fbpx

“ถ้าเรากลัวก็ต้องหนีไปตลอด” 4 ปีแห่งการเปิดโปงทุจริต ‘จำนำข้าว’ และชีวิตที่เปลี่ยนไปของชญาดา ตระกูลรุ่งโรจน์

‘อดีตสาว ธ.ก.ส. เปิดโปงโครงการรับจำนำข้าว’ พาดหัวข่าวอันเป็นที่โจษจันเมื่อ 4 ปีก่อนทำให้ชีวิตของชญาดา ตระกูลรุ่งโรจน์ พลิกจากหน้ามือเป็นหลังมือในชั่วพริบตา ทั้งจากการถูกต้นสังกัดเลิกจ้าง การเข้ามาเกี่ยวพันกับคดีการเมืองระดับประเทศ และการต้องมีคดีติดตัวมาตลอด 4 ปี

โครงการรับจำนำข้าวเป็นนโยบายช่วยเหลือเกษตรกรในสมัยรัฐบาลยิ่งลักษณ์ ชินวัตร เพื่อให้ชาวนาสามารถนำผลผลิตมาแลกเป็นเงินได้โดยไม่จำกัดโควต้าและกำหนดราคาไว้สูงกว่าราคาตลาด ชญาดาเข้ามามีส่วนเกี่ยวข้องในการตรวจสอบความถูกต้องของโครงการดังกล่าวนี้ และนำมาสู่การออกมาเผยแพร่หลักฐานเอกสารมากมายที่ยืนยันความผิดปกติของตัวเลขในโครงการรับจำนำข้าว

หลังจากต่อสู้คดีมาหลายปี ชื่อของเธอกลับมาเป็นที่สนใจของสังคมอีกครั้งหลังจากการประกาศเข้าร่วมเป็นสมาชิกพรรคเพื่อไทย พรรคการเมืองเจ้าของนโยบายรับจำนำข้าว หลังจากออกมาให้ข้อมูลเกี่ยวกับทุจริตในโครงการจำนำข้าวจนถึงตอนนี้ชีวิตของเธอเปลี่ยนแปลงไปอย่างไร ต้องพบเจอความลำบากอะไรบ้างในการสู้คดี และอะไรคือเหตุผลที่ทำให้ตัดสินใจเข้ามาอยู่ในร่มเงาพรรคการเมือง ล้วนเป็นคำถามที่หลายคนสงสัยกันในตอนนี้

101 ชวนชญาดาพูดคุยเพื่อคลายความสงสัย รวมถึงเจาะลึกสิ่งที่เกิดขึ้นในโครงการรับจำนำข้าวที่เธอค้นพบ ในวันนี้ที่เธอเป็นทั้งอดีตสาว ธ.ก.ส. ผู้ตรวจสอบรายละเอียดโครงการและสมาชิกพรรคเพื่อไทยผู้เป็นเจ้าของนโยบาย

ย้อนกลับไปเมื่อ 4 ปีที่แล้ว เข้าไปเกี่ยวพันการตรวจสอบทุจริตในโครงการรับจำนำข้าวได้อย่างไร

ตอนนั้นเราเป็นพนักงานวิเคราะห์งานสินเชื่อ ฝ่ายกิจการนโยบายรัฐ สังกัดงบประมาณภาครัฐ โดยเนื้องานแล้วจะรับผิดชอบหลายโครงการ คือตามที่มีนโยบายรัฐมาทั้งหมดเลย แต่ช่วงกันยายน 2558 ทางผู้บริหารมอบหมายงานเพิ่มเติมมาให้ คือให้จัดทำเอกสารตามที่อัยการร้องขอให้ศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองมีหมายเรียกมาที่ ธ.ก.ส. (ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร) ในคดีของคุณยิ่งลักษณ์ ชินวัตรในกรณีโครงการรับจำนำข้าว

จริงๆ แล้วการออกมาเผยแพร่ข้อมูลการทุจริตในโครงการรับจำนำข้าวสู่สาธารณะเกิดจากการที่เราตรวจสอบและโต้แย้งความผิดปกติของเอกสารไปเมื่อ 3 ปีก่อนหน้านั้น คือตรวจพบความผิดปกติตั้งแต่ปลายปี 2558 แต่ด้วยช่วงเวลานั้นเรายังกลัวก็เลยไม่ได้ออกมาเปิดเผยข้อมูล และเราก็ถูกข่มขู่คุกคามเยอะมาก จนกระทั่งต้นปี 2561 เราจึงตัดสินใจออกมาเปิดเผย สาเหตุที่ออกมาเปิดเผยก็เกิดจากต้นสังกัดคือ ธ.ก.ส. ไม่คืนตำแหน่งงานให้ ตลอดระยะเวลา 3 ปีตั้งแต่ 2558-2561 เราถูกพักตำแหน่ง เมื่อเราไม่ได้คืนตำแหน่งก็เลยออกมาเปิดเผยเรื่องราวและมีการฟ้องร้องกัน


พบเจอหลักฐานอะไรที่ทำให้มั่นใจว่ามีการทุจริตในโครงการรับจำนำข้าว

เรื่องแรกที่เจอคือการเบิ้ลตัวเลข หรือที่เรียกว่า เลขลม เลขทิพย์ หลักฐานที่เจอคือจากการรายงานรายละเอียดการโอนหนี้เงินกู้การรับจำนำ พบว่ามีรายชื่อลูกค้าซ้ำกันทั้งในรายงานของ อ.ค.ส. (องค์การคลังสินค้า) และ อ.ต.ก. (องค์การตลาดเพื่อเกษตรกร)

ตัวอย่างเช่น การรายงานรายละเอียดการโอนหนี้เงินกู้การรับจำนำ อ.ค.ส. 55/56 ประจำเดือนกุมภาพันธ์ปี 2556 ซึ่งมีลูกค้าทั้งหมด 179 ราย เราพบว่ามีรายชื่อลูกค้าซ้ำกันในรายงานของ อ.ต.ก. ในสาขาเดียวกัน เดือนกุมภาพันธ์ ปี 2556 เหมือนกัน เลขสัญญาเงินกู้เป็นเลขเดียวกัน เลขที่ใบประทวนก็เป็นเลขเดียวกัน เพราะฉะนั้นนี่คือการเบิ้ลชื่อลูกค้าเข้าไปทั้งใน อ.ค.ส. และ อ.ต.ก. เพื่อไปเบิกกับรัฐบาล งบกลางหรืองบจำนำข้าว โดยที่จริงๆ ลูกค้าคนนั้นก็ได้เงินกู้ไปแค่ครั้งเดียว เพราะฉะนั้นจึงใช้ยืนยันได้ว่ามีการเบิ้ลเลขลมหรือเลขทิพย์ และมีคำถามตามมาว่ามันมีมากน้อยแค่ไหน

