fbpx

การกลับมามีอำนาจของตาลีบันในอัฟกานิสถาน: ความเปลี่ยนแปลงในเครื่องหมายคำถาม?

ภาพจาก ResoluteSupportMedia

ตลอดหลายเดือนที่ผ่านมา ปัญหาความขัดแย้งในอัฟกานิสถานยึดกุมพื้นที่หน้าข่าวต่างประเทศอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะนับตั้งแต่สหรัฐอเมริกาและพันธมิตรเริ่มถอนทหารออกจากอัฟกานิสถานในช่วงเดือนเมษายนเป็นต้นมา และมีแผนว่าจะถอนทหารทั้งหมดภายในสิ้นเดือนสิงหาคมนี้ตามข้อตกลงที่สหรัฐอเมริกาได้ลงนามกับกลุ่มตาลีบันเมื่อต้นปี 2020

ความเปลี่ยนแปลงทางด้านความมั่นคงภายในอัฟกานิสถานส่งผลให้กลุ่มตาลีบันที่ครั้งหนึ่งเคยเป็นรัฐบาลปกครองประเทศแห่งนี้ กลับมามีลมหายใจอีกครั้งและเริ่มขยายอิทธิพลของตัวเองในพื้นที่ชนบท

ในเวลาเดียวกัน กลุ่มตาลีบันก็เดินหน้าเจรจาสันติภาพกับรัฐบาลอัฟกานิสถานอย่างต่อเนื่อง แต่ด้วยความไม่ลงรอยกันในหลายประเด็น ส่งผลให้การเจรจาไม่ก้าวหน้า โดยเฉพาะการปฏิเสธการปล่อยนักโทษตาลีบัน กลายเป็นฟางเส้นสุดท้ายที่ทำให้ตาลีบันเคลื่อนกองกำลังโจมตีเมืองใหญ่ทั่วประเทศ จนเมื่อวันอาทิตย์ที่ 15 สิงหาคม 2021 ที่ผ่านมา กลุ่มตาลีบันสามารถยึดกรุงคาบูล เมืองหลวงของประเทศได้สำเร็จ ในขณะที่ประธานาธิบดีอัชราฟ ฆานี ประกาศลงจากอำนาจ และเดินทางออกนอกประเทศ

ภายใต้สถานการณ์เช่นนี้เกิดคำถามขึ้นมากมายว่า เกิดอะไรขึ้นกับรัฐบาลอัฟกานิสถานในช่วงไม่กี่สัปดาห์ที่ผ่านมา อะไรเป็นสาเหตุและปัจจัยแห่งความพ่ายแพ้ และคำถามใหญ่กว่านั้นคือ อัฟกานิสถานภายใต้การนำของตาลีบันจะมีหน้าตาเป็นอย่างไร ผมจึงถือโอกาสนี้มาวิเคราะห์และไขข้อสงสัยเหล่านี้ให้ทุกท่านครับ

ใครเป็นใครบนความขัดแย้งในอัฟกานิสถาน

เพื่อเป็นกุญแจไปสู่การทำความเข้าใจความสำเร็จเหนือกรุงคาบูลของกลุ่มตาลีบัน ก่อนอื่นต้องทำความเข้าใจตัวแสดงต่างๆ ในอัฟกานิสถานซึ่งมีความสลับซับซ้อนไม่ยิ่งหย่อนไปกว่าปัญหาความขัดแย้งและความรุนแรง

ตัวแสดงสามารถแบ่งออกเป็นกลุ่มตัวแสดงภายในประเทศและกลุ่มตัวแสดงภายนอกประเทศ

หนึ่งในตัวแสดงภายในประเทศหลักคือรัฐบาลอัฟกานิสถานที่ขึ้นมามีอำนาจหลังสหรัฐอเมริกาเข้ามาในปี 2001 รัฐบาลนี้อยู่ภายใต้การรักษาความมั่นคงของสหรัฐอเมริกาและชาติพันธมิตรที่ต้องการกวาดล้างกลุ่มก่อการร้ายโดยเฉพาะกลุ่มอัลกออิดะฮ์ที่ก่อเหตุ 9/11 รัฐบาลจัดตั้งจากการรวมตัวกันของพันธมิตรฝ่ายเหนือซึ่งเป็นนักรบมูจาฮีดีนที่เคยต่อสู้กับโซเวียต และภายหลังก็กลายเป็นกองกำลังสำคัญในการต่อต้านตาลีบันในช่วงปี 1996–2001

