี้ช่วยขยายพิสัยความเข้าใจของผมเกี่ยวกับโครงสร้างอำนาจอนาธิปไตยของการเมืองระหว่างประเทศที่ส่งผลต่อแบบแผนและพลวัตในความสัมพันธ์ของรัฐมหาอำนาจออกไปอีกมาก ซึ่งถ้าหากว่าไม่ได้อ่านงานของนักทฤษฎีเป็นรายบุคคลในเชิงเปรียบเทียบแล้ว การวิเคราะห์ในระดับโครงสร้างตามแนวทางของ realism ก็จะทำได้จำกัดอย่างมาก และอาจพาไขว้เขวไปสู่การลดรูปการวิเคราะห์และคำอธิบายให้เหลือเพียง mono-causal explanation ที่มีโอกาสผิดได้มากกว่าถูก ไม่ว่าจะใช้ความพยายามในเชิงวิธีวิทยาอันเลิศล้ำมาช่วยป้องกันไว้สักเพียงใด  

เมื่องานทางทฤษฎีของนักทฤษฎีแต่ละคนให้เครื่องมือสำหรับอธิบายอย่างหลากหลายแก่เราเช่นนี้ คุณคงพอจะเดาออกกระมังว่างานทางวิชาการในความสัมพันธ์ระหว่างประเทศที่ผมเห็นว่าไม่สู้จะน่าพอใจ คืองานที่พยายามชักชวนให้คนรับข้อเสนอในการอธิบายปรากฏการณ์ที่มีความซับซ้อนในกระบวนการ แล้วลดรูปการอธิบายไปไว้ที่สาเหตุหรือกลไกก่อเกิดผลแต่เพียงด้านเดียวประการเดียว หรือพยายามจะพิสูจน์ให้รับว่า เหตุหรือกลไกที่เสนอมานั้นอธิบายได้หมดดีกว่าเหตุอื่นหรือกลไกอื่น ๆ การทำแบบนั้นเป็นการสร้างความรู้เพื่อพิสูจน์ข้อเสนอในคำอธิบายของตนเองมากกว่าที่จะเป็นความรู้ที่มุ่งให้ความเข้าใจกระบวนการเปลี่ยนแปลงในบริบททางประวัติศาสตร์จากเงื่อนไขหลากหลายด้านที่ชุมนุมส่งผลร่วมกันอยู่ในห้วงเวลาขณะนั้น  แทนที่จะเป็นการพินิจดอกผลต้นใบในสนามประวัติศาสตร์เพื่ออธิบายว่ามันเติบโตหรืออับเฉาล้มลุกไปอย่างไร การสร้างความรู้แบบพิสูจน์ค่าความสัมพันธ์อันขึงตึงระหว่างตัวแปรต้นตัวแปรตามเป็นการเด็ดดึงดอกผลต้นใบในสนามประวัติศาสตร์มาใช้เป็นข้อมูล “เชิงประจักษ์” ตามวิธีวิทยาอันเข้มงวดกวดขัน เพื่อหาทางยืนยันถึงความแม่นตรงในข้อเสนอคำอธิบายของตนว่ามีน้ำหนักเหนือกว่าคำอธิบายอื่น ๆ ตรงไหน คำอธิบายที่เข้มข้นในทางวิธีวิทยาเพื่อพิสูจน์น้ำหนักของสมมุติฐานแบบนี้ย่อมได้รับการยกย่องว่ามีมาตรฐานทางวิชาการอันสูงจากฝ่ายที่รับญาณวิทยาแบบปฏิฐานนิยม แต่คุณว่าวิธีแบบนี้ให้ผลเป็นความรู้ที่น่าพอใจเพียงใดหรือแก่ผู้ปรารถนาอยากรู้จักและเข้าใจโลกจากหลายตำแหน่งพร้อมกันทั้งส่วนที่เป็นเหนือ ใต้ บน ล่าง ศูนย์กลาง ระหว่างกลาง ชายขอบ ภายนอก ภายใน ต่อแดน ข้ามแดน และโพ้นพรมแดน   

