fbpx

THIRTEEN LIVES อภินิหารต่อลมหายใจ สิบสามหมูป่าในคร่ำครรภ์นางนอน

จากเหตุการณ์บีบหัวใจที่ไม่มีใครคาดฝัน กินเวลายาวนานหลายสัปดาห์ของภารกิจช่วยเหลือทีมฟุตบอลหมูป่าอะคาเดมี 13 ชีวิต ติดถ้ำหลังน้ำฝนเอ่อท่วม ณ ขุนน้ำนางนอน จังหวัดเชียงราย เมื่อปลายเดือนมิถุนายน-ต้นเดือนกรกฎาคม 2018 ที่ทุกคนต่างรับรู้รายละเอียดของเหตุการณ์มาโดยทะลุว่าเกิดอะไรและสถานการณ์ลงเอยอย่างไร จะยังมีประโยชน์ไหมกับการลุกขึ้นมาทำหนังที่ ‘เล่าซ้ำ’ เหตุการณ์เดิมซึ่งเนื้อหาโดนสปอยล์กันตั้งแต่ยังไม่ได้เริ่มสร้าง โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อมีคนเคยทำตัดหน้าไว้ ไม่ว่าจะเป็นฉบับหนังเรื่อง The Cave (2019) โดย ทอม วอลเลอร์ (Tom Waller) หรือสารคดีที่เจาะลงรายละเอียดแบบแน่นยิบเรื่อง The Rescue (2021) โดย เอลิซาเบธ ไช วาซาร์เฮลยี (Elizabeth Chai Vasarhelyi) และ จิมมี ชิน (Jimmy Chin )

คำตอบคือ ‘ทำไมจะเล่าใหม่ไม่ได้’ ในเมื่อผู้กำกับผู้สร้างเปลี่ยนรายไป วิธีคิดและมุมมองที่จับจ้องเหตุการณ์เดียวกันมันย่อมมีมิติที่แตกต่างอย่างไม่มีทาง ‘ซ้ำ’ กับผลงานเรื่องก่อนๆ ได้ทั้งหมด ดังนั้นเมื่อผู้กำกับระดับรางวัลออสการ์สาขาภาพยนตร์ยอดเยี่ยมและผู้กำกับยอดเยี่ยมชาวอเมริกันอย่าง รอน ฮาเวิร์ด (Ron Howard) นำเรื่องราวปาฏิหาริย์ของการช่วยชีวิต 13 หมูป่า มาเล่าด้วยงานโปรดักชั่นระดับฮอลลีวูดใน Thirteen Lives (2022) ครั้งนี้ จึงถือเป็นเรื่องน่ายินดีที่เราจะได้เห็นในอีกมุมมองใหม่ที่แตกต่างออกไป ทั้งยังได้ร่วมงานกับโปรดิวเซอร์ ตากล้อง และทีมนักแสดงชาวไทย ส่งเสริมให้คนทำงานด้านภาพยนตร์บ้านเราเอาความสามารถไปอวดชาวโลกตามนโยบาย soft-power go-inter ต่อให้ผลลัพธ์ที่ออกมาอาจจะยังไม่เลอเลิศไปเสียทุกๆ ด้านก็ตามที

สิ่งที่แตกต่างอย่างชัดเจนที่สุดสำหรับ Thirteen Lives ในการเล่าถึงภารกิจต่อลมหายใจให้น้องๆ ทีมหมูป่าอะคาเดมีครั้งนี้ ก็คือ ผู้กำกับเลือกใช้แนวทางการสร้างหนังที่ศัพท์ทางภาพยนตร์เรียกกันว่าภาพยนตร์กึ่งสารคดีหรือ docudrama ซึ่งเป็นคำสมาสควบจากคำว่า doc -(umentary) หรือ ‘สารคดี’ กับ drama หรือก็คือ ‘ละครเล่าชีวิต’ โดยทั่วไปแล้วงานภาพยนตร์กึ่งสารคดีเช่นนี้ก็ยังเป็นงานเรื่องแต่ง (fiction) ที่เล่าเรื่องสมมติแม้ทุกรายละเอียดจะอ้างอิงจากเหตุการณ์จริง โดยมีจุดประสงค์หลักในการ ‘จำลองย้อนสร้าง’ เพื่อถ่ายทอดว่ามันเคยเกิดอะไรขึ้นบ้างอย่างจริตของงานสารคดี แต่ใช้วิธีให้นักแสดงมารับบทบาทแทนบุคคลจริง มากกว่าจะหวังผลในการโน้มน้าวชักจูงอารมณ์อย่างงานดราม่าทั่วไป  ดังนั้น หัวใจสำคัญของการทำหนังแบบกึ่งสารคดีคือการนำพาผู้ชมไปอยู่ร่วมกับเหตุการณ์ที่เคยเกิดขึ้นในระดับใกล้ชิด โดยอารมณ์ความรู้สึกร่วมต่างๆ จะต้องเกิดขึ้นจากสิ่งที่ดำเนินไปของเหตุการณ์เหล่านั้น มิได้เป็นผลจากการเร่งเร้าด้วยกลเม็ดเด็ดพรายในเชิงภาพยนตร์ งานกึ่งสารคดีจึงมักจะซื่อสัตย์ต่อเหตุการณ์ต้นเรื่องให้มากที่สุดเท่าที่จะทำได้ ด้วยหน้าที่หลักใหญ่ในการย้อนเวลาพาผู้ชมไปยังที่เกิดเหตุการณ์เพื่อสัมผัสอารมณ์ความรู้สึกต่างๆ ด้วยตนเอง

