fbpx

ควรปิดโรงเรียนหรือไม่

เรื่องปิดโรงเรียน ถ้ารัฐบาลทำงานดีกว่านี้ได้ก็ไม่ควร

ปิดโรงเรียนก็เหมือนปิดร้านอาหาร มิใช่ทุกคนจะรับผลตามมาที่เกิดขึ้นได้ มีคนไทยจำนวนมากมายที่มีรายได้รายวันจากร้านอาหารที่ทำเป็นอาชีพ เราควรบริหารจัดการร้านอาหารได้ดีกว่าที่เป็นอยู่มากกว่าที่จะปิดทั้งหมด

ปิดโรงเรียนก็เหมือนปิดโรงพยาบาล มิใช่ทุกคนจะรับผลตามมาที่เกิดขึ้นได้ มีคนป่วยจำนวนมากที่กำลังเดือดร้อนเพราะโรคประจำตัวกำเริบแต่ไม่สามารถพบแพทย์ เราควรบริหารจัดการแผนกอื่นของโรงพยาบาลได้ดีกว่าที่เป็นอยู่มากกว่าที่จะปิดทั้งหมด

เราอาจจะให้เหตุผลว่าเพราะจำนวนผู้ป่วยโควิดมีมากเกินไปทำให้การจัดการร้านอาหาร โรงพยาบาล หรือโรงเรียนทำไม่ได้ คำตอบจะเลื่อนไปที่ ‘เลเวล’ ถัดไป นั่นคือเราควรบริหารจัดการการระบาดของโควิด-19 ได้ดีกว่าที่เป็นอยู่

สมมติว่าท่านที่รับผิดชอบตรงนี้ไม่มีความสามารถทำได้ เราจะเลื่อนไปที่เลเวลถัดไปอีกนั่นคือควรเปลี่ยนคนทำงาน แล้วให้รางวัลแก่คนที่ทำงานได้มากกว่าปกติ  

สมมติว่าไม่มีงบประมาณหรือทรัพยากรที่จะให้รางวัลคนที่ทำงานได้ดีกว่าหรือมากกว่าปกติ เราจะเลื่อนไปที่เลเวลถัดไปคือลดเงินเดือนคนที่ทำงานไม่ได้ แล้วเอาเงินเดือนของเขาเหล่านั้นมาให้คนที่ทำงานได้  

เหล่านี้เป็นมาตรการมาตรฐานที่ควรทำ แต่เราไม่ทำอะไรเลย เหตุหนึ่งเพราะรัฐราชการและรัฐรวมศูนย์ไม่เปิดช่องให้ทำอย่างที่ว่าได้ เราจึงจำเป็นต้องรื้อระบบที่เป็นอยู่อย่างน้อยก็หลังวิกฤตการณ์โควิดนี้ นั่นคือรัฐราชการสามารถทำโทษหรือไล่คนออกได้ง่าย และให้รางวัลพิเศษแก่คนเก่งได้ตามที่เป็นจริง

กลับมาที่ปิดโรงเรียน 1 ปี มีงานวิจัยจากต่างประเทศซึ่งน่าจะหากันได้ไม่ยากที่แสดงให้เห็นว่าเด็กในบ้านที่มีฐานะยากจนกว่าจะได้รับผลกระทบจากการปิดเทอมฤดูร้อนมากกว่า เหตุเพราะเด็กๆ เหล่านี้ไม่มีคุณพ่อคุณแม่ที่มีเวลาและคุณภาพมากพอจะดูแล ไม่มีหนังสือในบ้าน ไม่มีห้องสมุดสาธารณะ และไม่มีพ่อแม่ที่รักการอ่านเป็นแบบอย่างมากพอที่จะช่วยให้เขาอ่านหนังสือตลอดเวลาที่ปิดเทอม

มีงานวิจัยอีกจำนวนหนึ่งจากต่างประเทศซึ่งน่าจะหาได้ไม่ยากที่บอกว่า เด็กที่อ่านหนังสือมากกว่าตอนปิดเทอม นอกเหนือจากจะป้องกันการถดถอยของพัฒนาการได้ดีกว่าแล้วยังมีพัฒนาการรุดหน้ามากกว่าด้วย