ขอยกตัวอย่างให้คุณดูสักเรื่อง จากงานที่ต้องการอธิบายกระบวนการที่มีความซับซ้อนอยู่ในตัวอย่างการเปลี่ยนแปลงระเบียบระหว่างประเทศพร้อมกับการเปลี่ยนรูปการณ์ของรัฐในระเบียบแบบเดิมมาเป็นแบบใหม่ เปลี่ยนจากความสัมพันธ์ระหว่างรัฐบรรณาการกับศูนย์กลางอำนาจของระเบียบในเอเชียตะวันออกที่จีนเคยเป็นใหญ่ และเปลี่ยนจากรูปการณ์ของรัฐตามคติจักรพรรดิราชแบบเก่าในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ มาอยู่ในระเบียบระหว่างประเทศสมัยใหม่ในสังคมของรัฐอธิปไตยที่มีจุดกำเนิดจากพัฒนาการทางการเมืองของยุโรปและมีสังคมของรัฐในยุโรปเป็นศูนย์กลาง แต่แทนที่งานนั้นจะนำเสนอกลไกส่งผลหลากหลายด้านจากหลายระดับที่ไหลข้ามพื้นที่มาพบกันในช่วงเวลาจังหวะหนึ่ง เหนือรัฐเหนือท้องถิ่นในภูมิภาคหนึ่ง เพื่อเสนอคำอธิบายความแตกต่างทั้งในฝั่งต้นทางที่เป็นสาเหตุผลักพลวัตให้เกิดการเปลี่ยนแปลงระเบียบระหว่างประเทศ และในฝั่งปลายทางที่เป็นฝ่ายรับผลที่ต้องเปลี่ยนแปลงเข้าหาระเบียบใหม่และต้องจัดรูปการณ์อำนาจรัฐกันใหม่ งานนั้นกลับเสนอว่า การเปลี่ยนแปลงทั้งหมดนี้สามารถเข้าใจได้และพึงเข้าใจว่ามาจากกลไกเดียว คือ การคำนวณ opportunity costs หรือต้นทุนค่าเสียโอกาสของมหาอำนาจว่าจะเข้าแทรกแซงพื้นที่แห่งใดหรือไม่ เพื่อที่จะป้องกันมิให้ผลลัพธ์อันไม่พึงปรารถนาที่สุดเกิดขึ้นมา นั่นคือ การที่พื้นที่แห่งนั้นตกไปอยู่ในความครอบครองของมหาอำนาจชาติอื่นที่เป็นคู่แข่งอิทธิพลของตน ถ้าหากมหาอำนาจมองแล้วเห็นว่าต้นทุนค่าเสียโอกาสในการเข้าแทรกแซงในพื้นที่ใดมีมาก แล้วตัดสินใจไม่แทรกแซง ยอมปล่อยพื้นที่นั้นให้อำนาจในท้องถิ่นปกครอง การมีอิสระจากภายนอกโดยปลอดจากการแทรกแซงของมหาอำนาจเช่นนี้ถูกจัดมาเป็นคำอธิบายว่าทำไมอำนาจในท้องถิ่นที่มีอิสระ จึงพัฒนาความเป็นอธิปไตยของรัฐขึ้นมาได้ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง การมีขอบเขตอำนาจรัฐที่ชัดเจนด้วยเส้นเขตแดนที่แน่ชัด และการรวมศูนย์อำนาจจากชายขอบเข้าสู่ส่วนกลางได้อย่างเข้มแข็ง  

ในการอธิบายเช่นนี้ ต้องยอมรับว่าการคำนวณต้นทุนค่าเสียโอกาสเป็นกลไกหนึ่งในการทำความเข้าใจการตัดสินใจของมหาอำนาจว่าจะแทรกแซงพื้นที่หนึ่งหรือไม่เข้าแทรกแซง และคงนำไปใช้เป็น heuristic หนึ่งสำหรับศึกษาการตัดสินใจในเรื่องอื่น ๆ ต่อไปได้อีก เช่น ศึกษาการตัดสินใจทำสงครามของปูติน หรือการตัดสินใจดำเนินมาตรการคว่ำบาตรรัสเซียของสหรัฐอเมริกากับพันธมิตรตะวันตก แต่ถ้าพิจารณากลไกนี้แต่โดยลำพัง แล้วนำมาใช้เป็นคำอธิบายการเปลี่ยนแปลงระเบียบระหว่างประเทศตามความสัมพันธ์ของรัฐแบบเดิมในแต่ละภูมิภาคมาเป็นระเบียบสำหรับสังคมของรัฐอธิปไตยในบริบทของจักรวรรดินิยม และทำความเข้าใจกระบวนการ sovereign state formation อันซับซ้อนในบริบทเดียวกันแต่มีผลแตกต่างกันได้มากในพื้นที่และในรัฐแต่ละแห่ง การเน้นอธิบายจากปัจจัยภายนอกที่เป็นการตัดสินใจของมหาอำนาจและอธิบายด้วยกลไกเดียวคือการคิดต้นทุนค่าเสียโอกาสเช่นนี้ ผมเห็นว่าเป็นคำอธิบายที่ไม่มีทางเพียงพอเลย การแทรกแซงหรือการไม่แทรกแซงของมหาอำนาจจากการคิดสะระตะเกี่ยวกับ opportunity costs ไม่อาจอธิบายถึงเส้นทางและผลที่ต่างกันในการเปลี่ยนรูปการณ์ของรัฐแบบเดิมมาเป็นรัฐอธิปไตย รวมทั้งไม่อาจอธิบายความอ่อนแอภายในศูนย์กลางอำนาจของระเบียบเดิม เช่นที่ทำให้จีนสูญเสียขีดความสามารถในการรักษาระเบียบความสัมพันธ์กับรัฐบรรณาการไว้ได้ แต่ขณะเดียวกันเงื่อนไขภายในของจีนเองก็ส่งผลต่อการคำนวณต้นทุนค่าเสียโอกาสของมหาอำนาจด้วยเช่นกันในทางที่ยั้งมิให้มหาอำนาจ (ยกเว้นญี่ปุ่น) คิดแทรกแซงด้วยการผนวกแผ่นดินจีนมาอยู่ในอำนาจจักรวรรดิ

