fbpx

โรงเรียนที่ถูกลืม: สถาบันการศึกษา อัตลักษณ์ และเรื่องเล่า

ในช่วงสถานการณ์โควิด-19 ผู้เขียนมีโอกาสเข้าฟังงานเสวนาออนไลน์เกี่ยวกับปัญหาการศึกษาในช่วงโควิด และได้ทราบจาก อรรถพล อนันตวรสกุล วิทยากรจากคณะครุศาสตร์ จุฬาฯ ว่า ‘โรงเรียนวัดหัวลำโพง’ เป็นหนึ่งในโรงเรียนบริเวณชุมชนรอบจุฬาฯ ที่กำลังถูกปัญหารุมเร้าอย่างหนักในหลายด้าน

อรรถพลเล่าว่า เมื่อก่อนโรงเรียนนี้จะตั้งข้าวต้มหม้อใหญ่หนึ่งหม้อให้นักเรียนกินเป็นอาหารเช้า เพราะครอบครัวของนักเรียนหลายคนไม่ได้มีฐานะทางการเงินดี ครอบครัวจึงต้องอาศัยให้ลูกมาฝากท้องกับโรงเรียน แต่ในช่วงโควิดระลอกนี้โรงเรียนจำเป็นต้องตั้งหม้อข้าวต้มสองใบใหญ่เพราะเด็กกินจุมากขึ้น เนื่องจากบางคนกลับบ้านแล้วที่บ้านไม่มีอาหารให้กินเพิ่มเพราะพ่อแม่กำลังตกงานอยู่ ดังนั้นจึงต้องอาศัยกินข้าวที่โรงเรียนให้เยอะๆ

ต่อมาผู้เขียนบังเอิญพบวิทยานิพนธ์น่าสนใจเกี่ยวกับหม่อมหลวงปิ่น มาลากุล คือ ชนชั้นนำไทยกับการจัดการการศึกษาไทย: หม่อมหลวงปิ่น มาลากุล กับโครงการด้านการศึกษา พ.ศ. 2490 – 2512 โดย ภานุพงศ์ สิทธิสาร มีเนื้อหาเกี่ยวกับบทบาทของหม่อมหลวงปิ่น มาลากุลในการประกอบสร้างเรื่องเล่าแบบราชาชาตินิยมในกระทรวงศึกษาธิการผ่านเครือข่ายของท่าน นอกจากได้เห็นความเป็นราชาชาตินิยมซึ่งถูกปลูกฝังในการศึกษาไทยมายาวนานแล้ว ในวิทยานิพนธ์ดังกล่าวยังมีประโยคสั้นๆ ประโยคหนึ่งเล่าถึงที่มาของโรงเรียนหอวังซึ่งหม่อมหลวงปิ่นมีบทบาทสำคัญในการก่อตั้งก่อนที่จะมาเป็นโรงเรียนเตรียมอุดมศึกษา โดยมีวงเล็บต่อท้ายว่า “ครั้งหนึ่งโรงเรียนหอวังเคยเป็นโรงเรียนวัดหัวลำโพงประถม” ประโยคดังกล่าวสร้างความประหลาดใจให้แก่ผู้เขียนเป็นอย่างมาก เนื่องจากเป็นข้อมูลที่ผู้เขียนไม่เคยทราบมาก่อน ความประหลาดใจนี้จุดประกายให้ผู้เขียนค้นคว้าเพิ่มเติม แต่กลับพบข้อมูลเพียงเล็กน้อยเท่านั้น

ภาพของโรงเรียนวัดหัวลำโพงประถมซึ่งได้จากการค้นคว้ายังคงเลือนรางเมื่อเทียบกับโรงเรียนขนาดใหญ่อย่างโรงเรียนเตรียมอุดมศึกษา โรงเรียนหอวัง และอื่นๆ ผู้เขียนจึงเกิดคำถามขึ้นมาว่า เพราะเหตุใดเรื่องเล่าของโรงเรียนวัดหัวลำโพงจึงไม่ถูกพูดถึงในฐานะต้นกำเนิดของโรงเรียนที่มีชื่อเสียงทั้งสองโรงเรียน

