fbpx

อำนาจอันยิ่งใหญ่มาพร้อมความรับผิดชอบอันใหญ่ยิ่ง : ทำไมสถาบันกษัตริย์ต้องอยู่ใต้รัฐธรรมนูญ ‘ปราการ กลิ่นฟุ้ง’

หลังเกิดปรากฏการณ์ ‘ทะลุเพดาน’ ในปี 2563 ข้อเสนอปฏิรูปสถาบันกษัตริย์ 10 ข้อของกลุ่มแนวร่วมธรรมศาสตร์และการชุมนุมได้กลายเป็นหนึ่งในประเด็นสำคัญของการเคลื่อนไหวทางการเมืองของประชาชน และเป็นหัวข้อที่ฟุ้งอยู่ในบทสนทนาของสาธารณะ แม้ข้อเสนอทั้งสิบจะมีเนื้อหารายละเอียดแตกต่างกัน แต่เมื่อมองภาพใหญ่แล้ว ใจความสำคัญหนึ่งที่สะท้อนออกมาคือการจัดวางและขีดเส้นให้สถานะและพระราชอำนาจของสถาบันฯ​ เพื่อให้สถาบันฯ ดำรงอยู่ใต้รัฐธรรมนูญอย่างแท้จริง  

“สถาบันกษัตริย์ต้องอยู่ใต้รัฐธรรมนูญ” วรรคทองดังกล่าวไม่ได้ปรากฏแค่ในป้ายที่ผู้ชุมนุมถือหรือแว่วเสียงของแกนนำการชุมนุมเท่านั้น แต่ใจความเดียวกันนี้ปรากฏชัดในเจตนารมณ์ของคณะราษฎร ในประกาศคณะราษฎร ฉบับที่ 1 หลังการอภิวัฒน์สยาม ปี 2475 และปรากฏชัดแจ้งเป็นรูปธรรมผ่านท่วงทำนองแห่งรัฐสภา เมื่อตัวแทนประชาชนสามารถจัดระเบียบกิจการต่างๆ ของราชสำนักในฐานะกิจการสาธารณะ ไม่ว่าจะเป็นการแต่งตั้งข้าราชการในพระองค์ การประกอบพระราชกรณียกิจ ไปจนถึงการจัดการทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์ ฯลฯ

แต่เมื่อเวลาผ่านไป สถานะและพระราชอำนาจของสถาบันฯ ก็เกิดการเปลี่ยนแปลงเคลื่อนผ่าน การเปลี่ยนแปลงบางสิ่งขยับออกจากหลักการราชาธิปไตยภายใต้รัฐธรรมนูญ (constitutional monarchy) ในยุคคณะราษฎร และการเปลี่ยนแปลงบางอย่างก็นำมาสู่ข้อเรียกร้องปฏิรูปสถาบันฯ ในปัจจุบัน

101 สนทนากับ ดร.ปราการ กลิ่นฟุ้ง อาจารย์จากภาควิชาประวัติศาสตร์ คณะมนุษยศาสตร์ มหาวิทยาลัยรามคำแหง เจ้าของงานศึกษาที่สะท้อนให้เห็นแง่มุมเกี่ยวกับสถานะของสถาบันฯ และการเปลี่ยนแปลงของพระราชอำนาจ ทั้งวิทยาพนธ์ปริญญาโทเรื่อง ‘การเสด็จพระราชดำเนินท้องที่ต่างจังหวัดของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดช พ.ศ. 2493-2530’ และ วิทยานิพนธ์ปริญญาเอกเรื่อง ‘Crown Property and Constitutional Monarchy in Thailand, 1932-1948’ ที่ว่าด้วยกระบวนการจัดระเบียบทรัพย์สินพระมหากษัตริย์ในระบอบรัฐธรรมนูญยุคคณะราษฎร

เมื่อเราต่อจุดโดยถอยไปทีละก้าวของประวัติศาสตร์ ทีละก้าวจนถึงจุดตั้งต้นของใจความ ‘สถาบันกษัตริย์ใต้รัฐธรรมนูญ’ เราอาจเข้าใจปรากฏการณ์ที่ปะทุขึ้นมาในวันนี้มากยิ่งขึ้น และเข้าใจว่า ครั้งหนึ่ง ใจความสำคัญนี้ไม่ได้เป็นเพียงอุดมคติเท่านั้น

ปีที่แล้ว รุ้งปนัสยา สิทธิจิรวัฒนกุล อ่านข้อเสนอปฏิรูปสถาบันฯ 10 ข้อ ซึ่งเปลี่ยนภูมิทัศน์การเมืองร่วมสมัย ในฐานะคนที่ศึกษาประวัติศาสตร์การเมืองไทย โดยเฉพาะประเด็นที่เกี่ยวข้องกับสถาบันกษัตริย์ คุณมองเห็นอะไรที่น่าสนใจบ้าง

แม้ประเด็นเรื่องการปฏิรูปสถาบันฯ จะปะทุขึ้นมาอย่างชัดเจนในช่วงปีที่ผ่านมา แต่เราจะทำความเข้าใจเรื่องนี้ได้ดีขึ้น หากมองในแง่มุมที่ว่า ปัญหาเกี่ยวกับสถานะและบทบาทของสถาบันฯ มีรากฐานมาจากรัชกาลที่แล้ว ประเด็นต่างๆ ในข้อเรียกร้องหลายข้อสะท้อนถึงปัญหาที่เกิดขึ้นตั้งแต่รัชสมัยก่อน เพียงแต่สถานการณ์ต่างๆ ที่เกิดขึ้นในรัชสมัยปัจจุบัน อาจกระตุ้นให้คนเห็นปัญหาเหล่านั้นชัดเจนมากขึ้น 

เราน่าจะลองเทียบเคียงข้อเสนอปฏิรูปสถาบันฯ 10 ข้อของกลุ่มแนวร่วมธรรมศาสตร์และการชุมนุม กับข้อเสนอการปฏิรูปสถาบันฯ 8 ข้อของอาจารย์สมศักดิ์ เจียมธีรสกุล ที่เสนอไว้ตั้งแต่ต้นปี 2553 ข้อเสนอจึงมีอายุครบ 10 ปีเมื่อปี 2563  ซึ่งบรรจบกับการเคลื่อนไหวของเยาวชนพอดี เพื่อเป็นการให้เครดิตอาจารย์สมศักดิ์ ผมจึงอยากพูดถึงข้อเสนอของอาจารย์สักเล็กน้อย เพราะผมเห็นว่า สิ่งที่เป็นคุณูปการสำคัญของอาจารย์สมศักดิ์คือการชี้ให้เห็นความสำคัญของหลักการที่เกี่ยวข้องกับความสัมพันธ์ระหว่างผู้ปกครองกับผู้ใต้ปกครองในระบอบประชาธิปไตย คือ ‘หลักการว่าด้วยอำนาจและความรับผิดชอบ’

ย้อนกลับไปประมาณปลายปี 2548 ช่วงเริ่มต้นของวิกฤตทักษิณ ชินวัตร มีการใช้ประเด็นเรื่องสถาบันฯ มาโจมตีคุณทักษิณ และพัฒนาไปเป็นข้อเรียกร้องเกี่ยวกับนายกฯ พระราชทาน ในสถานการณ์ตอนนั้น อาจารย์สมศักดิ์ได้รื้อฟื้นแนวทางในการพิจารณาแบบแผนพระราชอำนาจของอาจารย์หยุด แสงอุทัย นักกฎหมายมหาชนซึ่งเสนอไว้ตั้งแต่ช่วงทศวรรษ 2490 ผ่านบทความ ‘อำนาจและความรับผิดชอบในระบอบประชาธิปไตย’