การละเลยปัจจัยภายในทั้งในประเทศมหาอำนาจและในประเทศที่กลายเป็นพื้นที่แสวงหาอิทธิพลของมหาอำนาจทำให้ไม่รู้ได้แน่ชัดว่า การมองต้นทุนค่าเสียโอกาสว่าสูงหรือต่ำของมหาอำนาจนั้นคิดคำนวณหรือคาดมาจากไหน ได้ใครเป็นคนคิด นอกจากนั้น แม้อาจกล่าวได้ไม่ผิดว่ามหาอำนาจในสมัยที่เป็นเจ้าจักรวรรดิคำนึงถึง opportunity costs ในการไม่แทรกแซงพื้นที่อย่างอัฟกานิสถาน และปล่อยให้อำนาจในท้องถิ่นที่นั่นมีอิสระ แต่ผลที่ตามมาต่อรูปการณ์และเส้นทางพัฒนาการรัฐของอัฟกานิสถาน เหมือนกันไหมกับกรณีอื่นที่เจ้าจักรวรรดิตัดสินใจไม่แทรกแซงเพราะคำนึงถึง opportunity costs รูปการณ์และพัฒนาการของรัฐอธิปไตยในอัฟกานิสถานเหมือนกันกับจีน หรือเหมือนกันกับสยามกระนั้นหรือ คงไม่เหมือนกันกระมัง และถ้าไม่เหมือน การจัดคำอธิบายสำหรับความแตกต่างระหว่างกันในรูปการณ์ของรัฐเหล่านี้ นอกจากเรื่องต้นทุนค่าเสียโอกาสในการแทรกแซงตามมุมมองของมหาอำนาจเจ้าจักรวรรดิแล้ว ยังต้องพิจารณานำปัจจัยและกลไกส่งผลอื่นๆ จากหลายระดับ ทั้งภายนอกและภายในรัฐนั้น ๆ มาประกอบการอธิบายอีกพอสมควรจึงจะได้คำอธิบายที่เพียงพอและน่าพอใจออกมา

ความไขว้เขวในการนำกลไกก่อเกิดผลแบบหนึ่งมาศึกษาและเสนอออกมาเป็น mono-causal explanation มิได้หมายความว่ากลไกนั้นไม่มีความสำคัญ แต่ถ้าจะแสดงความสำคัญของกลไกดังกล่าวออกมาให้เห็นการทำงานส่งผลของมันต่อการตัดสินใจหรือการกระทำของตัวแสดง ในตัวอย่างข้างต้น คือความสำคัญของการคิดต้นทุนค่าเสียโอกาสของมหาอำนาจที่ส่งผลต่อการตัดสินใจแทรกแซง ก็ควรจัดการศึกษาออกมาอีกแบบหนึ่ง ในทางที่แสดงให้เห็นเงื่อนไขที่ส่งผลต่อการคิดต้นทุนค่าเสียโอกาสของมหาอำนาจ และเงื่อนไขที่ว่านั้นก็ควรพิจารณาจากหลายด้านและหลายระดับประกอบกัน หลีกเลี่ยงการมองแบบด้านเดียวหรือเน้นไปที่ปัจจัยเพียงปัจจัยเดียว เช่น นอกเหนือจากการต้านทานขัดขวางของมหาอำนาจฝ่ายตรงข้ามที่จะทำให้ต้นทุนการแทรกแซงสูงขึ้นมากแล้ว ยังควรให้ความสำคัญแก่ปัจจัยอย่างสภาพทางภูมิศาสตร์ ชาตินิยม ความเต็มใจที่อำนาจในท้องถิ่นในพื้นที่นั้นพร้อมจะปรับตัวและปฏิบัติตามข้อกำหนดของสังคมของรัฐอธิปไตยจากยุโรป และการเมืองระหว่างประเทศมหาอำนาจที่เป็นคู่แข่งขันกันที่ผันแปรไปตามการเปลี่ยนแปลงดุลอำนาจ เป็นต้น

