fbpx

ความไม่เป็นการเมืองของนิติศาสตร์ไทย

ตั้งแต่หลังสงครามโลกครั้งที่สองเป็นต้นมา วงการนิติศาสตร์ตระหนักแล้วว่าการเรียนนิติศาสตร์แบบเดิมนั้นไม่เพียงพอเสียแล้ว

การเรียนนิติศาสตร์แบบดั้งเดิมเน้นศาสตร์แห่งการตีความและเลือกเฟ้นบรรทัดฐานจากคดีที่ตัดสินไปแล้ว (juridical science) แต่ในโลกยุคใหม่ สังคมสลับซับซ้อนขึ้นและบทบาทของกฎหมายทวีสูงขึ้น ‘แว่น’ ใหม่ๆ ที่ใช้มองกฎหมายจึงจำเป็นอย่างยิ่ง

ที่โดดเด่นที่สุดน่าจะเป็นสายเศรษฐศาสตร์กับกฎหมาย (law and economics/economic analysis of law) ที่ศึกษากฎหมายผ่านทฤษฎีอุปสงค์-อุปทาน กลไกตลาด ตลอดจนพฤติกรรมมนุษย์ การนำตัวเลขสถิติที่จับต้องได้มาประเมินสัมฤทธิผลของกฎหมาย

นอกจากนี้ยังมีแว่นการวิเคราะห์นิติศาสตร์ผ่านมุมมองสังคมวิทยา ที่เน้นการศึกษากฎหมายในความเป็นจริงมากกว่ากฎหมายตัวบท (law in action/law in book) และอีกสารพัดแว่น

โดยสรุปคำว่า ‘ข้ามศาสตร์’ (interdisciplinary) กลายเป็นคำนิยม (catchphrase) ของชาวนิติศาสตร์ไม่แพ้ชาวศาสตร์อื่นๆ เลย ถ้าต้องทำงานวิจัยกฎหมายก็ต้องย้ำลงไปเสียหน่อยว่า งานวิจัยนี้ interdisciplinary จึงจะขลัง

แต่มีแว่นหนึ่งที่นิติศาสตร์ไทยไม่เคยคิดจะหยิบขึ้นมาพิจารณาศึกษาเลย ทั้งที่อยู่ใกล้เคียงกับนิติศาสตร์ที่สุด คือมองการศึกษานิติศาสตร์ผ่านมุมมองของการเมือง

ความไม่เป็นการเมืองของนิติศาสตร์

ในโลกนิติศาสตร์ไทยนั้น กฎหมายกับการเมืองแบ่งแยกกันเด็ดขาด ถ้าสรุปแบบหยาบที่สุด กฎหมายคือ ถ้อยคำที่มีเหตุผล เป็นระเบียบ มีไว้เพื่อประโยชน์สาธารณะในด้านต่างๆ เท่านั้น ส่วนการเมืองคือเรื่องของอารมณ์ เรื่องของผลประโยชน์ และประโยชน์ส่วนตัวผู้มีอำนาจ ตุลาการก็ไม่ใช่นักการเมือง แต่เป็นนักนิติศาสตร์ผู้เชี่ยวชาญศาสตร์แห่งการตีความและปรับใช้เกณฑ์ให้เข้ากับข้อเท็จจริงเฉพาะคดีโดยไม่นำเหตุอื่นใดที่ไม่เกี่ยวข้องเข้ามาพิจารณา

กฎหมายกับการเมืองจึงเป็นคนละเรื่องที่เข้ากันไม่ได้ นักเรียนนิติศาสตร์หลายคนไม่เข้าใจการเมือง ไม่พยายามทำความรู้จัก ยิ่งไปกว่านั้น หลายคนรังเกียจการเมืองเอาด้วยซ้ำ อยู่ห่างๆ กันได้จะเป็นการดี

อาจจะไม่เกินเลยไปที่จะบอกว่า ความไม่เป็นการเมืองของกฎหมายนั้นแพร่หลายที่สุดในบรรดานักนิติศาสตร์สายเอกชน แพ่งอาญา ซึ่งเข้าสู่สายงานตุลาการต่อไป

กฎหมายในการเมือง

ถึงนักนิติศาสตร์จะไม่พยายามเข้าใจหรือรู้จักการเมือง แต่การเมืองไม่ได้ยกเว้นใคร ตั้งแต่ตุลาคม 2563 หนึ่งในแนวรบที่ดุเดือดยิ่งของการเรียกร้องปฏิรูปสถาบันกษัตริย์ คือ แนวรบด้านกฎหมาย คดีความถาโถม ศาลออกคำสั่ง แกนนำสลับเข้าออกเรือนจำ มวลชนเกรี้ยวกราดประท้วงอยู่หน้าศาลถึงขั้นตะโกนด่าผู้พิพากษา ข่าวการให้หรือไม่ให้ประกันตัวแกนนำกลายเป็นหนึ่งในสิ่งที่มวลชนจับจ้องอย่างแทบไม่หายใจ ดังนั้น นิติศาสตร์จึงกลายเป็นส่วนหนึ่งของการเมืองไปอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้