โดยไม่ต้องวิจัย เราเชื่อว่าประเทศไทยมีครอบครัวที่ไม่พร้อมจะจัดการศึกษาเด็กเองมากกว่าครอบครัวที่พร้อมมากกว่ามาก มากเท่าไรท่านที่มีหน้าที่รับผิดชอบโดยตรงก็ควรสำรวจตัวเลขโดยเร็ว

ครอบครัวที่พร้อมอาจจะพูดได้ว่าเราพร้อมจัดการศึกษาเอง 1 ปี ซึ่งจะว่าไปก็ควรทำจริงๆ นั่นแหละ อย่างไรก็ตามพึงระมัดระวังว่าแม้ลูกของเราจะได้รับการเตรียมความพร้อมดีเพียงใดก็ตาม แต่เขาต้องอาศัยอยู่ในสังคมร่วมกับเด็กที่มีพัฒนาการถดถอยจำนวนมากกว่าหลายเท่าตัว นี่คือสภาพสังคมที่ประเทศไทยกำลังเดินหน้าเข้าหา แล้วเรื่องจะดำเนินไปแบบการระเบิดของเชื้อโควิด-19 ในแคมปัสแรงงานต่างด้าวที่สมุทรสาคร กล่าวคือ

“จะไม่มีใครปลอดภัย ถ้าทุกคนไม่ปลอดภัย”

เวลาเด็กถดถอยรวมหมู่ ระบบจะลากทั้งหมดถอยหลังตามไปด้วยเสมอ

การจัดการโรงเรียนในยุคโควิดเป็นเรื่องจัดการได้แน่ๆ ปัญหาอยู่ที่ผู้บริหารระดับสูงจัดการไม่เป็นหรือไม่ยอมจัดการเสียมากกว่า แน่นอนว่าการจัดการนั้นย่อมกระทบครูประจำการจำนวนหลายแสนคนแต่นั่นก็เป็นเรื่องควรจัดการได้อยู่ดี ทั้งนี้เพราะโนว์ฮาวการจัดการเรียนรู้แบบบูรณาการมิใช่ว่าเป็น 0 ในวันนี้เรามีคู่มือ หนังสือ และผู้เชี่ยวชาญจำนวนมากมายที่เรียกใช้ได้ แต่การเรียกใช้ย่อมต้องมีงบประมาณ และงบประมาณนั้นต้องมากพอ

ซึ่งมิใช่ปัญหาอีกเพราะประเทศเรามีเงิน

สมมติพูดว่าไม่มีเงินจะจัดการ เราจะไปถึงเลเวลถัดไปนั่นคือหาผู้บริหารระดับสูงคนใหม่ที่ทำงานได้ เป็นที่รู้กันทั่วไปว่างบประมาณการศึกษามีจำนวนมากกว่าทุกกระทรวง

อันที่จริง มองในแง่ดีนี่เป็นโอกาสทองที่จะปฏิรูปครูประจำการจำนวนหลายแสนคนนั้น ด้วยสมมติฐานที่ว่าครูไทยจำนวนไม่น้อยก็อยากถูกปฏิรูป การสอนหนังสือที่ไม่มีนักเรียนฟัง การสอนออนไลน์ที่ทำร้ายนักเรียนมากกว่าช่วยเหลือ เหล่านี้ครูไทยจำนวนมากก็อยากหลุดพ้นจากบ่วงนี้เพื่อทำสิ่งที่ดีกว่าและมีคุณค่ามากกว่า เพราะนั่นเท่ากับเป็นการยกระดับจิตวิญญาณความเป็นครูของตนเอง ซึ่งมันดีต่อใจมาก ปัญหาคือท่านๆ ทำไม่เป็น หรือไม่กล้าทำ หรือไม่มีเสรีภาพที่จะทำเท่านั้นเอง

นี่เป็นโอกาสทองที่จะปลดโซ่ตรวนให้แก่ครูไทยครั้งใหญ่ ส่วนใครไม่ต้องการเปลี่ยนแปลงก็สมควรให้เงินแล้วออก

