fbpx
พัฒนาการศึกษาให้ดีขึ้นได้ แค่ทำความเข้าใจ ‘สมอง’ กับ Nandini Chatterjee Singh

พัฒนาการศึกษาให้ดีขึ้นได้ แค่ทำความเข้าใจ ‘สมอง’ กับ Nandini Chatterjee Singh

ระบบการศึกษาทั่วโลกล้วนมีโจทย์ใหญ่คือจะทำอย่างไรให้เด็กนักเรียนมีศักยภาพการเรียนรู้ที่ดีขึ้น หลายประเทศต่างศึกษาทดลองหาวิธีการที่แตกต่างกันไป แต่ส่วนมากมักมองข้ามที่จะทำความเข้าใจไปถึงต้นตอแห่งการเรียนรู้ของมนุษย์ นั่นคือ ‘สมอง’

ประสิทธิภาพในการเรียนรู้ของคน ไม่ว่าจะเป็นทั้งทางด้านวิชาการและด้านอารมณ์ ล้วนมีรากฐานสำคัญมาจากการทำงานของสมอง การเข้าใจระบบกลไกการทำงานสมองจึงนับว่าเป็นกระดุมเม็ดแรกที่จะทำให้การพัฒนาการศึกษาของเด็กเดินไปถูกทาง และอาจเรียกได้ว่า นี่จะเป็น ‘ตัวเปลี่ยนเกม’ (game changer) ของระบบการศึกษาทั่วโลกเลยทีเดียว   

การศึกษาด้านประสาทวิทยาศาสตร์ (neuroscience) เพื่อนำไปประยุกต์ใช้กับแวดวงการศึกษา จึงกำลังเริ่มได้รับความสนใจ โดยหนึ่งในบุคคลที่กำลังเดินหน้าศึกษาและผลักดันในเรื่องนี้คือ ดร.นันทินี แชตเตอร์จี ซิงห์ (Dr. Nandini Chatterjee Singh) นักประสาทวิทยาศาสตร์ด้านการเรียนรู้ สถาบันการศึกษาเพื่อสันติภาพและการพัฒนาอย่างยั่งยืนมหาตมะคานธี (Mahatma Gandhi Institute of Education for Peace and Sustainable Development – MGIEP) ภายใต้องค์การยูเนสโก (UNESCO) กรุงนิวเดลี ประเทศอินเดีย

ดร.นันทินีศึกษาวิจัยระบบการทำงานของสมองมนุษย์มายาวนาน เธอถือเป็นผู้ก่อตั้งห้องทดลองการเรียนรู้และถ่ายภาพสมองแห่งแรกในประเทศอินเดีย โดยมุ่งเน้นทดลองถ่ายภาพสมองเพื่อศึกษาพฤติกรรมและการทำงานของสมอง เธอยังนำผลงานศึกษาวิจัยไปใช้ประโยชน์ในแวดวงการศึกษาหลายอย่าง เช่นการพัฒนาเครื่องมือประเมินภาวะบกพร่องทางการอ่านเขียนภาษาถิ่นต่างๆ ของอินเดีย รวมทั้งยังบุกเบิกการสร้างหลักสูตรการพัฒนาการเรียนรู้ทางอารมณ์และสังคมรูปแบบใหม่สำหรับวัยรุ่นให้กับสถาบัน MGIEP อีกด้วย

101 สนทนากับ ดร.นันทินี แชตเตอร์จี ซิงห์ ทำความเข้าใจเบื้องต้นเกี่ยวกับระบบการทำงานของสมองที่เกี่ยวเนื่องกับการเรียนรู้ของเด็กทั้งในด้านวิชาการ รวมทั้งด้านอารมณ์และสังคม พร้อมคุยถึงแนวทางการนำ neuroscience ไปประยุกต์ใช้เพื่อพัฒนาระบบการศึกษาให้ตอบโจทย์การเรียนรู้ของเด็กมากขึ้น

ดร.นันทินี แชตเตอร์จี ซิงห์
ภาพจาก Facebook : UNESCO MGIEP

อะไรที่ทำให้คุณสนใจศึกษาเรื่องการประยุกต์ใช้ neuroscience ในการศึกษาของเด็ก และความรู้ความเข้าใจใน neuroscience มีความสำคัญอย่างไร

