fbpx

 

มนต์เสน่ห์ของประวัติศาสตร์ คือการถกเถียงกับอดีตไม่รู้จบ: ตุลย์ อิศรางกูร ณ อยุธยา

 

นับตั้งแต่อดีตที่มนุษย์เริ่มขีดเขียนบันทึกเรื่องราว สรรสร้างสรรพสิ่ง และมีปฏิสัมพันธ์ต่อโลกรอบตัว ร่องรอยหลักฐานประสบการณ์ชีวิตของผู้คนและสังคมในอดีตที่หลงเหลือข้ามกาลเวลามาสู่ปัจจุบัน และผ่านการตีความตกผลึกเล่าออกมาเป็นเรื่องราวนั้น รู้จักกันดีในนาม ‘ประวัติศาสตร์’

กว่าสองศตวรรษมาแล้วที่มนุษย์เริ่มเดินทางย้อนเวลาค้นหาเรื่องราวในอดีต โดยอาศัยวิธีวิทยาศึกษาประวัติศาสตร์แบบสมัยใหม่ ราวกับว่าปริศนาเกี่ยวกับอดีตของมนุษย์และสังคมเริ่มจะคลี่คลายกระจ่างชัด เรื่องราวในยุคสมัยต่างๆ  – ตั้งแต่แง่มุมการเมือง เศรษฐกิจ สังคม วัฒนธรรม ภูมิปัญญา เพศสภาพ เทคโนโลยี สิ่งแวดล้อม ไปจนถึงชีวิตและความรู้สึกนึกคิดของปุถุชนคนธรรมดา – ปรากฏออกมาจนแลดูประหนึ่งว่าเรารับทราบความจริงในอดีตแทบจะถ้วนทั่วและเรื่องเล่าต่างๆ หยุดนิ่งไปพร้อมกับกาลเวลาที่สิ้นสุดลงแล้ว

แต่นั่นหมายความว่าการศึกษาประวัติศาสตร์ใกล้หมดลมหายใจไปแล้วหรือไม่? จริงหรือที่มนุษย์เดินทางข้ามเวลาผ่านหลักฐานเพื่อล่วงรู้อดีตทั้งหมดได้?

สำหรับ ตุลย์ อิศรางกูร ณ อยุธยา อาจารย์ประจำภาควิชาประวัติศาสตร์ คณะอักษรศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ประวัติศาสตร์จะไม่มีทางตาย ตราบเท่าที่แก่นของประวัติศาสตร์ยังอยู่ที่การตั้งคำถามต่ออดีตและสรรสร้างคำอธิบายเพื่อถกเถียง โต้แย้งเรื่องเล่าที่เคยเชื่อกันมาอย่างไม่สิ้นสุด

“ประวัติศาสตร์ไม่ใช่การเปิดเผยความจริงว่าเกิดอะไรขึ้นในอดีต แต่ประวัติศาสตร์คือการตีความความหมายของอดีตบนพื้นฐานของหลักฐานชั้นต้น … มนต์เสน่ห์ของประวัติศาสตร์คือ เห็นได้ชัดว่าเราไม่มีทางเข้าถึงหรือจับต้องอดีตที่เราศึกษาได้จริง ไม่มีใครรู้ว่าสิ่งที่เกิดขึ้นจริงคืออะไร มันคือการถกเถียงที่ไม่รู้จบ เพราะจับต้องเค้นเอาจากอดีตไม่ได้”

กระนั้น ในวันที่โลกเรียกร้องการทำความเข้าใจมนุษย์และสังคมมากกว่าที่เคย คำถามมีอยู่ว่า ทิศทางการศึกษาประวัติศาสตร์กำลังมุ่งไปทางไหน? หนทางใดที่นักประวัติศาสตร์จะเปิดคำอธิบายใหม่ๆ เพื่อเข้าใจความเป็นมนุษย์ได้มากยิ่งขึ้น? ประวัติศาสตร์มีพลังในการสร้างคำอธิบาย – ทั้งในบริบทที่เฉพาะเจาะจงและข้ามเวลา/พื้นที่ได้อย่างไร? ความรู้ประวัติศาสตร์ที่ว่าด้วยเรื่องราวในอดีตมีที่ทางตรงไหนในช่วงเวลาปัจจุบัน? การเรียนการสอนประวัติศาสตร์ต้องปรับเปลี่ยนอย่างไร? และวงการประวัติศาสตร์จะเดินหน้าต่อไปในอนาคตได้อย่างไร?

แม้ตุลย์จะเชี่ยวชาญประวัติศาสตร์ตะวันตกและประวัติศาสตร์เพศสภาพเป็นหลัก แต่บทสนทนาต่อไปนี้ก็เปิดมุมมองและย้อนกลับมาตั้งคำถามต่อแวดวงประวัติศาสตร์ในภาพรวมได้อย่างน่าสนใจและชวนคิดต่อ

ทั้งหมดนี้ก็เพราะ ‘ประวัติศาสตร์ต้องรอด!’

ตั้งแต่อาจารย์ศึกษาประวัติศาสตร์มา เห็นเทรนด์การศึกษาประวัติศาสตร์เปลี่ยนแปลงไปอย่างไรบ้าง ในวงการกำลังสนใจหรือถกเถียงประเด็นอะไรอยู่

ผมขอออกตัวก่อนว่า คำตอบของผมวางอยู่บนฐานของวงการประวัติศาสตร์ตะวันตกเป็นหลัก เนื่องจากผมไม่มีความรู้ประวัติศาสตร์ของภูมิภาคอื่นๆ เลย ทั้งนี้ผมไม่ได้หมายความว่าประวัติศาสตร์ตะวันตกสำคัญกว่าประวัติศาสตร์ของภูมิภาคอื่นๆ แต่เป็นเพราะผมศึกษาเฉพาะประวัติศาสตร์ยุโรปเท่านั้น ผมจึงไม่มีความรู้พอที่จะสะท้อนแนวโน้มการศึกษาประวัติศาสตร์ของภูมิภาคอื่นๆ ได้

แต่ถ้าถามว่าตอนนี้แวดวงประวัติศาสตร์ทั่วโลกกำลังสนใจประเด็นอะไรกัน ผมคิดว่าเราไม่สามารถมีคำตอบได้เพียงคำตอบเดียวอย่างแน่นอน เพราะศึกษากันทุกประเด็น ยิ่งไปดูงานวิจัยในประวัติศาสตร์ยุโรป ผมนึกไม่ออกเลยว่ามีหัวข้ออะไรบ้างที่นักวิชาการเลิกศึกษากันไปแล้ว

บางคนอาจตั้งข้อสังเกตว่า เทรนด์การศึกษาประวัติศาสตร์ในโลกตอนนี้มีลักษณะเป็น ‘ประวัติศาสตร์โลก’ (global history) อาจารย์ที่ผมเคารพมากท่านหนึ่งถึงขั้นมีวินิจฉัยว่า “ไม่ว่าอย่างไร global history ก็ต้องมา เลี่ยงไม่ได้ ต้องเดินไปในทางนี้” ด้วยความเคารพ ผมไม่เห็นด้วย ไม่ได้หมายความว่าผมเห็นแย้งที่ global history จะเป็นหรือไม่เป็นเทรนด์ หรือจะเดินหรือไม่เดินไปตามทางนี้ แต่การปักหมุดสถาปนาให้ประเด็นวิจัยประเด็นใดประเด็นหนึ่งมีอภิสิทธิ์เหนือกว่าประเด็นวิจัยอื่นๆ ย่อมเป็นปัญหาในตัวเอง

ผมขอยกตัวอย่างเพื่อค้านข้อเสนอที่ว่า global history กำลังเป็นเทรนด์ ถ้าคุณไปดูซีรีส์หนังสือ Emotions in History ของ Oxford University Press ที่ศึกษาประวัติศาสตร์อารมณ์ ตอนนี้มีออกมาประมาณ 17 เล่ม เท่าที่ผมเห็น มีแค่เล่มเดียวที่ศึกษาอารมณ์ในลักษณะ global history คือเล่ม The Emotions of Internationalism ของ Ilaria Scaglia หนังสือในซีรีส์นี้ที่ผมเพิ่งได้มาเล่มล่าสุดศึกษาความรักและความตายในอิตาลีทศวรรษ 1870 ผ่านคดีหย่าร้างของสามีภรรยาคู่หนึ่ง (Emotional Arenas: Life, Love, and Death in 1870s Italy ของ Mark Seymour) หรืออีกเล่มในซีรีส์นี้คือ The Game of Love in Georgian England: Courtship, Emotions, and Material Culture เขียนโดยเพื่อนของผม Sally Holloway ซึ่งปรับมาจากวิทยานิพนธ์ปริญญาเอก ก็ศึกษาการจีบกันของหญิงชายในอังกฤษศตวรรษที่ 18 ตัวอย่างเหล่านี้พอจะชี้ให้เห็นได้อยู่บ้างว่าสิ่งที่ไม่ใช่ global history ก็มีที่ทางในวงการศึกษาประวัติศาสตร์เช่นกัน และที่ทางนั้นก็ได้รับการยอมรับโดยสำนักพิมพ์วิชาการชั้นนำระดับโลก

เอาอีกเล่มหนึ่งก็ได้ครับ The Fall of Robespierre: 24 Hours in Revolutionary Paris โดย Colin Jones ออกมาในปี 2021 ความยาวประมาณ 500 กว่าหน้า ศึกษา 24 ชั่วโมงสุดท้ายของชีวิตรอแบสปิแยร์ เพราะฉะนั้น เทรนด์การศึกษาก็ไม่ได้มุ่งไปในทาง global history อย่างเดียวแน่นอน

ดังนั้นจะว่าไปแล้ว แนวโน้มงานวิจัยทางประวัติศาสตร์ในปัจจุบันมีหลากหลายมาก ไม่ว่าจะเป็นการศึกษาประวัติศาสตร์ที่ค่อนข้างคลาสสิกอย่างประวัติศาสตร์การเมือง ความขัดแย้งระหว่างประเทศ สงครามโลก หรือการศึกษาประวัติศาสตร์ที่ครั้งหนึ่งอาจจะมองว่าไม่น่าจะเป็นหัวข้อวิจัยทางประวัติศาสตร์ได้เลย เช่น จดหมายรักกับความเป็นชายในอังกฤษศตวรรษที่ 18 แฟชั่นกับเสรีภาพของสตรีอเมริกันในช่วงต้นศตวรรษที่ 20 ความเศร้าในอังกฤษสมัยเรอเนสซองส์ ครอบครัวแบบเควียร์ในอังกฤษศตวรรษที่ 20 พิธีกรรมกับการจัดระเบียบทางการเมืองในยุคสมัยใหม่ตอนต้นของเยอรมนี การแต่งบ้านกับอุดมการณ์คอมมิวนิสต์สมัยครุชชอฟ ความฝันและจิตวิเคราะห์ในชีวประวัติของมาร์ติน ลูเธอร์ ฯลฯ

ความหลากหลายอันมหาศาลนี้น่าจะเตือนให้เราตระหนักว่าอย่าได้พยายามสถาปนาเทรนด์ใดเทรนด์หนึ่งให้กับการศึกษาประวัติศาสตร์เลย ความหลากหลายคือความงอกงามทางปัญญาในตัวเองอยู่แล้ว

 

เราพูดได้ไหมว่าเทรนด์ความสนใจกำลังเปลี่ยนจาก macrohistory ไปสู่ microhistory?

ใกล้เคียงกับที่ผมคิด แต่เทรนด์อาจจะไม่ได้เปลี่ยนจาก A ไปสู่ B แต่เป็นการเปลี่ยนจากหนึ่งเดียวไปสู่ความหลากหลายของประเด็นศึกษา มีหัวข้อให้ศึกษาล้านแปด มีการแตกแขนงประเด็นออกไปเรื่อยๆ อย่างไม่มีที่สิ้นสุด

 

microhistory คืออะไร สนใจประเด็นแบบไหน

microhistory เป็นการศึกษาประวัติศาสตร์ในลักษณะเฉพาะ คือการศึกษากรณีศึกษาหนึ่งกรณี อาจจะเป็นชีวิตคนหนึ่งคน ความรักของคนสองคน หรือคดีฆาตกรรมหนึ่งคดี แต่การศึกษาชีวิตของคนหนึ่งคนไม่ใช่การศึกษาชีวประวัติ เราไม่ได้ศึกษาเพื่อเข้าใจกรณีนั้นๆ แต่ศึกษาหน่วยเล็กเพื่อเข้าใจสภาพสังคมที่ใหญ่ขึ้น ใช้กรณีย่อยๆ เป็นกุญแจในการเข้าใจบริบทของยุคสมัย 

ตัวอย่างงานคลาสสิกคือ The Return of Martin Guerre ของ Natalie Zemon Davis ซึ่งเขียนไว้นานมากแล้วตั้งแต่ปี 1984 ศึกษาคดีความในหมู่บ้านเล็กๆ ทางตอนใต้ของฝรั่งเศสช่วงคริสต์ศตวรรษที่ 16 นี่เป็นเคสที่ดังมาก มีตำนานเรื่องเล่าเยอะมากและมีการนำไปทำเป็นภาพยนตร์ด้วย คดีมีอยู่ว่าชายคนหนึ่งชื่อ Martin Guerre แต่งงานมีครอบครัว อยู่มาวันหนึ่งหนีออกจากบ้านแล้วก็หายตัวไป ไม่กลับบ้านมาหลายปี วันหนึ่งมีผู้ชายคนหนึ่งกลับมา บอกกับคนในหมู่บ้านและภรรยาว่าเขาคือ Martin Guerre และใช้ชีวิตอยู่กับภรรยาเป็นเวลากว่า 3 ปี แต่วันหนึ่งมีผู้ชายอีกคนเดินมาบอกว่า เขาคือ Martin Guerre ตัวจริง

ประเด็นคือ Natalie Zemon Davis ไม่ได้ศึกษาเพื่อเข้าใจว่าตกลงแล้วใครคือ Martin Guerre ตัวจริง แต่คำถามคือ คนในสังคมชนบทของฝรั่งเศสในศตวรรษที่ 16 เข้าใจความหมายของอัตลักษณ์ (identity) อย่างไร ทำไมจึงเกิดคดีความตัวจริง-ตัวปลอม ทำไมมีคนเชื่อ เชื่อจริงหรือเปล่า และอะไรคือสิ่งที่ยืนยันว่าเป็นตัวจริง ข้อค้นพบของ Natalie Zemon Davis จึงวางอยู่บนอัตลักษณ์ในสังคมชนบทฝรั่งเศสช่วงศตวรรษที่ 16

ที่น่าสนใจไปกว่านั้นคือ ฝรั่งเศสช่วงศตวรรษที่ 16 อยู่ภายใต้บริบทการปฏิรูปคริสต์ศาสนา ครอบครัวของ Martin Guerre นับถือนิกายโปรเตสแตนต์สาขาหนึ่ง แนวคิดหนึ่งของนิกายโปรเตสแตนต์ไม่ว่าจะสาขาใดก็ตามที่ต่างจากคาทอลิกในช่วงศตวรรษที่ 16 คือการให้ความสำคัญกับชีวิตและความอบอุ่นในครอบครัว มีการแชร์เรื่องเล่าฉันสามีภรรยาร่วมกันอย่างใกล้ชิด ฉะนั้น คำถามของ Natalie Zemon Davis ที่น่าสนใจมากคือ วันแรกที่สามีกลับมา ภรรยาจะไม่รู้เลยหรือว่านี่ไม่ใช่สามีตัวจริง แต่ทำไมทั้งสองคนถึงยังอยู่ด้วยกันและสามารถหลอกคนอื่นๆ ได้ เพราะเวลาจะยืนยันว่าใครเป็นใคร พอคุยกันไปเรื่อยๆ เรื่องเล่าของแต่ละคนจะเริ่มไม่เหมือนกัน แต่สามีตัวปลอมกับภรรยาแชร์เรื่องเล่าจนเล่าเรื่องเหมือนกัน หรือพูดอีกอย่างก็คือ ‘เตี๊ยม’ ศาลเกือบจะตัดสินว่า Martin Guerre ตัวปลอมคือตัวจริงแล้ว แต่วันหนึ่ง Martin Guerre ตัวจริงกลับมาที่หมู่บ้าน และบอกว่าชายคนนั้นไม่ใช่ตัวจริง นั่นหมายความว่า Martin Guerre ตัวปลอมสามารถหลอกคนทั้งหมู่บ้านได้ เพราะบริบททางวัฒนธรรมของการปฏิรูปศาสนาเอื้อนั่นเอง

กรณีศึกษานี้สะท้อนให้เห็นบทบาทของชีวิตครอบครัวของคนที่นับถือโปรเตสแตนต์และการตั้งคำถามเกี่ยวกับอัตลักษณ์ของคนในฝรั่งเศสช่วงศตวรรษที่ 16 นั่นหมายความว่าอัตลักษณ์ของคนในบริบทสังคมโปรเตสแตนต์ช่วงศตวรรษที่ 16 ตอนปลายไม่ได้ขึ้นอยู่กับว่าจริงๆ แล้วคนคนนั้นคือใคร ในศตวรรษที่ 21 เราใช้ DNA หรือบัตรประชาชนในการยืนยันอัตลักษณ์ แต่ในชนบทฝรั่งเศสสมัยศตวรรษที่ 16 ขึ้นอยู่กับเรื่องเล่า

นอกจากนี้ ตัวอย่างผลงาน microhistory อื่นๆ เช่น การศึกษามหกรรมการล่าแมวในปารีสก่อนการปฏิวัติฝรั่งเศส การแต่งงานระหว่างหนุ่ม Castrato กับหญิงสาวชาวไอริชในศตวรรษที่ 18 การศึกษากรณีหญิงสาวแอบอ้างว่าให้กำเนิดบุตรเป็นกระต่ายในเมือง Reading ของอังกฤษในศตวรรษที่ 18 การศึกษาคดีฆาตกรรมบุพการีตนเองของหญิงสาวชาวปารีสในศตวรรษที่ 20 หรือการศึกษาคดีการกล่าวหามารดาของนักดาราศาสตร์ Johannes Kepler ว่าเป็นแม่มด เป็นต้น กรณีศึกษาเล็กๆ แต่ละกรณีเหล่านี้ ทำให้เราเข้าใจความขัดแย้งทางชนชั้นในปารีส มโนทัศน์ความเป็นชายและการสมรสนอกขนบในอังกฤษ อิทธิพลของวิทยาศาสตร์การแพทย์และสื่อสาธารณะในยุคแสงสว่างทางปัญญา หรือความสัมพันธ์ระหว่างการปฏิรูปคริสต์ศาสนากับการล่าแม่มดในเยอรมนี เป็นต้น

