fbpx

‘ตำแหน่งบรรณาธิการทำให้เรารู้สึกว่าตัวเองดีไม่พอตลอดเวลาเลย’ ตะกอนความคิดและการทำสื่อธุรกิจ Capital กับ จิรเดช โอภาสพันธ์วงศ์

“มันมีคำหนึ่งเราจดในมือถือเลยนะว่าตำแหน่งบรรณาธิการทำให้เรารู้สึกว่าตัวเองดีไม่พอตลอดเวลาเลย” จิรเดช โอภาสพันธ์วงศ์ยอมรับระหว่างที่เขากำลังตอบคำถามว่าด้วยการทำงานในฐานะบรรณาธิการบริหาร

หลายคนรู้จักจิรเดชในฐานะนักเขียน นักสัมภาษณ์ที่มีนามปากกาว่า ‘จิรเบล’ เจ้าของผลงานอย่าง เราไม่ได้อยู่คนเดียวอยู่คนเดียว, ความทรงจำอยู่ที่ไหน ความคิดถึงอยู่ที่นั่น, Lonely Land ดินแดนเดียวดาย, The Fairy Tale of Underfox, รักเขาเท่าทะเล และ Between Hello and Goodbye ครู่สนทนา

เมื่อเกือบ 3 ปีที่แล้ว เขาตัดสินใจเปลี่ยนบทบาทมาเป็นบรรณาธิการบริหาร a day ซึ่งทำให้หลายคนได้เห็นผลงานและโปรเจกต์หลายชิ้นที่เรียกความสนใจจากคนอ่านภายใต้การบริหารงานของจิรเดช เช่น การจัดทำนิตยสารฉบับครบรอบ 20 ปี แฮร์รี่ พอตเตอร์ ฉบับภาษาไทย ที่ทำให้นิตยสารขาดตลาดในยุคที่ใครต่างก็เชื่อว่าสื่อสิ่งพิมพ์ได้ตายไปแล้ว หรือการทำนิตยสารเป็นซีรีส์บอกเซต ‘ความฝันแห่งยุคสมัย’ ซึ่งเรียกความสนใจจนทำให้ยอดสั่งเต็มจำนวนอย่างรวดเร็ว

เมื่อปลายปี 2021 เขาลาออกจากบทบาทดังกล่าว ก่อนเข้ามาทำหน้าที่บรรณาธิการบริหารในสื่อธุรกิจใหม่อย่าง Capital ซึ่งเพิ่งเปิดตัวเมื่อต้นปีที่ผ่านมา ด้วยแนวคิดที่ว่า “ธุรกิจเป็นเรื่องของพวกเราทุกคน” โดยต้องการเป็นทั้งแหล่ง ‘ทุน’ ทางความรู้ให้กับคนที่สนใจด้านธุรกิจ รวมถึงแหล่งข้อมูลสำหรับคนทำงาน เพื่อสนับสนุนให้เกิดธุรกิจที่ยั่งยืนและคุณภาพชีวิตคนทำงานที่ดีไปพร้อมๆ กัน

การเริ่มต้นใหม่ในเส้นทางที่มีทั้งเรื่องใหม่และเรื่องท้าทายรออยู่จึงเป็นสิ่งที่เราสนใจอยากชวนจิรเดชมาพูดคุย ในฐานะคนทำงานสื่อที่เคยอยู่ในตำแหน่งนักเขียนมาก่อน จนมาสู่บรรณาธิการบริหาร เขาได้เรียนรู้อะไรจากการเปลี่ยนแปลงเหล่านั้น และการเข้ามาเปิดสื่อธุรกิจหน้าใหม่อย่าง Capital จะมีบทบาทต่อคนอ่านและวงการสื่ออย่างไร ท่ามกลางสนามสื่อหลากหลายในสังคมไทย

บรรทัดต่อจากนี้ มีคำตอบเหล่านั้นรออยู่

 

หมายเหตุ : เรียบเรียงเนื้อหาจากการสัมภาษณ์วันที่ 27 เมษายน 2565 และจากรายการ PRESSCAST EP.29 : ศาสตร์การบรรณาธิการในสื่อธุรกิจ ‘จิรเดช โอภาสพันธ์วงศ์’ ดำเนินรายการโดย สุดารัตน์ พรมสีใหม่ เผยแพร่ครั้งแรกเมื่อ 26 เมษายน 2564   

ก่อนหน้าที่คุณจะตัดสินใจเปลี่ยนบทบาทจากนักเขียน นักสัมภาษณ์มาสู่การเป็นบรรณาธิการบริหารเมื่อ 3 ปีที่แล้ว คุณเคยคิดมาก่อนไหมว่าเส้นทางอาชีพตัวเองจะเดินทางมาสู่ตำแหน่งนี้

ถ้าถามว่าตอนเริ่มงานเราฝันไหมว่าจะได้เป็น บ.ก. แน่นอนเราฝัน เพราะมันถูกผลักดันมาแบบนี้ ถ้ามองในแง่ career path ของวิชาชีพนี้ เราเข้ามาก็หวังจะเติบโตในสายงานเหมือนอาชีพอื่นๆ ถ้าเป็นพนักงานบริษัท วันหนึ่งก็หวังอยากเติบโตเป็นหัวหน้า

เราอยู่ในวงการนี้ รู้สึกว่าจริงๆ แล้วตำแหน่งบรรณาธิการเรียกร้องอะไรจากคนคนหนึ่งค่อนข้างมาก แล้วมันเป็นคนละชุดกับสิ่งที่เราเรียกร้องจากการเป็นคนทำงานเขียนหรือตำแหน่งอื่นๆ แต่เราคิดว่าการเลือกของเราอาจจะโชคดีหน่อย เพราะเราพอจะรับได้ในสิ่งที่ต้องเผชิญ แต่ถ้าถามว่ามันควรเป็นทางเดียว [ในการเติบโต] ไหม พอมาเป็นแล้ว เรารู้สึกว่ามันน่าจะมีทางเลือกมากกว่านี้ 

เราเคยคุยกับพี่หนึ่ง-วรพจน์ พันธุ์พงศ์ พี่หนึ่งพูดเรื่องนี้บ่อยมากว่าในบ้านเรา โดยเฉพาะเจาะจงในวงการเรา มันไม่ค่อยมีใครที่ทำสิ่งที่เขาเชี่ยวชาญไปนานๆ จนมันหล่อเลี้ยงได้จริงๆ เช่น คุณเป็นพ่อครัวที่เก่งมากๆ แต่กลายเป็นว่าถูกผลักดันให้เป็นเจ้าของร้านอาหาร ซึ่งที่จริง การเป็นพ่อครัวที่เก่งมากๆ กับการเป็นเจ้าของร้านอาหาร คือคนละศาสตร์กันเลย

หรืออย่างนักฟุตบอลที่เก่งมากๆ เตะบอลเก่ง ก็ขึ้นไปเป็นผู้จัดการทีมเลย ซึ่งถ้าใครดูบอลจะรู้ว่ามันคนละศาสตร์เลย ไม่ใช่ว่าใครที่เตะบอลเก่งจะเป็นผู้จัดการทีมที่ดีเสมอไป แล้วบางทีผู้จัดการทีมที่ดีก็เตะบอลไม่เก่งเลย อย่างผู้จัดการทีมฟุตบอลระดับท็อปๆ ของโลกตอนนี้ เยอร์เกน คลอปป์ (Jürgen Klopp – ผู้จัดการทีมลิเวอร์พูล) ตอนเป็นนักฟุตบอลก็ไม่ได้เก่งระดับเวิลด์คลาสอะไร

เราเลยไม่คิดว่าทุกคนที่เป็นกอง บ.ก. ในวันนี้ วันหน้าจะต้องได้รับการผลักดันให้เป็นบรรณาธิการบริหาร คุณอาจจะได้เป็นบรรณาธิการบทสัมภาษณ์ที่เชี่ยวชาญเรื่องบทสัมภาษณ์ไปเลย แล้วได้เติบโตอย่างจริงจัง

ช่วงก่อนตัดสินใจรับตำแหน่งบรรณาธิการบริหาร a day คุณบอกว่าถ้าทำงานสัมภาษณ์และงานเขียนอยู่ที่เดิมก็ไม่เสี่ยง แล้วอะไรที่ทำให้ตัดสินใจออกจากพื้นที่ปลอดภัยมารับตำแหน่งนี้

เราเชื่อว่าบางคนอาจจะคิดว่ามันเป็นการตัดสินใจที่ไม่ยาก มันคือการขึ้นจากตำแหน่งเล็กไปสู่ตำแหน่งที่ใหญ่ขึ้น ก็น่าจะตัดสินใจได้ง่ายๆ หรือเปล่า 

แต่ความจริง สำหรับเราน่าจะเป็นการตัดสินใจที่ยากที่สุดครั้งหนึ่งในชีวิตเลย เพราะเราไม่ได้ไร้เดียงสาจนไม่รู้ว่าตำแหน่งบรรณาธิการเรียกร้องอะไรบ้าง เราทำงานกับบรรณาธิการบริหารมา รู้ว่ามันไม่ใช่แค่การเติบโตแล้วใช้ทักษะที่เราถนัด ตำแหน่งนี้เรียกร้องทักษะหลายๆ อย่างที่เราไม่แน่ใจว่าตัวเองมีด้วยหรือเปล่า พอจะตั้งสมมติฐานตั้งแต่ยังไม่ได้เป็นแล้วว่าจะต้องเจออะไรบ้าง 

ตอนนั้นเราเลยคิดว่าหรือเราอยู่ที่เดิมก็เซฟดีอยู่แล้ว ก่อนหน้านั้นเราเป็นบรรณาธิการบทสัมภาษณ์ที่ The Cloud ซึ่งเราเองก็ทำบทสัมภาษณ์มาตลอดอาชีพการเป็นสื่อ มันแทบจะเป็นอาวุธหลักของเรา จะว่าทำอยู่มือแล้วหรือยังไม่อยู่มือก็แล้วแต่ครั้งแต่คราวไป แต่เรารู้สึกว่ามันเป็นทักษะที่ไม่ต้องเรียนรู้ใหม่ มันก็เซฟๆ ถ้าอยู่ที่เดิม

