fbpx

สามก๊กการเมืองโลก: ประเทศไทยและอาเซียนอยู่ที่ตรงไหน

ปิติ ศรีแสงนาม และ แทนคุณ จิตต์อิสระ – เรื่อง

สามก๊ก คือนวนิยายอิงประวัติศาสตร์ระดับโลกที่ประพันธ์โดย หลัว ก้วนจง (羅貫中 Luó Guànzhōng) ในช่วงปลายราชวงศ์หยวน (มองโกล, ค.ศ. 1271-1368) จนถึงช่วงตอนต้นของราชวงศ์หมิง (ค.ศ.1368-1644) เพื่อสร้างแคมเปญในการสนับสนุนการฟื้นฟูประเทศจีนที่ปกครองโดยชาวฮั่น โดยยกเอาความวุ่นวายในช่วงแผ่นดินแตกแยกออกเป็น 3 ฝ่ายในช่วงหลังราชวงศ์ฮั่น (ค.ศ. 220-280) ขึ้นมาทำให้มีมีสีสัน ใส่ดราม่า รวมทั้งยังแทรกเอาภูมิปัญญาทางด้านภูมิรัฐศาสตร์และพิชัยสงครามเข้าไว้ในเนื้อหาจดหมายเหตุสามก๊ก (Records of the Three Kingdoms 三國志 Sānguó Zhì) ที่ว่าด้วยการอยู่ร่วมกัน พึ่งพากัน แบ่งแยก แตกแยก ปะทะ ช่วงชิงอำนาจ และในขณะเดียวกันก็ถ่วงดุลอำนาจซึ่งกันและกันผ่านการวางยุทธศาสตร์ กลยุทธ์ กลวิธีต่างๆ ในหลากหลายสนามรบ ตลอดจนหลากหลายศึก เรียงร้อยเข้าด้วยกันจนกลายเป็นมหาสงครามที่ระเบียบความสัมพันธ์ทางการเมืองภายในแผ่นดินจีนมีการเปลี่ยนแปลงอย่างที่สุด ผ่านผู้เล่น 3 ฝ่าย หรือ 3 ก๊ก อันได้แก่

  1. รัฐเว่ย์ หรือ วุยก๊ก (魏 Wèi) ที่มีผู้วางรากฐานของชุมนุมคือ เฉา เชา หรือ โจโฉ (曹操 Cáo Cāo) ที่พยายามวางระเบียบกฎเกณฑ์เพื่อเป็นผู้คุมกฎของทั้งแผ่นดิน ผ่านการสร้างและเลี้ยงดูลูกน้องและพันธมิตร ในขณะที่ตนเองก็มีมือที่เปื้อนเลือด และแสดงออกถึงความฉ้อฉล ทรยศหักหลังในหลากหลายวาระ
  2. รัฐฉู่ หรือ จ๊กก๊ก (蜀 shŭ ) ซึ่งมีเชื้อพระวงศ์ราชวงศ์ฮั่นระดับปลายแถวอย่าง หลิว เป้ย์ หรือ เล่าปี่ (刘备 Liú Bèi) เป็นผู้นำ โดยวางคาแรกเตอร์ให้เล่าปี่เป็นชายผู้อ่อนน้อมถ่อมตน แต่ก็พยายามพัฒนาตนเองอย่างต่อเนื่อง และฉลาดในการใช้ทรัพยากรมนุษย์ ผ่านการวางยุทธศาสตร์ที่แยบคายผ่านที่ปรึกษาที่ชาญฉลาดอย่าง จูเก่อ เลี่ยง หรือ ขงเบ้ง (诸葛亮 Zhūgě Liàng) และขุนศึกมากฝีมือจำนวนมาก (เมื่อเปรียบเทียบกับก๊กอื่นๆ)
  3. รัฐอู๋ หรือ ง่อก๊ก (吳 Wú) ที่ควบคุมพื้นที่สำคัญในทางยุทธศาสตร์ที่เป็นทั้งแหล่งทรัพยากร เมืองท่า คุมเส้นทางการค้า ดังนั้นถึงแม้ว่า ง่อก๊ก จะดูเหมือนเป็นรัฐที่ไม่ได้รุกรบรุนแรงเสมือน 2 ก๊กแรก แต่ทุกครั้งที่ก๊กนี้ขยับขยาย เปลี่ยนแปลงยุทธศาสตร์ และ/หรือ เปลี่ยนแปลงผู้นำ ก็ล้วนแล้วแต่มีผลสะเทือนเลื่อนลั่นไปทั้งแผ่นดิน โดยผู้นำคนสำคัญของง่อก๊กคือ ซุนกวน (孙权 Sūn Quán)

