fbpx

‘วันแม่’ สมัยผู้นำคณะราษฎร

“จะส้างพลเมืองไห้ดีต้องส้างแม่ก่อน”

จอมพล ป. พิบูลสงคราม[1]

หลักการ ‘ผัวเดียวเมียเดียว’ (Monogamy) นับเป็นหนึ่งในความเปลี่ยนแปลงสำคัญที่คณะผู้ก่อการ 2475 หรือคณะราษฎรกำหนดทิศทางให้กับสังคมไทยยึดถือเป็นสรณะ เมื่อสามารถตรากฎหมายกลาง พ.ศ. 2478[2] ที่ปรับภาพลักษณ์เดิมจากสังคมศักดินาล้าหลัง ‘ผัวเดียวมากเมีย’ (Polygyny) เลื่อนระดับขึ้นสู่สังคม ‘ศิวิไลซ์’ ตามแบบโลกสมัยใหม่จนเป็นที่ยอมรับแก่นานาประเทศ อีกทั้งยังนับเป็นหมุดหมายสำคัญต่อการก่อร่างสร้างพื้นฐานสังคมไทยในระบอบใหม่ผ่านความเข้มแข็งของสถาบันครอบครัว

ค่านิยมใหม่ที่สังคมไทยสมาทานนี้ย่อมหมายถึงการให้คุณค่าต่อสตรีเพศในฐานะของความเป็น ‘แม่’ ดังเช่นประโยคเกริ่นนำข้างต้นของจอมพล ป.พิบูลสงคราม เมื่อครั้งริเริ่มจัดงานวันแม่ครั้งแรกต้น พ.ศ. 2486 (ปีที่ 11 หลังเปลี่ยนแปลงการปกครอง) ที่ว่า “จะสร้างพลเมืองให้ดี ต้องสร้างแม่ก่อน”


กฎหมาย ‘ผัวเดียวเมียเดียว พ.ศ. 2478’ ฉบับแรกสุดสมัยหลังเปลี่ยนแปลงการปกครอง สังเกตข้อ (๓) ชายหรือหญิงมิได้เป็นคู่สมรสของบุคคลอื่นอยู่


ปฏิวัติวัฒนธรรมจาก ‘อย่างอ่อน’ สู่ ‘อย่างแข็ง’
ในสมัยจอมพล ป.พิบูลสงคราม พ.ศ. 2481-2487


“จอมพล ป. นั่งเก้าอี้นายกรัฐมนตรีสมัยแรกนานเกือบ 6 ปี แถมกุมอำนาจในมือค่อนข้างเด็ดขาด ด้วยเหตุนี้ จึงสามารถผลักดันนโยบายหลายด้าน ทั้งเรื่องเศรษฐกิจ กองทัพ การศึกษา คมนาคมขนส่ง สาธารณสุข วัฒนธรรม ฯลฯ ต่อให้ใครวิจารณ์รุนแรงแค่ไหน ป้าจีร์ภูมิใจและเชื่อมั่นเสมอว่า นโยบายของ จอมพล ป. ล้วนเป็นประโยชน์ต่อชาติบ้านเมือง”[3]

ประเทศไทยเข้าร่วมวงไพบูลย์สงครามมหาเอเชียบูรพาเมื่อวันที่ 25 มกราคม 2485 อันนับเป็นปีที่ 10 ที่ผู้ก่อการ 2475 ในนาม ‘คณะราษฎร’ ได้กุมอำนาจรัฐ ทั้งยังนับเป็นการเข้าสู่ปีที่ 4 ในตำแหน่งนายกรัฐมนตรีของจอมพล ป.พิบูลสงคราม

บรรยากาศสังคมไทยเมื่อนั้นยิ่งเพิ่มความเข้มข้นขึ้นกับการรณรงค์นโยบายชาตินิยมสืบเนื่องต่อจากการทยอยประกาศรัฐนิยมจำนวน 12 ฉบับช่วง 3 ปีก่อนหน้า (พ.ศ. 2482-2485) เช่นการเปลี่ยนชื่อสยามเป็นไทย (2482) การปรับเปลี่ยนวันขึ้นปีใหม่จาก 1 เมษายน เป็น 1 มกราคมตามปฏิทินสากล (2484) การสนับสนุนไทยทำไทยใช้ การแต่งกายตามสากล การยกเลิกกินหมาก ฯลฯ[4] ซึ่งอาจเรียกได้ว่ายังเป็นเพียงการ ‘ปฏิวัติวัฒนธรรมอย่างอ่อน’

ครั้นเมื่อเข้าสู่ภาวะสงคราม รัฐไทยขณะนั้นได้เพิ่มความเข้มงวดด้านการปกครองและขับเน้นสำนึกชาตินิยมจนนำพาประเทศเข้าสู่การ ‘ปฏิวัติวัฒนธรรมอย่างแข็ง’[5] (พ.ศ. 2485-2487) ภายใต้สโลแกน “วัธนธัมดี มีศีลธัมดี มีอนามัยดี มีการแต่งกายอันเรียบร้อยดี มีที่พักอาศัยดี และมีที่ทำมาหากินดี”[6]  เช่น การปฏิวัติภาษากลางปีเดียวกันกับวันเกิดท่านผู้นำ 14 กรกฎาคม 2485 พร้อมทั้งจัดตั้งวรรณคดีสมาคม และถัดมาเพียงสองเดือนเศษ รัฐบาลจึงเริ่มตราพระราชบัญญัติวัฒนธรรมแห่งชาติเมื่อวันที่ 29 กันยายน 2485[7] โดยก่อตั้งสภาวัฒนธรรมแห่งชาติเพื่อรองรับกฎหมายนี้เป็นการเฉพาะ ซึ่งรวมถึงกวดขันการยืนเคารพธงชาติ[8]

