fbpx
ความเหลื่อมล้ำโลก (Global Inequality) และการเปลี่ยนแปลงหลังโควิด

ความเหลื่อมล้ำโลก (Global Inequality) และการเปลี่ยนแปลงหลังโควิด

การระบาดของโควิด-19 ส่งผลให้กระบวนการพัฒนาเศรษฐกิจในหลายประเทศหยุดชะงัก ความสูญเสียในชีวิตและรายได้จากการระบาดและมาตรการที่ใช้เพื่อควบคุมโรค ทำให้สวัสดิการและความกินดีอยู่ดีของประชาชนลดลงอย่างประมาณค่าไม่ได้ ผู้เชี่ยวชาญคาดการณ์ว่า หลังโควิด-19 เศรษฐกิจการเมืองโลกจะเปลี่ยนแปลงไปในหลายมิติ โดยหนึ่งในประเด็นถกเถียงสำคัญ คือนัยสำคัญของโรคโควิด-19 ต่อ ‘ความเหลื่อมล้ำโลก’ (Global inequality)

ความเหลื่อมล้ำเป็นความท้าทายทางด้านการพัฒนาเศรษฐกิจในช่วง 30 ปีที่ผ่านมา หลักฐานเชิงประจักษ์จากงานวิจัยที่ผ่านมา (เช่น Wilkinson and Picket, 2010; Stiglitz, 2012; Deaton, 2014, Piketty, 2014) ชี้ให้เห็นว่า นอกจากความเหลื่อมล้ำจะเป็นศัตรูกับการพัฒนาเศรษฐกิจอย่างเทียมและยั่งยืนแล้ว ยังนำไปสู่ประเด็นปัญหาด้านการพัฒนาอื่นๆ อาทิ ความไม่เท่ากันของอำนาจ (Power Asymmetries) ความถดถอยของกระบวนการพัฒนาประชาธิปไตย (Democratization) การบั่นทอนสิทธิมนุษยชน (Human rights) การเป็นชนวนสร้างความขัดแย้งในสังคม และการทำลายความไว้เนื้อเชื่อใจ (Distrust) รวมไปถึงการกีดกันทางสังคม (Social Exclusion) เป็นต้น

ในช่วงหลายปีที่ผ่านมา ชุมชนวิชาการและผู้กำหนดนโยบายต่างหันมาให้ความสำคัญกับความเหลื่อมล้ำมากขึ้น โดยองค์การสหประชาชาติได้กำหนดให้การลดความเหลื่อมล้ำเป็น 1 ใน 17 เป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน (Sustainable Development Goals: SDGs) ซึ่งเป็นวาระหลักของการพัฒนา ด้วยเหตุนี้ จึงไม่แปลกที่เราจะเห็นการถกเถียงเรื่องเหลื่อมล้ำในทุกหนแห่ง อีกทั้งความรู้ใหม่เกี่ยวกับความเหลื่อมล้ำก็ถูกผลิตขึ้นมาเป็นจำนวนมาก ไม่ว่าจะเป็น การเปลี่ยนความคิดของนักเศรษฐศาสตร์เองที่งานวิจัยเชิงประจักษ์ในระยะหลังมักให้ความสำคัญกับผลกระทบที่หลากหลาย (Heterogenous Impacts) ของเหตุการณ์ต่างๆ ต่อคนหลายๆ กลุ่ม (เช่น กลุ่มคนที่มีรายได้น้อยและกลุ่มคนชายขอบที่มักตกหล่นจากกระบวนการพัฒนา) และการพัฒนาแนวคิดและทฤษฎีข้ามศาสตร์-หลากหลายมาวิเคราะห์ความเหลื่อมล้ำ เช่น ชนชั้น การค้าระหว่างประเทศ และชาติพันธุ์ รวมไปถึงการใช้ข้อมูลชุดใหม่ๆ เช่น ข้อมูลจากดาวเทียม และข้อมูลจากภาษี เพื่อวิเคราะห์สภาพและการเปลี่ยนแปลงความเหลื่อมล้ำ