ดังนั้นจะเห็นว่า ที่ผ่านมามีการศึกษาประวัติศาสตร์การเมือง รัฐ สงคราม หรือโครงสร้างทางอำนาจการเมืองและเศรษฐกิจเป็นส่วนมาก แต่ปัจจุบันเราเริ่มศึกษาชีวิตของคนที่มีเลือดเนื้อ (flesh and blood) อย่างวิทยานิพนธ์ปริญญาเอกของผมศึกษาจดหมายครอบครัว จดหมายรักที่คนจีบกัน จดหมายที่ลูกเขียนถึงพ่อ พ่อเขียนถึงลูก ไดอารีของผู้ชายอังกฤษในศตวรรษที่ 18 แต่ไม่ว่าจะศึกษาอะไรก็ตาม จุดประสงค์ของงานวิจัยทางประวัติศาสตร์ทุกแขนงนั้นเป็นไปเพื่อทำความเข้าใจบริบทสังคมที่ใหญ่ขึ้น ผมศึกษาครอบครัวอังกฤษเพื่อทำเข้าใจเพศสภาพในอังกฤษศตวรรษที่ 18 (ที่ไม่ได้แปลว่า การกดขี่ของบุรุษต่อสตรี แต่หมายถึงการประคับประคองต่อรองอำนาจ และการแสวงหาช่องทาง การสร้างสรรค์วิถีทางการเอาตัวรอดของทั้งชายและหญิงในระบบสังคมแบบชายเป็นใหญ่) ฉะนั้น การศึกษาชีวิตของปุถุชนคนสามัญเหล่านี้ก็เป็นอีกทางเลือกหนึ่งในการศึกษาประวัติศาสตร์

การศึกษาประวัติศาสตร์ที่เริ่มต้นจากปุถุชนคนธรรมดาให้มุมมองที่แตกต่างไปจากการศึกษาประวัติศาสตร์จากโครงสร้างใหญ่อย่างไร

ผมเข้าใจว่าการศึกษาประสบการณ์ชีวิตของผู้คนในอดีตนั้น ควรต้องทำให้เราตั้งคำถามกับความเข้าใจโครงสร้างทางเศรษฐกิจ การเมืองและสังคมที่เราเคยเชื่อๆ กันมา

ในฐานะที่ผมเป็นนักเรียนประวัติศาสตร์เพศสภาพ ผมขอยกตัวอย่างงานศึกษาชีวิตของผู้หญิงสามคนในยุคต้นสมัยใหม่ของ Natalie Zemon Davis เรื่อง Women on the Margins: Three Seventeenth-Century Lives หากเราอ่านชื่อหนังสือเล่มนี้ บางคนอาจเข้าใจว่า Natalie Davis กำลังตีแผ่ชีวิตชายขอบอันรันทดของผู้หญิงทั้งสามคน หรือเปิดเผยการที่สตรีทั้งสามคนนี้ต้องถูกเอารัดเอาเปรียบและอาจจะถูกกดขี่จากระบบสังคมแบบปิตาธิปไตย เพราะเรามักปักใจเชื่อกันไปเองว่าระบบสังคมแบบปิตาธิปไตยนั้นต้องเป็นอริกับอิตถีเพศเสมอ แต่ Women on the Margins ต้องการศึกษาว่าผู้หญิงทั้งสามคนนี้ struggled อย่างไรใน gender hierarchies ผมประทับใจอย่างมากกับข้อความในบทนำชั้นเลิศของหนังสือเล่มนี้ Natalie Davis เขียนว่า “But I didn’t portray you three as merely long-suffering. I also showed how women in your position made the best of it. I asked what advantages you had by being on the margins.”

เราอาจไม่สบายใจที่พบว่าในต้นคริสต์ศตวรรษที่ 21 ยังจะมีนักวิชาการคนใดกล้าลุกขึ้นมาแสดงข้อได้เปรียบของสตรีในระบบสังคมปิตาธิปไตย ผมขออนุญาตตอบบรรดาผู้ไม่สบายใจเหล่านั้นว่างานชิ้นนี้ของ Natalie Davis ทำให้เราเห็นความคิดสร้างสรรค์และศักยภาพของสตรีทั้งสามคน ไม่ว่าจะเป็นการค้า การจัดการครัวเรือน การสร้างสรรค์สังคมในอุดมคติแด่ผองผู้ยากไร้ ความละเอียดอ่อนในการสังเกตสรรพชีวิตทางธรรมชาติวิทยา โดยที่ทุกกิจกรรมสร้างสรรค์เหล่านี้ล้วนได้รับแรงบันดาลใจจากการที่สตรีทั้งสามเป็นบุคคลชายขอบและมีสถานะรองในสังคมปิตาธิปไตยทั้งสิ้น สุนทรียศาสตร์ของความเป็นชายขอบกลายเป็นพลังสร้างสรรค์และการแรงขับเคลื่อนในการผจญภัยทางปัญญาของสุภาพสตรีทั้งสาม

ดังนั้น Women on the Margins จึงทำให้เราต้องทบทวนความเข้าใจของเราที่มีต่อระบบสังคมปิตาธิปไตยในประวัติศาสตร์เสียใหม่ ภายใต้ระบบดังกล่าว เราอาจไม่สามารถแต่เพียงจะแสดงด้านลบและการกดขี่ขูดรีดทางชนชั้นและเพศสภาพได้แต่เพียงอย่างเดียวอีกต่อไป creativity ของคนชายขอบภายใต้โครงสร้างสังคมหนึ่งๆ ก็เป็นอีกประเด็นที่เราพึงต้องให้ความสำคัญด้วยเช่นกัน หากพันธกิจของนักวิชาการสายสตรีนิยมคือการเชิดชูคุณค่าและศักยภาพของสตรี ผมคิดว่า Natalie Davis ได้ใช้ความสามารถทางประวัติศาสตร์ของเธออย่างเต็มที่ในการรับใช้อุดมการณ์สตรีนิยมนั้นอย่างสมบูรณ์แบบที่สุด ถึงตรงนี้หากคุณยังไม่สบายใจอยู่ ผมก็ขอตอบด้วยประโยคสุดท้ายในบทนำของหนังสือเล่มนี้ ซึ่ง Natalie Davis กล่าวว่า “Give me another chance. Read it again.”

หรืออีกตัวอย่างหนึ่งก็ได้ มีหนังสือเล่มหนึ่งที่ออกมาในปี 1998 เป็นที่ฮือฮามาก เพราะเป็นหนังสือที่ทำลายข้อเสนอก่อนหน้าที่ทรงอิทธิพลมาเป็นระยะเวลากว่า 10 ปี หนังสือเล่มนี้ในเวลาต่อมาชนะไปสามรางวัลในประเทศอังกฤษจากสามองค์กรที่เป็นอิสระจากกัน หนังสือเล่มนั้นคือ The Gentleman’s Daughter: Women’s Lives in Georgian England เขียนโดย Amanda Vickery ศึกษาชีวิตผู้หญิงอังกฤษในสมัยศตวรรษที่ 18 ทำลายข้อเสนอหนังสือ Family Fortunes: Men and Women of the English Middle Class 1780-1850 ของ Catherine Hall และ Leonore Davidoff ศึกษาชายและหญิงในศตวรรษที่ 18 และต้นศตวรรษที่ 19 ในอังกฤษ ข้อเสนอหนึ่งที่หนังสือเสนอคือ ผู้หญิงมีบทบาทในบ้าน ผู้ชายมีบทบาทนอกบ้าน เป็นจุดตั้งต้นของวิธีคิดการแบ่งพื้นที่ในมิติเพศสภาพ (Separate spheres) โดยที่มาตรฐานและบทบาทหน้าที่เชิงเพศสภาพเช่นนี้เป็นสิ่งที่ชนชั้นกลางใช้สร้างอัตลักษณ์ทางชนชั้นของตนขึ้นมาให้แตกต่างจากชนชั้นสูงและชนชั้นกรรมาชีพ สำหรับ Hall และ Davidoff แล้ว เพศสภาพเป็นปัจจัยสำคัญในการสร้างชนชั้น Therefore, gender does matter. นี่คือข้อเสนอหลักที่สำคัญที่สุดของหนังสือคลาสสิกเล่มนี้

อย่างไรก็ตาม ในปัจจุบันในโลกตะวันตกไม่ยอมรับแนวคิดการแบ่งพื้นที่ระหว่างชายและหญิงในประวัติศาสตร์เพศสภาพสมัยศตวรรษที่ 18-19 แล้ว นับตั้งแต่การตีพิมพ์ The Gentleman’s Daughter เป็นต้นมา หนังสือ The Gentleman’s Daughter ใช้จดหมาย ไดอารี สมุดบัญชีรายรับ-รายจ่าย จำนวนมากของหญิงและชายในอังกฤษศตวรรษที่ 18 และสรุปว่าชีวิตของผู้หญิงในศตวรรษที่ 18 ไม่ได้มีบทบาทเฉพาะในบ้าน แต่มีบทบาทในการเคลื่อนไหวทางการเมือง มีบทบาทกระตุ้นให้เกิดสังคมผู้บริโภค (consumer society) มีบทบาทเฉลิมฉลองมโนทัศน์ความเป็นแม่ (motherhood) เราอาจจะคิดว่าการ สรรเสริญความเป็นแม่เป็นผลของนักคิดยุค Enlightenment อย่างฌอง ฌาค รุสโซ จากหนังสือ Emile, Or On Education (Émile ou De l’éducation) ในปลายศตวรรษที่ 18 ซึ่งก็ใช่ แต่ผู้หญิงที่มีเลือดเนื้อก็สรรเสริญความเป็นแม่ ภาคภูมิใจในความเป็นแม่ของตนเองที่ไม่ใช่แนวคิดที่สร้างโดยชนชั้นนำ แต่สร้างโดยผู้หญิงธรรมดาสามัญที่รักลูก ดังนั้นหนังสือเล่มนี้จึงทำให้เข้าใจธรรมชาติของความเป็นหญิงและความเป็นชายใหม่ทั้งหมด 

ทีนี้ นักประวัติศาสตร์ชั้นครูอย่าง Linda Colley วิจารณ์หนังสือ The Gentleman’s Daughter ของ Vickery ว่า เล่มนี้ล้มเหลวในการนำชีวิตของผู้หญิงในศตวรรษที่ 18 ใส่ลงไปในบริบทเศรษฐกิจและการเมืองของอังกฤษและยุโรปตะวันตกในขณะนั้น ในแง่หนึ่ง Vickery ล้มล้างข้อเสนอเรื่องแนวคิดการแบ่งพื้นที่ได้ กระนั้นข้อวิจารณ์ของ Colley ก็สมเหตุสมผล เพราะข้อเสนอของ Vickery อาจจะสมบูรณ์มากกว่านี้หากสามารถอภิปรายชีวิตของผู้หญิงที่สัมพันธ์กับโครงสร้างอำนาจทางการเมืองและเศรษฐกิจได้ด้วย แต่เนื่องจากว่า Vickery ไม่ได้สนใจมิติทางการเมืองและเศรษฐกิจ จึงละเลยประเด็นเหล่านี้ไป

ขณะเดียวกัน หนังสือของ Colley เรื่อง Britons: Forging the Nation 1707–1837 ศึกษาอัตลักษณ์ความเป็นอังกฤษ มีสองบทสำคัญที่เกี่ยวข้องกับเพศสภาพคือบท Manpower และบท Womanpower เป็นตัวอย่างหนึ่งของการนำชีวิตผู้ชายและผู้หญิงใส่เข้าไปในบริบททางการเมือง และมีพลังในการอธิบายที่ทำให้เราเห็นปฏิสัมพันธ์ระหว่างชีวิตคนกับโครงสร้างอำนาจทางการเมืองได้มากขึ้น 

ฉะนั้น การศึกษาประวัติศาสตร์คนตัวเล็กตัวน้อยจึงมีมนต์เสน่ห์ในแง่ที่ว่า เราได้เห็นชีวิตที่มีชีวิตชีวา รู้สึกใกล้ตัว เชื่อมโยงได้ แต่โดยทั่วไป การใส่ชีวิตคนธรรมดาลงไปในบริบทที่ใหญ่กว่าบ้าน ครอบครัว และหมู่บ้านก็สุ่มเสี่ยงที่อาจจะไม่สามารถอธิบายบริบทางประวัติศาสตร์ที่ใหญ่ขึ้นได้ ยิ่งยอมรับว่าประวัติศาสตร์คือศาสตร์ของการอธิบายบริบทที่ใหญ่กว่ากรณีที่ศึกษา การศึกษาประวัติศาสตร์คนตัวเล็กตัวน้อยบางทีก็อาจจะทำให้เราหลงลืมหลักสำคัญของประวัติศาสตร์ไปได้ ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับความเที่ยงของฝีมือผู้ศึกษาเป็นสำคัญ

 

งาน macrohistory ที่น่าสนใจเป็นอย่างไร

แนวศึกษาประวัติศาสตร์ขยับจาก macrohistory อย่างเดียวไปสู่ microhistory ก็จริง แต่ก็ไม่ได้หมายความว่าแนวการศึกษาแบบแรกจะหายไป มีนักประวัติศาสตร์ที่ศึกษาแนว macrohistory อยู่มาก และทำออกมาได้อย่างประณีตและมหัศจรรย์อยู่มาก มีหนังสือเล่มหนึ่งเพิ่งออกมาเมื่อปี 2021 โดยนักประวัติศาสตร์ที่ยิ่งใหญ่ที่สุดคนหนึ่งของโลก อย่าง Linda Colley ชื่อ The Gun, the Ship, and the Pen: Warfare, Constitutions, and the Making of the Modern World ศึกษาประวัติศาสตร์ความสัมพันธ์ระหว่างสงครามกับการเขียนรัฐธรรมนูญในศตวรรษที่ 19 และ 20 ในหลายทวีป รวมถึงชี้ให้เห็นว่ารัฐธรรมนูญสมัยใหม่เหล่านี้มีส่วนสำคัญในการลิดรอนสิทธิและเสรีภาพของสตรี คนผิวสี และชนกลุ่มน้อยในดินแดนต่างๆ นอกจากนี้ Colley ยังแสดงให้เห็นความสัมพันธ์ระหว่างรัฐธรรมนูญที่ร่างขึ้นในประเทศหนึ่งกับรัฐธรรมนูญในประเทศอื่นๆ อีกมาก Colley เรียกงานชิ้นนี้ว่าเป็น “global history of written constitutions” และที่สำคัญ Colley พยายามพิจารณาเนื้อหารัฐธรรมนูญเหล่านั้นว่าได้รับอิทธิพลจากโลกทัศน์และชีวทัศน์ของผู้ร่างรัฐธรรมนูญอย่างไรบ้าง ในแง่นี้ Colley จึงนำชีวประวัติ พื้นเพการศึกษาและครอบครัว ทัศนคติและประสบการณ์ชีวิตของผู้ร่างฯ เข้ามาเป็นส่วนสำคัญในการทำความเข้าใจรัฐธรรมนูญของรัฐสมัยใหม่ นี่คือ signature ของ Colley ก็ว่าได้ คือการประสานประสบการณ์ชีวิต (lived experiences) ของปุถุชนเข้ากับการศึกษาประวัติศาสตร์การเมืองและเศรษฐกิจในระดับมหภาคได้อย่างน่าสนใจและประณีตอย่างยิ่ง

อย่างไรก็ตาม ผมต้องออกตัวว่าผมไม่ได้สนใจประวัติศาสตร์การเมือง ซึ่งส่วนใหญ่ macrohistory จะผูกพันกับประวัติศาสตร์การเมืองและเศรษฐกิจเป็นหลัก แต่ถ้าถามว่างานประวัติศาสตร์ macrohistory ที่ยอดเยี่ยมเป็นแบบไหน ผมขอตอบว่างานประวัติศาสตร์ชิ้นหนึ่งที่ไม่ว่าจะเรียนประวัติศาสตร์อะไรก็ตามต้องรู้จักและควรอ่านสักหลายๆ ครั้งในชีวิต คือ หนังสือ The Making of the English Working Class ของ E.P. Thompson  

Thompson ศึกษาชีวิตของคนตัวเล็กตัวน้อยจำนวนมาก เช่น สามีภรรยาหลายคู่ หรือกรรมกรในโรงงานอุตสาหกรรม และนำชีวิตของคนตัวเล็กตัวน้อยเหล่านี้ใส่ลงไปในบริบทที่ใหญ่มากคือ การเปลี่ยนแปลงระบบเศรษฐกิจจากระบบเศรษฐกิจแบบเก่าในศตวรรษที่ 18 ไปสู่ระบบเศรษฐกิจแบบทุนนิยมอุตสาหกรรมในการปฏิวัติอุตสาหกรรมในสมัยคริสต์ศตวรรษที่ 19 เพื่ออธิบายความขัดแย้งทางชนชั้นที่ปะทุขึ้นในช่วงต้นศตวรรษที่ 19 นั้น

แม้ Thompson เป็นนักประวัติศาสตร์ฝ่ายซ้าย ได้รับการขนานนามว่าเป็น Creative Marxist เขาสนใจความขัดแย้งทางชนชั้น แต่ไม่ได้อับจนทางปัญญาจนถึงขั้นเสนอว่าชีวิตของกรรมกรอังกฤษในศตวรรษที่ 19 ถูกนายทุนกดขี่ ข้อเสนอของ Thompson คือในช่วงเปลี่ยนผ่านจากสมัยศตวรรษที่ 18 ไปสู่ศตวรรษที่ 19 มีการเปลี่ยนแปลงโลกทัศน์ทางเศรษฐกิจจากระบบเศรษฐกิจแบบที่ Thompson เรียกว่า moral economy ไปสู่ระบบเศรษฐกิจทุนนิยม สาระสำคัญของงานชิ้นนี้คือ การอธิบายระบบเศรษฐกิจที่ Thompson เรียกว่า moral economy โลกไม่เคยรู้จักแนวคิดนี้มาก่อน นี่ต่างหากที่เป็นประเด็น เพราะการสลายตัวของระบบเศรษฐกิจแบบ moral economy ต่างหากที่ทำให้เกิดความขัดแย้งทางชนชั้นระหว่างนายทุนที่รับแนวคิดเศรษฐกิจทุนนิยมกับชนชั้นกรรมกรที่ยังอยู่ในโลกทัศน์และวิธีคิดแบบ moral economy การปะทะกันระหว่างแนวคิดเศรษฐกิจทั้งสองแบบนี้คือคำอธิบายความขัดแย้งทางชนชั้นที่ปรากฏในหนังสือเล่มนี้

นอกจากนี้การศึกษาความขัดแย้งทางชนชั้นของ Thompson ไม่ได้สาละวนอยู่กับการประณามความเลวร้ายของนายทุนเจ้าของโรงงานอุตสาหกรรม ประหนึ่งมัจจุราชหรือซาตานจากขุมนรกที่จะมาทำลายล้างมนุษยภาพของชนชั้นกรรมาชีพ เพื่อตอบสนองความเป็นซ้ายของ Thompson เอง แต่การวิเคราะห์ชนชั้นในหนังสือเล่มนี้ Thompson ได้ค้นพบธรรมชาติของระบบเศรษฐกิจในศตวรรษที่ 18 หรือ moral economy และนี่เองที่ทำให้นักประวัติศาสตร์อย่าง Lawrence Stone กล่าวสรรเสริญ E.P. Thompson ว่า “He made the eighteenth century interesting again.”