ที่มาภาพ

การสร้างอัตลักษณ์ผ่านเรื่องเล่า

เพื่อให้เข้าใจเหตุผลที่เรื่องเล่าโรงเรียนวัดหัวลำโพงไม่ถูกรวมในอัตลักษณ์ของทั้งสองโรงเรียน ผู้อ่านควรเข้าใจกระบวนการสร้างอัตลักษณ์ผ่านเรื่องเล่าเสียก่อน อัตลักษณ์ (identity) และเรื่องเล่า (narrative) เป็นสองสิ่งที่ไม่อาจแยกพิจารณาได้ อัตลักษณ์หมายถึงลักษณะซึ่งถูกใช้เพื่อนิยามตัวตนของคน สัตว์ สิ่งของ องค์กร หรือสถานที่ อัตลักษณ์จะกำหนดบทบาทและท่าทีของเจ้าของอัตลักษณ์ในสังคม รวมถึงกำหนดบทบาทและท่าทีของสังคมต่อเจ้าของอัตลักษณ์นั้น อัตลักษณ์ไม่ใช่คุณสมบัติตายตัวซึ่งถูกกำหนดมาแต่แรก หากแต่ถูกประกอบสร้างขึ้นผ่านการถักทอขับเน้นเรื่องเล่ามากมายด้วยน้ำหนักที่แตกต่างกัน บางเรื่องเล่าถูกเน้นให้เด่นชัดขึ้น ขณะที่เรื่องราวอื่นถูกปล่อยให้พร่าเลือนรอวันหายไปตามกาลเวลา

เรื่องกระบวนการสร้างอัตลักษณ์ผ่านการขับเน้นเรื่องเล่านี้ตรงกับทัศนะของ Jacques Derrida (นักปรัชญา) และ Michel Foucault (นักปรัชญา) ที่ว่าประวัติศาสตร์เป็นการก่อร่างสัมพันธบททางความเป็นจริงที่เหตุการณ์เฉพาะเหตุการณ์หนึ่งถูกเน้น ขณะที่เหตุการณ์อื่นๆ ถูกซ่อนหรือปิดบัง นอกจากนี้อัตลักษณ์ยังสามารถถูกเปลี่ยนแปลงได้ตามกรอบของสังคมที่เปลี่ยนไป กรอบสังคมในแต่ละยุคสมัยนี้คือสิ่งที่ Charles Taylor (นักปรัชญา) เรียกว่า social imaginary[1] เพื่อให้เห็นภาพมากขึ้น จะขอยกตัวอย่างอัตลักษณ์ของกษัตริย์ในอดีตซึ่งถูกกำหนดผ่านเรื่องเล่าในรูปแบบที่ต่างกันไป กล่าวคือในบางยุคกษัตริย์มีสถานะเป็นปราชญ์ผู้รู้ธรรม บางยุคเป็นสมมุติเทพ บางยุคเป็นกษัตริย์นักรบ หรือบางยุคเป็นกษัตริย์นักพัฒนา เป็นต้น จากตัวอย่างนี้แสดงให้เห็นว่าอัตลักษณ์ของกษัตริย์ถูกเปลี่ยนแปลงผ่านการขับเน้นเรื่องเล่าที่แตกต่างกัน และสะท้อนกรอบสังคมที่แตกต่างกัน

เมื่อทราบว่าอัตลักษณ์ถูกสร้างผ่านการขับเน้นเรื่องเล่าจนเกิดเรื่องเล่าหลัก (grand narrative) และเรื่องเล่ารอง (little narrative) คำถามต่อไปคือการขับเน้นเรื่องเล่าหลักก่อร่างสร้างเป็นอัตลักษณ์ได้อย่างไร ประเด็นนี้สามารถอธิบายด้วยทัศนะของ Eric Hobsbawm (นักประวัติศาสตร์) ในหนังสือ The Invention of Tradition ซึ่งเสนอว่าขนบประเพณีไม่ได้ดำรงอยู่ด้วยตัวเอง แต่ถูกประดิษฐ์ซ้ำผ่านการกระทำ พิธีกรรม กิจกรรม และสัญญะ กล่าวคือ เรื่องเล่าถูกนำมาประดิษฐ์ซ้ำในรูปแบบของสัญญะจนกลายเป็นเรื่องเล่าหลัก และก่อตัวเป็นอัตลักษณ์ในที่สุด

