fbpx

20 ผลงานใหม่ ยอดอ่านสูงสุดของ The101.World เดือนสิงหาคม 2564

Spotlight ประจำเดือนสิงหาคม 2564

หยอดกระปุกอนาคต ด้วยสวัสดิการเงินอุดหนุนเด็กเล็กถ้วนหน้า

“ในระหว่าง 2-3 ขวบแรกของผม หลังจากที่ผมเกิดมา ผมอยากให้แม่กับผมได้กินอาหารที่ถูกหลักโภชนาการ เพราะเป็นระยะที่ร่างกายและสมองผมเติบโตขึ้น และเป็นระยะที่จะส่งผลดีให้ผมในอนาคต”

นี่คือบางส่วนจากบทความ ‘คุณภาพแห่งชีวิต ปฏิทินแห่งความหวัง : จากครรภ์มารดาถึงเชิงตะกอน’ ที่ ‘ป๋วย อึ๊งภากรณ์’ เคยเขียนไว้ – เป็นความหวังถึงคุณภาพชีวิตที่เรียบง่ายยิ่งนัก

แม้เวลาจะผ่านไปกว่า 50 ปี ขณะที่สังคมไทยมีทรัพยากรเพียงพอแล้วสำหรับการลงทุนใน ‘เด็กเล็กทุกคน’ แต่ความหวังของ ‘ป๋วย’ ก็ยังไม่เป็นจริงสำหรับเด็กทุกคน

ปัจจุบันรัฐไทยมีการลงทุนใน ‘เด็กเล็กอายุ 0-6 ปี’ น้อยมาก สวัสดิการที่เด็กเล็กได้รับมีเพียงเงินอุดหนุนเดือนละ 600 บาท ซึ่งให้เฉพาะกับครัวเรือนที่สมาชิกมีรายได้น้อยกว่า 100,000 บาทต่อคนต่อปี เงินที่รัฐใช้ลงทุนส่วนนี้คือ 16,659 ล้านบาทต่อปี หรือแค่ 0.5% ของงบประมาณไทยเท่านั้น

ที่ผ่านมา แม้จะมีเด็กยากจนที่ได้รับประโยชน์จากสวัสดิการเงินอุดหนุนเด็กเล็กถึง 1.9 ล้านคน แต่ก็ใช่ว่าจะครอบคลุมเด็กยากจนทุกคน จากการศึกษาของสถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (TDRI) พบว่ามีเด็กยากจนกว่า 30% ตกหล่นจากการได้รับเงินอุดหนุน เพียงเพราะไม่สามารถข้ามผ่าน ‘กระบวนการพิสูจน์ความจน’ ไปได้

สวัสดิการเงินอุดหนุนเด็กเล็กถ้วนหน้าจึงเป็นคำตอบ – เป็นการลงทุนเพื่ออนาคตที่คุ้มค่าที่สุดอย่างหนึ่งที่รัฐไทยจะทำได้

101 ร่วมกับ สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) ชวนคุณมาทำความเข้าใจสวัสดิการเงินอุดหนุนเด็กเล็กถ้วนหน้าอย่างครอบคลุมทุกมิติ ตั้งแต่มิติเศรษฐกิจ มิติการเมือง ตลอดจนมิติวัฒนธรรม สามารถติดตามเรื่องราวของสวัสดิการเงินอุดหนุนเด็กเล็กถ้วนหน้าได้ตลอดช่วงเดือนสิงหาคมนี้

1 ปีข้อเสนอปฏิรูปสถาบันกษัตริย์

พลันที่ข้อเสนอปฏิรูปสถาบันกษัตริย์ถูกนำเสนอต่อสาธารณะอย่างตรงไปตรงมา ภูมิทัศน์ทางการเมืองไทยก็เปลี่ยนไปอย่างไม่มีวันหวนกลับ เมื่อเพดานทางความคิดได้ถูกยกระดับอย่างไม่เคยเป็นมาก่อน

ในด้านหนึ่ง ‘การทะลุเพดาน’ สะท้อนการตกผลึกทางความคิดของสังคมไทยในการมองปัญหาความขัดแย้งทางการเมืองไทยในรอบกว่าทศวรรษที่ผ่านมาอย่างแหลมคม แต่ในอีกด้านหนึ่ง เพดานที่เปิดขึ้นก็เผยให้เห็นว่า สังคมไทยยังมีพื้นที่ของ ‘ความไม่รู้’ เกี่ยวกับสถาบันฯ อยู่มากเพียงไร ความสุ่มเสี่ยง ผันผวนและคาดเดาไม่ได้จึงไม่ใช่ผลลัพธ์ที่น่าแปลกใจ

ในห้วงเวลาหัวเลี้ยวหัวต่อเช่นนี้ ทางออกของสังคมไทยคงเกิดขึ้นไม่ได้หากเราหยุดคิด วิเคราะห์ และตั้งคำถาม

101 ชวน 6 นักคิด นักวิชาการ และนักเคลื่อนไหวทางการเมืองทบทวนและอ่านการเมืองไทยในช่วงเวลาหัวเลี้ยวหัวต่อสำคัญในซีรีส์ความรู้ ‘1 ปีข้อเสนอปฏิรูปสถาบันกษัตริย์’ ประกอบไปด้วย

1. Tom Ginsburg ศาสตราจารย์ด้านกฎหมายและรัฐศาสตร์แห่ง University of Chicago ผู้เขียนหนังสือ ‘How to Save a Constitutional Democracy’

2. ปนัสยา สิทธิจิรวัฒนกุล กลุ่มราษฎรและแนวร่วมธรรมศาสตร์และการชุมนุม

3. ปราการ กลิ่นฟุ้ง ภาควิชาประวัติศาสตร์ คณะมนุษยศาสตร์ มหาวิทยาลัยรามคำแหง เจ้าของวิทยานิพนธ์เรื่อง ‘Crown Property and Constitutional Monarchy in Thailand, 1932-1948’

4. ปวงชน อุนจะนำ ภาควิชารัฐศาสตร์และรัฐประศาสนศาสตร์ คณะสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยนเรศวร ผู้เขียนหนังสือ ‘Royal Capitalism: Wealth, Class, and Monarchy in Thailand’

5. อานนท์ นำภา กลุ่มราษฎรและทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน

6. อาสา คำภา สถาบันไทยคดีศึกษา มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ผู้เขียนหนังสือ ‘กว่าจะครองอำนาจนำ’

20 ผลงานใหม่ ยอดอ่านสูงสุดของ The101.World เดือนสิงหาคม 2564

อ่าน 20 ผลงานใหม่ยอดนิยมของ The101.World ในเดือนสิงหาคม 2564 เจาะลึกสวัสดิการเงินอุดหนุนเด็กเล็ก ไฮไลต์เด่น ครบรอบ 1 ปี ปฏิรูปสถาบันกษัตริย์ พร้อมรับชมรายการ 101 One-on-One และ 101 Bite-Sized clip

ทำไมอาจารย์มหาวิทยาลัยกลายเป็นพวก ‘อิกนอร์’

โดย สมชาย ปรีชาศิลปกุล

ขณะที่สังคมไทยกำลังเกิดวิกฤต ผู้คนเดือดร้อนทุกหย่อมหญ้า เหตุใดอาจารย์มหาวิทยาลัยจำนวนมากยังคงนิ่งเฉยต่อความเป็นไปของบ้านเมือง

สมชาย ปรีชาศิลปกุล เขียนถึงเหตุที่อาจารย์มหาวิทยาลัยส่วนหนึ่งกลายเป็นพวก ‘อิกนอร์’ (ignorant) ทั้งที่อยู่ในบทบาทที่สังคมคาดหมายว่าจะป็นผู้รู้และตระหนักถึงปัญหาต่างๆ ได้มากกว่าอาชีพอื่น

“แม้ผู้คนร่วมสังคมจะต้องตกงาน หยุดงาน ไม่สามารถทำมาหากินได้ตามปกติ แต่อาจารย์มหาวิทยาลัยก็ยังได้รับเงินเดือนตามปกติ ขณะที่การเรียนการสอนก็อาจปรับไปสู่ระบบออนไลน์ซึ่งอาจมีความวุ่นวายอยู่บ้างแต่ก็ไม่ใช่เรื่องที่ก่อให้เกิดความยากลำบากมากมายประการใด
“การแสวงหาความเจริญก้าวหน้าในทางอาชีพก็ยังคงดำเนินไปตามปกติ การประชุมสัมมนาผ่านระบบออนไลน์ที่ดูราวกับจะมีคนเข้าร่วมเป็นจำนวนมากอย่างสม่ำเสมอก็คือ how to ขอตำแหน่งวิชาการให้ประสบความสำเร็จ”

“ส่วนผู้ที่เคยผ่านร้อนผ่านหนาวในห้วงเวลาของการเป่านกหวีดซึ่งเห็นความเหลวแหลกที่แสดงอยู่ต่อหน้าในปัจจุบัน จำนวนหนึ่งก็เลือกจะดำรงตนแบบอิกนอร์ไป กลายเป็นกลุ่มที่ ‘ไม่สนใจการเมือง’ อีกแล้ว”

การกลับมามีอำนาจของตาลีบันในอัฟกานิสถาน: ความเปลี่ยนแปลงในเครื่องหมายคำถาม?

โดย ศุภวิชญ์ แก้วคูนอก

เมื่อวันอาทิตย์ที่ 15 สิงหาคม 2021 ที่ผ่านมา กลุ่มตาลีบันประกาศยึดกรุงคาบูลได้สำเร็จ หลังความขัดแย้งในอัฟกานิสถานตึงเครียดมาเป็นเวลาร่วมหลายเดือน

คำถามสำคัญคือ เกิดอะไรขึ้นกับรัฐบาลอัฟกานิสถานในช่วงไม่กี่สัปดาห์? และอัฟกานิสถานภายใต้การนำของตาลีบันจะมีหน้าตาเป็นอย่างไร?