นี่คือตัวอย่างการผสานประวัติศาสตร์ของคนตัวเล็กตัวน้อยเข้ากับ macrohistory แล้วนำไปสู่ข้อค้นพบและคำอธิบายระบบเศรษฐกิจที่ทรงพลังที่สุดในวงการประวัติศาสตร์ตะวันตก

อาจารย์บอกว่าประวัติศาสตร์สนใจทุกอย่าง มีการแตกแขนงประเด็นศึกษาไปมากมายอย่างไม่มีที่สิ้นสุด อย่างที่เห็นว่ามีการศึกษาทั้งประวัติศาสตร์สิ่งแวดล้อม ประวัติศาสตร์อารมณ์ ประวัติศาสตร์วัฒนธรรม หรือประวัติศาสตร์เพศสภาพ ฯลฯ แต่เวลาพูดถึงประวัติศาสตร์ ภาพแรกที่หลายคนมักนึกถึงคือประวัติศาสตร์การเมืองและประวัติศาสตร์เศรษฐกิจเป็นส่วนมาก เพราะอะไรจึงเป็นเช่นนั้น

ผมเดาว่าวิชาประวัติศาสตร์แบบสมัยใหม่ที่โลกรู้จักกันทุกวันนี้เริ่มต้นพร้อมกับการศึกษาประวัติศาสตร์การเมือง ซึ่งเกิดขึ้นในช่วงศตวรรษที่ 19 เพราะฉะนั้น การเมืองและประวัติศาสตร์เลยผูกพันกันต่อเนื่องมาหลายเจเนอเรชัน

โดยปกตินักประวัติศาสตร์จะใช้หลักฐานชั้นต้นในการทำงาน ต้องพึ่งหอจดหมายเหตุในการค้นเอกสาร ซึ่งเริ่มมีการตั้งขึ้นมาในสมัยศตวรรษที่ 19 เอกสารส่วนใหญ่ในหอจดหมายเหตุก็เป็นเอกสารการเมือง เพราะรัฐเป็นผู้ตั้ง การศึกษาจึงมีแต่ประวัติศาสตร์การเมือง ประกอบกับบริบทของยุโรปในศตวรรษที่ 19 ให้ความสำคัญกับการสร้างชาติและการสถาปนารัฐชาติสมัยใหม่มากกว่าเรื่องอื่นๆ

อย่างไรก็ตาม จุดเปลี่ยนสำคัญคือหลังสงครามโลกครั้งที่สอง เมื่อมีการค้นพบและปลดปล่อยค่ายกักกันนาซีและเริ่มมีคนศึกษาประวัติศาสตร์โฮโลคอสต์ ชีวิตคนในฐานะปัจเจกจึงมีความสำคัญมากขึ้น ซึ่งเป็นปฏิกิริยาในยุโรปตะวันตกที่ให้ความสำคัญกับปัจเจกบุคคลในฐานะคู่ตรงข้ามของรัฐเผด็จการ อย่างเผด็จการนาซีในช่วงก่อนสงครามโลกครั้งที่สองและเผด็จการคอมมิวนิสต์ในยุโรปตะวันออกและสหภาพโซเวียต จึงเกิดการขยายประเด็นศึกษาเรื่องชีวิตคนมากขึ้น อีกส่วนหนึ่งมาจากอิทธิพลของแนวคิด postmodernism ที่ให้ความสำคัญกับตัวตน (self) และอัตลักษณ์ (identity)

จะเห็นว่าประวัติศาสตร์ไม่ได้เป็นอิสระจากบริบททางภูมิปัญญาและการเมืองในสังคมแต่ละยุคสมัย ประวัติศาสตร์ล้วนผูกพันอยู่กับสังคมทั้งสิ้น ฉะนั้นความท้าทายอย่างหนึ่งของนักเรียนประวัติศาสตร์คือ ต้องระวังการนำ agenda ของสังคมมาสร้างเป็นข้อเสนอทางประวัติศาสตร์ ขอให้นึกถึงงานของ E.P. Thompson เขาเป็นฝ่ายซ้ายตลอดชีวิตการเป็นนักวิชาการ รณรงค์หลายแคมเปญเพื่อกรรมกรอังกฤษและต่อต้านรัฐบาล แคมเปญต่อต้านโรงไฟฟ้าฐานทัพปรมาณูของรัฐบาลอังกฤษช่วงปี 1980 Thompson ก็เป็นหัวหอกในการรณรงค์ แต่การต่อสู้เพื่อประชาชนรากหญ้าไม่เป็นเหตุให้ Thompson ต้องสร้างข้อเสนอความขัดแย้งทางชนชั้นที่ตีบตันและคับแคบทางปัญญาจนหดเหลือเพียงการกดขี่ของนายทุนต่อกรรมกรเท่านั้น ผมอยากให้นักเรียนประวัติศาสตร์เจริญรอยตามสปิริตของ E.P. Thompson ผมมักบอกนิสิตของผมเสมอว่า “อย่าพก agenda ส่วนตัวเข้าไปใน archives เด็ดขาด นักประวัติศาสตร์ไม่ใช่ activist” เราต้องแยกบทบาทให้ชัดเจน ไม่เช่นนั้นข้อเสนอของเราก็จะเป็นเพียง our preoccupations แต่ไม่ใช่ their preoccupations นั่นเท่ากับว่าเป็นการทรยศต่อศาสตร์และวิชาชีพที่เราร่ำเรียนมา

 

ในแง่หนึ่ง ประวัติศาสตร์คือการศึกษาความเปลี่ยนแปลงของพื้นที่หนึ่งในช่วงระยะเวลาหนึ่งที่มีบริบทเจาะจง นั่นหมายความว่าเรื่องราวที่ได้มามีความเฉพาะมาก แต่ประวัติศาสตร์มีพลังในการสร้างคำอธิบายที่เชื่อมโยงไปสู่ช่วงเวลาอื่นหรือสังคมอื่นหรือไม่

มี แต่ต้องบอกก่อนว่าไม่ว่านักประวัติศาสตร์ศึกษาอะไรก็ตาม เราศึกษาบนข้อมูลที่จำกัดเสมอในสองความหมายคือ หนึ่ง เอกสารจากอดีตตกทอดมาสู่ปัจจุบันไม่ครบ และไม่มีทางครบ สอง เราอาจจะเข้าถึงแหล่งข้อมูลได้จำกัด หรืออาจจะหาข้อมูลได้ไม่มากพอ หาไม่เจอ หลักฐานอยู่ไกล หรือขยันไม่มากพอ สติปัญญาจำกัดก็ส่วนหนึ่ง 

ประเด็นคือ นักประวัติศาสตร์ต้องสร้างคำอธิบายที่มีพลังในการอธิบาย หมายความว่า แม้ว่าจะสร้างข้อเสนอหรือข้อโต้แย้งด้วยข้อมูลที่จำกัดและศึกษาเฉพาะกรณี แต่คำอธิบายต้องมีพลังในการอธิบายบริบทสังคมที่ใหญ่กว่ากรณีที่ศึกษาให้ได้

ข้อเสนอหรือคำอธิบายทางประวัติศาสตร์ของสังคมหนึ่งควรจะนำไปใช้มองอีกสังคมได้ ผมหมายความว่าสมมติว่าคุณศึกษาการเมืองอังกฤษสมัยศตวรรษที่ 18 เรื่องอัตลักษณ์ความเป็นชาติ (national identity) เราไม่ต้องศึกษาเพื่อเขียนหนึ่งบทว่าด้วย ‘อัตลักษณ์ความเป็นชาติในอังกฤษในศตวรรษที่ 18 ทำให้เข้าใจการเมืองเรื่องอัตลักษณ์ความเป็นชาติในอินเดียสมัยอาณานิคมอย่างไร’ ก็ได้ เพราะเราไม่สามารถศึกษาแบบนี้ได้กับทุกภูมิภาค แต่เวลาเขียนงานทางประวัติศาสตร์ นักประวัติศาสตร์ต้องมีปฏิสัมพันธ์กับหลักฐานชั้นต้นและงานวิจัยที่เกี่ยวข้อง ต่อให้ศึกษาเรื่องอัตลักษณ์ความเป็นชาติของอังกฤษช่วงศตวรรษที่ 18 แต่ก็ควรจะอ่านงานที่เกี่ยวข้องกับอัตลักษณ์ความเป็นชาติของประเทศอื่น ภูมิภาคอื่น ในช่วงเวลาเดียวกันหรือช่วงเวลาอื่นด้วย ยิ่งอ่านเยอะ คุณจะเริ่มตั้งคำถามและระแวดระวังในกระบวนการการคิดและแตกประเด็นในงานได้หลากหลายและรอบคอบขึ้น ดังนั้นงานวิจัยหรือหนังสือที่ออกมา คนที่สนใจอินเดียศตวรรษที่ 20 มาอ่านก็น่าจะได้ประโยชน์กลับไป สามารถนำไปคิดอะไรต่อได้ แต่ถ้าอ่านแค่หนังสือกับงานวิจัยที่เกี่ยวกับอังกฤษศตวรรษที่ 18 งานที่ออกมาจะแคบ ไม่สามารถนำไปทำอะไรต่อได้ คนอ่านจะไม่ได้อะไร จะเอาไปคิดต่อเกี่ยวกับอัตลักษณ์ความเป็นชาติของสยามในศตวรรษที่ 19 ก็ทำไม่ได้

ยกตัวอย่างจากตอนที่ผมคิดข้อเสนอวิทยานิพนธ์ปริญญาโท เรื่อง Shops and Shopping Culture in Eighteenth-Century England ผมได้ไอเดียในการอธิบายความหมายของการช้อปปิ้งในอังกฤษศตวรรษที่ 18 ว่าคือ The School of Politeness จากการอ่านบทความ Deep Play: Notes on the Balinese Cockfight ว่าด้วยการชนไก่ในบาหลีในช่วงกลางศตวรรษที่ 20 ของนักมานุษยวิทยาชื่อ Clifford Geertz

Geertz ไม่ได้ศึกษาว่าทำไมคนบาหลีถึงชนไก่ ชนไก่อย่างไร หรือพนันกันอย่างไรบ้าง แต่ Geertz ดูว่าคนบาหลีให้ความหมายอย่างไรต่อการชนไก่ เพราะฉะนั้น ต้องอ่านวิธีการทำงานด้วย ผมเอาวิธีการส่วนหนึ่งจากบทความนี้มาเป็นแรงบันดาลใจ คิดเทียบเคียงและนำไปใช้กับการอ่านเอกสารเกี่ยวกับการช้อปปิ้งของคนในอังกฤษ

ดังนั้น สมมติว่าถ้าต้องการศึกษาอัตลักษณ์ความเป็นชาติของอินเดียในศตวรรษที่ 20 ถามว่าควรอ่านงานศึกษาอัตลักษณ์ความเป็นชาติของอังกฤษในศตวรรษที่ 18 ไหม ผมก็คิดว่ามีอะไรบางอย่างเชื่อมโยงกันและควรอ่าน 

ในแง่นี้งานวิชาการที่ทำขึ้นอย่างประณีตในสาขาประวัติศาสตร์หนึ่งๆ หรือที่มีเนื้อหาเกี่ยวกับช่วงเวลาและภูมิภาคหนึ่งๆ ก็ย่อมมีคุณูปการและส่องแสงสว่างทางปัญญาให้กับการทำความเข้าใจประวัติศาสตร์ของสังคมอื่นๆ ได้ด้วยเช่นกัน อย่าปฏิเสธงานประวัติศาสตร์ยุโรปเพียงเพราะว่าเราศึกษาประวัติศาสตร์ไทย อย่าประณามผมที่ตั้งใจอ่านประวัติศาสตร์ยุโรปว่าเป็นพวก Eurocentric ผมวิงวอนให้นักเรียนประวัติศาสตร์ได้โปรดเปิดใจให้กว้างและอย่าได้ปัดตกงานชั้นเลิศไปเสียแต่ต้นมือ เพียงเพราะเป็นงานประวัติศาสตร์ต่างภูมิภาคหรือต่างช่วงเวลากับที่ตนเองกำลังศึกษาอยู่เท่านั้น

หากพวกคุณอยากให้ ‘ประวัติศาสตร์ต้องรอด’ ผมคิดว่าการอ่านงานประวัติศาสตร์ที่ผลิตขึ้นในโลกวิชาการตะวันตกเป็นทางเดียวที่จะช่วยให้เรา ‘รอด’ ได้

ประวัติศาสตร์ไม่ได้เป็นอิสระจากบริบททางภูมิปัญญาและการเมืองในสังคมแต่ละยุคสมัย ประวัติศาสตร์ล้วนผูกพันอยู่กับสังคมทั้งสิ้น ฉะนั้นความท้าทายอย่างหนึ่งของนักเรียนประวัติศาสตร์คือ ต้องระวังการนำ agenda ของสังคมมาสร้างเป็นข้อเสนอทางประวัติศาสตร์

เราเริ่มเห็นเทรนด์การศึกษาประวัติศาสตร์ที่เปลี่ยนไปสู่ความหลากหลายในไทยบ้างหรือยัง

เราเริ่มเห็นความหลากหลายของหัวข้อในแวดวงประวัติศาสตร์ไทยแล้ว สมัยก่อนงานประวัติศาสตร์ไทยบางชิ้นอาจจะเชื่อมโยงกับวงการวิชาการประวัติศาสตร์ในต่างประเทศไม่ได้เลย แต่ปัจจุบัน มีงานประวัติศาสตร์ที่มีคุณภาพ และหัวข้อที่ศึกษาก็เป็นไปในทิศทางเดียวกันกับงานศึกษาที่ผลิตขึ้นในโลกตะวันตก มีความคิดริ่เริ่มสร้างสรรค์และมีคุณภาพระดับโลก อย่างงานวิจัย เสริมให้สวย: สถาบันความงาม ผู้หญิงและอาชีพในสังคมไทยทศวรรษ 2500-2510 ของอาจารย์วิลลา วิลัยทอง ศึกษาสถาบันเสริมความงามช่วงต้นทศวรรษ 2500 ในสังคมไทย นี่คือการเชื่อมโยงประวัติศาสตร์เพศสภาพเข้ากับประวัติศาสตร์วัฒนธรรม (cultural history) และวัฒนธรรมทางวัตถุ (material culture) เพื่ออธิบายแนวคิดความเป็นสมัยใหม่ในสังคมไทยช่วงทศวรรษ 2500 สาระสำคัญหนึ่งของความเป็นสมัยใหม่คือการเข้าสังคม (sociability) เพราะฉะนั้น การศึกษาเสื้อผ้าหน้าผมของผู้หญิงจึงไม่ได้เป็นไปเพื่อเข้าใจแฟชั่น แต่เพื่อเข้าใจแนวคิดความเป็นสมัยใหม่ในสังคมไทยในช่วงเวลานั้น 

นอกจากนี้ วิทยานิพนธ์ปริญญาเอกของอาจารย์วิลลาที่ทำเรื่องประวัติศาสตร์โฆษณาผลิตภัณฑ์สุขอนามัยของสตรีไทยเป็นตัวอย่างที่ ‘ล้ำ’ (innovative) มีการใช้นิตยสารสตรีเป็นหลักฐานชั้นต้นในการศึกษา หัวข้อเช่นนี้ปรากฏในโลกวิชาการตะวันตก หมายความว่าอาจารย์วิลลาสามารถเชื่อมโยงองค์ความรู้ประวัติศาสตร์ในโลกวิชาการตะวันตกเข้ามาเพื่อปรับใช้ในการศึกษาประวัติศาสตร์สังคมและวัฒนธรรมไทยได้อย่างมีประสิทธิภาพ หัวข้อวิจัยของอาจารย์วิลลาจึงไม่ล้าหลัง ทั้งในแง่ประเด็นศึกษา วิธีวิทยา และการใช้หลักฐาน นี่คือตัวอย่างที่ผมคิดว่าเราไม่อับจนทางปัญญา แต่เราต้องทำงานอย่างมี integrity และติดตามงานวิชาการต่างประเทศด้วย

 

ล่าสุดมีประเด็นศึกษาไหนที่ทำให้อาจารย์รู้สึกตื่นตาตื่นใจบ้างไหม

ผมไม่ได้ตื่นตาตื่นใจกับการมีประเด็นหรือหัวข้อในการศึกษาใหม่ๆ แต่ผมจะตื่นเต้นกับงานวิชาการที่ประสบความสำเร็จในการโต้แย้งหรือหักล้างข้อเสนอเก่า ธรรมชาติของงานวิชาการทุกแขนงไม่ว่าจะเป็นประวัติศาสตร์ วิทยาศาสตร์ มานุษยวิทยา ไสยศาสตร์ ก็คือการถกเถียงกับข้อเสนอที่มีมาก่อนหน้า เราไม่ควรลืมประเด็นนี้

ยกตัวอย่างเช่น ถ้ามีงานศึกษาประวัติศาสตร์ความคิดอวกาศและกาแล็กซีในสังคมไทย ถามว่าผมตื่นเต้นหรือไม่ เพราะหัวข้อเช่นนี้อาจไม่เคยมีใครศึกษามาก่อนในประเทศไทย ดูประหนึ่งจะ innovative อย่างมาก เป็นการบูรณาการประวัติศาสตร์เข้ากับวิทยาศาสตร์ได้อย่างล้ำเสิศ แต่ผมจะไม่ตื่นเต้นกับงานชิ้นนั้นจนกว่างานชิ้นนั้นจะสร้างข้อถกเถียงกับงานวิจัยก่อนหน้า

คุณอาจสงสัยว่า ถ้าในประเทศไทยไม่มีใครเคยศึกษาประวัติศาสตร์ความคิดอวกาศและกาแล็กซีมาก่อน แล้วจะให้ผู้เขียนเรื่องประวัติศาสตร์อวกาศของสังคมไทยไปโต้เถียงกับใคร ผมก็อยากตอบว่า ก็ไปเถียงกับงานวิจัยในหัวข้อเดียวกันหรือใกล้เคียงกันที่ผลิตขึ้นในโลกวิชาการยุโรป อเมริกา ออสเตรเลีย หรือแอฟริกา ก็ได้ครับ มันคงมีสักที่ไหมครับที่เขาศึกษาอะไรที่ใกล้เคียงกับเราบ้าง มันจะไม่มีเลยเหรอครับ ผมไม่เชื่อว่าเรา innovative อยู่เพียงคนเดียวในโลกใบนี้ได้หรอกครับ ต้องหาให้เจอ มันเป็นภาระผูกพันขั้นพื้นฐานในการผลิตงานวิจัย

 

การเสนอข้อโต้เถียงสำคัญต่อการศึกษาประวัติศาสตร์อย่างไร  

ประวัติศาสตร์ไม่ใช่การเปิดเผยความจริงว่าเกิดอะไรขึ้นในอดีต แต่ประวัติศาสตร์คือการตีความความหมายของอดีตบนพื้นฐานของหลักฐานชั้นต้น (primary source) เราจะอ่านหลักฐานชั้นต้นอย่างมีวิธีวิทยา มีกรอบในการอ่านและตีความ และต้องรู้ว่าการตีความของเราเหมือนหรือต่างอย่างไรกับงานศึกษาประวัติศาสตร์ที่มีมาก่อนหน้า ตัวตนของนักวิชาการคือ ‘argumentative self’ ต้องยืนยันในข้อถกเถียงที่เรามีต่อข้อเสนอของนักวิชาการคนอื่น

ดังนั้นประวัติศาสตร์คือปฏิสัมพันธ์ระหว่างนักประวัติศาสตร์ หลักฐานชั้นต้นและงานวิจัยที่เกี่ยวข้องเสมอ สำหรับผม ประวัติศาสตร์ไม่ใช่การบอกว่าเกิดอะไรขึ้นในอดีต เพราะเราจะไม่มีวันได้คำตอบนั้น คุณอ่านหลักฐานชั้นต้น อ่านงานวิจัยที่เกี่ยวข้องแล้วเขียนงานประวัติศาสตร์ออกมา ถ้าไม่ได้ลอกใครมา ผลงานจะไม่มีวันเหมือนกัน ต่อให้ศึกษาเรื่องเดียวกัน ใช้หลักฐานชั้นต้นชิ้นเดียวกันก็จะไม่มีทางเหมือน เพราะแต่ละคนตีความอดีตไม่เหมือนกัน นี่คือมนต์เสน่ห์ของประวัติศาสตร์ ในฐานะนักวิชาการประวัติศาสตร์ เราวัดกันว่าข้อเสนอหรือข้อโต้แย้งของแต่ละคนลุ่มลึกและละเอียดรอบคอบมากน้อยแค่ไหน 

 

เราไม่ได้อยากรู้ว่าเกิดอะไรขึ้นในอดีตหรือ?