การเติบโตทางเศรษฐกิจ VS ความเหลื่อมล้ำ

ในอดีต งานวิจัยเชิงประจักษ์ (Empirical Literature) มักวิเคราะห์ความเหลื่อมล้ำในบริบทของประเทศอุตสาหกรรม/ประเทศพัฒนาแล้วเป็นหลัก แต่มักละเลยการวิเคราะห์เชิงลึกในประเทศกำลังพัฒนา แม้การขาดแคลนความรู้และงานวิจัยในประเทศกำลังพัฒนาเป็นผลมาจากปัญหาด้านข้อมูลและความสามารถในการค้นคว้าวิจัยของประเทศนั้นๆ แต่ประเด็นที่สำคัญกว่าคือ ความเข้าใจผิด (Misconception) ในชุมชนวิชาการและนักนโยบายสาธารณะที่เชื่อว่า ความเหลื่อมล้ำเป็นเรื่องปกติในช่วงต้นของการพัฒนา

แนวคิดเศรษฐศาสตร์พัฒนาแบบดั้งเดิมมองว่า ในช่วงต้นของการพัฒนา ผู้กำหนดนโยบายมักจะต้องเลือกระหว่างการลดความเหลื่อมล้ำกับเป้าหมายอื่นที่ (มักถูกมองว่า) สำคัญกว่า โดยเฉพาะเป้าหมายการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจและการลดความยากจน เพราะมาตรการที่มีเป้าหมายเพื่อลดความเหลื่อมล้ำ อาทิ มาตรการทางการคลังและภาษี อาจไปลดแรงจูงใจ (Incentives) ของคนที่มีความสามารถในการผลิต (Productive People) ซึ่งมีความจำเป็นในช่วงแรกของการพัฒนาเศรษฐกิจของประเทศ ให้ทำกิจกรรมทางเศรษฐกิจน้อยลง ดังนั้น กระบวนการพัฒนาในช่วงแรกจึงควรยอมให้มีความเหลื่อมล้ำเกิดขึ้นก่อน (Automatic Outcome) และเมื่อเศรษฐกิจพัฒนาไปถึงจุดหนึ่งแล้ว ความเหลื่อมล้ำในสังคมจะลดลงไปโดยอัตโนมัติ เพราะสังคมทั้งหมดจะถูกยกระดับไปพร้อมกัน แนวคิดมักเป็นที่รู้จักในนาม ‘Trickle-down Economics’ ซึ่งทรงอิทธิพลอย่างยิ่งต่อนักเศรษฐศาสตร์พัฒนาหลังสงครามโลกครั้งที่สอง

แต่ต่อมา งานวิจัยและความเข้าใจประเด็นความเหลื่อมล้ำในประเทศกำลังพัฒนามีมากขึ้นหลังจากที่มี ‘ข้อมูล’ เพิ่มขึ้น งานวิจัยเชิงประจักษ์ที่ใช้ข้อมูลใหม่กลับพบว่า ความเหลื่อมล้ำไม่ใช่สิ่งที่ต้องแลกกับการเติบโตทางเศรษฐกิจ นักเศรษฐศาสตร์พัฒนายุคหลังเริ่มมีฉันทมติร่วมกันว่า สังคมเศรษฐกิจที่มีความเหลื่อมล้ำสูงมักจะมีกระบวนการพัฒนาที่ชะงักงันผิดปกติ (Dysfunctional) ไม่ว่าจะเป็น การเติบโตทางเศรษฐกิจที่ต่ำ และกระบวนการลดความยากจนที่ช้ากว่าเมื่อเทียบกับสังคมที่มีความเหลื่อมล้ำต่ำ

ในระยะหลัง ความสนใจเรื่องความเหลื่อมล้ำไม่ได้จำกัดอยู่แค่ประเทศใดประเทศหนึ่งเท่านั้น เนื่องจากมีความพยายามในการวิเคราะห์เปรียบเทียบความเหลื่อมล้ำระหว่างประเทศ (Cross-country Comparison of Inequalities) ฐานข้อมูลที่ครอบคลุมจำนวนประเทศและปีที่มากขึ้น (เช่น Luxembourg Income Study และ World Inequality Database) ช่วยสนับสนุนงานวิจัยด้านความเหลื่อมล้ำ อาจกล่าวได้ว่า ยุคใหม่ (New age) ของการวิเคราะห์ความเหลื่อมล้ำเป็น ‘การวิเคราะห์ความเหลื่อมล้ำโลก’ (Global Inequality)

