หมา เด็กสถาปัตย์ และชีวิตระทึกปนระทมของคนเจนวาย : กวิน ศิริ แห่งเพจ ‘นวล’

“อาคารสวยจังนะครับ” เป็นประโยคแรกที่ กวิน ศิริ เอ่ยหลังจากเราทักทายกันเรียบร้อย ระหว่างที่วางข้าวของลงบนโต๊ะ เขายังกวาดสายตามองไปรอบๆ อาคารที่ทำงาน อันเป็นสถานที่ซึ่งเรานัดเขามาพบ

อันที่จริงก็ไม่แปลก พ้นไปจากบทบาทเจ้าของเพจ ‘นวล’ -หมาสีขาวหน้าตาน่ารักกับนิสัยสุดห่ามที่ถึงเวลานี้มีผู้ติดตามกว่าเจ็ดแสนคน- กวินเรียนจบจากคณะสถาปัตยกรรม ซึ่งกับคนที่ติดตามเพจนวล ข้อเท็จจริงที่ว่าเขาเรียนจบจากคณะนี้คงไม่ใช่เรื่องไกลจากความคุ้นเคยเท่าไหร่ เพราะกวินทำคลิปวิดีโอในเพจนวล เล่าเรื่องชีวิตสุดระทึกปนระทมของเด็กสถาปัตย์เป็นความยาวห้าตอนในแบบที่ถ้าไม่เคยกัดฟันผ่านมาก่อนคงเขียนออกมา ‘ถึงรส’ ไม่ได้ขนาดนี้

นอกไปจากเรื่องราวของชีวิตคนเรียนสถาปัตย์ เพจนวลยังเป็นพื้นที่ที่กวินใช้เล่าเรื่องราววาไรตี้ ทั้งเรื่องวายป่วงของคนเล่นเกม ความเซอร์ที่พบเจอได้ในชีวิตประจำวัน เท่ากันกับที่มันเป็นเพจที่เล่าเรื่องสังคมการเมืองได้อย่างน่าสนใจ มีทั้งเรื่องราวของการเมืองในภาพใหญ่อย่างเผด็จการ ไปจนถึงในระดับปัจเจกอย่างความเหลื่อมล้ำ เล่าด้วยงานภาพน่ารักที่มักมีเจ้าหมานวลเป็นตัวดำเนินเรื่อง กับน้ำเสียงขันขื่นเสียดเย้ยอยู่ในที

เช่นเดียวกันกับอีกหลายคนในประเทศ กวินเติบโตในห้วงเวลาที่ความขัดแย้งสำแดงตัวตนในการเมืองร่วมสมัยชัดเจน เขาคือคนรุ่นที่ทันเห็นรัฐประหารเมื่อปี 2549 ตอนอยู่ชั้นมัธยม และเพิ่งเรียนจบเมื่อเกิดรัฐประหารอีกครั้งในปี 2557

ความเปลี่ยนแปลง ผลัดใบ เคลื่อนไหวของสังคมไทยไม่เพียงแต่ปรากฏอยู่ในเพจนวล แต่มันยังปรากฏอยู่ในเนื้อตัวและคำตอบของเขาด้วย ดังที่คุณจะได้อ่านจากบทสนทนาด้านล่างนี้

ทำไมคุณถึงเลือกเข้าเรียนคณะสถาปัตย์

เมื่อก่อนผมมีนักเขียนคนหนึ่งเป็นไอดอล เขาเรียนจบคณะสถาปัตย์น่ะ แต่พูดไปแล้วอายเขาตายเลยเพราะตอนนี้เขากลายเป็นแบบที่รู้ๆ กันไปแล้ว (หัวเราะ) เราอยู่ในบ้านนี้เมืองนี้ แล้วเราชอบวาดรูป วาดการ์ตูนแต่เล็กๆ ซึ่งพ่อแม่ไม่สนับสนุนให้เราเรียนสายศิลป์ เพราะเขามองว่ามันดูไม่น่าไปทำมาหากินอะไรได้ สุดท้ายผมก็เลยไปเรียนสายวิทย์-คณิต