จากการทบทวนสถานการณ์การเปลี่ยนแปลงระเบียบโลก ณ ปัจจุบัน และสร้างภาพอนาคต (strategic foresight) ต่อไปในอนาคต ผู้เขียนเปรียบเทียบนวนิยายอิงประวัติศาสตร์ สามก๊ก กับระเบียบโลกใหม่ โดยมีผู้เล่นทั้ง 3 ที่ต่างก็ต้องพึ่งพา แข่งขัน ต่อสู่ และถ่วงดุลซึ่งกันและกัน อันได้แก่

  • สหรัฐอเมริกา

    สหรัฐฯ คือมหาอำนาจผู้ควบคุมระเบียบโลกทางความมั่นคงผ่านกองกำลังที่แข็งแกร่ง และมีการวางกำลังในรูปแบบกองบัญชาการในพื้นที่ต่างๆ ทั่วโลก โดยเฉพาะในพื้นที่แห่งความขัดแย้ง อาทิ กองบัญชาการกองทัพสหรัฐภาคพื้นอินโด-แปซิฟิก (USIDOPACOM) กองบัญชาการกองทัพสหรัฐภาคพื้นยุโรป (USEUCOM) และการสร้างพันธมิตรความความมั่นคงอาทิ NATO, AUKUS, QUAD และในมิติการควบคุมระเบียบโลกทางเศรษฐกิจ การค้า การลงทุนระหว่างประเทศเอง สหรัฐฯ ก็เป็นผู้กำหนดกฎเกณฑ์ กติกาผ่านองค์การระหว่างประเทศ อาทิ ธนาคารโลก กองทุนการเงินระหว่างประเทศ และองค์การการค้าโลก ซึ่งวางอยู่บนแนวคิดโลกาภิวัตน์ เป็นมหาอำนาจในมิติปทัสฐานสากล ที่ผลักดันแนวคิดเสรีนิยมประชาธิปไตยแบบตะวันตก (Western Liberal Democracy) ที่ดูเสมือนว่า สหรัฐฯ จะเป็นเพียงขั้วอำนาจเดียว (unipolarity) ในการวางระเบียบโลกแต่เพียงผู้เดียว (hegemon) มาอย่างต่อเนื่องตั้งแต่การล่มสลายของสหภาพโซเวียตในปี 1991 ซึ่งนับเป็นจุดสิ้นสุดของสงครามเย็น อย่างไรก็ตาม ในทศวรรษที่ผ่านมาสัญญาณหลายประการก็เริ่มแสดงให้เห็นว่า ระเบียบโลกที่สหรัฐฯ ควบคุมนี้กำลังอยู่ในภาวะถดถอย และสหรัฐฯ เองก็มีการวางยุทธศาสตร์ใหม่ เพื่อแสวงหาแนวทางในการรักษาสถานะความเป็นเจ้า (Hegemon) เช่นนี้ไว้

    สถานการณ์เช่นนี้ทำให้สหรัฐฯ ณ ปัจจุบัน เทียบได้กับรัฐเว่ย์ หรือ วุยก๊ก ที่นำโดย โจโฉ นั่นคือ การมีอำนาจ มีกองกำลัง มีกฎเกณฑ์ กฎระเบียบ หนุนหลัง แต่ก็ต้องอย่าลืมว่าการขึ้นสู่สถานะ hegemon ของสหรัฐฯ เองก็เกิดขึ้นโดยมีประวัติศาสตร์ที่เปื้อนเลือด ทรยศ หักหลังมาอย่างมากมายเช่นกัน ไม่ว่าจะเป็นกรณีสงครามเกาหลี สงครามอินโดจีนครั้งที่ 2 และ ครั้งที่ 3 (สงครามเวียดนาม และสงครามกัมพูชา) และสงครามในตะวันออกกลางในหลากหลายวาระ ที่สร้างพันธมิตร และในที่สุดก็หักหลังจนพันธมิตรกลายเป็นศัตรูที่มีเขี้ยวเล็บ (อาทิ Saddam Hussein, Osama bin Laden และ ISIS) รวมทั้งการใช้อำนาจที่ตนมีอย่างบิดเบี้ยวในกรณีการสนับสนุนอิสราเอลให้รุกรานประเทศเพื่อนบ้านได้ในหลากหลายวาระ สมกับที่โชติ แพร่พันธุ์ เจ้าของนามปากกา ‘ยาขอบ’ ตั้งสมญา โจโฉ เอาไว้ว่า “โจโฉ ผู้ไม่ยอมให้โลกทรยศ” เช่นเดียวกับที่ ม.ร.ว. คึกฤทธิ์ ปราโมช ขนานนามโจโฉ ที่ต้องทำทุกอย่างเพื่อรักษาความเป็น “โจโฉ นายกฯ ตลอดกาล”
  • สาธารณรัฐประชาชนจีน

