fbpx

‘อาสา คำภา’ จาก 2495 ถึงข้อเสนอปฏิรูปสถาบันฯ เส้นทางอันผกผันของเครือข่ายในหลวง

นี่คือวิทยานิพนธ์เกี่ยวกับการเมืองไทยที่ดีที่สุดเล่มหนึ่งในรอบหลายปีที่ผ่านมา เสมือนว่าเป็นสุลักษณ์ ศิวรักษ์ ฉบับมีเชิงอรรถ

ถ้อยความดังกล่าวคือคำชื่นชมจาก ศาสตราจารย์เกษียร เตชะพีระ และนักวิชาการแถวหน้าของเมืองไทยอีกหลายคนต่อดุษฎีนิพนธ์เรื่อง “ความเปลี่ยนแปลงของเครือข่ายชนชั้นนําไทย พ.ศ. 2495 – 2535” ของ ดร.อาสา คำภา – ด้วยเหตุที่งานศึกษาจำนวน 700 กว่าหน้า คือมหากาพย์ฉายภาพความเปลี่ยนแปลงของชนชั้นนำไทย โดยเฉพาะกลุ่มเครือข่ายสถาบันกษัตริย์ในสมัยรัชกาลที่ 9 ชนิดเจาะลึกให้เห็นตัวแสดงชัดเจนที่สุดเท่าที่เคยมีมา

คุณค่าของงานชิ้นนี้ไม่เพียงเป็นการรวบรวมและร้อยเรียงเป็นบันทึกประวัติศาสตร์การเมืองไทยชั้นยอดเท่านั้น แต่ยังทำให้เราเข้าใจบทบาทของสถาบันกษัตริย์และเครือข่ายที่มีต่อการเมืองไทย รวมถึงความสัมพันธ์กับชนชั้นนำไทยกลุ่มอื่นๆ นับตั้งแต่ก่อรูป ขยายตัว จวบจนพระราชอำนาจนำเฟื่องฟูสุดขีดในเหตุการณ์พฤษภา 2535

แม้กรอบการศึกษาของอาสาจะจบลงที่เหตุการณ์ดังกล่าว แต่ใช่ว่าสถาบันกษัตริย์จะมีพระราชอำนาจนำสูงสุดตลอดเวลา ความปั่นป่วนของสังคมการเมืองไทยทำให้สถาบันฯ และเครือข่ายเผชิญโจทย์ที่ท้าทายหลายครั้ง ทั้งเหตุการณ์ช่วงรัฐประหาร 2549 ปรากฏการณ์ ‘ตาสว่าง’ ในกลุ่มคนเสื้อแดงปี 2553 การเปลี่ยนผ่านรัชกาลใหม่ — เรื่อยมาจนถึงวันนี้ วินาทีนี้ โจทย์ที่ยากที่สุดสำหรับสถาบันกษัตริย์และชนชั้นนำไทย คือการเรียกร้องให้ปฏิรูปสถาบันฯ จากฝ่ายประชาชน

101 จึงชวน ดร.อาสา คำภา จากสถาบันไทยคดีศึกษา มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ มาพูดคุยเกี่ยวกับภาคต่อของมหากาพย์เครือข่ายสถาบันกษัตริย์ ย้อนมองประวัติศาสตร์การก่อรูปของเครือข่ายในหลวงปี 2495 พลวัตพระราชอำนาจนำ และร่องรอยของอุดมการณ์ที่สถาบันฯ พร้อมเครือข่ายชนชั้นนำไทยทิ้งไว้ในสังคมจนถึงปัจจุบัน

คงไม่เป็นการกล่าวเกินไปนักถ้าบอกว่าเรื่องราวนับจากบรรทัดนี้ จะทำให้คุณเข้าใจประวัติศาสตร์การเมืองไทยและสถาบันกษัตริย์ในอีกมุมหนึ่ง ซึ่งจะแจ้งยิ่งขึ้นกว่าเดิม


อาสา คำภา
ดร.อาสา คำภา สถาบันไทยคดีศึกษา มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์


งานของคุณศึกษาเครือข่ายสถาบันกษัตริย์ปี พ.ศ. 2495 – 2535 ช่วงเวลาดังกล่าวมีความน่าสนใจอย่างไร

จุดเริ่มต้นของงานศึกษาชิ้นนี้มาจากบริบทการเมืองช่วงหลังปี 2549 ที่มีงานศึกษาเกี่ยวกับสถาบันกษัตริย์ออกมาเยอะแยะเต็มไปหมด งานสำคัญชิ้นหนึ่งคืองานเขียนเรื่องเครือข่ายสถาบันกษัตริย์ (Network Monarchy) ของ ดันแคน แมคคาโก ที่เสนอว่าการทำความเข้าใจการเมืองไทยอย่างแท้จริงควรพิจารณาการเมืองเชิงเครือข่าย โดยเฉพาะเครือข่ายสถาบันกษัตริย์/เครือข่ายในหลวง แต่งานของแมคคาโก แม้จะให้ภาพกว้างเชิงคอนเซปต์ แต่กลับไม่ค่อยเห็นตัวแสดงชัดเจนที่ย้อนประวัติศาสตร์การเมืองไทยไปไกลนัก กล่าวคือเน้นบทบาท พลเอกเปรม ติณสูลานนท์ ถึงช่วงก่อนรัฐประหาร 2549 ผมจึงอยากศึกษาย้อนไปไกลกว่านั้นเพื่อให้เห็นภาพตั้งแต่ช่วงก่อรูปว่าเครือข่ายมีองค์ประกอบกลุ่มก้อนตัวแสดงอะไรบ้าง

เหตุที่เริ่มศึกษาปี 2495 เพราะผมคิดว่าเป็นช่วงที่เครือข่ายในหลวงรัชกาลที่ 9 เริ่มก่อเกิดขึ้น หลังพระองค์เสด็จกลับมาอยู่ไทยเป็นการถาวรช่วงปลายปี 2494 ซึ่งแน่นอนว่าก่อนหน้านี้ก็มีเครือข่ายสถาบันกษัตริย์เคลื่อนไหวต่อสู้อยู่ในเวทีการเมืองไทย แต่ปี 2495 เป็นหมุดหมายสำคัญที่พระมหากษัตริย์เสด็จกลับมาเป็นหลักชัยให้เห็นอย่างชัดเจน หลังจากที่ประเทศไทยไม่มีกษัตริย์มานานเกือบ 20 ปีนับจากการอภิวัฒน์ 2475 เป็นต้นมา เพราะรัชกาลที่ 7 ก็พำนักและสิ้นพระชนม์ที่อังกฤษ รัชกาลที่ 8 เสด็จกลับมาไทยแค่สองครั้ง รัชกาลที่ 9 ก็เคยเสด็จกลับมาแค่ช่วงสั้นๆ พร้อมพระเชษฐา และอีกครั้งในปี 2493 ตอนพระราชพิธีถวายพระเพลิงพระเชษฐา มาทำพิธีอภิเษกสมรมและบรมราชาภิเษก แล้วก็เสด็จกลับสวิตเซอร์แลนด์

ดังนั้น การเสด็จกลับไทยปลายปี 2494 จึงเป็นหลักชัยสำคัญของพวกกษัตริย์นิยม เพราะตามประวัติศาสตร์การเมืองไทย ช่วง 2490 มีการเปลี่ยนอำนาจทางการเมืองจากฝ่ายคณะราษฎรมาสู่ฝ่ายกษัตริย์นิยมกับทหาร ปี 2492 มีร่างรัฐธรรมนูญฉบับโปรเจ้ามาก แต่ทั้งสองฝ่ายก็ยังขัดแย้งกันอยู่เป็นระยะตลอด 2492-2495 ตามที่เขียนในงานศึกษาของอาจารย์ณัฐพล ใจจริง

เมื่อในหลวงรัชกาลที่ 9 กำลังจะเสด็จกลับมาไทย ย่อมคาดเดาได้ว่าการเคลื่อนไหวของฝ่ายกษัตริย์จะเข้มข้นมากขึ้น จอมพล ป. พิบูลสงคราม จึงเร่งทำการรัฐประหาร 29 พฤศจิกายน 2494 แค่สามวันก่อนที่ในหลวงจะเสด็จถึงไทย เพื่อนำรัฐธรรมนูญฉบับ 2475 กลับมาใช้ใหม่ ฉะนั้น ก้าวแรกที่พระองค์กลับมา พูดง่ายๆ ว่าสถานการณ์กำลังตึงเครียด ต้องเผชิญกับแรงเสียดทานจากทหาร เจอปัญหาต่างๆ มากมาย ผมจึงเริ่มศึกษาที่ปี 2495 เพราะหลังจากนั้นจะเกิดการต่อสู้ต่อรองและเกิดเครือข่าย คนที่เข้ามาสนับสนุนการทำงาน สร้างพระราชอำนาจนำของในหลวงรัชกาลที่ 9 มากขึ้นเป็นลำดับ

จนมาถึงเหตุการณ์พฤษภาคม 2535 ซึ่งเป็นหมุดหมายสำคัญที่แสดงให้เห็นว่าพระราชอำนาจนำของพระมหากษัตริย์มาถึงจุดสูงสุดและอยู่ตัว ช่วงทศวรรษ 2540 ยิ่งชัดเจนว่าพระราชอำนาจนำเป็นเหมือนปรากฏการณ์พิเศษของยุคสมัย จากการก่อรูปของเครือข่ายในหลวงรัชกาลที่ 9 ปี 2495 ถึง 2535 รวมสี่ทศวรรษ กล่าวได้ว่าพระราชอำนาจนำค่อยๆ เพิ่มขึ้นพร้อมกับอิทธิพลของเครือข่ายสถาบันกษัตริย์ต่อแวดวงการเมืองไทย


ความสัมพันธ์ระหว่างสถาบันฯ ทหาร และชนชั้นนำไทยกลุ่มต่างๆ เป็นอย่างไรบ้าง

ผมไม่ได้มองว่าสถาบันกษัตริย์หรือเครือข่ายของสถาบันฯ เป็นกลุ่มก้อนเดียวกันกับทหาร แต่มีลักษณะเป็นหุ้นส่วน (partnership) ทางอำนาจกันมากกว่า ทศวรรษ 2500 ถึงก่อน 14 ตุลา 2516 เป็นยุคของจอมพล ทหารถือเป็น senior partnership ของชนชั้นนำไทยทั้งหมด กระทั่งเหนือกว่าสถาบันฯ

กลุ่มชนชั้นนำอื่นๆ ที่ศึกษา เช่น ชนชั้นนำในระบบราชการ แยกเป็นข้าราชการสายพลเรือน สายเทคโนแครต ซึ่งมีทั้งกลุ่มที่เข้ามาทำงานให้ฝ่ายทหารและฝ่ายใกล้ชิดสถาบันฯ นอกจากนี้ยังมีชนชั้นนำทางธุรกิจ เจ้าสัวทั้งกลุ่มเก่า-ใหม่ที่เริ่มเข้ามามีปฏิสัมพันธ์กับสถาบันกษัตริย์อย่างเปิดเผยช่วงหลังปี 2500 เป็นต้นมา เพราะสถาบันฯ และทหารร่วมมือเป็นมิตรไมตรีกัน ทำให้หลายฝ่ายรู้สึกปลอดภัยในการเข้าหาสถาบันกษัตริย์มากขึ้น ต่างกับสมัยจอมพล ป.