ใช่ในระดับหนึ่ง นักประวัติศาสตร์ก็อยากรู้ว่าเกิดอะไรขึ้นในอดีต แต่ในปัจจุบัน ผมว่าเราเลิกเชื่อกันเป็นร้อยปีแล้วว่าประวัติศาสตร์คือการศึกษาเรื่องราวว่าเกิดอะไรขึ้น (What happened)  

บางคนมักอ้างนิยามการศึกษาประวัติศาสตร์ของ Leopold von Ranke ที่บอกว่าประวัติศาสตร์มีจุดประสงค์เพื่อให้รู้ว่า “Wie es eigentlich gewesen ist” คนมักจะแปลว่า “จริงๆ แล้วมันเกิดอะไรขึ้นในอดีต” คำว่า “eigentlich” โดยทั่วไปแปลว่า “จริงๆ” (“really”) เป็นอย่างไร’ แต่ที่จริงในกรณีนี้ คำว่า “eigen-” ใน “eigentlich” แปลว่า “โดยตัวมันเอง” (“in its own right”) ไม่ได้แปลว่า “really” เซนส์ของคำเป็นคนละเซนส์กัน “Wie es eigentlich gewesen ist” จึงไม่ได้หมายความว่าเกิดอะไรขึ้นในอดีตแบบเรียงลำดับการกระทำ 1 2 3 4 แต่เราให้ความสนใจ ‘ความคิด’ หรือ ‘ไอเดีย’ ที่ก่อให้เกิดการกระทำนั้นๆ ขึ้น ความคิดในที่นี้คือเซนส์ของคำว่า “โดยตัวมันเอง” (“eigentlich”) หมายความว่าเรากำลังมองหาอะไรบางอย่างที่เป็นนามธรรม เพราะฉะนั้น ประวัติศาสตร์ไม่ได้สนใจว่าคณะปฏิวัติวางแผนโค่นล้มระบอบเก่าในการเปลี่ยนแปลงระบอบการปกครองอย่างไร แต่จะดูว่า ‘หลักการ’ อะไรที่ขับเคลื่อนให้คนกลุ่มหนึ่งลุกขึ้นมาปฏิวัติ

ยกตัวอย่างให้เห็นภาพ หนังสือการเมืองไทยสมัยพระเจ้ากรุงธนบุรีของอาจารย์นิธิ (เอียวศรีวงศ์) ถ้าอ่านแล้วสรุปว่าข้อเสนอของหนังสือคือพระเจ้าตากไม่ได้บ้า ผมคิดว่าแบบนั้นคืออ่านไม่แตก มีเขียนอยู่ในหนังสือจริง แต่สาระสำคัญคือ อาจารย์นิธิกำลังอธิบายกลไกธรรมชาติและลักษณะทางการเมืองแบบชุมนุมในสมัยพระเจ้าตาก ความขัดแย้งทางโลกทัศน์ระหว่างชนชั้นนำสองกลุ่ม คือชนชั้นนำที่สืบทอดระบบราชการในอยุธยามาหลายชั่วโคตรของเจ้าพระยาจักรีและการเมืองแบบชุมนุมของพระเจ้าตาก และนี่คือเหตุผลที่ทำให้เกิดการรัฐประหารเมื่อสองแนวคิดขัดแย้งกันในตอนปลายของรัชสมัย ความสำคัญของหนังสือเล่มนี้คือเสนอว่าอะไรคือปัจจัยผลักดันให้เกิดเหตุการณ์ดังกล่าวในอดีตต่างหาก

 

แต่ประวัติศาสตร์ที่เราคุ้นชินมักเป็นการไล่เรียงเหตุการณ์ว่าเกิดอะไรขึ้นบ้าง ถ้าประวัติศาสตร์ไม่ใช่การเปิดเผยว่าเกิดอะไรขึ้นบ้างในอดีต แล้วประวัติศาสตร์เหตุการณ์เช่นนี้เป็นปัญหาไหม

นั่นไม่ใช่ประวัติศาสตร์ การที่รู้ว่าเกิดอะไรขึ้นบ้างในอดีตไม่ใช่ประวัติศาสตร์ ฉะนั้น การที่เรารู้ว่าเกิดสงครามขึ้นเมื่อไหร่ นายพลคนไหนยกทัพไปแล้วรบชนะในยุทธภูมิไหน หรือประเทศใดทำสงครามแพ้แล้วถูกยึดโดยอีกประเทศหนึ่งไม่ได้อธิบายอะไรเลย หรือการที่รู้ว่าไมโครเวฟประดิษฐ์ขึ้นในช่วงสงครามโลกครั้งที่สอง แล้วบอกว่านี่คือประวัติศาสตร์ภูมิปัญญาท่ามกลางสงคราม ผมเข้าใจไม่ว่าจะเป็นนักเรียนประวัติศาสตร์หางแถวหรือนักประวัติศาสตร์ชั้นเลิศก็น่าจะมีวินิจฉัยตรงกันว่า นั่นไม่ใช่ประวัติศาสตร์นะครับ ไม่ใช่เพียงเพราะว่าการค้นพบคลื่นไมโครเวฟไม่ได้เกี่ยวอะไรกับสิ่งที่เรียกว่าประวัติศาสตร์ภูมิปัญญาเท่านั้น แต่เพราะประวัติศาสตร์คือความสามารถในการสร้างคำอธิบายต่ออดีต ไม่ใช่ความสามารถในการจดจำข้อเท็จจริงแล้วนำมาเรียงต่อกันไปเรื่อยๆ นั่นเอง

 

อะไรคือสิ่งที่ทำให้การตีความของนักประวัติศาสตร์แต่ละคนไม่เหมือนกัน 

วิธีการทางประวัติศาสตร์ไม่ได้เหมือนขั้นตอนในห้องทดลอง ไม่ใช่ว่ามีขั้นตอนที่หนึ่ง หยิบหลอดทดลอง ใส่สารละลายเข้าไป ต่อด้วยขั้นตอนที่สอง ผสมสารอีกตัวหนึ่งแล้วจะได้ผลลัพธ์ออกมาเป็น A+B = C

จะยกตัวอย่างให้เห็นภาพระเบียบวิธีการทำงานหรือกรอบในการวิจัยทางประวัติศาสตร์ อย่างผมศึกษาประวัติศาสตร์เพศสภาพ คีย์เวิร์ดของการศึกษาเพศสภาพคือความสัมพันธ์ (relationship) เราจะให้ความสำคัญกับความสัมพันธ์ระหว่างหญิง-ชาย หญิง-หญิง ชาย-ชาย หรืออื่นๆ ในฐานะกรอบการพิจารณาประเด็นเพศสภาพ เพราะฉะนั้น เราจะใช้กรอบนี้อ่านหลักฐานชั้นต้นและอธิบายความสัมพันธ์ของคู่รักคู่หนึ่งในอดีตผ่านหลักฐาน อย่างผมศึกษาจดหมายรัก พออ่านหลักฐานดูว่าคู่รักมีความสัมพันธ์อย่างไรภายใต้บริบทใดบริบทหนึ่งแล้วก็จะตีความออกมาอย่างหนึ่ง แต่ถ้าเป็นคนอื่น อ่านแล้วอาจจะพิจารณาประเด็นอื่นๆ ต่างกันออกไป

ฉะนั้น แก่นจริงๆ ของการเรียนประวัติศาสตร์คือการตั้งคำถามในงานว่า จะถามอะไรกับเอกสารชั้นต้นที่อยู่ตรงหน้า เมื่อคุณตั้งคำถามต่างกัน คุณจะได้คำตอบไม่เหมือนกัน แต่ละคนตั้งคำถามไม่เหมือนกันหรอก 

แก่นจริงๆ ของการเรียนประวัติศาสตร์คือการตั้งคำถามในงานว่า จะถามอะไรกับเอกสารชั้นต้นที่อยู่ตรงหน้า เมื่อคุณตั้งคำถามต่างกัน คุณจะได้คำตอบไม่เหมือนกัน แต่ละคนตั้งคำถามไม่เหมือนกันหรอก 

หัวใจสำคัญของการศึกษาประวัติศาสตร์คือเอกสารชั้นต้น อยากทราบว่าการนำหลักฐานเข้ามาใช้ศึกษาหรือวิธีวิทยาเปลี่ยนแปลงไปจากในอดีตอย่างไรบ้าง

มีทั้งเปลี่ยนและผสมกันชุลมุนชุลเก ผมคิดว่าที่เป็นมนต์เสน่ห์และน่าสนใจคือการเปิดประเภทหลักฐานใหม่ นักประวัติศาสตร์เริ่มใช้หลักฐานที่มีเลือดเนื้อ หรือที่เรียกว่า ego-document เช่น ไดอารีหรือจดหมาย คิดว่าถ้าย้อนไปในปี 1900 คนคงนึกไม่ออกว่าต้องใช้จดหมายรักถ้าจะศึกษาชีวิตสามีภรรยา แต่วงการประวัติศาสตร์ก็ยอมรับสถานะของหลักฐานเหล่านี้มากขึ้นเรื่อยๆ จนในปัจจุบัน ไดอารีหรือจดหมาย โดยเฉพาะอย่างยิ่งจดหมายส่วนตัวและไดอารีส่วนตัวถือเป็นหลักฐานที่มีคุณค่าสูงมาก เพราะปกติเวลาเขียนไดอารี คนเขียนคงไม่คิดจะเผยแพร่ให้ใครอ่าน ฉะนั้นจึงมีโอกาสที่ไดอารีจะให้ข้อมูลที่ ‘อินไซต์’ มากกว่าหลักฐานประเภทอื่น อย่างไรก็ตาม วิธีการอ่านไดอารีก็มีสิ่งที่ต้องระวัง เพราะต่อให้ผู้เขียนเขียนให้ตัวเองอ่าน แต่ก็เขียนแบบ tongue-in-cheek คือเขียนอย่างระวังปากระวังคำ ไม่ได้เขียนทุกอย่างอย่างที่คิด 

เพราะฉะนั้น แต่เดิมต่อให้ศึกษาประวัติศาสตร์สังคมก็ยังต้องไปแตะเอกสารการเมืองจนได้ อาจจะเขียนประวัติศาสตร์ชีวิตกรรมกรผ่านเอกสารการเมือง ก็ไปดูระบบรัฐสวัสดิการหรือความล้มเหลวในการจัดรัฐสวัสดิการ อย่างเช่นครั้งหนึ่งเคยมีความพยายามศึกษาประวัติศาสตร์กรรมกรหลังสงครามโลกผ่านนโยบายของพรรคแรงงานในอังกฤษ แต่ปัจจุบัน ถ้าเราต้องการศึกษาชีวิตกรรมกรในอังกฤษหลังสงครามโลกครั้งที่สอง ก็อาจจะใช้วิธีการสัมภาษณ์หรือใช้ไดอารีของกรรมกรหญิงเป็นเอกสารชั้นต้นอย่างงานของ Lynn Abrams ซึ่งเป็นนักประวัติศาสตร์บอกเล่า (oral historian) เป็นต้น 

อีกอย่างหนึ่งคือในโลกตะวันตกมีการศึกษาวัฒนธรรมทางวัตถุ (material culture) มากขึ้น ครั้งหนึ่งในช่วงประมาณทศวรรษ 1980 เกิด ‘pictorial turn’ หรือการหันไปใช้รูปภาพในการศึกษาประวัติศาสตร์ นักประวัติศาสตร์จะใช้รูปภาพประเภท portraiture เป็นหลักฐานชั้นต้น ซึ่งก่อนหน้านี้มีแค่นักประวัติศาสตร์ศิลปะเท่านั้นที่ใช้

มีการนำการ์ตูนล้อเลียนมาใช้เป็นหลักฐานชั้นต้นเหมือนกัน หนังสือเล่มหนึ่งที่ผมชอบคือ The Age of Caricature: Satirical Prints in the Reign of George III  เขียนโดย Diana Donald ศึกษาการ์ตูนล้อเลียนในอังกฤษช่วงรัชสมัยพระเจ้าจอร์จที่ 3 สนุกมาก อ่านไปขำไป ซึ่งถ้าอ่านการ์ตูนล้อเลียนแล้วงง ไม่ขำ นั่นหมายความว่าเราเข้าไม่ถึงอดีต แต่ทันทีที่เริ่มเข้าใจว่าการ์ตูนเสียดสีอะไรและหัวเราะไปกับการ์ตูนเหล่านั้นแปลว่าเข้าถึงอดีตแล้ว เพราะหัวเราะในเรื่องที่คนในอดีตขำ ถ้าใช้คำของอาจารย์นิธิ เอียวศรีวงศ์คือ เราอาจจะถึงทิพยวิมานของการเป็นนักเรียนประวัติศาสตร์แล้วก็ได้

ในปัจจุบัน เกิด ‘material turn’ คือหันไปใช้วัตถุ มีการศึกษาเสื้อผ้าหน้าผม แฟชั่น การแต่งกาย มีหนังสือเล่มหนึ่งที่ยิ่งใหญ่มากและใช้หลักฐานแบบนี้ในการศึกษา ชื่อว่า Dressing Up: Cultural Identity in Renaissance Europe โดย Ulinka Rublack หรือตัวอย่างใกล้ตัวคืองานวิทยานิพนธ์ของคุณพงศกร ชะอุ่มดี อดีตนิสิตปริญญาโท ภาควิชาประวัติศาสตร์ คณะอักษรศาสตร์ จุฬาฯ ซึ่งน่าทึ่งมาก เพราะใช้หนังสือรุ่นของนักเรียนมัธยมและนักศึกษามหาวิทยาลัย ศึกษาประวัติศาสตร์ชีวิตวัยรุ่นชนชั้นกลางในกรุงเทพฯ ในช่วงทศวรรษ 2500-2530 วิทยานิพนธ์เล่มนี้ใช้หนังสือรุ่นเป็นเอกสารชั้นต้นอย่างจริงจัง ทั้งๆ ที่เราไม่เคยคิดว่าจะใช้หนังสือรุ่นศึกษาประวัติศาสตร์ไทยได้ และมีข้อค้นพบหลายอย่างที่น่าสนใจ เขาศึกษาภาพถ่ายในหนังสือรุ่น โดยมองว่าเป็นเครื่องมือที่วัยรุ่นในโรงเรียนมัธยมปลายใช้ในการนิยามอัตลักษณ์ ตัวตน และสื่อสารต่อสังคม บทหนึ่งที่ผมอ่านแล้วชอบมากคือ ‘ความเป็นวัยรุ่น’ ข้อค้นพบคือ ความเป็นวัยรุ่นเกี่ยวโยง (associate) อยู่กับความคิดสร้างสรรค์ มีวัยรุ่นในหลายโรงเรียนที่พยายามดีไซน์หนังสือรุ่นและออกแบบ setting การถ่ายภาพให้แสดงอัตลักษณ์ความเป็นเจเนอเรชันสร้างสรรค์ (generation of creativity) หรือมีโรงเรียนหนึ่งที่ขึ้นชื่อเรื่องความเป็นกุลสตรี แต่ปรากฏว่าหนังสือรุ่นมีความเป็นการเมืองสูงมากในช่วง 14 ตุลา 2516 คือในหนังสือรุ่นของโรงเรียนนี้ไม่ได้มีการอภิปรายการเมือง แต่สะท้อนความเป็นขบถต่อสังคม ซึ่งเป็นสปิริตของยุคสมัยในตอนนั้น และแสดงอัตลักษณ์ความเป็นเจนเนอเรชันขบถของนักเรียนโรงเรียนนั้น เป็นข้อเสนอที่น่าเซอร์ไพรส์มาก

เวลามีการเปิดประเภทหลักฐานใหม่จะรู้ได้อย่างไรว่าหลักฐานประเภทนั้นๆ จะเป็นที่ยอมรับว่าหนักแน่นมากพอ หรือจริงๆ แล้ววัดกันที่คำอธิบาย

Exactly! ในปัจจุบันนักเรียนประวัติศาสตร์บางคนเชื่อว่า ประวัติศาสตร์คือการรวบรวมข้อมูล (collection of data) จำนวนมหาศาล เอามารวมกันแล้วเขียนออกมาเป็นงานเล่มหนาเท่าศอก ยิ่งละเอียดยิบย่อยได้เท่าไหร่ยิ่งสุขใจเท่านั้น แต่การศึกษาประวัติศาสตร์ที่ไม่ล้มเหลวคือ ต้องแตกฉานในการจัดการกับแหล่งข้อมูล แล้วสร้างกรอบแนวคิด (conceptualize) ข้อมูลจากหลักฐานชั้นต้นให้ได้ ไม่ใช่สิ้นชีพจมไปในกองเอกสารจนทำอะไรไม่ได้ ได้แต่เอาข้อมูลมาเขียนรวมกัน ถ้าเชื่อว่างานประวัติศาสตร์ไม่ต้องเสนอคอนเซ็ปต์อะไรก็ได้ ไม่ต้องถกเถียงกับงานวิจัยก่อนหน้าใดๆ ก็ได้ ผมก็คิดว่า “ประวัติศาสตร์ก็คงไม่รอด” ละครับ