ฉะนั้น เมื่อคุณชอบวาดการ์ตูนและเรียนสายวิทย์-คณิต คุณก็ไปเรียนสถาปัตย์ไง มันไม่เกี่ยวอะไรกันเลยหรอก แต่มันก็เป็นทางออกของคนสายนี้น่ะ

ก่อนที่ผมจะเข้าไปเรียนคณะสถาปัตยกรรม ผมเข้าใจว่าตัวเองวาดรูปได้ประมาณหนึ่ง ไม่ได้แย่ แต่พอเข้าไปแล้วก็รู้เลยว่าไม่ใช่ (ส่ายหัว) ตอนเรียนปีหนึ่งนี่เห็นเพื่อนร่วมคลาสระดับเทพๆ เดินเหมือนมีแสง-มีดอกไม้พุ่งออกมา พออาจารย์เอางานเพื่อนขึ้นสไลด์ให้ทุกคนในชั้นเรียนได้ดูครั้งแรก ผมไม่เชื่อว่านั่นคืองานของคนที่อายุเท่าผม อีโก้เราก็พังทลายไปเลย (หัวเราะ) ฉะนั้นห้าปีของการเรียนสถาปัตย์คือ เราต้องทำงานกับสิ่งนี้ ฝีมือวาดรูปเราอาจจะสู้มหาเทพไม่ได้ แต่เรายังมีหนทางเหลาเครื่องไม้เครื่องมืออื่นๆ เพื่อทดแทน ก็มาดูว่าเรามีอะไรในตัวบ้าง ผมอ่านการ์ตูนเยอะ อ่านนิยายกำลังภายในเยอะ รู้จักการใช้ภาษาหลากหลายรูปแบบ ก็เลยเหลาทักษะพวกนี้แทน ถ้าวัดฝีมือการเล่าเรื่องแค่อย่างเดียวนี่ก็มั่นใจอยู่ น่าจะพอสู้เขาได้ แต่ถ้าให้วาดรูปแข่งกันนี่แพ้ตั้งแต่เหลาดินสอ (หัวเราะ)

ตอนเรียนสถาปัตย์เป็นยังไง อดหลับอดนอนเหมือนนวลในวิดีโอเลยไหม

อดครับ ห่วงเล่น ไม่ถึงเวลาส่งก็ไม่ยอมทำ แต่เพื่อนผมที่ไม่อดหลับอดนอนก็มีนะ คนแบบนี้ไม่ใช่เทพ แต่เรียกว่าคนมีความรับผิดชอบ ซึ่งน่านับถือว่าพวกเทพอีกนะ เทพเจ้านี่เหมือนอยู่กันคนละมิติกับเราน่ะ เหยียบเท้าเข้ามาตอนปีหนึ่งก็วาดเก่งกว่ากูในทุกวันนี้แล้ว แต่คนที่มีความรับผิดชอบนี่เติบโตมาในสิ่งแวดล้อมที่ไม่ต่างจากเรามาก แต่จัดการตัวเองได้ ถึงเวลาทำงานแล้วทำ ถึงเวลานอนก็นอน ถึงเวลาขึ้นไปพรีเซนต์งานก็ทำได้ดี ขณะที่เราเหลวไหล ดูการ์ตูน อ่านนิยาย เราชื่นชมคนแบบนี้มาก คนที่เรารู้สึกว่าถ้าเราพยายามมีระเบียบวินัยก็คงเป็นแบบเขาได้นะ