รู้จักความเหลื่อมล้ำโลก (Global Inequality)

ความเหลื่อมล้ำโลกคือความเหลื่อมล้ำของประชากรทุกคนที่อาศัยอยู่ในทุกประเทศ โดยในทางเทคนิค สามารถคำนวณได้จาก ‘ผลรวม’ ของความเหลื่อมล้ำ 2 ประเภทคือ ความเหลื่อมล้ำระหว่างประเทศ (Between-country Inequality) และความเหลื่อมล้ำภายในประเทศ (Within-country Inequality)

ความเหลื่อมล้ำประเภทแรกเกี่ยวกับช่องว่างทางรายได้ (Income gaps) ระหว่างประเทศ เช่น ระหว่างสหรัฐอเมริกากับเม็กซิโก สเปน ไทย และประเทศอื่นๆ ในโลก ขณะที่ความเหลื่อมล้ำประเภทสองคือความเหลื่อมล้ำทางรายได้ระหว่างคนรวยกับคนจนในแต่ละประเทศ

งานวิจัยหลายๆ ชิ้น เช่น Bourguignon (2016) และ Milanovic (2016) ระบุว่า ความเหลื่อมล้ำด้านรายได้ระหว่างประเทศ (Global Relative Income Inequality) ลดลงอย่างต่อเนื่องในช่วง 30 ปีที่ผ่านมา ซึ่งเป็นผลมาจากการที่ประเทศกำลังพัฒนา โดยเฉพาะประเทศในเอเชียอย่างจีน และอีกหลายประเทศในแอฟริกา มีการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจอย่างรวดเร็ว ทำให้เกิดปรากฏการณ์ ‘Economic Convergence’ ผลก็คือ ช่องว่างทางด้านการพัฒนาระหว่างประเทศที่พัฒนาแล้วกับประเทศกำลังพัฒนาลดลงอย่างมีนัยสำคัญ แต่กระนั้นก็พบว่าความเหลื่อมล้ำภายในประเทศ (Relative Inequality within Countries) กลับไม่ค่อยเปลี่ยนแปลงมากนักในช่วงทศวรรษ 1990s และถัดจากนั้น หลังจากปี 2000 ความเหลื่อมล้ำภายในประเทศก็เพิ่มขึ้นเป็นวงกว้าง โดยแต่ละประเทศต่างมีปัจจัยที่ทำให้ความเหลื่อมล้ำเพิ่มขึ้นไม่เหมือนกัน

การลดลงของความเหลื่อมล้ำระหว่างประเทศสะท้อนความสำเร็จของประเทศกำลังพัฒนาที่สามารถเร่งการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจของตัวเองเมื่อเทียบกับประเทศที่รวยกว่า โดยประเทศในแถบเอเชีย โดยเฉพาะเอเชียตะวันออก ใช้แบบจำลอง Export-oriented Development Strategy ในการบรรลุเป้าหมายนี้ กล่าวได้ว่า ปัจจัยบวก (Benign Force) ที่สามารถลดความเหลื่อมล้ำระหว่างประเทศคือ ‘โลกาภิวัตน์’ (Globalization) และ ‘ความก้าวหน้าทางเทคโนโลยี’ (Technological Progress) แต่ในด้านกลับ พลังทั้งสองนี้เองก็ทำให้ความเหลื่อมล้ำภายในประเทศเพิ่มสูงขึ้นไปด้วย 

