fbpx

สามัญชนในสุริโยไท ฝุ่นละอองกลางไฟรัฐประหารและเพลิงสงคราม : ระหว่างบรรทัดหนังมหากาพย์ครบรอบ 2 ทศวรรษ

หากบางระจันเป็นหนังประวัติศาสตร์ของผู้แพ้ที่ไพร่เป็นวีรบุรุษช่วงเสียกรุงศรีอยุธยาครั้งที่ 2 สุริโยไทก็เป็นเรื่องเล่าของผู้แพ้ฝั่งเจ้าผู้เป็นวีรสตรีช่วงก่อนเสียกรุงครั้งที่ 1 เช่นกัน วิกฤตการณ์บ้านเมืองของยุคสมัยกลายเป็นเชื้อฟืนอย่างดีที่ช่วยโหมกระแสชาตินิยมหลังวิกฤตเศรษฐกิจ 2540 ในช่วงที่หนังฉาย ข่าวสารต่างๆ ที่หลั่งไหลแสดงให้เห็นถึงความภาคภูมิใจภายในประเทศถึงกระแสฟีเวอร์ และมักเลี่ยงไม่ได้ที่จะอวดว่าฝีมือของหนังฉบับนี้สามารถโกอินเตอร์ได้ ไม่ว่าจะการเล่นข่าวว่าบริษัทหนังต่างประเทศต้องการจะซื้อด้วยราคาสูง หรือการให้ข่าวว่ามีการชื่นชมจากผู้กำกับระดับโลก[1] หรือคำสัมภาษณ์ของผู้กำกับที่กล่าวว่า 

“เพราะสมัยนี้เราเพิ่งค้นพบว่าคนต่างชาติก็ชอบดูหนังไทยเหมือนกัน ก่อนหน้านี้เราดูถูกฝีมือของเราเองว่าเป็นไปไม่ได้ที่คนชาติอื่นจะมารับหนังไทยได้ แต่พอค้นพบว่าเราก็สามารถทำหนังที่ชาวต่างชาติชอบได้ก็เลยโกอินเตอร์กันเป็นการใหญ่”[2]

ก่อนสุริโยไทฉายถึงกับมีคนต่อว่าผู้กำกับในอินเทอร์เน็ตด้วยซ้ำที่อาจหาญเอ่ยว่าเขาทำได้เกินฝรั่งไปเยอะ เขาสะท้อนว่า “คนไทยส่วนใหญ่นับถือฝรั่งเป็นพ่อ มันก็คงเหมือนผมไปบอกว่าพ่อเราเก่งกว่าพ่อเขา…คุณเก่งยังไง คุณถือดียังไงว่าพ่อคุณดีกว่าพ่อผม…จริงๆ แล้วเราด่าฝรั่งบ้างก็ดี ทุกวันนี้ฝรั่งกลายเป็นพ่อเป็นแม่หมด ทั้งที่จริงๆ แล้วเราเอาฝรั่งมาเป็นขี้ข้า”

นอกจากนั้นฐานสำคัญของหนังสุริโยไท ก็คือการได้รับการสนับสนุนจากสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง (ขณะนั้นคือสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ) เป็นอย่างดี มีการอ้างถึงความผูกพันของพระองค์กับสมเด็จพระศรีสุริโยทัยถึงขนาดว่า พระองค์เคยทรงพระสุบินถึงตอนต้องพระแสงของ้าวเห็นเป็นภาพพระเกศาประบ่า และมอบให้ไข่มุกด์ ชูโตวาดภาพนั้นขึ้นก่อนหนังจะสร้างราว 10 ปี[3] ยังมีทุนจากภาคเอกชนสนับสนุนกว่า 200 ล้านบาทเพื่อสร้างหนังดังกล่าว

ไม่เพียงเท่านั้นในยุคนั้นที่วีซีดีเถื่อนปั๊มขายกันเป็นเรื่องปกติ กลับถูกควบคุมอย่างเคร่งครัดเพื่อมิให้ละเมิดต่อหนังสุริโยไท ข่าวบางแหล่งระบุว่าตำรวจขู่จะวิสามัญผู้ลักลอบผลิตหรือขายเสียด้วยซ้ำ[4] จะจริงแค่ไหนอาจไม่สำคัญ แต่แสดงให้เห็นถึงความไม่ธรรมดาของหนังเรื่องนี้

รู้กันโดยทั่วไปว่าสุริโยไทเป็นหนังมหากาพย์ประวัติศาสตร์ไทยที่เดินตามแนวทางประวัติศาสตร์แห่งชาติที่มีสถาบันกษัตริย์เป็นศูนย์กลาง ดังนั้นการเสริมสร้างความยิ่งใหญ่อลังการของกรุงศรีอยุธยาและตัวละครชนชั้นนำต่างๆ จึงถูกประดิษฐ์ขึ้นอย่างไม่เคยมีภาพยนตร์เรื่องใดทำได้มาก่อน ฉากท้องพระโรงและพระราชบัลลังก์สีทองอร่ามอันศักดิ์สิทธิ์ ฉากสงครามอันยิ่งใหญ่เต็มไปด้วยกองทัพช้างและไพร่พล เครื่องประดับเครื่องแต่งกายของชนชั้นสูงที่ได้รับการออกแบบอย่างพิถีพิถัน 

แต่จะเป็นอย่างไรหากเราจะแสวงหาว่าพื้นที่ของสามัญชนในหนังเรื่องนี้มีอยู่หรือไม่ หรือถูกนำเสนอออกมาอย่างไร จะเป็นไปได้ไหมหากเราจะมองหนังสุริโยไทด้วยมุมอื่นที่ไม่ใช่มองจากเบื้องบนยอดพีระมิด เพื่อเปิดบทสนทนาในวาระครบรอบ 2 ทศวรรษของหนังเรื่องนี้ จึงขอชวนผู้อ่านเข้าไปแกะรอยนั้นด้วยกันกับผู้เขียน

พีระมิดของตัวละคร

เจ้า ขุนนาง กับ ไพร่ ทาส

เราทราบกันดีในว่าในสังคมโบราณ ผู้ที่อยู่บนยอดพีระมิดคือเจ้านายและขุนนาง การสร้างระบบมูลนายและคำอธิบายทางศาสนาได้สถาปนาให้พวกเขาเป็นผู้มีบุญญาธิการที่จะได้ถือครองสมบัติสาธารณะและเข้าถึงทรัพยากรต่างๆ เพื่อควบคุมดูแลคนอยู่ใต้การปกครอง ในหนังจะเห็นว่ากรุงศรีอยุธยามี 2 ตระกูลเจ้าที่มีบทบาทโดดเด่น ก็คือตระกูลจากสุพรรณภูมิ (สุพรรณบุรี-ที่เรียกกันสมัยหลังว่า ‘ราชวงศ์สุพรรณภูมิ’) ที่มีฐานอำนาจจากฝั่งตะวันตกของแม่น้ำเจ้าพระยา และตระกูลจากละโว้ (ลพบุรี-ราชวงศ์อู่ทอง) อันเป็นอำนาจจากฝั่งตะวันออก ผู้เขียนบทผูกปมความขัดแย้งของเรื่องด้วยการชี้ให้เห็นถึงการพยายามช่วงชิงอำนาจของกลุ่มละโว้กลับคืนมา