เราเคยเล่าให้คนใกล้ชิดฟังไปแล้วบ้าง เราเคยคุยกับพี่หมี-นิภา เผ่าศรีเจริญว่าการอยู่ที่เดิมก็คือคอมฟอร์ตโซน รู้สึกปลอดภัย ไม่เสี่ยง แต่พี่หมีพูดมาคำหนึ่งว่า “การอยู่ที่เดิม มันก็ไม่ใช่ว่าไม่เสี่ยงนะเบลล์” ซึ่งพอมาทบทวนดูอีกที มันก็จริงว่ะ 

สิ่งหนึ่งที่เป็นแรงดึงดูดให้เราย้ายองค์กรและเปลี่ยนตำแหน่ง จึงไม่ใช่แค่ตำแหน่งเงินเดือนที่สูงขึ้น โอเค อาจจะมีบ้าง เราก็ปฏิเสธไม่ได้ แต่เรารู้สึกว่าตำแหน่งนี้มีสิ่งที่เราไม่มี มันน่าจะทำให้เราเป็นมนุษย์ที่สมบูรณ์ขึ้น ตำแหน่งบรรณาธิการน่าจะทำให้เราได้เติมในสิ่งที่ขาด อย่างตอนทำงานสัมภาษณ์ เราคิดว่ามันเป็นการหมกมุ่นกับตัวเองเยอะจนบางครั้งเยอะไปหน่อย (หัวเราะ) มันเป็นงานที่ส่วนตัวมากนะครับ แม้ดูเหมือนว่าจะเป็นงานที่ต้องปฏิสัมพันธ์กับคน ไม่ว่าจะเป็นช่วงที่เราปลีกตัวมาเตรียมตัว พอนัดสัมภาษณ์ไปเจอเขา มันก็คือแค่ช่วงเวลานั้น พอกลับมาเราก็อยู่กับเสียง อยู่กับการปั้นงานให้ดี มันเป็นงานที่เราแทบไม่ได้คิดถึงคนอื่นรอบตัวเลย เผลอๆ บางทีลืมนึกถึงคนอื่นด้วย แบบว่าขอเวลาอีกหน่อย ขอให้งานเราออกมาดีก่อน

งานบรรณาธิการทำให้เราได้ทำงานร่วมกับคนอื่น แล้วการได้ทำงานร่วมกับคนเป็นเรื่องจำเป็นในวิชาชีพหรือในชีวิต รวมถึงการได้มองอะไรเป็นภาพกว้าง ไม่ใช่แค่งานชิ้นเดียวเหมือนตอนเราทำงานบทสัมภาษณ์ 

คนอาจจะติดภาพว่าเราชอบเขียน แต่เรามีอีกทักษะที่ชอบ คนที่เคยทำงานร่วมกันจะรู้ว่าเราเป็นพวกชอบคิด มีนู่นมีนี่อยากทำตลอดเวลา บางทีฟุ้งบ้าง บางทีใช้ได้จริงบ้าง เราเป็นคนชอบคิดมากๆ เพราะหลายๆ อย่างที่เราชอบคิดจะเกิดขึ้นไม่ได้ ถ้าเราไม่ได้เป็นผู้ปลุกปั้นมันขึ้นมา 

ที่สำคัญ a day ไม่ใช่องค์กรที่เราไม่คุ้นเคย เราติดตามมาตั้งแต่เราเป็นผู้อ่าน ถ้ามันจะเป็นความเสี่ยง มันก็ไม่ได้เริ่มจากติดลบหรือศูนย์ แต่มันมีต้นทุนบางอย่าง แล้วเราก็รู้จักพี่ๆ น้องๆ หลายคนที่ทำงานที่นั้นก่อนหน้านี้แล้ว เพราะฉะนั้นมันไม่ได้เป็นการเสี่ยงที่น่ากลัวขนาดนั้น เราเลยตัดสินใจลองเปลี่ยนดู

เรื่องเหล่านี้บวกกันสองสามอย่าง เรารู้สึกว่ามันเป็นแรงดึงเรา เรารู้สึกว่ามีโอกาสเติบโต ไม่ใช่เติบโตในทางอาชีพนะ หมายถึงข้างในเราเติบโต

พอได้ลงมือทำงานจริงๆ แล้วมันเป็นไปอย่างที่คิดไว้ไหม

มันมีทั้งส่วนที่ดีกว่าที่คิดไว้และน่ากลัวกว่าที่คิดไว้ ซึ่งก็ย้อนแย้งเหมือนกันว่า ส่วนที่ดีกว่าที่คิดไม่ได้น่ากลัวกว่าที่คิด 

สำหรับเรา บรรณาธิการยากตรงที่ต้องมี 3 ทักษะ ซึ่งเราไม่แน่ใจว่าในโลกนี้มีคนที่มีสิ่งเหล่านี้ครบในคนเดียวหรือเปล่า คือ หนึ่ง-ทักษะในการดูแลเรื่องคุณภาพเนื้อหา แค่เรื่องนี้เรื่องเดียวก็โคตรยาก จะทำเนื้อหายังไงให้ดี ก็ยากสุดๆ นะ สอง-นอกจากดูเนื้อหา ต้องดูในภาคธุรกิจด้วยว่าทำอย่างไรให้องค์กรไปรอด เราเคยเห็นเคสมากมายที่สื่อดีๆ อยู่ไม่ได้ เพราะในด้านธุรกิจไปไม่รอด แล้วสาม-ก็คือด้านมนุษย์ 

แล้วลองสังเกตทั้ง 3 เรื่องนี้ โห มันจะมีคนไหนที่เชี่ยวชาญตกผลึกแตกฉานใน 3 เรื่องนี้พร้อมกัน มันยากมากๆ แต่มันกลับเรียกร้องจากตัวบรรณาธิการคนเดียว แล้วเราก็รู้ตัวว่าเราไม่ได้สมบูรณ์แบบ เราบกพร่องในหลายอย่างมากๆ  

ถามว่าสิ่งที่เรากลัวที่สุดกับการมาทำงาน บ.ก. คืออะไร ก็คือเรื่องคน เพราะด้านอื่นๆ ไม่ว่าจะเรื่องต้นฉบับ การคิดโปรเจกต์ การทำนิตยสารสักเล่ม การมีสกู๊ปสักชิ้น การคุยกับลูกค้า เราคิดว่าเราอาจจะอยู่ในวงการมานานประมาณหนึ่งจนพอจะเห็นวิธีขึ้นรูปของมัน รู้ว่ามันจะทำอย่างไร แต่เรากังวลเรื่องคน เรากลัวว่าจะคุยกับน้องอย่างไร เพราะตำแหน่งเราเรียกร้องอะไรหลายๆ อย่าง ไม่ว่าจะเป็นความน่าเชื่อถือ ความไว้เนื้อเชื่อใจ ความเคารพอะไรบางอย่าง ซึ่งเราไม่แน่ใจว่าเรามีสิ่งนั้นหรือเปล่าในช่วงที่เรามาเริ่มทำงาน แต่ด้วยความที่ทีมดีมากๆ ทำให้เรารู้สึกว่า เรื่องคนไม่น่ากลัวอย่างที่คิด  

ส่วนเรื่องที่เราคิดว่าน่ากลัวกว่าที่คิดในบางเรื่อง ก็เป็นเรื่องคนอีกนั่นแหละ เรามักจะแชร์กับคนอื่นเสมอว่า ด้านอื่นๆ ก็ยากนะ แต่มีคนให้เราปรึกษา เรื่องคุณภาพต้นฉบับที่ดี เราก็พอหาได้ว่ามันเป็นอย่างไร แก้ตรงนี้ไม่ได้เดี๋ยวก็มีพี่คนนั้นบอก ด้านธุรกิจก็มีผู้บริหารมาเป็นที่ปรึกษาเรา

แต่เรื่องมนุษย์ละเอียดอ่อนมาก น้องคนนี้ทุกข์สุขกับเรื่องแบบหนึ่ง เศร้ากับเรื่องอีกแบบหนึ่ง คนหนึ่งไม่พอใจเรื่องแบบนี้ แล้วเรื่องแบบนี้บางทีเราต้องแบกไว้คนเดียว ไม่สามารถเอาไปบอกคนอื่นได้ เรื่องมนุษย์มันเซนสิทิฟมาก คิดว่าทุกคนที่มีปฏิสัมพันธ์กับมนุษย์อยู่แล้วน่าจะเข้าใจเรื่องนี้ดี บางทีประโยคนี้พูดกับคนนี้ได้ แต่พูดกับคนนี้ไม่ได้ เช่น การจะทำงานงานหนึ่ง ทั้งๆ ที่รู้ว่าต้นทุนที่เรามีไม่สามารถเสกสิ่งนี้ได้ ถ้าทุกคนไม่ขยับตัวเองเข้าไปทุ่มมันอีกหน่อย แล้วเราจะพูดอย่างไรให้ทุกคนฟังเรา งานนี้มันคุ้มเหนื่อยนะเว้ย ต้องคิดเสมอว่าทำอย่างไรให้เขาไม่รู้สึกว่าเรากำลังเอาเปรียบเขาอยู่ 

เพราะฉะนั้น ถ้าถามว่ามันเป็นภาพอย่างที่คิดไว้ไหม มันก็มีทั้งสิ่งที่ดีกว่าที่คิดและน่ากลัวกว่าที่คิด 

ฟังแล้วตำแหน่งบรรณาธิการบริหารดูต้องแบกรับภาระไว้มากเหมือนกัน เคยคิดไหมว่าเราต้องทุ่มเวลาและทำงานมากกว่าคนอื่น

เราไม่ได้คิดว่าตำแหน่งบรรณาธิการต้องแบกรับคนเดียวในการทำงานสื่อ ตอนหลังเราเรียนรู้ว่าไม่ต้องทำงานคนเดียว อีกอย่าง คนทำงานแต่ละตำแหน่งก็มีภาระแบกรับแตกต่างกัน เราทำงานในกอง บ.ก. มานานจนพอรู้ความเจ็บปวดและแฮปปีของงานในตำแหน่งนั้นด้วย แล้วพอเป็น บ.ก. มือใหม่มาก มาเจอชุดความกดดันอีกแบบ ต้องมาบริหารคนที่เคยอยู่ในสถานการณ์เดียวกันมาก่อน เราจะเข้าใจ เช่น น้องบางคนเขียนงานไม่ทัน ไม่ใช่ว่าเขาไม่ทำงาน เราเข้าใจว่างานเขียนมันใช้เวลา มันไม่ได้หมายความว่าเขาขี้เกียจ คนทำงานเขียนก็มีแรงกดดันอีกแบบ เราค่อนข้างเข้าใจ ซึ่งไม่รู้ว่าเป็นข้อดีหรือข้อเสียนะ 