อีกกลุ่มที่มีความสำคัญอย่างมากคือกลุ่มตาลีบัน กลุ่มนี้ถือกำเนิดขึ้นในช่วงที่อัฟกานิสถานตกอยู่ภายใต้วุ่นวายจากความขัดแย้งและการแย่งชิงอำนาจของบรรดานักรบมูจาฮีดีน กลุ่มตาลีบันอาศัยหลักคิดทางศาสนาเป็นแกนกลางและขับเคลื่อนการต่อสู้จนนำมาสู่ชัยชนะในปี 1996 ก่อนที่จะพ่ายแพ้ให้สหรัฐอเมริกาและชาติพันธมิตรในปี 2001 ทำให้ต้องหลบไปอยู่ตามเขตพื้นที่ชนบท และในเวลานี้ พวกเขาได้กลับมามีอำนาจอีกครั้ง

กลุ่มต่อมาที่เป็นตัวแปรที่ขาดไปไม่ได้คือ บรรดาขุนศึกตามเมืองต่างๆ ที่ไม่ได้เข้าร่วมกับฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งชัดเจน พวกเขาเหล่านี้มีกองกำลังเป็นของตัวเอง และหลายครั้งการตัดสินใจเลือกข้างก็นำมาซึ่งความเปลี่ยนแปลงทางการเมือง ในความขัดแย้งรอบนี้ก็เช่นเดียวกัน เพราะขุนศึกจำนวนมากเลือกเข้าข้างกลุ่มตาลีบัน

ส่วนตัวแสดงภายนอก แน่นอนว่าอันดับหนึ่งคงหนีไม่พ้นสหรัฐอเมริกา ตัวแปรสำคัญที่รักษาและพยุงความมั่นคงของรัฐบาลอัฟกานิสถานเอาไว้ตลอด 20 ปีที่ผ่านมา อย่างไรก็ตาม นับแต่ประธานาธิบดีทรัมป์ขึ้นมามีอำนาจ การเริ่มเจรจากับตาลีบันส่งผลให้ดุลอำนาจภายในอัฟกานิสถานเปลี่ยนแปลงอย่างมาก

ในขณะที่ประเทศเพื่อนบ้านอย่างปากีสถานเองก็เป็นตัวแสดงที่สำคัญมากโดยเฉพาะต่อทิศทางและก้าวย่างของกลุ่มตาลีบัน แม้ว่ารัฐบาลปากีสถานจะปฏิเสธความเกี่ยวข้องมาโดยตลอด แต่การตัดสินใจเชิงนโยบายของปากีสถานมักส่งผลอย่างสำคัญต่อเสถียรภาพในอัฟกานิสถาน อย่างการผงาดขึ้นมาของอิมราน ข่านพร้อมการประกาศชัดเจนว่าจะไม่ร่วมมือกับสหรัฐอเมริกาในการปราบปรามตาลีบัน นักวิเคราะห์บางส่วนมองว่านี่คือตัวแปรหนึ่งที่ทำให้สหรัฐฯ ตัดสินใจถอนทหารออก

นอกจากนี้ จีนและอินเดียที่นับว่าเป็นผู้ลงทุนสำคัญของอัฟกานิสถาน หรืออิหร่านและรัสเซียที่ค่อนข้างกังวลต่อปัญหาการก่อการร้ายล้วนมีบทบาทระดับหนึ่งต่อความขัดแย้งภายในอัฟกานิสถาน

ทำไมตาลีบันถึงได้เปรียบในการสู้รบครั้งนี้

ในส่วนนี้จะเป็นการวิเคราะห์ให้เห็นว่าตัวแสดงแต่ละตัวมีบทบาทและความสำคัญอย่างไรต่อความสำเร็จและความล้มเหลวในความขัดแย้งช่วง 3 เดือนที่ผ่านมา