ไม่เพียงความขัดแย้งระหว่างสองฝั่งอำนาจ สมัยนั้นแม้ในราชวงศ์สุพรรณภูมิก็มิได้เปลี่ยนแผ่นดินอย่างราบรื่น การคุมกำลังไพร่พลเพื่อทำการรัฐประหาร และการสำเร็จโทษกษัตริย์ก็ยังเป็นสิ่งปกติเพื่อขึ้นสู่ยอดมงกุฎแห่งอำนาจ เช่น กรณีรัฐประหารของสมเด็จพระไชยราชาธิราช (พงษ์พัฒน์ วชิรบรรจง) หลังจากนี้ก็มีรัฐประหารเกิดขึ้นอีก 2 ครั้ง คือการขึ้นครองอำนาจของขุนวรวงศาธิราช (จอนนี่ แอนโฟเน่) และการยึดอำนาจคืนโดยพระเฑียรราชา (ศรัณยู วงษ์กระจ่าง) ที่ต่อมาก็ขึ้นเป็นสมเด็จพระจักรพรรดิโดยความร่วมมือของขุนนางคนสำคัญ จะเห็นว่านี่คือเวทีของตัวละครชั้นสูงโดยแท้ เราจะพบเห็นพวกเขาที่ปรากฏผ่านโฟกัสของกล้องถ่ายภาพยนตร์ในฉากอันโดดเด่นอย่างท้องพระโรง เขตพระราชฐาน เรือนของชนชั้นสูง รวมไปถึงพระราชพิธีต่างๆ ทั้งภายในวังและกลางแจ้ง 

ส่วนไพร่และทาส แม้จะเป็นสิ่งมีชีวิตที่มีปริมาณมากกว่า แต่พวกเขาคือมนุษย์ที่ถูกแบ่งชั้นให้อยู่ใต้ฐานพีระมิดของอำนาจและสถานภาพทางสังคม พันธะของพวกเขาถูกผูกอยู่กับเจ้านายในระบบมูลนาย สำหรับชายฉกรรจ์ที่อายุถึงเกณฑ์และอยู่ในพื้นที่ที่อำนาจรัฐเอื้อมถึง จะถูกเกณฑ์ไปเป็นไพร่ในสังกัด บ้างก็เป็นไพร่สมที่ขึ้นอยู่กับขุนนาง บ้างก็เป็นไพร่หลวงที่ขึ้นอยู่กับกษัตริย์

ในยามสงคราม สามัญชนเหล่านี้จะถูกเปลี่ยนเป็นไพร่พล ในยามสงบก็เป็นบ่าวผู้รับใช้ในสังกัดมูลนาย ไพร่อีกประเภทคือผู้ที่อยู่ห่างไกลออกไปจากเขตเมือง พวกเขาใช้สิ่งของอย่างของป่าเป็นเครื่องแลกเปลี่ยนการคุ้มครองที่เรียกกันว่าไพร่ส่วย ขณะที่ทาสเป็นผู้ที่อยู่ฐานล่างสุดของพีระมิด มีลักษณะเป็นสมบัติของผู้เป็นนาย ที่มาของคนในสถานะนี้มีหลายช่องทาง ไม่ว่าจะเป็นการถูกจับมาเป็นเชลยศึก หรือทาสที่ถูกขายตัวเพราะเป็นหนี้ สำหรับคนเหล่านี้เราพบพวกเขาแฝงตัวตามท้องตลาด ท้องน้ำ และที่ขาดไม่ได้คือชายฉกรรจ์ที่เป็นตัวประกอบฉากที่สร้างความยิ่งใหญ่ให้สนามรบ

ตัวเอก-ผู้ร้าย

ว่าด้วยผู้มีบุญญาบารมี กับ คนน่าจะไพร่-สันดานไพร่ และผู้ไร้นาม

แม้ว่าในเชิงวิชาการจะมีการถกเถียงว่าสมเด็จพระสุริโยทัยมีจริงหรือไม่ก็ตาม แต่เมื่อหนังชื่อ ‘สุริโยไท’ ก็ชัดเจนว่า เรื่องนี้ตัวเอกจะเป็นใครไปไม่ได้ ผู้เขียนบทคงประสบความยากลำบากพอควรกับการเนรมิตตัวละครเอกอย่างสุริโยไทให้โลดแล่นในหนังประวัติศาสตร์อยุธยาที่มีเนื้อหาซับซ้อน และในสายตาผู้เขียนแล้ว สมเด็จพระสุริโยไท (ปิยาภัสร์ ภิรมย์ภักดี) นับเป็นตัวละครเด่นตัวเดียวที่มีความ ‘แบน’ กว่าตัวอื่นๆ และยิ่งไปกันใหญ่เมื่อบวกกับความสามารถในการแสดงของนักแสดง ทำให้ตัวเอกฉุดความสมจริงของหนังลงไปอย่างไม่น่าเชื่อ[5] 

สมเด็จพระสุริโยไทเป็นตัวละครที่ไม่แนบเนียนและล่องลอยออกมาจากเนื้อหนังที่สุด ในฐานะตัวเอกที่มีลักษณะเป็นวีรสตรีในอุดมคติ ขณะที่พระเฑียรราชา-สมเด็จพระเจ้าจักรพรรดิ, ขุนพิเรนทรเทพ-สมเด็จพระมหาธรรมราชาธิราช (ฉัตรชัย เปล่งพานิช), สมเด็จพระไชยราชาธิราช ล้วนเป็นตัวละครที่มีด้านที่พึงวิจารณ์และด้านที่ควรสดุดีสลับกันไปตามสถานการณ์

ศึกภายในตระกูลเจ้าถือเป็นอาณาบริเวณของการชิงอำนาจ-รัฐประหาร-ความรุนแรงที่กินเนื้อหาไปเกือบค่อนเรื่อง ศึกดังกล่าวเกิดขึ้นโดยเจ้า เพื่อเจ้า และสำหรับเจ้าโดยแท้ ท้าวศรีสุดาจันทร์ (ใหม่ เจริญปุระ) ถูกวางเป็นขั้วตรงข้ามกับนางเอกอย่างสมเด็จพระสุริโยไท ผ่านสงครามตัวแทนของตระกูล ท้าวศรีสุดาจันทร์คือตัวแทนของตระกูลจากละโว้ มหาอำนาจฝั่งตะวันออกที่พยายามทวงคืนอำนาจให้กลับมาสู่เครือข่ายการเมืองของตน