‘กัลปพฤกษ์’ ได้รู้จักและตระหนักถึงแนวทางการทำหนังแบบกึ่งสารคดีก็ตอนได้ชมภาพยนตร์รางวัลออสการ์สาขาภาพยนตร์ยอดเยี่ยมเรื่อง The Longest Day (1962) ของ เคน แอนนาคิน (Ken Annakin), แอนดริว มาร์ตัน (Andrew Marton) และ แบร์นฮาร์ด วิคกี (Bernhard Wicki) หนังสงครามความยาวเหยียบสามชั่วโมง ถ่ายทอดเหตุการณ์วัน D-Day หรือการบุกกระชับพื้นที่ ณ หาดนอร์มังดี ประเทศฝรั่งเศส ของฝ่ายพันธมิตร ช่วงสงครามโลกครั้งที่สองเมื่อวันที่ 6 มิถุนายน 1944 ซึ่งตอนแรกคาดหวังไว้เต็มหัวใจว่าจะได้ดูหนังสงครามที่ต่อสู้ห้ำหั่นดุเด็ดเผ็ดมัน แต่ที่ไหนได้ หนังมัวแต่เอ้อระเหยลอยชายบรรจงถ่ายทอดเก็บรายละเอียดของกลยุทธ์ต่างๆ ของแต่ละฝ่ายอย่างประณีตตามแนวทางของงานกึ่งสารคดีเพื่อบ่งบอกว่า สถานการณ์ที่เหมือนจะน่าตื่นเต้นลุ้นระทึกของวัน D-Day นั้น แท้แล้วมันดำเนินไปอย่างเรื่อยๆ ค่อยเป็นค่อยไป ไม่ได้อึกทึกโครมครามต้องคอยลุ้นให้ได้รอดกันแบบวินาทีสุดท้าย คล้ายหนังสงครามเรื่องอื่นๆ อย่างที่ได้จินตนาการไว้เลย

ส่วนผู้กำกับรายอื่นๆ ที่ยึดแนวทางงานกึ่งสารคดีจนได้ดีก็เห็นจะมีผู้กำกับชาวอังกฤษ พอล กรีนกราสส์ (Paul Greengrass) ที่เคยทำหนังถ่ายทอดเหตุการณ์ทหารสาดกระสุนยิงผู้ประท้วงชุมนุมไร้อาวุธที่เมืองเดอร์รี ไอร์แลนด์เหนือ เมื่อวันที่ 30 มกราคม 1972 จากเรื่อง Bloody Sunday (2002) จนได้รางวัลหมีทองคำจากเทศกาลหนังนานาชาติเบอร์ลิน และทำเรื่อง United 93 (2006) นำพาผู้ชมไปร่วมเที่ยวบิน United Airlines 93 หนึ่งในสี่ที่ถูกจี้ในเหตุการณ์ 9/11 ซึ่งดูแล้วหัวใจจะวาย แม้ว่าจะไม่ได้เร้าอะไรจนเกินเลยก็ตาม และยังมีหนังกึ่งสารคดีร่วมสมัยบีบหัวใจเรื่องอื่นๆ อย่าง 127 Hours (2010) ของ แดนนี บอยล์ (Danny Boyle) ติดตามการเอาชีวิตรอดของนักปีนเขา แอรอน ราลสตัน (Aron Ralston) เมื่อร่างติดอยู่ในแง่งเขาบลูจอห์นแคนยอน โดยลำพังโดยไม่มีใครรู้ และเรื่อง Utøya: July 22 (2018) ของ เอริค พ็อปเปอ (Erik Poppe) ที่นำเสนอเหตุการณ์กราดยิงเยาวชนผู้บริสุทธิ์ ณ ค่ายบนเกาะอือโตยา ประเทศนอร์เวย์ เมื่อวันที่ 22 กรกฎาคม 2011 ด้วยวิธีการถ่ายทำแบบให้ตากล้องถือกล้องตามเหยื่อผู้เคราะห์ร้ายโดยไม่ตัดต่อเลยตลอดความยาว!

อันที่จริง Thirteen Lives ก็ไม่ใช่หนังกึ่งสารคดีเรื่องแรกของรอน ฮาเวิร์ด เพราะก่อนหน้านี้เขาก็เคยทำเรื่อง Apollo 13 (1995) เล่าเหตุการณ์การล่าถอยปฏิบัติการสำรวจดวงจันทร์ของยาน Apollo 13 เพื่อรักษาชีวิตนักบินอวกาศปี 1970 ด้วยแนวทางนี้กันมาแล้ว  แต่อาจจะเป็นเพราะเป็นเรื่องราวของชาวอเมริกัน ฮาเวิร์ดเลยดูจะอินกับเรื่องได้มากกว่า เมื่อมาถึงเรื่อง Thirteen Lives ในปีนี้ที่เรื่องราวเกี่ยวข้องกับวีรบุรุษนักดำน้ำชาวอังกฤษ และผู้ประสบภัยชาวไทย หนังจึงให้รสชาติความเป็นกึ่งสารคดีได้สูงกว่า เพราะผู้กำกับเองก็น่าจะมีระยะกับเนื้อหาเรื่องราวจนสามารถมองในฐานะของผู้ที่มิได้มีส่วนเกี่ยวข้องโดยตรงได้มากขึ้น