แนวนโยบายดังกล่าวยังแตกแขนงหยั่งรากลงสู่การสาธารณสุข โดยเฉพาะเรื่องสุขภาพพลานามัยของประชาชน การส่งเสริมหลักการครองเรือนเพื่อเพิ่มปริมาณและคุณภาพของพลเรือนอันเป็นบ่อเกิดสำคัญของการ ‘สร้างชาติ’ ที่ท่านผู้นำในยามนั้นประสงค์จะนำพาประเทศไทยขึ้นสู่ความเป็น ‘อารยประเทศ’ วันที่ 1 กันยายน พ.ศ. 2485 รัฐบาลจอมพล ป.พิบูลสงคราม ได้ก่อตั้ง ‘องค์การส่งเสริมการสมรส’ ขึ้นโดยมีปลัดกระทรวงสาธารณสุขเป็นประธาน เป้าหมายเพื่อส่งเสริมให้คนแต่งงานกันมากขึ้น และเพิ่มจำนวนประชากรให้ได้ 30-40 ล้านคนภายในเวลา 20-30 ปี เพื่อนำไทยไปสู่ความเป็นมหาอำนาจ[9]

นับแต่ต้น พ.ศ. 2486  ภริยาท่านผู้นำคือ ฯพณฯ ท่านพันโทหญิงละเอียด พิบูลสงคราม ดูจะสวมบทบาทนำในภาคส่วนของสตรีเพื่อภารกิจนี้ ประเดิมด้วยการเปิดสำนักวัฒนธรรมฝ่ายหญิงเมื่อวันที่ 22 กุมภาพันธ์ 2486[10] (จัดตั้งวงดนตรีสตรีล้วนเป็นขององค์กรอีกด้วย[11]), การดำรงตำแหน่งผู้บังคับการกองทหารหญิง[12] , การสงเคราะห์มารดาและเด็ก ส่งเสริมวัฒนธรรมผัวเดียวเมียเดียว[13] รวมถึงกิจกรรมสุขอนามัยต่างๆ เช่น การตรวจโรคให้กับคู่สมรส[14] หรือแม้แต่การตรวจโรคหญิงโสเภณี[15] และหนึ่งในกิจกรรมที่รวมอยู่ในแพ็กเกจของซีรีส์นี้ยามนั้นคือ ‘วันแม่ครั้งแรกของประเทศไทย’


10 มีนาคม 2486 ‘งานวันของแม่’


ต้น พ.ศ. 2486 หนังสือพิมพ์ศรีกรุงเริ่มเปิดม่านปฐมบทงานวันแม่ด้วยข่าวพาดหัวว่า “มีงานวันมารดา” ฉบับวันเสาร์ที่ 16 มกราคม พ.ศ. 2486  อันมีใจความดังต่อไปนี้ (สะกดตามต้นฉบับยุคปฏิวัติภาษา[16])

“มีงานวันมารดา ด้วยกะซวงการสาธารนะสุขได้พิจารนาเห็นว่า พี่น้องหยิงไทยทั้งหลายควนได้รับเกียรติอันสูงไนการที่ได้ช่วยกันส้างชาติไทยไห้ยืนยงคงทนตลอดมาจนบัดนี้ และยังจะต้องมีส่วนร่วมกันส้างชาติอีกต่อไปไนพายภาคหน้าไห้จเรินยิ่งๆ ขึ้นไปอีกด้วย จึงได้คิดจัดการไห้มีวันมารดาขึ้นไห้สมเกียรติ และเพื่อนเปนการส่งเสิมไห้บันดามารดาทั้งหลายได้มีโอกาสไปร่วมพบปะประชุมกัน อันจะเปนผลนำมาซึ่งความสามัคคีและทั้งจะได้รับความรู้ไนเรื่องการสงเคราะห์มารดาและเด็ก เพื่อจะได้ช่วยกันลดอัตราตายของทารกไห้น้อยลง เปนการเพิ่มพูนสมัถภาพและจำนวนพลเมืองไห้มากขึ้น จะได้เพิ่มความเข้มแข็งของชาติสืบไป งานวันมารดานี้กะซวงการสาธารนะสุขจะไห้ขอให้มีขึ้นเปนตัวหย่างที่สวนอัมพรไนวันที่ 10 มีนาคมสกนี้ โดยมีกำหนดการดั่งต่อไปนี้

เริ่มงานแต่เวลา 14 น. ถึง 18 น. ไนระหว่างงานจะมีการสแดงพิพิธภัณฑ์และชี้แจงเรื่องการสงเคราะห์มารดาและเด็ก ประกวดสุขภาพของมารดาและมีการรื่นเริงต่างๆ หย่างมโหลารตลอดจนการแจกของแก่มารดาและเด็ก

ฉะนั้นจึงขอเชินบันดาพี่น้องหยิงไทยทั้งหลายพร้อมด้วยบุตรได้พยายามไปประชุมให้พร้อมเพรียงกันตามกำหนดวันและเวลาที่กล่าวแล้ว.

ไนงานนี้ได้จัดไห้มีการประกวดสุขภาพมารดารวมหยู่ด้วย การประกวดนี้แบ่งออกเปน 3 ประเภทคือ

ประเภทที่ 1 มารดาที่มีบุตรจากสามีคนเดียวและยังมีชีวิตหยู่ 5 คน

ประเภทที่ 2 มารดาที่มีบุตรจากสามีคนเดียวและยังมีชีวิตหยู่ 6-10 คน

ประเภทที่ 3 มารดาที่มีบุตรจากสามีคนเดียวและยังมีชีวิตหยู่ตั้งแต่ 11 คนขึ้นไป

มารดาทั้ง 3 ประเภทนี้ ไม่จำกัดอายุ และจัดไห้มีรางวันที่ 1 ที่ 2 และที่ 3 ไห้ทุกประเภท

หลักพิจารนาไห้รางวัน

  1. มีบุตรมากและยังมีชีวิตหยู่ทั้งมีสุขภาพดี
  2. มารดามีสุขภาพร่างกายสมบูรน์ดี
  3. สัมภาสน์การอบรมและเลี้ยงดูเด็ก

นอกจากรางวันที่มีหยู่แล้วนี้ ท่านผู้ชนะการประกวดยังจะได้รับรางวันพิเสสของพนะท่านพันโท หยิง ล.พิบูลสงคราม…”