บทบาทของท้าวศรีสุดาจันทร์ถือว่าครบเครื่องความเป็นตัวร้าย ไม่ว่าจะเป็นการวางยาฆ่าพระสวามีผู้เป็นกษัตริย์อย่างสมเด็จพระไชยราชาธิราช การคบชู้กับพันบุตรศรีเทพ จากนั้นก็ยกชู้ขึ้นเป็นกษัตริย์ในนามขุนวรวงศาธิราช กรรมหนักสามเท่าของท้าวศรีสุดาจันทร์จึงมองเป็นอื่นไม่ได้เลยว่านี่คือหญิงร้ายที่ถูกลิขิตไว้แล้ว แม้ตัวบทจะเจือด้วยเหตุผลว่าแรงจูงใจสำคัญคือ การรื้อฟื้นอำนาจของตระกูลละโว้ก็ตาม

ฝั่งท้าวศรีสุดาจันทร์กับขุนวรวงศาธิราช ยังมีลูกสมุนที่มีส่วนผสมของความเป็นไพร่ ความไม่ใช่ผู้ดิบผู้ดี ความชั่วช้าเลวทรามทั้งหลายเป็นต้นทุน เห็นได้จากอ้ายจัน (เอกพันธ์ บรรลือฤทธิ์) บ้านมหาโลก ช่างตีเหล็ก น้องชายของพันบุตรศรีเทพ ต่อมาจะได้รับการอวยยศให้กลายเป็นพระมหาอุปราชจัน เนื้อหนังได้ฉายความเป็นไพร่และดูกักขฬะ เป็นนักเลงหัวไม้ ไม่ใช่ผู้ดีในมาตรฐานของคนชั้นสูงทั้งหลายเลย

ส่วนอีปริก (จิระวดี อิศรางกูร ณ อยุธยา) คนรับใช้หญิงของท้าวศรีสุดาจันทร์กลับมีลักษณะเป็น ‘ทอม’ สีหน้าท่าทางของตัวละครนี้ดูผิดปกติจากมาตรฐานทางเพศอย่างชัดเจน มีความเหี้ยมโหดและแทบจะเรียกได้ว่าเป็นมือสังหาร อีปริกเป็นมือเป็นไม้ให้ท้าวศรีสุดาจันทร์ในงานปฏิบัติภารกิจต่างๆ แทนโดยเฉพาะงานสกปรก 

อ้ายจันก่อนขึ้นเป็นอุปราช ได้ส่งนักฆ่า ‘ขอม’ จากละโว้ไปที่เรือนของสุริโยไทเพื่อลอบสังหาร นักฆ่าเหล่านี้ยิ่งร้ายกว่า เมื่อมิได้มีภาพลักษณ์เป็นมนุษย์ทั่วไป สีผิวของพวกมันถูกทาทับด้วยสีดำอันมืดสนิท การเคลื่อนไหวในบางฉาก หมอบคลานติดดินกับพื้นราวกับสัตว์ แน่นอนว่าตัวร้ายก็ต้องพบจุดจบ พวกเขาถูกสังหารเสียสิ้นเมื่อบุกเรือนของสมเด็จพระสุริโยไท

อย่างไรก็ดีการเป็นตัวร้ายที่มีใบหน้าเหล่านี้ก็ยังถือว่ามีบทบาทต่อเรื่อง คนดังที่สวมบทบาทที่ต่ำต้อยเหล่านี้ อย่างน้อยก็ได้เครดิต แต่การเป็นตัวประกอบแบบไร้นามนั้นยิ่งกว่า คนเหล่านี้คือทหารเลวในกองทัพ คนใต้สังกัดเจ้าที่เป็นผู้ตามเสด็จและต้องหมอบกราบเมื่อยามเจ้าเหนือหัวปรากฏกาย ถึงตอนนั้นเองที่พวกเขาจะมีประโยชน์ในฐานะองค์ประกอบของรัฐนาฏกรรมที่เป็นส่วนหนึ่งที่ส่งเสริมให้โชว์มีความยิ่งใหญ่และศักดิ์สิทธิ์ มากกว่าจะมีความหมายในตัวของพวกเขาเอง

นมและทรงผม เรือนร่างและอากัปกิริยาที่แตกต่างของเจ้าและไพร่

แล้วเราจะเล่าเรื่องของสามัญชนจากหนังสุริโยไทได้อย่างไร กำพล จำปาพันธุ์ได้วิเคราะห์เรือนร่างของมนุษย์อยุธยาโดยการแบ่งเรือนร่างไว้  2 แบบ[6] นั่นคือเรือนร่างของเจ้านายและไพร่ กรณีของกำพลเขาใช้บันทึกต่างชาติ ภาพประกอบร่วมสมัยในหนังสือฝรั่ง และจิตรกรรมฝาผนังเป็นหลักฐานในการตีความ ในบทความนี้ก็ขอพินิจเรือนร่างผ่านภาพที่ปรากฏบนแผ่นฟิล์มแทน

เราจะเริ่มที่เรือนร่างกันก่อน

ตอนที่หนังเริ่มโปรโมต เรือนร่างของพระอัครชายา (วรรณษา ทองวิเศษ) ในสมเด็จพระบรมราชาธิราชที่ 4 (หน่อพุทธางกูร) ที่เปลือยอก[7] รวมไปถึง เนื้อหนังของพระมหาเทวีจิรประภา (เพ็ญพักตร์ ศิริกุล) ที่ปรากฏผ่านเครื่องแต่งกายพิเศษที่เรียกว่า ‘ก่องนม’ [8] เป็นที่ฮือฮากันอย่างยิ่ง เพราะการเปิดเผยของสงวนถือเป็นเรื่องไม่ปกติในสังคมไทยมาแต่ไหนแต่ไร ความพิเศษอีกชั้นก็คือ การเปิดเผยเรือนร่างของชนชั้นสูงในพื้นที่สาธารณะอย่างภาพยนตร์มักไม่ปรากฏให้เห็นกันมากนัก นม-หน้าอก ของชนชั้นสูงในสุริโยไทจึงเป็นหมุดหมายสำคัญอย่างหนึ่ง 

ความ ‘สมจริง’ ของภาพยนตร์ไทยย้อนยุคได้แสดงให้เห็นมาแล้วตั้งแต่นางนาก (2542) บางระจัน (2543) เรือนร่างชายหญิง กึ่งเปลือยที่ถูกถ่ายทอดออกมาในช่วงนี้จึงเติบโตมากับกระแสนี้ด้วย แต่ก็ยังไม่มีใครทำให้เห็นอย่างเต็มที่แบบหนังสุริโยไท จึงไม่แปลกอะไรที่การแต่งกายของผู้หญิงแบบเกือบเปลือย เช่น การไม่สวมเสื้อ-ผ้าแถบปล่อยให้เห็นหน้าอกเป็นสิ่งที่พบเห็นได้สำหรับตัวประกอบทั่วไปไม่ว่าจะหญิงสาว วัยกลางคน หรือคนชรา แม้จะไม่ใช่ทุกคนในเรื่องที่แก้ผ้าก็ตาม