ศุภวิชญ์ แก้วคูนอก เขียนถึง ต้นธารความขัดแย้งในอัฟกานิสถานที่นำไปสู่การกลับขึ้นมามีอำนาจอีกครั้งของกลุ่มตาลีบัน พร้อมทั้งมองฉากทัศน์ความเป็นไปได้ของอัฟกานิสถานในอนาคต

นิทานมีศพ (และเรื่องอื่นๆ) Super Deluxe

โดย นรา

“จุดเด่นเบื้องต้นอันจะแจ้งเด่นชัดมากของ Super Deluxe คือความบันเทิงในขีดขั้นที่กล่าวได้ว่า อภิมหาสนุกสุดๆ”

‘นรา’ แนะนำอีกหนึ่งหนังคุณภาพสัญชาติอินเดีย ‘Super Deluxe’ โดยเทียกราจัน กุมารราชา ที่ร้อยเรียงเรื่องราว 4 เรื่องได้อย่างสนุกครบรสและมีสาระแหลมคมชวนคิด

“มันเป็น ‘เรื่องเล่าที่ดี’ แต่ละเหตุการณ์แข็งแรงและดีเกินพอจนสามารถแยกออกมาทำเป็นหนังสนุกๆ สักเรื่องได้สบายๆ ดังนั้นเมื่อนำมาผนวกรวมเป็นหนังหนึ่งเรื่อง รสบันเทิงจึงเหมือนคูณ 4”

“แต่ละเรื่องราวล้วนมีแก่นเรื่องเฉพาะเป็นของตนเอง และอีกส่วนหนึ่งก็คล้ายๆ การต่อภาพจิ๊กซอว์ … แง่มุมเบื้องต้นในเรื่องเล่าทั้ง 4 สะท้อนถึงปัญหาต่างๆ ในสังคมอินเดีย เช่น การแต่งงานแบบคลุมถุงชน, อคติที่สังคมมีต่อ ‘บุคคลข้ามเพศ’, ความฉ้อฉลของตำรวจเลว(บางคน), สวัสดิการสังคมในการรักษาพยาบาลคนจน”

“เป็นหนังที่ผมขอแนะนำและเชิญชวนให้ดูเป็นที่สุดเลยนะครับ”

เจ้าฟ้า-เจ้าสัว: จากความมั่งคั่งบนสายสัมพันธ์ สู่การปฏิรูปสถาบันกษัตริย์ ‘ปวงชน อุนจะนำ’

โดย ณรจญา ตัญจพัฒน์กุล

“การละเลยความสัมพันธ์อันแน่นแฟ้นระหว่าง ‘ทุน’ และ’ สถาบันกษัตริย์’ ทำให้เรามองไม่เห็นคำถามสำคัญเหล่านี้

“คำถามแรกคือ เวลาเราต่อสู้กับทุน ต่อต้านนายทุน ประท้วง และเรียกร้องให้มีการปฏิรูปทุนนิยม เราต้องการปฏิรูปสถาบันกษัตริย์ด้วยหรือไม่

“คำถามที่สอง เวลาที่เราเรียกร้องให้มีการปฏิรูปสถาบันกษัตริย์ การปฏิรูปที่ว่านี้จะประสบความสำเร็จโดยไม่ปฏิรูประบบทุนนิยมได้หรือไม่”

ในวาระครบรอบ 1 ปีการประกาศข้อเรียกร้องปฏิรูปสถาบันกษัตริย์ 101 สนทนากับ ปวงชน อุนจะนำ ภาควิชารัฐศาสตร์และรัฐประศาสนศาสตร์ คณะสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยนเรศวร ผู้เขียนหนังสือ Royal Capitalism: Wealth, Class, and Monarchy in Thailand ว่าด้วย บทบาท-สถานะ-อำนาจของ ‘สถาบันกษัตริย์กระฎุมพี’ ในทุนนิยมและประชาธิปไตยไทย ท่ามกลางกระแสคลื่นลมแห่งความเปลี่ยนแปลงที่ถูกกดทับทั้งทางการเมืองและเศรษฐกิจมานาน

“เรามักจะละเลยไปว่าสถาบันกษัตริย์คือสถาบันที่นายทุนเข้าหาและโคจรรอบ วังไม่ได้เป็นเพียงแค่สถาบันที่แสดงบทบาทเชิงประเพณีหรือวัฒนธรรมตามบทบาทที่ควรจะเป็นของสถาบันกษัตริย์ภายใต้รัฐธรรมนูญ แต่ในทางปฏิบัติ สถาบันกษัตริย์แสดงบทบาทที่สำคัญและทรงอิทธิพลมากในตลาด เป็นผู้ลงทุนและผู้ผลิตในตลาด เป็นคู่ค้ากับนายทุน เชื่อมนายทุนเข้าหากัน และเป็นแหล่งความชอบธรรมเชิงอุดมการณ์ของชนชั้นนายทุนด้วย ดังนั้นผมมองว่าระหว่างเจ้าฟ้ากับเจ้าสัว วังกับบริษัท พระราชทรัพย์กับตลาดหลักทรัพย์มีอะไรเกี่ยวข้องกัน”

“ตราบเท่าที่ทุนยังเข้มแข็ง นายทุนมีอำนาจทางเศรษฐกิจการเมืองที่เข้มแข็ง สถาบันกษัตริย์ยังสนิทกับทุนอย่างแนบแน่น แถมสถาบันกษัตริย์ยังเล่นบทนายทุนเอง การต่อสู้ครั้งนี้ไม่ง่าย ต่อให้ลดทอนอำนาจของสถาบันกษัตริย์ในเชิงการเมืองหรือวัฒนธรรมได้ แต่โจทย์ที่รออยู่คือจะทำอย่างไรกับอำนาจของสถาบันกษัตริย์ในตลาด”

“เราต้องเหนื่อยเป็นสองเท่า เพราะสถาบันกษัตริย์แยกไม่ออกจากทุน และสถาบันกษัตริย์เองก็เป็นนายทุนด้วย ชนชั้นแรงงานก็ต้องเผชิญกับทั้งเจ้าของบริษัทที่พร้อมจะปราบแรงงานที่ประท้วงค่าแรงอยู่และกษัตริย์กระฎุมพี

“ดังนั้นตัวแบบหนึ่งที่ไทยน่าจะเอามาใช้ก็คือ การให้กษัตริย์รับเงินเดือนจากรัฐในฐานะแหล่งรายได้เดียว ให้พระราชวังเป็นทรัพย์สินของรัฐ ตัดพระราชกรณียกิจที่เกี่ยวข้องกับกิจการสาธารณะและให้รัฐบาลเป็นผู้รับผิดชอบเองทั้งหมด ตัดโครงการหลวงเพราะทับซ้อนกับส่วนราชการ นี่คือปรับให้กษัตริย์กลับไปอยู่เหนือการเมืองและเศรษฐกิจ นี่คือโจทย์ที่ท้าทายอย่างมากในการปฏิรูปสถาบันกษัตริย์ในห้วงเวลาเช่นนี้”

‘อาสา คำภา’ จาก 2495 ถึงข้อเสนอปฏิรูปสถาบันฯ เส้นทางอันผกผันของเครือข่ายในหลวง

โดย ภาวรรณ ธนาเลิศสมบูรณ์ 

วันนี้ วินาทีนี้ อาจกล่าวได้ว่าโจทย์ที่ยากที่สุดสำหรับสถาบันกษัตริย์และชนชั้นนำไทย คือการเรียกร้องให้ปฏิรูปสถาบันฯ จากฝ่ายประชาชน 101 ชวน ดร.อาสา เจ้าของหนังสือ ‘กว่าจะครองอำนาจนำ’ พูดคุยถึงมหากาพย์เครือข่ายสถาบันกษัตริย์ ความเปลี่ยนแปลงของชนชั้นนำ และร่องรอยอุดมการณ์จากรัชกาลที่ 9 ซึ่งหลงเหลือเป็นมรดกสังคม

“ถ้าย้อนกลับไปสมัยต้นรัชกาลที่ 9 ความพยายามอย่างหนึ่งของสถาบันฯ คือการแสวงหาจุดยืนเพื่อที่จะอยู่ในระบอบใหม่หลัง 2475 ได้อย่างปลอดภัย โดยไม่ต้องอิงกับระบอบทหาร สิ่งนั้นคืออุดมการณ์แบบ ‘ราชประชาสมาสัย’ ที่แปลว่า ‘พระราชากับประชาชนพึ่งพาอาศัยกัน’”

“คำนี้เกิดขึ้นปลายทศวรรษ 2490 คือช่วงที่ในหลวงรัชกาลที่ 9 เสด็จกลับมาประเทศไทย จากการเผชิญปัญหาต่างๆ สุดท้ายก็ตกตะกอนว่าสถาบันฯ ต้องนำตัวเองไปผูกกับประชาชน กษัตริย์กับประชาชนต้องมีปฏิสัมพันธ์กันเพื่อให้อยู่รอดปลอดภัย นี่เป็นโครงการทางการเมืองที่เพิ่งถูกสร้างขึ้นมาโดยกลุ่มปัญญาชนกษัตริย์นิยมต่างๆ”

“เครือข่ายสถาบันฯ มีส่วนในการหนุนสร้างพระราชอำนาจนำเป็นอย่างมาก เราจะเห็นบทบาทเลยว่าใครทำอะไร อย่างไร และที่น่าสนใจคือมีความสัมพันธ์แบบอิสระเชิงสัมพัทธ์กัน มีคนวิ่งเข้าวิ่งออก บางช่วงก็แนบแน่นกับสถาบันฯ บางช่วงก็ถอยห่าง”

“พระราชอำนาจนำมีพลวัต และสัมพันธ์กับฉันทมติของชนชั้นนำไทยว่าจะยอมรับหรือไม่ยอมรับสถาบันฯ โดยเฉพาะในช่วงเวลาที่การเมืองยังเป็นชนชั้นนำอยู่ กระแสพระราชอำนาจนำที่เคยขึ้นสูงอาจตกลงมาได้ง่ายๆ ถ้าคุณละเมิดฉันทมติชนชั้นนำไทย”

“กรอบฉันทมติ ‘ไม่ควบรวมอำนาจ’ ของชนชั้นนำไทย คือถ้ามีฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งมาควบรวมอำนาจไม่แบ่งปันอำนาจก็จะถูกแอนตี้จากกลุ่มต่างๆ แม้แต่สถาบันฯ ในยุคที่มีพระราชอำนาจนำสูง พอไปก้าวก่ายเส้นแบ่งเขตอำนาจก็ถูกถอยห่าง ไม่ยอมรับได้”

“ผมไม่ได้มองว่าสถาบันกษัตริย์หรือเครือข่ายของสถาบันฯ เป็นกลุ่มก้อนเดียวกันกับทหาร แต่มีลักษณะเป็นหุ้นส่วน (partnership) ทางอำนาจกันมากกว่า ทศวรรษ 2500 ถึงก่อน 14 ตุลา 2516 เป็นยุคของจอมพล ทหารถือเป็น senior partnership ของชนชั้นนำไทยทั้งหมด กระทั่งเหนือกว่าสถาบันฯ…. แต่ปัจจุบัน อย่างที่ อาจารย์สุลักษณ์ ศิวรักษ์ บอก คือรัฐบาลทำเพื่อเอาใจพระมหากษัตริย์ ถวายพระราชอำนาจต่างๆ มากมาย เพราะรัฐบาลประยุทธ์ก็ไม่มีความชอบธรรมจึงต้องอิงกับสถาบันฯ”

