fbpx

‘บุพเพสันนิวาส 2’ นอสตัลเจียแสนหวานเคลือบอุดมการณ์ราชาชาตินิยม (^o^)

สมัยที่ ‘บุพเพสันนิวาส’ ออกฉายในฐานะละครช่วงหัวค่ำที่ประสบความสำเร็จสุดขีดด้วยการคว้าเรตติ้งสูงลิ่วเป็นประวัติการณ์ มิหนำซ้ำยังสร้างปรากฏการณ์ ‘ออเจ้า’ กันทั่วบ้านทั่วเมือง ผู้เขียนยังเคยนึกสนุกคุยกับมิตรสหายว่า ลองถ้าได้ย้อนเวลากลับไปยุคสมเด็จพระนารายณ์ฯ ไม่แคล้วเดินตกคันนาตายตั้งแต่วันแรก หรือไม่ก็โดนหวายแช่เยี่ยวเฆี่ยนหลังลายติดเชื้อตายในอีกสองวันให้หลัง ไม่น่าได้ไปสร้างช่วงเวลาโรแมนติกอะไรกับใครเขาได้

แต่ถึงอย่างนั้น ภายใต้ท่าทีของความเป็นละครโหยหาอดีตที่เกรียงไกรและงดงามเกินกว่าความเป็นจริง ฉาบเคลือบด้วยอุดมการณ์ราชาชาตินิยมข้นคลั่ก มันก็ยังเป็นละครคอเมดีที่ดูสนุก ดูเพลิน ซึ่งก็เกิดขึ้นมาจากผลงานการกำกับ การเขียนบทและการแสดงอย่างแม่นยำของทีมงาน

สี่ปีให้หลังความสำเร็จนั้น ‘บุพเพสันนิวาส’ ถูกหยิบมาดัดแปลงเป็นภาพยนตร์ความยาว 166 นาทีหรือคือเกือบสามชั่วโมง เล่าเรื่องราวในอีกชาติของตัวละครหลักจากเวอร์ชันละคร ภพ (ธนวรรธน์ วรรธนะภูติ – ที่น่าเสียดายอย่างยิ่งว่าบทหรืองานกำกับดึงศักยภาพของเขาออกมาได้ไม่ดีเท่าที่ควร โดยเฉพาะหากวัดจากที่เขาเคยแสดงใน October Sonata, 2009) นายช่างที่ฝันเห็นหญิงสาวหน้าตาสะสวยที่เขาไม่เคยรู้จัก และมารู้ทีหลังว่าคือ เกสร (ราณี แคมเปน – ทักษะการแสดงคอเมดีอันแม่นยำของเธอแบกหนังไว้เกือบทั้งเรื่อง) ลูกขุนนางใหญ่หัวสมัยใหม่และไม่เชื่อเรื่องบุพเพสันนิวาส เธอค้นพบสมุดบันทึกตั้งแต่สมเด็จพระนารายณ์ฯ ของแม่หญิงการะเกด (กล่าวคือเธอในอดีตชาติที่แล้วและอยู่ในเวอร์ชันละคร) ซึ่งเขียนด้วยภาษาผิดแปลกไปจากยุคสมัยนั้น ทั้งยังทำนายทายทักเหตุการณ์ต่างๆ ที่จะเกิดขึ้นแก่สยามในอนาคต พอดีกันกับการปรากฏตัวของ เมธัส (พาริส อินทรโกมาลย์สุต) เด็กหนุ่มที่พูดจาด้วยสำนวนเหมือนกันกับที่การะเกดเขียน ทำให้เกสรตระหนักถึงเรื่องราวของการเคลื่อนย้ายข้ามเวลาและภพชาติ ขณะที่การเมืองของสยามในเวลานั้นก็ระอุถึงที่สุดเมื่อสยามทำท่าจะไม่ยอมซื้อเรือกลไฟที่ชาวตะวันตกมาขาย จนอาจยังผลให้กองทัพอังกฤษบุกเข้ามาปิดน่านน้ำทำสงครามได้