จึงไม่ใช่เรื่องน่าประหลาดใจหากใน Thirteen Lives ฉบับนี้ จะไม่ได้มีการโหมประโคมอารมณ์ดราม่าให้มีเนื้อหาน่าตื่นตาตื่นใจไปกว่าสิ่งที่เคยเกิด การเดินเรื่องออกจะเนิบๆ ดำเนินไปเรื่อยๆ อย่างค่อยเป็นค่อยไป และในเวลาเพียงไม่ถึง 45 นาที วีรบุรุษนักดำน้ำของเราก็สามารถมุดเข้าไปเจอทีมหมูป่าอะคาเดมีทั้ง 13 รายได้เรียบร้อย กับสถานการณ์ง่ายๆ ของการผุดขึ้นมามองเห็นแสงไฟ และประโยคถามไถ่แต่เพียงสั้นๆ ท่ามกลางความเงียบ เพราะในชีวิตจริงมันไม่ได้มีวงออร์เคสตรามาร่วมบรรเลงบทเพลง Jupiter จาก The Planets, op.32 ของคีตกวี กุสตาฟ โฮลสต์ (Gustav Holst) กันในโถงถ้ำเสียที่ไหน ความตื่นเต้นดีใจจึงได้รับการถ่ายทอดผ่านเสียงโห่ร้องยินดีของผู้คนนอกถ้ำที่กำลังได้รับข่าวตามที่เคยเกิดขึ้นจริงๆ เสียมากกว่า ส่วนเวลาที่เหลือของหนังที่ต้องหันมาเล่าขั้นตอนที่ยากเย็นที่สุด นั่นคือการลำเลียงร่างหมูป่าทั้งสิบสามนายในระยะกว่า 2,500 เมตร ที่กินเวลาถึงเที่ยวละ 5-6 ชั่วโมง หนังก็นำเสนอตรงๆ ว่าพวกเขาต้องเจอกับความเสี่ยงความผิดพลาดแบบซ้ำๆ ที่ทำให้หัวใจแทบวายอย่างไร โดยไม่จำเป็นต้องสร้างเรื่องให้ต้องพบกับอุปสรรคอันหลากหลาย ทั้งที่ในการเขียนบทโดยปกติทั่วไป การฉายซ้ำปัญหาเดิมๆ แบบนี้อาจยังมีลักษณะที่ไม่พึงกระทำอยู่  คือดูแล้วเหมือนขั้นตอนการลำเลียง 13 หมูป่าออกมาอาจจะราบรื่นกว่าที่หลายๆ คนคาดการณ์ไว้ แต่ถ้ามองในมุมการเป็นหนังกึ่งแล้ว ถ้าสถานการณ์จริงไม่ได้เกิดอะไรขึ้น ผู้กำกับก็ไม่จำเป็นต้อง ‘ตอกไข่’ หรือ ‘ใส่สี’ ใดๆ ลงไปให้กลายเป็นความแปดเปื้อน จึงเป็นเรื่องที่ถูกต้องแล้วที่ Thirteen Lives อาจจะไม่ได้น่าตื่นเต้นลุ้นระทึกและบีบหัวใจได้เหมือนสารคดีเรื่อง The Rescue ที่ออกฉายไปเมื่อปีกลาย ด้วยจุดประสงค์การนำเสนอที่แตกต่างออกไปแบบคนละเจตนา

แต่สิ่งสำคัญที่จะมาทดแทนอารมณ์ร่วมลุ้นไปกับสถานการณ์ที่เราต่างก็รู้กันอยู่แล้วว่าเคยเกิดอะไร ก็คือการที่รอน ฮาร์เวิร์ดตั้งใจนำพาผู้ชมไปติดตามการทำงานของสองนักประดาน้ำในถ้ำ คือ ริค สแตนตัน (Rick Stanton) ที่รับบทโดย วิกโก มอร์เตนเซน (Viggo Mortensen) และ จอห์น โวลานเธน (John Volanthen) ที่รับบทโดย โคลิน ฟาร์เรลล์ (Colin Farrell) โดยเฉพาะฝ่ายสแตนตันที่วิกโก มอร์เตนเซน แสดงให้เห็นได้อย่างโดดเด่นชัดเจนเลยว่า เขากลัดกลุ้มและต้องกุมขมับกับสถานการณ์ที่ทุกคนฝากความหวังไว้ในมือของเขาอย่างหนักหน่วงถึงเพียงไหน ทุกครั้งที่เขาถอนหายใจ ใบหน้าที่แสดงให้รู้ว่าเขาได้เห็นกับตาว่าถ้าเกิดเหตุการณ์ที่สมาชิกหมูป่าไม่ว่าจะคนไหนลาจากโลกนี้ไปในอุ้งมือของเขา มันจะกลายเป็นหายนะสำหรับระยะเวลาชีวิตที่เหลือโดยไม่อาจลืมอย่างชวนให้ร้าวรานใจได้ขนาดไหน โดยเฉพาะเมื่อนั่นคือภาพที่ตามหลักความน่าจะเป็นแล้วได้รับคะแนนนำโด่งมากที่สุด และที่สำคัญคือสแตนตันมิใช่คนที่มองโลกในแง่ร้าย เขาเพียงมองโลกบนพื้นฐานของความเป็นไปได้ ทำให้หัวใจของเขามีแต่ตะกอนของความสิ้นหวัง ซึ่งมอร์เตนเซนนำเสนอทั้งความขุ่นมัวและมืดมนภายในเหล่านี้ออกมาได้ครบทุกหยดหยาด ด้วยมาดของคนที่ไม่รู้ว่าจะตัดสินใจอย่างไรไม่เว้นแม้แต่ตอนที่เขายืนนิ่งๆ ไม่ได้พูดจาอะไรออกมาเลย