นมอันหย่อนยานของแม่ครัวร่างอวบอ้วนเป็นที่ติดตาผู้ชมไม่แพ้กัน และยิ่งเป็นที่จดจำมากไปอีกเมื่อเธอต้องสวมบทบาทเป็นผู้ที่ถูกใส่ร้ายว่าเป็นผู้ลอบวางยาพิษสมเด็จพระไชยราชาธิราช ภาพของเธอถูกจับจ้องตั้งแต่ก่อนการถูกจับกุมตัว ระหว่างที่รอถูกประหารชีวิต และสุดท้ายกลายเป็นศพที่ถูกเสียบประจานในที่สาธารณะ

ร่างกายของชายฉกรรจ์ที่เป็นสามัญชน จะถูกแบ่งอย่างเป็นรูปธรรมจากสีหมึกของรอยสัก ไม่ว่าจะเป็นการสักเลกไพร่เพื่อบ่งบอกสังกัดมูลนาย รวมไปถึงการสักตามจุดต่างๆ ของร่างกายเพื่อแสดงความคงกระพันชาตรีและอิทธิฤทธิ์ต่างๆ เมื่อไพร่ไม่สวมเสื้อ เรือนร่างที่เปลือยเปล่าจึงเป็นพื้นที่ในการสื่อสารกับคนในสังคมถึงคุณลักษณะของตนผ่านรอยสักไปด้วย[9]

ต่างจากเรือนร่างของชนชั้นนำที่มิต้องมีข้อผูกมัดเรื่องสังกัด และเรือนร่างของชนชั้นสูงนั้นมิจำเป็นต้องเปิดเผยใดๆ สังเกตได้จากเรือนร่างของสมเด็จพระไชยราชาธิราช หรือสมเด็จพระมหาจักรพรรดิเมื่อปรากฏในที่สาธารณะจะไม่เปิดเผยเรือนร่าง หากยามไม่สวมเสื้อก็จะปรากฏเฉพาะในที่ประทับ ฉากในหนังแสดงให้เห็นว่าตามร่างกายของชนชั้นสูงจะไม่มีรอยสักใดๆ ปรากฏขึ้นเลย ตรงข้ามกับพระมหาอุปราชจันที่ปรากฏรอยสักอยู่เต็มตัว ฉากที่เขาวิ่งพร้อมผ้านุ่งผืนเดียวถือดาบเพื่อจะไปทำลายพิธีบวชและจับกุมพระเฑียรราชาก็แสดงอากัปกิริยาราวกับไพร่นักเลงหัวไม้อันธพาลที่ไร้กิริยามารยาทของผู้ดี

ไม่เพียงเท่านั้น หนังยังใช้ทรงผมของผู้ชายเป็นเครื่องบ่งบอกความแตกต่างทางชนชั้น กำพลชี้ว่า ทรงผมเป็นเครื่องบ่งชี้สถานะในอยุธยา การที่ผู้ชายชั้นสูงไว้ผมยาวก็เพื่อเหมาะกับการสวมมหามงกุฎ เขายังชี้ว่าเศียรพระพุทธรูปหลวงพ่อวัดธรรมิกราชก็มีลักษณะของการไว้ผมยาวแล้วม้วนรัดไว้ด้านบน[10] ที่ผ่านมาชนชั้นสูงมักจะสวมมงกุฎหรือเครื่องสูง ไม่ปล่อยผมยาวประบ่า แต่ในสุริโยไทเราเห็นฉากกษัตริย์อยุธยาและคนชั้นสูงต่างปล่อยผมยาวสลวยในที่พระราชฐาน หรือห้องนอน ไม่ว่าจะเป็นสมเด็จพระไชยราชาธิราช หรือสมเด็จพระมหาจักรพรรดิ ฯลฯ ในทางตรงกันข้าม คนที่สถานะต่ำต้อย ก็คือ ขุนนางระดับล่าง-ไพร่ชายก็ต้องตัดผมสั้นเกรียนที่รู้จักกันในนาม ‘ทรงมหาดไทย’

สำหรับสตรีแล้ว การไว้ผมยาวในอยุธยายังเป็นแฟชั่นที่ไว้กันเป็นปกติต่างจากสมัยรัตนโกสินทร์ที่ตัดสั้นดูแปลกตาในมาตรฐานปัจจุบันอย่างที่เราพบเห็นในหนังนางนาก เพียงแต่ว่าจุดเน้นของสตรีชั้นสูงจะมีการเซ็ตเป็นมวยผมสูง ดังเห็นได้จากสุริโยไท, ท้าวศรีสุดาจันทร์, พระมเหสีจิตรวดี (สินจัย เปล่งพานิช) ฯลฯ

ความเสมอกันของพระเฑียรราชา ในฐานะพระสงฆ์ผู้เป็นเจ้า และพระมหานาค (ยอดชาย เมฆสุวรรณ) พระสงฆ์ผู้เป็นไพร่ อาจอยู่ที่การโกนผม ไม่โกนคิ้ว ครองผ้า แต่ในความเป็นจริง ทั้งคู่มีสถานภาพที่แตกต่างกันมาก เนื่องจากพระเฑียรราชาใช้ร่มกาสาวพัสตร์เป็นที่ลี้ภัยทางการเมือง ขณะที่พระมหานาคเป็นพระที่มีบทบาทอยู่ในชุมชนและตัวบทเขียนให้เป็นกำลังสำคัญในการขุดคลองตั้งรับกับศึกพม่า ไม่เพียงเท่านั้นยังมีบทบาทเสี่ยงภัยอยู่ในแนวหน้าของสงครามเมื่อพม่ายกทัพมาประชิดค่ายใกล้พระนครอีกด้วย ส่วนพระเฑียรราชาเพียงอาศัยผ้าเหลืองชั่วคราวก่อนจะกลับมามีอำนาจขึ้นเป็นกษัตริย์ในนามสมเด็จพระจักรพรรดิ หลังจากที่รัฐประหารขุนวรวงศาธิราชและท้าวศรีสุดาจันทร์สำเร็จ

ความปกติของความรุนแรง รัฐประหารและสงคราม กับ สามัญชนผู้ได้รับผลกระทบ

อาจเป็นเรื่องปกติของสังคมไทยที่แทบไม่สนใจเซ็นเซอร์ความรุนแรงในหนังประวัติศาสตร์ แม้ว่าผู้ชมจะเป็นเด็กระดับประถม เหตุผลของการสนับสนุนดังกล่าวก็อาจต้องการให้ผู้คนจดจำเลือดเนื้อที่เสียไปของบรรพบุรุษในสงครามที่ต้องหลั่งโลหิตเพื่อปกป้องมาตุภูมิของพวกเขา แต่อย่างไรก็ตามความรุนแรงที่เกินเบอร์ในสุริโยไท ไม่ได้เป็นเพียงความรุนแรงแบบเดิมจากสงคราม แต่คือความรุนแรงอันเกิดจากรัฐประหารและความขัดแย้งภายในชนชั้นนำเองด้วย

