fbpx

20 ผลงานใหม่ ยอดอ่านสูงสุดของ The101.World เดือนกรกฎาคม 2565

Spotlight ประจำเดือนกรกฎาคม 2565

ปฏิรูปการเรียนการสอนนิติศาสตร์ สร้างนักกฎหมายไทยในโลกสมัยใหม่

ช่วงทศวรรษที่ผ่านมา ระบบยุติธรรมของไทยถูกตั้งคำถามจากสังคมว่าเป็นกระบวนการหลักที่ขับเคลื่อนสังคมไทยให้เป็นประชาธิปไตยและก้าวหน้าได้หรือไม่  และจะสร้างหลักนิติธรรมให้เกิดขึ้นได้จริงเพียงไร

หัวใจสำคัญในการสร้างหลักนิติธรรมให้ลงหลักปักฐานในสังคมไทยและการปฏิรูประบบยุติธรรมไทยให้ยุติธรรมคือ การยกเครื่องการเรียนการสอนนิติศาสตร์ใหม่ ทั้งในรั้วมหาวิทยาลัยและในระดับเนติบัณฑิต รวมถึงการพัฒนาความรู้และทักษะของผู้ประกอบวิชาชีพกฎหมาย

อะไรคือข้อเสนอการปฏิรูปการศึกษานิติศาสตร์ของไทย?

คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ร่วมกับ 101 ชวนคุณสำรวจแนวทางการปฏิรูประบบการเรียนการสอนนิติศาสตร์ เพื่อให้สอดคล้องกับการจัดการศึกษานิติศาสตร์ระดับสากล ตั้งคำถามกับระบบการเรียนนิติศาสตร์ของไทยใน ‘โลกเก่า’ ที่มุ่งเตรียมความพร้อมให้นิสิตนักศึกษาสู่วิชาชีพใดวิชาชีพหนึ่งโดยเฉพาะ สู่การปฏิรูปกระบวนการสร้างนักกฎหมายให้เหมาะสมกับ ‘โลกใหม่’ เท่าทันและรอบด้านต่อระบบนิเวศของกระบวนการยุติธรรมในอนาคต

20 ผลงานใหม่ ยอดอ่านสูงสุดของ The101.World เดือนกรกฎาคม 2565

“เมื่อข้าพเจ้าเจอทัวร์ลง” ประวิทย์ แต่งอักษร
และความตายของการวิจารณ์ภาพยนตร์ (?)

โดย พิมพ์ชนก พุกสุข

“เมื่อก่อนนักเขียนจะไม่ได้คิดถึงคนอ่านเท่าไหร่ว่าจะชอบงานเราไหม แต่นักเขียนจะเขียนให้บรรณาธิการนิตยสารชอบเพื่อจะได้ถูกจ้างต่อ ดังนั้นจึงต้องรักษามาตรฐานด้านงานเขียนตัวเองต่อไปเรื่อยๆ”

“สิ่งที่พบคือ บทความวิจารณ์หนังออนไลน์นั้นไม่มีตรงกลาง หากไม่ชอบหนังเรื่องนี้มากๆ ก็จะเกลียดหนังเรื่องนี้มากๆ ไปเลย เป็นการให้คะแนน 0/10 หรือไม่ก็ 10/10 ทั้งที่หนังทุกเรื่องก็ไม่ได้ให้ความรู้สึกที่รุนแรงขนาดนั้น”

“สังคมที่รวมคนที่ชอบสิ่งเดียวกันให้เป็นปึกแผ่น มีความเป็น solidarity แต่มันก็ไม่ต้อนรับความเห็นที่แตกต่าง มีลักษณะการแสดงออกในทิศทางเดียวกัน สร้างความรู้สึกว่าสิ่งที่ทำนั้นเป็นความถูกต้อง เป็นความชอบธรรมจนหลายครั้งก็นำไปสู่การไม่ต้อนรับความคิดเห็นที่ผิดแผกแตกต่าง”

ในโลกที่ใครต่างก็แสดงความเห็นถึงภาพยนตร์ได้ แล้วนักวิจารณ์หนังยังจำเป็นอยู่ไหม และจะเป็นอย่างไรหากความเห็นของเราไม่ถูกหูคนกลุ่มใหญ่

อ่านบทสรุปปาฐกถาของประวิทย์ แต่งอักษร นักวิจารณ์ภาพยนตร์ในหัวข้อ “เมื่อข้าพเจ้าเจอทัวร์ลง”: การวิจารณ์หนังในยุคสื่อสังคมออนไลน์ ในงานเทศกาลภาพยนตร์อาเซียน ครั้งที่ 4 โดยคณะสื่อสารมวลชน มหาวิทยาลัยรามคำแหง

กลุ่มเสี่ยงต้องระวังเป็นพิเศษ: เมื่อโอมิครอน (BA.4-BA.5) กลับมา และโควิดจะถูกปรับเป็นโรคประจำถิ่น

โดย ฉัตร คำแสง

จำนวนผู้ติดเชื้อเริ่มมีสัญญาณเพิ่มขึ้นในช่วงครึ่งหลังของเดือนมิถุนายน 2565 ขณะที่ สธ. ยังเดินหน้าปรับโควิด-19 สู่โรคประจำถิ่น ทั้งยุติการจ่ายค่ารักษาโควิด-19 สำหรับผู้ป่วยทั่วไป พร้อมทั้งพิจารณายกเลิกการแจกชุดตรวจ ATK ในร้านขายยาต่อไป

การแพร่ระบาดอาจเพิ่มมากขึ้นในอนาคต แต่มีความเป็นไปได้น้อยที่ระบบสาธารณสุขไทยจะล่มซ้ำ

แต่คนไทยแต่ละกลุ่มยังคงมีความเสี่ยงติดเชื้อและเสียชีวิตไม่เท่ากัน การดำเนินนโยบายเพื่อรองรับคนส่วนใหญ่จึงอาจสร้างความเสี่ยงให้กับคนบางกลุ่มโดยไม่ได้ตั้งใจ

มาตรการสู่โรคประจำถิ่นยังทำให้ประเมินสถานการณ์จริงได้ยาก คนไม่สนใจตรวจและรายงานผลเหมือนเดิม ซึ่งยากต่อการใช้ชีวิตของกลุ่มเสี่ยงและการบริหารจัดการของภาครัฐ

101 สังเคราะห์งานวิจัยใหม่ 2 ชิ้นของบวรศม ลีระพันธ์และคณะ ซึ่งติดตามข้อมูลและสร้างแบบจำลองสถานการณ์แพร่ระบาดของโควิดมาอย่างต่อเนื่อง

เงื่อนไขที่จะเกิดสงครามไต้หวัน

โดย อาร์ม ตั้งนิรันดร

“เมื่อได้รับคำถามเกี่ยวกับความเป็นไปได้ที่จะเกิดสงครามไต้หวัน ผมมักถามกลับว่า อยากฟังข่าวดีหรือข่าวร้ายก่อน”

“ข่าวดี ก็คือ อย่างน้อยในระยะสั้นถึงปี 2024 ยังไม่มีสงครามไต้หวันแน่ เพราะในปัจจุบันประธานาธิบดีไบเดนยังคงประกาศชัดเจนว่านโยบายสหรัฐฯ ต่อประเด็นไต้หวันไม่เปลี่ยนแปลง ซึ่งสำหรับจีนแล้วเป็นสิ่งที่ยอมรับได้ นอกจากนั้น ไช่อิงเหวิน ผู้นำไต้หวัน ถึงแม้จะดุดันอย่างไร ก็ยังคงไม่มีจุดยืนจะแก้รัฐธรรมนูญเพื่อประกาศเอกราช ตัวสีจิ้นผิงเองก็ยังคงให้คำมั่นในการพูดคุยทางโทรศัพท์กับไบเดนว่า จีนจะใช้ความพยายามอย่างที่สุดในการรวมชาติอย่างสันติ เพราะคนจีนจะไม่เข่นฆ่ากันเองเด็ดขาด”

“แต่ข่าวร้ายก็คือ โดยทั่วไปในวงการความมั่นคงทั้งในจีนและสหรัฐฯ ต่างมองว่าสงครามไต้หวันนั้นช้าเร็วก็ต้องเกิด คำถามคือจะยืดเวลาไปได้เท่าไรมากกว่า เพราะยุทธศาสตร์และการลงทุนทางการทหารของจีนนั้น มีเป้าหมายเพียงอย่างเดียวคือเพื่อชนะเด็ดขาดให้ได้หากมีสงครามไต้หวัน หลายคนมองว่าจีนจะตัดสินใจทำสงครามรวมชาติ เมื่อถึงจุดที่ศักยภาพทางการทหารของจีนเหนือกว่าสหรัฐฯ และไต้หวันอย่างชัดเจนในการปฏิบัติการสมรภูมิไต้หวันให้สำเร็จ”