แนวรบด้านกฎหมายนั้นรุนแรงไม่แพ้แนวรบด้านการชุมนุม แม้ไม่ปะทะกับชุดควบคุมฝูงชน แต่ความรุนแรงเกิดทั้งทางกายภาพโดยตรง เช่น การถูกทำร้ายจากเจ้าหน้าที่ และทางอ้อม เช่น การกักขังให้สูญเสียอิสรภาพ แม้ไม่กระทบกระเทือนร่างกายโดยตรง แต่จะเรียกว่าไม่รุนแรงคงไม่ได้ การปฏิเสธไม่ให้ทนายความและญาติเข้าพบ ไม่ว่าด้วยเหตุผลใด และการปล่อยให้ผู้ต้องขังติดเชื้อโควิดที่ระบาดอยู่ในเรือนจำช่วงเมษายนนั้นเป็นความรุนแรงทางจิตใจ ที่สำคัญคืออาจจะถึงตายได้เช่นกัน

แม้อุณหภูมิการเมืองจะเดือดดาลเพียงไหน คดีความต่างๆ ของแกนนำก็ดำเนินไปตามครรลองปกติของกิจการศาล (business as usual) ดูเหมือนว่าศาลมองไม่เห็นความเป็นการเมืองของคดีจากการชุมนุมเรียกร้องปฏิรูปสถาบันกษัตริย์ แกนนำที่ถูกจับจึงไม่ต่างอะไรกับผู้ละเมิดข้อกำหนดห้ามชุมนุมเกิน 5 คนตาม พ.ร.ก.ฉุกเฉินคนอื่นๆ กิจกรรมทางการเมืองในบริเวณศาลและห้องพิจารณาคดีจึงเป็นการหมิ่นศาลที่เคารพพอๆ กับการรบกวนปกติทั่วไป การสั่งการเรื่องประกันตัวก็ต้องไปผ่านรองอธิบดีศาล เวรประกันตัว ตามปกติ

แต่ความปกติตามครรลองคือความไม่ปกติ แม้ศาลจะย้ำว่าการดำเนินการทุกอย่างเป็นไปตามมาตรฐาน แต่ปัญหาคือ มาตรฐานที่ศาลมีกับคดีความทั่วไปนั้นไม่อาจใช้กับคดีที่เกี่ยวข้องกับการชุมนุมได้ เพราะความเป็นการเมืองของมัน แม้จะปฏิเสธ ไม่รับรู้ แต่การเมืองก็คือการเมือง และการปฏิเสธนั้นก็ไม่ทำให้ข้อพิพาทนี้กลายเป็นเรื่องกฎหมายล้วนๆ ขึ้นมา ตรงกันข้าม การไม่รับรู้คือการทำให้สถานการณ์แย่ลง ทั้งกับแกนนำและตัวศาลเอง

ที่จริงยังมีตัวอย่างอีกมาก การที่ศาลแพ่งปฏิเสธไต่สวนสำนักตำรวจแห่งชาติเพราะไม่ปรากฏว่านักข่าวที่ถูกยิงแสดงให้เห็นว่าปฏิบัติตามหลักเกณฑ์การทำข่าวของสื่อมวลชนนั้น เป็นไปตามหลักผู้ใดกล่าวอ้างผู้นั้นนำสืบ แต่ก็เท่ากับโยนใบอนุญาตให้ใช้ความรุนแรงให้ตำรวจและผลักหลังให้นักข่าวออกไปเสี่ยงภัยด้วย

ถึงที่สุด การอ้างว่าศาลกำลังปฏิบัติหน้าที่ตามกฎหมายนั้น ก็มีหลักฐานถึงการเมืองซุกซ่อนไว้เต็มไปหมด การที่คดีของแกนนำต้องเจอกับเวรประกันคนเดิมซ้ำๆ ซึ่งเป็นผู้มีประวัติบ่งชี้แนวคิดทางการเมืองเกี่ยวกับสถาบันพระมหากษัตริย์ที่ชัดเจน การออกหมาย การไม่ให้ประกันตัวโดยพร้อมเพรียงกัน การให้ประกันตัวโดยกำหนดเงื่อนไขที่ไม่เป็นไปตามหลักการวิธีพิจารณาคดีอาญา การอนุญาตให้เจ้าหน้าที่ราชทัณฑ์ปฏิเสธไม่ให้แม่ผู้ต้องหาได้เจอลูก หรือการห้ามบันทึกการพิจารณาคดี สิ่งเหล่านี้ทำให้การอ้างถึงความยุติธรรมหรือหลักนิติธรรม ล้วนแต่น่าสงสัยยิ่ง