Sarah Maza นักประวัติศาสตร์ชาวอเมริกันที่ศึกษาฝรั่งเศสช่วงศตวรรษที่ 18-19 เขียนหนังสือเพื่อแนะนำว่าประวัติศาสตร์คืออะไร ชื่อ Thinking about History มีประโยคหนึ่งที่ผมชอบมากและเป็นที่พูดถึงกันมานานแล้วว่า ต่อให้มีการเปิดหลักฐานใหม่ที่ไม่เคยมีใครในโลกเห็นมาก่อน หลักฐานชิ้นนั้นจะไม่มีคุณค่าเลยจนกว่าจะสามารถเปลี่ยนคำอธิบายทางประวัติศาสตร์ หรือนำไปสู่การสร้างคำอธิบายที่ไม่เคยมีมาก่อนได้ 

ตัวอย่างที่ Sarah Maza ยกขึ้นมาคือ นักประวัติศาสตร์ที่ศึกษานาซีเยอรมนีและโฮโลคอสต์ทราบกันดีว่า ไม่มีเอกสารฉบับใดที่บ่งชี้ว่าฮิตเลอร์สั่งให้ฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ชาวยิว ซึ่งไม่ได้หมายความว่าฮิตเลอร์ไม่ได้เซ็นเอกสาร อาจจะเซ็นหรือไม่เซ็นก็ได้ ไม่มีใครรู้ แต่ที่รู้แน่ๆ คือยังไม่มีใครในวงการประวัติศาสตร์เคยเห็นเอกสารนั้น เอกสารอาจจะไม่ตกทอดมาถึงสมัยนี้ หรืออาจจะยังไม่ถูกค้นพบก็ได้ Sarah Maza ตั้งคำถามว่า ถ้าวันนี้มีคนเดินมาบอกว่าค้นพบเอกสารสั่งให้สังหารชาวยิวที่เซ็นโดยฮิตเลอร์แล้ว เอกสารชิ้นนี้จะถือว่ามีคุณค่าไหม คำตอบคือ ‘ไม่มี’ เพราะเอกสารไม่ได้เปลี่ยนความเข้าใจเลยว่า ฮิตเลอร์มีบทบาทอย่างมากในการกระตุ้นให้เกิดความเกลียดชังยิว ความเกลียดชังทางชาติพันธุ์ และนี่คือสิ่งที่ขับเคลื่อนให้เกิดการฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ เพราะฉะนั้น โฮโลคอสต์เป็นผลงานของฮิตเลอร์แน่นอน คุณค่าของการค้นพบเอกสารชิ้นนั้นคือมีหลักฐานยืนยันเพิ่ม แต่มันก็ไม่ได้เปลี่ยนคำอธิบายอะไรทั้งนั้น

 

ต่อให้การศึกษาประวัติศาสตร์ไม่ใช่การเปิดเผยความจริงในอดีตที่จริงแท้ที่สุด แต่การศึกษาข้อเสนอทางประวัติศาสตร์ที่ถูกล้มล้างไปแล้วมีคุณค่าอย่างไรบ้างไหม

มี ขึ้นอยู่กับว่าจะศึกษามันอย่างไร เช่น สมมติอาจจะตั้งคำถามว่า เหตุใดข้อเสนอที่บอกว่าคนไทยมาจากเทือกเขาอัลไตถึงถูกสร้างขึ้นมา ถูกสร้างขึ้นในสมัยไหน บริบทแบบไหน และผู้สร้างทฤษฎีต้องการสื่อประเด็นอะไร ถ้าตั้งคำถามแบบนี้จะเข้าใจโลกทัศน์ของคนในยุคสมัยหนึ่งได้ เพราะนักประวัติศาสตร์ก็เป็นส่วนหนึ่งของบริบทของยุคสมัยเช่นกัน

 

จำเป็นไหมที่เราต้องศึกษานักประวัติศาสตร์ควบคู่ไปกับข้อเสนอที่เขาเสนอด้วย

เราไม่จำเป็นต้องรู้จักตัวตนหรือนิสัยใจคอ แต่ควรศึกษาบริบททางภูมิปัญญาที่ผลงานวิชาการชิ้นหนึ่งๆ ผลิตขึ้น ยกตัวอย่างหนังสือที่ตีพิมพ์ในปี 1952 ในช่วงหลังสงครามโลกครั้งที่ 2 ของ Hans Baron ศึกษาแนวคิดการเมืองในเรเนซองส์อิตาลี Baron เสนอว่า ชาวฟลอเรนซ์ยืนยันระบอบการปกครองแบบสาธารณรัฐ ต่อต้านการกลับมาปกครองของตระกูลเมดิชี และทำให้สาธารณรัฐฟลอเรนซ์ดำรงอยู่ต่อไปได้ เพราะมีวิธีคิดทางการเมืองแบบ Civic humanism คือประชาชนต้องมีส่วนร่วมทางการเมือง เป็นวิถีทางเดียวที่ต่อต้านอำนาจเผด็จการ ถ้าพิจารณาบริบททางภูมิปัญญา หนังสือเล่มนี้ตีพิมพ์ในปี 1952 ในบริบทที่มีการต่อต้านระบอบเผด็จการเบ็ดเสร็จภายหลังสงครามโลกครั้งที่สอง และในช่วงทศวรรษ 1950 มีความเชื่อว่าระบอบนาซีและระบอบฟาสซิสต์ในยุโรปเรืองอำนาจขึ้นมาได้เพราะประชาชนไม่มีส่วนร่วมทางการเมือง และรัฐเผด็จการทำให้พื้นที่การถกเถียงประเด็นสาธารณะ (public sphere) หดแคบลงและลดทอนอำนาจทางการเมืองของประชาชนให้กลายเป็นศูนย์ 

ปัจจุบันข้อเสนอนี้ถูกตีตกไปแล้ว ผมไม่ได้บอกว่างานของ Baron ไม่มีคุณค่านะ แต่ประเด็นคือต้องดูด้วยว่างานประวัติศาสตร์ผลิตขึ้นในบริบททางภูมิปัญญายุคใด สมัยใด เพราะบริบทและความเชื่อที่ไหลเวียนอยู่ในยุคสมัยหนึ่งก็เป็นส่วนหนึ่งในการผลิตงาน ถ้าเราเชื่อว่านักประวัติศาสตร์เป็นส่วนหนึ่งของยุคสมัยที่ตัวเองผลิตงาน งานประวัติศาสตร์ก็ไม่เคยบริสุทธิ์

ผมคิดว่าเป็นกับทุกสาขาวิชา ไม่ใช่แค่ประวัติศาสตร์ แม้แต่วิทยาศาสตร์เองก็ไม่ได้ปราศจากอิทธิพลของยุคสมัย ถ้าอ่านงานประวัติศาสตร์วิทยาศาสตร์เล่มหนึ่งที่ทรงคุณค่ามากๆ เขียนโดยนักประวัติศาสตร์วิทยาศาสตร์มือหนึ่งของโลกอย่าง Steven Shapin ชื่อหนังสือ Never Pure ข้อเสนอของเล่มนี้คือวิทยาศาสตร์ไม่เคยเป็นศาสตร์ที่บริสุทธิ์ แต่ประกอบสร้างขึ้นในบริบทที่เฉพาะเจาะจงเสมอ 

 

หมายความว่างานประวัติศาสตร์ไม่มีทางปราศจากอคติ? แล้วการทำงานประวัติศาสตร์จำเป็นต้องเป็นกระบวนการที่ปราศจากอคติไหม

เป็นไปไม่ได้ มีข้อสรุปในทางวิชาการมาร้อยกว่าปีแล้วว่าทำไม่ได้ ในการอ่านและตีความเอกสารชั้นต้น นักประวัติศาสตร์จะต้องเลือกกรอบหรือวิธีวิทยา มันเหมือนเวลาเราเลือกสวมแว่นตากันแดด ถ้าใส่แว่นเลนส์ดำ โลกก็มืด หรือถ้าใส่แว่นเลนส์ชมพู โลกก็เป็นสีชมพู การที่นักประวัติศาสตร์แต่ละคนเลือกวิธีวิทยาไม่เหมือนกันก็ถือว่าเป็นอคติแล้ว เพราะฉะนั้นไม่ต้องคิดเลยว่าประวัติศาสตร์จะปราศจากอคติได้ แต่ไม่ได้หมายความว่าคุณจะตีความหรือเสนออะไรก็ได้

พูดให้ชัดขึ้นอีก เวลาเขียนประวัติศาสตร์ นักประวัติศาสตร์จะมีปฏิสัมพันธ์กับอดีตผ่านหลักฐานชั้นต้นที่ตกทอดมาถึงปัจจุบัน ไม่ใช่เข้าถึงอดีตโดยตรง เวลาเราอ่านหลักฐานก็ต้องเลือกวิธีวิทยาหรือกรอบเป็นเครื่องมือในการจัดการกับข้อมูล และพอเราเขียนงานประวัติศาสตร์ก็ต้องมีกระบวนการสนทนากับงานประวัติศาสตร์ที่เกี่ยวข้องก่อนหน้าว่าเราเห็นด้วยหรือไม่เห็นด้วย จะสนับสนุนหรือล้มล้างข้อเสนอที่มีมาก่อนหน้า คำถามคือ งานเขียนทางประวัติศาสตร์เท่ากับอดีตจริงๆ เป็น ‘ภววิสัย’ (objective) และปราศจากอคติหรือไม่ คำตอบคือไม่มีวัน อย่างที่ผมพูดไปแล้วว่างานเขียนทางประวัติศาสตร์ไม่ได้มีหน้าที่เล่าว่า ‘เกิดอะไรขึ้น’ ในอดีต ถ้างานประวัติศาสตร์ทำหน้าที่ตามสปริตอย่างเคร่งครัด มันคือบทสนทนาระหว่างนักประวัติศาสตร์กับเอกสารชั้นต้นและงานวิชาการก่อนหน้า

แต่ในอีกแง่หนึ่ง ถ้ามีคนค้านว่าโฮโลคอสต์ไม่เคยเกิดขึ้นจริง แบบนี้จะเรียกว่าเป็นมุมมองส่วนตัวก็ไม่ได้ เพราะค่ายกักกันนาซีทั่วยุโรปประมาณ 24,000 ค่ายคือประจักษ์พยานว่าอุตสาหกรรมการฆ่าล้างเผ่าพันธุ์เกิดขึ้นจริง 

 

ถ้าการศึกษาประวัติศาสตร์ไม่ได้เป็นไปเพื่อค้นหาอดีตที่จริงแท้ แล้วเราศึกษาประวัติศาสตร์เพื่ออะไร

เอาไว้คิด (ตอบทันที) คิดเกี่ยวกับเอกสาร หลักฐานและงานวิจัยก่อนหน้า 

Before After

ทุกวันนี้เราอยู่ในยุคดิจิทัล หลักฐานทางประวัติศาสตร์กระจัดกระจายอยู่ในโลกอินเทอร์เน็ตและโซเชียลมีเดียมากมายมหาศาลและไหลเวียนอย่างรวดเร็ว ปรากฏการณ์แบบนี้ถือว่าท้าทายการทำงานของนักประวัติศาสตร์ไหม

อินเทอร์เน็ตหรือโซเชียลมีเดียไม่ได้เป็นอุปสรรคต่อการทำงานประวัติศาสตร์ กลับเป็นประโยชน์ด้วยซ้ำ เพราะทำงานสะดวกขึ้น เข้าถึงแหล่งข้อมูลได้มากขึ้น แชร์ข้อมูลได้มากขึ้น เดี๋ยวนี้มีสิ่งที่เรียกว่า ‘ประวัติศาสตร์ดิจิทัล’ (digital history) คือมีการแปลงเอกสารหลักฐานชั้นต้นให้เป็นเอกสารดิจิทัล ไม่ต้องเดินทางไปที่หอจดหมายเหตุไกลๆ ก็ค้นหาเอกสารออนไลน์จากที่บ้านได้ ในอนาคตอาจจะมีคนศึกษาอัตลักษณ์ที่สอง (second identity) ในอินสตาแกรมหรือประวัติศาสตร์อินเทอร์เน็ตก็ได้ แต่จะค้นหลักฐานเจอจริงหรือไม่จริง จะจัดการกับของดีที่อยู่ตรงหน้าได้หรือไม่ก็ได้ขึ้นอยู่กับทักษะของนักประวัติศาสตร์แต่ละคน 

ตัวอย่างการแปลงหลักฐานทางประวัติศาสตร์ไปเป็นไฟล์ดิจิทัลที่น่าสนใจและเป็นประโยชน์คือ หลักฐานประเภทสุนทรพจน์ (speech) นักประวัติศาสตร์ใช้สุนทรพจน์ทางการเมืองศึกษาประวัติศาสตร์มานานแล้ว มีหลายชิ้นมากที่มีชื่อเสียง สุนทรพจน์ “Ich bin ein Berliner” ของประธานาธิบดี Johnny F. Kennedy ในปี 1963 ที่เบอร์ลินตะวันตกก็เป็นอีกหนึ่งสุนทรพจน์เปลี่ยนโลกที่ทรงพลัง ประเด็นคือนักประวัติศาสตร์ศึกษาสุนทรพจน์ผิดฝาผิดตัวมาตลอด ธรรมชาติของสุนทรพจน์คือมีไว้อ่านแล้วพูดให้คนฟัง แต่นักประวัติศาสตร์ไม่เคยไปอยู่ในโมเมนต์ที่ Abraham Lincoln กล่าวสุนทรพจน์ที่ Gettysburg หรือสุนทรพจน์ “Ich bin ein Berliner” ที่กล่าวในปี 1963 บางคนก็ยังไม่เกิด นักประวัติศาสตร์รู้ว่าสุนทรพจน์บอกอะไรไว้บ้างเพราะอ่านจากเอกสาร แต่คุณจะพลาดธรรมชาติของการกล่าวสุนทรพจน์ที่เป็นการสื่อสารต่อสาธารณชน สุนทรพจน์ร่างขึ้นเป็นลายลักษณ์อักษร แต่ผู้กล่าวสุนทรพจน์กล่าวด้วยน้ำเสียง อันมีจังหวะจะโคน มีการหยุดพัก มีการปฏิสัมพันธ์กับผู้ฟัง

คุณูปการของยูทูบคือช่วยให้นักประวัติศาสตร์ได้เห็นโมเมนต์นั้น เดี๋ยวนี้มีหลายช่องที่นำสุนทรพจน์ร่วมสมัยมาลงไว้เยอะมาก คุณจะเห็นเลยว่ามีผู้ฟังจำนวนเท่าไหร่ตอนกล่าวสุนทรพจน์ ถ้ามีอารมณ์ร่วม (collective emotion) คนฟังจะเฮขึ้นมา ทั้งๆ ที่บางครั้งก็ฟังไม่รู้เรื่องดีด้วยซ้ำ เสียงเฮของผู้ฟังคือการแสดงความเห็นพ้องกับสิ่งที่ได้ยิน ที่ผ่านมาเวลาศึกษาสุนทรพจน์ นักประวัติศาสตร์จะละเลยปฏิกิริยาของผู้ฟังออกไปหมด แต่บทบาทของผู้ฟังกำลังจะถูกดึงเข้ามาในกระบวนการวิเคราะห์สุนทรพจน์เพราะยูทูบนี่แหละ

 

ในยุคที่มีเทคโนโลยีใหม่ๆ เกิดขึ้น หลายวงการโดนผลกระทบจากดิสรัปชันของยุคสมัย แล้วเทคโนโลยีเข้ามา ‘ดิสรัปต์’ (disrupt) หรือท้าทายประวัติศาสตร์บ้างไหม

ผมไม่คิดว่าเทคโนโลยีเข้ามาดิสรัปต์ประวัติศาสตร์ เราควรจะขอบคุณมันด้วยซ้ำ เทคโนโลยีมีส่วนช่วยนักประวัติศาสตร์อย่างมหาศาล ขึ้นอยู่กับว่าคิดจะใช้มันไหม ยกตัวอย่างหนังสือ The Dress of the People: Everyday Fashion in Eighteenth-Century England เขียนโดย John Styles เป็นโปรเจ็กต์ Economic History ของเสื้อผ้าในศตวรรษที่ 18 และต้นศตวรรษที่ 19 ในอังกฤษ ศึกษาประวัติศาสตร์การทอผ้า ซึ่งเกี่ยวพันกับการปฏิวัติอุตสาหกรรมที่มีคนศึกษามากมายจนแทบจะเลิกศึกษากันไปแล้ว แต่งานชิ้นนี้ ‘ล้ำ’ มากๆ John Styles ศึกษาเสื้อผ้าของคนชนชั้นล่าง โดยใช้เศษผ้าจากหอจดหมายเหตุของโรงพยาบาลเลี้ยงเด็กกำพร้าแห่งหนึ่งในลอนดอน มีเก็บไว้เยอะมาก เศษผ้าเหล่านี้คือ token ที่แม่ฐานะยากจนเหน็บไว้กับผ้าอ้อมลูกเพื่อใช้แสดงอัตลักษณ์ของลูกที่เอามาฝากไว้ที่โรงเลี้ยงเด็กกำพร้า และหวังว่าจะมาไถ่ลูกคืนเมื่อมีฐานะทางเศรษฐกิจดีขึ้น แต่ส่วนใหญ่ก็จะจนต่อไป ดังนั้นด้วยความเป็นแม่ ก็คงไม่ใช้เศษผ้าขี้ริ้วมาเป็นสิ่งระบุตัวตนลูก แต่ต้องเลือกชิ้นผ้าที่งดงามที่สุดเท่าที่ตนมี ในแง่หนึ่ง นี่ก็เป็นตัวอย่างของความเป็นแม่ที่คนธรรมดาสามัญสร้างขึ้นมาเองด้วยซ้ำ

ประเด็นคือ Styles ใช้เทคโนโลยีกล้องถ่ายรูปพิเศษศึกษาเศษผ้า มีเลนส์ที่ซูมเข้าไปดูเยื่อของผ้าได้ เทคโนโลยีส่องกล้องนำไปสู่สองข้อสรุปที่เปลี่ยนวิธีคิดหรือความเข้าใจแทบจะทุกอย่างเกี่ยวกับการปฏิวัติอุตสาหกรรม หนึ่งคือ นำไปสู่การสร้างฐานข้อมูลทางสถิติเพื่อสรุปว่าอุตสาหกรรมทอผ้าที่ขับเคลื่อนให้เกิดการปฏิวัติอุตสาหกรรมไม่ใช่ผ้าฝ้ายอย่างที่ทั่วโลกเชื่อกันมา โดยตั้งต้นจากการที่ไปเจอข้อมูลว่ามีอุตสาหกรรมลินินขนาดใหญ่อยู่ในมณฑลแลงแคชเชอร์ ซึ่งเป็นมณฑลที่เริ่มต้นการปฏิวัติอุตสาหกรรม สอง กลุ่มลูกค้าที่ต้องการเสื้อผ้าและขับเคลื่อนให้เกิดการปฏิวัติอุตสาหกรรมไม่ใช่ชนชั้นกลางอย่างที่เคยเชื่อกันมา แต่คือชนชั้นล่าง เมื่อคำนวณสัดส่วนอัตราการบริโภคทั่วประเทศอังกฤษ พบว่าชนชั้นล่างมีอัตราบริโภคมากกว่าชนชั้นกลาง และต้องบอกว่าอังกฤษในศตวรรษที่ 18 ส่วนมากยังคงเป็นสังคมเกษตรกรรม และคนส่วนใหญ่เป็นชนชั้นล่าง 