อาร์ม ตั้งนิรันดร เขียนถึง เงื่อนไขที่จะผลักดันให้ยุทธศาสตร์ ‘ความคลุมเครือ’ ของสหรัฐฯ และจีนต่อไต้หวันเปลี่ยนไปสู่ ‘ความชัดเจน’ ที่จะเป็นชนวนให้สงครามไต้หวันปะทุขึ้นได้

“ความตายคือการเดินทางของทั้งคนตายและคนที่ยังอยู่” นิติ ภวัครพันธุ์

โดย ปาณิส โพธิ์ศรีวังชัย

“ถ้าถามว่าอะไรที่สำคัญเกี่ยวกับพิธีศพ ผมคิดว่าคือการที่คนที่ยังมีชีวิตอยู่สามารถรักษาความทรงจำที่ดีที่มีต่อผู้ตายไว้ได้

แล้วสำหรับคนที่ตายอย่างโดดเดี่ยว ไม่มีใครรู้จัก ไม่มีหน้า ไม่มีตัวตน เราควรทำอย่างไร ผมคิดว่าสังคมไม่มากก็น้อยควรจะต้องออกมาพูดว่าคนพวกนี้มีตัวตน มีใบหน้า มีคนรัก เพราะเป็นความเศร้าไม่ใช่แค่ของคนรัก แต่เป็นความเศร้าของทั้งสังคมและประเทศชาติ”

“พิธีกรรมเกิดจากที่เราเชื่อว่าการไปอีกโลกหนึ่งคือการเดินทาง และการเดินทางไปอีกโลกหนึ่งทำให้เราต้องทำพิธี เพราะจู่ๆ คุณจะเดินไปเลยคงไม่ได้ ต้องมีพิธีให้คนตายไปสู่โลกนั้นได้ และพิธีพวกนี้ก็จะต้องถูกต้องด้วย ถ้าไม่ถูกต้องคุณก็จะกลายเป็นผีตายโหงที่ล่องลอยไปมาและเป็นอันตราย ผมขอใช้คำว่า ‘เป็นโลกที่มองไม่เห็น แต่เราสัมผัสได้’”

“… (ตอนนี้) ไม่ว่าพิธีกรรมจะย่นย่อลงแค่ไหน ไม่สำคัญแล้ว เพราะพิธีกรรมก็เป็นแค่พิธีจัดการศพ แต่หลังจากนั้นเรายังคิดถึงผู้ตายได้หรือช่วยคนที่ยังมีชีวิตอยู่ที่ได้รับผลกระทบจากความสูญเสีย สิ่งนี้สำคัญกว่า”

ในช่วงการระบาดของโควิด พิธีกรรมที่เคยทำได้ต้องย่นย่อขั้นตอนลงเพราะโรคระบาด ยังไม่นับว่ามีคนไร้บ้านหลายคนที่เสียชีวิตอยู่กลางถนนไร้คนเหลียวแล คำถามต่อการมีอยู่ของพิธีกรรมทำศพจึงปรากฏ อารยธรรมมนุษย์ที่สั่งสมมายาวนานกำลังถูกท้าทายหรือจะเปลี่ยนแปลงไปไหม ความตายกับพิธีกรรมเป็นเรื่องเดียวกันหรือไม่ อย่างไร

101 คุยกับนิติ ภวัครพันธุ์ ว่าด้วยเรื่องพิธีกรรมการส่งคนตายในมุมนักมานุษยวิทยา พิธีกรรมของความตายมีความหมายแค่ไหน คุณค่าของการตายและการมีชีวิตอยู่ต่างกันอย่างไร

ทำไมผู้พิพากษาจึงบิดเบือนการใช้กฎหมาย

โดย สมชาย ปรีชาศิลปกุล


“เมื่อฝ่ายตุลาการผูกพันตนเองอยู่กับสถาบันจารีตก็จะส่งผลต่อการปฏิบัติหน้าที่ของผู้พิพากษาเป็นเงาตามตัว การทำหน้าที่ในลักษณะเช่นนี้ไม่ใช่ด้วยอำนาจบังคับ หากเป็นไปด้วยความเชื่อและเข้าใจว่าตนเองกำลังกระทำในสิ่งที่ควรต้องกร

“การตัดสินที่เกิดขึ้นจึงอาจไม่ใช่เรื่องของความไม่รู้ ไม่ใช่เรื่องของการถูกบังคับ หากเป็นไปด้วยความยินยอมด้วยความสมัครใจ”

สมชาย ปรีชาศิลปกุล วิเคราะห์ว่ามีเหตุใดบ้างที่จะทำให้เกิดกรณีการตัดสินผิดพลาดของผู้พิพากษา ทั้งเรื่องความเป็นอิสระ ความรับผิดในการปฏิบัติหน้าที่ หรือกระทั่งเรื่องอุดมการณ์ที่ครอบงำ

6 คำถามดีลควบรวมทรู-ดีแทค ถามตรง-ตอบตรงกับผู้บริหารระดับสูงของเทเลนอร์

โดย สมคิด พุทธศรี

30 มิถุนายน 2565 ซิคเว่ เบรคเก้ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร (CEO) เทเลนอร์ กรุ๊ป และเยอเก้น โรสทริป รองกรรมการผู้จัดการและหัวหน้าเทเลนอร์เอเชีย เทเลนอร์ กรุ๊ป ได้ร่วมพูดคุยและตอบคำถามสื่อมวลชน โดยมีเรื่องการควบรวมกิจการกับทรูเป็นหนึ่งในประเด็นสำคัญ นับเป็นการสื่อสารต่อสาธารณะอย่างเป็นทางการจากผู้บริหารระดับสูงต่อประเด็นนี้เป็นครั้งแรก


ประเด็นใจกลางที่สาธารณะตั้งคำถามและเป็นกังวลอย่างยิ่งต่อการควบรวมคือ การแข่งขันในตลาดโทรคมนาคมและผลกระทบต่อผู้บริโภค ธรรมาภิบาล และการทำธุรกิจอย่างรับผิดชอบต่อสังคม ซึ่งกำลังถูกท้าทายอย่างยิ่งจากการควบรวมครั้งนี้

101 ชวนอ่าน 6 คำถาม-คำตอบของสองผู้บริหารระดับสูงเทเลนอร์ท่ามกลางความกังวลของสาธารณะที่มีต่ออภิมหาดีลครั้งนี้

วิกฤตเศรษฐกิจลาวท่ามกลางการแข่งขันภูมิรัฐศาสตร์โลก

โดย สุภลักษณ์ กาญจนขุนดี

“รัฐบาลของพรรคประชาชนปฏิวัติลาวมุ่งหวังจะใช้การคมนาคมทางบกทั้งระบบรางและถนน เพื่อเปลี่ยนสภาพ landlocked ให้เป็น land link ประสานสมทบกับยุทธศาสตร์การเป็นแบตเตอรีแห่งเอเชีย ทำให้ลาวต้องลงทุนทางด้านโครงสร้างพื้นฐานจำนวนมากนับแต่ปลายศตวรรษที่ 20 เป็นต้นมา ส่งผลให้หนี้สินพอกพูนมากขึ้นเป็นลำดับ…”

“นักวิเคราะห์จำนวนหนึ่งเห็นว่า สาเหตุหลักเกิดจากการที่ลาวพึ่งพิงจีนในการพัฒนาเศรษฐกิจมากเกินไป โดยเฉพาะในระยะ 10 ปีที่ผ่านมาเมื่อจีนเริ่มโครงการหนึ่งแถบหนึ่งเส้นทางและดูดให้เศรษฐกิจขนาดเล็กของลาวเข้าไปเป็นส่วนหนึ่งของความเติบโตของจีน

นักสังเกตการณ์ในสายทฤษฎีพึ่งพาเห็นว่า ลาวได้กลายเป็นเมืองบริวารของจีนไปแล้ว หรือบางคนตั้งชื่อว่าเป็นรัฐเงา (shadow state) ของจีนด้วยซ้ำไป”

“บทความนี้ต้องการที่จะโต้แย้งว่า ลาวไม่ได้มีทางเลือกในการพัฒนามากนัก การต้านทานจีนเป็นเรื่องยากลำบาก การเชื่อมโยงการพัฒนาเข้ากับจีน ดูเหมือนจะเป็นทางเดียวที่จะทำให้ลาวสามารถพัฒนาได้อย่างรวดเร็ว

พรรคประชาชนปฏิวัติลาวเองก็ต้องการความชอบธรรมจากผลงาน จากการพัฒนาดังกล่าวในการอยู่ในอำนาจได้อย่างต่อเนื่อง แต่ทุกอย่างมีราคาต้องจ่าย ภาวะวิกฤตที่กำลังเกิดขึ้นอาจจะทำให้ลาวต้องมองหาทางเลือกในการสร้างความสมดุลแห่งการพัฒนาให้มากขึ้น”

สุภลักษณ์ กาญจนขุนดี เขียนถึงวิกฤตเศรษฐกิจของลาว ซึ่งหลายคนมองว่าเป็นผลมาจากการเข้าครอบงำของจีน แต่ในรายละเอียดยังมีเรื่องน่าสนใจกว่านั้น และลาวมี ‘ทางเลือก’ อื่นใดบ้าง ที่จะสร้างสมดุลแห่งการพัฒนาได้