เดิมทีบรรดาเจ้าสัวต่างๆ ก็เข้าได้กับทุกฝ่าย ยินดีจ่ายให้กับทุกกลุ่มอยู่แล้ว แต่หลังปี 2500 เกิดปรากฏการณ์ที่คนเหล่านี้แสดงความใกล้ชิดกับสถาบันฯ ชัดเจน เกิดวัฒนธรรมการบริจาคโดยเสด็จพระราชกุศล เจ้าสัวเหล่านี้ถวิลหา ‘ความเป็นไทย’ อยู่แล้ว จะมีอะไรดีไปกว่าได้ใกล้ชิดสถาบันกษัตริย์ เครือข่ายในหลวงจึงเริ่มใหญ่ขึ้น มีทรัพยากร มีคนเข้ามาใกล้ชิดด้วยมากขึ้น และที่สำคัญที่สุด ในระบบราชการเกิดสิ่งที่ผมเรียกว่า ‘ข้าราชการสายวัง’

ข้าราชการสายวังเป็นข้าราชการที่มีความสัมพันธ์ใกล้ชิดสถาบันฯ ชัดเจน บางคนเป็นระดับปลัดกระทรวง เช่น พ่วง สุวรรณรัฐ อดีตปลัดกระทรวงมหาดไทย พ่อของ พลากร สุวรรณรัฐ องคมนตรีในรัชกาลที่ 9 และรัชกาลปัจจุบัน คนนี้อาจเรียกได้ว่าเป็นต้นแบบของมหาดไทยสายวังเลย และเป็นสายวังที่ซีกหนึ่งมีความสัมพันธ์แนบแน่นกับผู้นำทหารด้วย สัญญา ธรรมศักดิ์ อดีตประธานศาลฎีกา ก็เป็นตัวอย่างชัดเจนของตุลาการสายวัง หลังเกษียณก็ได้รับโปรดเกล้าฯ เป็นองคมนตรี

อย่างไรก็ตาม ทั้งหมดนี้ขึ้นอยู่กับพระราชอำนาจนำของรัชกาลที่ 9 ในช่วงเวลานั้นๆ ด้วย เมื่อใดที่พระราชอำนาจนำขึ้นสู่กระแสสูง เมื่อนั้นความเป็นสายวังของกลุ่มข้าราชการต่างๆ จะชัด พวกเขาจะเอนเอียงเข้าหาสถาบันฯ ชัดเจนมากขึ้น


ช่วงที่ชนชั้นนำกลุ่มต่างๆ เริ่มสนใจสานสัมพันธ์กับกลุ่มสถาบันฯ ด้านสถาบันฯ วางตัวต่อคนแต่ละกลุ่มแบบไหน

ฝ่ายสถาบันฯ ใช้วิธีเลือกคนเข้ามาอยู่ในเครือข่าย ผมมองว่าเครือข่ายในหลวงเริ่มต้นมาจากเครือข่ายกลุ่มก้อนเล็กๆ จากนั้นค่อยๆ เลือกคนที่เกี่ยวข้องสัมพันธ์กันเข้ามาเรื่อยๆ เช่น ในกลุ่มทหาร คนส่วนใหญ่มักขึ้นต่อจอมพลสฤษดิ์ ถนอม ประภาส แต่เราพบว่าเครือข่ายในหลวงก็เลือกที่จะสร้างความสัมพันธ์กับผู้นำทหารบางคน เช่น ในกลุ่มจอมพลระดับถนอม ประภาส บุคคลที่มีบารมีเทียบเท่าอย่าง ประเสริฐ รุจิรวงศ์ อธิบดีกรมตำรวจ จะมีความใกล้ชิดสถาบันฯ เป็นพิเศษ ซึ่งกรมตำรวจในยุคนั้นเปรียบเหมือนรัฐอิสระ มีอำนาจมาก แม้แต่จอมพลประภาสซึ่งคุมมหาดไทยก็เข้ามาก้าวก่ายยาก นอกจากตำรวจแล้ว ประเสริฐยังคุมสาธารณสุขที่เป็นหน่วยงานสนับสนุนกรณียกิจของเครือข่ายในหลวง ขณะที่ฝ่ายจอมพลถนอม ประภาส สถาบันฯ กลับเลือกสร้างความสัมพันธ์อีกแบบหนึ่งที่เป็นทางการมากกว่า แสดงให้เห็นว่ามีการคัดเลือกคนเข้าเครือข่ายสถาบันฯ โดยจะไม่ดึงคนที่อยู่อีกฝ่ายหนึ่งชัดเจนเข้ามาใกล้ชิดมากนัก

อีกด้านหนึ่ง สถาบันฯ ให้ความสนใจเรื่องการพัฒนาชนบท กลุ่มที่ใกล้ชิดจริงๆ และเข้ามาช่วยงานในหลวงรัชกาลที่ 9 ตั้งแต่ต้นรัชกาลจึงเป็นข้าราชการสายกระทรวงเกษตร คนที่เป็นตัวเชื่อมหลักสำคัญคือ หม่อมเจ้าจักรพันธ์เพ็ญศิริ จักรพันธุ์ ข้าราชการระดับสูงของกระทรวงเกษตร อธิการบดียุคแรกๆ ของมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ หม่อมเจ้าจักรพันธ์เพ็ญศิริใกล้ชิดกับในหลวงมาก และด้วยความสัมพันธ์นี้ ทำให้บรรดาลูกศิษย์ลูกหา ผู้ใต้บังคับบัญชาของหม่อมเจ้าจักรพันธ์เพ็ญศิริถูกชักชวนไหว้วานมาช่วยงานในหลวงรัชกาลที่ 9 ในโครงการพัฒนาชนบทนับแต่ช่วงแรกๆ เครือข่ายในกลุ่มข้าราชการสายนี้ก็ค่อยๆ ขยายออกกว้าง

ข้าราชการที่มีแนวโน้มใกล้ชิดกับวังอีกกลุ่มคือคนที่ได้รับเสด็จบ่อยๆ พื้นที่ไหนมีพระราชนิเวศน์ เช่น หัวหิน ชะอำ เพชรบุรี เชียงใหม่ หรือเป็นพื้นที่ทรงงาน ผู้ว่าราชการจังหวัดทั้งประจวบฯ เพชรบุรี ต้องได้รับเสด็จบ่อยๆ เช่น จาด อุรัสยะนันทน์ ผู้ว่าเพชรบุรี พ่อของท่านผู้หญิงจรุงจิตต์ ทีขะระ การได้ถวายงานรับใช้อยู่เป็นประจำของข้าราชการเหล่านี้ ทำให้ทรงรู้จักมักคุ้นและเรียกใช้สอย  

เราสังเกตความใกล้ชิดของข้าราชการเหล่านี้ได้จากการพระราชทานตราจุลจอมเกล้า เครื่องราชอิสริยาภรณ์สกุลจุลจอมเกล้า เพราะเป็นเครื่องราชอิสริยาภรณ์ที่ไม่ใช่ว่าทำงานตามระยะเวลาที่กำหนดถึงได้แบบช้างเผือกหรือมงกุฎไทย แต่เป็นการให้ตามพระราชอัธยาศัย ดังนั้น จึงเกิดเหตุการณ์เช่นข้าราชการระดับผู้ว่าหรืออธิบดีอาจได้พระราชทานตราจุลจอมเกล้า ขณะที่ผู้บังคับบัญชาระดับสูงกว่าไม่เคยได้ เป็นต้น

การที่เครือข่ายเล็กๆ ‘ไม่เป็นทางการ’ ของในหลวงแทรกตัวเข้าไปอยู่ในระบบราชการ เป็นสถานการณ์ที่เริ่มต้นสมัยจอมพลสฤษดิ์เป็นต้นมา


ทำไมสถาบันฯ ถึงสนใจเรื่องการพัฒนาชนบท

ถ้าย้อนกลับไปสมัยต้นรัชกาลที่ 9 ความพยายามอย่างหนึ่งของสถาบันฯ คือการแสวงหาจุดยืนเพื่อที่จะอยู่ในระบอบใหม่หลัง 2475 ได้อย่างปลอดภัย โดยไม่ต้องอิงกับระบอบทหาร เพราะวันดีคืนดีทหารก็ลุกขึ้นมาล้มคุณได้ รัฐประหาร 2494 เป็นบทเรียนสำคัญของฝ่ายเจ้าว่าทหารไว้ใจไม่ได้ หรือกรณี 14 ตุลา ถ้าสถาบันฯ ผูกติดกับทหารแบบคอหอยลูกกระเดือก เมื่อทหารล้ม สถาบันฯ ก็อาจจะล้มตามไปได้ง่ายๆ ผมเห็นว่าเครือข่ายสถาบันฯ มีความพยายามตั้งแต่หลัง 2475 เป็นต้นมาว่าสถาบันฯ ต้องหาวิธีหรือโมเดลใหม่ในการอยู่รอด และในสมัยรัชกาลที่ 9 สิ่งนั้นคืออุดมการณ์แบบ ‘ราชประชาสมาสัย’

ราชประชาสมาสัยเป็นคำสนธิ ที่แปลว่า ‘พระราชากับประชาชนพึ่งพาอาศัยกัน’ คำนี้เกิดขึ้นปลายทศวรรษ 2490 คือช่วงที่ในหลวงรัชกาลที่ 9 เสด็จกลับมาประเทศไทย จากการเผชิญปัญหาต่างๆ สุดท้ายก็ตกตะกอนว่าสถาบันฯ ต้องนำตัวเองไปผูกกับประชาชน กษัตริย์กับประชาชนต้องมีปฏิสัมพันธ์กันเพื่อให้อยู่รอดปลอดภัย นี่เป็นโครงการทางการเมือง (Political Projects) ที่เพิ่งถูกสร้างขึ้นมาโดยกลุ่มปัญญาชนกษัตริย์นิยมต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นพระองค์เจ้าธานีนิวัต ม.ร.ว.คึกฤทธิ์ ปราโมช ฯลฯ ช่วยกันคิดและตกตะกอน