อาจารย์หยุดบอกว่าในระบอบประชาธิปไตย อำนาจสูงสุดเป็นของประชาชน ฉะนั้นผู้ที่ใช้อำนาจสาธารณะซึ่งจะกระทบต่อประชาชน ต้องใช้อำนาจตามเจตจำนงของประชาชนและการใช้อำนาจนั้นต้องเป็นไปโดยมีความรับผิดชอบต่อประชาชน หรือองค์กรที่เป็นผู้แทนของประชาชน หมายความว่าผู้ที่ใช้อำนาจสาธารณะจะต้องสามารถถูกวิพากษ์วิจารณ์ ตรวจสอบ แม้กระทั่งถูกเอาผิดลงโทษได้ โดยมีการวางกระบวนการต่างๆ ไว้ เช่น ถ้ารัฐบาลใช้อำนาจสาธารณะก็จะสามารถถูกตั้งกระทู้ถาม ถูกอภิปรายไม่ไว้วางใจ หรือถูกถอดถอนจากตำแหน่งที่อยู่ในอำนาจได้

ในกรณีของพระมหากษัตริย์ซึ่งเป็นประมุขของประเทศที่สืบทอดตำแหน่งตามประเพณี ไม่ได้มาจากการเลือกตั้ง เราไม่ต้องการให้พระมหากษัตริย์ต้องมีความรับผิดชอบ ถูกวิพากษ์วิจารณ์ ถูกตรวจสอบ หรือถูกลงโทษใดๆ จึงต้องกำหนดว่า กษัตริย์ไม่สามารถมีอำนาจในการประกอบกิจการสาธารณะได้โดยพระองค์เอง การกระทำใดๆ ก็ตามจะต้องผ่านกระบวนการการรับสนองพระบรมราชโองการ โดยถือว่าผู้ที่ลงนามรับสนองซึ่งเป็นรัฐมนตรีหรือประธานสภาผู้แทนราษฎรที่รับผิดชอบต่อประชาชน จะรับผิดชอบต่อการกระทำนั้นของพระมหากษัตริย์ แล้วถือว่าผู้ที่ลงนามเป็นผู้ที่มีอำนาจในการกระทำนั้น ไม่ใช่องค์พระมหากษัตริย์ 

นี่คือหลักการของสิ่งที่เรียกกันว่า ‘The King Can Do No Wrong’ เช่น กษัตริย์ในการปกครองในระบอบประชาธิปไตยจะไม่สามารถมีพระราชดำรัสสดต่อสาธารณะได้ ถ้ามีประชาชนคนใดก็ตามในประเทศต้องการจะวิพากษ์วิจารณ์พระราชดำรัสนั้น เขาก็จะวิพากษ์วิจารณ์คนที่ลงนามรับสนอง ไม่ใช่วิจารณ์องค์พระมหากษัตริย์ ในกระบวนการที่พระมหากษัตริย์ไม่สามารถใช้อำนาจในกิจการสาธารณะได้โดยพระองค์เอง พระองค์จะได้รับการปกป้องจากการต้องรับผิดชอบไปพร้อมๆ กัน

ประเด็นคือ หลักการว่าด้วยอำนาจและความรับผิดชอบถูกใช้กับกิจการราชสำนักอย่างค่อนข้างเข้มข้นในสมัยคณะราษฎร หลังเปลี่ยนแปลงการปกครอง 2475 หลังจากคณะราษฎรพ้นอำนาจ หรือในช่วงสิบปีแรกของรัชกาลที่ 9 ก็มีความพยายามจะผลักดันหลักการนี้อยู่ แต่เมื่อจอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ (อดีตนายกรัฐมนตรี) ขึ้นมามีอำนาจ สิ่งที่เราเรียกกันว่า การฟื้นฟูสถานะและบทบาทของสถาบันฯ ก็เกิดขึ้น ในการฟื้นฟูนี้ นอกจากการรื้อฟื้นพระราชพิธีต่างๆ และสนับสนุนให้ทรงมีบทบาททางสังคมการเมืองแล้ว หลักการอำนาจและความรับผิดชอบก็ถูกละทิ้งไปด้วย 

นี่คือคำอธิบายว่า สิ่งที่ปะทุขึ้นในช่วงปีที่ผ่านมา มีรากฐานความเป็นมาตั้งแต่รัชสมัยที่แล้ว การที่หลักนโยบายที่เกี่ยวข้องกับสถาบันฯ ที่คณะราษฎรได้สร้างไว้ถูกละเลยไป เป็นสันปันน้ำหรือจุดเปลี่ยนสำคัญที่ส่งผลมาจนถึงปัจจุบัน


ข้อเสนอปฏิรูปสถาบันของอาจารย์สมศักดิ์ มีข้อที่เสนอเรื่อง พ.ร.บ. จัดระเบียบทรัพย์สินฝ่ายพระมหากษัตริย์ พ.ศ. 2491 ไว้ ขณะที่ข้อเสนอของกลุ่มแนวร่วมธรรมศาสตร์และการชุมนุม ก็พูดถึง พ.ร.บ. จัดระเบียบทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์ พ.ศ. 2561 เช่นกัน ในฐานะที่คุณศึกษาประเด็นดังกล่าว คุณเห็นอะไรบ้างจากข้อเสนอเรื่องนี้

ใจกลางของประเด็นเรื่องทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์และการจัดการราชสำนักโดยรวมคือ เราจะจัดการในฐานะที่เป็นกิจการสาธารณะหรือกิจการส่วนพระองค์ ถ้าย้อนกลับไปสมัยคณะราษฎร กิจการราชสำนักเกือบทั้งหมดถือว่าเป็นกิจการสาธารณะ เมื่อถือว่าเป็นกิจการสาธารณะแล้ว ตามหลักการว่าด้วยอำนาจและความรับผิดชอบ พระมหากษัตริย์ก็จะไม่มีพระราชอำนาจในกิจการเหล่านั้น อำนาจในการจัดการถูกเปลี่ยนมาเป็นของรัฐบาลตามกระบวนการ ขณะที่พระมหากษัตริย์จะเหลือพระราชอำนาจเพียงแค่การจัดการกิจการส่วนพระองค์บางอย่างเท่านั้น เช่น งบประมาณส่วนพระองค์ เป็นต้น แต่เมื่อคณะราษฎรหมดอำนาจลง หลักการที่เคยใช้กับกิจการในราชสำนักก็ค่อยๆ ถูกเปลี่ยนแปลงไป จนการจัดการกิจการเหล่านี้กลับกลายเป็นพระราชอำนาจอีกครั้งหนึ่ง 

สถานะของทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์มีความคลุมเครืออยู่ ตามที่ปรากฏในพระราชบัญญัติจัดระเบียบทรัพย์สินฝ่ายพระมหากษัตริย์ปี 2491 ตอนที่นิตยสาร Forbes จัดอันดับกษัตริย์ที่มีความมั่งคั่งมากที่สุดในโลก แล้วรัชกาลที่ 9 อยู่ในลิสต์หลายปีติดต่อกัน ทางการไทยก็แย้งว่าทรัพย์สินที่นำไปคิดเป็นมูลค่าไม่ใช่ทรัพย์สินส่วนพระองค์ เป็นทรัพย์สินของประชาชนไทยทั้งประเทศ ฉะนั้นจะถือว่าพระองค์เป็นกษัตริย์ที่ร่ำรวยขนาดนั้นไม่ได้ จนเมื่อมาถึงรัชสมัยปัจจุบัน ความคลุมเครือนี้สิ้นสุดลงจากการออกกฎหมายมาสองฉบับ (พ.ร.บ.จัดระเบียบทรัพย์สินฯ พ.ศ. 2560 และ 2561) ประเด็นดังกล่าวจึงกลายเป็นส่วนหนึ่งของข้อเรียกร้อง 10 ข้อ