หากว่าเวอร์ชันละครทำให้คนดูเคลิบเคลิ้มไปกับบรรยากาศอันแสนสงบของสยาม เครื่องแต่งกาย ‘ไทยๆ’ และสารพัดเมนูอาหารที่แม่การะเกดเสกสรรค์ขึ้นมา ตลอดจนเรื่องราวความรักของสาวแก่นแก้ว น่ารักซุกซนผู้ไม่ประสาสังคมในอดีตอันแสนตื่นตากับชายหนุ่มรูปงามเคร่งขรึม เป็นเจ้าเป็นนายทั้งยังยอมตกลงปลงใจจะรักเพียงการะเกดคนเดียวในยุคที่ผู้ชายมีเมียได้คราวละหลายๆ คน (โดยไม่ถูกมองว่าเป็นเรื่องผิดแปลก) ตัวภาพยนตร์ก็รับไม้ต่อแทบทุกกระเบียดนิ้ว แม้มันจะไม่ได้เล่าผ่านสายตา ‘คนนอก’ อย่างการะเกดหรือเมธัส แต่สยามในยุครัตนโกสินทร์ตอนต้นก็ชวนตื่นตาตื่นใจเพราะเป็นยุคที่เริ่มติดต่อกับต่างชาติทั้งจีนและตะวันตก เราจึงได้เห็นแม่เกสรแต่งตัวเหมือนมีงานแฟชั่นวีกทุกวัน (และชวนมองด้วยสายตาไต่ถามว่าเอ้ะ คนเราจะแต่งตัวเยอะแบบนั้นได้ทุกวันจริงหรือ วันธรรมดาๆ แม่ยังประโคมขนาดนั้น แต่ไม่เป็นไร! ก็หนังมันกำลังทำอดีตให้โรแมนติกอยู่!) หรือจะฉากตัวละครทำอาหารไทยที่ถ่ายทำด้วยมุมกล้องเหมือนโฆษณา รวมทั้งเส้นเรื่องความรักที่ผลัดเปลี่ยนจากสาวน้อยสดใสกับหนุ่มมาดเข้มมาเป็นสาวเก๋ไก๋กับผู้ชายช่างตื๊อ ด้วยการให้พ่อภพตะบี้ตะบันยิ้มหวานอยู่ครึ่งเรื่องที่ดูแล้วไม่น่าจะแค่เผื่อมัดใจแม่เกสร แต่น่าจะเอาไว้มัดใจคนดูด้วย

กล่าวรวมๆ คือ ‘บุพเพสันนิวาส 2’ รู้ตัวและตระหนักดีว่ากำลังจะเล่าเรื่องอะไร และกลุ่มคนดูอยากดูอะไร มันจึงไม่ได้กลบกลิ่นความเป็นละครออกไปแม้แต่นิด ไม่เร้นเงาความฝันหวานในอดีต แม้ว่าด้านหนึ่งหนังมีท่าทีว่าสิ่งที่เล่านั้นแม่นยำเรื่องข้อมูลต่างๆ เสียเหลือเกิน ไม่ว่าจะเหตุการณ์ทางประวัติศาสตร์และข้อขัดแย้งระหว่างสยามกับตะวันตก, ความเป็นอยู่ของผู้คนและภาษาที่ใช้ (เช่น เรียกชาวยุโรปว่าพวกวิลาศ เป็นต้น) แต่เมื่อขยับมายังเรื่องของความฟุ้งฝัน ตัวหนังก็ยืดอกอย่างสง่าผ่าเผยว่ามันมองข้ามความสมจริงบางอย่าง ไม่ว่าจะความสะอาดสะอ้านของผู้คนหรือความเปิ๊ดสะก๊าดต่างๆ, ความโรแมนติกของยุคอดีต ที่มันไม่สมจริงและ ‘รู้ตัว’ ว่าไม่สมจริง