แต่กษัตริย์จะผูกกับประชาชนอย่างไร ในช่วงนั้นก็มีเงื่อนไขทางสังคมต่างๆ เช่น อเมริกาตอนนั้นสนับสนุนสถาบันฯ ชูสถาบันฯ ขึ้นมาเป็นโมเดลต้นแบบในการต่อต้านคอมมิวนิสต์ ในสถานการณ์ที่โลกมีฝ่ายซ้าย กษัตริย์ต้องพิสูจน์ตนเองด้วยการทำงาน ไม่ว่าจะเพื่อการประชาสัมพันธ์หรือลงมือทำอย่างจริงจังก็ตามแต่ นี่คือจุดยืนของเครือข่ายในหลวง รัชกาลที่ 9 จึงทรงงานด้านการพัฒนาต่างๆ เพื่อสร้างความสัมพันธ์กับประชาชนในชนบท โครงการนำร่องต่างๆ เริ่มเกิดขึ้นรอบๆ วังไกลกังวล แล้วขยายไปสู่งานพัฒนาชนบทในระดับใหญ่มากขึ้น


เราสามารถสรุปได้ไหมว่าอุดมการณ์แบบราชประชาสมาสัยเป็นโมเดลที่ทำให้พระมหากษัตริย์มีภาพลักษณ์นักพัฒนา ผู้ช่วยเหลือชาวบ้านในชนบทต่างๆ

ใช่ครับ และที่ต้องลงไปสู่ชนบทเพราะประเทศไทยยุคนั้นยังเป็นประเทศเกษตรกรรม ทำให้ฝ่ายสถาบันฯ และเครือข่ายมุ่งเน้นพัฒนาเรื่องเกษตรและสร้างความสัมพันธ์กับประชาชนในชนบท ที่สำคัญสิ่งเหล่านี้ไม่ได้เกิดขึ้นโดยตัวพระมหากษัตริย์เพียงโดดๆ เคยมีนักข่าวอเมริกันถามในหลวงรัชกาลที่ 9 ว่าทำไมพระองค์ถึงต้องทรงงานมากมาย พระองค์ทรงตอบว่า “I did not choose, it was chosen for me” (ฉันไม่ได้เลือก มันถูกเลือกมาให้ฉัน) ในแง่หนึ่งก็อาจสะท้อนว่าเมื่อพระองค์เสด็จกลับมา โครงการภายใต้อุดมการณ์ราชประชาสมาสัยเหล่านี้เป็นสิ่งที่ฝ่ายสถาบันฯ ต้องทำเพื่อสร้างจุดยืนและความอยู่รอดของสถาบันฯ   

อย่างไรก็ตาม นี่เป็นโปรเจกต์ทางการเมืองขนาดใหญ่ ฉะนั้น ย่อมมีปฏิบัติการด้านอื่นๆ หนุนเสริม มีกุนซือเช่นปัญญาชนกษัตริย์นิยมพยายามสร้างความหมายว่า ‘กษัตริย์’ กับ ‘เกษตร’ มีที่มาจากคำเดียวกัน กษัตริย์กับประชาชนใกล้ชิดกัน การปฏิบัติการและการสร้างความหมายต่างๆ เหล่านี้นำไปสู่การสร้างเครือข่ายในหลวงและพระราชอำนาจนำที่ยิ่งใหญ่ในอีกหลายทศวรรษต่อมา



จากการศึกษา คุณพอเห็นร่องรอยไหมว่าใครเป็นผู้มีอิทธิพลทางความคิดต่อในหลวงรัชกาลที่ 9 เกี่ยวกับโปรเจกต์ทางการเมืองนี้มากเป็นพิเศษ

คงต้องนับย้อนไปถึงประธานองคมนตรียุคต้นรัชกาล เช่น พระองค์เจ้าธานีนิวัต ซึ่งเป็นเจ้านายจากระบอบเก่าและถือว่าเป็นซีเนียร์ ส่วนปัญญาชนกษัตริย์นิยมรุ่นถัดมาก็เช่น ม.ร.ว.คึกฤทธิ์ ปราโมช คนเหล่านี้มีอิทธิพลค่อนข้างมากในการสร้างโปรเจกต์ทางการเมืองและความคิดต่างๆ เป็นปัญญาชนสไตล์นักการเมืองวัฒนธรรม ต่างจากกลุ่มปัญญาชนโครงการพระราชดำริที่ลงมือช่วยงานด้านการพัฒนาจนนำไปสู่พระราชอำนาจนำ ซึ่งกลุ่มหลังนี้ อาจารย์ชนิดา ชิตบัณฑิตย์ เคยทำการศึกษาไว้

คุณอาจจะเคยเห็นภาพสารคดีเก่าๆ ที่รัชกาลที่ 8 เคยเสด็จเยือนสำเพ็งและมีรัชกาลที่ 9 ซึ่งเป็นพระอนุชาตามเสด็จด้วย ผมคิดว่านี่เป็นโปรเจกต์ของพระองค์เจ้าธานีนิวัต เพราะท่านเคยเขียนถึงสมัยรัชกาลที่ 7 ว่าพระมหากษัตริย์ทรงให้ความใกล้ชิดกับชุมชนชาวจีน คอยไปเยี่ยมโรงเรียนจีน พอถึงยุคสมัยของรัชกาลที่ 8 รัชกาลที่ 9 ซึ่งยังทรงพระเยาว์อยู่ ผู้ใหญ่อย่างพระองค์เจ้าธานีนิวัต จึงเป็นผู้ช่วยแนะนำให้พระมหากษัตริย์ลงไปสร้างความสัมพันธ์กับคนจีนเพื่อยืนยันแนวคิดใต้ร่มพระบรมโพธิสมภาร และเกิดเป็นภาพจำถึงความใกล้ชิดกับประชาชน

ช่วงใกล้ 14 ตุลา 2516 ม.ร.ว.คึกฤทธิ์ ก็เป็นผู้ช่วยนิยามความใกล้ชิดระหว่างสถาบันฯ กับประชาชน โดยพูดถึงแนวคิดราชประชาสมาสัยอย่างเปิดเผย กล่าวว่าการปกครองที่ดีควรมีต้นทางจากพระมหากษัตริย์กับประชาชนร่วมมือกัน (ไม่มีผู้นำทหาร) ม.ร.ว.คึกฤทธิ์ ปูเรื่องเหล่านี้ไว้เป็นระยะๆ ในสยามรัฐ เช่น คุณอาจจะเคยได้ยินคำกล่าวของเจ้านายสมัยก่อนอย่างสมเด็จฯ กรมพระยาปวเรศวริยาลงกรณ์ที่ว่า ร.1 โปรดทหาร ร.2 โปรดกวี ร.3 โปรดการสร้างวัด ร.4 ใครพูดภาษาฝรั่งได้ก็โปรด ม.ร.ว.คึกฤทธิ์ก็มาเพิ่มเติมว่า ร.9 โปรดประชาชน โปรดที่จะอยู่ใกล้ชิด อยู่ร่วมกับประชาชน

หรือถ้าย้อนกลับมาช่วงต้นรัชกาล เราอาจเคยได้ยินว่าพระราชนิพนธ์ ‘เมื่อข้าพเจ้าจากสยามมาสู่สวิทเซอร์แลนด์’ ซึ่งเล่าว่าระหว่างที่ในหลวงรัชกาลที่ 9 เสด็จโดยรถยนต์พระที่นั่งไปขึ้นเครื่องบินกลับสวิตเซอร์แลนด์ ท่ามกลางประชาชนที่ไปส่งเสด็จ มีใครคนหนึ่งตะโกนว่า “ในหลวงอย่าทิ้งประชาชน” แล้วพระองค์คิดในใจว่า “ถ้าประชาชนไม่ทิ้งข้าพเจ้า แล้วข้าพเจ้าจะทิ้งประชาชนได้อย่างไร” นี่คือราชประชาสมาสัยอย่างชัดเจน ที่น่าสนใจคือตอนนั้นพระอาจารย์ซึ่งถวายพระอักษรภาษาไทยของพระเจ้าอยู่หัวคือ ม.ร.ว.สุมนชาติ สวัสดิกุล อาจารย์ผู้ใหญ่ของจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และเป็นพระญาติที่ตามเสด็จไปสวิตเซอร์แลนด์ด้วย บุคคลนี้อาจมีส่วนช่วยบรรณาธิกรให้พระราชนิพนธ์นี้ปรากฏขึ้น กลายเป็นเรื่องเล่าสำคัญถึงความผูกพันระหว่างกษัตริย์กับประชาชน


นอกจากบริบทการเมืองไทยที่ทหารมีอำนาจ และกระแสต่อต้านคอมมิวนิสต์จากภายนอกประเทศ มีบริบทอื่นๆ อีกไหมที่เป็นเงื่อนไขที่ดี ทำให้โปรเจกต์ทางการเมืองของรัชกาลที่ 9 ในลักษณะนี้เกิดขึ้นและมีคนยอมรับ

เงื่อนไขทางวัฒนธรรมของสถาบันกษัตริย์ที่มีเหนือชนชั้นนำกลุ่มอื่นๆ เป็นตัวแปรสำคัญที่ทำให้ประสบความสำเร็จ แม้ว่าในยุคนั้น คนที่กุมอำนาจทางการเมืองจะเป็นทหาร คนที่กุมอำนาจทางเศรษฐกิจจะเป็นเจ้าสัวเชื้อสายจีน แต่กลุ่มที่มีพลังทางวัฒนธรรมมาอย่างต่อเนื่องคือพวกเจ้าชนชั้นสูง อิทธิพลความคิดเกี่ยวกับสถาบันฯ ซึมลึกในสังคมไทยมานาน อ.เบน แอนเดอร์สัน กล่าวไว้นานแล้วว่าเรารับรู้และมองกษัตริย์ราชวงศ์จักรีเป็นวีรบุรุษแห่งชาติ เรื่องนี้สอดรับกับข้อเสนอของ อ.ธงชัย วินิจจะกูล เรื่องราชาชาตินิยม

พอฝ่ายสถาบันฯ สร้างโปรเจกต์ทางการเมืองแบบนี้จึงจุดติดง่าย ชนชั้นกลาง กระฎุมพี คนที่เรียนหนังสือในระบบล้วนรับความคิดนี้มา ส่วนในพื้นที่ชนบท พระมหากษัตริย์และเครือข่ายก็ลงไปทำโครงการต่างๆ มีการประชาสัมพันธ์ให้รับรู้ทั่วกัน แม้แต่รัฐบาลทหารก็สนับสนุนโปรเจกต์ของสถาบันฯ เพราะถือว่าร่วมกันต่อต้านคอมมิวนิสต์ ทั้งหมดนี้ทำให้พระราชอำนาจนำและเครือข่ายสถาบันกษัตริย์ยิ่งเฟื่องฟู