ง่ายๆ เลย เราทุกคนรู้ดีอยู่แล้วว่าการเรียนรู้ทุกอย่างเกิดขึ้นจาก ‘สมอง’ ของเรา การจะพัฒนาประสิทธิภาพในการเรียนรู้ของเด็กก็ต้องเริ่มจากการทำความเข้าใจก่อนว่าการเรียนรู้ของคนเกิดขึ้นได้อย่างไร ซึ่งก็เลี่ยงไม่ได้ที่จะต้องย้อนไปทำความเข้าใจว่าสมองของคนเราทำงานอย่างไร เราทำการศึกษาในเรื่องนี้ได้หลายแบบ อย่างเช่น การสังเกตว่าเมื่อคนเรากำลังทำพฤติกรรมอะไรบางอย่าง เช่น การอ่านหรือการเขียน แต่ละส่วนประกอบของสมองจะมีปฏิสัมพันธ์กันอย่างไร และปฏิสัมพันธ์ดังกล่าวส่งผลให้คนมีพฤติกรรมอย่างไร

ในสมัยก่อน เวลาเราศึกษาเรื่องการเรียนรู้ของคน เรามักละเลยที่จะทำความเข้าใจเกี่ยวกับสมอง แล้วไปสังเกตแต่เพียงปัจจัยที่เป็นพฤติกรรมของคนเพียงอย่างเดียว เช่นไปตั้งโจทย์ว่าทำไมคนที่นอนหลับไม่เพียงพอหรือไม่กินอาหารที่มีประโยชน์ ถึงได้มีประสิทธิภาพการเรียนที่ไม่ดี แต่แทนที่จะไปศึกษาอย่างนั้น ฉันว่าเราควรปรับเปลี่ยนไปตั้งโจทย์อีกมุมหนึ่งว่า การนอนหลับและการกินอาหารส่งผลต่อการทำงานของสมองอย่างไร จากนั้นการทำงานของสมองไปส่งผลต่อพฤติกรรมการเรียนรู้อย่างไร ตรงนี้จะช่วยตอบโจทย์มากขึ้นว่าเราจะพัฒนาการศึกษาอย่างไร

แล้วเราจะนำ neuroscience มาประยุกต์ใช้กับการศึกษาได้อย่างไรบ้าง  

ขอยกตัวอย่างเรื่องการอ่าน ปกติแล้ว สมองของเรามีส่วนหนึ่งที่ชื่อว่า Broca’s Area ซึ่งอยู่บริเวณด้านหน้าของสมองซีกซ้าย ทำหน้าที่ควบคุมเรื่องการพูด เมื่อเราเข้าไปพูดกับเด็กๆ ในภาษาต่างๆ พวกเขาก็จะจดจำและเรียนรู้ที่จะพูดตามได้ แต่สำหรับการอ่าน สมองของเราไม่ได้มีส่วนไหนที่ทำหน้าที่นี้โดยเฉพาะ แต่ต้องอาศัยการทำงานของหลายส่วนในสมองเข้าด้วยกัน

ในการฝึกให้เด็กอ่าน สิ่งที่เราควรทำคือแยกเสียงในคำศัพท์ โดยชี้ให้เห็นว่าแต่ละตัวอักษรของคำนั้นเป็นเสียงอะไร สมองของเด็กจะเชื่อมโยงได้ว่าตัวอักษรหรือสัญลักษณ์แต่ละตัวคือเสียงแบบนี้ ยกตัวอย่างชื่อของคุณ ‘Ben’ เราก็ต้องแยกให้เห็นว่า Be คือเสียง ‘เบะ’ และ N คือเสียง ‘เน่อะ’ แล้วเมื่อสัญลักษณ์นี้รวมกันก็จะอ่านออกเสียงว่า ‘เบน’ นี่คือกระบวนการอ่านคำศัพท์ที่เกิดขึ้นในสมองของเด็ก แล้วจากนั้นเมื่อเด็กรู้จักคำว่า ‘เบน’ สมองของเด็กก็จะเชื่อมโยงต่อไปอีกว่าเบนคือคนที่มีหน้าตาแบบนี้ เด็กก็จะรู้ว่าคำๆ นี้ที่เขาเห็นหมายถึงอะไร

