fbpx
10 บทเรียนจาก 20 ปีสงครามอเมริกันในอัฟกานิสถาน

10 บทเรียนจาก 20 ปีสงครามอเมริกันในอัฟกานิสถาน

pxhere.com ภาพประกอบ


สงครามอเมริกันในอัฟกานิสถานเกิดขึ้นหลังเหตุการณ์ 9/11 การก่อวินาศกรรมครั้งใหญ่ที่สุดในประวัติศาสตร์สหรัฐฯ ซึ่งเกิดขึ้นในจุดศูนย์กลางทางการเมืองและเศรษฐกิจของประเทศ เหตุการณ์ครั้งนั้นเกิดจากการวางแผนการของกลุ่มก่อการร้ายนาม al-Qaeda ซึ่งนำโดย Osama bin Laden นั่นทำให้อดีตประธานาธิบดี George W. Bush ประกาศสงครามต่อต้านผู้ก่อการร้าย (War on Terror) พร้อมยาตรากองทัพที่ยิ่งใหญ่ที่สุดของสหรัฐฯ และชาติพันธมิตรกลับเข้าสู่ตะวันออกกลาง อ่าวเปอร์เซีย และเอเชียใต้อีกครั้งภายใต้ปฏิบัติการ Operation Freedom’s Sentinel

สงครามครั้งนั้นยืดเยื้อยาวนานจนถึงปัจจุบัน กระทั่งเห็นความพ่ายแพ้ของสหรัฐฯ ในเดือนสิงหาคม 2021 บทเรียนของสงครามในครั้งนี้สอนอะไรเราบ้าง

เพื่อเข้าใจสถานการณ์ เราต้องย้อนกลับไปที่จุดสูงสุดของสงครามเย็นในทศวรรษ 1970s เมื่อกองทัพของสหภาพโซเวียตบุกเข้ายึดครองอัฟกานิสถานเมื่อวันที่ 24 ธันวาคม 1979 โซเวียตตั้งรัฐบาลใหม่ของอัฟกานิสถานในนาม Democratic Republic of Afghanistan และเมื่อเห็นการรุกคืบของโซเวียตเข้าสู่ทำเลที่ตั้งทางยุทธศาสตร์ที่จะเชื่อมเข้าสู่ ตะวันออกกลาง เอเชียใต้ และอ่าวเปอร์เซีย พันธมิตรสหรัฐ ปากีสถาน และซาอุดิอาระเบีย จึงร่วมมือกันสนับสนุนกลุ่มนักรบที่ต่อต้านโซเวียตในนาม Mujahideen ซึ่งมีการระดมผู้คนมาเป็นนักรบ โดยเฉพาะกลุ่มคนอาหรับจากตะวันออกกลางที่อาสาสมัครเข้ามา

เนื่องจากการโฆษณาชวนเชื่อที่ว่า นี่คือการทำสงครามศักดิ์สิทธิ์เพื่อปกป้องดินแดนโลกอิสลาม หรือการทำ Jihad โดยเรียกอาสาสมัครจากโลกอาหรับเหล่านี้ว่า Afghan Arabs โดยหนึ่งในอาสาสมัครกลุ่มนี้ที่ต่อไปจะได้รับการฝึกจากองค์ความรู้ของสหรัฐฯ ในประเทศปากีสถานคือ Osama bin Laden ชายหนุ่มจากครอบครัวร่ำรวยในซาอุดิอาระเบีย กลุ่ม Mujahideen มีความสำคัญต่อสหรัฐมาก ถึงขนาดมีโอกาสได้เข้าพบอดีตประธานาธิบดี Ronald Reagan ที่ห้องทำงานในทำเนียบขาว