ยังไม่พูดถึงว่าเมื่อส่องกล้องลงไปแล้ว สิ่งที่ Styles เห็นคือเทคนิคการย้อมสี เศษผ้าเหล่านี้ไม่ได้แค่บอกอะไรบางอย่างเกี่ยวกับอุตสาหกรรมสิ่งทอ แต่ยังรวมไปถึงทักษะช่างฝีมือ แนวคิดเรื่องรสนิยมที่มีการผสมผสานระหว่างชนชั้นกลางกับชนชั้นล่าง ไม่ได้แยกกันระหว่างสองชนชั้นอย่างสิ้นเชิง ทั้งหมดนี้ขึ้นอยู่กับว่าเราจะใช้เทคโนโลยีอย่างไรและขึ้นอยู่กับคำถามที่เราตั้ง

ประวัติศาสตร์สนใจทุกอย่าง ตั้งแต่โครงสร้างการเมืองเศรษฐกิจ ชีวิตคนธรรมดา ไปจนถึงสิ่งที่ไม่ใช่คน ฯลฯ ทำไมประวัติศาสตร์ถึงสนใจทุกอย่าง

คุณอยากเข้าใจมนุษย์ไหม ถ้าอยากเข้าใจมนุษย์ก็ศึกษาได้ทุกเรื่อง ในแต่ละวันมนุษย์ผูกพันกับสรรพสัตว์และสรรพสิ่งต่างๆ รอบตัวล้านแปด ชีวิตคนเราเจอคนไม่กี่คนในชีวิต สมมติคุณล็อกตัวเองอยู่ในห้องคอนโดฯ คุณคือมนุษย์หนึ่งเดียวในห้อง ที่เหลือคือสิ่งของทั้งนั้น เพราะฉะนั้นปฏิสัมพันธ์ของมนุษย์กับสิ่งรอบตัวมันเยอะกว่าที่คิด เราอาจจะไม่มีทางเข้าใจสังคมหรือมนุษย์เลยถ้าเราไม่ศึกษาสิ่งที่ไม่ใช่มนุษย์ด้วย การศึกษาสิ่งเล็กๆ น้อยๆ เหล่านี้ช่วยทำให้เราเข้าใจมนุษย์และสังคมมากขึ้น เพราะสังคมประกอบไปด้วยอะไรอีกหลายอย่างที่ไม่ใช่แค่มนุษย์ 

การศึกษาประวัติศาสตร์ของสิ่งที่ไม่ใช่มนุษย์ (non-human world/post-humanist history) หรือสังคมศาสตร์อื่นๆ ที่ ‘พ้นมนุษย์’ (post-human) มีมานานแล้ว ไม่ใช่เพิ่งเป็นเทรนด์ การศึกษาเศษผ้าอย่างที่ John Styles ทำไม่ได้เป็นไปเพื่อให้เข้าใจเศษผ้า แต่เพื่อที่จะเข้าใจการปฏิวัติอุตสาหกรรมที่มีแรงงาน ผู้ผลิตและผู้บริโภคอยู่ในปรากฏการณ์นั้น อย่างไรก็ดี มนุษย์ยังคงเป็นส่วนหนึ่งของการศึกษาอยู่เสมอ ยังไม่ต้องพูดถึงว่าศาสตร์ทุกศาสตร์ ไม่ว่าจะเป็นประวัติศาสตร์ สังคมศาสตร์ มนุษยศาสตร์ เราได้ข้อมูลจากมนุษย์ เป็นไปไม่ได้ที่จะศึกษาวัตถุ ข้าวของเครื่องใช้หรือสรรพสัตว์โดยไม่เชื่อมโยงกับมนุษย์ เพราะมนุษย์คือผู้ใช้ ถ้าคุณศึกษาประวัติศาสตร์แฟชั่น มนุษย์คือผู้ดีไซน์และผู้ใส่ ดังนั้น สิ่งของเพียงอย่างเดียวไม่อาจเล่าเรื่องราวได้

นี่เป็นเรื่องซีเรียสนะครับ เพราะปัจจุบันมีความเข้าใจว่าเรากำลังก้าวไปศึกษาสิ่งที่ ‘พ้นมนุษย์’ – ด้วยความเคารพ ผมเคยได้ยินนักวิชาการพูดกันว่า มานุษยวิทยากำลังศึกษาสิ่งที่พ้นมนุษย์ เช่น การศึกษาเชื้อโรค โดยเสนอว่าการมองเชื้อโรคที่ปรับเปลี่ยนพัฒนาสายพันธุ์ว่าดื้อยา ซึ่งนี่เป็นการอธิบายจากมุมที่มนุษย์ต้องควบคุมทุกอย่างได้ แต่ในมุมของเชื้อโรค นี่คือการวิวัฒนาการ คำถามของผมคือ แนวคิดวิวัฒนาการก็พัฒนาโดยมนุษย์อย่าง Charles Darwin และ Jean Lamarck ไม่ใช่หรือ อีกอย่างในทางวิธีวิทยา ในเมื่อนักมนุษยศาสตร์ นักสังคมศาสตร์ศึกษาบนฐานของข้อมูล ประเด็นของผมคือเราไม่มีทางได้มุมมองของเชื้อโรคมา เพราะเชื้อโรคไม่สามารถบันทึกหลักฐานได้ ผมไม่เห็นด้วยกับข้อเสนอข้างต้นนั้น เพราะการศึกษา non-human world ไม่ใช่การศึกษาที่ไม่มีมนุษย์ในนั้นหรือละมนุษย์ออกไป แต่เป็นการลดความสำคัญของมนุษย์ลง จากที่ศึกษาแค่มนุษย์อย่างเดียวไปสู่ปฏิสัมพันธ์ระหว่างมนุษย์กับสิ่งอื่นๆ

 

มีคำกล่าวที่เรามักจะได้ยินอยู่บ่อยๆ ว่า เราเรียนประวัติศาสตร์เพื่อเรียนรู้อดีต ทำความเข้าใจปัจจุบันและเป็นบทเรียนสำหรับอนาคต อาจารย์มองอย่างไร

เห็นด้วย ผมไม่ได้รู้สึกว่าเป็นวิธีคิดที่มีปัญหา

เวลาศึกษาอดีต เราจะเห็นการตัดสินใจเลือกทำหรือไม่ทำอย่างใดอย่างหนึ่ง ด้วยวิธีคิดอย่างใดอย่างหนึ่ง นั่นหมายความว่ามีคนพยายามทดลองอะไรบางอย่างให้เห็นและเราก็ได้เห็นผลที่เกิดขึ้นแล้ว เหมือนมีคนมีประสบการณ์ทำอะไรบางอย่างให้ดูเพื่อให้เราเรียนรู้ แต่นั่นไม่ได้หมายความว่าต้องเชื่อหรือทำตามคนในอดีตทุกอย่าง ประเด็นอยู่ตรงที่ว่า เราต้องศึกษา คิด และหันมาทบทวนตัวเรา

มีนักประวัติศาสตร์ชาวอังกฤษคนหนึ่งดังมาก ชื่อ Mary Beard ศึกษาประวัติศาสตร์โรมัน ในช่วงที่ยุโรปกำลังเผชิญปัญหาผู้อพยพ Beard ตั้งคำถามว่า ปัจจุบันเราพอจะเรียนรู้อะไรได้บ้างจากประวัติศาสตร์การรับผู้อพยพของกรุงโรม ว่าด้วยการให้สิทธิพลเมืองและการอยู่ร่วมกับความแตกต่างหลากหลาย เพราะโรมรับผู้อพยพจากส่วนต่างๆ ของจักรวรรดิโรมันเยอะมาก โรมมีประชากรเกินล้านคน ก็เจอปัญหาผู้อพยพ การหาทางแก้ปัญหาก็มีหลากหลาย อีกอย่างจักรวรรดิโรมันก็ไม่ได้มี lingua franca เหมือนในปัจจุบัน ไม่ได้สื่อสารด้วยภาษาละตินเท่านั้น หรือแนวคิดเรื่องขันติธรรมทางชาติพันธุ์ก็ยังไม่ปรากฏ เพราะโลกเพิ่งจะมีแนวคิดนี้หลังยุค Enlightenment หรือเอาจริงๆ ก็หลังสงครามโลกครั้งที่สองเสียด้วยซ้ำ

 

อะไรคือหน้าที่ขององค์ความรู้ประวัติศาสตร์ในสังคม

ประวัติศาสตร์โดยตัวมันเองไม่ได้มีหน้าที่อะไรทั้งนั้น ประวัติศาสตร์มีหน้าที่อย่างเดียวเท่านั้นคือเป็นกิจกรรมทางปัญญาของผู้ศึกษา ซึ่งไม่ได้หมายถึงแค่นักประวัติศาสตร์ คนทั่วไปที่อ่านงานประวัติศาสตร์ก็ใช่ เพียงแต่คุณไม่ได้ไปถึงกระบวนการการเขียน

ถ้าถามว่าประวัติศาสตร์มีหน้าที่อื่นอีกไหม ประเด็นสำคัญคือ มันมีคนนำประวัติศาสตร์ไปใช้ประโยชน์ในทางหนึ่งทางใดอยู่เป็นปกติ เกิดขึ้นกับทุกชาติทุกภาษา ห้ามไม่ได้ ไม่ใช่เรื่องแปลก แต่ถ้ามีการฉวยนำประวัติศาสตร์ไปรับใช้ประโยชน์ทางการเมืองในการทำลายชีวิตผู้อื่นอย่างที่เราเห็นในระบอบนาซี ซึ่งนำมายาคติ (myth) เกี่ยวกับความเหนือกว่าของชาติอารยันมารองรับ จนนำไปสู่การฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ในที่สุด ที่แน่ๆ คือปัญหาไม่ได้อยู่ที่ประวัติศาสตร์

ถ้าเราเชื่อว่าประวัติศาสตร์คือกิจกรรมทางปัญญา คือการคิด ปัญหามันอยู่ที่การสถาปนาให้ข้อเสนอทางประวัติศาสตร์ข้อใดข้อหนึ่งเป็นที่สิ้นสุดแล้ว ยุติแล้ว ถกเถียงไม่ได้อีกแล้ว ไม่ใช่แค่รัฐบาลหรืออำนาจทางการเมืองต่างๆ เท่านั้นที่สถาปนาอดีต ผมคิดว่านักวิชาการเองก็ต้องระวัง นักวิชาการไม่ควรสถาปนาให้งานวิชาการชิ้นใดชิ้นหนึ่ง แขนงใดแขนงหนึ่ง เนื้อหาใดเนื้อหาหนึ่งเป็นสิ่งที่แตะต้องไม่ได้ อันตรายมาก เพราะนั่นคือการลืมธรรมชาติของวิชาประวัติศาสตร์ที่เป็นการถกเถียงอย่างไม่มีที่สิ้นสุด

 

สำหรับอาจารย์ อะไรคือสปิริตของการศึกษาประวัติศาสตร์

สิ่งที่ควรมีเหมือนกันทุกศาสตร์คือการคิดเชิงวิพากษ์วิจารณ์ (critical thinking) นี่แหละคือพื้นฐานของศาสตร์ทุกแขนง

ผมคิดว่าสปิริตของประวัติศาสตร์และศาสตร์ทุกแขนงคือการผลิตคำอธิบายที่โต้แย้งกับคำอธิบายเก่า ที่ต่างคือสิ่งที่เราศึกษา รัฐศาสตร์ศึกษาการเมืองโลกปัจจุบัน นักประวัติศาสตร์ศึกษาอดีต นักวรรณคดีศึกษาวรรณคดี นักภาษาศาสตร์ศึกษาภาษา คำ โครงสร้างภาษา แต่แก่นของทั้งหมดคือความคิดเชิงวิพากษ์วิจารณ์ทั้งนั้น

มนต์เสน่ห์ของประวัติศาสตร์ที่ผมไม่แน่ใจว่าจะต่างกับศาสตร์อื่นหรือเปล่าคือ เห็นได้ชัดว่าเราไม่มีทางเข้าถึงหรือจับต้องอดีตที่เราศึกษาได้จริง ไม่มีใครรู้ว่าสิ่งที่เกิดขึ้นจริงคืออะไร มันคือการถกเถียงที่ไม่รู้จบ เพราะเราจับต้องหรือเค้นเอาจากอดีตไม่ได้

มนต์เสน่ห์ของประวัติศาสตร์ที่ผมไม่แน่ใจว่าจะต่างกับศาสตร์อื่นหรือเปล่าคือ เห็นได้ชัดว่าเราไม่มีทางเข้าถึงหรือจับต้องอดีตที่เราศึกษาได้จริง ไม่มีใครรู้ว่าสิ่งที่เกิดขึ้นจริงคืออะไร มันคือการถกเถียงที่ไม่รู้จบ เพราะเราจับต้องหรือเค้นเอาจากอดีตไม่ได้

ในสายตาคนทั่วไป ภาพจำของการเรียนประวัติศาสตร์ในระดับประถมถึงมัธยม คือการเรียนรู้และจดจำเหตุการณ์เรื่องราวในอดีต แล้วสำหรับระดับมหาวิทยาลัย การเรียนการสอนประวัติศาสตร์มีลักษณะอย่างไร

ขอออกตัวก่อนว่าผมไม่ทราบเรื่องการเรียนการสอนของมหาวิทยาลัยอื่นในประเทศไทย จุฬาฯ เองผมก็ทราบเฉพาะวิชาของผม เราไม่ค่อยมีโอกาสไปเยี่ยมคลาสอื่นๆ ต่างจากการเรียนการสอนในมหาวิทยาลัยโลกตะวันตกที่มีการไปเยี่ยมคลาสอื่นอยู่บ้าง นี่เป็นข้อเสียอย่างหนึ่งของการเรียนการสอนประวัติศาสตร์ของเรา  

ลักษณะการเรียนประวัติศาสตร์จะขึ้นอยู่กับธรรมชาติรายวิชา บางวิชาที่เป็นการให้ความรู้พื้นฐาน เช่น วิชาบังคับของคณะอักษรศาสตร์อย่างอารยธรรมตะวันตกซึ่งผมสอนอยู่ (ซึ่งก็กำลังจะไม่ใช่วิชาบังคับอีกต่อไปแล้ว) เป็นพื้นฐานสำหรับนิสิตเพื่อนำไปเรียนต่อวรรณคดี ปรัชญา ภาษาต่างๆ ควรรู้เกี่ยวกับโลกและวัฒนธรรมของคนต่างชาติ วิชาแบบนี้จะเป็น lecture-based 100% ไม่มีการอภิปรายถกเถียงกัน เพราะคลาสจำนวน 300 กว่าคน ถ้าอภิปรายเดี๋ยวจะสนุกเกินเหตุ – ในแง่ที่ว่าปั่นป่วน

ถ้าเป็นรายวิชา lecture-based ที่สูงขึ้นระดับหนึ่ง คนเรียน 30-40 คน อาจจะมีการถามตอบในคลาสบ้าง ส่วนใหญ่ผมจะยิงคำถามให้นิสิตคิดแล้วตอบในใจ เพราะจำนวนคนขนาดนี้ถ้าทุกคนตอบออกมาคงจะสนุกเหมือนกัน ประเด็นคือถ้าไม่ใช่คลาสใหญ่มากขนาด 300 คน ผมจะพยายามให้นิสิตเริ่มดีลกับหลักฐานชั้นต้นมากขึ้น เพราะธรรมชาติการศึกษาประวัติศาสตร์คือการถกเถียงกับหลักฐานชั้นต้นและงานวิจัยที่เกี่ยวข้อง ผมจะดึงงานวิจัยเข้ามาให้นิสิตอ่านหรือรู้จักชื่อ เพื่อที่อย่างน้อยเมื่อจบจากวิชานี้ไปแล้ว นิสิตจะได้รู้ชื่อหนังสือหรืองานวิจัยซึ่งเป็นงานพื้นฐานที่เขาควรจะอ่าน

คอร์สอีกแบบหนึ่งที่ผมสอนเป็นแบบสัมมนา ยกตัวอย่างวิชา Gender in European History รับนิสิตแค่ 10 คน เราจะอ่านบทความวิจัยและถกเถียงเกี่ยวกับงานวิจัยเหล่านั้นว่ามีข้อเสนอหรือข้อโต้แย้งที่น่าเชื่อถือไหม ใช้หลักฐานชั้นต้นอย่างไร ผมจะไม่สอนว่าคู่ผัวตัวเมียคู่แรกในประวัติศาสตร์โลกคือใคร เพราะไม่มีความจำเป็น เราจะเน้นการอภิปรายกัน

การเรียนการสอนประวัติศาสตร์ในระดับมหาวิทยาลัยจึงขึ้นอยู่กับธรรมชาติของคอร์ส ปริมาณนิสิต ความคาดหวังของผู้สอนและผู้เรียน โดยส่วนตัว การเรียนการสอนที่ผมพยายามทำคือให้นิสิตอ่านหลักฐานชั้นต้นด้วยตนเอง มันจะสะท้อนอยู่ในข้อสอบของผมที่เป็นแพตเทิร์นเดิมๆ คือให้อภิปรายประเด็นใดประเด็นหนึ่งที่ผมกำหนดให้ โดยใช้หลักฐานชั้นต้นและงานวิจัยที่เกี่ยวข้อง นั่นหมายความว่าผมถือว่ากระดาษคำตอบของนิสิตเป็นงานประวัติศาสตร์หนึ่งชิ้นที่นิสิตจะต้องถกเถียงกับหลักฐานชั้นต้น งานวิจัยที่เกี่ยวข้อง และกำหนดข้อเสนอของตัวเอง ผมจะไม่แฮปปี้ถ้านิสิตเขียนมาว่ามีอะไรเกิดขึ้นบ้าง เรื่องนั้นผมรู้แล้ว ผมสนใจว่านิสิตจะตีความอดีตได้น่าสนใจ ลุ่มลึกมากน้อยแค่ไหนภายในระยะเวลาอันจำกัด