“ต้องออกไปนอกอาณาจักรกฎหมาย” เมื่อสังคมไม่ได้ต้องการแค่นักท่องฎีกา

โดย วจนา วรรลยางกูร

“การบ่มเพาะนักกฎหมายในบ้านเราจะเป็นในลักษณะการอยู่ในอาณาจักรของตัวเอง พอเรียนลึกลงไปเรื่อยๆ ในเชิงวิชาชีพ ก็จะเป็นการเรียนในเชิงเป็นช่างเทคนิค”
– นัทมน คงเจริญ คณบดีคณะนิติศาสตร์ ม.เชียงใหม่

“ต่อให้เราสอนดีขนาดไหน สอนให้นักศึกษามีความรู้เพียบพร้อมขนาดไหน แต่พอจบออกไปทำงานภายใต้โครงสร้างที่ไม่เปิดโอกาสให้ใช้หลักวิชาได้อย่างเต็มที่ก็อาจจะทำให้นักเรียนกฎหมายที่มีความรู้ดีไม่อาจทำหน้าที่อย่างตรงไปตรงมาได้”
– สมชาย ปรีชาศิลปกุล หัวหน้าศูนย์วิจัยและพัฒนากฎหมาย คณะนิติศาสตร์ ม.เชียงใหม่

“บุคลากรในกระบวนการยุติธรรมจำนวนมากเรียนจบจากต่างประเทศแล้วมาสอบผู้พิพากษาหรืออัยการ แต่ในคดีนโยบายต่างๆ ที่มีลักษณะขัดแย้งกันในเรื่องศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์นั้น หลักการสากลจะถูกปัดตกไปไว้ข้างๆ”
– พรเพ็ญ คงขจรเกียรติ ผู้อำนวยการมูลนิธิผสานวัฒนธรรม

“เราอาจต้องตั้งคำถามว่าสิ่งที่ทำมาในอดีตนั้นเท่ากับความเป็นธรรมโดยอัตโนมัติหรือเปล่า”
– เดชรัต สุขกำเนิด นักวิชาการเศรษฐศาสตร์

“ตอนนี้นักกฎหมายที่เราผลิตออกมากำลังเกิดอาการไม่เคลียร์ ไม่แคร์ ไม่แฟร์ ไม่แชร์ และไม่ไว ทำให้นักกฎหมายไม่ทันสถานการณ์ปัจจุบันที่เกิดขึ้นกับโลก”- สมนึก จงมีวศิน นักวิชาการด้านสิ่งแวดล้อม
.
“มีคำถามของสังคมที่มีต่อผู้ที่สำเร็จการศึกษาด้านกฎหมายที่เข้ามามีบทบาทในส่วนต่างๆ ในสังคม โดยเฉพาะในราชการ ส่วนของผู้พิพากษา อัยการ เนติบริกร หรือผู้ที่มีส่วนในการใช้กฎหมายเป็นเครื่องมือปิดปากประชาชน ตรงนี้เป็นคำถามใหญ่มากกว่า ไม่ใช่โจทย์ว่าเรายังผลิตบัณฑิตที่ท่องฎีกาได้ไม่มากพอ”
– อนุสรณ์ อุณโณ อาจารย์คณะสังคมวิทยาและมานุษยวิทยา ม.ธรรมศาสตร์

101 รวบรวมความเห็นเรื่องการปฏิรูปการเรียนการสอนนิติศาสตร์จากผู้คนหลากหลายแวดวง ในการรับฟังความเห็นของคณะอนุกรรมการสภานิติศึกษาแห่งชาติ อันช่วยสะท้อนภาพนักกฎหมายที่สังคมต้องการ ทั้งจากแง่มุมสิทธิมนุษยชน เศรษฐศาสตร์ สิ่งแวดล้อม และมานุษยวิทยา

ถึงเวลาเปลี่ยนรูปแบบคำพิพากษา จาก ‘อำนาจนิยม’ เป็น ‘เหตุผลนิยม’

โดย มุนินทร์ พงศาปาน

“หากระบบกฎหมายใดที่ผู้พิพากษาเขียนคำพิพากษาไว้ห้วนสั้นจนเกินไป โดยหวังที่จะยึดเอาตัวบทกฎหมายเป็นความชอบธรรมเพียงอย่างเดียว ย่อมเป็นการยากที่จะจูงใจผู้ที่ไม่เห็นด้วยกับผลของคำวินิจฉัยที่ปราศจากการแสดงเหตุผลสนับสนุนอย่างละเอียดชัดเจน”

“การทำคำวินิจฉัยในคำพิพากษาและคำสั่งที่ ‘สั้นกระชับ’ จนเกินไป ไม่ว่าในอรรถคดีทั่วไปหรือคดีที่อยู่ในความสนใจของประชาชน อาจก่อให้เกิดเป็นวัฒนธรรมบนความเข้าใจผิดในหมู่ผู้พิพากษาตุลาการว่า ‘คำพิพากษาคืออำนาจในตัวมันเอง’ และตัวบทกฎหมายที่อ้างอิงในคำพิพากษาคือ ‘ความชอบธรรมของอำนาจ’ “

“อาจารย์สอนกฎหมายทุกคนตระหนักดีว่า องค์ความรู้ทางนิติศาสตร์จะเจริญงอกงามด้วย ‘การให้เหตุผลทางกฎหมาย’ ไม่ใช่ด้วย ‘ธงคำตอบ’ เพราะธงคำตอบที่ได้อาจเป็นเพียงผลของอคติและอำเภอใจ แต่การให้เหตุผลทางกฎหมาย จะแสดงให้เห็นถึงความพยายามในสร้างความชอบธรรมด้วยกระบวนการคิดที่เป็นระบบและเป็นเหตุเป็นผล”

“ในคดีที่ศาลต้องวินิจฉัยการปะทะกันระหว่าง ‘เหตุผลธรรมชาติ’ เช่น สิทธิขั้นพื้นฐานของประชาชน และ ‘คุณค่าในทางจารีตประเพณี’ เช่น สถาบันพระมหากษัตริย์ ศาลยิ่งต้องแสดงเหตุผลแห่งคำวินิจฉัยในคำพิพากษาหรือคำสั่งอย่างละเอียดชัดเจนและต้องอ้างอิงถึงหลักการทางกฎหมายที่เป็นรากฐานของคำวินิจฉัยอย่างหนักแน่นเพื่อแสดงให้เห็นว่าศาลต้องการใช้ ‘เหตุผลนิยม’ มิใช่ ‘อำนาจนิยม’ ในการจูงใจให้ผู้คนเห็นด้วยคล้อยตาม”

มุนินทร์ พงศาปาน ชวนพิจารณารูปแบบการเขียนคำพิพากษาและคำสั่งของศาลไทยที่สั้นจนดูเหมือนจะเน้นไปที่ ‘ผล’ หรือ ‘ธงคำตอบ’ มากกว่า ‘เหตุผลในทางกฎหมาย’

“เพราะนักกฎหมายต้องเข้าใจบริบทของสังคม”
อ่าน 6 ข้อเสนอปฏิรูปนิติศาสตร์ไทยให้ก้าวไกลทันโลก

โดย กองบรรณาธิการ

“วิชาชีพกฎหมายก็หลีกเลี่ยงไม่พ้นที่จะปรับตัวและเรียนรู้สิ่งใหม่ๆ ตลอดเวลา เช่นเรื่องสินทรัพย์ดิจิทัลต่างๆ ที่ถูกพูดถึงกันเยอะมาก รวมไปถึงเรื่องการปฏิรูปหรือการเปลี่ยนแปลงที่คนรุ่นใหม่เรียกร้อง”
– ทวีลาภ ฤทธาภิรมย์ อนุกรรมการสภานิติศึกษาแห่งชาติและกรรมการผู้ช่วยผู้จัดการใหญ่ ธนาคารกรุงเทพ

“เราเคยได้ยินประโยคประมาณนี้ไหม “โชคดีจังที่ได้อัยการท่านนี้ เพราะเขาเป็นคนตรงไปตรงมา”…คำถามคือพวกเราอยู่แวดวงเดียวกัน เรียนตำราเล่มเดียวกัน จบมาแบบเดียวกัน ทำไมเราต้องมีคำถามแบบนี้”
– เพียงพนอ บุญกล่ำ อนุกรรมการสภานิติศึกษาแห่งชาติและรองกรรมการผู้จัดการใหญ่สำนักกฎหมาย บริษัท ปตท. จำกัด
.
“เราต้องตั้งคำถามแล้วว่าเราจำเป็นต้องเรียนกฎหมายทุกฉบับจริงๆ หรือแต่ละมหาวิทยาลัยควรสามารถออกแบบหลักสูตรได้เองเพื่อให้ทันต่อบริบทของโลกที่เปลี่ยนแปลง”
– ผศ.ดร.ปารีณา ศรีวนิชย์ อนุกรรมการสภานิติศึกษาแห่งชาติและคณบดีคณะนิติศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