และแล้ว จากยุทธศาสตร์การปิดล้อมจำกัดเขตโซเวียตที่สหรัฐฯ ดึงจีนเข้ามาเป็นพันธมิตร ก็ทำให้โซเวียตอ่อนแอลงอย่างมากในช่วงปลายทศวรรษ 1980s จากนั้น เราจึงเริ่มเห็นการถอนทหารโซเวียตออกจากอัฟกานิสถานในปี 1989 ตามมาด้วยการล่มสลายของสหภาพโซเวียตในปี 1991 และนั่นทำให้ในอัฟกานิสถานเข้าสู่ยุคขุนศึก (Warlord) ที่กลุ่มกองกำลังต่างๆ ที่มีอาวุธ ทั้งจากที่โซเวียตทิ้งเอาไว้ และจากที่สหรัฐฯ ให้การสนับสนุน ตั้งตนขึ้นมาเป็นใหญ่ สามารถปกครองพื้นที่เล็กๆ ของตนเอง ด้วยเงื่อนไขทางภูมิศาสตร์ของอัฟกานิสถานที่ตั้งอยู่บนเทือกเขา Hindu Kush ซึ่งเป็นแนวต่อเนื่องมาจากหลังคาของโลกนั่นคือ เทือกเขา Himalaya ภูเขาสูงที่ระดับ 5,000-7,000 เมตรเหนือระดับน้ำทะเล และถ้ำที่สลับซับซ้อนทำให้เกิดเงื่อนไขเหล่านี้ได้เป็นอย่างดี

ท่ามกลางประเทศที่แตกเป็นก๊กเป็นเหล่า อดีตนักรบ Mujahideen นาม Mohammed Omar ซึ่งช่วงนั้นอยู่ในประเทศปากีสถาน โดยผันตัวไปเป็นครูสอนศาสนาและตีความหลักคำสอนของศาสนาอิสลามอย่างเข้มข้นเข้มงวด ก็ได้ตั้งกลุ่มกองกำลังที่หมายจะกอบกู้และรวมประเทศอัฟกานิสถานขึ้นมา โดยตั้งชื่อกลุ่มของเขาว่า Taliban ซึ่งมาจากคำว่า Talib ที่แปลว่า ‘นักเรียน’ หรือผู้ที่ศึกษาคำสอนของศาสนา Mohammed Omar จากนั้น กลุ่ม Taliban ก็เดินทางสู่อัฟกานิสถาน และเริ่มสร้างฐานมั่นในเมือง Kandahar ทางตะวันออกเฉียงใต้ของประเทศ ใกล้กันกับชายแดนปากีสถานในปี 1994

ตลอดช่วงปี 1995-1996 กองกำลัง Taliban ยึดครองภาคใต้และขยายอิทธิพลของตนเองจนถึงตอนกลางของประเทศได้ โดยมีหลักความเชื่อทางศาสนานิกายซุนนีที่ตีความแบบเข้มข้นเข้มงวดเป็นอัตลักษณ์ร่วม ทั้งนี้ Taliban ได้รับการสนับสนุนทางการเงินจากซาอุดิอาระเบีย และยังได้รับการสนับสนุนด้านกำลังคนราว 80,000–100,000 คน จากปากีสถาน จนสามารถยึดครองเมืองหลวง กรุง Kabul ได้สำเร็จในวันที่ 27 กันยายน 1996 และสถาปนา Islamic Emirate of Afghanistan ขึ้น (Emirate มาจากคำว่า Emir ซึ่งเป็นคำเรียกผู้ปกครองที่เป็นผู้นำศาสนาในตัวเอง) โดยอดีตประธานาธิบดี Najibullah ซึ่งหลบภัยอยู่ในความคุ้มครองของสหประชาชาติถูกลากตัวออกมาประหารชีวิต และนำศีรษะมีเสียบประจานในกลางกรุง Kabul (นั่นทำให้ทั่วโลกได้เห็นความทารุณโหดร้ายของกลุ่ม Taliban ในอดีต และน่าจะเป็นเหตุผลว่า เพราะเหตุใดในปี 2021 เมื่อ Taliban ยึดกรุงคาบูลได้ ประธานาธิบดี Ashraf Ghani ถึงต้องรีบลี้ภัยออกจากประเทศ)