ประเด็นเบิ้ลตัวเลขที่เราสุ่มตรวจรายงานของ อ.ค.ส. เฉพาะในเดือนกุมภาพันธ์ของสาขาพยัคฆภูมิพิสัยพบว่ามีการเบิ้ลตัวเลขไปแล้ว 300,000 บาท แต่ยังมีที่เราไม่ได้สุ่มตรวจและที่ยังต้องคัดกรองอีกเยอะมาก พอเป็นแบบนี้สิ่งที่เราจะต้องทำคือรายงานไปยังผู้บริหารให้มีการตรวจสอบใหม่อีกครั้งว่าทั้งโครงการมีการเบิ้ลตัวเลขไปทั้งหมดกี่บาทกันแน่

เรื่องที่ 2 ที่ตรวจพบคือใบประทวนปลอม ซึ่งตรวจพบความผิดปกติเยอะมาก ยกตัวอย่างของเดือนพฤษภาคม 2556 มีข้อมูลทั้งหมด 75 หน้า ใบประทวนที่ส่อทุจริตในโครงการรับจำนำข้าวจะเห็นว่าวงเงินจะเท่าๆ กัน ที่เราสรุปให้ศาลไปคือพบว่ามีการทุจริตไปกว่า 442 ล้านบาทเฉพาะเดือนพฤษภาคม 2556 คือเป็นเลขที่ซ้ำกันหมดเลย เป็นวงเงินที่ซ้ำกันและใบประทวนส่อทุจริต และบางรายชื่อตรวจสอบพบว่าเป็นคนเดียวกัน และได้วงเงินจำนำข้าวที่เท่ากัน

ใบประทวนส่อทุจริตในโครงการรับจำนำข้าว สิ้นสุดสัญญาในเดือนพฤษภาคม 2556

ประเด็นใบประทวนปลอม ณ เวลานั้นที่เราเริ่มตรวจสอบมีเวลาน้อยและจำกัดมาก ก็เลยหาได้ไม่เยอะเท่าไร แต่ที่น่าสนใจคือวงเงินสูงมาก หลักฐานส่วนใหญ่ที่เรามีเวลาหาก็มีวงเงินระดับแสนบาทขึ้นไป มีใบประทวนปลอมที่มีวงเงินใบละ 1,303,499.64 บาท ถ้าเอามาเทียบกันจะรู้เลยว่าส่อทุจริต จริงๆ ใบประทวนจะมีชื่อและที่อยู่ของลูกค้าหมดเลย แต่ศาลเห็นว่าอาจจะละเมิดข้อมูลส่วนบุคคลจึงต้องปิดข้อมูลส่วนนั้น เพราะฉะนั้นเอกสารนี้จึงไม่มีชื่อเจ้าของ แต่จริงๆ ใบประทวน 2 ใบนี้ชื่อลูกค้าคนละคนกัน แต่ถ้าดูเฉพาะตัวเลขจะพบว่าวันที่ออกใบประทวนเป็นวันที่ 13 กันยายน ปี 2555 เหมือนกัน น้ำหนักข้าวเท่ากัน ชนิดข้าวก็ชนิดเดียวกัน บริษัทที่รับจำนำข้าวก็คือที่ชั่งข้าวที่เดียวกัน ซึ่งสอดคล้องกันในลักษณะที่ส่อทุจริต เพราะเป็นไปได้ยากที่ใบประทวนมูลค่า 1,303,499.64 บาทของลูกค้าคนละคนจะมีน้ำหนักข้าวเท่ากัน และใบประทวนนี้มีพิรุธตรงที่ไม่มีค่าความชื้นข้าว ปกติใบประทวนจะต้องมีชนิดข้าว ค่าสิ่งเจือปนและค่าความชื้น ใบประทวนบางใบจะยิ่งดูทุจริตง่ายขึ้น เนื่องจากความชื้นข้าวเท่ากัน สิ่งเจือปนเท่ากัน น้ำหนักข้าวก็เท่ากัน ทำให้มีมูลค่าเท่ากันทั้งหมด ลักษณะแบบนี้มีความเห็นไปในทิศทางเดียวกันหมดว่าส่อทุจริต

หลักฐานใบประทวนส่อทุจริต

ประเด็นที่ 2 นี้เราสามารถหาหลักฐานให้ศาลได้เยอะกว่าประเด็นเลขลม เพราะตอนที่ตรวจพบเราไม่มีเวลา คือรับงานมาช่วงเดือนกันยายน 2558 เริ่มเห็นพิรุธเดือนพฤศจิกายน 2558 เริ่มรวบรวมพยานหลักฐานเพื่อเสนอผู้บริหารเดือนธันวาคม 2558 ต่อเนื่องไปถึงเดือนมกราคม 2559 จึงมีเวลารวบรวมข้อมูลและตรวจสอบเพื่อชี้มูลแค่ 2 เดือน แล้วพอเดือนกุมภาพันธ์ 2559 ก็ถูกพักตำแหน่งเลย จริงๆ ถ้ายังอยู่ในตำแหน่งหรือไม่ถูกพักตำแหน่ง คิดว่าจะหาได้เยอะกว่านี้

ประเด็นที่ 3 มีหลักฐานแค่ใบเดียว คือการสรุปมูลค่าความเสียหาย แต่ประเด็นนี้จะพัวพันกับมติคณะรัฐมนตรีและมีเรื่องของ คสช. (คณะรักษาความสงบแห่งชาติ) เข้ามาเกี่ยวข้อง เนื่องจากการสรุปตัวเลขนี้วันที่สรุปจะมีวันที่ 24 กันยายน 2558 กับวันที่ 16 ธันวาคม 2558 เนื่องจากการประชุมสรุปตัวเลขของ ธ.ก.ส. จะทำทุกไตรมาสคือสามเดือนครั้ง เพราะฉะนั้นหลังจากเดือนกันยายนไปเดือนธันวาคมก็จะมีการสรุปอีกครั้งหนึ่ง แต่ปีที่ทำคือ 2558 หมายความว่ามีการรัฐประหารไปแล้วจึงมาสรุปมูลค่าความเสียหายนี้

ดังนั้น กลายเป็นว่าการจัดทำตัวเลขนี้ไม่ใช่ตัวเลขที่เกิดจากการสรุปปกติ แต่เป็นการใช้อำนาจของ คสช. เพื่อที่จะตั้งคณะกรรมการเกี่ยวกับการสรุปโครงการจำนำข้าว โดยที่องค์คณะไม่มีกลุ่มบุคคลของรัฐบาลที่ดำเนินโครงการรับจำนำข้าวเลย สิ่งที่เราเห็นความผิดปกติคือการระบุว่าเป็นการชำระจากการระบายข้าวและมันสำปะหลัง ประเด็นคือตัวตั้งบอกว่าเป็นการจ่ายเงินกู้เฉพาะข้าว คนทั่วไปก็ต้องตั้งคำถามอยู่แล้วว่าตอนจ่ายมีเฉพาะข้าว แล้วทำไมตอนหักถึงเป็นข้าวกับมันสำปะหลัง เพราะคนละโครงการกัน ทีนี้ก็จะกลายเป็นว่ามูลค่าความเสียหายไม่ตรงตามความเป็นจริง ซึ่งอาจจะไปสัมพันธ์กับที่มีการเบิ้ลตัวเลขและดูเหมือนจะมีการพยายามทำให้มูลค่าความเสียหายเป็นไปตามมติคณะรัฐมนตรีด้วย เนื่องจากรัฐบาลคุณยิ่งลักษณ์ ชินวัตร มีการออกมติคณะรัฐมนตรีมาว่าให้มีเงินหมุนเวียนในโครงการรับจำนำข้าวไม่เกิน 500,000 ล้านบาท เงินหมุนเวียนในที่นี้คือคุณจะจ่ายเท่าไรก็ได้ แต่จะต้องมีเงินไหลกลับเข้ามาจากการระบายข้าวเพื่อหมุนเวียน ไม่ได้หมายความว่าจะต้องจ่ายเงินในโครงการรับจำนำข้าวไม่เกิน 500,000 ล้านบาทนะ แต่หมายความว่าคุณจ่ายเท่าไรก็ได้ คุณจะไปช้อปปิงเท่าไรก็ได้ แต่สุดท้ายคุณต้องหาเงินกลับมาให้มันเกิดยอดอยู่ใน 500,000 ล้านบาทนี้