การที่ไทยไม่อาจเปลี่ยนแปลงประเทศให้เป็นระบอบประชาธิปไตยที่สมบูรณ์ตั้งแต่ปฏิวัติ 2475 มีส่วนส่งเสริมให้เครือข่ายสถาบันฯ เติบโตและขยายอำนาจบ้างหรือเปล่า

ผมคิดว่ามีส่วน ทุกวันนี้มีคนพูดกันเยอะว่าความผิดพลาดทางประวัติศาสตร์ของคณะราษฎร คือการที่ไม่แตกหักกับฝ่ายเจ้าตั้งแต่แรก ถ้าเราย้อนกลับไปดูตอนเกิดกบฏ ร.ศ.130 ในสมัยรัชกาลที่ 6 คนที่เป็นหัวหน้าคณะคือขุนทวยหาญพิทักษ์ (เหล็ง ศรีจันทร์) เคยปรึกษากับคณะว่าหากทำสำเร็จ เรามีทางเลือกสองทาง คือจะเป็นสาธารณรัฐ หรือจะเป็นราชาธิปไตยภายใต้รัฐธรรมนูญ เมื่อคณะเคาะกันว่าเป็นราชาธิปไตยภายใต้รัฐธรรมนูญ เหล็ง ศรีจันทร์ ยังเตือนว่าการเป็นราชาธิปไตยภายใต้รัฐธรรมนูญ ถ้าเราปล่อยไว้โดยควบคุมไม่ได้ อำนาจอาจจะพลิกกลับไปเป็นของฝ่ายสถาบันฯ นี่เป็นตัวอย่างความคิดของผู้ก่อการรุ่นพี่ที่เคยคาดการณ์ไว้

ตอนอภิวัฒน์ 2475 คณะราษฎรคงไม่ได้มีทางเลือกว่าจะเป็นสาธารณรัฐ เขามีจุดยืนเพียงจะเปลี่ยนประเทศไทยเป็นระบอบประชาธิปไตยที่มีกษัตริย์ภายใต้รัฐธรรมนูญ งานของอาจารย์ธำรงศักดิ์ เพชรเลิศอนันต์ ระบุว่าตอนคณะราษฎรส่งเรือรบหลวงสุโขทัยไปรับรัชกาลที่ 7 ที่วังไกลกังวลเพื่อเชิญท่านกลับมา คนที่ไปเจรจาคือหลวงศุภชลาศัย บอกว่าขอให้รัชกาลที่ 7 เสด็จกลับมาเป็นกษัตริย์ภายใต้รัฐธรรมนูญ ถ้าไม่กลับ คณะราษฎรจะเลือกเจ้านายพระองค์อื่นขึ้นมาเป็นกษัตริย์แทน ทางเลือกแบบนี้แสดงว่าคณะราษฎรไม่ได้มีความคิดจะแตกหักกับสถาบันฯ เพราะถ้าแตกหักอาจจะเกิดสงครามโดยไม่รู้ว่าใครจะชนะ

แต่แน่นอน สำหรับฝ่ายราดิกัล (radical) เพราะความไม่แตกหักนี่ล่ะ ฝ่ายสถาบันฯ และเครือข่ายสถาบันฯ จึงค่อยๆ ขยายบทบาทผ่านการใช้ช่วงจังหวะทางประวัติศาสตร์ สู่จุดสูงสุดคือการเกิดพระราชอำนาจนำของรัชกาลที่ 9 ยุคสมัยหนึ่งคนไทยยินดีน้อมนำทำตามพระราชดำริ พระราชกระแสทุกอย่างโดยดุษณี เพราะเชื่อมั่นในพระองค์


เป็นความผิดพลาดที่คณะราษฎรไม่เลือกแตกหักแต่แรก หรือเพราะหลังจากนั้น เราไม่มีกลไกป้องกันการพลิกกลับมามีอำนาจแบบสุดขั้วของเครือข่ายเหล่านี้

ไม่ใช่เพราะไม่แตกหักจึงเกิดสถานการณ์แบบนี้เสียทีเดียว กรณีสังคมไทย เป็นทั้งการตกกระไดพลอยโจนและจังหวะเวลาทางประวัติศาสตร์ที่ทำให้สถาบันฯ กลับมามีบทบาทสูงยิ่งในสังคมการเมืองไทย ไม่ว่าจะกรณีสวรรคต 2489 รัฐประหาร 2490 สงครามเย็น อิทธิพลจากคอมมิวนิสต์ ปัจจัยภายนอกอย่างการมีอเมริกาเข้ามาหนุนฝ่ายสถาบันฯ 14 ตุลา 2516 ฯลฯ หลายอย่างเป็นเงื่อนไขเหมาะเจาะที่ทำให้สถาบันฯ และเครือข่ายสถาบันฯ ขยายตัวและมีอิทธิพลมากมากขึ้นในที่สุด


งานศึกษาของคุณค่อนข้างให้ความสำคัญกับเหตุการณ์ 14 ตุลา ในฐานะหมุดหมายสำคัญที่พระราชอำนาจนำของสถาบันฯ และเครือข่ายเฟื่องฟูมาก แต่หลังจากนั้นมีเหตุการณ์อะไรที่ถือว่าเป็นจุดเปลี่ยนสำคัญของพระราชอำนาจนำอีกไหม

เหตุการณ์ในประวัติศาสตร์การเมืองไทยช่วงต่างๆ ล้วนสัมพันธ์กับการขึ้นลงของพระราชอำนาจนำและเครือข่ายในหลวง อย่างช่วง 14 ตุลา 2516 เป็นต้นมา งานอาจารย์ธงชัย วินิจจะกูล ชี้ว่าเป็นช่วงจุดเปลี่ยนสำคัญที่พระราชอำนาจนำของสถาบันกษัตริย์ขึ้นสูงจนเห็นได้ชัดเจน เครือข่ายในหลวงจึงค่อนข้างขยายตัว มีคนเข้าร่วมมากมาย   

แต่ถ้ามองในรายละเอียดจะเห็นว่าพระราชอำนาจนำช่วงนั้นขึ้นสูงอยู่เพียง 3 ปี พอถึงช่วง 6 ตุลา 2519 หลังจาก ธานินทร์ กรัยวิเชียร ซึ่งเป็นคนของเครือข่ายในหลวงขึ้นเป็นนายกรัฐมนตรี สิ่งนี้หมายถึงการโดดเข้ามาเป็นผู้เล่นด้วยตนเอง ในช่วงเวลาที่ธานินทร์จัดตั้งรัฐบาล แม้จะสั้นแค่ปีเดียว แต่ความขวาจัดของธานินทร์กลับทำให้เขาไปทะเลาะกับชนชั้นนำไทยแทบทุกกลุ่ม ไม่มีใครพอใจนายกฯ ที่เป็นคนจากเครือข่ายในหลวงคนนี้เลย เพราะรู้สึกว่าความขวาจัดทำให้พวกเขาอยู่ไม่ได้

ชนชั้นนำจึงเริ่มถอยห่างจากสถาบันฯ และเครือข่าย พระราชอำนาจนำของสถาบันฯ ก็ลดลงในช่วงนั้น ขนาด ม.ร.ว.คึกฤทธิ์ ที่เป็นคนในเครือข่ายในหลวงเหมือนกัน สนับสนุนสถาบันฯ มาตั้งแต่ไหนแต่ไร ยังเขียนด่ารัฐบาลธานินทร์ในสยามรัฐ มีการทำพจนานุกรมฉบับคึกฤทธิ์ขึ้นมา บัญญัติความหมายของคำต่างๆ ไล่จาก ก.ไก่ ถึง ฮ.นกฮูก พอถึงคำว่า ‘เจ้า’ คึกฤทธิ์ให้ความหมายว่า ‘เป็นพวกที่ออกจะหาทำยาได้ยากแล้ว’ แปลว่าไม่มีน้ำยา  


ความขวาจัดของรัฐบาลธานินทร์สร้างผลกระทบอะไร ชนชั้นนำไทยที่แลดูจะค่อนไปทางฝ่ายขวาเหมือนกันถึงไม่เอาด้วย

ธานินทร์ทะเลาะกับใครต่อใครเต็มไปหมดแม้กระทั่งแกนนำฝ่ายขวาในสมัยนั้น และไปจัดการชนชั้นนำไทยแบบไม่เหลือที่ทางให้ผู้อื่น ยกตัวอย่างเช่น แผนพัฒนาประชาธิปไตย 12 ปีของธานินทร์เป็นโปรเจกต์ 12 ปีที่ไม่เปิดโอกาสให้ระบบพรรคการเมืองเติบโตเลย ไม่ว่าฝ่ายซ้ายหรือฝ่ายขวาถูกกวาดลงจากเวทีหมด และไม่หาทางออกให้เขา ไม่จัดที่ทางให้พวกเขาอยู่ใน สนช. หรือองค์กรอะไรเลย การไม่ให้พื้นที่แม้กระทั่งฝ่ายขวาด้วยกันเอง คนก็ย่อมไม่พอใจ เมื่อคนอื่นรู้สึกว่ารัฐบาลธานินทร์ใช้อำนาจแบบไม่แบ่งปัน ยึดหลักต้องตามฉันคนเดียวแบบนี้ ทุกฝ่ายก็ปฏิเสธ  รัฐบาลขวาจัดและโปรเจ้าเลยถูกทำรัฐประหารโดยชนชั้นนำไทยพยักหน้าเห็นชอบด้วย


รัฐบาลธานินทร์ทำให้ภาพลักษณ์ พระราชอำนาจนำของสถาบันฯ และเครือข่ายตกต่ำลง แล้วสถาบันฯ ปรับตัวอย่างไรถึงกลับขึ้นมามีอิทธิพลในชนชั้นนำไทยอีกครั้ง

ช่วงหนึ่งปีของรัฐบาลธานินทร์ ชนชั้นนำไทยได้เรียนรู้แล้วว่ารัฐบาลขวาจัดภายใต้เงาของเครือข่ายสถาบันฯ ไม่เวิร์ก จึงถอยออกมารักษาระยะห่าง แต่ถึงไม่ชอบตัวแทนอย่าง ธานินทร์ กรัยวิเชียร ชนชั้นนำไทยยังไงก็เอาสถาบันฯ เพราะการดำรงอยู่ของสถาบันฯ คือหลักประกันความอยู่รอดปลอดภัยของชนชั้นนำไทย ไม่มีทางที่คนเหล่านี้จะเปลี่ยนไปเข้าข้างฝ่ายซ้าย