กระแสของเรื่องเล่าและอัตลักษณ์ในปัจจุบัน

จากเรื่องการสร้างอัตลักษณ์จากเรื่องเล่า เมื่อมองในบริบทของประเทศไทยแล้ว เรื่องเล่าในสังคมไทยถูกครอบงำด้วยลักษณะที่ ธงชัย วินิจจะกูล นิยามว่า ‘ราชาชาตินิยม’ (royal nationalism) หมายถึง เรื่องเล่ากระแสหลักที่ยึดโยงกษัตริย์เป็นศูนย์กลางของเรื่องเล่า เป็นตัวละครเอกผู้ลงมือกระทำสิ่งต่างๆ ทำให้กษัตริย์เป็นหนึ่งเดียวกับชาติ ลักษณะของเรื่องเล่าที่หมุนรอบกษัตริย์เช่นนี้ ทำให้ไม่เหลือพื้นที่ให้เรื่องเล่าของคนกลุ่มอื่น นอกจากนี้อิทธิพลของกรอบคิดราชาชาตินิยมยังทำให้อัตลักษณ์ของสิ่งต่างๆ ในสังคมถูกสร้างผ่านการขับเน้นเรื่องเล่าหลักซึ่งเกี่ยวข้องกับกษัตริย์เป็นหลัก

ปัจจุบัน social imaginary ได้เปลี่ยนไปจากยุคก่อน ท่ามกลางกระแสสำนึกแห่งความเป็นพลเมืองที่เพิ่มมากขึ้น เรื่องเล่าที่เคยถูกใช้สร้างอัตลักษณ์ได้เปลี่ยนไปจากเดิม ผู้คนให้ความสำคัญกับเรื่องเล่าของคนตัวเล็กตัวน้อยมากยิ่งขึ้น ทำให้เรื่องเล่ากระแสหลักที่ยึดถือกันมานานถูกท้าทายโดยเรื่องเล่าชายขอบ ตัวอย่างที่เห็นได้ชัดเจนคือจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ตลอดเวลาที่ผ่านมา จุฬาฯ ยึดโยงอัตลักษณ์ขององค์กรเข้ากับสถาบันกษัตริย์ด้วยการขับเน้นเรื่องเล่าว่าเป็นมหาวิทยาลัยที่ถูกสถาปนาโดยกษัตริย์ และก่อร่างอัตลักษณ์ผ่านพิธีกรรม กิจกรรม และสัญญะอื่นๆ เช่น พิธีถวายสัตย์ปฏิญาณตน งานปิยมหาราชานุสรณ์ การอัญเชิญพระเกี้ยว  เป็นต้น ทั้งนี้เนื่องจากอิทธิพลของกรอบคิดราชาชาตินิยมทำให้คนในสังคมมองว่าสถาบันกษัตริย์มีอำนาจศักดิ์สิทธิ์บางประการ ดังนั้นเมื่อผูกโยงกับสถาบันแล้ว จึงคล้ายว่า จุฬาฯ ได้รับสืบทอดความศักดิ์สิทธิ์เหล่านั้นมาด้วย อย่างไรก็ตาม ปัจจุบันกระแสเรื่องเล่าที่สร้างอัตลักษณ์ได้เริ่มเปลี่ยนไป เรื่องเล่าชายขอบของคนตัวเล็กๆ อย่างจิตร ภูมิศักดิ์ เรื่องเกี่ยวกับเหตุการณ์ 6 ตุลา และเรื่องอื่นๆ ได้รับความสนใจมากยิ่งขึ้น