เมื่อยึดกรุง Kabul ได้ Taliban ก็เริ่มประกาศสงครามกับพันธมิตรขุนศึกทางภาคเหนือของประเทศ (Northern Alliance หรือ United Front) ที่มีฐานที่มั่นอยู่ที่เมือง Mazar-i-Sharif ภายใต้การนำของนาย Ahmad Shah Massoud โดยพันธมิตรขุนศึกภาคเหนือประกอบไปด้วยกลุ่มชาติพันธุ์ต่างๆ ทั้ง Afghan, Tajik, Uzbeks, Hazara และ Pashtun โดยคนเหล่านี้ได้รับการสนับสนุนจากต่างประเทศโดยเฉพาะ รัสเซีย อิหร่าน ทาจิกิซสถาน และอินเดีย

แต่แล้ว Taliban ก็สามารถยึดครอง Mazar-i-Sharif ได้สำเร็จในปี 1998 ทำให้กลุ่ม Northern Alliance แตกกระจาย พร้อมกับเข้ายึดถ้ำและซอกเขาที่สลับซับซ้อนทางตอนเหนือสุดของประเทศเป็นฐานที่มั่น เพื่อกำจัดกลุ่มนี้ให้สิ้นซาก Taliban จึงใช้บริการของกองกำลัง 055-Brigade ซึ่งถือเป็นกองกำลังที่โหดร้ายและมีฝีมือขึ้นชื่อ โดยผู้นำของกองกำลังนี้ก็คือสหายเก่าอดีตนักรบ Mujahideen นาม Osama bin Laden ซึ่งเปลี่ยนตัวเองเป็นขบวนการ al-Qaeda ในลำดับต่อไป

ในปี 2001 Taliban สามารถยึดครองพื้นที่ได้มากกว่า 90% ของทั้งประเทศ โดยมีกองกำลังหลักเป็นชาว Pashtun ที่ได้รับการสนับสนุนจากปากีสถานราว 20,000–30,000 นาย และกองกำลัง al-Qaeda อีกราว 2,000 นาย จากนั้น แผนการที่กลุ่ม al-Qaeda วางเอาไว้อย่างดีมาเป็นระยะเวลายาวนานก็เริ่มขึ้นในวันที่ 9 กันยายน 2001 โดยส่งมือระเบิดฆ่าตัวตายจำนวน 2 นาย ปลอมตัวเป็นนักข่าวจากสำนักข่าวของฝรั่งเศสเข้าไปทำข่าวในกองบัญชาการของ Northern Alliance และระเบิดสังหารผู้นำ Massoud ได้สำเร็จ ก่อนที่อีก 2 วันต่อมา ในอีกซีกโลก กลุ่มผู้ก่อการร้าย 19 นายยึดเครื่องบินโดยสาร ถล่มอาคารกระทรวงกลาโหม ทำเนียบขาว และอาคาร World Trade Center ณ ศูนย์กลางการปกครอง ศูนย์กลางความมั่นคง และศูนย์กลางเศรษฐกิจของสหรัฐฯ หรือที่รู้จักในชื่อเหตุการณ์ 9-11 จนมีผู้เสียชีวิต 2,996 คน