เราไม่ได้มองว่าการเป็นบรรณาธิการเป็นหน้าที่ที่เหนื่อย มันเป็นธรรมชาติที่ตำแหน่งนี้มีหน้าที่เหล่านี้มานานแล้ว ไม่ได้รู้สึกตัวเองเสียสละ จริงๆ บรรณาธิการคนไหนก็ไม่ได้คิดว่าตัวเองเสียสละ มันเป็น job description เขาไม่ได้มาเซอร์ไพรส์คุณตอนหลังว่าคุณต้องทำสิ่งนี้ วันที่เราตอบรับ เรารู้อยู่แล้วว่ามีลิสต์งานอะไรบ้างที่ต้องเจอ แค่มันเป็นแบบที่เรายังไม่คุ้นชิน และไม่รู้ว่าเราทำได้ดีครบถ้วนหรือเปล่า จนมันมีคำหนึ่งเราจดในมือถือเลยนะว่าตำแหน่งบรรณาธิการทำให้เรารู้สึกว่าตัวเองดีไม่พอตลอดเวลาเลย 

ทำไมล่ะ

เช่น คิดโปรเจกต์หนึ่งแล้วภูมิใจมาก แล้วพอมันออกมา คุณก็ต้องคิดสิ่งใหม่ให้มันไปต่อได้อีกอยู่ดี หรือทำงานชิ้นหนึ่งเสร็จ คุณก็ต้องเผชิญหน้ากับโจทย์ใหม่ หรือบางทีเรากำลังภูมิใจกับโปรเจกต์นี้มากเลย ดีมาก แต่น้องในทีมอาจจะไม่พอใจ บอกว่างานหนัก เราก็รู้สึกว่ากูบริหารไม่ดีว่ะ หรือบางวันน้องๆ แฮปปีหมด ฝ่ายบริหารมาบอกว่า เฮ้ย ยอดไม่ดีนะ กำไรน้อย ไม่โอเคอีกแล้ว ทีมกำลังแฮปปี้อยู่ แล้วเราไม่สามารถเอาเรื่องไม่โอเคนี้มาบอกเพื่อให้มันเสียสปิริตบางอย่างได้ ต้องแบกเอาไว้อีก

เพราะฉะนั้นอย่างที่เราบอกแหละ ใน 3 ด้าน จะมีอะไรที่มากระทบให้เรารู้สึกดีไม่พออยู่เสมอ กำลังภูมิใจเรื่องงานอยู่ดีๆ เรื่องคนมีปัญหา กำลังแฮปปี อ้าว เรื่องธุรกิจมาแล้ว โฆษณาเข้ามาแต่คนทำงานไม่พออีกแล้ว ถ้าไปสั่งน้อง กูโดนด่าแน่เลย แบบนี้ทำให้เรารู้สึกว่าตัวเองไม่โอเค ดีไม่พอตลอด ไม่มีวันไหนเลยที่กูรู้สึกสุดยอด 

เวลาทำงานแล้วรู้สึกดีไม่พอตลอดเวลา คุณต้องรักษากำลังใจในการทำงานอย่างไร

พวกปัญหารายทางที่เราบอกไม่ได้เกิดขึ้นทุกวันขนาดนั้นหรอก มันเป็นช่วงๆ แต่ที่เราบอกว่าเราดีไม่พอ คือพอมันเจอปัญหาตลอดเวลา เหมือนจะนิ่งแล้วนะ แต่มันนิ่งไม่ได้ มันจะมีจุดที่ต้องอุดเรื่อยๆ แล้วมันจะรู้สึกว่าเรายังทำได้ไม่ดีพออยู่ 

แต่ตัวงานก็มีทั้งด้านที่รู้สึกว่าเราไม่ดีและเราได้อะไรจากสิ่งนี้อยู่ เหมือนกับเวลาเราทำงานอื่นๆ ที่ก็ต้องมีช่วงที่มันยากและมีด้านที่เราได้รับสิ่งที่โอเค เอาจริงๆ ถ้าบรรณาธิการไม่สนุกหรือไม่มีอะไรที่เวิร์กหรือรู้สึกดีกับมัน เราก็ไม่ได้อยู่นานขนาดนี้ ถ้าอย่างนั้นเราทำปีเดียว แล้วขอลาออกไปเป็นบรรณาธิการบทสัมภาษณ์เหมือนเดิมได้ไหม

ถ้าคิดว่าด้านที่ทำให้เราดีไม่พอคือราคาที่ต้องจ่าย เราจ่ายเพื่อความภูมิใจในงานที่เราบอกได้เต็มปากว่านี่คือสิ่งที่ทีมเราทำร่วมกัน เราภูมิใจกับมัน  

ความภูมิใจแบบนี้คล้ายกับตอนเราทำงานสัมภาษณ์คนเดียว มีคนอ่านงานเราแล้วชื่นชอบ หรืองานเรามีประโยชน์กับคนอื่น เราก็ภูมิใจใช่ไหม งานบรรณาธิการก็เหมือนกัน เวลางานชิ้นหนึ่งเสร็จ แล้วคนบอกว่าสิ่งนี้มีประโยชน์กับเขา หรือมันตอบโจทย์และวัตถุประสงค์บางอย่างที่ทำขึ้นมา สิ่งที่เราได้ลองทำในเชิงฟังก์ชันได้ตอบสิ่งนั้นแล้วนะ

แล้วเราก็จะมีความภูมิใจอีกมิติที่ต่างกับการทำงานสัมภาษณ์ เช่น น้องคนหนึ่งรับหน้าที่เขียน แล้วเราคอยเป็นคนให้คำปรึกษา โดยที่เราไม่ได้ทำอะไรเลยนะ แล้วพอน้องทำมันได้ดี คนชื่นชม เราก็แฮปปีด้วย 

ในมุมหนึ่งสำหรับเรา ตำแหน่งบรรณาธิการสลายอัตตาเรานะ มองเผินๆ มันเหมือนเป็นตำแหน่งที่จะทำให้เรามีอัตตา แบบมึงเป็น บ.ก. นะเว้ย คือถ้าไม่ได้บ้าอำนาจ ไม่ได้บ้าตำแหน่งบรรณาธิการมาก เราว่าตำแหน่งนี้โคตรสลายอัตตาเราเลย แทนที่เราจะต้องทำงานเองเพื่อให้คนชื่นชม อยากเห็นสิ่งนี้เกิดขึ้น เราผลักดันคนอื่นให้ทำได้ไหม แล้วไม่ต้องคาดหวังคำชมด้วยว่าคนจะมาชมมึงว่างานชิ้นนี้เก่งมากเลย ดีมากเลย ผลักดันออกไปโดยที่ไม่ต้องมีตัวตนเราอยู่ในนั้นได้ไหม มันทำให้เราไม่คิดถึงเครดิตเท่าไหร่ สำหรับเรา บ.ก. ที่ดีคือการกระจายเครดิตไปสู่ทีมด้วยนะ มันคือการบอกว่ามันไม่ได้เกิดขึ้นมาเพราะเราคนเดียว ไม่ใช่ one man show อีกแล้ว แต่สิ่งนี้คือทีมทำนะเว้ย 

แต่บางทีในแง่ภาพรวม คนจะชม บ.ก. เหมือนกันนั่นแหละ สุดท้ายมันกลับมาที่เรา แต่เรามีหน้าที่อธิบายว่าสิ่งนี้ไม่ได้เกิด เพราะเราคนเดียวอยู่ดี เพราะสิ่งนี้จะไม่เกิดขึ้นถ้าไม่มีตัวละครต่างๆ ที่อยู่ข้างหลังเต็มไปหมด 

ตอบคำถามทั้งหมด การเป็น บ.ก. มีสิ่งที่กลับมาเติมเราเหมือนกัน อันหนึ่งให้ความภูมิใจโดยตรง อีกอันหนึ่งเป็นผู้ผลักดัน ความรู้สึกที่ว่าเราได้เห็นคนคนหนึ่งพัฒนาขึ้น แล้วเราแฮปปี เมื่อก่อนตอนเราเป็นกองฯ หรือทำงานสัมภาษณ์ เราไม่มีความสุขแบบนี้ คือพอเห็นเพื่อนร่วมงานเราเก่งขึ้น เราก็รู้สึกว่าดีนะ แต่ไม่ได้รู้สึกแฮปปีหรือภูมิใจเหมือนตอนเป็น บ.ก. การที่คนคนหนึ่งจับทิศจับทางไม่ถูกว่าจะทำงานอย่างไรดี แล้วเราไกด์บางอย่างให้เขา แชร์บางอย่างต่อกัน หรือพยายามล้มลุกคลุกคลานไปด้วยกัน แล้ววันหนึ่งเห็นก้าวของเขามาสู่จุดใหม่ เรามีส่วนร่วมในการพัฒนาของเขา ทำให้เราดีใจนะ เราไม่มีความรู้สึกนี้ตอนที่เราเป็นคนทำงานสัมภาษณ์เลย

ถ้างานบรรณาธิการให้อะไรบางอย่างแตกต่างกับงานสัมภาษณ์ แล้วในแง่ตัวตนคุณเปลี่ยนไปไหม

เรารู้สึกว่าตัวเองนึกถึงคนอื่นมากกว่าเดิมเยอะเลย เราเห็นความสำคัญของมนุษย์ แต่ก่อนตอนที่เราทำงานสัมภาษณ์ มันค่อนข้างเป็นการเอางานตัวเองให้รอดก่อน แต่พอเป็น บ.ก. เราทำแบบนั้นไม่ได้ ทุกอย่างจะพัง ต้องนึกถึงคนอื่นก่อน