เมื่อเรื่องเล่ากระแสหลักถูกท้าทาย คำถามสำคัญที่น่าจับตามองคือ จุฬาฯ จะตอบสนองด้วยการโอบรับเรื่องเล่าชายขอบเหล่านั้นเข้ามาเพื่อสร้างอัตลักษณ์ใหม่ให้องค์กร หรือจะพยายามดิ้นรนผลักไสเรื่องเล่าเหล่านั้นเพื่อพยายามรักษาความบริสุทธิ์ของอัตลักษณ์แบบราชาชาตินิยมเอาไว้

โรงเรียนวัดหัวลำโพงเรื่องเล่าชายขอบในประวัติศาสตร์ 

โรงเรียนหอวัง ก่อตั้งขึ้นเมื่อวันที่ 9 มกราคม พ.ศ. 2509 … มีประวัติการก่อกำเนิดโรงเรียนเกี่ยวเนื่องกับ ‘โรงเรียนมัธยมหอวังแห่งจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย’ หลังจากที่พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวได้ทรงยกเลิกตำแหน่งวังหน้าและตั้งมกุฎราชกุมารขึ้นมาแทน และทรงตั้งสมเด็จพระบรมโอรสาธิราช เจ้าฟ้ามหาวชิรุณหิศ สยามมกุฎราชกุมาร ขึ้นมา ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้สร้างพระตำหนักขึ้นมาแห่งหนึ่ง ณ ทุ่งปทุมวัน ชื่อว่า ‘วังวินด์เซอร์’ หรือเรียกกันโดยสามัญว่า ‘พระตำหนักหอวัง’ เนื่องจากเป็นตึกมีหอสูง

ในสมัยพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว ได้ประดิษฐานโรงเรียนข้าราชการพลเรือนฯ ขึ้นเป็นจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เมื่อวันที่ 26 มีนาคม พ.ศ. 2459 … โรงเรียนมัธยมหอวังแห่งจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ก่อตั้งขึ้นเมื่อวันที่ 17 พฤษภาคม พ.ศ. 2472 ภายหลังการก่อตั้ง แผนกฝึกหัดครูของจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย (ปัจจุบัน คือ คณะครุศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย) ขึ้นเมื่อ พ.ศ. 2472 เพื่อให้นิสิตแผนกฝึกหัดครู ใช้ฝึกความชำนาญในการสอน และได้ใช้อาคารวังวินด์เซอร์ เป็นอาคารเรียน เรียกว่า ตึกหอวัง … จนถึง พ.ศ. 2481 จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ได้ยุบโรงเรียนมัธยมหอวังฯ ลง และจัดตั้ง โรงเรียนเตรียมอุดมศึกษา เพื่อให้สอดคล้องกับแผนการศึกษาของชาติในระยะนั้น …

ข้อความข้างต้นเป็นประวัติจากเว็บไซต์ของโรงเรียนหอวังซึ่งแสดงให้เห็นถึงประเด็นอิทธิพลของกรอบคิดราชาชาตินิยมที่เด่นชัดมาก เนื้อหาส่วนใหญ่ของประวัติเน้นไปที่การฉายภาพความเกี่ยวข้องกับกษัตริย์ผ่านการเชื่อมโยงโรงเรียนเข้ากับจุฬาฯ และพระตำหนักหอวัง เมื่อพื้นที่ส่วนใหญ่ถูกอุทิศเพื่อเรื่องเล่าหลักของกษัตริย์ จึงไม่เหลือพื้นที่พอให้แก่เรื่องเล่ารองอย่างโรงเรียนวัดหัวลำโพงประถม จากการสืบค้นของผู้เขียน

โรงเรียนเตรียมอุดมศึกษา ตั้งขึ้นตามแผนการศึกษาแห่งชาติ ปี พ.ศ. 2479 ซึ่งกำหนดการศึกษาระดับสามัญศึกษาไว้ในชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 6 แต่ผู้เข้าศึกษาชั้นอุดมศึกษา (มหาวิทยาลัย) จะต้องเรียนชั้นเตรียมอุดมศึกษาก่อน 2 ปี … ดังนั้นเพื่อให้บรรลุตามวัตถุประสงค์ของรัฐบาล … จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยจึงได้พิจารณา … มีมติให้จัดตั้งโรงเรียนเตรียมอุดมศึกษาแห่งจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยขึ้น … โดยมี ฯพณฯ ศ.มล.ปิ่น มาลากุล เป็นผู้อำนวยการคนแรก ใช้สถานที่ของโรงเรียนมัธยมหอวัง ถนนพญาไท …