ย้อนไปตอนนั้นมีการจ่ายออกไปโดยแบ่งเป็น 3 ช่วง รวมทั้งหมดคือ 881,262 ล้านบาท เฉพาะปี 2554/2555 และ 2555/2556 มีการจ่ายออกไป 689,604 ล้านบาท แต่ต่อมามีการยุติโครงการในปี 2557 ซึ่งในปีที่มีการยุติโครงการหรือเกิดการรัฐประหารนี้มียอดจ่ายไปแค่ 191,658 ล้านบาท เพราะฉะนั้นยอดการจ่ายจะไปหนักเอาตรงปี 2554 ต่อเนื่องถึงปี 2556 ทั้งหมด 689,604 ล้านบาท รวมทั้งหมดแล้วจ่ายไป 881,262 ล้านบาท ซึ่งเราไม่รู้เลยว่าใน 881,262 ล้านบาทนี้มีการเบิ้ลเลขลมไปเท่าไรและมีใบประทวนปลอมไปทั้งหมดเท่าไรกันแน่ จึงเป็นที่มาของการอยากจะให้มีการตรวจสอบการทุจริตในโครงการรับจำนำข้าว

กรอบวงเงินโครงการรับจำนำปี 2554/55 – ปี 2556/57 เดือนกันยายน
กรอบวงเงินโครงการรับจำนำปี 2554/55 – ปี 2556/57 เดือนธันวาคม

อีกหนึ่งประเด็นที่พยายามโต้แย้งอย่างหนักคือเรื่องการไถ่ถอนและบันทึกคลาดเคลื่อน มีมูลค่ากว่า 383 ล้านบาท เพราะการที่มีตัวเลข 300 กว่าล้านมาเนี่ย คุณต้องมีที่มา ไม่อย่างนั้นคุณจะเอาเลขนี้มาได้อย่างไร และเลขนี้ถ้าสังเกตไตรมาสแรกในเดือนกันยายน 2558 มี 300 กว่าล้าน แต่พอไตรมาสที่ 2 ในเดือนธันวาคม 2558 ที่มีการประชุมกันอีก ตัวเลขเพิ่มมาเป็น 3,000 ล้าน จากเกือบ 400 ล้านทะยานมาเป็นเกือบ 3,000 ล้าน เพราะฉะนั้นที่มาของตัวเลขนี้จะต้องชัดเจน

และคำถามคือทำไมเมื่อมีการรัฐประหารไปแล้ว ตัวเลขที่ไถ่ถอนจึงเพิ่งมาปรากฏเมื่อปี 2558 เพราะปกติถ้ามีใครมาขอคืนของหรือถอนจำนำอะไรก็แล้วแต่ มันจะต้องสรุปในปีนั้นๆ เลย เลขจะไม่แสดงขึ้นมาในลักษณะนี้ เวลาสรุปบัญชีจริงๆ ต้องเป็นเดือนต่อเดือนด้วยซ้ำนะ การทำงานธนาคารถ้าพูดตามที่เราเคยทำงานมาจริงๆ ต้องสรุปกันวันต่อวันด้วยซ้ำ สมมติเย็นนี้ถ้าตัวเลขเงินที่โอนหรือเงินเข้าออกไม่ตรงกับสลิปแคชเชียร์เช็คของธนาคาร วันนั้นจะไม่มีใครได้กลับบ้านนะ ในวงการของคนทำงานธนาคารจะรู้กันดีว่ายอดต้องยันกันวันต่อวัน

ที่สำคัญคือการไถ่ถอนที่ว่านี้อย่างน้อยจะขึ้นมาในปีนั้นด้วยซ้ำไป เพราะในใบประทวนจะแสดงวันครบกำหนดไถ่ถอนมาเลย เช่น คุณมาจำนำข้าวตั้งแต่เดือนกันยายนปี 2555 จะครบกำหนดคือวันที่ 31 เดือนมกราคม ปี 2556 ถ้าในระหว่างนี้คุณไม่มาไถ่ถอนเราจะโกยข้าวเข้าคลังเพื่อเตรียมระบายข้าว แต่ทำไมจู่ๆ ในปี 2558 จึงมาปรากฏว่ามีเงินไถ่ถอนตรงนี้ขึ้นมา ทั้งๆ ที่ควรจะมีการตัดยอดหรือบาลานซ์บัญชีไปตั้งแต่ปี 2556 โน่นแล้ว เนื่องจากเกินกำหนดวันที่ไถ่ถอนได้ไปแล้ว

เพราะฉะนั้นตัวเลขตรงนี้ก็เป็นพิรุธว่าอาจจะมีการเอาเงินคืนคลังจากการทุจริตของใครหรือเปล่า พอมีการจับได้ว่ามีเลขเขย่งและไม่รู้จะเอาเงินคืนรัฐอย่างไร ก็เลยต้องมีการไถ่ถอน มีการบันทึกคลาดเคลื่อนขึ้นมา และพอดูมูลค่าแล้วอยู่ที่เกือบ 3,000 ล้าน จากเดิมที่อ้างว่าคลาดเคลื่อนแค่เกือบ 400 ล้าน มันเพิ่มมาเยอะเกินไป


สรุปคือตรวจพบว่ามีการสร้างหลักฐานเท็จให้โครงการรับจำนำข้าวมีมูลค่าความเสียหายเกินความเป็นจริง

ใช่ โดยเฉพาะประเด็นเลขลม ตอนที่เห็นตัวเลขครั้งแรกเราตกใจมาก เพราะเราสุ่มตรวจแค่เดือนเดียวยังมีเลขที่เหินและเขย่งกันเกือบ 200 ล้านบาท สุ่มแค่เดือนกุมภาพันธ์ ปี 2556 เดือนเดียวเองนะ และเดือนกุมภาพันธ์ก็ไม่ใช่เดือนที่มีการรับจำนำข้าวในปริมาณมากด้วย เพราะไม่ใช่ฤดูกาลเก็บเกี่ยว