“ปัญหาสำคัญของกฎหมายคือเราไม่เข้าใจว่าสิ่งที่กฎหมายบัญญัติออกมาเพื่อใช้บังคับและใช้คุ้มครองมีเบื้องหลังอย่างไร”
– ชัยวัธ มะระพฤกษ์วรรณ กรรมการสภามหาวิทยาลัยหอการค้าไทย และผู้ก่อตั้งสำนักงานทนายความชัยวัธ-บัณฑูรย์

“นอกจากจะเข้าใจฝั่งของกฎหมายแล้ว อยากให้เข้าใจเรื่องของธุรกิจด้วย เพราะกฎหมายเป็นแค่ส่วนหนึ่งของสังคมเท่านั้น ถ้าคุณยังไม่เข้าใจสังคม ไม่เข้าใจบริบท ไม่เข้าใจธุรกิจ นักกฎหมายที่ออกมาเหล่านั้นก็เหมือนยังใช้การไม่ได้”
– พีรภัทร ฝอยทอง ที่ปรึกษากฎหมายสถาบันการเงินและธุรกิจประกันภัย

“การทำงานในประเด็นที่อยู่ชายขอบของสังคมมากๆ ทำให้เราเจอปัญหาว่า กฎหมายที่มีอยู่ในตำราเรียนหรือบทบัญญัติต่างๆ ไม่ฟังก์ชันกับการทำงานจริง”
– ปณิธาน อดีตนักเรียนกฎหมาย

“คนที่จบนิติศาสตร์ส่วนใหญ่ในไทยมักจะมุ่งเป็นผู้พิพากษา อัยการ หรือทนายความมากกว่า แต่ส่วนนิติบัญญัติ แม้ว่าการทำงานในส่วนนี้จะก่อให้เกิดผลกระทบที่ค่อนข้างสูงกับสังคม แต่กลับกลายเป็นว่านักเรียนกฎหมายในไทยไม่ค่อยรู้จัก …ไม่ค่อยสนใจ”
– ภาคภูมิ อดีตนักเรียนกฎหมาย

101 ชวนมองข้อเสนอปฏิรูปการเรียนการสอนนิติศาสตร์จากคนหลายแวดวง ในการรับฟังความเห็นของคณะอนุกรรมการสภานิติศึกษาแห่งชาติ เพื่อหาทางนำไปสู่การสร้างกระบวนการยุติธรรมที่มอบความยุติธรรมได้อย่างแท้จริง

“เรารู้ว่า กทม. มีปัญหาด้านการประสานงาน เราตั้งใจมาแก้ไขเรื่องนี้”
30 วันแรกในฐานะรองผู้ว่าฯ กทม. ของ ทวิดา กมลเวชช

โดย พิมพ์ชนก พุกสุข

“พูดอย่างให้ความยุติธรรมกันนะ การประสานงานของหน่วยงานราชการทุกประเภทในไทย เราประสานงานกันไม่ค่อยเป็นโดยธรรมชาติ”

“ผู้ว่าฯ จึงพูดตลอดเวลาว่านโยบาย 214 ข้อของเขานั้นเถียงได้ มันอาจจะผิดก็ได้ ขณะเดียวกันเราก็บอกข้าราชการเลยว่าเราต้องการให้ข้าราชการช่วยเรา เพราะนโยบาย 214 ของผู้ว่าฯ เป็นเป้าหมาย เป็นชิ้นงานที่อยากได้ แต่จะทำได้อย่างไรนั้นหน่วยงานต้องเป็นคนตอบ”

“อาจารย์ชัชชาติไม่เคยถามพวกเราที่เป็นรองผู้ว่าฯ สักครั้งเลยว่าเหนื่อยไหม มีแต่ถามว่า ‘ยังสนุกอยู่ใช่ไหม’ แสดงว่าวิธีคิดของเขาคือบ่นไปก็เท่านั้น ในเมื่อรับมาทำหน้าที่นี้แล้วมีประชาชนที่รอให้เราทำให้มันดีขึ้นอยู่ ก็ต้องทำงาน ส่วนตัวคิดว่ารองผู้ว่าฯ ทั้งสี่เหมือนกันอยู่อย่างหนึ่งคือ มีโจทย์ที่เราอยากแก้ แล้วเมื่อแก้ไขได้เราก็สนุก รู้สึกชีวิตมีค่า แล้วยิ่งถ้าเป็นคนชอบแก้ปัญหาก็จะสนุก”

101 สนทนากับ ทวิดา กมลเวชช รองผู้ว่าฯ กรุงเทพฯ หลังรับตำแหน่งนี้ครบ 30 วันเต็ม อันเป็นช่วงเวลาที่เธอได้เผชิญความท้าทายดุเดือดที่กรุงเทพฯ มอบให้ ไม่ว่าจะเหตุไฟไหม้ชุมชนบ่อนไก่ ไปจนถึงการพยายามประสานงานระบบราชการ อันเป็นหัวใจสำคัญในการพัฒนาและปฏิรูป ‘กรุงเทพฯ เมืองเทพสร้าง’ แห่งนี้

ค่าเสียโอกาส กสทช. VS ค่าเสียโอกาส สังคมไทย

โดย กองบรรณาธิการ

ท่ามกลางปัญหาเศรษฐกิจรุนแรง และคำถามท้าทายเรื่องดีลควบรวมทรู-ดีแทค สำนักงาน กสทช. กล้าเสนอขอขึ้นค่าตอบแทนให้ กสทช. พ่วงเงิน ‘ค่าเสียโอกาส’ ที่ต้องเว้นวรรค 2 ปีหลังพ้นตำแหน่งตามกฎหมาย ป.ป.ช. โดยไม่สามารถประกอบอาชีพหรือดำเนินกิจการที่มีลักษณะมีส่วนได้ส่วนเสียหรือมีผลประโยชน์ขัดหรือแย้งไม่ว่าโดยตรงหรือโดยอ้อมกับการปฏิบัติหน้าที่ของ กสทช.

หนังสือของสำนักงาน กสทช. อ้างเหตุผลขอขึ้นค่าตอบแทนพ่วงค่าเสียโอกาสว่า เพื่อ “ให้สอดคล้องกับอำนาจหน้าที่และสภาวการณ์ที่เปลี่ยนแปลงไป” และ “ภารกิจในความรับผิดชอบมีจำนวนมาก รวมทั้งมีภารกิจใหม่และยากในการปฏิบัติ” อีกทั้ง กสทช. ต้อง “ปฏิบัติงานเต็มเวลาและต้องไม่ประกอบอาชีพอื่น” และ “ระยะเวลาการดำรงตำแหน่งสั้นและดำรงตำแหน่งได้ครั้งเดียว”

หากนับรวม ‘ค่าเสียโอกาส’ ตามข้อเสนอของสำนักงาน กสทช. รวมค่าตอบแทนเหมาจ่ายรายเดือน รายรับของประธานและกรรมการ กสทช. จะสูงขึ้นดังนี้
ประธานได้รายรับรวม 450,834 บาท เพิ่มขึ้นจากปัจจุบัน 114,984 บาท
กรรมการได้รายรับรวม 360,834 บาท เพิ่มขึ้น 91,834 บาท

ถ้ายึดตามข้อเสนอที่สำนักงาน กสทช. กล้าขอ ผลตอบแทนของประธานและกรรมการ กสทช. จะเพิ่มขึ้นจากเดิมถึง 34% เลยทีเดียว เฉพาะส่วนที่เพิ่มขึ้นมานี้คิดเป็นมูลค่าตลอดวาระ 6 ปี รวม 47,951,136 บาท

และเราจะต้องจ่ายเงินค่าตอบแทนและค่าเสียโอกาสทั้งหมดให้ประธานและกรรมการ กสทช. รวมกันทั้งสิ้น 188,340,336 บาท ตลอดวาระ 6 ปี

สำนักงาน กสทช. อ้างว่า การขอปรับขึ้นค่าตอบแทนพ่วงเงินค่าเสียโอกาสครั้งนี้ไม่กระทบและไม่เป็นภาระงบประมาณแผ่นดินเลย เพราะไม่ได้ขอเงินจากสำนักงบประมาณ แต่ใช้เงินค่าธรรมเนียมใบอนุญาตฯ ซึ่งเหลือจ่ายนำส่งเป็นรายได้แผ่นดินอยู่แล้ว

นับเป็นเรื่องตลกร้ายที่สำนักงาน กสทช. ไม่ได้คิดเลยหรือว่าการดึงเงินค่าธรรมเนียมใบอนุญาตฯ มาจ่าย ‘ค่าเสียโอกาส’ เข้ากระเป๋าคน 7 คน แทนที่จะนำเงินก้อนเดียวกันนี้นำส่งเป็นรายได้แผ่นดิน เป็นการทำให้สังคมไทยสูญเสียโอกาสที่จะนำเงินก้อนนี้ไปใช้ในทางที่เป็นประโยชน์แก่สาธารณะได้อย่างกว้างขวาง