อันที่จริง มีหลายครั้งที่ผู้เขียนนึกถึง ‘พี่มาก..พระโขนง’ (2013) ในแง่ที่ว่าหนังเล่าเรื่องในอดีตและเล่นแง่กับความลื่นไหลเรื่องเวลาเพื่อขับเน้นความแฟนตาซีและความตลก ไม่ว่าจะเป็นภาษาที่ตัวละครใช้, ฉากที่ตัวละครเดินเข้างานวัดและเล่นชิงช้าสวรรค์หรือแม้แต่การที่ตัวละครหนึ่งอ้างอิงถึง ไมเคิล เฟลป์ส นักกีฬาในศตวรรษที่ 21 ทั้งหมดทั้งมวลนี้เกิดขึ้นอย่างจงใจและตั้งใจเพื่อประโยชน์โพดผลบางประการในแง่ของการเล่าเรื่อง และตัวหนังก็ตระหนักรู้ดีว่าได้ละลายเส้นแบ่งเรื่องเวลาต่างๆ เพื่อการนี้ หากแต่ ‘บุพเพสันนิวาส 2’ ไม่ได้ชัดเจนเรื่องการละลายหรือละเลยความสมจริงขนาดนั้น ซึ่งอันที่จริงก็อาจจะมองได้ว่าเป็นการทำเพื่อโรแมนติไซส์อดีตของสยามให้หอมหวานและรับส่งกับการเล่าเรื่องของหนัง (ใครมันจะไปฝันหวานลงหากเห็นอ้ายอีบ่าวไพร่สักคนเดินหลังลายพร้อยมาเข้าฉาก)

ดังนั้นจึงกล่าวได้ว่า หนังตระหนักดีว่าคนดูอยากดูอะไร และมันก็ ‘เสิร์ฟ’ ให้คนดูได้ดูอย่างจุใจ ไม่ว่าจะเป็นบรรยากาศในอดีต เสื้อผ้าหรือกระทั่งฉากพระนางเกี้ยวพาราสีที่เป็นองค์ประกอบสำคัญที่ทำให้หนังยาวเกือบสามชั่วโมง โดยตัวหนังนั้นให้ความสำคัญถึงฉากจีบฉากเกี้ยวระหว่างตัวละครนานจนชวนให้รู้สึกว่ามีแต่น้ำ (และเอาเข้าจริงๆ ผู้เขียนก็รู้สึกว่าบทไม่ได้เขียนมาดีขนาดนั้น เพราะหากลองให้ตัวละครภพไม่ใช่พระเอก ไม่ได้หน้าตาดี ไม่ได้มีตำแหน่งที่ทางใหญ่โตในสายขุนนาง พฤติกรรมต่างๆ นี่น่าจะเป็นภาระชีวิตเกสรพอสมควร) ตั้งแต่มุกเอาดอกรักแทนปุ่มไลก์ในอินสตาแกรมไปจนถึงการเอาถ่านมาป้ายหน้าตาเป็นตัว T T เพื่อล้อเล่นกับตัวอักษรอีโมจิร้องไห้ที่แม่หญิงการะเกดเขียนไว้ในสมุดบันทึก ซึ่งแม้จะน่าเอ็นดู๊-น่าเอ็นดูแต่พอหนังตั้งหน้าตั้งตาเล่าและขายแต่เนื้อเรื่องก้อนนี้ หรือคือก้อนที่ ‘ดูสิ หนุ่มหล่อน่ารักกำลังหาทางจีบสาวสวยด้วยวิธีการแบบนี้ๆ อีกแล้ว’ คนที่อยู่ในมู้ด T T ไม่น่าจะใช่แม่การะเกดหรือพ่อภพ แต่เป็นผู้เขียนนี่เอง (T T)