อาจารย์ให้น้ำหนักกับรัชสมัยของรัชกาลที่ 9 ค่อนข้างเยอะในฐานะรากฐานของปัญหา และบังเอิญว่าเป็นรัชสมัยที่ยาวนาน เราพูดได้ไหมว่าจริงๆ แล้วในช่วงรัชกาลที่ 9 หลักการต่างๆ เป็นความผิดปกติ แต่คนไทยไปคิดว่าเป็นความปกติ

ใช่ครับ ถ้ามองจากหลักการที่ผมพูดถึงเป็นพื้นฐาน คือมีความเบี่ยงเบนไปจากหลักการค่อนข้างมากพอสมควร รัชกาลที่ 9 เองยังเคยมีพระราชดำรัสพูดถึงเรื่องนี้ไว้ตรงๆ ในปี 2503 ที่จุฬาฯ ว่า การที่พระองค์มีพระราชดำรัสสดต่อสาธารณะ โดยที่ไม่ต้องผ่านการรับสนองพระบรมราชโองการจากรัฐบาล ถือว่าเป็นการกระทำที่ผิดประเพณีที่เคยปฏิบัติมาตั้งแต่เปลี่ยนแปลงการปกครอง

ด้วยความที่เป็นรัชสมัยที่ยาวนาน ความเบี่ยงเบนจากหลักอาจไม่ได้ส่งผลกระทบตั้งแต่ต้น แต่มาส่งผลในช่วงหลังที่รัชกาลที่ 9 ทรงได้รับการยอมรับในสังคมไทยมากขึ้น ยุคหนึ่งพวกเราก็เฝ้ารอกันว่าวันที่ 4 ธันวาคมจะมีพระราชดำรัสพูดถึงเรื่องการบ้านการเมืองอย่างไรบ้าง หรือพระราชดำรัสที่ส่งผลต่อสังคมไทยอย่างเห็นได้ชัดคือพระราชดำรัสเรื่องเศรษฐกิจพอเพียง 

ฉะนั้น จะเรียกว่าผิดเพี้ยนหรือไม่ อยู่ที่ว่าเรามองจากจุดยืนไหน ถ้ามองจากหลักการที่ว่าประมุขของรัฐไม่ได้มาจากการเลือกตั้ง ควรได้รับการปกป้อง ด้วยการไม่ให้พระองค์สามารถปฏิบัติพระราชกรณียกิจที่มีผลกระทบต่อสาธารณะ ซึ่งอาจนำไปสู่การวิพากษ์วิจารณ์และการไม่เห็นด้วยได้ ก็ถือว่าไม่ตรงกับหลักการนั้น

ทำไมคุณถึงเลือกศึกษาสถาบันกษัตริย์ทั้งในระดับปริญญาโทและปริญญาเอก

ผมเริ่มสนใจงานวิชาการช่วงพอดีกับที่มันมีการเคลื่อนไหวของม็อบพันธมิตรฯ หรือม็อบสนธิ ลิ้มทองกุล ช่วงปลายปี 2548-2549 ช่วงที่ผมกำลังตัดสินใจว่าจะเขียนวิทยานิพนธ์ปริญญาโทเรื่องอะไรดี ก็เกิดสถานการณ์ทางการเมืองพอดี มีกรณีการตีพิมพ์หนังสือพระราชอำนาจของคุณประมวล รุจนเสรี มีกระแสต่อต้านรัฐบาลทักษิณโดยใช้ประเด็นเรื่องราชสำนักมาเป็นข้อโจมตี 

ข้อเรียกร้องสำคัญข้อหนึ่งของพันธมิตรฯ คือการคืนพระราชอำนาจและการขอนายกพระราชทาน โดยอ้างถึงรัฐธรรมนูญมาตรา 7 ผมเลยลองตั้งคำถามว่า ก่อนหน้านี้ มีการเปลี่ยนแปลงจากที่เคยเป็นพระราชอำนาจมาเป็นแบบแผนอำนาจอย่างอื่นได้อย่างไร ทำไมจึงต้องมีการคืนพระราชอำนาจ


เวลาอธิบายความขัดแย้งของการเมืองไทยในรอบ 15 ปีที่ผ่านมา หลายคนเสนอว่าใจกลางของปัญหาการเมืองไทยคือสถาบันฯ คุณคิดว่าข้อเสนอนี้เป็นธรรมกับสถาบันฯ หรือไม่ อย่างไร

ผมเคยเห็นคนพยายามจะแย้งข้อเสนอนี้ เช่น บอกว่าจริงๆ ปัญหาการเมืองไทยเกิดจากการคอร์รัปชันของนักการเมือง แต่ผมว่าปฏิเสธไม่ได้หรอกว่าเรื่องสถาบันฯ เป็นใจกลางของความขัดแย้ง เพราะเป็นประเด็นที่ถูกดึงเข้ามาอยู่ในข้อเรียกร้องในวาระทางการเมืองมาอย่างต่อเนื่องตั้งแต่ปลายปี 2548 เวลาที่เขาพูดถึงการคอร์รัปชันของนักการเมือง พวกเขาจะเอาพฤติกรรมของนักการเมืองไปเปรียบเทียบกับพระเกียรติยศ คุณงามความดีหรือพระราชกรณีกิจของพระมหากษัตริย์ตลอดเวลา

ถ้าเปรียบเทียบกัน เราจะเห็นว่ามีความแตกต่างกันระหว่างสถานะที่มาจากการเลือกตั้งและสถานะที่มาตามอำนาจประเพณี เราไม่สามารถตรวจสอบวิพากษ์วิจารณ์สถาบันกษัตริย์ได้อย่างเต็มที่ว่าพระราชกรณีกิจที่ทำนั้นมีข้อดีข้อเสียอย่างไร เพราะเราไม่มีระบบการตรวจสอบสถาบันพระมหากษัตริย์อยู่แล้ว ฉะนั้นจึงเป็นการเปรียบเทียบที่ผิด เพราะด้านหนึ่งเราสามารถวิพากษ์วิจารณ์นักการเมืองได้อย่างเต็มที่ สถาบันฯ กับนักการเมืองจึงเทียบกันลำบาก ถ้าเรายังไม่มีระบบที่ทำให้การเปรียบเทียบนี้เป็นไปได้ 

ฉะนั้น ถ้าเรายังแก้ไขปัญหาเกี่ยวกับสถาบันฯ ไม่ได้ เราก็จะวิพากษ์วิจารณ์การเมืองลำบาก


ในวิทยานิพนธ์ปริญญาโทของคุณระบุว่าพระราชกรณียกิจแบบเสด็จเยือนต่างจังหวัดเป็นลักษณะเฉพาะของ ร.9 ทำไมจึงเป็นเช่นนั้น พระราชกรณียกิจเช่นนี้สำคัญต่อการมองพระราชอำนาจอย่างไร 

การเสด็จฯ ต่างจังหวัดของรัชกาลที่ 9 เกิดขึ้นในช่วงที่สังคมการเมืองไทยแตกต่างจากช่วงเวลาอื่นค่อนข้างมาก จึงทำให้มีปัจจัยจำนวนมากที่เข้ามากำหนด ทำให้เป็นพระราชกรณียกิจที่มีลักษณะค่อนข้างเฉพาะ ยกตัวอย่างเช่น รัชกาลที่ 9 เป็นกษัตริย์ไทยพระองค์แรกที่ทรงประกอบพระราชกรณียกิจอย่างเต็มรูปแบบหลังยุคสมบูรณาญาสิทธิราชย์ และหลังการเปลี่ยนแปลงการปกครองซึ่งส่วนใหญ่ไม่มีพระมหากษัตริย์ประทับในประเทศเป็นการถาวร