ทำเรื่องการเมืองให้เป็นการเมือง

การยืนยันจะใช้กฎหมายอย่างเคร่งครัดในเรื่องการเมืองนั้น คือการปฏิเสธการเมืองในกฎหมาย สุดท้ายก็เป็นการเมืองแบบหนึ่ง ไม่ว่าโดยรู้ตัวหรือไม่ หรืออาจตั้งใจก็ดี การที่ศาลไม่พยายามคำนึงถึงการเมืองในคดีตรงหน้า ก็เท่ากับว่ายอมเป็นผู้เล่นคนหนึ่งในระบอบการเมืองแบบหนึ่งนั่นเอง แต่เป็นการเมืองที่เดินหน้าไปสู่ความรุนแรง ปิดโอกาสประนีประนอม และทำลายความน่าเชื่อถือของศาลเอง

วันที่ 7 สิงหาคมที่ผ่านมาเป็นวันรพีของชาวนิติศาสตร์ ตั้งแต่เช้า บรรดาผู้ใหญ่ในวงการกฎหมายออกมาให้โอวาทอบรมสั่งสอนเรื่องความยุติธรรมและกฎหมาย ส่วนบ่ายๆ ค่ำๆ มวลชนปะทะกับ คฝ. เหมือนจะเป็นคนละเรื่อง แต่ปัจจัยหนุนส่งการปะทะเกิดจากความรู้สึกคับแค้นอยุติธรรมว่าระบบกฎหมายไม่เป็นที่พึ่ง ส่วนกระสุนยางกับแก๊สน้ำตาที่ไม่เป็นไปตามหลักสากลก็ยิงออกมาได้เพราะมั่นใจว่าระบบกฎหมายไม่เป็นอันตรายกับตนเอง ศาลกับประชาชนจึงมีคนละวันเดียวกัน คนละความยุติธรรม

การยอมรับว่าคดีความที่เกิดขึ้นเป็นเรื่องการเมืองมากกว่าอาชญากรรมธรรมดา ไม่ได้แปลว่าให้ศาลลงมาเล่นการเมืองเต็มตัวด้วยอีกองค์กร ศาลเล่นการเมืองมามากพอแล้ว มากพอที่จะพิสูจน์ได้ว่าวิธีนี้ไม่เป็นคุณแก่ใคร แต่การยอมรับว่าคดีความเป็นเรื่องการเมือง คือการปฏิเสธไม่ให้ฝ่ายการเมืองใช้ศาลเป็นเครื่องมือทางการเมืองอีกต่อไป และคืนข้อพิพาทกลับไปให้ฝ่ายการเมืองหาทางออกเอง ส่วนเรื่องไหนเป็นเรื่องกฎหมายก็ใช้กฎหมายให้ถูกต้องเคร่งครัด

ทั้งนี้ก็เพื่อความมั่นคงสถาวรต่อไปของสถาบันตุลาการไทย

MOST READ

Social Issues

9 Oct 2023

เด็กจุฬาฯ รวยกว่าคนทั้งประเทศจริงไหม?

ร่วมหาคำตอบจากคำพูดที่ว่า “เด็กจุฬาฯ เป็นเด็กบ้านรวย” ผ่านแบบสำรวจฐานะทางเศรษฐกิจ สังคม และความเหลื่อมล้ำ ในนิสิตจุฬาฯ ปี 1 ปีการศึกษา 2566

เนติวิทย์ โชติภัทร์ไพศาล

9 Oct 2023

Social Issues

5 Jan 2023

คู่มือ ‘ขายวิญญาณ’ เพื่อตำแหน่งวิชาการในมหาวิทยาลัย

สมชาย ปรีชาศิลปกุล เขียนถึง 4 ประเด็นที่พึงตระหนักของผู้ขอตำแหน่งวิชาการ จากประสบการณ์มากกว่าทศวรรษในกระบวนการขอตำแหน่งทางวิชาการในสถาบันการศึกษา

สมชาย ปรีชาศิลปกุล

5 Jan 2023

Social Issues

27 Aug 2018

เส้นทางที่เลือกไม่ได้ ของ ‘ผู้ชายขายตัว’

วรุตม์ พงศ์พิพัฒน์ พาไปสำรวจโลกของ ‘ผู้ชายขายบริการ’ ในย่านสีลมและพื้นที่ใกล้เคียง เปิดปูมหลังชีวิตของพนักงานบริการในร้านนวด ร้านคาราโอเกะ ไปจนถึงบาร์อะโกโก้ พร้อมตีแผ่แง่มุมลับๆ ที่ยากจะเข้าถึง

กองบรรณาธิการ

27 Aug 2018

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • Always Active

Save