fbpx

สถาบัน/ศิลปะ/สถาปนา

นักศึกษาที่เรียนจบไปหลายปีแล้วคนหนึ่งเคยเขียนไว้ในเฟซบุ๊กว่า การเรียนประวัติศาสตร์ศิลปะสมัยอยู่ปี 1 ทำให้เธอมองเห็นความเชื่อมโยงระหว่างอำนาจ มายาคติ สถาบันกษัตริย์ ศาสนา และศิลปกรรม การ ‘มองเห็น’ (คำที่เธอใช้คือ ‘เบิกเนตร’ ซึ่งมีความหมายเดียวกันกับคำว่า ‘ตาสว่าง’ ในทางการเมือง) ที่ว่าเกิดจากการได้เรียนรู้กระบวนการสร้างความเป็นสมมติเทพผ่านงานศิลปะอย่างการสร้างพระพุทธรูปทรงเครื่อง (พระพุทธรูปที่ทรงเครื่องแต่งกายอย่างกษัตริย์) เพราะข้อสันนิษฐานข้อหนึ่งเกี่ยวกับคติการสร้างพระพุทธรูปทรงเครื่องคือคติเทวราชานั่นเอง นับจากนั้นเป็นต้นมา สถานะความเป็นสมมติเทพของกษัตริย์ในทัศนะของนักศึกษาคนนั้นก็เป็น ‘เรื่องสมมติ’ หรือ ‘สิ่งที่ถูกสร้าง’ ไปอย่างแท้จริง คำว่า ‘สมมติเทพ’ ไม่ได้เป็นเพียงคำกล่าวอย่างผิวเผินที่ใช้กันทั่วไปโดยมิได้ตระหนักถึง ‘นัยความหมาย’ อันหมายถึงการเป็น ‘เทพสมมติ’ อีกต่อไป

โพสต์ดังกล่าวแสดงให้เห็นถึงใจความสำคัญของการสร้าง ‘รูปเคารพ’ (icon – sacred image) ซึ่งเป็น ‘รูปตัวแทน/ภาพแทน’ (representation) ประเภทหนึ่ง ในสยามยุคก่อนสมัยใหม่ที่การทำภาพเหมือนบุคคลที่มีชีวิตอยู่ยังเป็นสิ่งต้องห้าม และความปรารถนาในภาพเหมือนที่มีความเหมือน (likeness) กันกับตัวแบบ ตลอดจนทักษะฝีมือเชิงช่างที่จะสร้างงานที่บรรลุความปรารถนานั้นได้ยังไม่เกิดขึ้น ศิลปกรรมโบราณที่ ‘ไม่เหมือนจริง’ อย่างพระพุทธรูปทรงเครื่องทำหน้าที่ร่วมกับกลไกอื่นๆ ของสังคมในการประกอบสร้างและค้ำชูความชอบธรรมในอำนาจของชนชั้นปกครอง  

ไม่เหมือนจริงเมื่อมองด้วยสายตา แต่สิ่งที่ศิลปกรรมนั้นสถาปนาเป็นจริงภายในจิตใจ

แล้วเมื่อไหร่กันที่ภาพเหมือนแบบเหมือนจริงเข้ามามีบทบาทเคียงคู่รูปเคารพที่ไม่มีหน้าตาเหมือนจริง? เมื่อไหร่และอย่างไรที่คติการทำภาพเหมือนแบบศิลปกรรมในโลกตะวันตกกลายเป็นส่วนหนึ่งของปฏิบัติการสร้างรูปเคารพในสยาม/ไทย?

การเคลื่อนจากรูปเคารพตามแบบประเพณีอย่างพระพุทธรูปทรงเครื่องที่ผนวกเอาอำนาจทางโลกและทางธรรมเข้าไว้ในรูปเดียว มาสู่ภาพเหมือนแบบตะวันตกที่ได้รับการเคารพกราบไหว้บูชาแบบไทยๆ เกิดขึ้นในยุคสมัยแห่งการแสวงหาความศิวิไลซ์แบบตะวันตกของชนชั้นนำสยาม ‘ความเหมือน’ (likeness) ที่พบได้ในการเขียนภาพแบบคลาสสิกในศิลปะตะวันตกกลายเป็นกุญแจสำคัญอย่างใหม่ในการสถาปนาอำนาจ ความเหมือนกลายเป็นคุณลักษณะที่จำเป็นต้องปรากฎอยู่ในรูปตัวแทน ยิ่งเหมือนยิ่งดี ยิ่งเหมือนยิ่งหมายความว่าศิลปินมีฝีมือ