นอกจากนี้ ผมจะพยายามย้ำกับนิสิตว่าสิ่งที่ผมสอนไม่ใช่ ‘ความจริง’ ว่า ‘อดีตเกิดอะไรขึ้น’ ผมสอนแบบนั้นไม่ได้เพราะมันผิดธรรมชาติของนักประวัติศาสตร์ สิ่งที่ผมสอนคือ ‘การตีความอดีตในแบบของผม’ ยกตัวอย่างเช่น เวลาผมสอนประวัติศาสตร์ยุโรปศตวรรษที่ 19 ธีมที่ผมใช้ในการออกแบบคอร์สคือห้องปฏิบัติการของความเป็นสมัยใหม่ (Laboratory of Modernity) เป็นคอนเซปต์ใหญ่ที่นักประวัติศาสตร์ยุโรปมักใช้อธิบายยุโรปในช่วงเวลานี้และผมคิดว่าน่าสนใจ ดังนั้นวิธีการสอนของผมจะไม่สอนว่าการปฏิวัติฝรั่งเศสเกิดอะไรขึ้นบ้าง แต่จะสอนว่าการปฏิวัติฝรั่งเศสมีลักษณะเป็น Laboratory of Modernity อย่างไร เลคเชอร์ก็จะแตกต่างออกไปจากการสอนประวัติศาสตร์เหตุการณ์นั่นเอง

 

จริงๆ แล้วการท่องจำสำคัญต่อการเรียนประวัติศาสตร์มากน้อยแค่ไหน

ไม่สำคัญเลย ถ้าคุณลืมคุณก็ไปค้น มันแค่ทำให้เรานึกบริบท (contextualize) ของเหตุการณ์บางอย่างได้อย่างเร็วๆ เท่านั้นเอง การนั่งท่องจำ พ.ศ. ค.ศ. ไปแทบไม่มีประโยชน์ ไม่จำยังได้เลย

 

แล้วมีอะไรที่นักเรียนประวัติศาสตร์ควรจดจำให้ได้บ้างไหม

หลักการของการใช้หลักฐานชั้นต้นและการถกเถียงกับงานวิจัยที่เกี่ยวข้อง ผมคิดว่านี่คือสปิริตของการศึกษาประวัติศาสตร์ แล้วมันไม่ได้ทำได้ง่ายๆ นะคุณ ผมคิดว่าคุณน่าจะคุยหรือรู้จักกับนักประวัติศาสตร์มาหลายคนในชีวิต ไม่รู้ว่าเขาย้ำเรื่องนี้กับคุณบ้างหรือเปล่า เขาอาจจะคิดว่ามันธรรมดาจนไม่ต้องย้ำก็ได้ แต่ผมคิดว่าคนไทยจำนวนมากไม่ได้คิดแบบนี้ เราต้องให้ความสำคัญกับหลักฐานชั้นต้นและงานวิจัยที่เกี่ยวข้องทั้งสองอย่าง ขาดอย่างใดอย่างหนึ่งไม่ได้

 

หากกล่าวถึงหลักสูตรเนื้อหา มหาวิทยาลัยของไทย หรืออย่างน้อยก็จุฬาฯ ในปัจจุบันให้ความสำคัญกับอะไร และอาจารย์มองว่ามาถูกทางแล้วหรือยัง 

เคยมีการปรารภว่าอยากให้เกลี่ยเนื้อหาของคอร์สต่างๆ เป็นไปในลักษณะเลิกศึกษาประวัติศาสตร์โดยยึดตามพื้นที่หรือภูมิภาค (based on area study) เราอาจจะเลิกศึกษาประวัติศาสตร์ยุโรป เอเชีย แต่ศึกษาเป็นธีม แทน เช่น ประวัติศาสตร์มหานคร ประวัติศาสตร์อารมณ์ ประวัติศาสตร์เพศสภาพ บางมหาวิทยาลัยก็มีรายวิชาประวัติศาสตร์ภัยพิบัติ ประวัติศาสตร์โรคระบาด ประวัติศาสตร์ภาพยนตร์ และล่าสุด ผมเคยได้ยินว่าบางภาควิชาอยากออกแบบหลักสูตรไปในทาง global history

ส่วนตัวผมคิดว่าการกำหนดให้หลักสูตรเน้นไปทางใดทางหนึ่งไม่ได้ผิดถูกดีเลวในตัวมันเอง แต่ขึ้นอยู่กับปัจจัยเอื้ออำนวยว่าเราพร้อมทำเช่นนั้นหรือไม่ ถ้าบอกว่าจะออกแบบหลักสูตรไปในทาง global history เพราะเทรนด์โลกกำลังมา พอผ่านไป 5 ปี เทรนด์เปลี่ยน เราพร้อมปรับหลักสูตรอีกโดยไม่มีที่สิ้นสุดไหม แล้วถ้าเราปักหมุดว่าจะเดินไปในทิศทางนี้ เราอาจจะสูญเสียความหลากหลายทางวิชาการไป มันคุ้มหรือเปล่า ถ้าสถาบันวิชาการคิดว่าคุ้ม มันก็คงคุ้ม แต่ด้วยความเคารพ ถ้าการศึกษาระดับปริญญาตรีคือการให้ความรู้พื้นฐาน การเกลี่ยไปทางหนึ่งทางใดจนสูญเสียความหลากหลายทางวิชาการ ผมอาจจะยังไม่ตกลงปลงใจด้วยนัก

อีกประเด็นหนึ่งคือไม่ว่าเราจะสอนประวัติศาสตร์แบบยึดตามพื้นที่ (area-based) หรือตามธีม (theme-based) ก็ตาม สิ่งสำคัญคืออาจารย์ผู้สอนมีความรู้ความเชี่ยวชาญในหัวข้อนั้นๆ จริงไหม ผมเข้าใจเรื่องข้อจำกัดด้านทรัพยากรบุคคล อัตราจ้างต่างๆ ในวงวิชาการไทย แต่ผู้สอนต้องรู้ถึงศักยภาพของตัวเอง ถ้าผมถูกมอบหมายให้สอนวิชาหญิงและชายในสังคมเอเชีย ผมจะไม่รับสอน เพราะผมไม่มีความรู้เกี่ยวกับสังคมเอเชีย ถ้าผมไปสอนเท่ากับผมกล่าวเท็จต่อหน้านักศึกษา

 

หลักสูตรการศึกษาประวัติศาสตร์ที่แบ่งตามพื้นที่และช่วงเวลาแบบในปัจจุบันมีปัญหาอย่างไร ทำไมในวงวิชาการจึงมีการปรารภว่าอยากปรับปรุง

มันไม่ได้เป็นปัญหาเลย ไม่มีอะไรผิด ถ้าไปดูในโลกตะวันตกทุกวันนี้ก็ยังมีรายวิชาพื้นฐานยึดตามพื้นที่และแบ่งเวลาเป็นยุคๆ อยู่ ผมก็ไม่เข้าใจว่าทำไมมีนักวิชาการไทยบางส่วนมองว่ามันเป็นปัญหา

ในสังคมไทย การที่เราจะจัดหลักสูตรลักษณะใดควรพิจารณาว่าคนที่จบระดับมัธยมปลายมาหาเรา เขาไม่รู้ว่าประวัติศาสตร์คืออะไร เพราะสิ่งที่เขาเรียนมาตั้งแต่อนุบาลถึงมัธยมปลายไม่ใช่ประวัติศาสตร์ ฉะนั้นเราจำเป็นต้องให้ความรู้พื้นฐาน ซึ่งการสอนพื้นฐานในรูปของประวัติศาสตร์แบ่งตามพื้นที่ (area-based) ก็ถือว่าเป็นบทนำที่ดี หลังจากนั้น การศึกษาในระดับที่สูงขึ้นค่อยศึกษาประวัติศาสตร์แบบธีม (theme-based) ที่ผู้สอนมีความรู้เรื่องนั้นจริง หรือศึกษาค้นคว้าเพิ่มเติมจากหลักฐานชั้นต้นและงานวิจัยที่เกี่ยวข้องมา ถ้าอาจารย์ประวัติศาสตร์รายวิชาใดไม่มีการทำงานกับสองสิ่งนี้ ผมถือว่านั่นคือการทรยศต่อวิชาชีพตนเอง 

 

 

ถ้าพิจารณาว่าผู้เรียนของเราไม่มีพื้นฐานความรู้เรื่องประวัติศาสตร์จริงๆ เลย เราจำเป็นต้องมีคอร์สปูพื้นฐาน เช่น วิธีวิทยาทางประวัติศาสตร์ เพิ่มเติมในระดับมหาวิทยาลัยไทยไหม

เท่าที่ผมทราบ มหาวิทยาลัยหลายแห่งในประเทศไทยรวมถึงในโลกตะวันตก มีรายวิชาระเบียบวิธีวิจัย ความคิดและวิธีการทางประวัติศาสตร์โดยเฉพาะ ที่จุฬาฯ เองก็มี ซึ่งถามว่าควรมีไหม มีเป็นวิชาแยกออกไปต่างหากก็ได้ หรือจะบูรณาการไปกับรายวิชาที่มีอยู่แล้วก็ได้ สามารถจัดการเรียนการสอนได้ทั้งสองแบบ

ในสังคมไทย การที่เราจะจัดหลักสูตรลักษณะใดควรพิจารณาว่าคนที่จบระดับมัธยมปลายมาหาเรา เขาไม่รู้ว่าประวัติศาสตร์คืออะไร เพราะสิ่งที่เขาเรียนมาตั้งแต่อนุบาลถึงมัธยมปลายไม่ใช่ประวัติศาสตร์

แนวโน้มนักศึกษาที่มาเรียนเอกประวัติศาสตร์ตอนนี้เป็นอย่างไร คนที่เข้ามาเรียนมีความคาดหวังอะไรบ้าง

ผมเป็นอาจารย์มา 7-8 ปี ปีแรกที่ผมเป็นอาจารย์มีนิสิตปริญญาตรีเอกประวัติศาสตร์ 22 คน เป็นปีที่อาจารย์ทุกคนเซอร์ไพรส์ แล้วปีถัดๆ มาก็เหลือแค่ 3 คน ตัวเลขคนที่มาเรียนระดับปริญญาตรีมีไม่มาก ปริญญาโทยิ่งน้อยมาก ปริมาณแทบไม่ต่างจากเดิม

เด็กเอกประวัติศาสตร์ของจุฬาฯ ถือว่าน้อยเมื่อเทียบกับมหาวิทยาลัยอื่นๆ อย่างในเมืองนอก ประเทศเยอรมนีมีคณะประวัติศาสตร์ ในอังกฤษ อเมริกา คนก็เรียนเยอะ ผมเดาว่าเพราะเมืองนอกเรียนประวัติศาสตร์ ฝึกคิดถกเถียง อ่านหลักฐานชั้นต้นกันตั้งแต่ประถม มัธยม แต่เมืองไทยไม่ใช่ ประวัติศาสตร์แบบที่เรียนในโรงเรียนไทยทำให้ไม่มีใครอยากเรียนต่อ ตัวผมตอนเรียนปริญญาตรียังไม่เลือกเรียนประวัติศาสตร์เลย เลือกเอกภาษาเยอรมัน แล้วค่อยไปเรียนต่อประวัติศาสตร์ตอนปริญญาโท

คนที่เข้ามาเรียนเอกประวัติศาสตร์ระดับปริญญาตรีบางส่วนก็เรียนไปแบบแกนๆ เพราะเข้าเอกอื่นไม่ได้ (โครงสร้างการเลือกวิชาเอกมีทั้งภาควิชาที่กำหนดให้ต้องผ่านเกณฑ์คะแนนในวิชาพื้นฐาน และภาควิชาที่สามารถเลือกเรียนได้เลย) หลายคนบอกว่ามาเรียนแล้วก็ไม่รู้จะเอาไปทำอะไร เรียนจบไปก็กลัวไม่มีงานทำ ซึ่งอันที่จริงเรียนอะไรก็อาจเสี่ยงต่อภาวะตกงานได้ทั้งนั้น ผมจึงไม่คิดว่านี่เป็นคำอธิบายที่ดีว่าทำไมไม่ควรมาเรียนประวัติศาสตร์

 

เราควรทำอย่างไรให้การเรียนการสอนประวัติศาสตร์ในไทย ‘เซ็กซี่’ ขึ้น มีคนระดับหัวกะทิสนใจมาเรียนเพิ่มขึ้น

ผมไม่มายด์ว่าคนเรียนประวัติศาสตร์จะมากหรือน้อย ในต่างประเทศมีสาขาวิชา Egyptology เรียนมัมมี่กันอยู่ 1-2 คน อาจารย์เขาก็สอนได้ หรือที่มิวนิคในเยอรมนี มีนักศึกษาเอกประวัติศาสตร์ 500 กว่าคน แต่เรียนทิเบตศึกษากัน 5-6 คน ก็ไม่เห็นจะเดือดร้อน สำหรับผม ผมจะไม่ทำอะไรเพื่อให้มีปริมาณนิสิตเพิ่มขึ้น เพราะนั่นไม่ใช่ปัญหา

แต่ผมอยากให้สังคมเข้าใจว่าประวัติศาสตร์คืออะไร อยากให้คนเข้าใจว่าประวัติศาสตร์ทำให้คนได้คิด และอยากให้คนได้สัมผัสกับมนต์เสน่ห์สำคัญของประวัติศาสตร์คือการที่เราจะไม่มีทางรู้ว่าคำตอบจริงๆ ของมันคืออะไร เพราะเราเข้าไม่ถึงอดีต ฉะนั้นไม่ต้องกลัวเลยว่าสิ่งที่เราพูดไปจะผิดหรือถูก เราไม่ได้วัดกันตรงนั้น แต่วัดกันที่คุณมีระบบเหตุผล ความสามารถในการอ้างเหตุผลและโน้มน้าวผู้อื่นได้มากน้อยแค่ไหนอย่างไร เมื่อคุณเรียนและได้ทักษะการฟัง การอ้างเหตุผล และโน้มน้าวเหล่านี้ ผมเชื่อว่าคุณจะสามารถนำไปต่อยอดทำงานได้แทบทุกอย่าง

 

สังคมไทยอาจจะมองไม่ค่อยเห็นภาพว่าเรียนจบประวัติศาสตร์แล้วจะไปทำงานอะไรต่อนอกจากเป็นนักประวัติศาสตร์ จริงๆ แล้วที่ทางของนักเรียนประวัติศาสตร์หลังเรียนจบอยู่ตรงไหนในโลกของการทำงาน  

ถ้าเราตีความหมายอย่างแคบว่าเรียนประวัติศาสตร์ต้องเป็นนักประวัติศาสตร์ ผลิตผลงานผ่านการสนทนากับหลักฐานชั้นต้นและงานวิจัยที่เกี่ยวข้อง นั่นเป็นสายงานนักวิชาการ คนเข้าสู่สายอาชีพนี้ได้มีน้อย เพราะมีปัจจัยต่างๆ อย่างตำแหน่งงานที่เปิดรับจำกัด แต่เราสามารถทำงานอย่างอื่นได้จากการเรียนประวัติศาสตร์

ผมขอยกตัวอย่างเคสหนึ่งที่ผมชอบมาก เพื่อนสนิทชาวเยอรมันของผมคนหนึ่งเรียนประวัติศาสตร์เพราะเขาสนุกในการถกเถียงกับงานวิจัยและหลักฐานชั้นต้น แต่อย่างไรคนเราก็ต้องทำมาหากิน ทุกวันนี้เขาทำงานในมูลนิธิการเมืองที่เยอรมนี และร่วมกับเพื่อนก่อตั้งบริษัทรับจัดงานอีเวนต์ทางประวัติศาสตร์ทำงานควบคู่กัน ในยุคสมัยที่เป็น Global Village โลกแคบลง เกิดการเดินทางพบปะของผู้คนหลากหลายชาติพันธุ์ ทำให้เกิดคำถามสำคัญว่า Who are we? เราเป็นใคร? อัตลักษณ์ของเราคืออะไร? รากเหง้าของเรามาจากไหน? เพื่อนผมกลุ่มนี้ก็ไปรับงานในหมู่บ้านเยอรมันหลายแห่ง ใช้ความรู้ด้านประวัติศาสตร์จัดเป็นเทศกาลประจำหมู่บ้าน มีนิทรรศการ งานเต้นรำ ทำแคมเปญโฆษณา หรือเขียน proposal ของบประมาณสนับสนุนจากองค์กรท้องถิ่น

นอกจากนี้ บริษัทและองค์กรหลายแห่งที่อยู่มานาน บางแห่งอยู่มาร่วมร้อยปี การเขียนประวัติองค์กรก็เป็นส่วนหนึ่งของการ PR องค์กรที่คนเรียนประวัติศาสตร์สามารถทำได้ อีกตัวอย่างหนึ่งคือ Ulinka Rublack นักประวัติศาสตร์ที่ดังมากในอังกฤษ หลังจากเขียนหนังสือ The Astronomer and the Witch: Johannes Kepler’s Fight for his Mother ศึกษาคดีที่โยฮันเนส เคปเลอร์ นักดาราศาสตร์ช่วยโต้แย้งแทนแม่ของเขาผู้ถูกกล่าวหาว่าเป็นแม่มด กลายเป็นหนังสือวิชาการชั้นเลิศ ก็มีทีมโอเปร่ามาอ่านแล้วขอนำไปสร้างเป็นละครเวทีโอเปร่า

ประเด็นคือนักศึกษาที่จบประวัติศาสตร์จะสามารถค้นคว้า เขียนงานทางประวัติศาสตร์ได้ สิ่งเหล่านี้อาจนำไปเสนอกับเพื่อนข้ามศาสตร์ เช่น ร่วมกันเขียนประวัติศาสตร์เป็นนวนิยาย สร้างละครเวที ละครโทรทัศน์ที่มีคุณภาพ หรือทำรายการวิทยุได้ ขึ้นอยู่กับว่าคุณจะมีจินตนาการอย่างไร

ขณะนี้ในโลกตะวันตกมีศาสตร์สาขาใหม่ที่เปิดเป็นรายวิชาสอนคือ Public History ประยุกต์งานวิชาการประวัติศาสตร์เพื่อสื่อสารสู่สาธารณะ เช่น ครูของผม Amanda Vickery เขียนหนังสือ Behind Closed Doors: At Home in Georgian England ศึกษาว่าคนอังกฤษในศตวรรษที่ 18 อยู่กันอย่างไร โดยมองในแง่ประวัติศาสตร์เพศสภาพ ประวัติศาสตร์สถาปัตยกรรม (architectural history) และ material culture ทีมงาน BBC อังกฤษติดต่อให้ Vickery ปรับหนังสือเล่มนี้เพื่อทำเป็นสารคดีจำนวน 3 ตอน นี่ก็เป็นการสื่อสารงานวิชาการแบบหนึ่ง

ต่อให้คุณไม่สามารถทำงานวิจัยที่เข้มข้นได้ด้วยตัวเอง แต่เมื่อคุณเป็นนักประวัติศาสตร์ เวลาคุณเจองานประวัติศาสตร์ชิ้นหนึ่งแล้วคุณอยากสื่อสารกับสาธารณะ ความเป็นนักประวัติศาสตร์มืออาชีพของคุณจะทำให้รู้ว่าหนังสือเล่มนั้นเกี่ยวกับอะไร ดีเบตประเด็นอะไร และควรจะสื่อสารอะไร