หลังเหตุการณ์ 9-11 กองกำลังพันธมิตรของสหรัฐฯ ได้แก่ the Five Eyes Alliance (FVEY) ซึ่งประกอบไปด้วยสหรัฐฯ สหราชอาณาจักร แคนาดา ออสเตรเลีย และนิวซีแลนด์ ร่วมกับอิตาลี และเยอรมนี ก็กรีฑาทัพภายใต้ปฏิบัติการ Freedom’s Sentinel เข้าทำสงครามในอัฟกานิสถาน และสามารถยึดกรุง Kabul ได้ภายในไม่กี่เดือน จากนั้น มีการแต่งตั้งนาย Hamid Karzai ขึ้นเป็นหัวหน้าคณะปกครองประเทศในนาม Afghan Interim Administration ต่อมา คณะมนตรีความมั่นคงแห่งสหประชาชาติก็ส่งกองกำลังรักษาสันติภาพในนาม International Security Assistance Force (ISAF) ซึ่งประกอบขึ้นจากบุคลากรจาก 40 ประเทศ ซึ่งแน่นอนว่า ณ เวลานั้น ทั่วทั้งโลกเชื่อว่า Taliban ถูกขับไล่และทำลายออกจากอัฟกานิสถานไปแล้ว และในที่สุดก็นำไปสู่การเลือกตั้งครั้งแรกในรอบหลายปี โดยผู้ชนะการเลือกตั้งและได้เป็นประธานาธิบดีคนแรกของประเทศอัฟกานิสถานในชื่อใหม่ Islamic Republic of Afghanistan ในปี 2004 ก็คือ นาย Hamid Karzai นั่นเอง

แต่ในความเป็นจริง ตลอดช่วงปี 2001-2003 กลุ่ม Taliban เพียงแค่ออกจากเมืองหลวงคาบูล ไปรวบรวมกำลังและสร้างองค์กรขึ้นมาใหม่ ในพื้นที่ที่พวกเขามีความได้เปรียบในทางภูมิศาสตร์ นั่นคือ ในบริเวณที่เป็นเทือกเขาและถ้ำที่สลับซับซ้อนในชนบท และในปี 2003 Taliban ก็กลับมาอีกครั้งภายใต้การนำของนาย Mullah Omar

Mullah Omar ก็เป็นอีกหนึ่งนักรบ Mujahideen ที่ได้รับการฝึกฝนโดยสหรัฐฯ ในประเทศปากีสถาน เขาตั้งตนขึ้นเป็นผู้นำการปกครองและศาสนาในนาม Emir of Afghanistan คุณผู้อ่านหลายๆ ท่านคงจำได้ว่า พระพุทธรูปยืนที่มีขนาดใหญ่ที่สุดในโลกที่แกะสลักบนหน้าผาในอัฟกานิสถานที่เรียกว่า Buddha of Bamiyan ที่ถูกถล่มลงทั้งหมด ซึ่งนับเป็นโศกนาฏกรรมทางประวัติศาสตร์สังคมวัฒนธรรมที่เลวร้ายที่สุดอีกครั้งหนึ่งในปี 2001 ก็เกิดขึ้นเพราะคำสั่งของ Mulla Omar

กองกำลัง Taliban เริ่มต้นทำการต่อสู้เพื่อยึดครองฐานที่มั่นจากภาคใต้และภาคตะวันออก โดยช่วงเวลาที่การต่อสู้มีความรุนแรงที่สุดคือระหว่างปี 2007-2009 ก่อนที่กองกำลังของพันธมิตร 40 ชาติ ISAF ซึ่งนำโดยกองกำลัง NATO จะเริ่มปฏิบัติการ Clear and Hold คือการเข้ากวาดล้างพื้นที่ที่ Taliban ยึดครอง และเอากองกำลังของตนเองไปประจำเอาไว้ โดยปฏิบัติการดังกล่าวทำให้ในปี 2011 ซึ่งพื้นที่ส่วนใหญ่ถูกควบคุมโดย ISAF ได้แล้วนั้น ประเทศอัฟกานิสถานมีกองกำลังต่างชาติอยู่ภายในประเทศถึงกว่า 140,000 นาย

อีกหนึ่งเหตุการณ์สำคัญในปี 2011 คือเหตุการณ์ที่กองกำลังของสหรัฐภายใต้ชื่อปฏิบัติการ Operation Neptune Spear เข้าไปปฏิบัติการในปากีสถานและสามารถสังหาร Osama bin Laden ได้สำเร็จ ทำให้ดูเสมือนว่า เหตุการณ์ในอัฟกานิสถานอยู่ภายใต้การควบคุมของตะวันตกอีกครั้ง นั่นทำให้กลุ่มประเทศ NATO เริ่มต้นแผนการถอนทหารออกจากอัฟกานิสถาน (Exit Strategy) ในปี 2012