“โปรเฟสเซอคอรดียานีนั้นถึงพรหม เขียนไม่ต้องร่าง เว้นแต่จู้จี้อะไรอย่างนั้น ไม่ได้เห็นของสิ่งไรเปนไม่เขียนสิ่งนั้นเลยเปนอันขาด เว้นไว้แต่จำเปน เช่นตัวแม่เล็กจึงยอมเดา แต่ต้องทำหุ่นแต่งตัว  เสื้อผ้าที่อย่างสวรรค์ทั้งสิ้น เปนแม่เล็กนั่งเจี๋ยมเจี้ยมอยู่ที่เก้าอี้จึงได้เขียนได้ ความที่แกเคย จน​เราลุกไปเดินแกว่งอยู่เสียที่อื่นแล้ว เก้าอี้ที่เรานั่งก็ต้องแลดูไปเปล่าๆ ตามเคย อย่าให้ขาดได้ ตามรับสั่ง เวลาเขียนนั้นต้องมวยต่าง ๆ เพื่อจะให้เราอมยิ้มเห็นแววหน้าถนัด เราก็ต้องยิ้มให้แกจริง ๆ”

ข้อความข้างต้นมาจากพระราชหัตถเลขาที่รัชกาลที่ 5 ทรงพระราชทานแด่สมเด็จพระศรีพัชรินทราบรมราชินีนารถ (แม่เล็ก) เมื่อครั้งพระราชดำเนินประพาสยุโรป พ.ศ. 2440 กล่าวชมเชยฝีมือของมิเคเล กอร์ดิจิอานี (Michele Gordigiani) จิตรกรชาวเมืองฟลอเรนซ์ ประเทศอิตาลี[i] การชื่นชมฝีมือในการสร้างภาพเหมือนดังกล่าวชี้ให้เห็นรูปแบบทางศิลปะที่จะกลายเป็นพระราชนิยมอย่างใหม่ของยุคสมัย รัชกาลที่ 5 ทรงซื้องานศิลปะที่ทำเสร็จเรียบร้อยแล้วและว่าจ้างศิลปินชาวอิตาเลียนอีกหลายคน รวมทั้งยังมีกลุ่มที่เดินทางเข้ามาทำงานในราชสำนักสยามด้วย[ii]

ความเปลี่ยนแปลงในการทำงานศิลปะในสยามที่ให้ความสำคัญกับความเหมือนจริง (realistic) ซึ่งเกิดขึ้นในสมัยที่สยามติดต่อกับโลกตะวันตก โดยเฉพาะยุโรปในศตวรรษที่ 19 นำไปสู่คำอธิบายว่าเพราะเหตุใด ‘ศิลปะสมัยใหม่’ ของสยามจึงแตกต่างออกไปจากศิลปะสมัยใหม่ในยุโรป เห็นได้ชัดว่าลักษณะดังกล่าวเกิดขึ้นโดยเป็นผลมาจากพระราชนิยมของชนชั้นนำโดยตรง ในเวลานั้น ศิลปะสมัยใหม่ในยุโรปหมายถึงศิลปะที่มีแนวโน้มไปในทางนามธรรม ไม่ใช่แบบเหมือนจริง (เพราะศิลปินตะวันตกทำแบบเหมือนจริงกันมาหลายร้อยปีแล้ว) แต่ในทัศนะของรัชกาลที่ 5 ที่ทรงแสดงเอาไว้ในพระราชนิพนธ์เรื่องไกลบ้าน นั้นกลับเป็นว่า

ที่เปนรูปเขียนอย่างเก่าอยู่ไม่เท่าใด นอกนั้นเปนอย่างโมเดอนซึ่งเหลือที่จะเล่าว่ารูปอะไรเปนอย่างไร มันหนักขึ้นไปกว่าเมืองเวนิศ บางแผ่นน้ำยาเหมือนรูปหอยแครงหยดเกาะๆ กันไปเปนรูปพร่าๆ”  