งานวิจัยพบว่า ผลของโลกาภิวัตน์และเทคโนโลยีต่อความเหลื่อมล้ำภายในประเทศขึ้นอยู่กับนโยบายที่แต่ละประเทศใช้เป็นสำคัญ บางประเทศประสบความสำเร็จในการใช้นโยบายขจัดอุปสรรคที่ทำให้ความเหลื่อมล้ำสูงขึ้น เช่น นโยบายการแข่งขันทางการค้า มาตรการควบคุมคอร์รัปชัน รวมไปถึงการชดเชยผลกระทบของความเหลื่อมล้ำด้วยมาตรการทางการคลังอย่างการใช้ภาษีแบบก้าวหน้าและเงินช่วยเหลือ อย่างไรก็ตาม ประเทศกำลังพัฒนามีขนาดเศรษฐกิจที่เล็กน้อย จึงมีข้อจำกัดด้านงบประมาณที่มากกว่า ส่งผลให้ความสามารถในการดำเนินโยบายดังกล่าวเพื่อมุ่งลดความเหลื่อมล้ำอาจน้อยกว่า

Branko Milanovic (2016) อธิบายว่า ความเหลื่อมล้ำโลกในศตวรรษที่ 20 อยู่กับ 2 ปัจจัยคือ Economic Convergence และการลดลงของความเหลื่อมล้ำภายในประเทศ

Economic Convergence ก็คือ การพัฒนาทางเศรษฐกิจของประเทศในทวีปเอเชียที่จะพัฒนาเข้าใกล้ประเทศตะวันตกมากขึ้นเรื่อยๆ โดย Milanovic มองว่า การเติบโตของจีนเป็นปัจจัยหลักที่ทำให้ความเหลื่อมล้ำโลกลดลง และถึงแม้การเจริญเติบโตของจีนจะชะลอตัวลงบ้าง แต่เศรษฐกิจของประเทศในแถบเอเชียที่มีประชากรจำนวนมากอย่างอินเดีย อินโดนีเซีย รวมถึงไทย จะดำเนินไปได้อย่างต่อเนื่อง อย่างไรก็ตาม ในอนาคต เมื่อประเทศเหล่านี้พัฒนาขึ้นเรื่อยๆ การลดลงของ Global Inequality ต้องอาศัยการเจริญเติบโตของประเทศอื่นด้วย

แต่ปัจจัยที่น่ากังวลและซับซ้อนมากกว่าสำหรับ Milanovic คือความเหลื่อมล้ำภายในประเทศ ดังที่กล่าวไปแล้ว หากประเทศที่พัฒนาอย่างก้าวกระโดดไม่มีนโยบายที่ดีพอในการรับมือกับโลกาภิวัตน์และเทคโนโลยี จะทำให้ความเหลื่อมล้ำเพิ่มสูงขึ้นมาก ซึ่งจีนเองก็เผชิญกับสถานการณ์เช่นนี้ ทั้งจากปัญหาคอร์รัปชัน การครอบครองทุนส่วนบุคคล (Private Capital) และความเหลื่อมล้ำระหว่างภูมิภาค เช่น ความเหลื่อมล้ำระหว่างพื้นที่ตอนในของจีน (Mainland China) กับพื้นที่ริมชายฝั่งของจีน (Coastal Area)

ในขณะเดียวกัน ไม่ใช่แค่ประเทศกำลังพัฒนาเท่านั้นที่โลกาภิวัตน์และเทคโนโลยีส่งผลต่อความเหลื่อมล้ำ ประเทศพัฒนาแล้วอย่างสหรัฐอเมริกา ก็ต้องเผชิญความเหลื่อมล้ำภายในประเทศอย่างรุนแรง เนื่องจากการกระจุกตัวของทุนในกลุ่มคนมั่งคั่ง และรายได้ค่าตอบแทนของกลุ่มคนที่มีทักษะสูง ซึ่งทิ้งให้แรงงานที่มีการศึกษาน้อยหรือแรงงานจากต่างประเทศต้องทำงานในภาคอุตสาหกรรมที่ค่าจ้างต่ำกว่า   