วันที่ 20 กันยายน 2014 มีการเลือกตั้งทั่วไปในประเทศอัฟกานิสถาน และผู้ที่ชนะการเลือกตั้งคือ Ashraf Ghani ซึ่งเป็นอดีตนักมานุษยวิทยาและนักเศรษฐศาสตร์ เป็นอาจารย์สอนหนังสือที่มหาวิทยาลัย Johns Hopkins และเป็นอดีตเจ้าหน้าที่ธนาคารโลก ก่อนที่จะเดินทางกลับประเทศอัฟกานิสถาน บ้านเกิดของเขา ในช่วงหลังปี 2001 เพื่อมารับตำแหน่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังของรัฐบาลภายใต้การนำของ Hamid Karzai และยังเคยดำรงตำแหน่งอธิการบดีของ Kabul University

และในปี 2014 เช่นกันที่กองกำลังสหประชาชาติ ISAF ถอนกำลังกลับประเทศตนเอง และลดขนาดการปฏิบัติการลงเหลือเพียง Operation Resolute Support ทำหน้าที่เพียงสนับสนุนให้ประเทศอัฟกานิสถานสามารถยืนอยู่ได้ด้วยการปกครอง กองทัพและเศรษฐกิจของตนเอง

แต่ทั้งหมดก็ล้มเหลวอย่างสิ้นเชิง เพราะรัฐบาลของอัฟกานิสถานกลับเป็นรัฐบาลที่ล้มเหลวและอ่อนแอ โดยเฉพาะด้วยปัญหาคอร์รัปชัน ที่ทุกภาคส่วนต่างกอบโกยเพื่อประโยชน์ของตนเอง เพราะทุกคนไม่ได้เห็นผลประโยชน์ของชาติ โดยจากการจัดอันดับของ Transparency International อัฟกานิสถานอยู่ที่อันดับ 177 จาก 180 ประเทศ ตลอดช่วงระหว่างปี 2001-2021 มีคดีคอร์รัปชันใหญ่ๆ เกิดขึ้นในอัฟกานิสถานมาต่อเนื่อง อาทิ Kabul Bank Scandal ในปี 2010-2013 ที่เงินของธนาคารกว่า 1 พันล้านดอลลาร์สหรัฐถูกยักยอกออกไปโดยคนใกล้ชิดของประธานาธิบดี Hamid Karzai และเมื่อมีการดำเนินคดี รัฐบาลก็ยึดเงินกลับคืนมาได้เพียง 180 ล้านดอลลาร์สหรัฐ หรือในวันที่อดีตประธานาธิบดีคนล่าสุด Ashraf Ghani ออกเดินทางลี้ภัยไปทาจิกิสถานหรืออุซเบกิสถาน สื่อหลายสำนักก็รายงานว่าเขาเดินทางหนีออกไปพร้อมกับรถยนต์อีก 4 คันและเครื่องบินอีก 1 ลำที่เต็มไปด้วยเงินสดและทรัพย์สิน