เรียกว่า สำนักงาน กสทช. เป็นห่วง ‘ค่าเสียโอกาส’ ของ กสทช. แบบไม่แคร์ ‘ค่าเสียโอกาส’ ของสังคมไทยเอาเลย

แม้สุดท้าย ในการประชุม ครม. เมื่อ 21 มิ.ย. 2565 ได้ลงมติอนุมัติหลักการร่าง พ.ร.ฎ.ค่าตอบแทน กสทช. แต่ก็ไม่ได้กำหนด ‘ค่าเสียโอกาส’ ไว้ในตัวร่าง ตามความเห็นของกระทรวงการคลัง สำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ สำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา และสำนักงบประมาณ ที่ต่างประสานเสียง ‘คัดค้าน’ แนวคิด ‘ค่าเสียโอกาส’ ของสำนักงาน กสทช

คงต้องช่วยจับตาดูกันต่อไปว่า สุดท้าย ร่าง พ.ร.ฎ.ค่าตอบแทน กสทช. จะมีหน้าตาและเนื้อหาอย่างไร ‘ค่าเสียโอกาส’ ที่หายไปจะไปแทรกอยู่ส่วนไหนภายใต้ชื่อใหม่หรือเปล่า และในอนาคตสำนักงาน กสทช. จะมีแนวคิดใหม่อะไรออกมาเซอร์ไพรส์สังคมไทยอีก

ยะโฮร์ – เมื่อสุลต่านอยากแบ่งแยกดินแดน

โดย ปรางค์ทิพย์ ดาวเรือง

“ข้าพเจ้ารู้สึกประหนึ่งว่ายะโฮร์ได้รับการปฏิบัติต่อประหนึ่งเป็นบุตรบุญธรรม แม้ว่าเราจะเป็นหนึ่งในผู้สนับสนุนหลักให้กับเศรษฐกิจของชาติ…ชาวยะโฮร์อาจต้องการให้แยกตัวออกจากมาเลเซีย เพราะยะโฮร์อาจพัฒนาได้มากกว่านี้ถ้าเรายืนหยัดอยู่ด้วยตัวเอง”

“พระดำรัสของสุลต่านอิบราฮิม อิสมาอิล อิบนี อัลมาห์รุม สุลต่าน อิสกานดาร์ (Ibrahim Ismail Ibni Almarhum Sultan Iskandar) ประมุขแห่งรัฐยะโฮร์ ที่ทรงประกาศก้องในวาระมีพระดำรัสเปิดสมัยประชุมสภาแห่งรัฐยะโฮร์เมื่อเดือนมิถุนายนที่ผ่านมาว่า ยะโฮร์อาจแยกตัวออกจากมาเลเซียหากยังได้รับการปฏิบัติที่ไม่เป็นธรรมจากรัฐบาลกลาง (federal government) อยู่ ตกเป็นข่าวทั้งในและต่างประเทศ ก่อนจะจางหายไปท่ามกลางกระแสข่าวการเมืองอื่นๆ อย่างรวดเร็ว”

“แม้เรื่องการแยกตัวเป็นรัฐอิสระ (secession) จะเคยเกิดขึ้นแล้วในมาเลเซีย แต่ยังเป็นที่กังขาอยู่ว่าสุลต่านอิบราฮิม ‘ทรงซีเรียส’ มากเพียงใดต่อพระดำรัสของพระองค์เอง”

ปรางค์ทิพย์ ดาวเรือง เล่าถึงข่าวร้อนในมาเลเซีย เมื่อสุลต่านรัฐยะโฮร์มีพระดำรัสถึงการแยกดินแดนรัฐยะโฮร์ออกจากมาเลเซีย

มองความหวังเศรษฐกิจโลก-เศรษฐกิจไทยครึ่งหลัง 2022 กับ พิพัฒน์ เหลืองนฤมิตชัย

โดย ภัคจิรา มาตาพิทักษ์

“จริงๆ ต้องบอกว่าเศรษฐกิจไทยมีแนวโน้มฟื้นตัวดีขึ้น ถ้าเราเอาภาพที่น่ากลัวของเศรษฐกิจโลกออกไปก่อน ผมมองว่าเศรษฐกิจไทยอยู่ในโหมดฟื้นตัวอย่างชัดเจน และเป็นการฟื้นตัวจากฐานที่ต่ำมาก เพราะทั้งโลกมีแค่ 3 ประเทศ ที่ระดับ GDP ปีนี้แม้ว่าจะโตแล้วก็ยังไม่กลับไปเท่าก่อนปี 2019 คือมีไทย ญี่ปุ่น และอิตาลี แต่ว่าการหดตัวที่ผ่านมา มันรุนแรงมาก และการฟื้นตัวของเราก็เป็นไปอย่างช้ามาก ถ้าจะบอกว่าไทยกำลังจะเข้าสู่ภาวะเศรษฐกิจถดถอย ผมมองว่ามีโอกาสไม่เยอะในปีนี้ แต่ปีหน้าไม่แน่”

“ปัญหาใหญ่ของยุคข้าวยากหมากแพงคือรายได้โตช้ากว่าค่าใช้จ่าย ผมเชื่อว่าตอนนี้เงินเฟ้อยังไม่ถึงจุดพีก และจะยังคงเพิ่มขึ้น ตัวเลขล่าสุดคือ 7.7% อาจจะขึ้นไปถึงจุดพีกที่ 8-9% ในช่วงไตรมาสที่ 3 หลังจากนั้นอาจจะทยอยลดลงมา เงินเฟ้อที่เห็นก็ยังไม่หมด เพราะมีหลายคนที่อมเอาไว้เต็มเลย อย่างรัฐที่ยังอุดหนุนน้ำมันดีเซลและลดภาษีสรรพสามิต ดังนั้นต้นทุนของเงินอุดหนุน (subsidy) 1 เดือนก็ประมาณ 2-3 หมื่นล้าน 1 ปีก็เป็น 3 แสนล้าน ซึ่งนับเป็น 2% ของ GDP และ 10% ของงบประมาณรายจ่าย ถ้าเราอุดหนุนแบบนี้ทั้งปี ตัวนี้ถือเป็นระเบิดเวลาที่สำคัญ รวมถึงก๊าซ LPG และค่าไฟที่ต้นทุนพลังงานแพงขึ้นมาก”
.
“ผมยังคงเชื่อว่านี่คือแสงสว่างที่ปลายอุโมงค์นะ และเผลอๆ เราออกจากอุโมงค์มาแล้วด้วย ถ้าจำได้ช่วงปลายปีที่แล้วมันแย่มาก เพราะเกิดโควิด-19 สายพันธุ์ใหม่ๆ ขึ้นมาเรื่อยๆ ติดๆ กัน และก็เป็นจริงอย่างที่ว่าคือเศรษฐกิจภายในประเทศมันเริ่มดีขึ้น ถ้าเทียบวันนี้กับเมื่อ 6 เดือนที่แล้ว ร้านอาหารกลับมาเปิดได้ ห้างกลับมาเปิดได้ คนกลับไปเข้าโรงหนังกัน เรากลับมาทำงานกันมากขึ้น”

“แต่เผอิญว่าพอเราเดินออกจากปลายอุโมงค์มาได้ เราก็มาเห็นฟ้ามืดอีกแล้ว เหมือนพายุกำลังจะมา (หัวเราะ) ซึ่งอันนั้นเป็นอีกความเสี่ยงหนึ่ง แต่ผมคิดว่าตอนนี้เราออกจากอุโมงค์มาแล้ว ยกเว้นแต่ว่าโควิด-19 จะไม่ยอมให้เราออกจากอุโมงค์นะ เราอาจจะโดนไล่เตะกลับไปในอุโมงค์ถ้าสถานการณ์โควิด-19 มันรุนแรงเพิ่มมากขึ้น ในสถานการณ์ปัจจุบันถึงจะมีความรุนแรง แต่คนกังวลน้อยลง ความรุนแรงของโรคน้อยลง อัตราการเสียชีวิตก็น้อยลง ดีกว่าปีที่แล้วเยอะมาก”

101 คุยกับ พิพัฒน์ เหลืองนฤมิตชัย ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการ หัวหน้านักเศรษฐศาสตร์ และหัวหน้าฝ่ายวิเคราะห์เศรษฐกิจและการลงทุน กลุ่มธุรกิจการเงินเกียรตินาคินภัทร ประเมินสถานการณ์เศรษฐกิจโลก-เศรษฐกิจไทยครึ่งปีแรก เพื่อหาคำตอบว่าสังคมเศรษฐกิจไทยควรเดินหน้าอย่างไรในครึ่งปีหลัง 2022 ไปจนถึงต้นปี 2023