“ถ้าระบอบประชาธิปไตยรอด สถาบันกษัตริย์ก็จะรอดด้วย” Tom Ginsburg

โดย สมคิด พุทธศรี

101 ชวนทอม กินสเบิร์ก สนทนาว่าด้วย ระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข (constitutional monarchy) ในโลกสมัยใหม่จากมุมมองเชิงเปรียบเทียบ

ทอม กินสเบิร์ก เป็นศาสตราจารย์ด้านกฎหมายและรัฐศาสตร์แห่ง University of Chicago ผู้เขียนหนังสือ How to Save a Constitutional Democracy ซึ่งศึกษาการถดถอยของประชาธิปไตยทั่วโลกในรอบทศวรรษที่ผ่านมา นอกจากนี้ ‘ทอม’ ยังเป็นผู้อำนวยการร่วมของโครงการ Comparative Constitutions Project ซึ่งเป็นโครงการศึกษารัฐธรรมนูญเปรียบเทียบจากทั่วโลกครอบคลุมทุกช่วงเวลาตั้งแต่ก่อกำเนิดรัฐชาติ

น่าสนใจว่าคนที่คิด อ่าน เขียน และผ่านหูผ่านตา เกี่ยวกับระบอบประชาธิปไตยจากทั่วโลกนั้นมอง ‘ประชาธิปไตยแบบไทยๆ’ อย่างไร

“เสถียรภาพทางการเมืองไทยถูกซ้ำเติมด้วยการเปลี่ยนผ่านรัชสมัย นี่คือประเด็นใจกลางที่สำคัญอย่างยิ่ง…ปัจจุบันสถาบันกษัตริย์ไม่สามารถเล่นบทบาท ‘คนกลาง’ ท่ามกลางความขัดแย้งได้อย่างที่เคยเป็นมา และยังถูกทำให้เป็นส่วนหนึ่งของความขัดแย้งเสียเอง นี่ความท้าทายที่น่ากังวลอย่างยิ่งของสังคมไทย”

“หากมองจากมุมมองทางประวัติศาสตร์ สถาบันกษัตริย์เป็นสถาบันที่มีความชอบธรรมสูงมาก เพราะเป็นสถาบันฯ ที่ทำหน้าที่สั่งสมคุณค่าที่ ‘ดีที่สุด’ ของสังคมจากช่วงเวลาหนึ่งสู่ช่วงเวลาหนึ่ง แต่ลักษณะเช่นนี้ก็ทำให้สถาบันฯ มีความเป็นอนุรักษนิยมโดยธรรมชาติ และโจทย์พื้นฐานที่สุดของการเป็นอนุรักษนิยมคือ การปรับตัวให้สอดคล้องสภาพแวดล้อมที่เปลี่ยนแปลงไป”

ควรปิดโรงเรียนหรือไม่

โดย ประเสริฐ ผลิตผลการพิมพ์

“เรื่องปิดโรงเรียน ถ้ารัฐบาลทำงานดีกว่านี้ได้ก็ไม่ควร ปิดโรงเรียนก็เหมือนปิดร้านอาหาร มิใช่ทุกคนจะรับผลตามมาที่เกิดขึ้นได้”

นพ.ประเสริฐ ผลิตผลการพิมพ์ ชวนคิดเรื่องผลกระทบของการปิดโรงเรียน และชวนมองไปถึงวิธีแก้ปัญหาที่ดีกว่าการปิดโรงเรียน

“เราอาจจะให้เหตุผลว่าเพราะจำนวนผู้ป่วยโควิดมีมากเกินไปทำให้การจัดการร้านอาหาร โรงพยาบาล หรือโรงเรียนทำไม่ได้ คำตอบจะเลื่อนไปที่ ‘เลเวล’ ถัดไป นั่นคือเราควรบริหารจัดการการระบาดของโควิด-19 ได้ดีกว่าที่เป็นอยู่”

“สมมติว่าท่านที่รับผิดชอบตรงนี้ไม่มีความสามารถทำได้ เราจะเลื่อนไปที่เลเวลถัดไปอีกนั่นคือควรเปลี่ยนคนทำงาน แล้วให้รางวัลแก่คนที่ทำงานได้มากกว่าปกติ”

เด็กไทยในฐานะสินค้า

โดย วนา ภูษิตาศัย

กว่าสินค้าชิ้นหนึ่งจะถูกบรรจุลงหีบห่อและจัดแสดงบนชั้นวางสินค้าได้ สินค้าชิ้นนั้นต้องผ่านการเดินทางมากมาย ไม่ว่าจะถูกผลิต แปรรูป คัดเลือก ประกอบสร้าง ไปจนถึงถูกประเมินค่า เพื่อให้ในท้ายที่สุด สินค้าชิ้นนั้นจะสามารถแข่งขันในตลาดได้

ในสายพานการผลิตที่มุ่งสรรค์สร้างแต่สินค้าชั้นเลิศ เต็มไปด้วยการควบคุมและตรวจสอบมาตรฐานอย่างเข้มข้น ปลายทางของสายพานเส้นนี้คงหนีไม่พ้นสินค้าชั้นดี ที่ใครๆ ต่างต้องการ

เว้นเสียแต่ว่าสิ่งที่อยู่บนสายพานไม่ใช่สินค้า แต่เป็นเด็กที่มีชีวิตจิตใจ พวกเขาจะเป็นอย่างไร เมื่อต้องตกอยู่ภายใต้ระบบการผลิตที่สร้างคนราวกับสินค้า

เด็กเอ๋ยเด็กดี… ต้องมีราคาอะไรที่พวกเขาต้องจ่าย หรือทำหล่นหายไประหว่างการวิ่งบนสายพานการผลิตเช่นนี้

จุดจบของ ‘นายพลผู้ทำลายประเทศชาติ’

โดย โตมร ศุขปรีชา

“ในวันที่เขาตาย โลกจารึกชื่อเขาไว้ว่าคือ ‘นายพลผู้ทำลายพม่า’ หรือ The Destroyer of Burma ซึ่งก็คือ นายพลผู้ทำลายประเทศชาตินั่นเอง”

“เขาคือนายพลเนวิน”

คอลัมน์ ‘The Scythe’ สัปดาห์นี้ โตมร ศุขปรีชา เล่าเรื่องราวของ ‘เนวิน’ เผด็จการทหารพม่าที่พบจุดจบการตายอันโดดเดี่ยว

“ในยุค 80 นโยบายปิดประเทศและนโยบายสังคมนิยมของเนวินเปลี่ยนพม่าให้กลายเป็นหนึ่งในประเทศที่ยากจนที่สุดในโลก ภายในประเทศเองมีการคอรัปชั่นและการจัดการที่ผิดพลาดมากมายหลายอย่าง เกิดตลาดมืด ตลาดใต้ดิน และภาวะขาดแคลนอาหาร ทั้งที่พม่าเคยเป็นประเทศผู้ส่งออกข้าวรายสำคัญของโลก”

“สภาวะแบบนี้ย่อมทำให้ประชาชนทนไม่ได้ เกิดการลุกฮือประท้วงที่เรียกว่า Four Eights Uprising หรือ 8888 Uprising ในวันที่ 8 เดือน 8 ปี 1988”

“ว่ากันว่า มีผู้เสียชีวิตนับร้อยคน แต่บางกระแสก็ประมาณการผู้เสียชีวิตไว้สูงถึง 3,000 คน ในช่วงวันที่ 8 ถึง 12 สิงหาคม 1988 แต่วันที่เลวร้ายที่สุด คือวันที่ 18 สิงหาคม เมื่อนายพลซอหม่อง บดขยี้ผู้ประท้วงโดยไม่ไว้หน้า แม้คนที่รับผิดชอบต่อเหตุการณ์นี้จะเป็นซอหม่อง แต่ก็เชื่อกันว่าเป็นเนวินนี่เองที่อยู่เบื้องหลัง แม้ในตอนนั้นเขาจะลาออกแล้วก็ตาม”

“ว่ากันว่า เพื่อนๆ สมัยยังหนุ่มของเขาซึ่งยังมีชีวิตอยู่หลายคนได้รับคำแนะนำว่าอย่าไปงานศพของเขา ดังนั้น งานศพของนายพลเนวินผู้ยิ่งใหญ่จึงมีคนไปร่วมงานเพียงราวสิบกว่าคนเท่านั้น ลูกสาวของเขาเป็นผู้นำเถ้าถ่านที่เคยเป็นนายพลเนวินไปโปรยในแม่น้ำ

“ล่วงเข้าวันที่ 7 ธันวาคมนั่นแหละ ที่ผู้คนในประเทศได้ล่วงรู้ว่าเขาตายดับจากไปแล้ว เพราะมีการลงตีพิมพ์ไว้อาลัยอย่างไม่เป็นทางการในคอลัมน์เล็กๆ ของหนังสือพิมพ์ท้องถิ่น เนื้อหาคือครอบครัวแสดงความขอบคุณคนที่ดูแลเขาขณะเจ็บป่วยและช่วยเหลือจัดการงานศพ

“จุดจบของนายพลผู้ทำลายประเทศชาติเป็นอย่างนี้นี่เอง”

สามัญชนในสุริโยไท ฝุ่นละอองกลางไฟรัฐประหารและเพลิงสงคราม : ระหว่างบรรทัดหนังมหากาพย์ครบรอบ 2 ทศวรรษ

โดย ภิญญพันธุ์ พจนะลาวัณย์

ในวาระครบรอบ 2 ทศวรรษของการฉายภาพยนตร์สุริโยไท ภิญญพันธุ์ พจนะลาวัณย์ ย้อน ‘อ่าน’ ระหว่างบรรทัดที่ซ่อนอยู่ในหนัง และแสวงหาพื้นที่ของสามัญชนในภาพยนตร์ที่ว่าด้วยวีรสตรีและการช่วงชิงอำนาจเรื่องนี้

“รู้กันโดยทั่วไปว่าสุริโยไทเป็นหนังมหากาพย์ประวัติศาสตร์ไทยที่เดินตามแนวทางประวัติศาสตร์แห่งชาติที่มีสถาบันกษัตริย์เป็นศูนย์กลาง ดังนั้นการเสริมสร้างความยิ่งใหญ่อลังการของกรุงศรีอยุธยาและตัวละครชนชั้นนำต่างๆ จึงถูกประดิษฐ์ขึ้นอย่างไม่เคยมีภาพยนตร์เรื่องใดทำได้มาก่อน ฉากท้องพระโรงและพระราชบัลลังก์สีทองอร่ามอันศักดิ์สิทธิ์ ฉากสงครามอันยิ่งใหญ่เต็มไปด้วยกองทัพช้างและไพร่พล เครื่องประดับเครื่องแต่งกายของชนชั้นสูงที่ได้รับการออกแบบอย่างพิถีพิถัน”