การกำหนดวันที่ 10 มีนาคม 2486 นี้ยังนับเป็นวันสถาปนากระทรวงสาธารณสุขครบรอบ 1 ปี ในงานดังกล่าว ทางการได้เผยแพร่แจกจ่ายหนังสือที่ให้ความรู้อนามัยผดุงครรภ์และการเลี้ยงเด็กโดยอิงกับความรู้การแพทย์สมัยใหม่ เช่น “ข้อควนรู้เกี่ยวกับแม่ๆลูกๆ”, “ตำราสร้างครอบครัว”[17], และที่สำคัญคือหนังสือ “คู่มือสมรส” ที่ท่านผู้นำร่วมกับภริยาเขียนคำนำ อันสะท้อนจุดมุ่งหมายของการจัดงานครั้งนี้ได้ดียิ่ง ณ ที่นี้ ผู้เขียนขอยกข้อความบางย่อหน้ามาเสนอดังต่อไปนี้


“คู่มือสมรส” หนังสือที่ระลึกวันของแม่ 10 มีนาคม 2486
จอมพล ป.พิบูลสงคราม แหงนหน้ามอง ท่านผู้หญิงละเอียดที่กำลังอุ้มบุตรชายคนสุดท้อง ด.ช.นิตย์ พิบูลสงคราม
คำนำหนังสือคู่มือสมรส
คำนำหนังสือคู่มือสมรส
คำนำหนังสือคู่มือสมรส


คำนำหนังสือคู่มือสมรส

ของ พนะท่านจอมพล ป. พิบูลสงคราม และ พนะท่านพันโทหยิง ล. พิบูลสงคราม

ในวันที่ 10 มีนาคม 2486 กระซวงการสาธารนสุขจัดไห้มีงาน วันของแม่ ขึ้น และไนงานนี้กะซวงสาธารนสุขจะจัดการพิมพ์หนังสือคู่มือสมรส เพื่อแจกแก่บันดาแม่และหยิงที่มาไนงาน พ.อ. ชเวงสักดิ์สงคราม รัถมนตรีว่าการกะซวงการสาธารนสุข ได้ไห้ฉันและเมียมีส่วนเขียนคำนำไนคู่มือการสมรสเล่มแรกนี้…

การส้างชาติ ย่อมหมายถึงการทำชาติไทยบนประเทสไทยไห้มีแต่การกินดีหยู่ดีทั่วกัน จะสำเหร็ดได้ก็ด้วยการทำ ด้วยกำลังนานาชนิดของชาติและของประเทสไทย มีกำลังคน, กำลังทรัพย์ เปนสิ่งสำคันอันแรก นอกนั้น ยังมีกำลังต่างๆ เกิดจากกำลังทั้งสองข้างบนนี้เปนอันมาก…

เราจะต้องอายกันทำไม ไนการที่เราจะพูดคำว่า สมรส จนชินปาก ชินหู หย่างเราพูดคำว่า แม่ จนเคยชิน และเราพูดพร้อมด้วยยกมือขึ้นกราบไหว้ทั่วกัน แม่ เปนคำหวานซาบซึ้งยิ่งกว่าคำไดๆ ในภาสาไทย และต่อไปนี้คำว่า สมรส ก็จะกลายเปนคำที่คู่ติดไปกับคำว่าแม่ เสมอ การสมรสเปนการส้างกำลังคนไห้แก่ชาติ ซึ่งเปนกำลังสำคันยิ่งตามที่ฉันกล่าวมาแล้วนั้น และไนเวลาเดียวกัน การสมรสเปนการส้าง แม่ ไห้แก่ชาติของเรา ชาติไทยจะปลอดภัยหยู่ที่เรามีกำลังคนมาก และชาติไทยจะเปนมหาอำนาดตามที่เราตั้งความมุ่งหมายไว้ทุกคนนั้น ก็หยู่ที่มีกำลังคนมาก คนๆ เดียวสู้คน 2 คนไม่ได้ ทุกท่านซาบดีแล้ว คน 18 ล้านก็ย่อมสู้คน 100 ล้านคนไม่ได้ และชาติไทยมี 18 ล้านคนก็ย่อมจะส้างชาติไม่ได้ดีเท่าชาติไทย 100 ล้านคน และถ้าชาติไทยมีคนเลว 100 ล้านคน ก็จะส้างชาติไทยได้ไม่ดีเท่าชาติไทยมีแต่คนดี 100 ล้านคนเปนแน่นอน

ฉะนั้น การที่กะซวงการสาธารนสุขเล็งเห็นการ สมรส และ แม่ เปนสิ่งสำคันไนการส้างชาติ และรักสาเอกราช-อธิปตัยของชาติ จึงเปนการปติบัติชอบหย่างน่ากราบไหว้ที่สุด

ฉันทั้งสองจึงหวังว่างานวันของแม่จะสำเหร็ดหย่างดียิ่ง และเปนที่สนไจของพี่น้องชาวไทยทั่วกัน และพร้อมที่จะเดินตามการนำอันดีของกะซวงการสาธารนสุขนี้ตลอดไป

ส่วนคุ่มือสมรสเล่มที่จะแจกไนงานวันของแม่ ซึ่งบันจุไว้แต่สิ่งมีประโยชน์ไนการส้างกำลังคนดีไห้แก่ชาตินี้ ฉันเชื่อแน่นอนว่าจะเปนหนังสือวางไว้ทุกบ้าน และได้อ่านหาความรู้เปนประโยชน์แก่ผู้ได้รับแจกไป ชาติไทยก็จะได้รับส่วนแบ่งกุสลกัมนี้หย่างมาก เปนก้าวยาวอีกก้าวหนึ่งที่ชาติไทยเดินไปข้างหน้าสู่ที่หมายสุดท้ายของเราคือ มหาอานาจักรไทย

สวัสดีแด่แม่ของไทยทุกท่าน

จอมพล ป. พิบูลสงคราม

พันโทหยิง ล. พิบูลสงคราม


“พนะท่านผู้นำว่าระลึกถึงพ่อแม่วันได ไม่ลืมระลึกถึงคุนของแพทย์ควบไปด้วย”[18]


นอกจากนี้ จอมพล ป.พิบูลสงคราม ยังตอกย้ำความสำคัญของวิทยาศาสตร์การแพทย์ผ่านงานนี้ โดยส่งสาสน์แสดงความชื่นชมต่อบุคลากรกระทรวงสาธารณสุขในวันแม่ ความว่า


สาสน์ของท่านผู้นำ สันเสินการแพทย์ว่าไห้คุนประโยชน์

“สาสน์ของท่านผู้นำไนงานวันแม่ เนื่องไนวันที่ระลึกสถาปนากะซวงการสาธารนสุขนะวันที่ 10 เดือนนี้ พนะท่านนายกรัถมนตรีได้มีหนังสือสแดงความชื่นชมยินดีไปยังพนะท่านรัถมนตรีว่าการกะซวงการสาธารนสุข ดังมีข้อความต่อไปนี้