การเรียนสถาปัตย์ส่งผลต่อตัวคุณกับการทำเพจนวลยังไง

ส่งผลเยอะ มันเรียนตั้งห้าปีน่ะ นวดกันจนเป็นเนื้อเดียวแยกออกจากตัวตนกันไม่ได้แล้ว

คิดว่าเพจ ‘นวล’ ได้ประโยชน์จากการเรียนสถาปัตย์ สถาปัตย์ให้เครื่องไม้เครื่องมือในการคิด เราพร้อมที่จะเปลี่ยนเครื่องมือในมือเราตลอดเวลา ผมยกตัวอย่างแบบนี้ เวลาคุณทำอาคารขึ้นมาสักหลัง นี่เป็นมหากาพย์เลยนะ มีสำนักงานเขต มีผู้รับเหมา มีวิศวกร ซินแส มีทั้งสิ่งมหัศจรรย์และไม่มหัศจรรย์ สถาปนิกคือคนที่รวมเอาทุกอย่างมาไว้ด้วยกัน จึงจะเกิดอาคารขึ้นมาได้ คุณต้องคิดถึงทุกอย่างของทุกคน แล้วยังต้องคิดเรื่องความงาม เรื่องคุณค่าเชิงวัฒนธรรม ไปจนความเป็นเนื้อเมืองเข้าด้วยกันอีก การพินิจพิจารณาทุกสิ่งทุกอย่าง ที่มีความสำคัญคนละแบบ แต่ต้องคิดพร้อมๆ กันแบบนี้อาจทำให้เรามีเครื่องมือในการคิดที่ไม่เหมือนคนอื่นนะ

ในกระบวนการออกแบบ เรารู้ว่าสิ่งที่เป็นไปไม่ได้เลยคือการจะเอาสิ่งที่ดีที่สุดทุกอย่างมาเก็บไว้ด้วยกัน บางอย่างสิ่งนั้นดีมากๆ แต่มันอยู่ด้วยกันไม่ได้ พออยู่ด้วยกันแล้วมันไม่ดี เราแค่ต้องมีความสามารถในการมองว่าอะไรควรจะอยู่และอะไรควรจะไป ซึ่งสิ่งเหล่านี้มันอาจออกมาในรูปแบบของบทในเพจนวลมั้งครับ เพราะการออกแบบคือการตัดสินใจตลอดเวลา บางทีผมเขียนอะไรขึ้นมาสักย่อหน้าหนึ่งแล้วชอบมากเลย รู้สึกว่าแสบมาก แต่สุดท้ายถ้ามันอยู่แล้วถ่วงงานทั้งหมด ก็ต้องตัดใจคัดออก

เรียกว่าศิลปะการตัดทอนไหม แล้วสิ่งนี้สำคัญกับคุณในแง่คนทำเพจนวลกับคนออกแบบอย่างไร

มันทำให้งานเสร็จไง (หัวเราะ)

เวลาเราคิดอะไรที่ตัวเองชอบมากๆ ได้ แต่พอไปอยู่ในภาพรวมของงานแล้วไม่เวิร์ก เช่นเรื่องแก๊กตลกต่างๆ จากเพจนวล รู้สึกว่าอันนี้ตลกจัง แต่ผ่านไปแล้วค่อยรู้สึกว่า ไม่เห็นตลกเลยวะ (หัวเราะ) การตัดทอนอาจจะเป็นการทำงานกับอีโก้ตัวเอง แบบทำอะไรขึ้นมาแล้วรู้สึกชอบตัวเอง เราเก่งจังเลย แต่ถ้าเก่งจริงจะมองออกว่าไอ้ที่เราชอบ มันเป็นแก่นเป็นแกนของสิ่งที่จะสื่อไหม หรือจริงๆแล้วไม่มีจะดีกว่า

กับเพจนวล ผมทำงานเกี่ยวกับความเข้าใจของคน ขั้นตอนที่ยากที่สุดไม่ใช่การอธิบายเรื่องยากๆ นะ แต่เป็นการทำให้คนแคร์สิ่งที่เรากำลังจะอธิบายต่างหาก ดังนั้น สิ่งที่ผมใช้บ่อยคือการเปรียบเทียบ สมมติว่าผมกำลังทำเรื่องซับเจ็กต์ A ที่ไม่สนุกเลย แต่ต้องพยายามทำให้คนอ่านเข้าใจให้ได้ว่าซับเจ็กต์ A คืออะไร มันเหมือนให้คนอ่านไปลงเรียนวิชาซับเจ็กต์ A ระดับพื้นฐานซึ่งคนอ่านเขาก็ไม่อยากอ่านหรือดูอะไรแบบนั้นหรอก สิ่งที่ผมทำได้คือเปรียบเทียบซับเจ็กต์ A เข้ากับอะไรบางอย่างที่มันอยู่ในชีวิตคนอ่านอยู่แล้ว และบางทีถ้าเราบิดให้มันตรงกับสถานการณ์ปัจจุบันบางอย่างได้ด้วย ทุกคนก็จะมีก้อนที่ว่านี้เป็นจุดร่วมในชีวิต และพอจะเข้าใจการเปรียบเทียบที่ว่าด้วยซับเจ็กต์ A โดยอัตโนมัติ