มองความเหลื่อมล้ำโลก ผ่านแว่นตาหลายแบบ

ในปัจจุบัน แนวทางการวิเคราะห์ความเหลื่อมล้ำโลกมี 2 มุมมองที่ขัดแย้งกัน ด้านหนึ่ง นักเศรษฐศาสตร์หลายคน เช่น Bourguignon (2016) Milanovic (2016) และ Anand and Segal (2017) มองว่า ความเหลื่อมล้ำโลกมีแนวโน้มลดลงตั้งแต่ช่วงปี 1990 ปรากฎการณ์นี้เกิดขึ้นเพราะการลดลงของความเหลื่อมล้ำระหว่างประเทศ (ความแตกต่างระหว่างค่าเฉลี่ยของรายได้ในแต่ละประเทศ เมื่อเทียบกับค่าเฉลี่ยโลก) และเชื่อว่า แนวโน้มจะดำเนินต่อไปในอนาคต โดย Zanny Minton Beddoes บรรณาธิการของ The Economist บอกว่า “The gap between the world’s rich and poor will be far narrower in 2050”

ในอีกด้านหนึ่ง นักวิชาการจำนวนไม่น้อยกลับมองว่าช่องว่างระหว่างประเทศร่ำรวยกับประเทศยากจนมีมากขึ้น โดยเฉพาะถ้ามองจากคนที่มั่งคั่งที่สุดและคนที่ยากจนที่สุด โดย Jason Hickel นักมานุษยวิทยาที่ LSE เจ้าของหนังสือ The Divide บอกว่า “[Global] inequality has been exploding” สอดคล้องกับที่นักเศรษฐศาสตร์ที่มหาวิทยาลัย Cornell อย่าง Kaushik Basu ที่บอกว่า ความเหลื่อมล้ำระหว่างประเทศยังคงมีปัญหา โดยคนที่รวยที่สุด 3 คนมีความมั่งคั่งรวมกันมากกว่าความมั่งคั่งของคนทุกคนใน 3 ประเทศรวมกัน ได้แก่ แองโกลา บูร์กินาฟาโซ และคองโก

แนวคิดทั้ง 2 แบบส่งผลอย่างมีนัยสำคัญต่อการประเมินความก้าวหน้าของสังคม (Social Progress) และความมีประสิทธิภาพของสถาบันทางด้านเศรษฐกิจและสังคม นักเศรษฐศาสตร์ Tyler Cowen มองว่าการลดลงของความเหลื่อมล้ำโลกเป็นสัญลักษณ์ของความสำเร็จของมนุษยชาติ และยังช่วยลดความต้องการการกระจายทรัพยากรสาธารณะ (Public Redistribution) ขณะที่ Hickel บอกว่า การเพิ่มขึ้นของความเหลื่อมล้ำเป็นสัญลักษณ์ที่บอกถึงความลวงตาของการพัฒนา (Development Delusion) จากสถาบันทางเศรษฐกิจระหว่างประเทศที่จะต้องการที่จะขายไอเดียระบบทุนนิยม

งานวิจัยเชิงประจักษ์ว่าอย่างไร

ในหนังสือเล่มใหม่ชื่อ ‘Inequality in the Developing World’ โดย 3 บรรณาธิการ ประกอบด้วย Carlos Gradin, Murray Leibbrandt และ Finn Tarp ระบุว่า ในช่วง 200 ปีที่ผ่านมา ความเหลื่อมล้ำด้านรายได้ของโลก (Global Income Inequality) เพิ่มสูงขึ้นจนถึงปี 1990 โดยมีสาเหตุหลักจากการเติบโตอย่างก้าวกระโดด (Taking off) ของประเทศที่ร่ำรวยในปัจจุบัน เช่น สหรัฐอเมริกา อังกฤษ และบรรดาประเทศในยุโรปตะวันตก นับจากช่วงหลังปฏิวัติอุตสาหกรรมในศตวรรษที่ 18 ขณะที่ความเหลื่อมล้ำภายในประเทศ (Within-country Inequality) อยู่ในระดับคงที่หรือลดลง ตลอดช่วงเวลาเดียวกันนี้

แต่เทรนด์นี้สิ้นสุดลงในช่วงเริ่มต้นศตวรรษที่ 20 โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ความเหลื่อมล้ำภายในประเทศเพิ่มสูงขึ้นในหลายประเทศ ตามที่เห็นในภาพด้านล่างนี้