หมุดหมายสำคัญของความขัดแย้งในครั้งนี้เริ่มจากบรรลุข้อตกลงการถอนทหารระหว่างสหรัฐอเมริกาและตาลีบันในช่วงต้นปี 2020 อันเป็นต้นตอสำคัญของความไร้เสถียรภาพในอัฟกานิสถาน เพราะการเจรจาดังกล่าวไม่ได้รวมรัฐบาลอัฟกานิสถานซึ่งเป็นผู้มีส่วนได้ส่วนเสียเข้าไปในการเจรจาด้วย

ที่แย่ไปกว่านั้นคือข้อตกลงถอนทหารออกจากอัฟกานิสถานของสหรัฐอเมริกาไม่ได้ระบุข้อตกลงหยุดยิงระหว่างตาลีบันกับรัฐบาลอัฟกานิสถาน ซ้ำยังกำหนดไว้เพียงแค่การปกป้องกองกำลังของสหรัฐอเมริกาและพันธมิตรจากการโจมตีของตาลีบันเท่านั้น ในขณะที่มีการเปิดช่องเกี่ยวกับกองทัพอัฟกานิสถานเอาไว้

ฉะนั้นหลังจากสหรัฐอเมริกาและพันธมิตรถอนทหารออกจากอัฟกานิสถานไปเป็นจำนวนมากโดยไม่มีแผนการที่ชัดเจนเกี่ยวกับการเปลี่ยนผ่านความมั่นคงให้กับกองทัพอัฟกานิสถาน เกิดสภาพสุญญากาศทางความมั่นคงในหลายพื้นที่ของประเทศ และเปิดโอกาสให้ตาลีบันที่หลับไหลและส่องสุมกำลังพลมาเป็นเวลานานฉวยโอกาสดังกล่าวในการปฏิบัติการนับตั้งแต่เดือนพฤษภาคมเป็นต้นมา

แน่นอนว่าตาลีบันยืนยันว่าจะยังรักษาคำมั่นที่จะไม่โจมตีกองทัพสหรัฐและพันธมิตร แต่นั่นไม่ได้หมายความว่าตาลีบันจะไม่โจมตีกองทัพอัฟกานิสถาน เพราะทั้งสองฝ่ายไม่มีข้อตกลงหยุดยิงระหว่างกัน จุดนี้เองกลายเป็นที่มาของการสู้รบกันของทั้งสองฝ่ายแม้จะอยู่ในช่วงการเจรจาสันติภาพก็ตาม เพราะทั้งคู่ต่างต้องการแต้มต่อเพื่อให้ได้มาซึ่งอำนาจต่อรอง

จุดเปลี่ยนสำคัญในความขัดแย้งเกิดขึ้นจากการไม่ยอมรับข้อเสนอปล่อยนักโทษตาลีบันเพื่อแลกกับการหยุดยิงของรัฐบาลอัฟกานิสถาน ส่งผลให้กลุ่มตาลีบันรุกคืบอย่างหนักตามหัวเมืองต่างๆ ทั่วประเทศ แม้ว่ากองทัพอัฟกานิสถานจะมีอาวุธและยุทโธปกรณ์ที่เหนือกว่า แต่ด้วยยุทธวิธีแบบกองโจร อาศัยบ้านเรือนของประชาชน และแอบแฝงเข้าไปตามเมืองใหญ่ ส่งผลให้ยุทโธปกรณ์เหล่านั้นไม่สามารถใช้กับตาลีบันได้ หากรัฐบาลตัดสินใจใช้อาวุธหนักหรือเครื่องบินทิ้งระเบิดตามเมืองต่างๆ ก็จะทำให้ผู้บริสุทธิ์ได้รับบาดเจ็บและล้มตาย อันจะสร้างภาพเสียอย่างมากให้กับรัฐบาลอัฟกานิสถาน ดังที่เกิดขึ้นจากการทิ้งระเบิดโรงพยาบาลที่ถูกกลุ่มตาลีบันยึด