    แน่นอนว่าในอดีต จีนเองคือประเทศที่ถูกเรียกว่าเป็นคนป่วยแห่งเอเชีย ประวัติศาสตร์จีนร่วมสมัยในช่วงของการปฏิรูปเศรษฐกิจในปี 1976-1993 จึงเป็นการเดินสายเรียนรู้ ทบทวน ประวัติศาสตร์ สร้างการทดลอง เปิดพื้นที่ ปรับปรุงตนเอง แบบอ่อนน้อมถ่อมตน โดยผู้นำรุ่นที่ 2 อย่างเติ้ง เสี่ยวผิง เช่นเดียวกับ เชื้อพระวงศ์ปลายแถวลูกชายร้านทอเสื่ออย่างเล่าปี่ ผู้ที่ยาขอบขนานนามว่า “เล่าปี ผู้พนมมือให้แก่ชนทุกชั้น” แน่นอนว่าจีนเองก็มีคนอย่างโจว เอินไหล, เติ้ง เสี่ยวผิง และทายาททางการเมืองอย่าง เจียง เจ้อหมิน, หู จิ่นเทา ในฐานะผู้นำและมีทีมงานขุนศึกทั้งสายบู๋และสายบุ๋นที่เข้มแข็งและชาญฉลาดอย่าง หลี่ เผิง, จู หรงจี้, เวิน เจียเป่า ฯลฯ ซึ่งในที่สุดทำให้รัฐจีน ที่เริ่มต้นจากคนป่วยแห่งเอเชีย พัฒนาฟื้นฟูพลังอำนาจของชาติจนขึ้นมาเป็นมหาอำนาจทางเศรษฐกิจอันดับ 1 ของโลก (ในมิติ GDP:PPP) โดยครองส่วนแบ่งใหญ่ที่สุดมากกว่า 18% ของมูลค่าเศรษฐกิจในโลกได้ในยุคของผู้นำคนปัจจุบัน สี จิ้นผิง

    จีนก็เป็นเฉกเช่นเดียวกับรัฐฉู่ หรือ จ๊กก๊ก ที่พัฒนาตนเองขึ้นมาจากพื้นที่แห้งแล้ง กันดารที่สุดของจีนทางตะวันตก จนกลายเป็น 1 ใน 3 ก๊กที่ทัดเทียบถ่วงดุลกับ วุยก๊ก และง่อก๊ก ซึ่งแน่นอนว่า ปัจจุบัน จีนคือผู้ที่มีศักยภาพสูงสุดในการท้าทายการเป็นมหาอำนาจเชิงเดี่ยวของสหรัฐฯ มหายุทธศาสตร์ความริเริ่มแถบและเส้นทาง (Belt and Road Initiative – BRI) ที่พัฒนาต่อยอดเป็น Global Development Initiative (GDI) กลายเป็นเครื่องมือสำคัญในการสร้างมิตรประเทศที่จะสนับสนุนให้จีนขึ้นเป็นมหาอำนาจในมิติความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ เช่นเดียวกับที่เป็นเครื่องมือสำคัญในการขยายโอกาสพัฒนาการทางเศรษฐกิจที่ทำให้จีนมีโอกาสแซงหน้าสหรัฐฯ ขึ้นเป็นมหาอำนาจทางเศรษฐกิจของโลกในมิติ GDP โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อประธานาธิบดีสี จิ้นผิง เองจะยังคงดำรงตำแหน่งผู้นำสูงสุดของจีนต่อไปอีกอย่างน้อย 1 วาระ ก็ยิ่งทำให้จีนมีเสถียรภาพสูงยิ่งขึ้นในภาวะที่ทั่วโลกกำลังสัดส่ายปราศจากเสถียรภาพ
  • คำถามที่สำคัญคือ ใครคือก๊กที่สาม สำหรับผู้เขียน ในระยะยาว หากอ้างอิงจากสามก๊ก พวกเราพิจารณาว่า ‘โลกมุสลิม‘ คือตัวแปรสำคัญที่จะกลายเป็นขั้วที่ 3 ในเกม 3 ก๊กแห่งศตวรรษที่ 21