ภาพ 1: แผนภาพแสดงการเปลี่ยนแปลงของความเหลื่อมล้ำโลกและส่วนประกอบนับตั้งแต่ปลายทศวรรษ 1980s
ที่มา: Bourguignon (2016)

สถิติในหลายๆ ประเทศพบว่า ประเทศที่ร่ำรวยส่วนใหญ่มักประสบกับการเพิ่มขึ้นของความเหลื่อมล้ำ (ไม่ว่าจะวัดด้วยดัชนี Gini หรือดูจากความมั่งคั่งของกลุ่มคนที่รวยที่สุด 1%) โดยในกลุ่มประเทศกำลังพัฒนานั้น ประเทศที่พบความเหลื่อมล้ำเพิ่มขึ้นอย่างชัดเจนคือจีนและอินเดีย ซึ่งแน่นอนว่า ด้วยความที่ 2 ประเทศนี้มีประชากรจำนวนมาก การเปลี่ยนแปลงของความเหลื่อมล้ำภายในประเทศที่เพิ่มขึ้นย่อมส่งผลต่อความเหลื่อมล้ำโลกอย่างมีนัยสำคัญ

ความเหลื่อมล้ำโลกหลังโควิด

 

การระบาดของโควิด-19 สร้างความเสียหายต่อชีวิตและเศรษฐกิจอย่างมหาศาล แต่ผลกระทบนั้นกลับไม่เท่ากัน คนที่มีระดับการศึกษาต่ำกว่าและมีรายได้น้อยกว่าได้รับผลกระทบมากกว่าคนที่การศึกษาสูงกว่าและร่ำรวยกว่า ผลกระทบที่แตกต่างกันนี้นำไปสู่การเพิ่มขึ้นของความเหลื่อมล้ำภายในประเทศ (Within-country Inequality) ขณะที่การศึกษาผลกระทบต่อความเหลื่อมล้ำโลก (Global inequality) อาจต้องการกรอบแนวคิดอื่น ๆ เพื่อทำความเข้าใจ

ที่ผ่านมา นักเศรษฐศาสตร์รวมถึงองค์กรระหว่างประเทศออกมาระบุว่า การระบาดของโควิด-19 ทำให้ความเหลื่อมล้ำในประเทศและความเหลื่อมล้ำระหว่างประเทศเพิ่มขึ้น Joseph Stiglitz นักเศรษฐศาสตร์เจ้าของรางวัลโนเบลปี 2001 บอกว่า โควิด-19 ทำให้ความเหลื่อมล้ำระหว่างประเทศเพิ่มขึ้นเฉกเช่นเดียวกับความเหลื่อมล้ำภายในประเทศ เหตุผลเพราะประเทศยากจนมีระบบสาธารณสุขที่แย่กว่าและไม่ได้เตรียมพร้อมจากการระบาด ทำให้คนที่อาศัยอยู่ในประเทศเหล่านี้มีความเปราะบางมากกว่าคนในประเทศที่ร่ำรวย

แต่ Angus Deaton นักเศรษฐศาสตร์เจ้าของรางวัลโนเบลปี 2015 ออกมาปฏิเสธแนวคิดดังกล่าว โดย Deaton ใช้ข้อมูลการกระจายของรายได้ต่อหัวในแต่ละประเทศ พบว่า Global inequality ยังคงลดลงอย่างต่อเนื่องในช่วงของการระบาดของโรคโควิด-19 เหตุผลส่วนหนึ่งก็คือว่า ในปี 2020 นั้น ประเทศที่ยากจนกว่าได้รับผลกระทบด้านชีวิต (วัดจากอัตราการตายจากโรคโควิด-19 ต่อประชากร 1 คน) น้อยกว่าประเทศที่ร่ำรวย เมื่อเทียบผลกระทบทางเศรษฐกิจ โดยพบว่า ในจำนวน 97 ประเทศที่ยากจนที่สุด มี GDP per capita ลดลงประมาณ 5% ของ GDP ปี 2019 ขณะที่ตัวเลขดังกล่าวสูงถึง 10% ในกลุ่มประเทศที่ร่ำรวยที่สุด 96 ประเทศ ด้วยเหตุนี้ ช่องว่างระหว่างประเทศร่ำรวยกับประเทศยากจนจึงแคบลง และส่งผลให้ความเหลื่อมล้ำโลกลดลง 