สิ้นลาย ‘ราชปักษา’: ทำความรู้จักตระกูลการเมืองดังของศรีลังกา

โดย ศุภวิชญ์ แก้วคูนอก

“ตระกูลราชปักษาแทบจะถูกล้างบางทางการเมือง เมื่อประธานาธิบดีโกตาบาย่า ราชปักษาประกาศลาออกจากตำแหน่ง และเดินทางออกนอกประเทศ เขาถือเป็นสมาชิกคนสุดท้ายของตระกูลราชปักษาที่ยังคงดำรงตำแหน่งทางการเมืองของศรีลังกา ในขณะที่พี่ชายและน้องชาย รวมถึงหลานชายต่างลาออกและเดินทางออกนอกประเทศไปก่อนหน้านี้แล้ว การเดินทางหนีไปยังมัลดีฟส์ของโกตาบาย่าอาจเรียกได้ว่าเป็นสัญลักษณ์ของการสูญสิ้นอำนาจของตระกูลราชปักษาเหนือศรีลังกาก็คงไม่ผิดนัก”

กลางกระแสวิกฤตศรีลังกา ศุภวิชญ์ แก้วคูนอก เขียนถึงเส้นทางการผงาดขึ้นและสิ้นสุดอำนาจของตระกูล ‘ราชปักษา’ ตระกูลการเมืองที่ครั้งหนึ่งเคยประสบความสำเร็จในการกุมอำนาจทางการเมืองแทบทั้งหมดไว้ในมือ จนกระทั่งเมื่อวิกฤษเศรษฐกิจปะทุขึ้น

“แต่น่าสนใจว่าผู้มีบทบาทสูงสุดจริงๆ ในตระกูลอย่าง ‘มหินทรา ราชปักษา’ ยังคงปักหลักอยู่ในประเทศ และพรรคการเมืองของเขาก็ยังครองเสียงข้างมากในรัฐสภาอยู่ คำถามจึงเกิดขึ้นว่านี่เป็นจุดจบทางการเมืองจริงๆ ของตระกูล ‘ราชปักษา’ จริงหรือไม่ หรือเป็นเพียงหนึ่งฉากของละครการเมืองเพื่อหาทางหลบหลีกให้ตระกูลราชปักษา และรอวันที่พวกเขาจะกลับมาทวงอำนาจอีกครั้ง เหมือนหลายๆ ตระกูลทางการเมืองของศรีลังกาที่ก็ยังอยู่รอดและรอวันสลับพลัดเปลี่ยนกันขึ้นมาปกครองประเทศนี้”

ข้อเสนอการปฏิรูปการศึกษานิติศาสตร์แห่งชาติเบื้องต้น: ถอดรื้อการเรียนกฎหมายแบบ ‘เนติบัณฑิตไทย’

โดย สุทธิชัย งามชื่นสุวรรณ

“ปัญหาหลักสำคัญประการหนึ่งของการศึกษากฎหมายไทยมีรากเหง้ามาจากการเรียนกฎหมายแบบเนติบัณฑิตไทย ด้วยเหตุนี้ หากไม่มีการถอดรื้อการเรียนกฎหมายแบบเนติบัณฑิตไทย ทลายการศึกษากฎหมายแบบ Black-letter law และทำให้การศึกษาอบรมเนติบัณฑิตได้ทำหน้าที่ในการฝึกฝนในทางปฏิบัติได้อย่างแท้จริงแล้ว ก็คงเป็นการยากที่จะพัฒนา เปิดพื้นที่ สร้างทางเลือกให้กับการศึกษากฎหมายในรูปแบบอื่นๆ ได้เติบโตและสร้าง ‘นักกฎหมายหัวก้าวหน้า’ได้”

สุทธิชัย งามชื่นสุวรรณ คณบดีคณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ เขียนถึง ข้อเสนอการปฏิรูปการศึกษานิติศาสตร์ ในส่วนโครงสร้างหลักสูตรระดับปริญญาตรีและการศึกษาอบรมกฎหมายชั้นเนติบัณฑิต เพื่อผลิตนักกฎหมายให้เป็นผู้พิทักษ์สิทธิเสรีภาพและศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ได้อย่างแท้จริง

ต้องสร้างนักกฎหมายที่รู้รอบ-กล้าหาญทางจริยธรรม: มองปัญหานิติศาสตร์จากคนกระบวนการยุติธรรม

โดย ภัคจิรา มาตาพิทักษ์

หนึ่งในการแก้ปัญหากระบวนการยุติธรรมนั้น จำเป็นต้องพูดคุยกันถึงระบบการสร้างนักกฎหมายว่าทำอย่างไรเราจึงจะสร้างนักกฎหมายที่สามารถทำงานเพื่อประชาชนและสังคมได้อย่างแท้จริง

101 ชวนอ่านความเห็นเรื่องการปฏิรูปนิติศาสตร์ในมุมมองของคนในกระบวนการยุติธรรม จากการรับฟังความเห็นของคณะอนุกรรมการสภานิติศึกษาแห่งชาติ

ชาติ กษัตริย์ กองทัพ: ล้วงลึกอำนาจสถาบันใหญ่ที่โยงใยอยู่ในประชาธิปไตยแบบไทยๆ

โดย ภัคจิรา มาตาพิทักษ์

“ไม่มีเหตุผลที่จะคาดหวังว่าทหารจะเชื่อฟังพลเมืองที่ปราศจากอาวุธ หรือคาดหวังว่าพระมหากษัตริย์ที่ไร้ซึ่งอาวุธจะทรงดำรงอยู่อย่างปลอดภัยเมื่อผู้รับใช้ของพระองค์มีอาวุธครบมือ” – ส่วนหนึ่งจากบทนำในหนังสือ A Soldier King: Monarchy and Military in the Thailand of Rama X โดย สุภลักษณ์ กาญจนขุนดี

นับตั้งแต่การอภิวัฒน์เปลี่ยนแปลงการปกครองในปี 2475 เป็นเวลากว่า 90 ปีแล้วที่เส้นทางสู่การเมืองประชาธิปไตยไทยไม่เคยหลุดพ้นจากร่มเงาอิทธิพลของ ‘กองทัพ’

ยิ่งกองทัพมีความสัมพันธ์อันแนบแน่นและแข็งแกร่งกับสถาบันกษัตริย์ อำนาจของ ‘เครือข่ายกษัตริย์’ (Network Monarchy) ยิ่งดำรงอยู่ในภูมิทัศน์การเมืองไทยอย่างมีพลวัต

101 ชวนทำความเข้าใจ ‘ระบอบการเมืองบนความสัมพันธ์ระหว่างสถาบันกษัตริย์และกองทัพ’ ที่บทบาททางการเมืองของกองทัพและสถาบันกษัตริย์นำไปสู่การก่อร่างและดำรงอยู่ของ ‘ประชาธิปไตยแบบไทยๆ’ ผ่านทัศนะของ สุภลักษณ์ กาญจนขุนดี ผู้เขียนหนังสือ A Soldier King: Monarchy and Military in the Thailand of Rama X นักวิจัยจากวิทยาลัยนานาชาติปรีดี พนมยงค์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์, พอล แชมเบอร์ นักวิชาการด้านเอเชียศึกษาแห่งมหาวิทยาลัยนเรศวร, อุกฤษฏ์ ปัทมานันท์ สถาบันเอเชียศึกษา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และดันแคน แม็กคาร์โก ผู้อำนวยการสถาบันเอเชียศึกษานอร์ดิกและศาสตราจารย์ประจำคณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยโคเปนเฮเกน

Court Packing เมื่อการเมืองล้างบางตุลาการ

โดย เข็มทอง ต้นสกุลรุ่งเรือง

“ในฮังการี ประธานาธิบดีวิกเตอร์ โอบาน ‘โละ’ ศาลรัฐธรมนูญยกชุด ซึ่งเป็นสัญญาณอันตรายต่อคุณภาพประชาธิปไตยในฮังการีก็จริง แต่ในลาตินอเมริกา อาร์เจนตินาเคยล้างบางศาลสูงมาแล้วเมื่อเปลี่ยนผ่านเข้าสู่ประชาธิปไตย court packing จึงเป็นอาวุธที่ขึ้นกับผู้ใช้ว่าจะใช้ไปในทางร้ายหรือดี”

“(สำหรับไทย) การแทรกแซงฝ่ายตุลาการนั้น ฝ่ายประชาธิปไตยไม่เคยทำหรือทำไม่เคยสำเร็จ คนที่ทำ court packing สำเร็จแบบเงียบๆ คือฝ่ายเผด็จการ เมื่อรัฐประหารเสร็จมีคำสั่งปลดตุลาการศาลรัฐธรรมนูญทิ้งทั้งชุดในปี 2549 หรือให้ดำรงตำแหน่งต่อในปี 2557 และการให้สภานิติบัญญัติแห่งชาติแต่งตั้งตุลาการศาลรัฐธรรมนูญภายใต้รัฐธรรมนูญ​ 2560 แทนที่จะรอให้มีการเลือกตั้งขึ้นก่อน

“ผลลัพธ์คือ ตุลาการบางคนดำรงแหน่งนานนับสิบปี จากรัฐประหารครั้งโน้นมาครั้งนี้ ถือเป็นการ packing แบบไม่มีใครโวยวาย”