ทำเนียบสามัคคีชัย 10 มีนาคม 2486…บังเอินวันนี้เปนวันของแม่ ฉันระลึกถึงแม่ของฉัน ฉันจึงไม่ลืมระลึกถึงคุนของแพทย์ ซึ่งก็มิไช่ไครที่ไหนเลย คือคนะของท่านที่มาชุมนุมหยู่นะบัดนี้ ฉันขออัญเชินคุนพระสรีรัตนไตร ขอไห้อุ้มกิจการของแพทย์ และตัวของแพทย์ผู้มีเกียรติทั่วอานาจักรไทยตลอดจนเจ้าหน้าที่ข้าราชการอื่นที่ร่วมกับแพทย์ ฉเพาะหย่างยิ่ง พ.อ.ช่วง ชเวงสักดิ์สงคราม รัถมนตรีว่าการกะซวงการสาธารนสุข ไห้มีความจเรินยิ่งไหย่ไพสาล เพื่อเปนที่พึ่งแก่พี่น้องสกุลไทยของเราทั่วกัน สวัสดี. (ลงชื่อ) จอมพล ป.พิบูลสงคราม. นายกรัถมนตรี.”[19]



บรรยากาศของงานวันแม่ครั้งแรกของประเทศไทย


‘วันของแม่’ เป็นนิยามที่ท่านผู้หญิงละเอียด พิบูลสงคราม ใช้เรียกกล่าวอย่างเป็นทางการในสุนทรพจน์เปิดงานวันที่ 10 มีนาคม 2486[20] การซึมซับความรู้สึกของงานวันแม่ครั้งแรกนี้คงไม่มีอะไรดีไปกว่าการอ่านข่าวจากหนังสือพิมพ์ร่วมสมัย ซึ่ง ณ ที่นี้ผู้เขียนขอยกเนื้อข่าวหนังสือพิมพ์ที่พร้อมเพรียงกันนำเสนอบนหน้าหนึ่งดังต่อไปนี้


สรีกรุง 12 มีนาคม 2486

“งานวันแม่โอลาร” พนะท่านพันโทหยิงละเอียด พิบูลสงครามไปเปนประธานและทำพิธีเปิดงานของแม่

วันนี้ (ที่ 10 มีนาคม) ได้มีงาน “วันของแม่” จัดโดยกะซวงการสาธารนะสุข นะบริเวนสวนอัมพร…



ประชาชาติ 12 มีนาคม 2486

งานวันของแม่เนืองแน่นไปด้วยสุภาพชน มีดนตรี, กีลา, และการเล่นต่างๆ

10 มีนาคม วันของแม่ – วันที่แม่ได้รับเกียรติไหย่หลวง

วันนี้ที่สวนอัมพร เนืองแน่นไปด้วยสุภาพสตรีและเด็กๆ ซึ่งไปร่วมชุมนุม “วันของแม่” แลไปข้างไหน ดูมีชีวิตจิตไจเสียงหัวร่อต่อกะซิกที่เด็กๆ ไปรวมกัน ประดุจดนตรีที่กล่อมไจ

งานวันของแม่ เริ่มต้นเมื่อ 13.30 เปิดฉากด้วยดนตรีสากลอันไพเราะของกองทัพอากาส และของสำนักงานทรัพย์สินส่วนพระมหากสัตร ไนโอกาสนี้กรมพละสึกสาได้เปิดสแดงลีลาเบ็ดเตล็ดและจัดไห้มีการเล่นของเด็ก เปนการส่งเสิมความครึกครื้นหย่างยิ่ง.

ยิ่งสายและยิ่งบ่าย สุภาพชนได้หลั่งไหลไปสถานที่ “งานของแม่” จนแน่นขนัด ครั้นถึง 15.00 น. เมื่อแม่และหยิงไทย ได้ถึงเวทีโดยพร้อมเพรียงกันแล้ว พันเอกช่วง ชเวงสักดิ์สงคราม ประธานกัมการได้กล่าวเปิดประชุม ครั้นแล้วพนะท่านพันโทหยิง ล.พิบูลสงครามผู้อุปถัมภ์กล่าวสุนทรพจน์ปราสัยซึ่งเราได้นำเสนอเปนอีกข่าวหนึ่งต่างหากแล้ว

งานวันนี้ได้ยุติลงด้วยเวลา 18.00 น. ซึ่งรู้สึกว่าค่อนข้างจะเร็วไป เพราะความสนุกสนานของงานดื่มด่ำผู้ที่ไปร่วมชุมนุมเปนหย่างมาก


บทสัมภาษณ์ผู้ชนะการประกวดแม่


หนังสือพิมพ์ประชาชาติเกาะติดผู้ชนะการประกวดแม่โดยตามไปสัมภาษณ์ผู้ชนะอันดับสองประเภทที่ 3 (มีลูกกับสามีคนเดียวเกินกว่า 11 คนขึ้นไป) พร้อมนำเสนอเป็นหัวข่าวฉบับวันศุกร์ที่ 12 มีนาคม พ.ศ. 2486 ไว้อย่างน่าสนใจว่า