ศิลปะสมัยใหม่ในสยามจึงสวนทางกับศิลปะสมัยใหม่ในยุโรป ความ ‘ใหม่’ เป็นเรื่องเชิงสัมพัทธ์ ใหม่เพราะแตกต่างออกไปจากแบบเดิมที่เคยทำกันมาช้านาน ทั้งนี้ ความเป็นสมัยใหม่ในงานศิลปะไม่เพียงตอบโจทย์ความต้องการที่จะศิวิไลซ์ตามอย่างชาวยุโรปเท่านั้น (ราชวงศ์ในยุโรปล้วนมีรูปเหมือนประดับตกแต่งอยู่ตามปราสาทราชวังกันทั้งสิ้น รวมทั้งมีรูปทรงม้าอยู่ตามจัตุรัสต่างๆ) แต่ยังกลายเป็นส่วนหนึ่งของการสถาปนาพระราชอำนาจและบารมีอย่างเป็นรูปธรรมที่จับต้องมองเห็นได้อีกด้วย รูปเหมือนบุคคลโดยฝีมือจิตรกรและประติมากรชาวยุโรปจึงมีมิติของการเป็นรูปเคารพอย่างไทยไปด้วยพร้อมกัน ประดิษฐกรรมทางศิลปะที่เกิดจากการถ่ายเททางวัฒนธรรมเหล่านี้มีลักษณะเป็น ‘ลูกผสม’ (hybrid) มีความคล้ายคลึงแต่ไม่เป็นเนื้อเดียวกันกับต้นแบบ เพราะมันตอบสนองความปรารถนาของชนชั้นนำที่เป็นต้นตอแห่งการถ่ายเททางวัฒนธรรมก่อนอื่นใด

ดังนั้น นอกเหนือไปจากเรื่องฝีมือ (อย่างในคำชมเชยที่ว่า “ถึงพรหม”) ที่สัมพันธ์กับสุนทรียภาพอย่างใหม่แล้ว ความเหมือนยังเป็นเครื่องถ่ายเทรัศมีความศักดิ์สิทธิ์ของผู้เป็นแบบลงสู่ภาพด้วย ลองนึกถึงพระบรมรูปทรงม้าของรัชกาลที่ 5 ที่ลานพระราชวังดุสิต ซึ่งเป็นอนุสาวรีย์แบบตะวันตกแห่งแรกของสยามที่กลายเป็นรูปเคารพกราบไหว้บนบานศาลกล่าวแบบไทยๆ เป็นตัวอย่าง หรือปฏิทินภาพรัชกาลที่ 9 ที่ไม่ไหม้ไฟในแทบทุกข่าวไฟไหม้ เป็นต้น

ในขณะที่การสร้างภาพเหมือนของกษัตริย์และเชื้อพระวงศ์แบบเหมือนจริงตามอย่างศิลปะตะวันตกนั้นเป็นส่วนสำคัญของการก่อตัวของศิลปะสมัยใหม่ ในสมัยรัชกาลที่ 9 มีจิตรกรในราชสำนักคนหนึ่งที่น่าสนใจเพราะว่าเขาไม่ได้เป็นทั้งจิตรกรชาวยุโรปหรือชาวไทย แต่เป็นชาวอินโดนีเซีย นั่นคือ ระเด่นบาซูกิ อับดุลลาห์ (Raden Basoeki Abdullah, 1915-1993) ซึ่งใช้เวลาทำงานในราชสำนักไทยนานนับสิบปี เขาได้เขียนทั้งภาพเหมือนของในหลวงรัชกาลที่ 9 สมเด็จพระราชินีสิริกิติ์ ตลอดจนบุคคลสำคัญต่างๆ ไว้เป็นจำนวนมาก สูจิบัตรนิทรรศการ Exhibition of Paintings by Raden Basoeki Abdullah บรรยายเกี่ยวกับระเด่นบาซูกิผู้เป็นจิตรกรที่ได้รับการศึกษาจากสถาบันทางศิลปะในยุโรปว่า

เขาเขียนภาพชาวตะวันออกโดยใช้เทคนิคแบบตะวันตกได้อย่างเชี่ยวชาญ เขาไม่ได้เลือกที่จะสร้างความตกตะลึงด้วยภาพนามธรรมที่ดูผิดปกติธรรมดา หากแต่สร้างความตื่นตาตื่นใจด้วยการ แสดงออกถึงความงาม[iii]  


Raden Basoeki Abdullah
ระเด่นบาซูกิ


ภูมิหลังทางการศึกษาและรูปแบบการทำงานของระเด่นบาซูกิแสดงถึงสภาวะแวดล้อมอันเกิดจากการที่อินโดนีเซียตกอยู่ใต้อาณานิคมของชาวดัตช์ กล่าวคือ ระเด่นบาซูกิซึ่งเป็นตระกูลชนชั้นสูงชาวพื้นเมืองได้รับการศึกษาในโรงเรียนระบบอาณานิคมที่ Hollands Inlandsche Scool (HIS) Catholic และ Meer Ultgebried Lager Onderwijs (MULO) Catholic ในชวา ก่อนจะไปเรียนต่อทางศิลปะที่ประเทศเจ้าอาณานิคม คือที่ Academie Voor Beeldende Kunsten ในกรุงเฮก ระเด่นบาซูกิชื่นชอบศิลปินชั้นครูชาวดัตช์ในศตวรรษที่ 17 สองคน ได้แก่ เรมบรานด์ท (Rembrandt van Rijn, 1606-1669) และรูเบนส์ (Peter Paul Rubens, 1577-1640)[iv] ความสามารถในการวาดภาพชาวตะวันออกโดยใช้เทคนิคแบบตะวันตกของระเด่นบาซูกิจึงมีการเมืองของยุคอาณานิคมในอินโดนีเซียเป็นฉากหลัง