ในขณะเดียวกัน สภาพการทุจริตภายในรัฐบาลถือเป็นอีกปัจจัยที่ส่งผลให้กองทัพอัฟกานิสถานอ่อนแออย่างมาก เพราะทหารจำนวนมากไม่ได้รับเงินค่าความเสี่ยง มีการทุจริตยุทโธปกรณ์ รวมไปถึงเสบียงในกองทัพ สิ่งเหล่านี้ลดขวัญกำลังใจของทหาร และนำมาซึ่งการยอมจำนนต่อตาลีบันแบบไม่มีการปะทะกันในหลายพื้นที่

ที่หนักหนาไปกว่านั้นคือมีทหารและเจ้าหน้าที่ของรัฐบาลจำนวนมากแปรพักตร์ไปเข้าร่วมกับตาลีบัน โดยเฉพาะบรรดาขุนศึกตามหัวเมืองใหญ่ต่างๆ ที่เคยสนับสนุนรัฐบาลอัฟกานิสถานมาก่อน เช่น โมฮัมหมัด อิสมาอิล ข่าน ผู้ได้ชื่อว่าเป็นราชสีห์แห่งเมืองเฮรัต และเป็นกำลังสำคัญให้รัฐบาลอัฟกานิสถานมาโดยตลอดในการต่อต้านตาลีบัน แต่สุดท้ายเขาก็ตัดสินใจพากองกำลังเข้าร่วมกับกลุ่มตาลีบันในที่สุด

นอกจากนั้นรัฐบาลอัฟกานิสถานยังไม่ได้รับความช่วยเหลือใดๆ จากสหรัฐอเมริกาและชาติพันธมิตรในช่วงที่เกิดการสู้รบอีกด้วย

เมื่อพิจารณาเงื่อนไขเหล่านี้ อาจกล่าวได้ว่าตาลีบันประสบความสำเร็จเหนือรัฐบาลอัฟกานิสถานเนื่องจากปัญหาความล้มเหลวภายในรัฐบาล ซึ่งเกิดขึ้นหลายจุดพร้อมกัน แต่แน่นอนว่าแรงกดดันจากนานาชาติส่งผลให้ตาลีบันจำเป็นต้องเลือกใช้แนวทางการเจรจาเพื่อเปลี่ยนผ่านรัฐบาล แทนที่จะใช้กำลังเข้าปกครองประเทศทั้งที่สามารถทำได้

แต่คำถามที่ยังต้องคิดกันต่อคือ หน้าตาของรัฐบาลอัฟกานิสถานใหม่จะเป็นอย่างไรภายใต้อำนาจของตาลีบันที่ชูประเด็นเรื่องรัฐอิสลาม และมุ่งเน้นใช้กฎหมายอิสลามในการปกครองประเทศ

อัฟกานิสถานภายใต้ตาลีบัน และความสำคัญต่อประเทศไทย

หลายฝ่ายยังคงกังขาว่าการเจรจาเปลี่ยนผ่านอำนาจอย่างสันติจะส่งผลอย่างไรต่อการจัดตั้งรัฐบาลใหม่ของอัฟกานิสถานหลังการลงจากอำนาจของประธานาธิบดีอัชราฟ ฆานี แต่เป็นที่แน่นอนว่า ผู้นำคนใหม่ของอัฟกานิสถานจะมาจากกลุ่มตาลีบัน และอัฟกานิสถานจะเปลี่ยนชื่อประเทศเป็นเอมิเรตอิสลามอัฟกานิสถาน (Islamic Emirate of Afghanistan) ตามที่กลุ่มตาลีบันชูชื่อนี้มาโดยตลอดอย่างไม่ต้องสงสัย ที่สำคัญไปกว่านั้น มีความเป็นไปได้อย่างสูงที่กฎหมายอิสลามจะถูกนำกลับมาใช้ในประเทศแห่งนี้อีกครั้ง