สิ่งที่น่าสนใจคือเพจคุณเล่าเรื่องที่ซับซ้อนให้มันออกมาดูง่าย คุณได้รับอิทธิพลมาจากไหนบ้าง

ผมอ่านมังงะเยอะ อ่านทุกแนว ทั้งพวกโชเน็น มังงะเด็กผู้ชายและโชโจ มังงะตาหวาน เอาเป็นว่าถ้าเราจะคุยกันเรื่องมังงะกับการ์ตูนที่ผมอ่านนี่อาจไม่ต้องคุยกันเรื่องอื่นๆ อีกเลย (หัวเราะ) แต่ที่ชอบมากๆ และคิดว่าน่าจะเป็น subgenre พวกมังงะแนว slice of life (หมายถึงฌ็องมังงะที่เล่าเรื่องรายละเอียดเล็กๆ น้อยๆ ในชีวิต) เช่น พระเอกทำกับข้าว ลูกสาวก็นั่งรอกิน คิดว่าชอบมังงะแนวนี้ที่สุดเลย ชอบมาตั้งแต่สมัยเรียนแล้ว รู้สึกว่ามันโคตรปรมัตถ์เลย ถ้าคุณเขียนการ์ตูนคนไปจ่ายกับข้าวให้สนุกได้นี่คุณแม่งเก่งที่สุดแล้ว มีเรื่อง Yotsuba to! และ Aria เรื่องนี้เป็นก้อนที่สำคัญในชีวิตผมมาก นางเอกเป็นเด็กผู้หญิงจากโลกและอยากไปเป็นพายเรือที่ดาวอังคาร เรื่องแค่นี้เอง แล้วเขียนใน 12 เล่มจบ เก่งมากเลย

กับอีกอย่าง ผมชอบดูยูทูบช่อง ซีจีพี เกรย์ (CGP Grey ยูทูบเบอร์ชาวอเมริกัน-ไอริช มักทำวิดีโอว่าด้วยสังคม, การเมือง, เศรษฐกิจและประวัติศาสตร์) คนนี้เก่งมาก เขาเป็นแรงบันดาลใจสำหรับเรามากๆ เลย เป็นเหมือนประภาคารในท้องทะเลอันมืดมิด คอยบอกเราว่า ดูสิ คนที่เขาตั้งใจทำงานดีๆ มันก็ยังมีคนดูอยู่นะเว้ย ซึ่งอันนี้สำคัญมาก

หรืออีกช่องนึงคือ Kurzgesagt งานเขามันเริ่มจากการเป็นธีสิสจบก่อน ที่ผมกำลังจะบอกคือ ถ้างานคุณดี ธีสิสคุณมันสามารถส่งอิทธิพลมาถึงโลกที่สามได้แบบนี้เลย มหัศจรรย์ไหมล่ะ มันขยายผลได้ มันคือพลังของสื่อ มันมีอยู่จริง เราเป็นตัวเราทุกวันนี้ได้เพราะยูทูบ มันเชื่อมโยงกับเรามากกว่าตำราที่สอนเรามาในโรงเรียนอีก

คุณโตมาในยุคการเปลี่ยนผ่านทางการเมืองของไทยค่อนข้างเข้มข้น มันส่งผลต่อทัศนคติคุณยังไงบ้าง

มันก็ทำให้เราตั้งคำถาม ซึ่งไม่ได้แปลว่าเรามีคำตอบอะไรนะ คือสมัยที่เป็นนักเรียน โรงเรียนของเราก็ไม่ได้สอนให้เราเข้าใจประวัติศาสตร์ร่วมสมัยเลย ฉะนั้น เสี้ยวของประวัติศาสตร์ที่เรารู้พอจะมารับมือกับสิ่งที่เกิดขึ้นในสังคมการเมือง ก็คือความเห็นของผู้ใหญ่ พ่อแม่ ครูอาจารย์ ถ้าคุณตกอยู่ในสถานการณ์คล้ายๆ กัน ผมว่าแล้วแต่คนเลยว่าตอนนั้นคนในชีวิตคุณพร้อมจะแบ่งปันเกร็ดต่างๆ มากพอให้คุณสามารถเอากลับมาคิดเองได้แค่ไหน