ส่วนโคลิน ฟาร์เรลล์ในบท จอห์น โวลานเธน ก็เป็นอีกขั้วของการเป็นคนมองโลกในแง่ดีที่จะมางัดข้อสร้างสมดุลให้กับความเป็นคนมองโลกแบบสมจริงของสแตนตันได้อย่างมีประกายความหวัง ซึ่งโคลิน ฟาร์เรลล์ก็ทำให้เรารู้สึกว่าเขาเป็นคนที่เราจะพึ่งพาได้ ด้วยท่าทีมั่นอกมั่นใจในคติที่ว่า ‘ทุกปัญหามีทางแก้’ แม้ว่าลึกๆ แล้ว เขาก็อาจจะหวาดกลัวความล้มเหลวที่สามารถมองเห็นได้อย่างกระจะตาไม่น้อยไปกว่าสแตนตันเลยก็ตาม ฉากที่โวลานเธนเอ็ดสแตนตันให้รีบรับสายสิญจน์ครูบาจากมารดาของเด็กผู้เคราะห์ร้ายเอาไว้ จึงสะท้อนตัวตนของทั้งคู่ได้อย่างน่ารักและเป็นธรรมชาติเอามากๆ

ด้วยการนำเสนอภาพตัวละครวีรบุรุษแบบติดดินเช่นนี้เอง ที่ทำให้ปฏิบัติการช่วยเหลือ 13 หมูป่าของนักประดาน้ำและผู้เชี่ยวชาญรายอื่นๆ ไม่ว่าจะเป็น ดร. ริชาร์ด แฮร์ริส (Dr. Richard Harris) ซึ่งรับบทโดย โจล เอ็ดเกอร์ตัน (Joel Edgerton) หรือ คริส จีเวล (Chris Jewell) ซึ่งรับบทโดย ทอม เบตแมน (Tom Bateman) เป็นไปด้วยความวิตกตื่นกลัว เพราะทุกคนรู้ว่าแต่ละขั้นตอนมันเสี่ยงอันตรายชนิดที่ไม่สามารถพลาดได้ระดับไหน อย่างคริส จีเวลที่แทบจะปล่อยโฮร้องไห้เมื่อเขาพลั้งหลุดจากเชือกนำทางจนหลงทิศในโถงถ้ำ ซึ่งถ้านำไปให้โปรดิวเซอร์สายหนังฮอลลีวูดเน้นความลุ้นระทึกตื่นเต้นที่ไม่เห็นประโยชน์ของแนวทางการสร้างงานแบบหนังกึ่งสารคดีดู ผู้กำกับฮาเวิร์ดก็คงโดนตำหนิต่อว่าว่าทำหนังประสาอะไร ปล่อยให้ตัวละครวีรบุรุษเป็นพวกขี้ขลาดขี้กลัวไม่กล้าตัดสินใจ ปอดแหก ขี้แย มานั่งร้องห่มร้องไห้ โดยหาได้สำเหนียกไม่ว่านี่คือการนำเสนอภาพ ‘วีรบุรุษ’ ที่เป็น ‘มนุษย์’ ได้อย่างที่สุดแล้วตามวิถีแห่งงานกึ่งสารคดี

อย่างไรก็ดี หากจะมองลึกไปยังวิธีคิดที่บรรดาผู้เชี่ยวชาญเหล่านี้ใช้ในการกู้อุทกภัยครั้งใหญ่คราวนี้ มันก็มีความย้อนแย้งที่ชวนให้สะท้อนสะเทือนใจไม่น้อยอยู่เหมือนกัน ดังที่สแตนตันได้กล่าวไว้ว่า ไม่ว่าปฏิบัติการสุดหินนี้จะสำเร็จหรือไม่ พวกเขาก็ต้องนำร่างที่ ‘ยังมี-’ หรือ ‘มิเหลือ-’ ลมหายใจของน้อง ๆ 13 หมูป่าออกมาจากถ้ำอยู่ดี แต่ถ้าลองเสี่ยงก็ยังพอจะมีโอกาส แม้ว่าความผิดพลาดจะเป็นผลส่วนหนึ่งจากการตัดสินใจของพวกเขาก็ตามที หรือในช่วงที่วางแผนลำเลียงทีมหมูป่าออกมาโดยการใช้ยาสลบให้น้องๆ และโค้ชล้วนหมดสติไม่เกิดอาการตื่นเต้นตกใจ สแตนตันก็เลือกใช้อุปมาที่ช่างกรีดบาดหัวใจว่า จะได้ลำเลียงพวกเขาออกมาได้เหมือนเป็นกล่องพัสดุ! วิธีการมองที่ทะลุต่อความเป็น ‘มนุษย์’ ของน้องๆ หมูป่า ตั้งแต่ความจริงว่าหนทางรอดคือประตูที่ปิดตาย การวางยาให้หยุดหายใจ ไปจนถึงทำให้กลายเป็นเพียงวัตถุ ล้วนไม่ต่างจากการลดทอนความเป็นมนุษย์ (dehumanize) ของน้องๆ ที่ถ้าอยู่ในสถานการณ์ปกติทั่วไปก็คงเป็นเรื่องที่เกินจะรับไหว แต่ในสถานการณ์เช่นนี้คงไม่มีใครค้านว่ามันคือหนทางเดียวของความเป็นไปได้ ทั้งยังช่วยผ่อนคลายความตึงเครียดของผู้ปฏิบัติการไม่ให้ต้องวิตกกังวลจนเกินไป อันพาลจะก่อให้เกิดความผิดพลาดที่เสี่ยงอันตรายได้มากขึ้น ความสำเร็จของปฏิบัติการลำเลียง 13 ชีวิตออกมาจากถ้ำหลวง จึงไม่ต่างจากการทำให้พวกเขาทั้งหมดสามารถดิ่งจมอยู่ในท้องน้ำเหมือนเมื่อครั้งที่เคยอยู่ในคร่ำครรภ์มารดาโดยไม่เห็นจะสำลักพักสูดทางรูจมูกแต่อย่างใด เหมือนเป็นการต่อสายสะดือส่งท่อลมหายใจให้ครองความมีชีวิตโดยสงบนิ่งได้ และพร้อมจะเกิดใหม่อีกครั้งเมื่อได้ถึงปากถ้ำ

