fbpx

จุดจบของ ‘นายพลผู้ทำลายประเทศชาติ’

1

กาลครั้งหนึ่ง มีนายพลคนหนึ่งได้ก่อตั้งพรรคการเมืองหนึ่งของตัวเองขึ้นมา จากนั้นก็ล้มรัฐบาลประชาธิปไตยที่มาจากการเลือกตั้ง แล้วขึ้นครองอำนาจโดยใช้พรรคการเมืองของตัวเอง พร้อมกับต่อเวลายืดอายุการอยู่ในอำนาจไปเรื่อยๆ และเรื่อยๆ สุดท้ายอยู่ในอำนาจนานถึง 26 ปี และได้เปลี่ยนประเทศที่เคยรุ่งเรืองอุดมสมบูรณ์ ให้กลายเป็นประเทศที่ยากจนข้นแค้นและยากลำบากที่สุดประเทศหนึ่งในโลก

ในวันที่เขาตาย โลกจารึกชื่อเขาไว้ว่าคือ ‘นายพลผู้ทำลายพม่า’ หรือ The Destroyer of Burma ซึ่งก็คือ นายพลผู้ทำลายประเทศชาตินั่นเอง

เขาคือนายพลเนวิน

2

เนวิน (Ne Win) ตายในวันที่ 5 ธันวาคม 2002 เมื่ออายุได้ 93 ปี เขาไม่ได้ตายในฐานะวีรบุรุษของประเทศ แต่ตายไปกับฉายา ‘ผู้ทำลายประเทศชาติ’ อันเจ็บปวด ก่อนหน้าที่เขาจะตาย หลานสามคนและลูกเขยของเขาก็เพิ่งถูกตัดสินประหารชีวิตด้วยข้อหาขบถ

คำถามก็คือ อะไรทำให้เนวินได้ชื่อว่าเป็นผู้ทำลายประเทศชาติได้ถึงขนาดนั้น

3

เนวินยึดอำนาจผ่านรัฐประหารในปี 1962 และขึ้นชื่อลือชาเรื่องความพยายามสร้างให้พม่ากลายเป็นสังคมนิยม พรรคการเมืองที่เขาตั้งขึ้น มีชื่อว่า BSPP หรือ Burma Socialist Programme Party มีเป้าหมายทำให้พม่าเป็นรัฐสังคมนิยมที่มีการปกครองโดยพรรคเดียว แต่โดยพฤตินัยแล้ว มันคือการปกครองภายใต้คนคนเดียวต่างหาก

และคนคนนั้นก็คือเขา

พม่าได้รับเอกราชจากอังกฤษในปี 1948 และอย่างที่เรารู้กันอยู่ว่าหลังจากได้รับเอกราช พม่าก็เต็มไปด้วยความวุ่นวาย อองซาน บิดาของอองซานซูจี ซึ่งเป็นผู้นำการเรียกร้องเอกราชถูกลอบสังหาร หลังจากนั้นแม้มีการเลือกตั้งตามระบอบประชาธิปไตยจนได้อูนุขึ้นมาเป็นผู้นำประเทศ แต่ปัญหาก็ไม่ได้จบสิ้นลงง่ายๆ นอกจากชนกลุ่มน้อยต่างๆ จะเรียกร้องการปกครองตนเองแล้ว อูนุยังไม่ได้รับความร่วมมือจากคนชั้นสูงในพม่าด้วย ในขณะที่นักการเมืองส่วนใหญ่เป็นคนชั้นกลาง รอยร้าวใหญ่จึงเกิดขึ้น ประเทศเดินหน้าไปได้ยาก