กลับมาเรื่องที่บอกว่าเราจะบริหารจัดการเรื่องมนุษย์อย่างไร ตำแหน่งนี้เปลี่ยนให้เรารู้ว่ามนุษย์โคตรสำคัญเลย พอเราเป็นคนถอยมาดูภาพรวม ทุกคนเกี่ยวข้องกันหมด คนนี้อาจจะหมกมุ่นกับสิ่งนี้อยู่ งานนี้เขาดูเป็นพระเอกของงาน มีคนรับหน้าว่าสิ่งนี้เป็นโปรเจกต์อะไร โห ข้างหลังเต็มไปด้วยมนุษย์มากมายที่ใช้พลัง ใช้เวลาร่วมกัน คนอื่นๆ ก็สำคัญมากๆ เลยนะ 

เพราะฉะนั้น เรามาอยู่ตรงนี้ เรามองทุกอย่างเปลี่ยนไปมาก จะพูดอะไรคิดแล้วคิดอีก ทำร้ายจิตใจใครหรือเปล่าวะ เพราะเราไม่ใช่คนน่ารักหรือคนดีอะไร ถ้าเราไม่ต้องคิดถึงคนอื่น เราก็เป็นคนที่ปากร้ายๆ คนหนึ่งเลย แล้วเรารู้สึกว่าพอมาทำงานนี้ เราติดขัดด้านมนุษย์ค่อนข้างเยอะ เราไม่อยากให้การทำงานไปถึงจุดที่คนทำงานทุกข์จนทนไม่ได้ ซึ่งต้องหมั่นคอยตรวจสอบคุณภาพชีวิตคนทำงาน แล้วเราเป็นคนอินโทรเวิร์ต ทั้งที่เรื่องแบบนี้ต้องใช้พลังมากเลยนะ ตำแหน่งบรรณาธิการก็ช่วยขัดเกลาเราในส่วนนี้ มันทำให้เราปฏิสัมพันธ์กับคนมากขึ้น ทำให้เราเห็นความสำคัญกับทุกตัวละคร ทำให้รู้เลยว่าถ้าเราขาดคนนี้ไปจะกระทบอะไร

แต่ไม่ได้หมายความว่าเรามองเขาเป็นอุปกรณ์ชิ้นหนึ่งที่ขาดไม่ได้นะ เราอาจจะเซนสิทิฟนิดหนึ่งเวลาเห็นการปฏิบัติที่ไม่ค่อยเป็นธรรมกับคนทำงาน แม้เราเองจะอยู่ในจุดที่มีอำนาจตัดสินใจ แต่ก็ไม่ใช่ทั้งหมด หลายๆ ครั้งถ้ามีสิ่งที่ไม่โอเคกับคนทำงาน เราจะพยายามกรองก่อนรับคำสั่งให้มาทำงาน  

เรื่องมนุษย์สำคัญอย่างไรในบรรดาสามอย่างที่คุณบอกว่าบรรณาธิการบริหารต้องดูแล

เราไม่ได้สร้างจากเครื่องจักร คุณภาพงานสัมพันธ์กับสปิริตของคนนะ ถ้าสังเกตวิชาชีพพวกเรา งานที่ทรงพลังหรือมีเมจิกบางอย่างอาจจะเกิดขึ้นไม่ได้ ถ้าเกิดขาดสปิริตบางอย่างของทีมหรือจิตวิญญาณของคนทำ หรือพลังอะไรบางอย่างที่อยากผลักดันสิ่งนี้ออกมามากๆ 

เขียนบทความใครๆ ก็เขียนได้ จริงๆ นะ จบปีแรกก็เขียนได้ เผลอๆ บางคนเก่ง เขียนได้ตั้งแต่เรียนแล้ว แต่พอมาอยู่ในองค์กร เราจะรู้เลยว่างานบางชิ้นจะเกิดขึ้นในสภาพแวดล้อมที่เหมาะสม มีคนผลักดันประเด็นนี้ให้เรา มีคนหนุนหลังช่วย โดยที่ไม่รู้หรอกว่าประเด็นนี้จะมีกำไรในเชิงธุรกิจหรือเปล่า เรารู้สึกว่าพลังบางอย่างจะไม่เกิดขึ้นถ้าคุณไม่เห็นความสำคัญของมนุษย์ 

เรารู้นะว่าพวกเราตั้งใจทำงานอย่างมืออาชีพอยู่แล้ว ไม่ว่าองค์กรจะปฏิบัติต่อเราอย่างไร แต่ถ้าเราทำงานในองค์กรหนึ่งที่เขาไม่เห็นความสำคัญของเรา เราก็ไม่มีทางที่จะให้ใจองค์กรนี้ งานก็จะขาดพลังอะไรบางอย่าง ในสภาพแวดล้อมที่ไม่เป็นธรรม มันจะสร้างงานที่ดีได้อย่างไร เราเป็นมนุษย์ ไม่ใช่เครื่องจักรที่อุณหภูมิร้อน-เย็นไม่ส่งผลกระทบเลย เราถึงพยายามทำให้บรรยากาศการทำงานไม่ติดขัดเรื่องอารมณ์ พยายามทำให้ทุกคนไม่ต้องกังวลเรื่องมนุษย์ ไม่ต้องกังวลว่าหัวหน้าจะมาเล่นอะไร จับผิดอะไรไหม หรือเสนออะไรไปก็ไม่ผ่าน เราพยายามสร้างบรรยากาศการทำงานที่เอื้อให้เกิดพลังทำงานได้มากที่สุด

คุณมีวิธีการสร้างบรรยากาศเหล่านั้นอย่างไร

จริงๆ ก็ลองผิดลองถูกไป ยังไม่ได้แตกฉานสิ่งนี้ เพียงแต่ว่ามีวิธีการที่เราใช้เสมอมา คือการทำให้ทุกคนรู้สึกเห็นโอกาส ทุกอย่างเป็นไปได้ เราอ่านหนังสือต่างประเทศ อย่างบริษัท Pixar มีอยู่ไอเดียหนึ่ง คืออย่าไปยิงไอเดียที่ยังไม่เสร็จสมบูรณ์ เราเลยพยายามสร้างบรรยากาศที่ทุกคนไม่กลัวในการเสนอความเห็นหรือออกไอเดียอะไรบางอย่าง คำแรกของไอเดียนั้นอาจจะพิเรนทร์มากเลยก็ได้นะ แต่บางทีมันอาจจะเป็นสิ่งที่โคตรใหม่แล้วก็สนุกมากๆ อาจเป็นนวัตกรรมในการเล่าเรื่องก็ได้ เราพยายามสร้างบรรยากาศไม่ให้คนรู้สึกว่าพูดอะไรไปแล้วจะโง่ เพราะเราเคยกลัวมาก่อน มันมีหลายไอเดียที่ไม่กล้าพูดออกไป แล้วพอเห็นคนอื่นทำ อ้าว เวิร์กนี่หว่า ทำไมตอนนั้นเราไม่กล้าเสนอวะ เราไม่อยากให้ใครยิงไอเดียตัวเอง อยากให้ทุกคนกล้า

แต่ภายใต้คำว่าเสนออะไรก็ได้ ไม่ใช่พูดโพล่งอะไรออกมาเลยก็ได้ เราพยายามทำให้ทุกคนรู้วิธีสกรีนไอเดียตัวเองได้ สุดท้ายคุณต้องมีหลักคิดอะไรบางอย่างที่ทั้งทีมยึดถือร่วมกัน เช่น คุณกำลังจะเขียนบทความชิ้นหนึ่ง คุณต้องมีประเด็น ต้องตอบได้ว่าทำไมอยากเล่าเรื่องนี้ และมันเกี่ยวกับแบรนด์ดิ้งของสื่อเราอย่างไร สรุปคือทำอะไรก็ได้ถ้าคุณมีเหตุผลหรือมีบางอย่างที่คุณรู้สึกว่ามันไปในทิศทางเดียวกัน

พอมาเป็นบรรณาธิการในช่วงหลัง มีจังหวะที่อยากกลับไปทำงานสัมภาษณ์ไหม

เสมอ (ตอบทันที) คือเราไม่ได้รู้สึกหวงแหนตำแหน่งบรรณาธิการบริหาร มันอาจจะไม่เหมือนทำงานบริษัทเนอะ ที่วันหนึ่งเมื่อคุณได้เป็นผู้บริหารแล้ว คุณอาจจะไม่อยากกลับไปเป็นพนักงานออฟฟิศ แต่ว่าสำหรับเรา งานที่เราเติบโตมาคืองานเขียนและงานสัมภาษณ์ จริงๆ แล้วเราถนัดหลายอย่าง ทำได้ดีหรือเปล่าอีกเรื่องหนึ่งนะ แต่ว่าชอบทำหลายอย่าง (หัวเราะ) 

เรารู้สึกว่าสิ่งที่เราทำได้ค่อนข้างอยู่มือกว่างานบริหารก็คืองานเขียนหรืองานสัมภาษณ์ที่เราเติบโตมา พอมาเป็นบรรณาธิการ มันก็มีบางช่วงที่ได้กลับไปทำ แต่ไม่ใช่ในความถี่เท่าเดิม ช่วงเวลาที่ออกไปก็มีกังวลว่างานจะไม่ดีเหมือนเดิมนะ แต่ช่วงที่ได้ฟุตเทจกลับมา ได้อยู่กับเทปที่ถอดมาแล้ว แล้วมาเรียบเรียง บางจังหวะลงล็อกพอดี โห แฮปปี้ ความรู้สึกฟินเหมือนช่วงเวลาที่เราเป็นคนทำงานเขียนมันกลับมา ความรู้สึกนี้มันดีมากเลย 

ในฐานะที่คุณทำงานสัมภาษณ์และบรรณาธิการ คิดว่ามีอะไรในงานบรรณาธิการที่ช่วยเติมเต็มงานสัมภาษณ์ และงานสัมภาษณ์มาช่วยเติมเต็มงานบรรณาธิการบ้างไหม

คำถามดีนะ (คิด) เอาสิ่งที่งานบรรณาธิการเติมเต็มงานสัมภาษณ์ก่อน การเป็นบรรณาธิการได้อ่านงานคนอื่นเยอะมาก เห็นคุณภาพงานหลายเฉด ตั้งแต่งานที่ต้องปรับปรุงอย่างมากมาย จนถึงงานที่โคตรดีผ่านฉลุยครบถ้วนทุกมิติ ทั้งในแง่ประเด็นและความงามทางภาษา 