Deaton ได้พูดถึงจีนไว้อย่างน่าสนใจว่า ในปี 2020 จีนมีจำนวนผู้เสียชีวิตน้อยและเป็นหนึ่งในไม่กี่ประเทศในโลกยังคงรักษาระดับการเติบโตทางเศรษฐกิจไว้ได้ ในช่วง 4 ทศวรรษที่ผ่านมาก่อนการระบาดของโรคโควิด-19 การเติบโตทางเศรษฐกิจอย่างยาวนานของจีนช่วยลดจำนวนคนจนของโลกไปมากกว่า 1 พันล้านคน และกลายเป็นปัจจัยบวก (Benign Force) ที่ทำให้ความเหลื่อมล้ำโลกลดลงอย่างมาก แม้ประเทศกำลังพัฒนาอื่นๆ จะมีการเติบโตที่ช้ากว่าก็ตาม

อย่างไรก็ตาม ในปัจจุบัน จีนไม่ได้เป็นประเทศยากจนอีกต่อไปแล้ว การเติบโตทางเศรษฐกิจของจีนในปัจจุบันจึงอาจไม่มากพอที่จะชดเชยกับปัจจัยลบ (Malign Force) อันเนื่องมาจากความเสียหายทางเศรษฐกิจที่เกิดขึ้นกับประเทศกำลังพัฒนาอื่นๆ ที่มีประชากรค่อนข้างมากอย่างอินเดียและอินโดนีเซีย การเปลี่ยนแปลงของของความเหลื่อมล้ำโลกในยุคหลังโควิดจึงขึ้นอยู่กับการบริหารจัดการกับโรคในประเทศอื่นๆ ที่มีคนจนอาศัยอยู่จำนวนมาก ทั้งประเทศในเอเชียใต้และแอฟริกา  

สำหรับไทย ด้วยจำนวนประชากร 70 ล้านคนและขนาดเศรษฐกิจที่ใหญ่อยู่ใน 30 อันดับแรกของโลก การเปลี่ยนแปลงในการเติบโตทางเศรษฐกิจ ความยากจน และความเหลื่อมล้ำภายในประเทศ ย่อมส่งผลกระทบต่อความเหลื่อมล้ำโลกไม่มากก็น้อย จาก Thailand Economic Monitor ฉบับล่าสุดของธนาคารโลก (เผยแพร่วันที่ 21 กรกฎาคม 2021) พบว่า การระบาดของโรคโควิด-19 ทำให้เศรษฐกิจไทยในปี 2020 หดตัวลงถึง 6.1% ส่งผลกระทบต่อการจ้างงานและชีวิตความเป็นอยู่ของคน นอกจากนั้น ยังทำนายว่ากิจกรรมทางเศรษฐกิจจะยังไม่กลับตัวไปสู่จุดก่อนการระบาดจนกระทั่งปี 2022 และการฟื้นตัวจะเกิดขึ้นค่อนข้างช้าและไม่เท่าเทียมกัน (Uneven) ในแต่ละส่วนของระบบเศรษฐกิจ ในประเด็นความยากจนนั้น จากแบบจำลองของธนาคารโลกระบุว่า หากไม่มีมาตรการช่วยเหลือเยียวยา อัตราความยากจนอาจเพิ่มขึ้นจาก 6.2% ในปี 2019 เป็น 7.4% ในปี 2020 แต่หากมีมาตรการที่เหมาะสม ความยากจนอาจลดลงเหลือ 6% ในปีดังกล่าว

