fbpx

ทำไมอาจารย์มหาวิทยาลัยกลายเป็นพวก ‘อิกนอร์’

ขณะที่สังคมไทยกำลังอยู่ในห้วงเวลาที่ยุ่งยากเป็นอย่างมาก ทั้งในแง่มุมทางการเมือง เศรษฐกิจ ความปลอดภัยด้านสุขภาพ จนทำให้เกิดการเรียกร้องเกิดขึ้นอย่างกว้างขวางจากผู้คนหลากหลายกลุ่ม แม้กระทั่งดารานักแสดงก็ยังถูก ‘คอลเอาต์’ แต่สำหรับอาจารย์มหาวิทยาลัยดูราวกลับจะไม่ค่อยปรากฏกระแสเสียงเรียกร้องให้ออกมาเกิดขึ้นมากเท่าไหร่

มีอาจารย์จำนวนหนึ่งที่เป็น ‘ขาประจำ’ ต่อการแสดงความเห็นในแง่มุมต่างๆ รวมถึงการมีบทบาทในหลากหลายด้าน จนอาจทำให้เกิดความรู้สึกในสาธารณชนว่าผู้คนในแวดวงที่ประกอบอาชีพอาจารย์มหาวิทยาลัยเป็นกลุ่มที่พอจะรู้ร้อนรู้หนาวกับความเป็นไปของบ้านเมือง

อย่างไรก็ตาม หากเปรียบเทียบกับจำนวนอาจารย์มหาวิทยาลัยที่มีอยู่ทั่วทั้งประเทศประมาณ 50,000 คน (มหาวิทยาลัยของรัฐประมาณ 4,800 มหาวิทยาลัยในกำกับ 32,000 และมหาวิทยาลัยราชภัฎ 14,000) ต้องนับว่าบรรดาขาประจำเหล่านี้ซึ่งอาจมีในหลักร้อยคนถือเป็นจำนวนขี้ประติ๋วมาก

ถ้าจะพูดแบบไม่ต้องเกรงอกเกรงใจบรรดาคนรู้จักหรือเพื่อนร่วมอาชีพที่ต้องเห็นหน้าค่าตากันอยู่ ผมอยากจะบอกว่าบรรดาอาจารย์มหาวิทยาลัยนี่แหละคือพวก ‘อิกนอร์’ (ignorant) กลุ่มใหญ่เบ้อเร้อเลย (หากอธิบายให้ยาวมากขึ้นก็หมายถึงกลุ่มบุคคลที่ไม่ได้มีความรู้สึกรู้สากับความเป็นไปของผู้คนหรือสังคมที่ตนเองมีชีวิตอยู่ จะมีความขัดแย้งรุนแรงแบบถึงแก่ชีวิต จะมีความวิบัติทางเศรษฐกิจ ฯลฯ แต่พวกอิกนอร์ก็จะยังคงมีชีวิตได้อย่างสบายต่อไป แม้อาจจะพอรับรู้สถานการณ์ต่างๆ แต่ก็ไม่ได้มี ‘อารมณ์ความรู้สึก’ ในเรื่องราวเหล่านั้น)

ประเด็นที่ต้องการเขียนถึงในที่นี้ไม่ได้มีความต้องการที่จะเรียกร้องบรรดาอาจารย์ให้ออกมามีบทบาททางสังคม รวมทั้งไม่ได้มีความหมายว่าคนที่แสดงบทบาทในทางสาธารณชนนั้นมีอุดมการณ์อันสูงส่งหรือสถานะอันน่าเคารพนับถือมากกว่า เพียงแต่อยากทำความเข้าใจว่าเป็นเพราะอะไรคนกลุ่มนี้จึงมีท่าทีที่ค่อนข้างสงบเงียบต่อความเป็นไปในบ้านเมือง แม้ห้วงเวลาที่กำลังก้าวย่างไปอยู่ในภาวะวิกฤตอย่างรุนแรง

ที่อยากทำความเข้าใจก็เพราะว่าโดยทั่วไปบุคคลที่อยู่ในสถานะของการเป็นอาจารย์มักถูกคาดหมายว่าคนกลุ่มนี้น่าจะเป็นผู้รู้ ผู้ที่ตระหนักถึงปัญหา รวมทั้งเป็นผู้ที่มีเวลากับการขบคิดไตร่ตรองกับประเด็นความขัดแย้งมากกว่าคนที่ประกอบอาชีพอื่นๆ ดังนั้น ความนิ่งเงียบของบรรดาผู้รู้ต่อความทุกข์ร้อนของสังคมจึงเป็นสิ่งที่น่าทำความเข้าใจไม่น้อย