ในแง่นี้ ระเด่นบาซูกิ (เช่นเดียวกับศิลปินสมัยใหม่ในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้คนอื่นๆ) มีความสำคัญอย่างยิ่งต่อการทำความเข้าใจประวัติศาสตร์ศิลปะสมัยใหม่ในภูมิภาค เรามักได้ยินคำวิจารณ์ที่ว่า ศิลปะสมัยใหม่ของไทย (หรือที่กว้างไปกว่านั้นคือ ศิลปะสมัยใหม่ในเอเชีย ซึ่งได้รับการปรามาสในลักษณะเดียวกันอยู่เสมอ) เป็นเพียงการลอกเลียนแบบจากต้นแบบศิลปะตะวันตก แต่ฝีมือสู้ต้นแบบไม่ได้ หรือเป็นงานที่เชยและล้าสมัย ไม่เหมือนศิลปะสมัยใหม่ในตะวันตก ข้อวิจารณ์ดังกล่าววางอยู่บนฐานคิดที่ให้พัฒนาการทางสุนทรียศาสตร์ของศิลปะตะวันตกเป็นศูนย์กลาง เป็นการเทียบเคียงจาก ‘ความเหมือน’ (อาจคล้ายความหมกมุ่นในความเหมือนระหว่างภาพเหมือนบุคคลกับบุคคลที่เป็นแบบของภาพเหมือน) โดยปราศจากการพิจารณาบริบทและเงื่อนไขแวดล้อม เห็นเพียงสิ่งที่เห็นด้วยตาเนื้อ (ทั้งนี้ไม่ได้แปลว่าจะเห็นมากกว่านี้ต้องมีตาทิพย์ แค่ต้องใช้ความคิดอยู่บ้าง) แต่ขาดการประเมินร่วมกับความเฉพาะเจาะจงทางประวัติศาสตร์[v]

สิ่งที่เป็นประเด็นสำคัญกว่าการเทียบเคียงว่าเหมือนหรือไม่เหมือนกับต้นแบบ คือการหาคำตอบว่าเพราะอะไรรูปแบบศิลปะอย่างหนึ่งจึง ‘ถูกเลือก’ มาในช่วงเวลาหนึ่งในประวัติศาสตร์ เลือกอย่างไร ผ่านช่องทางใด ตอบสนองความต้องการใด ของใคร ปฏิบัติการนั้นๆ ดำเนินไปอย่างไร และปรากฏการณ์ดังกล่าวก่อให้เกิดความเปลี่ยนแปลงในกระบวนทัศน์การทำงานศิลปะของท้องถิ่นอย่างไรบ้าง

การพยายามหาคำตอบจากมุมมองนี้สามารถพาเราไปสู่การทำความเข้าใจความสัมพันธ์ระหว่างภาพตัวแทนกับความศักดิ์สิทธิ์ของอำนาจนำและความย้อนแย้งของสภาวะความเป็นสมัยใหม่ (ทั้งในสังคมไทยและในศิลปะไทย)[vi] ซึ่งเป็นอะไรที่ทั้งบันเทิงและประเทืองปัญญากว่าการเกทับกันเรื่องใครเชย ใครทันสมัย ใครร่วมสมัย ใครไม่ทันโลก อันเป็นเรื่องซ้ำซากที่ได้ยินอยู่เสมอ…     



[i] บทความนี้ไม่ได้ใช้คำราชาศัพท์อย่าง ‘พระบรมสาทิสลักษณ์’ ซึ่งเป็นคำที่ใช้เรียกงานจิตรกรรมภาพเหมือนของในหลวงและพระราชินี

[ii] การว่าจ้างคอรร์าโด เฟโรซี (Corrado Feroci) หรือศิลป์ พีระศรี ประติมากรจากฟลอเรนช์มาทำงานให้ราชสำนักในสมัยรัชกาลที่ 6 เป็นรูปแบบที่สืบเนื่องมาจากพระราชนิยมทางศิลปะในสมัยรัชกาลที่ 5

[iii]He treats his Eastern subjects with a Western technique of which he has a mastery; he does not choose to shock with unusual abstract painting, but rather to fascinate with expression of beauty.” สูจิบัตรนิทรรศการ Exhibition of Paintings by Raden Basoeki Abdullah, สนับสนุนโดยสโมสรไลออนส์ กรุงเทพ, จัดแสดงที่สนามกีฬาแห่งชาติ ระหว่างวันที่ 15-24 มกราคม 2503, กรุงเทพ: โรงพิมพ์ท่าพระจันทร์, 2503, ไม่ระบุเลขหน้า.