“แต่จะเป็นอย่างไรหากเราจะแสวงหาว่าพื้นที่ของสามัญชนในหนังเรื่องนี้มีอยู่หรือไม่ หรือถูกนำเสนอออกมาอย่างไร จะเป็นไปได้ไหมหากเราจะมองหนังสุริโยไทด้วยมุมอื่นที่ไม่ใช่มองจากเบื้องบนยอดพีระมิด เพื่อเปิดบทสนทนาในวาระครบรอบ 2 ทศวรรษของหนังเรื่องนี้”

“…ชนชั้นนำระดับกษัตริย์หรือราชวงศ์ แทบจะไม่ได้เล่นบทผู้สูญเสียจากสงครามเลย ยกเว้นสมเด็จพระสุริโยไท ความตายสำหรับไพร่พลในหนังนับเป็นเรื่องปกติ และหลีกเลี่ยงไม่ได้เพื่อความสมจริงและยิ่งใหญ่ ผู้คนนิรนามที่ล้มตายล้วนเป็นตัวประกอบที่ไม่มีใครรู้จัก แต่ซากศพของคนเหล่านี้จำเป็นอย่างยิ่งกับเรื่องเล่าเช่นนี้ ความพินาศของการทำลายล้างด้วยอาวุธ การบาดเจ็บล้มตายของพลทหารเลว การนองเลือดโดยไม่ต้องคำนึงถึงความรุนแรงที่ส่งผลต่อคนดู ล้วนส่งผลต่อภาพความยิ่งใหญ่ของสงคราม…”

อนาคตมานุษยวิทยา-มานุษยวิทยาอนาคต

อนาคตมานุษยวิทยา-มานุษยวิทยาอนาคต

โดย เก่งกิจ กิติเรียงลาภ

เก่งกิจ กิติเรียงลาภชวนตั้งคำถามต่อหัวใจของวิชามานุษยวิทยาว่าแท้จริงแล้วคือสิ่งใด และอนาคตของมานุษยวิทยาจะเดินไปทิศทางไหน

“นักมานุษยวิทยาหลายคนเชื่อว่า ‘ความแตกต่าง’ (ซึ่งกำกับความเหมือนและความต่าง) นั้นเป็นสิ่งที่ดำรงอยู่ก่อน (given) ก่อนที่พวกเขาจะเข้าไปศึกษาสิ่งต่างๆ และการเอาชนะความต่างก็เปรียบเสมือนชัยชนะของนักมานุษยวิทยาผู้พิชิตเส้นแบ่งพรมแดนที่แบ่งแยกเขากับเราได้ ในแง่นี้ ความแตกต่างจึงเป็นจุดตั้งต้นของวิชามานุษยวิทยา ทว่ายังมีอีกคำถามหนึ่งที่เราอาจจะถามต่อมาได้ก็คือ อะไรเล่าคือเป้าหมายหรือปลายทางของวิชามานุษยวิทยา

“แน่นอนว่าสปิริตของวิชามานุษยวิทยาที่พยายามรื้อสร้างความคิดแบบอาณานิคมของตนเองนั้นก็มุ่งไปที่การชี้ให้เห็นว่า วิชามานุษยวิทยาจำต้องช่วยลดอคติทางเชื้อชาติ ชาติพันธุ์ และวัฒนธรรมให้ได้ พูดอย่างถึงที่สุด วิชามานุษยวิทยาที่เรากำลังพูดถึงในทุกวันนี้นั้นมุ่งไปสู่การหาหนทางของการอยู่ร่วมกันท่ามกลางความแตกต่างหลากหลายอย่างถึงที่สุด แต่หนทางเช่นนี้ก็มิใช่เป้าหมายอันเป็นสากลของวิชามานุษยวิทยาเสียทีเดียว ในด้านกลับกัน หากความแตกต่างไม่ใช่จุดตั้งต้นของการคิดหรือการทำงานวิชาการ การหาทางอยู่ร่วมกับความแตกต่างก็คงจะไม่มีความหมายใดๆ ให้คิดถึงหรือกังวล”

“นักมานุษยวิทยาจำนวนหนึ่งพยายามกลับไปที่จุดเริ่มต้นอีกครั้ง โดยพยายามชี้ให้เห็นว่า วิชามานุษยวิทยาไม่จำเป็นต้องเริ่มต้นด้วยความแตกต่าง เพราะการระบุว่าสิ่งใดต่างจากสิ่งใดนั้นเป็นเพียงสิ่งสร้างมากกว่าจะเป็นสภาวะที่ดำรงอยู่จริงแท้แน่นอนแบบอภิปรัชญา หากความแตกต่างไม่ใช่จุดตั้งต้น วิชามานุษยวิทยาก็ย่อมจะไม่ใช่วิชาที่ต้องพยายามแก้ไขหรือหาทางจัดการหรืออยู่ร่วมกับความแตกต่าง แต่สารัตถะของวิชามานุษยวิทยากลับหมายถึงอะไรบางอย่างที่ ‘ร่วมกัน’ (common) (มาตั้งแต่ต้นหรือค่อยๆ อยู่ร่วมกัน) มากกว่า ความร่วมกันดังกล่าวนี้เป็นทั้งจุดตั้งต้นของการศึกษาและเป็นเป้าหมายของการศึกษาในตัวมันเอง”

โรงเรียนที่ถูกลืม: สถาบันการศึกษา อัตลักษณ์ และเรื่องเล่า

โดย เสฏฐนันท์ ธนกิจโกเศรษฐ์ และ เนติวิทย์ โชติภัทร์ไพศาล

เสฏฐนันท์ ธนกิจโกเศรษฐ์ และ เนติวิทย์ โชติภัทร์ไพศาล ชวนมองการสร้างเรื่องเล่าแบบราชาชาตินิยมผ่านเรื่องเล่าของโรงเรียนหอวังและโรงเรียนเตรียมอุดมศึกษา ที่ยึดโยงเรื่องเล่าหลักอยู่ที่ความเกี่ยวพันกับสถาบันกษัตริย์ แต่กลับไม่เคยพูดถึงความเกี่ยวข้องกับโรงเรียนเล็กๆ อย่างโรงเรียนวัดหัวลำโพง

“ความเล็กน้อยที่เกือบจะเหมือนไม่เกี่ยวเนื่องกันนี้ ไม่ได้เกิดจากความไม่เกี่ยวเนื่องทางประวัติศาสตร์ แต่มีสาเหตุจากการที่เรื่องเล่ารองอย่างเรื่องของโรงเรียนวัดหัวลำโพงถูกเบียดบังพื้นที่โดยเรื่องเล่าหลัก ทำให้เรื่องราวความเกี่ยวเนื่องที่แท้จริงได้จางไปตามกาลเวลา”

“อย่าลืมว่ากรอบคิดแบบราชาชาตินิยมทำให้คนส่วนใหญ่มองว่าเรื่องเล่าสำคัญคือเรื่องที่เกี่ยวกับกษัตริย์เป็นหลัก ดังนั้นเรื่องเล่าของโรงเรียนวัดหัวลำโพงจึงไม่สำคัญไปโดยปริยาย”

“ท่ามกลางกระแสสำนึกแห่งความเป็นพลเมืองที่เพิ่มมากขึ้น เรื่องเล่าที่เคยถูกใช้สร้างอัตลักษณ์ได้เปลี่ยนไปจากเดิม ผู้คนให้ความสำคัญกับเรื่องเล่าของคนตัวเล็กตัวน้อยมากยิ่งขึ้น ทำให้เรื่องเล่ากระแสหลักที่ยึดถือกันมานานถูกท้าทายโดยเรื่องเล่าชายขอบ”

“ถ้าสมมติว่าโรงเรียนเตรียมอุดมศึกษาและโรงเรียนหอวังโอบรับเรื่องเล่าความเกี่ยวข้องกับโรงเรียนวัดหัวลำโพงเป็นหนึ่งในเรื่องเล่าใหม่ของตนเองจะเกิดอะไรขึ้น โรงเรียนจะมีความเปลี่ยนแปลงอย่างไร และความเปลี่ยนแปลงใหม่นี้จะมีส่วนช่วยเหลือโรงเรียนขนาดเล็กอย่างโรงเรียนวัดหัวลำโพงอย่างไรบ้าง”

สถาบัน/ศิลปะ/สถาปนา

โดย ธนาวิ โชติประดิษฐ

ธนาวิ โชติประดิษฐ เขียนถึงความเชื่อมโยงระหว่างพัฒนาการด้านศิลปะสมัยใหม่ของไทยและการสถาปนาอำนาจของสถาบันกษัตริย์

“ความเปลี่ยนแปลงในการทำงานศิลปะในสยามที่ให้ความสำคัญกับความเหมือนจริง (realistic) ซึ่งเกิดขึ้นในสมัยที่สยามติดต่อกับโลกตะวันตก โดยเฉพาะยุโรปในศตวรรษที่ 19 นำไปสู่คำอธิบายว่าเพราะเหตุใด ‘ศิลปะสมัยใหม่’ ของสยามจึงแตกต่างออกไปจากศิลปะสมัยใหม่ในยุโรป เห็นได้ชัดว่าลักษณะดังกล่าวเกิดขึ้นโดยเป็นผลมาจากพระราชนิยมของชนชั้นนำโดยตรง”

“ความเป็นสมัยใหม่ในงานศิลปะไม่เพียงตอบโจทย์ความต้องการที่จะศิวิไลซ์ตามอย่างชาวยุโรปเท่านั้น …แต่ยังกลายเป็นส่วนหนึ่งของการสถาปนาพระราชอำนาจและบารมีอย่างเป็นรูปธรรมที่จับต้องมองเห็นได้อีกด้วย”

“นายสั่งมา” : ความรับผิดและการขัดขืนของเจ้าหน้าที่ชั้นผู้น้อย

โดย สมชาย ปรีชาศิลปกุล

ข้ออ้างของเจ้าหน้าที่ตำรวจที่ว่า “นายสั่งมา” เมื่อได้รับคำสั่งจากผู้บังคับบัญชาให้ละเมิดสิทธิเสรีภาพของประชาชนจะทำให้เจ้าหน้าที่ชั้นผู้น้อยปฏิเสธความรับผิดชอบได้จริงหรือ?