ในเบื้องต้น พึงตระหนักว่าตำแหน่งงานอาจารย์ในมหาวิทยาลัยไม่ใช่เพียงต้องการคุณวุฒิในระดับสูงอย่างเดียว หากยังต้องสำเร็จจากสถาบันที่มีชื่อเสียงไม่ว่าจะเป็นภายในหรือภายนอกประเทศ การเข้าศึกษาในสถาบันเช่นว่าก็ล้วนแต่ต้องการต้นทุนทางสังคมซึ่งเฉพาะคนบางกลุ่มเฉพาะอย่างยิ่งชนชั้นกลางขึ้นไปที่สามารถเข้าถึง เอาแค่ความสามารถทางด้านภาษาต่างประเทศ ชนชั้นกลางที่สามารถส่งลูกไปเทกคอร์สในต่างประเทศช่วงปิดเทอม ถ้าไม่ได้กะโหลกหนามากจนเกินไปนักก็ย่อมมีทักษะที่สูงกว่าบรรดานักเรียนมัธยมจากโรงเรียนห้วยข้าวต้มวิทยาเป็นแน่แท้

ลองไล่ดูถึงภูมิหลังอาจารย์มหาวิทยาลัยจำนวนมากก็ล้วนแล้วแต่จบการศึกษาจากโรงเรียนดังในประเทศไทย ก่อนจะสามารถไปเรียนต่อในต่างประเทศ ไม่ว่าจะด้วยทุนส่วนตัวหรือถ้ายิ่งเป็นทุนของรัฐบาลก็ยิ่งดี เพราะจะยิ่งการันตีว่าอั๊วได้ผ่านการแข่งขันกับบรรดาหัวกะทิจำนวนไม่น้อย การได้รับทุนคือเครื่องยืนยันว่าหัวสมองของตนเองสูงส่งกว่าคนอื่นโดยธรรมชาติ

ด้วยการประสบความสำเร็จในการศึกษาจึงมีแนวโน้มทำให้คนกลุ่มนี้เข้าใจว่าความสำเร็จของตนมาจากความเก่งกล้าสามารถเชิง ‘ปัจเจก’ โดยแท้ คนที่ไม่สามารถก้าวหน้าเช่นตนเองก็คือคนที่มีสติปัญญาต่ำกว่า

ในด้านของการประกอบอาชีพ แม้ในปัจจุบันส่วนใหญ่จะไม่ได้มีสถานะเป็นข้าราชการเฉกเช่นเดิม โดยมีความแตกต่างด้านสวัสดิการบางด้าน เช่น การรักษาพยาบาล บำเหน็จบำนาญ แต่ก็ต้องถือว่าสถานะของอาจารย์มหาวิทยาลัยยังอยู่ในระดับที่ดีกว่าข้าราชการโดยทั่วไปอยู่ไม่น้อย (อันนี้ขอหมายความถึงเฉพาะบุคคลที่ได้รับการบรรจุให้เป็นอาจารย์ประจำแล้วเท่านั้น เพราะมีจำนวนไม่น้อยที่ยังคงอยู่ในสถานะของการเป็นอาจารย์ชั่วคราวแบบต่อเนื่อง ซึ่งมีลักษณะบางประการที่แตกต่างออกไปอย่างสำคัญ)

และโดยที่ยังคงได้รับเงินสนับสนุนจากรัฐจึงเป็นผลให้ตราบเท่าที่สภาวะทางด้านงบประมาณยังไม่เผชิญกับวิกฤตด้านเศรษฐกิจอย่างรุนแรง เช่นเดียวกันกับหลายหน่วยงานรัฐ บุคลากรในมหาวิทยาลัยจะอยู่ในส่วนที่ห่างไกลจากผลกระทบทางเศรษฐกิจ อาจารย์มหาวิทยาลัยยังคงมีความมั่นคงในเงินเดือนและผลตอบแทนเป็นอย่างมาก

ดังนั้น แม้ผู้คนร่วมสังคมจะต้องตกงาน หยุดงาน ไม่สามารถทำมาหากินได้ตามปกติ แต่อาจารย์มหาวิทยาลัยก็ยังได้รับเงินเดือนตามปกติ ขณะที่การเรียนการสอนก็อาจปรับไปสู่ระบบออนไลน์ซึ่งอาจมีความวุ่นวายอยู่บ้างแต่ก็ไม่ใช่เรื่องที่ก่อให้เกิดความยากลำบากมากมายประการใด

รวมไปถึงการแสวงหาความเจริญก้าวหน้าในทางอาชีพก็ยังคงดำเนินไปตามปกติ การประชุมสัมมนาผ่านระบบออนไลน์ที่ดูราวกับจะมีคนเข้าร่วมเป็นจำนวนมากอย่างสม่ำเสมอก็คือ how to ขอตำแหน่งวิชาการให้ประสบความสำเร็จหรือหัวข้อใกล้เคียงประมาณนี้ ไม่เป็นที่น่าแปลกใจแต่อย่างใดว่าประเด็นที่จะสามารถสร้างกระแสให้เกิดการ ‘ลุกฮือ’ ได้ง่ายที่สุดก็คือ การเพิ่มความยากลำบากในการขอตำแหน่งวิชาการให้สูงขึ้น

นี่เป็นประเด็นที่อาจารย์มหาวิทยาลัยซีเรียสมากกว่าประเด็นอื่นใด

ถึงจะไม่ใช่ข้าราชการระดับสูงหรือเป็นหน่วยงานที่รัฐให้ความสำคัญในระดับแนวหน้าเหมือนฝ่ายขุนศึกและตุลาการ แต่อาจารย์มหาวิทยาลัยก็ตามหลังมาอยู่ไม่ห่าง พร้อมกันกับเสียงที่อาจดังกว่าคนกลุ่มอื่นในทางสาธารณะทำให้ผู้มีอำนาจรัฐก็ต้องเกรงอกเกรงใจอยู่ไม่น้อย