นอกจากนั้น ความที่รัชสมัยของรัชกาลที่ 9 มีเวลายาวนานกว่า 70 ปี ทำให้การเสด็จฯ แต่ละช่วงเวลามีความแตกต่างกัน ผมแบ่งออกเป็นสองช่วงใหญ่ๆ คือช่วงก่อนและหลังปี 2500 โดยใช้ประเด็นเรื่องความสัมพันธ์ระหว่างพระราชกรณียกิจกับแนวคิดของคณะราษฎรเรื่องอำนาจกับความรับผิดชอบ มาเป็นเกณฑ์ในการแบ่ง แต่ละช่วงก็จะมีปัจจัยกำหนดย่อยๆ ลงไปอีก เช่น ในช่วงก่อนปี 2500 ปัจจัยที่เข้ามากำหนดจะเป็นเรื่องความสัมพันธ์ระหว่างราชสำนักกับจอมพล ป. หรือถ้าดูหนังสือของอาจารย์ณัฐพล (ใจจริง) ก็จะเห็นว่ามีปัจจัยในมิติระหว่างประเทศ คือเรื่องสงครามเย็นและสหรัฐอเมริกาเข้ามามีส่วนเกี่ยวข้องด้วย 

พอหลังปี 2500 ก็เปลี่ยนไป ปัจจัยที่เข้ามากำหนดคือความสัมพันธ์ระหว่างรัฐบาลสฤษดิ์ รัฐบาลถนอม กับราชสำนัก รวมถึงการต่อต้านคอมมิวนิสต์ของรัฐไทย และการโพรโมตโครงการพระราชดำริ


การเสด็จฯ ต่างจังหวัดในยุคคณะราษฎร และยุคจอมพลสฤษดิ์ แตกต่างกันอย่างไร อะไรที่ทำให้ยุคของสฤษดิ์ได้ชื่อว่าเป็นช่วงเวลาฟื้นฟูพระราชอำนาจ

แม้จอมพล ป. จะเป็นเผด็จการ แต่ในช่วงท้ายของอำนาจ ก็พยายามเล่นเกมประชาธิปไตย คือพยายามเปิดให้ประเทศเป็นประชาธิปไตยมากขึ้น มีการเลือกตั้ง มี ส.ส. มีสภาต่างๆ และอีกด้านหนึ่ง จอมพล ป. ก็รับมรดกมาจากสมัยคณะราษฎรในเรื่องการปฏิบัติต่อสถาบันฯ ด้วยการพยายามเอาหลักการเรื่องอำนาจกับความรับผิดชอบมาใช้ การเสด็จฯ ต่างจังหวัดเป็นกรณีหนึ่งที่สะท้อนภาวะนั้น คือกษัตริย์ต้องได้รับความเห็นชอบจากรัฐบาลก่อนจึงจะเสด็จฯ เยี่ยมประชาชนที่ต่างจังหวัดได้ การเสด็จฯ ครั้งใหญ่ในปี 2498 มีคนเสนอมา 2-3 ปีก่อนหน้านั้นแล้ว แต่รัฐบาลไม่อนุมัติและไม่เห็นชอบ ต้องรอให้รัฐบาลเห็นชอบก่อนจึงจะทำได้ ฉะนั้น พระราชกรณียกิจของกษัตริย์ในสมัยจอมพล ป. ถือว่ายังอยู่ในสายตาของรัฐบาลอย่างเข้มข้น

ความแตกต่างที่เกิดขึ้นเมื่อเทียบกับสมัยสฤษดิ์คือ พระราชกรณียกิจค่อยๆ ถูกดึงออกจากอำนาจของรัฐบาล เพราะรัฐบาลสฤษดิ์ไม่ได้สนใจจะเอาหลักการเรื่องอำนาจกับความรับผิดชอบมาใช้ ฉะนั้น ราชสำนักจึงเริ่มมีอิสระมากขึ้น นอกจากนี้  เวลาเราไปค้นเอกสารในยุคสมัยจอมพล ป. ที่หอจดหมายเหตุ จะเห็นเอกสารเกี่ยวข้องกับราชสำนักเต็มไปหมด เพราะกิจกรรมต่างๆ ต้องผ่านการเห็นชอบของรัฐบาลก่อน จึงต้องส่งมาที่ ครม. แต่เมื่อเข้าสู่ยุคของสฤษดิ์ ถนอม เอกสารเกี่ยวกับราชสำนักก็เริ่มลดลงๆ จนหาศึกษาไม่ค่อยได้ สะท้อนว่าราชสำนักเริ่มเป็นอิสระจากรัฐบาลมากขึ้น 


การเสด็จต่างจังหวัดกลายเป็นพระราชกรณียกิจที่ตกทอดมาถึงพระบรมวงศานุวงศ์อื่นในรัชสมัยด้วย การเสด็จของสมาชิกพระองค์อื่นเหมือนหรือต่างจากในหลวงรัชกาลที่ 9 หรือไม่ อย่างไร

มีข้อเสนอหนึ่งของอาจารย์สมศักดิ์ที่ว่า ช่วงก่อน 6 ตุลา ซึ่งผมเกิดไม่ทัน คนไทยมองสถาบันฯ ในลักษณะเป็นกลุ่มก้อนเดียวกัน ไม่ได้มองแยกเป็นพระองค์ๆ อาจารย์สมศักดิ์จึงตั้งคำถามว่า ถ้ามองสถาบันฯ แยกเป็นพระองค์ๆ แบบปัจจุบัน ละครแขวนคอก็อาจไม่นำมาสู่เหตุการณ์ 6 ตุลาก็ได้ 

ฉะนั้น หลังยุคสฤษดิ์ประมาณ 10-20 ปี การเสด็จฯ ที่สำคัญๆ เป็นการเสด็จฯ ของในหลวงรัชกาลที่ 9 และสมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนี เพราะสมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนีมีความสัมพันธ์ที่ดีกับตำรวจตระเวนชายแดน แต่สังคมไทยจะมองสถาบันฯ เป็นกลุ่มก้อน ไม่ได้มองแยกเป็นพระองค์ๆ 

การมองแยกเป็นพระองค์ๆ เข้าใจว่าเริ่มชัดขึ้นเมื่อหลังทศวรรษ 2520 จริงๆ ก็มีพระราชกรณียกิจของราชวงศ์ที่ไปในชนบท แยกเป็นส่วนๆ ไม่ได้ถูกมองเป็นพระราชกรณียกิจในต่างจังหวัดแบบเดียวกับที่ในหลวงรัชกาลที่ 9 ทำเสียทีเดียว อย่างเช่น มูลนิธิแพทย์อาสาสมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนี (พอ.สว.) ตอนหลังก็เป็นกิจการของฟ้าหญิงจุฬาภรณวลัยลักษณ์ ผมเข้าใจว่าการแยกเป็นพระองค์ๆ เกิดขึ้นในช่วงหลังแล้ว

น่าสนใจมากว่า การเสด็จเยือนชนบทของในหลวงรัชกาลที่ 9 และภาพจำในฐานะกษัตริย์นักพัฒนาที่ทำงานในชนบทกลับตราตรึงใจคนชั้นกลางในเมืองอย่างมาก มีคำอธิบายในเรื่องนี้ไหม