เรื่องราวในพม่า เรื่องราวความสัมพันธ์ระหว่างรัฐบาลพลเรือนของอูนุกับกองทัพนั้น แท้จริงแล้วเป็นเรื่องที่จะเกิดขึ้นอีกซ้ำๆ ย้ำเตือนว่ากงล้อประวัติศาสตร์มักจะหมุนกลับมาซ้ำรอยเดิมเสมอ เพราะเมื่อประเทศเดินหน้าได้ยาก เสถียรภาพของรัฐบาลไม่ค่อยมี สิ่งที่อูนุเลือกทำก็คือไปขอให้กองทัพที่อยู่ภายใต้นายพลเนวินเข้ามาช่วยค้ำจุนความมั่นคง โดยขอให้เนวินมาเป็นผู้นำรัฐบาลรักษาการเพื่อที่จะจัดการเลือกตั้งใหม่

แต่อำนาจก็คืออำนาจ เมื่อเนวินได้ลิ้มรสอำนาจแล้ว เขาไม่อยากสูญเสียมันไป แม้ในการเลือกตั้งใหม่ของปี 1960 อูนุจะได้รับเลือกตั้งเข้ามาเป็นผู้นำ แต่พอถึงวันที่ 2 มีนาคม 1962 เนวินก็นำกำลังเข้าทำรัฐประหาร พูดอีกอย่างหนึ่งก็คือ ‘ยึดประเทศ’ จากรัฐบาลพลเรือน แล้วทำให้พม่าตกอยู่ใต้การปกครองของเผด็จการทหารอย่างเต็มรูปแบบ โดยตั้งสภาปฏิวัติขึ้นมาปกครองประเทศ แต่ในสภานั้นแทบไม่มีพลเรือนเลย มีแต่ทหารเกือบทั้งหมด

ภาพแบบนี้เกิดขึ้นซ้ำแล้วซ้ำเล่าในประเทศอื่นๆ เมื่อเผด็จการทหารลุกขึ้นมาทำรัฐประหารและยึดอำนาจ สถาปนาตัวเองเป็นรัฏฐาธิปัตย์ ซึ่งก็ไม่รู้เหมือนกันว่าเพราะอะไร ประเทศที่ปกครองโดยรัฐบาลทหารแบบเบ็ดเสร็จเด็ดขาด จึงมักถูกนำไปสู่หนทางที่เสื่อมเสมอ เนวินก็เป็นแบบนั้น เขาใช้นโยบายปฏิรูปแบบสังคมนิยม มีการ ‘ปิดประเทศ’ ไม่ยอมคบค้าสมาคมกับโลก พม่าจึงกลายเป็นประเทศปิด จนได้รับฉายานามว่าเป็นฤาษีแห่งเอเชีย

4

ชื่อเดิมของเนวิน (Ne Win) คือ ชูหม่อง (Shu Muang) เขาเกิดในวันที่ 24 พฤษภาคม 1911 ช่วงที่พม่ากำลังต่อสู้เพื่อปลดแอกตัวเองจากอังกฤษนั้น เนวินเข้าไปมีส่วนร่วมด้วยอย่างมาก ในช่วงสงครามโลกครั้งที่สอง หลังจากญี่ปุ่นบุกพม่าแล้ว เขาเป็นหนึ่งในทหารสามสิบนายที่เดินทางไปรับการฝึกทหารจากทหารญี่ปุ่นที่อยู่ในจีน และเป็นตอนนั้นเองที่เขาได้ชื่อใหม่ว่า เนวิน

เขาทำงานให้กับกองทัพพม่าที่อยู่ใต้อาณัติของญี่ปุ่นในช่วงสงครามโลกคร้ังที่สอง คือในปี 1943-1945 แต่พร้อมกันนั้น เขาก็ ‘เล่นไพ่สองทาง’ ด้วยการช่วยก่อตั้งขบวนการใต้ดินต่อต้านญี่ปุ่นด้วย หลังพม่าได้รับอิสรภาพจากอังกฤษในวันที่ 4 มกราคม 1948 เขายังคงทำงานให้กับกองทัพจนขึ้นมาเป็นผู้บัญชาการเหล่าทัพ