ในประเด็นความเหลื่อมล้ำ ผลจากแบบจำลองระบุว่า ไม่ว่าจะมีหรือไม่มีเงินช่วยเหลือ ความเหลื่อมล้ำก็จะเพิ่มขึ้น แต่จะเพิ่มขึ้นน้อยกว่ามากหากมีเงินช่วยเหลือจากรัฐบาล การเติบโตทางเศรษฐกิจที่ชะงักงัน และความเหลื่อมล้ำภายในประเทศที่เพิ่มสูงขึ้นย่อมหมายความว่า ไทยน่าจะมีส่วนทำให้ความเหลื่อมล้ำโลกสูงขึ้นด้วย ทั้งนี้ รายงานฉบับดังกล่าวของธนาคารโลกยังไม่ได้ประเมินสถานการณ์การระบาดระลอกที่สามซึ่งเป็นระลอกใหญ่ที่สุดและยังไม่มีความแน่ชัดว่าจะสิ้นสุดเมื่อใด

อย่างไรก็ตาม ประเด็นที่ไม่อาจมองข้ามเมื่อวิเคราะห์ผลกระทบต่อความเหลื่อมล้ำ คือข้อจำกัดของข้อมูลการสำรวจ (Household Survey) ที่อาจเผชิญกับปัญหา Under-reporting เนื่องจากการเข้าไม่ถึงครัวเรือนร่ำรวย อย่างการรายงานรายได้จากทุนในกลุ่มคนรวย และเงินได้จากแหล่งอื่นๆ (เช่น เงินใต้ดิน และเงินผิดกฎหมาย) การพิจารณาความเหลื่อมล้ำด้วยฐานข้อมูลอื่น (เช่น การใช้ข้อมูลภาษี (Tax record)) และมูลค่าทรัพย์สินที่ถือครอง (เช่น ความมั่งคั่งในกลุ่มเศรษฐีไทยในปี 2020) สามารถช่วยเสริมความเข้าใจด้านผลกระทบของโรคโควิด-19 ต่อความเหลื่อมล้ำโลกได้ดียิ่งขึ้น

การเปลี่ยนแปลงของความเหลื่อมล้ำโลกในช่วง 2-3 ทศวรรษที่ผ่านมา สะท้อนการเปลี่ยนแปลงสำคัญของเศรษฐกิจ สังคม และการเมืองโลก การระบาดของโรคโควิด-19 กลายเป็นหมุดหมายสำคัญในประวัติศาสตร์ที่ส่งผลกระทบต่อทุกภาคส่วน ไม่เว้นแม้แต่ประเด็นความเหลื่อมล้ำ ในวันที่โลกเท่าเทียม โรคโควิด-19 ก็อาจจะกลายเป็นเหมือนโรคไข้หวัดธรรมดา…ก็เป็นได้

MOST READ

Economy

15 Mar 2018

การท่องเที่ยวกับเศรษฐกิจไทย

พิพัฒน์ เหลืองนฤมิตชัย ตั้งคำถาม ใครได้ประโยชน์จากการท่องเที่ยวบูม และเราจะบริหารจัดการผลประโยชน์และสร้างความยั่งยืนให้กับรายได้จากการท่องเที่ยวได้อย่างไร

พิพัฒน์ เหลืองนฤมิตชัย

15 Mar 2018

Economy

23 Nov 2023

ไม่มี ‘วิกฤต’ ในคัมภีร์ธุรกิจของ ‘สิงห์’ : สันติ – ภูริต ภิรมย์ภักดี

หากไม่เข้าถ้ำสิงห์ ไหนเลยจะรู้จักสิงห์ 101 คุยกับ สันติ- ภูริต ภิรมย์ภักดี ถึงภูมิปัญญาการบริหารคน องค์กร และการตลาดเบื้องหลังความสำเร็จของกลุ่มธุรกิจสิงห์

กองบรรณาธิการ

23 Nov 2023

Economy

19 Mar 2018

ทางออกอยู่ที่ทุนนิยม

ในยามหัวเลี้ยวหัวต่อของบ้านเมือง ผู้คนสิ้นหวังกับปัจจุบัน หวาดหวั่นต่ออนาคต และสั่นคลอนกับอดีตของตนเอง
วีระยุทธ กาญจน์ชูฉัตร เสนอทุนนิยมให้เป็น ‘grand strategy’ ใหม่ของประเทศไทย

วีระยุทธ กาญจน์ชูฉัตร

19 Mar 2018

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • Always Active

Save