มวลชนของสถาบันกษัตริย์มีความเปลี่ยนแปลงจากประชาชนในชนบทมาเป็นชนชั้นกลางในเมือง ในช่วงปลายทศวรรษ 2520 ถึงต้นทศวรรษ 2530 เป็นช่วงที่สงครามการต่อสู้กับคอมมิวนิสต์สิ้นสุดลง ประเทศไทยเติบโตทางเศรษฐกิจแบบก้าวกระโดด เราเปลี่ยนการผลิตเป็นอุตสาหกรรมเน้นการส่งออก และส่งผลไปถึงเรื่องสังคมวัฒนธรรม คนไทยเชื้อสายจีนที่ประสบความสำเร็จในระบบเศรษฐกิจค่อนข้างสูงสามารถหลอมรวมเข้ากับสังคมไทยได้ในช่วงนั้นพอดี เกิดเป็นกลุ่มชนชั้นกลางในเมืองกลุ่มใหญ่ที่มีการศึกษาดี มีสถานะทางเศรษฐกิจดี และขึ้นมามีบทบาทเป็นฐานะนำในสังคม เป็นช่วงเดียวกับที่รัชกาลที่ 9 ทรงสั่งสมพระราชอำนาจจนเป็นจุดศูนย์กลางของวัฒนธรรมไทยได้สำเร็จ เกิดสิ่งที่เราเรียกกันว่า ‘ชาติไทย’ แบบที่เรารู้จักในปัจจุบัน คนที่มีบทบาททางเศรษฐกิจอย่างพวกคนไทยเชื้อสายจีน หลอมรวมเข้ากับสังคมไทยผ่านการนิยามตัวเองเป็นพสกนิกรของในหลวงรัชกาลที่ 9 และนี่คือมวลชนกลุ่มใหม่ที่มีบทบาทสำคัญในสังคมการเมืองไทยช่วงทศวรรษถัดๆ มา

คนกลุ่มนี้ได้รับประโยชน์จากเศรษฐกิจที่เติบโต การที่เศรษฐกิจไทยเชื่อมต่อกับเศรษฐกิจโลกผ่าน ‘โลกาภิวัตน์’ ทำให้คนพวกนี้มั่งคั่งขึ้นจากหน้าที่การงาน ทั้งการเข้าไปอยู่ในบริษัทข้ามชาติ การค้าขายกับต่างประเทศ การลงทุนรูปแบบต่างๆ ที่เติบโตขึ้นจากการเปิดเสรีทางการเมือง มีเศรษฐีใหม่เกิดขึ้นเต็มไปหมด ทำให้คนกลุ่มนี้มองโลกาภิวัตน์และรับเอาคุณค่าสากลบางอย่างเข้ามาเป็นตัวตนของตัวเองด้วย เช่น คุณค่าเรื่องประชาธิปไตย คุณค่าเรื่องสิทธิมนุษยชน ระบบรัฐสภาไทยที่เริ่มเข้มแข็งมากขึ้นหลังกรณีพฤษภา 35

อย่างไรก็ตาม วิกฤติต้มยำกุ้งปี 2540 ทำให้อนาคตอันสดใสที่พวกเขาคาดหวังพังลงต่อหน้าต่อตา ความยากลำบากทางเศรษฐกิจของชนชั้นกลางทำให้พวกเขาไม่เพียงแค่ตั้งคำถามกับโลกาภิวัตน์เพียงอย่างเดียว แต่ยังตั้งคำถามกับระบบคุณค่าสากลเหล่านั้นด้วย ไม่ว่าจะประชาธิปไตยหรือสิทธิมนุษยชน และเป็นช่วงเดียวกับที่มีการโพรโมตพระราชดำรัสเศรษฐกิจพอเพียง ใจกลางของพระราชดำรัสคือการพึ่งตนเองทางเศรษฐกิจ เศรษฐกิจพอเพียงเลยกลายเป็นนโยบายสำคัญที่สุดของไทยในช่วง 10-20 ปีที่ผ่านมา วิธีคิดเรื่องการพึ่งตนเองทางเศรษฐกิจของคนชั้นกลางไทยซึ่งผูกอยู่กับพระราชดำรัสเศรษฐกิจพอเพียง กลายเป็นความคาดหวังสำคัญของคนชั้นกลางไทยกลุ่มใหญ่เพื่อให้ผ่านพ้นวิกฤตไปได้ และเป็นแนวทางสำหรับอนาคตที่มั่นคงต่อไปในภายหน้าด้วย 

ฉะนั้น ในช่วงหลัง กลุ่มเป้าหมายของพระราชกรณียกิจในชนบทคือคนชั้นกลางในเมืองมากกว่า ในขณะที่ระบบอุตสาหกรรมขยายตัว ชาวบ้านชนบทที่อยู่ในภาคการเกษตรเต็มไปด้วยปัญหาสารพัด ทั้งเรื่องปัจจัยการผลิต ที่ดิน หนี้สิน รวมถึงช่วงทศวรรษ 2530 มีปัญหาการแย่งชิงทรัพยากรธรรมชาติจากโครงการพัฒนาขนาดใหญ่เต็มไปหมด ผลักดันให้คนจำนวนมากออกนอกภาคการเกษตร

ดูเหมือนโครงการต่างๆ หรือแนวคิดเศรษฐกิจพอเพียงจะดูทำงานได้ดีกับคนชั้นกลางเป็นพิเศษ ทั้งที่คนชั้นล่างน่าจะใกล้ชิดกับชนบทมากกว่า 

มีคนในชนบทบางกลุ่มที่อาจอยู่ในระบบนี้แล้วมีชีวิตอยู่ได้ เช่นพวกปราชญ์ชาวบ้าน หลายคนเป็นเกษตรกรที่ล้มเหลวมาจากการปลูกพืชเชิงเดี่ยวเพื่อตอบสนองระบบตลาด แล้วก็เป็นหนี้ พอมาพบกับการพึ่งตนเองแบบเศรษฐกิจพอเพียง พวกนี้ก็จะปรับระบบวิธีคิด หันมาพึ่งพาตัวเอง และใช้แนวทางนี้ในการทำการเกษตร จนกระทั่งประสบความสำเร็จ ปลดหนี้ปลดสินได้และชีวิตมั่นคงขึ้นจนถูกเรียกว่าปราชญ์ชาวบ้าน ที่ใช้การผลิตแบบพึ่งตนเองได้ครบวงจร รวมถึงมีคนชั้นกลางจำนวนหนึ่งที่ทิ้งวิถีชีวิตในเมืองของตัวเองแล้วลงไปประกอบอาชีพเกษตรกรรม พึ่งตนเองในชนบท สำหรับคนกลุ่มนี้ พวกเขายังเห็นความหวังจากสถาบันกษัตริย์ที่ผูกอยู่กับแนวคิดเรื่องเศรษฐกิจพอเพียงอยู่

แต่เงื่อนไขสำคัญของระบบนี้คือคุณต้องมีที่ดิน เป็นพื้นฐานที่ขาดไม่ได้ ในชนบทน่าจะเหลือคนที่มีที่ดินมากพอจะผลิตทุกอย่างที่จำเป็นในชีวิตอยู่น้อยมาก ชาวนาส่วนใหญ่ก็เป็นเกษตรกรรับจ้างหรือเช่าที่นาทำกินมากกว่า ถ้าไม่มีที่ดินซึ่งเป็นปัจจัยพื้นฐาน ก็ไม่สามารถอยู่ในระบบนี้ได้แน่ๆ

รัชกาลที่ 10 เองก็มีพระราชกรณียกิจ เช่น โคกหนองนาโมเดล อาจารย์คิดว่ามีวิธีคิดที่สืบทอดมาจากรัชกาลที่ 9 อย่างไร ยังตอบโจทย์สังคมตอนนี้แค่ไหน

ในแง่กลไกของโครงการพระราชดำริ ด้านหนึ่งที่ปฏิเสธไม่ได้คือมาจากงบประมาณสนับสนุนของรัฐ โดยเฉลิมพระเกียรติว่าเป็นโครงการในพระราชดำริ ส่วนโครงสร้างทางความคิดที่คล้ายกันคือการทำให้การผลิตในที่ดินผืนหนึ่งสามารถอยู่ได้ด้วยตนเอง พึ่งตนเองทางเศรษฐกิจ คือผลิตทุกอย่างที่จำเป็นโดยพยายามใช้เงินให้น้อยที่สุด นี่คือความคล้ายในเรื่องโครงสร้างและไอเดีย