ความสำเร็จอีกอย่างของหนังเรื่องนี้ ก็คือ ผู้กำกับรอน ฮารเวิร์ดดูจะพิถีพิถันและใส่ใจกับรายละเอียดของงานโปรดักชันที่รังสรรค์ข้าวของรวมทั้งอุปกรณ์ประกอบฉากต่างๆ ให้งานสร้างดูสอดคล้องต้องตรงกับพื้นที่จริงบริเวณถ้ำหลวงขุนน้ำนางนอนมากที่สุด ไม่ต่างจากตอนที่เขาได้ย้อนยุคไปยังยุคสมัย 1970s จากเรื่อง Apollo 13 เพราะฉากสำคัญต่างๆ ของเรื่องไม่ได้ถ่าย ณ พื้นที่อุทยานแห่งชาติถ้ำหลวง-ขุนน้ำนางนอนในประเทศไทย แต่ย้ายไปตั้งฐานกันที่ควีนส์แลนด์ ประเทศออสเตรเลีย ทีมงานจึงต้องเนรมิตบรรยากาศต่างๆ สร้างฉากขึ้นมาใหม่ให้แลดูคล้ายพื้นที่จริงในจังหวัดเชียงรายมากที่สุด

จุดเด่นอีกประการ ก็คือการเคารพในภาษาพูดต้องถิ่นของตัวละครแต่ละราย ไม่ว่าจะเป็นชาติใด โดยตัวละครที่อาศัยอยู่ในพื้นที่จะต้องพูดภาษาคำเมืองแบบจังหวัดเชียงรายซึ่งต่างไปจากภาษาเหนือโดยทั่วไป ทำให้นักแสดงจะต้องคอยฝึกฝนกันใหม่จากผู้ที่พูดสำเนียงนั้นได้จริง ๆ  หรือแม้แต่มอร์เตนเซน นักแสดงชาวอเมริกัน-เดนมาร์ก ก็จำเป็นต้องหันมาหัดสำเนียงอังกฤษในแบบเอสเซกซ์ (Essex) ที่แตกต่างจากสำเนียงเดิมของเขาแบบคนละฝั่งขั้วเพื่อความสมจริง ในขณะที่โคลิน ฟาร์เรลล์ซึ่งเป็นชาวไอร์แลนด์ ก็ต้องปรับสำเนียงให้ฟังคล้ายชาวอังกฤษทางตอนใต้เช่นกัน ซึ่งก็เป็นอีกหนึ่งด่านขั้นพื้นฐานด้านการแสดงโดยเฉพาะในแนวทางหนังกึ่งสารคดีที่นักแสดงจะต้องพยายามแสดงลักษณะวาจาและท่าทางให้เหมือนกับบุคคลต้นแบบของพวกเขาให้ได้มากที่สุด ซึ่งบางครั้งก็มิใช่เรื่องง่ายเลย

มาถึงผลงานของนักแสดงฝั่งคนไทย ซึ่งคงต้องขอบอกเอาไว้ตั้งแต่บรรทัดนี้เลยว่า ขอใช้สิทธิ์ในการเป็นคนไทย ที่เกิดและเติบโตมาในประเทศไทย มาเป็นไม้บรรทัดในการตัดสินชี้วัดว่านักแสดงแต่ละคนทำผลงานได้ดีเลวขนาดไหน คือถ้า ‘กัลปพฤกษ์’ ดันเป็นชาวต่างชาติที่ไม่ใช่คนไทยและไม่เคยอยู่ในประเทศไทย ก็อาจจะไม่สามารถมองเห็นจุดบกพร่องดังที่จะกล่าวถึงต่อไปนี้ได้เลยเหมือนกัน มันก็จะโชคร้ายสักหน่อยนะรอน ฮารเวิร์ดกับนักวิจารณ์ชาวไทยที่เคยสัมผัสและเข้าใจรายละเอียดในส่วนนี้ได้ดี เพราะหลายๆ จุดก็อาจจะเป็นมุมที่คนประเทศอื่นไหนไม่ได้มองว่าเป็นเรื่องด่างพร้อย