สมชาย ปรีชาศิลปกุล เขียนถึงความรับผิดรับชอบและทางเลือกของเจ้าหน้าที่ เมื่อได้รับคำสั่งที่ขัดต่อมโนธรรม

“เจ้าหน้าที่ตำรวจย่อมไม่อาจอ้างได้ว่าคำสั่งของเจ้านายอยู่เหนือกว่ากฎหมาย รวมทั้งไม่อาจอ้างว่าตนเองไม่รู้ว่าคำสั่งนั้นขัดต่อกฎหมาย คงจะเป็นเรื่องแปลกประหลาดอย่างมากหากเจ้าหน้าที่ปฏิเสธความรับผิดในการกระทำของตนด้วยเหตุผลว่าเป็นเพราะตนเองไม่รู้กฎหมาย”

“หากมีคำสั่งที่ขัดต่อกฎหมายเกิดขึ้นแล้วเจ้าหน้าที่ผู้ปฏิบัติงานก็ยังคงกระทำต่อไป การกระทำเช่นนี้ก็ย่อมเป็นความผิดที่ต้องได้รับการลงโทษด้วยเช่นกัน ดังนั้น การยิงกระสุนยางใส่ประชาชนมือเปล่าที่ชุมนุมโดยสงบจนได้รับบาดเจ็บ ย่อมไม่ใช่ความผิดของผู้บังคับบัญชาเพียงเท่านั้น ตำรวจแต่ละคนที่ลั่นกระสุนออกมาก็ล้วนแต่ต้องมีความรับผิดด้วย”

“จงตระหนักว่าความเปลี่ยนแปลงทางการเมืองเป็นสิ่งที่ไม่อาจหลีกเลี่ยงได้…เมื่อความเปลี่ยนแปลงบังเกิดขึ้น การกระทำที่ได้เกิดขึ้นจะเป็นส่วนหนึ่งที่ต้องถูกชำระในทางกฎหมาย เทคโนโลยีข้อมูลข่าวสารที่แพร่กระจายไปอย่างกว้างขวางจะกลายมาเป็นแหล่งข้อมูลชั้นดีที่สามารถนำมาใช้จัดการกับเจ้าหน้าที่ทั้งหลายที่ใช้อำนาจอย่างฉ้อฉล”

10 บทเรียนจาก 20 ปีสงครามอเมริกันในอัฟกานิสถาน

10 บทเรียนจาก 20 ปีสงครามอเมริกันในอัฟกานิสถาน

โดย ปิติ ศรีแสงนาม

“วันที่ 29 กุมภาพันธ์ 2020 สหรัฐฯ ภายใต้การนำของอดีตประธานาธิบดี Donald Trump เปิดการเจรจากับตัวแทนจากฝ่าย Taliban ณ กรุง Doha ประเทศกาตาร์ โดยมีนาย Abdullah-Abdullah คู่แข่งชิงตำแหน่งประธานาธิบดีของ Ashraf Ghani เป็นตัวกลางในการเจรจา โดยทั้ง 2 ฝ่ายสามารถบรรลุการเจรจาได้สำเร็จ มีการลงนาม Doha Agreement ที่มีใจความสำคัญ นั่นคือ ฝ่ายสหรัฐจะถอนทหารทั้งหมดออกจากอัฟกานิสถานภายในระยะเวลา 14 เดือน”

“นั่นทำให้ทุกฝ่ายพิจารณาได้ว่า การเจรจากันครั้งนี้ ทุกฝ่ายได้ประโยชน์ร่วมกันทั้งหมด นั่นคือ สหรัฐฯ และพันธมิตรได้เลิกสงคราม 20 ปีที่สูญเสียมหาศาลทั้งกำลังคนและกำลังเงิน ทำให้อดีตประธานาธิบดี Trump ได้นำผลงานนี้ไปใช้ในการหาเสียงเลือกตั้ง ขณะที่ฝั่ง Taliban ก็ได้กำลังคนเพื่อที่จะได้กลับมาครอบครองประเทศอีกครั้ง”

“แต่คนที่ไม่ได้ประโยชน์และไม่มีฝ่ายใดเห็นหัวในการเจรจาเลยคือ ‘ประชาชนอัฟกานิสถาน'”

ปิติ ศรีแสงนาม ถอดบทเรียน 10 ข้อจากปฏิบัติการของสหรัฐฯ ในอัฟกานิสถาน ซึ่งกินเวลาถึง 20 ปี จนกระทั่งถอนกำลังออกในที่สุด

พัฒนาการศึกษาให้ดีขึ้นได้ แค่ทำความเข้าใจ ‘สมอง’ กับ Nandini Chatterjee Singh

พัฒนาการศึกษาให้ดีขึ้นได้ แค่ทำความเข้าใจ ‘สมอง’ กับ Nandini Chatterjee Singh

โดย วงศ์พันธ์ อมรินทร์เทวา

“ในสมัยก่อน เวลาเราศึกษาเรื่องการเรียนรู้ของคน เรามักละเลยที่จะทำความเข้าใจเกี่ยวกับสมอง แล้วไปสังเกตแต่เพียงปัจจัยที่เป็นพฤติกรรมของคนเพียงอย่างเดียว เช่นไปตั้งโจทย์ว่าทำไมคนที่นอนหลับไม่เพียงพอหรือไม่กินอาหารที่มีประโยชน์ ถึงได้มีประสิทธิภาพการเรียนที่ไม่ดี แต่แทนที่จะไปศึกษาอย่างนั้น ฉันว่าเราควรปรับเปลี่ยนไปตั้งโจทย์อีกมุมหนึ่งว่า การนอนหลับและการกินอาหารส่งผลต่อการทำงานของสมองอย่างไร จากนั้นการทำงานของสมองไปส่งผลต่อพฤติกรรมการเรียนรู้อย่างไร ตรงนี้จะช่วยตอบโจทย์มากขึ้นว่าเราจะพัฒนาการศึกษาอย่างไร”

101 สนทนากับ ดร.นันทินี แชตเตอร์จี ซิงห์ (Dr. Nandini Chatterjee Singh) นักประสาทวิทยาศาสตร์ด้านการเรียนรู้ สถาบันการศึกษาเพื่อสันติภาพและการพัฒนาอย่างยั่งยืนมหาตมะคานธี (Mahatma Gandhi Institute of Education for Peace and Sustainable Development – MGIEP) ภายใต้องค์การยูเนสโก (UNESCO) ทำความเข้าใจเบื้องต้นเกี่ยวกับระบบการทำงานของสมองที่เกี่ยวเนื่องกับการเรียนรู้ของเด็กทั้งในด้านวิชาการ รวมทั้งด้านอารมณ์และสังคม พร้อมคุยถึงแนวทางการนำ neuroscience ไปประยุกต์ใช้เพื่อพัฒนาระบบการศึกษาให้ตอบโจทย์การเรียนรู้ของเด็กมากขึ้น

“ในการเรียนของเด็ก ถ้าเด็กไม่ได้รู้สึกมีปฏิสัมพันธ์เชิงสังคมที่ดีในห้องเรียนหรือไม่ได้รู้สึกได้รับรางวัลบางอย่างในการเรียน พวกเขาก็จะเรียนรู้ไม่ได้ เพราะฉะนั้นตัวคุณครูเองจึงเป็นปัจจัยสำคัญที่จะต้องสร้างบรรยากาศเหล่านี้ให้เด็ก โดยคนที่เป็นครูจำเป็นต้องมีความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับสมองในส่วนการเรียนรู้ทางด้านอารมณ์และสังคม เช่นรู้ว่าถ้าเด็กอารมณ์ไม่ดี เด็กก็จะเรียนรู้ไม่ได้ เพราะสมองยังเต็มไปด้วยความโกรธ เพราะฉะนั้นคุณครูก็ต้องพยายามใช้ความใจดีมากขึ้นในตอนนั้น เพื่อให้อารมณ์ของเด็กดีขึ้นแล้วกลับมาเรียนรู้ได้”

“คุณครูถือว่าเป็นผู้มีความสำคัญมากต่อการเรียนรู้ของเด็กๆ ทั้งชั้นเรียน ถ้าครูมีความเข้าใจในเรื่องการทำงานของสมอง คุณครูก็จะเรียนรู้ว่าพวกเขาควรสอนอย่างไรให้เด็กมีผลสัมฤทธิ์ที่ดีขึ้น และในภาพใหญ่ มันก็อาจช่วยให้อัตราการรู้หนังสือของเด็กทั่วโลกสูงขึ้นได้ด้วย”

“ความเข้าใจในเรื่อง neuroscience นี่แหละจะเป็น game changer ที่สำคัญของแวดวงการศึกษา”

“ความกลัวไม่อาจเปลี่ยนเป็นความรัก” รุ้ง-ปนัสยา สิทธิจิรวัฒนกุล

โดย วจนา วรรลยางกูร

ในวาระครบรอบ 1 ปีสิบข้อเสนอปฏิรูปสถาบันกษัตริย์ วจนา วรรลยางกูร พูดคุยกับ รุ้ง-ปนัสยา สิทธิจิรวัฒนกุล ผู้ประกาศข้อเรียกร้องปฏิรูปสถาบันฯ และแกนนำการชุมนุม ทบทวนความคิด ชีวิต และจิตใจช่วงปีที่ผ่านมา พร้อมมองไปข้างหน้าถึงความเปลี่ยนแปลง

“ตอนเด็กๆ เรารู้สึกว่าทำไมคนบางกลุ่มจึงดูเหนือกว่าคนส่วนใหญ่มากๆ คนกลุ่มนี้เป็นใครกัน สถาบันกษัตริย์เป็นสถาบันที่สืบทอดมาจากสายเลือด ก็เกิดคำถามว่าวิธีการแบบนี้มาจากไหน ไม่ได้เป็นคนเหมือนกันหรือ แล้วการที่สถาบันฯ มีอำนาจ ทรัพยากร และอิทธิพลมหาศาลขนาดนี้ ส่งผลกระทบต่อสถาบันอื่นๆ ในสังคมอย่างไร”

“มีการดำเนินคดี 112 ไปกี่คนแล้ว ยิ่งรัฐทำแบบนี้สถาบันกษัตริย์ยิ่งอยู่ยากขึ้น เพราะเป็นการทำให้ประชาชนลำบากมากขึ้นที่จะเชื่อมั่น ลำบากมากขึ้นที่จะรัก ลำบากมากขึ้นที่จะศรัทธา”

“เป็นเรื่องน่าเจ็บใจมากว่าทำไมต้องทำกันขนาดนี้ การอยู่ในประเทศนี้เราไม่สามารถพูดอะไรได้เลยหรือ เราไม่สามารถออกมาเรียกร้องอะไรได้เลยหรือ เราไม่สามารถวิจารณ์สถาบันฯ ได้หรือ พูดคุยสื่อสารกันสิ ไม่ใช่ว่าไม่พอใจใครแล้วจับขัง คนอื่นเขาก็มีครอบครัว มีคนที่เขารัก”