อูนุขอให้เขาก้าวขึ้นมารับตำแหน่งนายกรัฐมนตรีเพื่อช่วยประคับประคองรัฐบาลที่กำลังเปราะบางทางอำนาจในปี 1958 ซึ่งเนวินก็ยอมรับตำแหน่งนี้ด้วยท่าทีสนับสนุนอูนุอย่างเต็มอกเต็มใจ อูนุพบปัญหารอบด้าน ไม่ว่าจะเป็นความสัมพันธ์กับคนชั้นสูงที่ไม่ลงรอยกัน แถมยังได้ไม่่สามารถจัดการกับปัญหาชนกลุ่มน้อยที่ลุกฮือขึ้นตามจุดต่างๆ ทั่วประเทศด้วย เขาจึงต้องการความช่วยเหลือจากกองทัพอย่างยิ่ง

เนวินเป็นนายกรัฐมนตรีตามคำขอของอูนุอยู่นานสองปี ก่อนจัดการเลือกตั้งทั่วไปในปี 1960 แล้วอูนุก็กลับคืนตำแหน่ง เพียงเพื่อที่เนวินจะยึดอำนาจจากเขาในปี 1962

เนวินปกครองประเทศเยี่ยงเผด็จการโดยแท้ แต่นโยบายที่แย่ที่สุดของเขาน่าจะเป็นนโยบายเศรษฐกิจ ปัจจุบันนี้เราอาจรู้จักคำว่า privatization หรือการให้เอกชนเป็นเจ้าของหน่วยงานสำคัญๆ เพื่อจะได้เกิดการแข่งขัน แต่สิ่งที่เนวินทำกลับเป็นตรงข้าม นโยบายเศรษฐกิจของเขาคือ nationalization หรือการยึดธุรกิจขนาดใหญ่กลับเข้าไปเป็นของรัฐทั้งหมด โดยเฉพาะกิจการที่เกี่ยวข้องกับการค้ากับอินเดีย จีน และปากีสถาน นั่นทำให้เศรษฐกิจของประเทศดิ่งลงเหว ในช่วงปี 1972-1973 เขาร่างรัฐธรรมนูญใหม่เพื่อให้พม่าเป็นประเทศที่ปกครองด้วยพรรคเดียว คือพรรค BSPP และต่อมา เนวินก็กลายเป็นประธานาธิบดี โดยนั่งอยู่ในตำแหน่งประธานพรรค BSPP อำนาจจึงรวมตัวอยู่ที่เขาอย่างเบ็ดเสร็จเด็ดขาด

ในยุค 80 นโยบายปิดประเทศและนโยบายสังคมนิยมของเนวินเปลี่ยนพม่าให้กลายเป็นหนึ่งในประเทศที่ยากจนที่สุดในโลก ภายในประเทศเองมีการคอรัปชั่นและการจัดการที่ผิดพลาดมากมายหลายอย่าง เกิดตลาดมืด ตลาดใต้ดิน และภาวะขาดแคลนอาหาร ทั้งที่พม่าเคยเป็นประเทศผู้ส่งออกข้าวรายสำคัญของโลก

สภาวะแบบนี้ย่อมทำให้ประชาชนทนไม่ได้ เกิดการลุกฮือประท้วงที่เรียกว่า Four Eights Uprising หรือ 8888 Uprising ในวันที่ 8 เดือน 8 ปี 1988 อันเป็นการประท้วงที่มีรากเหง้ามาจากปัญหาเศรษฐกิจโดยแท้ การประท้วงครั้งนี้ทำให้อองซานซูจีกลายเป็นคนสำคัญของประเทศ เป็นสัญลักษณ์ของการต่อสู้กับรัฐบาลทหาร นำไปสู่การเลือกตั้งในปี 1990 ซึ่งเธอได้รับชัยชนะ แต่ก็กลับมีการปฏิเสธผลการเลือกตั้งจากรัฐบาลทหาร และสุดท้าย เธอก็ถูกกักบริเวณ ต้องขังตัวอยู่ในบ้านเป็นเวลายาวนานเกือบสองทศวรรษ