เริ่มจากคู่ที่มีปัญหาน้อยที่สุด นั่นก็คือ เจมส์-ธีรดนย์ ศุภพันธุ์ภิญโญ ในบท ‘โค้ชเอก’ และ เวียร์-ศุกลรัตน์ คณารศ ในบท ‘จ่าแซม’ ในส่วนของ เจมส์-ธีรดนย์ ที่นอกจากจะต้องฝึกพูดภาษาคำเมืองท้องถิ่นเชียงรายให้คล้ายที่สุด ซึ่ง ‘กัลปพฤกษ์’ เองก็ต้องขอยอมรับว่ามิได้เป็นผู้เชี่ยวชาญภาษาถิ่นนี้ เพียงพอที่จะประเมินได้ว่ามัน ‘เนียน’ หรือ ‘เพี้ยน’ แต่แค่ได้เห็นดาราสุด fashionista boutique อยู่ทุกวินาทีอย่าง เจมส์-ธีรดนย์ ต้องกลายมาเป็น ‘โค้ชฟุตบอล’ จากแดนภูธร ในชุดเสื้อผ้าปอนๆ ไร้สิ้นซึ่งความสง่าราศี แถมยังมีความเป็นคนตัวเล็ก ด้วยความรู้สึกผิดที่เกาะกุมใจอยู่ตลอดเวลา ก็นับถือได้แล้วว่า เขาได้พยายามเข้าถึงอารมณ์ความรู้สึกของการเป็นโค้ชเอกในสถานการณ์เช่นนั้นตามที่เคยเกิดขึ้นจริงๆ เสียดายอยู่จุดเดียวที่ทุกครั้งเวลาเขาพูดภาษาไทยกลาง บทพูดมันช่างฟังดูแปร่งกระด้างและยังไม่มีโทนเสียงเพี้ยนเหน่อในแบบที่ชาวบ้านเขาพูดกันจริงๆ  ส่วน เวียร์-ศุกลรัตน์ ก็โชคดีหน่อยที่บทบาทของ ‘จ่าแซม’ ไม่ได้ยุ่งยากท้าทายอะไรมาก เขาจึงนำเสนอภาพของจ่าทหารตัวเล็กๆ ผู้มีจิตใจไปไหนไปกัน ยิ้มแย้มห้าวหาญ ช่วยกันคนละไม้ละมือ จากหัวใจที่สัตย์ซื่อต่อภารกิจหน้าที่ของตนเองเฉกเช่นผู้เสียสละได้อย่างเห็นภาพ

ผิดกับตัวละครระดับผู้บังคับบัญชา ไม่ว่าจะเป็น ปู-วิทยา ปานศรีงาม ในบท ‘พลเอกอนุพงษ์’, ปู-สหจักร บุญธนกิจ ในบท ‘ผู้ว่าณรงค์ศักดิ์’ และ ตุ้ย-ธีรภัทร์ สัจจกุล ในบท ‘นาวาเอกอนันท์’ ที่แต่ละคนเล่นกันแบบ ‘นักแสดงทำการแสดง’ คำพูดคำจาต้องชัดทุกถ้อยความ อารมณ์ต้องหลามล้นท้นท่วมแบบนิดๆ ไม่ให้ผู้ชมเข้าใจผิด จนทุกอย่างแลดูประดิษฐ์ปลอมไปหมด คือนักแสดงทั้งสามเหมือนรู้จัก ‘การแสดงหนัง’ อยู่แค่แบบเดียว ไม่มีใครเข้าใจเลยว่าแนวทางกึ่งสารคดีคืออะไร และต้องการการแสดงแบบใด ไม่มีใครกลัดกลุ้ม หรือวิตกกังวลไปกับสถานการณ์จริงๆ แบบนักแสดงจากฝั่งตะวันตก จนกลายเป็นการแสดงที่แข็งจนตลกและดูผิดที่ผิดทางไปอย่างน่าอาย

ฝ่ายนักแสดงที่รับบทเป็นพ่อแม่ผู้ปกครอง ซึ่งหนังได้วางตัวแทนหลักเอาไว้สองรายคือ ‘สมบูรณ์’ รับบทโดย คาเงะ-ธีรวัฒน์ มุลวิไล และ ‘บัวหอม’ รับบทโดย พลอย-ภัทรากร ตั้งศุภกุล ก็ถือว่าทำได้ดีกับบทสามัญที่เหมือนจะเล่นง่ายอย่างการเป็นพ่อเป็นแม่ แต่ก็ทำให้เชื่อได้ยากหากนักแสดงจะยังไม่เคยมีบุตรเป็นของตัวเองจริงๆ เพราะต้องทำให้คนดูเห็น ‘เงา’ ของลูกผ่านความห่วงใยในทุกวินาทีของบุพการีทั้งๆ ที่ไม่ได้เห็นหน้าพวกเขาได้  ซึ่งทั้ง คาเงะ-ธีรวัฒน์และพลอย-ภัทรากร ก็แสดงภาวะหัวใจสลายไม่เป็นอันกินอันนอนออกมาได้โดยไม่รู้สึกปลอม มีแค่ฉากเดียวเท่านั้นที่อาจจะดุดันจนเกินเลยไป คือฉากที่ ‘บัวหอม’ บุกไปตัดพ้อต่อว่าต่อขาน ‘ผู้ว่าณรงค์ศักดิ์’ กลางตลาด ที่ออกจะกราดเกรี้ยวจนล้นเกินไปหน่อย ซึ่งก็สะท้อนถึงปัญหาสามัญในการถ่ายทอดนักแสดงชาวบ้านชาวไทยในหนังเรื่องนี้ที่สุดท้าย รอน ฮาเวิร์ดก็มิได้เข้าอกเข้าใจถึงความเป็นคนไทยอยู่ดี เพราะประเด็นสำคัญสำหรับตัวละครชาวบ้านชาวไทยเหล่านี้คือคำว่า ‘พินอบพิเทา’ ซึ่งเป็นคำที่ไม่มีคำแปลเป็นภาษาอังกฤษ เพราะโดยบุคลิกแล้วชาวตะวันตกเขาเคย ‘พินอบพิเทา’ กันเสียที่ไหน ดังนั้นไม่ว่าฝ่ายมารดาจะโกรธขึ้งตึงเครียดถึงขั้นบุกเข้าไปด่าทอขอระบายต่อผู้มีอำนาจอย่างเดือดดาลเพียงไหน ความพินอบพิเทาละล่ำละลักรบเร้าก็ยังคงต้องมีอยู่ ไม่ควรปล่อยให้ดูเป็นฉากทะเลาะเผชิญหน้ากันแบบหนังฮอลลีวูดอเมริกัน ซึ่งเป็นอุปนิสัยที่ไม่มีวันได้เห็นกันในประเทศไทย