วันที่ 29 กุมภาพันธ์ 2020 สหรัฐฯ ภายใต้การนำของอดีตประธานาธิบดี Donald Trump เปิดการเจรจากับตัวแทนจากฝ่าย Taliban ณ กรุง Doha ประเทศกาตาร์ โดยมีนาย Abdullah-Abdullah คู่แข่งชิงตำแหน่งประธานาธิบดีของ Ashraf Ghani เป็นตัวกลางในการเจรจา โดยทั้ง 2 ฝ่ายสามารถบรรลุการเจรจาได้สำเร็จ มีการลงนาม Doha Agreement ที่มีใจความสำคัญ นั่นคือ ฝ่ายสหรัฐจะถอนทหารทั้งหมดออกจากอัฟกานิสถานภายในระยะเวลา 14 เดือน ในขณะที่ฝ่าย Taliban ยืนยันที่จะไม่อนุญาตให้สมาชิก บุคคล หรือกลุ่มอื่นๆ รวมถึง al-Qaeda ใช้ดินแดนของอัฟกานิสถานเพื่อคุกคามความมั่นคงของสหรัฐฯ และพันธมิตร (Taliban agree NOT to allow any of its members, other individuals or groups, including al-Qaeda, to use the soil of Afghanistan to threaten the security of the United State and its allies.) โดยที่รัฐบาลของ Ashraf Ghani ต้องยอมปล่อยตัวนักโทษ Taliban จากที่คุมขังกว่า 500 คน

นั่นทำให้ทุกฝ่ายพิจารณาได้ว่า การเจรจากันครั้งนี้ ทุกฝ่ายได้ประโยชน์ร่วมกันทั้งหมด นั่นคือ สหรัฐฯ และพันธมิตรได้เลิกสงคราม 20 ปีที่สูญเสียมหาศาลทั้งกำลังคนและกำลังเงิน ทำให้อดีตประธานาธิบดี Trump ได้นำผลงานนี้ไปใช้ในการหาเสียงเลือกตั้ง ขณะที่ฝั่ง Taliban ก็ได้กำลังคนเพื่อที่จะได้กลับมาครอบครองประเทศอีกครั้ง

แต่คนที่ไม่ได้ประโยชน์และไม่มีฝ่ายใดเห็นหัวในการเจรจาเลยคือ ‘ประชาชนอัฟกานิสถาน’

จากนั้น พอถึงยุคของประธานาธิบดี Joe Biden การถอนทหารที่เคยกำหนดว่าจะเกิดขึ้นและสำเร็จในเดือนเมษายน 2021 ก็ล่าช้า โดยมีการเปลี่ยนกำหนดเวลาใหม่เป็น 9 กันยายน 2021 และในที่สุดก็ถูกปรับเลื่อนขึ้นมาอีกครั้งเป็นวันที่ 31 สิงหาคม 2021

Biden ยอมเสียคำพูดของตนเอง เขาแถลงหลังขึ้นสู่ตำแหน่งประธานาธิบดีว่า “พันธกิจหลักของสหรัฐในอัฟกานิสถานไม่ใช่การเข้าไปสร้างกระบวนการสร้างชาติให้กับคนอัฟกานิสถาน แต่พันธกิจหลักของสหรัฐคือการป้องกันการก่อการร้ายที่จะเกิดขึ้นกับแผ่นดินสหรัฐ” ทั้งที่ในปี 2001 สมัยที่เขาเป็นกรรมาธิการการต่างประเทศของวุฒิสภา ซึ่งเป็นช่วงที่สหรัฐฯ ส่งกองกำลังเข้าไปในอัฟกานิสถาน เขาเคยกล่าวไว้ว่า “เราหวังที่จะเห็นอัฟกานิสถานมีรัฐบาลที่มีเสถียรภาพและสามารถวางรากฐานไปสู่การฟื้นฟูเศรษฐกิจของประเทศ” และเคยกล่าวอีกครั้งในปี 2003 ว่า “อีกทางเลือกหนึ่งหากอัฟกานิสถานไม่เข้าสู่กระบวนการสร้างชาติ ก็คือการเกิดความวุ่นวาย อันเป็นบ่อเกิดของบรรดาขุนศึกกระหายเลือด พ่อค้ายาเสพติด และกลุ่มก่อการร้าย” [1]

โดยยังไม่ทันที่กองกำลังของสหรัฐจะออกไปทั้งหมด วันที่ 15 สิงหาคม 2021 กรุงคาบูลก็ถูกยึดครองอย่างสมบูรณ์โดยกลุ่ม Taliban และกลับมาเปลี่ยนชื่อประเทศเป็น Islamic Emirate of Afghanistan อีกครั้ง