เช่นเดียวกับข้อความจากเว็บไซต์ของโรงเรียนเตรียมอุดมศึกษาไม่ได้กล่าวถึงเรื่องเล่าของวัดหัวลำโพง แต่กลับเน้นไปที่การประกอบสร้างอัตลักษณ์ผ่านการผูกโยงอยู่กับโรงเรียนมัธยมหอวังแห่งจุฬาฯ จุฬาฯ และหม่อมหลวงปิ่น มาลากุล ทำให้อาจวิเคราะห์ได้ว่าเป็นการสร้างอัตลักษณ์ที่ติดอยู่ภายใต้กรอบคิดแบบราชาตินิยมอีกเช่นกัน

ลักษณะดังกล่าวไม่ได้ปรากฏเพียงแค่ในประวัติของโรงเรียนหอวังเท่านั้น แต่ยังปรากฏในแหล่งข้อมูลอื่นๆ ที่เกี่ยวข้องอีกจำนวนมาก เรื่องเล่าที่เกี่ยวข้องกับโรงเรียนวัดหัวลำโพงไม่เข้ากรอบราชาชาตินิยม เพราะไม่ได้มีส่วนเกี่ยวข้องกับกษัตริย์ จึงถูกลืมให้รอวันจางหายไป ด้วยเหตุนี้เองข้อมูลของโรงเรียนวัดหัวลำโพงประถมจึงเลือนรางมากแม้จะเป็นต้นกำเนิดของสองโรงเรียนสำคัญก็ตาม

ผู้เขียนพอจะประติดประต่อเรื่องราวจากข้อมูลที่เหลือเพียงน้อยนิดได้ว่า ‘โรงเรียนวัดหัวลำโพงประถม’ เป็นโรงเรียนเก่าแก่ที่ไม่สามารถระบุชัดเจนว่าก่อตั้งขึ้นเมื่อใด ทราบเพียงว่ามีการเรียนการสอนในระดับชั้นประถมศึกษาเท่านั้น เมื่อค้นคว้าเพิ่มเติมก็พบว่าบุคคลสำคัญ อย่าง กุหลาบ สายประดิษฐ์ ก็เคยเรียนที่นี่ด้วย (เรามักจะรู้แค่ว่ากุหลาบเรียนเทพศิรินทร์) ต่อมาเมื่อจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยต้องการตั้งโรงเรียนขึ้นเพื่อใช้เป็นสถานที่ฝึกสอนให้กับนิสิตเพื่อเร่งผลิตบุคลากรครูตามนโยบายการศึกษาชาติของกระทรวงธรรมการ (ภายหลังเปลี่ยนชื่อจากกระทรวงธรรมการ เป็นกระทรวงศึกษาธิการ) เพื่อให้มีนักเรียนเพียงพอสำหรับการตั้งโรงเรียนในเวลาอันสั้น ในปี 2472 จึงมีคำสั่งยุบโรงเรียนวัดหัวลำโพงประถมแล้วย้ายนักเรียน บุคลากร และอุปกรณ์ ไปตั้ง ‘โรงเรียนมัธยมหอวังแห่งจุฬาลงกรณมหาวิทยาลัย’ โดยใช้ตึกหอวัง (วังวินด์เซอร์) เป็นอาคารเรียน ส่วนโรงเรียนวัดหัวลำโพงได้มีการตั้งใหม่อีกครั้งในปี 2475 โดยอาศัยศาลาวัดทำการเรียนการสอน[2] 