อย่างไรก็ตาม นักวิเคราะห์จำนวนมากมองว่าความเข้มข้นในการบังคับใช้กฎหมายอิสลามอาจเปลี่ยนแปลงไปจากในอดีตหลังจากที่ตาลีบันได้รับบทเรียนหลังการเข้ามามีบทบาทของสหรัฐอเมริกา โดยเฉพาะการยอมรับในหลักกติตาสากลของโลกมากยิ่งขึ้น ทำให้หลายๆ ครั้ง คำถามเรื่องสิทธิสตรีซึ่งเป็นประเด็นที่ตาลีบันถูกวิพากษ์วิจารณ์อย่างหนักมักนำมาซึ่งคำตอบที่ค่อนข้างเปิดกว้างกว่าเมื่อเทียบกับในอดีต แต่สิ่งเหล่านี้ยังคงต้องติดตามกันต่อไปว่าในทางปฏิบัติแล้ว รัฐบาลใหม่ภายใต้ตาลีบันจะทำได้จริงหรือไม่ มากน้อยแค่ไหน

ที่แน่นอนกว่านั้น ตาลีบันมีแนวโน้มที่จะเปิดรับการลงทุนจากภายนอกเพื่อพัฒนาประเทศมากยิ่งขึ้น เห็นได้จากความพยายามตลอดหลายเดือนที่ผ่านมาในการเดินสายพบผู้นำประเทศต่างๆ โดยเฉพาะการหยอดคำหวานเชื้อเชิญจีนเข้ามาลงทุนหลังจากที่ตาลีบันเป็นรัฐบาล ตรงนี้ก็จะเป็นโอกาสของไทยในการเข้าไปลงทุนในประเทศแห่งนี้เช่นกัน อัฟกานิสถานยังมีทรัพยากรจำนวนมากมหาศาลโดยเฉพาะสินแร่มีค่าอย่างทอง ทองแดง ดีบุก และธาตุหายาก (rare earth)

แต่สิ่งที่เขียนมาข้างต้นตั้งอยู่บนสมมติฐานสำคัญว่าสถานการณ์เข้าสู่ความสงบและกลุ่มตาลีบันมีความเป็นเอกภาพไม่ขัดแย้งกัน แต่หากไม่เป็นเช่นนั้นและอัฟกานิสถานเข้าสู่สภาพสงครามกลางเมืองอีกครั้ง ผลกระทบย่อมเกิดขึ้นกับหลายประเทศทั่วโลก โดยเฉพาะในประเด็นความมั่นคงและการก่อการร้าย

เหตุผลสำคัญที่ประเทศต่างๆ โดยเฉพาะเพื่อนบ้านอย่างปากีสถาน อิหร่าน อินเดีย จีนและรัสเซียต้องการให้เกิดการเปลี่ยนผ่านทางการเมืองอย่างสันติคือ ต้องการให้รัฐบาลไม่ว่าฝ่ายใดก็ตามที่สามารถปกครองอัฟกานิสถานได้เข้าไปจัดการกับกลุ่มก่อการร้ายต่างๆ ที่ยังคงเคลื่อนไหวในอัฟกานิสถาน

การเกิดสงครามกลางเมืองย่อมนำมาซึ่งสภาพเสียสมดุลและสุญญากาศทางการเมืองและความมั่นคง ปัจจัยดังกล่าวส่งเสริมให้กลุ่มก่อการร้ายเติบโตอย่างรวดเร็ว โดยเฉพาะการค้าอาวุธเถื่อนของกลุ่มต่างๆ ซึ่งอาวุธเหล่านี้ก็มีความทันสมัย เนื่องจากตกทอดมาจากสหรัฐอเมริกา

สภาวะเช่นนี้จะเสริมเขี้ยวเล็บให้กลุ่มก่อการร้าย โดยเฉพาะกลุ่มไอซิสแห่งโคราซาน หรือกลุ่มเคลื่อนไหวอิสลามแห่งเตอร์กิสถานตะวันออกที่ยังคงเคลื่อนไหวอย่างลับๆ ในอัฟกานิสถานมาโดยตลอด นำมาไปสู่ปัญหาเสถียรภาพภายในภูมิภาค