อดีตประธานาธิบดีอัฟกานิสถาน Ashraf Ghani ที่เคยประกาศไว้ก่อนหน้านี้ว่า “จะอยู่ร่วมและต่อสู้เพื่อปกป้องคุณค่าที่เขาและประชาชนอัฟกานิสถานยึดมั่น” ก็ได้กลายเป็นหนึ่งในกลุ่มคนที่หนีออกนอกประเทศไปก่อนหน้าประชาชนคนอื่นๆ

สรุปความเสียหายที่เกิดขึ้นตลอด 20 ปีที่ผ่านมา รวมผู้เสียชีวิตเท่าที่นับได้คือ 212,191 คนหรือมากกว่า ซึ่งในจำนวนนี้อย่างน้อย 47,245 คนเป็นพลเรือน ทหารชาวอัฟกานิสถานเสียชีวิตมากที่สุด 65,596 นาย กลุ่ม Taliban เสียชีวิตมากกว่า 51,000 นาย กลุ่ม al-Qaeda เสียชีวิตราว 2,000 นาย พันธมิตรฝ่ายเหนือเสียชีวิตราว 200 นาย

ในขณะที่ฝ่ายตะวันตกเสียชีวิต 3,562 นาย (สหรัฐฯ 2,420 นาย, สหราชอาณาจักร 456 นาย) บาดเจ็บ 22,773 นาย

จนถึงปี 2021 สหรัฐฯ สูญเสียงบประมาณในการทำสงครามครั้งนี้ไปแล้ว 2.261 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐ และเนื่องจากเงินงบประมาณบางส่วนมาจากการกู้เงิน ดังนั้นสหรัฐฯ ยังมีภาระชำระคืนเงินดอกเบี้ยอีก 530 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ และยังต้องจัดสรรงบประมาณในการดูแลทหารผ่านศึกที่บาดเจ็บ และพิการต่อไปอีกในอนาคตเป็นเงิน 296 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ นั่นเท่ากับงบประมาณที่สหรัฐฯ จะต้องสูญเสียไปทั้งหมดในระยะยาวอยู่ที่ประมาณ 4 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐ พร้อมกับความอดสูต่อความล้มเหลวในตลอด 20 ปีที่เกิดขึ้น

จาก 20 ปีของสงครามอเมริกันในอัฟกานิสถาน เราสามารถถอดบทเรียนออกมาได้ 10 ข้อ

  1. ไม่มีผู้ชนะในสงคราม มีแต่ผู้สูญเสีย และผู้ที่สูญเสียมากที่สุดคือ ประชาชน
  2. ไม่มีมิตรแท้และศัตรูที่ถาวรในทางความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ ทุกประเทศย่อมต้องพิทักษ์รักษาผลประโยชน์แห่งชาติของตนก่อนสิ่งอื่นๆ และบางครั้ง เพื่อพิทักษ์ผลประโยชน์ดังกล่าว ประเทศก็พร้อมที่จะทำสิ่งที่น่าละอาย
  3. คำพูดของนักการเมืองต้องวิเคราะห์ให้ดี เพราะหลายๆ ครั้ง มักจะเชื่อถือไม่ได้ ไม่ว่าจะเป็นนักการเมืองประเทศไหน
  4. คอร์รัปชันคือภัยคุกคามประเทศที่ใหญ่หลวงที่สุด
  5. อย่าชักศึกเข้าบ้าน
  6. เราต้องเรียนรู้จากประวัติศาสตร์ เพื่อหลีกเลี่ยงการทำผิดพลาดในอนาคต
  7. การตีความศาสนาที่เข้มงวดจนเข้าขั้น Extremist/Fundamentalist จะทำให้ศาสนาที่ดีกลายเป็นภัยคุกคาม
  8. ภูมิรัฐศาสตร์เศรษฐกิจ (Geo-Political Economy) ร่วมกับสังคมวัฒนธรรม (Socio-Cultural) เป็นปัจจัยกำหนดผลของการสงคราม
  9. อันตรายที่สุดของการสร้างปีศาจขึ้นมาใช้งานคือ เมื่องานสำเร็จไปแล้วและไม่มีความจำเป็นต้องใช้งานปีศาจตนนั้นอีกต่อไป ปีศาจเหล่านั้นจะกลับมาหลอกหลอนตัวผู้สร้างเอง
  10. เรียนรู้จากอัฟกานิสถาน แล้วต้องย้อนกลับมาวิเคราะห์และเตรียมรับมือกับสถานการณ์ทั้งรอบบ้านเราและในประเทศไทย