สัมภาสน์สตรีผู้เข้าประกวดมีลูก 15 คน

ว่าไนการเลี้ยงลูกซึ่งยังอ่อนหยู่นั้น ไม่เคยไห้กินนมวัว แต่ไห้กินนมแม่

ปลื้มไจว่าที่มีลูกมากๆถึง 15

“วันของแม่” ซึ่งได้ยุติลงด้วยผลอันน่าภาคภูมิไจนั้น คงจะทำไห้พี่น้องสกุลไทยตระหนักไนเหตุผลของการมีบุตรเปนที่ยิ่งขึ้น สำหรับเราได้สนไจไนสุภาพสตรีผู้สูงอายุคนหนึ่ง ซึ่งเข้าประกวดไนประเภทที่ 3 คือมีบุตรรวมกันตั้งแต่ 11 คนขึ้นไป สตรีผู้นั้นคือ นางสว่างวงส์ พิบูลสวัสดิ์ มีบุตรรวมด้วยกัน 15 คนซึ่งจัดว่ามีบุตรมากที่สุดไนจำนวนผู้ที่เข้าประกวดด้วยกัน…ได้รับรางวัลที่ 2[21]…เราจึงได้ส่งผู้แทนของเราไปพบปะสนทนานะบ้านพักเสาชิงช้าด้วย…จากการสนทนา เราซาบว่าบุตรของท่านผู้นี้รวม 15 คนนั้น แต่ละคนหยู่ดีกินดี และหยู่ครบทั้ง 15 คน เกิดแต่พ่อเดียวแม่เดียวสแดงไห้เห็นถึงความสมบูรน์แห่งร่างกายหย่างมั่นคง บุตรทั้ง 15 คน เปนหยิง 7 ชาย 8…นางพิบูลสวัสดิ์กล่าวว่า “ไนการเลี้ยงดูลูกๆนั้น ฉันไม่เคยไห้รับประทานนมวัวเลย นอกจากน้ำนมของตนเอง การอบรมก็เช่นกัน ได้เลี้ยงดูด้วยตนเอง”…ชีวิตสมรสเริ่มต้นเมื่ออายุ 19 ปี สมรสกับนายสง่า พิบูลย์สวัสดิ์ (ขุนพิบูลสวัสดิ์วงส์) และให้กำเนิดบุตรหยิงเปนคนแรกเมื่ออายุ 20 ปี (ชื่อละออก) บุตรคนที่ 15 เปนหยิงซึ่งเวลานี้อายุ 4 ปี…พยายามไห้ลูกๆ ได้รับการสึกสาจนเต็มความสามาถทุกประการ จนเรียนถึงขั้นมหาวิทยาลัยก็มี…แม้บรรดาลูกๆที่สมรสไปแล้วต่างก็มีลูกมากเหมือนกัน ไม่ว่าหยิงหรือชายมี 3-4 คนเปนหย่างต่ำ ถ้ารวมหลานๆ ด้วยแล้ว กว่า 30 คนเสียอีก แล้วแสดงความปลื้มไจว่ามีลูกมากๆจะได้เปนกำลังของชาติหย่างสำคัน”


ผู้เข้าประกวดในงาน ‘วันของแม่’ ครั้งแรก 10 มีนาคม 2486
งานวันแม่ พ.ศ. 2496


กิจกรรมต่อเนื่องหลังงานวันของแม่


“ที่เปิดสโมสรแห่งสำนักวัธนธัมหยิงตรงกับวันที่ 7 นั้นเพราะเปนวันที่ระลึกท้าวสุระนารี”

พันโทหญิง ละเอียด พิบูลสงคราม[22]

หลังงานวันแม่ไม่ถึงเดือน วันที่ 29 มีนาคม พ.ศ. 2486 รัฐบาลได้จัดพิธีสมรสหมู่จำนวน 73 คู่ขึ้นเป็นครั้งแรก ณ ทำเนียบสามัคคีชัย โดยจอมพล ป. นายกรัฐมนตรีเป็นประธาน และเมื่อขึ้นปีใหม่ถัดมา วันที่ 1 มกราคม พ.ศ. 2487 ได้จัดพิธีสมรสหมู่แบบนี้ในทุกจังหวัด อีกทั้งรัฐบาลขณะนั้นยังวางหลักการใช้ชีวิตคู่ผ่าน “ประกาสสภาวัธนธัมแห่งชาติ เรื่องวัธนธัมของผัวเมีย” ความยาวถึง 20 หน้ากระดาษลงนามโดย จอมพล ป. พิบูลสงคราม เมื่อวันที่ 1 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2487[23]

ด้วยเหตุผลทั้งหมดทั้งมวลนี้ เป็นที่แน่นอนว่า ‘ภาวะเปนโสด’ ของผู้ชายในสังคมขณะนั้นย่อมไม่เป็นที่พึงประสงค์ของรัฐไทยที่เน้นการสร้างชาติด้วยการเพิ่มปริมาณพลเมือง ต้นปีสุดท้าย พ.ศ. 2487 ภายใต้การนำประเทศของจอมพล ป. รัฐบาลได้ตราพระราชบัญญัติ “พาสีชายโสด (ภาษีชายโสด)”[24] กำหนดให้ผู้ชายวัยเจริญพันธุ์ระหว่าง 25-45 ปี ต้องมีภาระภาษีเพิ่มขึ้น อย่างไรก็ดี ภายหลังนายควง อภัยวงศ์ ขึ้นดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีก็ได้ยกเลิก พ.ร.บ.นี้อย่างรวดเร็วในหนึ่งปีถัดมา!


กฎหมายภาษีคนชายโสด (พาสี สะกดในยุคปฏิวัติภาษาระยะนั้น)


ครั้นถึงปีถัดมา พ.ศ. 2487 จะด้วยว่าสงครามมหาเอเชียบูรพาทวีความรุนแรงจนไม่ปรากฏว่ามีการจัดงานรื่นเริงเช่น ‘วันของแม่’ อีกครั้งหรือจะด้วยเหตุผลอื่นใด แต่ที่แน่นอน จอมพล ป.พิบูลสงครามจำต้องหลุดพ้นจากตำแหน่งนายกรัฐมนตรีกลางปีนั้นหลังครบรอบวันเกิด 47 ปีเพียงไม่กี่วัน

เมื่อรัฐบาลของท่านผู้นำตราไก่แพ้มติกลางสภาต่อกฎหมายสำคัญสองฉบับจนต้องลาออกจากตำแหน่ง หมายถึงนโยบายจำนวนมากของจอมพล ป. ต้องถูกยกเลิกโดยรัฐบาลต่อๆ มา