สมัยเด็กๆ ผมก็ฟังที่ผู้ใหญ่เขาพูดเป็นเรื่องๆ ไป แต่ถามว่าเข้าใจประเด็นจริงๆ และความเป็นไปของมันขนาดนั้นไหม ก็ไม่หรอก แต่เข้าใจว่ามีสิ่งเหล่านี้เกิดขึ้น หลายเรื่องพอเราฟังก็เอ๊ะแหละ ทำไมเขาให้เหตุผลว่าแบบนี้นะ ทำไมถึงปล่อยให้เกิดสิ่งนี้ขึ้นได้นะ แปลกๆ

วัดจากน้ำเสียงของเพจนวลก็พูดเรื่องประชาธิปไตยเยอะมากเลยนะ

โตขึ้น ก็ค่อยๆ รู้ความมากขึ้นมังครับ (หัวเราะ)

ก่อนนี้เรามีข้อมูลเรื่องสังคมการเมืองจากแค่ผู้ใหญ่รอบๆ ตัว หนังสือเรียนก็สอนเรื่องถ้วยชามสังคโลก (ถอนหายใจ) คือผมเรียนเป็นภาษาอังกฤษ จำได้ว่าส่วนใหญ่ของการเรียนวิชาสังคมคือการทำความเข้าใจคำศัพท์ ซึ่งบางคำถ้าให้ท่องจำนอกบริบทการใช้งานของมันแล้ว แทบจะเป็นไปไม่ได้เลยที่จะเข้าใจว่ามันหมายความว่าอะไร ผมใช้เวลานานมากในการทำความเข้าใจคำว่า sovereignty (อธิปไตย) แบบไม่มีตัวอย่างประโยคหรือเหตุการณ์ตัวอย่าง จะให้เด็กที่รู้น้อยขนาดนั้นไปเข้าใจเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นจริงในสังคมการเมืองไทยนั้นจึงเป็นไปได้ยากมาก

เศร้านะ นี่เราจะโตมาเป็นคนที่มีคุณภาพได้ยังไงวะถ้าไม่รู้จักประวัติศาสตร์ประเทศตัวเอง (หัวเราะ)

แต่พอมาเรียนมหาวิทยาลัย เราได้เจอเด็กจากหลายๆ ที่ก็เปิดโลกประมาณหนึ่ง คนนี้มาจากต่างจังหวัด เขาก็แสดงความเห็นแบบนึง คนนี้บ้านรวยมาก ก็มีวิธีพูดอีกแบบหนึ่ง อาจารย์ก็มีวิธีพูดอีกแบบหนึ่ง เราก็พยายามจะตกผลึกความคิดของตัวเองขึ้นมา ตอนแรกก็ไม่เข้าใจหรอก เช่น เวลาอาจารย์พูดคำว่าความเหลื่อมล้ำ ไอ้คอนเซ็ปต์เกี่ยวกับความเหลื่อมล้ำนี่สำหรับผมในเวลานั้นก็เป็นเรื่องที่เข้าใจยากมากนะ และอาจเป็นเหตุผลหนึ่งที่ทำให้เราทำซีรีส์เรื่องความเหลื่อมล้ำในเพจนวลได้เข้ารสขนาดนั้น เพราะเราเคยเป็นคนที่ไม่เข้าใจว่ามันคืออะไร แต่พอรู้ความมากขึ้น ได้เห็นผู้เห็นคน มันทำให้เราเข้าใจว่าการที่คนคนหนึ่งไม่รู้เรื่องพวกนี้เลย ไม่สามารถมองเห็นเรื่องพวกนี้ได้เลยนั้น มีกระบวนการอะไรบ้าง ต้องผ่านอะไรบ้างที่ทำให้พวกเขาเข้าใจเรื่องพวกนี้ได้ในที่สุด