    แม้ว่าโลกมุสลิมจะไม่ได้หมายถึงประเทศใดประเทศหนึ่งหรือรัฐใดรัฐหนึ่ง เหมือนอย่างสหรัฐฯ และจีน ในฐานะ 2 ก๊กแรก แต่ในโลกมุสลิมเอง ความเชื่อมโยงในมิติศาสนา สังคม และวัฒนธรรม กลับมีความเชื่อมโยงถึงกันและกันในรูปแบบที่หยั่งรากลึกซึ้งมากขึ้นอย่างต่อเนื่อง อย่าลืมว่าเมื่อ 30 ปีที่แล้ว อินโดนีเซีย ซึ่งเป็นประเทศที่มีประชากรนับถือศาสนาอิสลามมากที่สุดในโลก ก็ไม่ได้มีแนวทางปฏิบัติตนตามวิถีมุสลิมที่เข้มงวดเท่ากับระดับที่เป็นอยู่ในปัจจุบัน เช่นเดียวกับที่มูลค่าทางเศรษฐกิจของผลิตภัณฑ์และบริการที่ตรงตามหลักการทางศาสนาอิสลามเอง อาทิ อาหาร ยา เวชภัณฑ์ และเครื่องสำอาง ตามหลักการฮาลาล บริการทางการเงินตามหลักการชะรีอะห์ภิบาล (Shariah Governance) ก็มีมูลค่าสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง ควบคู่ไปกับจำนวนประชากรโลกที่นับถือศาสนาอิสลามเองก็มีแนวโน้มเพิ่มสูงขึ้นเรื่อยๆ และต้องอย่าลืมว่า ประเทศในโลกมุสลิมมีความผูกพันกันตามหลักการดังที่อัลเลาะห์ตรัสว่า “แท้จริงบรรดาผู้ศรัทธานั้นเป็นพี่น้องกัน” (ซูเราะห์ อัลหุญุร๊อต : 10)

    โลกมุสลิม หากจะเปรียบ ก็เป็นเสมือนกับรัฐอู๋ หรือ ง่อก๊ก ที่ควบคุมเส้นทางการค้า ควบคุมแหล่งทรัพยากรสำคัญของโลก โดยเฉพาะการควบคุมความมั่นคงทางพลังงาน อีกทั้งหลายๆ ประเทศก็ควบคุมความมั่นคงทางอาหารในระดับภูมิภาค เช่นเดียวกับที่หลักการทางศาสนาที่ทำให้โลกมุสลิมมีทรัพยากรมนุษย์ที่ไม่สุ่มเสี่ยงที่จะเข้าสู่ภาวะสังคมสูงวัยและภาวะขาดแคลนแรงงาน

    และต้องอย่าลืมด้วยว่าประเด็นอ่อนไหวที่เป็นประเด็นการเมืองความมั่นคงภายในของประเทศมหาอำนาจอีก 2 ก๊ก ก็ล้วนแล้วแต่มีประเด็นความขัดแย้งกับก๊กที่ 3 นี้ ไม่ว่าจะเป็นประเด็นการเหยียดทางชาติพันธุ์และวิถีความเชื่อ เห็นจากความแตกต่างทางสังคมวัฒนธรรมที่เป็นบาดแผลภายในสหรัฐฯ เช่นเดียวกับที่ประเทศจีนก็มีประเด็นในเขตปกครองตนเองซินเจียงอุยกูร์ ซึ่งถือเป็นพื้นที่เปราะบางสูงเช่นกัน ในทางอุดมการณ์ หากสหรัฐฯ และพันธมิตรในยุโรปต้องการปกป้องวิถีเสรีนิยมประชาธิปไตยแบบโลกตะวันตก ที่มองว่าวิถีทางการเมืองและเศรษฐกิจของจีนเป็นระบอบอำนาจนิยม ปัญหานี้ก็ยังคงคุกกรุ่นเช่นกัน เพราะบทบัญญัติและวิถีปฏิบัติทางการเมือง เศรษฐกิจ และสังคม ของหลากหลายประเทศในโลกมุสลิมก็ถือได้ว่าเป็นรูปแบบที่ตะวันตกอย่างสหรัฐฯ และยุโรปก็ไม่อาจยอมรับได้