[1] https://www.bbc.com/news/58243158

MOST READ

World

1 Oct 2018

แหวกม่านวัฒนธรรม ส่องสถานภาพสตรีในสังคมอินเดีย

ศุภวิชญ์ แก้วคูนอก สำรวจที่มาที่ไปของ ‘สังคมชายเป็นใหญ่’ ในอินเดีย ที่ได้รับอิทธิพลสำคัญมาจากมหากาพย์อันเลื่องชื่อ พร้อมฉายภาพปัจจุบันที่ภาวะดังกล่าวเริ่มสั่นคลอน โดยมีหมุดหมายสำคัญจากการที่ อินทิรา คานธี ได้รับเลือกให้เป็นนายกรัฐมนตรีหญิงคนแรกในประวัติศาสตร์

ศุภวิชญ์ แก้วคูนอก

1 Oct 2018

World

16 Oct 2023

ฉากทัศน์ต่อไปของอิสราเอล-ปาเลสไตน์ ความขัดแย้งที่สั่นสะเทือนระเบียบโลกใหม่: ศราวุฒิ อารีย์

7 ตุลาคม กลุ่มฮามาสเปิดฉากขีปนาวุธกว่า 5,000 ลูกใส่อิสราเอล จุดชนวนความขัดแย้งซึ่งเดิมทีก็ไม่เคยดับหายไปอยู่แล้วให้ปะทุกว่าที่เคย จนอาจนับได้ว่านี่เป็นการต่อสู้ระหว่างอิสราเอลกับปาเลสไตน์ที่รุนแรงที่สุดในรอบทศวรรษ

จนถึงนาทีนี้ การสู้รบระหว่างอิสราเอลกับปาเลสไตน์ยังดำเนินต่อไปโดยปราศจากทีท่าของความสงบหรือยุติลง 101 สนทนากับ ดร.ศราวุฒิ อารีย์ ผู้อำนวยการศูนย์มุสลิมศึกษา สถาบันเอเชียศึกษา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ถึงเงื่อนไขและตัวแปรของความขัดแย้งที่เกิดขึ้น, ความสัมพันธ์ระหว่างอิสราเอลและรัฐอาหรับ, อนาคตของปาเลสไตน์ ตลอดจนระเบียบโลกใหม่ที่ก่อตัวขึ้นมาหลังยุคสงครามเย็น

พิมพ์ชนก พุกสุข

16 Oct 2023

World

9 Sep 2022

46 ปีแห่งการจากไปของเหมาเจ๋อตง: ทำไมเหมาเจ๋อตง(โหด)ร้ายแค่ไหน คนจีนก็ยังรัก

ภัคจิรา มาตาพิทักษ์ เขียนถึงการสร้าง ‘เหมาเจ๋อตง’ ให้เป็นวีรบุรุษของจีนมาจนถึงปัจจุบัน แม้ว่าเขาจะอยู่เบื้องหลังการทำร้ายผู้คนจำนวนมหาศาลในช่วงปฏิวัติวัฒนธรรม

ภัคจิรา มาตาพิทักษ์

9 Sep 2022

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • Always Active

Save