พวกโครงการทดลอง ศูนย์ทดลอง หรือศูนย์ศึกษาพัฒนาในพระราชดำริตั้งแต่สมัยรัชกาลที่ 9 มีข้อกำหนดอย่างหนึ่งที่อาจจะไม่สอดคล้องกับความเป็นจริง คือการกำหนดว่าพื้นที่เหล่านี้เป็นได้แค่ถิ่นทำกินเท่านั้น ขายไม่ได้ แต่สามารถสืบทอดไปถึงลูกหลานได้ ดังนั้น คนที่อยู่ในเจเนอเรชันถัดไปของครอบครัวนี้ ก็ไม่สามารถเปลี่ยนสถานะทางสังคมและเศรษฐกิจของตัวเอง ผ่านระบบการศึกษาหรือผ่านระบบเศรษฐกิจแบบอื่นได้ นอกจากต้องมาอยู่ในที่ดินนี้เท่านั้น ทางสังคมวิทยาอาจมองว่าเป็นการตรึงคนอยู่กับที่ดิน ไม่ให้ออกไปเปลี่ยนสถานะหรือเลื่อนชั้นทางสังคมได้ ซึ่งผมเข้าใจว่าน่าจะขัดแย้งกับความคาดหวังของคนในปัจจุบันมากขึ้นเรื่อยๆ คือในยุคที่ข้อมูลข่าวสารประดังเข้ามา คนก็คาดหวังต่อวิถีชีวิตแบบอื่น


ภาพลักษณ์ใกล้ชิดกับชนบทหรือกษัตริย์นักพัฒนา กลายเป็นความคาดหวังและภาพจำของในหลวงรัชกาลที่ 9 ความคาดหวังแบบนี้ยังปรากฏไหมในรัชกาลปัจจุบัน

คนที่เขายังหวังหรือเชื่อในภาพลักษณ์แบบเดิมคือ คนที่ถูกหล่อหลอมขึ้นมาแบบหนึ่งโดยมีสถาบันฯ เป็นศูนย์กลางของชีวิตทางการเมือง เป็นจุดยึดเหนี่ยว เป็นตัวตนของเขา ดังนั้น การตั้งคำถาม วิเคราะห์ วิจารณ์บทบาทของสถาบันและภาพลักษณ์ที่คุ้นชินเท่ากับว่าเขากำลังปฏิเสธตัวตนของตัวเอง ซึ่งเป็นเรื่องยากมากสำหรับคนบางกลุ่ม


จากวิทยานิพนธ์ปริญญาโท คุณทำวิทยานิพนธ์ปริญญาเอกเรื่องการจัดสำนักงานจัดการทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์และราชสำนัก โดยเฉพาะ การแยกทรัพย์สินส่วนพระองค์ออกจากทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์ ประเด็นนี้สำคัญอย่างไรกับการปกครองแบบกษัตริย์อยู่ใต้รัฐธรรมนูญ

ประเด็นสำคัญคือ เราจะมองกิจการในราชสำนัก ทั้งตัวองค์กร การบริหารจัดการ การแต่งตั้งบุคคลในราชสำนัก และทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์ ในฐานะที่เป็นกิจการในพระองค์หรือในฐานะที่เป็นกิจการสาธารณะ แน่นอนว่าทางฝ่ายราชสำนักก็พยายามจะบอกว่าเป็นกิจการในพระองค์ สิ่งที่เกิดขึ้นตั้งแต่ 2475 เป็นความผิดที่ไปเอาของพระองค์ไป เป็นต้น 

ถ้าเราไปดูงานศึกษาที่มาของทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์ จะพบว่ามันเกิดขึ้นในรัชกาลที่ 5 ที่มีการก่อตั้งกรมพระคลังข้างที่ในฐานะองค์กรอย่างเป็นทางการ เป็นองค์กรมีบทบาทในการลงทุนในกิจการของพระมหากษัตริย์ตั้งแต่สมัยรัชกาลที่ 5 เป็นต้นมา นักวิชาการเรียกทรัพย์สินที่เกิดขึ้นมาจากบทบาทของพระคลังข้างที่ว่า ‘ทรัพย์สินอำนาจรัฐ’ งานวิจัยของอาจารย์ชลลดา วัฒนศิริ ให้ข้อมูลว่าพระคลังข้างที่มีการลงทุนสำคัญๆ ในที่ดินจำพวกตึกแถว และใช้กลไกอำนาจรัฐในการได้มาซึ่งที่ดินเหล่านี้อย่างไรบ้าง เช่น การโอนมาให้พระคลังข้างที่เลย การรู้ล่วงหน้าว่าจะมีการตัดถนนผ่านไปในพื้นที่หนึ่ง ก็เลยไปกว้านซื้อที่ดิน เพื่อมาสร้างเป็นตึกแถวให้เช่าทำกำไร

นักวิชาการจะมองว่า ทรัพย์สินอำนาจรัฐในสมัยสมบูรณาญาสิทธิราชย์ก็อยู่ในพระราชอำนาจ แต่พออำนาจรัฐเปลี่ยน ก็มีความชอบธรรมที่ผู้จัดการทรัพย์สินตรงนี้จะเปลี่ยนด้วย พระมหากษัตริย์ในระบอบรัฐธรรมนูญไม่ได้ครองอำนาจรัฐในการเป็นคนบริหารจัดการ อำนาจเปลี่ยนไปอยู่ที่รัฐบาลซึ่งความชอบธรรมมาจากประชาชน โดยองค์กรที่มาจากตัวแทนประชาชน


คุณมองความพยายามจัดระเบียบกิจการราชสำนักของรัชกาลที่ 10 อย่างไร

โดยส่วนตัว ผมไม่มีประเด็นเรื่องเนื้อหามากเท่าเรื่องกระบวนการ กล่าวคือเนื้อหาอาจเป็นปัญหาก็ได้ แต่ถ้ากระบวนการถูกต้อง เราจะสามารถแก้เนื้อหาทีหลังได้ อย่างไรก็ตาม กระบวนการที่มีปัญหายิ่งก่อให้เกิดตัวเนื้อหาที่คนจำนวนมากมองว่ามีปัญหาและยิ่งทำให้เกิดความไม่พอใจมากขึ้น

กระบวนการที่ผมคิดว่ามีปัญหาคือ ความเปลี่ยนแปลงของกิจการราชสำนักช่วงรัชสมัยปัจจุบันที่เกิดหลังการรัฐประหารปี 2557 ที่เกิดโดยสภานิติบัญญัติแห่งชาติ จากสภาที่มาจากการแต่งตั้ง การจัดระเบียบเช่นนี้ทำให้นึกถึง พ.ร.บ.จัดระเบียบทรัพย์สินฝ่ายพระมหากษัตริย์ พ.ศ. 2491 เพราะเกิดขึ้นหลังจากการรัฐประหารปี 2490 และเกิดโดยวุฒิสภาที่มาจากการแต่งตั้ง ไม่ได้มาจากการเลือกตั้งเหมือนกัน จึงเป็นปัญหาเยอะทั้งตัวกระบวนการและเนื้อหา คือพระมหากษัตริย์กลับมามีพระราชอำนาจในการจัดการทรัพย์สินและการจัดการราชสำนัก เป็นความเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่ที่เกิดขึ้นกับทรัพย์สินจำนวนมหาศาล หากปล่อยให้การจัดการคลุมเครือต่อไปแบบในสมัยรัชกาลที่ 9 คนอาจจะไม่รู้สึกมากอย่างที่เป็นก็ได้