จำนวนตัวเลขที่จะเยอะจริงๆ คือเดือนมีนาคมถึงเดือนพฤษภาคมที่เป็นฤดูกาลเก็บเกี่ยวข้าวและมีการเอาข้าวมาขายและจำนำ แต่ตอนนั้นที่สุ่มเดือนกุมภาพันธ์ก็เพราะเลขไม่เยอะนี่แหละ เลขไม่เยอะจะได้พอมีกำลังใจในการตรวจสอบ เพราะถ้าเอาเลขเยอะๆ มาดูจะยิ่งเหมือนเรางมเข็มในมหาสมุทร เราคิดแบบนั้นในตอนนั้น

แต่ที่พยายามจะร้องขอให้เร่งตรวจสอบในตอนนี้จริงๆ แล้วคือประเด็นเลขลมนะ เนื่องจากประเด็นปลอมใบประทวนมีการออกข่าวมาก่อนหน้านี้เยอะแล้ว เพราะฉะนั้นการตรวจพบในสิ่งที่สื่อนำเสนอข่าวอยู่แล้วก็อาจจะไม่ได้หวือหวามาก แต่การตรวจสอบว่าธนาคารมีการเบิ้ลเลขเองหรือไม่นั้นยังไม่มีข้อมูลนี้มาก่อน

แต่ที่แน่ๆ ในประเด็นการสรุปมูลค่าความเสียหายคาดว่าสรุปเกินไปอย่างน้อย 32,000 กว่าล้านบาทแล้ว เพราะมีการเอาเงินจากการระบายมันสำปะหลังมาชำระหนี้ คือคนเราเวลาทำอะไรผิดไปแล้ว ใช้เกินไปแล้ว เขาก็ต้องพยายามหาเงินทุกทางเพื่อมาโปะ เอาง่ายๆ เหมือนเราติดหนี้บัตรเครดิต เราก็จะต้องไปกู้หนี้ยืมสิน ไปกู้นอกระบบ ไปหยิบยืมคนนั้นคนนี้มาเพื่อจ่าย ลักษณะเดียวกันเลย คือจ่ายเกินไปแล้วหรือไม่รู้เบิ้ลตัวเลขไปเท่าไร ซึ่งเกินไปกว่าที่มติ ครม. กำหนด ก็เลยต้องเอาเงินจากการระบายมันสำปะหลังมาหักชำระแทน

ส่วนที่คุณตรวจสอบมีความเกี่ยวข้องกับสัญญา G2G ระหว่างรัฐกับรัฐด้วยไหม

ไม่เกี่ยวเลย เรารู้แค่ว่ามีเม็ดเงินจากส่วนของ G2G มาชำระหนี้ของ ธ.ก.ส. จริงๆ เห็นแค่เลขว่าขายข้าวได้เท่าไรตามสัญญาต่างๆ แล้วทาง อ.ค.ส. และอ.ต.ก. หรือทางกรมการค้าต่างประเทศก็จะรวบรวมเงินมาชำระหนี้กับทางธนาคาร โดย ธ.ก.ส. เป็นผู้รับชำระเงินที่ได้จากการระบายข้าว ไม่ว่าจะในประเทศหรือต่างประเทศ ไม่ใช่เฉพาะ G2G นะ ขายในประเทศก็จะรับเข้ามา ก็จะมีปรากฏยอดว่าแต่ละเดือนทางหน่วยงานภายนอกได้ส่งวงเงินมาชำระหนี้ในโครงการรับจำนำข้าวเท่าไร


ในฐานะผู้ตรวจสอบและเปิดโปงการทุจริตในโครงการรับจำนำข้าว มีความเห็นอย่างไรกับคดีความของยิ่งลักษณ์ ชินวัตรในประเด็นประมาทเลินเล่อร้ายแรงให้มีการทุจริต

จริงๆ คดีของคุณยิ่งลักษณ์มีปฐมเหตุมาจากคดีของคุณบุญทรง เตริยาภิรมย์ กรณีที่ศาลพิพากษาคุณบุญทรงเป็นคนละประเด็นกับของเรา ของคุณบุญทรงเป็นเรื่อง G2G และคดีที่ฟ้องคุณยิ่งลักษณ์ก็เป็นผลกระทบมาจากคดี G2G นี่แหละ ที่ว่ามีการปล่อยปละละเลยหรือประมาทเลินเล่อร้ายแรงให้มีการทุจริต ซึ่งคดีของคุณยิ่งลักษณ์ที่อัยการฟ้องแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองก็มีการตัดสินไปแล้ว คงไม่สามารถก้าวล่วงดุลพินิจของศาลได้

เวลาต่อสู้คดีกันในชั้นศาล เรื่องมูลค่าความเสียหายเป็นประเด็นที่สำคัญมาก เพราะสามารถตีความได้ว่าคุณละเลยหรือไม่ หรือใครผิดกันแน่ สมมติเปรียบเทียบการโอนเงินผิดไปหลักร้อย หลักพัน กับการโอนผิดไป 20-30 ล้านบาท ก็สามารถชี้ได้ว่าประมาทเลินเล่อร้ายแรงหรือเปล่า เพราะถ้าคุณจะโอนเงินครั้งเดียวเป็นเม็ดเงินหลัก 10 ล้านบาท แน่นอนว่าคุณต้องใช้ความระมัดระวังอย่างมาก การจะดูว่าประมาทเลินเล่อร้ายแรงหรือไม่จึงต้องดูที่มูลค่าวงเงินเป็นสำคัญด้วย แต่เรามองแล้วว่าคดีนี้เป็นคดีการเมือง พอข้อเท็จจริงออกมาเป็นลักษณะนี้ก็อาจจะเกิดการโยนหรือการผลักภาระความรับผิดได้


ตอนนี้มีคดีความอะไรบ้างกับทาง ธ.ก.ส. และสู้คดีอยู่ในชั้นไหนแล้ว มีผลการตัดสินออกมาบ้างแล้วหรือยัง

คดีที่เราฟ้องร้อง ธ.ก.ส. ที่ศาลอาญาคดีทุจริต คือการพักตำแหน่งงานมิชอบ ซึ่งคดีสิ้นสุดไปแล้ว เนื่องจากเกิดกรรมใหม่คือเราโดนเลิกจ้าง พอถูกเลิกจ้างก็ต้องย้ายไปสู้คดีที่ศาลแรงงานกลาง คดีนี้เพิ่งมีการพิพากษาที่ศาลชั้นต้นไปเมื่อวันที่ 31 พฤษภาคม 2565 วินิจฉัยว่าเราแพ้คดี ตอนนี้คดีที่เราเป็นโจทก์ก็เหลือแค่คดีนี้คดีเดียว นอกนั้นคือเราเป็นจำเลยกับผู้ต้องหาทั้งหมด 4 คดี คดีที่หนักๆ เลยก็คือคดีที่ศาลอาญา เนื่องจากโดนไป 3 กรรม เราโดน ธ.ก.ส. ฟ้องในกรณีที่สร้างความเสียหายให้องค์กรคือหมิ่นประมาทด้วยการโฆษณา