หากถามว่าปัญหาดังกล่าวจะส่งผลอย่างไรต่อไทย ต้องมองว่าสภาวะสงครามกลางเมืองอาจจะมีส่วนต่อการเคลื่อนไหวในการเข้าร่วมกลุ่มก่อการร้ายของผู้คนในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ด้วย เพราะต้องไม่ลืมว่านักรบไอซิสจำนวนมากในอดีตก็มาจากภูมิภาคนี้ นอกจากนี้ ปัญหาการไหลบ่าของอาวุธผิดกฎหมายจากอัฟกานิสถานก็อาจส่งต่อมายังกลุ่มเคลื่อนไหวก่อความไม่สงบในภูมิภาคก็เป็นได้

ฉะนั้นเรื่องราวของอัฟกานิสถานไม่ได้ไกลตัวเราอย่างที่คิด ความเปลี่ยนแปลงของประเทศแห่งนี้จึงมีความสำคัญอย่างมากต่อดุลภูมิรัฐศาสตร์โลก พลวัตความมั่นคงและการก่อการร้าย

MOST READ

World

1 Oct 2018

แหวกม่านวัฒนธรรม ส่องสถานภาพสตรีในสังคมอินเดีย

ศุภวิชญ์ แก้วคูนอก สำรวจที่มาที่ไปของ ‘สังคมชายเป็นใหญ่’ ในอินเดีย ที่ได้รับอิทธิพลสำคัญมาจากมหากาพย์อันเลื่องชื่อ พร้อมฉายภาพปัจจุบันที่ภาวะดังกล่าวเริ่มสั่นคลอน โดยมีหมุดหมายสำคัญจากการที่ อินทิรา คานธี ได้รับเลือกให้เป็นนายกรัฐมนตรีหญิงคนแรกในประวัติศาสตร์

ศุภวิชญ์ แก้วคูนอก

1 Oct 2018

World

16 Oct 2023

ฉากทัศน์ต่อไปของอิสราเอล-ปาเลสไตน์ ความขัดแย้งที่สั่นสะเทือนระเบียบโลกใหม่: ศราวุฒิ อารีย์

7 ตุลาคม กลุ่มฮามาสเปิดฉากขีปนาวุธกว่า 5,000 ลูกใส่อิสราเอล จุดชนวนความขัดแย้งซึ่งเดิมทีก็ไม่เคยดับหายไปอยู่แล้วให้ปะทุกว่าที่เคย จนอาจนับได้ว่านี่เป็นการต่อสู้ระหว่างอิสราเอลกับปาเลสไตน์ที่รุนแรงที่สุดในรอบทศวรรษ

จนถึงนาทีนี้ การสู้รบระหว่างอิสราเอลกับปาเลสไตน์ยังดำเนินต่อไปโดยปราศจากทีท่าของความสงบหรือยุติลง 101 สนทนากับ ดร.ศราวุฒิ อารีย์ ผู้อำนวยการศูนย์มุสลิมศึกษา สถาบันเอเชียศึกษา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ถึงเงื่อนไขและตัวแปรของความขัดแย้งที่เกิดขึ้น, ความสัมพันธ์ระหว่างอิสราเอลและรัฐอาหรับ, อนาคตของปาเลสไตน์ ตลอดจนระเบียบโลกใหม่ที่ก่อตัวขึ้นมาหลังยุคสงครามเย็น

พิมพ์ชนก พุกสุข

16 Oct 2023

World

9 Sep 2022

46 ปีแห่งการจากไปของเหมาเจ๋อตง: ทำไมเหมาเจ๋อตง(โหด)ร้ายแค่ไหน คนจีนก็ยังรัก

ภัคจิรา มาตาพิทักษ์ เขียนถึงการสร้าง ‘เหมาเจ๋อตง’ ให้เป็นวีรบุรุษของจีนมาจนถึงปัจจุบัน แม้ว่าเขาจะอยู่เบื้องหลังการทำร้ายผู้คนจำนวนมหาศาลในช่วงปฏิวัติวัฒนธรรม

ภัคจิรา มาตาพิทักษ์

9 Sep 2022

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • Always Active

Save