นอกจากนี้ยังมีโปรเจกต์ระยะยาวที่รัฐบาลธานินทร์สร้างไว้และไม่เคยถูกทำให้หายไปคือการฟื้นฟูความสำคัญของสถาบันฯ ช่วงที่ธานินทร์ได้เป็นนายกฯ หลัง 6 ตุลา 2519 ปี 2520 ในหลวงรัชกาลที่ 9 มีพระชนมพรรษาครบ 50 พรรษา และปี 2525 คือวาระฉลอง 200 ปีกรุงเทพฯ รัฐบาลธานินทร์วางแผนวาระเฉลิมฉลองยาวต่อเนื่อง แม้สุดท้ายต้องลงจากอำนาจ แต่มรดกการเชิดชูสถาบันฯ ไม่ได้หายไปตามรัฐบาลด้วย คนที่มาสานต่อและทำได้ดีกว่าธานินทร์คือ พลเอกเปรม ติณสูลานนท์

อีกเงื่อนไขหนึ่งที่ผมคิดว่าเป็นจุดเปลี่ยน คือเหตุการณ์เมษาฮาวาย ปี 2524 ตอนนั้นทหารกลุ่มยังเติร์กเป็นกลุ่มที่มีความมั่นใจในตนเองสูง ฮึกเหิม ไม่เชื่อฟังใคร เพราะคิดว่าตนเองมีอิทธิพลในการตั้งและปลดนายกรัฐมนตรีได้ ถ้าเราดูในประวัติศาสตร์การเมืองไทย ยังเติร์กเป็นกลุ่มที่ผลักดัน พลเอกเกรียงศักดิ์ ชมะนันทน์ เป็นนายกฯ จากนั้นก็โค่นเกรียงศักดิ์ลง แล้วดัน พลเอกเปรม ติณสูลานนท์ ขึ้นมาแทน แต่ว่ากันตามจริง ตัวตนและบทบาทของยังเติร์กแบบนี้ไม่ได้เป็นคุณต่อชนชั้นนำไทยกลุ่มใดเลย เพราะทหารกลุ่มนี้ชอบข่มขู่ว่าจะทำรัฐประหารตลอดเวลา อย่าว่าแต่นักการเมืองที่รู้สึกไม่ปลอดภัย นักธุรกิจก็ไม่โอเคถ้าบ้านเมืองเสี่ยงต่อการรัฐประหารตลอดเวลาเช่นกัน

แต่ยังเติร์กถูกปราบลงจากเหตุการณ์กบฏเมษาฮาวาย เพราะในหลวงรัชกาลที่ 9 เลือกอยู่ฝั่งพลเอกเปรม เสด็จพร้อมพลเอกเปรมไปอยู่ที่กองทัพภาคที่ 2 โคราช ทำให้ยังเติร์กพ่ายแพ้ตั้งแต่ยังไม่ทันเริ่มสู้ เหตุการณ์เห็นได้ชัดเลยว่าอำนาจทางวัฒนธรรมของสถาบันกษัตริย์มีพลังเสียยิ่งกว่าอำนาจปืน การที่สถาบันฯ สามารถกำราบยังเติร์กที่เป็นปัจจัยคุกคามชนชั้นนำไทยได้ ทำให้ชนชั้นนำที่อาจจะเคยถอยห่าง กลับมาให้ความสำคัญกับสถาบันฯ เห็นว่าอำนาจในทางวัฒนธรรมของสถาบันฯ สำคัญต่อความอยู่รอดของพวกเขาและช่วยรักษาเสถียรภาพของการเมืองไทย

เมษาฮาวายจึงเป็นจุดเปลี่ยนที่ทำให้พระราชอำนาจนำกลับมาขึ้นสูงอีกครั้ง พอปี 2525 มีการเฉลิมฉลอง 200 ปีกรุงเทพฯ  ก็ยิ่งขับเน้นความยิ่งใหญ่ของสถาบันฯ ประกอบกับปัจจัยหนุนเสริมอื่นๆ เช่น ความพ่ายแพ้ของพรรคคอมมิวนิสต์แห่งประเทศไทย ความปลอดภัยเริ่มเกิดขึ้นในโลกชนชั้นนำไทย พร้อมๆ กับที่พวกเขาตระหนักในคุณค่าของสถาบันฯ ผมจึงบอกว่าช่วงจังหวะทางประวัติศาสตร์หลายๆ อย่างประจวบเหมาะพอดีที่ช่วยส่งเสริมการเกิดพระราชอำนาจนำของรัชกาลที่ 9



จากเหตุการณ์คราวนั้น พระราชอำนาจนำก็อยู่ตัวมาจนถึงเหตุการณ์พฤษภา 2535

เหตุการณ์พฤษภา 2535 เป็นภาพสะท้อนจุดสูงสุดของพระราชอำนาจนำชัดเจนมาก ตอนพลเอกสุจินดา คราประยูร ขัดแย้งกับพลตรีจำลอง ศรีเมือง มีการจลาจลปะทะจนมีคนเสียชีวิต พอในหลวงรัชกาลที่ 9 รับสั่งให้สองคนนี้เข้าเฝ้าและขอให้เลิกทะเลาะกัน สองคนนี้ก็น้อมนำพระราชดำรัสไปทำจริง มวลชนข้างนอกที่ปักหลักสู้กับทหารก็ยอมเลิกแยกย้ายกลับบ้าน พระราชอำนาจนำของในหลวงจึงเปรียบเหมือนอนุญาโตตุลาการสุดท้ายที่ทุกคนเชื่อ ยินยอมทำตาม

พระราชอำนาจนำที่มีพลังแบบนี้ดำเนินมาถึงต้นทศวรรษ 2540 วิกฤตเศรษฐกิจ 2540 เกิดปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงจากพระราชดำรัสในหลวง ที่กลายเป็นวาระแห่งชาติ แม้แนวคิดนี้จะเกิดจากการทำงานของเครือข่ายนักเกษตรกรต่างๆ มีคนสำคัญอย่างหม่อมหลวงเดช สนิทวงศ์ นักเศรษฐศาสตร์สหกรณ์เป็นต้นคิดตั้งแต่ยุคการทำงานพัฒนาชนบท แต่ก็ปฏิเสธไม่ได้ว่าการที่ในหลวงรัชกาลที่ 9 บอกว่าเราอยู่ได้ด้วยตัวเอง อยู่อย่างพอเพียงในสถานการณ์ที่สังคมกำลังสิ้นหวังและอกหักจากโลกาภิวัตน์ ทำให้ยิ่งขับเน้นพระราชอำนาจนำเข้าไปใหญ่


คุณเห็นพลวัตทางความคิดของในหลวงรัชกาลที่ 9 ด้านการเมืองบ้างไหม ว่าพระองค์เปลี่ยนไปมากน้อยแค่ไหนนับตั้งแต่วันแรกที่กลับมาจนถึงพฤษภา 2535

ผมมองว่าในช่วงสงครามเย็น ในหลวงรัชกาลที่ 9 ทรงมีความเป็นเสรีนิยมอยู่มากพอสมควร เชื่อในการพัฒนากระแสหลัก เป็นกษัตริย์กระฎุมพีมากกว่าภาพอนุรักษนิยม แต่ช่วงหลัง 14 ตุลา สถาบันฯ ที่มีพระองค์เป็นแกนหลักเดินไปสู่แนวทางฝ่ายขวามากขึ้นเรื่อยๆ หมายถึงอนุรักษนิยมขึ้น ฉะนั้นไม่น่าแปลกใจที่คนอย่างธานินทร์ซึ่งขวาจัดคือภาพตัวแทนของเครือข่ายในหลวง

อย่างไรก็ตาม จากช่วงธานินทร์ทำให้เราเห็นว่าชนชั้นนำไทยเรียนรู้ที่จะเชื่อมโยงกับโลกพอสมควร และคนในเครือข่ายในหลวงไม่ได้ขวาจัดทุกคน ช่วงทศวรรษ 2520 เราจึงอาจจะสังเกตเห็นความเปลี่ยนแปลงทางความคิดของในหลวงอีกครั้งว่ามีความประนีประนอมต่อรองมากขึ้น เพื่อที่จะเป็นกษัตริย์ของชนชั้นนำไทยทุกกลุ่ม เป็นประมุขของชนชั้นปกครอง (head of the ruling class)

ถ้ามองในเชิงความเปลี่ยนแปลงด้านอุดมการณ์ จากเดิมมีฐานคิดแบบราชประชาสมาสัยก็เริ่มเปลี่ยนไป เป็นอุดมการณ์แบบพ่อแห่งชาติในช่วงหลัง ตรงนี้น่าสนใจว่า คำว่าราชประชาสมาสัย นอกจากมีความหมายว่ากษัตริย์และประชาชนพึ่งพาอาศัยกัน ยังแฝงว่าทั้งสองฝ่ายมีสถานะเท่าเทียมกันด้วย แต่เมื่อเปลี่ยนเป็นพ่อแห่งชาติ จะมีฝ่ายหนึ่งอยู่สูงกว่า กลายเป็น ‘ที่พึ่ง’ ของประชาชน เป็นความเปลี่ยนแปลงและการสร้างความหมายใหม่ที่ประสบผลสำเร็จ


ถึงที่สุดแล้ว การสร้างเครือข่ายสถาบันฯ ที่ยิ่งใหญ่ขนาดนี้ ความสามารถหรือบุคลิกของคนที่เป็นแกนกลางเครือข่ายสำคัญแค่ไหน

สำคัญมาก พูดง่ายๆ ว่าในหลวงรัชกาลที่ 9 มีพระราชอำนาจนำส่วนหนึ่งเพราะความสามารถในการเจรจาต่อรอง รู้จังหวะ ฉลาดเลือกคนเข้ามาทำงาน และมีความเป็นผู้นำที่ดึงดูดคน ไม่ได้มีเพียงอำนาจความหวาดกลัว บางครั้งถ้ามีแค่ความน่าเกรงขาม แต่ไม่มีอำนาจนำ เครือข่ายก็เรียวลง ไม่มีพลังดึงดูดใครต่อใครให้อยากเข้ามาทำงานเป็นส่วนหนึ่งของระบบเกียรติยศ

อย่างไรก็ตาม มหาบุรุษคงไม่อาจเกิดได้ด้วยตัวคนเดียว คนในเครือข่ายที่แวดล้อมล้วนมีส่วนในการก่อร่างสร้างพระราชอำนาจทั้งสิ้น สรุปแล้วเป็นทั้งเรื่องตัวบุคคลและทีมที่ดี ผมมีข้อสังเกตว่าช่วงต้นรัชกาล ทีมที่ปรึกษาของในหลวงรัชกาลที่ 9 ล้วนเป็นผู้อาวุโส กล้าตักเตือน ในหลวงรัชกาลที่ 9 ถึงกับเคยบอกว่าคนอย่างพระองค์เจ้าธานีฯ จำเป็น เพราะเป็นผู้ทักท้วง (opposition) ของท่าน แต่พอช่วงหลัง 14 ตุลา ทีมที่ปรึกษารุ่นเก่าเปลี่ยนไปสู่รุ่น สัญญา ธรรมศักดิ์ ซึ่งไม่ค่อยกล้าทักท้วงพระองค์และเป็นแบบนี้เรื่อยมา เราจึงได้เห็นการเลือกคนอย่างธานินทร์ ที่ดูเหมือนจะเป็นการตัดสินใจที่ผิดพลาดไปบ้าง