แต่บางคนก็อาจจะแย้งว่า การเปลี่ยนแปลงเกี่ยวกับกิจการภายในราชสำนัก เช่น กองบัญชาการทหารมหาดเล็กรักษาพระองค์ ก็เกิดขึ้นในสมัยรัฐบาลยิ่งลักษณ์ ชินวัตร ที่มาจากการเลือกตั้ง

การเรียกร้องตัวกระบวนการก็ต้องมีเงื่อนไขอื่นด้วย กล่าวคือ ควรจะเปิดให้เป็นประเด็นสาธารณะก่อนที่จะเข้าสู่การพิจารณาของสภาผู้แทนราษฎร ควรมีกระบวนการที่สาธารณะสามารถอภิปราย วิพากษ์วิจารณ์ความเป็นไปได้แบบต่างๆ โดยที่คนพูดปลอดภัย ไม่มีความเสี่ยงที่จะถูกลงโทษว่าพูดแล้วจะผิดมาตรา 112, 113 หรือ 116 ฉะนั้น กระบวนการที่ผมพูดถึงจึงไม่ได้จำกัดแค่เฉพาะในสภาที่มาจากการเลือกตั้งเท่านั้น แต่รวมไปถึงเสรีภาพของสังคมที่จะอภิปรายต่อประเด็นนั้นๆ ได้อย่างเต็มที่


ในวิทยานิพนธ์ของคุณ เนื้อหาส่วนหนึ่งสะท้อนให้เห็นว่าแนวคิดเรื่องราชาธิปไตยภายใต้รัฐธรรมนูญ (constitutional monarchy) จบลงไปพร้อมกับคณะราษฎร ซึ่งเป็นผลมาจากการเมืองภายใน เราจะถอดบทเรียนนั้นมาใช้กับการเมืองคณะราษฎร 2563 ได้อย่างไร

ความแตกต่างที่สำคัญของการเมืองในสมัยคณะราษฎรกับสมัยปัจจุบันคือ การเมืองสมัยคณะราษฎรเป็นการเมืองของกลุ่มชนชั้นนำ ขณะที่ปัจจุบันเป็นการเมืองมวลชนหรือ mass politics ทั้งยังมีเงื่อนไขสำคัญที่ทำให้วาระทางการเมืองของคณะราษฎรเป็นไปได้คือการมีกองทัพหนุนหลัง ผู้นำกองทัพก็อยู่ฝ่ายคณะราษฎร

ข้อหนึ่งที่อาจถอดบทเรียนจากคณะราษฎรได้คือ สิ่งที่คณะราษฎรทำและประสบความสำเร็จในระยะเวลาหนึ่ง เช่น การดึงพระราชอำนาจออกจากการจัดการทรัพย์สิน การจัดการกิจการของราชสำนัก คณะราษฎรประสบความสำเร็จจริงๆ หลังการสละราชสมบัติของรัชกาลที่ 7 ช่วงต้นปี 2478 หลังจากนั้นก็ไม่มีพระมหากษัตริย์ที่บรรลุนิติภาวะประทับอยู่ในไทยเป็นเวลาเกือบ 20 ปี ด้านหนึ่งมีข้อดีคือทำให้การผลักดันวาระต่างๆ เป็นไปโดยค่อนข้างราบรื่น รัฐบาลคุมเสียงครึ่งหนึ่งในสภาอยู่แล้ว แต่จุดอ่อนที่ส่งผลในระยะยาวคือทำให้การผลักดันประเด็นต่างๆ โดยเฉพาะประเด็นที่เกี่ยวข้องกับราชสำนักเป็นไปโดยไม่มีการต่อรองกับราชสำนักจนเป็นที่ยอมรับอย่างแท้จริง เหมือนรัฐบาลทำอยู่ฝ่ายเดียว พอฝ่ายราชสำนักสามารถกลับมามีบทบาททางการเมืองได้ วาระทางการเมืองแรกๆ ที่ถูกผลักดันให้แก้ไขคือ โละทิ้งสิ่งที่คณะราษฎรทำกับกิจการราชสำนัก เช่น เรื่องอำนาจในราชสำนัก การแต่งตั้งข้าราชการในพระองค์ และการจัดการทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์

หากเราคาดหวังความเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นโดยไม่นองเลือดและสามารถอยู่ได้อย่างยั่งยืน จะต้องผ่านการเจรจาต่อรอง และทำให้เกิดการยอมรับของแต่ละฝ่ายได้จริง ไม่เช่นนั้นนอกจากจะเสี่ยงที่จะนำไปสู่การปะทะแล้ว การเปลี่ยนแปลงอาจเกิดขึ้นในระยะสั้นๆ เท่านั้น


เราจะเห็นว่าสภาหลังการเปลี่ยนแปลงการปกครอง 2475 ยืนหยัดปฏิบัติตามแนวทางของรัฐธรรมนูญแม้จะมีประเด็นขัดแย้งที่เกี่ยวข้องกับพระราชอำนาจ ในเมื่อการเมืองไทยยังดำเนินผ่านสภาและมีกฎหมายสูงสุดเป็นรัฐธรรมนูญ เหตุใดการถกเถียงประเด็นที่อาจเกี่ยวข้องกับพระราชอำนาจ ดูจะเป็นเรื่องที่ทำได้ยากในปัจจุบัน

อาจารย์สมศักดิ์เสนอไว้ว่า กรณีสวรรคตส่งผลสำคัญต่อการพูดถึงสถาบันกษัตริย์ในสังคมไทย ทั้งในสาธารณะและในที่ที่เป็นทางการ เช่น ในสภาผู้แทนราษฎร ในรัฐธรรมนูญที่ปรากฏขึ้นครั้งแรกเมื่อปี 2492 เรื่องผู้ใดจะฟ้องร้องดำเนินคดีพระมหากษัตริย์ไม่ได้ การปรากฏอยู่ในเอกสารที่เป็นทางการอย่างรัฐธรรมนูญ เป็นการกำหนดวัฒนธรรมทางการเมืองในเวลาต่อๆ มาว่าในสภาเราจะพูดถึงสถาบันกษัตริย์ไม่ได้ 

นอกจากนั้น การเมืองนอกสภาก็มีวัฒนธรรมในกลุ่มปัญญาชนนักวิชาการ เป็นวัฒนธรรมที่กินเวลานานหลายสิบปีโดยเฉพาะอย่างยิ่งช่วงหลังเหตุการณ์พฤษภา 35 เป็นต้นมา คือวัฒนธรรมการไม่พูดถึงสถาบันฯ แบบวิเคราะห์วิจารณ์ อาจารย์สมศักดิ์ใช้คำว่า ‘คืนดีกับสถาบันกษัตริย์’ ไม่ใช่การคืนดีในความหมายของการรับใช้หรือเขียนชมเท่านั้น แต่ยังไม่มองว่าสถาบันฯ เป็นประเด็นสำหรับการวิเคราะห์สังคมด้วย

แต่ผมก็เห็นความเปลี่ยนแปลงในช่วงสองปีมานี้ คือมีการอภิปรายเรื่องงบสถาบันฯ ในสภาโดยพรรคก้าวไกล หรือการที่คุณธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ ประธานคณะก้าวหน้า ตั้งคำถามในคณะกรรมาธิการงบประมาณของหน่วยงานในพระองค์ ก็ถือเป็นจุดเริ่มต้นที่น่าสนใจและน่าติดตามว่าจะเปลี่ยนวัฒนธรรมการอภิปรายในสภา รวมถึงในที่สาธารณะได้หรือไม่


คุณมองปรากฏการณ์การประท้วงของคนรุ่นใหม่ที่นำไปสู่ข้อเสนอปฏิรูปสถาบันกษัตริย์อย่างไร เห็นอะไรที่น่าสนใจบ้าง ทั้งวิธีการประท้วง-การสื่อสารเรื่องสถาบันฯ ในที่สาธารณะ และปฏิกิริยาของคน