เข็มทอง ต้นสกุลรุ่งเรือง แนะนำให้รู้จัก ‘court packing’ หรือการเปลี่ยนแปลงองค์ประกอบคณะตุลาการโดยฝ่ายการเมือง ซึ่งเป็นอาวุธสู้กับฝ่ายตุลาการ เช่น การล้างบางตุลาการที่มีประวัติร่วมมือกับเผด็จการอย่างชัดเจน แต่วิธีนี้ก็เป็นอาวุธที่สามารถให้ทั้งผลดีและร้ายต่อระบอบประชาธิปไตย

จอมพล ป. ลี้ภัย พ.ศ. 2500 บทอวสานผู้นำคณะราษฎรคนสุดท้าย

โดย นริศ จรัสจรรยาวงศ์

เมื่อ 125 ปีก่อน ด.ช. แปลก ลืมตาดูโลกเมื่อวันพุธที่ 14 กรกฎาคม พ.ศ. 2440 ปีระกา ซึ่งปีนั้นตรงกับวันเข้าพรรษาเช่นเดียวกันกับปีนี้ ก่อนชื่อของเขาจะถูกจดจำในฐานะจอมพล ป. พิบูลสงคราม หนึ่งในคณะราษฏรผู้ก่อการอภิวัฒน์ 2475 และนายกรัฐมนตรีผู้ดำรงตำแหน่งยาวนานที่สุดในประวัติศาสตร์ไทยถึง 15 ปี

ชีวิตของจอมพล ป. เต็มไปด้วยสีสัน ก่อนมาถึงจุดพลิกผันเมื่อลูกน้องคนสนิท จอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ ก่อรัฐประหาร 16 กันยายน 2500

นี่คือบันทึกเรื่องราวการหลบหนีลี้ภัยเข้าชายแดนเขมรหลังถูกยึดอำนาจของจอมพล ป. อันถือเป็นจุดสิ้นสุดของผู้นำคณะราษฎรคนสุดท้ายบนเส้นทางการเมืองไทย โดย นริศ จรัสจรรยาวงศ์

101PUB – 101 Public Policy Think Tank ศูนย์ความรู้นโยบายสาธารณะ

ส่องงบลงทุน 434,400 ล้านบาท ปี 2566: ลงทุนอะไรบ้าง?
ตอบโจทย์ความท้าทายของไทยหรือไม่?

โดย กษิดิ์เดช คำพุช

101 PUB – 101 Public Policy Think Tank พาสำรวจงบลงทุนในร่างพระราชบัญญัติงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ 2566 มูลค่า 492,341 ล้านบาท ซึ่งมีส่วนที่เขียนเป็นโครงการในยุทธศาสตร์ต่างๆ จำนวน 434,400 ล้านบาท เพื่อให้เห็นว่ารัฐบาลตั้งงบลงทุนตามยุทธศาสตร์ที่รัฐวางไว้อย่างไรบ้าง และแท้จริงแล้ว งบลงทุนเหล่านี้จัดหาสินทรัพย์อะไร จะนำไปสู่การวางรากฐานยกระดับบริการสาธารณะหรือศักยภาพในการแข่งขันของประเทศในระยะยาวเพิ่มขึ้นได้อย่างไรบ้าง

เพิ่มแหล่งเรียนรู้ใกล้บ้าน ให้เยาวชนไทยเข้าถึงจริง

โดย สรวิศ มา

คิด for คิดส์ ชวนสำรวจพฤติกรรมการไปแหล่งเรียนรู้ของเยาวชนไทย ผ่านผลสำรวจเยาวชน 2022 (Youth Survey 2022) ดูว่าทิศทางการลงทุนในแหล่งเรียนรู้นอกห้องเรียนของภาครัฐเป็นอย่างไร และนโยบายสำหรับแหล่งเรียนรู้ควรปรับทิศทางอย่างไรให้การเรียนรู้ก้าวทันความเปลี่ยนแปลงของโลกในศตวรรษที่ 21 ได้

รายการและคลิปวิดีโอยอดนิยม เดือนกรกฎาคม 2565

YouTube video

The Last Journey พิธีแห่งความตาย

โดย กฤษฎา ต๊ะวัน และ ปาณิส โพธิ์ศรีวังชัย

พิธีกรรมของความตายมีความหมายแค่ไหน? คุณค่าของการตายและการมีชีวิตอยู่ต่างกันอย่างไร?

การระบาดของโควิด-19 นำมาซึ่งความตายของผู้คนจำนวนมากและสร้างปัจจัยที่ทำให้ญาติไม่สามารถจัดพิธีกรรมอย่างปกติได้ และแน่นอนว่าไม่สามารถร่ำลาผู้ตายอย่างใกล้ชิดเป็นครั้งสุดท้ายได้

ยังไม่นับว่ามีคนไร้บ้านหลายคนที่เสียชีวิตอยู่กลางถนนไร้คนเหลียวแล ช่วงวาระสุดท้ายของชีวิตมีเพียงอาสาสมัครกู้ภัยที่เข้ามาดูแลพวกเขา

จากสถานการณ์เหล่านี้ คงไม่มีช่วงเวลาไหนที่ผู้คนจะตั้งคำถามและเผชิญกับความตายได้มากเท่าช่วงการระบาดของโรคภัย

101 เสนอสารคดีว่าด้วยความหมายของความตาย คุณค่าของพิธีกรรม การรับมือกับความสูญเสีย และวิธีดำเนินไปของคนที่ยังมีชีวิต ผ่านเรื่องราวของผู้คนหลากหลาย ทั้งคนไร้บ้าน สัปเหร่อ และผู้ที่สูญเสียพ่อจากโควิด

YouTube video

SIDE B อีกเสียงจากที่เขาบอกว่า “บูมเมอร์ชายไทยไม่เอา #สมรสเท่าเทียม”

โดย กองบรรณาธิการ

หลังร่าง พ.ร.บ.สมรสเท่าเทียม ทั้ง 4 ร่างผ่านการพิจารณารับหลักการวาระแรกในสภา เมื่อ 15 มิถุนายน 2565 คล้ายกับว่าเส้นทางการต่อสู้เพื่อสิทธิของกลุ่มคนหลากหลายทางเพศ (LGBTQ+) จะเข้าใกล้เส้นชัยที่ชื่อความเท่าเทียมขึ้นไปอีกหนึ่งก้าว

แต่ท่ามกลางเสียงสนับสนุนของคนส่วนใหญ่ ผลการสำรวจความคิดเห็นประชาชนที่มีสิทธิในความสัมพันธ์และการสมรสของผู้ที่มีความหลากหลายทางเพศ จัดทำโดยสถาบันเพื่อการยุติธรรมแห่งประเทศไทย (Thailand Institute of Justice : TIJ) กลับพบว่ากลุ่มชายไทย วัย ‘Baby Boomer’ (อายุ 57-75 ปี) ถึงร้อยละ 63 ‘ไม่เห็นด้วย’ กับการให้สิทธิใดๆ แก่คู่รักหลากหลายทางเพศเทียบเท่าคู่รักชายหญิง คิดเป็นสัดส่วนสูงที่สุดเมื่อเทียบกับผู้ตอบแบบสอบถามในช่วงเพศและวัยอื่นๆ

“ทุกวันนี้มีกี่เพศ เป็นเพศ หรือแค่ใจบอบบางไม่ปกติ”

“จะเป็นการสร้างปมให้ลูกหรือไม่”

“ตามกระแส ละคร หนังมีแต่พวกนี้ เพี้ยนกันไปหมด”

เหล่านี้คือความคิดเห็นส่วนหนึ่งจากคนกลุ่มดังกล่าวที่ปรากฏในแบบสำรวจ ซึ่งไม่เพียงแค่แสดงเหตุผลว่าทำไมพวกเขาถึงปฏิเสธกฎหมายสมรสเท่าเทียม แต่ยังสะท้อนภาพอคติทางเพศที่ยังดำรงอยู่ในสังคมปัจจุบัน

101 จึงชวนคนรุ่นเดียวกันอย่าง พักตร์วิไล สหุนาฬุ นักกิจกรรมความหลากหลายทางเพศ และผู้ประสานงานกลุ่มเยาวชนศีขรภูมิ วัย 58 ปี และกมลเศรษฐ์ เก่งการเรือ ผู้ก่อตั้งและเลขาธิการสมาคมฟ้าสีรุ้งแห่งประเทศไทย วัย 65 ปี มาร่วมพูดคุยประสบการณ์ในฐานะกลุ่มคนหลากหลายทางเพศผู้เติบโตมาในยุคปิตาธิปไตยเข้มข้น ทำความเข้าใจปรากฏการณ์ พร้อมเป็นอีกเสียงที่ยืนยันว่า ไม่ใช่บูมเมอร์ทุกคนที่ไม่เอา #สมรสเท่าเทียม

YouTube video

101 POSTSCRIPT คุยข่าวนอกสคริปต์ กับ วิสุทธิ์ คมวัชรพงศ์
EP.39 : คณิตศาสตร์ ๒ ป.

เกมการเมืองกลับสู่จังหวะชิงเหลี่ยม ชิงพริบอีกครั้ง เมื่อพลเอกประยุทธ์ส่งสัญญาณสนับสนุนสูตรคำนวณ ส.ส. แบบ ‘หาร 500’ ซึ่งมีโอกาสพาการเมืองไทยมั่วกว่าที่เคยเป็น