หลังจากนั้นในปี 2478 กรมพลศึกษาต้องการสร้างสนามศุภชลาศัยขึ้นบริเวณตึกหอวัง จึงให้โรงเรียนมัธยมหอวังแห่งจุฬาฯ ย้ายไปสร้างอาคารเรียนใหม่บริเวณถนนพญาไท (ปัจุบันคือตึก 1 โรงเรียนเตรียมอุดมศึกษา) ต่อมาทางราชการจำเป็นต้องตั้งโรงเรียนเตรียมอุดมศึกษาให้สอดคล้องกับแผนการศึกษาแห่งชาติ พ.ศ. 2479 ซึ่งระบุให้ผู้ที่จะศึกษาในระดับอุดมศึกษาจำเป็นต้องผ่านหลักสูตรเตรียมอุดมศึกษาก่อน ในปี 2481 จึงมีคำสั่งให้ยุบโรงเรียนมัธยมหอวังแห่งจุฬาฯ และก่อตั้ง ‘โรงเรียนเตรียมอุดมศึกษาแห่งจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย’ ขึ้นแทน ภายหลังในปี 2509 ศิษย์เก่าโรงเรียนมัธยมหอวังแห่งจุฬาฯ รวมตัวกันและมีมติให้ตั้งโรงเรียนหอวังขึ้นใหม่อีกครั้ง โดยใช้พื้นที่ของโรงเรียนบางเขนวิทยาที่กระทรวงศึกษาธิการเพิ่งตั้งและเปลี่ยนชื่อเป็นโรงเรียนหอวังในเวลาต่อมา ปัจจุบันทั้งโรงเรียนเตรียมอุดมศึกษาและโรงเรียนหอวังต่างเป็นโรงเรียนชั้นนำที่ขึ้นชื่อเรื่องนักเรียนมีความสามารถทางวิชาการสูง แต่น้อยคนนักจะรู้ว่าทั้งสองโรงเรียนมีความเกี่ยวข้องกับโรงเรียนวัดหัวลำโพงที่กำลังประสบปัญหาทางการศึกษาอยู่ เราไม่รู้ว่าโรงเรียนวัดหัวลำโพงประถมตั้งขึ้นครั้งแรกในปีไหน แต่ที่เรารู้แน่ก็คือ ทรัพยากร บุคลากรต่างๆ ของโรงเรียนนี้ถูกย้ายไปเพื่อโรงเรียนใหม่เพื่อคณะครุศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

โต้แย้งประเด็นในใจของผู้อ่าน

ผู้เขียนเชื่อว่าหลังจากที่อ่านบทความจบแล้ว ผู้อ่านหลายท่านคงนึกค้านในใจว่าประเด็นการเชื่อมโยงความสัมพันธ์ระหว่างโรงเรียนเตรียมอุดมศึกษาและโรงเรียนหอวังเข้ากับโรงเรียนวัดหัวลำโพงเป็นข้อเสนอที่ไร้น้ำหนัก เนื่องจากโรงเรียนไม่ได้มีความสัมพันธ์กันโดยตรง รวมถึงมีเพียงเรื่องเล่าเล็กน้อยเท่านั้นในการยึดโยงความสัมพันธ์เอาไว้ ต่างจากความสัมพันธ์ระหว่างโรงเรียนเตรียมอุดมศึกษาและโรงเรียนหอวังซึ่งเห็นได้ชัดเจนว่าสืบต่อกัน

ผู้เขียนเห็นด้วยว่าความสัมพันธ์ของทั้งสองโรงเรียนกับโรงเรียนวัดหัวลำโพงถูกโยงไว้ด้วยเรื่องเล่าเพียงเล็กน้อยจริง แต่ผู้เขียนยังเชื่อว่าข้อเสนอในบทความนี้ยังมีน้ำหนักน่าพิจารณาอยู่ จากข้อสนับสนุนสองประการ

ประการแรกคือความเล็กน้อยที่เกือบจะเหมือนไม่เกี่ยวเนื่องกันนี้ ไม่ได้เกิดจากความไม่เกี่ยวเนื่องทางประวัติศาสตร์ แต่มีสาเหตุจากการที่เรื่องเล่ารองอย่างเรื่องของโรงเรียนวัดหัวลำโพงถูกเบียดบังพื้นที่โดยเรื่องเล่าหลัก ทำให้เรื่องราวความเกี่ยวเนื่องที่แท้จริงได้จางไปตามกาลเวลา