ตอนนั้นคุณไม่เข้าใจความเหลื่อมล้ำในความหมายไหน

ไม่สามารถเกิดความเห็นอกเห็นใจหรือ empathy กับคนที่เขาถูกกดทับได้ ไม่ใช่ว่ามองไม่เห็นด้วยนะ แต่เหมือนว่าข้อมูลทั้งหมดที่เราถูกสอนมาในตอนนั้น มันขัดขวางการเกิด empathy ด้วยซ้ำ มันทำให้เราตั้งคำถามผิดๆ ว่า ‘ไม่ช่วยเหลือตัวเองหรือเปล่า ทำไมไม่เริ่มที่ตัวเรา’ เพราะเราถูกสอนมาในระบบที่วางอยู่บนรากของการได้รางวัลหรือผลตอบแทน เช่น ความพยายามอยู่ที่ไหน ความสำเร็จอยู่ที่นั่น เวลานั้นเลยทำให้เราคิดว่า พวกเขาคงไม่พยายามกันเอง ทำนองนั้น

จนมาหัดอ่านหนังสือเองนั่นแหละถึงจะพอฉลาดขึ้นบ้าง ต้องอ่านประวัติศาสตร์เวอร์ชันที่ไม่ได้เขียนโดยชนชั้นปกครอง มันทำให้เราเริ่มไม่มองโลกผ่านสายตาของเจ้าขุนมูลนาย ไม่มองว่าตัวเองคือคนที่พร้อมจะไปมีชีวิตที่ดีโดยอัตโนมัติ ได้รู้ว่าโลกนี้แม่งมีคนที่ตั้งแต่เกิดจนตาย จะพยายามแค่ไหนคุณภาพชีวิตก็ยังต่ำเตี้ย พอเข้าใจเรื่องพวกนี้มากขึ้น ก็เกิดความเห็นอกเห็นใจกับผู้อื่นได้

ตัวตนคุณทุกวันนี้ที่พูดถึงก็น่าจะเป็นกลุ่มคนเจเนอเรชันวาย เป็นคนรุ่นที่ทำงานและเริ่มบ่นกันแล้วว่าชีวิตยาก

ก็มันยากนี่ ทำไมเราถึงยอมรับไม่ได้ล่ะว่าชีวิตเรายาก (หัวเราะ) คือสิ่งที่คนรุ่นก่อนๆ เขาผ่านมามันไม่เหมือนกับสิ่งที่กำลังเจออยู่ไง ปลาคนละน้ำ มันไม่เหมือนกัน

อาชีพคนทำคอนเทนต์มันต้องเผชิญหน้าความผันผวนเกินไปสำหรับสิ่งมีชีวิตที่เรียกว่าคน มันทำให้เราตั้งคำถามกับตัวเองตลอดเวลาจนสุขภาพจิตเละเทะ

คุณตั้งคำถามอะไรกับตัวเอง ทำไมต้องตั้งคำถาม

ถามว่าสิ่งที่เราทำยังมีความหมายอยู่หรือเปล่า มันควรค่าที่จะทำต่อไปไหม ที่เราทำนี่คือทำไปเพื่อใคร มันมีตัวเลือกอื่นที่ดีกับทั้งสังคมและตัวเราเองกว่านี้อยู่อีกหรือเปล่า

คนรุ่นเราโตมากับความคาดหวังจากสังคมในทุกทิศทุกทาง ชีวิตมันต้องดีเว้ย คุณต้องลงทุนตั้งแต่ตอนนี้ แล้วมีเงินอย่างเดียวไม่พอนะ ต้องฟูลฟิลจิตใจอีก ต้องผลักดันสังคมด้วย สุขภาพก็ต้องเยี่ยมยอด ต้องคิดบวก ต้องโคตรโปรดักทีฟ มันประสาทนะ (หัวเราะ) เรารู้สึกว่ามันไม่ใช่วิธีใช้ชีวิตที่คนธรรมดาๆ จะทำได้จริงขนาดนั้น เอาเป็นว่าผมทำไม่ได้ละคนนึง