ความขัดแย้งภายในราชสำนักคือเนื้อหาที่ครอบงำพื้นที่ส่วนใหญ่ของหนัง ชี้ให้เห็นการช่วงชิงอำนาจในราชสำนัก การชิงไหวชิงพริบกันของชนชั้นสูง แสดงออกด้วยความรุนแรงทางกายภาพแบบไม่ปิดบัง ไม่ว่าจะเป็นการสำเร็จโทษกษัตริย์ด้วยท่อนจันทร์ การวางยาพิษกษัตริย์ ฉากฆ่าปาดคอผู้เชิญพระเครื่องเสวยสมเด็จพระไชยราชาธิราช (อีสร้อย-ฝนพา สาทิสสะรัต) ต่อเนื่องไปถึงการประหารชีวิตพนักงานห้องเครื่องผู้ต้องสงสัยว่าวางยาพิษฆ่าสมเด็จพระไชยราชาธิราช หรือกระทั่งการที่ขุนพิเรนทรเทพจับตัวลิ่วล้อฝ่ายพระมหาอุปราชจันมาทรมาน เหล่านี้ล้วนเป็นฉากความรุนแรงที่อยู่นอกสนามรบทั้งสิ้น ความตั้งใจที่จะเน้นความรุนแรง เจ็บปวดให้สมจริงขนาดนี้ ไม่แน่ใจว่าต้องการจะสร้างความบันเทิงจากความรุนแรง หรือพยายามจะทำให้ความรุนแรงจากความขัดแย้งทางการเมืองเป็นเรื่องปกติ หรือมีเหตุผลอื่นก็ไม่ทราบได้

ส่วนท้ายของหนังที่จะปูไปสู่วีรกรรมสำคัญของตัวเอกเป็นความรุนแรงที่คุ้นเคย เพราะมาจากการทำสงครามกับอริราชศัตรู เส้นเรื่องได้เน้นสงครามกับศัตรูตลอดกาลอย่างพม่าที่ได้ยกทัพยาตราเข้ามา ขณะที่ทหารไพร่ทั้งหลายตั้งรับสู้รบ ณ สมรภูมิที่เขาชนไก่ กาญจนบุรี จบลงด้วยความพ่ายแพ้ของทัพอยุธยาต่อพม่า ส่วนนี้ของหนังได้แสดงให้เห็นว่ากษัตริย์พม่าอย่างตะเบ็งชะเวตี้ (ศุภกิจ ตังทัตสวัสดิ์) นั้นเหี้ยมโหดปานใด การสั่งให้จับเชลยศึกฆ่าทิ้งไม่เว้นแม้แต่เด็กและผู้หญิง เผาบ้านเมือง กระทั่งวัด เพราะการต่อต้านของคนละแวกนี้ทำให้กองทัพพม่าเสียเวลาอยู่นาน ขณะที่ศึกบริเวณทุ่งภูเขาทองก็ทำให้เห็นแสนยานุภาพของกองทัพพม่าที่แม้จะหักเอาชัยไม่ได้ในคราแรก ก็เพราะความประมาทของแม่ทัพ จนต้องระดมกำลังครั้งใหม่ 

ที่น่าสังเกตคือ ชนชั้นนำระดับกษัตริย์หรือราชวงศ์ แทบจะไม่ได้เล่นบทผู้สูญเสียจากสงครามเลย ยกเว้นสมเด็จพระสุริโยไท ความตายสำหรับไพร่พลในหนังนับเป็นเรื่องปกติ และหลีกเลี่ยงไม่ได้เพื่อความสมจริงและยิ่งใหญ่ ผู้คนนิรนามที่ล้มตายล้วนเป็นตัวประกอบที่ไม่มีใครรู้จัก แต่ซากศพของคนเหล่านี้จำเป็นอย่างยิ่งกับเรื่องเล่าเช่นนี้ ความพินาศของการทำลายล้างด้วยอาวุธ การบาดเจ็บล้มตายของพลทหารเลว การนองเลือดโดยไม่ต้องคำนึงถึงความรุนแรงที่ส่งผลต่อคนดู ล้วนส่งผลต่อภาพความยิ่งใหญ่ของสงครามแบบที่เราอาจเห็นได้ในภาพยนตร์สงครามอย่าง Braveheart (2538) Saving Private Ryan (2541)

เมื่อย้อนมาดูความตายของกษัตริย์อยุธยาที่ปรากฏในเรื่อง จะเห็นว่านอกจากจะไม่ได้ตายโดยอาการธรรมชาติแล้ว การจากไปก็มิได้แสดงความยิ่งใหญ่ในเชิงนักรบเอาเสียเลย บางพระองค์ประชวรด้วยโรคร้าย เช่น สมเด็จพระรามาธิบดีที่ 2 (พิศาล อัครเศรณี), สมเด็จพระบรมราชาหน่อพุทธางกูร (สุเชาว์ พงษ์วิไล) บางพระองค์ถูกสำเร็จโทษด้วยท่อนจันทน์เช่น สมเด็จพระรัษฎาธิราชกุมาร (ลูคัส อดัม บุญธนากิจ), สมเด็จพระยอดฟ้า (ปรมัติ ธรรมมล) กระทั่งสามารถถูกวางยาพิษด้วยความทรมานอย่างสมเด็จพระไชยราชาธิราชที่จากไปในฉากจมกองเลือด

ความตายเหล่านี้แตกต่างจากมรณกรรมของสมเด็จพระสุริโยไทที่แสดงให้เห็นถึงความยิ่งใหญ่ของวีรสตรีระดับตำนาน เนื่องจากเป็นการเสียสละถึงอย่างน้อย 2 ชั้นไม่ว่าจะเป็นเพื่อบ้านเมืองและเพื่อพระสวามี ความตายนี้จึงเป็นจุดเริ่มต้นและจุดสุดยอดของหนังในตอนท้ายไปในเวลาเดียวกัน ความพ่ายแพ้และสูญเสียนี้จึงมีศูนย์กลางอยู่ที่คนสำคัญหนึ่งเดียวในเรื่อง 

ไม่แปลกที่สามัญชนในหนังจะกลายเป็นองค์ประกอบที่ช่วยสร้างความยิ่งใหญ่ให้กับตัวละครเอกในเรื่อง ในทางกลับกัน วาระที่หนังครบรอบ 20 ปี หากมีผู้คิดจะเขียนบทสร้างจักรวาลใหม่แยกออกจากหนังสุริโยไทไป เราสามารถจะเห็นชีวิตของใครได้บ้างที่ไม่ใช่พระราชวงศ์และขุนนางผู้มีชื่อ ไม่แน่ว่าเรื่องของลูกหลานพระมหานาคอาจจะผูกให้เห็นชีวิตของคนอยุธยาหลังเสียกรุงขึ้นมาในอีกแนวหนึ่งก็เป็นได้