เราเคยได้ยินพี่ บ.ก. บอกว่า การทำให้คนได้เรียนรู้ดีที่สุดคือการสอนหรือการตรวจคนอื่นแล้วเห็นจุดบกพร่อง เพราะฉะนั้นงานบรรณาธิการถึงช่วยเติมเต็ม เพราะเราเห็นจุดบกพร่องเต็มไปหมด เห็นบาดแผลที่คนอื่นสร้างในงานเขียน สิ่งเหล่านี้ทำให้เราพอจะรู้ว่าวันหนึ่งถ้าสร้างงาน เราต้องระวังอะไรบ้าง

ส่วนงานสัมภาษณ์มาเติมเต็มงานบรรณาธิการอย่างไร อันนี้ชัดเลย คือการตั้งคำถาม เป็นทักษะที่โคตรดีที่คนทำสัมภาษณ์ได้ฝึกปรือ เรารู้สึกว่าคำตอบที่ถูกไม่สำคัญเท่าคำถามที่ถูก เพราะคำตอบที่ถูกบางทีไม่ได้มีคำตอบเดียว คือคุณตอบถูกหรือเปล่าไม่รู้ แต่ถ้าถามผิด ไม่มีทางตอบถูกได้

คำถามของการทำงานสัมภาษณ์ไม่ใช่คำถามเบสิกอย่างคุณทำงานอะไร กินข้าวหรือยัง มันเป็นคำถามที่ไปสู่ข้างใน มันทำให้เราแม่นประเด็น ตั้งคำถามถูกหรือเปล่า คำถามนี้แหลมคมหรือยัง ท่ามกลางสิ่งที่เราอยากรู้ ถามแบบอื่นได้หรือเปล่า สิ่งนี้สำคัญกับการเป็น บ.ก. มาก แล้วคนเป็น บ.ก. ไม่ได้ทำงานด้วยคำตอบ เช่น เราประชุมกอง 10 คน เราไม่ได้มีหน้าที่บอกทุกคนว่าต้องทำอะไร เราจะโยนคำถามไปก่อน เรากำลังจะเปิดตัว Capital ทำอย่างไรให้คนรู้ว่าเราเชื่ออะไรได้อย่างรวดเร็วที่สุด แล้วก็ถูกกระจายไปในวงกว้าง ทำอย่างไรให้คนรู้ว่า Capital ไม่ได้หมายถึงทุนนิยม แต่หมายถึงต้นทุน ทุกคนก็ช่วยกันคิด ถ้าเราไม่ตั้งคำถามนี้ขึ้นมา มันจะไม่มีทางได้ทำอะไรบางอย่างที่ตอบโจทย์ 

พูดถึง Capital แล้ว หลังจากออกจากตำแหน่งบรรณาธิการบริหาร a day คุณก็มารับหน้าที่ดูแลสื่อธุรกิจนี้ เล่าได้ไหมว่าสื่อใหม่นี้เกิดขึ้นได้อย่างไร

ถ้าจะคุยถึงจุดเริ่มต้นของ Capital ต้องให้เครดิตคนที่ปลุกปั้นมาก่อนที่เราจะย้ายมาเป็นบรรณาธิการบริหาร ก่อนหน้าที่เราจะลาออกจาก a day ย้วย-นภษร ศรีวิลาศ ที่ทำเพจน้องนอนในห้องลองเสื้อและเป็นทีมบรรณาธิการสำนักพิมพ์แซลมอนด้วย มีการคุยกันในองค์กรว่าอยากทำสื่อธุรกิจที่ทุกคนอ่านได้ ไม่ใช่แค่คุณต้องเป็นผู้บริหารหรือนักธุรกิจเท่านั้น เขาคุยกันว่าไปเดินแผงนิตยสารต่างประเทศ เช่น B Magazine นิตยสารที่เล่าเรื่องแบรนด์ ทำไมทำให้เราอยากซื้อและสะสมให้ครบทุกเล่ม โดยที่ไม่ได้รู้สึกว่าสื่อเหล่านั้นยัดเยียดความรู้เกี่ยวกับข้อมูลธุรกิจให้เราเลย

แต่ในบ้านเรา เมื่อนึกถึงสื่อธุรกิจที่เราอ่านได้สนุกดี เพลิดเพลิน สื่อธุรกิจไหนที่เล่าแบบนี้โดยเฉพาะ เรายังนึกไม่ค่อยออก อาจจะมีนะครับ ให้เกียรติคนที่อาจจะพยายามทำมันอยู่ แต่ว่า top of mind ยังนึกไม่ออก เวลาเราอยากอ่านเรื่องธุรกิจเชิงลึกอย่างเป็นมิตร เราต้องไปหาอ่านจากสื่อไลฟ์สไตล์ อย่างตอนเราทำ a day ก็มี หรือสื่ออื่นๆ ก็ทำ แต่มันเป็นบางคอลัมน์ มันไม่มีสื่อโดยเฉพาะที่กัดไม่ปล่อยกับเรื่องนี้ แล้วทำมันในทุกมิติ สิ่งเหล่านี้เป็นไอเดียของย้วย

แล้วมาผนวกกับเราออกจาก a day ตอนนั้นตั้งใจมาว่างงานเลยนะ ไม่ได้ออกมาเพื่อสิ่งนี้ เขารู้ว่าเราว่างงาน เลยลองชวนคุยดู พอฟังไอเดียเราเห็นด้วยว่า เออว่ะ ทำไมยังไม่มีสื่อแบบนี้ หรือมีแต่ทำไมยังนึกไม่ออก ก็เลยลองดูก็ได้ เพียงแต่ก็มีคำถามแหละ ซึ่งหลายคนก็คงสงสัย ทำสื่อไลฟ์สไตล์มาตลอดแล้วมาทำสื่อธุรกิจจะทำได้ไหม เราก็ทบทวนตัวเองเรื่องนี้หนักเหมือนกัน 

ทำไมเกิดสงสัยขึ้นมาว่าเราจะทำได้ไหม? 

เพราะทำสื่อที่ว่าด้วยเรื่องไลฟ์สไตล์มาตลอด แล้วมาทำสื่อธุรกิจ มันคือการเปลี่ยนหมวด แม้จะใช้ทักษะชุดเดิมได้ แต่ในแง่ความรู้ เราจะใช้ชุดเดิมไม่ได้ แต่อันนี้เป็นความคิดในตอนแรกนะ มันน่าจะเกิดจากภาพอะไรบางอย่างที่เราติดมาจากสื่อที่เราเห็นการนำเสนอเศรษฐกิจแบบมหภาค ราคาตลาด สิ่งนั้นสิ่งนี้ผันผวน คือข้อมูลพวกนี้มีประโยชน์ มีฟังก์ชันในแบบหนึ่ง แต่มันยังไม่มีอะไรที่พวกเราบางคนรู้สึกว่ามันใกล้ตัว

แล้วถามว่าเราไม่รู้เกี่ยวกับธุรกิจขนาดนั้นไหม เราไม่เกี่ยวข้องกับธุรกิจขนาดนั้นไหม ก็ไม่ใช่ เรามาทำสื่อใหม่ที่ชื่อ Capital เป็นการทำธุรกิจหรือเปล่า ตอบได้เลยว่าร้อยเปอร์เซ็นต์ มันเชื่อมโยงกับความเชื่อหนึ่งของ Capital ที่บอกว่า “เราทุกคนล้วนเกี่ยวข้องกับธุรกิจ ไม่ว่าคุณจะสวมหมวกใบใด” เพราะฉะนั้น เรารู้สึกว่าสิ่งที่เราคลุกคลีหรือสนใจ ไม่ว่าจะเรื่องแฟชั่น กีฬา ศิลปะ ดีไซน์ อาหาร ทุกอย่างเป็นธุรกิจหมดเลย แค่เราบิดแว่นนิดเดียว แทนที่เราจะมองฐานแว่นไลฟ์สไตล์ เราเปลี่ยนแว่นมามองผ่านแว่นธุรกิจ เช่น สัมภาษณ์พ่อครัว ถ้าเป็นแว่นไลฟ์สไตล์ก็จะถามว่าแรงบันดาลใจของคุณในการทำเมนูนี้คืออะไร เราก็พลิกมาถามว่า เมนูนี้มันสำคัญอย่างไร มันตอบโจทย์กับธุรกิจคุณอย่างไร

ตอบคำถามก็คือ ก่อนหน้านี้มันเป็นความกังวลของเราว่าความสนใจที่เรามีจะเกี่ยวกับธุรกิจไหม แต่พอมาทบทวน เรารู้สึกว่ามันน่าจะเกี่ยวแหละ มันแค่เปลี่ยนแว่นการมองนิดเดียวก็สามารถบอกเล่าได้แล้ว

Capital มีนิยามคำว่าธุรกิจว่าอย่างไรบ้าง ถึงวางแนวคิดไว้ว่า ‘เราทุกคนล้วนเกี่ยวข้องกับธุรกิจ’ 

เราอาจจะไม่มีคำอธิบายที่ซับซ้อนในความหมายของคำคำนี้ มันก็ง่ายๆ เลย ธุรกิจคือ กิจการหรือกิจกรรมอะไรสักอย่างที่ทำขึ้นเพื่อกำไร 

เพียงแต่ว่าธุรกิจแบบไหนต่างหากที่เราสนใจ เราก็คุยกันว่าทำไมเราอยากคุยกันเรื่องนี้ มิชชั่นของพวกเราคืออะไร แน่นอนว่ามิชชั่นแรกคือเราอยากให้ทุกคนมองว่าธุรกิจเป็นเรื่องใกล้ตัว  ส่วนมิชชั่นอีก 2 ข้อ ที่เราใส่ไว้ในเว็บอันดับต้นๆ ด้วย และพยายามพูดเตือนกันเรื่อยๆ ว่านี่คือความเชื่อของพวกเรา คือ เราเชื่อว่าธุรกิจที่ดีทำให้ชีวิตมนุษย์ดีขึ้นได้ ธุรกิจที่เราให้ความสำคัญ คือธุรกิจที่ไม่ได้คิดถึงแค่ตัวเอง คุณนึกถึงตัวละครอื่นๆ ที่อยู่ในสายพานของธุรกิจด้วย ทั้งคนทำงาน ผู้บริโภค หุ้นส่วน หรือองค์ประกอบอื่นๆ หลายๆ องค์กรที่เราไปคุย เขาอาจจะไม่ได้ประสบความสำเร็จเป็นเบอร์ 1 ของวงการ ฉันขายสิ่งนี้ได้มากที่สุด แต่เขาดูแลคนดีมาก สำหรับเราก็นับว่าเป็นธุรกิจที่ดีแล้วนะ ส่วนเขาจะสามารถประคองตัวเองไปด้วยโมเดลธุรกิจแบบไหน มันก็เป็นเรื่องที่ต้องคุยกัน 