“สถาบันฯ ต้องเลือกว่าอยากเป็นแบบไหน ถ้าไม่เปลี่ยนแปลง กระแสต่อต้านก็มีโอกาสรุนแรงมากขึ้น”

“การปกครองด้วยความกลัวมันไม่ยั่งยืนเลย ความกลัวอาจเปลี่ยนเป็นความเกลียดก็ได้ ใครจะรู้ แต่ความกลัวไม่อาจเปลี่ยนเป็นความรัก”

ความไม่เป็นการเมืองของนิติศาสตร์ไทย

โดย เข็มทอง ต้นสกุลรุ่งเรือง

ภาพหนึ่งที่เกิดขึ้นในวันรพีที่ผ่านมาคือผู้ใหญ่ในแวดวงกฎหมายออกมาให้โอวาทอบรมสั่งสอนเรื่องความยุติธรรมและกฎหมาย ในวันเดียวกันนั้นมวลชนก็ปะทะกับ คฝ. พร้อมกระสุนยางกับแก๊สน้ำตาที่ไม่เป็นไปตามหลักสากล

เข็มทอง ต้นสกุลรุ่งเรือง เขียนถึงการพยายามไม่มองนิติศาสตร์ผ่านแว่นตาการเมือง ขณะที่การเมืองบนท้องถนนกำลังต้องต่อสู้กับแนวรบด้านกฎหมายที่สร้างความเสียหายรุนแรง

“ไม่ว่าโดยรู้ตัวหรือไม่ หรืออาจตั้งใจก็ดี การที่ศาลไม่พยายามคำนึงถึงการเมืองในคดีตรงหน้า ก็เท่ากับว่ายอมเป็นผู้เล่นคนหนึ่งในระบอบการเมืองแบบหนึ่งนั่นเอง แต่เป็นการเมืองที่เดินหน้าไปสู่ความรุนแรง ปิดโอกาสประนีประนอม และทำลายความน่าเชื่อถือของศาลเอง”

“การยอมรับว่าคดีความที่เกิดขึ้นเป็นเรื่องการเมืองมากกว่าอาชญากรรมธรรมดา ไม่ได้แปลว่าให้ศาลลงมาเล่นการเมืองเต็มตัวด้วยอีกองค์กร…แต่การยอมรับว่าคดีความเป็นเรื่องการเมือง คือการปฏิเสธไม่ให้ฝ่ายการเมืองใช้ศาลเป็นเครื่องมือทางการเมืองอีกต่อไป และคืนข้อพิพาทกลับไปให้ฝ่ายการเมืองหาทางออกเอง”

อำนาจอันยิ่งใหญ่มาพร้อมความรับผิดชอบอันใหญ่ยิ่ง : ทำไมสถาบันกษัตริย์ต้องอยู่ใต้รัฐธรรมนูญ ‘ปราการ กลิ่นฟุ้ง’

โดย ศุภาวรรณ คงสุวรรณ์

“ถ้าย้อนกลับไปสมัยคณะราษฎร กิจการราชสำนักเกือบทั้งหมดถือว่าเป็นกิจการสาธารณะ เมื่อถือว่าเป็นกิจการสาธารณะแล้ว ตามหลักการว่าด้วยอำนาจและความรับผิดชอบ พระมหากษัตริย์ก็จะไม่มีพระราชอำนาจในกิจการเหล่านั้น อำนาจในการจัดการถูกเปลี่ยนมาเป็นของรัฐบาลตามกระบวนการ”

101 สนทนากับ ดร.ปราการ กลิ่นฟุ้ง ภาควิชาประวัติศาสตร์ คณะมนุษยศาสตร์ มหาวิทยาลัยรามคำแหง เจ้าของวิทยานิพนธ์เรื่อง ‘Crown Property and Constitutional Monarchy in Thailand, 1932-1948’ และ ‘การเสด็จพระราชดำเนินท้องที่ต่างจังหวัดของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดช พ.ศ. 2493-2530’ ว่าด้วยสถานะของสถาบันกษัตริย์และการเปลี่ยนแปลงของพระราชอำนาจหลังการเปลี่ยนแปลงการปกครอง 2475 เป็นต้นมา

“แม้ประเด็นเรื่องการปฏิรูปสถาบันฯ จะปะทุขึ้นมาอย่างชัดเจนในช่วงปีที่ผ่านมา แต่เราจะทำความเข้าใจเรื่องนี้ได้ดีขึ้น หากมองในแง่มุมที่ว่า ปัญหาเกี่ยวกับสถานะและบทบาทของสถาบันฯ มีรากฐานมาจากรัชกาลที่แล้ว ประเด็นต่างๆ ในข้อเรียกร้องหลายข้อสะท้อนถึงปัญหาที่เกิดขึ้นตั้งแต่รัชสมัยก่อน เพียงแต่สถานการณ์ต่างๆ ที่เกิดขึ้นในรัชสมัยปัจจุบัน อาจกระตุ้นให้คนเห็นปัญหาเหล่านั้นชัดเจนมากขึ้น”

“หลักการว่าด้วยอำนาจและความรับผิดชอบถูกใช้กับกิจการราชสำนักอย่างค่อนข้างเข้มข้นในสมัยคณะราษฎร หลังเปลี่ยนแปลงการปกครอง 2475 หลังจากคณะราษฎรพ้นอำนาจ หรือในช่วงสิบปีแรกของรัชกาลที่ 9 ก็มีความพยายามจะผลักดันหลักการนี้อยู่ แต่เมื่อจอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ (อดีตนายกรัฐมนตรี) ขึ้นมามีอำนาจ สิ่งที่เราเรียกกันว่า การฟื้นฟูสถานะและบทบาทของสถาบันฯ ก็เกิดขึ้น ในการฟื้นฟูนี้ นอกจากการรื้อฟื้นพระราชพิธีต่างๆ และสนับสนุนให้ทรงมีบทบาททางสังคมการเมืองแล้ว หลักการอำนาจและความรับผิดชอบก็ถูกละทิ้งไปด้วย”

“เวลาที่เขาพูดถึงการคอร์รัปชันของนักการเมือง พวกเขาจะเอาพฤติกรรมของนักการเมืองไปเปรียบเทียบกับพระเกียรติยศ คุณงามความดีหรือพระราชกรณีกิจของพระมหากษัตริย์ตลอดเวลา ถ้าเปรียบเทียบกัน เราจะเห็นว่ามีความแตกต่างกันระหว่างสถานะที่มาจากการเลือกตั้งและสถานะที่มาตามอำนาจประเพณี เราไม่สามารถตรวจสอบวิพากษ์วิจารณ์สถาบันกษัตริย์ได้อย่างเต็มที่ว่าพระราชกรณีกิจที่ทำนั้นมีข้อดีข้อเสียอย่างไร เพราะเราไม่มีระบบการตรวจสอบสถาบันพระมหากษัตริย์อยู่แล้ว ฉะนั้นจึงเป็นการเปรียบเทียบที่ผิด”

“คนที่เขายังหวังหรือเชื่อในภาพลักษณ์แบบเดิมคือ คนที่ถูกหล่อหลอมขึ้นมาแบบหนึ่งโดยมีสถาบันฯ เป็นศูนย์กลางของชีวิตทางการเมือง เป็นจุดยึดเหนี่ยว เป็นตัวตนของเขา ดังนั้น การตั้งคำถาม วิเคราะห์ วิจารณ์บทบาทของสถาบันและภาพลักษณ์ที่คุ้นชินเท่ากับว่าเขากำลังปฏิเสธตัวตนของตัวเอง ซึ่งเป็นเรื่องยากมากสำหรับคนบางกลุ่ม”

“เราจะทำอย่างไรให้รัฐสภากลับมามีเครดิตอีกครั้งหนึ่งในฐานะที่เป็นองค์กรจัดการความขัดแย้ง ทำยังไงมติจากสภามันจะถูกยอมรับในฐานะฉันทมติ ก็อาจต้องเรียกร้องคนที่อยู่ในสถาบันรัฐสภาด้วย ทั้งเรื่องที่จะต้องเอาประเด็นต่างๆ ไปคุยกัน ผลักดันเป็นวาระและทำให้รัฐสภากลายเป็นที่ยอมรับอีกครั้งหนึ่ง แน่นอนว่าการจะทำได้อย่างเป็นรูปธรรมคือต้องแก้รัฐธรรมนูญ ขณะเดียวกันก็ต้องมีการทำความเข้าใจกับสังคมไปพร้อมๆ กันด้วย”

ความเหลื่อมล้ำโลก (Global Inequality) และการเปลี่ยนแปลงหลังโควิด

ความเหลื่อมล้ำโลก (Global Inequality) และการเปลี่ยนแปลงหลังโควิด

โดย วรรณพงษ์ ดุรงคเวโรจน์

วรรณพงษ์ ดุรงคเวโรจน์ พามองพัฒนาการการเปลี่ยนของความเหลื่อมล้ำโลก (Global Inequality) พร้อมมองอนาคตความเหลื่อมล้ำโลกหลังโควิด

ที่ผ่านมา นักเศรษฐศาสตร์รวมถึงองค์กรระหว่างประเทศออกมาระบุว่า การระบาดของโควิด-19 ทำให้ความเหลื่อมล้ำในประเทศและความเหลื่อมล้ำระหว่างประเทศเพิ่มขึ้น Joseph Stiglitz นักเศรษฐศาสตร์เจ้าของรางวัลโนเบลปี 2001 บอกว่า โควิด-19 ทำให้ความเหลื่อมล้ำระหว่างประเทศเพิ่มขึ้นเฉกเช่นเดียวกับความเหลื่อมล้ำภายในประเทศ เหตุผลเพราะประเทศยากจนมีระบบสาธารณสุขที่แย่กว่าและไม่ได้เตรียมพร้อมจากการระบาด ทำให้คนที่อาศัยอยู่ในประเทศเหล่านี้มีความเปราะบางมากกว่าคนในประเทศที่ร่ำรวย

แต่ Angus Deaton นักเศรษฐศาสตร์เจ้าของรางวัลโนเบลปี 2015 ออกมาปฏิเสธแนวคิดดังกล่าว โดย Deaton ใช้ข้อมูลการกระจายของรายได้ต่อหัวในแต่ละประเทศ พบว่า Global inequality ยังคงลดลงอย่างต่อเนื่องในช่วงของการระบาดของโรคโควิด-19 เหตุผลส่วนหนึ่งก็คือว่า ในปี 2020 นั้น ประเทศที่ยากจนกว่าได้รับผลกระทบด้านชีวิต (วัดจากอัตราการตายจากโรคโควิด-19 ต่อประชากร 1 คน) น้อยกว่าประเทศที่ร่ำรวย เมื่อเทียบผลกระทบทางเศรษฐกิจ