กองทัพในการถ่ายทำภาพยนตร์

ผู้กำกับได้ให้สัมภาษณ์เกี่ยวกับต้นทุนอย่างคร่าวๆ พอให้เห็นภาพค่าใช้จ่ายต่อวันว่า หากต้องการคนยืนพื้น 2 พันคน ช้าง 20 เชือก มีค่าอาหารคน-ช้าง ค่ารถคน-ช้าง-ขนอาหารช้าง จะต้องใช้เงินตกวันละ 2 ล้านบาท[11] เพื่อฉากอันอลังการ นี่คือสิ่งที่ต้องจ่าย อย่างไรก็ตามหนังเรื่องนี้ก็อาศัยการทำงานร่วมกับกองทัพอยู่ด้วย น่าเสียดายที่ไม่สามารถค้นคว้าข้อมูลได้ว่า เบื้องหลังการถ่ายทำ ทหารที่ถูกเชิญมาร่วมงานในฐานะตัวประกอบมีชีวิตอย่างไร ได้ค่าจ้างเท่าไหร่ ตอนทำการถ่ายทำอยู่ในสถานภาพอย่างไร เป็นการช่วยราชการอย่างไรหรือไม่ แต่เครดิตท้ายหนังได้บอกเป็นนัยไว้ว่า มีส่วนไหนเข้ามาเกี่ยวข้องบ้าง หากแบ่งตามภูมิภาคและจังหวัดต่างๆ แล้ว พบการให้เครดิตดังนี้

ภาคกลางและภาคตะวันตก ได้แก่ หน่วยทหารในกรุงเทพฯ 3 หน่วย (ไม่นับหน่วยงานส่วนกลาง อย่างกรมกิจการพลเรือนทหาร กองบัญชาการทหารสูงสุด, กรมแผนที่ทหาร, กรมสรรพาวุธทหารบก, กรมกิจการพลเรือนทหารเรือ, แผนกเรือราชพิธี กองเรือเล็ก กรมการขนส่งทหารเรือ), ลพบุรี 5 หน่วย, สระบุรี 4 หน่วย, ราชบุรี, นครปฐม, กาญจนบุรี และประจวบคีรีขันธ์ อย่างละ 1 หน่วย

ภาคตะวันออก ระบุชื่อหน่วยทหารในชลบุรี 3 หน่วย 

ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ได้แก่ ร้อยเอ็ดมากที่สุดคือ 7 หน่วย, สุรินทร์ 4 หน่วย, นครราชสีมา 3 หน่วย, อุบลราชธานี 2 หน่วย และยโสธร 1 หน่วย  

ส่วนหน่วยทหารในภาคใต้และภาคเหนือนั้นไม่อยู่ส่วนที่ได้รับเครดิตเลย นั่นหมายถึงว่า ไม่ได้ใช้กองกำลังและสถานที่ในภูมิภาคดังกล่าว อาจเพราะภาคเหนือและใต้ไม่มีทรัพยากรที่ต้องการหรือไม่ก็อาจไม่คุ้มค่าการเดินทางไปถ่ายทำ ส่วนที่เด่นมากก็คือค่ายสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช จังหวัดร้อยเอ็ด ที่มีหน่วยที่เกี่ยวข้องถึง 7 หน่วย รองลงมาคือสุรินทร์ 4 หน่วย อาจเพราะว่าร้อยเอ็ดอยู่ใกล้กับจังหวัดสุรินทร์ที่เป็นแหล่งช้างที่น่าจะเป็นสัตว์สำคัญในการเข้าฉากสงครามต่างๆ สอดคล้องกับข่าวที่พูดถึงกระแสฟีเวอร์หนังสุริโยไทของคนสุรินทร์กับหนังเรื่องนี้มากเป็นพิเศษ โดยอ้างว่ามีความคุ้นเคยกับกองถ่ายที่เข้ามาถ่ายทำกันนานแรมปี[12]  

หากแยกตามหน่วยต่างๆ จะเห็นว่า มีส่วนที่เกี่ยวกับอาวุธ, หน่วยปืนใหญ่, ทหารม้า-ขี่ม้า-สัตว์ต่าง, ทหารราบ, ทหารช่าง, การรักษาพยาบาล, เรือและทางน้ำ หรือกระทั่งเกี่ยวกับการบิน ประเภทของหน่วยงานอาจพอทำให้เห็นว่ามีส่วนช่วยในการถ่ายอยู่ไม่น้อยดังที่เห็นได้จากฉากเห่เรือ-สู้รบทางน้ำก็อาจจะต้องใช้ความร่วมมือกับกรมกิจการพลเรือนทหารเรือ หรือแผนกเรือราชพิธี กองเรือเล็ก กรมการขนส่งทหารเรือที่มีฮาวทูที่เกี่ยวข้อง 

สุริโยไทจึงมิได้เป็นหนังมหากาพย์ที่มีเงินทุนสนับสนุนอย่างแน่นหนาเท่านั้น แต่ยังอาศัยพลังสนับสนุนจากกองทัพ เช่นเดียวกับการสนับสนุนของนายทุนต่างๆ ในยุคที่เศรษฐกิจกำลังทรงตัว และฟื้นตัวขึ้นภายใต้รัฐบาลทักษิณ ชินวัตร

หนังเรื่องนี้จึงเป็นตัวแทนของยุคสมัยอันเป็นรอยต่อของกระแสราชาชาตินิยมที่เติบโตไปพร้อมกับความมั่นใจทางการเมือง และเศรษฐกิจช่วงกลางทศวรรษ 2540 การย้อนยุคของหนังไปสู่อดีตทำให้ตัวละครต่างๆ ในภาพยนตร์กลายเป็นภาพจำของบุคคลในประวัติศาสตร์ไปอีกนานแสนนาน ความสำเร็จนี้นำไปสู่การสร้างหนังอีกเรื่องที่อาจนับเป็นภาคต่อก็คือ ตำนานสมเด็จพระนเรศวรมหาราช และเช่นเดิม ตัวเอกที่รับบทวีรกษัตริย์มิใช่นักแสดงมืออาชีพ แต่คราวนี้เป็นนายทหารชั้นสัญญาบัตรในกองทัพบก

หนังสุริโยไท ไทยรักไทย รัฐประหาร และกล่องแพนโดราที่ถูกเปิด

ไทม์ไลน์ของสุริโยไทได้ทาบทับชีวิตการเมืองของทักษิณ ชินวัตรอย่างน่าสนใจ 

รอบปฐมทัศน์สุริโยไท ฉายเมื่อวันที่ 12 สิงหาคม 2544 ตรงกับวันเฉลิมพระชนมพรรษาสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ (ขณะนั้น) การเสด็จของในหลวงรัชกาลที่ 9 และสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ รวมทั้งพระบรมวงศานุวงศ์ ณ โรงภาพยนตร์เฉลิมกรุง เป็นการตอกย้ำความสำคัญของภาพยนตร์ดังกล่าวเป็นอย่างยิ่ง