การหวนคืนของ ‘วันแม่’ ในทศวรรษ พ.ศ. 2490


จอมพล ป.พิบูลสงคราม กลับขึ้นครองอำนาจอีกครั้งหลังรัฐประหาร 8 พฤศจิกายน 2490 และก้าวขึ้นสู่ตำแหน่งนายกรัฐมนตรีเป็นคำรบที่สองเมื่อต้นเดือนเมษายน 2491 ด้านวงการเพลงสากลไทยปลายปี พ.ศ. 2492 ได้ทีการแจ้งเกิดเพลง ‘ค่าน้ำนม’[25] โดยนักประพันธ์เพลงนามว่า ไพบูลย์ บุตรขัน จะด้วยความบังเอิญหรืออะไรก็แล้วแต่ ประจวบกับเมื่อข้ามเข้าปีถัดมาคณะกรรมการสภาวัฒนธรรมแห่งชาติได้อนุมัติให้สำนักวัฒนธรรมฝ่ายหญิงร่วมกับกระทรวงสาธารณะสุขรื้อฟื้นจัดงานวันแม่ขึ้นใหม่อีกครั้ง ทว่าคราวได้กำหนดใช้วันที่ 15 เมษายน พ.ศ. 2493 แทนที่ครั้งแรกเดิมก่อนหน้า สถานที่จัดงานเมื่อเริ่มแรกยังคงไว้ ณ บริเวณสวนอัมพร ก่อนจะโยกย้ายมา ณ สภาวัฒนธรรมแห่งชาติ ถนนพิษณุโลก ต่อเนื่องมาอีกเกือบอีกหลายปี[26] กระทั่งยุติลงเมื่อจอมพล ป. หลุดพ้นจากอำนาจด้วยรัฐประหารในปี 25 พุทธศตวรรษ

หนังสือที่ระลึกวันแม่วาระหลังนี้ได้อ้างถึงงาน ‘วันแม่’ ในโลกว่าจัดขึ้นครั้งแรกที่ประเทศสหรัฐอเมริกา ในสมัยของประธานาธิบดีวิลสัน โดยถือวันอาทิตย์สัปดาห์ที่ 2 ของเดือนพฤษภาคมเป็นวันแม่ และให้ใช้ดอกคาร์เนชันเป็นเครื่องหมายแห่งความเคารพ

ทางการให้เหตุผลการปรับเปลี่ยนวันแม่ของประเทศไทยครั้งใหม่เป็นวันที่ 15 เมษายน ไว้ว่า

  1. เดือนเมษายน เป็นเดือนที่มีประเพณีมาแต่โบราณ ประชาชนชาวไทยได้จัดเครื่องอุปโภค บริโภค และน้ำหอม ไปเยี่ยมเยือนแสดงความคารวะต่อผู้ใหญ่ และผู้ที่เคารพนับถือ หรือประกอบการกุศลให้แก่บุพการีที่ล่วงลับไปแล้ว ตามทางศาสนาเป็นประจำ
  2. เนื่องจากเดือนเมษายน เป็นเดือนที่ยังไม่มีฝนชุก สามารถจัดงานกลางแจ้งให้ประชาชนได้รับความบันเทิงสนุกสนานได้ทั่วถึงกัน
  3. เป็นเดือนที่โรงเรียนอยู่ในระหว่างหยุดเทอมและพ้นจากการสอบไล่ประจำปีแล้ว นักเรียนว่างพอจะมาร่วมงานวันแม่ได้ทุกคน[27] 

ส่วนคำอธิบายเรื่องการใช้ดอกมะลิเป็นสัญลักษณ์ปรากฏในสูจิบัตรงานเมื่อปี พ.ศ. 2497 บันทึกว่า

“ตามที่คณะกรรมการจัดงานวันแม่ได้ลงมติเป็นเอกฉันท์ เลือกเอาดอกมะลิเป็นดอกไม้สำหรับประดับภายในงาน “วันแม่” นั้นก็เพราะ.-

  1. ดอกมะลิ เป็นดอกไม้ที่มีอยู่ทุกฤดูกาล.
  2. ดอกมะลิ เป็นดอกไม้ที่มีสีขาวบริสุทธิ์และมีกลิ่นหอม.
  3. ดอกมะลิ มีสรรพคุณใช้ได้ เริ่มตั้งแต่ยังเป็นดอกสดจนกระทั่งกลายเป็นดอกแห้ง เสมือนดังความรักอันบริสุทธิ์ของแม่ที่มีต่อลูกมิได้เสื่อมคลาย.”[28]

ทั้งนี้ท่านผู้หญิงละเอียดยังคงครองบทบาทนำในกิจกรรมงานวันแม่เช่นเดียวกับงานครั้งแรก กล่าวกันว่าเรื่องดอกมะลิ “เป็นที่รับรู้กันโดยทั่วไปของบรรดาข้าราชการว่ามะลิเป็นดอกไม้ที่สามีเธอโปรดปราน”[29] อนึ่ง คณะรัฐมนตรีลงมติให้วันแม่ 15 เมษายน และวันเด็ก (วันจันทร์ของสัปดาห์แรกในเดือนตุลาคม) เป็นวันหยุดราชการเมื่อ พ.ศ. 2499[30]  


พ.ศ. 2500 อวสานวันแม่สมัยผู้นำคณะราษฎร


งานวันแม่ 15 เมษายนจำต้องพลันยุติลงไปพร้อมกับการอำลาจากอำนาจของจอมพล ป.พิบูลสงคราม ด้วยรัฐประหาร 16 กันยายน พ.ศ. 2500 โดยจอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ ด้วยว่าเพียงไม่ถึงหนึ่งเดือนถัดมา เมื่อ 11 ตุลาคม พ.ศ. 2500 คณะรัฐมนตรีมีมติให้ถอดถอน วันแม่ 15 เมษายน, วันเด็ก และวันสหประชาชาติ 24 ตุลาคม[31] ออกจากวันหยุดราชการ พร้อมกับให้เพิ่มวันสงกรานต์ 13 เมษายน และวันปิยมหาราช 23 ตุลาคม[32] เป็นวันหยุดแทน นับจากนั้น เวลาล่วงผ่านมาอีก 15 ปี สมาคมครูคาทอลิกแห่งประเทศไทยได้รื้อฟื้นการจัดงานวันแม่ขึ้นอีกครั้งเมื่อวันที่ 4 ตุลาคม พ.ศ. 2515 แต่ก็ดูเหมือนว่าจะจัดได้เพียงครั้งเดียวเท่านั้น