คดีเรื่องโดนเลิกจ้าง เราถูกเลิกจ้างวันที่ 27 เดือนกันยายน ปี 2561 ฟ้องร้องตั้งแต่ปี 2561 แต่เราต้องรอคณะกรรมการวินัยธนาคารอุทธรณ์บอร์ดธนาคาร ซึ่งช้าตั้งแต่บอร์ดธนาคารแล้ว เพราะถ้ายังไม่แล้วเสร็จในองค์กรก็เอาไปฟ้องศาลไม่ได้ เราก็เลยต้องรอบอร์ดของธนาคารพิจารณา พอ 1 ปีผ่านไปบอร์ดยืนเลิกจ้างตามคณะกรรมการวินัยธนาคารก็เป็นมูลเหตุให้เราสามารถฟ้องศาลแรงงานได้ภายในระยะเวลา 1 ปี ถึงได้นำเรื่องเข้าไปที่ศาลแรงงานในปี 2562 และก็มีการโยกจากศาลแพ่งไปศาลแรงงานก่อนด้วย ยิ่งทำให้กระบวนการล่าช้า และปรากฏว่าในระหว่างต่อสู้คดีมีโควิดระบาด จึงมีการเลื่อนการพิจารณาคดีออกไปอีก ดังนั้นระยะเวลาตั้งแต่ถูกเลิกจ้างมาจนถึงตอนนี้เป็น 4 ปี เราจึงเพิ่งได้ฟังคำพิพากษาของศาลแรงงาน เป็นกระบวนการยุติธรรมที่ล่าช้าและยาวนาน

จริงๆ ที่เราตรวจพบการทุจริตต้องเอาตัวเลขให้ศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดํารงตําแหน่งทางการเมืองด้วย ถ้าเป็นแบบนั้นจริงๆ ธ.ก.ส. จะกลายเป็นฮีโร่เลยนะ เพราะถือว่าเราเจอหลักฐานที่จะเอาผิดผู้กระทำผิดให้แน่นยิ่งขึ้น จนกระทั่งมาถึงวันนี้เราก็เลยตัดสินใจเข้าไปคุยกับทางพรรคเพื่อไทยเพื่อที่จะทำอย่างไรก็ได้เพื่อให้ใบประทวนไม่ถูกทำลาย เพราะตอนนี้มีหลักฐานปรากฏว่ามีการทำลายใบประทวนแล้วในบางฉบับ ที่มีขีดฆ่าสีดำๆ คือถูกทำลายแล้ว โดยหลักทั่วไปถ้ามีการปิดหรือไถ่ถอน ธนาคารจะเก็บสัญญาเงินกู้ไว้ 10 ปี เป็นอย่างน้อย เผื่อมีคดีความที่เกิดขึ้นมาตามหลังจากการทำสัญญาเงินกู้นั้น แต่โครงการจำนำข้าวเกิดเมื่อ 10 ปีที่แล้วคือปี 2554 ซึ่งครบกำหนดไปแล้ว 1 ปีเฉพาะเงินกู้ที่จ่ายไปในปี 2554 แต่ปี 2555-2557 ถือว่ายังไม่ครบกำหนด เป็นเหตุผลที่เราเตรียมยื่นเรื่องไปที่รัฐสภาเพื่อขอให้คุ้มครองเอกสารและชะลอการทำลาย

หลักฐานแสดงข้อมูลใบประทวนที่ถูกทำลายแล้ว

ถ้าใบประทวนโดนทำลายไปหมดก็จะเอาผิดยากว่ามีการทุจริตใช่ไหม

ใช่ เพราะที่เรามีหลักฐานอยู่ในมือตอนนี้ 400 ฉบับ จะเป็นลักษณะเดียวกันหมดเลยคือใบประทวนมีวงเงินเท่ากัน เลขใบประทวนส่อทุจริต บางรายชื่อคือเป็นคนเดียวกันเลยด้วยซ้ำ คนมาจำนำข้าว 2 ครั้ง 3 ครั้ง แต่ได้น้ำหนักเท่ากันหมดเลย ซึ่งมันเป็นไปไม่ได้

กรณีมันสำปะหลังนี่ยิ่งหนักเลย เพราะตัวเลขที่เราตรวจพบการทุจริตมีของโครงการมันสำปะหลังด้วย หัวมันแต่ละหัวจะเอามารวมกันอย่างไรให้มันเท่ากัน เป็นไปไม่ได้ เม็ดข้าวนี่ยังพอถูไถ บางทีเราสามารถทำให้มันเท่ากันได้ เพราะเม็ดข้าวเป็นแค่เม็ดเล็กๆ แต่หัวมันนี่คุณจะต้องหาหัวมันที่มีขนาดเท่ากัน แค่ทำข้าวให้มีน้ำหนักเท่ากันนี่ก็เหนื่อยแล้วนะ ก็ไม่รู้จะทำให้มันเท่ากันไปทำไม


เรื่องยับยั้งการทำลายใบประทวนที่จะเอาไปยื่นในรัฐสภาตอนนี้เตรียมการไปถึงไหนแล้ว

ตอนนี้ทำจดหมายเปิดผนึกเตรียมยื่นเดือนสิงหาคมนี้มีรายละเอียดหลักๆ คือ “ประการสำคัญ จะเห็นว่า ธ.ก.ส. ได้ชี้แจงต่อศาลแรงงานกลางเกี่ยวกับใบประทวนข้าวบางฉบับตามหมายเรียกพยานเอกสารว่า “ทำลายแล้ว” ข้าพเจ้าจึงเกรงว่าหากมิได้ร้องเรียนให้รัฐสภาทำการตรวจสอบเรื่องดังกล่าวโดยเร็ว อาจส่งผลให้มีการทำลายเอกสารใบประทวนข้าวและใบประทวนมันไปเสียทั้งหมด ข้าพเจ้าจึงใคร่ขอท่านได้โปรดรับเรื่องร้องเรียนไว้ตรวจสอบและมีคำสั่งให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ซึ่งเป็นผู้ออกใบประทวนหรือผู้เก็บรักษาใบประทวนดังกล่าว ประกอบด้วย ธ.ก.ส. อ.ค.ส. และ อ.ต.ก. ชะลอการทำลายใบประทวนดังกล่าวไว้ก่อนเพื่อรอการตรวจสอบต่อไป”