ประการที่สอง ในการสร้างอัตลักษณ์นั้น ผู้เขียนมองว่าแม้เป็นเรื่องเล่าของความสัมพันธ์ที่เล็กน้อยเพียงใด หากเจ้าของอัตลักษณ์มองเห็นความสำคัญ เจ้าของอัตลักษณ์ย่อมหยิบยกเรื่องเล่าเหล่านั้นมาขับเน้นเพื่อสร้างอัตลักษณ์ให้แก่ตนเองในที่สุด ทั้งนี้ต้องอย่าลืมว่ากรอบคิดแบบราชาชาตินิยมทำให้คนส่วนใหญ่มองว่าเรื่องเล่าสำคัญคือเรื่องที่เกี่ยวกับกษัตริย์เป็นหลัก ดังนั้นเรื่องเล่าของโรงเรียนวัดหัวลำโพงจึงไม่สำคัญไปโดยปริยาย

เพื่อให้เห็นภาพอาจขอเทียบกับโรงเรียนหอวังซึ่งอันที่จริงเพิ่งถูกตั้งขึ้นใหม่อีกครั้งโดยคณะศิษย์เก่าโรงเรียนมัธยมหอวังแห่งจุฬาฯ แต่ไม่ได้มีความเกี่ยวข้องกับจุฬาฯ และวังวินด์เซอร์โดยตรง อย่างไรก็ตามในประวัติของโรงเรียนหอวังปัจจุบันยังยึดโยงกับจุฬาฯ และวังวินด์เซอร์ผ่านความสืบเนื่องต่อจากโรงเรียนมัธยมหอวังแห่งจุฬาฯ และใช้เรื่องเล่านี้ในการสร้างอัตลักษณ์ให้โรงเรียนหอวังในปัจจุบัน ทั้งนี้อาจเป็นเพราะอิทธิพลของกรอบคิดราชาชาตินิยมทำให้มองว่าจุฬาฯ และวังวินด์เซอร์ซึ่งมีความเกี่ยวข้องกับสถาบันกษัตริย์กลายเป็นสิ่งสำคัญพอจะนำมาสร้างเป็นอัตลักษณ์

ข้อเสนอทดลอง: การรื้อถอนเรื่องเล่าหลักเพื่อประกอบสร้างอัตลักษณ์ใหม่

ในขณะที่กระแสปัจจุบันซึ่งผู้คนเริ่มหันไปโอบรับเรื่องเล่าชายขอบเพื่อสร้างอัตลักษณ์ใหม่ ถ้าสมมติว่าโรงเรียนเตรียมอุดมศึกษาและโรงเรียนหอวังโอบรับเรื่องเล่าความเกี่ยวข้องกับโรงเรียนวัดหัวลำโพงเป็นหนึ่งในเรื่องเล่าใหม่ของตนเองจะเกิดอะไรขึ้น โรงเรียนจะมีความเปลี่ยนแปลงอย่างไร และความเปลี่ยนแปลงใหม่นี้จะมีส่วนช่วยเหลือโรงเรียนขนาดเล็กอย่างโรงเรียนวัดหัวลำโพงอย่างไรบ้าง

ผู้เขียนไม่ได้กำลังเสนอเพียงแค่การโอบรับเรื่องเล่าโรงเรียนวัดหัวลำโพงประถมในการสร้างอัตลักษณ์ของโรงเรียนเตรียมอุดมศึกษาและโรงเรียนหอวังเพียงเท่านั้น กล่าวคือ โรงเรียนเตรียมอุดมศึกษาตรงถนนพญาไท ควรจะมีวงเล็บ (วัดหัวลำโพง 2) หรือไม่ แต่โรงเรียนนวมินทราชินูทิศ เตรียมอุดมศึกษาพัฒนาการ (ซึ่งหนึ่งในผู้เขียนจบมาจากที่นี่) และสถาบันการศึกษาอื่นๆ ควรจะมีชื่อยึดโยงกับประชาชนอย่างไรหลังยุคการตื่นตัวทางความคิดนี้ นี่ก็คงเป็นเรื่องที่คนในพื้นที่และคนที่เกี่ยวข้องควรจะอภิปรายถกเถียงกันต่อไป