สำหรับไทย ด้วยจำนวนประชากร 70 ล้านคนและขนาดเศรษฐกิจที่ใหญ่อยู่ใน 30 อันดับแรกของโลก การเปลี่ยนแปลงในการเติบโตทางเศรษฐกิจ ความยากจน และความเหลื่อมล้ำภายในประเทศ ย่อมส่งผลกระทบต่อความเหลื่อมล้ำโลกไม่มากก็น้อย

จาก Thailand Economic Monitor ฉบับล่าสุดของธนาคารโลก (เผยแพร่วันที่ 21 กรกฎาคม 2021) พบว่า การระบาดของโรคโควิด-19 ทำให้เศรษฐกิจไทยในปี 2020 หดตัวลงถึง 6.1% ส่งผลกระทบต่อการจ้างงานและชีวิตความเป็นอยู่ของคน นอกจากนั้น ยังทำนายว่ากิจกรรมทางเศรษฐกิจจะยังไม่กลับตัวไปสู่จุดก่อนการระบาดจนกระทั่งปี 2022 และการฟื้นตัวจะเกิดขึ้นค่อนข้างช้าและไม่เท่าเทียมกัน (Uneven) ในแต่ละส่วนของระบบเศรษฐกิจ

ในประเด็นความเหลื่อมล้ำ ผลจากแบบจำลองระบุว่า ไม่ว่าจะมีหรือไม่มีเงินช่วยเหลือ ความเหลื่อมล้ำก็จะเพิ่มขึ้น แต่จะเพิ่มขึ้นน้อยกว่ามากหากมีเงินช่วยเหลือจากรัฐบาล การเติบโตทางเศรษฐกิจที่ชะงักงัน และความเหลื่อมล้ำภายในประเทศที่เพิ่มสูงขึ้นย่อมหมายความว่า ไทยน่าจะมีส่วนทำให้ความเหลื่อมล้ำโลกสูงขึ้นด้วย ทั้งนี้ รายงานฉบับดังกล่าวของธนาคารโลกยังไม่ได้ประเมินสถานการณ์การระบาดระลอกที่สามซึ่งเป็นระลอกใหญ่ที่สุดและยังไม่มีความแน่ชัดว่าจะสิ้นสุดเมื่อใด

รายการและคลิปวิดีโอยอดนิยม เดือนสิงหาคม 2564

เมื่อเด็กๆ ร่วงหล่น: ‘ศูนย์เด็กเล็ก’ ที่พึ่งสุดท้ายที่หายไป

โดย กองบรรณาธิการ

ช่วงเดือนเมษายน 2564 ศูนย์เด็กเล็กต้องปิดชั่วคราวเนื่องจากการระบาดของโควิด-19 ส่งผลให้เด็กจำนวนมากขาดสารอาหารและการเรียนรู้ เพราะต้องอยู่บ้านเป็นเวลาหลายเดือน ขณะที่หลายครอบครัวอยู่ในภาวะเปราะบาง ไม่มีงาน ไม่มีเงิน และไม่มีอาหารเพียงพอที่จะเลี้ยงลูกให้อิ่มท้อง จากที่ศูนย์รับเลี้ยงเด็กเคยเป็นที่พึ่ง ก็กลายเป็นไม่มีสิ่งรองรับในภาวะยากลำบากเช่นนี้

นอกจากความหวังในการจัดการวัคซีนแบบถ้วนหน้าแล้ว การจัดสรรงบประมาณสวัสดิการเงินอุดหนุนเด็กเล็กแบบถ้วนหน้า จำนวน 600 บาท/คน/เดือน อาจเป็นทางออกในการโอบอุ้มเด็กที่กำลังร่วงหล่น เพราะยังมีเด็กจำนวนมากที่ไม่ได้กินอาหารครบมื้อ และไม่มีโอกาสเรียนรู้จากการมีปฏิสัมพันธ์กับเพื่อนร่วมชั้นและครูผู้ดูแล

ห้วงเวลาแห่งการเติบโตของเด็กเล็กเป็นช่วงเวลาที่ไม่อาจหวนกลับ หากปล่อยให้เวลาล่วงเลยโดยไม่แก้ไข ความสูญเสียที่เกิดขึ้นอาจส่งผลต่อชีวิตของเด็กคนหนึ่งมากกว่าที่ตาเห็น

101 ชวนชมคลิปว่าด้วยปัญหาจากการปิดตัวของศูนย์เด็กเล็กฯ และทางออกในภาวะวิกฤต

ทำความเข้าใจ – ทำไมเงินอุดหนุนเด็กเล็กต้องถ้วนหน้า?

โดย ภาวิณี คงฤทธิ์

ขณะที่สภาผู้แทนราษฎรกำลังจะพิจารณางบประมาณ 2565 วาระ 2 และวาระ 3 ในช่วงวันที่ 18-20 สิงหาคมนี้ ข้อเสนอสวัสดิการเงินอุดหนุนเด็กเล็กถ้วนหน้ากลับเป็นหนึ่งเรื่องที่ไม่ได้ถูกหยิบขึ้นมาพิจารณา สาเหตุหนึ่งคือรัฐบาลมีงบอย่างจำกัดทำให้ต้องเลือกช่วยเหลือผู้ที่เดือดร้อนและจัดสรรงบไปให้เรื่องที่เร่งด่วนกว่า

ทุกวันนี้แม้เราจะมีสวัสดิการเงินอุดหนุนเด็กเล็กอยู่แล้ว โดยให้เงินสำหรับเด็กอายุ 0-6 ปี จำนวน 600 บาทต่อคนต่อเดือน แต่ก็ยังเป็นการให้เฉพาะกับครอบครัวยากจนที่มีรายได้ไม่เกิน 100,000 บาทต่อปี มองเผินๆ การให้แบบเจาะจงก็ดูเป็นแนวทางที่เหมาะสม แต่ในทางปฏิบัติกลับพบว่ามีเด็กยากจนกว่า 30% ตกหล่นจากการคัดกรอง เพราะไม่สามารถก้าวผ่าน ‘กระบวนการพิสูจน์ความจน’ ได้

จากที่เงินอุดหนุนเด็กควรจะเป็นตาข่ายรองรับไม่ให้เด็กร่วงหล่นยามพ่อแม่เผชิญวิกฤต แต่กระบวนการเช่นนี้กลับเป็นเงื่อนปมใหม่ที่ผูกซ้ำความจนของเด็ก ยังไม่นับรวมโควิดที่เข้ามาตอกย้ำวิกฤต ทำให้คนที่ยิ่งจนมากก็ยิ่งเจ็บหนัก สภาพเช่นนี้ย่อมส่งผลต่อ ‘พัฒนาการ’ ของเด็กเล็กอย่างเลี่ยงไม่ได้

นี่เป็นเพียงหนึ่งจากในหลายเหตุผลว่าทำไมสวัสดิการเงินอุดหนุนเด็กเล็กควรเป็นแบบถ้วนหน้า

101 ชวนคุณมาทำความเข้าใจว่า ‘ทำไมเงินอุดหนุนเด็กเล็กต้องถ้วนหน้า?’ เริ่มตั้งแต่ทำความเข้าใจสวัสดิการเงินอุดหนุนเด็กเล็ก ตลอดจนตอบคำถามคาใจที่ว่า นโยบายดี แต่ไม่มีงบประมาณจะทำยังไง?

‘เส้นด้าย’ กับคำเตือนก่อนสาธารณสุขจะล่มสลาย

โดย กองบรรณาธิการ

“เวลาประมาณนี้แหละ ท้องฟ้าประมาณนี้ เดี๋ยวจะมีคนโทรมา”

อาสาสมัครกลุ่มเส้นด้ายพูดขึ้นท่ามกลางบรรยากาศครึ้มฝนในช่วงเย็น ไม่ทันขาดคำเสียงโทรศัพท์ก็ดังขึ้น ปลายสายขอความช่วยเหลือให้เข้าไปดูที่ประชาสงเคราะห์ ซอย 6 เพราะมีคนตายในบ้าน 2 คน และมียายอีกคนที่อยู่กับศพตามา 6 วัน

“เป็นแบบนี้แหละ เวลาแบบนี้แหละ” เขากล่าวก่อนจะรีบจัดเตรียมอุปกรณ์เดินทางไปช่วยเหลือผู้ป่วย

101 ชวนฟังเสียงของ ‘เส้น-ด้าย’ อาสาด่านหน้าสู้โควิด ในภาวะวิกฤตที่ประชาชนต้องช่วยเหลือกันเอง ระบบราชการมีปัญหาอย่างไร ทางออกของวิกฤตนี้อยู่ตรงไหน

“หลายคนบอกกับเส้นด้ายว่าเขาโทรหาเส้นด้ายก่อนโทรหาหน่วยงานของรัฐ”

“ในการจัดการโควิดครั้งนี้รัฐมองว่าแค่รัฐคนเดียวจะทำได้ทุกอย่าง ผมคิดว่ามันเป็นการบริหารจัดการที่ผิดที่ผิดทางและทำให้เราก้าวมาอยู่ที่จุดวิกฤตตอนนี้”

“หลายครั้งเราถูกตำหนิจากหน่วยงานรัฐ เพราะเราไปภายใต้การร้องขอของหน่วยงานหนึ่ง แต่ไปถึงก็โดนอีกหน่วยงานตำหนิว่าเรามาทำไม ทำไมคุณมาแบบนี้ มันผิดขั้นตอน”

“เหมือนฟ้าผ่า แล้วห่าลงซ้ำ” สำรวจสุขภาพจิตคนไทยยุคโควิด

โดย กองบรรณาธิการ

การระบาดของโควิด-19 และการจัดการที่ไร้ประสิทธิภาพของรัฐบาลนำไปสู่ความสูญเสียของผู้คนจำนวนมาก ซึ่งไม่ใช่แค่การสูญเสียจากโรคภัยไข้เจ็บทางร่างกายเท่านั้น แต่ยังเกิดความสูญเสียทางจิตใจด้วย เมื่อผู้คนในสังคมตกอยู่ในภาวะเครียดสะสม และมีหลายคนที่ตัดสินใจลาโลกไปในช่วงวิกฤตนี้