เราคิดว่ากระบวนการรอศาลนี่ไม่ทันแล้ว ล่วงเลยมาแล้วด้วย เพราะศาลชั้นต้นพิพากษาไปแล้ว และเรียกใบประทวนให้เราได้แค่ 400 ฉบับ จริงๆ เราเรียกไปมากกว่านั้นเยอะนะ แต่ 3 องค์กรนี้เขาโยนกันไปมา ธ.ก.ส. ก็โยนว่าคืนให้ อ.ค.ส. และ อ.ต.ก. ไปแล้ว แต่จริงๆ ใบประทวนมี 2 ใบนะ จะมีต้นขั้วด้วย ใบประทวนข้าวออกโดยรัฐ ทำขึ้นมาเฉพาะกิจเฉพาะโครงการนี้ก็จะมีต้นขั้วอยู่ที่ อ.ต.ก. และ อ.ค.ส. อยู่แล้ว ส่วนใบประทวนหรือส่วนหาง ชาวนาก็เอามาจำนำกับ ธ.ก.ส. เพราะฉะนั้นจริงๆ ธ.ก.ส. ไม่มีสิทธิ์ทำลายด้วยซ้ำ เพราะถ้ามีการชำระหนี้มา ธ.ก.ส. จะต้องเอาใบประทวนนี้ส่งมอบไปให้เจ้าของใบประทวนคือ อ.ต.ก. และ อ.ค.ส. เราก็ไม่รู้เหมือนกันว่าทำไม ธ.ก.ส. ถึงได้ชี้แจงว่ามีการทำลายไปแล้ว

จดหมายเปิดผนึกขอให้ตรวจสอบมูลค่าความเสียหายและการกระทำทุจริตในโครงการรับจำนำข้าวและโครงการรับจำนำมันสำปะหลัง

ถ้าคำพิพากษาคดีที่ศาลแรงงานกลางเมื่อวันที่ 31 พฤษภาคม 2565 ปรากฏว่าคุณเป็นฝ่ายชนะ จะยังสมัครเป็นสมาชิกพรรคการเมืองอยู่ไหม

ที่จริงเราไม่อยากยุ่งเกี่ยวกับทางการเมือง เราทำคดีการเมืองมา 4 ปี เราจะไม่รู้เหรอว่าการเมืองเป็นอย่างไร เราก็มองว่าดูแล้วจะยิ่งลำบากกว่าเดิม และที่สำคัญก็คือถ้าจะดีก็ดีเลย ถ้าจะแย่ก็แย่เลย แต่การเข้ามาเป็นสมาชิกพรรคเพราะเราต้องพึ่งรัฐสภา การที่เรามีหลักฐานชัดเจนขนาดนี้เราควรจะได้รับความเป็นธรรม

หลักๆ คือเราต้องการให้ยับยั้งการทำลายใบประทวน แล้วรัฐสภาจะมีท่าทีอย่างไรก็เป็นเรื่องของรัฐสภา เราไปก้าวก่ายหน้าที่เขาไม่ได้ เราจะเข้าไปเป็นผู้ให้ข้อมูล แต่ถ้าเราสามารถเข้าไปเป็นหนึ่งในคณะกรรมาธิการได้ด้วยก็ยิ่งสะดวกในการทำงาน เพราะเราไม่ต้องไปขอให้ใครทำ เราสามารถเข้าไปดำเนินการได้เอง เสนอกับท่านประธานได้เอง


ก่อนหน้าที่จะมีการพิพากษาที่ศาลแรงงานกลาง มีความคิดจะเข้าสู่สนามการเมืองมาก่อนไหม

ไม่มีเลย เพราะตอนแรกจริงๆ เรามั่นใจว่าเรามีโอกาสชนะศาลชั้นต้นที่ศาลแรงงานกลางค่อนข้างสูง เพราะหลักฐานที่เราตรวจพบก็ส่อทุจริตตั้งแต่ต้นอยู่แล้ว พอเราได้ใบประทวนมายิ่งตอกย้ำว่าส่อทุจริตจริง เราก็คิดว่าพอเรามีหลักฐานใบประทวนเราน่าจะชนะ และที่สำคัญคือถ้าเราชนะจะได้สิทธิต่างๆ คืนมาเลย เรื่องที่เราเคยถูกองค์กรรัฐเลิกจ้างที่เคยเป็นปัญหาเรื่องการสมัครงานต่างๆ เราจะได้คืนมาเลยเดี๋ยวนั้น สามารถบังคับได้เลยในศาลแรงงานกลาง แต่พอเรื่องราวเป็นแบบนี้คือปรากฏว่าเราแพ้ เราเลยต้องขยายอุทธรณ์เพื่อให้คงไว้ว่าคดียังไม่ถึงที่สุด


ทำไมต้องพรรคเพื่อไทย สนใจพรรคการเมืองอื่นบ้างไหม

เราเล็งทุกพรรคเลยนะ แต่ที่เลือกพรรคเพื่อไทยเนื่องจากคดีไปพัวพันกับทางพรรคเพื่อไทย เป็นโครงการสมัยที่เพื่อไทยเป็นรัฐบาล และทางพรรคก็ประสานมาเพื่อที่จะให้ความช่วยเหลือ เราก็เลยเห็นว่าการชะลอการทำลายใบประทวนสามารถอาศัยอำนาจรัฐสภาได้

จริงๆ เรื่องนี้ต้องอาศัยอำนาจ ป.ป.ช. (คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ) แต่ ป.ป.ช. เวลายื่นเรื่องไปแล้วใช้เวลานานมาก ปาไป 5-6 ปีกว่าจะดำเนินการ บางคดี ป.ป.ช.ชี้มูลขาดอายุความไปแล้วด้วยซ้ำ หรือเหลืออายุความให้อัยการพิจารณาไม่กี่วัน เพราะฉะนั้นการจะไปรอ ป.ป.ช. ถือเป็นเรื่องยากและเราไม่มั่นใจว่า ป.ป.ช.จะคุ้มครองพยานเอกสารให้เราได้ไหม

เปรียบเทียบง่ายๆ ว่าถ้าคุณป่วยก็ต้องไปหาหมอที่รักษาคุณได้ ป่วยโรคไตจะไปหาหมอตาให้เขามาดูแลเราก็คงไม่ได้ แต่จริงๆ พรรคการเมืองที่เป็นพรรคร่วมฝ่ายค้านเขาก็พร้อมจะให้ความช่วยเหลือหมดนะ


กังวลไหมว่าสุดท้ายการตัดสินใจครั้งนี้จะทำให้คดีความที่ต่อสู้อยู่กลายเป็นส่วนหนึ่งของเกมการเมืองแทน และการประกาศตัวเป็นสมาชิกพรรคเพื่อไทยจะยิ่งทำให้กลายเป็นเป้าโจมตีของฝ่ายตรงข้ามจนสู้คดีได้ลำบากขึ้นหรือเปล่า

เป็นเรื่องธรรมดาอยู่แล้ว เพราะมันเป็นเกมการเมืองมาตั้งแต่ต้น เพียงแต่ว่าเดิมทีตัวเราต่อสู้เองมาตลอด ประชาชนทุกคนก็เห็น แต่พอวันหนึ่งที่เราเข้าพรรคเพื่อไทยก็เป็นธรรมดาที่เราจะโดนโจมตี ต้องวางใจให้เป็นกลาง การถูกโจมตีทางการเมืองหรือการถูกข่มขู่คุกคามนี่เราเจอมาตลอด 4 ปีที่สู้คดีมาอยู่แล้ว พอต้องออกมายืนหน้าฉาก ปัญหาก็ตามมาเยอะเป็นธรรมดา ทำใจไว้อยู่แล้วเพราะว่าเจอมาเยอะแล้ว หลักๆ คือ เราอยากให้ดูหลักฐานเป็นหลัก โชคดีที่หลักฐานที่เรามีมันค้ำคอ ใครจะเชื่อหรือไม่เชื่อเราก็ให้ไปตัดสินกันที่หลักฐานมากกว่า