อะไรคือข้อค้นพบใหม่ของคุณในการศึกษาวิจัยเกี่ยวกับเครือข่ายสถาบันฯ

อย่างแรกคือเครือข่ายสถาบันฯ มีส่วนในการหนุนสร้างพระราชอำนาจนำเป็นอย่างมาก เราจะเห็นบทบาทเลยว่าใครทำอะไร อย่างไร และที่น่าสนใจคือมีความสัมพันธ์แบบอิสระเชิงสัมพัทธ์กัน มีคนวิ่งเข้าวิ่งออก บางช่วงก็แนบแน่นกับสถาบันฯ บางช่วงก็ถอยห่าง เช่น ม.ร.ว.คึกฤทธิ์ก็เคยตำหนิในหลวงแบบตีวัวกระทบคราดในสมัยรัฐบาลธานินทร์ แต่สุดท้ายก็กลับมายกย่องเทิดทูนสถาบันฯ ตามแบบฉบับชนชั้นนำอนุรักษนิยม

อีกเรื่องคือพระราชอำนาจนำมีพลวัต และสัมพันธ์กับฉันทมติของชนชั้นนำไทยว่าจะยอมรับหรือไม่ยอมรับสถาบันฯ โดยเฉพาะในช่วงเวลาที่การเมืองยังเป็นชนชั้นนำอยู่ กระแสพระราชอำนาจนำที่เคยขึ้นสูงอาจตกลงมาได้ง่ายๆ ถ้าคุณละเมิดฉันทมติชนชั้นนำไทย เอาเข้าจริงความรู้สึกที่ว่าสถาบันกษัตริย์เป็นที่เคารพรักของชนชั้นนำไทยกลุ่มต่างๆ เพิ่งเกิดขึ้นช่วงทศวรรษ 2520 หลังเมษาฮาวายและชัดเจนที่สุดในเหตุการณ์พฤษภา 2535


มองภาพที่กว้างขึ้นจากกลุ่มชนชั้นนำ การมีเครือข่ายสถาบันฯ สร้างความเปลี่ยนแปลงอย่างไรต่อสังคมไทยบ้าง ยกตัวอย่างเช่นเรื่องที่มีเครือข่ายสถาบันฯ แฝงฝังอยู่ในระบบราชการ ส่งผลต่อการบริหารประเทศอย่างไร

อันที่จริงแล้ว การมีเครือข่ายแบบไม่เป็นทางการ (informal network) แฝงอยู่ในระบบทางการเป็นเรื่องที่เกิดขึ้นทุกที่ เหมือนเป็นวัฒนธรรมองค์กรกลายๆ ผมเคยอ่านเจอในหนังสือ ‘สดุดี (คนอื่น)’ ของหม่อมเต่า (หม่อมราชวงศ์จัตุมงคล โสณกุล) เล่าไว้ว่าการทำงานของพวกเทคโนแครตมีระบบที่เรียกว่า ‘แมนดาริน’ คือถ้าข้าราชการระดับสูงเล็งเห็นว่าเด็กคนไหนหน่วยก้านดี ก็จะสนับสนุนเป็นพิเศษ ทั้งเรียกใช้สอย แจกจ่ายผลประโยชน์ จนผู้บังคับบัญชาเก่าพ้นวาระไป คนหนุ่มเหล่านี้ก็จะขึ้นมาเป็นหัวหน้ากอง อธิบดีกรม ปลัดกระทรวง อุปถัมภ์กันเป็นทอดๆ นี่ก็เป็นเครือข่ายแบบไม่เป็นทางการประเภทหนึ่ง แต่เป็นเครือข่ายที่คัดคนมีฝีมือ เล็งเห็นแล้วว่ามีความสามารถในระดับหนึ่งและผลักดันให้ขึ้นมามีความก้าวหน้าในสายงาน เอาเข้าจริง ในยุคสมัยหนึ่งเครือข่ายแบบไม่เป็นทางการเช่นนี้อาจมีประสิทธิภาพ แต่สิ่งสำคัญคือระบบต้องคัดคนที่ไม่ productive ออกได้

สำหรับการมีเครือข่ายสถาบันฯ อยู่ในระบบราชการ ทำให้โปรเจกต์ของในหลวงบางเรื่องสามารถแทรกเข้าไปอยู่ในนโยบายรัฐ และมีแนวโน้ม ‘ลัดคิว’ เพื่อเร่งดำเนินการโดยสะดวกขึ้น ยกตัวอย่างการเกิดขึ้นของสำนักงานคณะกรรมการพิเศษเพื่อประสานงานโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริ (กปร.) ในยุครัฐบาลพลเอกเปรม ก็เป็นการตั้งคณะกรรมการพิเศษจากงบประมาณ ทรัพยากร บุคลากรของระบบราชการ คำถามคือพอได้ชื่อว่าเป็นงานในโครงการพระราชดำริ ประสิทธิภาพในการเข้าไปตรวจสอบมีมากน้อยเพียงใด สามารถวิพากษ์วิจารณ์ได้หรือไม่


แล้วในด้านการพัฒนาเศรษฐกิจ เครือข่ายสถาบันฯ มีอำนาจในการร่วมวางแผนนโยบายมากน้อยแค่ไหน

น่าจะเริ่มเห็นในยุคที่ในหลวงรัชกาลที่ 9 เริ่มกลับมามีพระราชอำนาจนำอีกครั้ง ช่วงพลเอกเปรม ทศวรรษ 2520 ที่เศรษฐกิจไทยเข้ายุค ‘โชติช่วงชัชวาล’ ประเทศไทยเปลี่ยนร่างแปลงกายไปสู่เศรษฐกิจเพื่อการส่งออก แต่ยุคนั้นรัฐบาลก็ประกาศให้เป็นทศวรรษแห่งการพัฒนาชนบท ใช้แนวทางการพัฒนาแบบที่เครือข่ายในหลวงเคยทำก่อนหน้านี้ อย่างระบบสหกรณ์การเกษตร ระบบการพึ่งตัวเอง ผนวกเข้าไปกับแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติด้วย เป็นการพัฒนาแบบคอนเซปต์ ‘แผ่นดินธรรมแผ่นดินทอง’ คือ ชนบทที่ถูกถอดเขี้ยวเล็บแล้วจาก พคท. ถูกวางกรอบให้พัฒนาบนฐานคิดนี้ เทคโนแครตสภาพัฒน์ที่จับเรื่องนี้ตลอด คือ ดร.สุเมธ ตันติเวชกุล ซึ่งเป็นเทคโนแครตสายวัง ดูแล กปร. มาตั้งแต่สมัยยุคพลเอกเปรม ต่อมา ดร.สุเมธ เป็นเลขาฯ สภาพัฒน์ ควบตำแหน่งเลขาธิการมูลนิธิชัยพัฒนา ยุคนั้นสภาพัฒน์แนบแน่นกับสถาบันกษัตริย์มาก เป็นสภาพัฒน์ภายใต้พระราชอำนาจนำ


เครือข่ายสถาบันฯ ได้เข้าไปมีบทบาทในการออกแบบรัฐธรรมนูญบ้างไหม เราเห็นร่องรอยอะไรบ้าง

ผมไม่ได้ศึกษาลงลึกเรื่องนี้ ที่พอนึกออกคือตอน 14 ตุลา 2516 นอกจากเราจะได้นายกฯ พระราชทาน คือสัญญา ธรรมศักดิ์แล้ว ม.ร.ว.คึกฤทธิ์ยังเข้าไปเป็นประธาน สนช. เพราะฉะนั้นรัฐธรรมนูญปี 2517 ด้านหนึ่งเกิดขึ้นในบรรยากาศที่คนเรียกร้องประชาธิปไตย ไม่เอาทหาร แต่อีกด้านหนึ่งก็เกิดขึ้นในบรรยากาศนิยมเจ้า พระราชอำนาจนำของสถาบันฯ มีสูง เกิดพิมพ์เขียวการเมืองไทยที่สภาล่างมาจากประชาชน สภาบนแต่งตั้งโดยสัญญา ซึ่งเป็นบุคคลในเครือข่ายในหลวง วุฒิสภามีไว้เพื่อกำกับไม่ให้สภาล่างเคลื่อนเร็วเกินไป

รัฐธรรมนูญปี 2517 จึงเป็นฉบับที่ผมคิดว่ามีร่องรอยอิทธิพลของวังอยู่ด้วย อย่างน้อย สนช. หลัง 14 ตุลา จำนวนหนึ่งก็เป็นคนในเครือข่ายในหลวง รวมถึงวุฒิสภาจากรัฐธรรมนูญฉบับปี 2517 แต่ท้ายสุดพิมพ์เขียวการเมืองชุดนี้ก็พัง สถาบันฯ มีแนวโน้มเดินไปสู่ฝ่ายขวา ไปสู่ 6 ตุลา



กรอบการศึกษาในงานของคุณจบลงที่ปี 2535 แต่ช่วงหลัง 2535 เป็นต้นมา มีข้อสังเกตอะไรเกี่ยวกับพลวัตของเครือข่ายสถาบันกษัตริย์และพระราชอำนาจนำบ้าง

ช่วงปี 2535 ถึง 2549 เป็นยุคที่พระราชอำนาจนำขึ้นสูงมาก อาจารย์เกษียร เตชะพีระใช้คำว่าเป็นช่วงเวลาที่เกิด ‘ฉันทมติภูมิพล’ ฉันทมตินี้เป็นกรอบกว้างๆ เป็นข้อตกลงทางสังคมการเมืองที่เกิดขึ้นร่วมกันภายใต้รัชสมัยที่แล้ว อาจเป็นฉันทมติ ‘ไม่ควบรวมอำนาจ’ ของชนชั้นนำไทยที่มีพระราชอำนาจนำเป็นหลักประกัน การอนุญาตให้รัฐประหารเพื่อแก้ไขปัญหาของกลุ่มชนชั้นนำ หรือการไม่มีฝ่ายซ้ายในระบบรัฐสภา ฯลฯ แต่โดยรวบรัดคือฉันทมติภูมิพลถูกละเมิดโดย ทักษิณ ชินวัตร ดังนั้นจึงเกิดรัฐประหาร 2549 เพื่อกำจัดทักษิณ