ทักษิณ ชินวัตรเป็นผู้นำทูตานุทูตและคณะรัฐมนตรี รวมถึงเจ้าหน้าที่สำนักพระราชวังกว่า 400 ชีวิตเข้าชม โดยมี ม.จ.ชาตรีเฉลิม ยุคล ผู้กำกับพร้อมด้วยเหล่านักแสดงเฝ้ารับเสด็จ[13] ที่ควรตั้งข้อสังเกตไว้ด้วยก็คือ ก่อนหน้ารอบปฐมทัศน์ไม่กี่วันทักษิณ ชินวัตรก็เพิ่งจะหลุดพ้นจากคดีซุกหุ้น (3 สิงหาคม 2544)[14] นับว่ายังเป็นช่วงที่ทักษิณยังอยู่ในช่วงตั้งไข่ สั่งสมบารมีและพลังทางการเมืองอยู่ รายการนายกฯ ทักษิณพบประชาชนที่เป็นลายเซ็นสำคัญของเขา เพิ่งเกิดขึ้นเป็นครั้งแรกเมื่อวันที่ 28 เมษายน 2544 ก่อนหนังฉายราว 3 เดือน[15]

ความทรงพลังของทักษิณ ชินวัตรและพรรคไทยรักไทย เกิดขึ้นได้จากความนิยมของประชาชน ด้วยนโยบายที่โดนใจประชาชน พร้อมไปกับการครองอำนาจรวมศูนย์ที่เข้มแข็ง นำไปสู่การปรับเปลี่ยนกลไกสำคัญอย่างระบบราชการ และนำวิธีการบริหารแบบเอกชนเข้ามาทำให้รัฐบาลทำงานได้อย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้น แต่จุดบอดสำคัญของรัฐบาลไทยรักไทยคือ ความฉ้อฉลและคอร์รัปชันในแวดวงการเมืองจากมุ้งการเมืองทั้งหลาย รวมไปถึงนโยบายพัฒนาที่ส่งผลต่อชุมชนและสิ่งแวดล้อม โดยไม่รับฟังความคิดเห็นของฝ่ายคัดค้าน ปัญหาของรัฐบาลที่ดูเหมือนว่าจะไม่สามารถควบคุมได้นี้ กลายเป็นข้อวิตกและข้อถกเถียงอย่างกว้างขวางในปลายทศวรรษ 2540 การเกิดขึ้นของคำว่า ‘ระบอบทักษิณ’ แสดงให้เห็นถึงพลังการตั้งคำถาม [16] แม้จะมีหลายแนวคิดที่ขี่กระแสต่อต้าน แต่ปฏิเสธมิได้เลยว่ากระแสนิยมเจ้ากลายเป็นตัวชี้ขาด การยัดเยียดข้อหาไม่จงรักภักดีต่างๆ นานาผ่านสื่อและการชุมนุมของกลุ่มต่อต้านได้โหมกระแสไปสู่การโค่นล้มรัฐบาลอย่างเผ็ดร้อน

ตัวแปรสำคัญอีกส่วนหนึ่งก็คือกองทัพ หลังจากที่เคยถูกผลักเข้ากรมกองหลังเหตุพฤษภาทมิฬ 2535 กองทัพก็เริ่มได้รับการเชื่อมต่อ สัญลักษณ์สำคัญอาจเห็นได้จากการที่เปรม ติณสูลานนท์ออกมาเอ่ยวาทะก่อนรัฐประหารเพียง 2 เดือนว่า “ทหารแทนคุณแผ่นดิน เพราะเป็นทหารของชาติและพระเจ้าแผ่นดิน รัฐบาลเป็นเพียงผู้ดูแลเท่านั้น เปรียบเหมือนจ็อกกี้ ที่มาแล้วก็ไป”[17] ยิ่งไปกว่านั้น สพรั่ง กัลยาณมิตร แม่ทัพภาคที่ 3 ได้เฉลยหลังรัฐประหารว่า มีเตรียมการยึดอำนาจมาก่อนแล้วถึง 8 เดือน[18]  

ในที่สุดกองทัพก็สตาร์ตรถถัง ทำการโค่นล้มรัฐบาลทักษิณ ชินวัตร ได้จริงๆ เมื่อวันที่ 19 กันยายน 2549 นั่นทำให้กองทัพกลับมามีอิทธิพลในสังคมไทยอย่างเป็นรูปธรรม อาจไม่เกี่ยวข้องกันเสียทีเดียวแต่หลังจากนั้นราว 4 เดือนก็มีการฉายภาพยนตร์ ตำนานสมเด็จพระนเรศวรมหาราช ภาค 1 องค์ประกันหงสา (2550) อันเป็นหนังเชิดชูองค์กษัตริย์นักรบคนสำคัญที่สุดของ ‘ประวัติศาสตร์ชาติไทย’

ผู้กำกับที่เป็นคนเดียวกับสุริโยไทให้สัมภาษณ์ไว้ว่า หนังวีรกษัตริย์เรื่องนี้ “เราทำขึ้นมาเพื่อถวายในหลวง รายได้ทุกบาททุกสตางค์ผมจะนำไปทูลเกล้าฯ ถวายในหลวง จะไม่หักค่าใช้จ่ายอะไรใดๆ เลย… พวกที่จะรอซื้อวีซีดีผีก็พึงคิดเอาไว้ว่าจะไม่ได้ทำอะไรเพื่อในหลวงของเราเลย แถมยังจะเป็นการทำลายเสียอีกด้วย[19]        

ไม่มีใครคาดคิดว่า จากรัฐประหารในครั้งนั้นนำไปสู่การเปิดกล่องต้องห้ามขึ้นมา อุบัติการณ์นี้ไม่ได้เป็นการฆ่าทักษิณทางการเมืองเท่านั้น แต่ยังทำลายคุณค่าประชาธิปไตย และโครงสร้างที่มีความเป็นธรรมที่คนไม่น้อยยึดถือร่วมกันไปด้วย นั่นอาจนับเป็นจุดเริ่มต้นของการเมืองมวลชนที่แบ่งขั้วทางการเมืองไทยอย่างรุนแรง คณะรัฐประหารทำให้มวลชนฝ่ายประชาธิปไตยลองผิดลองถูกในการต่อต้าน จนในที่สุดได้กลับไปนิยามความเป็นสามัญชนที่หลากหลายขึ้นในพื้นที่สาธารณะ โดยเฉพาะการกลับไปอิงกับคณะราษฎร การปฏิวัติสยาม 2475 หรือกระทั่งสามัญชนแบบที่ฝ่ายซ้ายเคยนิยามไว้ จากจุดนั้น สามัญชนที่เคยเป็นเพียงองค์ประกอบของฉากที่ยิ่งใหญ่เริ่มเปล่งเสียงเป็นของตัวเอง เริ่มขยับขยายพื้นที่ มีตัวตนขึ้นมา ไม่ใช่เพียงตัวละครไร้นามที่เป็นผู้รอการสงเคราะห์จากผู้มีบุญญาบารมีเท่านั้น

และนี่อาจเป็นคำตอบของคำถามว่า ทำไมผู้เขียนถึงต้องเสียเวลามาแสวงหาความเป็นสามัญชนระหว่างบรรทัดในหนังสุริโยไท ทั้งที่ข้อความหลักของผู้สร้างไม่ได้ต้องการจะนำเสนอสิ่งเหล่านั้นเลย.