วันนี้อยู่ในฐานะสมาชิกพรรคเพื่อไทยแล้ว มีความคิดจะเสนอให้โครงการจำนำข้าวกลับมาเป็นนโยบายของพรรคเพื่อไทยไหม

จริงๆ เวลาหาเสียงเลือกตั้ง เราว่าทุกพรรคมีนโยบายดึงดูดชาวรากหญ้าหมดแหละ อย่างในสมัยที่แล้วก็เห็นเรื่องค่าแรงขั้นต่ำ การสนับสนุนสินค้าการเกษตรในรูปแบบต่างๆ เงินผู้สูงอายุ เพราะฉะนั้นก็คงจะมีโครงการช่วยเหลือเกษตรกรทั่วทั้งประเทศ ไม่ใช่เฉพาะชาวนา เพราะตอนที่มีโครงการจำนำข้าวก็มีโครงการรับจำนำมันสำปะหลังด้วย

เพราะฉะนั้นถ้าทางพรรคการเมือง ไม่ว่าพรรคใดจะมีนโยบายไปช่วยเหลือชาวนาเราว่าดีหมด และเราค่อยมาดูกันว่าจะทำอย่างไรได้บ้างให้เม็ดเงินไปถึงเกษตรกรจริงๆ ป้องกันการทุจริตได้จริง อย่าให้เป็นไปในลักษณะแบบนี้ มันน่าเกลียดเกินไป เงินไหลออกไป 880,000 กว่าล้านบาท

ที่เราอยากทำตอนนี้คือเริ่มจากการกระจายหลักฐานไปที่รัฐสภาก่อนเพื่อให้พยานหลักฐานเข้าไปที่คณะกรรมาธิการ ไม่ได้อยู่ที่เราคนเดียว และจะมีข้อเสนอให้นำโครงการรับจำนำข้าวเป็นงานวิจัยเพื่อพัฒนาประเทศ เราก็เสนอไปหลายองค์กร แล้วแต่ว่าองค์กรไหนจะรับไป


มองว่าปัญหาสำคัญที่เกิดขึ้นในกระบวนการดำเนินโครงการรับจำนำข้าวคืออะไร

ไม่ใช่เฉพาะโครงการจำนำข้าว แต่ทุกโครงการทุกเรื่องที่ใช้ภาษีประชาชนนั้นปัญหาอยู่ที่คนใช้ จริงๆ แล้วมีปัญหาทุกรัฐบาล พูดรวมๆ ได้ว่าทุกโครงการมีปัญหาที่เกิดมาจากคน ทั้งข้าราชการประจำ ข้าราชการการเมือง และพอเรื่องไปถึงศาล ลามไปถึงกระบวนการยุติธรรม มันก็เป็นองค์รวมที่ปัญหาคงจะฝังรากลึกแล้ว ก็ต้องช่วยกันแก้ไข


มีคดีหรือประเด็นไหนอีกไหมที่อยากเอาเข้าไปสู้ในรัฐสภา

ถ้าจะถามไปถึงในอนาคต สมมติว่าได้เป็นผู้แทนราษฎรคงจะทำได้มากกว่าตอนนี้เยอะ หลักๆ เรื่องที่คิดไว้ว่าอยากทำซึ่งเป็นเรื่องที่พอมีความชำนาญและมีประสบการณ์ คือการปฏิรูปกระบวนการยุติธรรมซึ่งเป็นต้นตอของทุกเรื่อง เพราะคดีความเรามีหลักฐานขนาดนี้ยังสะดุดเลย จริงๆ หนทางน่าจะไปได้ดี ไปได้สวย สุดท้ายก็ยังมีปัญหา

ระหว่างสู้คดีมา 4 ปีใช้เงินทุนในการสู้คดีจากไหน

หลักๆ เป็นทุนส่วนตัว สองคือขอระดมทุน จริงๆ ตอนมีคดีที่ศาลจังหวัดชุมพร เราก็ทำพวงกุญแจขาย พอประชาชนมาเห็นก็ช่วยซื้อ แต่พอครั้งที่สองเราขายกระเป๋าผ้าซึ่งได้รับความช่วยเหลือค่อนข้างมากเพราะสื่อเอาไปเสนอข่าว ถ้าประชาชนไม่ช่วยเราซื้อกระเป๋าผ้าเราก็สู้คดีไม่ได้ เพราะฉะนั้นเงินที่ใช้ในการต่อสู้คดีทั้งหมดก็เป็นเงินสนับสนุนจากประชาชน และการต่อสู้คดีทั้งหมดจริงๆ แล้วเราไปในนามประชาชน


ไม่ได้จ้างทนายมาช่วยเหรอ

จริงๆ ถ้ามีทนายก็ดี แต่เราเรียนจบด้านกฎหมายมาอยู่แล้ว ช่วงแรกๆ ก็มีกระท่อนกระแท่นหน่อยเพราะไม่เคยมีประสบการณ์ในการว่าความมาก่อน แต่ทำไปทำมาประสบการณ์ก็มีมากขึ้นเรื่อยๆ และเราไม่เคยคิดจะจ้างทนายเลย ยิ่งพอคดีมาถึงศาลอุทธรณ์ยิ่งไม่อยากจ้างใคร คือโดยพยานหลักฐานที่เรามีในมือและที่เห็นคำพิพากษาของศาลค่อนข้างจะมีจุดให้เราสู้ได้ เพราะฉะนั้นการทำข้อมูลต่างๆ ถ้าเราผ่านกระบวนการสืบพยานและเรียกพยานเอกสารมาแล้ว ที่เหลือคือว่ากันด้วยข้อความตัวอักษรอย่างเดียว

ส่วนคดีที่ศาลแรงงานอาจจะมีการขอย้อนสำนวนให้กลับมาที่ศาลชั้นต้นใหม่ เนื่องจากศาลตัดพยานผู้เชี่ยวชาญและตัดพยานวัตถุ คือไม่ให้มีการพิสูจน์เสียง รวมถึงมีการตัดพยานแพทย์ทางจิตเวช เพราะเราถูกกล่าวหาว่าป่วยทางจิตเวชด้วย การถูกตัดพยานทั้งสามส่วนไปทำให้เราเสียโอกาสในการสู้คดีได้อย่างเต็มที่ เพราะฉะนั้นก็จะต้องขอให้ศาลอุทธรณ์มีคำสั่งให้ศาลชั้นต้นสืบพยานทั้งสามส่วนนี้อีกครั้ง ก็ต้องดูว่าศาลอุทธรณ์จะมีดุลพินิจอย่างไร