ปฏิสัมพันธ์การหลีกเลี่ยงการปะทะในหลากหลายมิติระหว่าง 3 ก๊กแห่งศตวรรษที่ 21 คงเป็นเรื่องที่หลบเลี่ยงได้ยาก เนื่องจากในปัจจุบันนี้ สิ่งที่เรากำลังเห็นอย่างต่อเนื่องคือการปะทะระหว่างมหายุทธศาสตร์ความริเริ่มแถบและเส้นทางที่จีนใช้เพื่อต้องการขยายอำนาจและอิทธิพลทางเศรษฐกิจ ในขณะที่สหรัฐฯ ก็พยายามสร้างพันธมิตรเพื่อการปิดล้อมจำกัดเขตการขยายอิทธิพลนี้ของจีนผ่านมหายุทธศาสตร์อินโด-แปซิฟิก ซึ่งมีการวางยุทธศาสตร์ทั้งในมิติการเมือง ความมั่นคง และเศรษฐกิจ

แน่นอนว่าตัวแปรสำคัญคือก๊กที่ 3 หรือโลกมุสลิม ซึ่งในทางหนึ่งก็ยังไม่สามารถมีความสนิทใจ (trust crisis) กับก๊กจีน เนื่องจากประเด็นซินเจียงยังคงมีเครื่องหมายคำถามตัวใหญ่ๆ แต่ด้วยผลประโยชน์ทางเศรษฐกิจที่จีนนำเสนอ ประกอบกับกระบวนการสร้างความไว้เนื้อเชื่อใจ (trust building) ที่จีนเองก็ทำงานหนัก อาจจะทำให้ก๊กโลกมุสลิมสามารถหาจุดร่วมกับจีนได้ง่ายกว่า เมื่อเปรียบเทียบกับบาดแผลตลอดประวัติศาสตร์ที่สหรัฐฯ เคยเข้าไปสร้างเอาไว้ในกลุ่มประเทศโลกมุสลิม โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อโลกมุสลิมเองก็พิจารณาว่ายุโรปซึ่งก็มีบาดแผลทางประวัติศาสตร์จำนวนมากกับกลุ่มนี้ เป็นพันธมิตรของสหรัฐฯ ที่ต้องการปกป้องวิถีเสรีนิยมประชาธิปไตยแบบโลกตะวันตก

สมการแห่งดุลอำนาจในเกมสามก๊กคือ 1 + 1 – 1 = 1 เมื่อฝ่ายหนึ่งร่วมมือกับฝ่ายหนึ่งเพื่อล้มล้างอีกฝ่ายหนึ่ง แต่สิ่งที่เหลือต่อจากการจับมือกันก็มักจะกลายเป็นการหักหลังกันเสมอ และในที่สุดระเบียบโลกใหม่เพียง 1 ก็จะเกิดขึ้น โดยปัจจัยสำคัญในแต่ละฝ่ายคือความอ่อนแอเปราะบางจากภายใน ซึ่งอาจทำให้ฝ่ายหรือก๊กนั้นล่มสลายไปเองด้วยซ้ำ

แล้วในอาเซียน ใครอยู่ที่ฝ่ายไหนบ้าง แน่นอนว่า ในโลกความเป็นจริง คงไม่มีใครประกาศว่าเราเลือกข้างไหน ทุกคนต้องการดำรงความเป็นกลาง ไม่เลือกข้าง แต่ในทางปฏิบัติเอง หลายๆ ประเทศก็ถูกประชาคมนานาชาติพิจารณา (ตีตรา) ไปแล้วว่า เขาอยู่ฝ่ายนั้น เขาอยู่ฝ่ายนี้ และในประชาคมอาเซียนก็เช่นกัน