ในอีกทางหนึ่ง เราก็เป็นคนรุ่นที่เจอคนรุ่นหลังๆ หายใจรดต้นคอมาก เด็กปัจจุบันพูดได้คนละ 3-4 ภาษา เล่นเครื่องดนตรีได้คนละชิ้น รอบรู้กว้างขวาง ขณะที่เราก็พร้อมจะตกรุ่นตลอดเวลา

ผมว่าเราควรจะใส่ใจแหละ เพราะรู้สึกว่าถ้าเราไม่ใส่ใจกับสิ่งนี้เลย รู้ตัวอีกทีก็คงตกรุ่น ไม่มีใครต้องการคุณในทีมแล้ว ถ้าคุณมองเห็นก่อน คุณก็มีเวลาวางแผนมากกว่า มันน่ากลัวเนอะ เราไม่ได้แก่ในสิ่งที่ศัพท์ว่า ‘แก่’ มันถูกสร้างขึ้นมาเพื่อใช้อธิบายน่ะ เราแก่ในแง่ของการ obsolete เร็ว แต่ถ้าจะถามว่าแล้วเราควรรับมือยังไง ผมไม่มีคำตอบให้หรอก (หัวเราะ)

ผมว่าเราทำงานกับสุขภาพจิตตัวเองได้ อย่างที่ทั้งคุณและผมเลือกทำงานนี้เพราะมันมีด้านที่หล่อเลี้ยงจิตใจอยู่บ้าง ถึงแม้อีกด้านมันจะไปสร้างคำถามเพิ่มเติมขึ้นมาอีกมากมายก็ตาม คุณจะมีคำถามที่ไม่ได้คำตอบอีกเยอะเลย ซึ่งถึงตอนนั้น เมื่อถึงเวลาที่คำถามเหล่านี้ต้องการคำตอบจริงๆ เราก็คงมีคำตอบให้มันเองแหละ แต่จะเป็นคำตอบที่ดีหรือไม่ดีนี่ก็ไม่รู้เหมือนกัน

มองตัวเองอีกสิบปีหน้าเป็นยังไง

คงไม่กังวลเท่าวันนี้มั้ง ผมว่าตอนนี้ผมขี้กังวลไป (คิดนาน) ถึงตอนนั้นก็หวังว่าผมจะมีคำตอบให้บางคำถามไปบ้างแล้ว

MOST READ

Life & Culture

14 Jul 2022

“ความตายคือการเดินทางของทั้งคนตายและคนที่ยังอยู่” นิติ ภวัครพันธุ์

คุยกับนิติ ภวัครพันธุ์ ว่าด้วยเรื่องพิธีกรรมการส่งคนตายในมุมนักมานุษยวิทยา พิธีกรรมของความตายมีความหมายแค่ไหน คุณค่าของการตายและการมีชีวิตอยู่ต่างกันอย่างไร

ปาณิส โพธิ์ศรีวังชัย

14 Jul 2022

Life & Culture

27 Jul 2023

วิตเทเกอร์ ครอบครัวที่ ‘เลือดชิด’ ที่สุดในอเมริกา

เสียงเห่าขรม เพิงเล็กๆ ริมถนนคดเคี้ยว และคนในครอบครัวที่ถูกเรียกว่า ‘เลือดชิด’ ที่สุดในสหรัฐอเมริกา

เรื่องราวของบ้านวิตเทเกอร์ถูกเผยแพร่ครั้งแรกทางยูทูบเมื่อปี 2020 โดยช่างภาพที่ไปพบพวกเขาโดยบังเอิญระหว่างเดินทาง ซึ่งด้านหนึ่งนำสายตาจากคนทั้งเมืองมาสู่ครอบครัวเล็กๆ ครอบครัวนี้

พิมพ์ชนก พุกสุข

27 Jul 2023

Life & Culture

4 Aug 2020

การสืบราชสันตติวงศ์โดยราชสกุล “มหิดล”

กษิดิศ อนันทนาธร เขียนถึงเรื่องราวการขึ้นครองราชสมบัติของกษัตริย์ราชสกุล “มหิดล” ซึ่งมีบทบาทในฐานะผู้สืบราชสันตติวงศ์ หลังการเปลี่ยนแปลงการปกครองโดยคณะราษฎร 2475

กษิดิศ อนันทนาธร

4 Aug 2020

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • Always Active

Save