ส่วนที่สำคัญไม่น้อยไปกว่ากันในการพิจารณาต้นทุนค่าเสียโอกาสกับการตัดสินใจแทรกแซง คือแบบแผนวิถีปฏิบัติใด ๆ ก็ตาม โดยเฉพาะอย่างยิ่ง วิถีปฏิบัติที่เป็นการใช้อำนาจบังคับอย่างเช่นการแทรกแซงใช้กำลังพิชิตและยึดครองดินแดน การกดขี่คนในเมืองขึ้นที่อยู่ในอำนาจปกครอง การเอาคนมาซื้อขายเป็นทาส ฯลฯ ล้วนมีประวัติศาสตร์ความคิดทางศีลธรรมหรือจริยธรรมของมันติดตัวมาทั้งนั้น ที่จะแสดงให้เห็นความเปลี่ยนแปลงในการตัดสินวินิจฉัยความถูกผิดดีงามทรามชั่วของการกระทำในวิถีปฏิบัติแบบหนึ่ง ๆ ว่ามันดำรงอยู่ในช่วงเวลาหนึ่ง แล้วก็เปลี่ยนแปลงไป พร้อมกับการเปลี่ยนบรรทัดฐานของความปกติและความถูกต้องอันเป็นที่ยอมรับในแต่ละยุคสมัยไปด้วย อันทำให้ผู้ปฏิบัติตามบรรทัดฐานอันเป็นที่ยอมรับในเวลานั้นเจอการต้านทานน้อยจากสภาพแวดล้อม ในขณะที่ผู้กระทำการที่ละเมิดบรรทัดฐานจะถูกมองว่าผิด สูญเสียเหตุผลข้ออ้างที่ให้ความชอบธรรม และต้องพบกับแรงต้านหรือพลังเสียดทานที่ทำให้การกระทำที่ละเมิดหรือผิดแบบแผนอันเป็นที่ยอมรับมีต้นทุนเพิ่มสูงขึ้นมาก เหมือนกับที่พม่ากำลังเจออยู่ในเวลานี้ เมื่อพิจารณาแบบแผนวิถีปฏิบัติจากประวัติศาสตร์ความคิดเกี่ยวกับจริยธรรมหรือศีลธรรมของมัน สิ่งที่เคยทำได้โดยไม่ผิดบรรทัดฐานศีลธรรมของสมัยหนึ่ง ในเวลาต่อมาเมื่อบรรทัดฐานทางศีลธรรมแบบเดิมเปลี่ยนแปลงไปแล้ว การกระทำแบบเดียวกันนั้น แม้ว่าจะทำได้เพราะขีดความสามารถที่จะทำยังมีอยู่ แต่มันกลายเป็นสิ่งที่ไม่พึงทำอีกต่อไป เพราะไม่มีเหตุผลอันสังคมยอมรับได้ที่จะนำมารองรับความถูกต้องให้แก่การกระทำหรือวิถีปฏิบัติแบบนั้นได้อีกแล้ว  และถ้ายังจะปฏิบัติอยู่ต่อไป ก็ต้องหาเหตุผลข้ออ้างจากหลักการใหม่ที่สามารถให้ความชอบธรรมอันเป็นที่ยอมรับได้แก่การกระทำแบบนั้น      

การตั้งประเด็นหลังสุดนี้ มาจากความสนใจของผมในการเปลี่ยนแปลงของคำ ความหมายและความคิดในแบบแผนวิถีปฏิบัติในสังคมมนุษย์เป็นพิเศษ เพราะผมเห็นว่าคำ-แนวคิดหลักต่าง ๆ ที่เป็นรากฐานสำหรับทำความเข้าใจโลกความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ ไม่ว่าจะเป็น รัฐ อธิปไตย ความมั่นคง การแทรกแซง ศีลธรรมระหว่างประเทศ และคำอื่น ๆ ต่างมีความหมายแปรเปลี่ยนมาโดยลำดับ ไม่ได้เป็นคำหรือเป็นแนวคิดที่มีความหมายหยุดนิ่งตายตัว ผมเลยพบข้อจำกัดในตัวแบบคำอธิบายที่อาศัยการแสดงสหสัมพันธ์ระหว่างตัวแปรต้นกับตัวแปรตาม ซึ่งจำเป็นต้องนิยามปฏิบัติการของแนวคิดคำสำคัญที่มีความอยู่ตัวคงที่และชัดเจน เพื่อให้วัดได้แน่นอน เก็บข้อมูลที่ถูกต้องแม่นตรงได้ เพื่อให้ได้ตัวแบบคำอธิบายปรากฏการณ์ที่ใช้ได้ทั่วไปไม่ขึ้นกับเวลาและพื้นที่เฉพาะ ความรู้จากคำอธิบายแบบนี้เป็นที่ต้องการไหม ต้องบอกว่าเป็นที่ต้องการสำหรับความก้าวหน้าของความรู้ทางสังคมศาสตร์อยู่มากทีเดียว ใน “The Second Great Debate” อันเป็นที่รู้จักกันดีระหว่างฝ่าย scientific approach กับฝ่าย classical approach ของ IR อาจารย์ฝ่ายอเมริกันของผมท่านสนับสนุนทางแรก เพราะเห็นด้วยกับวิธีวิทยาวิทยาศาสตร์แบบปฏิฐานนิยมที่กำหนดให้การสร้างความรู้จะต้องแสดง assumptions ของข้อเสนอทางทฤษฎีออกมาอย่างแจ่มแจ้ง เหลาสมมุติฐานที่จะตรวจสอบออกมาให้คมชัดอย่างที่จะนำไปตรวจความถูกผิดได้อย่างแน่นอน นำข้อเสนอทั้งหมดมาประกอบเข้าด้วยกันเพื่อแสดงตรรกะในคำอธิบายอย่างสอดคล้องลงตัว แล้วทดสอบตัวแบบการอธิบายนั้นด้วยข้อมูลเชิงประจักษ์ที่ใช้บ่งชี้ความสัมพันธ์ได้ตรงกับตัวแปรในตัวแบบคำอธิบายและเก็บข้อมูลมาด้วยวิธีการที่น่าเชื่อถือ ผมเคยประทับใจแนวทางแบบวิทยาศาสตร์แบบนี้อยู่มาก ว่ามันน่าจะให้ความรู้ที่แม่นยำเหนือว่าฝ่าย classical ที่ตอนนั้นมี Hedley Bull เป็นตัวแทนในการโต้แย้ง ความรู้ของฝ่าย classical ที่ Bull เสนอไว้ในตอนนั้นเป็นความรู้ที่มาจาก ปรัชญา ประวัติศาสตร์ และกฎหมาย และลักษณะโดดเด่นของมันคือ “explicit reliance on judgment and by the assumptions that if we confined ourselves to strict standard of verification and proof there is very little of significance that can be said about international relations. … General propositions about this subject must derive from a scientifically imperfect process of perception or intuition and that these general propositions cannot be accorded with anything more than the tentative and inconclusive status appropriate to their doubtful origin.” (ผมอยากหมายเหตุตรงนี้ว่า พอได้คัดมติอันได้รับการอ้างถึงมากของ Bull (1966) จากวารสาร World Politics มาลงในจดหมายนี้ ผมนึกถึงงาน Diplomacy ของ Henry Kissinger ขึ้นมาทันทีว่าใช้เป็น exemplar ของแนวทางการศึกษาแบบ classical ดังที่ Bull บรรยายมาได้)