ในยุคปัจจุบันผู้คนมีความตื่นตัวทางความคิดมากขึ้น ผู้คนกล้าตั้งคำถามกับเรื่องเล่าหลัก ขณะเดียวกันก็สนใจค้นคว้าเรื่องเล่ารองที่หลากหลายมากขึ้น อาจจะถึงเวลาแล้วที่อัตลักษณ์ของสิ่งต่างๆ ในสังคมไทยจะถูกอภิปรายถกเถียงประกอบสร้างใหม่ เราจะได้อะไรที่รุ่มรวยอย่างยิ่งจากการทำสิ่งนี้ เราจะได้รู้จักชื่อท้องถิ่น ประวัติศาสตร์ท้องถิ่น ประวัติศาสตร์ชุมชนชาวจีน ประวัติศาสตร์ของผู้อพยพ ประวัติศาสตร์ของชาวไร่ชาวนา และอำนาจรัฐที่ส่งผลต่อผู้คน เป็นต้น

เรื่องเล่าหลักถูกประดิษฐ์ซ้ำไม่รู้จบผ่านทางการกระทำ กิจกรรม พิธีกรรม และสัญญะอื่นๆ มายาวนาน ขณะเดียวกันเรื่องเล่าหลักที่เป็นอยู่นี้ก็หล่อเลี้ยงอำนาจนำซึ่งมีอิทธิพลกำหนดสัญญะแบบต่างๆ ในสังคม กลายเป็นวงจรไม่รู้จักจบสิ้น จนกดทับและไม่เหลือพื้นที่ให้กับความหลากหลายของเรื่องเล่าอื่นๆ ความพยายามเปลี่ยนแปลงสิ่งนี้ถือว่าน่าท้าทายและน่าทดลองทำอย่างยิ่ง


[1] ตัวอย่างของการปรับเปลี่ยนอัตลักษณ์ตาม social imaginary ที่เปลี่ยนไป สามารถศึกษาเพิ่มเติมได้จากบทความเรื่อง Old elite schools, history and the construction of a new imaginary

[2] จากเอกสารของโรงเรียนวัดหัวลำโพงที่ไม่ได้เผยแพร่ทางเว็บไซต์

MOST READ

Social Issues

9 Oct 2023

เด็กจุฬาฯ รวยกว่าคนทั้งประเทศจริงไหม?

ร่วมหาคำตอบจากคำพูดที่ว่า “เด็กจุฬาฯ เป็นเด็กบ้านรวย” ผ่านแบบสำรวจฐานะทางเศรษฐกิจ สังคม และความเหลื่อมล้ำ ในนิสิตจุฬาฯ ปี 1 ปีการศึกษา 2566

เนติวิทย์ โชติภัทร์ไพศาล

9 Oct 2023

Education

20 Jul 2023

คณะอักษรศาสตร์ จุฬาฯ ในวิกฤต (?)

ข่าวการปรับหลักสูตรของอักษรศาสตร์ จุฬาฯ ชวนให้คิดถึงอนาคตของการเรียนการสอนสายมนุษยศาสตร์ เมื่อตลาดแรงงานเรียกร้องทักษะสำหรับการทำงานจริง จนมีการลดความสำคัญวิชาพื้นฐานอันเป็นการฝึกฝนการวิเคราะห์วิพากษ์เพื่อทำความเข้าใจโลกอันซับซ้อน

เสียงเล็กๆ จากประชาคมอักษร

20 Jul 2023

Social Issues

5 Jan 2023

คู่มือ ‘ขายวิญญาณ’ เพื่อตำแหน่งวิชาการในมหาวิทยาลัย

สมชาย ปรีชาศิลปกุล เขียนถึง 4 ประเด็นที่พึงตระหนักของผู้ขอตำแหน่งวิชาการ จากประสบการณ์มากกว่าทศวรรษในกระบวนการขอตำแหน่งทางวิชาการในสถาบันการศึกษา

สมชาย ปรีชาศิลปกุล

5 Jan 2023

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • Always Active

Save