ที่น่าสังเกตคือหลังรัฐประหาร 2549 พระราชอำนาจนำของในหลวงรัชกาลที่ 9 เริ่มลดลง เกิดการเมืองเสื้อเหลืองเสื้อแดง ฝ่ายเสื้อแดงเกิดปรากฏการณ์ที่เรียกว่า ‘ตาสว่าง’ ราวปี 2553 ก่อนหน้านี้พวกเขาอาจจะเคยพูดประโยค “รักในหลวงห่วงทักษิณ” แต่ปรากฏการณ์ ‘ตาสว่าง’ เปลี่ยนภูมิทัศน์ความคิดของคนกลุ่มนี้ไปอย่างสิ้นเชิง สถานการณ์นี้มีส่วนทำให้พระราชอำนาจนำลดลง

ส่วนรัฐประหารปี 2557 นักวิชาการหลายคนบอกว่าเป็นการรัฐประหารเพื่อเปลี่ยนผ่านรัชกาล ชนชั้นนำยังคงคิดใช้วิธีการเดิมคือรัฐประหารเพื่อจัดระเบียบอำนาจกันใหม่ แต่ก็ชัดเจนว่ามันใช้ไม่ได้อีกต่อไปแล้ว สมัยหนึ่งรัฐประหารอาจจะเป็นฉันทมติของชนชั้นนำไทยในการแก้ไขปัญหา แต่หลังจากที่การเมืองกลายเป็นเรื่องที่มีมวลชนเข้ามาเกี่ยวข้องอย่างแท้จริงแล้ว การรัฐประหารไม่ใช่ทางออกอีกต่อไป


หลังเปลี่ยนผ่านรัชกาลแล้ว เครือข่ายสถาบันฯ มีความเปลี่ยนแปลงไปอย่างไร

ผมคิดว่าเครือข่ายเดิมของรัชสมัยที่แล้วมีบทบาทน้อยลงไปเรื่อยๆ ส่วนหนึ่งทยอยล้มหายตายจากไป ลองนึกถึงบุคคลอย่างพลเอกเปรม ติณสูลานนท์ คุณอาจจะเคยได้ยินว่าหลายปีก่อนมีเอกสารหลุดออกมาใน WikiLeaks ระบุว่าพลเอกเปรม คุยกับ พลอากาศเอกสิทธิ เศวตศิลา และอานันท์ ปันยารชุน ไปคุยกับทูตอเมริกาว่าพวกเขารู้สึกเป็นห่วงเรื่องการเปลี่ยนผ่านรัชกาล ในระยะยาวสถาบันฯ อาจจะไม่มั่นคง นี่เป็นตัวแทนความคิดของคนในเครือข่ายเก่า พลเอกเปรมหลังเสียชีวิตแล้ว บ้านสี่เสาเทเวศร์ก็ถูกทุบทิ้งไม่เหลือซาก


คุณพอมองเห็นไหมว่ารัชกาลปัจจุบันมีความเห็นต่อเครือข่ายเก่าแบบไหน

เฉพาะกลุ่มเล็กๆ อย่างตำแหน่งองคมนตรีในรัชกาลที่แล้ว ถ้าพระองค์ไม่รู้จัก ไม่อาจเรียกใช้สอยได้ ก็ทรงให้ออกหมด บุคคลอย่าง พลเอกสุรยุทธ์ จุลานนท์, พลากร สุวรรณรัฐ, คุณหมอเกษม วัฒนชัย ยังคงถวายงานรับใช้ แต่องคมนตรีในฐานะทีมที่ปรึกษาเป็นคนหน้าใหม่หมด บางคนมีความสัมพันธ์กับเครือข่ายผู้ดีเก่า ที่น่าสนใจคือ บุคคลเหล่านี้ถวายคำปรึกษาพระมหากษัตริย์มากน้อยเพียงใด ถึงได้เกิดเหตุการณ์ที่พระราชอำนาจขยายออกไปอย่างกว้างขวาง แม้กระทั่งในหมู่ชนชั้นนำไทยเองก็ดูจะเงียบเสียงกับเรื่องนี้ ราวกับฉันทมติของชนชั้นนำไทยในช่วงเปลี่ยนผ่านรัชกาลและความเปลี่ยนแปลงเรื่องพระราชอำนาจ คือความเงียบ

สิ่งที่ผมคิดว่าหายไปมากตลอดระยะเวลาที่พระราชอำนาจนำในรัชกาลที่แล้วขึ้นสู่กระแสสูง คือความกล้าหาญทางจริยธรรมของคนที่มีตำแหน่งระดับสูง ข้าราชการระดับสูง สิ่งนี้ส่งผลถึงปัจจุบัน สุดท้ายคนที่มาร้องทักเรื่องพระราชอำนาจของกษัตริย์กลับเป็นคนอย่าง อานนท์ นำภา ในม็อบแฮรี่ พอตเตอร์ เมื่อปีที่แล้ว


ตอนนี้เวลาคนมองเผินๆ อาจจะรู้สึกว่ารัฐบาลทหารทำอะไรต้องคอยฟังสถาบันฯ ตลอด จริงๆ แล้วความสัมพันธ์ทั้งสองกลุ่มเป็นอย่างไร

อย่างที่ อาจารย์สุลักษณ์ ศิวรักษ์ บอก คือรัฐบาลทำเพื่อเอาใจพระมหากษัตริย์ ถวายพระราชอำนาจต่างๆ มากมาย เพราะรัฐบาลประยุทธ์ก็ไม่มีความชอบธรรมจึงต้องอิงกับสถาบันฯ แต่ด้านหนึ่งการที่ภาพลักษณ์สถาบันฯ ไปผูกติดกับรัฐบาลประยุทธ์ สิ่งนี้ไม่เป็นผลดีกับสถาบันฯ เลย ความสัมพันธ์แบบนี้ห่างไกลจากแนวทางราชประชาสมาสัย ที่เป็นจุดยืนสำคัญของสถาบันกษัตริย์ในรัชกาลที่แล้ว ใครก็ตามที่ยังหลงใหลได้ปลื้มและคิดว่าสิ่งนี้ถูกต้องดีแล้ว น่าจะต้องคิดใหม่มากๆ


ห้วงเวลานี้ก็ยังถือได้ว่าเป็นต้นรัชกาลที่ 10 ถ้าย้อนกลับไปปี 2495 ที่คุณศึกษาช่วงต้นรัชกาลที่ 9 จากการอ่านเอกสารหลักฐานต่างๆ และเท่าที่สัมผัสด้วยตนเอง ความอลหม่าน-กังวลนั้นคล้ายคลึงหรือแตกต่างกันมากน้อยแค่ไหน

ต่างกันมาก รัชกาลที่ 10 ขึ้นครองราชย์ในวันที่ทุกอย่างพรั่งพร้อมแล้ว เพอร์เฟ็กต์แล้ว ต่างจากรัชกาลที่ 9 ที่ต้องทรงระแวดระวังตัวตลอดตอนขึ้นเป็นกษัตริย์ใหม่ๆ ช่วงนั้นพระองค์ยังหนุ่ม อยู่ภายใต้ผู้หลักผู้ใหญ่เต็มไปหมดแม้ในเครือข่ายสถาบันกษัตริย์ด้วยกันเอง แต่ตอนนี้ไม่มีใครกล้าขัด การแก้รัฐธรรมนูญให้เป็นไปตามพระราชประสงค์แม้ผ่านการลงประชามติมาแล้วยังทำได้


คุณศึกษาเครือข่ายสถาบันฯ ของในหลวงรัชกาลที่ 9 แต่ในสถานการณ์ที่ทุกอย่างเปลี่ยนแปลงไปหมด ทั้งเครือข่าย บริบทสังคมการเมือง งานของคุณยังใช้อธิบายสภาพการณ์ในปัจจุบันแง่ไหนได้บ้าง  

ถ้ามองในแง่ตัวสถาบันฯ ที่เปลี่ยนแปลงไปก็อาจจะใช้อธิบายได้น้อย แต่สิ่งที่เห็นได้ชัดโดยไม่ต้องอธิบายมากก็คือรัชกาลปัจจุบันยังไม่ทรงมีพระราชอำนาจนำ ต่างจากรัชกาลที่แล้ว

อีกอย่างคืองานของผมมีกรอบฉันทมติ ‘ไม่ควบรวมอำนาจ’ ของชนชั้นนำไทยด้วย คือถ้ามีฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งมาควบรวมอำนาจไม่แบ่งปันอำนาจก็จะถูกแอนตี้จากกลุ่มต่างๆ แม้แต่สถาบันฯ ในยุคที่มีพระราชอำนาจนำสูง พอไปก้าวก่ายเส้นแบ่งเขตอำนาจก็ถูกถอยห่าง ไม่ยอมรับได้ ฉันทมติแบบแบ่งกันกินแบ่งกันใช้นี้อาจนำมาใช้มองภาพความสัมพันธ์ของชนชั้นนำระดับมหภาคยาวๆ ได้ ตอนนี้เราอาจเห็นภาพอย่างหนึ่งโดยไม่เกี่ยวกับสถาบันฯ เช่น กลุ่ม สาม ป. เขาแบ่งขอบเขตอำนาจและไม่มีใครล้ำเส้นใคร คนหนึ่งดูงานด้านบริหาร คนหนึ่งดูการเมือง อีกคนดูมวลชนในชนบท พลเอกอนุพงษ์นั่งเป็นรัฐมนตรีมหาดไทยไม่เคยเปลี่ยนเลย แสดงว่าเขากุมอำนาจตรงนี้อยู่ ไม่ล้ำแดนไม่ควบอำนาจกัน อันนี้อาจเป็นตัวอย่างที่ยังไม่ชัด

หรือในสถานการณ์ปัจจุบัน ศูนย์บริหารสถานการณ์แพร่ระบาดของโควิด (ศบค.) ของพลเอกประยุทธ์ ควบรวมอำนาจไว้ที่ตัวเองจนเกิดความเสียหายหนัก ทำให้เริ่มเกิดความไม่พอใจและสุ้มเสียงจำนวนไม่น้อยจากแวดวงชนชั้นนำด้วยกันเอง เช่น เร็วๆ นี้ ประธานหอการค้าไทยออกมาพูดแล้วว่านโยบายรัฐบาลไม่ชัดเจน ไปล็อกดาวน์พื้นที่โรงงานอุตสาหกรรม ชลบุรี ฉะเชิงเทรา อยุธยา มีโรงงานปิดตัวมากมายในสถานการณ์ที่สายการผลิตของโลกเริ่มกลับมาและต้องการสินค้าส่งออกไทย สร้างผลกระทบเสียหายมาก เป็นตัวอย่างว่าถ้าเกิดมีใครรวมอำนาจไว้ที่ตัวคนเดียว ท้ายสุดจะมีกระแสความไม่พอใจในกลุ่มชนชั้นนำด้วยกันเอง ไม่ว่าจะในแบบของคลื่นใต้น้ำหรือส่งเสียงออกมาดังๆ ก็ตาม