ครั้นถึง พ.ศ. 2519 สภาสังคมสงเคราะห์แห่งประเทศไทย ในพระบรมราชูปถัมภ์ได้จัดงานวันแม่ขึ้นใหม่ด้วยความริเริ่มของคณะกรรมการส่งเสริมศีลธรรมและจิตใจ ในวันที่ 12 สิงหาคม 2519 โดยถือวันเฉลิมพระชนมพรรษาของสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถเป็นวันแม่แห่งชาติ และถือเป็นนโยบายจัดงานวันแม่แห่งชาติเป็นประจำทุกปีติดต่อกัน[33] โดยยังคงกำหนดดอกมะลิเป็นสัญลักษณ์ของงาน และเมื่อวันที่ 29 กรกฎาคม พ.ศ. 2546 คณะรัฐมนตรีมีมติรับทราบตามที่กระทรวงมหาดไทยเสนอเรื่องการกำหนดให้วันที่ 1 สิงหาคมของทุกปี เป็น ‘วันสตรีไทย’ เพื่อเป็นการเทิดพระเกียรติสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ จวบจนถึงปัจจุบัน


[1] ข่าวหน้าหนึ่งประชาชาติ “สาสน์ของพนะท่านนายกรัถมนตรี สำหรับวันงานของแม่ภาคเหนือ นะจังหวัดลำปาง จัดไห้มีขึ้นวันพุธที่ 14 เมสายน 2486” วันที่ 15 เมษายน 2486.

[2] พระราชบัญญัติ ให้ใช้บทบัญญัติ 5 แห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ พุทธศักราช 2477, ราชกิจจานุเบกษา เล่ม 52 หน้า 474 วันที่ 29 พฤษภาคม 2478 เข้าถึงได้จาก https://ratchakitcha2.soc.go.th/pdfdownload/?id=1100262

[3] ศรัญญู เทพสงเคราะห์  ณัฐพล ใจจริง ภูริ ฟูวงศ์เจริญ, “อยากลืมกลับจำ” สารคดีชีวประวัติลูกสาวจอมพล ป. : ชีวิต ความผันผวน และความทรงจำของจีรวัสส์ ปันยารชุน พิบูลสงคราม, บ.ก. นครินทร์ เมฆไตรรัตน์, พิมพ์ครั้งแรก 2561, (มติชน), น.143.

[4] ประกาศฟื้นฟูวัฒนธรรมของชาติไทย ประมวลรัฐนิยม กับ วัฒนธรรมสุโขทัยของหลวงวิจิตรวาทการ และ คำวิงวอนของท่านนายกรัฐมนตรี ฝากไว้ แก่พี่น้องสตรีไทย พิมพ์แจกในการพระราชทานเพลิงศพ อำมาตย์ตรี หลวงสนิทรถาการ (ยู้ กาญจนาลัย ) ณ เมรุ สุสานหลวงวัดเทพศินทราวาส วันที่ 6 เมษายน พุทธศักราช 2484, (โรงพิมพ์ศึกษาธรรมดา).

[5] ประมวนวัธนธัมแห่งชาติ พิมพ์โดยคำสั่ง พนะท่านจอมพล ป.พิบูลสงคราม นายกรัถมนตรี เพื่อแจกพี่น้องชาวไทย ผู้ไหย่บ้าน กำนัน นายอำเพอ และข้าหลวงประจำจังหวัด โดย กรมโคสนาการ (พระนคร: พานิชสุภพล, 24/6/2486).

[6] แถมสุข นุ่มนนท์, “จอมพล ป.พิบูลสงครามกับการสร้างชาติไทย พ.ศ.2481-2487,” วารสารประวัติศาสตร์ ปีที่ 3, ฉบับที่ 2 (2521): 14.

[7] พระราชาบัญญัติ วัธนธัมแห่งชาติ พุทธศักราช 2485 ราชกิจจานุเบกสา 29 กันยายน 2485 ตอนที่ 63 เล่ม 49 หน้า 1744-1749 เข้าถึงได้จาก http://www.ratchakitcha.soc.go.th/DATA/PDF/2485/A/063/1744.PDF

[8] พาดหัว “พระราชกริสดีกาวัธนธัม ฉบับไหม่บัญญัติไห้ เคารพทงชาติเวลา 8 น.ทุกวัน” สรีกรุง 1 ตุลาคม 2485 ในขณะที่ “นายมั่น-นายคง” ได้เริ่มประกาศก่อนหน้านั้นเมื่อวันที่ 13 กันยายน 2485 ดู 14 กันยายน 2485 : ยืนตรงเคารพธงชาติไทยเป็นครั้งแรก ศิลปวัฒนธรรมออนไลน์ เข้าถึงได้จาก https://www.silpa-mag.com/this-day-in-history/article_20263

[9] สารัท ชลอสันติสกุล, พิธีสมรสหมู่ที่เมืองพัทลุง, เว็บท่ากรมศิลปากร จุดเชื่อมต่อ https://www.finearts.go.th/promotion/view/23828- พิธีสมรสหมู่ที่เมืองพัทลุง

[10] “ข่าวในรอบ 24 ชั่วโมง เปิดสำนักวัธนธัมฝ่ายหยิง” สรีกรุง 23 กุมภาพันธ์ 2486.

[11] ตั้งวงดนตรีหยิงแล้ว เปนวงของสำนักวัธนธัมหยิง, สรีกรุง 10 มีนาคม 2486.

[12] พาดหัว “ทำพิธีเปิด รร.นายสิบหยิงแล้ว” สรีกรุง 19 กุมภาพันธ์ 2486. ดูเพิ่มเติม  นโยบายจอมพล ป. ให้ผู้หญิงเป็นทหาร พร้อมตั้งค่ายทหารหญิง กรมทหารหญิง ศิลปวัฒนธรรมออนไลน์ เข้าถึงได้จาก  https://www.silpa-mag.com/history/article_87147

[13] นัยของ “พิธีสมรส” ฤๅเป็นผลพวงวัฒนธรรมสร้างชาติ รองรับระบบ “ผัวเดียวเมียเดียว”? ศิลปวัฒนธรรมออนไลน์ เข้าถึงได้จาก  https://www.silpa-mag.com/history/article_22479

[14] พาดหัว “ตรวดโรคคู่สมรสไม่คิดมูลค่า” สรีกรุง 16 กุมภาพันธ์ 2486.

[15] พาดหัว “จะบังคับทำสอาด สาธารนะสุขไห้ปราบโรคร้าย” สรีกรุง 11 มีนาคม 2486.