ในตอนที่ผมทำความเข้าใจข้อถกเถียงใน The Second Great Debate ทีแรกนั้น ผมยังไม่สู้จะเชื่อว่าการสร้างความรู้จาก “scientifically imperfect process of perception or intuition” ที่มีฐานการแสวงหาความรู้อยู่กับปรัชญา กฎหมาย และประวัติศาสตร์อย่างที่ Bull ว่ามา จะมาสู้อะไรได้กับแนวทางศึกษาตาม scientific approach ของฝ่าย behavioralists จนกระทั่งอีกนานต่อมา เมื่อมาได้ความเข้าใจมากขึ้นถึงนัยสำคัญของประวัติศาสตร์ที่มีต่อความหมายในความคิดและการกระทำที่ดำรงอยู่ตามเงื่อนไขในช่วงเวลาหนึ่ง และเมื่อเงื่อนไขเหล่านั้นเปลี่ยนแปลง ความหมายเดิมที่เคยรับกันอยู่ก็ต้องมีอันเปลี่ยนตามไป โดยการเคลื่อนตัวของความหมายในระยะเวลา มันจึงไม่มีรัฐที่คงความหมายแบบเดิมไม่มีเปลี่ยนแปลง ไม่มีอำนาจอธิปไตยที่คงความหมายเดิมความหมายเดียวไม่มีเปลี่ยนแปลง ไม่มีระบบความคิดทางศีลธรรมที่อยู่ยงคงตัวโดยไม่มีเปลี่ยนแปลง โดยสรุปคือไม่มีอะไรที่ไม่เปลี่ยนแปลง และในความเปลี่ยนแปลงเหล่านั้น มีแรงผลักทั้งจากพลังทางวัตถุเทคโนโลยี จากความขัดแย้งในความสัมพันธ์ทางสังคมที่มีอยู่ตลอดมา และจากการเคลื่อนไหวต่อสู้ของคนทุกฝ่ายไม่ว่าจะมีอำนาจหรือไร้อำนาจทั้งในสเกลเล็กและขนาดใหญ่ที่ดำเนินเป็นระลอกเรื่อยมาไม่มีหยุดนิ่ง พอได้ความเข้าใจแบบนี้ ผมเลยพบว่าแนวทางและวิธีการศึกษาแบบวิทยาศาสตร์ปฏิฐานนิยม ที่มุ่งสร้างแนวคิดและตัวแบบการอธิบายที่เรียกร้องความชัดเจนแม่นตรงคงที่อย่างเข้มงวด มันต้องแลกมาด้วยความไม่สมจริงบางอย่าง และเป็นส่วนที่ผมเห็นว่าไม่น่าพอใจ เพราะไม่มีความหมายของแนวคิดใดที่จะดำรงอยู่อย่างคงที่ตายตัว โดยไม่ตกอยู่ในเงื่อนไขของพื้นที่และเวลาที่จะแปรเปลี่ยนความหมายของมันไปตามบริบท พอการอธิบายตามทางทฤษฎีแบบปฏิฐานนิยมต้องจับความหมายของแนวคิดหลักในข้อเสนอคำอธิบายทางทฤษฎีให้อยู่นิ่งคงที่ มันก็กั้นเราไว้จากการพิจารณาการเปลี่ยนแปลง ซึ่งว่าไปแล้วเป็นความเป็นจริงตามธรรมชาติของสรรพสิ่ง ไม่เฉพาะแต่ความคิดและความหมายในวิถีปฏิบัติในสังคมมนุษย์ ดังนั้น ถ้าเราอยากมองเห็นบรรทัดฐานความถูกผิดดีเลวที่กำกับความหมายของแบบแผนวิถีปฏิบัติอย่างการแทรกแซง ว่ามันมีประวัติศาสตร์ของมัน ที่ทำให้ความหมายเกี่ยวกับความถูกผิดในการแทรกแซงมีเปลี่ยนแปลงมาโดยลำดับ และเป็นการเปลี่ยนแปลงที่มีผลต่อการคำนวณต้นทุนของการกระทำไม่ว่าจะเป็นต้นทุนแบบไหน ผมก็ต้องมองหาความรู้แบบนั้นจากทางทฤษฎีแบบอื่น และจากวิธีอธิบายที่ต่างออกไป