คุณคิดอย่างไรกับการที่คนรุ่นใหม่ส่วนหนึ่งสรุปว่าสถาบันฯ ซึ่งมีความสัมพันธ์กับชนชั้นนำกลุ่มต่างๆ ทั้งนายทุน ทหาร เป็นต้นเหตุของปัญหาเรื่องการเมืองหรือกระทั่งสังคม

ผมคิดว่าคนรุ่นใหม่ไม่อินและกล้าตั้งคำถามกลับ ย้อนกลับไปรัชกาลที่แล้วพระมหากษัตริย์มีพระราชอำนาจนำจนกลายเป็นภาวะ The king can do something. ได้อยู่กลายๆ ในสังคมการเมืองแบบไทยๆ (ประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข) ภาวะ can do something นี้เหมือนน้ำท่วมปากที่ต่อเนื่องมาถึงยุคนี้ สาเหตุที่คนรุ่นใหม่มองว่าสถาบันฯ เป็นต้นเหตุของปัญหาต่างๆ เพราะคนรุ่นใหม่ไม่ยอมรับอะไรแบบนั้นอีกต่อไปแล้ว จะ can do something ได้อย่างไรในเมื่อขัดกับหลักการพระมหากษัตริย์ภายใต้รัฐธรรมนูญ เขาไม่ปลื้มกับอะไรเก่าๆ ไม่อินกับคำเดิมๆ เช่น พระมหากรุณาธิคุณ พระราชอำนาจนำแบบที่คนไทยในทศวรรษ 2530 – 2540 เคยอิน พวกเขาก็ไม่อิน ปัจจุบันข้อมูลข่าวสารไม่ใช่การสื่อสารทางเดียวอีกต่อไปเมื่อเจอกับกลุ่มไฮเปอร์รอยัลลิสต์ ก็ยิ่งปะทะกันเข้าไปกันใหญ่     


ชนชั้นนำไทยมองขบวนการคนรุ่นใหม่ หรือขบวนการฝั่งประชาธิปไตยขณะนี้เป็นปฏิปักษ์หรือไม่ ทำไมดูคล้ายกับว่าคนเหล่านั้นจะต่อต้านขบวนการดังกล่าวเหมือนกันหมด

เขาคงรู้สึกว่าสิ่งที่เป็นระเบียบเก่า (old order) กำลังถูกท้าทาย โลกที่เขารู้จักกำลังจะเปลี่ยนไป เอาที่เห็นได้ชัดก็คือการเกิดขึ้นของพรรคอนาคตใหม่-ก้าวไกล ถือเป็นการเกิดใหม่ของพรรคแนวคิดเอียงซ้าย ซึ่งในระบบการเมืองที่ชนชั้นนำไทยคุ้นชินไม่เคยมีพรรคฝ่ายซ้ายเลย หลัง 14 ตุลา อาจจะเคยมีพรรคฝ่ายซ้ายเกิดขึ้นในสังคมไทย แต่มันก็ดูน่ากลัวสำหรับชนชั้นนำไทย ดังนั้นหลังทศวรรษ 2520 จึงมีความพยายามเขียนรัฐธรรมนูญที่ทำให้ไม่เกิดพรรคฝ่ายซ้ายขึ้นอีกเลยในการเมืองไทย

จากช่วง 2520 – 2560 เป็นเวลากว่า 40 ปีที่ไม่เคยมีพวกความคิดฝ่ายซ้ายอยู่ในการเมืองระบบรัฐสภา จะว่าไปนี่ก็เป็นฉันทมติภูมิพลเหมือนกัน แล้วอยู่ๆ มาเกิดคนพวกนี้ขึ้นมา พวกเขาจึงรู้สึกเป็นปฏิปักษ์ ยังไม่นับว่านี่เป็นเพียงแค่การเมืองในระบบ ถ้าไปดูการเมืองวัฒนธรรมของคนรุ่นใหม่ยิ่งตอกย้ำชัดเจนว่าโลกเก่าที่พวกเขาคุ้นเคยไม่สงบสุขอีกต่อไปแล้ว


ถ้ามองต่อไปในอนาคต เราจะจัดระเบียบเครือข่ายสถาบันฯ ไม่ให้มีอำนาจล้นเกินผ่านกลไกที่เป็นทางการอย่างรัฐธรรมนูญ-กฎหมายได้ไหม

อนาคตไม่รู้เป็นอย่างไร แต่ตอนนี้คงทำได้ยากเพราะอีกฝ่ายยังไม่คุยด้วย ใช่ไหมครับ ต่อให้บอกว่าควรมีกฎหมาย แต่ตอนนี้เราเป็นประชาธิปไตยที่กษัตริย์อยู่เหนือรัฐธรรมนูญไปแล้วใช่หรือไม่ อันนี้ยืมคำ อาจารย์นิธิ เอียวศรีวงศ์ นะครับ การพยายามสู้ในระบบ การส่งเสียงร้องทักขึ้นไปยังไม่มีสัญญาณตอบรับ นี่ยังเป็นโจทย์ที่ค้างไว้และหาทางออกได้ยาก


การกลับไปเป็นเหมือนสมัยรัชกาลที่ 9 ถือว่าเป็น best choice ของสถาบันฯ และสังคมในตอนนี้ไหม

เป็นชอยส์ที่ดี การถอยกลับไปสู่ยุครัชกาลที่ 9 ถือว่าเป็นการประนีประนอม แต่การทำแบบนั้นได้ หมายถึงการยอมรับว่าสิ่งที่ทำไปแล้วมันผิด ผมไม่แน่ใจว่าจะมีใครยอมฟังไหม


หากต้องทำดุษฎีนิพนธ์อีกเรื่อง อยากทำเรื่องอะไรภายใต้สถานการณ์ที่โจทย์เรื่องสถาบันฯ เปลี่ยนไปพอสมควร

โจทย์ที่น่าสนใจเร็วๆ นี้คือเรื่องที่อาจารย์เกษียรพูดในงานดิเรก ทอล์ค ว่าสถาบันฯ ในรัชกาลที่ 10 เปรียบได้กับสมบูรณาญาสิทธิ์เสมือน แต่ภาวะนี้จะไปต่อได้อย่างไรในยุคสมัยที่คนรุ่นใหม่ไม่ยอมรับระเบียบเก่าอีกต่อไปแล้ว

สมมติฐานคร่าวๆ ของผมตอนนี้คือถ้าไม่พูดคุยก็ได้แต่รอวันพัง






งานศึกษาที่เกี่ยวข้องในบทสัมภาษณ์

เกษียร เตชะพีระ, “สาธารณรัฐจำแลงกับเสมือนสัมบูรณาญาสิทธิ์: สองแนวโน้มฝังแฝงที่ขัดแย้งกันในระบอบราชาธิปไตยภายใต้รัฐธรรมนูญไทย” ปาฐกถาดิเรก ชัยนามประจำปี พ.ศ. 2563-64 แสดง ณ คณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ท่าพระจันทร์ ในงาน Direk Talk เรื่อง “วิกฤตโลก-อาเซียน-ไทย: ความเปราะบาง ความย้อน แย้งและความเสื่อมถอย” ณ ห้อง ร. 103 คณะรัฐศาสตร์มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ท่าพระจันทร์, 23 มิถุนายน พ.ศ. 2564

ชนิดา ชิตบัณฑิตย์, โครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริ: การสถาปนาพระราชอำนาจนำในพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว (กรุงเทพฯ: มูลนิธิตำราสังคมศาสตร์และมนุษยศาสตร์, 2550).

ณัฐพล ใจจริง, ขุนศึก ศักดินา และพญาอินทรี (นนทบุรี: ฟ้าเดียวกัน, 2563).

ธงชัย วินิจจะกูล, “ข้ามให้พ้นประชาธิปไตยแบบหลัง 14 ตุลาฯ”, ฟ้าเดียวกัน 3(4) (ตุลาคม-ธันวาคม, 2548),142-164.

ธำรงศักดิ์ เพชรเลิศอนันต์, 2475 และ 1 ปีหลังการปฏิวัติ (กรุงเทพฯ : สถาบันเอเชียศึกษา จุฬาฯ : มูลนิธิโครงการตำราสังคมศาสตร์และมนุษยศาสตร์, 2543)

นิธิ เอียวศรีวงศ์, “หน้าใหม่ของประวัติศาสตร์”, ประชาไท, 29 ก.ย. 2562, https://prachatai.com/journal/2019/09/84547

เบเนดิก แอนเดอร์สัน, “บ้านเมืองของเราลงแดง: แง่มุมทางสังคมวัฒนธรรมของรัฐประหาร 6 ตุลาคม”, ในจาก 14 ถึง 6 ตุลา,  พิมพ์ครั้งที่ 4 (กรุงเทพฯ: มูลนิธิโครงการตำราสังคมศาสตร์และมนุษยศาสตร์, 2551).

ศุภมิตร ปิติพัฒน์, จุดเริ่มต้นสถาปนา “การปกครองประชาธิปไตย มีพระมหากษัตริย์เป็นประมุข” (กรุงเทพฯ: สถาบันพระปกเกล้า, 2563).

สมศักดิ์ เจียมธีรสกุล, “หลัง 14 ตุลา”, ฟ้าเดียวกัน 3(4) (ตุลาคม-ธันวาคม, 2548), 168-171.

สายชล สัตยานุรักษ์, คึกฤทธิ์กับประดิษฐกรรมความเป็นไทย เล่ม 2 ยุคจอมพลสฤษดิ์ถึงทศวรรษ 2530 (กรุงเทพฯ: มติชน, 2550)

Duncan McCargo, “Network monarchy and legitimacy crises in Thailand”, The Pacific Review, 18: 4 (December 2005), 499 — 519.

MOST READ

Spotlights

14 Aug 2018

เปิดตา ‘ตีหม้อ’ – สำรวจตลาดโสเภณีคลองหลอด

ปาณิส โพธิ์ศรีวังชัย พาไปสำรวจ ‘คลองหลอด’ แหล่งค้าประเวณีใจกลางย่านเมืองเก่า เปิดปูมหลังชีวิตหญิงค้าบริการ พร้อมตีแผ่แง่มุมเทาๆ ของอาชีพนี้ที่ถูกซุกไว้ใต้พรมมาเนิ่นนาน

ปาณิส โพธิ์ศรีวังชัย

14 Aug 2018

Thai Politics

3 May 2023

แดง เหลือง ส้ม ฟ้า ชมพู: ว่าด้วยสีในงานออกแบบของพรรคการเมืองไทย  

คอลัมน์ ‘สารกันเบื่อ’ เดือนนี้ เอกศาสตร์ สรรพช่าง เขียนถึง การหยิบ ‘สี’ เข้ามาใช้สื่อสาร (หรืออาจจะไม่สื่อสาร?) ของพรรคการเมืองต่างๆ ในสนามการเมือง

เอกศาสตร์ สรรพช่าง

3 May 2023

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • Always Active

Save