 

ฟังดูแล้วเหมือนการประยุกต์ทักษะและความรู้ทางประวัติศาสตร์ให้เข้าถึงง่ายในวงกว้างจะเป็นเรื่องสำคัญ ถ้าอย่างนั้นเราควรเพิ่มรายวิชาที่ช่วยเสริมทักษะทางวิชาชีพ เช่น วิชาเขียนเพื่อสื่อสารประวัติศาสตร์ ฯลฯ ลงในหลักสูตรของนักเรียนประวัติศาสตร์ไหม

ขึ้นอยู่กับว่าสถาบันการศึกษาต้องการออกแบบหลักสูตรออกมาเพื่อวัตถุประสงค์ใด ผมไม่คิดว่าการออกแบบหลักสูตรให้มีวิชาทักษะประวัติศาสตร์เชิงวิชาชีพจะเป็นปัญหาในตัวมันเอง สอนได้ ไม่มีปัญหา แต่ต้องคิดกับมันอย่างจริงจัง ทุ่มเทให้มันอย่างจริงจัง โดยอาจารย์ควรเป็นผู้รู้หรือได้แสวงหาความรู้เพิ่มเติมมาแล้ว จะเปิดวิชาประวัติศาสตร์เพื่อการท่องเที่ยวก็ดี เพื่ออื่นๆ ก็ดี ในแง่หนึ่งมันอาจทำให้ประวัติศาสตร์กลายเป็นวิชาที่มีชีวิตชีวา มีวิวัฒนาการผ่าเหล่าผ่ากอ พัฒนาตัวมันเองก็ได้

 

ทุกวันนี้การเรียน ‘ข้ามศาสตร์’ กำลังเป็นเทรนด์ การเรียนประวัติศาสตร์ควรจะต้อง ‘ข้ามศาสตร์’ ด้วยไหม และศาสตร์แบบใดช่วยส่งเสริมการเรียนประวัติศาสตร์หรือการประกอบอาชีพนักประวัติศาสตร์ได้บ้าง

การเรียนข้ามศาสตร์เพื่อส่งเสริมเกื้อกูลการศึกษาประวัติศาสตร์มีทั้งในแง่วิชาการและการทำมาหากิน เรื่องการส่งเสริมทางวิชาการ ศาสตร์ที่ผมคิดว่าท้าทายและแม้แต่ในโลกตะวันตกก็ยังมีคนศึกษาน้อยเมื่อเทียบกับประวัติศาสตร์อื่นๆ คือ material culture ซึ่งเริ่มศึกษากันจริงจังหลังปี 2000 ถึงตอนนี้ก็ 20 ปี เป็นการศึกษาเสื้อผ้า แฟชัน ของเล่น เพื่อเข้าใจสังคมมนุษย์ ปัญหาหนึ่งที่นักประวัติศาสตร์อย่างเราๆ มักเจอคือเราโตมากับเอกสารประเภทลายลักษณ์อักษร พอเจออะไรบางอย่างที่ไม่ใช่ลายลักษณ์อักษร นักประวัติศาสตร์จะเริ่มไปไม่เป็น เราจะไม่สามารถเล่าเรื่องราวได้  เพราะวัตถุหนึ่งชิ้นไม่สามารถเล่าเรื่องราวได้ด้วยตัวมันเอง สมมติว่าเห็นเสื้อผ้าไหมหนึ่งชุด คุณจะเก็บข้อมูลจากเสื้อผ้าเพื่อเล่าเรื่องไม่ได้ ต้องเก็บข้อมูลอื่นๆ ที่แวดล้อมเสื้อผ้ามาประกอบกัน ทุกวันนี้จึงเกิดดีเบตในวงวิชาการทางวิธีวิทยาว่านักประวัติศาสตร์จะเล่าเรื่องจากวัตถุเพียงอย่างเดียวได้มากน้อยแค่ไหน เป็นความท้าทายในเชิงวิธีการศึกษา

ส่วนเรื่องเรียนเพื่อประกอบวิชาชีพ ขึ้นอยู่กับว่าคุณมีความสนใจในงานแบบไหน ถ้าคุณสนใจงานแบบนักวิชาการ อาจจะเรียนประวัติศาสตร์กับรัฐศาสตร์ มานุษยวิทยา หรือวรรณคดี แต่ถ้าคุณสนใจสื่อสารประวัติศาสตร์ต่อสาธารณะ จะเรียนไปทางนิเทศศาสตร์ก็ not bad in itself

 

สุดท้ายนี้ สังคมแบบไหนที่การศึกษาประวัติศาสตร์จะเฟื่องฟูได้

สังคมที่ชอบคิด คิดอย่างมีสติ คิดถกเถียง และมีเหตุมีผล ฟังดูเหมือนเป็นเรื่องเบสิก แต่ผมไม่แน่ใจนักว่าเรากำลังอยู่ในสังคมแบบนั้น

อุปสรรคสำคัญสองประการที่ทำให้เราอาจไม่มีสังคมแบบนั้น คือ หนึ่ง เราอ่านแคบ ไม่กว้างขวาง เลือกอ่านเฉพาะงานที่ตรงตาม agenda หรือ ideology ของเรา

สอง สังคมแบบที่ผมว่านั้น จะเกิดขึ้นไม่ได้ ถ้าเราไม่ยอมรับการถกเถียงทางวิชาการที่แท้จริง ตัวอย่างเช่น ในงานสัมมนาทางประวัติศาสตร์ เราไม่ควรเชิญแต่ discussants ที่เป็นคนกันเอง แต่ควรเชิญผู้เชี่ยวชาญในหัวข้อนั้นๆ อย่างจริงจัง การแลกเปลี่ยน รวมถึงการตั้งคำถามในวงสัมมนาวิชาการ ไม่ควรไปคิดว่าเมื่อมีคนถามเรา เขากำลังไม่เห็นด้วยกับเรา และที่สำคัญที่สุดอย่าได้สร้างบรรยากาศของความเป็นศัตรูทางวิชาการแก่กัน เมื่อใดที่มีคนรู้สึกว่าเขาไม่กล้าเข้าไปในวงสัมมนานั้นๆ เพราะกลัวผู้จัดงาน กลัววิทยากร กลัวทีมผู้ฟัง ผมคิดว่านั่นเป็นเรื่องน่าเศร้าอย่างยิ่งที่สุดเท่าที่จะเกิดขึ้นได้ในวงวิชาการของประเทศหนึ่งๆ

ฉะนั้น สังคมที่จะทำให้เกิดความงอกงามทางปัญญาคือสังคมที่ชอบถกเถียงอย่างแท้จริง เราควรคุยแลกเปลี่ยน เห็นต่างไปจากความเห็นทางวิชาการของเพื่อนเรา ของครู ของคนที่มีอุดมการณ์ทางการเมืองเดียวกันได้ แต่ในสังคมไทย ผมยังสัมผัสไม่ได้ถึงบรรยากาศนั้น

What’s in your bag?

 

เปิดกระเป๋านักศึกษาประวัติศาสตร์ อุปกรณ์แบบไหนที่ต้องพกพา วิธีการแบบไหนและเครื่องมืออะไรที่จะช่วยเปิดโลกของผู้ที่ศึกษาประวัติศาตร์ และนี่คือคำแนะนำจากตุลย์ อิศรางกูร ณ อยุธยา

ของชิ้นที่ 1 

“หนังสือ”

The Gentleman’s Daughter: Women’s Lives in Georgian England โดย Amanda Vickery

Amanda Vickery เป็นนักประวัติศาสตร์เพศสภาพอันดับต้นๆ ของโลก และหนังสือเล่มนี้ถือเป็นงานคลาสสิกในวงการประวัติศาสตร์เพศสภาพในโลกตะวันตก เห็นได้จากบทความเกี่ยวกับเรื่องเพศมักจะอ้างหนังสือเล่มนี้อย่างสม่ำเสมอ หนังสือเล่มนี้ทำให้ผมเข้าใจว่าเพศสภาพคืออะไร แต่เดิมเวลาเราศึกษาเรื่องเพศมักมองว่าผู้ชายกดขี่ผู้หญิง ผู้หญิงเป็นเหยื่อของปิตาธิปไตย แต่ผู้เขียนถามเราว่าถ้าปิตาธิปไตยมีปัญหา ทำไมผู้หญิงอังกฤษในศตวรรษที่ 18 ถึงอยากแต่งงานและอยากเข้าไปเป็นส่วนหนึ่งของปิตาธิปไตยนั้น

Vickery ไม่ได้บอกว่าปิตาธิปไตยดีหรือเลว แต่ปิตาธิปไตยคือกรอบในการวิเคราะห์สังคม เป็นโครงสร้างที่มีอยู่ในสังคม ถ้าเราเชื่อในความสามารถ (agency) ของบุคคล เราควรจะดูว่าผู้หญิงเอาตัวรอดอย่างไร ต่อรองอำนาจอย่างไรในกรอบปิตาธิปไตย ด้วยวิธีการตั้งคำถามแบบนี้เท่านั้น เราถึงจะยอมรับความสามารถของผู้หญิงได้ และนั่นทำให้หนังสือ The Gentleman’s Daughter ได้รับรางวัล 3 รางวัล เพราะมันเปิดเผยให้เห็นถึงความคิดสร้างสรรค์ของผู้หญิงในศตวรรษที่ 18 เรื่องการเอาตัวรอดในระบบสังคมชายเป็นใหญ่

The Allure of the Archives โดย Arlette Farge

หนังสือเล่มเล็กๆ ชื่อว่ามนต์เสน่ห์ของหอจดหมายเหตุเล่มนี้ เมื่ออ่านแล้วคุณจะเห็นแพสชันของการเป็นนักประวัติศาสตร์ เพราะเนื้อหาเล่าถึงการทำงานวิชาการสลับกับประสบการณ์ชีวิตที่ Farge เข้าไปเจอในหอจดหมายเหตุ เช่น ต้องไปแย่งที่นั่งกับคนอื่น เปิดเอกสารออกมาอ่านแล้วร้องไห้ หรืออ่านเอกสารในหอจดหมายเหตุฝรั่งเศสแล้วจู่ๆ เกิดไฟดับ งานของเขาไม่ได้ทำให้เราเห็นแค่เลือดเนื้อของคนที่ดับสูญไปแล้ว แต่ยังเห็นเลือดเนื้อของนักประวัติศาสตร์ด้วย ผมคิดว่านั่นเป็นสปิริตหนึ่งของการเรียนประวัติศาสตร์ คือการยืนอยู่รอยเท้าของคนในอดีต เข้าใจว่าเขาคิดและทำด้วยเหตุผลอะไร

Spartacus (1960) อ่านคู่กับหนังสือ Slaves on Screen ของ Natalie Zemon Davis

Spartacus เป็นภาพยนตร์ที่ศึกษากบฎทาสในโรมัน น่าสนใจเพราะผู้กำกับ (Stanley Kubrick) เป็นฝ่ายซ้ายที่สนับสนุนคนรากหญ้า ชนชั้นที่ถูกกดขี่ ผู้กำกับคนนี้ได้ศึกษาหลักฐานชั้นต้นเกี่ยวกับกบฎทาสในสมัยโรมันและศึกษาการตีความกบฎทาส Spatacus ของนักประวัติศาสตร์คนอื่น นั่นหมายความว่าภาพยนตร์เรื่องนี้คืองานทางประวัติศาสตร์ชิ้นหนึ่งที่ปรากฏอยู่ในรูปแบบของแผ่นฟิล์ม

ส่วนหนังสือเรื่อง Slaves on Screen ของ Natalie Zemon Davis ซึ่งเป็นนักประวัติศาสตร์ระดับ Creme de la Creme ของประวัติศาสตร์วัฒนธรรม ศึกษาภาพยนตร์ 5 เรื่องที่เกี่ยวกับทาส โดยถือว่าผู้กำกับเป็นนักประวัติศาสตร์ และดูว่าแต่ละคนมีวิธีการเขียนประวัติศาสตร์อย่างไร

หนังสือเล่มนี้เป็นที่ถกเถียงกันมาก ฝ่ายนักประวัติศาสตร์ค่อนข้างชื่นชมเพราะมันเป็นการมองว่ามีคนกลุ่มอื่นที่เขียนประวัติศาสตร์โดยไม่ใช้รูปแบบร้อยแก้ว แต่นักภาพยนตร์ศึกษาค่อนข้างตั้งคำถามกับหนังสือเล่มนี้ โดยมองว่ามันกำลังทำหน้าที่จับผิดผู้กำกับภาพยนตร์ว่าทำเรื่องออกมาไม่ตรงตามประวัติศาสตร์

ถ้าใครสนใจเพิ่มเติม ผมขอแถมวิทยานิพนธ์ของนิสิตปริญญาโทของผม เรื่อง ‘ภาพยนตร์ไทยกับการสร้างการรับรู้ปัญหาสังคม ทศวรรษที่ 2510-2530‘ ใช้วิธีการศึกษาคล้ายกับ Natalie Davis คือศึกษาภาพยนตร์ปัญหาสังคมแล้วดูว่าผู้กำกับในช่วงเวลานั้นเขียนปัญหาสังคมลงบนแผ่นฟิล์มอย่างไร เท่ากับถือว่าผู้กำกับเป็นนักเคลื่อนไหว เป็นปัญญาชนคนหนึ่ง

ของชิ้นที่ 2 

“เว็บไซต์”

Old Bailey collection online

เว็บไซต์นี้รวบรวมคดีอาญาที่ขึ้นศาลในลอนดอน ตั้งแต่ปลายศตวรรษที่ 17 จนกระทั่งถึงต้นศตวรรษที่ 20 เป็นโปรเจ็กต์ที่ลงทุนประมาณ 40 ล้านปอนด์ในการพัฒนาฐานข้อมูล มี search engine และมี publication เกี่ยวกับการศึกษาคดีความออกมาอย่างต่อเนื่อง ปัญหาอย่างเดียวคืออ่านเสร็จตาอาจจะบอด เพราะมันมหาศาลมาก คุณสามารถค้นหาข้อมูลจากคีย์เวิร์ดเพื่อใช้ทำงานศึกษาได้ล้านแปด ตอนผมทำวิทยานิพนธ์ปริญญาโทเรื่องวัฒนธรรมช้อปปิ้งของคนอังกฤษ ค้นพบว่าคนอังกฤษสมัยศตวรรษที่ 18 เวลาเดินเข้าไปในร้านค้า คุณต้องดื่มเบียร์ก่อน เพราะในเอกสารบันทึกคดีขโมยของในร้าน (shoplifting) ปรากฏแพตเทิร์นการช้อปปิ้งว่าเมื่อเข้าไปในร้าน คนต้องโอภาปราศรัยก่อน จะซื้อของเลยคือผิดมารยาท นำไปสู่ข้อสรุปของผมว่าการช้อปปิ้งของคนอังกฤษในศตวรรษที่ 18 คือ School of Politeness หรือการฝึกมารยาทเพื่อเป็นผู้ดี

ในเมืองไทยเรามีงานศึกษาจากคดีความน้อย หลักฐานข้อมูลเราก็น้อย ผมคิดว่านี่จึงเป็นเว็บไซต์ที่น่าสนใจ และอยากให้ประเทศไทยมีฐานข้อมูลแบบนี้อีกเยอะๆ

ของชิ้นที่ 3 

“แว่นขยาย” 

ผมคิดว่าความสุขอย่างหนึ่งของการเป็นนักเรียนประวัติศาสตร์คือการที่เราได้ทำงานกับหอจดหมายเหตุ ส่วนตัวผมสนใจเอกสารประเภทจดหมาย ไดอารีที่เขียนด้วยลายมือคนในยุคสมัยที่เรายังไม่มีเครื่องพิมพ์ดีดหรือคอมพิวเตอร์ ผมอ่านไดอารี จดหมายเหล่านี้แล้วบางทีลายมือของเขาตัวเล็ก คนเขียนอาจจะขีดฆ่าหรือมีร่องรอยต่างๆ หลายครั้งเราต้องใช้แว่นขยายส่องเข้าไปในเอกสารเพราะรู้สึกว่าตรงนี้มันสำคัญ เราลุ้นว่าจะได้ข้อมูลอะไร อาจจะได้เจอข้อมูลที่น่าสนใจ เป็นข้อความที่ทำให้เราน้ำตาไหล หรือเป็นความรู้สึก ‘เวรเอ๊ย! ไม่เจออะไรเลย’ ก็ได้

มันมีทั้งความรู้สึกคาดหวัง สมหวัง ผิดหวัง ดีใจ เศร้า หัวเราะไปกับสิ่งที่คุณเจอ และมันทำให้เกิดโมเมนต์ที่ผมเรียกว่าเรากำลังก้าวเข้าไปยืนอยู่บนจุดที่คนในอดีตเคยยืน ผมเคยเห็นรอยหยดน้ำในเอกสารจากศตวรรษที่ 18 ซึ่งไม่รู้ว่ามันคือน้ำอะไร อาจจะเป็นน้ำลาย เหงื่อ หมึก แต่มันเต็มไปด้วยเลือดเนื้อและความรู้สึกของคนสมัยนั้นที่ข้ามกาลเวลามาถึงคนที่ศึกษาในปัจจุบัน เพราะฉะนั้นแว่นขยายจึงเป็น emotional object ของนักประวัติศาสตร์

เรื่อง: ณรจญา ตัญจพัฒน์กุล

กองบรรณาธิการ The 101.World - อดีตนักเรียนการเมือง เติบโตมาในโลกของความคิด แต่อยากออกมาวิ่งเล่นในโลกจริงบ้าง หลงใหลในโลกความรู้ สนใจการเมืองโลก สังคม และประวัติศาสตร์ เชื่อว่าความรู้เป็นเรื่องของทุกคน และฝันอยากผลิตความรู้ออกมาบ้างในอนาคต

เรื่อง: ภาวรรณ ธนาเลิศสมบูรณ์

จบการศึกษาคณะนิเทศศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เป็นนักอ่านและนักเขียนที่ชอบใช้เวลาว่างวาดรูป และค้นหาเรื่องราวใหม่ๆ มาบอกเล่าแก่คนอื่นๆ

ภาพถ่าย: กมลชนก คัชมาตย์

จบการศึกษาจากคณะวารสารศาสตร์และสื่อสารมวลชน มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ รักแมว ภาพถ่าย และภาพเคลื่อนไหวทุกชนิด สนใจการนำประเด็นทางสังคมมาทำเป็นสื่อสร้างสรรค์ชนิดใหม่ๆ

ครีเอทีฟ: ธนกร เนตรจอมไพร

จบจากคณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ ภาควิชานิเทศศิลป์ ลาดกระบัง เป็นครีเอทีฟที่ใช้หัวคิดนิดหน่อย แต่อร่อยเฉย…เอาจริงๆ ใช้หัวสมองคิดนิดหน่อย แต่ที่ใช้บ่อยคือหัวใจ

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • Always Active

Save