ถ้าพิจารณาตามข้อสมมติเช่นนี้ อาเซียนเองก็อาจจะถูกแยกออกเป็น 4 กลุ่ม อันได้แก่ ประเทศสมาชิกอาเซียนที่อยู่ในเขตอิทธิพลของสหรัฐอเมริกา อันได้แก่ สิงคโปร์ ฟิลิปปินส์ และระยะหลังๆ เราเริ่มมองเห็นเวียดนามที่ยึดวิธีคิดแบบ ‘ให้อภัยแต่ไม่ลืม’ (Forgive but Never Forget) ยอมจับมือกับสหรัฐฯ และใช้ปมขัดแย้งในอดีตกรณีสงครามอินโดจีนครั้งที่ 2 หรือสงครามอเมริกัน-เวียดนาม เป็นการสร้างอำนาจต่อรองกับสหรัฐฯ

ในขณะที่ประเทศสมาชิกอาเซียนที่อยู่ในเขตอิทธิพลของจีน ก็น่าจะได้แก่ สปป.ลาว กัมพูชา และเมียนมา ซึ่งแน่นอนว่าด้วยสถานการณ์การเมืองภายใน และข้อจำกัดทางเศรษฐกิจ ทำให้ 3 ประเทศนี้มีแนวโน้มที่จะนิยมจีนมากกว่าสหรัฐ

และในก๊กที่ 3 นั่นคือโลกมุสลิม เราก็เห็นได้ว่า อินโดนีเซีย ซึ่งเป็นประเทศมุสลิมที่ใหญ่ที่สุดในโลกทั้งในมิติประชากรและขนาดพื้นที่ ร่วมกับมาเลเซีย และบรูไนดารุสซาลาม เป็นผู้เล่นสำคัญในก๊กโลกมุสลิมนี้

และต้องไม่ลืมว่า ในท่ามกลาง 3 ก๊กอาเซียนที่ยากที่จะแนบสนิทเป็นเนื้อเดียว ใครคือผู้ที่พร้อมที่จะทำหน้าที่ประสานและผลักดันจนอาเซียนเดินหน้ามาถึงตลอด 55 ปีจนถึงจุดที่เป็นมาอย่างทุกวันนี้ ใครคนนั้นก็คือ ‘ประเทศไทย’ ที่ในด้านหนึ่งคือพันธมิตรที่เก่าแก่ที่สุดของสหรัฐฯ ในภูมิภาค (The Oldest Treaty Allies in Asia) โดยประเทศไทยอยู่ในสถานะพิเศษทางด้านความมั่นคงกับสหรัฐฯ ในฐานะ Major Non-NATO Ally (MNNA) มาตั้งแต่ทศวรรษ 1960s โดยไทยและสหรัฐฯ ก็เป็นพันธมิตรร่วมจัดการซ้อมรบทางการทหารที่ยิ่งใหญ่ที่สุดในเอเชียในนาม Cobra Gold มาตั้งแต่ปี 1982 สิ่งที่น่าสนใจคือ ทุกครั้งที่มีการซ้อมรบกัน ฝ่ายไทยจะเชิญฝ่ายจีนเข้ามาเป็นผู้สังเกตการณ์ในการร่วมซ้อมรบเสมอ เช่นเดียวกับที่สหรัฐฯ และจีนก็ผลัดกันขึ้น-ลง เป็นคู่ค้าอันดับที่ 1 ของไทยในตลอดประวัติศาสตร์ที่ผ่านมา

ต่อฝ่ายจีน ความสัมพันธ์ระหว่างราชอาณาจักรสยามและราชวงศ์ต่างๆ ของจีนมีมาอย่างต่อเนื่องยาวนาน และไม่ขาดสาย และต้องอย่าลืมสายสัมพันธ์ที่ดีที่สุดนั่นคือคนไทยเชื้อสายจีน ที่มีความสัมพันธ์ที่ดีกับจีนในทุกมิติและในทุกระดับ ปัจจุบันจีนคือผู้ลงทุนรายใหญ่ที่สุดในไทยและในอาเซียน เช่นเดียวกับมูลค่าการค้าที่ขยายตัวอย่างต่อเนื่องในทุกๆ ปี ไทยและจีนเป็นพันธมิตรทางยุทธศาสตร์กันในทุกมิติและในทุกระดับ