จากทางพิจารณาทฤษฎีประการแรกที่เขียนมายาวเหยียดเพื่อบอกส่วนที่ผมเห็นว่าน่าพอใจและไม่น่าพอใจให้คุณทราบ นำมาสู่ทางพิจารณาทฤษฎีประการต่อมาที่เป็นผลต่อเนื่องจากข้อแรก นั่นคือ เมื่อเห็นข้อจำกัดของความรู้ที่มีอยู่ในตัวแบบคำอธิบายตามแนวทางศึกษาแบบวิทยาศาสตร์ปฏิฐานนิยม แล้วทางทฤษฎีแบบไหนที่จะมาช่วยเปิดทางศึกษาให้เห็นความเปลี่ยนแปลงอย่างที่ผมสนใจ

การศึกษาเรียนรู้ความสัมพันธ์ระหว่างประเทศในทางทฤษฎีของคนรุ่นผมนั้น ว่าไปแล้วก็เหมือนกับขยับไปตามจังหวะของพัฒนาการในสาขาวิชา จะเหลื่อมเวลากันก็ไม่มาก นั่นคือคนรุ่นผมมาถึงสาขาวิชาเมื่อ The First และ Second Great Debates เกิดขึ้นไปแล้วก็จริง แต่ debates ทั้ง 2 ยังคงมีผลต่อการจัดเนื้อหาการเรียนการสอนในสมัยที่คนรุ่นผมเริ่มเรียนอยู่มาก ทำให้พวกเราต้องอ่านข้ออภิปรายโต้แย้งเหล่านี้ และใช้งานของ Kenneth Waltz ผู้สร้างทฤษฎีที่เข้ามาตรฐานแนวทางศึกษาแบบวิทยาศาสตร์เป็นแม่บทในการเรียน และในเวลาที่กำลังเรียนอยู่นั้นเอง The Third Great Debate ในสาขาวิชาก็ก่อตัวขึ้นมาสร้างความปั่นป่วนจนกระทั่ง K. J. Holsti (1985) ออกมาปรารภใน The Dividing Discipline ที่นำเสนอบทสำรวจ “hegemony and diversity in international theory” ว่าสถานะความรู้ของสาขาวิชาตกอยู่ในสภาพ “disarray” เมื่อมาถึงตอนนี้ สภาพแบบที่ Holsti ว่านั้นเปลี่ยนกลายมาเป็นแบบไหนไปแล้ว คุณย่อมตัดสินได้ดีกว่าผมเพราะยังติดตามงานรุ่นปัจจุบันอย่างใกล้ชิด  บางคนคิดว่าข้อถกเถียงทางทฤษฎีวิชาการนามธรรมใน debates เหล่านี้เป็นกิจกรรมทางปัญญาที่ไม่สู้จะมีประโยชน์อะไรในทางปฏิบัติ ผมกลับเห็นตรงข้ามว่ามันมีนัยสำคัญต่อการเข้าใจปฏิบัติการของความรู้ที่ส่งผลต่อความเข้าใจโลกของเรา ไม่ว่าจะในภาคไหน ให้ลึกซึ้งขึ้นอย่างมาก เช่นข้อโต้แย้งจากฝ่ายต่อต้านปฏิฐานนิยมใน The Third Great Debate ที่เริ่มต้นเปิดประเด็นจากปัญหาทางญาณวิทยา/epistemology ก่อน แล้วพาขยายออกไปพิจารณาปัญหาทางภววิทยา/ontology และบางส่วนก็ยังพาเปิดประเด็นตั้งคำถามถึง meta-ethics ที่ว่าด้วยความรู้เกี่ยวกับหลักที่จะนำมาใช้ตัดสินความถูกผิดเหมาะควร การเรียนข้อโต้แย้งเหล่านี้ในระยะเวลาที่มันกำลังดำเนินไปอย่างเข้มข้นในช่วงทศวรรษ 1980 – ทศวรรษ 1990 ทำให้ผมย้อนกลับมาอ่านงานของ Waltz ของ Morgenthau หรือของ Bull ได้ความกระจ่างใจและเล่นกับงานเหล่านี้ได้มากขึ้น