ที่จริงก่อนหน้านั้น เนวินได้ลาออกจากการเป็นประธานพรรค BSPP แล้ว โดยลาออกในเดือนกรกฎาคม 1988 ก่อนหน้าจะเกิดเหตุการณ์ 8888 ขึ้น เพื่อลดความรุนแรงของสถานการณ์ แต่การลุกฮือประท้วงก็ยังเกิดขึ้น สุดท้ายทหารภายใต้การบังคับบัญชาของเนวินก็ทำอะไรไม่เป็น นึกอะไรไม่ออก นอกจากใช้กำลังเข้าปราบปราม

ว่ากันว่า มีผู้เสียชีวิตนับร้อยคน แต่บางกระแสก็ประมาณการผู้เสียชีวิตไว้สูงถึง 3,000 คน ในช่วงวันที่ 8 ถึง 12 สิงหาคม 1988 แต่วันที่เลวร้ายที่สุด คือวันที่ 18 สิงหาคม เมื่อนายพลซอหม่อง (Saw Maung) บดขยี้ผู้ประท้วงโดยไม่ไว้หน้า แม้คนที่รับผิดชอบต่อเหตุการณ์นี้จะเป็นซอหม่อง แต่ก็เชื่อกันว่าเป็นเนวินนี่เองที่อยู่เบื้องหลัง แม้ในตอนนั้นเขาจะลาออกแล้วก็ตาม

หลังจากนั้น ข่าวคราวของเนวินก็ค่อยๆ เงียบหายไป มีชื่อของคนอื่นๆ เช่น นายพลซอหม่องขึ้นมาเล่นบทบาทคล้ายๆ กันแทนที่ ชื่อของเนวินอยู่ในความอึมครึม ข่าวของเขาถูกปกปิดโดยไม่รู้ต้นสายปลายเหตุที่กระจ่างชัดนัก แม้เมื่อเขาเดินทางไปเยือนอินโดนีเซียเพื่อพบกับประธานาธิบดีซูฮาร์โต ก็ไม่มีใครได้เห็นเขาในข่าวเลย แต่กระนั้นก็ยังเชื่อกันว่าเขาคือคนสำคัญที่อยู่เบื้องหลังการปกครองของรัฐบาลทหาร โดยยังมีอิทธิพลอยู่เบื้องหลังอย่างเงียบๆ

เนวินแต่งงานถึง 7 ครั้ง กับผู้หญิง 6 คน (เขาแต่งงานกับภรรยาคนหนึ่งซ้ำสองครั้ง) และประมาณกันว่ามีทรัพย์สินอยู่ราว 4 พันล้านเหรียญสหรัฐฯ รวมทั้งมีทรัพย์สินในรูปของที่ดินในออสเตรียและเยอรมนีด้วย ซึ่งก็น่าจะทำให้เขามีความเป็นอยู่ที่สุขสบายเกินหน้ามนุษย์ส่วนใหญ่ในโลกได้แล้ว แต่กระนั้น ในปี 2002 ตอนที่เขาอายุเลยเก้าสิบปีไปแล้ว เนวินก็ยังถูกจับและถูกกักบริเวณอยู่ในบ้านของตัวเอง เนื่องจากเชื่อกันว่าเขามีส่วนเกี่ยวข้องกับการวางแผนทำรัฐประหารประเทศอีกครั้ง

สิ่งมีชีวิตที่เสพกินอำนาจการเมือง ย่อมไม่อาจกลายร่างเป็นสิ่งมีชีวิตชนิดอื่นที่เสพกินสิ่งอื่นได้

มันอาจเป็นเวรกรรมของสิ่งมีชีวิตนั้นก็ได้ แต่ในอีกด้านหนึ่ง ก็ถือเป็นกรรมเวรของผู้คนที่จำต้องอาศัยอยู่ในสังคมร่วมกับสิ่งมีชีวิตนั้นด้วย