[1] “ ‘สุริโยไท’ กระหึ่ม บริษัทหนังนอกทุ่มซื้อสูงกว่า 900ล้าน”, มติชน, (13 กุมภาพันธ์  2545) : 18, “ ‘คอปโปล่า’ ชมใหม่ฝีมือระดับอินเตอร์ ”, ข่าวสด, (10 มีนาคม 2545) : 11

[2] วันชัย ตันติวิทยาพิทักษ์ และวิวัฒน์ พันธวุฒิยานนท์, “สุริโยไท กับบางตอนในหน้าประวัติศาสตร์ หม่อมเจ้าชาตรีเฉลิม ยุคล”, สารคดี, 17 : 198 (สิงหาคม 2544) : 119

[3] ข่าวสด, (9 สิงหาคม 2544) : 1, 8

[4] “คุมเข้มวีซีดี ‘สุริโยไท’ ถึงขึ้นขู่ ‘วิ’ ”, ข่าวสด, (22 สิงหาคม 2544) : 16

[5] จากการสัมภาษณ์ปิยาภัสร์ ภิรมย์ภักดีในรายการเจาะใจ เมื่อ 14 สิงหาคม 2544 ยังบอกกับพิธีกรว่า มีฉากที่ต้องร้องไห้ แต่ไม่สามารถร้องได้ ก็ถ่ายทั้งที่ไม่ร้องไห้เสียอย่างนั้น ไม่ได้มีการถ่ายซ่อมแต่อย่างใด ดูใน Kaew Suwanmatcha. “รายการเจาะใจ เบื้องหลังภาพยนต์สุริโยไท”. สืบค้นเมื่อ 13 กรกฎาคม 2564 จาก https://www.youtube.com/watch?v=C9DtCLgpQ2o (20 มกราคม 2561)

[6] กำพล จำปาพันธ์, มนุษย์อยุธยา ประวัติศาสตร์สังคม จากข้าวปลา หยูกยา ตำรา SEX (กรุงเทพฯ : มติชน, 2564), หน้า 19-72

[7] นิวัติ กองเพียร, “วรรณษา ทองวิเศษ พระอัครชายา”, มติชน, (2 กันยายน 2544) : 11

[8] “คนล้านนาต่อว่าเพ็ญพักตร์ สื่อ ‘มหาเทวีจิรประภา’โป๊”, มติชน, (13 สิงหาคม 2544) : 14

[9] กำพล จำปาพันธ์, เรื่องเดียวกัน, หน้า 50-51

[10] กำพล จำปาพันธ์, เรื่องเดียวกัน, หน้า 19-22

[11] วันชัย ตันติวิทยาพิทักษ์ และวิวัฒน์ พันธวุฒิยานนท์, เรื่องเดียวกัน : 117

[12] “ ‘สุริโยไท’ ฟีเวอร์โรงทะลัก วันแรก-รถติดทั่วกรุง”, ข่าวสด, (18 สิงหาคม 2544) : 1, 13

[13] “ปีติในหลวงเสด็จปฐมทัศน์สุริโยไท”, ข่าวสด, (13 สิงหาคม 2544) : 1, 13

[14] “เบื้องหลัง8เสียงตัดสินทักษิณชนะอิงคดี ‘ชวน-บัญญัติ’’”, ข่าวสด, (4 สิงหาคม 2544) : 1, 9, 10-13

[15] ญาฌิศภาค กาญจนวิศิษฐ์, กระบวนการสร้างความหมายและบทบาทวาทกรรมรายการนายกฯทักษิณคุยกับประชาชาชน วิทยานิพนธ์นิเทศศาสตรมหาบัณฑิต สาขาวิชาการสื่อสารมวลชน ภาควิชาการสื่อสารมวลชน คณะนิเทศศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย, 2547, หน้า 47

[16] แม้แต่นิตยสารอย่าง ฟ้าเดียวกัน ก็ขึ้นหน้าปกด้วยคำว่า “ระบอบทักษิณ” ภายในประกอบด้วยบทความวิพากษ์วิจารณ์อำนาจทางการเมืองของเครือข่ายทักษิณ ชินวัตรอย่างกว้างขวาง ดูใน ฟ้าเดียวกัน, 2 : 1 (มกราคม-มีนาคม 2547)

[17] ประชาไท. “พงศ์เทพ ย้อน “เปรม” รัฐบาลไม่ใช่เจ้าของทหาร แต่มีหน้าที่บัญชาการตามกฎหมาย”. สืบค้นเมื่อ 13 กรกฎาคม 2564 จาก https://prachatai.com/journal/2006/07/8989 (16 กรกฎาคม 2549)

[18] “มทภ.3เผยเตรียมการมา8เดือน ทภ.2ปัดแตกคอ-ยันหนุน’สนธิ’”, มติชน, (23 กันยายน 2549) : 19

[19] “ระบุพวกซื้อวีซีดีผี ‘นเรศวร’ ไม่มีส่วนร่วมเพื่อ ‘ในหลวง’”, มติชน, (22 มกราคม 2550) : 19

MOST READ

Life & Culture

14 Jul 2022

“ความตายคือการเดินทางของทั้งคนตายและคนที่ยังอยู่” นิติ ภวัครพันธุ์

คุยกับนิติ ภวัครพันธุ์ ว่าด้วยเรื่องพิธีกรรมการส่งคนตายในมุมนักมานุษยวิทยา พิธีกรรมของความตายมีความหมายแค่ไหน คุณค่าของการตายและการมีชีวิตอยู่ต่างกันอย่างไร

ปาณิส โพธิ์ศรีวังชัย

14 Jul 2022

Life & Culture

27 Jul 2023

วิตเทเกอร์ ครอบครัวที่ ‘เลือดชิด’ ที่สุดในอเมริกา

เสียงเห่าขรม เพิงเล็กๆ ริมถนนคดเคี้ยว และคนในครอบครัวที่ถูกเรียกว่า ‘เลือดชิด’ ที่สุดในสหรัฐอเมริกา

เรื่องราวของบ้านวิตเทเกอร์ถูกเผยแพร่ครั้งแรกทางยูทูบเมื่อปี 2020 โดยช่างภาพที่ไปพบพวกเขาโดยบังเอิญระหว่างเดินทาง ซึ่งด้านหนึ่งนำสายตาจากคนทั้งเมืองมาสู่ครอบครัวเล็กๆ ครอบครัวนี้

พิมพ์ชนก พุกสุข

27 Jul 2023

Life & Culture

4 Aug 2020

การสืบราชสันตติวงศ์โดยราชสกุล “มหิดล”

กษิดิศ อนันทนาธร เขียนถึงเรื่องราวการขึ้นครองราชสมบัติของกษัตริย์ราชสกุล “มหิดล” ซึ่งมีบทบาทในฐานะผู้สืบราชสันตติวงศ์ หลังการเปลี่ยนแปลงการปกครองโดยคณะราษฎร 2475

กษิดิศ อนันทนาธร

4 Aug 2020

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • Always Active

Save