เมื่อก่อน เวลาเราสอนเด็กอ่านคำศัพท์ เราจะชอบสอนกันเป็นคำๆ เช่นให้เด็กอ่านคำว่า ‘and’ (แอนด์) ทั้งคำไปเลย ซึ่งทำให้เด็กเรียนรู้ยาก แต่พอเราเข้าใจแล้วว่าสมองทำงานแบบนี้ เราก็รู้ว่าเวลาเราสอนให้เด็กอ่านศัพท์ เราต้องใช้วิธีแยกคำแยกเสียงให้เด็กเห็นทีละส่วน หรือที่เราเรียกว่า ‘กฎการแยกคำ’ (Rule of Decoding) ก็จะทำให้เด็กอ่านได้มีประสิทธิภาพมากขึ้น

สิ่งที่ฉันได้เรียนรู้อีกอย่างหนึ่งคือสมองของคนเราก็เหมือนกับกล้ามเนื้อ เมื่อเราไปออกกำลังกาย กล้ามเนื้อเราก็จะพัฒนาเติบโตขึ้น สมองก็เช่นกัน ถ้าเราฝึกสมองด้วยการเรียนเขียนอ่านเป็นประจำ สมองเราก็จะพัฒนาขึ้น ส่วนคนที่ไม่ค่อยได้ฝึกก็จะมีการทำงานของสมองที่ช้ากว่าคนอื่นๆ เพราะฉะนั้น การที่เด็กจะเรียนรู้อย่างมีประสิทธิภาพคือการที่พวกเขาต้องได้รับการฝึกฝนเป็นประจำ ไม่ว่าจะเป็นการเขียนหรือการอ่าน

นอกจากการพัฒนาทักษะในด้านการอ่าน เราสามารถใช้ neuroscience ในมิติไหนของการศึกษาของเด็กได้อีกบ้าง

เรื่องแรกคือการพัฒนา ‘การเรียนรู้ของเด็กในด้านอารมณ์และสังคม’ (Social Emotional Learning – SEL) สมองของคนเรามีหลายส่วนที่ทำหน้าที่เกี่ยวกับการเรียนรู้ทางด้านสังคม เพราะมนุษย์เราเป็นสัตว์สังคม สมองเราไม่ได้ถูกออกแบบมาให้เราใช้ชีวิตอยู่ได้ตามลำพัง อย่างตอนนี้ที่มีการล็อกดาวน์เพราะโควิดระบาด ผู้คนก็รู้สึกเศร้าใจที่ไม่ได้เจอหน้ากันเหมือนแต่ก่อน และอารมณ์ของผู้คนก็ย่อมเชื่อมถึงกัน อย่างเวลาเราเห็นคนอื่นยิ้ม เซลล์สมองของเราก็จะสั่งการให้เรามีความสุขและยิ้มตามไปด้วย ซึ่งเซลล์สมองที่ว่านั้นคือส่วนของ ‘เซลล์กระจกเงา’ (Mirror Neurons) ที่ทำให้คนเราเกิดความรู้สึกร่วมกับผู้อื่น (empathy)

ตรงนี้ทำให้เราเรียนรู้ว่า ในการเรียนของเด็ก ถ้าเด็กไม่ได้รู้สึกมีปฏิสัมพันธ์เชิงสังคมที่ดีในห้องเรียนหรือไม่ได้รู้สึกได้รับรางวัลบางอย่างในการเรียน พวกเขาก็จะเรียนรู้ไม่ได้ เพราะฉะนั้นตัวคุณครูเองจึงเป็นปัจจัยสำคัญที่จะต้องสร้างบรรยากาศเหล่านี้ให้เด็ก โดยคนที่เป็นครูจำเป็นต้องมีความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับสมองในส่วนการเรียนรู้ทางด้านอารมณ์และสังคม เช่นรู้ว่าถ้าเด็กอารมณ์ไม่ดี เด็กก็จะเรียนรู้ไม่ได้ เพราะสมองยังเต็มไปด้วยความโกรธ เพราะฉะนั้นคุณครูก็ต้องพยายามใช้ความใจดีมากขึ้นในตอนนั้น เพื่อให้อารมณ์ของเด็กดีขึ้นแล้วกลับมาเรียนรู้ได้