[iv] ระเด่นบาซูกิศึกษาศิลปะในกรุงเฮก ปารีสและโรม ได้เขียนภาพบุคคลสำคัญไว้มากมายรวมถึงสมเด็จพระราชินีจูเลียน่าแห่งเนเธอร์แลนด์และประธานาธิบดีซูการ์โน ระเด่นบาซูกิถูกคนสวนที่กำลังขโมยของทำร้ายจนเสียชีวิตที่บ้านพักในจาการ์ตาเมื่อปี 2536 สิริอายุ 78 ปี

[v] ในทางวิชาการ การทำความเข้าใจพลวัตของศิลปะสมัยใหม่ในโลกนอกตะวันตกเลิกใช้มุมมองที่ให้ศิลปะตะวันตกเป็นศูนย์กลางในการประเมินคุณค่านานแล้ว (มีแต่เหล่าผู้รู้ตามโซเชียลมีเดียที่ชอบสอนแต่อาจจะไม่ชอบอ่านหนังสือนั่นแหละที่ไม่รู้) ตัวอย่างของงานเขียนรุ่นบุกเบิก ได้แก่ Modernity in Asian Art (1993) โดยจอห์น คลาร์ก (John Clark) นักประวัติศาสตร์ศิลปะชาวออสเตรเลีย   

[vi] ดูรายละเอียดเกี่ยวกับความซับซ้อนและ phase ต่างๆ ของศิลปะสมัยใหม่และร่วมสมัยในสยาม / ไทยได้ในบทความภาษาอังกฤษของผู้เขียนชื่อ “Thai: Keeping Up with the Times and the West” https://muse.jhu.edu/article/707954 – sub03 ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของชุดบทความ “Terminologies of “Modern” and “Contemporary” “Art” in Southeast Asia’s Vernacular Languages: Indonesian, Javanese, Khmer, Lao, Malay, Myanmar/Burmese, Tagalog/Filipino, Thai and Vietnamese” ในวารสาร Southeast of Now: Directions in Contemporary and Modern Art in Asia, Volume 2, Number 2, October 2018, pp. 93-99.

MOST READ

Life & Culture

14 Jul 2022

“ความตายคือการเดินทางของทั้งคนตายและคนที่ยังอยู่” นิติ ภวัครพันธุ์

คุยกับนิติ ภวัครพันธุ์ ว่าด้วยเรื่องพิธีกรรมการส่งคนตายในมุมนักมานุษยวิทยา พิธีกรรมของความตายมีความหมายแค่ไหน คุณค่าของการตายและการมีชีวิตอยู่ต่างกันอย่างไร

ปาณิส โพธิ์ศรีวังชัย

14 Jul 2022

Life & Culture

27 Jul 2023

วิตเทเกอร์ ครอบครัวที่ ‘เลือดชิด’ ที่สุดในอเมริกา

เสียงเห่าขรม เพิงเล็กๆ ริมถนนคดเคี้ยว และคนในครอบครัวที่ถูกเรียกว่า ‘เลือดชิด’ ที่สุดในสหรัฐอเมริกา

เรื่องราวของบ้านวิตเทเกอร์ถูกเผยแพร่ครั้งแรกทางยูทูบเมื่อปี 2020 โดยช่างภาพที่ไปพบพวกเขาโดยบังเอิญระหว่างเดินทาง ซึ่งด้านหนึ่งนำสายตาจากคนทั้งเมืองมาสู่ครอบครัวเล็กๆ ครอบครัวนี้

พิมพ์ชนก พุกสุข

27 Jul 2023

Life & Culture

22 Feb 2022

คราฟต์เบียร์และความเหลื่อมล้ำ

วันชัย ตันติวิทยาพิทักษ์ เขียนถึงอุตสาหกรรมเบียร์ไทย ที่ผู้ประกอบการคราฟต์เบียร์รายเล็กไม่อาจเติบโตได้ เพราะติดล็อกข้อกฎหมาย และกลุ่มทุนที่ผูกขาด ทั้งที่มีศักยภาพ

วันชัย ตันติวิทยาพิทักษ์

22 Feb 2022

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • Always Active

Save