หรือผู้บริโภค แน่นอนว่าอันนี้ง่ายสุดละ ธุรกิจที่ดีต้องใส่ใจผู้บริโภค คุณแก้ปัญหาอะไรในชีวิตของเขาเหล่านั้น คนที่คุณตั้งใจจะไปหาเงินจากเขา คุณทำให้ชีวิตเขาเปลี่ยนไปอย่างไร เพราะฉะนั้น ความหมายธุรกิจเราไม่ได้ซับซ้อนอะไร เพียงแต่ว่าธุรกิจที่เลือกโฟกัส เราพยายามคุยกันว่าเราอยากซัพพอร์ตธุรกิจที่ดี ให้อยู่ได้อย่างยั่งยืน  และเราก็อยากซัพพอร์ตคนที่อยากทำธุรกิจด้วย

อันนี้ก็เชื่อมโยงกับชื่อของพวกเราด้วยนะ จริงๆ แล้ว ความหมายของ Capital ตรงตัวเลย แปลว่าทุน ที่มาของมันคือในวันที่เราคิดชื่อกัน มันกลับไปสู่คำถามสำคัญที่ว่า ถ้าว่าเรากำลังจะเริ่มธุรกิจวันนี้ สิ่งแรกที่เราต้องนึกถึงคืออะไร มันกลับไปที่คำว่าทุน ในที่นี้ไม่ได้หมายถึงแค่เงินด้วยนะครับ ถ้าเราไปเสิร์ชในกูเกิลตอนนี้ คำว่าทุนในทางเศรษฐกิจ มันมีหลายทุนมาก มี human capital ทุนเคลื่อนย้ายได้ ทุนเคลื่อนย้ายไม่ได้ ทุนที่สืบทอดมาจากพ่อแม่ มีทุนอื่นๆ อีกมากเลย สิ่งเหล่านี้เป็นสิ่งสำคัญมากๆ ในการที่คุณจะเริ่มธุรกิจใดธุรกิจหนึ่ง เราเลยรู้สึกว่าความหมายคำนี้ทั้งกว้างและลึก กว้าง คือมันสะท้อนหลายแง่มุมมาก ลึก คือมันลึกซึ้งนะสำหรับเรา ไม่ใช่แค่ว่ามีเงินก็ทำได้ 

เราตั้งใจเป็นทุนทางด้านความรู้ความคิด ถ้าคุณไม่รู้ว่าจะเริ่มธุรกิจอันหนึ่งเป็นอะไร มาอ่านสิ คุณก็จะได้ทุนอะไรบางอย่างในการเริ่มต้นธุรกิจที่อยากทำ 

ในสังคมเรามีคนที่มีต้นทุนไม่เท่ากัน เวลาเรานำเสนอเนื้อหาตามแนวคิด “ธุรกิจเป็นเรื่องของทุกคน” จะทำอย่างไรให้ตอบโจทย์คนที่มีความหลากหลายในสังคมได้บ้าง

คำถามดีมากเลยครับ สิ่งนี้เป็นสิ่งที่เราทบทวนกับตัวเองมากๆ เลย แล้วมันก็เป็นความเชื่อของเราเหมือนกัน หลังจากที่ทำงานนี้มา เราเชื่อว่ามันไม่มีคำตอบเดียวในการทำธุรกิจ อย่างเช่น เราเป็นคนทำสื่อธุรกิจ มันมีความไม่สบายใจของเราอย่างหนึ่งคือ ถ้าอยู่ดีๆ วันหนึ่งมีคนมาถามเราว่า “เบลล์ ผมกำลังทำธุรกิจ คุณแนะนำผมหน่อยสิ” เรายอมรับเลยนะว่าเราตอบเขาไม่ได้ จะแนะนำอย่างไรดี คือเราก็อาจจะมีไอเดียบางอย่างที่สั่งสมความรู้จากการได้คุยกับคนหรืออ่านอะไรบางอย่างไปบอกเป็นไอเดียได้ แต่ถ้าถามว่ามีชุดคำตอบ 5 ข้อที่ทำแล้วเขาจะมีธุรกิจที่ประสบความสำเร็จหรือเปล่า เราก็ไม่กล้าตอบว่ามันใช่ ส่วนตัวเราเชื่อว่ามันไม่มีคำตอบเดียวในการทำธุรกิจ 

เพราะฉะนั้น เราจึงพยายามทำให้เรื่องหลากหลายที่สุด ถ้าสังเกตในเว็บเรา จะเห็นว่าเนื้อหาของเรามีทั้งเกี่ยวกับองค์กรใหญ่มากแบบมีพนักงานเป็นร้อย เข้าตลาดหลักทรัพย์ มีทั้งองค์กรมหาชน องค์กรขนาดกลาง ขนาดเล็ก และขนาดเล็กสุดๆ แบบมีผู้ประกอบการแค่ 2 คน และภายใต้หลายๆ สเกลก็มีหลายๆ อุตสาหกรรมด้วย รวมถึงภายใต้หลายๆ อุตสาหกรรม ก็มีหลายความเชื่ออีก 

และเราไม่ได้บอกว่าที่คนคนนี้พูด คุณกำชุดความรู้นี้แล้วไปใช้เลยนะ ส่วนตัวเราเชื่อเรื่องการดู อ่าน แล้วบางประโยคของบางคน มันอาจจะช่วยไขเนื้อหาหรือตอบคำถามอะไรบางอย่างได้ มันอาจจะไม่ได้มีแค่คนคนเดียวให้คุณยึดเป็นหลัก 

ภายใต้แนวคิดที่คุณว่ามา Capital จัดให้มีเนื้อหาอะไรบ้างที่ตอบโจทย์ความเชื่อและแนวทางต่างๆ ที่ทีมวางไว้

เว็บไซต์เรามี 3 หมวด โดยอยู่ภายใต้ 2 ความสนใจหลัก คือการตอบโจทย์ด้านธุรกิจและการทำงาน จากนั้นเราถึงแยกออกมาเป็น 3 หมวด ได้แก่  Legacy, Insight และ Working Culture 

Legacy เป็นพื้นที่คล้ายๆ สกู๊ปเกี่ยวกับแบรนด์ต่างๆ อันนี้ชัดว่าพูดเรื่องธุรกิจ ส่วนอีก 2 หมวด คือ Insight และ Working Culture ซึ่งชัดเลยว่าพูดเรื่องความรู้ โดย Insight พูดถึงเบื้องลึกในการทำธุรกิจ มีการสัมภาษณ์ผู้บริหาร ผู้ประกอบการ มีคอลัมนิสต์มาพูดเรื่องการบริหาร อีกขาคือ Working Culture ที่พูดเรื่องการทำงาน มีคอลัมน์ที่ชื่อ ‘ณ บัตรนั้น’ คุยเรื่อง career path การทำงานของคนผ่านนามบัตรแต่ละใบ มีคอลัมน์เรื่องที่พูดเรื่องความสัมพันธ์ของคนทำงานด้วยกัน พูดว่าในความสัมพันธ์ของคนที่เป็นเพื่อนหรือคู่รักกัน เขาทำงานกันอย่างไร

ส่วนคอลัมน์ที่เราเขียนประจำชื่อ ‘Good Client’ ก็พูดเรื่องคนที่ทำงานสร้างสรรค์กับลูกค้า ว่าเขาทำงานอย่างแฮปปีได้อย่างไร  

ถ้าหากว่า Capital เป็นองค์ความรู้ให้กับคนอ่านด้วย ในการเลือกเนื้อหามานำเสนอ เราจะเลือกแค่ธุรกิจที่ประสบความสำเร็จหรือเปล่า

จริงๆ คำถามนี้มองได้สองมุมนะครับ จะตอบว่าใช่ ก็อาจจะได้ จะตอบว่าไม่ใช่ ก็ถูก 

ถ้าตอบว่าใช่หมายความว่าอย่างไร คือเราอยู่ในวงการ ไม่ว่าจะสื่อไหนก็ตาม อาจจะสัมภาษณ์คนที่สำเร็จเยอะหน่อย แล้วคนที่ไม่สำเร็จหรือผิดพลาดอาจจะได้พื้นที่น้อย เราเชื่อว่าเราไม่ได้แอนตีแล้วไปยกย่องคนที่ทำสำเร็จเกินจริงนะ เรามองในความเป็นจริง คนที่สำเร็จสามารถแชร์บางอย่างที่เรารู้ว่ามันมีสิ่งที่ approve ผลของเขา คนที่สำเร็จก็มีข้อดีของเขานั่นแหละ

และเราก็ไม่ได้แอนตีความล้มเหลว เผลอๆ เราพยายามมองหาสิ่งนี้ในคนที่สำเร็จด้วยซ้ำ เวลาเราไปถามคนที่สำเร็จแล้ว ชุดคำถามจะไม่ใช่แค่ว่า คุณทำอย่างไร แต่เราอยากรู้ว่าคุณผิดอะไรมาบ้าง บอกหน่อย ซึ่งคำถามนี้สำคัญไม่แพ้ว่า สำเร็จแล้วภูมิใจอย่างไร อันนี้อาจจะดูเหมือนไลฟ์โค้ช แต่มันเป็นเรื่องจริง เราเชื่อว่ากว่าคนจะสำเร็จ มันผิดพลาดมาเยอะมาก บางทีบทเรียนของความล้มเหลวสามารถเรียนรู้ได้จากทุกคน เราเชื่อว่ามันไม่มีใครที่สำเร็จมุมเดียว แล้วสื่อเราไม่ได้โลกสวยคุยแต่เรื่องสำเร็จ เราเชื่อว่าถ้าไปอ่านใน Capital จะเห็นอุปสรรคหรือความเจ็บปวดบางอย่างที่เขาต้องผ่านมาเหมือนกับสิ่งที่เราเผชิญอยู่ 