และในความรู้ตัวว่าตัวเองกำลังจะเล่าอะไร ‘บุพเพสันนิวาส 2’ จึงไม่เก้อเขินที่จะเล่าอุดมการณ์ราชาชาตินิยมผ่านเรื่องราวของเจ้าขุนมูลนายที่มีบ่าวไพร่คอยรองมือรองตีนไม่ต่างจากเวอร์ชันละคร ตัวละครบ่าวไพร่ไร้ใบหน้า (และที่มีใบหน้าอย่าง ‘พี่ปี่’ ก็ถือเป็นบ่าวที่ชีวิตไม่ได้ดูแย่นักเพราะโผล่มาตบมุกบ้างอะไรบ้าง) มันเคลือบน้ำตาลหวานเจี๊ยบจนชวนให้คนดูรู้สึกว่า หากย้อนเวลากลับไปก็ไม่แคล้วได้เป็นท่านขุน แม่หญิงต่างๆ เป็นภาพฝันที่ไม่ว่าตัวหนังจะจงใจหรือไม่ก็ตาม มันได้ส่งต่ออุดมการณ์ราชาชาตินิยมผ่านการมีอยู่อันแสน ‘เป็นมิตร’ และ ‘ชีวิตดี’ ของตัวละครขุนนาง มียศฐาบรรดาศักดิ์ในเรื่อง และมองข้ามชีวิตข้าทาสไปเกือบหมด (ซึ่งก็น่าเศร้าปนขันที่ผู้เขียนค่อนข้างมั่นใจว่า หากภพชาติมีอยู่จริง กว่าครึ่งนี่น่าจะไปเกิดเป็นบ่าว โดนเฆี่ยนหรือไม่ก็ไปเป็นไพร่ ไปเลี้ยงวัวเลี้ยงควายสโลว์ไลฟ์กลางทุ่ง กระหืดกระหอบทำงานส่งส่วยให้ในวัง) โดยทั้งหมดทั้งมวลนี้ ก็น่าสนใจว่าหนังสละเวลาเกือบสามชั่วโมงเพื่อให้ตัวละครจากโลกอนาคต อธิบายถึงกลไกของประชาธิปไตยหรือการโหวตให้ตัวละครชนชั้นสูงฟัง รวมทั้งมีฉากที่ว่า ตัวละครหนึ่งโหวตแพ้แล้วถามว่า “ต้องทำอย่างไรต่อ (กับผลที่ตัวเองไม่พอใจ)” อีกตัวละครหนึ่งจึงบอกว่า “ทำใจ” ทั้งหมดนี้กินเวลาประมาณห้านาที (อยากบอกว่าในอนาคตก็มีกรณีผู้แพ้เลือกตั้งไม่พอใจเหมือนกัน แต่เขาลากเอารถถังออกมาแทน ไม่เห็นว่าจะทำจงทำใจอะไรได้เล้ย)

หนังเล่าความขัดแย้งระหว่างสยามกับตะวันตก และมันก็ชัดเจนที่วางให้ชาติตะวันตกที่รุกคืบเข้ามาเป็นวายร้าย เป็นผู้รุกรานที่ทำให้สยามเป็นภัย ฉากหลังๆ จึงเป็นฉากที่กลิ่นความเป็นชาตินิยมเข้มข้นที่สุด เพราะแม้ศัตรูจะเกิดจากคนในบ่อนไส้ แต่ผู้ที่สร้างเงื่อนไขทั้งยังเป็น ‘ลาสบอส’ ก็ยังเป็นชาวตะวันตก นอกจากนี้ หนังยังให้น้ำหนักกับการที่เรามีบรรพบุรุษที่ทุ่มสรรพกำลังปกปักรักษาชาติไม่ให้ถูกอ้ายอีฝรั่งรุกราน จงอย่าลืมที่จะเป็นลูกหลานที่ดีด้วย (ปรากฏว่าในปี 2022 นายกฯ มีนโยบายจะให้ต่างชาติถือครองกรรมสิทธิ์ที่ดินในไทย ไม่รู้บรรพบุรุษที่ปกป้องแผ่นดินสยามแทบตายจะว่ายังไงน้อ) โดยนัยแล้วมันจึงเป็นการส่งสารว่าภาระหน้าที่ในการปกป้องผืนแผ่นดิน คือหนึ่งในหน้าที่ของการเป็นลูกหลานของคนที่เกิดบนแผ่นดินสยาม (แต่ก็น่าคิดว่าหากถอยย้อนกลับไปในอดีตแล้วเห็นบรรพบุรุษตัวเองโดนเฆี่ยนจนตายนี่ก็ไม่รู้จะยังมีอารมณ์อยากมาปกปักรักษาบ้านเมืองหรืออุดมการณ์ใดอยู่หรือไม่) และเมื่อเหลียวกลับมามองไทยในศตวรรษที่ 21 เราก็คงพบว่ากลุ่มคนที่พาประเทศถอยหลังด้วยรถถัง และถืออุดมการณ์ชาตินิยม มุ่งมั่นปกป้องแผ่นดินในนามของคนดีทั้งสิ้น (T T)