ดร.นันทินี แชตเตอร์จี ซิงห์
ภาพจาก Facebook : UNESCO MGIEP

ประเด็นต่อมาคือเรื่อง ‘การเล่นเกม’ ปกติผู้ปกครองจะชอบกังวลเรื่องที่ลูกหลานตัวเองชอบเล่นเกม และพยายามจะเอาเด็กออกห่างจากเกมเพื่อจะให้โฟกัสอยู่กับการเรียน แต่สิ่งที่ผู้ปกครองมักไม่ได้ตระหนักคือ การเล่นเกมนี่แหละที่จะทำให้เด็กเรียนรู้ได้ดีเยี่ยม เพราะเกมทำให้พวกเขาได้ใช้ปฏิสัมพันธ์ด้านต่างๆ ระหว่างการเรียน ช่วยกระตุ้นให้พวกเขาเกิดความรู้สึกอยากรู้ อยากเห็น อยากลอง ทำให้จดจำสิ่งต่างๆ ได้ง่ายขึ้น และสมองยังเกิดความรู้สึกของการได้รับรางวัล ทำให้เมื่อเด็กเล่นเกมแล้ว มักจะอยากกลับไปเล่นอีก เพราะฉะนั้นถ้าเราเอาเกมมาประยุกต์ใช้กับการเรียนของเด็กได้ หรือทำบรรยากาศการเรียนให้เป็น ‘การเรียนการสอนแบบมีปฏิสัมพันธ์’ (interactive learning) เด็กก็จะสนุกและมีแรงบันดาลใจในการเรียนรู้มากขึ้น กลับกันถ้าครูเอาแต่ยืนพูดหรือท่องหนังสือให้ฟัง เด็กจะไม่มีความสุขกับการเรียน

อีกประเด็นหนึ่งที่ฉันมองว่าสำคัญก็คือ ‘การเจริญสติ’ (mindfulness) เพราะสิ่งสำคัญในการเรียนรู้ของเด็กคือการที่เด็กมีสติจดจ่ออยู่กับการเรียน ไม่ว่อกแว่ก เพราะฉะนั้นจึงเป็นเรื่องสำคัญมากที่ครูจะต้องทำกิจกรรมบางอย่างในห้องเรียนเพื่อให้เด็กมีสติ ฉันมักจะแนะนำให้ทำในช่วงต้นของคลาสเรียนโดยไม่ต้องใช้เวลานานมาก อาจจะแค่ 1 นาทีเท่านั้น เช่นการให้เด็กฝึกกำหนดลมหายใจ การให้ฟังดนตรี หรือให้วาดภาพระบายสี สิ่งเหล่านี้จะช่วยดึงสติเด็กให้มาจดจ่ออยู่ในห้องเรียนได้ และทำให้พวกเขาเรียนรู้ได้ดีขึ้น   

ตอนนี้คนกำลังให้ความสนใจกับเรื่องสุขภาพจิตของเด็กกันมากขึ้น โดยเฉพาะในช่วงเวลานี้ที่เด็กต้องเรียนหนังสือออนไลน์ท่ามกลางสถานการณ์โควิด-19 ถ้าเราอยากจะดูแลสุขภาพจิตของเด็กๆ เราจะใช้ neuroscience เข้ามาช่วยได้อย่างไร

การพัฒนาสุขภาพจิตของเด็กๆ ก็ทำได้ด้วย Social Emotional Learning (SEL) นี่แหละ ก่อนอื่นต้องอธิบายให้ฟังก่อนว่า ปัญหาสุขภาพจิตที่เราเผชิญกันทุกวันนี้ ส่วนมากมีสาเหตุมาจากความกังวล ความเครียด ความหดหู่ซึมเศร้า และความเหงา นอกจากนี้ยังมีปัญหาเกี่ยวกับโรคออทิสติกและความบกพร่องทางการเรียนรู้