เนวินเสียชีวิตลงในวันที่ 5 ธันวาคม 2002 โดยยังถูกกักบริเวณในบ้าน บ้านของเขาก็เป็นบ้านพักริมทะเลสาบในกรุงย่างกุ้งนั่นเอง ความตายของเขาไม่ได้รับการป่าวประกาศใดๆ และแม้จะปกครองประเทศมายาวนานหลายสิบปี งานศพของเขาก็ไม่ใช่งานรัฐพิธี มีการเผาศพของเขาอย่างเร่งรีบ รายงานข่าวหนึ่งระบุว่า งานศพจัดขึ้นในเวลาบ่ายโมงครึ่งของวันที่ 5 ธันวาคม 2002 นั่นเอง และร่างของเขาก็ถูกเผาหลังจากนั้นในเวลาไม่เกิน 30 ชั่วโมงหลังจากตายดับลง

ว่ากันว่า เพื่อนๆ สมัยยังหนุ่มของเขาซึ่งยังมีชีวิตอยู่หลายคนได้รับคำแนะนำว่าอย่าไปงานศพของเขา ดังนั้น งานศพของนายพลเนวินผู้ยิ่งใหญ่จึงมีคนไปร่วมงานเพียงราวสิบกว่าคนเท่านั้น ลูกสาวของเขาเป็นผู้นำเถ้าถ่านที่เคยเป็นนายพลเนวินไปโปรยในแม่น้ำ

ล่วงเข้าวันที่ 7 ธันวาคมนั่นแหละ ที่ผู้คนในประเทศได้ล่วงรู้ว่าเขาตายดับจากไปแล้ว เพราะมีการลงตีพิมพ์ไว้อาลัยอย่างไม่เป็นทางการในคอลัมน์เล็กๆ ของหนังสือพิมพ์ท้องถิ่น เนื้อหาคือครอบครัวแสดงความขอบคุณคนที่ดูแลเขาขณะเจ็บป่วยและช่วยเหลือจัดการงานศพ

จุดจบของนายพลผู้ทำลายประเทศชาติเป็นอย่างนี้นี่เอง

เป็นอย่างนี้นี่เอง…

MOST READ

Life & Culture

14 Jul 2022

“ความตายคือการเดินทางของทั้งคนตายและคนที่ยังอยู่” นิติ ภวัครพันธุ์

คุยกับนิติ ภวัครพันธุ์ ว่าด้วยเรื่องพิธีกรรมการส่งคนตายในมุมนักมานุษยวิทยา พิธีกรรมของความตายมีความหมายแค่ไหน คุณค่าของการตายและการมีชีวิตอยู่ต่างกันอย่างไร

ปาณิส โพธิ์ศรีวังชัย

14 Jul 2022

Life & Culture

27 Jul 2023

วิตเทเกอร์ ครอบครัวที่ ‘เลือดชิด’ ที่สุดในอเมริกา

เสียงเห่าขรม เพิงเล็กๆ ริมถนนคดเคี้ยว และคนในครอบครัวที่ถูกเรียกว่า ‘เลือดชิด’ ที่สุดในสหรัฐอเมริกา

เรื่องราวของบ้านวิตเทเกอร์ถูกเผยแพร่ครั้งแรกทางยูทูบเมื่อปี 2020 โดยช่างภาพที่ไปพบพวกเขาโดยบังเอิญระหว่างเดินทาง ซึ่งด้านหนึ่งนำสายตาจากคนทั้งเมืองมาสู่ครอบครัวเล็กๆ ครอบครัวนี้

พิมพ์ชนก พุกสุข

27 Jul 2023

Life & Culture

4 Aug 2020

การสืบราชสันตติวงศ์โดยราชสกุล “มหิดล”

กษิดิศ อนันทนาธร เขียนถึงเรื่องราวการขึ้นครองราชสมบัติของกษัตริย์ราชสกุล “มหิดล” ซึ่งมีบทบาทในฐานะผู้สืบราชสันตติวงศ์ หลังการเปลี่ยนแปลงการปกครองโดยคณะราษฎร 2475

กษิดิศ อนันทนาธร

4 Aug 2020

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • Always Active

Save