ส่วนเรื่องคนที่ล้มเหลว เรากำลังพยายามหาที่อยู่ให้เขา ถ้าจะมีพื้นที่เล่าเรื่องคนที่ไม่สำเร็จบ้าง จะเล่ายังไงให้เซ็กซี่ ในมุมหนึ่งคือเวลาเราโทรติดต่อสัมภาษณ์ ถามว่า “พี่ ผมอยากสัมภาษณ์พี่มากเลย คอลัมน์ว่าด้วยเรื่องร้านที่ปิดแล้ว พี่มาหน่อยนะ พี่เป็นคนปิดร้านไปแล้วที่เราสนใจ” เราจะทำอย่างไรให้เขารู้สึกว่าเขาไม่ใช่คนล้มเหลว แต่เราสนใจองค์ความรู้ของเขา ซึ่งเราพยายามหาที่ทางอยู่

อีกอย่างคือเราคิดว่าด้านตรงข้ามกับความสำเร็จ ไม่ใช่ความล้มเหลว แต่ยังหมายถึงคนที่กำลังสู้อยู่ด้วย อาจจะเป็นคนที่กำลังลองผิดลองถูก ล้มลุกคลุกคลาน หรือสนุกสนาน แน่นอนว่าเราไม่ได้สนใจแค่มุมความสำเร็จ แต่สนใจสิ่งที่ผู้คนกำลังต่อสู้กับธุรกิจด้วย และน่าจะเป็นแก่นสำคัญที่เราอยากนำเสนอ คือความสนใจสิ่งที่อยู่ระหว่างทางการทำธุรกิจ

ยุคนี้เศรษฐกิจไม่ดี ข้าวยากหมากแพง ถือว่ายากไหมในการทำเนื้อหาธุรกิจเพื่อให้คนสนใจ

จริงๆ แล้วเวลาเราพูดถึงสื่อธุรกิจมันไม่ได้มีเมสเซจเดียวว่าลุกขึ้นมาทำธุรกิจกันเถอะ ภายใต้เรื่องธุรกิจ มันมีเรื่องความบอบช้ำต่างๆ ท่ามกลางปัญหาธุรกิจที่เจอ อย่างเช่น ช่วงโควิด-19 ที่ผ่านมา เราเชื่อว่าทุกสื่อก็คงพูดถึงการเอาตัวรอดในสถานการณ์แบบนี้ ในช่วงสงคราม น้ำมันแพง วัตถุดิบทุกอย่างมีราคาเพิ่มขึ้น หรืออะไรก็ตาม แน่นอนว่าในบทสัมภาษณ์ มันต้องพูดถึงการเอาตัวรอดในสถานการณ์แบบนี้อยู่แล้ว เพราะฉะนั้น เรื่องการเอาตัวรอดอย่างไร ก็ยังเป็นสิ่งที่เสพได้เรื่อยๆ อยู่

อีกเรื่องคือ เว็บเรามีเรื่องที่พูดถึงวัฒนธรรมการทำงาน ชีวิตคนทำงาน ทำงานอย่างไรให้ดีขึ้น ราบรื่นขึ้น หรือเราต้องเรียนรู้อะไรบ้างเพื่อการเติบโตในวิชาชีพ เพราะฉะนั้น คุณอาจจะไม่ได้ลุกมาทำธุรกิจ แต่คุณเป็นหนึ่งในคนทำงานที่อาจจะติดขัดบางอย่างอยู่แล้วอยากออกจากสิ่งนี้ หรือพยายามหาบางคำถามที่ไม่รู้มีคำตอบหรือเปล่า เราเชื่อว่าหมวด Working Culture อาจจะเป็นอีกหมวดหนึ่งที่เข้ามาสื่อสารกับเขาได้อยู่ เราคิดว่าการทำสื่อหมวดนี้ยังอยู่ในความสนใจของคน แม้จะอยู่ท่ามกลางสถานการณ์ที่ยากลำบากทางเศรษฐกิจ

พูดถึงการทำธุรกิจในบ้านเรา ปฏิเสธไม่ได้ว่ายังมีอีกมุมหนึ่งที่คนก็ได้รับผลกระทบจากธุรกิจบางอย่าง เช่น เจอปัญหาสิ่งแวดล้อม หรือผลกระทบทางด้านรายได้ ถ้าเป็นประเด็นเหล่านี้ Capital จะนำเสนอต่อคนอ่านอย่างไร

เราไม่ได้มีกฎว่าจะไม่เล่าเรื่องพวกนี้ มันก็อยู่ภายใต้ความสนใจของเราอยู่แล้วว่า ถ้าธุรกิจหรือพื้นที่บางพื้นที่มีประเด็นนี้เกิดขึ้น เราจะเล่าเรื่องแบบนี้ในมุมของเราอย่างไร ซึ่งเราคงไม่เล่าแบบข่าว

จริงๆ มันเป็นความเชื่อในการทำสื่อทุกที่ การทำสื่อไม่ใช่การที่รู้มาแล้วเล่าไปเลย สุดท้ายเราก็ต้องกลับไปที่ตัวตนของเราว่าถ้าเป็นเรา เราจะพูดเรื่องนี้อย่างไร เหมือนตอนอยู่ a day ถามว่าเราพูดเรื่องการเมืองหรือเปล่า พูดนะ แต่ทำไมพูดไม่เหมือนที่อื่น เพราะเราต้องรู้ว่าเราคือ a day นะเว้ย เช่นเดียวกัน Capital คือสื่อธุรกิจที่พูดเรื่องผู้ประกอบการ ซัพพอร์ตธุรกิจยั่งยืนหรือธุรกิจที่ดี ถ้าจะพูดในน้ำเสียงแบบนี้ เราจะพูดยังไง พูดถึงธุรกิจที่ไม่สร้างปัญหาให้ชุมชนหรือเปล่า อาจจะทำสกู๊ปขึ้นมา เล่าว่ามีธุรกิจไหนบ้างที่เสี่ยงส่งผลร้ายต่อชุมชน หรือมันมีเคสอะไรที่น่าสนใจบ้าง เราก็พูดในมุมเราแบบนี้ ส่วนมุมวิพากษ์ เราคิดว่ามีสื่อที่ทำได้ดีอยู่แล้ว เราหาน้ำเสียงแบบเรา หาวิธีเล่าแบบเรา

อีกอย่างคือ ในเบื้องต้น ถ้าพยายามเลี่ยงองค์กรที่ทำแบบนั้นได้ เราเลี่ยงอยู่แล้ว ส่วนตัวเราพยายามคัดกรองประเด็นดรามาต่างๆ อย่างที่บอก เราอยากนำเสนอองค์กรที่คิดถึงคนอื่น คิดถึงคนทำงาน คิดถึงคนรอบข้าง คิดถึงชุมชน เพราะฉะนั้นเรื่องที่เราเล่าต้องตรงกับความเชื่อเรา แน่นอนว่าเบื้องต้นเราจะไม่ไปตัดสินว่าสิ่งนั้นถูกต้อง แต่เราก็จะไม่กระโดดไปด่าหรือไปวิพากษ์ สำหรับเรา มันก็คือการหามุมเล่า ถ้าเราจำเป็นต้องเล่าเรื่องนั้น เราก็จะหามุมเล่าในแบบของเรา  

ช่วงแรกที่ Capital เปิดตัว คนในวงการที่เข้าใจธุรกิจสื่อมองว่าดูเป็นพื้นที่ที่ตอบโจทย์ต่องานลูกค้าเหมือนกัน ช่วงเริ่มต้นตั้งไข่กัน ทีมเคยคุยเรื่องนี้ไหมว่าสื่อธุรกิจอย่างเราอาจจะกลายเป็นภาพลักษณ์แบบนั้นในสายตาคนอ่าน

อย่างที่เห็นว่าคอลัมน์ต่างๆ ว่าด้วยเรื่องการตลาดหรือแบรนด์ มันทำให้เห็นภาพว่าถ้ามีสปอนเซอร์ มันจะเป็นประมาณไหน เพียงแต่ว่าวิธีคิดตั้งต้นของเราไม่ได้คิดจากจุดที่ว่าต้องการขาย เราตั้งต้นว่าเราอยากเล่าอะไร ก็กลับไปที่จุดเริ่มต้น คือ Capital ของเราอยากเล่าทุกอย่างเกี่ยวกับธุรกิจ อยากเล่าทุกอย่างในมุมธุรกิจและอยากเล่าธุรกิจในทุกอย่าง 

คำว่า “ทุกอย่างในธุรกิจ” คือเวลาเราพูดถึงสื่อธุรกิจ มันจะมีหลายอย่างมากที่ถ้าไม่ได้อยู่ในสื่อไลฟ์สไตล์หรือศิลปวัฒนธรรมมาก่อน จะไม่ได้รับความสนใจ เช่นเรื่องแพ็กเกจจิง การตั้งชื่อแบรนด์ การทำ CI (Corporate Identity) ของแบรนด์ เรื่องภาพลักษณ์อะไรบางอย่างที่ต้องใช้ความคิดสร้างสรรค์ไปจัดการ การตลาด การทำแคมเปญโฆษณา แต่สิ่งนี้คือสิ่งที่พวกเราสนใจ เราเลยเล่าดีกว่า 

ส่วน “เล่าธุรกิจในทุกอย่าง” หมายความว่าสิ่งรอบตัวเรามีอะไร เราสนใจอะไร เช่น ชอบฟุตบอลใช่ไหม ธุรกิจในฟุตบอลเป็นอย่างไร ธุรกิจในแฟชั่นเป็นอย่างไร

เพราะฉะนั้น เรากำลังจะบอกว่าทุกอย่างที่คนอ่านเห็นในเว็บ มันเริ่มมาจากวิธีคิดแบบนี้ ว่าเราอยากเล่าอะไร คือเราไม่ใช่คนที่ไร้เดียงสาถึงขั้นไม่รู้ว่าคุณเปิดอะไรคุณต้องรับผิดชอบสิ่งเหล่านั้นนะ ถามว่าถ้าเราเปิดคอลัมน์ที่ไม่แฮปปีเพื่อขาย แล้วในฐานะคนทำงานจะแฮปปีไหม เช่น 101 เปิดคอลัมน์เพื่อการโฆษณาประชาสัมพันธ์ แล้วบอกให้คุณต้องรับผิดชอบเรื่องนี้ไปตลอดเลยนะ โห ทุกข์ตายเลยแบบนี้ เพราะฉะนั้น เราจึงไม่ได้ตั้งต้นเพื่อขายของอยู่แล้ว 