และสำหรับโลกมุสลิม ความร่วมมือที่ใหญ่และเป็นทางการที่สุดของโลกมุสลิมคือ Organisation of Islamic Cooperation (OIC) ซึ่งปัจจุบันมีประเทศสมาชิก 57 ประเทศ ซึ่งมีประชากรรวมกันมากกว่า 2 พันล้านคน และประเทศไทยของเราก็ร่วมเป็นหนึ่งในประเทศผู้สังเกตการณ์ในกรอบความร่วมมือนี้มาตั้งแต่ปี 1998

ดังนั้นหากจุดยืนของประเทศไทยในเวทีความสัมพันธ์ระหว่างประเทศคือการรักษาผลประโยชน์ของประเทศไทยอย่างแข็งขัน การเข้าร่วมเป็นพันธมิตรกับทุกฝ่ายอย่างจริงใจ แสวงหามิตร ไม่สร้างศัตรู น่าจะเป็นทางออกทางยุทธศาสตร์ที่ดีที่สุด ในเกมสามก๊กแห่งศตวรรษที่ 21 ที่มีสมการหลักคือ 1 + 1 – 1 = 1 เพราะ 1 ฝ่ายที่จะคงอยู่ได้คือฝ่ายที่รู้จักแสวงจุดร่วม สงวนจุดต่าง

MOST READ

World

1 Oct 2018

แหวกม่านวัฒนธรรม ส่องสถานภาพสตรีในสังคมอินเดีย

ศุภวิชญ์ แก้วคูนอก สำรวจที่มาที่ไปของ ‘สังคมชายเป็นใหญ่’ ในอินเดีย ที่ได้รับอิทธิพลสำคัญมาจากมหากาพย์อันเลื่องชื่อ พร้อมฉายภาพปัจจุบันที่ภาวะดังกล่าวเริ่มสั่นคลอน โดยมีหมุดหมายสำคัญจากการที่ อินทิรา คานธี ได้รับเลือกให้เป็นนายกรัฐมนตรีหญิงคนแรกในประวัติศาสตร์

ศุภวิชญ์ แก้วคูนอก

1 Oct 2018

World

16 Oct 2023

ฉากทัศน์ต่อไปของอิสราเอล-ปาเลสไตน์ ความขัดแย้งที่สั่นสะเทือนระเบียบโลกใหม่: ศราวุฒิ อารีย์

7 ตุลาคม กลุ่มฮามาสเปิดฉากขีปนาวุธกว่า 5,000 ลูกใส่อิสราเอล จุดชนวนความขัดแย้งซึ่งเดิมทีก็ไม่เคยดับหายไปอยู่แล้วให้ปะทุกว่าที่เคย จนอาจนับได้ว่านี่เป็นการต่อสู้ระหว่างอิสราเอลกับปาเลสไตน์ที่รุนแรงที่สุดในรอบทศวรรษ

จนถึงนาทีนี้ การสู้รบระหว่างอิสราเอลกับปาเลสไตน์ยังดำเนินต่อไปโดยปราศจากทีท่าของความสงบหรือยุติลง 101 สนทนากับ ดร.ศราวุฒิ อารีย์ ผู้อำนวยการศูนย์มุสลิมศึกษา สถาบันเอเชียศึกษา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ถึงเงื่อนไขและตัวแปรของความขัดแย้งที่เกิดขึ้น, ความสัมพันธ์ระหว่างอิสราเอลและรัฐอาหรับ, อนาคตของปาเลสไตน์ ตลอดจนระเบียบโลกใหม่ที่ก่อตัวขึ้นมาหลังยุคสงครามเย็น

พิมพ์ชนก พุกสุข

16 Oct 2023

World

9 Sep 2022

46 ปีแห่งการจากไปของเหมาเจ๋อตง: ทำไมเหมาเจ๋อตง(โหด)ร้ายแค่ไหน คนจีนก็ยังรัก

ภัคจิรา มาตาพิทักษ์ เขียนถึงการสร้าง ‘เหมาเจ๋อตง’ ให้เป็นวีรบุรุษของจีนมาจนถึงปัจจุบัน แม้ว่าเขาจะอยู่เบื้องหลังการทำร้ายผู้คนจำนวนมหาศาลในช่วงปฏิวัติวัฒนธรรม

ภัคจิรา มาตาพิทักษ์

9 Sep 2022

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • Always Active

Save