สมองของคนเรามีเส้นต่างๆ ที่เชื่อมโยงแต่ละส่วนถึงกัน ยกตัวอย่าง พอเวลาเรารู้สึกเครียด สมองในส่วนที่ชื่อว่า Amygdala ซึ่งมีหน้าที่จดจำและควบคุมอารมณ์ความรู้สึกในแง่ลบ ก็จะทำงานขึ้นมา ส่งผลให้เราเกิดความวิตกกังวลและมีสุขภาพจิตย่ำแย่ แต่กลับกัน ถ้าเรามีสติรู้ตัวเราเอง (self-awareness) เช่นรู้ว่าตอนนี้เรากำลังรู้สึกเครียด เราก็จะสามารถแก้ปัญหาด้วยตัวเองได้ เช่นรีบเปลี่ยนไปทำกิจกรรมอื่นๆ คลายเครียด อย่างการฟังเพลงหรือเดินเล่น เพราะฉะนั้นการมีสติรู้ตัวเรานี่เองที่ทำให้เราสามารถดูแลเยียวยาสุขภาพจิตตัวเองได้ดี แถมยังอาจช่วยเยียวยาสุขภาพจิตให้คนอื่นรอบข้างได้ด้วย เพราะ SEL ยังสอนให้มีความเข้าอกเข้าใจความรู้สึกผู้อื่น (empathy)

คุณเคยทดลองนำ neuroscience ไปใช้กับการศึกษาของเด็กบ้างหรือเปล่า แล้วผลลัพธ์ออกมาเป็นอย่างไร เด็กสามารถเรียนรู้ได้ดีขึ้นจริงหรือไม่

เคยค่ะ ฉันได้ร่วมจัดทำหลักสูตรเกี่ยวกับ SEL อยู่หลายหลักสูตร และได้พัฒนาเป็นแพลตฟอร์มการเรียนรู้ขึ้นมาทางออนไลน์ผ่านทาง Mahatma Gandhi Institute of Education for Peace and Sustainable Development (MGIEP) เรามีทั้งหลักสูตรสำหรับครู เพื่อสร้างความรู้ความเข้าใจในทักษะทางอารมณ์และสังคม ก่อนที่จะนำไปใช้ในการสอน และนอกจากนี้ เรายังมีคอร์สพัฒนาทักษะดังกล่าวสำหรับเด็กวัยรุ่นด้วย โดยมีการสอนหลายรูปแบบ เช่นผ่านการเล่นเกม และอีกหลายๆ วิธี

หลักสูตรของเราให้ความสำคัญกับการพัฒนาทักษะอยู่ 4 ส่วน ซึ่งฉันเรียกว่า ‘EMC2‘ โดย E คือ ‘Empathy’ ตัว M คือ ‘Mindfulness’ ฉันได้อธิบายสองตัวนี้ไปแล้ว ส่วน C อีกสองตัวก็คือ ‘Compassion’ หมายถึงความรู้สึกเห็นอกเห็นใจผู้อื่น ซึ่งจะทำให้เราช่วยเหลือผู้อื่น อยากเห็นผู้อื่นมีความสุข ทำให้เรามีความสุขตามไปด้วย เพราะสมองเราเหมือนได้รับรางวัล และ C อีกตัว ‘Critical Enquiry’ หมายถึงความสามารถในการวิพากษ์และตั้งคำถาม คือพยายามค้นคว้าหาข้อเท็จจริง ไม่เชื่ออะไรง่ายๆ ไม่หยุดตั้งคำถามกับสิ่งต่างๆ และทำทุกอย่างโดยใช้เหตุผล ทำให้เรามีความสามารถในการตัดสินใจทำอะไรต่างๆ ได้ดีขึ้น รวมทั้งยังเรียนรู้ได้ดีขึ้น

หลังจากลองนำหลักสูตรนี้ไปใช้กับเด็กๆ ก็พบว่าเด็กๆ มีทักษะทางอารมณ์และสังคมดีขึ้นกว่าเดิม พฤติกรรมที่แสดงออกมาดีขึ้น มีสุขภาพจิตที่ดีขึ้น ส่งผลให้เด็กๆ มีศักยภาพการเรียนที่ดีขึ้นด้วย

ดร.นันทินี แชตเตอร์จี ซิงห์
ภาพจาก Facebook : UNESCO MGIEP

การนำ neuroscience มาใช้กับการศึกษานับว่ามีประโยชน์มาก แต่อาจจะยังเป็นเรื่องที่ดูใหม่ คุณคิดว่าจะทำอย่างไรให้มันแพร่หลายมากขึ้น