ถ้าสุดท้ายคดีที่ศาลแรงงานกลางตัดสินให้แพ้ในชั้นอุทธรณ์อีก จะทำอย่างไรต่อไป 

คงไปไหนไม่ได้นอกจากไปศาลฎีกา ก็ต้องสู้ให้ถึงที่สุด ซึ่งการขอดุลพินิจศาลฎีกานี่อีกนานเลย รอไปเถอะ เพราะคดีที่ศาลอาญาที่เราตกเป็นจำเลย ศาลชั้นต้นพิพากษาไปเป็นปีแล้ว แต่จนตอนนี้ศาลยังไม่นัดฟังคำพิพากษาของศาลอุทธรณ์เลย สมมติศาลอุทธรณ์นัดฟังคำพิพากษาภายในสิ้นปีนี้ ถ้าแพ้เราก็ต้องยื่นฎีกาอีก และเราก็ไม่รู้ว่าจะต้องรอศาลฎีกาพิพากษาไปอีกกี่ปี เพราะก่อนที่เราจะยื่นอุทธรณ์ เราก็ต้องมีการขอขยายระยะเวลาก่อน เหมือนคดีที่ศาลแรงงานกลางพิพากษาไปแล้ว 2 เดือน เราก็เตรียมยื่นขยายระยะเวลาเป็นครั้งที่ 3 ก็อยู่ที่ว่าศาลจะให้หรือไม่


ตั้งใจจะลงเล่นการเมืองในระยะยาวเลยไหม

เราไม่ค่อยสนใจเรื่องอนาคตเลย ตั้งแต่ต่อสู้คดีจำนำข้าวมา เราต้องรู้ตัวเองว่าเราวางแผนอนาคตตัวเองไปไกลขนาดนั้นไม่ได้ เพราะเหมือนว่าชีวิตเราต้องไปผูกอยู่กับคำพิพากษา ดังนั้นเราต้องใช้ชีวิตแบบมีความสุขในวันนี้ พรุ่งนี้ หรือเดือนนี้แค่นี้พอ และการลงการเมืองไม่ได้เป็นการตัดสินใจของเราฝ่ายเดียวนะ เหมือนเวลาเราไปสมัครงาน เขาจะรับเราหรือเปล่าก็ไม่รู้ ตัวเลือกของพรรคเพื่อไทยเองก็มีเยอะเช่นกัน


รู้สึกท้อหรืออยากยอมแพ้บ้างไหมในระหว่างที่สู้คดีมากว่า 4 ปี ทั้งยังเคยโดนข่มขู่ด้วย

ถ้าเรากลัวก็ต้องหนีไปตลอด แล้วจะให้เราหนีไปไหน เราย้ายหนีมา 2-3 รอบแล้วนะ เขาก็ตามมาได้อยู่ดีแหละ ประเทศเราก็มีอยู่แค่นี้ ครั้งล่าสุดเราถูกข่มขู่คุกคาม ถูกทำให้เสียชื่อเสียง และมีคนมาตะล่อมให้เราตัดสินใจยุติการต่อสู้คดี ไม่ว่าจะเป็นการเสนอเงิน เสนอให้ลี้ภัย เหมือนกดให้จนแล้วแจก เขาต้องทำให้เรากลัวให้ถึงที่สุดก่อนเพื่อให้เราตัดสินใจถอยหรือหนี ถ้าถอยหรือหนีไปเลยก็ดี แต่เราตัดสินใจว่าเราหาโอกาสหรือหาลู่ทางสู้ต่อดีกว่า และทิศทางทางการเมืองก็ถือเป็นโอกาสที่ดี แต่ก็ต้องดูกันต่อไปเพราะถ้าได้จริงๆ บางทีอาจหนักกว่าเดิมด้วย


แล้วชญาดาในฐานะสมาชิกพรรคเพื่อไทยในวันนี้เหมือนหรือแตกต่างกับชญาดาในฐานะอดีตสาว ธ.ก.ส. เมื่อ 4 ปีที่แล้วอย่างไร

เหมือนกันเลย (ตอบทันที) เพราะเราไม่ได้ยึดติดอยู่กับสังกัดเลย ตอนที่เราอยู่ ธ.ก.ส. เราก็เป็นแกะดำในองค์กรนะ คนอื่นบอกว่านี่คือถูกต้องแล้ว เขาพร้อมใจกันเชื่อแต่เราไม่เชื่ออยู่คนเดียว เพราะฉะนั้นเราก็พร้อมที่จะแลกตำแหน่งตัวเอง พอเข้ามาเป็นสมาชิกพรรคเพื่อไทย ไม่ว่าในอนาคตจะได้ลง ส.ส. ไหมและถึงได้ลง ส.ส. แล้วเลือกตั้งเราจะได้หรือไม่ได้ก็ค่าเท่าเดิม ถ้าเป็น ส.ส. ไปแล้วความรู้สึกก็เหมือนเดิม เนื่องจากวาระแค่ 4 ปี อย่าไปคิดว่าได้แล้วจะเป็นอย่างนั้นไปตลอด

หรือตอนเราอยู่ ธ.ก.ส. ตอนนั้นอายุงาน 7 ปี ถูกพักไป 3 ปี เป็นพนักงานอยู่แค่ 4 ปี นึกดูว่า 3 ปีที่เราถูกพักงานเปลี่ยนเราได้หรือเปล่า เราไม่รู้สึกว่าตัวเองเปลี่ยนไปเลย มีแต่จะเข้มแข็งมากขึ้น ยังไงคดีก็ต้องถึงที่สุด เรายังมีกำลังที่จะสู้เพื่อประชาชนต่อไป

MOST READ

Social Issues

9 Oct 2023

เด็กจุฬาฯ รวยกว่าคนทั้งประเทศจริงไหม?

ร่วมหาคำตอบจากคำพูดที่ว่า “เด็กจุฬาฯ เป็นเด็กบ้านรวย” ผ่านแบบสำรวจฐานะทางเศรษฐกิจ สังคม และความเหลื่อมล้ำ ในนิสิตจุฬาฯ ปี 1 ปีการศึกษา 2566

เนติวิทย์ โชติภัทร์ไพศาล

9 Oct 2023

Social Issues

5 Jan 2023

คู่มือ ‘ขายวิญญาณ’ เพื่อตำแหน่งวิชาการในมหาวิทยาลัย

สมชาย ปรีชาศิลปกุล เขียนถึง 4 ประเด็นที่พึงตระหนักของผู้ขอตำแหน่งวิชาการ จากประสบการณ์มากกว่าทศวรรษในกระบวนการขอตำแหน่งทางวิชาการในสถาบันการศึกษา

สมชาย ปรีชาศิลปกุล

5 Jan 2023

Thai Politics

3 May 2023

แดง เหลือง ส้ม ฟ้า ชมพู: ว่าด้วยสีในงานออกแบบของพรรคการเมืองไทย  

คอลัมน์ ‘สารกันเบื่อ’ เดือนนี้ เอกศาสตร์ สรรพช่าง เขียนถึง การหยิบ ‘สี’ เข้ามาใช้สื่อสาร (หรืออาจจะไม่สื่อสาร?) ของพรรคการเมืองต่างๆ ในสนามการเมือง

เอกศาสตร์ สรรพช่าง

3 May 2023

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • Always Active

Save