ในขณะที่นักแสดงเจนเวทีอย่าง อ้น-นพพันธ์ บุญใหญ่ ในบทบาท ‘วิศวกรธเนศ’ ผู้เบี่ยงเส้นทางน้ำหลากออกจากถ้ำ ก็ยังเห็นความ ‘ยืนงงในดงวารี’ เมื่อเขายังระบายสีสันตัวละครรายนี้ออกมาไม่ชัดเลยว่าจะเอาอย่างไร จะให้มีบุคลิกเป็นหนุ่มเนิร์ดสติเฟื่องผู้รู้ทุกเรื่องในการแก้ปัญหา หรือว่าจะให้เป็นวีรบุรุษสายบุ๋นครุ่นคิดหาวิธีด้วยมันสมอง ก็ลองเลือกดูสักทาง มิใช่มาสั่งๆ ชาวบ้านชาวช่องกันแบบไร้แรงจูงใจ เธอมาเพราะจุดประสงค์อันใดแบบนี้

แต่สองรายที่หนักข้อมากที่สุด ถึงขั้นต้องกุมขมับกันเลยก็คือ รายแรก อั้ม-ถิระ ชุติกุล ในบท Navy SEAL ที่ไม่รู้ว่าจะเข้มจะดุดันกันไปถึงไหน กลายเป็นตัวละครฝ่ายร้ายแบบพิมพ์นิยมมากมาย ในขณะที่การถ่ายหนังแนวกึ่งสารคดีไม่ได้ต้องการอะไรอย่างนั้น คือเข้าใจดีว่าโดยสรีระใบหน้า อั้ม-ถิระ มีดวงตาที่กลมโตโผล่ถลน ดังนั้น ไม่ว่าจะแสดงอารมณ์อะไรออกมามันจะปรากฏขยายได้ชัดเจนมากๆ ผ่านแววตาอันเจิดจ้าโดยธรรมชาติของเขา เมื่อนัยน์ตาทั้งคู่สู้สายตาตัวละครรายอื่นๆ ด้วยความดุดัน มันเลยดูเป็นการแสดงที่ด้านแข็งแห้งสากไม่อยากประสานสบ คือถ้าลองหยอดความเมตตากลบลงไปเพียงแค่หยดเดียว เดี๋ยวความถึงถลนก็จะช่วยให้เขาดูเป็นคนขึงขังเอาการเอางานที่ยังคงความอ่อนหวานและเป็นมิตรอยู่ได้ ส่วนรายสุดท้ายนี่ขอบอกเลยว่าดู ‘ปลอม’ มากที่สุดในเรื่อง นั่นก็คือ ส้ม-ณัฐวรา หงษ์สุวรรณ ในบทเลขาผู้ว่าณรงค์ศักดิ์ ที่ต้องขอยกหูเซย์ ‘เฮ้ลโหลว์!!!?’ ถึงเธอจะกำลังเล่นในหนังอเมริกัน แต่เธอก็ไม่จำเป็นต้องทำตัวเป็น ‘สาวอเมริกัน’ มาดมั่นที่ไม่ว่าจะหันไปมองจากมุมไหนก็ไม่ยักจะเห็นถึงความเป็นคนไทยเลยแบบนี้! คือเชื่อแหละว่า ผู้กำกับรอน ฮาเวิร์ดคงจะคุ้นเคยกับการแสดงแบบ ‘American working woman’ อะไรแบบนี้ดี แต่จะไม่มีใครบอกเขาเลยหรือว่า ไม่ว่าจะเป็นผู้ว่าฯ จังหวัดไหน ก็ไม่น่าจะมีเลขานุการคนไทยที่มั่นหน้ามั่นโหนกกระโดกกระเดกแบบนี้ให้เห็นได้! อุตส่าห์ไปสนอกสนใจกับบรรดางานโปรดักชั่นและการพูดภาษาท้องถิ่นที่ต้องฝึกกันทีละคำ ทำทุกทางให้หนังดูสมจริง แต่สุดท้ายก็โดนนักแสดงหญิงชาวไทยแหกให้หนังกลายเป็นงานกึ่งสารคดีกำมะลอ ซึ่งเอาล่ะ มันก็เป็นข้อบกพร่องที่พอจะยกโทษให้ได้ เพราะอย่างที่บอกว่าถ้า ‘กัลปพฤกษ์’ มิได้เป็นคนไทย ก็อาจมองไม่เห็นในความไม่สมจริงทั้งหลายเหล่านี้เลย!