ฉันพยายามคิดเรื่องนี้มาตลอด ฉันมองว่าการจะผลักดันเรื่องนี้ได้ดีที่สุดคือทำให้มันเป็นรูปธรรม นำไปใช้จริงได้ โดยอาจจะต้องเริ่มจากการที่ neuroscience ถูกนำเข้าไปใช้ในโปรแกรมการพัฒนาครูก่อนเป็นอันดับแรก จากนั้นก็ต้องผลักดันให้ระบบการศึกษานำเรื่อง SEL เข้าไปเป็นส่วนหนึ่ง อาจจะมีการประเมินผู้เรียนว่ามีพัฒนาการของทักษะทางอารมณ์และสังคมเป็นอย่างไรบ้าง นอกเหนือไปจากการประเมินความสามารถทางวิชาการ

และความจริงเรื่องนี้ก็ไม่ใช่แค่คุณครูที่เรียนรู้ได้ แต่ยังรวมถึงบรรดาผู้ปกครองของเด็กๆ ด้วย เพราะพวกเขาคือคนที่ใช้เวลาอยู่กับเด็กๆ มาก เราอาจจะส่งเสริมให้คนเป็นพ่อเป็นแม่ได้เข้าคอร์สอบรมเกี่ยวกับทักษะทางอารมณ์และสังคม หรืออาจแจกหนังสือคู่มือในเรื่องนี้ให้กับพวกเขา ถ้าพ่อแม่มีความเข้าใจเรื่องนี้ ก็จะส่งผลดีต่อลูก อย่างเช่นเวลาลูกกลับจากโรงเรียนมาถึงบ้าน แทนที่ผู้ปกครองจะถามเขาว่าสอบได้กี่คะแนน ก็ควรจะถามว่าวันนี้ได้ช่วยเหลือผู้อื่นอย่างไรบ้างดีกว่า

นอกจากพ่อแม่และคุณครูแล้ว คนที่เป็นผู้นำก็ต้องเรียนรู้เรื่องพวกนี้ด้วยเหมือนกัน ไม่ว่าจะเป็นผู้นำอะไรก็แล้วแต่ ก็ถือว่ามีความสำคัญมากต่อสังคม เพราะเป็นคนที่เป็นแบบอย่างให้กับคนอื่นๆ ถ้าผู้นำทำตัวดีและมีความเห็นอกเห็นใจคนอื่น ผู้คนก็จะเรียนรู้และทำตาม

แปลได้ว่าทุกคนสามารถเรียนรู้เรื่องนี้ได้ ไม่ว่าจะเป็นใครก็ตาม แล้วถ้ามีคนสนใจจะเรียนรู้เรื่องนี้ เขาควรจะเริ่มจากตรงไหน

มีหลายแหล่งที่เราสามารถไปเรียนรู้ได้ อย่างเช่นหนังสือ ฉันมีหนังสือบางเล่มมาแนะนำสำหรับคนที่สนใจจะศึกษาเรื่อง neuroscience เล่มแรกคือ ‘Phantoms in the Brain: Probing the Mysteries of the Human Mind’ ของ V.S. Ramachandran เล่มต่อมาคือ ‘Emotional Intelligence’ ของ Daniel Goleman และอีกเล่มที่น่าสนใจคือ ‘Reading in the Brain: The New Science of How We Read’ ของ Stanislas Dehaene

นอกจากหนังสือแล้ว อีกสิ่งที่ฉันอยากแนะนำก็คือการฟังดนตรี เพราะดนตรีถือเป็นตัวกระตุ้นการทำงานของระบบสมอง ช่วยให้เราพัฒนาทักษะการฟังและทักษะการจดจำ ซึ่งจะทำให้เรียนรู้ด้านภาษาและการอ่านได้ดีขึ้น

งาน Workshop สร้างความเข้าใจเกี่ยวกับการพัฒนาทักษะทางอารมณ์และสังคมให้กับคุณครู
ภาพจาก Facebook : UNESCO MGIEP

แล้วถ้าแวดวงการศึกษาอยากจะนำ neuroscience ไปใช้ในโรงเรียน มีอะไรที่พวกเขาต้องคิดคำนึงบ้าง