โจทย์คณิตศาสตร์การเมืองครั้งนี้กำลังบอกอะไร

คุยเบื้องลึกเบื้องหลังและจับกระแสการเมืองไทยไปพร้อมกันกับวิสุทธิ์ คมวัชรพงษ์ และกองบรรณาธิการ The101.world

YouTube video

101 POSTSCRIPT คุยข่าวนอกสคริปต์ กับ วิสุทธิ์ คมวัชรพงศ์
EP.40 : ลอบสังหารทางการเมือง

ข่าวการลอบสังหารนายชินโซ อาเบะ อดีตนายกรัฐมนตรีญี่ปุ่น สร้างความตกตะลึงให้กับคนการเมืองทั้งโลก และชวนสังคมให้ตั้งคำถามถึงการประหัตประหารทางการเมืองอย่างเป็นวงกว้าง

พร้อมกันนั้น ความเคลื่อนไหวของพรรคการเมืองก่อนอภิปรายไม่ไว้วางใจก็สะท้อนการต่อรองภายในของผู้มีอำนาจอย่างน่าจับตามอง

คุยเบื้องลึกเบื้องหลังและจับกระแสการเมืองไทยไปพร้อมกันกับวิสุทธิ์ คมวัชรพงษ์ และกองบรรณาธิการ The101.world

YouTube video

101 POSTSCRIPT คุยข่าวนอกสคริปต์ กับ วิสุทธิ์ คมวัชรพงศ์ EP.41 : สภากลางแปลง

‘ยุทธการเด็ดหัวสอยนั่งร้าน’ ‘No Time to Die’ ‘ตอกประตูปิดตาย ทลายระบอบประยุทธ์’

การอภิปรายไม่ไว้วางใจกำลังกลายเป็น ‘หนังกลางแปลง’ โปรแกรมใหญ่ให้ประชาชน คนทางบ้านได้ติดตามกันทั้งประเทศ

ใครเป็นพระเอก ใครเป็นผู้ร้าย ใครแย่งซีน ใครยอดเยี่ยม ใครยอดแย่ และพล็อตสุดท้ายจะหักมุมหรือไม่ – วิเคราะห์หนังโรงใหญ่พร้อมกันกับ วิสุทธิ์ คมวัชรพงษ์ และกองบรรณาธิการ The101.world

YouTube video

101 One-on-One Ep.269 “จากวิกฤตผู้นำ ถึงวิกฤตการเมืองสหราชอาณาจักร” กับ สมชัย สุวรรณบรรณ

การลาออกของบอริส จอห์นสันจากนายกรัฐมนตรีแห่งสหราชอาณาจักรนำมาซึ่งความไม่แน่นอนอีกครั้งต่ออนาคตการเมืองสหราชอาณาจักร การเมืองยุโรป และอาจรวมถึงการเมืองโลก

เกิดอะไรขึ้นที่นั่นทำไมวิกฤตส่วนตัวของผู้นำ จึงลุกลามกลายเป็นวิกฤตการเมืองใหม่ สังคมจะจดจำบอริสอย่างไร และอะไรคือความท้าทายที่รออยู่ของการเมืองสหราชอาณาจักร

101 ชวน สมชัย สุวรรณบรรณ คอลัมนิสต์เรื่องสังคมการเมืองสหราชอาณาจักร อดีตบรรณาธิการข่าวเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ วิทยุบีบีซี ลอนดอน และอดีตผู้อำนวยการองค์การกระจายเสียงและแพร่ภาพสาธารณะแห่งประเทศไทย (ไทยพีบีเอส) มาสำรวจ วิเคราะห์ และจับตาวิกฤตการเมืองสหราชอาณาจักรและนัยของการเปลี่ยนแปลงครั้งล่าสุด

ดำเนินรายการโดย วงศ์พันธ์ อมรินทร์เทวา บรรณาธิการ The101.world

YouTube video

101 One-on-One Ep. 270 อ่านเศรษฐกิจโลก เศรษฐกิจไทยครึ่งหลัง 2022 กับ
พิพัฒน์ เหลืองนฤมิตชัย

เศรษฐกิจโลกและเศรษฐกิจไทยกำลังเผชิญมรสุมชนิดที่ไม่มีใครคาดคิดมาก่อน จากที่เคยหวังว่าจะสามารถฟื้นตัวจากโควิด-19 ได้ แต่กลับต้องเจอสงครามยูเครน-รัสเซีย และเงินเฟ้อสูงจนต้องเปลี่ยนชุดนโยบายใหม่แทบทั้งหมด

101 ชวน ดร.พิพัฒน์ เหลืองนฤมิตชัย ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการ หัวหน้านักเศรษฐศาสตร์ และหัวหน้าฝ่ายวิเคราะห์เศรษฐกิจและการลงทุน กลุ่มธุรกิจการเงินเกียรตินาคินภัทร ประเมินสถานการณ์เศรษฐกิจโลก-เศรษฐกิจไทยครึ่งปีแรก เพื่อหาคำตอบว่า สังคมเศรษฐกิจไทยควรเดินหน้าอย่างไรในครึ่งปีหลัง

ดำเนินรายการโดย จิรัฐิติ ขันติพะโล

YouTube video

101 One-on-One Ep. 271 การเมืองหลังอภิปรายไม่ไว้วางใจ ระบอบประยุทธ์ได้ไปต่อ? กับ ชลน่าน ศรีแก้ว

หลังการอภิปรายไม่ไว้วางใจรัฐบาลประยุทธ์ครั้งสุดท้าย แม้เสียงในสภาจะลงมติ ‘ไว้วางใจ’ ให้ได้ไปต่ออย่างไม่เหนือความคาดหมาย แต่อาฟเตอร์เอฟเฟกต์ที่ตามมาสะท้อนแรงสั่นสะเทือนที่เกิดขึ้นในรัฐบาลปัจจุบัน

ทั้งเสียงโหวตที่เปลี่ยนแปลงไปของพรรคร่วมรัฐบาล เสียงโหวต ‘ไม่ไว้วางใจ’ ล้นหลามของประชาชนที่ร่วมโหวตคู่ขนานในช่องทางออนไลน์ รวมถึงภาพสลิป ‘แจกกล้วย’ พรรคเล็กที่ปลิวว่อนท้าทายองค์กรตรวจสอบ ทั้งหมดนี้เป็นสัญญาณนำมาสู่คำถามว่า รัฐบาลประยุทธ์ได้ไปต่อจริงหรือ?

101 ชวน นพ.ชลน่าน ศรีแก้ว สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจังหวัดน่าน หัวหน้าพรรคเพื่อไทยและผู้นำฝ่ายค้าน มองอาฟเตอร์เอฟเฟกต์ศึกซักฟอกรัฐบาลประยุทธ์ครั้งสุดท้าย สรุปบทเรียนยุทธการฝ่ายค้าน และประเมินภาพการเมืองไทยสู่การเลือกตั้งครั้งต่อไป

ดำเนินรายการโดย วิสุทธิ์ คมวัชรพงศ์

MOST READ

Spotlights

14 Aug 2018

เปิดตา ‘ตีหม้อ’ – สำรวจตลาดโสเภณีคลองหลอด

ปาณิส โพธิ์ศรีวังชัย พาไปสำรวจ ‘คลองหลอด’ แหล่งค้าประเวณีใจกลางย่านเมืองเก่า เปิดปูมหลังชีวิตหญิงค้าบริการ พร้อมตีแผ่แง่มุมเทาๆ ของอาชีพนี้ที่ถูกซุกไว้ใต้พรมมาเนิ่นนาน

ปาณิส โพธิ์ศรีวังชัย

14 Aug 2018

Spotlights

4 Nov 2020

101 Policy Forum : ประเทศไทยในฝันของคนรุ่นใหม่

101 เปิดวงสนทนาพูดคุยกับตัวแทนวัยรุ่น 4 คน ณัฐนนท์ ดวงสูงเนิน , สิรินทร์ มุ่งเจริญ, ภาณุพงศ์ สุวรรณหงษ์, อัครสร โอปิลันธน์ ว่าด้วยสังคม การเมือง เศรษฐกิจไทยในฝัน ต้นตอที่รั้งประเทศไทยจากการพัฒนา ข้อเสนอเพื่อพาประเทศสู่อนาคต และแนวทางการพัฒนาและสนับสนุนคนรุ่นใหม่

กองบรรณาธิการ

4 Nov 2020

Spotlights

30 Jun 2020

“ไม่มี Theory of Everything ในโลกของ IR” จิตติภัทร พูนขำ

101 สนทนากับ จิตติภัทร พูนขำ เกี่ยวกับองค์ความรู้และโลกของ IR ไปจนถึงการเรียนการสอน และการปรับตัวของ IR ในยุคที่โลกผันผวนและเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว

กานต์ธีรา ภูริวิกรัย

30 Jun 2020

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • Always Active

Save