เช่น ทำให้ผมตั้งคำถามขึ้นมาว่า ระหว่างระบบระหว่างประเทศของ Waltz กับสังคมระหว่างประเทศของ Bull ถ้าหากเราต้องการจะศึกษาการต่างประเทศของไทย อะไรคือภวสภาพที่เหมาะสมกว่ากันสำหรับจะวางการต่างประเทศไทยลงไปทำความเข้าใจการเปลี่ยนแปลงในความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ ที่ส่งผลต่อการเปลี่ยนแปลงระเบียบความสัมพันธ์ระหว่างรัฐในภูมิภาคและการเปลี่ยนรูปการณ์ของรัฐไทยในช่วงเวลา 175 ปีจากสมัยพระเจ้ากรุงธนบุรีมาจนถึงสงครามโลกครั้งที่ 2  โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ถ้าผมต้องการนำการเปลี่ยนแปลงในทางปรัชญาความคิด การเปลี่ยนแปลงในกฎหมายระหว่างประเทศ และการเปลี่ยนแปลงทางประวัติศาสตร์การเมืองที่มาเปลี่ยนเงื่อนไขที่เคยเป็นเคยมีและเคยส่งผลต่ออำนาจรัฐในระยะเวลาหนึ่ง มาเป็นเงื่อนไขแบบใหม่ที่ก่อเกิดผลในทางที่ต่างออกไปต่อความชอบธรรมของอำนาจและการใช้อำนาจของรัฐ มาพิจารณาประกอบลงในการทำความเข้าใจเหตุผลต้นปลายในความสัมพันธ์ระหว่างไทยกับต่างประเทศ และผลของมัน ที่มีต่อรูปการณ์ของรัฐไทยที่เปลี่ยนแปลงมาโดยลำดับในระยะเวลา 175 ปี และผมเชื่อว่าเปลี่ยนรูปไปมากกว่าการเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นในช่วงเวลากว่า 400 ปีของสมัยอยุธยา

พอตั้งคำถามเกี่ยวกับภวสภาพสำหรับการศึกษาการต่างประเทศไทยขึ้นมาได้แบบนี้ ผมก็มองเห็นทางที่จะศึกษาการเปลี่ยนแปลงที่ผมสนใจได้ แต่จดหมายนี้ยาวมากแล้ว และคุณคงทราบคำตอบว่าผมเห็นว่าภวสภาพแบบไหนที่เหมาะสำหรับการเปิดประเด็นศึกษาการต่างประเทศไทยในบริบทความเปลี่ยนแปลงในความสัมพันธ์ระหว่างประเทศจากฐานของปรัชญาความคิด กฎหมาย และประวัติศาสตร์การเมือง ถ้าคุณยังสนใจเรื่องนี้อยู่ วันหลังเรามาคุยกันต่อได้  

จดหมายนี้ควรมีความลงท้ายด้วยการสรุปอะไรสักอย่างไหม ผมขอเลือกสรุปฝากคุณไว้อย่างนี้น่าจะดี

ในหนังสือของ Chomsky เล่มใหม่ The Secrets of Words เขาพูดให้ข้อคิดเกี่ยวกับความสามารถที่จะเข้าใจของมนุษย์ที่มีเพดานจำกัด เพราะความที่มนุษย์เป็นมนุษย์ มีความสามารถแบบที่วิวัฒนาการทางธรรมชาติจัดให้แก่มนุษย์ บางคนคิดว่าความรู้ของมนุษย์ขยายออกไปได้เรื่อย ๆ อย่างไร้ขีดจำกัด ยิ่งสมัยนี้ได้ปัญญาประดิษฐ์มาช่วยยิ่งขยายได้เร็วขึ้นแต่Chomsky บอกว่านั่นเป็นโฆษณาชวนเชื่อแบบหนึ่ง เขาว่า It is important to learn to be surprised by simple facts.” และความจริงง่าย ๆ ข้อหนึ่งที่ควรทำให้เราฉุกใจคิดก็คือว่า เมื่อธรรมชาติสร้างความสามารถให้เราทำอะไรหรือรู้อะไรบางอย่างได้ ความสามารถนั้นก็ทำให้เราไม่อาจทำอะไร และไม่อาจรู้อะไรได้อีกหลายอย่าง ความสามารถที่ทำให้เราเดินได้วิ่งได้ ทำให้เราบินไม่ได้ หรือลงเลื้อยไปไม่ได้ เราอาจจัดเงื่อนไขให้หนูวิ่งไปตามทางในวงกต แต่เราไม่อาจวางเงื่อนไขฝึกให้หนูเลี้ยวเมื่อเห็น prime number และเราก็สอนเรื่องนี้ให้หนูไม่ได้ เพราะ prime number เป็นเรื่องอยู่นอก conceptual range ในความสามารถของหนูที่จะรู้ได้ Chomsky ว่าเมื่อสัตว์ทั้งหลายต่างมี conceptual range ที่จำกัดว่ารู้อะไรได้และไม่อาจรู้อะไรได้ มนุษย์ก็เป็นสัตว์ และดังนั้นย่อมต้องมีภาวะจำกัดในการรู้ของตัวเองอยู่ด้วยเช่นกัน