อย่างไรก็ตาม ที่ผ่านมาก็มีหนังมากมายที่พูดถึงประวัติศาสตร์ไทยและอุดมการณ์ราชาชาตินิยมในอดีต ซึ่งก็เป็นเรื่องที่ทำได้เป็นปกติ แต่สิ่งที่น่าสนใจคือหนังเหล่านั้นมีท่าทีเป็นหนังพีเรียด จริงจังและเครียดเขม็ง เล่าเรื่องเจ้านายในรั้วในวังที่พร้อมทุ่มเทปกป้องอาณาบริเวณ มันก็ให้รสชาติเข้มข้นคนละรูปแบบกับหนังอย่าง ‘บุพเพสันนิวาส 2’ (รวมทั้งเวอร์ชั่นละคร) ที่มาในรูปแบบหนังคอเมดีสดใส ฉาบเคลือบด้วยเรื่องราวความรักทุกภพทุกชาติของคนหนุ่มสาว ย้อมอดีตให้เป็นเรื่องฟุ้งฝัน และมอบรสชาติที่ ‘กลืนง่าย’ รวมทั้ง ‘ชื่นมื่น’ กว่ามหาศาล (^o^)

มันจึงไม่แปลกอะไรที่หนังซึ่งเคลือบอุดมการณ์ราชาชาตินิยมไว้ด้วยการโรแมนติไซส์อดีตเมื่อร้อยกว่าปีก่อน จะไม่เล่าเรื่องราวของคนตัวเล็กตัวน้อยหรือกระทั่งแง่มุมอันแสนไม่เป็นมิตรของมัน เพราะหากว่าเล่าแบบนั้นจริง ใคร๊มันยังจะไป ‘ชื่นมื่น’ ต่อวันหวานลง

MOST READ

Life & Culture

14 Jul 2022

“ความตายคือการเดินทางของทั้งคนตายและคนที่ยังอยู่” นิติ ภวัครพันธุ์

คุยกับนิติ ภวัครพันธุ์ ว่าด้วยเรื่องพิธีกรรมการส่งคนตายในมุมนักมานุษยวิทยา พิธีกรรมของความตายมีความหมายแค่ไหน คุณค่าของการตายและการมีชีวิตอยู่ต่างกันอย่างไร

ปาณิส โพธิ์ศรีวังชัย

14 Jul 2022

Life & Culture

27 Jul 2023

วิตเทเกอร์ ครอบครัวที่ ‘เลือดชิด’ ที่สุดในอเมริกา

เสียงเห่าขรม เพิงเล็กๆ ริมถนนคดเคี้ยว และคนในครอบครัวที่ถูกเรียกว่า ‘เลือดชิด’ ที่สุดในสหรัฐอเมริกา

เรื่องราวของบ้านวิตเทเกอร์ถูกเผยแพร่ครั้งแรกทางยูทูบเมื่อปี 2020 โดยช่างภาพที่ไปพบพวกเขาโดยบังเอิญระหว่างเดินทาง ซึ่งด้านหนึ่งนำสายตาจากคนทั้งเมืองมาสู่ครอบครัวเล็กๆ ครอบครัวนี้

พิมพ์ชนก พุกสุข

27 Jul 2023

Life & Culture

4 Aug 2020

การสืบราชสันตติวงศ์โดยราชสกุล “มหิดล”

กษิดิศ อนันทนาธร เขียนถึงเรื่องราวการขึ้นครองราชสมบัติของกษัตริย์ราชสกุล “มหิดล” ซึ่งมีบทบาทในฐานะผู้สืบราชสันตติวงศ์ หลังการเปลี่ยนแปลงการปกครองโดยคณะราษฎร 2475

กษิดิศ อนันทนาธร

4 Aug 2020

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • Always Active

Save