เพียงแต่เราก็อยู่ในวงการมานานพอที่จะรู้ว่า ไม่ว่าเราเชื่อว่าสิ่งที่เราทำเป็นสิ่งที่ดีแค่ไหน แต่ถ้าเราอยู่ไม่รอดทางธุรกิจ คุณค่าที่เรามองเห็นก็จะไปต่อไม่ได้ ความหมายคือถ้าสิ่งที่เราทำไม่ตอบโจทย์ธุรกิจ หรือเราขายสิ่งนี้ไม่ผ่าน ก็ไปต่อไม่ได้ เพราะฉะนั้น ข้อธุรกิจเป็นสิ่งที่มาเสริมทีหลัง เราเริ่มต้นจากจุดที่ว่าเราอยากเล่าอะไร แล้ววันหน้าถ้าเราต้องอยู่รอดทางธุรกิจ สิ่งนี่จะอยู่รอดได้ด้วยอะไร เพราะเราไม่ใช่องค์กรภาครัฐหรืออื่นๆ ที่ได้รับเงินโยนมาซัพพอร์ตจนไม่ต้องสนใจเรื่องธุรกิจเลย  

เพราะฉะนั้น เราเชื่อว่าทุกคนที่อยู่ในวงการสื่อ น่าจะเห็นภาพตรงกัน แล้วสิ่งนี้ก็สำคัญ เพียงแต่ว่าอย่างที่เราบอก คือมันกลับไปสู่โจทย์ที่ว่าเราจะเคารพตัวเองได้อย่างไร ถ้าลูกค้าเข้ามาจะเข้ามาได้มากน้อยแค่ไหน อันนี้เป็นเรื่องที่ต้องไปตกลงกัน เพราะฉะนั้น แต่ละคอลัมน์ที่เราตั้งขึ้นมา เราตั้งจากความสนใจเราเอง

สำรวจในเว็บไซต์ของ Capital มีชื่อคอลัมน์สนุกๆ ทั้งนั้นเลย อย่างเช่น ณ บัตรนั้น ที่คุณยกตัวอย่างมา คนในวงการก็บอกว่าคุณเป็นคนตั้งชื่ออะไรหลายอย่างสนุกมาก คุณมีเคล็ดลับในการตั้งชื่อไหม

(หัวเราะ) จริงๆ มันเป็นสัญชาตญาณประมาณหนึ่ง ช่วงหนึ่งเราอ่าน a day พี่ๆ ยุคนั้นก็ตั้งชื่อกันสนุกมาก เราเลยเหมือนซึมซับมาด้วย หรือบางอันก็มาจากการเล่นมุกโบ๊ะบ๊ะกันในวงเพื่อน 

แต่บางทีก็เป็นสัญชาตญาณด้วยแหละ เวลาเราเจออะไร เราจะตั้งชื่อให้มัน ไม่ใช่แค่ชื่อบทความด้วยนะ แต่เป็นชื่ออะไรบ้าๆ บอๆ เช่น วันนั้นไปสี่แยกหนึ่งแล้วเจอรถที่ขายของ เรานึกขึ้นมาเลยว่าอยากทำซีรีส์รวมชื่อรถแปลกๆ เช่น รถถัง แล้วเป็นรถที่ข้างหลังมีแต่ถังน้ำ อยากทำรถสปอร์ตแล้วขายอุปกรณ์กีฬา กวนดีนะ พอเห็นอะไรแบบนี้ เราก็ชอบคิดต่อ มันติดเป็นนิสัย (หัวเราะ) ในมือถือเรามีโฟลเดอร์ที่บันทึกชื่อไว้เป็นร้อยชื่อเลย คิดอะไรออก ก็จดไว้กันลืม เผื่อวันหนึ่งเราทำธุรกิจหรืออาจจะมีคนมาบอกว่าช่วยคิดชื่อให้หน่อย เราก็ไปดูจากที่เราจดได้เลย เผื่อใครอยากได้ แต่บางอันก็เพี้ยนมาก ไม่กล้าบอกคนอื่น โคตรบ้าเลย (หัวเราะ)

แต่เราว่าการตั้งชื่อยากตรงน้ำหนักมือ อันนี้ต้องขอบคุณพวกตัวอย่างที่เราเคยเห็น สำหรับเรา ชื่อที่ดีตลกอย่างเดียวไม่พอ แต่ต้องรับใช้เรื่องด้วย เราอาจจะเห็นชื่อที่ล่อมุกกันตลกมากมาย แล้วเรารู้สึกว่ามันตลกดี แต่มันไม่ใช่ว่ะ มันยังไม่พอดี ความหมายใหม่มันยังไม่ได้ สำหรับเราเล่นคำก็เรื่องหนึ่ง แต่เล่นแล้วมันต้องพอดีกับเป้าหมาย อย่างวันก่อนเจอร้านอาหารร้านหนึ่งชื่อ ‘ปลาศาสตร์’ คิดได้ไงวะ พอเห็น เราก็เลยคิดชื่ออีกอันหนึ่ง สมมติเราจะเปิดร้านอาหารแข่ง ขายกุ้ง ก็ตั้งร้านชื่อ ‘กุ้งเทพมหานคร’ คือกุ้งดีมาก เป็นกุ้งเทพ (หัวเราะ) 

คุณวางภาพไว้ไหมว่าในอนาคตอยากเห็น Capital เป็นแบบไหน

เอาจริงๆ ไม่ได้มีเป้าหมายระยะยาว เพราะพวกเราน่าจะเห็นตรงกันว่าเป้าหมายระยะยาวไม่มีจริงแล้ว แต่เรามีเป้าหมายในเชิงความเชื่อบางอย่าง แล้วก็เป้าหมายในเชิงรูปธรรมหน่อย

ในเชิงรูปธรรม เราพยายามผลักดันแต่ละเฟสตามที่เราวางไว้ เฟสแรกเราทำเนื้อหาในเชิงคอนเทนต์ให้คนเข้ามาอ่านในเฟซบุ๊ก มีวิดีโอ มีพอดแคสต์ให้ฟัง เฟสถัดไป เราอยากพัฒนาไปยังวิธีเล่าที่หลากหลายกว่าเดิม เช่น อาจจะมีอิเวนต์หรือกิจกรรมออนกราวนด์ให้คนได้มาพบเจอกัน หรืออาจจะเป็นออนไลน์ หรือเป็นท่าเล่าใหม่ๆ ที่ไม่ใช่แค่อ่าน เป้าหมายที่อยากทำให้ได้คือ เพิ่มเครื่องมือในการเล่าให้เป็นไปตามสิ่งที่เราวางเอาไว้ ด้วยความเชื่อที่ว่าการเล่าเรื่องไม่จำเป็นต้องเล่าผ่านการอ่านอย่างเดียว แต่มันมีประสบการณ์อะไรบางอย่างกับสิ่งเหล่านั้นได้อยู่

และเป้าหมายในเชิงความเชื่ออย่างที่บอก คือเราอยากซัพพอร์ต อยากสร้างระบบนิเวศบางอย่างของธุรกิจดีๆ หรือธุรกิจยั่งยืน เพราะฉะนั้นในคำว่าการพยายามสร้างสิ่งนี้ มันไม่ได้หมายความว่าต้องเป็นสื่อแบบทำให้อ่านอย่างเดียวแล้ว แต่สิ่งนี้มันเรียกร้องอะไรบ้าง ถ้าธุรกิจดีๆ จะอยู่ได้อย่างยั่งยืน เขาเรียกร้องอะไรบ้าง และอะไรบ้างที่ทำให้ธุรกิจเหล่านี้อยู่ด้วยกันได้อย่างแข็งแรง อาจจะคอนเนกชันหรือเปล่า เราอาจจะครีเอตอะไรบางอย่างเพื่อซัพพอร์ตคอนเนกชันให้เขาหรือเปล่า หรือเขาต้องการองค์ความรู้ หรือต้องการผู้สนับสนุนในแง่อะไร เราก็พยายามทำภายใต้เครื่องมือที่เรามี ในอนาคตเราก็อยากทำอะไรแบบนี้ขึ้นมาเพื่อให้ธุรกิจที่ดีอยู่ได้อย่างแข็งแรงจริงๆ 

MOST READ

Life & Culture

14 Jul 2022

“ความตายคือการเดินทางของทั้งคนตายและคนที่ยังอยู่” นิติ ภวัครพันธุ์

คุยกับนิติ ภวัครพันธุ์ ว่าด้วยเรื่องพิธีกรรมการส่งคนตายในมุมนักมานุษยวิทยา พิธีกรรมของความตายมีความหมายแค่ไหน คุณค่าของการตายและการมีชีวิตอยู่ต่างกันอย่างไร

ปาณิส โพธิ์ศรีวังชัย

14 Jul 2022

Life & Culture

27 Jul 2023

วิตเทเกอร์ ครอบครัวที่ ‘เลือดชิด’ ที่สุดในอเมริกา

เสียงเห่าขรม เพิงเล็กๆ ริมถนนคดเคี้ยว และคนในครอบครัวที่ถูกเรียกว่า ‘เลือดชิด’ ที่สุดในสหรัฐอเมริกา

เรื่องราวของบ้านวิตเทเกอร์ถูกเผยแพร่ครั้งแรกทางยูทูบเมื่อปี 2020 โดยช่างภาพที่ไปพบพวกเขาโดยบังเอิญระหว่างเดินทาง ซึ่งด้านหนึ่งนำสายตาจากคนทั้งเมืองมาสู่ครอบครัวเล็กๆ ครอบครัวนี้

พิมพ์ชนก พุกสุข

27 Jul 2023

Life & Culture

22 Feb 2022

คราฟต์เบียร์และความเหลื่อมล้ำ

วันชัย ตันติวิทยาพิทักษ์ เขียนถึงอุตสาหกรรมเบียร์ไทย ที่ผู้ประกอบการคราฟต์เบียร์รายเล็กไม่อาจเติบโตได้ เพราะติดล็อกข้อกฎหมาย และกลุ่มทุนที่ผูกขาด ทั้งที่มีศักยภาพ

วันชัย ตันติวิทยาพิทักษ์

22 Feb 2022

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • Always Active

Save