[16] นริศ จรัสจรรยาวงศ์, จอมพล ป. พิบูลสงคราม: ให้ใช้เลขสากลแทนเลขไทย และเบื้องหลังการปฏิวัติภาษาไทย พ.ศ. 2485-2487 เข้าถึงได้จาก https://facebook.com/thepeoplecoofficial/photos/a.1040280779477779/2071400336365813/  

[17] ชานันท์ ยอดหงส์, หลังบ้านคณะราษฎร, พิมพ์ครั้งแรก พ.ศ.2564,(มติชน), น.300-301.

[18] สรีกรุง 12 มีนาคม 2486, น.12.

[19] สาสน์ของท่านผู้นำ, ประชาชาติ 12 มีนาคม 2486.

[20] สุนทรพจน์ ของ พนะท่าน พ.ท. ล.พิบูลสงคราม กล่าวไนพิธีเปิดงานวันของแม่, สรีกรุง 13 มีนาคม 2486.

[21] รางวัลที่ 1 คือนางโกสล บุญมงคล ดู สรีกรุง 12 มีนาคม 2486, น.8.

[22] ประชาชาติ วันศุกร์ที่ 9 เมษายน 2486

[23] ประกาสสภาวัธนธัมแห่งชาติ เรื่องวัธนธัมของผัวเมีย, ราชกิจจานุเบกสา 15 กุมภาพันธ 2487 ตอนที่ 11 เล่ม 61, น.273-294. เข้าถึงได้จาก http://www.ratchakitcha.soc.go.th/DATA/PDF/2487/A/011/273.PDF

[24] “พระราชบัญญัติพาสีชายโสด พุทธสักราช 2487”. (2487, 18 มกราคม). ราชกิจจานุเบกสา. เล่ม 61, ตอน 6 ก. หน้า 81–84. เข้าถึงได้จาก http://www.ratchakitcha.soc.go.th/DATA/PDF/2487/A/006/81.PDF

[25] วัฒน์ วรรลยางกูร, คีตกวีลูกทุ่ง ไพบูลย์ บุตรขัน, พิมพ์ครั้งที่ 5 พ.ศ.2561, (เดอะไรท์เตอร์ซีเคร็ท), น.85. ดู สง่า อารัมภีร, อนุสรณ์ ไพบูลย์ บุตรขัน, 2515 (โรงพิมพ์อักษรไทย), น.49. และ นริศ จรัสจรรยาวงศ์, เบื้องหลังเพลง “ค่าน้ำนม-ใครหนอ” และเส้นทางสู่ “วันแม่” ในไทย, ศิลปวัฒนธรรม Explain ไขอดีต เข้าถึงได้จาก https://www.facebook.com/SilpaWattanatham/videos/788813368524645/

[26] ดู บรรยากาศวันแม่จากหอภาพยนตร์, ท่านผู้หญิงละเอียด พิบูลสงครามเปิดงานวันแม่แห่งชาติ 2499 เข้าถึงได้จาก https://www.youtube.com/watch?v=1PEj4IRHTUM 

[27] ที่ระลึกในงานวันแม่ 15 เมษายน 2498, น.5-6.

[28]สูจิบัตร วันแม่ 2497, กรมประชาสัมพันธ์, (การพิมพ์รุ่งนคร), น.8.

[29] สมศรี สุกุมลนันทน์, อัตชีวประวัติ สมศรี สุกุมลนันทน์, น.147 อ้างใน ชานันท์ ยอดหงษ์, หลังบ้านคณะราษฎร, (มติชน), น.302.

[30] ประกาศสำนักคณะรัฐมนตรี เรื่อง กำหนดเวลาทำงานและวันหยุดราชการ (ฉบับที่ 8 ) พ.ศ.2499, ราชกิจจานุเบกษา 24 เมษายน 2499 เล่ม 73 ตอนที่ 34 หน้า 1300 เข้าถึงได้จาก http://www.ratchakitcha.soc.go.th/DATA/PDF/2499/D/034/1300.PDF

[31] ประกาศสำนักคณะรัฐมนตรี เรื่อง กำหนดเวลาทำงานและวันหยุดราชการ (ฉบับที่ 7 ) พ.ศ.2497, ราชกิจจานุเบกษา 24 เมษายน 2499 เล่ม 71 ตอนที่ 49 หน้า 2484-2485 เข้าถึงได้จาก http://www.ratchakitcha.soc.go.th/DATA/PDF/2497/D/049/1684.PDF

[32] ประกาศสำนักคณะรัฐมนตรี เรื่อง กำหนดเวลาทำงานและวันหยุดราชการ (ฉบับที่ 11) พ.ศ.2500 ราชกิจจานุเบกษา 15 ตุลาคม 2500 เล่ม 74 ตอนที่ 88 หน้า 2466 เข้าถึงได้จาก http://www.ratchakitcha.soc.go.th/DATA/PDF/2500/D/088/2466.PDF

[33] แพรวพรรณ มหาวัจน์ (ประธานจัดทำหนังสือ),วันแม่แห่งชาติ 12 สิงหาคม พ.ศ.2531, (บพิธการพิมพ์), น.11.

MOST READ

Thai Politics

3 May 2023

แดง เหลือง ส้ม ฟ้า ชมพู: ว่าด้วยสีในงานออกแบบของพรรคการเมืองไทย  

คอลัมน์ ‘สารกันเบื่อ’ เดือนนี้ เอกศาสตร์ สรรพช่าง เขียนถึง การหยิบ ‘สี’ เข้ามาใช้สื่อสาร (หรืออาจจะไม่สื่อสาร?) ของพรรคการเมืองต่างๆ ในสนามการเมือง

เอกศาสตร์ สรรพช่าง

3 May 2023

Politics

23 Feb 2023

จากสู้บนถนน สู่คนในสภา: 4 ปีชีวิตนักการเมืองของอมรัตน์ โชคปมิตต์กุล

101 ชวนอมรัตน์สนทนาว่าด้วยข้อเรียกร้องจากนอกสภาฯ ถึงการถกเถียงในสภาฯ โจทย์การเมืองของก้าวไกลในการเลือกตั้ง บทเรียนในการทำงานการเมืองกว่า 4 ปี คอขวดของการพัฒนาสังคมไทย และบทบาทในอนาคตของเธอในการเมืองไทย

ภัคจิรา มาตาพิทักษ์

23 Feb 2023

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • Always Active

Save