ความไม่เนียนส่วนที่เหลือ เช่น การประนีประนอมไม่ยอมให้นักแสดงไทยพูดภาษาอังกฤษแบบไม่ตรงตามมาตรฐาน (broken English) ติดการลงน้ำหนักให้ทุกคำที่ท้ายพยางค์ ซึ่งจะทำให้เจ้าของภาษาฟังไม่รู้เรื่อง อย่างที่จะเจอในความเป็นจริง หรือกิ่งก้านใบรวมทั้งเฉดสีของแมกไม้ที่ดูยังไงก็ยังคงเป็นพืชเมืองหนาว จึงกลายเป็นเรื่องเล็กไปเลยเมื่อต้องมาเจอกับความพินาศด้านการแสดงอะไรแบบนี้ คือจริงๆ ก็สุดแสนจะยินดีกับนักแสดงและทีมงานชาวไทยทุกรายที่มีโอกาสได้ร่วมงานกับผู้กำกับระดับต้นๆ ของวงการอย่างฮารเวิร์ดแบบใกล้ชิด ซึ่งถ้าคิดอีกด้านมันก็เป็นสถานการณ์วัดฝีมือได้เหมือนกันว่าแต่ละคนมีความสามารถและความเข้าใจในการแสดงมากน้อยแค่ไหน เพราะจะไม่สามารถเบี่ยงโบ้ยได้อีกต่อไปว่าฉันซวยที่เจอผู้กำกับห่วย กำกับนักแสดงไม่เป็น ฉันเลยเล่นได้ไม่ดี เพราะคราวนี้การแสดงจะออกมาเป็นผีหรือเป็นคน ก็เป็นผลจากประสบการณ์และความเก๋าของนักแสดงท่านนั้นๆ ด้วยโอกาสแบบนี้ทำให้การที่คนไทยไปได้ถึงรางวัลออสการ์มิได้เป็นเพียงความฝัน และมิใช่จังหวะที่จะเข้ามาในชีวิตทุกๆ วัน ครั้นมีโอกาสได้แสดงฝีมือทุกคนจึงต้องพร้อมที่จะรักษาชื่ออวดความสามารถที่ได้ฝึกปรือในทางที่ถูกที่ควรได้เสมอ

แต่ถึงแม้ว่าฝั่งการแสดงอาจได้รับการเสนอชื่อเข้าชิงรางวี่รางวัลอะไรได้ยาก หากยังมีคนไทยอีกหนึ่งรายที่น่าจะพอฝากความหวังไว้ได้ นั่นคือตากล้อง สยมภู มุกดีพร้อม ที่ได้โอกาสอวดฝีมือในการถ่ายภาพทั้งเหนือน้ำและใต้น้ำในหนังกันอย่างเต็มที่ และคงปฏิเสธมิได้ว่าการนิรมิตประเทศออสเตรเลียให้กลายเป็นเชียงรายได้เนียนขนาดนี้ ส่วนหนึ่งก็มาจากสายตาที่แหลมคมของ สยมภู มุกดีพร้อม ว่าจะสกัดความเป็นไทยในพื้นที่ต่างถิ่นออกมาได้อย่างไร ด้านการเจาะจับอารมณ์นักแสดงในแต่ละฉากเขาก็มิได้เป็นสองรองใคร จนถือเป็นอีกหนึ่งความภาคภูมิใจ ที่หวังว่าจะไปได้ไกลกว่าผลงานในเรื่องก่อนๆ ของเขา

MOST READ

Life & Culture

14 Jul 2022

“ความตายคือการเดินทางของทั้งคนตายและคนที่ยังอยู่” นิติ ภวัครพันธุ์

คุยกับนิติ ภวัครพันธุ์ ว่าด้วยเรื่องพิธีกรรมการส่งคนตายในมุมนักมานุษยวิทยา พิธีกรรมของความตายมีความหมายแค่ไหน คุณค่าของการตายและการมีชีวิตอยู่ต่างกันอย่างไร

ปาณิส โพธิ์ศรีวังชัย

14 Jul 2022

Life & Culture

27 Jul 2023

วิตเทเกอร์ ครอบครัวที่ ‘เลือดชิด’ ที่สุดในอเมริกา

เสียงเห่าขรม เพิงเล็กๆ ริมถนนคดเคี้ยว และคนในครอบครัวที่ถูกเรียกว่า ‘เลือดชิด’ ที่สุดในสหรัฐอเมริกา

เรื่องราวของบ้านวิตเทเกอร์ถูกเผยแพร่ครั้งแรกทางยูทูบเมื่อปี 2020 โดยช่างภาพที่ไปพบพวกเขาโดยบังเอิญระหว่างเดินทาง ซึ่งด้านหนึ่งนำสายตาจากคนทั้งเมืองมาสู่ครอบครัวเล็กๆ ครอบครัวนี้

พิมพ์ชนก พุกสุข

27 Jul 2023

Life & Culture

4 Aug 2020

การสืบราชสันตติวงศ์โดยราชสกุล “มหิดล”

กษิดิศ อนันทนาธร เขียนถึงเรื่องราวการขึ้นครองราชสมบัติของกษัตริย์ราชสกุล “มหิดล” ซึ่งมีบทบาทในฐานะผู้สืบราชสันตติวงศ์ หลังการเปลี่ยนแปลงการปกครองโดยคณะราษฎร 2475

กษิดิศ อนันทนาธร

4 Aug 2020

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • Always Active

Save