ตลอดช่วงการระบาดของโควิดที่ผ่านมา ผมได้แอบมองผู้บริหารโรงเรียนทางเลือกหลายแห่งที่มีใจและมีแรง พยายามช่วยเหลือการศึกษาของชาติในช่องทางต่างๆ ทั้งการแก้ไขกฎหมาย การถ่ายทอดเทคโนโลยีในรูปแบบคู่มือและตำรา ไปจนถึงการถ่ายทอดเทคโนโลยีการเรียนการสอนแบบบูรณาการผ่านออนไลน์ พวกท่านเหล่านี้ทำโดยมิได้มีค่าตอบแทนพิเศษแต่อย่างไรด้วยซ้ำไป หากเราจัดการให้ดี ลงงบประมาณให้ถูกต้อง เราจะมีพันธมิตรที่พร้อมช่วยเหลือคุณครูและคุณพ่อคุณแม่จำนวนมากได้โดยไม่ต้องปิดตายโรงเรียน

จนถึงวันนี้ผมยังมีความเชื่อส่วนตัวโดยสุจริตใจว่า การปฏิรูปการศึกษาประเทศไทยมิใช่เรื่องยาก เป็นเรื่องทำได้ เราเปลี่ยนครูไทยให้เข้าสู่ศตวรรษที่ 21 ได้ถ้าให้ ‘เสรีภาพ’ แก่ทุกท่านมากพอ การเรียนรู้ของเด็กๆ มิใช่เรื่องซับซ้อนหรือยากเกินทำความเข้าใจ เป็นพวกเรากันเองที่ทำให้มันยาก ลึกลับ ซับซ้อน ไม่เก่งจริงทำไม่ได้ซะงั้น แน่นอนว่าเราเปลี่ยนมิได้ในชั่วข้ามคืน แต่เราเริ่มต้นได้แน่ถ้าอยากจะเริ่มต้น

สั่งปิดโรงเรียน 1 ปีนั้นไม่ยาก แต่ผลลัพธ์ที่ตามมาอาจจะยากมากขึ้นไปอีก เปลี่ยนรัฐบาลน่าจะดีกว่า

MOST READ

Social Issues

9 Oct 2023

เด็กจุฬาฯ รวยกว่าคนทั้งประเทศจริงไหม?

ร่วมหาคำตอบจากคำพูดที่ว่า “เด็กจุฬาฯ เป็นเด็กบ้านรวย” ผ่านแบบสำรวจฐานะทางเศรษฐกิจ สังคม และความเหลื่อมล้ำ ในนิสิตจุฬาฯ ปี 1 ปีการศึกษา 2566

เนติวิทย์ โชติภัทร์ไพศาล

9 Oct 2023

Education

20 Jul 2023

คณะอักษรศาสตร์ จุฬาฯ ในวิกฤต (?)

ข่าวการปรับหลักสูตรของอักษรศาสตร์ จุฬาฯ ชวนให้คิดถึงอนาคตของการเรียนการสอนสายมนุษยศาสตร์ เมื่อตลาดแรงงานเรียกร้องทักษะสำหรับการทำงานจริง จนมีการลดความสำคัญวิชาพื้นฐานอันเป็นการฝึกฝนการวิเคราะห์วิพากษ์เพื่อทำความเข้าใจโลกอันซับซ้อน

เสียงเล็กๆ จากประชาคมอักษร

20 Jul 2023

Social Issues

5 Jan 2023

คู่มือ ‘ขายวิญญาณ’ เพื่อตำแหน่งวิชาการในมหาวิทยาลัย

สมชาย ปรีชาศิลปกุล เขียนถึง 4 ประเด็นที่พึงตระหนักของผู้ขอตำแหน่งวิชาการ จากประสบการณ์มากกว่าทศวรรษในกระบวนการขอตำแหน่งทางวิชาการในสถาบันการศึกษา

สมชาย ปรีชาศิลปกุล

5 Jan 2023

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • Always Active

Save