ช่วงครึ่งปีแรกของปี 2563 อัตราการฆ่าตัวตายของคนไทยเพิ่มขึ้นถึงร้อยละ 22 เมื่อเทียบกับปี 2562 ซึ่งเพิ่มขึ้นใกล้เคียงกับช่วงวิกฤตปี 2540 และอัตราการฆ่าตัวตายของคนไทยทั้งปี 2563 เพิ่มขึ้นเป็น 7.3 คนต่อประชากรแสนคน.การฆ่าตัวตายในช่วงการแพร่ระบาดของโควิด-19 เหมือนการเปิดแผลความไม่มั่นคงและความเดียวดายของสังคมไทย มาตรการปิดเมืองส่งผลให้กลุ่มเปราะบางทางสังคมสูญเสียการจ้างงาน จนทำให้ขาดรายได้จากสภาวะเศรษฐกิจที่ส่งผลกระทบต่อชีวิตอย่างกะทันหัน

ทั้งหมดล้วนเป็นผลมาจากความเหลื่อมล้ำในสังคมก่อนหน้านี้ และใช่ว่าคนที่มีฐานะทางเศรษฐกิจดีกว่าจะไม่เกิดความเครียดในภาวะนี้ เมื่อทุกคนต่างต้องเผชิญกับข้อจำกัดของชีวิตเช่นกัน

ความหวังที่มืดมิดในสถานการณ์โควิดที่ไร้ทางออกกำลังพรากฟางเส้นสุดท้ายของชีวิตหลายคนไป

101 คุยกับศรีอรุณ ธนะรัชติการนนท์ ผู้อำนวยการสมาคมสะมาริตันส์แห่งประเทศไทย สายด่วนป้องกันการฆ่าตัวตาย, ดร.ธนิสา ทวิชศรี นักวิจัยสถาบันวิจัยเศรษฐกิจป๋วย อึ๊งภากรณ์ ผู้ทำวิจัยเรื่องปัญหาสุขภาพจิตในช่วงโควิด และธันยะมัย ชูอิฐจีน เพื่อนของผู้เลือกจบชีวิตในช่วงโควิด เพื่อฉายภาพสุขภาพจิตคนไทยในยุคโควิด

101 Policy Forum #14 นโยบายสวัสดิการเด็กแห่งอนาคต

101 Policy Forum เปิดเวทีถกเถียงเรื่องนโยบายสาธารณะที่มีความหมายกับชีวิตของผู้คนและสังคม

เพราะเราเชื่อว่า นโยบายสาธารณะเป็นเรื่องของพลเมืองทุกคน และนโยบายที่ดีมาจากการแลกเปลี่ยนถกเถียงอย่างมีคุณภาพ ผ่านการมีส่วนร่วมของสังคม ไม่ใช่เฉพาะช่วงเลือกตั้ง และไม่ใช่แค่ในสภา

สำหรับเดือนนี้ ถก-คิด-ถาม-ตอบกันเรื่อง ‘นโยบายสวัสดิการเด็กแห่งอนาคต’

พบกับ

เชษฐา มั่นคง – ผู้อำนวยการมูลนิธิเพื่อการพัฒนาเด็ก

พ.ต.อ.ทวี สอดส่อง – สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรและเลขาธิการพรรคประชาชาติ

สุนี ไชยรส – คณะทำงานขับเคลื่อนนโยบายสวัสดิการเงินอุดหนุนเด็กเล็กถ้วนหน้า

อรพินท์ ศักดิ์เอี่ยม – ผู้เชี่ยวชาญเฉพาะด้านเด็ก กรมกิจการเด็กและเยาวชน กระทรวงพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์

ดำเนินรายการโดย วงศ์พันธ์ อมรินทร์เทวา

แต่ละภาคส่วนตีโจทย์โควิด-19 และผลกระทบที่มีต่อเด็กอย่างไร | นโยบายสวัสดิการเด็กเล็กในยุคโควิดควรมีหน้าตาแบบไหน | เงินอุดหนุนสวัสดิการเด็กเล็กถ้วนหน้าเป็นคำตอบหรือไม่ | ทำไมนโยบายสวัสดิการเด็กเล็กของไทยจึงไม่ไปไหนสักที | ฯลฯ

101 One-on-One Ep.234 ทางออกโควิด ฝ่าวิกฤตบ้านเมือง กับ สุดารัตน์ เกยุราพันธุ์

ในภาวะที่ประเทศไทยกำลังเผชิญภาวะวิกฤตจากโรคระบาด ทั้งปัญหาเรื่องการจัดการวัคซีน ระบบสาธารณสุขที่กำลังถึงขีดจำกัด และผลกระทบทางสังคมที่ต่อเนื่อง ทำให้มีโจทย์หลายด้านที่ต้องขบคิดและหาทางแก้เพื่อฝ่าวิกฤตนี้ไปได้

101 ชวน สุดารัตน์ เกยุราพันธุ์ ประธานพรรคไทยสร้างไทยและอดีตรัฐมนตรีกระทรวงสาธารณสุข มาพูดคุยว่าด้วยประเด็นเหล่านี้ 

โจทย์สาธารณสุขควรแก้อย่างไรและการแก้โจทย์ทางการเมืองแบบไหนที่จะทำให้วิกฤตคลี่คลาย

ดำเนินรายการโดย ปาณิส โพธิ์ศรีวังชัย 

101 One-on-One Ep.235 ‘เจ็บแต่ไม่จบ’ สนทนาวิกฤตประเทศไทย กับ พิธา ลิ้มเจริญรัตน์

ช่วงเวลาที่คนไทยต่างทรมานจากวิกฤต สถานการณ์โควิดยังมองไม่เห็นปลายทาง ทั้งยังห้อมล้อมด้วยบรรยากาศการเมืองที่ปะทุร้อนแรง ประเทศไทยจะก้าวต่อไปอย่างไร การบริหารจัดการแบบไหนที่จะจบความทุกข์ยากของประชาชน

จากบ้านเมืองที่ผู้คนล้มตายเป็นใบไม้ร่วง ถึงเสียงดังก้องของประชาชนบนท้องถนน 101 ชวน พิธา ลิ้มเจริญรัตน์ หัวหน้าพรรคก้าวไกล สนทนาว่าด้วยวิกฤตโรคระบาดและการเมืองไทย

ดำเนินรายการโดย ศุภาวรรณ คงสุวรรณ์

101 One-on-One Ep.236 ‘อัฟกานิสถานในความเปลี่ยนแปลง’ กับ ดวงยิหวา อุตรสินธุ์

15 สิงหาคมที่ผ่านมา อัฟกานิสถานเผชิญจุดหักเหครั้งสำคัญในประวัติศาสตร์ เมื่อกลุ่มตาลีบันยึดกรุงคาบูล เมืองหลวงของประเทศได้สำเร็จ ปิดฉาก 2 ทศวรรษภายใต้อิทธิพลของสหรัฐอเมริกา

การหวนคืนสู่อำนาจอีกครั้งของตาลีบันจะเปลี่ยนแปลงชะตากรรมของอัฟกานิสถานไปอย่างไร และส่งผลสะเทือนถึงภูมิรัฐศาสตร์โลกอย่างไร 101 ชวน ดวงยิหวา อุตรสินธุ์ อาจารย์คณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยนิวยอร์ก วิทยาเขตอาบูดาบี ประเทศสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ มาพูดคุยในเรื่องนี้

ดำเนินรายการโดย วงศ์พันธ์ อมรินทร์เทวา 

101 One-on-One Ep.237 อำนาจรัฐ ความรุนแรง บนความเคลื่อนไหวของม็อบประชาชน กับ เบญจรัตน์ แซ่ฉั่ว

หลังเกิดความรุนแรงในการชุมนุมบริเวณสามเหลี่ยมดินแดงตลอดช่วงเดือนที่ผ่านมา ทำให้เกิดการถกเถียงถึง ‘เส้น’ ที่ควรจะเป็นทั้งจากเจ้าหน้าที่รัฐและผู้ชุมนุม คำว่า ‘สันติวิธี’ ถูกยกมาคุยกันอีกครั้งในสถานการณ์เช่นนี้

ขอบเขตของการใช้สันติวิธีเพื่อต่อสู้กับอำนาจรัฐอยู่ที่ตรงไหน เราจะมองการปราบปรามผู้ชุมนุมผ่านแว่นตาสิทธิมนุษยชนได้อย่างไร ควรทบทวนนิยาม ‘ความรุนแรง’ อย่างไร เมื่อสิ่งที่เกิดขึ้นไม่ใช่เพียงความรุนแรงทางกายภาพ หนทางแบบไหนที่จะเอาผิดเจ้าหน้าที่ที่ทำร้ายประชาชนได้ และรูปแบบการเคลื่อนไหวต่อต้านรัฐบาลแบบไหนที่จะทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงได้จริง

101 ชวนเบญจรัตน์ แซ่ฉั่ว อาจารย์ประจำสถาบันสิทธิมนุษยชนและสันติศึกษา มหาวิทยาลัยมหิดล มาคุยว่าด้วยประเด็นเหล่านี้

ดำเนินรายการโดย ปาณิส โพธิ์ศรีวังชัย

MOST READ

Spotlights

14 Aug 2018

เปิดตา ‘ตีหม้อ’ – สำรวจตลาดโสเภณีคลองหลอด

ปาณิส โพธิ์ศรีวังชัย พาไปสำรวจ ‘คลองหลอด’ แหล่งค้าประเวณีใจกลางย่านเมืองเก่า เปิดปูมหลังชีวิตหญิงค้าบริการ พร้อมตีแผ่แง่มุมเทาๆ ของอาชีพนี้ที่ถูกซุกไว้ใต้พรมมาเนิ่นนาน

ปาณิส โพธิ์ศรีวังชัย

14 Aug 2018

Spotlights

4 Nov 2020

101 Policy Forum : ประเทศไทยในฝันของคนรุ่นใหม่

101 เปิดวงสนทนาพูดคุยกับตัวแทนวัยรุ่น 4 คน ณัฐนนท์ ดวงสูงเนิน , สิรินทร์ มุ่งเจริญ, ภาณุพงศ์ สุวรรณหงษ์, อัครสร โอปิลันธน์ ว่าด้วยสังคม การเมือง เศรษฐกิจไทยในฝัน ต้นตอที่รั้งประเทศไทยจากการพัฒนา ข้อเสนอเพื่อพาประเทศสู่อนาคต และแนวทางการพัฒนาและสนับสนุนคนรุ่นใหม่

กองบรรณาธิการ

4 Nov 2020

Spotlights

30 Jun 2020

“ไม่มี Theory of Everything ในโลกของ IR” จิตติภัทร พูนขำ

101 สนทนากับ จิตติภัทร พูนขำ เกี่ยวกับองค์ความรู้และโลกของ IR ไปจนถึงการเรียนการสอน และการปรับตัวของ IR ในยุคที่โลกผันผวนและเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว

กานต์ธีรา ภูริวิกรัย

30 Jun 2020

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • Always Active

Save