ด้วยภูมิหลังและสังคมที่แวดล้อมอยู่ ทำให้พวกเขาเหล่าผู้มีความรู้จึงดำรงอยู่ในอีกโลกหนึ่งที่ห่างไกลไปจากโลกของประชาชนในสังคม ความรู้สึกร้อนหนาวจึงมีความแตกต่างจากประชาชนที่ต้องเผชิญหน้ากับวิกฤตในขณะนี้

ทั้งนี้ ไม่ได้หมายความว่าพวกเขาจะดำรงอยู่โดยไม่สัมพันธ์กับเงื่อนปัจจัยทางการเมือง การออกมาเข้าร่วมกับขบวนการนกหวีดก่อนการรัฐประหารเมื่อ พ.ศ. 2557 คือรูปธรรมที่แสดงให้เห็นว่าอาจารย์มหาวิทยาลัยก็อยู่ภายใต้อุดมการณ์ชนิดหนึ่งเช่นเดียวกัน เมื่ออุดมการณ์หลักแบบจารีตที่ครอบงำจิตวิญญาณได้ถูกท้าทายจากการเคลื่อนไหวของขบวนการเสื้อแดง คนกลุ่มนี้ก็พร้อมจะตอบโต้อย่างแข็งขัน

อย่างไรก็ตาม การพังทลายของเสาหลักแห่งอุดมการณ์จารีตทำให้อาจารย์มหาวิทยาลัยมีความสัมพันธ์ที่เบาบางลงอย่างเห็นได้ชัด ยิ่งในคนรุ่นใหม่ที่เปลี่ยนแปลงไปก็ยิ่งถอยห่างจากอุดมการณ์แบบเก่ามากยิ่งขึ้น ส่วนผู้ที่เคยผ่านร้อนผ่านหนาวในห้วงเวลาของการเป่านกหวีดซึ่งเห็นความเหลวแหลกที่แสดงอยู่ต่อหน้าในปัจจุบัน จำนวนหนึ่งก็เลือกจะดำรงตนแบบอิกนอร์ไป กลายเป็นกลุ่มที่ ‘ไม่สนใจการเมือง’ อีกแล้ว

ทั้งหมดนี้เพื่ออยากให้เกิดความเข้าใจว่าเอาเข้าจริงอาจารย์ในมหาวิทยาลัยก็เป็นเพียงปุถุชนธรรมดา ไม่ได้วิเศษวิโสไปกว่าผู้คนกลุ่มอื่นๆ อาจแตกต่างไปบ้างตรงความรู้เฉพาะด้านเฉพาะสาขาที่ได้ร่ำเรียนหรือศึกษา แต่ในด้านของอุดมการณ์ ผลประโยชน์ทางเศรษฐกิจ หรือสถานะทางสังคมแล้ว พวกเขาเหล่านั้นก็คืออีกกลุ่มผลประโยชน์ที่ไม่ควรพึงคาดหวังอะไรมากนักโดยเฉพาะอย่างยิ่งต่อประเด็นของส่วนรวม

MOST READ

Social Issues

9 Oct 2023

เด็กจุฬาฯ รวยกว่าคนทั้งประเทศจริงไหม?

ร่วมหาคำตอบจากคำพูดที่ว่า “เด็กจุฬาฯ เป็นเด็กบ้านรวย” ผ่านแบบสำรวจฐานะทางเศรษฐกิจ สังคม และความเหลื่อมล้ำ ในนิสิตจุฬาฯ ปี 1 ปีการศึกษา 2566

เนติวิทย์ โชติภัทร์ไพศาล

9 Oct 2023

Education

20 Jul 2023

คณะอักษรศาสตร์ จุฬาฯ ในวิกฤต (?)

ข่าวการปรับหลักสูตรของอักษรศาสตร์ จุฬาฯ ชวนให้คิดถึงอนาคตของการเรียนการสอนสายมนุษยศาสตร์ เมื่อตลาดแรงงานเรียกร้องทักษะสำหรับการทำงานจริง จนมีการลดความสำคัญวิชาพื้นฐานอันเป็นการฝึกฝนการวิเคราะห์วิพากษ์เพื่อทำความเข้าใจโลกอันซับซ้อน

เสียงเล็กๆ จากประชาคมอักษร

20 Jul 2023

Social Issues

5 Jan 2023

คู่มือ ‘ขายวิญญาณ’ เพื่อตำแหน่งวิชาการในมหาวิทยาลัย

สมชาย ปรีชาศิลปกุล เขียนถึง 4 ประเด็นที่พึงตระหนักของผู้ขอตำแหน่งวิชาการ จากประสบการณ์มากกว่าทศวรรษในกระบวนการขอตำแหน่งทางวิชาการในสถาบันการศึกษา

สมชาย ปรีชาศิลปกุล

5 Jan 2023

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • Always Active

Save