หลักๆ คือพวกเขาต้องดูผลการศึกษาที่มีหลักฐานประจักษ์ชัดแจ้งจริง มีการทดลองที่เป็นขั้นเป็นตอนถูกต้อง มีผลลัพธ์ที่สมเหตุสมผลและไปในทางเดียวกัน ไม่ใช้แค่ความคิดเห็นส่วนบุคคล คุณต้องไม่เลือกใช้นโยบายอะไรเพียงแค่ใช้ความคิดเห็นส่วนตัวว่ามันถูกต้อง โดยไม่อ้างอิงข้อมูลหลักฐาน

เราจำเป็นต้องมีผู้เชี่ยวชาญด้าน neuroscience อยู่ในโรงเรียนเลยไหม

ฉันว่าไม่จำเป็น แค่คุณศึกษาและยึดตามผลการศึกษาที่แข็งแรงพอ เท่านี้ก็ดีแล้ว แต่ถ้ามี ก็จะดียิ่งขึ้นไปอีก เพราะถ้าบรรดาผู้เชี่ยวชาญด้าน neuroscience ได้ทำงานร่วมกับคุณครูจริง โดยให้คุณครูลองนำโมเดลต่างๆ ไปทดลองใช้ในห้องเรียน และให้ผู้เชี่ยวชาญสังเกตวิเคราะห์ผลลัพธ์ที่ได้ แบบนี้จะทำให้เรามีผลลัพธ์เชิงประจักษ์ที่แข็งแกร่งขึ้น เป็นประโยชน์ต่อการพัฒนาการศึกษา

สุดท้ายนี้ คุณมองว่า neuroscience จะเป็นประโยชน์ต่อแวดวงการศึกษาอย่างไร  

คุณครูถือว่าเป็นผู้มีความสำคัญมากต่อการเรียนรู้ของเด็กๆ ทั้งชั้นเรียน ถ้าครูมีความเข้าใจในเรื่องการทำงานของสมอง คุณครูก็จะเรียนรู้ว่าพวกเขาควรสอนอย่างไรให้เด็กมีผลสัมฤทธิ์ที่ดีขึ้น และในภาพใหญ่ มันก็อาจช่วยให้อัตราการรู้หนังสือของเด็กทั่วโลกสูงขึ้นได้ด้วย

ความเข้าใจในเรื่อง neuroscience นี่แหละจะเป็น game changer ที่สำคัญของแวดวงการศึกษา


ผลงานชิ้นนี้เป็นส่วนหนึ่งของความร่วมมือระหว่าง กองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา (กสศ.) และ The101.world

MOST READ

Social Issues

27 Aug 2018

เส้นทางที่เลือกไม่ได้ ของ ‘ผู้ชายขายตัว’

วรุตม์ พงศ์พิพัฒน์ พาไปสำรวจโลกของ ‘ผู้ชายขายบริการ’ ในย่านสีลมและพื้นที่ใกล้เคียง เปิดปูมหลังชีวิตของพนักงานบริการในร้านนวด ร้านคาราโอเกะ ไปจนถึงบาร์อะโกโก้ พร้อมตีแผ่แง่มุมลับๆ ที่ยากจะเข้าถึง

กองบรรณาธิการ

27 Aug 2018

Interviews

3 Sep 2018

ปรากฏการณ์จีนบุกไทย – ไชน่าทาวน์ใหม่ในกรุงเทพฯ

คุยกับ ดร.ชาดา เตรียมวิทยา ว่าด้วยปรากฏการณ์ ‘จีนใหม่บุกไทย’ ซึ่งไม่ใช่แค่เรื่องการท่องเที่ยว แต่คือการเข้ามาลงหลักปักฐานระยะยาว พร้อมหาลู่ทางในการลงทุนด้านต่างๆ จากทรัพยากรของไทย

ปาณิส โพธิ์ศรีวังชัย

3 Sep 2018

Social Issues

21 Nov 2018

เมื่อโรคซึมเศร้าทำให้อยากจากไป

เรื่องราวการรับมือกับความคิด ‘อยากตาย’ ผ่านประสบการณ์ของผู้ป่วยโรคซึมเศร้า คนเคียงข้าง และบทความจากจิตแพทย์

ศุภาวรรณ คงสุวรรณ์

21 Nov 2018

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • Always Active

Save