ผมมองว่ากลุ่มคนรุ่นใหม่ที่ออกมารุ่นหลังแตกต่างจากปัญญาชนฝ่ายต่อต้านที่ออกมาก่อนหน้านี้ อาจารย์สมศักดิ์เคยวิจารณ์ว่าปัญญาชนและภาคประชาสังคมไทยวมีลักษณะของ ‘การคืนดีกับสถาบันกษัตริย์’ เป็นพวกต่อต้านการเลือกตั้ง นิยมชาวบ้าน ลงชนบท ซึ่งทำให้ ‘การเมืองภาคประชาชน’ ที่เคลื่อนไหวช่วงทศวรรษช่วง 2530-2540 กลายเป็นกลุ่มที่อยู่ในกระแสความคิดแบบเดิม และส่วนหนึ่งกลายเป็นกำลังสำคัญของการชุมนุมพันธมิตรและ กปปส. ในช่วงหลัง 

นักกิจกรรมรุ่นใหม่ที่ขึ้นมาเคลื่อนไหวในช่วงปีที่ผ่านมามีลักษณะสำคัญหนึ่งคือ พวกเขาตัดขาดจากกลุ่มการเมืองภาคประชาชน แทบจะไม่รู้จักกับ NGOs เลย อาจจะมีแค่ดาวดินหรือทนายอานนท์ นำภา ที่มีความสัมพันธ์กับ NGOs มาก่อน และอาจจะมองว่าเป็นข้อยกเว้นก็ได้ และสองคนนี้ก็เหมือนอาวุโสในรุ่น เมื่อกลุ่มนักกิจกรรมเหล่านี้ไม่ได้มีความสัมพันธ์กับกระแสวิธีคิดแบบเดิม พอพวกเขาเจอประเด็นที่มองว่าใจกลางของปัญหาอยู่ที่สถาบันกษัตริย์ พวกเขาจึงสามารถพูดออกมาได้โดยไม่ได้ติดกำแพงความคิดเหมือนปัญญาชนรุ่นเดิม

อีกประเด็นหนึ่งคือ ปัญญาชนนักกิจกรรมกลุ่มนี้ไม่ได้เป็นคนที่สนใจการเมืองมาตั้งแต่ต้น เขามีกิจกรรมหรือความถนัดส่วนตัว อาจจะตามสาขาวิชาที่เรียนมา หลายๆ คนเนิร์ดในสิ่งที่ตัวเองสนใจ เมื่อพวกเขาหันมาสนใจการเมืองและเคลื่อนไหวทางการเมือง จึงปรากฏภาพที่มันค่อนข้างหลากหลายและน่าสนใจมาก เช่น ภาพที่คุณเติ้ล (ณัฐนนท์ ดวงสูงเนิน) จากเพจ Spaceth.co ไปวางโบว์ขาวในการชุมนุมวันที่ 16 ตุลาแล้วโดนจับกุมตัว สะท้อนว่า กลุ่มคนรุ่นใหม่มองว่าหากการเมืองยังเป็นแบบเดิม ก็จะมองไม่เห็นอนาคตในสายงานที่เขาสนใจ เขาก็ต้องออกมา 

ผมเข้าใจว่าลักษณะเหล่านี้ส่งผลต่อภาพที่คนข้างนอกมองเข้าไปด้วย อย่างที่มักพูดกันว่าการเมืองเกี่ยวข้องกับชีวิตประจำวันของพวกเรา อยู่ในทุกๆ อณูของชีวิตเรา


มองอนาคตเรื่องการปฏิรูปสถาบันกษัตริย์ยังไงบ้าง เงื่อนไข กลไกใดที่จะทำให้มันประสบความสำเร็จ

ผมยังเชื่อว่าน่าจะยังพอมีความเป็นไปได้ที่จะเปลี่ยนแปลงโดยไม่ต้องนองเลือดนะ ถ้าพูดอย่างเป็นรูปธรรม ผมหวังว่าสถาบันรัฐสภาจะเป็นกลไกสำคัญที่จะทำให้การเปลี่ยนผ่านเกิดขึ้นโดยที่ไม่ทะเลาะกันแบบหัวร้างข้างแตก รัฐสภาคือที่ที่ความขัดแย้งต่างๆ ไม่ว่าจะเรื่องความคิดทางการเมือง เรื่องการจัดการทรัพยากร รวมอยู่ในนั้น ก็ให้คนข้างในเถียงกันไป 

เพียงแต่ว่า เราจะทำอย่างไรให้รัฐสภากลับมามีเครดิตอีกครั้งหนึ่งในฐานะที่เป็นองค์กรจัดการความขัดแย้ง ทำยังไงมติจากสภามันจะถูกยอมรับในฐานะฉันทมติ ก็อาจต้องเรียกร้องคนที่อยู่ในสถาบันรัฐสภาด้วย ทั้งเรื่องที่จะต้องเอาประเด็นต่างๆ ไปคุยกัน ผลักดันเป็นวาระและทำให้รัฐสภากลายเป็นที่ยอมรับอีกครั้งหนึ่ง แน่นอนว่าการจะทำได้อย่างเป็นรูปธรรมคือต้องแก้รัฐธรรมนูญ ขณะเดียวกันก็ต้องมีการทำความเข้าใจกับสังคมไปพร้อมๆ กันด้วย เพราะถ้าเราสามารถทำให้สังคมเห็นความจำเป็นของการปฏิรูป ด้านหนึ่งก็จะเป็นแรงผลักดันกลับเข้าไปที่องค์กรหรือสถาบันที่เป็นทางการอีกที


ผลงานชิ้นนี้เป็นส่วนหนึ่งของความร่วมมือระหว่าง แผนงานบูรณาการยุทธศาสตร์เป้าหมาย (Spearhead) ด้านสังคม คนไทย 4.0 สนับสนุนโดยสำนักงานการวิจัยแห่งชาติ (วช.) ประจำปีงบประมาณ 2563 และ The101.world

MOST READ

Spotlights

14 Aug 2018

เปิดตา ‘ตีหม้อ’ – สำรวจตลาดโสเภณีคลองหลอด

ปาณิส โพธิ์ศรีวังชัย พาไปสำรวจ ‘คลองหลอด’ แหล่งค้าประเวณีใจกลางย่านเมืองเก่า เปิดปูมหลังชีวิตหญิงค้าบริการ พร้อมตีแผ่แง่มุมเทาๆ ของอาชีพนี้ที่ถูกซุกไว้ใต้พรมมาเนิ่นนาน

ปาณิส โพธิ์ศรีวังชัย

14 Aug 2018

Thai Politics

3 May 2023

แดง เหลือง ส้ม ฟ้า ชมพู: ว่าด้วยสีในงานออกแบบของพรรคการเมืองไทย  

คอลัมน์ ‘สารกันเบื่อ’ เดือนนี้ เอกศาสตร์ สรรพช่าง เขียนถึง การหยิบ ‘สี’ เข้ามาใช้สื่อสาร (หรืออาจจะไม่สื่อสาร?) ของพรรคการเมืองต่างๆ ในสนามการเมือง

เอกศาสตร์ สรรพช่าง

3 May 2023

Politics

23 Feb 2023

จากสู้บนถนน สู่คนในสภา: 4 ปีชีวิตนักการเมืองของอมรัตน์ โชคปมิตต์กุล

101 ชวนอมรัตน์สนทนาว่าด้วยข้อเรียกร้องจากนอกสภาฯ ถึงการถกเถียงในสภาฯ โจทย์การเมืองของก้าวไกลในการเลือกตั้ง บทเรียนในการทำงานการเมืองกว่า 4 ปี คอขวดของการพัฒนาสังคมไทย และบทบาทในอนาคตของเธอในการเมืองไทย

ภัคจิรา มาตาพิทักษ์

23 Feb 2023