คุณจะเห็นด้วยกับเขาหรือไม่ก็ตาม แต่ผมชอบใจคำว่า conceptual range ที่ Chomsky ใช้ และคิดว่าเรานำมาใช้กับทฤษฎีทุกทฤษฎีได้ เพราะแต่ละทฤษฎีประกอบขึ้นมาจาก concepts จาก epistemology จาก ontology และฐานของ ethics แบบใดแบบหนึ่ง และไม่ว่าจะเป็นแบบไหนที่เปิดทางให้เราเข้าสู่การหาความรู้  ทั้งหมดนั้นต่างมีพิสัยกว้างแคบของมัน เมื่อเราใช้ทางทฤษฎีใดมาเป็นอุปกรณ์ เรารู้พิสัยที่จำกัดมันไว้ก็ดีแล้ว แต่หาทางใช้ให้เต็มพิสัยที่มันเปิดให้เราใช้ได้เถิด


ด้วยมิตรภาพ

เพื่อนของคุณ

MOST READ

World

1 Oct 2018

แหวกม่านวัฒนธรรม ส่องสถานภาพสตรีในสังคมอินเดีย

ศุภวิชญ์ แก้วคูนอก สำรวจที่มาที่ไปของ ‘สังคมชายเป็นใหญ่’ ในอินเดีย ที่ได้รับอิทธิพลสำคัญมาจากมหากาพย์อันเลื่องชื่อ พร้อมฉายภาพปัจจุบันที่ภาวะดังกล่าวเริ่มสั่นคลอน โดยมีหมุดหมายสำคัญจากการที่ อินทิรา คานธี ได้รับเลือกให้เป็นนายกรัฐมนตรีหญิงคนแรกในประวัติศาสตร์

ศุภวิชญ์ แก้วคูนอก

1 Oct 2018

World

16 Oct 2023

ฉากทัศน์ต่อไปของอิสราเอล-ปาเลสไตน์ ความขัดแย้งที่สั่นสะเทือนระเบียบโลกใหม่: ศราวุฒิ อารีย์

7 ตุลาคม กลุ่มฮามาสเปิดฉากขีปนาวุธกว่า 5,000 ลูกใส่อิสราเอล จุดชนวนความขัดแย้งซึ่งเดิมทีก็ไม่เคยดับหายไปอยู่แล้วให้ปะทุกว่าที่เคย จนอาจนับได้ว่านี่เป็นการต่อสู้ระหว่างอิสราเอลกับปาเลสไตน์ที่รุนแรงที่สุดในรอบทศวรรษ

จนถึงนาทีนี้ การสู้รบระหว่างอิสราเอลกับปาเลสไตน์ยังดำเนินต่อไปโดยปราศจากทีท่าของความสงบหรือยุติลง 101 สนทนากับ ดร.ศราวุฒิ อารีย์ ผู้อำนวยการศูนย์มุสลิมศึกษา สถาบันเอเชียศึกษา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ถึงเงื่อนไขและตัวแปรของความขัดแย้งที่เกิดขึ้น, ความสัมพันธ์ระหว่างอิสราเอลและรัฐอาหรับ, อนาคตของปาเลสไตน์ ตลอดจนระเบียบโลกใหม่ที่ก่อตัวขึ้นมาหลังยุคสงครามเย็น

พิมพ์ชนก พุกสุข

16 Oct 2023

World

9 Sep 2022

46 ปีแห่งการจากไปของเหมาเจ๋อตง: ทำไมเหมาเจ๋อตง(โหด)ร้ายแค่ไหน คนจีนก็ยังรัก

ภัคจิรา มาตาพิทักษ์ เขียนถึงการสร้าง ‘เหมาเจ๋อตง’ ให้เป็นวีรบุรุษของจีนมาจนถึงปัจจุบัน แม้ว่าเขาจะอยู่เบื้องหลังการทำร้ายผู้คนจำนวนมหาศาลในช่วงปฏิวัติวัฒนธรรม

ภัคจิรา มาตาพิทักษ์

9 Sep 2022

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • Always Active

Save